ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




29-05-2551 (1576)

Michael Hardt and Antonio Negri, "Globalization and Democracy"
อภิจักรภพ โลกาภิวัตน์ และประชาธิปไตย (Empire and Multitude)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทแปลเรื่องอภิจักรภพ-โลกาภิวัตน์ฯ ต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่าง
และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก
มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
และสิทธิชุมชนในประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้ลิขซ้าย (copyleft)

งานแปลและเรียบเรียงต่อไปนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญ คือ
- ความสึกกร่อนของรัฐชาติยุคโลกาภิวัตน์
- อภิจักรภพ (Empire) การจัดระเบียบโลกปัจจุบัน
- อภิจักรภพ ในฐานะระบอบราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย
- รัฐชาติ - การไร้สถานะความเป็นองค์อธิปัตย์
- ประชาธิปไตยที่ไม่เกิดขึ้นจริง ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้
- การเลือกตั้ง คือการเลือกชนชั้นปกครองมาเป็นตัวแทน
- โลกาภิวัตน์ สุดท้ายยังไม่มีคำตอบตัวแทนประชาชน
- ปฏิรูปสถาบันโลกบาลให้เป็นประชาธิปไตย
- มหาชน (multitude) กับมวลชนหมู่มาก (mob)
- นักปฏิวัติจินตนากรรมตนเองเป็นอสุรกาย
- สปิโนซาและมาร์กซ์ ประชาธิปไตยของมหาชน ประชาธิปไตยสัมบูรณ์
- ประชาธิปไตยของมหาชน ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐชาติ
- การจำแลงสงครามระหว่างประเทศเป็นสงครามระหว่างชนชั้นในชาติ
- กบฏของชาวคอมมิวนิสต์ถูกบิดเบือนกลายเป็นการปกครองทหารในที่สุด
- การหลอมรวม การขัดขืน, การก่อกบฏ, และอำนาจปวงชน เป็นหนึ่งเดียว
- ต่อต้านอำนาจของอภิจักรภพ ด้วยร่างกายส่วนรวม
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๗๖
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒.๕ หน้ากระดาษ A4)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Michael Hardt and Antonio Negri, "Globalization and Democracy"
อภิจักรภพ โลกาภิวัตน์ และประชาธิปไตย (Empire and Multitude)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทแปลนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

โลกาภิวัตน์กับประชาธิปไตย
ไมเคิล ฮาร์ดท์ และ อันโตนิโอ เนกรี

แล้วพระองค์ตรัสถามมันว่า "เจ้าชื่ออะไร?" มันตอบว่า "ข้าชื่อกองพล เพราะพวกเรามีมากมายมหาศาล"
"And [Jesus] asked him, What is thy name? And he answered, saying, My name is Legion:
for we are many" [et interrogabat eum quod tibi nomen est et dicit ei Legio nomen mihi est quia multi sumes].

มาระโก 5:9

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจาก
Michael Hardt and Antonio Negri, "Globalization and Democracy,"
in Implicating Empire: Globalization and Resistance in the 21st Century World Order,
edited by Stanley Aronowitz and Heather Gautney, New York: Basic Books, 2003.

ความสึกกร่อนของรัฐชาติยุคโลกาภิวัตน์ ?
แนวคิดกระแสหลักเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยในยุคสมัยใหม่ มีความผูกพันแนบแน่นกับรัฐชาติ ดังนั้น การตรวจสอบสถานะของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน เราจึงควรพิจารณาอำนาจและบทบาทของรัฐชาติที่เปลี่ยนแปลงไปเสียก่อน. นักทฤษฎีหลายคนอ้างว่า ปรากฏการณ์หลากหลายที่จัดประเภทรวม ๆ กันภายใต้คำว่า "โลกาภิวัตน์" ได้บ่อนเซาะหรือกระทั่งลบล้างอำนาจของรัฐชาติไปแล้ว (1) แต่ก็มีอีกหลายคนที่โต้แย้งความคิดนี้

(1) ข้อถกเถียงที่ละเอียดที่สุดและชวนคล้อยตามมากที่สุดที่บอกว่า โลกาภิวัตน์ไม่ได้กัดกร่อนอำนาจของรัฐชาติเลย และในแง่นี้ โลกาภิวัตน์จึงเป็นแค่ความเชื่อที่ไม่มีเหตุรองรับ โปรดดู Paul Hirst and Grahame Thompson, Globalization in Question: The International Economy and the Possibilities of Governance, 2nd ed. (Cambridge, Eng.: Polity, 1999).

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มักเป็นการตั้งข้อเสนอในลักษณะ "ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง" มากเกินไป กล่าวคือ รัฐชาติยังสำคัญอยู่-หรือ-มีระเบียบโลกใหม่เกิดขึ้นแล้ว อันที่จริง ข้อเสนอทั้งสองต่างก็มีส่วนถูกทั้งคู่ ยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้นำมาซึ่งจุดจบของรัฐชาติ รัฐชาติยังคงมีบทบาทหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการสถาปนาและกำกับดูแลบรรทัดฐานทางเศรษฐกิจ, การเมืองและวัฒนธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐชาติก็ถูกเบียดขับออกจากตำแหน่งของการเป็นองค์อธิปัตย์ที่มีอำนาจสูงสุดไปแล้ว การพินิจพิเคราะห์แนวความคิดและการปฏิบัติขององค์อธิปัตย์ (sovereignty) จะช่วยให้ข้อถกเถียงในประเด็นนี้มีความกระจ่างมากขึ้น

อภิจักรภพ (Empire) การจัดระเบียบโลกปัจจุบัน

1. อภิจักรภพ ในฐานะระบอบราชาธิปไตย
2. อภิจักรภพ ในฐานะระบอบอภิชนาธิปไตย
3. อภิจักรภพ ในฐานะระบอบประชาธิปไตย

เราขอเสนอมโนทัศน์ของ อภิจักรภพ (Empire) เพื่อใช้เรียกการจัดระเบียบโลกที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน เหนืออื่นใด อภิจักรภพหมายถึง "องค์อธิปัตย์รูปแบบใหม่" ที่สืบช่วงต่อจากรูปแบบองค์อธิปัตย์ของรัฐชาติ อภิจักรภพเป็นรูปแบบขององค์อธิปัตย์ที่ไม่มีขีดจำกัด มันไม่รู้จักพรมแดน หรือกล่าวให้ถูกต้องกว่านั้นคือ มันรู้จักแต่พรมแดนที่ยืดหยุ่นและเคลื่อนที่ได้

เรายืมมโนทัศน์ของอภิจักรภพมาจากคำอุปมาของยุคโรมันโบราณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอภิจักรภพเข้ามาแทนที่การปกครองรูปแบบคลาสสิกสามประเภทที่สลับสับเปลี่ยนกันมาตลอด นั่นคือ ระบอบราชาธิปไตย, ระบอบอภิชนาธิปไตย, และระบอบประชาธิปไตย โดยผนวกการปกครองทั้งสามระบอบเข้ามาอยู่ในอำนาจขององค์อธิปัตย์ที่มีหนึ่งเดียว

1. อภิจักรภพ ในฐานะระบอบราชาธิปไตย
อภิจักรภพในยุคสมัยของเรามีลักษณะแบบระบอบราชาธิปไตย และปรากฏให้เห็นชัดมากที่สุดในเวลาที่มีความขัดแย้งทางการทหาร ซึ่งทำให้เราเห็นขอบเขตที่เพนตากอนสามารถปกครองโลกนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์และเทคโนโลยีทางการทหารที่เหนือกว่า นอกจากนี้ สถาบันเศรษฐกิจเหนือชาติ อาทิเช่น WTO, ธนาคารโลก และ IMF ก็มีหลายครั้งที่ใช้อำนาจแบบราชาธิปไตยปกครองกิจการที่ดำเนินไปในระดับโลกเช่นกัน

2. อภิจักรภพ ในฐานะระบอบอภิชนาธิปไตย
กระนั้นก็ตาม อภิจักรภพของเราก็มีลักษณะแบบอภิชนาธิปไตยด้วย กล่าวคือ ปกครองโดยกลุ่มชนชั้นสูงจำนวนจำกัด อำนาจของรัฐชาติมีความสำคัญในที่นี้ เพราะรัฐชาติที่ทรงอิทธิพลไม่กี่ประเทศสามารถควบคุมการไหลเวียนของเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมโลกโดยอาศัยการปกครองในแบบอภิชนาธิปไตย ระบอบอภิชนาธิปไตยระหว่างประเทศสำแดงให้เห็นชัดเจน อาทิเช่น เมื่อกลุ่มประเทศ G8 ประชุมกัน หรือเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติใช้อำนาจของมันในทางใดทางหนึ่ง บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กอปรขึ้นเป็นระบอบอภิชนาธิปไตยในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน โดยมีทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง

3. อภิจักรภพ ในฐานะระบอบประชาธิปไตย
ในประการสุดท้าย อภิจักรภพมีความเป็นประชาธิปไตยด้วย ในแง่ที่มันอ้างความเป็นตัวแทนของประชาชนทั่วโลก แม้ว่าข้ออ้างความเป็นตัวแทน (representation) นี้ ส่วนใหญ่เป็นแค่มายาภาพดังที่เราจะวิเคราะห์ให้เห็นต่อไป กลุ่มของรัฐชาติโดยรวมทั้งหมด ทั้งรัฐชาติที่มีอิทธิพลอำนาจและรัฐชาติที่เป็นเบี้ยล่าง สามารถปฏิบัติบทบาทที่สำคัญที่สุดในที่นี้ได้ลุล่วง นั่นคือ มันสวมบทเป็นตัวแทนประชาชนในชาติของตนได้ในระดับหนึ่ง. สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของระบอบประชาธิปไตยนานาชาตินี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราตระหนักว่าแท้ที่จริงแล้ว รัฐชาติไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนของตนมากเพียงพอ เราสามารถหันไปหาองค์กรเอกชน (NGOs) ในฐานะสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นตัวแทนที่แท้จริง บทบาทหน้าที่ของเอ็นจีโอที่มีรูปแบบแตกต่างหลากหลายในฐานะกลไกประชาธิปไตยหรือตัวแทน เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและสำคัญมาก ซึ่งเราไม่ควรเสแสร้งว่าสามารถถกเถียงถึงอย่างรอบด้านได้ในบทความนี้

กล่าวโดยสรุปคือ อภิจักรภพเป็นประธานของอำนาจอธิปไตยหนึ่งเดียวที่ครอบคลุมรูปแบบหรือระดับการปกครองแบบคลาสสิกทั้งสาม กล่าวคือ ราชาธิปไตย, อภิชนาธิปไตยและประชาธิปไตย ไว้ในตรรกะของมันได้ทั้งหมด. กล่าวอีกนัยหนึ่ง อภิจักรภพเป็นองค์อธิปัตย์ที่มีรูปแบบแยกออกไปต่างหาก โดยมีลักษณะเฉพาะ คือความสามารถในการผนวกรวมและบริหารความแตกต่างไว้ภายใต้ธรรมนูญของมัน

รัฐชาติ - การไร้สถานะความเป็นองค์อธิปัตย์
จากมุมมองข้างต้น เราจะเห็นว่า บทบาทและอำนาจหน้าที่ของรัฐชาติยังมิได้ปลาสนาการไป หากจะกล่าวให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ หน้าที่พื้นฐานของรัฐชาติ อาทิ การกำกับดูแลเงินตรา, การไหลเวียนของเศรษฐกิจ, การย้ายถิ่นฐานของประชากร, ปทัสถานทางกฎหมาย, ค่านิยมทางวัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้รัฐชาติยังคงมีความสำคัญ แต่เปลี่ยนโฉมหน้าไปเนื่องจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพอย่างถอนรากถอนโคนน่าจะอยู่ที่ความเป็นองค์อธิปัตย์ รัฐชาติไม่สามารถอ้างบทบาทของการเป็นองค์อธิปัตย์หรือมีอำนาจสูงสุดอย่างที่เคยอ้างในยุคสมัยใหม่อีกต่อไป ณ ขณะนี้ อภิจักรภพยืนอยู่เหนือรัฐชาติในฐานะองค์อำนาจเด็ดขาดขั้นสุดท้าย นอกจากนั้นยังสำแดงตนเป็นองค์อธิปัตย์รูปแบบใหม่ด้วย

เราพึงชี้แจงไว้ด้วยว่า นี่คือจุดพลิกผันทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่เฉพาะในสายตาของรัฐชาติที่ทรงอิทธิพลอำนาจเท่านั้น กลุ่มประเทศที่เป็นเบี้ยล่างไม่เคยมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงอยู่แล้ว สำหรับรัฐชาติจำนวนมาก การก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่คือการก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ของการตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งกัดกร่อนลดทอนอำนาจอธิปไตยที่ชาตินั้น ๆ อาจเสแสร้งว่ามีอยู่ ความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบขององค์อธิปัตย์นี้ กล่าวคือ การเปลี่ยนจากองค์อธิปัตย์ยุคสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่ในรัฐชาติ ไปเป็นองค์อธิปัตย์แบบอภิจักรภพในยุคหลังสมัยใหม่ มีผลกระทบต่อพวกเราโดยถ้วนหน้า แม้กระทั่งในประเทศที่อำนาจอธิปไตยแห่งชาติไม่เคยมีอยู่จริงก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่อภิจักรภพเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบความคิดของเราและขอบเขตความเป็นไปได้ทางการเมืองของเรา ภายใต้ความเข้าใจเกี่ยวกับอภิจักรภพ เราต้องพิจารณาและทบทวนมโนทัศน์ที่เป็นกุญแจสำคัญของปรัชญาการเมืองใหม่ทั้งหมด

ประชาธิปไตยที่ไม่เกิดขึ้นจริง,
ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้

จุดนี้นำเรากลับมาสู่มโนทัศน์ของระบอบประชาธิปไตยเป็นอันดับแรกสุด ดังที่เราอ้างไว้แต่ตอนต้น แนวคิดกระแสหลักเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยในยุคสมัยใหม่ ตั้งอยู่บนโครงสร้างและสถาบันตัวแทนภายในพื้นที่พรมแดนของชาติและขึ้นอยู่กับอำนาจอธิปไตยแห่งชาติ (2) สิ่งที่สถาบันแห่งชาติในระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวแทนให้ก็คือ ประชาชน ดังนั้น อำนาจอธิปไตยแห่งชาติในยุคสมัยใหม่จึงมักอยู่ในรูปแบบของอำนาจอธิปไตยของปวงชน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ข้ออ้างว่าชาติเป็นองค์อธิปัตย์ มักมีความหมายอย่างเดียวกับข้ออ้างว่า ประชาชนเป็นองค์อธิปัตย์ แต่ประชาชนคืออะไรหรือคือใคร?

(2) นี่เป็นข้อถกเถียงพื้นฐานของ David Held, Democracy and the Global Order (Stanford: Stanford University Press, 1995)

ประชาชนไม่ใช่สิ่งตามธรรมชาติหรือสิ่งในเชิงประจักษ์ เราไม่สามารถระบุเอกลักษณ์ของประชาชนหนึ่ง ๆ ด้วยการสรุปรวมหรือแม้กระทั่งหาค่าเฉลี่ยจากประชากรทั้งหมด "ประชาชน" จึงเป็น ตัวแทน (representation) ที่สร้างความเป็นเอกภาพให้แก่ประชากรต่างหาก มีองค์ประกอบสามประการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประเด็นนี้

ประการแรกสุด ประชาชนเป็นหนึ่งเดียว ดังที่ฮอบส์ (Hobbes) และจารีตความคิดในยุคสมัยใหม่ทั้งหมดมักอ้างถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประชาชนสามารถเป็นองค์อธิปัตย์ได้ต่อเมื่อมีเอกลักษณ์ มีเอกภาพ

ประการที่สอง กุญแจสำคัญในการประดิษฐ์สร้างประชาชนขึ้นมาคือการเป็นตัวแทน ความหลากหลายอันอเนกอนันต์ ในเชิงประจักษ์ของประชากร ถูกทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์โดยอาศัยกลไกของการเป็นตัวแทน และคำว่า "ตัวแทน" ในที่นี้ เราหมายรวมทั้งนัยยะเชิงการเมืองและเชิงสุนทรียะทั้งหมด

ในประการสุดท้าย กลไกของการเป็นตัวแทนตั้งอยู่บนความหมายและเงื่อนไขของการวัด และคำว่า "การวัด" ในที่นี้ เราไม่ได้หมายถึงเงื่อนไขในเชิงปริมาณมากเท่ากับเงื่อนไขในเชิงขอบเขต ความหลากหลายที่มีขอบเขตและวัดได้สามารถแสดงออกมาเป็นเอกภาพ แต่ความหลากหลายที่วัดไม่ได้ ไม่มีขอบเขต ย่อมไม่สามารถแสดงตัวแทนออกมาได้ นี่คือแง่หนึ่งที่ทำให้ความหมายของคำว่า "ประชาชน" ผูกพันแนบแน่นกับพื้นที่ทางการเมืองที่มีพรมแดน

กล่าวโดยสรุปคือ ประชาชนมิใช่เอกลักษณ์ที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันขณะ หรือดำรงอยู่ชั่วกัลปาวสาน หากแต่เป็นผลลัพธ์ของกระบวนการอันซับซ้อนที่สืบเนื่องจากยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ และการก่อรูปทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ

การเลือกตั้ง คือการเลือกชนชั้นปกครองมาเป็นตัวแทน
เราขอลดทอนสภาพอันซับซ้อนนี้ลงสักครู่ และเพ่งพิจารณาเพียงแค่กลไกเชิงสถาบันและเชิงการเมืองของการเป็นตัวแทน ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งมีความสำคัญที่สุด อย่างน้อยก็ในเชิงอุดมการณ์ ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดเกี่ยวกับ "หนึ่งคน หนึ่งเสียง" เป็นอุดมคติประการหนึ่งที่ระบอบตัวแทนประชาชนและองค์อธิปัตย์ในยุคสมัยใหม่จำนวนมากมักชอบนำมาใช้ ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องมาถกเถียงในที่นี้ว่า ระบอบตัวแทนประชาชนเหล่านี้มีความบกพร่องเสมอมาและที่จริงก็เป็นมายาภาพโดยส่วนใหญ่

มีการวิพากษ์กลไกของระบอบตัวแทนประชาชนในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ในประเด็นสำคัญ ๆ มานานแล้ว อาจเป็นการพูดขยายความเกินจริงไปบ้างหากจะนิยามว่า การเลือกตั้งเป็นแค่โอกาสเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งในชนชั้นปกครองให้มาเป็นตัวแทนที่ไม่ถูกต้อง (misrepresent) ของประชาชนไปอีก 2, 4, หรือ 6 ปี กระนั้นก็มีความจริงเจืออยู่ในคำพูดนี้เหมือนกัน และไม่ต้องสงสัยเลยว่า การที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงต่ำเป็นอาการอย่างหนึ่งของวิกฤตการณ์ระบอบตัวแทนประชาชนที่อาศัยสถาบันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าในทุกวันนี้ ระบอบตัวแทนประชาชนกำลังถูกกัดกร่อนในระดับรากฐานและลึกซึ้งกว่านั้น

อภิจักรภพ ความเป็นไปไม่ได้ของตัวแทนประชาชนยิ่งชัดขึ้น
ในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่อภิจักรภพ พื้นที่ของชาติสูญเสียความชัดเจน พรมแดนของชาติ (แม้ยังมีความสำคัญ) มีลักษณะสัมพัทธ์มากขึ้น และแม้กระทั่งจินตนากรรมของความเป็นชาติก็สั่นคลอน เมื่ออำนาจอธิปไตยของชาติถูกแทนที่ด้วยอำนาจขององค์อธิปัตย์เหนือชาติองค์ใหม่ หรืออภิจักรภพ ความเป็นจริงทางการเมืองจึงสูญเสียมาตรวัดที่ชัดเจน ในสถานการณ์นี้ ความเป็นไปไม่ได้ของการเป็นตัวแทนประชาชนยิ่งเห็นได้ชัดมากขึ้น และด้วยเหตุนั้น มโนทัศน์เกี่ยวกับประชาชนเองก็มีแนวโน้มที่จะสูญเสียความหมายไปเช่นกัน

จากมุมมองในเชิงสถาบันและการเมือง อำนาจอธิปไตยของอภิจักรภพย่อมขัดแย้งและแม้กระทั่งล้มล้างแนวความคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของปวงชน ลองพิจารณาการทำงานของสถาบันเศรษฐกิจเหนือชาติเป็นตัวอย่าง อาทิ ธนาคารโลก, IMF และ WTO เงื่อนไขต่าง ๆ ที่สถาบันเหล่านี้กำหนดให้ปฏิบัติตาม เท่ากับดึงเอาการตัดสินใจในนโยบายเศรษฐกิจและสังคมออกไปจากความควบคุมของรัฐชาติไม่น้อยทีเดียว รัฐชาติที่เป็น"เบี้ยล่าง"นั้นยิ่งตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสถาบันเหล่านี้อย่างชัดแจ้ง แต่รัฐชาติที่เป็น"เบี้ยบน"ก็ใช่ว่าดีไปกว่ามากนัก (3)

(3) นักคิดนักเขียนจำนวนมาก บรรยายและคร่ำครวญถึงการที่อำนาจตัดสินใจย้ายจากชาติไปอยู่ที่สถาบันเหนือชาติ โดยมองว่ามันหมายถึง การที่เศรษฐกิจมีอำนาจครอบงำเหนือการเมืองมากขึ้น (ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า รัฐชาติเป็นบริบทเดียวที่มีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้น) นักคิดนักเขียนหลายคนจึงขุดงานของคาร์ล โปลันยี (Karl Polanyi) ขึ้นมาใหม่ ในประเด็นที่เรียกร้องให้นำตลาดทางเศรษฐกิจกลับไปฝัง (re-embed) ไว้ภายในตลาดทางสังคมอีกครั้ง ตัวอย่างของงานเขียนประเภทนี้มีอาทิ James Mittleman, The Globalization Syndrome (Princeton: Princeton University Press, 2000) และ John Gray, False Dawn (New York: The New Press, 1998) เป็นต้น

ในทัศนะของเรา การแยกเศรษฐกิจออกจากการเมืองแบบนี้ รวมไปถึงการยืนยันความเป็นอิสระของการเมือง เป็นความคิดที่ผิดพลาด สถาบันเศรษฐกิจเหนือชาติเป็นสถาบันทางการเมืองในตัวมันเองด้วย ความแตกต่างขั้นพื้นฐานอยู่ตรงที่สถาบันเหล่านี้ไม่อนุญาตให้มีตัวแทนประชาชน (แม้กระทั่งตัวแทนแบบหลอก ๆ ก็ตาม)

เห็นได้ชัดว่า สถาบันเศรษฐกิจเหนือชาติเหล่านี้ไม่เป็น และไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชน ยกเว้นในแง่ที่เลือนรางและเป็นนามธรรมมาก ๆ เช่น มีรัฐชาติบางรัฐซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนในชาติในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง และมีโอกาสได้แต่งตั้งผู้แทนเข้าไปในสถาบันเหล่านี้ เป็นต้น ไม่ว่าใครก็ตามที่มองหาความเป็นตัวแทนประชาชนในสถาบันเหล่านี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบว่ามัน "ขาดความเป็นประชาธิปไตย" เสมอ กล่าวอีกแง่หนึ่ง ในทัศนะของเรานั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่สถาบันเหล่านี้แยกขาดจากความเป็นตัวแทนประชาชน แต่เพราะสถาบันเหล่านี้มีกลไกการดำเนินงานที่เป็นไปเพื่อให้ตัวมันหลุดพ้นจากกลไกของความเป็นตัวแทนประชาชน

โลกาภิวัตน์ ประชาชนคือใคร ประชาธิปไตยคืออะไร ?
นักทฤษฎีโลกาภิวัตน์ฝ่ายเสรีนิยมที่เก่งที่สุดบางคน ของซีกโลกยุโรป อเมริกัน ให้เหตุผลไว้ว่า เราจำเป็นต้องปฏิรูประบบโลกเสียใหม่ และนำกลไกของกฎเกณฑ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยกลับมาใช้อีกครั้ง แต่แม้กระทั่งนักทฤษฎีเหล่านี้ก็ยังจินตนาการไม่ออกว่า สถาบันเหนือชาติเหล่านั้นสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนที่เป็นสามัญชนได้อย่างไร อุปสรรคพื้นฐานประการหนึ่งก็คือ ปัญหาของการกำหนดว่าประชาชนคืออะไรหรือคือใครในแนวความคิดนั้นนั่นเอง เราอาจต้องพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับประชาชนโลกขึ้นมา ซึ่งกินความกว้างกว่าการนิยามด้วยชาติหรือชาติพันธุ์ เพื่อรวบรวมมนุษยชาติทั้งหมดเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกัน นี่ถือเป็นความท้าทายที่อยู่นอกเหนือขอบเขตทางทฤษฎีของฝ่ายเสรีนิยมทั้งหมด

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยในทัศนะของนักปฏิรูปฝ่ายเสรีนิยมชั้นแนวหน้าทั้งหลาย ไม่จะเป็น โรเบิร์ต คีโอเฮน (Robert Keohane), โจเซฟ สติกลิทซ์ (Joseph Stiglitz), เดวิด เฮลด์ (David Held), ริชาร์ด ฟอล์ค (Richard Falk) และอุลริค เบ็ค (Ulrick Beck)? เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการใช้คำว่า "ประชาธิปไตย" อย่างแพร่หลายในงานเขียนประเภทนี้และยอมรับกันเป็นเสียงเดียวว่า นี่แหละคือเป้าหมาย องค์ประกอบหลักประการหนึ่งของการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยก็คือความโปร่งใสกว่าเดิมนั่นเอง เช่น นโยบายกลาสนอสต์ (Glasnost) และเปเรสทรอยก้า (Perestroika) บางทีเราควรเข้าใจว่า นี่คือโครงการของกอร์บาชอฟเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์

ความโปร่งใสและความรับผิด ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย
กระนั้นก็ตาม ความโปร่งใสในตัวมันเองไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย และไม่ใช่องค์ประกอบของความเป็นตัวแทน แนวความคิดที่มีสาระสำคัญมากกว่า ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในงานเขียนเหล่านี้ก็คือ "ความรับผิด" (accountability) (ซึ่งมักจับคู่มากับคำว่า "ธรรมาภิบาล" [governance]) มโนทัศน์ของ "ความรับผิด" อาจหมายถึงกลไกของการเป็นตัวแทนประชาชน แต่มันทำไม่ได้ในบริบทของวาทกรรมชุดนี้ เราคงต้องตั้งคำถามว่า "รับผิดต่อใคร?" แล้วเราก็พบว่า นักปฏิรูปเหล่านี้ไม่ได้เสนอให้สถาบันโลกบาลรับผิดต่อประชาชนโลก (หรือแม้กระทั่งประชาชนในระดับชาติด้วยซ้ำ)

ที่ชัดเจนที่สุดคือ ประชาชนหายไปเฉย ๆ จากวาทกรรม ดูเหมือนการปฏิรูปจะหมายถึงการทำให้สถาบันโลกบาลรับผิดต่อสถาบันอื่น ๆ และโดยเฉพาะรับผิดต่อประชาคมผู้เชี่ยวชาญ ยกตัวอย่างเช่น หาก IMF มีความโปร่งใสกว่านี้ และรับผิดต่อผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ มันคงจะมีเกราะคุ้มกันไม่ให้ IMF ใช้นโยบายที่ส่งผลหายนะ ดังเช่นชุดนโยบายที่ IMF นำมาบังคับใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญและน่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับการใช้คำว่า "ความรับผิด" และ "ธรรมาภิบาล" ในงานเขียนทั้งหมดนี้ก็คือ คำสองคำนี้ครอบคร่อมปริมณฑลทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไม่สะทกสะท้าน ความรับผิดและธรรมาภิบาลนั้น เป็นมโนทัศน์แกนกลางในศัพทานุกรมทางทฤษฎีของบรรษัททุนนิยมมาเนิ่นนานแล้ว (4) แนวความคิดเกี่ยวกับความรับผิดและธรรมาภิบาล จึงดูเหมือนมุ่งไปที่การสร้างหลักประกันให้เกิดความมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก หาใช่การประดิษฐ์สร้างการควบคุมตามกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ว่าในรูปแบบของประชาชนหรือตัวแทนแบบใด ๆ ขึ้นมา

(4) เราขอขอบคุณ Craig Borowiak และบทวิเคราะห์ของเขาต่อมโนทัศน์ของความรับผิดในการถกเถียงเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ยุคปัจจุบัน

โลกาภิวัตน์ สุดท้ายยังไม่มีคำตอบตัวแทนประชาชน
ประการสุดท้าย แม้คำว่า "ประชาธิปไตย" จะปรากฏเรี่ยร่ายในงานเขียนเหล่านี้ ทว่าไม่มีการกล่าวถึงการสร้างระบอบประชาธิปไตยโลกในรูปแบบเสรีนิยมสมัยใหม่ กล่าวคือ การเป็นตัวแทนประชาชน อยู่ในวาระใด ๆ เลยด้วยซ้ำ อันที่จริง ดูเหมือนอุปสรรคทางความคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งขัดขวางไม่ให้นักทฤษฎีเหล่านี้จินตนาการถึงสูตรการสร้างระบบตัวแทนระดับโลกขึ้นมา ก็คือ มโนทัศน์เกี่ยวกับประชาชนนั่นเอง ประชาชนโลกคือใคร? ทุกวันนี้ ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่จะนึกถึงประชาชนในฐานะองค์ประธานผู้กระทำทางการเมือง และยังยากยิ่งกว่าที่จะนึกถึงตัวแทนประชาชนในเชิงสถาบัน (5)

(5) จากมุมมองนี้ สำหรับบางคนอาจดูเหมือนว่า โครงการประดิษฐ์สร้างประชาคมยุโรปทางการเมืองขึ้นมา น่าจะเป็นทางออกต่อปริศนาประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์ สมมติฐานก็คือ ให้ทวีปเข้ามาแทนที่ชาติ และรื้อฟื้นกลไกของระบอบประชาธิปไตยตัวแทนขึ้นมาใหม่ แต่ในสายตาของเรา นี่คือทางออกจอมปลอม ต่อให้สามารถสร้างสถาบันที่เป็นตัวแทนชาวยุโรปในฐานะพลเมืองที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ประชาคมยุโรปทางการเมืองก็ไม่สามารถอ้างอำนาจอธิปไตย เพราะอำนาจในระดับภูมิภาคก็เช่นเดียวกับรัฐชาติ มันเป็นแค่องค์ประกอบที่ต้องดำเนินอยู่ภายในอำนาจอธิปไตยสูงสุดของอภิจักรภพ

ปฏิรูปสถาบันโลกบาลให้เป็นประชาธิปไตย
เราคิดว่าประเด็นของการปฏิรูปสถาบันโลกบาลให้เป็นประชาธิปไตย เป็นประเด็นที่สำคัญ เราจึงพิจารณาประเด็นนี้มากพอสมควร ไม่เพียงเพื่อพิเคราะห์ข้ออ้างเหตุผลของนักทฤษฎีปฏิรูปอย่างจริงจังเท่านั้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็เพราะ วาทกรรมนี้พบได้กว้างขวางในฟากฝ่ายต่าง ๆ ของขบวนการประท้วงต่อต้าน WTO, ธนาคารโลก และ IMF มีกลุ่มต่าง ๆ เรียกร้องให้สถาบันเหล่านี้เปิดกว้างมากขึ้น และมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในกระบวนการตัดสินใจของสถาบัน เช่น เรียกร้องให้มีตัวแทนของสหภาพแรงงานหรือเอ็นจีโอเข้าไปร่วมด้วย เป็นต้น

ข้อเรียกร้องเช่นนี้อาจมีผลลัพธ์ในเชิงบวกขึ้นมาบ้างก็จริง แต่สุดท้ายแล้วก็ยังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่ข้ามไม่พ้น ข้อถกเถียงของเราครอบคลุมประเด็นทั้งหมดนี้ บนระดับความคิดที่กว้างกว่านั้นมาก หากเราเข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตยคือองค์อธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนประชาชน ถ้าเช่นนั้น ระบอบประชาธิปไตยในยุคอภิจักรภพจึงไม่เพียงไม่เกิดขึ้นจริง แต่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ด้วย

ประชาธิปไตยของมหาชน
ดังนั้น เราจึงต้องสำรวจหาระบอบประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ รูปแบบที่ไม่มีตัวแทนหรือมีตัวแทนในแบบที่แตกต่างจากเดิม เพื่อค้นให้พบระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมต่อยุคสมัยของเราเอง เราได้อ้างเหตุผลไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า ความหมายของระบอบประชาธิปไตยในยุคสมัยใหม่มีความผูกพันแนบแน่นกับอำนาจอธิปไตยของชาติและพื้นที่ของชาติที่แน่นอนตายตัว กล่าวโดยสรุปคือ แนวคิดสมัยใหม่นั้นตั้งอยู่บนการวัด คราวนี้ เราควรหันความสนใจกลับมาสำรวจองค์ประกอบอีกประการหนึ่งในสมการนี้ นั่นคือ ประชาชน

ดังที่กล่าวไว้แต่แรก ประชาชนเป็นผลผลิตของการเป็นตัวแทน ในทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ ประชาชนก่อรูปขึ้นมาเป็นตัวตนชัดเจนที่สุด จากการเป็นผลผลิตของการทำสัญญาประชาคม นี่คือรากฐานของสังคมกระฎุมพี ดังคำอธิบายของนักทฤษฎีเสรีนิยมสมัยใหม่ทั้งหมด นับตั้งแต่ [โธมัส] ฮอบส์ (Thomas Hobbes) มาจนถึง [จอห์น] รอลส์ (John Rawls)

สัญญาประชาคม
สัญญาประชาคมทำให้ประชากรกลายเป็นองค์สังคมที่เป็นหน่วยเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาประชาคมไม่มีอยู่จริง, สร้างความสับสนและล้าสมัย สัญญาประชาคมไม่มีอยู่จริงในความหมายว่า ไม่มีข้อเท็จจริงทางมานุษยวิทยาหรือประวัติศาสตร์รองรับให้เราสร้างสมมติฐานได้ว่ามันมีอยู่จริง มิหนำซ้ำ ทฤษฎีสัญญาประชาคมยังปฏิเสธความทรงจำใด ๆ เกี่ยวกับการสร้างสัญญานั้นขึ้นมา นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงในทฤษฎีสัญญาประชาคม เพราะมันปฏิเสธความแตกต่างโดยพื้นฐาน

ประการต่อมา สัญญาประชาคมสร้างความสับสนในความหมายว่า ประชาชนที่สัญญาได้ประดิษฐ์สร้างขึ้น ถูกนำเสนอว่ามีความเท่าเทียมกัน ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง พลเมืองที่กอปรขึ้นเป็นประชาชนหาได้มีความเท่าเทียมกันไม่ มโนทัศน์ของความยุติธรรมและนิติธรรมที่เป็นพื้นฐานของสัญญา จึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือให้ผู้แข็งแรงที่สุดใช้อำนาจครอบงำและขูดรีดประชากรส่วนที่เหลือ

ประการสุดท้าย มโนทัศน์ของประชาชนที่ก่อรูปขึ้นมาจากสัญญาประชาคมเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ทั้งนี้เพราะสัญญาประชาคมมองแต่สังคมที่หล่อหลอมขึ้นมาด้วยทุน แท้ที่จริงแล้ว ลัทธิสัญญาประชาคม (contractualism) ประชาชนและทุนนิยม มีหน้าที่สร้างความเป็นเอกภาพขึ้นมาจากพหุภาพ สร้างองค์รวมเบ็ดเสร็จที่มีโครงสร้างเดียวกันขึ้นมาจากความแตกต่างหลากหลาย ทำให้ความมั่งคั่งของชีวิตมนุษย์แต่ละคนที่กอปรขึ้นเป็นประชากรทั้งหมด กลายเป็นความยากจนของคนกลุ่มหนึ่งและอำนาจของคนอีกกลุ่มหนึ่ง

แต่แนวคิดนี้ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว มันเคยใช้การได้ ตราบที่แรงงาน, ความจำเป็นและความปรารถนา ตกอยู่ในภาวะเลวร้ายจนต้องอ้าแขนรับประกาศิตของทุน และเห็นว่าทุนเป็นที่พักพิงและที่พึ่งที่ให้ความมั่นคง เมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการสร้างมูลค่า, การปลดปล่อยจินตนาการและการจัดการระบบสังคม แต่ในวันนี้ เงื่อนไขเปลี่ยนไปแล้ว ภูมิปัญญาเยี่ยงอสุรกายและอำนาจในการร่วมมือกันของเราก้าวเข้ามามีบทบาทแทนที่ เราคือมหาชนที่กอปรขึ้นจากไพร่ฟ้าที่ทรงอำนาจ มหาชนที่กอปรขึ้นจากอสุรกายที่มีภูมิปัญญา

จากประชาชน สูมหาชน
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องย้ายจุดโฟกัสทางมโนทัศน์จากประชาชนมาที่มหาชน เราไม่สามารถเข้าใจมหาชนได้ด้วยลัทธิสัญญาประชาคม และโดยรวมแล้วก็ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยปรัชญาอุตรภาพนิยม (transcendental philosophy) ในความหมายที่กว้างที่สุด มหาชนขัดขืนต่อการมีตัวแทน ทั้งนี้เพราะมหาชนคือความหลากหลาย ไร้ขอบเขตและวัดไม่ได้ ประชาชนสามารถมี ตัวแทนได้เพราะมีความเป็นเอกภาพ แต่มหาชนมีตัวแทนไม่ได้ ทั้งนี้เพราะมหาชนคือความใหญ่โตพิลึกพิลั่น ซึ่งลัทธิเหตุผลนิยมอันตภาพ (teleological) และอุตรภาพของปรัชญายุคสมัยใหม่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้

มหาชน (multitude) กับมวลชนหมู่มาก (mob)
ตรงกันข้ามกับมโนทัศน์ประชาชน มโนทัศน์มหาชนคือความหลากหลายที่เป็นหนึ่งเดียว ความสากลที่เป็นรูปธรรม ประชาชนเป็นส่วนประกอบขององค์สังคม แต่มหาชนมิใช่ มหาชนคือกายาของชีวิต หากในด้านหนึ่งเราชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างมหาชนกับประชาชน ในอีกด้านหนึ่งเราก็ควรชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างมหาชนกับคนหมู่มาก (masses) หรือมวลชน (mob) คำว่า คนหมู่มากและมวลชน มักใช้เรียกพลังสังคมที่ไร้เหตุผลและเฉื่อยเนือย เป็นพลังที่อันตรายและรุนแรง เพราะถูกปลุกปั่นง่ายดาย ในทางตรงกันข้าม มหาชนเป็นตัวกระทำทางสังคมที่เคลื่อนไหว เป็นความหลากหลายที่ลงมือปฏิบัติ มหาชนไม่ใช่เอกภาพเหมือนดังประชาชน แต่มหาชนมีการจัดตั้ง ซึ่งแตกต่างจากคนหมู่มากและมวลชน มหาชนเป็นตัวกระทำที่เคลื่อนไหวและจัดตั้งตัวเอง

ข้อได้เปรียบที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของมโนทัศน์มหาชนก็คือ มันขจัดข้อถกเถียงสมัยใหม่ทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนความเกรงกลัวต่อคนหมู่มาก และแม้กระทั่งประเด็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับเผด็จการเสียงข้างมาก ซึ่งมักนำมาใช้ขู่กรรโชกเรา เพื่อบังคับให้เรายอมรับหรือกระทั่งเรียกหาการบังคับครอบงำต่อตัวเราเองด้วยซ้ำ

มองจากมุมของอำนาจ จะทำอย่างไรกับมหาชน ?
อย่างไรก็ตาม หากมองจากมุมของอำนาจ จะทำอย่างไรกับมหาชน? อันที่จริง ไม่จำเป็นต้องทำอะไรกับมหาชนเลย ทั้งนี้เพราะความเชื่อมโยงระหว่างเอกภาพของไพร่ฟ้า (ประชาชน), รูปแบบของการประกอบกันขึ้นมา (สัญญาระหว่างปัจเจกบุคคล), และวิถีการปกครอง (ราชาธิปไตย, อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมผสานกัน) ถูกทลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปแล้ว การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตอย่างถอนรากถอนโคน โดยอาศัยการครองความเป็นใหญ่ของแรงงานที่ไม่ใช่วัตถุ (immaterial labor-power) (*) และแรงงานมีชีวิตที่ร่วมมือกัน (cooperative living labor) (**) ซึ่งเป็นการปฏิวัติในเชิงภววิทยาสังคม, การผลิต และชีวการเมือง ได้ล้มล้างกรอบกำหนดของ "รัฐบาลที่ดี" และทำลายมโนคติสมัยใหม่เกี่ยวกับชุมชนที่ทำหน้าที่สะสมทุน ดังที่ระบบทุนนิยมจินตนากรรมไว้ตั้งแต่เริ่มต้น

(*) แรงงานที่ไม่ใช่วัตถุ เป็น "แรงงานที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก" (affective labour) หมายถึง แรงงานที่ผลิตการบริการที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและการสร้างอารมณ์ความรู้สึก เช่น การบริการด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมบันเทิง เป็นต้น ผลผลิตของแรงงานชนิดนี้ ได้แก่ สายสัมพันธ์ทางสังคม รูปแบบการรวมตัว ชีวอำนาจ ภาคการผลิตในส่วนนี้จึงสัมพันธ์กับปฏิสัมพันธ์ที่มีความซับซ้อนระหว่างบุคคล เท่ากับทำให้การกระทำเชิงหวังผลหรือการผลิตทางเศรษฐกิจหลอมรวมเข้ากับการกระทำเชิงสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

(**) แรงงานมีชีวิต (living labour) คือฐานปวงชนที่เป็นรากฐานของอำนาจสังคม ความร่วมมือกันของแรงงานมีชีวิตเหล่านี้สร้างความเป็นสังคมขึ้นมา ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ในอีกด้านหนึ่ง แรงงานมีชีวิตในปัจจุบันรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโดยอาศัยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แรงงานเหล่านี้สามารถทำงานอยู่กับบ้าน ไม่เคยเจอหน้ากันจริง ๆ แต่ก็สร้างความร่วมมือกันขึ้นมาได้

นักปฏิวัติจินตนากรรมตนเองเป็นอสุรกาย
เราขอกล่าวสอดแทรกโดยสังเขปสั้น ๆ ดังนี้ ระหว่างศตวรรษที่ 15 และ 16 เมื่อยุคสมัยใหม่ปรากฏตัวในรูปของการปฏิวัติ นักปฏิวัติจินตนากรรมตนเองเป็นอสุรกาย เราสามารถใช้ Gargantua และ Pantagruel เป็นภาพสัญลักษณ์ของยักษ์และอสุรกายแห่งเสรีภาพและศักยภาพในการสร้างสรรค์ ซึ่งตกทอดมาถึงเราผ่านกาลเวลาหลายยุคสมัย และเสนอภารกิจอันใหญ่โตมหึมาในการก้าวไปสู่เสรีภาพมากขึ้น ๆ วันนี้เราต้องการยักษ์ตนใหม่และอสุรกายตนใหม่ที่จะนำธรรมชาติกับประวัติศาสตร์ แรงงานกับการเมือง ศิลปะกับการสร้างสรรค์ มารวมกัน เพื่อชี้ให้เห็นว่า กำเนิดของ "ปัญญามหาชน" (general intellect) การครองความเป็นใหญ่ของแรงงานที่ไม่ใช่วัตถุ ความคลั่งไคล้อย่างใหม่ในกิจกรรมนามธรรมของมหาชน สามารถมอบอำนาจใหม่ให้แก่มนุษยชาติ เราต้องการแรบเบอเลส์ (Rabelais) (***) คนใหม่ หรือพูดให้ถูกคืออีกหลาย ๆ คน

(***) ฟรังซัวส์ แรบเบอเลส์ (Fran?ois Rabelais 1494-1553) เป็นนักประพันธ์และนักมนุษยนิยมชาวฝรั่งเศส เขาเขียนงานแฟนตาซีที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและการเสียดสี นวนิยายที่โด่งดังของเขาคือเรื่อง Gargantua and Pantagruel ซึ่งเป็นเรื่องราวการผจญภัยของสองยักษ์พ่อลูก นวนิยายเรื่องนี้มีความยาวถึง 5 เล่มด้วยกัน

สปิโนซาและมาร์กซ์ ประชาธิปไตยของมหาชน ประชาธิปไตยสัมบูรณ์
สปิโนซาและมาร์กซ์ พูดถึงประชาธิปไตยของมหาชน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทั้งสองกล่าวถึงรูปแบบของประชาธิปไตย ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นรูปแบบการปกครองคลาสสิกที่มาพร้อมกับระบอบราชาธิปไตย และอภิชนาธิปไตย สปิโนซาเรียกประชาธิปไตยที่เขาสนับสนุนว่า ประชาธิปไตย สัมบูรณ์ (absolute democracy) สัมบูรณ์ในความหมายของการไม่มีขอบเขตและวัดไม่ได้ ดังนั้น แนวคิดเกี่ยวกับสัญญาประชาคมและองค์สังคมที่มีขอบเขต/พรมแดนจึงถูกโยนทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเรากล่าวว่า ประชาธิปไตยสัมบูรณ์อยู่นอกทฤษฎี (และการปฏิบัติอันชวนสับสน) ของรูปแบบการปกครองคลาสสิกทั้งสาม เราย่อมหมายความด้วยว่า ความพยายามใด ๆ ที่จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาให้เป็นจริง โดยอาศัยการปฏิรูปสถาบันภายใต้อภิจักรภพ ย่อมเป็นความพยายามที่สูญเปล่าและไร้ประโยชน์ ยิ่งกว่านั้น เราหมายความว่า มรรคาเดียวที่จะสร้างประชาธิปไตยของมหาชนให้เป็นจริงคือมรรคาของการปฏิวัติ กระนั้นก็ตาม มันหมายความถึงอะไร? การเรียกร้องประชาธิปไตยปฏิวัติ เป็นสิ่งที่เพียงพอในโลกของอภิจักรภพหรือไม่?

ประชาธิปไตยของมหาชน ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐชาติ
จนถึงตรงนี้ เราเพียงเพ่งความสนใจอยู่ที่ว่า ประชาธิปไตยของมหาชนนั้นมิใช่อะไรบ้าง? มันไม่ใช่สิ่งที่ขึ้นอยู่กับมโนทัศน์ของชาติ (ตรงกันข้าม นับวันมันจะยิ่งถูกนิยามว่าเป็นการต่อสู้กับชาติ) เราได้ชี้ให้เห็นมาแล้วว่า มันเป็นสิ่งที่มิได้สอดรับกับมโนทัศน์ของประชาชน และอันที่จริง มันเป็นปฏิปักษ์ต่อความพยายามใด ๆ ที่จะนำเสนอสิ่งที่แตกต่างให้กลายเป็นเอกภาพ ณ จุดนี้ เราจำเป็นต้องหันไปดูมโนทัศน์อื่น ๆ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจประชาธิปไตยของมหาชน มโนทัศน์ของอำนาจต่อต้าน (counterpower) ดูจะเป็นมโนทัศน์พื้นฐาน เมื่อเราต้องการทำความเข้าใจต่อเนื้อหาใหม่ ๆ ของประชาธิปไตยสัมบูรณ์ของมหาชน

อำนาจต่อต้านสมัยใหม่
และปฏิบทของการก่อกบฏสมัยใหม่

มโนทัศน์ของอำนาจต่อต้านประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐานสามประการคือ

- การขัดขืน (resistance),
- การก่อกบฏ (insurrection) และ
- อำนาจปวงชน (constituent power) (*)

(*) constituent power - หมายถึงปวงชนผู้มีอำนาจในการสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว ปวงชนกลับต้องยอมมอบอำนาจของตนให้แก่ "constituted power" กล่าวคือรัฐบาลและหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจมาตามรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งระหว่างอำนาจปวงชนกับอำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นสำคัญในปรัชญาการเมืองยุคสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องตระหนักก็คือ เช่นเดียวกับมโนทัศน์ของระบอบประชาธิปไตยกระแสหลัก มโนทัศน์ของอำนาจต่อต้านกระแสหลักของยุคสมัยใหม่ ก็ถูกนิยามด้วยพื้นที่ของชาติและอำนาจอธิปไตยของชาติเช่นกัน ผลลัพธ์ก็คือ ในยุคสมัยใหม่ -- อย่างน้อยก็นับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส และตลอดช่วงระยะยาวนานของการปลุกระดมลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ -- องค์ประกอบทั้งสามประการในมโนทัศน์ของอำนาจต่อต้าน (การขัดขืน, การก่อกบฏ, และอำนาจปวงชน) มักถูกมองแยกขาดจากกัน และทำหน้าที่เป็นยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นแค่ช่วงขณะทางประวัติศาสตร์ของยุทธศาสตร์การปฏิวัติที่แตกต่างกันไป. เมื่อองค์ประกอบทั้งสามถูกแบ่งแยกออกจากกันเช่นนี้ มโนทัศน์ทั้งหมดของอำนาจต่อต้านจึงมักถูกลดทอนลงเหลือแค่องค์ประกอบเดียว นั่นคือ มโนทัศน์ของการก่อกบฏ หรือสงครามกลางเมืองนั่นเอง

ความคิดทางการเมืองของเลนินเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเด็นนี้ สำหรับเลนิน อำนาจต่อต้าน -- ถ้ากล่าวตามคำพูดของเขาก็คือ การแบ่งขั้วของอำนาจที่เกิดขึ้นเมื่อพลังชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นต่อสู้กับชนชั้นกระฎุมพี -- สามารถดำรงอยู่ได้ในช่วงระยะสั้นมาก ๆ เท่านั้น นั่นคือในช่วงเวลาของการก่อกบฏ ส่วนการขัดขืนนั้น ในทัศนะของเลนิน มันอยู่ในรูปของการต่อสู้แบบสหการนิยม (syndicalism) (*) โดยเฉพาะในเรื่องค่าจ้างเป็นหลัก

(*) Syndicalism หมายถึงขบวนการที่ต้องการให้ชนชั้นแรงงานเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคมจากระบบทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยมของชนชั้นแรงงาน โดยมีสหภาพแรงงานเป็นผู้บริหารสังคมเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ รวมทั้งสหภาพแรงงานเป็นเจ้าของและควบคุมปัจจัยการผลิต

การขัดขืนมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญก็จริง แต่โดยพื้นฐานแล้ว ก็ยังแยกต่างหากจากกระบวนการปฏิวัติ อำนาจปวงชนก็เช่นกัน มันหายไปจากมุมมองของเลนิน เพราะทุกย่างก้าวของอำนาจปวงชน ย่อมกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐใหม่ไปทันที กล่าวคือ กลายเป็นอำนาจใหม่ตามกฎหมาย สำหรับเลนิน สิ่งเดียวที่เป็นมโนทัศน์ของอำนาจต่อต้านแบบปฏิวัติจึงมีเพียงแค่พลังอันยิ่งใหญ่ของการก่อกบฏ หรือที่จริงก็คือสงครามกลางเมืองที่ต่อสู้กับเผด็จการชนชั้นกระฎุมพี

เมื่อเราตระหนักแล้วว่า ความหมายของอำนาจต่อต้านในยุคสมัยใหม่ถูกลดทอนลงเหลือแค่การก่อกบฏ เราก็ควรพิจารณาเงื่อนไข รวมทั้งความสำเร็จและล้มเหลวของการก่อกบฏสมัยใหม่ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ความจริงที่ย้อนแย้งหรือปฏิบท (paradox) และโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นก็คือ แม้แต่ในยามที่การก่อกบฏของคอมมิวนิสต์ยุคสมัยใหม่สามารถได้ชัยชนะก็ตาม แต่แท้ที่จริงแล้วมันย่อมพ่ายแพ้. ทั้งนี้เพราะมันติดขลุกขลักอยู่ระหว่างสงครามภายในชาติ และสงครามระหว่างประเทศสลับกันไป ในท้ายที่สุด ความจริงก็กระจ่างชัดว่า การก่อกบฏภายในชาติเป็นแค่มายาภาพประการหนึ่งเท่านั้น

การจำแลงสงครามระหว่างประเทศเป็นสงครามระหว่างชนชั้นในชาติ
ชาวปารีสคอมมูน สร้างต้นแบบไว้ใน ค.ศ. 1871 สำหรับการก่อกบฏของชาวคอมมิวนิสต์สมัยใหม่ ตัวอย่างของพวกเขาสอนว่า ยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่ชัยชนะคือ การจำแลงสงครามระหว่างประเทศให้กลายเป็นสงครามกลางเมือง-หรือสงครามระหว่างชนชั้นในชาติ สงครามระหว่างประเทศเป็นเงื่อนไขของความเป็นไปได้ในการลงมือก่อกบฏ กองทัพของชาวปรัสเซียที่ล้อมประตูเมืองปารีส ไม่เพียงโค่นจักรวรรดิที่สองของจักรพรรดิหลุยส์ โบนาปาร์ตลง แต่ยังเปิดโอกาสให้ล้มล้างรัฐบาลของ [นายกรัฐมนตรีอะดอล์ฟ] ติเย (Adolph Thiers) และสาธารณรัฐลงด้วย ปารีสติดอาวุธคือการปฏิวัติติดอาวุธ! อีกสี่สิบปีต่อมา ชาวพรรคบอลเชวิคเองก็ต้องอาศัยสงครามระหว่างประเทศในยุโรป นั่นคือ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นเงื่อนไขของการก่อกบฏ และอีกคำรบที่กองทัพชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นศัตรูของชาติ ทำหน้าที่เป็นเงื่อนไขของความเป็นไปได้ ชาวพรรคบอลเชวิคจำแลงสงครามระหว่างประเทศให้กลายเป็นสงครามกลางเมืองเช่นกัน

กบฏของชาวคอมมิวนิสต์ถูกบิดเบือนกลายเป็นการปกครองทหารในที่สุด
อย่างไรก็ตาม โศกนาฏกรรมของการก่อกบฏสมัยใหม่ก็คือ สงครามกลางเมืองภายในชาติจำแลงร่างกลับไปเป็นสงครามระหว่างประเทศทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออันที่จริงก็คือสงครามป้องกันตัวที่ต้องรับมือกับชนชั้นกระฎุมพีระหว่างประเทศที่ผนึกกำลังกัน การชนะสงครามกลางเมืองภายในชาติย่อมเป็นไปไม่ได้ หากว่าชัยชนะภายในชาติรังแต่ก่อให้เกิดสงครามระหว่างประเทศครั้งใหม่และถาวรขึ้นมาร่ำไป ดังนั้น เงื่อนไขเดียวกัน --นั่นคือ สงครามระหว่างประเทศ-- ที่เปิดโอกาสให้มีการก่อกบฏของชาวคอมมิวนิสต์ภายในชาติ กลับกลายเป็นเงื่อนไขที่จองจำการก่อกบฏที่ได้ชัยชนะเอาไว้ หรือกล่าวให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ มันถูกบิดเบือนจนกลายเป็นระบอบการปกครองแบบทหารถาวรไปในที่สุด

ชาวปารีสคอมมูนติดขลุกขลักอยู่ในเงื่อนตายสองปมนี้ มาร์กซ์มองเห็นความผิดพลาดของคอมมูนแห่งปารีสอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า ทางเลือกอีกทางที่เหลืออยู่ก็เป็นความผิดพลาดเท่า ๆ กัน ทางเลือกที่มีอยู่อีกทางหนึ่งคือ ยกอำนาจทั้งหมดให้แก่คณะกรรมการกลางและเดินแถวร่วมกับกองทัพกระฎุมพีที่พระราชวังแวร์ซายล์ กล่าวคือ กลายเป็นระบอบการปกครองแบบทหาร หรือไม่ก็ยอมแพ้และถูกสังหารหมู่ แต่ต่อให้เลือกไปแวร์ซายล์ก็คงไม่จบลงด้วยชัยชนะอยู่ดี ทั้งนี้เพราะชนชั้นปกครองชาวปรัสเซียและอังกฤษคงไม่ยอมแน่ ๆ ชัยชนะของคอมมูนย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างประเทศไม่รู้จบสิ้น ชัยชนะของโซเวียตเพียงแต่ยืนยันถึงเงื่อนตายสองปมนี้ ชัยชนะทางการทหารในรัสเซีย ความพ่ายแพ้ย่อยยับของชนชั้นกระฎุมพีภายในชาติ เป็นแค่การเปิดฉากสงครามระหว่างประเทศ (สงครามร้อน แล้วตามมาด้วยสงครามเย็น) ซึ่งยืดเยื้อกว่าเจ็ดสิบปี

การก่อกบฏในช่วงสงครามเย็น ดำเนินไปภายใต้โครงสร้างแบบเดียวกัน เพียงแต่ปรับแต่งต้นแบบโดยลดทอนสงครามระหว่างประเทศ ให้เหลือแค่รูปแบบที่เป็นสาระสำคัญ. สงครามเย็นกำหนดให้เงื่อนไขของการก่อกบฏสมัยใหม่กลายเป็นภาวะถาวร ในด้านหนึ่ง มีภาวะถาวรของสงครามระหว่างประเทศที่แปรความหมายเป็นสงครามชนชั้นไปแล้ว โครงสร้างที่เป็นตัวแทนของมหาอำนาจสองขั้วยัดเยียดการแปรความหมายนี้แก่ความเคลื่อนไหวใหม่ทุกขบวนการ ทางเลือกยังถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขทางวัตถุด้วย เนื่องจากขบวนการก่อกบฏสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจขั้วใดขั้วหนึ่ง หรือยุยงให้สองฝ่ายขัดแย้งกันเองเพื่อฉวยโอกาส การก่อกบฏภายในชาติจึงมีสูตรสำเร็จเรียบร้อย กระนั้นก็ตาม สูตรสำเร็จและความแน่นอนกลายเป็นข้อจำกัดของการก่อกบฏภายในชาติไปด้วย ไม่มีขบวนการไหนสามารถเล็ดลอดไปจากทางเลือกในสงครามเย็นอันยิ่งใหญ่

แม้กระทั่งขบวนการก่อกบฏที่ไม่ได้คิดว่าตนเองตั้งอยู่บนเงื่อนไขทางชนชั้น เช่น ขบวนการต่อต้านอาณานิคมในเอเชียและแอฟริกา ขบวนการต่อต้านเผด็จการในละตินอเมริกา ขบวนการพลังคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา ต่างถูกยัดเยียดอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงให้เป็นตัวแทนของขั้วใดขั้วหนึ่งในการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ ถึงที่สุดแล้ว การก่อกบฏภายในชาติระหว่างสงครามเย็นจึงเป็นมายาภาพ การก่อกบฏที่ได้ชัยชนะและประเทศที่มีการปฏิวัติจึงเป็นแค่เบี้ยบนกระดานในมหาสงครามเย็นเท่านั้นเอง

ความเกี่ยวพันกับประเด็นในปัจจุบันที่สะท้อนให้เห็นจากประวัติศาสตร์โดยย่นย่อของการก่อกบฏในยุคสมัยใหม่ วนเวียนอยู่รอบข้อเท็จจริงสองประการ หรืออันที่จริงคือข้อเท็จจริงเดียวที่มีสองด้าน

- ในด้านหนึ่ง เมื่ออำนาจอธิปไตยของชาติเสื่อมถอยลงและเปลี่ยนผ่านไปสู่อภิจักรภพในวันนี้ เงื่อนไขที่เอื้อให้มีการก่อกบฏสมัยใหม่ ทั้งในความคิดและบางครั้งในทางปฏิบัติ ย่อมหมดลงไปด้วย ดังนั้น ในปัจจุบัน เพียงแค่คิดถึงการก่อกบฏ ก็ดูเหมือนแทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ

- ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่หมดไปด้วยก็คือเงื่อนไขที่จองจำการก่อกบฏในยุคสมัยใหม่ไว้นั่นเอง นั่นคือการตกอยู่ระหว่างสงครามภายในชาติกับสงครามระหว่างประเทศอย่างไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น ในวันนี้ เมื่อพิจารณาประเด็นของการก่อกบฏ เบื้องหน้าเราจึงมีทั้งขวากหนามอันยิ่งใหญ่และความเป็นไปได้อันไพศาล อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราขอย้อนกลับไปพิจารณาอำนาจต่อต้านในมุมกว้างกว่าเดิมเสียก่อน

อำนาจต่อต้านของกายาอสุรกาย
ด้วยความเสื่อมถอยของอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติในปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้อีกครั้งที่เราจะกลับไปสำรวจดูมโนทัศน์ของอำนาจต่อต้านอย่างเต็มรูปแบบ และย้อนกลับไปสู่รากฐานทางมโนทัศน์ของมัน

ทุกวันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างการขัดขืน, การก่อกบฏ, และอำนาจปวงชน มีความเป็นไปได้ที่จะมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องโดยสมบูรณ์ และในแต่ละช่วงขณะก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการแสดงออกถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แต่ละช่วงขณะทั้งสาม---คือการขัดขืน, การก่อกบฏ, และอำนาจปวงชน---สามารถเหลื่อมซ้อนกันและกัน และกอปรขึ้นเป็นวิธีการแสดงออกทางการเมืองร่วมกัน

บริบทที่ทั้งเอื้ออำนวยและขัดขวางปฏิบัติการของอำนาจต่อต้านนี้ มิใช่อำนาจอธิปไตยอันมีขีดจำกัดของรัฐชาติอีกต่อไป แต่เป็นอำนาจอธิปไตยอันไม่มีขีดจำกัดของอภิจักรภพ ดังนั้น อำนาจต่อต้านเองก็ต้องถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ ในลักษณะที่ไร้ขีดจำกัดและไร้ขอบเขต/พรมแดนเช่นกัน

ณ จุดนี้ เราพบกับปริศนาทางทฤษฎีและทางการเมืองที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้น ในบริบทของอภิจักรภพในปัจจุบัน เราจำต้องคิดทบทวนถึงมโนทัศน์ของการขัดขืน, การก่อกบฏ และอำนาจปวงชนเสียก่อน รวมทั้งคิดทบทวนถึงความสัมพันธ์ภายในของมันด้วย กล่าวคือ ความเป็นเอกภาพของสามสิ่งนี้ในมโนทัศน์และการปฏิบัติของอำนาจต่อต้าน

มิเชล ฟูโกต์ - มโนทัศน์การขัดขืน / อาวุธของผู้อ่อนแอ - เจมส์ สก็อต
เมื่อเรากวาดตามองดูผลผลิตทางทฤษฎีร่วมสมัย เราสามารถมองเห็นว่า เรามีเครื่องมือบางอย่างที่ใช้การได้ในเรื่องนี้อยู่แล้ว แน่นอน การพัฒนามโนทัศน์การขัดขืนของมิเชล ฟูโกต์ ตลอดจนผลงานทั้งหมดที่เจริญรอยตามความคิดของเขา แนวความคิดเกี่ยวกับอาวุธของผู้อ่อนแอของนักมานุษยวิทยา เจมส์ สก็อต (James Scott) และผลงานอื่น ๆ ทั้งหมดเกี่ยวกับการขัดขืนทางการเมืองระดับจุลภาค ควรเป็นรากฐานในการสำรวจตรวจสอบปริศนาประการนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดอันยิ่งใหญ่ของผลงานเหล่านี้ทั้งหมดก็คือ มันไม่เคยค้นพบความเชื่อมโยงภายใน ที่การขัดขืนสามารถมีร่วมกับการก่อกบฏและอำนาจปวงชน กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การขัดขืนสามารถเป็นอาวุธทางการเมืองที่มีพลานุภาพ แต่เนื่องจากมันถูกแยกโดดเดี่ยว ปฏิบัติการขัดขืนของปัจเจกบุคคล จึงไม่มีทางประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจ (6)

(6) จากมุมมองของเรา [ปิแอร์-]เฟลิกซ์ กัวตารี (Pierre-F?lix Guattari) โดยเฉพาะในงานเขียนร่วมกับ [ฌียส์] เดอเลอซ (Gilles Deleuze) เป็นคนที่ก้าวล้ำหน้าที่สุด ในการผลักดันความหมายของการขัดขืน ให้เลื่อนขั้นไปสู่การเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติในระดับโมเลกุล

อย่างไรก็ตาม ในทุกวันนี้ องค์ประกอบอีกสองประการของอำนาจต่อต้านยังไม่ได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ การก่อกบฏคืออาการแข็งข้อของคนหมู่มาก แต่เงื่อนไขของการก่อกบฏในวันนี้คืออะไร และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร? ประเด็นที่ควรแจ่มชัดแล้วก็คือ เราไม่สามารถแปลการก่อกบฏเป็นสงครามกลางเมืองทันทีได้อีก เหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำในยุคสมัยใหม่ หากคำว่า "กลางเมือง" นั้น เราหมายถึงสงครามภายในพื้นที่ของชาติ การก่อกบฏยังคงเป็นสงครามของผู้ถูกครอบงำ ที่ต่อสู้กับผู้ปกครองภายในสังคมหนึ่ง ๆ. แต่สังคมในที่นี้มักหมายถึงสังคมโลกที่ไร้ขอบเขต หรือสังคมอภิจักรภพโดยรวม การก่อกบฏต่ออภิจักรภพสามารถแปรเป็นการปฏิบัติได้อย่างไร? ใครเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ?

ความเชื่อมโยงภายในระหว่างการเมืองระดับจุลภาคของการขัดขืน กับการก่อกบฏต่ออภิจักรภพอยู่ตรงจุดไหน? และเราจะสร้างมโนทัศน์ถึงอำนาจปวงชนในวันนี้ได้อย่างไร กล่าวคือ การสร้างสรรค์ธรรมนูญทางสังคมและการเมืองขึ้นมาใหม่ร่วมกัน?

การหลอมรวม การขัดขืน, การก่อกบฏ, และอำนาจปวงชน เป็นหนึ่งเดียว
ในประการสุดท้าย เราต้องคิดถึงการขัดขืน, การก่อกบฏ, และอำนาจปวงชน ในฐานะกระบวนการหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ ทั้งสามประการนี้หลอมรวมกันเป็นอำนาจต่อต้านที่บริบูรณ์ และเป็นการสร้างสังคมทางเลือกใหม่ขึ้นมาในขั้นสุดท้าย ทั้งหมดนี้คือคำถามอันใหญ่หลวง และเราเพิ่งก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นต้น ๆ ที่จะนำไปสู่การตอบคำถามเหล่านี้

แทนที่จะเผชิญหน้ากับคำถามตรง ๆ อาจเป็นการดีกว่า หากเราย้ายหมุดและพิจารณาดูประเด็นปัญหาทั้งหมดจากมุมมองที่ต่างไปจากเดิม เราต้องแสวงหาทางใดทางหนึ่งเพื่อสลัดหลุดพันธนาการของความมีเหตุผล เพื่อทะลวงให้พ้นกรอบเดิม ๆ ของการคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสังคม เพื่อสร้างมุมมองที่มีจินตนาการและมีความสร้างสรรค์ยิ่งกว่าเดิม เราลองเริ่มต้นโดยพินิจดูรากเหง้าพื้นฐานที่สุดของอำนาจต่อต้าน ซึ่งองค์ประกอบทั้งสามประการ---การขัดขืน, การก่อกบฏ, และอำนาจปวงชน---มีความสอดรับกันอย่างแนบแน่นที่สุด

วัตถุพื้นฐานของอำนาจต่อต้านคือ กายา (the flesh)
วัตถุพื้นฐานของอำนาจต่อต้านคือ กายา (the flesh) คือแก่นชีวิตพื้นฐานที่ร่างกายและสติปัญญามาบรรจบกันและแบ่งแยกออกจากกันมิได้ "กายามิใช่วัตถุ, มิใช่จิต, มิใช่สสาร" โมรีซ เมร์โล-ปงตี (Maurice Merleau-Ponty) เขียนไว้ "การกำหนดคุณสมบัติของมันให้ชัดเจน เราจำเป็นต้องใช้คำศัพท์โบราณคือ 'ธาตุ' ในความหมายที่คำ ๆ นี้เคยใช้เรียก ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, กล่าวคือ ในความหมายของ สามัญลักษณ์ (general thing)....คล้ายกับหลักการอวตารที่นำความเป็นสัต (being) ไปสู่ที่ใดก็ตามที่มีเศษเสี้ยวของสัตดำรงอยู่ กายาในที่นี้จึงหมายถึง 'ธาตุ' ของสัตภาวะ (Being)" (7)

(7) Maurice Marleau-Ponty, The Visible and the Invisible, ed. Claude Lefort, trans. Alphonso Lingus (Evanston, Ill.: Northwestern University Press: 1968), p. 139. โปรดดูแนวคิดเกี่ยวกับกายาของ Antonin Artaud ประกอบ: "There are intellectual cries, cries born of the subtlety of the marrow. That is what I mean by the Flesh. I do not separate my thought from my life. With each vibration of my tongue I retrace all the pathways of my thought in my flesh." ("มีเสียงร้องของปัญญา เสียงร้องที่เกิดมาจาก ความซับซ้อน ของไขกระดูก นี่คือ "กายา" ที่ข้าพเจ้าหมายถึง ข้าพเจ้าไม่ได้แยกความคิดออกจากชีวิต ในทุกการไหวตัวของลิ้น ข้าพเจ้าสามารถสืบร่องรอยความคิดของตนย้อนกลับไปจนถึงกายาได้") Antonin Artaud, "Situation of the Flesh," in Selected Writings, trans. Helen Weaver (Berkeley: University of California Press: 1988), p. 110.

กายานั้นเป็นศักยภาพล้วน ๆ เป็นเนื้อแท้ของชีวิตที่ไม่มีรูปร่าง เป็นธาตุของสัตภาวะ อย่างไรก็ตาม เราพึงระมัดระวังที่จะไม่สับสนกายากับความหมายใด ๆ ของชีวิตโล้น ๆ ซึ่งทำให้นึกถึงชีวรูปที่กล้อนคุณสมบัติทั้งหมดทิ้งไป หรือขีดจำกัดเชิงลบของชีวิต (8) กายานั้นมีแนวโน้มไปอีกทิศทางหนึ่ง คือมุ่งไปสู่ความเต็มเปี่ยมของชีวิต เราไม่ได้เป็นเพียงกายา แต่กายาเป็นธาตุของสัตภาวะ เราจึงสร้างรูปแบบชีวิตจากกายาของเราอย่างต่อเนื่อง

(8) โปรดดู Giorgio Agamben, Homo Sacer, trans. Daniel Heller-Roazen (Stanford: Stanford University Press, 1998).

ในพัฒนาการของรูปแบบชีวิต เราค้นพบว่า ตัวเราเองคือความมหาศาลของร่างกาย ในขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักว่า ทุก ๆ ร่างกายคือความมหาศาลในตัวมันเอง ซึ่งเต็มไปด้วยโมเลกุล ความปรารถนา รูปแบบชีวิต การสร้างสรรค์ ภายในตัวเราแต่ละคนเต็มไปด้วยปิศาจหรือเทวทูตนับพัน นี่คือรากฐาน คือจุดเริ่มต้นของมหาชน สิ่งที่กระทำต่อกายาและทำให้มันมีรูปร่างขึ้นมาคือพลานุภาพของการสร้างสรรค์ พลานุภาพที่ร้อยรัดเทศะที่เป็นการผสมผสานและความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติจากภาวะเอกฐาน กล่าวสั้น ๆ คือ พลานุภาพที่ปรับเปลี่ยนวิถีและรูปแบบของการดำรงอยู่

ในบริบทนี้ เห็นได้ชัดว่า องค์ประกอบทั้งสามของอำนาจต่อต้าน (การขัดขืน, การก่อกบฏและอำนาจปวงชน) เกิดขึ้นมา พร้อมกัน จากทุกภาวะเอกฐานและทุกความเคลื่อนไหวของร่างกายที่กอปรขึ้นเป็นมหาชน การขัดขืน การก่อกบฏร่วมกัน และการสร้างสรรค์ธรรมนูญสังคมและการเมืองใหม่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวงจรการเมืองระดับจุลภาคนับครั้งไม่ถ้วน

ดังนั้น ในกายาของมหาชนจึงจารึกไว้ด้วยพลังอำนาจใหม่ พลังอำนาจแห่งการต่อต้าน สัตชีวิตที่ต่อต้านอภิจักรภพ ณ บัดนี้ อนารยชนใหม่ อสุรกายตนใหม่ และเหล่ายักษ์ปักหลั่นอันงดงามได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว และอุบัติขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจาก ภายใน ซอกหลืบของอภิจักรภพและ ต่อต้าน อำนาจของอภิจักรภพ พลานุภาพของการสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะมันมีอยู่ล้นเกิน ทุก ๆ การสร้างสรรค์ที่แท้จริง ทุก ๆ การกระทำที่มิได้ทำไปเพียงเพื่อผลิตซ้ำปทัสถานเดิม คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อำนาจต่อต้านคือพลังล้นเกินท่วมท้น สักวันหนึ่งมันจะไร้ขีดจำกัดและวัดไม่ได้ ความตึงเครียดที่อยู่ระหว่างความท่วมท้น และความไร้ขีดจำกัดนี้คือจุดที่คุณสมบัติอันยิ่งใหญ่ของกายาและอำนาจต่อต้านมีความสำคัญมากขึ้น

ขณะที่เรากำลังเฝ้ารอวันอุบัติของอสุรกาย (แห่งการขัดขืน, ก่อกบฏและอำนาจปวงชน) ก็ยิ่งมีความตระหนักรู้เพิ่มขึ้นว่า ระบบอภิจักรภพหรือรูปแบบการปกครองในปัจจุบันที่คอยกดขี่เจตจำนงสู่อำนาจของมหาชนเอาไว้ กำลังใกล้ถึงกาลพินาศ มันกำลังถูกต้อนไปจนมุม คลอนแคลน มีแต่วิกฤตการณ์กระหน่ำซ้ำ (ณ จุดนี้เองที่ปรัชญาอันอ่อนแอของชายขอบ ความแตกต่างและความล่อนจ้อน ปรากฏเป็นรูปลักษณ์ที่เร้นลับงมงายและจิตสำนึกไร้ความสุขของอำนาจอภิจักรภพ)

ต่อต้านอำนาจของอภิจักรภพ ด้วยร่างกายส่วนรวม
เพื่อต่อต้านอำนาจของอภิจักรภพ พลานุภาพของการสร้างสรรค์ (หรือที่แท้แล้วก็คืออำนาจต่อต้าน) สร้างร่างกายส่วนรวมขึ้นมาจากกายา ร่างกายเหล่านี้มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับสัตว์มหึมาที่ฮอบส์และนักทฤษฎีรัฐสมัยใหม่คนอื่นจินตนาการถึง เมื่อพวกเขาสร้างอสุรกายเลวีอาธานขึ้นมาเป็นเครื่องมืออันศักดิ์สิทฺธิ์ เป็นสุนัขพิตบุลล์ของชนชั้นกระฎุมพีผู้รู้จักแต่กอบโกย มหาชนที่เรากำลังเผชิญพบในวันนี้ ที่แท้คือจำนวนทวีคูณของร่างกาย แต่ละร่างตัดไขว้กันไปมาด้วยอำนาจปัญญาและอำนาจวัตถุของเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก มันคือร่างไซบอร์กที่เคลื่อนไหวอย่างอิสระ โดยไม่คำนึงถึงพรมแดนที่แบ่งแยกมนุษย์จากเครื่องจักร

ร่างกายอันมากมายมหาศาลของมหาชน กระทำการสร้างสรรค์รูปแบบชีวิตใหม่ ภาษาใหม่ ปัญญาใหม่ และอำนาจจริยธรรมใหม่อย่างไม่หยุดนิ่ง ร่างกายของมหาชนคือความใหญ่โตพิลึกกึกกือ ควบคุมไม่ได้ แม้ว่าตรรกะของทุนนิยมจะพยายามควบคุมมันไว้ในระบบจัดการของอภิจักรภพก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว ร่างกายของมหาชนคือ ร่างประหลาดที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กำลังบังคับของวินัยและบรรทัดฐาน แต่อ่อนไหวต่ออำนาจการสร้างสรรค์ของตัวมันเองเท่านั้น

เมื่อเราชี้ให้เห็นว่า พลานุภาพของการสร้างสรรค์คือกุญแจสำคัญในการก่อรูปอำนาจต่อต้านในยุคอภิจักรภพ เราไม่ได้ตั้งใจจะหมายถึงกลุ่มศิลปินหรือนักปรัชญากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในระบบเศรษฐกิจการเมืองของอภิจักรภพ อำนาจการสร้างสรรค์กลายเป็นเงื่อนไขทั่วไปและสามัญธรรมดาของการผลิตไปแล้ว นี่คือสิ่งที่เราหมายถึงเมื่อเราอ้างว่า แรงงานที่ไม่ใช่วัตถุและปัญญามหาชน เข้าครอบครองสถานะสำคัญในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไปแล้ว

สรุป
ดังที่เราแสดงเหตุผลไปข้างต้น หากรูปแบบหลักของประชาธิปไตยที่ยุคสมัยใหม่ และประวัติศาสตร์ยุโรปถูกทิ้งเป็นมรดกไว้ให้เรา กล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนปวงชน เป็นสิ่งที่ไม่เพียงไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ยังเกิดขึ้นจริงไม่ได้ด้วย ถ้าเช่นนั้น ก็ไม่ควรมองว่าข้อเสนอของเราเกี่ยวกับประชาธิปไตยทางเลือกของมหาชนเป็นแค่อุดมคติเพ้อฝัน

การที่แนวคิดแบบเก่าเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ ควรทำให้เราต้องก้าวไปข้างหน้า นี่ยังหมายความด้วยว่า เราตกอยู่ภายในอำนาจครอบงำของอภิจักรภพอย่างสิ้นเชิง และในขณะเดียวกันก็ต่อต้านอำนาจของมันอย่างสิ้นเชิงด้วย ดังนั้น จึงไม่มีหนทางแบบวิภาษวิธีใด ๆ ที่เป็นไปได้ การสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียวที่เราเหลืออยู่ ก็คือการสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยแบบใหม่ ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ไร้ขีดจำกัด คำนวณวัดไม่ได้ ประชาธิปไตยของมหาชนผู้ทรงอำนาจ ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยของปัจเจกบุคคลที่เท่าเทียมกัน แต่เป็นอำนาจที่เปิดกว้างให้แก่การร่วมมือ การสื่อสาร การสร้างสรรค์อย่างเท่าเทียม ณ จุดนี้ เราอาจไม่มีโครงการขั้นตอนใด ๆ มานำเสนอ แล้วใครเล่าจะกล้านำเสนอแบบนั้นอีกในวันนี้

หลังจากศตวรรษที่ 20 ปิดฉากไปแล้ว? บรรดาตัวละครเอกของยุคสมัยใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักบวช สื่อมวลชน นักเทศน์ นักการเมือง อาจยังมีประโยชน์สำหรับอำนาจอภิจักรภพ แต่ไม่ใช่สำหรับเราอีกแล้ว ธาตุแห่งความเป็นนักปรัชญาและศิลปินในตัวเราทุกคน การฝึกฝนการทำงานด้วยกายา และจัดการกับความมากมายมหาศาลที่ลดทอนไม่ได้ของมัน พลานุภาพของการสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด นี่แหละคือคุณสมบัติโดดเด่นของมหาชน พ้นไปจากระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ยังมีความใฝ่ฝันถึงชีวิตส่วนรวมที่จำต้องทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา บางที เราอาจผสมผสานกายากับปัญญาของมหาชน ก่อเกิดเป็นวัยเยาว์ครั้งใหม่ของมนุษยชาติ โดยอาศัยการบุกเบิกภารกิจแห่งความรักอันยิ่งใหญ่

บทแปลนี้ สามารถ download ได้ในรูป word


++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 29 May 2008 : Copyleft by MNU.

นี่คือจุดพลิกผันทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่เฉพาะในสายตาของรัฐชาติที่ทรงอิทธิพลอำนาจเท่านั้น กลุ่มประเทศที่เป็นเบี้ยล่างไม่เคยมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงอยู่แล้ว สำหรับรัฐชาติจำนวนมาก การก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่คือการก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ของการตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งกัดกร่อนลดทอนอำนาจอธิป
ไตยที่ชาตินั้นๆ อาจเสแสร้งว่ามีอยู่ ความเปลี่ยนแปลงในรูปององค์
อธิปัตย์นี้ กล่าวคือ การเปลี่ยนจากองค์อธิปัตย์ยุคสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่ในรัฐชาติ ไปเป็นองค์อธิปัตย์แบบอภิจักรภพในยุคหลังสมัยใหม่ มีผลกระทบต่อพวกเราโดยถ้วนหน้า แม้กระทั่งในประเทศที่อำนาจอธิป
ไตยแห่งชาติไม่เคยมีอยู่จริงก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่อภิจักรภพนี้ เปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบความคิดของเราและขอบเขตความเป็นไปได้

H