1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ชุดความรู้เที่ยงคืน:
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับศาสนา
บทบาทของพระสงฆ์กับการเมือง:
ตามพระธรรมวินัยและประวัติศาสตร์
พระภูริพัฒน์
หอมแก้ว : เขียน
นิสิตมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
บางส่วนของรายงานวิชาสัมมนา "ปัญหาการเมืองไทย" (๔๐๑ ๔๑๐)
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
หมายเหตุ: บทความนี้เดิมชื่อ"พระสงฆ์กับการเมืองไทย"
เขียนขึ้นเพื่อประกอบการศึกษาในรายวิชาสัมมนา "ปัญหาการเมืองไทย"
(ในระดับปริญญาตรี) มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการศึกษา
ค้นคว้าประวัติและบทบาททาง
การเมืองของพระสงฆ์ไทย และเพื่อเข้าใจความเกี่ยวข้องระหว่างศาสนากับรัฐ ในบริบทรัฐศาสตร์การปกครอง
บทความนี้ ประกอบด้วยโครงเรื่องดังนี้
(๑) หน้าที่ของพระสงฆ์
- 1. หน้าที่ในการศึกษาธรรม
- 2. หน้าที่ในการปฏิบัติธรรม
- 3. หน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม
- 4. หน้าที่ในการรักษาธรรม
สรุปหน้าที่ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย
(๒) บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์
- 1. พระพุทธเจ้ากับการเมือง
๐ กรณีห้ามการระงับข้อพิพาทไขน้ำเข้านาของพระญาติทั้ง
2 ฝ่าย
๐ กรณีห้ามการทำสงคราม - กรณีปราบแคว้นวัชชี
- 2. บทบาทพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์ไทย
๐ เจ้าพระฝาง พระมหาเถราจารย์แห่งแผ่นดินสยาม
๐ สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว ต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทย
๐ พระอาจารย์ธรรมโชติ พระมหาเถระแห่งค่ายบ้านบางระจัน
๐ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)
ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไข้ลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๖๗๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๖ มกราคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๐.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ชุดความรู้เที่ยงคืน:
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับศาสนา
บทบาทของพระสงฆ์กับการเมือง:
ตามพระธรรมวินัยและประวัติศาสตร์
พระภูริพัฒน์
หอมแก้ว : เขียน
นิสิตมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
บางส่วนของรายงานวิชาสัมมนา "ปัญหาการเมืองไทย" (๔๐๑ ๔๑๐)
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
บทนำ
ความเข้าใจที่ว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาคือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่แต่ในอารามนั้น ในความเป็นจริง พระสงฆ์มีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์อยู่เสมอ เพราะปัจจัยการดำรงชีพของพระขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ดังพระบาลีที่ว่า "ปรปฏิพทฺธา เม ชีวิกา" แปลว่า การเลี้ยงชีพของเรา (พระ)เนื่องด้วยผู้อื่น ด้วยชีวิตที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นที่เป็นชาวบ้านหรือคฤหัสถ์นี้เอง จึงเป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่า พระสงฆ์ไม่ได้หนีไปจากสังคมแต่ประการใด ดังนั้น บทบาทหน้าที่ที่สำคัญ คือ การตอบแทนแก่ชาวบ้าน ซึ่งการตอบแทนแก่ชาวบ้านนั้น พระสงฆ์จะทำตอบแทนอย่างไร แค่ไหน จึงจะเหมาะสม พอดีและพองาม
ในส่วนของคฤหัสถ์หรือชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับ"การเมือง" หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำให้บ้านเมืองสงบสุขนั้น พระสงฆ์ได้วางตนดำรงสถานะอย่างไรต่อเรื่องดังกล่าว เพราะความหมายหนึ่งที่พระสงฆ์ให้ความสำคัญ คือ การเมือง หมายถึง การจัดการทำให้คนที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เป็นไปอย่างสันติสุข สงบสุข (พุทธทาสภิกขุ, ม.ป.ป.: 6) เมื่อเป็นเช่นนี้ พระสงฆ์ย่อมมีหน้าที่โดยตรงเช่นกันที่จะสอนธรรม แสดงธรรม หรือเผยแผ่ธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สุข สันติสุขแก่ชาวเมือง
ปัจจุบันความหมายของคำว่า "การเมือง" ได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเป็นความหมายในแง่ลบ เป็นเรื่องของอำนาจ กิเลส การแย่งชิง มีเรื่องการเป็นฝักฝ่าย และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ จึงทำให้มองภาพพระสงฆ์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ได้รับการมองไปในทางลบด้วย หรือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในแง่กิจกรรมทางบ้านเมือง เช่น กรณีเจ้าพระฝางในอดีต และพระสงฆ์บางกลุ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยาล่มสลายใหม่ ๆ ได้มีบทบาทในทางบ้านเมืองโดยตรง จึงทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ในแง่ของพระธรรมวินัย ความเหมาะสม หรือแม้กระทั่งการพยายามอาศัยความเป็นสงฆ์เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง เช่น การบวชเพื่อหลบราชภัย การบวชเพื่อแสวงหาช่องโอกาสในการขึ้นสู่อำนาจในทางบ้านเมือง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก็มีตัวอย่างมากมายเช่นกันที่แสดงให้เห็นว่า แม้พระสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็เกี่ยวข้องอย่างน่าชมเชย เช่น กรณีสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว พร้อมพระราชาคณะ คณะสงฆ์ผู้ใหญ่ ถึง 25 รูป ที่เข้าไปแสดงธรรมถึงในพระราชฐานแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อยับยั้งโทษประหารชีวิตแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทันคราวกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาและมังจาชะโรแห่งกรุงหงสาวดี เป็นต้น
ในปัจจุบัน ยังพบเห็นหรือได้ยินเรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ต่อเรื่องการเมืองในแง่ต่าง ๆ เช่น การเทศน์สอนผู้นำทางการเมือง ผู้บริหารบ้านเมือง แม้กระทั่งการใช้วัดเป็นสถานที่เลือกตั้งหรือคัดสรรบุคคลเข้าไปบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย และบางครั้งพระสงฆ์ก็ต้องเป็นผู้กระตุ้นเตือนชักชวนในการสร้างประชาธิปไตย ดังนั้นการที่พระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงอาจจำแนกได้ใน 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
1) พระสงฆ์ได้พยายามแสดงธรรม เสนอธรรมเพื่อความผาสุกสวัสดีของชาวเมือง
2) พระสงฆ์และผู้อาศัยความความเป็นสงฆ์เป็นช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์ในทางการเมือง
เราจะเห็นพระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่มีการเรียกร้องให้มีกระทรวงพระพุทธศาสนา ในที่สุดก็ได้มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จากนั้นเป็นต้นมา ขบวนการเรียกร้องของพระสงฆ์ก็มีให้เห็นมากขึ้น เช่น กลุ่มรัฐสภาวนารามเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล จนถึงปัจจุบันได้มีพระสงฆ์อดอาหารเพื่อเรียกร้องให้บรรจุคำว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ" มีชาวพุทธหลายกลุ่มทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ไทยจึงได้เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางการเมืองทั้งทางโดยตรงและโดยอ้อม และทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
(๑) หน้าที่ของพระสงฆ์
1.1 ความหมายของพระสงฆ์
พระสงฆ์ คือ หมู่สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า. ในทางรัฐศาสตร์ พระสงฆ์หรือองค์การทางศาสนาเป็นกลุ่มทางสังคม
ที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง (รวมด้วย) คือ ให้รัฐบาลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของคณะสงฆ์และมีนโยบายการพัฒนาคณะสงฆ์
/ พระพุทธศาสนา
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องแห่งปัจจุบันสมัยที่ทุกคนควรเข้าไปเกี่ยวข้อง บางคนที่มีความคิดล้ำหน้ามองว่า พระสงฆ์ไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง และการเรียกร้องสิทธิของคณะบุคคลเท่าที่ควรจะเป็น โดยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงคงเหลือบทบาทหรือพันธกิจอยู่เพียง ๒ บ และ ๒ ส คือ บ = บิณฑบาต บ = บังสุกุล และ ส = สังฆทาน และ ส = สวดมนต์ ซึ่งเป็นเรื่องกิจวัตรและกิจกรรมทางพิธีกรรม โดยไม่ได้ใส่ใจต่อทุกขสัจของสังคมรอบด้าน
1.2 หน้าที่ของพระสงฆ์
หน้าที่ของพระสงฆ์ มีทั้งหน้าที่หลักและหน้าที่รอง ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจที่พระสงฆ์ไม่อาจเลี่ยงได้
การจะปฏิบัติกิจใด ๆ ก็ตามต้องไม่ละเลยการประพฤติในส่วนที่เรียกว่า "พรหมจรรย์"
ซึ่งเป็นความประพฤติเพื่อความประเสริฐ เพื่อบรรลุถึงความสิ้นกิเลส โดยประพฤติให้เป็นไปตามพุทธบัญญัติและต้องเอื้อเฟื้อ
ไม่ละเมิดพุทธอาณัติอันเป็นข้อห้ามมิให้ประพฤติ หรือเรียกว่าประพฤติให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย
ซึ่งถือว่าหน้าที่นั้นเป็นหน้าที่หลักของพระสงฆ์ เพราะพระธรรมวินัยนี้เป็นหน้าที่หลักการของพระพุทธศาสนาได้ทั้งหมด
จึงถือได้ว่าการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเป็นหน้าที่แรกของสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นหลักข้อกำกับควบคุมการกระทำหน้าที่อื่น
ๆ ได้ทั้งหมดของพระสงฆ์ ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญนั้นมี 4 ประการ ได้แก่
1. หน้าที่ในการศึกษาธรรม
2. หน้าที่ในการปฏิบัติธรรม
3. หน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม
4. หน้าที่ในการรักษาธรรม
(1) หน้าที่ในการศึกษาธรรม
หน้าที่แรกของสมณะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสมณสูตร มี 3 ประการ ดังพุทธดำรัสที่ว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจของสมณะที่สมณะควรทำ 3 อย่างนี้ 3 อย่างเป็นไฉน ?
คือ การสมาทานอธิศีลสิกขา 1 การสมาทานอธิจิตสิกขา 1 การสมาทานอธิปัญญาสิกขา 1
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเพราะฉะนั้นแหละ ท่านทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา
เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แล"
การศึกษาพระธรรม คือ การศึกษาในการเรื่องอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ศีลจิต (สมาธิ) และปัญญา เป็นสิ่งที่สมณะในพระพุทธศาสนาจะต้องศึกษาให้เคร่งครัดแล้วจึงจะนำไปสู่กระบวนการที่จัดเจน หมายความว่าหน้าที่ศึกษาจะนำไปสู่การกระทำหรือการปฏิบัติที่ถูกต้อง. สิกขา 3 หรือไตรสิกขานั้นหมายถึงข้อที่จะต้องศึกษา ข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับศึกษาคือฝึกหัดอบรมกาย วาจา จิตใจ และปัญญา ให้ยิ่งขึ้นไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน. หน้าที่การศึกษาจะนำไปสู่การกระทำหรือการปฏิบัติที่ถูกต้องสิกขา 3 หรือไตรสิกขานั้น มีความหมายดังนี้
1. อธิศีลสิกขา สิกขา คือ ศีลอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง
2. อธิจิตตสิกขา สิกขา คือ จิตอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดคุณธรรม เช่น สมาธิอย่างสูง
3. อธิปัญญาสิกขา สิกขา คือ ปัญญาอันยิ่ง, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง
(2) หน้าที่ในการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมนั้นถือได้ว่าเป็นรากแก้วชั้นสำคัญในพระพุทธศาสนา ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับผลใด
ๆ เลย แต่การจะเห็นคุณค่าแห่งการปฏิบัติธรรมได้ บุคคลนั้น ๆ ย่อมจะเล็งเห็นประโยชน์
มองเห็นโทษในความประมาทมัวเมาในชีวิตเร่งคิดหาวิธีที่จะบำเพ็ญตนให้ได้รับความสุขสูงสุด
ความสุขสูงสุดที่จะบังเกิดได้ย่อมมาจากการประพฤติปฏิบัติธรรม
ในอรกานุสาสนีสูตร พระพุทธเจ้าได้ทรงยกเรื่องอรกศาสดาขึ้นมาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อไมให้ประมาทมัวเมาในวัย ในชีวิต ให้เร่งรีบขวนขวายปฏิบัติธรรม โดยทรงชี้ให้เห็นว่าชีวิตนี้สั้น ควรรีบทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ในปัจจุบันนี้อย่างมากอยู่ได้ก็เพียงร้อยปี หรืออาจจะน้อยกว่าบ้างมากกว่าบ้าง โดยทรงเตือนว่า "ภิกษุทั้งหลาย กิจใด ศาสดาผู้แสวงประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์เอื้อ เอ็นดู พึงกระทำแก่สาวก กิจนั้น เรากระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลาย จงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย"
การปฏิบัติธรรมมีจุดมุ่งหมาย 2 ประเด็น คือ เพื่อให้ตนหลุดพ้นจากกองกิเลส ตันหา 1 และเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 1 ในประเด็นหลังนั้นพอมองเห็นได้แม้จะไม่มากในสังคม แต่ก็ไม่ใช่ไม่มี ส่วนประเด็นแรกอาจจะถือเป็นประเด็นหลัก เพราะถ้าไม่ปฏิบัติจนสามารถละ ลดกิเลสของตน การที่เราจะอำนวยประโยชน์แก่ผู้อื่นก็เป็นไปได้ยาก การทำให้ตนหลุดพ้นหรือให้ถึงภาวะเกลี้ยงเกลา ไม่มีความทุกข์นั้นมีอยู่
วิธีที่จะทำให้จิตใจของคนแต่ละคนเข้าถึงภาวะเกลี้ยงเกลา ไม่มีความทุกข์เลยนั้นก็ คือ ได้แก่การปฏิบัติที่ใจของตัว คือการจัดการกับจิตใจของตัวเสียใหม่ และพยายามที่จะรู้จักตัวนั่นเอง กล่าวคือ ถ้าถือว่าจิตใจเป็นตัวเราก็พยายามรู้จักตัวเรา หรือถ้าจะถือว่าตัวเราทั้งหมดก็พยายามรู้จักทั้งหมด คือ พยายามรู้จักโลก แล้วปฏิบัติไปให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ หรือกฎความจริงที่เกี่ยวกับตัวเราหรือจิตใจนั้น เมื่อนั้นก็จะถึงภาวะที่จะเป็นความดับทุกข์ได้อย่างเกลี้ยงเกลา
(3) หน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม
ในหน้าที่ที่สาม คือ การเผยแผ่ธรรมนั้น นับว่าเป็นหัวใจของการสืบอายุพระพุทธศาสนาและเป็นการแสดงเจตนาต่อพุทธประสงค์อย่างแท้จริง
ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสฝากวัตถุประสงค์ที่สำคัญให้แก่พระอรหันต์สาวก 60 องค์ว่า
"พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์
บริสุทธิ์.."
หน้าที่หรือว่าบทบาทในการเผยแผ่นี้ เป็นบทบาทของพระสงฆ์ที่สำคัญหากจะเทียบกับบทบาทด้านอื่น บทบาทนี้นับว่าเป็นงานที่คณะสงฆ์จัดทำมากกว่าอย่างอื่น. อนึ่ง ในการเผยแผ่นั้น พระสงฆ์ก็ดำรงตนในบทบาทหน้าที่ดังที่พระพุทธองค์เคยดำรงมาแล้วเพราะการเผยแผ่ธรรมนั้นเป็นการให้ปัญญาแก่พุทธบริษัท จำต้องตั้งตนอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม ผู้แสดงต้องมีภูมิธรรมความรู้ด้วย ดังพุทธพจน์ที่ว่าจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์นั้น คือ การกระทำหน้าที่หลักของพระสงฆ์ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แม้จะต้องจาริกรอนแรมไปยังสถานที่ไกล ๆ ก็ตาม พระสงฆ์ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้ธรรมะ แจกธรรมะแก่ชนทั้งโลก
พระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาล เป็นพระสงฆ์ที่ต้องใช้ความเพียรมาก เพื่อนำธรรมให้เข้าถึงประชาชนหรือนำประชาชนให้เข้าถึงพระศาสนา ซึ่งอาจจะเรียกระยะแรกนี้ว่า ระยะออกไปหาประชาชนและในการประกาศพระศาสนาหรือเผยแผ่พระศาสนานั้น เป็นหลักการสำคัญที่จะต้องระลึกถึงหลักโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ในวันมาฆปุรณมี คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นพุทธโอวาทที่ประมวลสรุปพุทธวาทะ ด้วยข้อความเพียง 3 คาถากึ่ง ฉะนั้น พระวาทนี้จึงนับถือว่าได้แสดงหัวใจพระพุทธศาสนาไว้
โอวาทปาฏิโมกข์ แปลว่า โอวาทหรือคำสอนที่เป็นหลักเป็นประธาน อย่างที่เรียกว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา และถ้ามองในแง่นักเผยแผ่ ก็ถือว่าโอวาทปาฏิโมกข์นี้เป็นหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ ในมหาปทานสูตร กล่าวถึงว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะทรงแสดงในที่ประชุมสาวกครั้งใหญ่ มิใช่เฉพาะพระสมณโคดมของเราทั้งหลายเท่านั้นที่ทรงแสดงใจความตามมหาปทานสูตร ว่าดังนี้
"ขันติ ความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่าพระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย. การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
การไม่กล่าวร้าย 1 การไม่ทำร้าย 1 ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ 1 ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร 1 ที่นอนที่นั่งอันสงัด 1 การประกอบความเพียรในอธิจิต 1 หกอย่างนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"
หน้าที่ของพระสงฆ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามในคาถาในท่อนที่ 3 นั้น เป็นจุดประสงค์คือหน้าที่ของพระสงค์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่พึงดำรงตนอยู่ในหลักปฏิบัตินี้ ในหลักการเผยแผ่ พอจะสรุปได้ดังนี้ คือ
- ไม่โจมตี (ได้แก่ข้อไม่กล่าวร้าย)
- ไม่บีฑา (ได้แก่ข้อไม่ทำร้าย)
- รักษาศีล (ได้แก่ข้อสำรวมในพระปาฏิโมกข์)
- ไม่เห็นแก่กิน (ได้แก่ข้อรู้ประมาณในภัตตาหาร)
- ไม่เห็นแก่นอน (ได้แก่ข้อที่นั่งที่นอนอันสงัด)
- ฝึกสอนใจตนเอง (ได้แก่ข้อประกอบความเพียร ฝึกฝนพัฒนาจิตของตนเอง)
จึงนับว่าเป็นการแสดงปฏิปทาที่จะนำเอาใจความตามท่อนที่ 1 และที่ 2 นั้นไปสั่งสอนผู้อื่นอีกต่อไป พระโอวาทที่เรียกว่า พระโอวาทปาฏิโมกข์ทั้งหมดนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสแกพระอรหันต์ทั้งนั้น จึงมิได้มุ่งที่จะอบรมให้ท่านบรรลุมรรคผล แต่ว่ามุ่งที่จะวางแนวพระพุทธศาสนา
หลักอีกประการหนึ่งซึ่งจะขาดเสียมิได้ในการเผยแผ่ คือ การใคร่ครวญตามหลักพุทธวาจา 6 ประการ ที่ทรงมุ่งประโยชน์เป็นสำคัญ และทรงเลือกกาลเวลาที่จะอำนวยประโยชน์อย่างจริง. ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค นั้นเป็นการเฉลยเหตุที่ได้พระนามว่า "ตถาคต" โดยได้ตรัสกับจุนทะไว้ให้เห็นว่า พระตถาคตนั้นทรงรู้ธรรมทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน ถ้าหากไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็จะไม่ทรงพยากรณ์ กับทั้งในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ก็แสดงให้เห็นถึงว่า พระพุทธองค์ทรงเลือกที่จะตรัสเฉพาะวาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์เท่านั้น อาจสรุปได้ดังนี้
1) คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น-ไม่ตรัส
2) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น- ไม่ตรัส
3) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - เลือกเวลาตรัส
4) คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
5) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
6) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น - เลือกกาลตรัส
ดังนั้น ตถาคตจึงเป็น กาลวาที, สัจจวาที, ภูตวาที, ธรรมวาทีและวินยวาที
เมื่อกล่าวดังนี้แล้วย่อมพิจารณาได้ว่าหัวใจสำคัญในการเผยแผ่พระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาก็เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก และประโยชน์ตามพุทธประสงค์ก็ทรงวางไว้ 3 หลัก เรียกว่า อัตถะ คือ ประโยชน์, จุดหมาย, ผลที่มุ่งหมายปรารถนา ดังนี้
1. ทิฎฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ในชาตินี้)
2. สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ชาติหน้า)
3. ปรมัตถะ (ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน)
ประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายทั้ง 3 ประการนี้ คือ สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้พุทธบริษัท 4 เพื่อที่จะไม่คลาดไม่พลัดตกจากประโยชน์อันพึงจะได้ในพระพุทธศาสนานี้
(4) หน้าที่ในการรักษาธรรม
การรักษาธรรม เป็นหน้าที่ซึ่งจะต้องรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ อีกทั้งเป็นการธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาในหลาย
ๆ วิธีการ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ ความตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนา
การไม่ทำให้พระธรรมวินัยวิปรติแปรปรวนนั่นเอง สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ บัญญัติไว้
เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญและปฏิบัติตาม ไม่เพิกเฉยละเลยทอดทิ้ง ตรงกันข้ามสิ่งใดที่มิได้ทรงแสดงไว้บัญญัติไว้ที่ขัดต่อพระธรรมวินัยก็ไม่ควรกระทำ
เพราะจะนำโทษทุกข์มาให้ ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายไม่ขวนขวายเด็ดขาด ดังพุทธดำรัสว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่แสดงอธรรมว่าธรรม แสดงสิ่งที่มิใช่วินัย ว่าเป็นวินัย ที่วินัยว่าไม่ใช่วินัย พระดำรัสที่มิได้ภาษิตไว้ว่าภาษิตไว้ ที่ภาษิตไว้ว่ามิได้ภาษิตไว้ แสดงกรรมอันตถาคตมิได้สั่งสมไว้ว่าทรงสั่งสม ที่สั่งสมไว้ว่ามิได้ทรงสั่งสม สิ่งที่ตถาคตมิได้ทรงบัญญัติไว้ว่าทรงบัญญัติ ที่บัญญัติไว้ว่ามิได้ทรงบัญญัติ แสดงอาบัติว่าอนาบัติ ที่อนาบัติว่าอาบัติ แสดงลหุกาบัติว่าครุกาบัติ ที่ครุกาบัติว่าลหุกาบัติ แสดงอาบัติที่ชั่วหยาบว่าไม่ชั่วหยาบ ที่ไม่ชั่วหยาบว่าชั่วหยาบ แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่าไม่มีส่วนเหลือ ที่ไม่มีส่วนเหลือว่ามีส่วนเหลือ แสดงอาบัติที่ทำคืนได้ว่าไม่ได้ ที่ไม่ได้ว่าได้ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อไม่เป็นสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนัตถะมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งย่อมประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก และย่อมทำให้สัทธรรมนี้อันตรธาน"
สิ่งสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงมีวัตถุประสงค์
ในการที่ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์
อันไพศาล มิใช่จำเพาะกลุ่มหรือเพื่อพระพุทธองค์เอง ทั้งนี้เพื่อให้พระภิกษุตระหนักไม่เพิกเฉย
หรือละเลย ดังวัตถุประสงค์ที่ว่า
1. เพื่อความตั้งอยู่ด้วยดีแห่งสงฆ์
2. เพื่อความอยู่สำราญแห่งสงฆ์
3. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
4. เพื่อการอยู่สำราญแห่งภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก
5. เพื่อป้องกันอาสวะทั้งหลายอันเป็นไปในปัจจุบัน
6. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันเป็นไปในสัมปรายภพ
7. เพื่อความเลื่อมใสแห่งบุคคลทั้งหลายผู้ยังไม่เลื่อมใส
8. เพื่อความเจริญยิ่งแห่งความเลื่อมใสของบุคคลทั้งหลายผู้เลื่อมใสแล้ว
9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
10.เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย
ในวัตถุประสงค์ทั้ง 10 ข้อนี้ย่อได้ 5 หมวด คือ 15
1) เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวน
ได้แก่ ความในข้อที่ 1 และ 2
2) เพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคล ได้แก่ ความในข้อที่ 3 และ 4
3) เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์เอง ได้แก่ ความในข้อที่ 5 และ 6
4) เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ได้แก่ ความในข้อที่ 7 และ 8
5) เพื่อประโยชน์แก่ตัวพระศาสนา ได้แก่ ความในข้อที่ 9 และ 10
มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดแห่งการคำนึงถึงความดำรงอยู่แห่งพระพุทธศาสนาอยู่เหตุการณ์หนึ่ง คือภายหลังพุทธปรินิพพานไปแล้วเพียง 7 วัน รอยร้าวแห่งสังฆมณฑลได้เริ่มเผยโฉมออกมาอย่างโจ่งแจ้ง โดยที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งผู้บวชเมื่อแก่ นามว่า สุภัททะ ได้กล่าวจ้วงจาบคือ กล่าวตู่หรือกล่าวติเตียนพระธรรมวินัยโดยประการต่าง ๆ และแสดงความดีใจอย่างออกหน้าออกตาในการปรินิพพานของพระพุทธองค์. ใช่ว่าจะมีแต่สุภัททะก็หาไม่ แต่ยังมีภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัตอีกมากที่มีความเห็นเช่นเดียวกับพระสุภัททะ ด้วยวาทะที่ได้กล่าวในท่ามกลางภิกษุทั้งหลายในคราวนั้นว่า
"อย่าอาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นดีแล้ว ด้วยว่าพระมหาสมณะนั้น เบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักกระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่กระทำสิ่งนั้น"
ถ้อยคำของสุภัททะทำให้ท่านมหากัสสปะ สังฆพฤฒาจารย์ คือ พระสงฆ์ผู้อาวุโสที่สุดนั้นมาใคร่ครวญคำนึงด้วยความวิตก และสังเวช พร้อมกับดำริที่จะชำระมลทินเพื่อธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา รักษาพระธรรมไว้ จึงชักชวนพระอรหันต์สาวกทั้งหลายดังนี้ว่า "เอาเถิด ท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนาพระธรรมและวินัยเถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง อวินัยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินัยวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง" หน้าที่ในการธำรงรักษาพระธรรมวินัยจึงเป็นสาระที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ หน้าที่ของพระสงฆ์นับแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา
1.3 สรุปหน้าที่ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย
เมื่อพิจารณาตามความในพระไตรปิฎก พบว่าเครื่องมือที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์แห่งสงฆ์มีอยู่
2 ส่วน
1) หลักพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักใหญ่ เป็นแม่แบบที่พระสงฆ์จะพึงปฎิบัติทั้งในส่วนการศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรม การเผยแผ่ธรรม และการรักษาธรรม
2) หลักจตุปาริสุทธิศีล และหลักการพิจารณาตามเหตุผลตามความเหมาะสมคือ หลักให้พิจารณาโดยเทียบเคียง ตรวจสอบ
(เรียกโดยรวมทั้งสองส่วนนี้ว่าหลักธรรมและหลักศีล)
ถ้าเพ่งในแง่ประโยชน์ส่วนที่ว่าด้วยข้อธรรมทั้งหลายนั้น มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นส่วนใหญ่ คือ เมื่อพระสงฆ์ดำรงชีพด้วยการอาศัยก้อนข้าวชาวบ้านแล้ว พระสงฆ์ย่อมจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านเป็นการตอบแทน ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นแบบอย่าง และเสนอแนะให้แนวทางในการดำเนินชีวิตแก่บุคคล ชุมชน ข้อธรรมจึงเป็นประโยชน์ภายนอก (แก่สังคม)
สำหรับส่วนที่ว่าด้วยข้อศีลทั้งหลายนั้น มุ่งเน้นเพื่อโดยตรงสำหรับฝึกหัดขัดเกลาพระสงฆ์โดยเฉพาะ และเป็นขีดขั้นหรือพรหมแดนที่จะขีดลงไปว่า พระสงฆ์มีกรอบสำหรับความเป็นสงฆ์ซึ่งแตกต่างจากคฤหัสถ์ เพราะตนอยู่ในฐานะพิเศษ ครองศรัทธาของชาวบ้านอยู่ เมื่อประพฤติล่วงศีลก็ทำให้ความเป็นสงฆ์ด่างพร้อย และผิดศีลขั้นสูงสุดคือขาดจากความเป็นสงฆ์ หรือหมดสภาพความเป็นสงฆ์ อยู่ร่วมในสังฆกรรมหรือสังคมเดียวกันไม่ได้ ข้อศีลจึงเป็นประโยชน์ภายใน (แก่ตนเอง)
(๒) บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์
นอกจากพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่หลักทั้ง 4 ประการแล้ว พระสงฆ์ยังมีหน้าที่ที่ต้องคำนึงถึงอุปการคุณของคฤหัสถ์ โดยปฏิบัติต่อคฤหัสถ์ 5 ประการ ได้แก่
1. ห้ามปรามจากความชั่ว
2. (สั่งสอน)ให้ตั้งอยู่ในความดี
3. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม
4. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยฟังไม่เคยรู้
5. บอกทางสวรรค์ให้ (สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุข)
หน้าที่ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักของพระสงฆ์ ส่วนพระสงฆ์กับการเมืองในทางกายกรรมเป็นสิ่งที่พึงระวังในคดีโลก เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้การข้องเกี่ยวกลายเป็นมลทินในพระศาสนาไป แทนที่จะกลายเป็นสิ่งเกื้อกูลกัน. การแสดงบทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ คือให้พระสงฆ์ดำรงอยู่ในหลักพระธรรมวินัยพร้อมๆ กับให้สั่งสอนธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางปกครอง การเป็นอยู่ในสังคมร่วมกันอย่างชอบธรรมและเป็นธรรม มิให้พระสงฆ์ลงมือไปในทางกายกรรม แต่จะเน้นหนักไปในทางวจีกรรม คือการเทศนาสั่งสอนธรรมด้วยมโนกรรม คือ ใจที่ประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดีต่อประชาชน พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่พระสงฆ์ที่แสวงหาอำนาจใด ๆ โดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง เพื่อทำตนให้เป็นใหญ่ในเมือง ตรงกันข้ามพระสงฆ์ต้องมุ่งปฏิบัติเพื่อละ ลด หมดตัณหา มานะ ทิฎฐิ เพียงแต่ดำรงตนเป็นกลางในสังคม นโยบายของผู้มีเรือนกับผู้ไม่มีเรือนนั้นต่างกัน
พระสงฆ์เป็นบุคคลประเภทหนึ่งซึ่งมีบทบาทและหน้าที่จำเพาะในทางการเมือง บทบาทและหน้าที่ทางการเมืองของพระสงฆ์ที่สำคัญก็ คือ การแนะนำสั่งสอนธรรมเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะการแสดงหลักการปกครองที่ดีงามชอบธรรมและเป็นธรรม สอนให้นักการเมืองหรือผู้ปกครองเป็นนักการเมืองหรือผู้ปกครองที่ดีมีคุณธรรม ดำเนินกิจการการเมืองและปกครองโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของผู้อยู่ใต้ปกครอง ความเหมาะสมหรือความสมควรแก่สมณเพศในการแสดงบทบาทดังกล่าวก็คือ การตั้งอยู่ในธรรมของสงฆ์ กล่าวคือมีความเป็นกลางที่จะแสดงธรรมเพื่อมุ่งประโยชน์สุขของประชาชน มิใช่เพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์ส่วนตัว แก่บุคคลกลุ่มคน หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในประวัติศาสตร์ได้มีพระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในทางการเมือง เพื่อให้ความคิดและเป็นสื่อกลางระหว่าง"หลักการ"กับ"วิธีการ"เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข ดังตัวอย่างเหตุการณ์ต่อไปนี้
2.1 พระพุทธเจ้ากับการเมือง
2.1.1 กรณีห้ามการระงับข้อพิพาทไขน้ำเข้านาของพระญาติทั้ง
2 ฝ่าย
พระพุทธเจ้าทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เมื่อทั้ง 2 ฝ่าย มีความตึงเครียดเผชิญหน้า
รอให้มีการปะทุออกมา อันจะก่อให้เกิดความสูญเสียทำลายชีวิตผู้คน กรณีนี้คือเรื่องการห้ามหรือการระงับข้อพิพาทไขน้ำเข้านาของพระญาติทั้ง
2 ฝ่าย คือ ฝ่ายศากยวงศ์ซึ่งเป็นฝ่ายพระบิดา และฝ่ายโกลิยวงศ์ซึ่งเป็นฝ่ายพระมารดา
พระพุทธเจ้าทรงสอบสวนไต่ถามถึงที่มาของเรื่องและทรงให้ข้อคิดแก่บรรดาพระญาติว่า
"มหาบพิตร ทะเลาะด้วยเรื่องอะไรกัน"
" พวกข้าพระองค์ไม่ทราบ พระเจ้าข้า "
" แล้วใครจักทราบเล่า "
บรรดาพระญาติจึงสอบถามไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง แล้วกราบทูลว่า "ทะเลาะกันเพราะน้ำ พระเจ้าข้า"
" น้ำมีราคาเท่าไร มหาบพิตร "
" มีราคาน้อย พระเจ้าข้า "
" กษัตริย์ทั้งหลายมีราคาเท่าไร มหาบพิตร "
" ขึ้นชื่อว่ากษัตริย์ทั้งหลายประเมินค่ามิได้ พระเจ้าข้า "
" การที่พวกท่านทำให้กษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้ให้ฉิบหาย เพราะเหตุแห่งน้ำที่มีค่าเพียงเล็กน้อย สมควรแล้วหรือ"
บรรดาพระญาติยอมรับโดยดุษณีภาพ สุดท้ายพระบรมศาสดาจึงตรัสเตือนพวกพระญาติ ว่า "มหาบพิตร เพราะเหตุไร พวกท่านจึงกระทำกรรมเช่นนี้ เมื่อเราไม่มีอยู่ ในวันนี้ แม่น้ำคือโลหิตจักไหลนอง พวกท่านทำกรรมไม่สมควร เป็นผู้มีเวรด้วยเวร 5 มีความเดือดร้อนเพราะยังเต็มไปด้วยกิเลส มีความขวนขวายแสวงหากามคุณอยู่ แต่เราตถาคตมีนัยตรงกันข้าม"
2.1.2 กรณีห้ามการทำสงคราม
อีกกรณีหนึ่ง พระเจ้าวิฑูฑภะ โอรสพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อได้ครองราชสมบัติแล้ว
ทรงระลึกถึงเวรที่พวกศากยะก่อไว้จึงยกกองทัพไปเพื่อจะล้างแค้นพวกเจ้าศากยะที่ดูหมิ่นตน
พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเสด็จไปประทับ ณ ร่มไม้ใบบางต้นหนึ่งในรัฐสักกะ ดักทางที่กองทัพพระเจ้าวิฑูฑภะจะผ่านไป
เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะเสด็จไปถึงที่นั่น ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ จึงเสด็จเข้าไปถวายอภิวาท
นิมนต์ให้เสด็จไปประทับที่ร่มไม้อีกต้นหนึ่งในรัฐโกศลซึ่งมีใบหนาทึบสนิทดีกว่า
แต่พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า "ช่างเถอะมหาบพิตร ร่มเงาของญาติเย็นสบายดี"
พระเจ้าวิฑูฑภะก็ทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาคุ้มครองพระญาติ จึงถวายบังคมยกกองทัพกลับกรุงสาวัตถี
เมื่อทรงนึกถึงการดูหมิ่นของพวกศากยะขึ้นมาอีก ความแค้นอาฆาตก็พุ่งขึ้นจึงยกกองทัพไปอีกถึง 2 ครั้ง พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปประทับนั่งให้เห็นอย่างนั้น ทำให้พระองค์ต้องยกทัพกลับ ในวาระสุดท้ายพระพุทธเจ้าทรงวางเฉย เพราะทรงเห็นบุพกรรมของพวกศากยะที่ทำไว้หนักนัก เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะยาตราทัพออกไปไม่เห็นพระพุทธเจ้าก็บุกทะลวงเข้าไปจนถึงกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วสั่งให้ฆ่าพวกศากยะตายไปมาก กระทั่งแม้แต่ทารกที่ยังดื่มนมอยู่ก็ไม่ไว้ชีวิต แต่พวกศากยะที่หนีรอดไปได้ด้วยกลอุบายก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย. พระเจ้าวิฑูฑภะเมื่อล้างแค้นได้สมประสงค์แล้วก็ยกทัพกลับไปพักอยู่ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี เผอิญในคืนนั้นฝนตกหนัก จึงเกิดน้ำหลากไหลมาท่วมกองทัพของพระเจ้าวิฑูฑภะจมน้ำตายเสียเป็นจำนวนมาก พระเจ้าวิฑูฑภะเองก็สิ้นพระชนม์ในคราวนี้ด้วย เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะสิ้นพระชนม์แล้ว รัฐโกศลก็ขาดกษัตริย์จึงต้องตกอยู่ในอาณัติของพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งรัฐมคธ
2.1.3 กรณีปราบแคว้นวัชชี
ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไม่นาน พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แห่งแคว้นมคธทรงประสงค์จะเสด็จกรีธาทัพไปตีแคว้นวัชชี
แต่เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้ชัยชนะ พระเจ้าอชาตศัตรูจึงส่งวัสสการพราหมณ์ให้ไปเลียบเคียงถามพระพุทธเจ้าว่า
ควรจะยกทัพไปตีแคว้นวัชชีหรือไม่ เมื่อวัสสกาพราหมณ์ทูลถามปัญหานี้ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสตอบโดยตรง
ถ้าพระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า ควรจะยกทัพไปตีแคว้นวัชชี ชาววัชชีก็ย่อมไม่พอใจ
ถ้าพระพุทธเจ้าตอบว่า ไม่ควรจะยกทัพไปตีแคว้นวัชชี พระเจ้าอชาตศัตรูก็จะไม่พอพระทัย
ขณะที่วัสสการพราหมณ์ทูลถามปัญหาอยู่นั้น พระอานนท์กำลังถวายงานพัดอยู่ พระพุทธเจ้าทรงหันไปถามพระอานนท์ว่า ชาววัชชียังถือปฏิบัติตามวัชชีธรรม 7 ประการที่พระพุทธองค์เคยสอนพวกเขาไว้หรือไม่ ในบรรดาวัชชีธรรมเหล่านั้น ข้อสำคัญก็คือให้หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมกันประชุม พร้อมกันเลิกประชุม พร้อมกันทำกิจที่พึงทำ พระอานนท์กราบทูลว่า ชาววัชชียังถือปฏิบัติตามวัชชีธรรมอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ตราบเท่าที่ชาววัชชียังถือปฏิบัติตามวัชชีธรรมอยู่ก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ไม่มีความเสื่อมเลย
ตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงสนทนากับพระอานนท์นั้น วัสสการพราหมณ์ฟังอยู่ด้วย แม้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตอบคำถามเขาโดยตรง วัสสการพราหมณ์ซึ่งเป็นคนฉลาด จึงจับประเด็นนำไปเล่าถวายพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงสดับแล้วก็ตรัสกับวัสสการพราหมณว่า ยังไม่ใช่เวลาที่จะตีแคว้นวัชชีทั้งนี้เพราะชาววัชชียังสามัคคีกันดีอยู่ พระพุทธเจ้าทรงแก้วิกฤติทางการเมืองระหว่างมคธกับวัชชีได้โดยอุบายโกศล
2.2 บทบาทพระสงฆ์ในประวัติศาสตร์ไทย
พระสงฆ์ของประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศคือพม่าและศรีลังกา เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียกร้องเอกราชจากชาติตะวันตก
จึงทำให้ได้รับสิทธิทางการเมืองบางอย่าง แต่ประเทศไทยไม่ได้มีเหตุการณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ไทยจะพบว่า มีพระภิกษุสงฆ์ที่สำคัญหลายรูป เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง
คือ
1. เจ้าพระฝาง พระมหาเถราจารย์แห่งแผ่นดินสยาม
2. สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว ต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทย
3. พระอาจารย์ธรรมโชติ พระมหาเถระแห่งค่ายบ้านบางระจัน
4. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
2.2.1 เจ้าพระฝาง พระมหาเถราจารย์แห่งแผ่นดินสยาม
ก๊กเจ้าพระฝาง เมืองอุตรดิตถ์เป็นก๊กใหญ่ก๊ก 1 ใน 5 ก๊กที่ตั้งตัวเป็นอิสระ ปกครองกันเองในท้องถิ่น
หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2310 (อีก 4 ก๊กคือ ก๊กเจ้าพิมาย, ก๊กเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช,
ก๊กเจ้าพิษณุโลกและก๊กสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทุกก๊กเหล่านี้มีเจตนาดีที่จะรวมประเทศให้เป็นหนึ่ง
แต่สุดท้ายทุกก๊กถูกปราบโดยก๊กสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
"เจ้าพระฝาง" มีสถานภาพเป็นพระภิกษุสงฆ์ เหตุไฉนจึงสามารถตั้งก๊กได้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร? จากพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัคถเลขา ซึ่งได้บันทึกไว้ว่า "เจ้าพระฝางเป็นพระสังฆราช เมืองสวางคบุรี เดิมชื่อว่า มหาเรือน ชาติภูมิเป็นชาวเหนือ แต่ลงมาเล่าเรียนพระไตรปิฎก ณ กรุงศรีอโยธยา ได้สมณศักดิ์ที่พระพากุลเถร อยู่ ณวัดศรีอโยธยา ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งขึ้นไปเป็นที่พระสังฆราช ณ เมืองสวางคบุรี (จังหวัดอุตรดิตถ์) มีสมัครพรรคพวกผู้คนนับถือมาก ครั้นรู้ว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว จึงซ่องสุมผู้คนเข้าด้วยเป็นหลายเมือง ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า แต่หาสึกเป็นคฤหัสถ์ไม่ คงอยู่ในเพศสมณะ แต่งนุ่งห่มผ้าแดง (ย้อมด้วยไม้ฝาง) คนทั้งปวงเรียกว่าเจ้าพระฝาง. บรรดาเจ้าเมือง กรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปต่างกลัวเกรงนับถืออยู่ในอำนาจทั้งสิ้น ตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปจนถึงเมืองน้ำปาด กระทั่งแดนลาวกับแควแม่น้ำปากพิงนั้น เป็นอาณาเขตข้างเจ้าพระฝาง เจ้าพระฝางแต่งตั้งนายทัพนายกองล้วนแต่เป็นพระสงฆ์ทั้งสิ้น คือ พระครูคิริมานนท์ 1, พระครูเพชรรัตน 1, พระอาจารย์จันทร์ 1, พระอาจารย์ทอง 1, พระอาจารย์เกิด 1, แต่ล้วนเป็นอลัชชีมิได้ละอายแก่บาปทั้งปวง "
พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาได้สร้างภาพเจ้าพระฝางให้เป็นอลัชชี เ พราะยังไม่ลาจากสมณเพศก็ออกรบราฆ่าฟัน ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า " ลุศักราช 1132 ปีขาล โทศก (พ.ศ.2311) ถึง ณ เดือน 6 ฝ่ายเจ้าพระฝางซึ่งเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้น ประพฤติพาลทุจริตศีลกรรมลามก บริโภคสุรา กับทั้งพวกสงฆ์อลัชชี ซึ่งเป็นนายทัพนายกองทั้งปวงนั้น และชวนกันกระทำมนุษวิคหฆาฏกกรรมปาราชิก แล้วยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ หาละจากเพศสมณะไม่ แล้วเกณฑ์กองทัพให้ลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหารและเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหลายตำบล จนถึงเมืองอุทัยธานี เมืองชัยนาท..." ในปลายปี 2311 นั้นเอง กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็สามารถยึดเมืองฝางได้ แม่ทัพนายกองสำคัญที่เคยเป็นพระภิกษุคู่ใจเจ้าพระฝางถูกจับได้เกือบหมด แต่ปรากฏว่า เจ้าพระฝางได้พาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองในเวลากลางคืนไปข้างทิศเหนือ แล้วเรื่องราวของท่านก็ไม่มีใครบันทึกไว้อีกเลยว่าไปอยู่ ณ ที่ใด มรณภาพที่ไหน
2.2.2 สมเด็จพระพนรัตน
วัดป่าแก้ว ต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทย
สมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้วหรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่า วัดใหญ่ไชยมงคลเป็นเจ้าของตำราการสร้างพระกริ่ง
ต้องลงเลขยันต์ในแผ่นนวโลหะ อันจะเป็นชนวนผสมในการหล่อด้วย เลขยันต์ที่นิยมใช้ลงโดยมาก
คือ พระยันต์ 108 และนะปฐมัง 14 นะ ในการสร้างนั้น จะต้องมีพิธีพุทธาภิเษก พิธีโหร
และพิธีพราหมณ์ประกอบ ต่อมา ตำราการสร้างพระกริ่งได้สืบทอดไปถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ฯ, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
วัดบวรนิเวศวิหาร, พระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส และสมเด็จพระสังฆราช
(แพ) ตามลำดับ
เรื่องราวของสมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว ในประเด็นต้นตำหรับพระสงฆ์กับการเมืองไทยนั้น ย้อนไปใน พ.ศ.2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชาและมางจาชะโร แห่งกรุงหงสาวดี ภายหลังชัยชนะในครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้โปรดให้ลูกขุนปรึกษาโทษข้าราชการชั้นแม่ทัพนายกองมีโทษถึงประหารหลายคน หากแต่วันตัดสินพิพากษาให้ลงโทษนั้นเป็นเวลาใกล้กับวันพระ จึงโปรดให้เอาตัวข้าราชการเหล่านั้นไปจองจำไว้ก่อน เมื่อพ้นวันพระไปแล้วจึงให้นำตัวไปประหารชีวิตเสียตามคำลูกขุนพิพากษาโทษ. ในคราวนั้น ได้มีพระมหาเถราจารย์รูปหนึ่งผู้มีปรีชาสามารถ แตกฉานในพระพุทธวจนะ มีวาทะหลักแหลม ได้พาพระราชาคณะ 25 รูป เข้าไปเฝ้าถวายพระพรถามข่าวสงคราม และด้วยวาทะหลักแหลมของท่าน ได้ช่วยให้บรรดาข้าราชการซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว ให้รอดพ้นจากพระราชอาญาโทษได้ พระมหาเถราจารย์ รูปนี้ คือ สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว. ตอนหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา มีดังนี้
"ขณะเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ทำคชสงครามได้ชัยชำนะพระมหาอุปราชาและมางจาชะโรแล้ว บรรดาท้าวพระยามุขมนตรีนายทัพนายกองซ้ายขวาหน้าหลังจึงมาทันเสด็จ ได้เข้ารบพุ่งแทงฟันข้าศึกเป็นสามารถ และมอญพม่าทั้งนั้นก็แตกกระจัดกระจายไปเพราะพระเดชเดชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสให้นายทัพนายกองทั้งปวงยกตามไปจับข้าศึกแล้วเสด็จคืนมายังพลับพลา พระราชทานชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพเป็นเจ้าพระยาปราบหงสา บรรดามุขมนตรีนายกองซึ่งยกตามข้าศึกไปนั้น ได้ฆ่าฟันพม่ามอญโดยทางไปถึงกาญจนบุรี ซากศพเกลื่อนไปแต่ตะพังตรุนั้นประมาณสองหมื่นเศษ จับได้เจ้าเมืองมะล่วนและนายทัพนายกองกับไพร่เป็นอันมาก ได้ช้างใหญ่สูงหกศอกสามร้อย ช้างพลายพังระวางเพรียวห้าร้อย ม้าสองพันเศษ มาถวาย
สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตรัสให้ก่อพระเจดีย์ฐานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ตำบลตะพังตรุ ขณะนั้นโปรดพระราชทานช้าง ๆ หนึ่งกับหมอและควาญให้เจ้าเมืองมะล่วนขึ้นไปแจ้งแก่พระเจ้าหงสาวดี พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็เสด็จคืนเข้าพระนคร แล้วทรงมีพระราชดำรัสว่า เจ้ารามราฆพ ควาญช้างกับขุนศรีคชควาญ ซึ่งได้ผจญข้าศึกจนมีชัยชำนะด้วยพระองค์นั้น ก็ปูนบำเหน็จพระราชทานยศถาศักดิ์เครื่องอุปโภคเสื้อผ้าเงินทอง ฝ่ายนายมหานุภาพ ควาญช้าง หมื่นภักดีศวร ควาญช้าง โดยเสด็จพระราชสงครามจนถึงสิ้นชีวิตในท่ามกลางศึกมีความชอบให้เอาบุตรภรรยามาชุบเลี้ยง พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเงินทองเสื้อผ้าโดยสมควร เสร็จแล้วพระราชดำรัสให้ปรึกษาโทษนายทัพนายกองว่า ข้าศึกยกมาถึงพระนคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ตั้งพระทัยจะรักษาพระพุทธศาสนาและสมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎร มิได้คิดเหนื่อยยากลำบากพระองค์ ทรงพระอุตสาหะเสด็จยกพยุหโยธาทัพออกไปรณรงค์ด้วยข้าศึก แต่นายทัพนายกองกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระราชอาญา มิได้โดยเสด็จพระราชดำเนินให้ทันละพระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ให้เข้าอยู่ท่ามกลางข้าศึก จนได้กระทำยุทธหัตถีมีชัยแก่พระมหาอุปราชาเสร็จ โทษนายทัพนายกองทั้งนี้จะเป็นประการใด
พระมหาราชครูปโรหิตทั้งปวงปรึกษาใส่ด้วยพระอัยยการศึกกับพระราชกฤษฎีกาว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามและเกณฑ์ผู้ใดเข้ากระบวนทัพแล้ว และมิได้โดยเสด็จให้ทันยุทธนาการ ท่านว่าโทษผู้นั้นเป็นอุกฤษฎ์ให้ประหารชีวิตเสียอย่าให้ผู้อื่นดูเยี่ยงอย่าง เอาคำพิพากษากราบทูล มีพระราชดำรัสสั่งให้เอาตามลูกขุนปรึกษา แต่ทว่าบัดนี้จวนวันจาตุททสีปัณณรสีอยู่ ให้เอานายทัพนายกองจำเรือนตรุไว้ก่อนสามวัน พ้นแล้วจึงให้สำเร็จโทษโดยพระอัยยการ
ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม 14 ค่ำ เดือนยี่ (พ.ศ. 2135) สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว และพระราชาคณะยี่สิบห้ารูป ก็เข้ามาถวายพระพรถามข่าวซึ่งเสด็จงานพระราชสงคราม ได้กระทำยุทธหัตถีมีชัยแก่พระมหาอุปราชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็แถลงการณ์ซึ่งปราบปัจจามิตรให้ฟังทุกประการ สมเด็จพระพนรัตนถวายพระพรถามว่า สมเด็จพระบรมบพิตรมีชัยแก่ข้าศึก เหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องราชทัณฑ์เล่า? สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงตรัสบอกว่า นายทัพนายกองเหล่านี้อยู่ในกระบวนทัพโยม มันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม ละให้โยมแต่สองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา มีชัยชำนะแล้วจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากว่าบารมีของโยมหาไม่ แผ่นดินจะเป็นของชาวหงสาวดีเสียแล้ว เพราะเหตุดังนี้ โยมจึงให้ลงโทษโดยพระอัยยการศึก
สมเด็จพระพนรัตน จึงถวายพระพรว่า อาตมภาพพิเคราะห์ข้าราชการเหล่านี้ที่จะไม่กลัวพระราชสมภารเจ้านั้น หามิได้ และเหตุทั้งนี้เห็นจะพรรเอิญเป็น เพื่อจะให้พระเกียรติยศพระราชสมภารเจ้าเป็นมหัศจรรย์เหมือนสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้า เมื่อ (วันจะตรัสรู้พระโพธิญาณ) พระองค์เสด็จเหนืออปราชิตบัลลังก์ ใต้ควงไม้พระมหาโพธิ ณ เพลาสายัณห์ครั้งนั้น เทพยเจ้ามาเฝ้าพร้อมอยู่ทั้งหมื่นจักรวาล พระยาวัสวดีมารยกพลาพลเสนามารมาผจญครั้งนั้น ถ้าได้เทพยเจ้าเป็นบริวารมีชัยแก่พระยามาร ก็หาสู้เป็นมหามหัศจรรย์นักไม่ นี่พรรเอิญให้หมู่อมรอินทร์พรหมทั้งปวงปลาศนาการหนีไปสิ้น ยังแต่พระองค์เดียวอาจสามารถผจญพระยามาราธิราชกับทั้งพลเสนามารให้ปราชัยพ่ายแพ้ได้ สมเด็จพระบรมโลกนารถเจ้า จึงได้พระนามว่า พระพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญดาญาณ เป็นมหามหัศจรรย์ดาลดิเรกไปทั่วอนันตโลกธาตุ เบื้องบนตราบเท่าถึงภวัคคพรหม เบื้องต่ำตลอดถึงอโธภาคอเวจีเป็นที่สุด พิเคราะห์ดูก็เหมือนพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ ถ้าเสด็จพร้อมด้วยเสนางคนิกรโยธาทวยหาญมาก และมีชัยแก่พระมหาอุปราชา ก็จะสู้หาเป็นมหัศจรรย์แผ่พระเกียรติยศปรากฏไปในนานาประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งนั้นไม่ พระราชสมภารเจ้าอย่าทรงพระราชปริวิตกน้อยพระทัยเลย อันเหตุที่เป็นนี้เพื่อเทพยเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์จักสำแดงพระเกียรติยศ ดุจอาตมภาพถวายพระพรเป็นแท้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตนถวายวิสัชนากว้างขวาง ออกพระนามสมเด็จพระบรมอัครโมลีโลกครั้งนั้น ระลึกถึงพระคุณนามอันยิ่งก็ทรงพระปีติโสมนัสตื้นเต็มพระกมลหฤทัยปราโมทย์ ยกพระหัตถ์เหนือพระอุตมางคศิโรตม์นมัสการแย้มพระโอษฐ์ว่า สาธุ สาธุ พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา. สมเด็จพระพนรัตนเห็นว่าพระมหากษัตริย์คลายพระพิโรธแล้ว จึงถวายพระพรว่า อาตมภาพพระราชาคณะทั้งปวงเห็นว่า ข้าราชการซึ่งเป็นโทษเหล่านี้ก็ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้กระทำราชการมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมราชอัยกาและสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และทำราชการมาในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระราชสมภารเจ้าแต่เดิมมาดุจพุทธบริษัทของสมเด็จพระบรมครูก็เหมือนกัน อาตมภาพทั้งปวงขอพระราชทานบิณฑบาตโทษคนเหล่านี้ไว้ครั้งหนึ่งเถิด จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าขอแล้ว โยมก็จะให้ แต่ทว่าจะให้ไปตีเอาเมืองตะนาวศรี (และ) เมืองทวาย แก้ตัวก่อน. สมเด็จพระพนรัตนถวายพระพรว่า การซึ่งจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้นก็สุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสงเคราะห์ ใช่กิจสมณะ แล้วสมเด็จพระพนรัตนและพระราชาคณะทั้งปวงถวายพระพรลาไป. จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสั่งให้ท้าวพระยาพระหัวเมืองมุขมนตรีพ้นโทษ"
2.2.3 พระอาจารย์ธรรมโชติ
พระมหาเถระแห่งค่ายบ้านบางระจัน
ในต้นปีระกา พ.ศ.2308 พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าประสงค์จะตีกรุงศรีอยุธยา จึงให้เนเมียวสีหบดียกกองทัพเข้ามาทางเมืองเชียงใหม่
ลงมาตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านเหนือทางหนึ่ง ให้มังมหานรธายกกองทัพลงมาทางเมืองทวาย
เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทางด้านตะวันตก บรรจบกับกองทัพเนเมียวสีหบดีอีกทางหนึ่ง
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียเอกราชเป็น ครั้งที่ 2 นั้น ได้เกิดวีรกรรมขึ้นที่บ้านบางระจัน
ชาวบ้านเมืองสิงห์ เมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสรรค์ได้รวมตัวกันที่บ้านบางระจัน ต่อสู้กับพม่าอย่างเต็มกำลังความสามารถไม่ให้กรุงศรีอยุธยาแตกได้ถึง
5 เดือน ในประวัติศาสตร์ชาติไทยตอนนี้ ได้กล่าวถึงพระอาจารย์ธรรมโชติ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง
ในยุคนั้นว่า ได้มาเป็นที่พึ่งทางใจบำรุงขวัญและกำลังใจของชาวบ้านที่ค่ายบ้านบางระจัน
พระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นพระภิกษุสมัยอยุธยาตอนปลายที่มีชื่อเสียงทางด้านคาถาอาคม เดิมจำพรรษาที่วัดเขานางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรี ต่อมา เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาและกวาดต้อนผู้คนในละแวกใกล้เคียงนั้น คนไทยกลุ่มหนึ่งได้รวบรวมสมัครพรรคพวกมารวมกลุ่มกันที่บ้านบางระจัน แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ตั้งเป็นค่ายไว้คอยต่อสู้พม่าและได้นิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติจากวัดเขนางบวช มาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้นซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในค่าย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้านและให้ช่วยคุ้มครองด้วยการลงผ้าประเจียดและตะกรุด พิศมร แจกจ่ายแก่ชาวบ้าน ผู้นำชาวบ้านค่ายบางระจันที่สำคัญได้แก่ ขุนสรรค์ พันเรืองกำนัน นายทองเหม็น นายจันทร์หนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง นายดอก และนายทองแก้ว ผู้นำเหล่านี้และชาวบ้านค่ายบางระจันได้รวมใจกันต่อสู้กับพม่าถึง 8 ครั้ง ในเวลา 5 เดือน อย่างองอาจกล้าหาญ แต่ในที่สุดค่ายบางระจันก็แตก เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ อัฏศก ตรง กับ พ.ศ. 2310
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ"ไทยรบพม่า" ตอนหนึ่งว่า
"เมื่อเดือน 3 ปีระกา เนเมียวสีหบดีให้พวกพม่ากองหนึ่งไปเที่ยวค้นทรัพย์จับผู้คนทางเมืองวิเศษไชยชาญ พม่าบังคับราษฎรที่ยอมอยู่ในอำนาจให้นำไปเที่ยวค้นหาทรัพย์ ภายหลังพม่ารู้ว่าใครมีลูกสาวจะบังคับเรียกเอาลูกสาวด้วย พวกราษฎรก็พากันโกรธ จึงคิดจะแก้แค้นพม่า เข้ากันทั้งพวกที่ไปยอมอยู่กับพม่าแพวกที่ยังหลบหลีกซุ่มซ่อนอยู่ มีตัวหัวหน้า 6 คน ชื่อ นายแท่น, นายโชติ, นายอิน, นายเมือง, ทั้ง 4 คนนี้เป็นชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์ นายดอก บ้านกรับ, นายทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล, ทั้ง 2 คนนี้เป็นชาวเมืองวิเศษไชยชาญ นัดแนะกันลวงพม่าให้ไปค้นลูกสาวชาวบ้านที่บ้านป่าแห่งหนึ่ง แล้วกลุ้มรุมกันฆ่าพม่าที่ไปตายหมดทั้ง 20 คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบ้านบางระจัน
ด้วยเวลานั้น ราษฎรชาวบ้านวิเศษไชยชาญและเมืองสรรค์หลบหนีพม่าไปอาศัยอยู่ที่บ้านบางระจันมากด้วยกัน เพราะบ้านบางระจันมีเสบียงอาหารบริบูรณ์ แต่เป็นบ้านดอนอยู่ที่พรมแดนเมืองวิเศษไชยชาญกับเมืองสุพรรณและเมืองสิงห์ต่อกัน ข้าศึกจะไปถึงได้ยาก พวกที่หนีไปทีหลังไปนิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช แขวงเมืองสุพรรณ ซึ่งพวกชาวบ้านนับถือกันว่าเป็นผู้รู้วิทยาคุณ ให้มาช่วยคุ้มครองที่วัดโพธิ์เก้าต้นในบ้านบางระจันด้วย แล้วชักชวนกันตั้งซ่องต่อสู้พม่า พวกราษฎรก็เห็นชอบพร้อมกัน จึงรวบรวมกำลังได้ชายฉกรรจ์กว่า 400 คน มีตัวหัวหน้าอีก 5 คน คือ ขุนสรรค์, พันเรืองกำนัน, นายทองเหม็น, นายจันทร์หนวดเขี้ยว, นายทองแสงใหญ่, ช่วยกันตั้งค่ายขึ้นวงรอบบ้านบางระจันเป็น 2 ค่าย แล้วจัดกันเป็นหมวดหมู่เตรียมรักษาหน้าที่พร้อมด้วยเครื่องศัตราวุธที่หาได้ในตำบลนั้น แล้ววางกองสอดแหนมคอยสืบสวนพม่าที่จะติดดามไปมิได้ประมาท
ฝ่ายพม่าที่เมืองวิเศษไชยชาญ รู้ว่าพวกไทยที่ฆ่าพม่าหนีไปอยู่ที่บ้านบางระจัน ก็ยกกันไปประมาณ 100 คน หมายว่าจะไปจับพวกที่หนีนั้น พวกชาวบ้านบางระจันรู้ความก็เตรียมรักษาค่าย แล้วจัดกันเป็นกองรบขึ้นกองหนึ่ง ให้นายแท่นเป็นนายใหญ่ พอพม่ายกไปถึงคลองบางระจันยังหยุดพักอยู่ข้างฝั่งใต้ นายแท่นก็คุมพวกกองรบ 200 คนข้ามคลองมา พอถึงก็ตรูกันเข้าไล่ฟันแทงพม่า ๆ ไม่ทันรู้ตัวยิงปืนได้นัดเดียว ไทยก็เข้ากลุ้มรุมแทงฟันกระชั้นถึงตัว ฆ่าพม่าตายเกือบหมด เหลือแต่ตัวนายควบม้าหนีกลับมาได้สักสองสามคนเท่านั้น พวกชาวบ้านบางระจันเอาชัยชนะพม่าได้ก็ดีใจ
ครั้นกิตติศัพท์รู้กันแพร่หลายว่า พวกชาวบ้านบางระจันรบชนะพม่า พวกราษฎรที่แตกฉานซุ่มซ่อนอยู่ตามแขวงหัวเมืองที่ใกล้เคียงก็พากันมาเข้าซ่องบ้านบางระจันมากขึ้นทุกวัน จนรวมได้กำลังตั้งพัน พวกหัวหน้าก็จัดเป็นหมวดกองควบคุมกันอย่างกองทัพ ยังขาดอยู่แต่ปืนมีน้อยจำต้องรบพุ่งข้าศึกแต่ด้วยอาวุธสั้นเป็นพื้น ถึงกระนั้น พวกราษฎรนับถือวิทยาคมของพระอาจารย์ธรรมโชติ ๆ ลงผ้าประเจียดและตะกรุดพิศมรแจกจ่ายให้ทั่วกัน ต่างก็มีใจกล้าหาญจึงเกิดกำลังต่อสู้พม่าขึ้นทางหัวเมืองด้วยประการฉะนี้"
พม่าพยายามปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจัน มาตั้งแต่เดือน 5 ปีระกา จนถึงเดือน 7 ปีจอ พ.ศ. 2309 ให้กองทัพยกไปถึง 7 ครั้งก็แพ้ไทยมาทุกที เนเมียวสีหบดีก็ร้อนใจ ด้วยสังเกตเห็นพวกชาวบ้านบางระจันมีกำลังมากขึ้นทุกที เกรงจะยกเป็นทัพใหญ่ลงมาตีกระหนาบจะหาใครอาสาคุมพลไปปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจันอีก พวกนายทัพนายกองพม่าก็พากันครั่นคร้ามเสียโดยมาก ขณะนั้นมีมอญคนหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาช้านานแล้วไปฝากตัวอยู่กับพม่า ได้ไปช่วยพม่ารบพุ่งแข็งแรง จนเนเมียวสีหบดีตั้งให้เป็นตำแหน่งสุกี้หรือพระนายกอง เข้าไปรับอาสาจะตีค่ายบางระจันให้แตกจนได้ เนเมียวสีหบดีจึงเกณฑ์กองทัพรวมทั้งพม่ามอญให้สุกี้คุมไปรบชาวบ้านบางระจันเป็นครั้งที่ 8
ฝ่ายสุกี้ได้คุ้นเคยมากับไทย รู้ว่าไทยใจกล้า ถ้ารบพุ่งในที่แจ้งสู้ไทยไม่ได้ อีกประการหนึ่ง หนทางที่จะยกไปบ้านบางระจันเป็นป่าเปลี่ยว ฝ่ายไทยชำนาญทางอาจจะซุ่มซ่อนถ่ายเทในกระบวนรบเอาชัยชนะพม่ามาได้หลายคราว สุกี้ระมัดระวังตั้งแต่แรกยกไปไปถึงไหนก็ตั้งค่ายที่พักเป็นค่ายมั่นทุกแห่ง ค่อย ๆ ยกไปช้า ๆ ไม่เร่งร้อน ครึ่งเดือนจึงยกไปถึงเขตบ้านบางระจัน ครั้นพวกไทยยกออกมา สุกี้ก็รบสู้อยู่แต่ในค่าย พวกชาวบ้านบางรันตีค่ายสุกี้หลายครั้งก็ตีไม่ได้ ด้วยค่ายตั้งมั่นคง ไม่มีปืนใหญ่จะยิงทำลายค่าย ไปตีทีไรก็ถูกพม่ายิงเจ็บป่วยล้มตายเปลืองลงไปทุกทีจนมิรู้ที่จะทำอย่างไร? วันหนึ่งนายทองเหม็นกำลังเมาสุรานึกรำคาญขึ้นมาก็ขึ้นขี่กระบือ พาพวกทหารกองหนึ่งตรงตรากเข้าไปรื้อแย่งค่ายพม่า พม่าเห็นไทยไปน้อยก็ออกต่อรบ นายทองเหม็นขับกระบือนำพลไล่ถลำเข้าไปกลางพวกข้าศึก ถูกพม่าทุบตีตาย พวกไพร่พลก็แตกหนีกลับมา เป็นครั้งแรกที่พวกชาวบ้านบางระจันแพ้พม่า
หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เครื่องรางของขลังที่พระอาจารย์ธรรมโชติได้มอบให้แล้วเสื่อมพลานุภาพลงไว้ ดังนี้ "ครั้นถึง ณ วันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ อัฐศก พม่าก็ยกเข้าตีค่ายใหญ่บ้านบางระจันแตก ฆ่าคนเสียเป็นอันมากที่จับเป็นไปได้นั้นก็มาก บรรดาครอบครัวชายหญิงเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเหลือตายอยู่นั้นให้กวาดเอาไปสิ้น แล้วเลิกทัพกลับไปยังค่ายพม่า ตั้งแต่รบกันมาห้าเดือนจนเสียค่ายนั้น ไทยตายประมาณพันเศษ พม่าตายประมาณสามพันเศษ และพระอาจารย์ธรรมโชตินั้นกระทำสายสิญจน์มงคลประเจียดตะกรุดต่าง ๆ แจกให้คนทั้งปวง. แต่แรกนั้น มีคุณอยู่คงแคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่ ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมากสำส่อน ที่นับถือแท้บ้าง ไม่แท้บ้าง ก็เสื่อมตบะเดชะลง ที่อยู่คงบ้าง ที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง และตัวพระอาจารย์นั้น ที่ว่าตายอยู่ในค่ายก็มี ที่ว่าหายสูญไปก็มี ความหาลงเป็นแน่ไม่"
2.2.4 สมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พฺรหฺมรํสี)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เกรงว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ร.4) จะทรงหมกมุ่นในเรื่องมาตุคาม จึงได้ทำสัญลักษณ์เตือนสติ มีเรื่องย่อว่า
สมัยนั้นมีข้าราชบริพารนิยมเอาบุตรหลานทั้งชายหญิงเข้ามาถวายตัวรับใช้ในพระราชวังมาก
ผู้ชายก็ไปเป็นมหาดเล็ก สำหรับผู้หญิงก็ต้องไปเป็นพระสนม เมื่อพระสนมมีมาก พระเจ้าอยู่หัวก็ต้องทรงดูแลใส่พระทัยมากไปด้วย.
คราวนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นห่วงกลัวว่า พระเจ้าอยู่หัวจะทรงหมกมุ่นในเรื่องมาตุคามมาก
จนหลงลืมราชการบ้านเมืองไป เวลากลางวันแสก ๆ จึงได้จุดไต้เข้าไปในพระราชวัง พวกข้าราชบริพารพบท่านเข้า
จึงได้นำความขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบ พระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จออกมาที่พระลานหน้าพระราชวังแล้วก็ตรัสกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า
ขรัวโต รู้แล้วล่ะ! "เออ ในวังนี้ไม่มืดมนนักหรอก กลับไปเถอะ"
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
หน้าที่ของพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักของพระสงฆ์ ส่วนพระสงฆ์กับการเมืองในทางกายกรรมนั้นเป็นสิ่งที่พึงระวังในคดีโลก เพราะมิเช่นนั้นจะทำให้การข้องเกี่ยวกลายเป็นมลทินในพระศาสนาไป แทนที่จะกลายเป็นสิ่งเกื้อกูลกัน. การแสดงบทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ คือให้พระสงฆ์ดำรงอยู่ในหลักพระธรรมวินัยพร้อมๆ กับให้สั่งสอนธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการปกครอง การเป็นอยู่ในสังคมร่วมกันอย่างชอบธรรมและเป็นธรรม มิให้พระสงฆ์ลงมือไปในทางกายกรรม แต่จะเน้นหนักไปในทางด้านวจีกรรม คือการเทศนาสั่งสอนธรรมด้วยมโนกรรม คือ ใจที่ประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดีต่อประชาชน พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่พระสงฆ์ที่แสวงหาอำนาจใด ๆ โดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง