ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




22-06-2551 (1594)

ชุดความรู้สิทธิมนุษยชน โลกาภิวัตน์ และทฤษฎีหลังสมัยใหม่
โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง: ฟูโกต์, บูร์ดิเยอ, และอัปปาดูรัย
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ : ผู้วิจัย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรียบเรียง : สำหรับชุดความรู้ทฤษฎีหลังสมัยใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

งานวิจัยต่อไปนี้ ได้รับมาจากผู้วิจัยและได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนบทนำของวิทยานิพนธ์สาขาพัฒนาชนบทศึกษา
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง
ยุทธศาสตร์การอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า: กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
SURVIVAL STRATEGIES OF MIGRANT WORKERS FROM MYANMAR:
A CASE STUDY IN BANGKOK, THAILAND

โดยบนหน้าเว็บเพจนี้ เรียบเรียงขึ้นจากบทที่ ๒ ซึ่งได้คัดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎี
เพื่อเป็นฐานคิดและเครื่องมือในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์และเหตุการณ์ทางสังคมร่วมสมัย
สำหรับหัวข้อและคำสำคัญของงานวิจัย ประกอบด้วย
๑. ความรู้ อำนาจ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจของมิเชล ฟูโกต์
๒. แนวคิดเรื่องกลุ่มคนที่ถูกกดทับ (Subaltern Group)
๓. แนวคิดเรื่องปฏิบัติการทางสังคม (Practices) ของปิแยร์ บูร์ดิเยอ
๔. แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน (the Right of Man)
๕. แนวคิดเรื่องพื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดน (Transnationalism Social space)
๖. ประชาธิปไตยข้ามพรมแดน (Democracy without borders) อรชุน อัปปาดูรัย

หัวข้อย่อยและคำสำคัญในบทความ: การวิเคราะห์วาทกรรม, ฮาบีทัส (habitus),
ปฏิบัติการทางสังคม ฮาบีทัส วัฒนธรรม, The Logic of Practice, สิทธิในความสมานฉันท์,
โลกาภิวัตน์ในมิติของวัตถุ, โลกาภิวัตน์ในมิติของจินตนาการ, โลกาภิวัตน์กับการก่อเกิดท้องถิ่นข้ามท้องถิ่น,
โลกาภิวัตน์จากฐานล่าง, การจัดการที่อยู่อาศัยและสลัมในกรุงบอมเบย์ด้วยภูมิปัญญาหลากหลาย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๙๔
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ชุดความรู้สิทธิมนุษยชน โลกาภิวัตน์ และทฤษฎีหลังสมัยใหม่
โลกาภิวัตน์จากข้างล่าง: ฟูโกต์, บูร์ดิเยอ, และอัปปาดูรัย
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ : ผู้วิจัย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรียบเรียง : สำหรับชุดความรู้ทฤษฎีหลังสมัยใหม่
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word


1. ความรู้ อำนาจ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจของมิเชล ฟูโกต์
วาทกรรมในทัศนะของมิเชล ฟูโกต์

วาทกรรมในทัศนะของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545) หมายถึง ระบบและกระบวนการในการสร้าง/ผลิต (constitute) เอกลักษณ์ (identity) และความหมาย (significance) ให้กับสรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง วาทกรรมทำหน้าที่ตรึงสิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่ และเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง ขณะเดียวกันวาทกรรมก็ทำหน้าที่เก็บกด/ปิดกั้นมิให้เอกลักษณ์และความหมายบางอย่างเกิดขึ้น (subjugate) หรือไม่ก็ทำให้เอกลักษณ์และความหมายของบางอย่างที่ดำรงอยู่แล้วในสังคมเลือนหายไปได้พร้อมๆ กันด้วย (displace)

วาทกรรมยังรวมถึงการผลิตความหมายเกี่ยวกับความจริงในเรื่องต่างๆ ซึ่งหมายถึงการผลิตชุดของความรู้ กฎเกณฑ์ และข้อปฏิบัติทางสังคม การมีสถาบันทางสังคม และปฏิบัติการทางสังคม (Discursive Practice) ที่ต่อเนื่องมาจากความรู้นั้น ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงให้คนนิยามตนเองตามความรู้ที่ถูกผลิตออกมา สำหรับฟูโกต์แล้วความรู้ทุกชนิดที่ถูกผลิตออกมาเกี่ยวโยงกับอำนาจเสมอ และสามารถเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือของอำนาจได้ตลอดเวลา ตราบเท่าที่คนหรือสังคมนั้นๆ ยอมรับชุดความรู้ที่ถูกผลิตขึ้น

ฟูโกต์มองว่า สิ่งที่เป็นตัวกำหนดเอกลักษณ์และความหมายให้เกิดขึ้นในสังคม ก็คือ จารีตปฏิบัติและกฎเกณฑ์ของสังคม ซึ่งอยู่ในรูปของวาทกรรมและภาคปฏิบัติการจริงของวาทกรรม อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์และความหมายมีลักษณะที่ลื่นไหล เปลี่ยนแปลงไปตามวาทกรรมที่สร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา ไม่แน่นอน ตายตัว หรือหยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นวาทกรรมจึงเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติซึ่งกระทำต่อสรรพสิ่งและได้บังคับยัดเยียดให้กับโลกของความเป็นจริง เพราะมันได้สร้างเหตุการณ์และกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาบังคับใช้กับทุกสิ่งนั่นเอง

ขณะเดียวกันวาทกรรมชุดดังกล่าวก็จะเก็บกด บดบัง ปิดกั้น ขจัด หรือทำลายมิให้สิ่งที่แตกต่างไปจากเอกลักษณ์และความหมายของสิ่งที่วาทกรรมนั้นสร้างหรือปรากฏตัวขึ้นมา มากกว่าเป็นเรื่องของการผูกติดกันอย่างเหนียวแน่นของคุณสมบัติเฉพาะ (Attributes) การผลิตวาทกรรมจะถูกควบคุม คัดสรร จัดระบบ และแจกจ่ายภายใต้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง ซึ่งแหล่งที่สร้างกฎเกณฑ์เหล่านี้ที่สำคัญในสังคมก็คือ อำนาจ นั่นเอง

อำนาจกับความจริง
อำนาจ หมายถึง กระบวนการทางประวัติศาสตร์ของสังคมที่สถาปนา "อาณาจักรแห่งความจริง" (Regime of truth) ชุดใดชุดหนึ่งขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจ และความจริงเหล่านี้จะนำไปสู่ปฏิบัติการทางสังคมมากมายทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค หรืออำนาจเป็นกระบวนการสร้าง/ผลิต รูปแบบของความรู้ ความจริง ความเป็นธรรมชาติ หรือความเป็นปกติธรรมดาขึ้นมาชุดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจหรือผู้สร้างวาทกรรม และการพยายามเก็บกดปิดกั้นความรู้ ความจริงชุดอื่นๆ โดยใช้เทคนิคอำนาจที่ซึมลึก โดยผู้ที่ตกเป็นเป้าของอำนาจนั้นไม่รู้สึกว่าถูกกระทำ มิหนำซ้ำยังกระตือรือร้นที่จะสวมบทบาทนั้นด้วยตนเอง การที่ปัจเจกบุคคลมีความรู้สึกว่าเขาเป็นอะไรนั้น เป็นผลของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของเขาในอาณาจักรแห่งความจริงนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิคการใช้อำนาจในการจัดวางตำแหน่งของปัจเจกในวาทกรรม

อำนาจกับความรู้
โดยภาพรวมแล้ว คนส่วนใหญ่มักมองว่า"อำนาจ"กับ"ความรู้" เป็นเรื่องที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย เนื่องจากความรู้ควรเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงที่ปลอดจากคุณค่า อคติ และความลำเอียงใดๆ ในขณะที่อำนาจเป็นเรื่องของอคติ และความลำเอียง. แต่อำนาจของฟูโกต์ ไม่ใช่อำนาจแบบดิบ ที่ใช้กำลังบังคับ แต่เป็นอำนาจที่ได้รับการฟอกขาวจนสะอาดในรูปของความรู้ และเป็นความรู้แบบเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น วิทยาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ ความสำเร็จของอำนาจจึงอยู่ที่ความสามารถในการปกปิด อำพรางกลไกในการทำงาน ซึ่งไม่ใช่กฎหมายอย่างที่ผู้คนมักเข้าใจกัน แต่เป็นกฎเกณฑ์ จารีตปฏิบัติต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎเกณฑ์และจารีตปฏิบัติของบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายในรูปของวาทกรรมวิชาการในเรื่องนั้นๆ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า "ความรู้"คือโฉมหน้าที่แยบยลของอำนาจ เพราะสุดยอดของอำนาจก็คือการทำให้มองไม่เห็นว่าสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องของอำนาจ แต่เป็นเรื่องของความรู้หรือความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปลอดจากอคติและคุณค่านั่นเอง

การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse analysis)
การวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse analysis) ของฟูโกต์นั้น ในบทความเรื่อง "The Order of Discourse" (La Mcleod, 1981 อ้างในศุภชัย เจริญวงศ์, 2544:16) ฟูโกต์อธิบายปฏิบัติการและวิธีวิเคราะห์เชิงวาทกรรมอย่างน่าสนใจว่า วาทกรรมจะมีภาคปฏิบัติการที่สำคัญ 3 ประการคือ

ประการที่ 1 : วาทกรรมกีดกัน ห้ามปราม และแบ่งแยก,
วาทกรรมชุดใดจะมีอำนาจต้องมีปฏิบัติการเพื่อกีดกันวาทกรรมอื่นและห้ามปรามวาทกรรมบางประเภท (another principle of exclusion) โดยเห็นว่าวาทกรรมที่มีอำนาจสามารถแบ่งส่วนและปฏิเสธ (division and rejection) ชุดวาทกรรมอื่นออกจากประโยคความรู้ที่ถูกให้กลายเป็นวาทกรรมที่ผิด เช่น การแยกคนบ้าออกจากคนดี การกันความปกติออกจากความผิดปกติ (หรือกรณีนี้คือการแยก"ผู้เข้าเมืองถูกกฎหมาย" ออกจาก "ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย") ยิ่งกว่านั้นวาทกรรมดังกล่าวยังห้ามปราม (prohibition) ทั้งตัวมันเองและวาทกรรมอื่นไม่ให้พูดในบางสิ่งบางเรื่อง เช่น ห้ามพูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือห้ามแถลงถึงความปกติของคนบ้า เป็นต้น ฟูโกต์เห็นว่ากระบวนการกันออกและห้ามปรามนี้ ทำให้ชุดวาทกรรมชุดหนึ่งสามารถสถาปนาขึ้นเป็นประโยคความรู้ที่ถูกและมีอำนาจในการแถลงความหมาย โดยกระทำผ่านสถาบัน เช่น การศึกษา ระเบียบวินัย หรือจารีตปฏิบัติ

ประการที่ 2 : วาทกรรมหลักควบคุมวาทกรรมอื่น
วาทกรรมจะมีปฏิบัติการกั้นเขตและควบคุมวาทกรรมอื่น (controlling and delimiting discourse) โดยวาทกรรมที่ขึ้นมาเถลิงอำนาจจะมีกลไกการวิจารณ์ (commentary) ชุดวาทกรรมอื่นหรือวาทกรรมเก่าให้หมดความถูกต้อง พร้อมทั้งให้เอกสิทธิ์แก่ผู้พูด ซึ่งหมายถึงกลุ่มวาทกรรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ให้มีอำนาจในการแถลงความหมายหรือสื่อสิ่งต่างๆ โดยไม่ว่ากลไกการวิพากษ์วิจารณ์หรือการให้เอกสิทธิ์แก่ผู้พูด ล้วนตกอยู่ภายใต้การจำกัดและควบคุมทางวินัยที่ฟูโกต์เห็นว่าเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบ หรือสร้างการยอมรับในสังคมวงกว้างว่าเราควรวิพากษ์วิจารณ์อะไร อย่างไร และใครควรเป็นผู้พูดผู้วิจารณ์ หรือกล่าวอีกแง่คือวาทกรรมจะทำหน้าที่แยกแยะชุดประโยคว่าสิ่งใดถูกหรือผิด

ประการที่ 3 : วาทกรรมสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง
ฟูโกต์เห็นว่าชุดวาทกรรมจะสามารถตรึงตัวเองอยู่ได้ในสังคมอย่างชอบธรรม โดยวาทกรรมที่ขึ้นมาเถลิงอำนาจจะผ่านพิธีกรรมบางอย่างให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์น่าเชื่อถือ เช่น วาทกรรมในอดีตบางส่วนผ่านพิธีกรรมทางศาสนา หรือบางส่วนผ่านกฎเกณฑ์ความยุติธรรม เพื่อให้ชุดวาทกรรมมีเอกสิทธิ์ บริสุทธิ์ และในปัจจุบันชุดวาทกรรมที่มีอำนาจต้องผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ ทดลอง หรือได้รับความยอมรับในการเป็นศาสตร์ ยิ่งกว่านั้นในการสถาปนาความเป็นตัวตนทางวาทกรรม ยังมีสังคมเพื่อผลิตหรือคงความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ โดยหากดำเนินอยู่ในวงแคบ เช่น ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือในเฉพาะบางสาขาวิชา ก็ยิ่งทำให้ชุดวาทกรรมมีเอกสิทธิและอำนาจมากยิ่งขึ้น

2. แนวคิดเรื่องกลุ่มคนที่ถูกกดทับ (Subaltern Group)
Antonio Gramsci : Subaltern Classes
แนวคิดเรื่องกลุ่มคนที่ถูกกดทับไว้ หรือที่เรียกว่า "subaltern group" ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกปี 1934 ในข้อเขียนเรื่อง"History of the Subaltern Classes: Methodological Criteria" ของ Antonio Gramsci นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ชาวอิตาเลียน ซึ่งให้ภาพ"subaltern group"ว่าเป็นกลุ่มที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและถูกกดทับอยู่ใต้ชนชั้น ความเป็นท้องถิ่น เป็นราษฎรที่ถูกรัฐหรือชนชั้นผู้ปกครองเพิกเฉย. กรัมชี่ใช้ "Subaltern group" เพื่ออธิบายว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงยอมให้ตนถูกครอบงำหรือถูกเอารัดเอาเปรียบแทนที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านตามที่ทฤษฏีมาร์กซิสต์มักจะอ้างถึง

กรัมชี่เห็นคล้ายกับฟูโกต์ที่ว่าการครอบงำของรัฐนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่เฉพาะกับ "การกดบังคับของรัฐ"เพียงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับกระบวนการชักจูงของรัฐให้คนกลุ่มนี้เห็นว่า วิธีคิดของชนชั้นปกครองเท่านั้นคือวิธีคิดแบบปกติและเป็นธรรมชาติ ซึ่งกระบวนการลักษณะนี้ได้นำมาสู่การครอบงำเชิงอุดมการณ์แบบเบ็ดเสร็จของรัฐในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกใช้เป็นตัวแบบของการวิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบมาร์กซิสต์มากนัก เนื่องจากแนวคิดมาร์กซิสต์กระแสหลัก เน้นการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางชนชั้น ผ่านความสัมพันธ์ในการผลิต (relation of production) ที่ผ่านกระบวนการทางประวัติศาสตร์มากกว่า (สุริชัย หวันแก้ว, 2546:25-28)

Subaltern Studies : การศึกษาการกดทับ
อย่างไรก็ดี แนวคิดในการศึกษาของสำนักนี้ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 จากการศึกษา Subaltern Studies นำโดยนักวิชาการจากโลกตะวันออก โดยเฉพาะจากประเทศอินเดีย พวกเขาเป็นกลุ่มที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดียในยุคอาณานิคม เป้าหมายหลักของการศึกษาคือ การรวมกลุ่มเพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกของชาวนาหรือคนระดับล่างให้เป็นอิสระจากการครอบงำทางอุดมการณ์ของชนชั้นนำ มีการจัดสัมมนาและพิมพ์หนังสือชุด "Subaltern Studies: Writing on South Asian History and Society" ออกมา 7 เล่ม โดยกลุ่มดังกล่าวเห็นว่า แนวคิดที่อธิบายกลุ่มคนที่ถูกกดทับโดยอิงความคิดเรื่องชนชั้นเป็นหลักนั้น ไม่สามารถครอบคลุมสภาพที่หลากหลายของคนที่ถูกกดทับได้ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

การที่นักวิชาการกลุ่มนี้ยกระดับการศึกษาที่เรียกว่า Subaltern studies ขึ้นมา เนื่องจากคำถามที่กยาตรี จักรวที สปิวัค (Gayatri Chakravorty Spivak) นักวิชาการด้านวิจารณ์วรรณกรรมชาวอินเดีย เห็นว่าการศึกษาเรื่อง subaltern studies นั้นคือ การศึกษาถึงกลไกของการก่อรูปความเป็นอื่นขึ้นมา (the mechanical of the constitution of the Other) วิธีการนี้น่าจะดีกว่าวิธีการที่ย้อนไปค้นหาถึงความจริงแท้ (authenticity) ของกลุ่มคนที่ถูกกดทับต่างๆ อย่างแน่นอน สถานภาพของกลุ่ม subaltern มีความเป็นอื่น (the other) ที่ถูกคนกลุ่มอื่นเขียนถึง ถูกพูดถึง ถูกบันทึก ด้วยกลไกต่างๆ ของสังคม ทั้งที่เป็นส่วนของบริบทการปกครอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและองค์ความรู้

ด้วยแนวทางการศึกษาวิจัยดังกล่าว ไม่เพียงแต่เราจะได้ทำความเข้าใจต่อกลุ่มที่ถูกกดทับไว้เท่านั้น หากแต่ยังทำให้เราเข้าใจว่าสังคมสร้างและใช้อำนาจของวาทกรรมในความเป็นอื่นเพื่ออะไร. สปิวัคได้ตอบคำถามที่เป็นชื่อบทความว่า "กลุ่มที่ถูกกดทับ สามารถจะพูดได้ไหม?" (Can the subaltern speak?) ไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความว่า "พวกที่ถูกกดทับไว้นั้นพูดไม่ได้" ทั้งนี้เพราะ subaltern ไม่รู้ว่าจะพูดถึงตัวเองเช่นไร ในเมื่อพวกเขาเองเป็นผลผลิตด้วยการถูกสร้างตัวตนมากกว่าเป็นผู้ผลิตตัวตน (subject) ของตนเอง ดังนั้นอัตลักษณ์ (identity) ของ subaltern (หากจะมี) จึงมีแต่ความแตกต่าง (difference) มากกว่าที่จะบอกได้ว่ามีความเป็นเนื้อเดียวกัน (Gayatri Chakravorty Spivak, 1988:271-313)

นอกจากนั้นสปิวัคยังอธิบายให้กระจ่างขึ้นว่า การที่กลุ่ม subaltern โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง เช่น ผู้หญิงเบงกาลีซึ่งพื้นเมืองของประเทศอินเดีย ทำไมพวกเธอถึงไม่สามารถพูดได้นั้น เป็นเพราะกระบวนการในการที่จะพยายามแสดงตัวตนของพวกเธอไม่สมบูรณ์ สิ่งที่พวกเธอพยายามจะพูดนั้น อยู่นอกเหนือกระบวนการรับรู้หรือช่องทางการสื่อสารในระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งระบบนี้ไม่สามารถที่จะเข้าใจหรือสนับสนุนการพูดของผู้หญิงกลุ่มนี้ได้. สปิวัคยืนยันว่าสิ่งที่ subaltern พูดไม่ได้ มันไม่ใช่สิ่งที่เธอพูดไม่ได้ แต่การพูดของเธอมันมีกระบวนการสื่อสารไม่ครบถ้วนระหว่างคนพูดกับคนฟัง. subaltern พูดในชุดของภาษาที่แตกต่างจากความรับรู้ของคนในสังคม ซึ่งทำให้กระบวนการสื่อสารไม่ครบถ้วน และไม่เป็นไปตามลำดับความเข้าใจ ในบริบทของ แนวคิดหลังอาณานิคม ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกจำกัดและไม่สามารถจะเข้าถึงวัฒนธรรมแบบจักรวรรดินิยม คือ Subaltern
(http://www.postcolonialweb.org/poldiscourse/spivak /spivak2.html)

3. แนวคิดเรื่องปฏิบัติการทางสังคม (Practices) ของปิแยร์ บูร์ดิเยอ
เครื่องมือวิเคราะห์ของ ปิแยร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ที่สำคัญมี 5 ประการ (วินัย บุญลือ, 2545) คือ อาณาบริเวณหรือปริมณฑล (field), ทุน (capital), ฮาบีทัส (habitus), ปัจเจกผู้กระทำการ (agent) และปฏิบัติการ (practice)

3.1 อาณาบริเวณ (field) เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล/ปัจเจกกับสถาบัน มโนทัศน์. เรื่องอาณาบริเวณนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการอำนวยพื้นที่ให้เกิดปฏิบัติการภายใต้ตรรกชุดหนึ่ง อาณาบริเวณนี้เป็นเขตแดนของการต่อสู้ เป็นปริมณฑลของการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร หรือแม้กระทั่งเป็นแหล่งของการต่อสู้เพื่อการยึดพื้นที่ รวมถึงการขยายขอบเขตอำนาจเหนือพื้นที่นั้นด้วย. บูร์ดิเยอใช้คำอุปมาในการอธิบายถึงอาณาบริเวณว่า เป็นสนามของการเล่นเกม (field as the playing field) การแข่งขันกันไม่เพียงเพื่อเอาชนะคู่ตรงข้ามเท่านั้น แต่เพื่อจะครองกฎ/ออกกฎในการควบคุมการแข่งขัน ควบคุมผู้เล่น ครองเกมส์การแข่งขันและการขยายพื้นที่ของการแข่งขันออกไป เช่น ในอาณาบริเวณของพื้นที่กฎหมายที่มีความขัดแย้งกันสองฝ่าย ผู้อ้างความชอบธรรมด้านการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นหลัก จำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามว่าใครมีอำนาจในการตัดสิน หรือมีสิทธิในการปฏิบัติที่ชอบธรรมกว่ากัน

3.2 ทุน (capital) นอกจากทุนที่ได้รับการยอมรับจากสังคมไม่ว่าเงินตรา อำนาจ บารมีแล้ว อาณาบริเวณแต่ละประเภทก็จะมีทุนเฉพาะตนอีกด้วย เช่น ในอาณาบริเวณของศิลปะ คุณค่าของงานศิลปะนั้นปฏิเสธมาตรวัดคุณค่าของสังคมโดยรวม ศิลปินที่โด่งดังอาจจะเป็นผู้ที่ยากจน บูร์ดิเยอได้แยกประเภทของทุนออกเป็นหลายประการ เช่น ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนสังคม และทุนวัฒนธรรม

- ทุนทางเศรษฐกิจ คือทรัพย์สินเงินทองหรือทรัพย์สมบัติ
- ทุนทางสังคม คือฐานะตำแหน่งหรือเครือข่ายทางสังคม
- ทุนทางวัฒนธรรมเป็นศักยภาพในการกระทำ เป็นความรู้ที่สะสมอยู่ในตน (innate knowledge)

ภายในอาณาบริเวณหนึ่งๆ นั้น คนแต่ละคนจะมีกองทุนทางเศรษฐกิจ กองทุนทางสังคม และกองทุนทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทุนแต่ละประเภทสามารถแปลงรูปข้ามประเภทกันได้ เช่น นาย ก ต้องการที่จะเป็นสมาชิกของเครือข่ายทางสังคมหนึ่ง เขาสามารถได้มาซึ่งการเป็นสมาชิกโดยการสะสมสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มนั้น เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่กำหนดคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้น

3.3 ฮาบีทัส (habitus) คือ ทุนของแต่ละคนที่ได้มาจากการสะสมประสบการณ์ชีวิตของตน ที่แต่ละคนนั้นสืบต่อกันมา โดยผ่านการอบรมในครอบครัวหรือในชุมชนของตน (Domestic transmission of capital) จากหน่วยสังคมพื้นฐานนี้ได้กลายมาเป็นฐานของการพัฒนาค่านิยมและรสนิยมรวมทั้ง รูปแบบพฤติกรรมของคนๆ นั้นซึ่งจะกลายเป็นฐานของการก่อรูป สิ่งที่บูร์ดิเยอเรียกว่า ฮาบีทัส (Robbins,2000)

ฮาบีทัสเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของการแสดงออกภายนอก หรือเป็นทิศทางพัฒนาการของบุคคล ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ยังเป็นเด็กสู่วัยรุ่น ชนชั้นทางสังคมและวัฒนธรรมเองก็เป็นภูมิหลังที่มีอิทธิพลสูงต่อปัจเจกแต่ละคน ระบบฮาบีทัสจึงเป็นความเข้าใจสามัญที่กำหนดมุมมองของเราที่มีต่อโลก สร้างแนวโน้มเพื่อให้เรามองเห็น เข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ และจะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตีความหรือปฏิบัติการของปัจเจกแต่ละคน เป็นสิ่งที่สร้างหรือสลักมโนทัศน์ของเรา แต่ก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างที่สามารถเพิ่มเติมเสริมแต่งผ่านการขยายตัวหรือลดลงของการสะสมหรือสละทิ้งประสบการณ์ของแต่ละบุคคลนั้นด้วย

ธรรมชาติของฮาบีทัสนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แม้ไม่สามารถลอกเลียนหรือถอดแบบกันได้ แต่ก็สามารถเทียบเคียงกันกับของคนที่อยู่ในชนชั้นทางสังคมเดียวกันหรือคนที่ร่วมอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันได้ เช่น กรณีการฝึกอบรมทางวิชาชีพนั้น คนทำประมงอาจจะมองว่าน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของปลา ขณะที่ชาวนาก็อาจจะคิดว่า น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเพาะปลูก เป็นต้น

3.4 ปัจเจกผู้กระทำการ (Agent) เป็นผู้ที่ปฏิบัติการอยู่ในอาณาบริเวณ คนที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันก็อาจจะมีความคิดคล้ายคลึงกันแต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว หรืออาจมีกลุ่มทุนที่คล้ายคลึงกันได้ ปฎิสัมพันธ์ของคนในอาณาบริเวณหนึ่งจึงมีบทบาทหลายอย่างซ้อนทับเกี่ยวข้องกัน

3.5 ปฏิบัติการ (practices) มโนทัศน์เรื่องปฏิบัติการหรือการกระทำ เป็นสิ่งที่เราเลือกทำหรือเป็นสิ่งที่เราทำได้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแรงผลักดันภายในอาณาบริเวณหนึ่ง ภายใต้ระบบฮาบีทัสชุดหนึ่งของเรา ดังกรณีการเล่นเกมที่บูร์ดิเยอชอบยกตัวอย่าง ผู้เล่นจะมีทิศทางและความเข้าใจกฎของเกมอยู่ชุดหนึ่ง รวมกับความสามารถของเขาที่มีอยู่เพื่อการเล่นเกมในวินาทีของการเล่น ผู้เล่นจะคาดการณ์หรือตอบสนองโดยอัตโนมัติตามสมรรถภาพของฮาบีทัสของเขา ดังนั้นเราสามารถเข้าใจปฏิบัติการได้อย่างถ่องแท้ ก็เฉพาะในอาณาบริเวณหนึ่งและจะต้องเห็นความหลากหลายตามฮาบีทัสของเขาแต่ละคน หากคนหนึ่งต้องการที่จะเล่นอยู่ในอาณาบริเวณหนึ่งโดยไม่มีระบบฮาบีทัสเป็นตัวนำทาง ก็จะไม่สามารถมีส่วนร่วมในเกมได้อย่างสมบูรณ์

ปฏิบัติการทางสังคม ฮาบีทัส วัฒนธรรม
บูร์ดิเยอมักจะเปรียบเทียบปฏิบัติการทางสังคมว่า เหมือนดังการเล่มเกมชนิดหนึ่ง สนามแข่งขันจึงเป็นพื้นที่/ปริมณฑลที่ปัจเจกแต่ละคน เข้ามาแข่งขันต่อสู้เพื่อจะได้ทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งต่างต้องรู้ถึงวิธีเล่น (The feel for the games) เพื่อการหลบหลีกหรือครองเกมการแข่งขันเพื่อความเป็นต่อเสมอ ดังนั้น ปัจเจกแต่ละคนเข้ามาในสนามการแข่งขันโดยมีเป้าหมายของการแข่งขัน ซึ่งที่จริงถูกกำหนดโดยสังคมอยู่แล้ว

เพื่อจะสามารถอธิบายปฏิบัติการของปัจเจกว่า เขาเลือกปฏิบัติการอย่างไรในบริบทเฉพาะของปริมณฑลหนึ่งๆ นั้น บูร์ดิเยอได้พัฒนามโนทัศน์ที่เรียกว่า "ฮาบีทัส". โดยพื้นฐานแล้วฮาบีทัส เป็นระบบอุปนิสัยที่เป็นของปัจเจกแต่ละคน แต่ในกรณีที่ลักษณะทางสังคมไม่ซับซ้อนมากนัก ฮาบีทัสก็อาจจะเป็นของกลุ่มได้ เช่น ฮาบีทัสของชนชั้นหนึ่ง. ฮาบีทัสนี้ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมทางสังคมของปัจเจกแต่ละคน เป็นพื้นฐานของการตีความ การประเมินสถานการณ์ทางสังคม และขณะเดียวกันก็เป็นหลักการในการแสดงออก การกระทำ การปฏิบัติตนต่อสถานการณ์นั้นด้วย (Bourdieu, 1990)

ในหนังสือ The Field of Cultural Production (1993) ซึ่งเป็นงานด้านสังคมวิทยาว่าด้วยอำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่วัฒนธรรมได้ผลิตขึ้นมา บูร์ดิเยอได้ตั้งคำถามว่า "ทำไมโครงสร้างทางสังคมที่จัดลำดับช่วงชั้นทางสังคมผ่านช่วงเวลาต่างๆ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการต่อต้าน หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลนั้นมิได้สำนึก (conscience) ถึงการครอบงำดังกล่าว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะถามต่อไปว่า กระบวนการทางสังคมมีการทำงานอย่างไร จึงสามารถดำรงความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง"

จากมุมมองของบูร์ดิเยอ มองว่า มนุษย์ใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมเป็นทุนในการดิ้นรนต่อสู้แข่งขัน เอาชนะ เพื่อผลิตซ้ำความแตกต่างทางชนชั้นโดยมิให้ผู้ถูกครอบงำทันสำนึกหรือรู้ตัว โดยผ่านระบบสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม (symbolic system) ไม่ว่า รสนิยม ความคิด ความเชื่อ หรือปฏิบัติการทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนทำหน้าที่ผลิตซ้ำความแตกต่างทางสังคม (social distinction) ทั้งสิ้น

มิติเชิงอำนาจ ที่ทำงานอยู่ในระบบสังคม
ถ้ามองจากมุมมองผู้ปฏิบัติ (Agent) อันเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความโดดเด่นในสังคม ผู้คนส่วนใหญ่ต้องการเป็นที่นับหน้าถือตาของคนอื่น ปรารถนาที่จะเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ ยกย่อง มีความแตกต่างท่ามกลางผู้คนที่หลากหลาย ต้องการระบบการแบ่งแยก ขีดขั้น ความแตกต่างของคน มิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่อยู่ในระบบการแบ่งขั้นทางสังคมนี้ อันที่จริงแล้วไม่ได้แยกต่างหากจากชีวิต แต่อยู่ในทุกมิติของความสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้นเพื่อเข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคมโดยทั่วไปจำเป็นต้องคำนึงถึง"มิติเชิงอำนาจ" ที่ทำงานอยู่ในระบบสังคมนั้นเสมอ กล่าวคือ ทฤษฎีพื้นฐานของการทำความเข้าใจความเป็นจริงทางสังคมดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับทฤษฎีที่เกี่ยวกับอำนาจ

ส่วนมากแล้ว "อำนาจ"เป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของสังคม การจะใช้อำนาจอย่างสัมฤทธิ์ผลต้องมีความชอบธรรมรองรับ ต้องมีกลไกที่จะสร้างการยอมรับว่าถูกต้องและชอบธรรม ในระบบการผลิตทางวัฒนธรรมก็เช่นกัน การที่ระบบได้แบ่งชั้นความแตกต่างให้ปัจเจกแต่ละคนเข้ามาต่อสู้กันในเวทีชีวิต เพื่อความเป็นอัตตะในปริมณฑลที่บูร์ดิเยอเรียกว่า Field นั้น เป็นกระบวนการของการสร้างความชอบธรรมให้กับเวทีการต่อสู้ แย่งชิงทรัพยากรชีวิต เพื่อสะสมทรัพยากรหรือทุนของตนเหนือคนอื่น และย้อนกลับไปผลิตซ้ำโครงสร้างที่ดำรงความแตกต่างของตำแหน่งแห่งที่ของชีวิตมนุษย์ในสังคม

บูร์ดิเยอเสนอว่า วัฒนธรรมในฐานะภาพสะท้อนของอำนาจ (Expression of Power) เป็นการพยายามมองหาวิธีการที่โครงสร้างผลิตซ้ำตัวมันเอง คือ พยายามศึกษาว่ามีกฎเกณฑ์อะไรบ้างที่โครงสร้างทำหน้าที่ผลิตซ้ำตนเองผ่านการสร้าง agent ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกหรือกลุ่ม โดยกระทำผ่านวิธีคิดชุดหนึ่ง ให้ agent มีรูปแบบปฏิบัติการแบบหนึ่ง และปฏิบัติการนี้เองไปผลิตซ้ำโครงสร้างนั้นอีกทีหนึ่ง กล่าวคือ โครงสร้างผลิตซ้ำตนเองผ่านโดยผ่าน agent ซึ่งมีฮาบีทัสชุดหนึ่งที่แสดงออกโดยปฏิบัติการของ agent จะไปผลิตซ้ำโครงสร้างอีกต่อหนึ่ง

ในระดับปฏิบัติการนั้นจำเป็นต้องค้นหาว่า กลุ่มทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าครอบครัว เครือญาติ ได้สร้างและรักษาตำแหน่งแห่งที่ของตนในปริมณฑลต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างไร กลุ่มต่างๆ มีวิธีการผลิตซ้ำฐานะจุดยืนของตนในพื้นที่นั้นอย่างไร และวัฒนธรรมมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการช่วยรักษาตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มต่างๆ เหล่านั้น

The Logic of Practice
ใน The Logic of Practice (1990) บูร์ดิเยอเห็นว่าปฏิบัติการ (Practice) นั้นมีความหมายมากกว่าการกระทำของมนุษย์ (Human Action) กล่าวคือ ปฏิบัติการนั้นจะต้องเกิดขึ้นในปริมณฑลทางสังคม (Social Field) ที่ผู้ปฏิบัติ (actor/agent) อยู่ในตำแหน่งที่กำหนดโดยทุนต่างๆ ซึ่งผู้ปฏิบัตินั้นถือครองอยู่ และสัมพันธ์กับผู้ปฏิบัติการคนอื่นๆ ในสังคมเดียวกัน ดังนั้นโครงสร้างของปริมณฑล (Field) จึงเป็นปริมณฑลของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ปัจเจกแต่ละคนมีพื้นที่ของตน ทั้งทางปริมาณและคุณภาพของทุนทางทรัพยากรที่แต่ละคนถือครองและเข้าถึงได้ และสังคมให้ความชอบธรรมในการถือครองทรัพยากรดังกล่าว

วิธีมองแบบบูร์ดิเยอ สะท้อนให้เราต้องสำนึกเสมอว่า การศึกษาทางสังคมนั้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนหลากมิติหลายมุมมอง เช่น ในระดับที่เป็นสหสัมพันธ์ ปฏิสัมพันธ์ พึ่งพิงอิงแอบ เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันของปัจเจกและสถาบัน ซึ่งมีพลังผลักดันจากการต่อสู้แย่งชิง กระเสือกกระสน แข่งขันชิงดีชิงเด่น เพื่อจะสามารถควบคุมและมีอำนาจเหนือกันและกัน. วิธีมองแบบบูร์ดิเยอเน้นที่การมองปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทางสังคมต่างๆ นั้น ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการมองและวิเคราะห์ปริมณฑลของอำนาจของรัฐกับสิ่งอื่นๆ

แนวคิดเรื่อง Practices ของบูร์ดิเยอ สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการเมืองเพื่อแสดงตัวตน (Identity Politic) (การเมืองเรื่องอัตลักษณ์) ที่อธิบายถึงการเคลื่อนไหวซึ่งปฏิเสธการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดระหว่างสองขั้วที่แตกต่าง คือ ผู้กระทำทางสังคม (agency) และโครงสร้างทางสังคม (structure) ในฐานะที่ว่า อะไรเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทางสังคม โดยหันมาศึกษาปฏิสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนและไม่อาจแยกขาดจากกันได้ระหว่าง agent กับ structure หันมาเน้นการศึกษากระบวนการก่อรูปอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นขอบเขตที่เลื่อนไหลไม่หยุดนิ่ง เป็นเวทีการต่อรอง หยิบยืม ตีความและการต่อสู้ในกระบวนการนิยามความหมาย ไม่ว่าปัจเจกหรือกลุ่ม เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มคนที่ถูกปิดกั้นโอกาสทางสังคม ความเป็นตัวตนเป็นทั้งกระบวนการและพื้นที่ทางสังคม (Social Space) ที่มีปฏิบัติการนิยามความหมายที่หลากหลาย เป็นทั้งผู้นิยามและถูกนิยามในเวลาเดียวกัน

4. แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน (the Right of Man)
ปัจจุบัน สิทธิมนุษยชนกลายเป็นแนวคิดที่ถูกหยิบอ้างและนํามาใช้ในหลายระดับ ทั้งระดับปัจเจกชน ครอบครัว ชุมชน รัฐ-ชาติ ระหว่างชาติ ทําให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาทกรรมที่รู้จักกันทั่วไป. ริชาร์ด รอตี้ นักคิดยุคหลังสมัยใหม่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตลอดระยะเวลาสองร้อยปีที่ผ่านมาสิทธิมนุษยชนสามารถสถาปนากลายเป็น "ความเป็นจริงประการหนึ่งของโลก" (fact of the world) (อ้างใน Rein Mullerson, 1997: 34) ขึ้นมา

หลักการพื้นฐาน 6 ประการของสิทธิมนุษยชน
หลักการพื้นฐาน 6 ประการของสิทธิมนุษยชน (Jonathan M. Mann, 1999: 21-28) ประกอบ ด้วย

1) ประชาชนทุกคนมีสิทธิของตัวเอง เพราะทุกคนต่างเป็นมนุษย์

2) สิทธิมนุษยชนเป็นสากล หลักการสิทธิมนุษยชนใช้กับคนทุกคนทั่วโลกได้เหมือนกัน ไม่ขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นใครหรืออาศัยอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตามสิทธิมนุษยชนอาจมีรายละเอียดเฉพาะภูมิภาคหรือแต่ละประเทศ ดังนั้นการเคารพและปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศจึงมีระดับที่ต่างกัน เพราะมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมหรือสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

3) ตามหลักการที่ว่า "มนุษย์ทุกคนล้วนมีเสรีภาพ เสมอภาค และมีศักดิ์ศรีติดตัวมาแต่เกิด" สิทธิมนุษยชนจึงปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน. ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้รับการปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกัน (treated the same) ทุกประการ แต่สิทธิมนุษยชนปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน (treated equally) และให้"โอกาส"แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

สิทธิมนุษยชนเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและยอมรับความแตกต่างของมนุษย์ ทั้งในด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา การเมืองหรือความคิดเห็น ชาติ ทรัพย์สิน ชาติกําเนิด หรือสถานภาพทางสังคม อย่างไรก็ตาม ด้วยสิทธิและศักดิ์ศรีบุคคลที่แตกต่างเหล่านั้นล้วนเหมือนกัน ฉะนั้นรัฐพึงเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนแก่ทุกๆ คนอย่างเต็มความสามารถแม้ว่าจะมีความแตกต่าง แต่สิทธิมนุษยชนพึงตอบสนองแก่ความต้องการเฉพาะบุคคลซึ่งตกอยู่ในฐานะที่มีความไม่มั่นคงหรือเป็นบุคคลที่อ่อนแอ เช่น ผู้หญิง เด็ก คนพิการ เชื้อชาติกลุ่มน้อย คนไร้รัฐ หรือนักโทษ เป็นต้น

4) สิทธิมนุษยชนสนับสนุนสิทธิในระดับปัจเจกชนเป็นเบื้องแรก สิทธิมนุษยชนมุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกชนโดยตรง มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนจากสังคมหรือรัฐบาล สิทธินั้นมิได้เป็นผลจากอภิสิทธิ์หรือการเลือกที่รักมักที่ชัง สังคมและรัฐบาลมีพันธกิจที่จะสนับสนุนความเป็นไปได้ของสิทธิมนุษยชนให้เป็นจริง

5) สิทธิมนุษยชนห่อหุ้มด้วยหลักการพื้นฐานของมนุษยภาพ (humanity) สิทธิบางประการ เช่น สิทธิในชีวิต (the right to life) เสรีภาพจากความเป็นทาส เสรีภาพที่จะไม่ถูกทรมาน เป็นสิ่งที่มิอาจละเมิดได้ไม่ว่ากรณีใดๆ อย่างไรก็ตาม กฎบัตรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ยกเว้นอนุญาตให้เข้าไปแทรกแซงสิทธิของปัจเจกชนได้ในกรณีที่จําเป็นหรือฉุกเฉินเท่านั้น เช่นในภาวะสงครามหรือการเกิดโรคระบาด รัฐสามารถย่อหย่อน (derogation) ต่อหลักการสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะกรณีได้

6) การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ผูกติดอยู่ภายใต้พรมแดนของรัฐ-ชาติ ชาติทุกชาติต้องรับผิดชอบในการส่งเสริมและเคารพสิทธิมนุษยชน ปัจเจกชน ชุมชน หรือรัฐต้องมีความรับผิดชอบที่จะสนับสนุนและให้ความสําคัญกับสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนในทุกที่และทุกเวลา

สิทธิมนุษยชน 4 ประเภท
สิทธิมนุษยชนสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ

1) สิทธิพลเมือง
2) สิทธิทางการเมือง
3) สิทธิทางเศรษฐกิจ
4) สิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม

สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิในชีวิต อิสรภาพ ความปลอดภัยส่วนบุคคล เสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานหรือถูกกระทําอย่างโหดร้ายทารุณ ถูกกระทําเยี่ยงสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ได้รับการปฏิบัติหรือถูกลงโทษอย่างตํ่าทราม ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว จับกุมอย่างไร้เหตุผล

สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้แก่สิทธิในการที่จะมีมาตรฐานขั้นสูงสุดด้านสุขภาพ การทํางาน มีความปลอดภัยทางสังคม ได้รับอาหารที่พอเพียง สิทธิในการมีเครื่องนุ่งห่ม ที่พักพิงอาศัย สิทธิในการศึกษา และสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

สิทธิในความสมานฉันท์
สิทธิต่างๆ ข้างต้น มีการบัญญัติเป็นกฎบัตรที่ชาติต่างๆ ลงนาม และต้องให้การเคารพและปฏิบัติ อย่างไรก็ตามในช่วงหลังได้มีการขยับขยายแนวความคิดเรื่องสิทธิในแนวทางใหม่เพิ่มขึ้นมา เรียกว่า สิทธิในความสมานฉันท์ (solidarity rights) ซึ่งยังไม่ได้มีการยอมรับในฐานะบทบัญญัติที่สามารถบังคับได้ในระดับนานาชาติ แต่เป็นแนวคิดในการเกื้อหนุนจุนเจือกันและกันมุ่งหวังผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียม และตอบสนองต่อการเยียวยาความทุกข์ยากของมนุษยชาติทั้งมวล สิทธิในการเกื้อหนุนจุนเจือนี้ ได้แก่ สิทธิในการพัฒนา สิทธิในสันติภาพ สิทธิที่จะได้ประโยชน์จากมรดกร่วมของมนุษยชาติอย่างเท่าเทียมกัน และสิทธิที่จะปกป้องมนุษย์จากมลภาวะทางธรรมชาติแวดล้อม

5. แนวคิดเรื่องพื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดน (Transnationalism Social Space)
Globalization - Transnationalism
Nina Glick Schiller (Glick Schiller and Fouron 1999:343-344) เห็นว่าโลกาภิวัตน์(Globalization) และสนามสังคมข้ามพรมแดน (Transnationalism) คือ กระบวนการไหลของทุน แนวคิด และวัตถุวัฒนธรรมข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติ แต่โลกาภิวัตรกับสนามสังคมข้ามพรมแดนมีความแตกต่างกันตรงที่ โลกาภิวัตรเป็นการไหลในระดับโลก แต่สนามสังคมข้ามพรมแดน คือ การไหลข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติจำนวนที่จำกัดกว่าและตัวแสดงในสนามสังคมข้ามพรมแดนนั้น เป็นตัวกระทำที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors)

แนวคิดสนามสังคมข้ามพรมแดน เริ่มพัฒนามาในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 นักวิชาการที่มีบทบาทหลักในด้านนี้ คือ นักมานุษยวิทยาชาวยิวจากรัสเซียนาม นินา กลิค ชิลเลอร์ แนวคิดสนามสังคมข้ามพรมแดนนี้เป็นแนวคิดที่เธอเสนอขึ้นมา เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่ต่างไปจากอดีตของกลุ่มผู้อพยพ ดังที่เธอกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "

เรานิยามสนามสังคมข้ามพรมแดน (transnationalism) ในฐานะที่หมายถึง กระบวนการที่ผู้อพยพข้ามพรมแดน สร้างและรักษาสายใยความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่เชื่อมสังคมที่คนเหล่านี้ถือกำเนิดและสังคมที่พวกเขาพักพิงเข้าด้วยกัน เราเรียกกระบวนการนี้ว่า ชีวิต/สนามทางสังคมข้ามพรมแดน เพื่อย้ำให้เห็นว่า ผู้อพยพในปัจจุบันได้สร้างสนามทางสังคมที่ตัดข้ามกันไปมา และแทรกผ่านพรมแดนทางด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง" (Basch, Glick Schiller, and Blanc 1994:7)

Transnational social space
อย่างไรก็ดีจนถึงปัจจุบัน นักคิดนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาสนามสังคมข้ามพรมแดน มีด้วยกัน 3 คน คือ นินา กลิค ชิลเลอร์, อลีแจนโดร ปอร์เตส และโทมัส เฟรสต์ คนที่แยกสนามสังคมข้ามพรมแดนกับคนพลัดถิ่นออกจากกันได้ชัดเจนที่สุด คือ โทมัส เฟรสต์ ในบทความชิ้นสำคัญชื่อ "Transnationalization in International Migration :Implications for the Study of Citizenship and Culture" (Faist 2000)

เฟรสต์ใช้คำว่า "พื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดน" หรือ "transnational social space" แทนสนามสังคมข้ามพรมแดน(Transnationalism) โดยเขาให้ความหมายของพื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดนว่าหมายถึง "สายสัมพันธ์ที่มั่นคงและต่อเนื่องของบุคคล ของเครือข่ายและขององค์กร ที่ข้ามพรมแดนประเทศหลายประเทศ โดยสายสัมพันธ์นั้นมีตั้งแต่สายสัมพันธ์ที่มีความเข้มข้นต่ำ ไปจนถึงสายสัมพันธ์ที่มีความเข้มข้นสูงที่ปรากฎในรูปของสถาบัน โดยสายสัมพันธ์นี้ เรามิได้หมายถึงเพียงการติดต่อชั่วครั้งคราวระหว่างผู้อพยพในต่างแดน กับญาติมิตรที่อยู่ในประเทศมาตุภูมิ กล่าวโดยสรุปแล้ว พื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดน อาจจำแนกได้ด้วยความเข้มข้นของสายสัมพันธ์ข้ามพรมแดน ทั้งในรูปของสถาบันที่ไม่เป็นทางการและเป็นทางการ" (Faist 2000 :189-190)

เฟรสต์แบ่งสังคมหรือสายสัมพันธ์ข้ามพรมแดนเป็น 3 ประเภท คือ

- พื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดนของกลุ่มเครือญาติ
- พื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดนด้านการแลกเปลี่ยน และ
- ชุมชนข้ามพรมแดน

โดยเฟรสต์ใช้กลไกการผนวกรวม (mechanism of integration) ทางสังคมเป็นเกณฑ์แบ่ง กล่าวคือ

ประเภทแรก มีกลไกการผนวกรวมที่สำคัญ คือ ความสัมพันธ์ต่างตอบแทนกันและกัน (reciprocity) ซึ่งเฟรสต์หมายถึงสายสัมพันธ์ที่มั่นคงแน่นแฟ้นภายในครอบครัวและเครือญาติ ที่ถักทอข้ามพรมแดนประเทศบ้านเกิดกับประเทศที่รองรับการอพยพ สายสัมพันธ์ที่สำคัญในกรณีนี้ก็คือ สายสัมพันธ์ที่เกิดจากผลพวงของเงินส่งกลับ (remittance) เพื่อให้ครอบครัวและเครือญาติดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนบ้านเกิด นับตั้งแต่การซื้อเครื่องประดับบ้าน สร้างบ้าน ไปจนถึงการลงทุนทางธุรกิจ

ประการที่สอง พื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดนประเภทที่สอง มีกลไกการผนวกรวมที่สำคัญคือ กลไกการแลกเปลี่ยน (exchange) เช่น การแลกเปลี่ยนของสินค้า การหมุนเวียนของผู้คนและข้อมูลข่าวสารข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติ ตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือ พื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดนที่สร้างขึ้นโดยนักธุรกิจสัญจรชาวจีน (astronaut Chinese businessmen) ผู้ซึ่งดำรงชีวิตสองชีวิตในเวลาเดียวกัน เฟรสต์ยืมคำนี้มาจาก อลีแจนโดร ปอร์เตส (Alejandro Portes) นักสังคมวิทยาผู้ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญในการศึกษาสนามสังคมข้ามพรมแดน

ปอร์เตสได้ให้ความหมายสนามสังคมข้ามพรมแดนไว้ว่า "สังคมข้ามพรมแดน ประกอบด้วยผู้คนที่ดำรงชีวิตสองชีวิต กล่าวคือ พูดจาสองภาษา มีบ้านอยู่ในสองประเทศ และดำรงชีพด้วยการพบปะสื่อสารข้ามพรมแดนประเทศอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยกิจกรรมการพบปะ กระทำหรือสื่อสารนั้นอาจเป็นองค์รวมที่หลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองก็ได้" (Portes et al. 1999:217) กล่าวคือ นักธุรกิจเหล่านี้อาจมีธุรกิจในฮ่องกง แต่มีบ้านในลอสแจอรีสหรือนิวยอร์ค หรือโตรอนโต ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาของบุตรหลาน หรือเป็นแหล่งหลบภัยเมื่อเกิดความยุ่งยากทางการเมืองในบ้านเกิดของตน นักธุรกิจ/ภรรยาของนักธุรกิจเหล่านี้จำต้องเคลื่อนที่ข้ามพรมแดนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการเคลื่อนในรูปของร่างกาย (การเดินทาง) และการติดต่อสื่อสาร ทั้งในด้านส่วนตัวและธุรกิจ

ประการที่สาม พื้นที่ทางสังคมประเภทที่สาม มีกลไกการเชื่อมผนวกรวมที่สำคัญคือ การมีความสมานฉันท์ของชุมชน (communal solidarity) พื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดนประเภทนี้ เป็นพื้นที่ที่สายสัมพันธ์ถูกทักขึ้นอย่างเข้มข้นและปรากฏในรูปของความสัมพันธ์ในระดับชุมชน ชุมชนข้ามพรมแดนนี้ เฟรสต์เห็นว่าเกิดขึ้นในหลายระดับ แต่รูปแบบที่พื้นฐานที่สุดและพบมากที่สุดคือ ชุมชนระดับหมู่บ้านที่เชื่อมสัมพันธ์กันข้ามพรมแดน ดังจะเห็นได้จากชุมชนข้ามพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก และชุมชนที่ถักทอระหว่างชุมชนในต่างแดนกับชุมชนบ้านเกิดของคนพลัดถิ่น (diasporic communities) อย่างชุมชนพลัดถิ่นของชาวยิว อาเมเนี่ยน อัฟริกัน-อเมริกันและปาเลสติเนี่ยน เป็นต้น โดยสายสัมพันธ์หรือกิจกรรมที่ถักทอระหว่างชุมชนเหล่านี้ อาจจะปรากฎทั้งในรูปความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมก็ได้

จากการจำแนกข้างต้น จะเห็นได้ว่า เฟรสต์ให้ความหมายของคนพลัดถิ่นกับพื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดนในฐานะที่หมายถึงกิจกรรมที่ถักทอข้ามพรมแดน แต่พื้นที่ทางสังคมข้ามพรมแดนกินความกว้างกว่าคนพลัดถิ่น เพราะสนามสังคมข้ามพรมแดนรวมเอาเครือข่ายทางสังคมข้ามพรมแดนของเครือญาติ และเครือข่ายการแลกเปลี่ยน/กิจกรรมทางธุรกิจเข้าไว้ด้วย ส่วนคนพลัดถิ่นคือ ชุมชนข้ามพรมแดน ซึ่งหมายถึงสายสัมพันธ์ข้ามพรมแดนในระดับชุมชน

6. ประชาธิปไตยข้ามพรมแดน (Democracy without borders): อรชุน อัปปาดูรัย
โลกาภิวัตน์เป็นมโนทัศน์ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากวงวิชาการตะวันตก นับแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา อัปปาดูรัยดูเหมือนจะเป็นนักมานุษยวิทยาคนแรกๆ ที่สนใจประเด็นโลกาภิวัตน์. ในบทความ "Globalization and the research imagination" อัปปาดูรัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า โลกาภิวัตน์อาจจะนิยามได้หลายแบบ เช่น

- หมายถึงทุนที่ปฏิบัติการในระดับโลก ที่วางอยู่บนตรรกะใหม่ของจักรวรรดิ ตรรกะใหม่ของการค้าและการครอบงำส่วนอื่นของโลกในด้านการเมือง หรือ
- โลกาภิวัตน์ คือปฏิบัติการของทุนระดับโลก ในยุคที่อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐ-ชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตามในบทความชิ้นโด่งดัง "Disjuncture and difference in the global cultural economy" ที่พิมพ์พร้อมกันในวารสาร Public Cultural และ Theory, Culture and Society เมื่อปี 1990 และนำมาปรับแก้พิมพ์เป็นบทที่สองและเป็นฐานทฤษฎีของ Modernity at Large อัปปาดูรัยได้ให้ความหมายของโลกาภิวัตน์จากสองมิติ คือ "มิติของวัตถุ" และ "มิติของจินตนาการ"

โลกาภิวัตน์ในมิติของวัตถุ หมายถึง การไหลและเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติในระดับโลกของวัตถุ รูปธรรม และนามธรรม คือ ผู้คน, สื่อ, เทคโนโลยี, อุดมการณ์, และทุน. แต่การไหลและเคลื่อนย้ายของวัตถุเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นพร้อมกัน เบนเข้าหากันและข้ามพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ หากแต่ไหลและเคลื่อนย้ายต่างระดับความเร็ว ต่างแกน ต่างจุดเริ่มต้น ต่างปลายทาง และสัมพันธ์ในระดับที่ต่างกันกับโครงสร้างทางสถาบันที่แตกต่างกันในภูมิภาค ประเทศ และสังคม. โลกาภิวัตน์หรือโลกที่วัตถุอยู่ในภาวะเคลื่อนย้าย จึงมิใช่โลกของความเป็นหนึ่งเดียวและกลมกลืน แต่เป็นโลกที่ผนึกด้วยภาวะไม่เท่าเทียม โลกที่ความสัมพันธ์ไม่สวมทับกันสนิท (disjuncture) โลกแห่งความสับวนวุ่นวาย (chaos) และโลกที่สลับซับซ้อน (complexity) (Arjun Appadurai, 1996:47)

โลกาภิวัตน์ในมิติของจินตนาการ สำหรับอัปปาดูรัยแล้ว การไหลและการเคลื่อนย้ายของวัตถุข้ามพรมแดนมิใช่สิ่งใหม่ในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ และจินตนาการของผู้คนเกี่ยวกับสรรพสิ่งมิใช่ประเด็นใหม่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 นี้ เกิดจากเงื่อนไขที่ภาพลักษณ์ในภาวะเคลื่อนย้ายและแปลงรูป ซึ่งได้มาปะทะหรือบรรจบกับผู้คนที่อยู่ในภาวะเคลื่อนย้าย แล้วก่อรูปของจินตนาการใหม่ ที่ฝังลึกในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน โดยจินตนาการใหม่มิใช่จินตนาการที่เพ้อฝัน ฟุ้งซ่าน หลีกหลบจากความเป็นจริง หากแต่เป็นจินตนาการที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดสนามปฏิบัติการทางสังคมของผู้คน หรือเป็น "จินตนาการในฐานะที่เป็นปฏิบัติการทางสังคม" (the imagination as a social practice) (Arjun Appadurai, 1996:31)

จินตนาการใหม่ที่เกิดจากการบรรจบกันของคนที่อยู่ในภาวะเคลื่อนย้าย (moving people) และภาพลักษณ์ที่กำลังเคลื่อนย้าย (moving images) คือ จินตนาการที่ขยายใหญ่ ข้ามพรมแดนและเชื่อมท้องถิ่นระยะไกล เป็นจินตนาการการเป็นเครือญาติ / ชุมชน / ท้องถิ่นที่ขยายใหญ่ตัดข้ามท้องถิ่นเดิม ภูมิภาคและพรมแดนรัฐ-ชาติตามการเคลื่อนย้ายระยะไกลของผู้คน และส่งผลให้เกิดสนามความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ที่ขยายใหญ่ เป็นสนามความสัมพันธ์ทางสังคมระดับโลก (Arjun Appadurai, 1996:31)

โลกาภิวัตน์กับการก่อเกิดท้องถิ่นข้ามท้องถิ่น
สำหรับอัปปาดูรัยแล้วกระบวนโลกาภิวัตน์มิได้ทำลายท้องถิ่น แต่เป็นเงื่อนไขสำคัญของการก่อเกิดท้องถิ่นข้ามท้องถิ่นหลายรูปแบบ เช่น

- 1. เขตพรมแดน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเขตที่มีการเคลื่อนย้ายหมุนเวียนของผู้คนและสินค้าที่มีความสลับซับซ้อน
ตัวอย่างท้องถิ่นข้ามท้องถิ่นประเภทนี้ได้แก่ เขตหรือพื้นที่ชายแดนระหว่างเม็กซิโกกับอเมริกา

- 2. เขตการท่องเที่ยว
- 3. เขตการค้าเสรี
- 4. ค่ายผู้อพยพหนีภัยการเมือง
- 5. แรงงานข้ามชาติ
- 6. อาณาบริเวณของผู้อพยพ และ
- 7. เครือข่ายของเมือง

โดยเฉพาะเมืองที่หลุดออกจากบริบทของรัฐ-ชาติ หรือเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การฑูตและสื่อ ตัวอย่างของเมืองประเภทนี้ได้แก่ ฮ่องกง แวงคูเวอร์ และบรัสเซลส์ และเมืองที่เชื่อมกับเมืองอื่นอันเนื่องมาจากกระบวนโลกาภิวัตน์ และสงครามกลางเมือง เช่น ซาราเยโว เบรุต เบลฟาส และโมกาดีซู (Arjun Appadurai, Sovereignty without Territoriality: 44-45)

การเคลื่อนย้ายของผู้คนทำให้ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ความสมานฉันท์ และสายสัมพันธ์อื่นๆ ของผู้คนขยายใหญ่ขึ้น. ความสมานฉันท์และสายสัมพันธ์ข้ามประเทศและข้ามทวีป และการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากถิ่นเดิมไปอยู่ในถิ่นใหม่ ทำให้คนกลุ่มนั้นสร้างท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ในประเทศพักพิง โดยอาศัยสื่อสมัยใหม่และภาพลักษณ์ที่เกิดจากสื่อเป็นปัจจัยต่อเชื่อมกับท้องถิ่นเดิม และทำให้คนทั้งที่อยู่ท้องถิ่นเดิมและท้องถิ่นใหม่สัมพันธ์กับท้องถิ่นกับพื้นที่มากกว่าหนึ่งท้องถิ่นและหนึ่งพื้นที่ และกลายเป็นท้องถิ่นข้ามท้องถิ่นระยะไกลและขยายใหญ่ตามสังคมสมัยใหม่ที่ขยายตัวขึ้น (ฐิรวุฒิ เสนาคำ, 2547:118)

โลกาภิวัตน์จากฐานล่าง
อัปปาดูรัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาการศึกษาโลกาภิวัตน์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับโลกาภิวัตน์จากข้างบนหรือโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม การให้ความสำคัญกับการศึกษาโลกาภิวัตน์จากข้างบน มิได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงที่ระเบิดขึ้นมาในท้องถิ่นและมิได้แก้ปัญหาความอยุติธรรมต่อกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบของสังคมเกิดขึ้นทั่วไป ดังนั้น เขาจึงเสนอว่า การศึกษาโลกาภิวัตน์จำต้องให้ความสำคัญกับโลกาภิวัตน์จากเบื้องล่าง ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยเชิงลึก ประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน และมุ่งเสริมสร้างปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) ในระดับโลก

อัปปาดูรัยเห็นว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์จากเบื้องล่าง หรือการต่อสู้ของท้องถิ่นที่ถักทอเป็นเครือข่ายระดับโลก มีตัวอย่างให้เห็นหลากหลาย และที่ได้รับการกล่าวถึงค่อนข้างมาก คือ เครือข่ายที่ถักทอโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ที่สนับสนุนชุมชนในระดับท้องถิ่นและมุ่งเน้นความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางสังคม และการกระจายความมั่งคั่งของสังคมใหม่ เครือข่ายการรณรงค์นโยบายข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติ (transnational advocacy networks) เครือข่ายที่ถักทอกันขึ้นเพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์จากเบื้องบน เช่น เครือข่ายการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ซีแอตเทิร์น, มิลาน, กอตเตบอร์ก, และวอร์ชิงตัน ดี.ซี. เครือข่ายการณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี สิทธิชนพื้นเมือง สิ่งแวดล้อม แรงงานเด็ก สิทธิมนุษยชน สิทธิทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง สิทธิผู้อพยพ และสิทธิภูมิปัญญาชนพื้นเมืองที่ถักทอข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติ

การจัดการที่อยู่อาศัยและสลัมในกรุงบอมเบย์ด้วยภูมิปัญญาหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดการท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อัปปาดูรัยเลือกศึกษา คือ กรณีการจัดการที่อยู่อาศัยและการจัดการสลัม ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นในกรุงบอมเบย์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการปะทะขัดแย้งอย่างรุนแรงทางศาสนาและชาติพันธุ์ ระหว่างฮินดูกับอิสลามเมื่อต้นทศวรรษ 1990 การจัดการที่อยู่อาศัยและสลัมในกรุงบอมเบย์ เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรสลัมในท้องถิ่น สมาพันธ์ผู้อาศัยในสลัมของอินเดีย และองค์กรพัฒนาเอกชน และเกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนา (คริสต์-มุสลิม-ฮินดู) เพื่อแก้ปัญหาและแสวงหาทางออกของชาวสลัม ที่อยู่อาศัย และสลัมในบอมเบย์นั้น ได้รับการจัดการด้วยภูมิปัญญาในท้องถิ่นของอินเดีย ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากแอฟริกา จากพนมเปญ และจากกรุงเทพมหานคร โดยภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกสร้าง หรือปรับให้สอดรับกับบริบทท้องถิ่นของบอมเบย์ มองในแง่นี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบอมเบย์จึงมิใช่ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบอมเบย์โดยสิ้นเชิง แต่เป็นภูมิปัญญาที่ถูกผสมด้วยภูมิปัญญาข้ามท้องถิ่นจากพนมเปญ แอฟริกาและกรุงเทพมหานคร และเกิดจากกระบวนการสร้างร่วมกันระหว่างคนในสลัมกับคนนอกสลัม

การสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นข้ามท้องถิ่นในการจัดการสลัมและที่อยู่อาศัย ดำเนินควบคู่ไปกับกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อชาวสลัมในบอมเบย์ ซึ่งเป็นการต่อสู้ในลักษณะของการเชื่อมต่อเครือข่ายการต่อสู้ของชาวสลัมในบอมเบย์ เข้ากับการต่อสู้ของชาวสลัมในเมืองอื่นและท้องถิ่นอื่นของอินเดีย และการต่อสู้ของชาวสลัมในประเทศอื่น. การต่อสู้และการจัดการสลัมท้องถิ่นในบอมเบย์จึงอาจถือได้ว่า เป็นกระบวนการทำให้การต่อสู้ของท้องถิ่นข้ามพรมแดนประเทศ หรือการสร้างเครือข่ายโลกาภิวัตน์จากข้างล่าง หรือการทำการเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองสากล. ด้วยเหตุนี้ สลัมหรือท้องถิ่นในบอมเบย์จึงทำหน้าที่เสมือนฐานที่นั่งทางการเมืองเพื่อสิทธิและการดำรงอยู่ของชาวสลัม เป็นฐานปฏิบัติการของประชาธิปไตยแนวลึกที่รวมคนอื่น ไม่แยกและกีดกันความเป็นอื่นด้วยพรมแดนประเทศ อาชีพ เชื้อชาติ และศาสนา. ประชาธิปไตยที่รวมคนอื่นและความเป็นอื่นนี้ อัปปาดูรัยเรียกว่า "ประชาธิปไตยข้ามพรมแดน" หรือ "democracy without borders" (Arjun Appadurai, 2002:21-47 อ้างในฐิรวุฒิ เสนาคำ, 2547:138-140)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ : Release date 21 May 2008 : Copyleft by MNU.

ฮาบีทัส (habitus) คือทุนของแต่ละคนที่ได้มาจากการสะสมประสบ การณ์ชีวิตของตน ที่ซึ่งแต่ละคนนั้นสืบต่อกันมา โดยผ่านการอบรมในครอบครัวหรือในชุมชนของตน (Domestic transmission of capital) จากหน่วยสังคมพื้นฐานนี้ได้กลายมาเป็นฐานของการพัฒนาค่านิยมและรสนิยมรวมทั้ง รูปแบบพฤติกรรมของคนๆ นั้นซึ่งจะกลายเป็นฐานของการก่อรูป สิ่งที่บูร์ดิเยอเรียกว่า ฮาบีทัส ฮาบีทัสเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของการแสดงออกภายนอก หรือเป็นทิศทางพัฒนาการของบุคคล ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ยังเป็นเด็กสู่วัยรุ่น. ชนชั้นทางสังคมและวัฒนธรรมเองก็เป็นภูมิหลังที่มีอิทธิพลสูงต่อปัจเจกแต่ละคน ระบบฮาบีทัสจึงเป็นความเข้าใจสามัญที่กำหนดมุมมองของเราที่มีต่อโลก สร้างแนวโน้มเพื่อให้เรามองเห็น เข้าใจสิ่งต่างๆ...

H