1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
รัฐธรรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
๒๔๗๕
ชีวประวัติการอภิวัตน์กับระบอบรัฐธรรมนูญสยาม
๒๔๗๕ (ตอนที่ ๑)
ดร.บัณฑิต
จันทร์โรจนกิจ : ผู้วิจัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
งานวิจัยขนาดยาวชิ้นนี้(ความยาวประมาณ
๒๖๒ หน้า) ได้รับมาจากผู้วิจัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ
งานวิจัยเรื่อง"ชีวประวัติธรรมนูญการปกครอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
๒๔๗๕ - ๒๕๒๐"
เอกสารหมายเลข ๖๐๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐ โครงการเมธิวิจัยอาวุโส สกว. สำหนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ใน"โครงการวิจัยเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ" ผู้อำนวยการโครงการ ศาสตราจารย์
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในส่วนของหน้าเว็บเพจนี้
เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยข้างต้น เฉพาะในส่วนดังต่อไปนี้
- 1. แนวคิดรัฐธรรมนูญก่อนการอภิวัตน์ 2475
- 2. กำเนิดรัฐธรรมนูญสยาม
- 3. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475
- 4. รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475-2520
และ
บทที่ ๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475
- 1.1 ความเบื้องต้น : การอภิวัตน์กับระบอบรัฐธรรมนูญสยาม
- 1.2 สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475
- 1.3 วิวาทะระหว่างการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ
- 1.4 ความขัดแย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
- 1.5 การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475
และมีหัวข้อที่น่าสนใจดังต่อไปนี้... พระราชอำนาจ, ปัญหาการสืบราชสมบัติ,
พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปให้อยู่เหนือการเมือง,
การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา กับรัฐประหาร ๒๔๗๖, กบฏบวรเดช: คณะกู้บ้านเมือง,
กรณีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัต, เป็นต้น
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๕๙๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รัฐธรรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
๒๔๗๕
ชีวประวัติการอภิวัตน์กับระบอบรัฐธรรมนูญสยาม
๒๔๗๕ (ตอนที่ ๑)
ดร.บัณฑิต
จันทร์โรจนกิจ : ผู้วิจัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
คํานํา
ผู้วิจัยได้รับมอบหมายจากศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ให้ปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยชิ้นนี้ โดยผู้วิจัยไม่คาดคิดว่าจะมีการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ทําให้ผู้เขียนยิ่งได้ตระหนักถึงอนิจลักษณ์ของการเมืองไทย ดังที่ได้ตั้งชื่อโครงการวิจัยนี้ว่า เป็น การศึกษาชีวประวัติของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2475-2520 เพราะผู้วิจัยเห็นว่ารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีชีวิตทางการเมืองและดับสลายไปตามภาวะเหตุการณ์ที่ก่อกําเนิดธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการสิ้นสภาพของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็มีบริบทรายรอบอยู่ แตกต่างกันไปเช่นนี้แล้ว รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองก็เสมือนบุคคลที่มีชีวิตทางสังคมและจบชีวิตด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป การทบทวนข้อถกเถียงในการร่างและการใช้รัฐธรรมนูญเหล่านี้กล่าวได่ว่า เป็นภาพสะท้อนการจัดสัมพันธภาพทางอํานาจของการเมืองไทยในรอบกึ่งศตวรรษแรก ในการทบทวนปรับปรุงรายงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาเรียบเรียงโดยสอบทานจากต้นฉบับและงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มเติมข้อคิดเห็นและข้อมูลจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตหลายๆ ฉบับ โดยมี นางสาวจินตนา เมืองแมน ผู้ช่วยนักวิจัย ผู้ช่วยค้นหาเอกสารอ้างอิงต่างๆ ด้วยความแข็งขัน
ท้ายที่สุดนี้ ผู้วิจัยขอขอบพระคุณคณาจารย์ คณะรั ฐศาสตร์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง
ที่มีส่วนช่วยเหลือผู้วิจัยทั้งทางตรงและทางอ้อมดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
14 กุมภาพันธ์ 2550
บทนำ
1. แนวคิดรัฐธรรมนูญก่อนการอภิวัตน์ 2475
รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองที่ได้มีการร่างและประกาศใช้ในสังคมไทยนั้น
มีเรื่องราวที่แตกต่างกัน ทั้ง"ที่มา"และ"จุดจบ"แตกต่างกันออกไป
ราวกับรัฐธรรมนูญนั้นเป็นบุคคลมีชีวิต ซึ่งประสบชะตากรรมอันหลากหลาย
แม้ว่าแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ (constitution) จะเป็นของใหม่ที่ถือกำเนิดในบริบทตะวันตก แต่ประเทศไทยเราก็ได้รับเอาแนวคิดนี้มาสถาปนาในวัฒนธรรมไทยมาช้านานจนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและปรับเปลี่ยนไปตามมาตรฐานของนานาอารยประเทศในบางข้อ
เมื่อแรกที่แนวคิดรัฐธรรมนูญได้รับการเผยแพร่นั้นมีการแปลความหมายของสิ่งที่เรียกว่า"กอนสติติวซัน" อย่างคลุมเครือ และบางครั้งก็มักจะถูกกล่าวถึงไปพร้อมๆกับระบอบการเมืองแบบสาธารณรัฐ (republic) หรือที่พากย์ไทยว่า "รีปับลิก" ซึ่งหมายถึงระบอบการปกครองใหม่ที่มีผู้นำมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังที่ปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุบางกอก (The Bangkok Recorder)(1) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2408 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า
(1) หนังสือจดหมายเหตุจัดพิมพ์โดย ดร.แดน แบรดลีย์ (Dan B. Bradley) ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อหมอบรัดเลย์
"เมืองยูในทิศเทศไม่มีคนเปนกระสัตรีย์ก็จริง,
แต่มีกอนสติติวซันคือกดหมายอย่างหนึ่งสั้นๆ เปนแบบอย่างสำรับจะให้เจ้าเมืองรักษาตัวแลรักษาเมืองตามกดหมายนั้น.
เมื่อตั้งเปนเจ้าเมืองก็ต้องษาบาลตัวว่าจะรักษาบทกอนสติติวซันให้ถี่ท่วนตามสติปัญญา
แลกำลังอันครบบรีบูรณของตัว. แลหัวเมืองยูในทิศเทศทั้งปวงก็ได้ปฏิญาณตัวไว้,
เปนใจความว่า, จะให้บทกอนสติติวซันตั้งไว้เปนต่างกระษัตริย์. ถ้าแม้นเปรศซิเดนต์จะหักทำลายกอนสติติวซันเมื่อใด
ก็คงจะเปนโทษใหญ่เมื่อนั้น. ถ้าหัวเมืองใดเอาใจออกหากจากกอนสติติวซันนั้นก็จัดได้ชื่อว่าเปนขบถ.
ฝูงราษฎรหัวเมืองทั้งปวงนั้นเปนผู้จัดเลือกตั้งบทกอนสติติวซันขึ้นเปนใหญ่แทนกระษัตรีย์.
แลราษฎรทั้งปวงจะได้เลือกคนตั้งเปนเปรศซิเดนต์, สำรับจะป้องกันรักษาบทกอนสติติวซันให้มั่นคง"
(อ้างจาก บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ2549: 66-67)
ความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญในระยะแรกว่า
มีระบอบการเมืองที่ "ราษฎร" เลือกกษัตริย์ขึ้นปกครองตนเองจึงกระทบกระเทือนโดยตรงต่อสถานะและความมั่นคงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
กระนั้นก็ตาม มีคำอธิบายว่าสิ่งที่เรียกว่ากอนสติติวซันนั้น แท้จริงแล้วก็คือราชประเพณีหรือธรรมเนียมในการสืบทอดอำนาจของระบอบการเมืองนั่นเอง
และตามความเข้าใจดังกล่าวนั้น สยามมีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งก็คือกฎมณเฑียรบาลซึ่งกล่าวถึงการสืบสันตติวงศ์และกฎเกณฑ์การสืบทอดอำนาจในรัฐไว้แล้ว
แต่ในความรู้สึกนึกคิดของคณะเจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่งเห็นไปในทางตรงกันข้าม
พวกเขาได้ร่างคำกราบบังคมทูลฯ เมื่อ พ.ศ. 2428 ทูลเกล้าต่อพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรู้จักกันภายหลังในชื่อ "คำกราบบังคมทูล
ร.ศ. 103" ความตอนหนึ่งว่า
นอกจากสยามจะอยู่ท่ามกลางวิกฤตของการล่าเมืองขึ้นแล้ว ระบอบการเมืองของสยามเสมือนหนึ่ง "อุบะที่แขวนไว้ด้วยเชือกเพียงเส้นเดียว พวกอุบะซึ่งอาศัยเชือกอยู่นั้นถ้ามีอันตรายเชือกขาดก็จะต้องตกถึงพื้น ถึงแก่ช้ำเปลี่ยนแปลงรูปพรรณไปได้ต่างๆ ฤาบางทีทำลายยับเยินสิ้นดีเดียว" คณะเจ้านายและขุนนางกลุ่มนี้ถวายคำแนะนำให้ทรงเปลี่ยนพระราชประเพณีจาก แอบโซลูดโมนากี มาเป็นพระราชประเพณีที่เรียกว่ากอนสติติวซันโมนากี (2) ซึ่งจะเป็นการกำหนด "พระราชประเพณีแน่นอนในการสืบสันตติวงศ์" และปรับปรุงการบริหารราชการให้เป็นไปในทางที่นำพาสยามไปสู่ความเจริญ (3)
(2) ในขณะนั้นยังไม่มีคำแปลชื่อระบอบการปกครองดังกล่าวเป็นภาษาไทย ในที่นี้อาจอนุวัตรตามคำแปลปัจจุบันว่าเป็นการทูลถวายคำแนะนำ ให้เปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ดู บทที่ 3 ของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ. รัฐธรรมนูญสถาปนา: ชีวิตและชะตากรรมของประชาธิปไตยในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์วิภาษาและสถาบันเพื่อการวิจัยวัฒนธรรมร่วมสมัย, 2549.
(3) ตามคำกราบบังคมทูล ร.ศ. 103 นั้น ไม่ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรียกทับศัพท์ว่าปาลิเมนต์ ซึ่งคณะ ร.ศ. 103 เห็นว่าเป็น "ตัวกั้นขวาง" พระราชหฤทัย
แม้ว่าคำกราบบังคมทูลของคณะเจ้านายและขุนนาง ร.ศ. 103 จะไม่สัมฤทธิ์ผล แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สภาวะการเมืองโลกมีความผันผวนทั้งผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองในประเทศรัสเซีย จนถึงประเทศจีนซึ่งได้ล้มล้างระบอบกษัตริย์และเข้าสู่การเมืองในแบบมหาชนรัฐ. ในท่ามกลางกระแสดังกล่าวก็มีความพยายามจากกลุ่มบุคคลที่ก่อตัวจากนายทหารชั้นผู้น้อยที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ คณะกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ว่าจะไม่มีทิศทางทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมก็ตาม (4)
(4) มีข้อถกเถียงว่าคณะ ร.ศ. 130 นั้นต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitution monarchy) หรือระบอบสาธารณรัฐหรือมหาชนรัฐ (republic): ดู แถมสุข นุ่มนนท์. ยังเติร์กรุ่นแรก กบฎ ร.ศ. 130. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เรืองศิลป์, 2522 และ อัจฉราพร กมุทพิสมัย. กบฏ ร.ศ. 130: กบฏเพื่อประชาธิปไตยแนวคิดทหารใหม่. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์อัมรินทร์วิชาการ, 2540. ; ขณะที่ วอลเทอร์ เวลลา เห็นว่าคณะ ร.ศ. 130 ยังไม่สุกงอมทางความคิด จึงไม่อาจสรุปได้ว่าพวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่รูปแบบใด ดู Walter Vella. Chaiyo!: King Vajiravudh and the Development of Thai Nationalism . Honolulu: University Press of Hawaii, 1978.
ดังได้กล่าวมาแล้วถึงความหมายของแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่เป็นที่ลงตัวและยังคงคลุมเครือ แนวคิดดังกล่าวยังได้ถูกกล่าวถึงควบคู่ไปกับคำว่าประชาธิปไตย ซึ่งในด้านหนึ่งหมายถึงระบอบการเมืองที่อำนาจเป็นของปวงชน แต่ในอีกด้านหนึ่งมีนัยถึงระบอบการเมืองแบบมหาชนรัฐ ซึ่งล้มล้างสถาบันกษัตริย์และสถาปนาระบอบการเมืองที่ประชาชนเลือกผู้นำแห่งรัฐ ซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาคือระบอบประธานาธิบดี. ความคลุมเครือดังกล่าวนี้ทำให้แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม กลายเป็นสิ่งคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (5) และเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญในเวลาต่อมา
(5) ระบอบการปกครองแบบอังกฤษนั้น เริ่มจากการจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ก่อน และสถาปนาอำนาจสูงสุดไว้ที่รัฐสภาอังกฤษตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17 ดู กรณีการพิพากษาคดีนายแพทย์ บอนฮัม (Bonham) ซึ่งนำไปสู่การยึดหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภาใน วรเจตน์ ภาคีรัตน์. "ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญกับศาลรัฐธรรมนูญ" ใน รวมบทความทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี ธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541 หน้า 193-194
2. กำเนิดรัฐธรรมนูญสยาม
หากมองในมิติทางประวัติศาสตร์เรื่องรัฐธรรมนูญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น
จะพบว่ารัฐธรรมนูญต่างเป็นของใหม่ในภูมิภาคนี้ โดยพิจารณาจากสภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ซึ่งมีประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ ที่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับอำนาจการปกครองตนเองจากเจ้าอาณานิคม
(6) เช่นนี้แล้ว กล่าวได้ว่าประเทศไทยมีประสบการณ์และมีการถกเถียงในเรื่องรัฐธรรมนูญยาวนานและมากที่สุดก็ว่าได้
(6) เช่น ฟิลิปปินส์ (1946), เวียดนาม (1954), เขมรและลาว (1953), พม่า (1948) มาเลเซีย (1963) เป็นต้น ดู แนวคิดเรื่องการสถาปนารัฐธรรมนูญนิยมในเอเชียใน Lawrence Ward Beer. W Constitutionalism in Asia and the United States: Asian Views of the American Influence. Berkeley: Los Angeles: Uniersity of California Press, 1979, pp. 1-19.
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงบางประการที่ยังคงมีวิวาทะอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะเรื่องความเหมาะสมในการปฏิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ในขณะที่มีการกล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงมีพระราชดำริตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2468 ในพระราชหัตถเลขาเรื่อง "Problems of Siam" ถึงพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) ว่าทรงพระประสงค์จะให้มีการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)
ซึ่งแม้จะมีการร่างโครงสร้างของรัฐบาล และทรงส่งพระราชบันทึกถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมาชิกอภิรัฐมนตรีท่านอื่นๆ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า โดยกรมพระยาดำรงฯ ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวพระราชดำริดังกล่าว หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิศาลวาจา ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2474 ปรากฏเป็นเอกสารในชื่อ "An Outline of Changes in the Form of Government"
เมื่อทรงส่งร่างฯ ไปให้สมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2474 ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วย แนวพระราชดำริเรื่องรัฐธรรมนูญจึงสิ้นสุดลงเนื่องจากการปฏิวัติสยามในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (7)
(7) ในเวลานั้นการนับปีใหม่ยังนับตามแบบประเพณีไทยเดิม คือนับเอาวันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ การที่แนวพระราชดำริของพระองค์ถูกทัดทาน จึงเป็นเวลาก่อนการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน เพียงสองเดือนเศษ: เกี่ยวกับแนวพระราชดำริในการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ดูสถาบันพระปกเกล้า. จากองค์ราชันย์สู่สถาบันพระปกเกล้า. กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า, 2542, หน้า 16-18. ดูแนวพระราชดำริทางการเมืองเรื่องการจัดการปกครองแบบประชาธิปไตยใน สนธิ เตชานันท์. แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ: ราชสกุลสวัสดิวัฒน์ จัดพิมพ์ขึ้นทูลเกล้าถวายฯ โดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อพระราชทานเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528, 2528.
การร่างรัฐธรรมนูญในการเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีข้อสังเกตใน 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก การที่คณะราษฎรใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดิน ทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แต่มีคำว่า "ชั่วคราว" ลงมาด้วยจึงทำให้เป็นเงื่อนไขที่ต้องจัดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ทั้งนี้โดยนัยของการตรารัฐธรรมนูญในรูปของพระราชบัญญัตินั้น ทำให้เกิดข้อถกเถียงในแง่ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และการเลือกใช้คำ ดังที่ทรงกล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า
"...ข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก..." (8)
(8) ปั่น บุญยเกียรติ และนายดาบเฮง เล้ากระจ่าง. สยามรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ภาค 1. พระนคร: ม.ป.ท., 2475 หน้า 31. อ้างจาก นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 กรุงเทพ: สำนักพิมพ์อัมรินทร์วิชาการ, 2540 หน้า 229-230.
ผลจากนัยดังกล่าว ทำให้เกิดธรรมเนียมรัฐธรรมนูญ (constitutional convention) ในเวลาต่อมาว่าฉบับใดใช้คำว่า "ธรรมนูญ" ก็จะเป็นฉบับชั่วคราว หากจะให้เป็นฉบับถาวรก็จะใช้คำว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏว่ามีการใช้ธรรมนูญการปกครองถึง 5 ฉบับ (9) แต่ก็มีการใช้คำว่ารัฐธรรมนูญและกำกับด้วย "(ชั่วคราว)" ถึง 2 ฉบับ (10) ซึ่งโดยเฉพาะในชั้นหลังมีผลทำให้ธรรมเนียมรัฐธรรมนูญนี้เปลี่ยนไปธรรมเนียมรัฐธรรมนูญที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยนับเป็นฉบับใหม่ ในขณะที่บางประเทศ เช่น เอธิโอเปีย ญี่ปุ่นใช้วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ธรรมเนียมรัฐธรรมนูญ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และประกาศใช้นี้นับว่าเป็นธรรมเนียมการร่างรัฐธรรมนูญไทยปฏิบัติมาจนเป็นที่ยอมรับ (11)
(9) ได้แก่ ฉบับ พ.ศ.
2475, 2502, 2515, 2520, และ 2534
(10) ได้แก่ ฉบับ
พ.ศ. 2490 และฉบับ 2549 ทั้งสองฉบับต่างเป็นผลพวงของการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนทั้งสิ้น
(11) ไพโรจน์ ชัยนาม.
สถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ กับระบอบการปกครองของไทย กรุงเทพ:
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2515, หน้า 22.
ประเด็นที่สอง การจัดสัมพันธภาพใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีการถกเถียงในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ประเด็นเรื่องพระราชอำนาจ พระราชอำนาจในกิจการส่วนพระองค์ พระสถานะของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ ฐานันดรศักดิ์และรัชทายาท เป็นต้น (12)
(12) โปรดดูบทที่ 1
ประเด็นที่สาม อิทธิพลความคิดการเมืองตะวันตกกับการแข่งขันทางอุดมการณ์ ระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นไปอย่างดุเดือดโดยเฉพาะการแข่งขันทางอุดมการณ์และการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ผลจากการใช้ระบอบรัฐธรรมนูญนับแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 ทำให้การแข่งขันทางอุดมการณ์ระหว่างอุดมการณ์สังคมนิยมและมาร์กซิสม์ กับเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะหลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ถูกกดดันต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อลดกระแสการเสียดทานจากการถกเถียงเรื่องข้อเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้รับความกระทบกระเทือนในเวลาต่อมาจากกรณีสวรรคต ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ซึ่งต้องการแยกข้าราชการประจำและทหารออกจากงานการเมือง และปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเมืองเสรีนิยมมากขึ้น ซึ่งยุติลงภายหลังรัฐประหาร ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490
แม้ว่ารัฐประหาร 2490 จะทำให้การแยกข้าราชการประจำออกจากการเมืองชะงักงัน แต่หลักการดังกล่าวยังตกทอดมาถึงการต่อสู้ระหว่างนายควง อภัยวงศ์ ผู้นำสายอนุรักษ์นิยมกับสถาบันทหารภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 อีกด้วย และจบลงด้วยการพ่ายแพ้ของกลุ่มนายควง ซึ่งถูกรัฐประหารเงียบเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494
ประเด็นที่สี่ อิทธิพลของแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์การพัฒนาการเมืองและสถาบันการเมือง ซึ่งได้จำเริญงอกงามพร้อมๆ กับความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อระบอบการเมือง ที่แสดงตัวออกมาชัดเจนในการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 (13)
(13) ในที่นี้ไม่นับรวมถึงการเมืองภาคประชาชนภายหลังทศวรรษ 2520 ซึ่งมีอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยและนักศึกษาที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสตร์แห่งประเทศไทย ที่ทยอยกลับคืนเมืองและเข้าร่วมขบวนการพัฒนาภาคเอกชนและเติบโตเป็นกลุ่มพลังสำคัญนอกราชการ นับแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา
มีการศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2477 โดยหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์) เปิดการบรรยายลักษณะวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้งในระดับปริญญาตรีนับแต่แรกตั้งมหาวิทยาลัย และเปิดสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้งพิสดารในระดับปริญญาโท ในพ.ศ. 2478 โดย ดร. เดือน บุนนาค (14)
(14) ไพโรจน์ ชัยนาม, เพิ่งอ้าง, หน้า 19.
ตามทัศนะของไพโรจน์ ชัยนาม (2490) กล่าวถึงการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญว่า มีอยู่สองแนวทาง ได้แก่
- แนวทางการศึกษาโดยแยกแยะตัวบทซึ่งเป็นการศึกษาสถาบันการเมืองและมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ หรือเป็น "การแยกธาตุ" ในทางกฎหมาย
- วิธีการศึกษาตามประวัติศาสตร์ซึ่งมักถูกละเลย โดยวิธีการศึกษาแบบหลังนี้เป็นการศึกษาที่มาของวิธีการปกครอง กำเนิด และเหตุผลของการออกแบบ ระบอบการเมือง การสิ้นสุดและวิวัฒนาการของระบอบการเมือง
ไพโรจน์กล่าวว่าชีวิตของชนชาติหนึ่งๆ
ย่อมผูกพันกับระบอบการปกครองหรือรัฐธรรมนูญ
ของตนและมีข้อสรุปสามประการได้แก่
1. รัฐธรรมนูญทุกฉบับ จะต้องเหมาะสมแก่ฐานะของประเทศ จึงสามารถมีผลบังคับใช้ได้ยืนยาว
2. รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะต้องจะต้องวิวัฒน์ไปตามความต้องการของประเทศ เพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัยอยู่เสมอ
3. รัฐธรรมนูญทุกฉบับย่อมก่อให้เกิดผลดี หรือผลร้ายแก่ประเทศ (15)
(15) ไพโรจน์ ชัยนาม. "วิธีการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ" ใน นิติสาส์น (18:3) (สิงหาคม-กันยายน, 2490 หน้า 741-748.
จากทัศนะของไพโรจน์จะเห็นได้ว่า การศึกษาเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญในระยะแรกนั้น ยังไม่ซับซ้อนมาก ทั้งในแง่การพิจารณารายมาตราและประวัติศาสตร์ จนกระทั่งราวทศวรรษ 2510 จึงมีการศึกษาสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญต่างประเทศ ดังปรากฏในคำบรรยายของไพโรจน์ เรื่องสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญของต่างประเทศกับระบอบการปกครองของไทย (2515) ซึ่งไพโรจน์กล่าวว่า ได้เรียบเรียงเรื่องนี้เพราะต้องการที่จะให้มีความหมายว่า "สถาบันการเมืองและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของต่างประเทศบางประการ ได้มีอิทธิพล และมีส่วนเป็นที่มาในการสถาปนาสถาบันการเมืองและในการร่างรัฐธรรมนูญของไทยเราอย่างไรบ้าง" (16)
(16) ไพโรจน์ ชัยนาม. เพิ่งอ้าง, หน้า 1. ไพโรจน์ยังได้กล่าวถึงสาระสำคัญในการศึกษารัฐธรรมนูญสยามไว้ในบทความนี้ด้วย ดู หน้า 14-19.
ในการปรับปรุงคำบรรยายเมื่อ พ.ศ. 2524 ไพโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญหลายประการ ในข้อสังเกตดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ การกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในหลักการบางอย่างที่เริ่มจะเปลี่ยนแปลงหรือจะไม่เป็นจริง เช่น การกล่าวถึงหลักการแยกอำนาจนั้น มีการปรับเปลี่ยนในต่างประเทศที่จะเลี่ยงการกล่าวถึงอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และยุติธรรมอย่างโดดๆ แต่จะมุ่งกล่าวถึง "ภารกิจ (function)" มากกว่า "อำนาจ", พร้อมๆ กับการกล่าวถึงรูปแบบรัฐบาลสามแบบตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเริ่มตระหนักถึงบทบาทของสถาบันการเมืองอย่างพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือกำเนิดภายหลังจากที่มองเตสกีเออ (Montesquieu) เขียนเรื่องเจตนารมณ์แห่งกฎหมายหลายร้อยปี (17)
(17) ไพโรจน์ ชัยนาม. สถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญของต่างประเทศกับระบอบการปกครองของไทย" กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2524, หน้า (5)-(11).
แม้ว่าหลักการบางอย่างจะสูญหายไปตามกาลเวลา และความจำเป็นทางประวิติศาสตร์ แต่ไพโรจน์ยังเห็นว่าจำเป็นต้องมีการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญในแง่ประวัติศาสตร์ ดังที่ระบุว่า"ประวัติศาสตร์มิได้ทำลายเลิกล้มคุณค่าแห่งคำอธิบายนั้นๆ แต่เป็นการจัดวางให้เข้าที่เข้าทางให้ถูกต้องเสียใหม่" นอกจากนี้ยังได้มีอิทธิพลการศึกษาเรื่องพัฒนาการการเมือง (political development) ซึ่งได้พินิจพิเคราะห์ถึงการมีสถาบันการเมืองและพัฒนาการของสถาบันการเมืองเหล่านั้น โดยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ พร้อมๆ กับอิทธิพลการศึกษารัฐศาสตร์แบบใหม่ที่มีการสร้างคำอธิบาย เช่น ระบอบอำมาตยาธิปไตย (bureaucratic polity) (18) หรือการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกนึกคิดของปัญญาชนซึ่งนำไปสู่การถกเถียงในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 และส่งผลสะเทือนต่อธรรมเนียมการร่างรัฐธรรมนูญไทยในเวลาต่อมา
(18) ดู Fred Riggs, Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity. Honolulu : East - West Center Press, 1966.
3. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
พ.ศ. 2475
การปฏิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
พ.ศ. 2475 มีผลบังคับใช้ตามคำกราบบังคมทูลของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน
พ.ศ. 2475 (19)
(19) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 หน้า 166 วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ประกอบด้วย 39 มาตรา มีหลักการสำคัญดังนี้
1. การระบุว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎร แต่กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรได้แก่ กษัตริย์, สภาผู้แทนราษฎร,
คณะกรรมการราษฎร, และศาล (มาตรา 1, 2)2. กำหนดให้คณะกรรมการราษฎรทำหน้าที่แทนกษัตริย์ หากกษัตริย์มีเหตุจำเป็นไม่อาจทำหน้าที่ได้หรือไม่อยู่ในพระนคร (มาตรา 5)
3. จำกัดพระราชอำนาจกษัตริย์ โดยจะทรงทำการใดๆ จะต้องมีสมาชิกคณะกรรมการราษฎรลงนามกำกับ (มาตรา 7) ในการตราร่างพระราชบัญญัตินั้น หากไม่ทรงพระราชทานกลับใน 7 วัน สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติยืนยันและประกาศใช้ได้ (มาตรา 8)
4. จัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรโดยแบ่งเป็นสามสมัย (มาตรา 10)
4.1 สมัยแรก ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว 70 นาย (มาตรา 10)
4.2 สมัยที่สองจะจัดให้มีผู้แทนราษฎรสองประเภท ประเภทแรกให้สมาชิกสมัยแรกเลือกกันเอง ประเภทที่สองให้มีการเลือกตั้ง โดยกำหนดให้แต่ละจังหวัดมีสมาชิกฯ 1 นาย หากมีประชากรเกิน 100,000 คน และเศษเกิน 50,000 คน ให้นับเพิ่มสมาชิกอีกหนึ่งนาย
4.3 สมัยที่สามในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี หรือหากมีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาเกินครึ่งหนึ่ง ให้จัดให้มีการเลือกตั้งทางอ้อม
5. กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงเลือกตั้งและลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (มาตรา 11-14)
6. กำหนดระเบียบวาระการประชุม (มาตรา 18-27)
7. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการราษฎร (มาตรา 28-31) องค์ประกอบของคณะกรรมการราษฎร ตลอดจนอำนาจการเจรจาการเมืองระหว่างประเทศการตั้งถอดเสนาบดี, การทำสัญญาพระราชไมตรี, การประกาศสงคราม ซึ่งกษัตริย์จะใช้ได้โดยคำแนะนำของคณะกรรมการราษฎร (มาตรา 32-37)
8. การดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายและกระบวนการศาลในขณะนั้น (มาตรา 39)
แม้ว่าจะมีบทบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ก็ไม่มีการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากธรรมนูญการปกครองแผ่นดินถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นผลจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475
4. รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. 2475-2520
ในรายงานวิจัยฉบับนี้มีโครงสร้างของชีวประวัติของธรรมนูญและรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ
โดยยึดเอาจากคำถามพื้นฐาน ได้แก่ ธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญฉบับนั้นถือกำเนิดอย่างไร?
ถูกร่างโดยใคร และมีกระบวนการอย่างไร? ในระหว่างร่างมีข้อถกเถียงหรือวิวาทะสำคัญประการใด?
เมื่อมีการบังคับใช้แล้วมีสาระสำคัญประการใด และบังเกิดผลอย่างไร? และมีจุดสิ้นสุดทางการเมืองอย่างไร?
รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีชีวิตทางการเมืองและดับสลายไปตามภาวะเหตุการณ์ที่ก่อกำเนิดธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการสิ้นสภาพของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ก็มีบริบทรายรอบอยู่แตกต่างกันไป รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองจึงเสมือนบุคคลที่มีชีวิตทางสังคม และจบชีวิตด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป การทบทวนข้อถกเถียงในการร่างและการใช้รัฐธรรมนูญเหล่านี้ กล่าวได้ว่าเป็นภาพสะท้อนการจัดสัมพันธภาพทางอำนาจของการเมืองไทยในรอบกึ่งศตวรรษแรกนั่นเอง
(1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. 2475
1.1 ความเบื้องต้น : การอภิวัตน์กับระบอบรัฐธรรมนูญสยาม
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการอภิวัตน์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยาม
จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ(1) คณะราษฎรจัดทำร่าง พ.ร.บ.
ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงเติมคำว่า
"ชั่วคราว" กำกับต่อท้ายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม
โดยมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญฯ นี้เป็นการชั่วคราว
แล้วให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (ปรีดี
พนมยงค์ 2526 : 346)
(1) ปรีดี พนมยงค์ เรียกระบอบการปกครองใหม่นี้ว่า ระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (ปรีดี พนมยงค์ 2526 :346), พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเรียกว่า ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ (รงส. 34/2475) ในปัจจุบันเป็นที่เข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) แถลงต่อสภาฯว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เป็นฉบับชั่วคราวที่ร่างในเวลาฉุกละหุก อาจบกพร่อง จึงควรให้มีอนุกรรมการ ตรวจแก้ไขเพิ่มเติม ที่ประชุมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน 7 ท่าน มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธาน คณะอนุกรรมการฯ และหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นเลขาธิการ มีกรรมการ ประกอบด้วย พระยาเทพวิฑุร, พระยามานวราชเสวี, พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์, พระยาปรีดานฤเบศร์, และหลวงสินาดโยธารักษ์ (รงส.1/2475, 28 มิถุนายน 2475) ต่อมา พระมโนปกรณ์นิติธาดา เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ขอให้แต่งตั้ง อนุกรรมการฯ เพิ่มขึ้นอีก 2 ท่าน ได้แก่พระยาศรีวิศาลวาจา และนายพลเรือโทพระยาราชวังสัน โดยให้เหตุผลว่า จะได้ช่วยกันคิดทำให้งานสำเร็จเร็วขึ้น (รงส.27/2475, 23 กันยายน 2475)
เมื่อพิจารณาโครงสร้างคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า อนุกรรมการในปีกคณะราษฎร มีหลวงประดิษฐมนูธรรม ส่วนอนุกรรมการท่านอื่นๆ เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี, พระยามานวราชเสวี, และพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ เป็นนักกฎหมายที่จบการศึกษาจากอังกฤษและมีอาวุโสกว่า ขณะที่หลวงประดิษฐ์ฯมี อาวุโสอ่อนที่สุด และเป็นนักกฎหมายจากฝรั่งเศสเพียงคนเดียว (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 2534 : 113-120) กล่าวได้ว่า ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ มีการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงการพิจารณาร่าง รัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังปรากฏในคำแถลงของประธานอนุกรรมการ ฯ ต่อสภาฯ ว่า
" ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯถวาย และทรงเห็นชอบ ด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วย อย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก " (รงส. 34/2475 24 พฤศจิกายน 2475)
อนึ่ง สำหรับชื่อเรียก "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" นั้น ระหว่างที่คณะอนุกรรมการฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมีผู้เสนอให้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" แทน ซึ่งคณะอนุกรรมการก็รับว่า เห็นควรใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" ที่นายปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่า หมายถึง "กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ" (ปรีดี พนมยงค์ 2526 : 364-366 และ 374) เป็นที่ยอมรับกันภายหลังว่า ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นผู้เสนอให้ใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" และกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า ถ้าผู้ร่างต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" แต่ถ้าจะใช้เป็นฉบับชั่วคราวจะเรียกว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" (วิษณุ เครืองาม 2530 : 21 ) (2) สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยใช้วิธีพิจารณาแบบอนุกรรมการเต็มสภา และพิจารณาแบบเรียงมาตรา เพื่อเร่งพิจารณาให้เสร็จทันกำหนดฤกษ์พระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (รงส. 34/2475 24 พฤศจิกายน 2475)
(2) เป็นที่น่าสังเกตว่า ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 และ รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ซึ่งผู้ร่างเลือกใช้คำว่ารัฐธรรมนูญโดยกำกับด้วยคำว่าชั่วคราว เพื่อแสดงสถานะและมิติทางเวลาของรัฐธรรมนูญ
1.2 สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
พ.ศ. 2475
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 มีทั้งหมด 68 มาตรา โดย แบ่งออกเป็น
7 หมวด ได้แก่ หมวด 1 พระมหากษัตริย์. หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม. หมวด
3 สภาผู้แทนราษฎร. หมวด 4 คณะรัฐมนตรี. หมวด 5 ศาล. หมวด 6 บทสุดท้าย เป็นหมวดพิเศษเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ.
และหมวด 7 การใช้รัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล
วิภาลัย ธีรชัย (2522: 131- 32) สรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ไว้ดังนี้
1. อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวสยาม มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยแบ่งออก เป็น อำนาจนิติบัญญัติ มีสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจ อำนาจบริหารมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้ และอำนาจตุลาการมีศาลเป็นผู้ใช้
2. พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดต้องทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงมีพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ลงนามในสัญญา สันติภาพ ทำสนธิสัญญากับนานาประเทศ และยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ ทรงเรียกและปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนยุบสภาผู้แทนราษฎร
3.พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของสภาผู้แทนราษฎรให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐมนตรี
4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีสมาชิก 2 ประเภท ประกอบด้วย สมาชิกประเภทที่หนึ่งมาจากการเลือกตั้ง 2 ชั้น โดยราษฎรชาย หญิงที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ และมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย และภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2475 โดยจัดการเลือกผู้แทนตำบล แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง. ส่วนสมาชิกประเภทที่สอง ได้รับแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี และจะยกเลิกโดยกำหนดระยะเวลาไว้ว่า หากมีจำนวนราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรจบการศึกษาขั้นประถมศึกษาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด หรือในระยะเวลา 10 ปี
5. กำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ไม่ว่าจะทรงอิศริยศโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 มีความแตกต่างกันที่สำคัญ 3 ประการ ดังที่ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (2540: 236-237) ตั้งข้อสังเกตไว้คือ
ประการแรก สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจลดลง สภาผู้แทนราษฎรจะถูกยุบโดยพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน (มาตรา 29) นอกจากนั้น เป็นการประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ (มาตรา 31)
สภาฯมีอำนาจในการตราพระราชบัญญัติ และพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี และควบคุมฝ่ายบริหารโดยการตั้งกระทู้ถาม และมีมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะหรือรายตัว (มาตรา 36, 37, 40 และ 41) และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อทำกิจการหรือเพื่อสอบสวนข้อความต่างๆ แต่จะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในวงงานของสภา (มาตรา 43)
ประการที่สอง ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี 1 คน, และรัฐมนตรีจำนวน 14 ถึง 24 คน, มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 46) ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาฯ (มาตรา 47) คณะรัฐมนตรีบริหารราชการโดยได้รับความไว้วางใจจากสภา และสิ้นสุดฐานะเมื่อสภาลงมติไม่ไว้วางใจ (มาตรา 51) มีอำนาจในการตราพระราชกำหนด และกราบบังคมทูลขอให้พระมหากษัตริย์ตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้งพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 52 และ 56)
ประการที่สาม พระมหากษัตริย์ทรงได้รับพระราชอำนาจคืนมากขึ้น คือ ตราไว้ในรัฐธรรมนูญว่าทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ (มาตรา 3) ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม (มาตรา 4) ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภา ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล อันเป็นการแบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ทาง
ในขณะที่ธรรมนูญการปกครองฉบับแรก แบ่งอำนาจเป็น 4 ทาง (มาตรา 6, 7 และ 8) ทรงมีพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม และพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ (มาตรา 54, 55) และยกฐานะให้ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นอยู่เหนือการเมือง (มาตรา 11)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ สนใจคลิกไปอ่านต่อ ตอนที่ ๒
บทความวิชาการนี้
สามารถ download ได้ในรูป word
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
อนึ่ง สำหรับชื่อเรียก "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" นั้น ระหว่างที่คณะอนุกรรมการฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมีผู้เสนอให้เรียกว่า รัฐธรรมนูญแทน ซึ่งคณะอนุกรรมการก็รับว่า เห็นควรใช้คำว่า รัฐธรรม นูญ ที่นายปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่าหมายถึงกฎหมายว่าด้วยระเบียบ การปกครองแผ่นดินหรือรัฐ. เป็นที่ยอมรับกันภายหลังว่า ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นผู้เสนอให้ใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" และกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า ถ้าผู้ร่างต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" แต่ถ้าจะใช้เป็นฉบับชั่วคราวจะเรียกว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน"สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยใช้วิธีพิจารณาแบบอนุกรรมการเต็มสภา และพิจารณาแบบเรียงมาตรา เพื่อพิจารณาให้เสร็จทันกำหนดฤกษ์พระราชทาน