ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒ : Release date 23 September 2009 : Copyleft MNU.

"จื้อก้งถามว่า คนทั้งหมู่บ้านล้วนรักเขา อย่างนี้เป็นไฉน? ขงจื่อกล่าวว่า ยังมิอาจตัดสินว่าเป็นคนดีได้หรอก? จื้อก้งถามอีกว่า ผู้คนทั้งหมู่บ้านเกลียดเขา อย่างนี้เป็นไฉน? ขงจื่อกล่าวว่า ยังมิอาจตัดสินว่าเป็นคนดีได้หรอก เพราะมิสู้คนดีทั้งหมู่บ้านล้วนรักเขา คนเลวทั้งหมู่บ้านล้วนเกลียดเขาได้" ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า "การวัดว่าผู้ปกครองเป็นคนดีหรือไม่?" เราจะใช้วิธีการวัดตามเสียงส่วนใหญ่ หรือ majority rule ตามหลักของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้ปกครองมักอ้างความชอบธรรมจากคะแนนเสียงที่ชนะเลือกตั้ง อันเป็นการวัดในเชิงปริมาณนั้นมิได้ หากต้องใช้การพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงคุณสมบัติของคนๆ นั้นลงไปในรายละเอียดด้วย ในที่นี้พบว่า ขงจื่อได้ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของผู้ปกครอง

H



23-09-2552 (1787)

ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ความคิดทางการเมือง
วิเคราะห์ผู้ถูกปกครองเปรียบเทียบ จากคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ และคัมภีร์หลุนอวี่
ศศิน ดิศวนนท์ : เขียน
นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

งานเขียนเชิงปรัชญา และประวัติศาสตร์การเมืองชิ้นนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
การวิเคราะห์ความเป็นผู้ถูกปกครอง (Subjects) เปรียบเทียบจากในตัวบท มานวธรรมศาสตร์ (The Law Code of Manu)
และคัมภีร์หลุนอวี่ (Analects of Confucius) ในมุมมองของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
ประกอบสาระสำคัญและโครงสร้างการนำเสนอดังหัวข้อต่อไปนี้...

- บริบททางสังคมและการเมืองของแต่ละตัวบทโดยสังเขป
- กรอบความคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์ตัวบท
- อำนาจ (Power) ในมุมมองหลังสมัยใหม่
- มิเชล ฟูโกต์ อำนาจไม่ได้เป็นระบบระเบียบ
- ข้อพิจารณาในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์
- ข้อพิจารณาในคัมภีร์หลุนอวี่เปรียบเทียบกับคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์
- ๑. บารมีหรือคุณลักษณะของบุคคล(personal charisma) ที่มาของอำนาจ
- ๒. ความรู้ ความสามารถ: แหล่งที่มาของอำนาจ
- ๓. อำนาจจากจารีตประเพณี แหล่งที่มาของอำนาจ
ข้อสรุปจากผลการศึกษา
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๘๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒.๕ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ความคิดทางการเมือง
วิเคราะห์ผู้ถูกปกครองเปรียบเทียบ จากคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ และคัมภีร์หลุนอวี่
ศศิน ดิศวนนท์ : เขียน
นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

ที่มาและความสำคัญของการศึกษา
เนื่องจากงานศึกษาทางด้านปรัชญา ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเกี่ยวกับผู้ปกครองมาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องลักษณะของผู้ปกครองที่ดี คุณธรรมหรือธรรมะสำหรับผู้ปกครอง วิธีการของผู้ปกครอง ฯลฯ แต่เมื่อเราพิจารณาอย่างถ่องแท้ จะเห็นได้ว่า ปรัชญาที่มุ่งเน้นให้เกิดผู้ปกครองที่ดีนั้น จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้ถูกปกครองทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะเรียกขานผู้ถูกปกครองนั้นว่าประชาชน ประชาคม พลเมือง หรืออะไรก็ตาม ซึ่งเมื่อพิเคราะห์อย่างถ่องแท้แล้ว จริงๆ เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ใครหรือบุคคลกลุ่มใดคือผู้ที่ถูกปกครอง และเมื่อเรายังไม่รู้ว่าใครคือผู้ถูกปกครองที่แท้จริง การจะพิจารณาสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของผู้ถูกปกครอง ประโยชน์สุข หรือชีวิตที่ดีของผู้ถูกปกครอง ก็ย่อมเป็นไปอย่างไรทิศทาง ผู้เขียนจึงเกิดความสนใจที่จะค้นหาความหมายของความเป็นผู้ถูกปกครองขึ้น

ส่วนสาเหตุที่ผู้เขียนสนใจที่จะศึกษามานวธรรมศาสตร์และคัมภีร์หลุนอวี่นี้ เนื่องจากว่าคัมภีร์ทั้งสองฉบับ นอกจากจะมีอิทธิพลต่อระบบความคิดและความเชื่อของผู้คนจำนวนมากในทวีปเอเชียแล้ว ความหมายของอำนาจต่างๆ ที่แฝงอยู่ในแต่ละตัวบท ยังมีความแตกต่างกันมากด้วย ซึ่งความแตกต่างกันนี้เองจึงทำให้เกิดประโยชน์ในการที่จะทำการพิจารณาเปรียบเทียบความเป็นผู้ถูกปกครองในความหมายที่แตกต่างกันของแต่ละสังคมได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

บริบททางสังคมและการเมืองของแต่ละตัวบทโดยสังเขป
ในส่วนของมานวธรรมศาสตร์ เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังทางการปกครองในอินเดีย ได้มีการแบ่งภูมิหลังทางการปกครองในอินเดียโบราณคร่าวๆ ออกเป็น 6 สมัยด้วยกันคือ

1) สมัยฤคเวท
2) ระยะสมัยปลายพระเวท
3) สมัยก่อนราชวงศ์โมริยะ
4) สมัยโมริยะ
5) สมัยหลังโมริยะ และ
6) สมัยคุปตะ

ซึ่งการเกิดระบบวรรณะ เกิดขึ้นในสมัยปลายพระเวท เนื่องจากชนชาติอารยันซึ่งใช้เหล็กเป็นอาวุธได้ชัยชนะต่อชนเผ่าที่ใช้ทองแดง สังคมชนเผ่าซึ่งเป็นการปกครองในสมัยฤคเวทจึงเริ่มมีการรวมกันเป็นสังคมใหญ่ที่ใหญ่ขึ้น มีระบบการเพาะปลูก และผู้ปกครองได้แบ่งส่วนแบ่งจากการเพาะปลูกเป็นสัดส่วนที่แน่นอน มีรายได้สม่ำเสมอ ทำให้ระยะนี้มีนักบวชมากขึ้น และการที่มีนักบวชมากขึ้นนี้เองที่เป็นเหตุให้เกิดลักษณะการปกครองแบบพระเวทตอนปลายขึ้น โดยถือว่าพราหมณ์มีสิทธิพิเศษทั้งทางสังคมและการเมือง มีการจัดพิธีราชาภิเษก พระราชาที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์หากจะให้เป็นที่ยอมรับต้องให้พราหมณ์สนับสนุน ในครอบครัว เริ่มมีลักษณะชายเป็นใหญ่กว่าหญิงมากขึ้น

เมื่อบ้านเมืองมั่นคงมากขึ้น อาณาเขตมีความกว้างขวางมากขึ้นในสมัยก่อนราชวงศ์โมริยะ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจึงเริ่มมีความจำเป็น กฎของเผ่าที่ใช้กันมาแต่เดิมไม่อาจใช้กับสังคมใหม่ซึ่งมีการแบ่งวรรณะกันอย่างชัดแจ้ง จำเป็นต้องมีการถือกฎที่ยึดเอาวรรณะเป็นเกณฑ์ ซึ่งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความคิดเผ่าจะถูกแทนที่ด้วยระบบวรรณะ เอกภาพของเผ่าจะไม่สำคัญเท่ากับวรรณะ กฎหมายของเผ่าได้ถูกแทนที่ด้วยกฎหมายที่เขียนขึ้นให้เหมาะกับสังคมสมัยใหม่มากกว่า ข้อกำหนดในมานวธรรมศาสตร์จึงเกิดขึ้นจากความจำเป็นในบริบทดังกล่าว (*)
(*) โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ปรีชา ช้างขวัญยืน (2529: 1-19)

ส่วนคัมภีร์หลุนอวี่ ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมคำสอนของขงจื่อนั้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์บ้านเมืองในสมัยขงจื่อพบว่า เป็นสมัยที่พวกเจ้าครองนครแก่งแย่งกันเป็นใหญ่ พวกขุนนางคดโกงกอบโกยผลประโยชน์จากประชาชน เกิดสงครามแย่งชิงอิทธิพล และเกิดกบฏการรัฐประหารไม่หยุดหย่อน ซึ่งทำให้ประชาชนต้องพลอยได้รับความเดือนร้อนไปด้วย ต้องทิ้งบ้านเรือนหนีไปอยู่ตามหุบเขาต่างๆ ดังนั้น เมื่อมีรัฐบาลที่ทารุณโหดร้ายเสียมาก จึงเป็นเหตุหนึ่งซึ่งทำให้ขงจื่อสร้างปรัชญาการเมืองขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์อันเลวร้าย จากการที่ตัวขงจื่อเองมีความชื่นชอบจารีตประเพณีในสมัยราชวงศ์ก่อนๆ ที่เจริญรุ่งเรือง รวมทั้งลักษณะของกษัตริย์บางพระองค์ในสมัยก่อน เขาจึงได้คัดเลือกเอาระเบียบการปกครองของแต่ละราชวงศ์ที่คิดว่าดีมาเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อนให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น (*)
(*) โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เสถียร โพธินันทะ (2512: 119-126)

กรอบความคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์ตัวบท
หากกล่าวถึงคำว่า "ผู้ถูกปกครอง" หรือ "Subjects" ในสังคมการเมืองหนึ่งๆ โดยนัยแล้วเราย่อมจะต้องพิจารณาควบคู่กับคำว่า "ผู้ปกครอง" หรือ "Ruler" ไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่สมบูรณ์ แม้ว่าในแต่ละสังคมการเมือง ลักษณะและรูปแบบความสัมพันธ์ของคนทั้งสองกลุ่มจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเชื่อและการยึดถือปฏิบัติของผู้คนในสังคมการเมืองนั้นๆ

ในรายงานฉบับนี้มองว่า ความสัมพันธ์ที่จะทำให้เกิดคำเรียกขานและแยกแยะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดว่าเป็น"ผู้ปกครอง"หรือ"เป็นผู้ถูกปกครอง"นั้น จะต้องมีลักษณะเป็น "ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" ในทุกๆ สังคม โดยฝ่ายที่เป็นผู้ปกครองจะเป็นฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจเอาไว้ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะได้มาโดยการบังคับหรือความยินยอมจากผู้ใต้ปกครองหรือจากสิ่งอื่นใดก็ตาม โดยอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น อำนาจทางการปกครอง (ruling/governing power) อำนาจทางการเมือง (political power) อำนาจหน้าที่ (authority) อำนาจอธิปไตย (sovereignty) ฯลฯ ส่วนฝ่ายที่เป็นผู้ถูกปกครองก็จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้ (subject to) อำนาจดังที่ได้กล่าวมา

อำนาจ (Power) ในมุมมองหลังสมัยใหม่
"อำนาจ" ตามความคิดกระแสหลัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพิจารณาความหมายของคำว่า "อำนาจ" ในปัจจุบัน (*) โดยเฉพาะในมุมมองของนักคิดหลังสมัยใหม่ (postmodernist) สามารถทำให้เราพิจารณาอำนาจได้หลายนัยยะด้วยกัน โดยนัยยะแรกเป็นวาทกรรมกระแสหลัก ที่มักให้ความหมายอำนาจไปในแง่ของขีดความสามารถที่บุคคลหนึ่งมีเหนืออีกบุคคลหนึ่ง ในลักษณะของการทำให้บุคคลนั้นยินยอมกระทำในสิ่งที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าต้องการให้ทำ ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีปกติแล้ว เขาผู้นั้นจะไม่ยินยอมกระทำในสิ่งที่ถูกกำหนด
(*) พิจารณาจากนัยยะต่างๆ ใน http://en.wikipedia.org/wiki/Social_power โดยเข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2551

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง "อำนาจ"ก็คือการที่บุคคลหนึ่ง สามารถทำให้อีกบุคคลหนึ่งยินยอมต่อตนได้นั่นเอง แนวคิดที่ให้ความหมายหรืออธิบายอำนาจในลักษณะดังกล่าว เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากการมองสังคมว่า เป็นสนามการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันจากกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายในการแสวงหาอำนาจ เพื่อที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจในนโยบายหรือประเด็นที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการสนองตอบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนให้ได้มากที่สุด ซึ่งการมองอำนาจตามนัยนี้ มักเป็นการมุ่งเน้นและให้ความสนใจเฉพาะกับอำนาจที่มีลักษณะเป็นทางการ และมองอำนาจเหมือนเป็นสิ่งของที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลสามารถเข้ายึดครองและใช้สอยได้อย่างอิสระ เพื่อทำการกดขี่ ปราบปราม หรือบังคับผู้ที่ไม่มีอำนาจให้กระทำในสิ่งที่ก่อประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปในลักษณะของคู่ตรงข้าม ที่มีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์เสมอ

มิเชล ฟูโกต์ อำนาจไม่ได้เป็นระบบระเบียบ
"โครงข่ายแห่งอำนาจ" และการแผ่ขยายครอบคลุมอยู่ตลอดทุกพื้นที่ของชีวิตทางสังคม
นัยยะของอำนาจอีกประการ เป็นแนวคิดที่เป็นที่นิยมในหมู่นักคิดหลังสมัยใหม่ (post-modern) มาจากแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ ที่ปฏิเสธนัยยะแห่งอำนาจตามวาทกรรมกระแสหลัก ฟูโกต์มองว่าอำนาจไม่ได้มาจากหรือมีรากฐานอยู่ในเศรษฐกิจและการเมือง แต่อำนาจมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายสลับซับซ้อน มีความแตกต่างหลากหลายและแทรกตัวอยู่ในทุกส่วนของสังคม ซึ่งจากความแตกต่างหลากหลายและสลับซับซ้อนของอำนาจทำให้เป็นการยากที่เราจะเข้าไปจัดการลดทอนให้อำนาจเหลือเพียงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน เหมือนดังที่ได้เคยกระทำกันมาในอดีต ฟูโกต์ไม่ได้มองว่าการมีอยู่ของอำนาจเป็นการดำรงอยู่อย่างเป็นระบบระเบียบแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้าม การมีอยู่ของอำนาจกลับเป็นไปในลักษณะของการกระจัดกระจายแฝงอยู่กับทุกความสัมพันธ์ในรูปแบบของ "โครงข่ายแห่งอำนาจ" และแผ่ขยายครอบคลุมอยู่ตลอดทุกพื้นที่ของชีวิตทางสังคม แม้กระทั่งร่างกายของมนุษย์ที่ดูเหมือนมีความเป็นส่วนตัวและเป็นส่วนย่อยที่สุดของสังคม ก็ไม่ได้พ้นไปจากการถูกอำนาจเข้ากระทำแต่อย่างใด

การที่อำนาจสามารถแทรกซึมและเข้าไปดำรงอยู่ได้ในทุกแห่งหนของสังคมนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะอำนาจได้กวาดรวมทุกอย่างเข้ามาไว้ด้วยกันภายในขอบเขตของอำนาจ แต่เป็นเพราะอำนาจมาจากทุกหนทุกแห่งในสังคม อำนาจจึงมิได้ถูกรวมศูนย์และจัดวางไว้ให้อยู่แต่เฉพาะกับรัฐ หรือเป็นสิ่งที่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม จะเข้ายึดครองและปิดกั้นไว้เป็นเอกสิทธิของตนเองแต่เพียงผู้เดียวได้ ตรงกันข้าม อำนาจกลับมีการไหลเลื่อนถ่ายเทไปมาอยู่ตลอดเวลา เป็นผลให้ปัจเจกชนซึ่งเป็นผลสะท้อนแห่งอำนาจต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจไปด้วยในขณะเดียวกัน

เมื่ออำนาจสามารถมองได้หลายนัย การวิเคราะห์ลักษณะและหน้าที่ของผู้ถูกปกครองโดยใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแต่ละตัวบทที่หยิบยกมา จึงต้องมีการพิจารณาดูว่าแหล่งที่มา (sources) ของอำนาจที่แฝงอยู่ในแต่ละตัวบทนั้น อยู่ในส่วนใดของสังคมบ้าง เพื่อที่จะดูว่า "กลุ่มบุคคลใด" หรือ "กลุ่มบุคคลที่ทำตัวอย่างไร" จึงจะเป็นผู้ที่มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ "เป็นผู้ปกครอง"หรือ"ผู้ถูกปกครอง" และเนื่องจากกรอบความคิดของทั้งสองตัวบทค่อนข้างที่จะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในการเปรียบเทียบจึงได้แยกวิเคราะห์ทีละตัวบทโดยเริ่มจากมานวธรรมศาสตร์และตามด้วยคัมภีร์หลุนหวี่ ซึ่งถ้าหากว่ามีความหมายใดของในตัวบทมานวธรรมศาสตร์ที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกับคัมภีร์หลุนหวี่ ก็จะยกมาเปรียบเทียบให้เห็นเป็นประเด็นๆ ไป

ข้อพิจารณาในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์
กษัตริย์ - พราหมณ์
เมื่อพิจารณาจากตัวบทใน"มานวธรรมศาสตร์" จะเห็นว่า มีข้อความหลายตอนที่สะท้อนให้เห็นถึงการแยกแยะระหว่างกลุ่มคนที่เป็น"ผู้ปกครอง"กับ"ผู้ถูกปกครอง" โดยใช้กรอบคิดจากความแตกต่างของชาติกำเนิดหรือ "วรรณะ" (caste) เป็นตัวแบ่งอย่างค่อนข้างชัดเจนว่า กลุ่มบุคคลใดเป็นผู้มีอำนาจและกลุ่มบุคคลใดปราศจากอำนาจ และอำนาจก็มีลักษณะที่เหมือนเป็นสิ่งของที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลสามารถเข้ายึดครองและใช้สอยได้อย่างอิสระ เพื่อทำการบังคับผู้ที่ไม่มีอำนาจให้กระทำในสิ่งที่ก่อประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจ ดังนั้น เราจึงสามารถใช้กรอบการมองอำนาจตามวาทกรรมกระแสหลักในการพิจารณาตัวบทได้ โดยเป็นการมองการแย่งชิงแหล่งที่มาของอำนาจระหว่างชนชั้นต่างๆ

ในที่นี้จะขอเริ่มจากข้อความที่ว่า

"องค์ประกอบของราชอาณาจักร (Constituents of a Kingdom) พระราชา(Lord) ข้าราชการ เมืองหลวง ดินแดน ทรัพย์สมบัติ กองทัพ และพันธมิตร เจ็ดอย่างนี้ถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานซึ่งก่อให้เกิดการเป็นราชอาณาจักรที่สมบูรณ์ โดยถ้ามีอะไรมากระทบต่อองค์ประกอบเหล่านี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่องค์ประกอบที่กล่าวถึงก่อนย่อมร้ายแรงกว่าที่กล่าวถึงทีหลังตามลำดับ …" (The Law Code of Manu: 176) และ

"กษัตริย์ถูกสร้างมาเพื่อปกป้องโลกทั้งหมดให้เป็นไปตามบรรทัดฐาน หากไม่มีกษัตริย์ ประชาชนจะกลัวและแตกแยกกันไปคนละทาง พระเจ้าจึงสร้างกษัตริย์จาก อินทร์, ลม, พระอาทิตย์, ไฟ, วรุณ, พระจันทร์ และเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง ให้มีอำนาจเหนือสิ่งอื่นๆ" (The Law Code of Manu: 106) และ

"กษัตริย์จะต้องทำให้กองทัพเข้มแข็งเสมอ แสดงความยิ่งใหญ่ ปกป้องความลับ ค้นหาจุดอ่อนของศัตรู กษัตริย์จะต้องไม่โกงและป้องกันตัวเอง คอยดูเมื่อศัตรูจะโกง ไม่ให้ศัตรูล่วงรู้จุดอ่อนของตนเอง ไตร่ตรองเหมือนนกกระสา พุ่งออกไปเหมือนกระต่าย ฉกเหมือนหมาป่า และโจมตีเหมือนสิงโต" (The Law Code of Manu: 114)

หากเราลองใช้มุมมองที่เป็นความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจแล้ว จะเห็นได้ว่าบุคคลที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์นั้น ถือว่าเป็นผู้ปกครองอย่างไม่มีข้อกังขา ทั้งจากสถานะที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดในราชอาณาจักร และหน้าที่ที่ระบุไว้ให้ทำหน้าที่ในการปกครองอย่างชัดเจน (delegated authority) รวมถึงแหล่งที่มาของอำนาจก็มีความเป็นรูปธรรมนั่นคือ การใช้กำลัง (force) จากการมีกองทัพ (military might) ซึ่งสามารถใช้บังคับ (coercion) ให้บุคคลยอมทำตามได้แม้ว่าบุคคลนั้นๆ จะไม่เต็มใจก็ตาม

ในส่วนของกลุ่มบุคคลในวรรณะพราหมณ์นั้น เมื่อพิจารณาจากข้อความที่ว่า

"…พราหมณ์ผู้รอบรู้ในธรรมศาสตร์ อาจจะไม่ต้องให้พระราชารู้อะไรก่อน ลำพังเพียงอำนาจของพราหมณ์ก็เพียงพอที่จะลงโทษบุคคลผู้ทำอันตรายแก่ตน ระหว่างอำนาจของพราหมณ์กับอำนาจของพระราชานั้น อำนาจของพราหมณ์มากกว่า ดังนั้นอาศัยเพียงอำนาจของตน และการใช้คัมภีร์พระเวทของอัฐรวะ-อางคีรสะ พราหมณ์ก็สามารถลงโทษศัตรูได้ คำพูดถือเป็นอาวุธของพราหมณ์อย่างชัดเจนซึ่งเหล่าทวิชาติ (พราหมณ์) ใช้ในการโจมตีศัตรู" (The Law Code of Manu: 192)

จะเห็นได้ว่า เนื้อความตามตัวบทได้พยายามกำหนดให้ความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจระหว่างพราหมณ์กับกษัตริย์เป็นไปในในทิศทางที่วรรณะพราหมณ์นั้นมีอำนาจเหนือกษัตริย์ โดยแหล่งที่มาของอำนาจตามตัวบทก็คือ สถานะของพราหมณ์ในคัมภีร์พระเวทและความรอบรู้ในคัมภีร์พระเวท อันเป็นผลตามมาจากสถานะของพราหมณ์ที่สามารถเข้าถึงคัมภีร์ฯ ได้ง่ายกว่าบุคคลในวรรณะอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแหล่งที่มาของอำนาจของพราหมณ์นั้น จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นนามธรรม คือ ความรู้ (knowledge) และการชักจูงทางศีลธรรม (moral persuasion) ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การจัดการขั้นเด็ดขาด ซึ่งก็คือการลงโทษ (punishment) ก็ยังตกเป็นของกษัตริย์ดังข้อความที่ว่า

"กษัตริย์ต้องจัดการลงโทษที่เหมาะสมกับบุคคลที่ทำผิด หลังจากได้สืบสวนอย่างรอบคอบ การลงโทษคือกษัตริย์ คือผู้นำ คือผู้ปกครอง ... การลงโทษวางระเบียบทุกสิ่ง ปกป้องทุกสิ่ง ดูแลทุกคนยามหลับ... ถ้ากษัตริย์ไม่สามารถจัดการการลงโทษได้ จะเกิดความวุ่นวายในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก คือมีการทำร้ายและเอาเปรียบกัน เหตุการณ์จะแย่ลงเรื่อยๆ ตั้งแต่การล่มสลายของระบบวรรณะ มีการรุกล้ำดินแดน ..." (The Law Code of Manu: 107)

ดังนั้นการจะบังคับให้ผู้ที่ขัดขืนต่อพราหมณ์ยอมทำตามพราหมณ์ก็ยังจำเป็นต้องให้กษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ในการตัดสินคดีความต่างๆ แม้ในตัวบทจะกำหนดให้มีพราหมณ์เข้าร่วมในการตัดสินคดีโดยให้เป็นที่ปรึกษา (*) แต่อำนาจการใช้ดุลพินิจเพื่อตัดสินขั้นสุดท้ายก็ยังเป็นของกษัตริย์ (**) ในที่นี้จึงเห็นว่าพราหมณ์มิได้มีอำนาจเหนือกษัตริย์แต่อย่างใด แม้ว่าในตัวบทจะมีการกำหนดให้กษัตริย์ต้องให้การเคารพและดูแลพราหมณ์เป็นอย่างดี (***) แต่ก็มิได้หมายความว่ากษัตริย์นั้นต้องอยู่ภายใต้อำนาจของพราหมณ์ กษัตริย์เป็นผู้บังคับใช้กฎ (ธรรมศาสตร์) ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งหากใช้มุมมองตามนี้ก็ถือได้ว่าพราหมณ์นั้นเป็นผู้ถูกปกครอง

(*) "… เมื่อพระราชากำลังจะทำการพิจารณาคดีความ พระองค์ควรจะเข้าไปในศาลอย่างสมพระเกียรติพร้อมกับพราหมณ์และที่ปรึกษา (หรือทนายความ) ที่เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว โดยการนั่งหรือยืนโดยฉลองพระองค์และเครื่องประดับอย่างเหมาะสม ยกพระกรขวาขึ้น และพิจารณาคดีของโจทก์จากความสอดคล้องกับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่และสิ่งที่ระบุไว้ในตัวบทกฎหมาย (ธรรมศาสตร์ )…" (The Law Code of Manu: 123)

(**) "เมื่อพระราชาได้ทรงประทับนั่งยังบัลลังก์ศาลแล้ว … ให้เพ่งความสนใจไปยังเพียงสองสิ่ง สิ่งแรกคือ อะไรคือสิ่งที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของการปกครองที่เหมาะสม (polity/artha) กับอะไรที่ไม่ใช่ สิ่งที่สองคือ อะไรที่สอดคล้องกับธรรมศาสตร์กับอะไรที่ไม่สอดคล้อง…" (The Law Code of Manu: 126)

(***) เช่นจากข้อความที่ว่า "… กษัตริย์ควรจะดำเนินงานการบูชายัญต่างๆ และควรแบ่งความสุขสบายและเงินให้พราหมณ์" (The Law Code of Manu: 112)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแหล่งที่มาของอำนาจของพราหมณ์จะมีลักษณะที่เป็นนามธรรมมากกว่ากษัตริย์ แต่เมื่อพิจารณาส่วนอื่นๆ ในตัวบทจะเห็นได้ว่า สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ความคิดเกี่ยวกับ "บาป" และ "โลกหน้า" ซึ่งมุมมองดังกล่าวเมื่อใช้แนวความคิดเชิงอำนาจตามวาทกรรมของตัวบทมานวธรรมศาสตร์แล้ว จะพบว่า ความรู้ในคัมภีร์พระเวทที่กลุ่มบุคคลในวรรณะพราหมณ์เป็นผู้ครอบครองและปิดกั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะความรู้ในการประกอบพิธีบูชายัญ ซึ่งเป็นพิธีที่จะส่งผลต่อความเป็นหรือไม่เป็นบาปและชีวิตในโลกหน้า ได้ทำให้พราหมณ์มีสถานะขึ้นมาเป็นผู้ปกครองได้ทันที โดยที่กษัตริย์จำเป็นที่จะต้องให้การดูแล ซึ่งหมายถึงการมีอำนาจในการครอบครองทรัพย์สินของพราหมณ์ และให้ความเคารพยกย่อง อันหมายถึงการมีอำนาจจากการมีตำแหน่งหน้าที่อย่างเป็นทางการ (authority) ของพราหมณ์ไปโดยอัตโนมัติ

วรรณะไวศยะ (พ่อค้า)
สำหรับวรรณะไวศยะ เมื่อพิจารณาจากตัวบทที่ว่า

"…โดยหลังจากที่พระประชาปติได้สร้างสรรพสัตว์ขึ้นมาแล้ว พระองค์จะทรงมอบการดูแลปศุสัตว์ไว้ที่ไวศยะ(พ่อค้า) ส่วนพราหมณ์และกษัตริย์จะดูแลสรรพสัตว์ทั้งมวล…" (The Law Code of Manu: 178) และ "…ไวศยะต้องทำความคุ้นเคยกับคุณค่าต่างๆ ของอัญมณี ไข่มุก หินปะการัง โลหะ ลูกปัทม์ น้ำหอม และเครื่องปรุง เขาควรมีความรู้เกี่ยวกับการหว่านเมล็ดพืช คุณสมบัติของแปลงนาที่ดีหรือไม่ดี วิธีการวัดและตวงต่างๆ คุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการหรือไม่เป็นที่ต้องการของสินค้าต่างๆ บริเวณที่ดีและไม่ดีในที่ดิน วิธีการค้าขายที่ทำให้มีกำไรหรือขาดทุนการทำให้ฟาร์มปศุสัตว์มีผลผลิตที่ดีที่สุด รู้ว่าต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างอย่างไร ภาษาต่างๆ การกักเก็บสินค้า และขั้นตอนในการซื้อขาย ไวศยะควรพยายามสร้างทรัพย์สินให้งอกงามขึ้นแต่ต้องสอดคล้องกับกฎ และต้องมีความมานะบากบั่นที่จะกระจายอาหารให้แก่สรรพสัตว์ทั้งมวล" (The Law Code of Manu: 178)

ข้อความดังกล่าวค่อนข้างที่จะมีนัยยะชัดเจนว่า เป็นการกันบุคคลในวรรณะไวศยะออกจากการมีอำนาจในการปกครองโดยใช้วิธีการมอบหมาย "หน้าที่" ที่ถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับการปกครอง (ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้ที่ภาคเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการปกครองอย่างแยกไม่ออก) นั่นคือการดูแลปศุสัตว์อย่างเต็มที่ และการกำหนดให้พราหมณ์และกษัตริย์เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการดูแลสรรพสัตว์ทั้งมวล ก็ย่อมหมายถึงบุคคลที่อยู่ในวรรณะอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ย่อมกลายเป็นผู้ถูกปกครองไปโดยปริยาย นอกจากนี้จากการอ่านตัวบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไวศยะก็ไม่พบการกำหนดสิทธิและหน้าที่ในการปกครองแต่อย่างใด

จากทัศนะของ ปรีชา ช้างขวัญยืน (2529: 53-54) ที่ว่า "ข้อที่จัดว่าไวศยะขาดอำนาจทางการเมืองคือ ไวศยะเป็นพวกที่เสียภาษีแต่ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดภาษี เพราะไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง ...ดังนั้น พระราชายิ่งขยายอำนาจเพียงไร ไวศยะก็ยิ่งต้องเสียมากขึ้นโดยที่ตนไม่มีทางต่อรองหรือแม้แต่ว่าพอใจนโยบายที่พระราชาและพราหมณ์เป็นผู้กำหนดขึ้นหรือไม่ เพราะผู้ที่จะมีอำนาจอย่างแท้จริงนั้น แต่งตั้งจากคนในวรรณะกษัตริย์ทั้งสิ้น … เมื่อกลุ่มผู้มีอำนาจในการปกครองมิใช่ไวศยะ การพิจารณาปัญหาต่างๆ ย่อมเป็นไปตามสายตาแห่งวรรณะตน ไวศยะก็ดี ศูทรก็ดีจะได้รับประโยชน์ก็เท่าที่ผู้ปกครองจะเห็นสมควร ไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมือง ไม่มีทางจะได้ประโยชน์หรือความยุติธรรมตามสายตาของไวศยะและศูทรเอง อีกทั้งระบบวรรณะนั้นปิดทางที่จะให้คนสองพวกนี้มีส่วนร่วมทางการเมือง พวกไวศยะและศูทรจึงไม่มีช่องทางแสวงหาความยุติธรรมให้แก่ตนเอง …"

ทัศนะดังกล่าวเมื่อมองตามความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจแบบที่เป็นทางการแล้วย่อมชัดเจนว่าบุคคลในวรรณะไวศยะนั้นถือเป็นกลุ่มผู้ถูกปกครอง แต่หากเราลองพิจารณาดูอำนาจที่แฝงอยู่เมื่อพิจารณาในตัวบทจะเห็นว่า บุคคลในวรรณะไวศยะยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเป็นทวิชาติ (twice-born) ซึ่งอาจทำให้เราสามารถคิดไปได้ว่า ผู้ที่บัญญัติมานวธรรมศาสตร์ยังคงมองเห็นความสำคัญของกำลังทางเศรษฐกิจที่มีต่อรัฐ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้ปกครอง (ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์) นั้น มีความจำเป็นต้องอาศัยรายได้หรือทรัพย์สิน (wealth) ของไวศยะนั่นเอง คำถามที่เกิดขึ้นก็คือเราอาจมองได้ว่าไวศยะนั้นอาจใช้อำนาจทางการเงิน (financial influence) อำนาจในการครอบครองทรัพย์สิน (control through ownership) หรืออำนาจจากการมีทักษะ (ability/skill) และความเชี่ยวชาญ (expertise) ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่บุคคลในวรรณะไวศยะมีเหนือกว่าวรรณะอื่นๆ ในการต่อรองกับพราหมณ์หรือกษัตริย์(ได้หรือไม่?)

ในการนี้ เมื่อพิจารณาจากตัวบท หากเรามองโอกาสที่ไวศยะจะอาศัยอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะเข้าไปมีอิทธิพลในการต่อรองผลประโยชน์กับพราหมณ์หรือกษัตริย์ แทบเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากตัวบทได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าพราหมณ์หรือกษัตริย์ สามารถเรียกเอาทรัพย์สินจากไวศยะไปได้ทุกเวลาหากจำเป็น (โดยเฉพาะในการบูชายัญ) ดังนั้น การจัดให้ไวศยะอยู่ในกลุ่มทวิชาติก็อาจเป็นเพียงเพื่อให้พราหมณ์และกษัตริย์สามารถใช้สินทรัพย์ที่ได้มาจากไวศยะอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจนั่นเอง จึงสรุปได้ว่าสถานะของบุคคลในวรรณะไวศยะนั้นคือผู้ถูกปกครองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วรรณะศูทร (ช่าง-ทาส)
สำหรับบุคคลในวรรณะศูทร ถือว่าเป็นผู้ถูกปกครองอย่างไม่มีข้อกังขา เหตุผลเนื่องจากข้อบัญญัติในมานวธรรมศาสตร์ได้กำหนดให้ศูทรเป็นวรรณะที่ถูกกระทำ หรือเป็นฝ่ายรับภาระงานและความยากลำบากต่างๆ โดยเฉพาะด้านการใช้กำลังหรือแรงงาน เพราะการรับใช้เป็นหน้าที่ของศูทรตามที่ได้เกิดมาจากพระบาทของพรหม (*) ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลในวรรณะศูทรจะมีความสามารถเพียงใด ก็ไม่มีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนสถานะทางสังคมได้ นอกจากการทำตามหน้าที่มิให้ขาดตกบกพร่อง เพื่อรอการเกิดใหม่ในโลกหน้าในวรรณะที่สูงขึ้น และเมื่อพิจารณาในเชิงอำนาจ
(*) "… เพื่อปกป้องทุกสิ่งที่ถูกสร้าง ได้มีการแบ่งแยกงานให้กับชนชั้นต่างๆ … ศูทรมีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือรับใช้ทั้ง 3 วรรณะ โดยไม่ขุ่นเคืองใจ"

ประการแรก เราจะเห็นว่าข้อกำหนดในมานวธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ศูทรศึกษาเล่าเรียนพระเวท (แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีสติปัญญาที่สามารถเล่าเรียนได้) ดังนั้นศูทรจึงไม่มีโอกาสที่จะครอบครองอำนาจที่เป็นความรู้ (knowledge power) เทียบเท่าบุคคลในวรรณะพราหมณ์ได้เลย

ประการต่อมา นอกจากการขาดอำนาจที่เป็นความรู้แล้ว เมื่อพิจารณาจากตัวบทที่ว่า

"… หากการทำพิธีบูชายัญไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขาดของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ... เขา (พราหมณ์) อาจจะนำของสองสามอย่างมาจากบ้านของศูทร เพราะศูทรไม่ต้องทำอะไรในการบูชายัญ …" (The Law Code of Manu: 190-191) และ "... ผู้ที่รู้ในธรรมศาสตร์ต้องไม่เรียกขอเงินจากศูทรมาทำพิธีบูชายัญ มิเช่นนั้นเขาจะกลับมาเกิดเป็นจาณฑาล …" (The Law Code of Manu: 191)

เราจะเห็นว่าข้อความทั้งสองนั้น มีความขัดแย้งกันอย่างชัดเจน แต่แม้ว่าข้อความดังกล่าวจะขัดแย้งกันเอง สิ่งที่เหมือนกันก็คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบูชายัญ โดยอาจตีความได้ว่าผู้รจนามานวธรรมศาสตร์ มิได้เกรงว่าศูทรจะมีอำนาจในทางการเงินหรือการครอบครองทรัพย์สิน ขึ้นมาเทียบเท่ากับพราหมณ์เหมือนที่ไวศยะอาจจะทำได้ แต่ความหมายของข้อความที่ยกมาก็คือ เป็นการปิดโอกาสการสร้างฐานะที่จะไปสู่สวรรค์ของศูทรโดยสมบูรณ์ เพราะเป็นการกีดกันศูทรออกจากการทำพิธีบูชายัญ ซึ่งถือว่าเป็นหนทางในการไปสู่สวรรค์ ศูทรจึงไม่มีทางที่จะทำความดีอื่นๆ นอกเหนือไปจากการรับใช้พราหมณ์ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่ถูกต้องที่สุด (*)
(*) "กฎสำหรับศูทร: สำหรับศูทรธรรม (Law) สูงสุดที่จะนำไปสู่ความสุขก็คือ การกระทำที่เคารพเชื่อฟัง และการรับใช้พราหมณ์ที่เป็นผู้ศึกษาพระเวทและเป็นเจ้าของบ้าน เมื่อเขาทำตนเองให้บริสุทธิ์ หมั่นรับใช้ และเชื่อฟังต่อวรรณะสูงสุด พูดจาไพเราะ สงบเสงี่ยมเจียมตัวและอยู่อาศัยกับพราหมณ์ ในการเกิดครั้งต่อไปเขาจะมีวรรณะสูงขึ้น" (The Law Code of Manu: 179)

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ แม้ว่าในตอนแรกศูทรจะถูกกำหนดให้มีหน้าที่รับใช้ทั้งสามวรรณะ แต่เหตุใดในกฎของศูทรจึงมีการเน้นย้ำให้ศูทรอยู่ภายใต้อำนาจ (subject to) ของพราหมณ์มากนัก โดยมักจะกล่าวว่า หากรับใช้พราหมณ์แล้วในโลกหน้าจะเกิดมาในวรรณะที่สูงและดีขึ้น ในที่นี้ผู้รจนาคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์อาจจะพยายามให้อำนาจที่เป็นรูปธรรมแก่พราหมณ์ ดังที่ได้กล่าวไปในส่วนของพราหมณ์ว่า อำนาจที่มานวธรรมศาสตร์มอบให้พราหมณ์มักจะจับต้องไม่ได้หรือเป็นนามธรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นแม้พราหมณ์จะไม่มีกองทัพเหมือนกษัตริย์ แต่ก็ได้จัดหาบุคคลในกลุ่มหนึ่งไว้เป็นกำลังให้โดยเฉพาะ

ข้อพิจารณาในคัมภีร์หลุนอวี่เปรียบเทียบกับคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์
การแยกแยะระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในคัมภีร์หลุนอวี่ แตกต่างจากในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ เนื่องจากในคัมภีร์หลุนอวี่นั้น ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าบุคคลในกลุ่มใดจัดเป็นผู้ปกครองหรือผู้ถูกปกครอง โดยหากเริ่มต้นจากการจัดแบ่งประเภทของบุคคลต่างๆ ในคัมภีร์หลุนอวี่จากข้อความที่ว่า…

"ขงจื่อกล่าวว่า ผู้ที่รู้มาโดยกำเนิดนั้นคือชนชั้นหนึ่ง ผู้ที่รู้โดยการศึกษาคือชนชั้นสอง ผู้ที่ประสบอุปสรรคแล้วจึงศึกษาคือชนชั้นสาม ส่วนผู้ที่ประสบอุปสรรคแล้วยังไม่ยอมศึกษานั้นคือชนชั้นล่างสุด" (คัมภีร์หลุนอวี่: 16/9) และ "ขงจื่อกล่าวว่า ธรรมชาติของคนเราเดิมนั้นมิแตกต่าง หากอุปนิสัยภายหลังนั้นห่างกันไกล" (คัมภีร์หลุนอวี่: 17/2)

จะเห็นได้ว่าในขณะที่"มานวธรรมศาสตร์"ใช้การแบ่งแยกคนด้วยชาติกำเนิดเป็นวรรณะต่างๆ อย่างชัดแจ้ง แต่คัมภีร์หลุนหวี่ใช้การแบ่งแยกคนด้วย"ความรู้" ความรู้จึงอาจถือเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญประการหนึ่งของอำนาจในสังคมการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม ความรู้นั้นก็สามารถเปลี่ยนถ่ายไปมาได้โดยอาศัยวิธีการปฏิบัติตัวให้ใฝ่ศึกษาเล่าเรียนจึงจะได้มาซึ่งอำนาจนั้นๆ (*) แม้จะมีข้อความที่ว่า "ผู้ที่รู้มาโดยกำเนิดนั้นคือชนชั้นหนึ่ง" แต่ในคัมภีร์หลุนอวี่ขงจื่อก็มิได้กล่าวถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด ความรู้จึงไม่ได้ถูกยึดครองโดยบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ อีกทั้งความรู้ก็มิใช่สิ่งเดียวที่จะมากำหนดได้ว่าผู้ที่ถือครองความรู้เป็นผู้ที่มีอำนาจอย่างแท้จริงในสังคม ดังนั้น จึงต้องทำการค้นหาว่า อำนาจที่แฝงอยู่ในคัมภีร์หลุนอวี่คืออะไร
(*) ตีความจาก ขงจื่อกล่าวว่า "ประศาสน์วิชาโดยไร้วรรณะ" (คัมภีร์หลุนอวี่: 15/39)

การที่ข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ มีลักษณะการตอบแบบชี้เฉพาะเป็นกรณีๆ ไป คือ เมื่อมีผู้ถามขงจื่อถึงการปฏิบัติตนในกรณีหนึ่ง ขงจื่อก็จะตอบเป็นคำตอบเฉพาะของกรณีนั้น ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์เพื่อแยกแยะความเป็นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ในประเด็นเกี่ยวกับ อำนาจในคัมภีร์หลุนอวี่คืออะไร จึงเป็นงานการยาก โดยเฉพาะหากหวังที่จะให้ได้คำตอบที่สมบูรณ์และสามารถใช้อธิบายได้ในทุกสถานที่และทุกเวลาตามหลักการทั่วไป

การพยายามหาคำตอบด้วยกรอบคิดของทฤษฎีที่เป็นสากล ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายขึ้นอยู่กับการตอบที่หลุดไหลออกมาจากวิธีคิดของสำนักคิดต่างๆ ซึ่งล้วนแต่จะมีปัญหาและช่องว่างอยู่เสมอ อันเป็นผลมาจากลักษณะของอำนาจในคัมภีร์หลุนอวี่ ที่วางตัวกระจัดกระจายอยู่ในทุกความสัมพันธ์และทุกแห่งหนของสังคม อีกทั้งยังมีความแตกต่างหลากหลาย ซับซ้อนจนเกินกว่าที่จะตัดทอนและละเลยรายละเอียดปลีกย่อยของอำนาจในแต่ละปรากฏการณ์ได้ ดังนั้น การวิเคราะห์อำนาจด้วยกรอบทฤษฎีที่มุ่งอธิบายปรากฏการณ์โดยใช้กรอบแบบสากลย่อมไม่สามารถทำได้ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสากลที่มาจากสำนักคิดใดก็ตาม การศึกษาถึงอำนาจในคัมภีร์หลุนอวี่ จึงควรให้เป็นไปเพื่อที่จะตอบคำถามว่า "อำนาจนั้นมีปฏิบัติการอย่างไร? (How is power excercised?) ในระบบความสัมพันธ์ชุดหนึ่งๆ มากกว่าที่จะมุ่งศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า "อำนาจคืออะไร?" (What is power?)

การพิจารณาความเป็นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองโดยอาศัยมุมมองในเชิงอำนาจนั้น เมื่อไม่สามารถใช้กรอบจากการแบ่งชนชั้นของบุคคลในสังคมได้ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าบุคคลในสังคมมิได้ถูกแบ่งแยกเอาไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับในมานวธรรมศาสตร์ การที่จะแยกแยะระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองในที่นี้ จึงอาศัยกรอบความคิดพื้นฐานของขงจื่อซึ่งมองว่า ปัจเจกบุคคลต้องดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ชุดใดชุดหนึ่งเสมอ และกระบวนการคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นภายใต้เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งขงจื่อได้จัดแบ่งความสัมพันธ์ต่างๆ ในสังคมออกเป็นห้าประการคือ

1) ผู้ปกครอง-ผู้ถูกปกครอง
2) บิดา-บุตร
3) สามี-ภรรยา
4) เพื่อน-เพื่อน และ
5) พี่-น้อง

โดยในแต่ละความสัมพันธ์ก็จะมีวิธีการปฏิบัติต่อกันที่แตกต่างกัน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ให้ยึดความเอาใจใส่และความภักดีเป็นหลักปฏิบัติ ความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรให้ยึดการอบรมสั่งสอนและความกตัญญูเป็นหลักปฏิบัติ เป็นต้น

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ทั้งห้าประการจะมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ในแนวตั้ง (มีผู้ที่สูง-ต่ำกว่า) เกือบทั้งสิ้น (ยกเว้นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน แต่แม้ในเรื่องเพื่อนกับเพื่อนก็มีคำสอนให้รู้จักเลือกคบเพื่อนเช่นกัน) โดยจะมีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้นำหรือชี้นำและอีกฝ่ายจะเป็นผู้ที่โอนอ่อนผ่อนตามอีกฝ่าย นอกจากนี้ในทัศนะของขงจื่อเองก็ตระหนักดีว่า แต่ละบุคคลนั้นมีความสามารถและสติปัญญาที่แตกต่างกัน (คัมภีร์หลุนอวี่: 19/12) ซึ่งหากทดลองหยิบยกเกณฑ์ที่จะมาแยกแยะว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชี้นำ และฝ่ายใดจะเป็นผู้ตามก็จะพบว่ามีเรื่องของบารมี ความรู้ ความสามารถ และจารีตในสังคมมาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อที่จะทำการแยะแยะความเป็นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ในงานเขียนนี้จึงใช้กรอบการพิจารณาจากลักษณะความสัมพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะตัวบทที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง โดยเริ่มจากตัวบทที่ว่า

"ขงจื่อกล่าวว่า หากผู้ที่อยู่เบื้องสูงได้ใฝ่ต่อจริยธรรมแล้ว พสกนิกรก็จะศิโรราบรับฟังด้วยความยินดี" (คัมภีร์หลุนอวี่: 14/43)

จากข้อความข้างต้นจะเห็นว่า ขงจื่อเน้นถึงความสำคัญของจริยธรรมมาก ราวกับว่าหากใครมีพลังแห่งจริยธรรม ก็จะสามารถทำให้ผู้อื่นยอมทำตามตนเองได้ งานเขียนนี้จึงทดลองเสนอแนวคิดเรื่อง "อำนาจทางจริยธรรม" ในคัมภีร์หลุนอวี่ เป็นกรอบในการวิเคราะห์ โดยจะวิเคราะห์จากแหล่งที่มาของอำนาจสามแหล่งประกอบกัน

1) บารมีหรือคุณลักษณะของแต่ละบุคคล (personal charisma)
2) ความรู้ความสามารถ (knowledge) และ
3) จารีตในสังคม (social influence of tradition)

๑. บารมีหรือคุณลักษณะของบุคคล(personal charisma) ที่มาของอำนาจ
โดยแหล่งที่มาแรก คือ เรื่องคุณลักษณะของแต่ละบุคคลนั้น ขงจื่อจะให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของตัวบุคคล เช่น เมื่อพิจารณาจากตัวบทที่ว่า

"จื้อก้งถามว่า คนทั้งหมู่บ้านล้วนรักเขา อย่างนี้เป็นไฉน? ขงจื่อกล่าวว่า ยังมิอาจตัดสินว่าเป็นคนดีได้หรอก? จื้อก้งถามอีกว่า คนทั้งหมู่บ้านเกลียดเขา
อย่างนี้เป็นไฉน? ขงจื่อกล่าวว่า ยังมิอาจตัดสินว่าเป็นคนดีได้หรอก เพราะมิสู้คนดีทั้งหมู่บ้านล้วนรักเขา คนเลวทั้งหมู่บ้านล้วนเกลียดเขาได้"
(คัมภีร์หลุนอวี่: 13/24)

ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า "การวัดว่าผู้ปกครองเป็นคนดีหรือไม่?" เราจะใช้วิธีการวัดตามเสียงส่วนใหญ่ หรือ majority rule ตามหลักของประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปัจจุบัน ซึ่งผู้ปกครองมักอ้างความชอบธรรมจากคะแนนเสียงที่ชนะเลือกตั้ง อันเป็นการวัดในเชิงปริมาณนั้นมิได้ หากต้องใช้การพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงคุณสมบัติของคนๆ นั้นลงไปในรายละเอียดด้วย ในที่นี้พบว่า การที่ขงจื่อให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของผู้ปกครอง เนื่องมาจากขงจื่อมีทัศนะว่าผู้ปกครองจะต้องเป็นแบบอย่างของผู้ใต้ปกครอง (*) สังคมที่ดีเริ่มจากการที่ผู้นำมีจริยธรรม มโนธรรม สัตยธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างให้ประชาชนและทำงานเช่นนี้อย่างไม่ย่อท้อ ดังนั้น ผู้ถูกปกครองที่ดีก็คือผู้ที่ปฏิบัติตามแบบอย่างของผู้ปกครองที่ดี (ซึ่งการที่ผู้ถูกปกครองจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งใดคือแบบอย่างที่ดีหรือไม่ดีนั้นก็มาจากการศึกษาเล่าเรียน)
(*) พิจารณาจาก "... ขงจื่อตอบว่า ... ท่านคือผู้บริหารแผ่นดิน จะต้องใช้การประหารไปไย? เพราะเพียงท่ามุ่งในความดี ประชาราษฎร์ก็จะมุ่งมั่นใฝ่ดีแล้ว อันวัตรปฏิบัติแห่งวิญญูชนนั้น จะประหนึ่งลม และอันวัตรปฏิบัติแห่งสามัญชนนั้นจะประหนึ่งหญ้า หญ้าที่อยู่ใต้ลม ก็จักลู่ตามลมเป็นแน่แท้" (คัมภีร์หลุนอวี่: 12/19)

นอกจากการที่ผู้ปกครองจะต้องเป็นแบบอย่างแก่ผู้ถูกปกครองแล้ว ความสำคัญอีกประการของคุณลักษณะผู้ปกครองก็คือ การได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากผู้ถูกปกครอง โดยหากพิจารณาจากข้อความที่ว่า…

"หลู่ไอกง ทรงถามขงจื่อว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นที่ยอมรับของไพร่ฟ้า? ขงจื่อกราบทูลว่า เกื้อกูลผู้เที่ยงธรรม ปลดปราบผู้เลวร้าย ฉะนี้ประชาราษฎร์ก็จักศิโรราบ หากแต่เกื้อกูลผู้เลวร้าย ปลดปราบผู้เที่ยงธรรม ฉะนี้ พสกนิกรจักไม่เชื่อฟัง" (คัมภีร์หลุนอวี่: 2/19) และ

"จื่อก้งถามเรื่องการปกครอง ขงจื่อตอบว่า พึงถึงพร้อมด้วยโภชนะอันอุดม ยุทธพลอันพร้อมพรั่ง และพลังศรัทธาแห่งประชาชนนั่นแล จื่อก้งกล่าวว่า หากสุดวิสัยจนต้องตัดออก พึงตัดปัจจัยใดก่อนใน ๓ ข้อนี้? ขงจื่อ กล่าวว่า พึงตัดยุทธพลทิ้งไป จื่อก้งกล่าวว่า หากมีความจำเป็นต้องตัดทิ้ง พึงตัดปัจจัยใดก่อนใน ๒ ข้อนี้? ขงจื่อกล่าวว่า พึงตัดโภชนาหารทิ้งไป นับแต่บุพกาลมาทุกคนล้วนต้องตาย แต่หากสิ้นแรงศรัทธาแห่งปวงชนก็มิอาจดำรงอยู่ต่อไปได้?" (คัมภีร์หลุนอวี่: 12/7) และ

"ขงจื่อกล่าวว่า สามารถชิงตัวจอมพลแห่งสามหมวดทัพ หากมิอาจชิงอุดมการณ์แห่งสามัญราษฎร์ได้" (คัมภีร์หลุนอวี่: 9/25) และ "ขงจื่อกล่าวว่า ปกครองด้วยรัฐศาสตร์ เคร่งครัดด้วยราชทัณฑ์ ทวยราษฎร์ก็จักหลีกหนีไม่รู้ละอาย หากปกครองด้วยคุณธรรมและเคร่งครัดด้วยจริยธรรมไพร่ฟ้าก็จะรู้จักละอายและปรับปรุงตน" (คัมภีร์หลุนอวี่: 2/3)

จะเห็นว่าในคัมภีร์หลุนอวี่ การที่ผู้ปกครองได้รับการยอมรับจากผู้ถูกปกครอง ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง นัยยะดังกล่าวย่อมแสดงถึงพันธะสัญญา (obligation) ของผู้ปกครองที่มีต่อผู้ถูกปกครองของตนในการดูแลผู้ถูกปกครองให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งในประเด็นนี้จะแตกต่างจากมานวธรรมศาสตร์ ที่แม้ผู้ปกครองจะมีหน้าที่ในการดูแลผู้ถูกปกครองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีเหมือนกัน แต่พันธะสัญญาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นพันธะสัญญาต่อพระพรหม (หรือพระเจ้า) มิใช่พันธะสัญญาต่อผู้ถูกปกครองแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ถูกปกครองในคัมภีร์หลุนอวี่จึงจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการปกครองด้วย แต่การมีส่วนร่วมในการปกครองตามแนวคิดของขงจื่อนั้น คงมิใช่การคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ทางการเมืองในฐานะของปัจเจกชนแบบแนวคิดเสรีนิยมของตะวันตกแต่อย่างใด หากแต่เป็นการที่ผู้ถูกปกครองใช้วิจารณญาณในการแสดงความคิดเห็นต่อวิธีการปกครองทั้งต่อผู้ปกครอง (*) และต่อผู้ถูกปกครองด้วยกันเอง (**) ซึ่งการใช้วิจารณญาณในที่นี้ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องความถูกต้องเหมาะสมตามกรอบจารีตประเพณีที่ดีในสังคม (หรือการมีมโนสำนึก) มิใช่วิจารณญาณที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด (***) และนอกจากการวิจารณ์แล้วประชาชนยังสามารถที่จะไม่ยอมรับหรือไม่เชื่อฟัง (disobedience) การปกครองที่ตนเองเห็นว่าไม่ถูกทำนองคลองธรรมได้อีกด้วย โดยอาจเป็นได้ทั้งการกระด้างกระเดื่องไม่ปฏิบัติตามผู้ปกครอง หรือการหลีกลี้ออกไปจากสังคมนั้นๆ (****)
(*) "… ความสุขของกษัตริย์นั้นไม่มีอื่นใด ก็เพียงแค่ไม่มีใครคัดค้านพระรับสั่งเท่านั้น … หากเป็นคำที่ไม่ดีแล้วไร้คนคัดค้าน นี่มิใช่ใกล้เคียงกับคำว่า เพียงหนึ่งประโยคก็สามารถล่มชาติได้ดอกฤา" (คัมภีร์หลุนอวี่: 13/15) และ "... เมื่อภักดีต่อเขา เราจะไม่ทัดทานเลยได้ฤๅ" (คัมภีร์หลุนอวี่: 14/8) และ "จื่อลู่ถามเรื่องการรับใช้เจ้าแผ่นดิน ขงจื่อตอบว่า มิหลอกลวงและต้องกล้าทูลทัดทาน" (คัมภีร์หลุนอวี่: 14/23)

(**) ดังจะเห็นได้จากตัวบทที่ว่า "จี้คังจื่อถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้ปวงประชามีความเคารพภักดีแลตักเตือนกันและกัน? ขงจื่อตอบว่า ... เลือกใช้คนดีแลสั่งสอนผู้ด้อยความสามารถ ปวงชนก็จักตักเตือนกันและกัน" (คัมภีร์หลุนอวี่: 2/20)

(***) "ขงจื่อกล่าวว่า วิญญูชนจะใฝ่หามโนธรรม หากทุรชนจะใฝ่หาแต่เรื่องผลประโยชน์" (คัมภีร์หลุนอวี่: 4/16)

(****) "… เมืองอันตรายไม่ย่างเข้า เมืองวุ่นวายไม่อาศัย ครั้นใต้หล้ามีธรรมก็ออกมารับใช้ชาติ ครั้นไร้ธรรมก็เก็บตัวอำพราง ..." (คัมภีร์หลุนอวี่: 8/13)

คุณสมบัติอีกประการที่แฝงอยู่ในเรื่องบารมีและคุณสมบัติของบุคคลก็คือ เรื่องความอาวุโส โดยผู้ที่ด้อยอาวุโสกว่ามักจะให้ความเคารพแก่ผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า แม้ว่าคุณสมบัติเรื่องความอาวุโสจะสามารถใช้ได้ในความสัมพันธ์ระหว่าง บิดา-บุตร และพี่น้องเท่านั้น เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองไม่จำเป็นที่จะต้องมีอายุมากกว่าผู้ถูกปกครองเสมอไป แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาจากคำสอนของขงจื่อ เช่นข้อความที่ว่า…

"… ผู้ที่รู้กตัญญู ก็จักอารีต่อภาดา(พี่น้อง) ดังนั้นหากทำดีในระดับครอบครัว เช่นนี้ก็ถือเป็นการบริหารบ้านเมืองแล้ว …" (คัมภีร์หลุนอวี่: 2/21) และ "… เด็กหนุ่มคนนี้ ถือว่ามีความใฝ่ดีหรือไม่? ขงจื่อตอบว่า ข้าเห็นแต่เขานั่งในที่ของผู้ใหญ่ เห็นแต่เขาเดินเสมอไหล่กับผู้ใหญ่ คนเช่นนี้ไม่ใช่คนที่มีความใฝ่ดีหรอก หากใฝ่โตลัดต่างหาก" (คัมภีร์หลุนอวี่: 14/46)

ข้อความดังกล่าวแสดงความนัยให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ในระดับครอบครัวนั้นมิได้แยกออกจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ดังนั้น ผู้ปกครองที่อาวุโสกว่าย่อมจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่า เฉกเช่นบิดาที่มีสถานะเป็นผู้ให้คำชี้นำแก่บุตรในครอบครัว หรืออีกนัยหนึ่งผู้ที่เยาว์วัยนั้น ยังสมควรที่จะเป็นผู้ถูกปกครองมากกว่าที่จะมาเป็นผู้ปกครอง จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร (*)
(*) มีข้อความในคัมภีร์หลุนอวี่บทที่ 11/12 ที่ขงจื่อไม่เห็นด้วยกับการที่จื่อลู่แต่งตั้งให้จื่อเกาเป็นนายอำเภอที่อำเภอปี้ เนื่องจากจื่อเกาอายุยังน้อย หากมอบหมายตำแหน่งสำคัญให้ทำ จะเกรงว่าเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะหากทำไม่ดีก็จะหมดสิ้นกำลังใจ หากทำได้ดีก็จะทำให้ผยองลำพองตน โดยกล่าวว่า "… เป็นการทำลายบุตรหลานของคนอื่นโดยแท้ ..."

๒. ความรู้ ความสามารถ: แหล่งที่มาของอำนาจ
แหล่งที่มาของอำนาจแหล่งที่สอง คือ ความรู้ความสามารถ ซึ่งรวมถึงประสบการณ์ด้วย โดยในคัมภีร์หลุนอวี่ ขงจื่อกล่าวถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมืองไว้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเลือกใช้คน การเอาใจประชาราษฎร์ พระราชพิธีต่างๆ เป็นต้น. แต่ในที่นี้มิได้มองว่า ผู้ที่สามารถครอบครองความรู้เหล่านั้นจึงจะถือว่าเป็นผู้ปกครองได้ แม้โดยปกติแล้ว ผู้ที่มีความรู้มักจะได้รับการคัดเลือกให้มาทำการปกครอง แต่เมื่อพิจารณาจากระบบความสัมพันธ์ต่างๆ ก็ยังมีปัญหา เพราะกษัตริย์ก็ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากกว่าขุนนางเสมอไป หากแต่ต้องรู้จักเลือกขุนนางมาทำหน้าที่รับใช้ตามความสามารถ บิดาก็ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากกว่าบุตร และพี่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับการศึกษาเล่าเรียนมากกว่าน้อง

นอกจากนี้ความรู้ยังเป็นคำที่กว้างขวาง สามารถตีความไปได้หลากหลายอีกด้วย ลักษณะดังกล่าวจะแตกต่างจากในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ ที่มีการกำหนดให้ความรู้หมายถึงความรู้ในคัมภีร์พระเวทเท่านั้น และได้มีการกำหนดกลุ่มบุคคลเฉพาะที่สามารถเข้าถึงความรู้ดังกล่าวได้ ซึ่งก็คือพราหมณ์นั่นเอง ความรู้ในคัมภีร์พระเวทจึงเป็นแหล่งที่มาของอำนาจอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในความรู้การประกอบพิธีบูชายัญที่จะส่งผลต่อชีวิตในโลกหน้า ความรู้ในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์จึงไม่มีปัญหาเหมือนในคัมภีร์หลุนอวี่

เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ งานเขียนชิ้นนี้จึงทดลองใช้เรื่องประสบการณ์เป็นตัววัดแหล่งที่มาของอำนาจดังกล่าว โดยจะใช้การตัดสินภาวะความเป็นผู้นำจากประสบการณ์ที่บุคคลหนึ่งสะสมเอาไว้ผ่านประสบการณ์ชีวิตและพบเห็นความเป็นไปในสังคม เมื่อพิจารณาจากรูปแบบความสัมพันธ์และประกอบกับประเด็นเรื่องความอาวุโสที่ได้กล่าวแล้วก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าฝ่ายหนึ่งมักจะมีประสบการณ์มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ซึ่งดูเหมือนว่าจะใช้ในการทำความเข้าใจการจัดลำดับชั้นความสัมพันธ์ได้มากยิ่งขึ้น เช่น การที่บิดามีภาวะผู้นำมากกว่าบุตร ก็เพราะบิดาเผชิญอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตมามาก จึงสามารถชี้นำบุตรในเรื่องต่างๆ ได้ เช่นเดียวกับพี่ที่มีภาวะผู้นำเหนือน้อง เพราะพี่ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มามากกว่าน้อง ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยานั้นหากมองจากบริบทในสังคมจีนสมัยขงจื่อที่ไม่นิยมให้ผู้หญิงออกนอกบ้านไปไกลๆ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ ทำให้ผู้หญิงขาดการศึกษาและประสบการณ์จากสังคมภายนอก จึงต้องอาศัยผู้ชายในการชี้นำ สามีจึงมีภาวะผู้นำเหนือภรรยา

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง แม้ตามทัศนะของขงจื่อผู้ปกครองที่ได้รับการสืบทอดอำนาจจะต้องมีการสั่งสมความรู้และประสบการณ์ในบรรยากาศการปกครองของผู้ปกครองที่ผ่านๆ มา จึงได้รับการสืบทอดอำนาจต่อและมีภาวะผู้นำหรือประสบการณ์ในการปกครองมากกว่าผู้ถูกปกครอง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง เราจะเห็นว่า บางครั้งผู้ปกครองก็มีประสบการณ์น้อยกว่า โดยเฉพาะยุวกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ การใช้ประสบการณ์เป็นตัววัดแหล่งที่มาของอำนาจในระบบความสัมพันธ์ของขงจื่อ จึงยังคงมีปัญหาอยู่ เราจึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ถูกปกครองนั้นคือผู้ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าอีกผู้หนึ่งในระบบความสัมพันธ์ของสังคม

จากการทดลองใช้เกณฑ์ต่างๆ นำไปวัดในเรื่องอำนาจ เราจะเห็นได้ว่าเกณฑ์ต่างๆ นั้นมีปัญหาและช่องว่างเกิดขึ้นแทบทั้งสิ้น แต่ถ้าเราเข้าใจว่าในปรัชญาขงจื่อ "ความสัมพันธ์ทั้งห้า"มิได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากแต่เป็นวิถีทางอันนำไปสู่จุดหมาย คือการที่สังคมดำเนินไปอย่างเป็นธรรม มีความสอดคล้องกับจารีตที่ดีงามในอดีต เรียบง่าย และไม่เกิดปัญหาใดๆ ดังข้อความที่ว่า

"ขงจื่อกล่าวว่า การปกครองแผ่นดินโดยธรรม ก็จะประหนึ่งดาวเหนือ ประดับกลางหาว ที่จะมีหมู่ดาวรายล้อมภักดี" (คัมภีร์หลุนอวี่: 2/1) และ "ขงจื่อกล่าวว่า แบบแผนแห่งราชวงศ์โจวได้ปรับปรุงจากราชวงศ์เซี่ยแลราชวงศ์ซัง จึงได้มีอารยธรรมที่รุ่งเรือง ดังนั้น ข้าจึงเจริญรอยตามราชวงศ์โจว" (คัมภีร์หลุนอวี่: 3/15) และ "ขงจื่อกล่าวว่า "อันการตัดสินคดีความนั้น … หากจะให้ดีแล้ว พึงบริหารราชการจนมิให้เกิดคดีความ จึงจะประเสริฐ" (คัมภีร์หลุนอวี่: 12/13)

ดังนั้น แม้ว่าผู้ปกครองจะมีประสบการณ์น้อยกว่าผู้ถูกปกครอง แต่เมื่อเป็นจารีตที่สอดคล้องกับสังคม ผู้ถูกปกครองก็จะให้การยอมรับแต่โดยดี และสามารถหลีกเลี่ยงความวุ่นวายได้ ซึ่งเราจะเห็นว่า เรื่องความรู้ความสามารถนั้นมีความผูกพันกับเรื่องจารีตประเพณีอย่างแยกไม่ออก ซึ่งในที่นี้จะวิเคราะห์รวมกับแหล่งที่มาของอำนาจจากจารีตประเพณีต่อไป

๓. อำนาจจากจารีตประเพณี แหล่งที่มาของอำนาจ
สำหรับในแหล่งที่มาที่สามของอำนาจ มาจากจารีตประเพณีหรืออิทธิพลของสังคม เมื่อพิจารณาจากทัศนะของสุวรรณา สถาอานันท์ (2543: 46) ที่กล่าวว่า "สำหรับขงจื่อ ผู้ปกครองเป็นผู้สร้างและกำหนดกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม เป็นผู้ปาหินก้อนแรกลงในน้ำ คลื่นที่เกิดขึ้นและกระจายเป็นวงกลมรอบก้อนหินนั้น เป็นปฏิกิริยาและมีปฏิสัมพันธ์กับการตกกระทบของก้อนหิน อันเป็นปฐมเหตุ ผู้นำการกระทำ ผู้ใต้ปกครองก็มีปฏิสัมพันธ์ตามเงื่อนไขที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องขัดเกลาตน เพื่อสร้างแรงกระทบครั้งแรกที่ถูกทิศทาง และเอื้อต่อระเบียบสังคม"

ทัศนะดังกล่าวสะท้อนว่า จารีตประเพณีต่างๆ ในสังคมนั้นเกิดขึ้นมาจากผู้ปกครอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้ปกครองได้ใช้จารีตประเพณีเป็นกลไกในการจัดระเบียบทางสังคม นั่นคือทำให้ผู้ถูกปกครองยอมทำตามตนเองแต่โดยดี ซึ่งประเด็นนี้เมื่อเปรียบเทียบกับคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์จะเห็นได้ว่า มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน โดยความเหมือนกันคือทั้งคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์และคัมภีร์หลุนอวี่ ต่างก็ให้ยึดถือจารีตประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาเป็นหลักในการปกครอง มิใช่นึกอยากจะปกครองแบบใดก็กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาตามอำเภอใจ (*)
(*) พิจารณาเปรียบเทียบจากข้อความในมานวธรรมศาสตร์ที่ว่า "พระองค์ควรรับรอง (ratify) การกระทำที่ทรงไว้ซึ่งความดีงามของเหล่าทวิชาติ (เป็นกฎหมาย) ถ้าหากว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้ขัดแย้งกับกับเรื่อง อาณาจักร ครอบครัว และวรรณะ" (The Law Code of Manu: 124) และข้อความในคัมภีร์หลุนอวี่ ที่ว่า "ขงจื่อกล่าวว่า แบบแผนแห่งราชวงศ์โจวได้ปรับปรุงจากราชวงศ์เซี่ยแลราชวงศ์ซัง จึงได้มีอารยธรรมที่รุ่งเรือง ดังนั้น ข้าจึงเจริญรอยตามราชวงศ์โจว" (คัมภีร์หลุนอวี่: 3/15)

ส่วนความแตกต่างก็คือ กลไกในการจัดระเบียบทางสังคมในมานวธรรมศาสตร์คือการลงโทษ แต่ขงจื่อนั้นจะปฏิเสธวิธีการลงโทษโดยมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมในการปกครอง (*) ดังนั้น เพื่อที่จะให้กลไกดังกล่าวบรรลุผลและเป็นรูปธรรม ผู้เขียนจึงมองว่า นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ขงจื่อเน้นย้ำความสำคัญของการศึกษาอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการศึกษาเป็นการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากในอันที่จะทำให้บุคคลซึมซับเอาจารีตและวิธีปฏิบัติต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ขงจื่อจึงพยายามขยายโอกาสทางการศึกษาออกไปให้ครอบคลุมกลุ่มบุคคลในทุกชนชั้นและทุกพื้นที่ (**)

(*) "ขงจื่อกล่าวว่า ปกครองด้วยรัฐศาสตร์ เคร่งครัดด้วยราชทัณฑ์ ทวยราษฎร์ก็จักหลีกหนีและไม่รู้ละอาย หากปกครองด้วยคุณธรรม และเคร่งครัดด้วยจริยธรรม ไพร่ฟ้าก็จักรู้ละอายและปรับปรุงตน" (คัมภีร์หลุนอวี่: 2/3)

(**) "ขงจื่อกล่าวว่า ที่นี่มีประชากรคับคั่งเหลือเกิน …พึงทำให้พวกเขาสมบูรณ์พูนสุข …ครั้นสมบูรณ์พูนสุขแล้ว จงประสิทธิ์วิชาแก่พวกเขา" (คัมภีร์หลุนอวี่: 13/9)

ซึ่งหากใช้มุมมองแบบนักคิดหลังสมัยใหม่แล้ว อาจมองได้ว่าขงจื่อนั้นสอนให้ผู้ปกครองใช้วิธีการครอบงำ (hegemony) ให้ผู้ถูกปกครองตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งจารีตไปโดยไม่รู้ตัวผ่านทางการศึกษา ดังจะเห็นได้จากการกำหนดให้ปราชญ์บัณฑิตในสมัยนั้น ต้องเรียนวิชาพื้นฐานหกประการ (คัมภีร์หลุนอวี่: 7/6) โดยมีวิชาเรื่องระเบียบศีลธรรม จรรยามารยาท จารีตประเพณี เป็นหนึ่งในหกวิชาพื้นฐานดังกล่าว และห้ามมิให้เรียนวิชาที่นอกรีต (*) นอกจากนี้คำสอนของขงจื่อยังเน้นว่า ผู้ที่จะมีโอกาสในการเข้ารับราชการหรือเข้าสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจอย่างเป็นทางการได้ จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการพิจารณาว่าได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี (**) ในแง่นี้จึงอาจมองได้ว่า ผู้ถูกปกครองที่ดีนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มุ่งแสวงหาความรู้ด้วย เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนในสังคมได้อย่างถูกต้อง และเพื่อให้ง่ายต่อการรักษาระเบียบสังคมของผู้ปกครอง

(*) "… ขงจื่อกล่าวว่า มุ่งศึกษาวิชานอกรีต ย่อมสร้างภัยมหันต์" (คัมภีร์หลุนอวี่: 2/16)
(**) ตีความจาก "หยั่นยงไปเป็นอนุมนตรีของจี้ซื่อ จึงมาถามเรื่องการปกครอง ขงจื่อกล่าวว่า ...รู้เลือกใช้ปราชญ์เมธี หยั่นยงถามว่า จะรู้ได้ไยว่าเป็นปราชญ์เมธีแล้วทำการสนับสนุนล่ะ? ขงจื่อกล่าวว่า จงสนับสนุนบุคคลที่เจ้ารู้จักก่อน ... " (คัมภีร์หลุนอวี่: 13/2)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด เราจะเห็นข้อความบางตอนที่ขงจื่อปฏิเสธที่จะสั่งสอนบุคคลบางจำพวก คือพวกที่ไม่ใฝ่รู้และไม่มีความสามารถในการเล่าเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความตั้งใจของขงจื่อในตอนแรกที่จะให้การศึกษาแก่คนทุกวรรณะและทุกพื้นที่ ขงจื่ออาจเห็นว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นพวกที่ไม่มีประโยชน์ต่อผู้ปกครอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่มีความสามารถที่จะสร้างความวุ่นวายหรือทำลายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมได้นั่นเอง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ลักษณะของบุคคลดังกล่าว จะคล้ายกับบุคคลในวรรณะศูทร รวมถึงบุคคลนอกวรรณะ (จัณฑาล) ซึ่งมิได้อยู่ในกลุ่มทวิชาติ ตามตัวบทในมานวธรรมศาสตร์ ซึ่งจะไม่ได้รับการตระหนักถึง (recognize) ในการให้มีส่วนร่วม และถูกกีดกันออกจากกิจกรรมต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะกิจกรรมที่อาจส่งผลต่ออำนาจทางการปกครอง

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเรื่องการปกครองจากในตัวบทที่ว่า "ฉีจิ่งกงทรงถามขงจื่อเรื่องการปกครอง ขงจื่อกราบทูลว่า "กษัตริย์ให้เป็นดั่งกษัตริย์ ขุนนางให้เป็นดั่งขุนนาง บิดาให้เป็นดั่งบิดา บุตรให้เป็นดั่งบุตร…" (คัมภีร์หลุนอวี่: 12/11)

นัยยะในตัวบทนี้ นอกจากจะหมายความถึงการมุ่งเน้นให้บุคคลทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามความสัมพันธ์ต่างๆ ในสังคมให้เหมาะสมกับนามแล้ว (หรือเป็นการแก้ไขนามให้ถูกต้อง (rectification of names) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของขงจื่อ คือการจัดระเบียบภาษาให้ตรงกับความเป็นจริง และขัดเกลาให้ความจริงสอดคล้องกับข้อกำหนดของนาม) และยังอาจมองได้ว่า เป็นการรักษาความไม่เท่าเทียมทางสถานภาพเอาไว้ ซึ่งความไม่เท่าเทียมดังกล่าว จะแตกต่างไปจากคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ เนื่องจากไม่ได้เป็นความไม่เท่าเทียมในเชิงกดขี่หรือได้เปรียบเสียเปรียบ แต่จะเป็นไปเพื่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์กันได้ง่ายขึ้น

เนื่องเพราะสถานภาพที่สูงกว่า คือผู้ปกครองนั้นก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องดำรงตนอยู่ในคุณธรรม เพื่อชี้นำผู้ใต้ปกครองให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกที่ควร และเมื่อเป็นการใช้อำนาจจริยธรรม ผู้ถูกปกครองก็ควรยอมรับ เพื่อให้ความสัมพันธ์ในสังคมเป็นไปอย่างราบเรียบและสอดคล้องกลมกลืนกัน แต่ถ้าสถานภาพมีความเท่าเทียมกัน ก็อาจจะเกิดสถานการณ์ที่ผู้ถูกปกครองไม่ยอมรับหรือไม่ยอมทำตามแบบอย่างที่ดีของผู้ปกครองก็เป็นได้ เนื่องจากถือว่าตนเองก็มีสิทธิมีเสียงและสถานภาพที่ทัดเทียมกับผู้ปกครอง และเชื่อมั่นว่าการกระทำของตนก็เป็นสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว และไม่จำเป็นต้องทำตามอย่างใครหรือเชื่อฟังใคร ขงจื่ออาจมองว่าเมื่อเกิดสภาพแบบนี้สังคมก็จะเกิดความวุ่นวายในที่สุด

ข้อสรุปจากผลการศึกษา
จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบหาความเป็นผู้ถูกปกครองในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ และคัมภีร์หลุนอวี่ จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างของคัมภีร์ทั้งสองนั้นเริ่มตั้งแต่ระบบความคิดในเรื่องความหมายของอำนาจในสังคมหรือตัวบทที่มีความแตกต่างกัน

- โดยในมานวธรรมศาสตร์สามารถมองเห็นอำนาจอย่างชัดเจน และอำนาจนั้นสามารถจับต้องได้ในรูปของความรู้ กำลัง หรือทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งหากบุคคลใดหรือกลุ่มใดสามารถยึดครองมาเป็นของตนเองและปิดกั้นมิให้คนอื่นเข้ามาแย่งชิงไปได้ บุคคลนั้นๆ ก็จะถือว่าเป็นผู้มีอำนาจหรือเป็นผู้ปกครอง ส่วนกลุ่มบุคคลที่ถูกกีดกันออกจากอำนาจนั้นๆ ก็จะกลายเป็นผู้ถูกปกครองไปโดยปริยาย และจะต้องยอมทำตามผู้ที่ครอบครองอำนาจเอาไว้ ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

- สำหรับในคัมภีร์หลุนอวี่นั้น ไม่ได้มีการกำหนดชนชั้นทางสังคมอย่างชัดเจน และแม้แต่เรื่องความหมายของอำนาจยังไม่มีความชัดเจน ตัวอย่างเช่น ความรู้ เมื่ออยู่ที่คนๆ หนึ่งอาจเป็นอำนาจขึ้นมาได้ แต่เมื่อความรู้ในอย่างเดียวกันไปอยู่ที่อีกคนหนึ่ง ความรู้ดังกล่าวจะไร้ความหมายไปในทันที นอกจากนี้แม้ว่าความรู้นั้นจะอยู่ในคนๆ นี้และเป็นอำนาจ แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวเกิดมีการเปลี่ยนแปลงสถานะของตนเองขึ้นมา ความรู้นั้นๆ อาจจะไร้ความหมายไปก็ได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาสถานะของความรู้ในแต่ละชุดของความสัมพันธ์และบริบทเป็นกรณีไป ความเป็นผู้ถูกปกครองในคัมภีร์หลุนอวี่จึงไม่มีความชัดเจนเหมือนกับในมานวธรรมศาสตร์ โดยจะขึ้นอยู่กับแต่ละโอกาส ซึ่งแสดงว่าความเป็นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในคัมภีร์หลุนอวี่ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่เมื่อบุคคลถูกจัดอยู่ในสถานะใดแล้ว ก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตามสถานะของตนเองมิเช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคมได้

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม

ภาษาไทย
ปรีชา ช้างขวัญยืน (2529). ระบบปรัชญาการเมืองในมานวธรรมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด พนอศิริเพรส.

เสถียร โพธินันทะ. (2512). เมธีตะวันออก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โพธิ์สามต้นการพิมพ์.

สุวรรณา สถาอานันท์. (2543). กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต.
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อมร ทองสุก, แปลและเรียบเรียง. (2549). คัมภีร์หลุนอวี่ (The Analects of Confucius).
พิมพ์ครั้งที่ 1. ปทุมธานี : บริษัท ชุณหวัตร จำกัด.

ภาษาอังกฤษ
Olivelle, Patrick, Translated. (2004). The Law Code of Manu. Oxford : Oxford
University Press.

เว็บไซต์
http://en.wikipedia.org/wiki/Social_power -

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com