1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ในขณะเดียวกัน ในระดับปัจเจกบุคคล การยึดถือเศรษฐกิจเป็นศาสนา ก็มักนำไปสู่การหมกมุ่นอยู่กับผลประโยชน์ทางวัตถุหรือรายได้ที่เป็นเงิน ในระดับที่ลดทอนหรือยกเลิกคุณค่าอื่นๆ ของชีวิต เช่นมิตรภาพ น้ำใจ ความเมตตา กรุณา ตลอดจนความสงบสันติ พูดโดยรวมแล้วลัทธิบูชาเศรษฐกิจ แท้จริงแล้ว ก็ไม่ได้มีพื้นฐานมาจาก การมองโลกโดยภววิสัย หรือ Objective Thinking เท่าใดนัก หรือ ไม่ได้มาจากกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นความเชื่อทางอัตวิสัย เป็น Subjective Thinking แบบหนึ่ง ที่งอกมาจากความปราร ถนาของคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง แต่เมื่อถูกยึดถือกันเป็นจำนวนมากก็กลายเป็นลัทธิความเชื่อ ที่ไม่ต่างอะไรกับศาสนาบางนิกาย อีกทั้งยังเป็นศาสนาที่ก้าวร้าวรุนแรงยิ่ง มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อตอกย้ำแนวคิด
20-10-2552 (1790)
Economic
Religion and the Production of Structural Ignorance
Economic
Religion: เศรษฐศาสน์ในทัศนะของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวมและเชิงอรรถ
บทความนี้ปรับปรุงมาจากบทความเดิมที่เคยเผยแพร่แล้วในประชาไทออนไลน์
เดิมชื่อ
"ปาฐกถา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: เศรษฐศาสน์กับการผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้าง"
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ปาฐกถา ๖๐ ปี คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจำเดือนตุลาคม โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: หัวข้อ
"เศรษฐศาสน์กับการผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้าง"
Economic Religion and the Production of Structural Ignorance
ณ ห้องประชุมชั้น ๕ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วันจันทร์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒
บนหน้าเว็บเพจนี้ ได้มีการเพิ่มเติมหัวข้อสำคัญเพื่อการค้นคว้าดังนี้...
- ความแตกต่าง: เศรษฐศาสตร์และลัทธิบูชาเศรษฐกิจ
- อวิชชา ๔ กับอวิชชา ๘ ของลัทธิบูชาเศรษฐกิจ
- อวิชชา" ถูกผลิตขึ้นโดยโครงสร้างหลัก ถูกผลิตขึ้นด้วยนโยบายของรัฐ
- โครงสร้างและเนื้อหาของการศึกษาไทยที่พิการ แยกส่วน
- ระบบการศึกษาที่ตกเป็นอาณานิคมของลัทธิบูชาเศรษฐกิจ
- ขบวนการสื่อที่ตกอยู่ภายใต้"ลัทธิบูชาเศรษฐกิจ"
- ปี่เซี๊ยะ: สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ / "รวยได้ ไม่ต้องเอาถ่าน"
- ไทยกับปัญหาคอร์รัปชั่น อันดับที่ ๘๐ ของโลก (คะแนน ๓.๕ เต็ม ๑๐)
- ถ้ายึดเป้าหมายเศรษฐกิจ หนีไม่พ้นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง
- สูตรสำเร็จของคำอธิบายที่เถียงไม่ได้
- ข้อขัดแย้งระหว่าง Myth (มายาคติ) กับ Reality (ความเป็นจริง)
- เมื่อกลไกตลาดเสรีไม่อาจปรับสมดุลตัวเอง กลไกของสังคมอื่นๆ ก็ต้องเข้ามาช่วยกันทำงาน
- แรงงานในระบบ ๑๐ ล้าน - แรงงานรับจ้างนอกระบบราว ๒๓-๒๔ ล้าน
- Economic intercourse - Economic orgasm
- ความหมายของคำว่า"ชาติ": เลอะเทอะ / ภาพลวงตาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวม
- เศรษฐศาสตร์ยืนยันลักษณะ Value Free - ไม่มีฉันทาคติหรืออคติในเรื่องคุณค่าและรสนิยม
- เรื่องของไข่ไก่สำหรับคนจนกับคนรวย
- จุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ไม่ค่อยได้ศึกษามนุษย์ตัวเป็นๆ
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "เศรษฐศาสตร์การเมืองกับสังคมไทย")
สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๙๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
Economic
Religion and the Production of Structural Ignorance
Economic
Religion: เศรษฐศาสน์ในทัศนะของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวมและเชิงอรรถ
บทความนี้ปรับปรุงมาจากบทความเดิมที่เคยเผยแพร่แล้วในประชาไทออนไลน์
เดิมชื่อ
"ปาฐกถา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: เศรษฐศาสน์กับการผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้าง"
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
เสกสรรค์
ประเสริฐกุล
ก่อนอื่นผมต้องขอชี้แจงสักนิดว่า เรื่องที่จะคุยกันในวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
ผมเพียงแต่พยายามรวบรวมแง่คิด มุมมองต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคมมาเรียบเรียงให้ชัดขึ้น
อย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อแสดงจุดยืนและทัศนะที่ผมเห็นด้วย อย่างไรก็ดีพูดให้ถึงที่สุดแล้ว
เรื่องที่ผมตั้งใจจะพูดก็ไม่ได้ผิดไปจากหัวข้อ เพียงแต่ต้องการชี้แจงล่วงหน้าว่าผมไม่มีความรู้พอที่จะมาวิจารณ์วิชาเศรษฐศาสตร์
อีกทั้งขอจำแนกความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์ในฐานะสาขาวิชา กับเศรษฐศาสน์ที่ผมใช้เป็นชื่อหัวข้อในการปาฐกถา
คำหลังนี้พูดอีกแบบหนึ่งใช้คำว่า ลัทธิบูชาเศรษฐกิจ หรือลัทธิบูชาจีดีพี
ความแตกต่าง: เศรษฐศาสตร์และลัทธิบูชาเศรษฐกิจ
ความแตกต่างระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์และลัทธิบูชาเศรษฐกิจ อยู่ที่ฝ่ายหลังมักจะขอยืมทฤษฎีหรือจินตภาพของฝ่ายแรกไปใช้อย่างสามานย์
ทำให้เกิดชุดความคิดที่คล้ายกันหรือเหมือนกันขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งหลุดออกจากความเป็นวิชาการ
กลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองบ้าง เป็นข้ออ้างทางสังคมบ้าง สุดแท้แต่ว่าจะนำไปใช้ในบริบทใด
พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือว่า "ลัทธิบูชาเศรษฐกิจ" หมายถึง ลัทธิที่ยึดถือการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมายสูงสุดในการขับเคลื่อนทางสังคมและกิจกรรม โดยกำหนดให้ด้านอื่นๆ เป็นเพียงด้านรอง กระทั่งถูกหักล้างได้อย่างสิ้นเชิงเพื่อสนองจุดหมายนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในระดับนโยบายของรัฐ การลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ มักจะมีลำดับความสำคัญสูงกว่าการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการขยายตัวเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม มักถูกกำหนดคุณค่าไว้สูงกว่าการรักษาสภาพเดิมของชุมชนท้องถิ่น เช่นนี้เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ในระดับปัจเจกบุคคล การยึดถือเศรษฐกิจเป็นศาสนา ก็มักนำไปสู่การหมกมุ่นอยู่กับผลประโยชน์ทางวัตถุหรือรายได้ที่เป็นเงิน ในระดับที่ลดทอนหรือยกเลิกคุณค่าอื่นๆ ของชีวิต เช่นมิตรภาพ น้ำใจ ความเมตตากรุณา ตลอดจนความสงบสันติ พูดโดยรวมแล้วลัทธิบูชาเศรษฐกิจ แท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากการมองโลกโดยภาววิสัย หรือ Objective Thinking เท่าใดนัก หรือไม่ได้มาจากกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นความเชื่อทางอัตวิสัย เป็น Subjective Thinking แบบหนึ่ง ที่งอกมาจากความปรารถนาของคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง แต่เมื่อถูกยึดถือกันเป็นจำนวนมากก็กลายเป็นลัทธิความเชื่อที่ไม่ต่างอะไรกับศาสนาบางนิกาย อีกทั้งยังเป็นศาสนาที่ก้าวร้าวรุนแรงยิ่ง มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อตอกย้ำแนวคิดของตน มีการผลิตวาทกรรมที่เชิดชูจุดหมายของตน อีกทั้งมีขบวนการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของตน ตลอดจนมีบทลงโทษลงทัณฑ์ผู้ที่ไม่เห็นด้วย หรือขัดขวางแนวคิดของตน เช่นนี้แล้วลัทธิบูชาเศรษฐกิจจึงส่งผลต่อโลกทัศน์ ชีวทัศน์ของผู้คนในสังคมอย่างหนักหน่วง ทำให้มีการมองโลกเพียงด้านเดียว คือด้านที่เป็นผลประโยชน์ทางวัตถุเท่านั้น อันนี้ต่างกับวัตถุวิสัยทางปรัชญา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเป็นผลประโยชน์ในการทำความเข้าใจมิติของชีวิตและจักรวาล
ผมคงไม่ต้องเอ่ยก็ได้ว่า ความหมกมุ่นถึงผลประโยชน์ทางวัตถุนั้น ได้ลดทอนความสงบทางจิตใจลงไปขนาดไหน? ความอยากมีอยากเป็นไปอย่างไร้ขอบเขต ทำให้บุคคลต้องทะเลาะกับตัวเอง ทะเลาะกับผู้อื่น และทะเลาะกับธรรมชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับจุดหมายในการสร้างชีวิตและสังคมที่สงบสุข อันนี้อาจพูดได้ว่า โลกทัศน์ดังกล่าวเป็นการมองโลกและชีวิตผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งเป็นความมืดทึบทางปัญญา หากพูดภาษาธรรมก็คือว่า "เป็นชีวิตที่ถูกผลักดันโดยอวิชชา หรือ "Ignorance"
อวิชชา ๔ กับอวิชชา ๘
ของลัทธิบูชาเศรษฐกิจ
ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา อวิชชาหรือความไม่รู้นั้นมีสาเหตุมาจากความหลงในอะไรสักอย่าง
เป็นโมหะ หรือบางทีก็หลงใหลในทุกสิ่งทุกอย่างจนมองไม่เห็นความจริงของชีวิต ตามที่พระท่านสอนคืออวิชชา
4 (*) กับอวิชชา 8 (**)
(*) อวิชชา 4 (ความไม่รู้แจ้ง, ไม่รู้จริง - ignorance; lack of essential knowledge)
1. ทุกฺเข อญฺญาณํ (ไม่รู้ทุกข์ - absence of knowledge of suffering)
2. ทุกฺขสมุทเย อญฺญาณํ (ไม่รู้ในทุกขสมุทัย - of the cause of suffering)
3. ทุกฺขนิโรเธ อญฺญาณํ (ไม่รู้ในทุกขนิโรธ - of the cessation of suffering)
4. ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย อญฺญาณํ (ไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา - of the path leading to the cessation of suffering) [กล่าวสั้นๆ คือ ไม่รู้ในอริยสัจจ์ 4]
(**) อวิชชา 8 (ความไม่รู้แจ้ง, ไม่รู้จริง - ignorance; lack of essential knowledge) 4 ข้อแรกตรงกับอวิชชา 4; ข้อ 5 - 8 ดังนี้
5. ปุพฺพนฺเต อญฺญาณํ (ไม่รู้ในส่วนอดีต - absence of knowledge of the past)
6. อปรนฺเต อญฺญาณํ (ไม่รู้ส่วนอนาคต - of the future)
7. ปุพฺพนฺตาปรนฺเต อญฺญาณํ (ไม่รู้ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต - of both the past and the future)
8. อิทปฺปจฺจยตาปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญฺญาณํ (ไม่รู้ในธรรมทั้งหลาย ที่อาศัยกันจึงเกิดมีขึ้นตามหลักอิทัปปัจจยตา - of states dependently originated according to specific conditionality)
ข้อแรก หมายถึง ว่าไม่รู้อริยสัจ 4 ประการ อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ส่วนข้อหลังนั้นเพิ่มไปอีก 4 ประการไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต แน่นอนผมตระหนักดีว่านี่อาจจะไม่ใช่เวลาลงลึกถึงระดับโลกุตรธรรม แต่ก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ในระบบเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมที่เน้นแต่ด้านของการเติบโตทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ต่างก็หลุดไปจากรากเหง้าทางวัฒนธรรม อีกทั้งปรุงแต่งสินค้าซึ่งถูกนำมาปรุงแต่งชีวิตและกามารมณ์ โดยไม่สนใจว่าผลกระทบระยะยาวจะออกมาเช่นใด นี่เราอาจเรียกได้ว่า เป็นอวิชชาที่ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคตเป็นการหมุนวนอยู่กับวงจรทุกข์อย่างหาทางออกไม่ได้
วรรคแรกของปฏิจสมุปบาทนั้นกล่าวว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย อันนี้แปลว่า เพราะมีความโง่เขลาเป็นเครื่องมือ ผู้คนจึงก่อกรรมขึ้นมา ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการจะหลุดพ้นจากวงวัฎฏะของกรรมเวร หรือพ้นทุกข์ย่อมเป็นเรื่องทำไม่ง่าย หากไม่มีการดับอวิชชาเสียก่อน. ผมอยากจำกัดการสนทนาไว้ที่เรื่องความทุกข์ร้อนทางสังคม เพราะฉะนั้นคำว่าอวิชชาที่นำมาใช้ เป็นการใช้ในความหมายกว้างๆ เป็นการมองชีวิตแค่ด้านเดียว หรือมองโลกคลาดจากความจริง
อวิชชา" ถูกผลิตขึ้นโดยโครงสร้างหลัก
ถูกผลิตขึ้นด้วยนโยบายของรัฐ
ในความเห็นของผม "อวิชชา"ดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากความโง่เขลาเบาปัญญาของปัจเจกชน
มากเท่ากับการถูกผลิตขึ้นอย่างจงใจโดยโครงสร้างหลักๆ ของสังคม ที่สำคัญคือมันถูกผลิตขึ้นด้วยนโยบายหลักของรัฐ
โดยระบบการศึกษาของรัฐที่เป็นการศึกษาแบบแยกส่วน ตัดตอน ตลอดจนการโฆษณาสินค้าและบริการที่ท่วมทับระบบข่าวสารของสังคม
จนเหลือพื้นที่ให้ทางเลือกอื่นๆ น้อยเต็มที่ กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ อวิชชาหรือความโง่เขลาในประเทศนี้
เป็นผลผลิตเชิงโครงสร้าง เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและผลิตซ้ำโดยกระบวนการทางสังคม
ไม่ใช่ปัญหาพันธุกรรม หรือเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บแต่อย่างใด
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ ผมคงไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมามากแล้ว
ผลจากการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล ทำให้ประเทศของเราตกอยู่ในภาวะ 1 รัฐ 2 สังคม
"รวยสุดขั้ว / จนสุดขีด" กระทั่งกลายเป็นปัญหาการเมืองทีแก้ไม่ตก เมื่อมวลชนแยกกันฝากความหวังไว้กับชนชั้นนำต่างกลุ่ม
ซึ่งขัดแย้งกันเรื่องพื้นที่อำนาจ ผมไม่คิดว่าใครจะแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองแบบนี้ได้
ถ้าไม่นำปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาพิจารณาควบคู่กันไปด้วย อย่างไรก็ตาม
ประเด็นที่สะท้อนลักษณะอวิชชาในนโยบายของรัฐก็คือ แทบจะไม่มีการสรุปบทเรียนอะไรอย่างมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความผิดพลาดในนโยบายการพัฒนาประเทศ
มิหนำซ้ำยังย้ายอุปาทานเรื่องการพัฒนามาเป็นอุปาทานเรื่องตลาดเสรี กระทั่งผสมผสานมันเข้าหากันโดยยืนยันไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ
2540 และ ฉบับ 2550
ในเมื่อรัฐเป็นฝ่ายยืนยันในมายาคติในเรื่องเหล่นี้เสียแล้ว ผู้ที่ถือ"ลัทธิบูชาเศรษฐกิจ"หรือ"บูชาจีดีพี" ก็นับว่ามีทั้งมหาวิหารและคัมภีร์อ้างอิงอย่างพร้อมมูล เรียนตรงๆ ว่า ผมเองก็ไม่เข้าใจว่าเมื่อผลของการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นแห่งชาติหรือแบบไร้พรมแดน ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยสุด 20 เปอร์เซ็นต์ กับคนจนสุด 20 เปอร์เซ็นต์ ห่างกันถึง 13.2 เท่า และคนรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เทียบกับคนจนสุด 10 เปอร์เซ็นต์ได้ส่วนแบ่งแค่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ แล้วเรายังยืนยันที่จะเดินบนหนทางนี้ต่อไปได้อย่างไร? บางทีเรื่องมันอาจจะเป็นแบบที่ท่านอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรได้ชี้ไว้ว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่กระบวนการปกติ แต่เป็นสิ่งที่สังคมเลือก และก็คงมีแต่สังคมอวิชชาเท่านั้นที่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นของจริง เพราะฉะนั้นมันคงจะไม่ใช่เรื่องที่ปราศจากเหตุผล ที่ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี เคยสรุปไว้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ นับเป็นกำแพงด้านหนึ่งที่กั้นขวางการเติบโตทางปัญญา ที่ท่านใช้คำว่าเป็น"หลุมดำทางปัญญา" นอกเหนือไปจากสังคมแนวดิ่ง อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ และระบบการศึกษา
โครงสร้างและเนื้อหาของการศึกษาไทยที่พิการ
แยกส่วน
พูดถึงระบบการศึกษา อันที่จริงถ้าเรามีระบบการศึกษาที่สร้างพลังทางปัญญาได้สำเร็จ
เราอาจจะช่วยถ่วงดุลอวิชชาของ"ลัทธิบูชาจีดีพี"ได้บ้าง แต่ดังที่ผมกล่าวไว้แล้วในบางที่บางแห่ง
โครงสร้างและเนื้อหาของการศึกษาไทย เป็นการศึกษาแบบแยกส่วน เน้นไปในทางแยกสาขามากกว่าบูรณาการองค์ความรู้ให้เข้าใจโลกและชีวิตโดยรวม
กล่าวอีกแบบคือเราแยกมิติต่างๆ ของความจริงออกจากกัน แยกห้องเรียนออกจากโลกภายนอก
แยกผลการเรียนออกจากเจตจำนงในการเรียน กระทั่งตัวสถาบันการศึกษาเองก็แยกห่างออกจากสังคม
สภาพเช่นนี้ทำให้การเรียนรู้ทางปัญญาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ดี
แม้ว่าการศึกษาแบบแยกส่วนจะมีที่มาจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ท้ายที่สุดตัวแปรที่กำหนดสภาพดังกล่าวมากที่สุด
ก็คือตลาด พูดง่ายๆ คือ
การศึกษาเป็นกระบวนการผลิตตนเองของผู้ศึกษาเพื่อจะได้กลายเป็นสินค้าราคาแพงในตลาดแรงาน ทั้งนี้โดยไม่ต้องสนใจไยดีว่าในภาพที่ใหญ่กว่า แรงงานของตนจะถูกนำไปสนองวัตถุประสงค์ใด แม้แต่อาจารย์ที่สอนวิชาต่างๆ ก็อาจจะไม่ทันได้ไต่ถามว่าศาสตร์ที่มอบให้ลูกศิษย์นั้น เป็นศาสตร์แห่งการครอบงำและครอบครอง หรือเป็นศาสตร์แห่งการเข้าใจและเข้าถึง
ระบบการศึกษาที่ตกเป็นอาณานิคมของลัทธิบูชาเศรษฐกิจ
แน่นอน การผลิตตัวเองให้เป็นสินค้าที่มีราคาในท้องตลาดโดยผ่านการศึกษา กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว
ก็เป็นกระบวนการผลิตตัวตนของปัจเจกบุคคลไปด้วย แต่ก็เป็นตัวตนในมุมแคบเต็มที
อยู่ในระดับอหังการ์ ตัวกูของกูเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่บ้าปริญญา
เต็มไปด้วยผู้มีการศึกษาสูงที่โง่เขลา หลายคนอาจจะมีรายได้มาก หาเงินเก่ง แต่มีชีวิตที่เหลือเหมือนอนารยชน
เพราะฉะนั้นแทนที่จะให้แสงสว่างทางปัญญาแก่สังคม ระบบการศึกษาที่ตกเป็นอาณานิคมของลัทธิบูชาเศรษฐกิจกับกลายเป็นโครงสร้างที่ผลิตอวิชชาเสียเอง
ขบวนการสื่อที่ตกอยู่ภายใต้"ลัทธิบูชาเศรษฐกิจ"
กล่าวสำหรับระบบการนำเสนอข่าวสารของสังคมซึ่งมีผลหล่อหลอมโลกทัศน์ไม่น้อยไปกว่าระบบการศึกษา
กระทั่งอาจจะมีพลังหนักหน่วงกว่า เราก็เห็นอยู่แล้วว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร อาจจะพูดได้ว่า
กระแสหลักของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสังคม ได้ถูกครอบงำโดยแรงจูงในทางธุรกิจไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโฆษณาสินค้าและวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม หรือการเสนอข่าวเร้าใจให้เสพทั้งๆ
ที่หลายเรื่องไม่ควรจะเป็นข่าว แม้กระทั่งการนำเสนอข่าวความเป็นไปในบ้านเมืองธรรมดาๆ
ก็ต้องมีการปรุงรสเพื่อเพิ่มยอดขาย
สภาพดังกล่าวนับว่าสวนทางกับสังคมอุดมปัญญาในระดับประสานงา เป็นการผลิตอวิชชาในระดับโครงสร้างอีกชนิดหนึ่ง ผู้ผลิตสื่อไม่ว่าจะหวังดีสักเพียงใด ล้วนแล้วแต่ดิ้นไม่พ้นอิทธิพลของเงื่อนไขทางธุรกิจ จำเป็นต้องปรุงแต่งข่าวสารให้นำมาซึ่งกำไรสูงสุดของผู้ว่าจ้าง ซึ่งตนเองมีส่วนแบ่งอยู่ด้วย ลัทธิบูชาเศรษฐกิจจะไม่ปราณีกับคนที่ไม่ยอมร่วมมือ ในสภาวะที่ระบบข่าวสารของสังคมเป็นเช่นนี้ ก็ชวนให้น่าสงสัยเหมือนกันว่า กลไกการทำงานของสิ่งทีเรียกตลาดเสรีจะเป็นเช่นไร?
สมมติฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เห็นว่า ในระบบตลาด มนุษย์เราจะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล แท้จริงแล้วเป็นไปได้หรือไม่ การถูกพูดกรอกหูอยู่ทุกวันว่าผิวคล้ำเป็นปมด้อย หรือรักแร้ดำเป็นปัญหาใหญ่ของชีวิต จนต้องซื้อครีมยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้มาถูทา เป็นการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยเหตุผลหรือไม่? แน่นอนวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยมที่กระพือพัดอยู่ในสื่อโฆษณาต่างๆ ย่อมทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่พอใจชีวิตที่เป็นอยู่ เพราะสิ่งที่ยังไม่ได้บริโภคยังมีอีกมากเหลือเกิน
ด้วยเหตุนี้ความคิดที่ก่อรูปตามหลังมาก็คือ ตัวเองยังรวยไม่พอ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจจะพออยู่พอกินมากแล้วก็ตาม ในความเห็นของผม แม้ว่าเราจะมีคนที่จนจริงๆ อยู่ในประเทศหลายล้านคนซึ่งจำเป็นจะต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทุกรูปแบบ แต่คนเหล่านั้นไม่ได้สานต่อก่อกระแสวิชชาเท่ากับสภาพจิตแบบกลัวไม่รวยของคนชั้นกลางที่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาของสื่อต่างๆ ดังที่เราจะเห็นการเข้าหาไสยศาสตร์อย่างบ้าคลั่งของคนกลุ่มหลัง ซึ่งนำไปสู่การบิดเบือนศาสนธรรมอย่างไม่เคอะเขิน วัดวาอารามหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิหลายแห่งล้วนถูกดัดแปลงให้เป็นแหล่งพิธีกรรมขอลาภ ยศ สรรเสริญ บางพวกตระเวนไหว้พระไหว้เจ้าทุกแห่งเพื่อจุดหมายที่ตรงกันข้ามกับพระธรรมคำสั่งสอน หลายคนไหว้กระทั่งหมู หมา กา ไก่ ท่อนไม้ สากกะเบือ หรือสัตว์ชนิดไหนก็ได้ที่เกิดมาผิดปกติจากเพื่อนร่วมสายพันธุ์ ทั้งนี้ด้วยความปรารถนาเพียงหนึ่งเดียวคือ ขอให้รวยๆ
อันที่จริง การจะบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นผลจากลัทธิเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ถูก เพราะในบางกรณีความมั่งคั่งอาจจะไม่เกี่ยวกับการบริโภค แต่ถูกมองเป็นจุดหมายสูงสุดโดยตัวของมันเอง ดื้อๆ ลอยๆ เหมือนกับที่นโยบายของรัฐเน้นเรื่องการเติบโตของจีดีพี
ปี่เซี๊ยะ: สัตว์ศักดิ์สิทธิ์
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์บุรุษท่านหนึ่ง น่าสนใจมาก ท่านบอกว่าตัวเองได้เลี้ยงปี่เซี๊ยะ
(*) ไว้ทั้งหมด 3 คู่ โดยตั้งชื่อให้ เช่น ตัวหนึ่งชื่ออำนาจ, ตัวหนึ่งชื่อบารมี,
ตัวหนึ่งชื่อพันล้าน, และอีกตัวหนึ่งชื่อหมื่นล้าน. ปี่เซี๊ยะดังกล่าวมีคุณสมบัติหลายอย่าง
แต่ที่สำคัญคือส่งเสริมความมั่งคั่งร่ำรวย นำโชคลาภให้ไหลมาเทมา ท่านให้สัมภาษณ์ว่าปี่เซี๊ยะพวกนี้ต้องทำจากหยกหรือหิน
เพราะจะมีพลังในตัวเอง โดยจะต้องผ่านพิธีปลุกเสกเสียก่อน พอได้มาก็ต้องเอามาอาบน้ำ
ตั้งชื่อ ขอให้เขาช่วยดูเงินดูทองให้เรา เลี้ยงเหมือนทามาก๊อต เอาน้ำตั้งให้เขากิน
เวลากลางคืนนั่งดูทีวีก็เอาเขามาวางข้างๆ เรียกชื่อเขา ลูบเขา ขอให้เขาให้ลาภเรา
ท่าเจ้าของบทสัมภาษณ์นี้ยังยืนยันด้วยว่า ข้อห้ามสำหรับการเลี้ยงปี่เซี๊ยะนั้น
คนที่เป็นเจ้าของจับได้คนเดียว หากให้คนอื่นจับเหมือนแบ่งโชคแบ่งลาภ ผมคงไม่ต้องออกความเห็นเพิ่มเติมอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
เพียงแต่ขอทำหมายเหตุเชิงอรรถนิดหน่อยว่า ปี่เซี๊ยะนั้น คือรูปแกะสลักขนาดเล็กที่มีส่วนผสมของผสมของสัตว์หลายชนิด
ทั้งสัตว์ที่มีจริงและสัตว์ในจินตนาการ ส่วนทามาก็อตเป็นของเล่นเด็กญี่ปุ่น ส่วนผู้ให้สัมภาษณ์เรื่องทั้งหมดนี้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(*) ปี่เซี๊ยะ (เทพร่ำรวย) ปี่เซี๊ยะเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ คำว่า "ปี่เซี๊ยะ"เป็นสำเนียงจีนกลาง ถ้าจีนแต้จิ๋วเรียกว่า "ผี่ชิว" กวางตุ้งเรียก "เพเย้า" หรืออาจเรียกในชื่ออื่นๆ เช่น "เถาปก" หรือ "ฝูปอ" นี้เป็นคำเรียกรวมๆ ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตระกูลหนึ่ง. ในจดหมายเหตุฮั่นชุ ในภาคที่ว่าด้วยดินแดนทางประจิมทิศ มีข้อความระบุไว้ว่า ในแคว้นหลีแถบเขาอูเกอซานนั้น มีสัตว์ตระกูลนี้ปรากฏอยู่ลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย นั่นคือ เทียนหลู่ ตัวคล้ายกวาง หางยาว มีเขาเดียว. คำว่า"เทียนลู่"นั้นแปลตรงตัวว่า "กวางสวรรค์" ครั้นต่อมาคำว่า "ปี่เซี๊ยะ" หรือ "ผี่ชิว" กลายเป็นคำที่คนทั่วไปคุ้นเคยกว่าเทียนลู่แล้ว จึงให้เรียกรวมกันไปในทางมายาศาสตร์จีน
แต่เดิม "ปี่เซี๊ยะ"เป็นสัตว์มงคลที่มีอานุภาพในทางกำจัดปีศาจ และสิ่งชั่วร้าย รวมทั้งปกป้องจากคุณไสย และมนต์ดำต่างๆ กล่าวคือคำว่า"ปี่" หรือ"ผี่" นั้น แปลว่า "ปิด - เร้นลับหลบซ่อน" คำว่า "เซี๊ยะ" หรือ "ชิว" คือ "อาถรรพณ์ สิ่งไม่ดี คุณไสย ภูติปีศาจ". คำว่า"ปี่เซี๊ยะ" หรือ "ผี่ชิว" จึงแปลได้ว่า ขจัดอาถรรพณ์. คนจีนสมัยก่อนจึงมักเขียนภาพหรือตั้งประติมากรรมรูปปี่เซี๊ยะไว้ตามประตูบ้าน และสุสานทั่วไป บางทีก็ประดับไว้บนหลังคาพระราชวังต่าง ๆ เพื่อให้ช่วยขจัดสิ่งอัปมงคลทั้งหลายนั่นเอง ว่ากันว่ามีพลังในการกำราบสิ่งชั่วร้าย
"ปี่เซี๊ยะ" คือ เทพลก กวางสวรรค์มี 1 เขา มีปากไม่มีทวาร เชื่อกันว่าทรัพย์มีแต่เข้าไม่มีออก ร้านค้าหรือธนาคารนิยมมีไว้บูชาเพื่อเก็บกักเงินทองไม่ให้รั่วไหล ขจัดสิ่งอัปมงคล เชื่อกันว่า"เทพเซียนปี่เซี๊ยะ"จะลงมาคุ้มครองและให้โชคลาภนับแต่นี้ไปอีก 20 ปี. หากใครมีโอกาสไปเยือนประเทศจีนจะพบว่าสัตว์ตัวนี้ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้ทำมาค้าขาย ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และหน้าบ่อนการพนัน เพราะเชื่อว่าตั้งไว้เพื่อดูดทรัพย์พวกนักเล่นการพนัน นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าสามารถปกป้องคุ้มภัย ขจัดสิ่งอัปมงคล เมื่อได้ทรัพย์สินเงินทองมาแล้ว การใช้จ่ายจะรั่วไหลออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
มีตำนานเล่าขานในทางมงคลถึง "ปี่เซี๊ย" มากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวในยุคต้นราชวงศ์ "ชิง" (ราชวงศ์แมนจู) เล่ากันว่า เมื่อยุคเฉียนหลงฮ่องเต้ ครั้งยังเป็นองค์รัชทายาท เรียกกันว่า "องค์ชายสี่" มีนักพรตท่านหนึ่งนำ ปี่เซี๊ยะมามอบให้ โดยกำชับให้หมั่นดูแลทะนุถนอม และจักให้การคุ้มครองปกป้องภัย และส่งพลังให้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ ซึ่งองค์ชายสี่ก็ได้ทำตามนั้น จวบจนต่อมาได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงได้ะราชทานยศตำแหน่งแก่ "ปี่เซี๊ยะ" นาม "เทียนลู่" (บารมียศแห่งสวรรค์) และอยู่คู่เคียงเฉียนหลงฮ่องเต้ตลอดรัชสมัย 60 ปีที่ครองราชย์ ซึ่งนับเป็นระยะเวลาแห่งการครองราชย์อันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน (ปัจจุบัน "ปี่เซี๊ยะ" ตัวดังกล่าว ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวัน)
ทุกวันนี้เราอาจพูดได้ว่า การผลิตสื่อโฆษณาในแนวทางของลัทธิบูชาเศรษฐกิจกับโลกทัศน์ ชีวิทัศน์ ของผู้ผู้เสพสื่อ ได้ทักทอเป็นสายใยสำคัญจนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กำหนดใคร และในระบบตลาดเสรี เมื่อมีการเรียกร้องต้องการในเรื่องความมั่งคั่งส่วนบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ หนังสือประเภทนำเสนอวิธีการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจึงถูกผลิตออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จนเหลือพื้นที่การบริโภคหนังสือประเภทอื่นๆ น้อยเต็มที
"รวยได้ ไม่ต้องเอาถ่าน"
แน่นอนสำหรับสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ มีแต่หนังสือที่ขายได้เท่านั้นจึงถือว่าเป็นหนังสือที่ดี
ส่วนเนื้อหาสาระที่บรรจุไว้ในหน้ากระดาษอาจจะไม่สำคัญ ทั้งๆ ที่มันอาจจะถอนรากถอนโคนคุณค่าที่เหลือทั้งหมดของชีวิตเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น หนังสือแปลเล่มหนึ่งที่น่าจะกำลังขายดีในประเทศไทย หลังจากขายดีมาแล้วในโลกตะวันตก
หนังสือเล่มนี้มีชื่อในภาษาไทยว่า "รวยได้ ไม่ต้องเอาถ่าน" โดยมีคำโปรยหน้าปกสำทับไว้ด้วยว่า
นี่คือวิธีคิดทางการเงินแบบนอกกรอบ ที่ช่วยให้คนไม่เอาถ่านพลิกกลับมารวยล้ำหน้าคนที่ฉลาดและทำงานหนักกว่า
เอาล่ะ บางทีชื่อหนังสือคำโปรยอาจะเป็นแค่กลยุทธ์ทางการค้า แต่พอพลิกอ่านข้างใน
เราจะพบว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เอาจริงกับเรื่องที่เขาเขียนมาก และหมายความตามชื่อเรื่องและคำโปรยจริงๆ
ดังมีข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า "คนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่ง ล้วนมีเป้าหมายหลักในการครอบครองทรัพย์สินให้มากที่สุด
เท่าที่จะทำได้ เป้าหมายของคุณในฐานะคนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่งมือใหม่ ก็คือ ซื้อหาทรัพย์สินชิ้นแรกมาซะ
คุณไม่จำเป็นต้องมีเงินมากหรอกครับ อันที่จริงแล้ว คุณไม่ต้องใช้เงินตัวเองเลยก็ได้"
นอกจากนี้ก็มีข้อความบางอย่างเขียนไว้เกี่ยวกับชีวิตที่ดี
"การมีชีวิตที่ดีเสียตั้งแต่ตอนนี้หมายถึงอะไร? มันหมายถึงการสนุกกับสิ่งของทุกอย่างของคนที่มีฐานะมั่งคั่ง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รถยนต์ การท่องเที่ยว สิ่งของหรูหรา สิ่งของดีๆ ทั้งหลาย แต่ก็อย่างที่คุณรู้อยู่แล้ว ผมยังเชื่อว่าการเป็นคนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่ง คุณต้องมีเวลาอยู่ด้วย. ซึ่งเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่คุณใช้ร่วมกับคนอื่น คนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่งใช้เวลากับครอบครัวอย่างจริงจัง พวกเขาอุทิศตัวให้กับชุมชน ให้เงินบริจาคองค์กรการกุศล สนับสนุนสถาบันการศึกษาและศาสนา พวกเขาคือผู้อุปถัมภ์องค์กรทางวิทยาศาสตร์และศิลปะ พวกเขาช่วยคนอื่นตะเกียกตะกายออกจากความจน ผมจึงอยากเป็นคนไม่เอาถ่านผู้มั่งคั่งทางจิตวิญญาณด้วย"
เช่นเดียวกับเรื่อง"ปี่เซี๊ยะ"ให้ลาภ ผมคงไม่ต้องออกความคิดเห็นเพิ่มเติม แต่จะว่าไปนับถึงวันนี้ แนวคิดข้างต้นก็ไม่ใช่ของใหม่ แต่การที่มันถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างเข้มข้นในรูปแบบต่างๆ ก็ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อยว่า สังคมที่ถูกอบร่ำด้วยบรรยากาศเช่นนี้อย่างต่อเนื่อ งจะนำพาวิกฤตแบบไหนมาให้เราอีก
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับหนังสือที่ผมยกมาก็คือว่า มันมีข่าวสารที่สำคัญว่าต้องรวมศูนย์ความมั่งคั่ง ไว้ในมือคนส่วนน้อยก่อน จากนั้นค่อยกระจายรายได้และความเจริญ ผมไม่ทราบว่าในระดับปัจเจกบุคคลมันเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า เป็นไปได้แค่ไหนที่จะบวกรวมจิตวิญญาณที่โลภเร่งถึงขีดสุด เข้ากับจิตวิญญาณที่อุทิศตัวเพื่อผู้อื่น แต่อย่างน้อยผมทราบว่าแนวคิดที่คล้ายๆ กันนั้น เคยถูกโฆษณาโดยรัฐและนักวิชาการในประเทศไทยมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกๆ และมันเป็นคำมั่นสัญญาที่ไม่เคยปรากฏเป็นจริง เพราะฉะนั้นการเอามายาคติดังกล่าวมาผลิตซ้ำอีก จึงไม่อาจเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากเป็นอวิชชา
จริงอยู่ลำพังความคิดอยากได้อยากมีเหล่านี้ หากไม่ละเมิดใครก็อาจอนุโลมได้ว่าเป็นแค่ความเชื่อส่วนตัว เป็นสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่ง แม้จะไม่ค่อยสร้างสรรค์นักก็ตาม แต่ความเป็นจริงอยู่ที่สถานการณ์ทางสังคมไม่ได้หยุดอยู่กับความคิดอันฟุ้งซ่านเท่านั้น หากแต่นำไปสู่ความเดือดร้อนอันเป็นรูปธรรมด้วย ทั้งคนที่ถูกทิ้งให้ยากจนสุดขีดและคนที่อยากรวย ล้วนแล้วแต่มีโอกาสลื่นไถลไปสู่การสนองความต้องการของตนโดยไม่คำนึกถึงวิธีการ ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสถิติอาชญากรรมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากความอยากได้ทางวัตถุทั้งสิ้น
ไทยกับปัญหาคอร์รัปชั่น
อันดับที่ ๘๐ ของโลก (คะแนน ๓.๕ เต็ม ๑๐)
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างหนักอีกด้วย จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลก
เราถูกจัดไว้ที่อันดับที่ 80 จาก 160 ประเทศ ทั้งนี้โดยมีการเรียงลำดับจากคอร์รัปชั่นน้อยสุด
ไปสู่คอร์รัปชั่นมากสุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเป็นคะแนนกับประเทศใกล้เคียงในเอเชียด้วยกันแล้ว
ประเทศไทยได้เพียง 3.5 จากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่มาเลเซียได้ 5.1 ญี่ปุ่นได้ 7.3
และสิงคโปร์ได้ถึง 9.2
ท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่เกาะกินประเทศมาช้านาน กลายเป็นปัญหาการเมืองและเป็นปัญหาประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน เราคงพูดไม่ได้ว่าปัญหาเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับโลกทัศน์ทางด้านผลประโยชน์ ทุกคนมีผลประโยชน์ทั้งนั้น แต่มันเป็นผลประโยชน์ที่ออกนอกบรรทัดฐานไปไกล ซึ่งสุดท้ายกลับมาส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจเอง ดังจะเห็นได้จากคำปรารภของท่านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่นานนี้ว่า "ได้รับทราบจากบรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างว่า มีการกินหัวคิวในโครงการต่างๆ ภายใต้งบประมาณไทยเข้มแข็งสูงถึง 20 -25 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามากเกินไปถ้าเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เป็นไร ถือว่าธรรมดา" ตามที่หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้คำนวณไว้หากมีการคิดค่าหัวคิวในอัตราร้อยละ 25 ตามโครงการไทยเข้มแข็ง เงินภาษีอากรของประชาชนที่รั่วไหลไปสู่กระเป๋าคนโกงจะมีปริมาณมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท นี่ก็เป็นปัญหาที่เริ่มต้นด้วยความอยากรวย
แน่นอนว่า เราไม่สามารถโยนความผิดปกติเหล่านี้ไปให้วิชาเศรษฐศาสตร์ต้องรับผิดชอบ แต่ก็คงต้องยอมรับว่ามันเป็นสภาพที่ต่อเนื่องมาจากอวิชชาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเกิดจากลัทธิบูชาผลประโยชน์ของนักเศรษฐกิจ ทำให้คนจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดคิดว่า ที่ผ่านมากินหัวคิวแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ไม่มีใครว่าอะไร หากจะเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่น่าจะเป็นไรเช่นกัน เพราะถึงอย่างไรเงินทองที่ได้มาทั้งอาชญากรรมและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็จะถูกนำมาจับจ่ายใช้สอยบริโภค ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีอยู่แล้ว
ถ้ายึดเป้าหมายเศรษฐกิจ
หนีไม่พ้นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง
เพราะฉะนั้นในความเห็นของผม ปัจจัยมูลฐานที่สุดที่ก่อให้เกิดอวิชชาเชิงโครงสร้าง
ก่อให้เกิดการมองโลกเพียงด้านเดียวซึ่งผิดไปจากความจริง ยังคงอยู่ที่นโยบายของรัฐ
ที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง เท่าที่ผ่านมาในระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ
รัฐไทยได้ใช้อำนาจรวมศูนย์กำหนดความสำคัญทางการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้เป็นอันดับหนึ่ง
มิไยว่าบาดแผลทางสังคมที่เกิดขึ้นจะสั่งสมไว้มากแค่ไหน มิไยว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้จะถ่างกว้างออกไปมากเพียงใด
การเสื่อมทรุดของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจะหนักลงปานใด รัฐก็ยังคงยืนยันที่จะให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งอยู่ตลอดเวลา
สภาพเช่นนี้ทำให้สังคมไทย ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างไปได้
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ "มาบตาพุด" ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างการสร้างความมั่งคั่งทางวัตถุโดยผ่านทิศทางพัฒนาอุตสาหกรรม กับคุณภาพชีวิของผู้คนในสังคม การที่ชุมชนชาวมาบตาพุดและเครือข่ายภาคประชาชนไม่อาจฝืนทนกับสภาพที่ทรมานเช่นนี้ต่อไป นับเป็นการตื่นรู้ครั้งสำคัญของสังคมไทย ที่เรียกร้องต้องการให้รัฐไทยหลุดออกจาก"ลัทธิบูชาเศรษฐกิจ"และนำมาประชาชนมาสู่ชีวิตที่สมดุลมากขึ้น
อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับกรณีนี้ก็คือ นับตั้งแต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับโครงการอุตสาหกรรม 76 โครงการ ทั้งในพื้นที่มาบตาพุดและในพื้นที่ใกล้เคียง ปรากฏว่าทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนต่างก็ออกมาแสดงความวิตกกังวลว่า คำสั่งศาลฯ ดังกล่าว จะทำให้เกิดผลเสียทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้โดยมีชุดเหตุผลที่เราได้ยินได้ฟังกันมาจนคุ้นเคย คือ
- หนึ่ง ต่างชาติจะไม่ลงทุนในประเทศไทย
- สอง จีดีพีจะลดลงเพราะเงินลงทุนหายไป 3-4 แสนล้านบาท และ
- สาม ผู้คนจะตกงานถึงหนึ่งแสนคน
เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้วประเทศไทยจะเสียหายมาก
สูตรสำเร็จของคำอธิบายที่เถียงไม่ได้
ที่ผมบอกว่าน่าสนใจก็คือว่า ชุดเหตุผลเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้ทุกๆ ความขัดแย้งคล้ายๆ
กัน เพราะฉะนั้นมันจึงมีลักษณะเป็นอุดมกการณ์หรือวาทกรรมทางการเมืองมากกว่าคำอธิบายสถานการณ์ที่เป็นจริง
และลักษณะของอุดมการณ์ไม่ว่าของฝ่ายไหนก็ตาม กระบวนการใช้ตรรกะเหตุผลบางอย่าง
เหตุผลทั้งหมดมักจะตั้งอยู่บนฐานความเชื่อบางอย่างที่ยกขึ้นหิ้งไว้ แล้วบอกว่าห้ามเถียง
เช่นในกรณีนี้ การขยายตัวของอุตสาหกรรมคือผลประโยชน์ส่วนรวม, จีดีพีคือดัชนีชี้วัดความเจริญรุ่งเรือง,
การมีงานทำเป็นสิ่งที่ดี อะไรทำนองนั้น
ในจุดนี้ผมอยากจะขอหมายเหตุไว้สักนิดว่า ถ้าพิจารณาโดยหลักธรรมแล้ว อุดมการณ์ทุกประเภทล้วนเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะมันเกิดจากการจับความจริงบางส่วนมาขังไว้ในกรอบคิด จากนั้นก็ปรุงแต่งจนมองข้ามความจริงทีเป็นรูปธรรมที่คลี่คลายอยู่เบื้องหน้าในปัจจุบัน ท้ายที่สุด มุมมองแบบนี้ก็จะนำไปสู่การเข้าใจโลกอย่างผิดๆ กระทั่งหลุดไปจากความจริงอย่างสิ้นเชิง หรือทะเลาะความจริงอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะมีความคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของความจริงเสียเอง. พวก Fundamentalist ไม่ว่าซ้ายหรือขวา ไม่ว่าฝ่ายศาสนาหรือการเมือง ล้วนแล้วแต่มีมิจฉาทิฐิเช่นนี้
ข้อขัดแย้งระหว่าง Myth
(มายาคติ) กับ Reality (ความเป็นจริง)
ในกรณีของมาบตาพุด สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกใจหายก็คือ ขณะที่ชาวบ้านที่เดือดร้อนเป็นบุคคลที่มีหน้าตาตัวตนอย่างแท้จริงเป็นรูปธรรม
มีคนเจ็บและคนเสียชีวิตด้วยโรคร้ายนานาชนิดอย่างเป็นรูปธรรม ฝ่ายรัฐและภาคธุรกิจกลับพูดถึงคุณค่าและปริมาณของเงินลงทุนแบบลอยๆ
โดยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าใครได้อะไรแค่ไหนจากเงินดังกล่าว จำนวนคนทำงานหนึ่งแสนคนก็เป็นมนุษย์นิรนาม
ไม่รู้ว่าเป็นใคร และทำงานในเงื่อนไขอะไร งานเหล่านั้นสร้างชีวิตที่ดีให้พวกเขาหรือไม่
หรือยิ่งทำให้ชีวิตของพวกเขาเลวลง กลายเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอีกชนิดหนึ่ง เพราฉะนั้น
ในแง่หนึ่งเราจะเห็นได้ว่าข้อขัดแย้งของมาบตาพุดเป็นข้อขัดแย้งระหว่าง Myth (มายาคติ)
กับ Reality (ความเป็นจริง)
และผมคงไม่ต้องตอกย้ำก็ได้ว่า การมองข้ามความทุกข์ร้อนที่เป็นรูปธรรมของผู้คนในนามของความดี ตัวเลขนามธรรม จริงๆ แล้วก็คือ"อวิชชา" นี่คือโมหะที่ครอบงำประเทศไทยมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ชาวบ้านมาบตาพุดไม่ใช่เหยื่อรายแรกของอวิชชานี้ ก่อนหน้านั้นมีชาวบ้านปากมูน, ชาวอำเภอจะนะ, บ่อนอก -หินกรูด, และคนยากคนจนในอีกหลายที่หลายแห่งซึ่งถูกกดดันให้สูญเสียวิถีชีวิตดั้งเดิม หรือเสียสละ เพื่อหลีกทางให้กับสิ่งที่เรียกกว่า"การพัฒนา"
เอาเศรษฐกิจแล้วทิ้งทุกอย่าง
กับได้ทุกอย่างแล้วทิ้งเศรษฐกิจ?
เมื่อกลไกตลาดเสรีไม่อาจปรับสมดุลตัวเอง กลไกของสังคมอื่นๆ
ก็ต้องเข้ามาช่วยกันทำงาน
แน่นอน กล่าวเช่นนี้แล้วไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไม่สำคัญ เพียงแต่ว่าทำอย่างไร
ความสำคัญนั้นจะไม่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างโดดๆ โดยไม่เกาะเกี่ยวยึดโยงกับคุณค่าอื่นใดของความเป็นคน
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ เราไม่ควรจะต้องเลือกอย่างสุดขั้วระหว่างเอาเศรษฐกิจแล้วทิ้งทุกอย่าง
กับได้ทุกอย่างแล้วทิ้งเศรษฐกิจ. แท้จริงแล้วประเด็นหลักมันอยู่ที่องศาของความเหมาะสม
อยู่ที่ความสมดุลระหว่างปัจจัยอันเป็นคุณต่างๆ ซึ่งมีทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ.
ในความเห็นของผม กรณีมาบตาพุดนั้น ควรจะต้องถูกมองในเชิงบวก ถือว่าเราโชคดีที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
ผมหมายถึงว่าในเมื่อกลไกตลาดเสรีไม่สามารถปรับสมดุลของตัวเอง ไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนข้อบกพร่องของตัวเองได้
กลไกของสังคมอื่นๆ ก็ต้องเข้ามาช่วยกันทำงาน ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงการจัดตั้งรวมตัวกันเอาธุระของชาวบ้าน
และบทบาทของศาลปกครอง ตลอดจนการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม
ถ้าหากเราสามารถทำให้สภาพเหล่านี้กลายเป็นกระบวนการปกติธรรมดา ในระยะยาวแล้ว การผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้างก็จะทำได้น้อยลง กระทั่งทำไม่ได้
ที่ผ่านมาวาทกรรมขอ"ลัทธิบูชาจีดีพี" หรือพวก "Fundamentalist ทางด้านเศรษฐกิจ" มักจะกล่าวอ้างว่า "เศรษฐกิจดี คนก็มีงานทำ" ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า "มีงานทำ มีรายได้ก็จะมีความสุข" แต่คำถามมีอยู่ว่า ความจริงเป็นเช่นนั้นเสมอไปหรือไม่? งานและรายได้แบบที่เป็นอยู่คือความสุขเสมอไปหรือไม่? หรือว่าแท้จริงแล้ว สำหรับคนจำนวนมากมายมหาศาล มันเป็นแค่ทางเลือกระหว่าง"อดตาย"กับ"การมีชีวิตอยู่อย่างลำบากยากแค้นเท่านั้น"
แรงงานในระบบ ๑๐ ล้าน
- แรงงานรับจ้างนอกระบบราว ๒๓-๒๔ ล้าน
จากตัวเลขที่เรามีอยู่ ทุกวันนี้เรามีแรงงานในระบบไม่ถึงสิบล้านแต่มีแรงงานรับจ้างนอกระบบราว
23-24 ล้าน ดังนั้น คนกลุ่มใหญ่ที่ออกแรงสร้างจีดีพี แท้จริงแล้วกลับไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย
นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตามค่าแรงขั้นค่ำ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในเรื่องไหน การรวมตัวเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองก็ทำไม่ได้
ถึงเวลาถูกเลิกจ้างก็ไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นไร?
ยิ่งไปกว่านั้นเรายังต้องถามต่อไปอีกว่า นอกเหนือไปจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เที่ยวไปหักล้างคุณค่าอื่นๆ ทางสังคมนั้น เป็นเรื่องที่คุ้มกันหรือไม่ แม้ว่าคุณค่าทางสังคมดังกล่าวอาจจะวัดเป็นตัวเลขหรือถูกตีราคาเป็นเงินไม่ได้ก็ตาม
Economic intercourse
- Economic orgasm
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา พอประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
รัฐก็ได้นำเงินมาแจกผู้ประกันตนคนละสองพันบาทเพื่อจับจ่ายใช้สอยในเรื่องใดก็ได้
เจตนารมณ์ของรัฐจึงให้เอาไปใช้สอย ไม่ใช่เก็บออม เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงไปทำข้อตกลงกับห้างร้านและองค์กรธุรกิจต่างๆ
ซึ่งมีตั้งแต่ร้านขายฟาสต์ฟูด ไปจนถึงห้างใหญ่ๆ ห้างหรูๆ สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์
โดยตกลงกันไว้ว่าให้ประชาชนสามารถนำสิ่งที่เรียกว่าเช็คช่วยชาติไปใช้แทนเงินสดได้
และให้บริษัทเหล่านั้นเพิ่มมูลค่าเช็ค ซึ่งเป็นจินตนาการเกี่ยวกับความได้เปรียบของลูกค้า
อีกทั้งใช้เงินสดเป็นเงินทอนด้วย ผลที่ออกมาก็คือ บรรดาห้างร้านต่างๆ พากันโหมโฆษณาสินค้าของตนเป็นการใหญ่
พร้อมทั้งแข่งกันนำเสนอเพิ่มมูลค่าของเช็ค ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าสินค้าที่โฆษณากันใหญ่โตมิใช่น้อย
คือเครื่องสำอางค์ยี่ห้อต่างประเทศ, อาหารต่างประเทศ, สถานบันเทิง, ตลอดจนสินค้าฟุ่มเฟือยระดับแบรนด์เนมอีกหลายอย่าง
พูดกันสั้นๆ ก็คือกระตุ้นกระแสบริโภคนิยมให้เร้าใจถึงขีดสุด เพื่อจะได้เกิด Economic
intercourse และไปถึง Economic orgasm พร้อมๆ กัน
ความหมายของคำว่า"ชาติ":
เลอะเทอะ / ภาพลวงตาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวม
อย่างไรก็ดี สภาพดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนิยามคำว่า 'ชาติ' อยู่ด้วย
"ชาติคืออะไร?" แค่ซื้อเครื่องสำอางค์ฝรั่งมาใช้เป็นการรักชาติแล้วหรือไม่?
แน่นอนความสับสนในเรื่องนี้ทำให้คำว่าชาติเลอะเทอะมากขึ้น ที่ชัดเจนมีอย่างเดียวคือ
"ชาติดังกล่าวไม่ได้รวมชาวไร่ชาวนาและแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ประกันตนและเป็นประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่ง"
ข้อโต้แย้งก็คือ การค้าและการจับจ่ายใช้สอยเป็นเรื่องดี ที่สุดแล้วก็จะก่อให้เกิดการจ้างงาน เม็ดเงินจะลงไปถึงรากหญ้า ทุกคนจะได้รับประโยชน์ แม้จะไม้ได้รับแจกเงินโดยตรงก็ตาม แต่เรียนตรงๆ ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าการค้าและการจับจ่ายใช้สอยที่เกิดขึ้นครั้งนั้น จะแบ่งส่วนแบ่งให้คนยากคนจนทั่วประเทศคนละกี่บาทกี่สตางค์ ยกเว้นพวกสามล้อแดง(เก็บและขายของเก่า) ที่อาจจะได้เศษกระดาษและพลาสติกเพิ่มขึ้น
อันที่จริงประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ เป้าหมายหลักของการผลิต"อวิชชาเชิงโครงสร้างโดยลัทธิบูชาเศรษฐกิจ" ก็คือ การก่อให้เกิด"ภาพลวงตาซึ่งผลประโยชน์ส่วนรวม" หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ ภาพลวงตาเกี่ยวกับประโยชน์สุขของคนกลุ่มหนึ่ง. มายาคติดังกล่าวเป็นการปลดอาวุธทางปัญญาของผู้คนในสังคม ทำให้เราแทบไม่มีกรอบคิดทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมใดๆ ที่จะไปถ่วงดุลการเติบโตทางเศรษฐกิจได้แม้แต่น้อย รัฐบาลและภาคธุรกิจอาจเพียงพูดลอยๆ ว่าส่วนรวมได้ประโยชน์ เรื่องก็ต้องจบลงตรงนั้น. อย่างไรก็ดีลึกๆ แล้วเราทุกคนทราบดีว่า หลักการที่ใช้ในการบริหารธุรกิจก็ดี หรือแผนการที่ถูกนำมากระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ดี กลับมีจุดเน้นอยู่ที่กำไรสูงสุดและต้นทุนต่ำสุด ซึ่งบ่อยครั้งสวนทางกับประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ แทนที่จะบรรจบกันโดยอัตโนมัติ
ถามว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วยหรือไม่ ตอบประเด็นนี้ผมได้เรียนไว้แต่แรกแล้วว่า ผมไม่มีความรู้พอที่จะวิจารณ์วิชาเศรษฐศาสตร์ และผมจำแนกความแตกต่างระหว่างการยึดถือลัทธิบูชาเศรษฐกิจเป็นศาสนาประจำชาติ กับวิชาเศรษฐศาสตร์ในฐานะสาขาหนึ่งขององค์ความรู้ แต่ก็อีกนั้นแหละ พูดอย่างเกรงอกเกรงใจแล้วผมยังต้องยืนยันว่านักเศรษฐศาสตร์มีส่วน ทำให้การผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้างเกิดขึ้น เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ได้เกิดจากอกุศลเจตนา หากเกิดจากการที่ท่านถูกเชื่อถือและถูกนำไปอ้างมากเกินไป โดยผู้คนที่ท่านควบคุมไม่ได้ เช่นนักธุรกิจและนักบริหารบ้านเมือง
เศรษฐศาสตร์ยืนยันลักษณะ
Value Free - ไม่มีฉันทาคติหรืออคติในเรื่องคุณค่าและรสนิยม
ความน่าเชื่อถือของวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นเกิดจากหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ
เป็นวิชาที่ยืนยันลักษณะ "Value Free" ไม่มีฉันทาคติหรืออคติในเรื่องคุณค่าและรสนิยม
ไม่ตีเส้นแบ่งด้วยหลักการทั้งด้านศาสนาและวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นจึงมีฐานะเป็นกลางไม่เข้าใครออกใคร
พูดอีกแบบคือ เศรษฐศาสตร์ทั้งที่เป็น self image และ public image เป็นการมองแบบภววิสัยโดยผ่านการคิดคำนวณเป็นสำคัญ
กระทั่งเป็นสาขาสังคมศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์มากที่สุด
อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่ที่สุดมันอยู่ตรงนี้ ในเมื่อวิชาเศรษฐศาสตร์เปิดพื้นที่โล่งในทางคุณค่า ผู้ที่ขอยืมชุดความคิดของวิชานี้ไปใช้จึงสามารถใส่อะไรลงไปก็ได้ เช่น คำว่าผู้บริโภค ซึ่งฟังดูเป็นคำกลางๆ และมักจะถูกนำมาใช้มากในระยะหลังเพื่อกระตุ้นการซื้อการขายภายในประเทศ หรือเพื่อชดเชยการถดถอยทางเศรษฐกิจ ตามความเข้าใจของผม หลักเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่ได้บอกเลยว่าคุณควรจะบริโภคอะไร ด้วยวิธีไหน ที่สำคัญคือ บริโภคมากๆ แล้วจะกระตุ้นการผลิต ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน จากนั้นทุกคนก็ได้ประโยชน์
เรื่องของไข่ไก่สำหรับคนจนกับคนรวย
แต่สำหรับเราท่านซึ่งเป็นคนธรรมดา เป็นนักวิชาการในสาขาอื่น การที่ซาเล้ง(สามล้อแดงเก็บและขายของเก่า)ครอบครัวหนึ่งซื้อไข่ไก่สามฟองมาแบ่งกันกินในครอบครัว
ซึ่งมีสมาชิก 6 คน ย่อมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับการที่เศรษฐีนีวัยสาวปลายๆ คนหนึ่งซื้อไข่ไก่โหลหนึ่งมาพอกหน้า
ทาสะโพก หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อันนี้เนื่องจากมันมีเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง
ฉะนั้นเราก็อดเสียดายไข่ไก่แทนคนจนๆ ไม่ได้ แน่ละ เราสามารถยกตัวอย่างแบบนี้ได้อีกมายหมายหลายกรณี
เพื่อยืนยันว่าการเติบโตของยอดขายหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายความถึงความเจริญทางสังคมเสมอไป
ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าเป็นเพราะเศรษฐศาสตร์อาศัยคณิตศาสตร์มากไปหรือเปล่า จึงทำให้กระบวนการใช้ตรรกะเหตุผลส่วนใหญ่หนักไปทางเป็นแบบ Deduction (นิรนัย: พิจารณาหรือลงความเห็นจากหลักการทั่วไปเพื่อไปสู่เรื่องเฉพาะ) แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่า วิธีการให้เหตุผลแบบ deduction นั้น ขึ้นกับสมมติฐานเป็นสำคัญ จากนั้นข้อสรุปที่ได้มาก็จะกลายเป็นสมมติฐานของข้อสรุปต่อๆ ไป อันที่จริงวิธีคิดแบบนี้มีประโยชน์ ถ้าเราใช้พิจารณาสถานการณ์ที่ควบคุมตัวแปรได้ สถานการณ์ที่ค่อนข้างหยุดนิ่ง แต่ถ้านำมาใช้กับสถานการณ์ที่มีมิติหลากหลายและแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อย่างสังคมมนุษย์ โอกาสที่สมมติฐานจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงก็เป็นไปได้สูง เมื่อผิดพลาดตั้งแต่สมติฐาน ข้อสรุปที่เหลือซึ่งได้มาจากกระบวนการ deduction ก็อาจะใช้ไม่ได้
พูดให้ชัดขึ้นก็คือว่า ในความเห็นของผม เศรษฐศาสตร์อาจจะอิงกับนิยามความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ที่ตายตัวมากเกินไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะถูกนำไปแปรรูปให้เป็นศาสนาทางเศรษฐกิจ แทนที่จะถูกใช้ประโยชน์ในฐานะองค์ความรู้ทางวิชาการ. ตามความเห็นของผมการสร้างสมมติฐานเบื้องต้นนั้น น่าจะอาศัยวิธีการแบบ Induction (อุปนัย: การพิสูจน์หลักทั่วไป โดยเอากรณีเฉพาะรายมาอ้าง)จะดีกว่า คือหากฎเกณฑ์ทั่วไปจากความจริงที่เป็นรูปธรรม จากนั้นจะค้นพบนัยยะอะไรบ้างค่อยว่ากัน
จุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ไม่ค่อยได้ศึกษามนุษย์ตัวเป็นๆ
แต่ก็ดังที่ศาสตราจารย์เยนเดร แมกโครสกี (Deirdre N. McCloskey) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง
The Secret Sins of Economics ท่านกล่าวว่า จุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ไม่ค่อยได้ศึกษามนุษย์ตัวเป็นๆ
ที่มีชีวิตจิตใจจริงๆ นักเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกที่ตัวเองพยายามอธิบาย
เป็น Institutional Ignorance คือเป็นอวิชชาระดับสถาบัน
แต่ก็อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม เศรษฐศาสตร์กลับชอบตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับความต้องการและความพอใจของมนุษย์ ตลอดจนความมีเหตุมีผลของมนุษย์ในตลาดเสรีราวกับว่าไม่ต้องเถียงกันอีกแล้วในประเด็นเหล่านี้. สำหรับในกรณีของประเทศไทย ตัวอย่างที่สะท้อนภาพความเพียงพอของวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ชัดเจน คือวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ดังที่ท่านคงจะจำได้ การเปิดเสรีทางการเงินในประเทศที่พัฒนามาอย่างไม่สมดุลและขาดทั้งธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างประเทศไทย ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การพังพินาศทางเศรษฐกิจในชั่วเวลาข้ามคืน สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ เงินกู้จากต่างประเทศถูกนำมาแบ่งปันกันระหว่างนักการเมืองและนักธุรกิจ เม็ดเงินจำนวนมากไม่ได้ถูกนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างแท้จริง หากแต่ถูกดูดซับไปเข้ากระเป๋าปัจเจกบุคคล ด้วยการปั่นหุ้น ปั่นราคาที่ดิน ตลอดจนปล่อยกู้อย่างไร้หลักการ และยังมีการนำเงินไปใช้ในการบริโภคสิ่งต่างๆ ล้นเกินอย่างเหลือเชื่อ สุดท้ายเมื่อรัฐบาลถูกกดดันให้ปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ต่างประเทศทวงหนี้คืน ทั้งประเทศก็ตกอยู่ในภาวะล้มละลาย
พอเกิดปัญหาขึ้นแล้ว การแทรกแซงของรัฐบาลไม่เพียงแต่จำเป็น หากยังกลายเป็นข้อเรียกร้องของสาธารณชน ความคิดเรื่องปล่อยให้กลไกตลาดเสรีแก้ปัญหาโดยตัวของมันเองหายไปโดยสิ้นเชิง ถามว่านี่เป็นความผิดของนักเศรษฐศาสตร์หรือเปล่า หลายท่านอาจจะคิดว่าไม่ใช่ เพราะว่าผู้คนไม่ได้ทำตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ผมคิดว่านักเศรษฐศาสตร์อย่างน้อยก็พลาด เพราะท่านไม่ได้วางสมมติฐานเรื่องตลาดเสรีไว้บนพฤติกรรมมนุษย์ที่เป็นจริง ผมหมายถึงว่ามนุษย์บางจำพวกในประเทศไทย ซึ่งถือหลัก Rationalism (หลักความเชื่อในเหตุผล) เฉพาะในกรอบของผลประโยชน์เฉพาะหน้า และผลประโยชน์เฉพาะตัว ด้วยเหตุนี้การเปิดตลาดเสรีทางการเงินจึงไม่ได้นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองหรือความมั่งคั่งที่แท้จริง หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้แสดงออกซึ่งพฤติกรรมอันฉ้อฉล ฟุ้งเฟ้อที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ที่เขียนไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์มีส่วนสร้างมายาคติขึ้นมาหลายเรื่อง จนทำให้สังคมหลงใหลได้ปลื้มไปกับภาพลวงตาบางอย่าง เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับวิกฤตไทยปี 2540 และวิกฤตโลกในปัจจุบันคงไม่ได้
นักรัฐศาสตร์ ไม่ได้ทำได้ดีกว่านักเศรษฐศาสตร์
แน่นอนว่าที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องซ้ำเติม และยิ่งไม่ใช่เรื่องที่ผมจะไปยกตนข่มท่าน
ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ก็คงต้องสารภาพว่าพวกเราก็ไม่ได้ทำได้ดีกว่าท่านเท่าไหร่
ดูจากสภาพการเมืองที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ ก็จะเห็นความอับจนทางปัญญาของเราอยู่ไม่น้อย
นักรัฐศาสตร์หลายคนก็เหมือนนักเศรษฐศาสตร์ที่ชอบออกแบบระบอบประชาธิปไตยที่งดงามมาก โดยมีข้อแม้อย่างเดียวว่า คนที่เข้าไปสู่เวทีอำนาจจะต้องเป็นคนดี แต่ตรรกะแห่งอำนาจเป็นความจริงอีกชุดหนึ่ง ทำให้คนดีไม่ค่อยได้เข้าใกล้อำนาจสักเท่าใด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราออกแบบไว้พูด ก็พูดได้เพียงว่ามันสวยงาม. อีกอย่างคือพวกเราชาวรัฐศาสตร์ มักจะอยากเห็นการเมืองดีโดยไม่ต้องต่อสู้กัน ซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับความจริงของโลก สุดท้ายก็เลยได้แต่แสดงปาฐกถา หรือจัดอภิปรายไปวันๆ
เศรษฐศาสน์(economic religion)
กลับมาเรื่องเศรษฐศาสน์(economic religion)ที่ผมตั้งเป็นหัวข้อในวันนี้หรือ"ลัทธิบูชาเศรษฐกิจ"
ถึงตอนนี้ท่านทั้งหลายคงจะเห็นแล้วว่า การผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้างเพื่อค้ำจุนลัทธินี้
จะมากจะน้อยก็ล้วนขอยืมหลักคิดพื้นฐานไปจากวิชาเศรษฐศาสตร์ จากนั้นจึงปรุงแต่งเพิ่มเติมในพื้นที่ที่เศรษฐศาสตร์เปิดโล่งไว้
เช่น ส่งเสริมการบริโภคสรรพสิ่งได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงรสนิยมและคุณค่าทางวัฒนธรรม
ขอเพียงให้เพิ่มยอดขายและเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพี ถลุงต้นทุนทางสังคมและทรัพยากรธรรมชาติ
ตลอดจนสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ยั้ง เพราะมันเป็นต้นทุนที่เจ้าของกิจการไม่ต้องจ่าย
แล้วทั้งหมดนี้อธิบายทุกอย่างว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนร่วม ง่าย ๆและดื้อๆ
ถามว่า แล้ววิชาเศรษฐศาสตร์ของเราพ้นจากบาปกรรมได้อย่างไร? ผมคิดว่า จริงๆ แล้วนักเศรษฐศาสตร์นั่นแหละที่จะมีบทบาทมากกว่าใคร ในการช่วยถอนอุปาทานเรื่อง"ลัทธิบูชาจีดีพี". ศาสตร์แขนงนี้ได้รับการเคารพนบนอบทั้งจากภาครัฐและภาคสังคมมากอยู่แล้ว ท่านควรใช้บารมีที่มีอยู่ช่วยผู้คนแก้ปัญหาทางปัญญา
ประการแรก แม้ว่าท่านอาจจะยังต้องอยู่กับคณิตศาสตร์ต่อไป แต่ผมเห็นว่าควร จะเพิ่มคุณค่าจริงของชีวิตจริงเข้าไปในการหาขอสรุป อย่าลืมว่าแม้แต่วิชาโหราศาสตร์ซึ่งใช้คณิตศาสตร์มากเช่นกัน ท้ายที่สุดก็ยังต้องนำปัญหารูปธรรมของเจ้าของดวงมาพิจารณา
ประการที่สอง คิดว่านักเศรษฐศาสตร์ควรตรวจสอบสมมติฐานที่ใช้ให้มากขึ้น เช่น คำว่า "ผลประโยชน์แห่งชาติ" คำนี้มีจริงหรือเปล่า? ส่วนรวมหมายถึงอะไรก้อนเดียว หรือหมายถึงกลุ่มผลประโยชน์แสนล้านกลุ่มที่ขัดกันอยู่? การลงทุนของต่างชาติที่ว่าดีนั้นดีตรงไหน?
ประการสุดท้าย นักเศรษฐศาสตร์ควรจะถือเป็นหน้าที่ของตนที่ควรจะออกมาท้วงติงหรือตอบโต้พวก Economic fundamentalist ซึ่งเอาหลักวิชาของท่านไปใช้อย่างสามานย์ บิดเบือนศาสตร์ของท่าน
อันที่จริงสิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้อาจจะเป็นการเหมารวมไปสักหน่อย และอาจจะไม่ยุติธรรมแก่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย ที่เห็นอกเห็นใจผู้เสียเปรียบอยู่แล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องขออภัยด้วย. ผมทราบดีว่าทุกอย่างมีข้อยกเว้น และในทุกวงวิชาการทุกสาขาผู้คนต่างก็มีความคิดแตกต่างกันไป หากท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่คิดอ่านในแนวนี้อยู่แล้ว ผมก็ขออนุโมทนาด้วย ส่วนท่านที่ยังเห็นต่างหรือเห็นว่าความเห็นของผมไม่ถูกต้องก็ต้องขออภัยด้วยเช่นกันที่ทำให้ท่านรู้สึกหงุดหงิด ถูกล่วงเกิน
ผมรบกวนเวลาของท่านทั้งหลายมามากแล้วก็ขอขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณารับฟัง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail
: midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com