1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ความรู้เชิงประวัติศาสตร์
รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์
ปราสาทพระวิหารเชิงวิพากษ์ แนวพินิจศาลปกครองไทย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
รวบรวม
เพื่อความเข้าใจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ไทย
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ตลอดเดือนที่ผ่านมา (มิถุนายน
๒๕๕๑) ข่าวเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร กับกระแสชาตินิยม
ได้ถูกปลุกระดมมาโดยตลอดผ่านเวทีพันธมิตรฯ และบนหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ สำหรับบนหน้า
เว็บเพจนี้สนใจในประเด็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องดงกล่าว และประเด็นเชิงชาติพันธุ์
รวมถึงแนวพินิจศาลปกครองไทยต่อกรณีแถลงการณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา รวมทั้งบทความ
เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับกรณีอำนาจศาลฯ ซึ่งกองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รวบรวมขึ้นเพื่อประโยชน์
ทางวิชาการนิติศาสตร์ โดยบทความที่นำเสนอี้ได้ลำดับประเด็นดังต่อไปนี้...
๑. ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม
๒. ไทย, กัมพูชา มีพัฒนาการร่วมกัน แล้วมีบรรพชนร่วมกันในสุวรรณภูมิ
๓. ห้าอาจารย์นิติาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยคำสั่งศาลปกครองกรณีปราสาทพระวิหาร
๔. บทวิเคราะห์ทางวิชานิติศาสตร์ ต่อคำสั่งศาลปกครองกลางกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว
ฯ ในคดีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๖๐๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๐๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๔.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ความรู้เชิงประวัติศาสตร์
รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์
ปราสาทพระวิหารเชิงวิพากษ์ แนวพินิจศาลปกครองไทย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
รวบรวม
เพื่อความเข้าใจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ไทย
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
๑. ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม
๒. ไทย, กัมพูชา มีพัฒนาการร่วมกัน แล้วมีบรรพชนร่วมกันในสุวรรณภูมิ
๓. ห้าอาจารย์นิติาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยคำสั่งศาลปกครองกรณีปราสาทพระวิหาร
๔. บทวิเคราะห์ทางวิชานิติศาสตร์ ต่อคำสั่งศาลปกครองกลางกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ฯ ในคดีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา
๑. ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ท่าพระจันทร์ จังหวัดพระนคร สยามประเทศ(ไทย)
20 มิถุนายน 2551
เรื่อง "ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม"
ถึง นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกัลยาณมิตร
จาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ "ระบอบทักษิณ" เป็นปัญหาของการเมืองภายในของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจที่มาและที่ไปของเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(1) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์แผลเก่า" ระหว่าง "ชาติไทย" กับ "ชาติ กัมพูชา" ระหว่าง "ลัทธิชาตินิยมไทย" และ "ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา" แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้ ในด้านของสยามประเทศ(ไทย) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "การเมือง" และ "ลัทธิชาตินิยม" ในสกุลของ "อำมาตยาเสนาธิปไตย" ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำสมัย "สงครามเย็น" ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และก็ถูกสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และบรรดานายพลและอำมาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆมา)
(2) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม "บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ" ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง "ปราสาท" ด้วยอิฐและไม้ ความสามารถและความยิ่งใหญ่ของขะแมร์กัมพูชา เทียบได้กับชมพูทวีป กรีก และอียิปต์ สุดยอดของขะแมร์กัมพูชา คือ Angkor หรือ "ศรียโสธรปุระ-นครวัด-นครธม"
ขะแมร์กัมพูชา ก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย
กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่
1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่
2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่
12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)
"ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ "ศรีศิขเรศร"
เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก
("พนมดงแร็ก" ในภาษาขะแมร์ แปลว่าภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า
500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ใน (เขต) จังหวัด
"เปรียะวิเฮียร" (Preah Vihear) ของกัมพูชา
(3)
"ปราสาทเขาพระวิหาร" น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974
(ค.ศ. 1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา "เสียกรุง"
ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก
อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ และ "หนีเสือไปปะจระเข้" คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขง
แต่ประวัติศาสตร์โบราณเรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีในตำราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ
ของไทย (หรือของเวียดนาม) ดังนั้นคนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ
"เสียกรุงศรีอยุธยา" แก่พม่า (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ
"เสียกรุงศรียโสธรปุระ" (พ.ศ. 1974) ของกัมพูชา
ทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง "ปราสาทเขาพระวิหาร"
ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม
ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น "อาณานิคม" ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ
"สยาม" สมัย ร.ศ. 112 ถึงขนาดใช้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด
และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี
(4) จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง "ไกลบ้าน") จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัด นครธม หรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก "จันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย)" กลับคืนมา (ครบรอบ 101 ปีในปี 2551 นี้)
เมื่อถึงตอนนี้นั่นแหละที่เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเรา มีพรมแดนและเส้นเขตแดนติดกัมพูชาและลาวอย่างที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน และตัวปราสาทเขาพระวิหาร ก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร. กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย "รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม" ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา "เอกราชและอธิปไตย" ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้
และดังนั้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง "อภิรัฐมนตรี" ในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร "ปราสาทเขาพระวิหาร" ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส (และนี่ ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ. วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนแอข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิถุนายน 2505)
(5) กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ "ราชาธิปไตย" ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นครุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง (ก่อนครั้งที่ 3 ของการ "โค่นรัฐบาลสมัคร" ในสมัยนี้) คือ
- ครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ปีกขวาของคณะราษฎร) และ
- ครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็น (ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อต้านนโยบายเป็นกลางของกัมพูชาสมัยพระเจ้านโรดม สีหนุ)
ในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ "คณะราษฎร" ยึดอำนาจได้แล้วแม้จะโดยปราศจากความรุนแรงและนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด "กบฏบวรเดช" พ.ศ. 2476 (ที่นำด้วยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหมของรัชกาลที่ 7 และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ ผู้เป็นตาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์) เกิดการนองเลือดเป็น "สงครามกลางเมือง" และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์
ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" ปลุกระดมวาทกรรม "การเสียดินแดน 13 ครั้ง" ให้เกิดความ "รักชาติ" ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" (Siam เป็น Thailand แล้วเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรให้เป็น "ไทยๆ" ซึ่งรวมทั้ง-พระไทยเทวาธิราช -ธนาคารไทยพาณิชย์ -ปูนซิเมนต์ไทย) รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เดินขบวนเรียกร้องดินแดน "มณฑลบูรพา" และ "ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง"
จนในที่สุดก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง "กองกำลังบูรพา" ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น "มหามิตรใหม่" เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ย ถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ "ไทย" สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475) และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ ว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี (จังหวัดนี้อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ คือ จังหวัดลานช้าง คำว่า "ลาน" ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้โท)
และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอำมาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 (เราไม่ทราบได้ว่าในตอนนั้น ฝรั่งเศสในอินโดจีนจะทราบเรื่องนี้ หรือประท้วงเรื่องนี้หรือไม่)
ในสมัยดังกล่าวนี้ ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า "ได้ปราสาทเขาพระวิหาร" มา ดังหลักฐานในหนังสือ "ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน" ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า "ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ"
(6) สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย "มหามิตรญี่ปุ่น" ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า "ไทย" จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ "ปรับ" และเอาคืน. โชคดีของสยามประเทศ(ไทย) (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษกลับเป็น Siam ได้ชั่วคราว) ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐฯ สนับสนุน และมีทั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ "เจ๊า" กับ "เสมอตัว" ไม่ต้องถูกปรับมากมายหรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี
แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงครามยึดครองและรับมอบมา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (ที่เคยถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ อย่างสวยหรูชั่วคราวว่า "สัฐมาลัย" คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์)
แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นเองที่ระเบิดเวลา "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยู่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497 (1954) กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆไป
(7) ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง "กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช" และ "นักราชาชาตินิยม" ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 (1959). รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน "รักชาติ" บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (เข้าใจว่าเมื่อจบคดีอาจจะมีเงินหลงเหลืออยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดประมาณ 3 ล้านบาท ค่าของเงินในสมัยนั้น เทียบได้กับก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ท่าพระจันทร์ตอนนั้น ชามละ 3 บาท (ตอนนี้ 30 บาท) ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาทราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)
ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 (1962) ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ศาลโลกครั้งนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 นาย จาก 12 ประเทศ 9 ประเทศที่ออกเสียงให้กัมพูชาชนะคดี คือ โปแลนด์, ปานามา, ฝรั่งเศส, สหสาธารณรัฐอาหรับ, อังกฤษ, สหภาพโซเวียต, ญี่ปุ่น, เปรู, และอิตาลี
ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่ออกเสียงให้ไทย คือ อาร์เจนตินา, จีน, ออสเตรเลีย, น่าสังเกตว่าอาร์เจนตินา คือ ประเทศที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกเกมคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ส่งไปเป็นทูต (ลี้ภัยการเมือง) และมีส่วนวิ่งเต้นให้อาร์เจนตินาออกเสียงให้ฝ่ายไทย ส่วนจีนนั้นคือ จีนคณะชาติ หรือไต้หวันของนายพลเจียงไคเช็ค หาใช่จีนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงไม่ ดังนั้น ก็ต้องออกเสียงอยู่ในฝ่ายค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น
(8) ว่าไปแล้วรัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ
และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ ซึ่งทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่
5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส
หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าว
รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยาย
โดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือ
"กฎหมายปิดปาก" ซึ่งไทยก็ต้องแพ้คดี นั่นเอง
(โปรดดูสรุปย่อคำพิพากษาของศาลโลกเป็นภาษาอังกฤษได้จาก
http://www.icj-cij.org/docket/files/45/12821.pdf)
กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์ ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำ นั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน"
ขอกล่าวขยายความไว้ตรงนี้ว่าวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน" ถูกสร้างและ "ถูกผลิตซ้ำ" มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เริ่มด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ว่าเขาและปราสาทพระวิหารเป็น "ของไทย" หรือขยายความการตีความประวัติศาสตร์ ให้ไทยมีความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารยิ่งขึ้น มีการเสนอความคิดว่า "ขอมไม่ใช่เขมร" ดังนั้น เมื่อ "ขอม" มิได้เป็นบรรพบุรุษของเขมรหรือขะแมร์กัมพูชา ประเทศนั้นก็ไม่ควรมีสิทธิจะครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร
วิธีการตีความประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกว่าเป็น "ของไทย" แบบนี้ จะพบในงานเขียนมากมายของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ปรีดา ศรีชลาลัย, น. ณ ปากน้ำ, พลูหลวง รวมทั้งของบุคคลสำคัญที่มีงานเขียนเชิงโฆษณาชวนเชื่อ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" เช่น "นายหนหวย" เป็นต้น และยังถูกถ่ายทอดต่อมาในวงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของหลายสถาบัน รวมทั้งปรากฏอยู่เป็นประจำในงานสื่อสารมวลชน นสพ. รายวัน รายการวิทยุและทีวีโดยทั่วๆไปอีกด้วย
(9) สรุป เราจะเห็นได้ว่าวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน" นั้นถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก ดังนั้นประเด็นนี้จึงกลายเป็น "ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน" จุดปุ๊บติดปั๊บขึ้นมาทันที. "5 พันธมิตรฯ" ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นำเอาเวอร์ชั่นของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" มาคลุกผสมกับ " "ราชาชาตินิยม" ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลสมัคร (ที่เป็นนอมินีทั้งของทักษิณ และเป็นนอมินีของอีกหลายๆ ฝ่ายหลายๆ สถาบัน ที่เรามักจะคิดไม่ถึงหรือมองข้ามไป) ก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบ และความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการกับปัญหากรณีเกี่ยวกับเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร
ดังนั้น ในเมื่อเขาพระวิหารได้ถูกทำให้กลายเป็นการเมืองร้อนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล คำถามของเราในที่นี้ คือ ในแง่ของการเมืองภายใน -รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่ -รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่ -พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย -จะเกิดการนองเลือดหรือไม่ -ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจอีกหรือไม่ หรือจะ "เกี้ยเซี้ย" รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงแค่สีเหลือง กับสีแดง
คนไทยได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งที่วิปโยคและปลื้มปิติกันมาแล้วเป็นเวลากว่า 70 ปี ทั้งการปฏิวัติ 2475, ทั้งกบฏบวรเดช 2476, ทั้งรัฐประหาร 2490, ทั้งปฏิวัติ 2500-2501, ทั้งการลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516, ทั้งการรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519, ทั้งพฤษภาเลือด (ไม่ใช่ทมิฬ) 2535, และท้ายสุดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549. ประสบการณ์และเหตุการณ์ดังกล่าวพอจะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนได้หรือไม่ หรือจะต้องรอให้สึนามิทางการเมืองถล่มทับสยามประเทศ(ไทย)ของเราให้ย่อยยับลงไป
ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหาร จะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชาหรือไม่ รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูตหรือไม่ จะมีการปิดการค้าชายแดนหรือไม่ จะกลายเป็นประเด็นสาดโคลนการเมืองภายในของกัมพูชา (ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฏานี้) หรือไม่. หรือว่าทั้งไทยกับกัมพูชา จะตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กม. เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน จะตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกันบริหารจัดการและ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต้ คนกำหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลำ คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน ฯลฯ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นี้
คำตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ
๒. ไทย, กัมพูชา มีพัฒนาการร่วมกัน แล้วมีบรรพชนร่วมกันในสุวรรณภูมิ
สุจิตต์ วงษ์เทศ : คอลัมน์ สยามประเทศไทย
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11066
ปราสาทพระวิหาร จะได้รับยกย่องเป็น "มรดกโลก" หรือไม่? ไม่ใช่เรื่องสำคัญขณะนี้ เพราะถึงอย่างไรในอนาคตต้องมีค่าเป็น "มรดกโลก" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่จะช้าหรือเร็ว ถ้าไทยกับกัมพูชาตกลงผลประโยชน์กันได้ดีเรื่องทั้งหลายก็เร็ว ถ้าไม่สมานฉันท์ก็ช้า แต่เรื่องสำคัญขณะนี้คือ เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ ที่ไม่มีสถาบันใดเอาใจใส่อย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.2505 ถึงปัจจุบัน (มีแต่สำนักพิมพ์เมืองโบราณเคยพิมพ์เผยแพร่) มีอย่างน้อย 2 ด้าน คือ
1. ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม จนคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกตัดสินให้ตัวปราสาทเป็นสมบัติของเขมร แต่ไทยสงวนสิทธิประท้วงคำตัดสินอย่างไม่ได้กำหนดเวลา
2. ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีสุวรรณภูมิ ทั้งมอญ-เขมร, และไทย-ลาว ล้วนมีบรรพชนร่วมกันราว 3,000 ปีมาแล้ว จึงเป็นเจ้าของ "วัฒนธรรมสุวรรณภูมิ" ร่วมกัน อันมีปราสาทต่างๆ รวมทั้งปราสาทพระวิหาร เป็นต้น แต่ต่อมาแยกกันอยู่เป็นประเทศคือ กัมพูชา, ลาว, ไทย ฯลฯ แล้วถูกเจ้าอาณานิคม "ยุให้รำ ตำให้รั่ว" เลยทะเลาะเบาะแว้งกันสืบจนทุกวันนี้ ดังกรณีปราสาทพระวิหารเป็นพยาน แล้วยังมีปราสาทอื่นๆ รอทะเลาะต่อไปอีกหลายแห่ง
"สื่อ" ของไทยควรถือโอกาสอันงดงามนี้เผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีสุวรรณภูมิ ว่ามีพัฒนาการร่วมกันมาอย่างแยกออกจากกันมิได้ เช่น บรรพชนของกัมพูชากับไทยเป็นพวกเดียวกันตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว มีพยานคือภาษา, ประเพณีเก็บศพทำศพอย่างใส่ "โกศ" , อาหารการกิน มีข้าวและปลาแดก-ปลาร้า-ปลาฮอก อย่างเดียวกัน
โจงกระเบน เป็นคำในตระกูลมอญ-เขมร แล้วไทย-ลาว รับจาก มอญ-เขมร มาใช้เรียกการนุ่งผ้ามีหางเหน็บไว้ข้างหลัง เป็นต้น. แม้คำราชาศัพท์ของไทยจำนวนมากเป็นภาษาเขมรที่สืบมาแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา เพราะกรุงศรีอยุธยาสืบมาแต่กรุงละโว้ (จังหวัดลพบุรี) ที่เป็นรัฐกัมโพช (กัมพุช, กัมพูชา) พูดภาษาเขมร พระเจ้าแผ่นดินยุคก่อนกรุงศรีอยุธยาเรียกรัฐละโว้-อโยธาศรีรามเทพ น่าจะตรัสภาษาเขมรปนคำลาวในชีวิตประจำวัน
Thai PBS (ที่อวดว่าเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะอย่างเดียวกับ BBC ของอังกฤษ) ยังขาดศักยภาพด้านนี้ ฉะนั้น ต้องเร่งรัดให้ลุ่มลึกเพื่อร่วมสร้างสันติภาพอย่างถาวรในสุวรรณภูมิ ด้วยการเผยแพร่ความรู้ปูพื้นฐานด้านประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมสุวรรณภูมินี่เอง
ปราสาทพระวิหาร สถาปนาขึ้นด้วยเหตุผลทาง "ศาสนา-การเมือง" เมื่อราวหลัง พ.ศ.1500 เพื่อให้เป็น "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แดนกลาง" ของทุกรัฐและทุกชาติพันธุ์ในยุคนั้น ล่วงถึงปัจจุบันกำลังอยู่ในความขัดแย้งทาง "เศรษฐกิจ-การเมือง" สมัยใหม่
กรุณาอย่าคลั่งชาติ
๓. ห้าอาจารย์นิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยคำสั่งศาลปกครองกรณีปราสาทพระวิหาร
ประชาไท: เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม รศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, ธีระ สุธีวรางกูร และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 ให้รับคำฟ้องกรณีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยแสดงความเห็นว่า การเสนอแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และการที่คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบในแถลงการณ์ร่วมฯและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง
นอกจากนี้ อาจารย์ทั้ง 5 คน ยังระบุด้วยว่า การแสดงความเห็นต่อคำสั่งศาลปกครองกลางในเรื่องนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการโดยอาศัยเสรีภาพทางวิชาการที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 50 และเป็นการวิจารณ์การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 65
แถลงการณ์ของ ๕ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความเห็นต่อคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่
๙๘๔/๒๕๕๑
รับคำฟ้องกรณีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา
เรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
และกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าที่ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯต่อคณะรัฐมนตรีโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และเพิกถอนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ศาลปกครองกลางยังได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาไปในคราวเดียวกัน ด้วยความเคารพต่อศาลปกครองกลาง คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งห้าดังมีรายนามตอนท้าย ขอแสดงความคิดเห็นทางกฎหมายตามระเบียบวิธีทางวิชาการต่อคำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าว ดังต่อไปนี้
๑. หลักนิติรัฐ เรียกร้องให้การกระทำขององค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชนทั้งหลายต้องชอบด้วยกฎหมาย โดยมีองค์กรตุลาการทำหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีการกระทำบางประเภทที่โดยทั่วไปแล้วไม่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรตุลาการ เช่น การกระทำที่มีลักษณะเป็นเรื่องในทางการเมือง หรือการกระทำในเรื่องนโยบายของฝ่ายบริหาร เป็นต้น วิชานิติศาสตร์เรียกการกระทำลักษณะนี้ว่า การกระทำทางรัฐบาล (Act of State; Acte de gouvernement; Regierungsakt) ซึ่งหากระบบกฎหมายต้องการให้มีการควบคุมตรวจสอบการกระทำดังกล่าวในทางกฎหมาย ก็จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจนเป็นเรื่องๆในรัฐธรรมนูญ และมอบหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด กรณีใดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ การตรวจสอบการกระทำทางรัฐบาลย่อมไม่อาจกระทำได้ในทางกฎหมาย แต่ต้องควบคุมตรวจสอบกันในทางการเมืองเท่านั้น
๒. เหตุที่การกระทำทางรัฐบาล ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยองค์กรตุลาการ นอกจากจะเป็นเพราะโดยปกติทั่วไป การกระทำดังกล่าวไม่กระทบสิทธิ หรือไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะแล้ว การกระทำทางรัฐบาลยังมีธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นปัญหาหรือประเด็นทางการเมืองที่มีข้อจำกัดอย่างยิ่งในการใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์หรือเป็นเครื่องมือในการควบคุมตรวจสอบ และหากให้องค์กรตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลปกครองเข้ามามีอำนาจควบคุมตรวจสอบได้ ผลก็จะกลายเป็นว่าศาลปกครองมีความสามารถในการตัดสินใจเรื่องราวในทางบริหารหรือนโยบายได้เองโดยที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อผู้ใดทั้งสิ้น
๓. การพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการกระทำทางรัฐบาล ไม่อาจพิจารณาได้จากหลักเกณฑ์ในทางองค์กรเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชนดังเช่นคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ซึ่งใช้อำนาจกระทำการได้ทั้งการกระทำทางปกครอง และการกระทำทางรัฐบาล การพิจารณาว่าการกระทำขององค์กรเหล่านี้เป็นการกระทำทางปกครองหรือการกระทำทางรัฐบาล จึงต้องใช้ทั้งหลักเกณฑ์เรื่องที่มาของอำนาจ และหลักเกณฑ์ในทางเนื้อหาประกอบการพิจารณาด้วย
๔. ในส่วนของหลักเกณฑ์เรื่องที่มาของอำนาจ ต้องพิจารณาจากประเภทของกฎหมายที่ให้อำนาจแก่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี กระทำการ กล่าวคือ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี กระทำการโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีนั้นย่อมกระทำการในฐานะ "รัฐบาล" ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ และการกระทำนั้นเป็นการกระทำทางรัฐบาล เช่น นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็เป็นการกระทำทางรัฐบาลและไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของศาลใด ในทางกลับกัน ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี กระทำการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีนั้นย่อมกระทำการในฐานะเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" (คำตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒) หรือเป็น "ฝ่ายปกครอง" (คำตามตำรา) ใช้อำนาจปกครอง และการกระทำนั้นเป็นการกระทำทางปกครอง เช่น นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง กฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นก็เป็นการกระทำทางปกครองและอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาลปกครอง
๕. ในส่วนของหลักเกณฑ์ในทางเนื้อหา ต้องพิจารณาจากลักษณะของการกระทำนั้นๆ ซึ่งการกระทำทางรัฐบาลอาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มหลัก กลุ่มแรก คือ การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เช่น การตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร การตราพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภา การที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น กลุ่มที่สอง คือ การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การทำสนธิสัญญา (Conclusion of Treaty) การประกาศสงคราม การส่งทหารไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างแดน เป็นต้น
๖. ในบางกรณี การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น อาจแยกส่วนออกจากกันเป็นหลายส่วนได้ และการกระทำส่วนหนึ่งที่แยกออกมา (Actes dé tachables) ไม่มีลักษณะเป็นการกระทำทางรัฐบาล แต่เป็นการกระทำทางปกครองซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของศาลปกครอง การกระทำที่แยกออกได้จากการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยตรง ต้องเป็นการกระทำที่แม้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยตรง แต่แยกออกโดยเด็ดขาดจากการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยตรง จนอาจกล่าวได้ว่าการกระทำแต่ละการกระทำสามารถดำรงอยู่ได้โดยตัวของตัวเอง เช่น คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งศูนย์ผู้อพยพในเขตชายแดนไทย-พม่า ตามพันธกรณีที่รัฐบาลไทยตกลงไว้กับสหประชาชาติ การลงนามของรัฐบาลไทยในข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกระทำทางรัฐบาลที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง แต่มติคณะรัฐมนตรีอนุญาตให้จัดตั้งศูนย์อพยพในพื้นที่ใด ถือเป็นการกระทำที่แยกออกได้จากการลงนามของรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ และหากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น คดีอาจอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองได้
๗. ศาลปกครองไทยได้วางหลักในเรื่องการกระทำทางรัฐบาลไว้ในหลายคดี แม้ศาลปกครองจะไม่ได้ใช้คำว่า "การกระทำทางรัฐบาล" โดยตรงก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าเป็นการนำทฤษฎีการกระทำทางรัฐบาลไปปรับใช้เพื่อมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง เช่น พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๔-๓๒/๒๕๔๙, คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๖/๒๕๔๙, คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๔๕/๒๕๔๙) หรือ มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘/๒๕๕๐) เป็นต้น
๘. กรณีของคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔/๒๕๕๑ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ดังมีรายนามตอนท้ายมีความเห็นว่า การเสนอแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ดี การที่คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบในแถลงการณ์ร่วมฯและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯก็ดี เป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
๙. ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการกระทำ ๓ การกระทำ ได้แก่ การเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่า การเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯและมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นเพียงขั้นตอนเพื่อเตรียมการนำไปสู่การลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯเท่านั้น การกระทำทั้งสองนั้นยังไม่มีผลทางกฎหมายสู่ภายนอกและยังไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ จึงไม่อาจถือเป็นวัตถุแห่งคดีได้ อย่างไรก็ตามศาลปกครองกลางกลับนำการเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มาใช้พิจารณาว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ดังปรากฏให้เห็นในหน้า ๑๒-๑๓ ของคำสั่งศาลปกครองกลาง
๑๐. ในส่วนของการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ อันก่อให้เกิดแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งมีผลทางกฎหมายสู่ภายนอก ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ และอาจเป็นวัตถุแห่งคดีได้นั้น เห็นว่า การลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาศัยอำนาจอันมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจอันมีที่มาจากกฎหมายปกครอง การกระทำดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง
๑๑. อาจกล่าวกันว่า ศาลปกครองกลางไม่ได้วินิจฉัยว่าการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่พิจารณาเฉพาะการเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ความข้อนี้ คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่า กรณีดังกล่าว ไม่อาจแยกการกระทำออกเป็นส่วนๆเพื่อพิจารณาได้ การเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่ถือเป็น "การกระทำที่แยกออกได้" จากการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ การกระทำดังกล่าว ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการเดียวกัน สืบเนื่องต่อกันไป เป็นขั้นตอนก่อนที่จะเกิดการลงนาม ไม่ได้เป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากการลงนามซึ่งถือว่าแยกออกจากแถลงการณ์ฯที่มีการลงนามแล้วได้
๑๒. มีข้อสังเกตว่า ผู้ฟ้องคดีจงใจฟ้อง "ขั้นตอน" ต่างๆ ก่อนเกิดแถลงการณ์ร่วมฯ ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ที่ผู้ฟ้องคดีเล็งเห็นแล้วว่า หากฟ้องเพิกถอนแถลงการณ์ร่วมฯ ศาลปกครองย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพราะกรณีเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า แถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการกระทำทางรัฐบาล อย่างไรก็ตามเห็นได้ชัดว่าวัตถุประสงค์อันแท้จริงของผู้ฟ้องคดี คือ ความต้องการให้เพิกถอนแถลงการณ์ร่วมฯ หรือการทำให้แถลงการณ์ร่วมฯ ใช้ไม่ได้นั่นเอง ดังจะเห็นได้จากคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ต้องการให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมฯ การฟ้องให้เพิกถอนการกระทำอันเป็นขั้นตอนก่อนเกิดแถลงการณ์ร่วมฯ มีความประหลาดและไม่สมเหตุสมผลในทางกฎหมาย เพราะขั้นตอนก่อนการเกิดแถลงการณ์ เช่น การเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นการกระทำในทางข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้วในโลกของความเป็นจริง ไม่อาจถูกเพิกถอนได้ เพราะได้มีการกระทำนั้นๆ เสร็จสิ้นไปแล้วในความเป็นจริง การเพิกถอนการกระทำในทางกฎหมายปกครอง จึงต้องเป็นกรณีที่เป็นการเพิกถอนการกระทำที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายเท่านั้น เช่น เพิกถอนกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น เป็นต้น
๑๓. อนึ่ง ในประเด็นดังกล่าวนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ผู้แทนไปลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศ ถือเป็นการกระทำทางรัฐบาลที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ดังปรากฏให้เห็นในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘/๒๕๕๐ ว่า "โดยที่ในการมีมติเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๐ เห็นชอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และผู้แทนการเจรจา รวมตลอดถึงคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ดำเนินการลงนามระหว่างวันที่ ๒-๔ เมษายน ๒๕๕๐ นั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ (คณะรัฐมนตรี) ใช้อำนาจทางการบริหารของรัฐตามรัฐธรรมนูญกระทำการในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิใช่กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ (คณะรัฐมนตรี) ใช้อำนาจทางการบริหารของรัฐตามพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับเช่นพระราชบัญญัติ ออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดบรรลุผล คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง"
๑๔. คดีปราสาทพระวิหารตามคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔/๒๕๕๑ นี้ ศาลปกครองกลางใช้หลักเกณฑ์ทางองค์กรพิจารณาเท่านั้น โดยเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ "เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและมีอำนาจบริหารราชการในกระทรวงการต่างประเทศตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๓๔" และคณะรัฐมนตรี "มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติของกฎหมาย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรี "จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒" ศาลปกครองกลางเห็นว่ากรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อคณะรัฐมนตรีก็ดี กรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ ก็ดี เป็นกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีกระทำการในฐานะเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ จึงอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง
ความข้อนี้ คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่า แหล่งที่มาของอำนาจกระทำการของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการตกลงในทางระหว่างประเทศ ไม่ได้มีที่มาจากพระราชบัญญัติ แต่มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ หากถือตามแนวทางของศาลปกครองกลางในคดีนี้ที่ว่า คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง และคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลปกครองจึงสามารถควบคุมตรวจสอบการกระทำของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้แล้ว ผลก็คือ ศาลปกครองย่อมสามารถเข้าควบคุมตรวจสอบการกระทำของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ทุกกรณี ทำให้ศาลปกครองโดยองค์คณะ ๓ คนกลายเป็นผู้บังคับบัญชาคณะรัฐมนตรี แม้ในงานที่เป็นเรื่องนโยบาย หรือเรื่องในทางระหว่างประเทศซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าการตีความกฎหมายในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ย่อมขัดแย้งกับหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง
๑๕. โดยอาศัยเหตุผลดังที่ได้แสดงให้เห็นทั้งหมด และด้วยความเคารพต่อศาลปกครองกลาง คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าที่ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการลงนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในแถลงการณ์ร่วมฯ และขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อประเทศกัมพูชาและยูเนสโกนั้น ไม่ถือเป็นคดีพิพาทอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เมื่อคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองแล้ว การกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาในกรณีดังกล่าว ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วยเช่นกัน ส่วนประเด็นที่ว่าแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวจะมีสถานะเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๐ อันจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย
๑๖. คณาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งห้าดังมีรายนามตอนท้าย ตระหนักในความสำคัญของหลักการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครองโดยองค์กรตุลาการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความห่วงใยในดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ว่าอาจจะเสียไปโดยการที่ศาลปกครองกลางในคดีนี้เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจทางบริหารโดยแท้ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภาผู้แทนราษฎรตามวิถีทางในทางประชาธิปไตยอยู่แล้ว อีกทั้งคำสั่งในคดีนี้ยังขัดแย้งกับแนวทางที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวางไว้ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘/๒๕๕๐ ที่คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าสอดคล้องกับหลักนิติรัฐอีกด้วย จึงขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางในคดีนี้ผ่านแถลงการณ์ฉบับนี้
อนึ่ง ขอเรียนว่าการแสดงความเห็นต่อคำสั่งศาลปกครองกลางในเรื่องนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการโดยอาศัยเสรีภาพทางวิชาการที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๕๐ และเป็นการวิจารณ์การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริต ด้วยวิธีการทางวิชาการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๕
รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์
ภาคีรัตน์
รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร
อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑
๔. บทวิเคราะห์ทางวิชานิติศาสตร์
ต่อคำสั่งศาลปกครองกลางกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ฯ
ในคดีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา
โดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ราชบัณฑิต ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11073 (มติชน)
ความนำ
เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้ออกคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีที่คุณสุริยะใส
กตะศิลา และคณะเป็นผู้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบและลงนามร่วมไทย-กัมพูชา
เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร พร้อมทั้งขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
เพื่อให้แถลงการณ์ร่วมสิ้นผลชั่วคราว รวมทั้งให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสิ้นผลชั่วคราว
และให้ผู้ถูกฟ้องแจ้งการยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมต่อองค์การยูเนสโกไว้ชั่วคราว
ศาลได้นัดไต่สวนคู่กรณีแล้ววินิจฉัยว่า
"จึงมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่
2 (มติคณะรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาและการดำเนินการตามมติดังกล่าว
จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น"
1.ปฏิกิริยาและผลของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
เมื่อข่าวคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเผยแพร่ออกไป ฝ่ายผู้ฟ้องคดีย่อมต้องดีใจเป็นธรรมดา
เหมือนๆ กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ร่วม ฝ่ายรัฐบาลเองก็คงเดือดเนื้อร้อนใจตามควร
แต่สำหรับผู้เขียนแล้วมีความรู้สึกระคนกันระหว่างความแปลกใจและความไม่แน่ใจ !
ที่ว่า "แปลกใจ" ก็เพราะเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและคำขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่มูลนิธิข้าวขวัญและคณะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยศาลปกครองกลางอ้างว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีวัตถุประสงค์ให้ศาลเพิกถอนกระบวนการเข้าทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในทางกิจการระหว่างประเทศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะรัฐมนตรี) ในฐานะฝ่ายบริหาร อันมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองตาม มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 .....ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา.....
ต่อมามีการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง โดยศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง "การใช้อำนาจทางปกครอง" ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด อันอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลปกครอง ว่าแตกต่างจาก "การใช้อำนาจบริหารของรัฐตามรัฐธรรมนูญ" กระทำการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในความสัมพันธ์กับรัฐสภา หรือการกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำในฐานะที่เป็น "องค์กรตามรัฐธรรมนูญ" อันมิได้อยู่ในอำนาจศาลปกครองแล้วศาลปกครองสูงสุดก็สรุปว่า "ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีดำริไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ชอบแล้ว ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย" (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2550)
ที่ว่า "ไม่แน่ใจ" ก็เพราะผู้เขียนเรียนกฎหมายมหาชนมาและสอนกฎหมายมหาชนอยู่จนทุกวันนี้ ก็สอนอย่างที่ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางตัดสินไว้เมื่อปี 2550 นั่นเองว่า "การกระทำของรัฐบาล" (act of government) ในความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับรัฐสภาก็ดี ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศก็ดี ศาลไม่อาจควบคุมได้
เมื่อศาลปกครองกลางกลับแนวคำพิพากษาของท่านเอง และของศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินเมื่อปีที่แล้ว โดยออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีแถลงการณ์ร่วมนี้ จึงทำให้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าศาลปกครองไทยจะมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้อย่างไรแน่ ซึ่งท้ายที่สุดคงต้องรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่าจะยึดบรรทัดฐานเดิมหรือจะเปลี่ยนบรรทัดฐาน ซึ่งศาลกระทำได้เพราะในระบบกฎหมายไทยไม่ได้ยึด doctrine of precedent อย่างศาลอังกฤษหรือศาลอเมริกา
แต่ผลของคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวก่อให้เกิดผลดังนี้
1.กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกการสัมมนาที่จะจัดขึ้นเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ รวมทั้งยกเลิกสมุดปกขาวที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด อธิบดีกรมสนธิสัญญาที่รับว่าจะไปอภิปรายเรื่อง "การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร : ปัญหากฎหมายและอธิปไตยของชาติ" เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้น ยกเลิกการมาร่วมอภิปราย
2.ถ้าไม่มีการอุทธรณ์ หรืออุทธรณ์ แต่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่ง หรือยืนตามศาลชั้นต้น คงจะไม่มีผู้แทนรัฐบาลไทยไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ควิเบกระหว่างวันที่ 2-10 กรกฎาคมนี้ กัมพูชาก็คงจะนำเสนอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแต่ผู้เดียว
3.ไม่แน่ใจว่า ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการเจรจาต่อรองกับรัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ก็ดี หรือจะดำเนินการก็ดี จะเหลือเพียงใด? เพราะมีความ "ไม่แน่นอน" ในสถานะของข้อตกลงที่กำลังทำ หรือจะทำ ว่าจะถูกเพิกถอนหรือไม่
เมื่อพิเคราะห์เหตุและผลด้วยความระมัดระวังและด้วยความกังวลแล้ว ผู้เขียนตัดสินใจเขียนบทความวิชาการนี้ขึ้นเพื่อวิเคราะห์คำสั่งศาลปกครองดังกล่าว ทั้งนี้แม้ว่าจะเคารพต่อคำสั่งและความเห็นของศาลก็ตาม
2.หลักกฎหมายมหาชนเรื่อง
"การกระทำของรัฐบาล" (act of government)
ในกฎหมายมหาชนถือว่า คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมี 2 ฐานะ หรือพูดภาษาชาวบ้านคือมีหมวก
2 ใบ
ในฐานะแรก คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็น "ฝ่ายบริหาร" ซึ่งใช้อำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ อยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน และมีอำนาจยุบสภาโดยถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ได้ การควบคุมตรวจสอบการกระทำในฐานะนี้จึงเป็น "การควบคุมทางการเมือง" (political accountability) ตามหลักประชาธิปไตย และอยู่ในบังคับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายปกครอง
ในฐานะที่สอง คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า "ฝ่ายปกครอง" ซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เหมือนๆ กับที่ปลัดกระทรวง อธิบดี ข้าราชการทั้งหลายต้องดำเนินการ จะต่างกันก็ตรงที่ข้าราชการประจำเป็น "ผู้ใต้บังคับบัญชา" (หรือลูกน้อง) คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็น "ผู้บังคับบัญชา" (หรือหัวหน้าของฝ่ายปกครอง อันเป็นเรื่องกฎหมายปกครอง การควบคุมตรวจสอบการกระทำในฐานะหัวหน้าของฝ่ายปกครองนี้จึงเป็น "การควบคุมโดยกฎหมาย" (control of legality) ตามหลักนิติธรรม
ดังนั้น ตามหลักกฎหมายมหาชนถือว่า ถ้าคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในความสัมพันธ์กับสภา เช่น เสนอหรือไม่เสนอกฎหมาย เปิดหรือปิดสมัยประชุม ลงมติไม่ไว้วางใจ ยุบสภา ฯลฯ ก็ดี หรือใช้อำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ประกาศสงคราม ลงนามในสนธิสัญญา ให้สัตยาบันสนธิสัญญา ดำเนินการเจรจากับต่างประเทศ ศาลไม่ว่าศาลใดก็จะไม่เข้าไปควบคุม เพราะมีการควบคุมทางการเมืองตามหลักการประชาธิปไตย และความรับผิดชอบต่อสภาและต่อประชาชนอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลปกครองจะไปใช้กฎหมายปกครองมาควบคุม
ศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศสถือหลักไม่ควบคุมการกระทำของรัฐบาลมากว่า 100 ปี มีคำพิพากษากว่า 100 คำพิพากษา เช่น ในคดี Tallagrand (CE 29 Nov. 1968) ศาลตัดสินว่าการเสนอหรือไม่เสนอกฎหมาย หรือการถอนร่างกฎหมาย เป็นการกระทำของรัฐบาลมาฟ้องศาลไม่ได้ ในคดี Desreumrux (CE 3 Nov. 1933) ศาลตัดสินว่า การประกาศกฎหมายมาฟ้องศาลไม่ได้ ในอีกคดีศาลตัดสินว่าการขอหรือไม่ขอประชามติ ฟ้องศาลไม่ได้ (CE 29 April 1970 Comit? des Ch?muns de la Marne)
ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าคดีที่เกิดจากการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นการกระทำของรัฐบาลฟ้องศาลไม่ได้ (CE 13 July 1979 Coparex) ฟ้องศาลไม่ให้รัฐบาลให้สัตยาบันสนธิสัญญาไม่ได้ (CE 5 Feb. 1926 Dame Caracs) การที่รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งให้ส่งสัญญาณกวนสถานีวิทยุอันดอร์รารัฐเล็กๆ ในพรมแดนฝรั่งเศส สเปน เป็นการกระทำของรัฐบาล ศาลไม่รับฟ้อง (TC 2 Feb. 1950 Soc. Radio de Bollardi?re)
แต่ถ้าจะยกคำพิพากษาศาลปกครองต้นแบบของโลก ก็คงจะยกได้อีกหลายหน้า แต่เหลียวไปดูในอังกฤษ หรืออเมริกาก็ถือหลักนี้
คดีแรกในอังกฤษคือคดีดุ๊กออฟยอร์คฟ้องศาลเพราะเป็นปัญหาการเมือง (political question) (คดี The Duke of Yorke"s Claim to the Crown, 5 Rotuli Par 375 (ปี 1460) ต่อมาทฤษฎีนี้พัฒนามาเป็น "การกระทำของรัฐ" (act of state) เช่นในคดีที่กองทัพเรืออังกฤษทำลายอาคารชาวสเปนซึ่งเป็นผู้ค้าทาส ศาลไม่รับฟ้องเพราะเป็นการกระทำของรัฐ (act of state) (คดี Buron V. Denman (1848) 2 Ex. (67) ศาลอังกฤษไม่รับฟ้องคดีที่อ้างว่า ผู้ฟ้องควรมีสิทธิในเอกสิทธิ์ทางการทูต (immunity) เพราะเป็น "การกระทำของรัฐ" (Agbor V. Metropolitan Police Commissioner (1969)) W.L.R. 703 ฯลฯ
ศาลอเมริกันก็ไม่รับดังปรากฏในคดี Colenaan V. Miller (307 U.S. 433 (1934) ประธานศาล Itughes วินิจฉัยว่า "ในการวินิจฉัยว่าปัญหาใดเป็นปัญหาการเมือง (political question) นั้น...ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจโดยองค์กรทางการเมืองซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีผลผูกพันศาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน" โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคดี Octjen V. Central Leather Co. 246 U.S. 297 ว่า "การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลนั้น รัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองและอะไรก็ตามที่กระทำในการใช้อำนาจการเมืองนี้ ย่อมไม่ถูกควบคุมโดยศาล"
ความจริง หลักที่ว่าศาลจะไม่ควบคุมการกระทำของรัฐบาลนี้ปรากฏในตำรากฎหมายปกครองทุกเล่ม แม้แต่ในหนังสือที่สำนักงานศาลปกครองนิพนธ์เรื่อง "ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีเปรียบเทียบ" ในการประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2550 ที่กรุงเทพฯเองก็ระบุไว้ชัดในหน้า 219 ว่า
"โดยทั่วไป แนวคิดเรื่อง "การกระทำของรัฐบาล" ซึ่งมีเอกสิทธิ์ที่จะไม่ถูกตรวจสอบความชอบธรรมด้วยกฎหมาย เป็นที่ยอมรับ แม้ว่าขอบเขตจะถูกจำกัดก็ตาม
ในทางปฏิบัติ มี 2 กรณีที่ใช้แนวความคิดดังกล่าวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ในเรื่องเหล่านี้ศาลปกครองสูงสุดแต่ละประเทศจะมีแนวทางในการ (ไม่รับพิจารณา) ของตนเอง"
ศาลไทยเองก็ถือหลักนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ดังกล่าวแล้ว หรือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวินิจฉัยชัดเจนว่า การยุบสภาเป็นการกระทำของรัฐบาล ซึ่งศาลไม่ควบคุม
3.หลักกฎหมายมหาชนเกี่ยวกับการแยกหน้าที่ศาล (ผู้ควบคุม) ออกจากหน้าที่ดำเนินการบริหารของฝ่ายปกครอง
หลักกฎหมายมหาชนสำคัญอีกหลักหนึ่งก็คือ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่ศาลปกครองไม่มีหน้าที่บริหาร มีเพียงหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย หลักนี้สำคัญมาก เพราะถ้าศาลปกครองสามารถ "สั่ง" ฝ่ายปกครองได้ทุกเรื่อง ก็เท่ากับศาลลงมาบริหารราชการแผ่นดินเสียเอง ซึ่งจะกลายเป็น "ศาลเป็นรัฐบาล" (government of judge) และฝ่ายปกครองจะเป็นเพียงลูกน้อง อนึ่ง ศาลเองก็ไม่มีความรู้ทางเทคนิคทุกด้านด้วยพอที่จะลงไปควบคุมสั่งการทุกเรื่อง
ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลักกฎหมายสำคัญว่าศาลจะไม่ควบคุมการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะดุลพินิจเทคนิค (technical discretion) เช่น จะตัดถนนไปทางไหนดี สิ่งเหล่านี้เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุหรือไม่ งานวิชาการชิ้นนี้ได้มาตรฐานงานวิชาการที่ดีหรือไม่
ยิ่งเป็นเรื่องการต่างประเทศด้วยแล้ว ศาลในระบบคอมมอนลอว์ก็ดี ศาลในระบบประมวลกฎหมาย (civil law) ก็ดี จะไม่ยอมตีความสนธิสัญญาเอง โดยไม่ขอความเห็นกระทรวงการต่างประเทศเป็นอันขาด เพราะศาลประเทศเหล่านั้นทราบดีว่า ท่านเองไม่ได้รู้บริบทของการเจรจา ไม่รู้เจตนารมณ์ของคู่กรณีในสนธิสัญญา ดังนั้น หากต้องตีความสนธิสัญญา ศาลประเทศเหล่านี้จะส่งเรื่องไปขอความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ
แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ศาลของประเทศเหล่านี้จะไม่คุมการกระทำของรัฐบาลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอันขาด!
4.จะทำอย่างไรต่อไป?
เมื่อวิเคราะห์มาทั้งหมดนี้ แม้ผู้เขียนจะเคารพศาลปกครองกลางเพียงใด ผู้เขียนก็ไม่อาจเห็นพ้องกับความตอนท้ายคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ว่า
"หากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิจารณาแล้ว
ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่ยังคงสงวนสิทธิโต้แย้งคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเขาพระวิหารไว้เช่นเดิม
จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้"
ผู้เขียนไม่แน่ใจในข้อความที่ว่าศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้วไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อเท็จจริงดังได้กล่าวแล้วเกิดผลตรงกันข้าม คือการดำเนินการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ของกระทรวงการต่างประเทศก็ยุติลง ทั้งไม่ได้หมายความว่า กัมพูชาจะไม่สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียวได้ อย่างที่เราอาจเข้าใจเช่นนั้น แต่คณะกรรมการมรดกโลกซึ่งมีกรรมการจาก 21 ประเทศอาจไม่เห็นเช่นเดียวกับเราก็ได้
ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอว่า
1.กระทรวงการต่างประเทศควรอุทธรณ์คำสั่งนี้โดยด่วน เพื่อฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด แล้วจึงค่อยดำเนินการตามนั้น
2.ศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งพิจารณาคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาและฝ่ายค้านว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 190 คือเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบหรือไม่? หากต้องดำเนินการ คณะรัฐมนตรีก็ต้องเสนอแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ให้รัฐสภาพิจารณาโดยด่วนที่สุด และแจ้งให้คณะกรรมการมรดกโลกทราบว่า ประเทศไทยยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอน ภายในของเรา จึงยังไม่อาจใช้แถลงการณ์ร่วมประกอบการพิจารณาทางคณะกรรมการมรดกโลกได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐต่างประเทศเข้าใจและยอมรับกันเสมอมา
ผู้เขียนได้แต่ภาวนาว่า
เพื่อผลประโยชน์ของประเทศและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการเจรจากับรัฐต่างประเทศ
หรือองค์การระหว่างประเทศในอนาคต ศาลปกครองสูงสุดน่าจะยืนตามบรรทัดฐานเดิม อันจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยในสายตาสังคมโลกยังคงมีอยู่เหมือนเดิมทุกประการ
'วรเจตน์' ยันหลักวิชา ศาลปกครองไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีเขาพระวิหาร
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
แม้ผู้เขียนจะเคารพศาลปกครองกลางเพียงใด ผู้เขียนก็ไม่อาจเห็นพ้องกับความตอนท้ายคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ว่า "หากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิจารณาแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่ยังคงสงวนสิทธิโต้แย้งคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีเขาพระวิหารไว้เช่นเดิม จึงมีเหตุเพียงพอ ที่ศาลจะกำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาไว ้"ผู้เขียนไม่แน่ใจในข้อความที่ว่าศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้วไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานภาครัฐ เพราะข้อเท็จจริงดังได้กล่าวเกิดผลตรงกันข้าม คือ การดำ เนินการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ของกระทรวงการต่างประเทศก็ยุติลง