ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




18-05-2551 (1564)

การหมิ่นประมาท : การสร้างเวทีระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อ
สื่ออินโดนิเซีย: แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ / สื่อฟิลิปปินส์กับความรุนแรง
สุภัตรา ภูมิประภาส : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความเพื่อสิทธิพลเมือง การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
บทความแปลชุดนี้ เป็นรายงานนำเสนอในการสัมมนานานาชาติ เรื่อง
"การหมิ่นประมาท : การสร้างเวทีระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อ"
จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๙-๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่โรงแรมสันติกา เมืองจ๊อกจาการ์ต้า
ประเทศอินโดนิเซีย โดยผู้ร่วมสัมมนาเป็น นักข่าว นักกฎหมาย และนักรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อจาก
ประเทศอินโดนิเซีย ติมอร์ตะวันออก กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไทย มาเลเซีย และออสเตรเลีย

ประสบการณ์ ชะตากรรม และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อของประเทศต่างๆ ที่ถูกนำเสนอในการสัมมนานี้
ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ และชวนถกเถียง ย้อนแย้งในหลายประเด็น ทั้งความก้าวหน้าและ
ความถดถอยของสื่อ รวมถึงคำถามต่อหลักการแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ. สื่อ มิได้ต่อสู้อยู่เพียง
ในห้องประชุมข่าว หรือแข่งขันกันในสนามข่าวเท่านั้น แต่ศาลได้กลายเป็นสนามการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อด้วย
สื่อเป็นได้ทั้งผู้คุกคาม และผู้ถูกคุกคาม

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๖๔
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การหมิ่นประมาท : การสร้างเวทีระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อ
สื่ออินโดนิเซีย: แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ / สื่อฟิลิปปินส์กับความรุนแรง
สุภัตรา ภูมิประภาส : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ: บทแปลและเรียบเรียงต่อไปนี้ประกอบด้วย ๒ เรื่อง ดังนี้

๑. สถานการณ์สื่อในอินโดนิเซีย : "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยาว?"
๒. สื่อฟิลิปปินส์ กับ ความรุนแรงหลากชนิด

๑. สถานการณ์สื่อในอินโดนิเซีย : "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยาว?"
โดย บัมบัง ฮารีมูรติ / สุภัตรา ภูมิประภาส: แปล
Bambang Harymurti : เป็นกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งอินโดนิเซีย

แปลจากรายงานเรื่อง The Media Environment in Indonesia: "Bright Light at the End of Long Tunnel?" นำเสนอที่การสัมมนานานาชาติ International Seminar on Defamation: Building a Regional Advocacy Platform ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่เมืองจ็อกจาการ์ต้า (Yogyakarta) ประเทศอินโดนิเซีย

เสรีภาพสื่อสิ่งพิมพ์ : เส้นในผืนทราย
เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ถือเป็นกองหน้าของประชาธิปไตยในประเทศอินโดนิเซียมาโดยตลอด โชคร้ายที่ประวัติการณ์ของการรักษาเสรีภาพอันนี้ไว้ช่างไร้ผล ประเทศอินโดนีเซียก้าวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย นับตั้งแต่การลาออกของประธานาธิบดีซูฮาร์โตเมื่อปี พ.ศ. 2531 (1988) และเส้นทางเดินสู่ประชาธิปไตยเต็มใบนั้นยังอีกยาวไกล

ก่อนปี 2531 อินโดนิเซียได้พยายามเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยถึงสองครั้ง แต่ประสบความล้มเหลว
ในทั้งสองครั้งนั้น เสรีภาพของสื่อเป็นสิทธิทางการเมืองประเภทแรกที่ประชาชนถูกยึดเอาไป การขาดเสรีภาพนี้ทำให้รัฐบาลยึดสิทธิทางการเมืองอื่นๆ ไปจากประชาชนได้ง่ายขึ้น

ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า อินโดนิเซียจะประสบความสำเร็จมากขึ้น ในการบรรลุจุดมุ่งหมายต่างๆของประชาธิปไตยในช่วงเวลานี้ ความก้าวหน้าที่สำคัญบางอย่างได้เกิดขึ้น เบื้องต้นคือ การจัดตั้งสถาบันทางการเมืองต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีหลายสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าด้วยเช่นกัน เบื้องต้น คือในการหาสมดุลย์ที่ถูกต้องระหว่างสิทธิต่างๆ ของเสียงข้างมาก ที่ขัดแย้งกับสิทธิของปักเจกบุคคล

การยกฟ้องนิตยสารเพล์บอย
คดีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ของเอร์วิน อาร์นันดา (Erwin Arnada) บรรณาธิการของนิตยสารเพล์บอยที่ตีพิมพ์ในอินโดนิเซียเป็นตัวอย่างของการต่อสู้เช่นนั้น แม้ว่าเนื้อหารูปภาพที่ปรากฏในนิตยสารจะดูไม่น่าตื่นเต้น แม้โดยมาตรฐานของอินโดนิเซียก็ตาม ในปี 2549 กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้แจ้งความที่สถานีตำรวจจาการ์ต้าใต้ (South Jakarta) ให้ดำเนินคดีอาญากับผู้พิมพ์ ข้อกล่าวหาคือ นิตยสารฉบับนี้ตีพิมพ์ภาพที่ไม่เหมาะสมตามที่นิยามไว้ในมาตรา 282 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นมรดกจากยุคที่อินโดนิเซียเป็นอาณานิคมของดัชต์

ตำรวจและสำนักงานอัยการยอมจำนนกับกระแสกดดันทางการเมือง และได้ดำเนินคดีกับนายอาร์นันดา ซึ่งเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ศาลได้กลายเป็นสนามการต่อสู้ระหว่างผู้สนับสนุนเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ และกลุ่มศาสนาสายอนุรักษ์นิยม สภาการหนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรอิสระ ที่มีภารกิจตามที่กำหนดโดยกฎหมายสื่อสิ่งพิมพ์ในการคุ้มครองเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศอินโดนิเซีย ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่า นิตยสารเพล์บอยเป็นสิ่งพิมพ์ ดังนั้น ตำรวจและอัยการต้องตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียว

กฎหมายสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเพิ่งถูกเขียนขึ้นในขณะที่ความรู้สึกของสาธารณชนต่อประชาธิปไตยยังคงเข้มข้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 (1999) ไม่ยอมให้ผู้สื่อข่าวต้องถูกจำคุกด้วยเหตุจากงานในหน้าที่ของพวกเขา โดยทั้งนี้ ศาลอาจจะกำหนดโทษปรับสูงสุดถึง 500 ล้านรูปี (ประมาณ 55,000 เหรียญสหรัฐ) ในกรณีที่มีการละเมิดหลักการแห่งจรรยาบรรณหนังสือพิมพ์เกิดขึ้น การละเมิดดังกล่าวนี้สามารถรวมถึงการตีพิมพ์สิ่งที่ไม่เหมาะสม

อัยการไม่ให้ความใส่ใจกับสภาการหนังสือพิมพ์และยืนกรานในการฟ้องร้องนายอาร์นันดา ด้วยข้อหาว่าทำการละเมิดมาตรา 282 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อมาตรานี้มีโทษจำคุกสูงสุด 32 เดือน (2 ปี 8 เดือน) ในการดำเนินคดีที่มีระยะยาวนานหนึ่งปีซึ่งมีฝ่ายสนับสนุนของกลุ่มหัวรุนแรงเข้าฟังการพิจารณาคดีด้วยนั้น อัยการยื่นคำร้องให้ผู้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลาสองปี แต่กลุ่มผู้สนับสนุนหัวรุนแรงกล่าวหาว่าคำร้องนี้เบาเกินไป

ในที่สุด ศาลตัดสินยกฟ้องโดยพิพากษาว่า อัยการควรฟ้องคดีนี้ภายใต้กฎหมายสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่าที่จะมาฟ้องร้องในคดีอาญา คำตัดสินนี้เป็นหลักหมายที่สำคัญของเสรีภาพสื่อสิ่งพิมพ์ในอินโดนิเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นคำตัดสินของศาลจาการ์ต้าใต้ ที่เป็นที่รู้จักกันในอดีตว่าเป็น "สุสานของสื่อ" จากคำพิพากษาในกรณีต่างๆ ก่อนหน้านี้

ทัศนคติที่หมุนกลับของศาลต่อเสรีภาพสื่อ เริ่มต้นจากระดับบนสุด บาเกอร์ มานัน (Bagir Manan) หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนปัจจุบัน ได้ทำความเข้าใจอย่างชัดเจนกับผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาถึงความจำเป็นที่จะต้องปกปักรักษาเสรีภาพสื่อ เพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ จุดยืนของเขาเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปัจจุบัน มานันเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย ปาจาจารัน (University Pajajaran) เขาเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษากฎหมายของสมาคมสื่อสิ่งพิมพ์ ช่วงที่สมาคมฯ ร่างกฎหมายสื่อสิ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542 (1999)

กรณีกลับคำพิพากษา คดีนิตยสารข่าวรายสัปดาห์เทมโป้
ปี พ.ศ. 2549 (2006) ศาลสูงสุดกลับคำพิพากษาของศาลสูงแห่งจาการ์ต้าในคดีของนิตยสารข่าวรายสัปดาห์เทมโป้ (Tempo Weekly Newsmagazine) นิตยสารข่าวเทมโป้ถูกฟ้องในคดีอาญาว่าหมิ่นประมาทโทมี่ วินาตา (Tomy Winata) นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลและเป็นที่รับรู้กันว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทหารและตำรวจ ศาลสูงสุดสั่งปล่อยตัวนายบัมบัง ฮารีมูรติ (Bambang Harymurti) บรรณาธิการนิตยสารข่าวเทมโป้ ที่ถูกศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุกหนึ่งปี ในการตัดสินครั้งประวัติศาสตร์นี้ ศาลสูงสุดระบุว่ากฎหมายสื่อสิ่งพิมพ์ควรถูกนำมาใช้ในคดีที่เกี่ยวข้องกับสื่อ

บรรดาผู้สนับสนุนเสรีภาพสื่อหวังว่าคดีของเทมโป้ จะส่งผลกระทบหยั่งลึกต่อบริบททางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่ออินโดนิเซีย ที่คล้ายกับประสบการณ์ในอเมริกา กับคดีของ Sullivan (*) กับ นิวยอร์คไทม์ ในปี พ.ศ. 2503 (1960) หรือ คดีพิพาทระหว่าง Germany's Der Spiegel กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม Franz-Josef Strauss ในปี พ.ศ. 2505 (1962)

(*) เพิ่มเติมโดยผู้แปล - L.B. Sullivan กรรมาธิการที่มาจากการเลือกตั้งของเมือง Montgomery ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ และรัฐมนตรีผิวดำจำนวน 4 คน ในคดีหมิ่นประมาทด้วยการตีพิมพ์ข้อความโฆษณาที่กระทบต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของเขา หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 ตีพิมพ์ข้อความโฆษณาที่ลงชื่อโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวน 64 คน ที่เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ Dr. Martin Luther King, Jr., โฆษณาชิ้นนี้มีข้อความที่ระบุว่ามี "ผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญ"ที่ขัดขวางสิทธิของพวกเขา โดยอ้างถึงกรณีที่ Dr. Martin Luther King ถูกจับกุมถึง 7 ครั้ง

แม้ว่าข้อความโฆษณาชิ้นดังกล่าวไม่ปรากฏชื่อของ Sullivan แต่ Sullivan ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลตำรวจ กล่าวหาว่า ข้อความดังกล่าวมีนัยยะที่กระทบต่อชื่อเสียงของเขา โดยคำฟ้องร้องของเขานั้นระบุว่า Dr. Martin Luther King ถูกจับกุมเพียง 4 ครั้ง ไม่ใช่ 7 ครั้ง ตามที่มีการกล่าวอ้างในบทความโฆษณาในนิวยอร์คไทมส์ เป้าประสงค์ทางการเมืองของการฟ้องร้องคดีนี้ เพื่อที่จะทำให้นิตยสารนิวยอร์คไทมส์และสื่ออื่นๆ ในประเทศกลัวที่จะทำข่าวประเด็นการต่อสู้เรื่องแบ่งแยกพลเมืองต่างสีผิว ซึ่งถือเป็นการคุกคามที่รุนแรงต่อสื่อ ศาลสูงได้ยุติยุทธวิธีของการกระทำการหมิ่นประมาททางการเมือง โดยผู้พิพากษาบันทึกความเห็นของศาลไว้ว่า คดีหมิ่นประมาทไม่สามารถที่นำมาใช้เพื่อละเมิดหลักประกันเสรีภาพในการพูด (freedom of speech) ได้

คำพิพากษาของศาลจาการ์ต้าใต้ในคดีของนิตยสารเพล์บอย เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 (2007) เป็นสัญญาณที่สนับสนุนว่าความหวังนี้มิใช่เป็นเพียงความเชื่อที่ไร้เหตุผล

หลังยุคซูฮาร์โต้: การเสื่อมทรุดอย่างรวดเร็ว, การฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าและไร้ทิศทาง
เสรีภาพนั้นสูญเสียไปได้โดยง่าย แต่ยากนักที่จะได้คืนมา รายงานสถานการณ์เสรีภาพสื่อประจำปีขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดน Reporters Sans Frontiers [ดู www.rsf.org] แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเสื่อมทรุดอย่างรวดเร็ว และการเริ่มต้นที่เชื่องช้าของการฟื้นฟูเสรีภาพสื่อในอินโดนิเซีย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ปี พ.ศ. 2544 (2001) อินโดนิเซียเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในเอเชีย; ปี พ.ศ. 2545 (2002) เสรีภาพสื่อของอินโดนิเซียถูกจัดอันดับลดลงมาอยู่ในลำดับที่ 57 จาก 139 ประเทศ. สถานการณ์ของสื่ออินโดนิเซียยิ่งแย่ลงในปี พ.ศ. 2546 (อยู่อันดับที่ 111 จาก 166 ประเทศ เมื่อประธานสภาและประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ Rakyat Merdeka Daily ในคดีอาญา) และปี พ.ศ. 2547 เสรีภาพสื่อในอินโดนีเซียถูกจัดอันดับอยู่ที่ 117 จาก 167 ประเทศ เมื่อศาลในหลายจังหวัดของอินโดนิเซียมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนักข่าว

การเปลี่ยนรัฐบาลในปลายปี พ.ศ. 2547 (2004) ได้ทำให้สถานการณ์หมุนกลับ สภาพการณ์ของเสรีภาพสื่อค่อยๆ ดีขึ้น ในปี พ.ศ. 2548 เสรีภาพสื่อในอินโดนิซียอยู่ในอันดับที่ 105 จาก 168 ประเทศ เมื่อประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง (Susilo Bambang) ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่กล่าวในคำแถลงว่าจะปกป้องเสรีภาพสื่อ ในปี พ.ศ. 2549 ศาลสูงสุดมีคำพิพากษาที่เป็นคุณต่อเสรีภาพสื่อหลายครั้ง ดัชนีวัดเสรีภาพสื่อของอินโดนิเซียขึ้นไปสู่อันดับที่ 103 จาก 169 ประเทศ และปี 2550 อันดับถูกปรับขึ้นอีกเล็กน้อย ไปอยู่ที่ 100 จาก 169 ประเทศ

เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะบันทึกไว้ว่า ขณะที่สภาพการณ์ของเสรีภาพสื่อดีขึ้นจากการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 รายงานประจำปีขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ต่อภาพลักษณ์การคอรัปชั่นของอินโดนิเซียก็ดีขึ้นด้วย คะแนนที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการคอรัปชั่นลดลง

การปกป้องเสรีภาพสื่อ: การให้อำนาจควบคุมกันเอง
กฎหมายสื่อสิ่งพิมพ์ของอินโดนิเซีย กำหนดภารกิจให้สภาการหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระได้รับเลือกตั้งมาจากองค์กรสื่อต่างๆ มีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์มีกรรมการ 9 คน กรรมการแต่ละชุดมีวาระในตำแหน่ง 3 ปี กรรมการทั้ง 9 คนนี้ประกอบด้วย ตัวแทนจากสหภาพนักข่าว 3 คน ตัวแทนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์ 3 คน และตัวแทนจากสาธารณชน 3 คน ตัวแทนนักข่าวจะถูกกันโดยระเบียบข้อบังคับภายในไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาพว่าสภาการหนังสือพิมพ์เป็นสถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ต่างให้นักข่าว

นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2543 (2000) สภาการหนังสือพิมพ์ได้ทำการกำหนดหลักการแห่งจรรยาบรรณสำหรับนักข่าว, จัดเวทีอภิปรายต่างๆ เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ, จัดอบรมจรรยาบรรณวิชาชีพให้นักข่าวทั่วประเทศ, และเป็นผู้ประนีประนอมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างสาธารณชนกับสื่อมวลชน ประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน และรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของเขา ก็ขอให้สภาการหนังสือพิมพ์เข้ามาไกล่เกลี่ยเจรจาในข้อพิพาทระหว่างพวกเขากับสื่อมวลชนด้วย

สภาการหนังสือพิมพ์ไม่มีอำนาจในการตัดสินลงโทษใดใด แต่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะตัดสินว่ามีการละเมิดหลักการแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพเกิดขึ้น สภาการหนังสือพิมพ์อาจจัดทำคำแนะนำเรื่องวิธีการที่ถูกต้องในการแก้ไขข้อผิดพลาดของกองบรรณาธิการ สภาการหนังสือพิมพ์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทสื่อ หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการที่เจรจาผ่านระบบศาล กรณีพิพาททั้งหมดที่สภาการหนังสือพิมพ์เข้าไปเกี่ยวข้องนั้นได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งฝ่ายผู้ร้องเรียน และฝ่ายสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อมวลชนรายใหญ่ กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์บางคนมีความเชี่ยวชาญในการจัดเตรียมคำให้การ โดยทั่วไปในคดีที่ปกป้องเสรีภาพสื่อ

การคุกคามที่ปรากฏตัว : การรวมศูนย์อำนาจของเจ้าของสื่อ
การลาออกจากตำแหน่งของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ในปี พ.ศ. 2541 ตามมาด้วยการปลดปล่อยสื่อจากกฎระเบียบอย่างถอนรากถอนโคน สื่อไม่ต้องขอใบอนุญาตสำหรับการจัดพิมพ์อีกต่อไป ผู้จัดพิมพ์รายใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำนวนมากไม่อาจต่อสู้ในตลาดแข่งขันได้ ตัวเลขของสภาการหนังสือพิมพ์ระบุว่า ผู้จัดพิมพ์ที่เกิดขึ้นใหม่มากกว่า 1,300 ราย ต้องหยุดกิจการภายในเวลา 3 ปี บางรายสามารถดำเนินกิจการต่อไปด้วยดี. หนังสือพิมพ์ภูมิภาค Jawa Pos มีการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันในเครืออย่างต่ำ 121 ฉบับ ในเขตต่างๆ ทั่วประเทศ

การรวมศูนย์อำนาจของเจ้าของสื่อในอุตสาหกรรมสื่อเป็นเรื่องทีไม่อาจหลีกลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนต่อการเป็นเจ้าของข้ามสื่อของสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออิเลคโทรนิคส์ กฎข้อบังคับเดียวที่จะป้องกันการรวมกลุ่มผูกขาดทางธุรกิจของสื่อคือ กฎหมายต่อต้านการรวมกันผูกขาดทางธุรกิจทั่วไป เป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีผลมากนักสำหรับการจัดการปัญหานี้ เพราะชื่อเจ้าของที่แท้จริงของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ช่องใดๆ สามารถที่จะอำพรางกันได้อย่างง่ายดาย

สถานีโทรทัศน์รายใหญ่ๆ ยังอยู่ในมือสมาชิกครอบครัวของซูฮาร์โต
เชื่อกันว่าสถานีโทรทัศน์เอกชนรายใหญ่ทั้งหมดนั้น ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของบรรดาสมาชิกในครอบครัวของซูฮาร์โตและพวกพ้อง ทั้งๆ ที่มีข้อสงสัยดังกล่าว สถานีโทรทัศน์เหล่านี้ก็ยังคงได้รับการยอมรับจากสาธารณาชนด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ นักข่าวและบรรณาธิการได้รับค่าตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกันอีกหลายร้อยคนในที่อื่นๆ, บ่อยครั้งที่นักข่าวที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่ามาตรฐานในสื่อแห่งอื่นๆ ที่เล็กกว่า ได้ทำตัวเป็น "นักข่าวซองขาว" หรือแม้แต่ "นักข่าวแบล็คเมล์" เพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ การขาดความเป็นมืออาชีพของสื่อเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนเป็นปกติ แม้ว่ามันเป็นปัญหาด้วยเช่นกันในช่วงที่สื่อถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐ

การควบคุมตลาดเป็นปัญหาที่รุนแรงกว่า ผู้สังเกตการณ์ด้านสื่อหลายคนแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการรวมศูนย์อำนาจที่เพิ่มขึ้น ของความเป็นเจ้าของสื่อในอินโดนิเซีย ซึ่งเป็นข้อกังวลที่มีเหตุผล แม้ว่านัยยะทางการเมืองของมันในความเป็นจริงยังไม่ได้ถูกชี้ชัด ปัจจุบัน สภาการหนังสือพิมพ์กำลังจับตามองประเด็นนี้อยู่

อนาคต : แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยาว
อินโดนิเซียเป็นประเทศใหญ่ที่ประกอบด้วยเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ จำนวนมากกว่า 3,000 เกาะ เป็นเกาะที่มีพลเมืองอาศัยอยู่. อินโดนิเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสี่ของโลกด้วยจำนวนประชากรเกือบ 240 ล้านคน ถ้าแผนที่ของประเทศอินโดนิเซียถูกวางทับลงบนพื้นที่อื่นๆ มันจะครอบคลุมอาณาเขตจากนิวยอร์คถึงลอสแองเจิลลิส หรือจากกรุงมอสโคว์ถึงกรุงลอนดอน. แม้ว่าอินโดนิเซียเป็นรัฐที่แยกศาสนาออกจากการเมือง (secular republic) แต่เป็นประเทศที่มีชุมชนมุสลิมใหญ่ที่สุดในโลก มีศาลนาอิสลามเป็นศาลนาประจำชาติ โดยการสำรวจพบว่าประชากรประมาณร้อยละ 87 นับถือศาลนาอิสลาม

ประชากรมากกว่าครึ่งอาศัยในเกาะชวา ซึ่งมีเนื้อที่เพียงเจ็ดเปอร์เซนต์ของพื้นที่ประเทศ ประชากรราว 12 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองหลวงจาการ์ต้า ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์. ในตอนใต้สุดของประเทศคือเกาะปาปัว ที่ถูกแบ่งระหว่างอินโดนิเซียกับปาปัวนิวกินี เกาะปาปัวส่วนที่เป็นของอินโดนิเซีย มีพื้นที่มากกว่าเกาะชวาถึงสามเท่า มีประชากรราวสี่ล้านคนอาศัยอยู่ ครึ่งหนึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม นับได้มากกว่า 250 เผ่าพันธุ์ แต่ละกลุ่มใช้ภาษาของตัวเอง บางกลุ่มยังคงใช้ชีวิตและมีวิถีวัฒนธรรมแบบยุคหิน

อินโดนีเซีย: มีสถานีโทรทัศน์เอกชนนับพันสถานี
สื่อในประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากลายเช่นนี้ ต่างก็มีความหลากหลายเช่นเดียวกับประชากรของประเทศ ในกรุงจาการ์ต้ามีสถานีโทรทัศน์ของเอกชน 10 แห่ง และสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น 1 แห่ง ในหลายจังหวัดไม่มีสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น มีเพียงจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นของตัวเอง คือที่สุระบายา (Surabaya), เมดาน (Medan), โซโล (Solo), จ็อกจา (Yogya), บันดุง (Bandung), เซมารัง (Semarang), และเดนพาซาร์ (Denpasar), สถานีโทรทัศน์ทั้งหมดนี้เพิ่งก่อตั้งและยังคงมีคำถามต่ออนาคตทางธุรกิจของสถานีเหล่านี้

ขณะที่อินโดนิเซียก้าวไปอย่างช้าๆ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้น ผลประโยชน์ในสื่อได้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่มีการออกกฎหมายใหม่ที่บังคับให้ทุกจังหวัด เขตปกครอง และเมืองต่างๆ เลือกผู้นำจากการเลือกตั้งโดยตรง ปัจจุบันมีสถานีโทรทัศน์เอกชนมากกว่า 1,000 แห่ง ที่ส่งสัญญาณถ่ายทอดทั่วประเทศ และสถานีแห่งใหม่ๆ กำลังก่อตัวขึ้น กฎข้อบังคับใหม่ที่กำหนดให้สถานีโทรทัศน์ทุกแห่งเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลภายในปี พ.ศ.2552 (2009) จะทำให้โทรทัศน์ท้องถิ่นหลายร้อยช่องที่เป็นระบบแอนะล็อก สามารถถูกแปลงไปเป็น 6 ช่องใหม่ที่เป็นระบบดิจิตอลเป็นอย่างน้อยที่สุด เสียงของประชาธิปไตยจะดังยิ่งขึ้น และบทบาทของสื่อที่มีอิทธิพลต่อนโยบายสาธารณะในอินโดนิเซียจะเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม บทบาทของสื่อสามารถถูกทำให้กลายเป็นดาบสองคม ไม่ได้เป็นเพราะเหตุบังเอิญที่สถานีโทรทัศน์ วิทยุ และองค์กรสื่อต่างๆเป็นหนึ่งในเป้าหมายแรกๆของคณะรัฐประหารในประเทศใดๆ ก็ตาม มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่โครงสร้างพื้นฐานสำหรับสื่อถูกเตรียมไว้เพื่อทำให้เกิดความแน่ใจว่า หลักสี่ประการแห่งประชาธิปไตยจะยังคงเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนทั้งปวง และไม่ได้เป็นกระบอกเสียงของชนชั้นนำจำนวนน้อยนิด

สภาการหนังสือพิมพ์และคณะกรรมการบริหารการกระจายเสียงของอินโดนิเซีย ซึ่งเป็นสถาบันสาธารณะอิสระได้ผนึกกำลังกันเพื่อสนับสนุนรัฐบาลให้สร้างสภาพแวดล้อมที่สื่อสามารถที่จะดำเนินบทบาทของตน ในฐานะผู้จัดเตรียมข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือให้แก่สาธารณชนได้

หากมองจากประสบการณ์ของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ นี่เป็นเส้นทางยาวที่ยากลำบาก แต่ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางบนระยะทางยาวผ่านอุโมงค์ก็ตาม มันเป็นการบากบั่นที่มีคุณค่า ที่มีแสงสว่างของการก่อเกิดประชาธิปไตยอยู่ที่ปลายอุโมงค์

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๒. สื่อฟิลิปปินส์ กับ ความรุนแรงหลากชนิด
โดย โรวินา ซี ปาราอัน /
สุภัตรา ภูมิประภาส: แปล
Rowena C. Paraan : เป็นเลขาธิการของสหภาพนักข่าวแห่งฟิลิปปินส์

แปลจากรายงานเรื่อง "A Different kind of violence" นำเสนอที่การสัมมนานานาชาติ International Seminar on Defamation: Building a Regional Advocacy Platform ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่เมืองจ็อกจาการ์ต้า (Yogyakarta) ประเทศอินโดนิเซีย

ความจริง จะทำให้คุณเป็นอิสระ
แต่ในประเทศฟิลิปปินส์ การรายงานความจริงสามารถทำให้คุณตายได้. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 (1986) นักข่าว จำนวนอย่างน้อยสุด 93 คน ตายด้วยกระสุนปืนของผู้ลอบสังหาร พวกเขาไม่ได้ตายเพราะอุบัติเหตุ หรือจาการทะเลาะวิวาท พวกเขาถูกไล่ล่าและสังหารโดยฆาตกรที่ถูกจ้างวานโดยนักการเมือง กลุ่มคนที่ร่วมกันก่ออาชญากรรม และผู้ที่ต้องการทำให้ความจริงไร้เสียง

ความจริง จะทำให้คุณเป็นอิสระ
แต่ในประเทศฟิลิปปินส์ การรายงานความจริงสามารถทำให้คุณถูกคุกคามสารพัดรูปแบบ: อย่างโจ่งแจ้ง (เช่น ส่งข้อความคุกคาม หรือฝากข้อความผ่านตัวแทน) และ บางรูปแบบที่ต้องยอมรับว่า ผู้คุกคามช่างมีความคิดสร้างสรรค์ เช่น ส่งพวงหรีดงานศพ, ริบบิ้นสีดำ, หรือกระสุนปืนมาให้ครอบครัวของคุณ, หรือโยนระเบิดของเล่นใส่บ้านคุณ, หรือแม้แต่ลงประกาศแจ้งข่าวมรณกรรมของคุณในหนังสือพิมพ์

สำนักงานเพื่อความปลอดภัยสื่อ (The Media Safety Office) ที่สหพันธ์นักข่าวนานาชาติ หรือ ไอเอฟเจ (The International Federation of Journalists- IFJ) และองค์กรแนวร่วมของไอเอฟเจ ในประเทศฟิลิปปินส์ คือ สหภาพนักข่าวแห่งฟิลิปปินส์ (The National Union of Journalists of the Philippines - NUJP) ร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพราะสถานการณ์ที่นักข่าวถูกฆาตกรรมอย่างทารุณ มีหลักฐานยืนยันว่ามีการคุกคามที่รุนแรงต่อนักข่าวโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คำว่า "รุนแรง" หมายถึง กรณีที่จะต้องมีการจัดเตรียมแผนรองรับอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของนักข่าว

ความจริง จะทำให้คุณเป็นอิสระ
ในประเทศฟิลิปปินส์ การรายงานความจริงสามารถที่จะจุดชนวนความรุนแรงชนิดอื่นได้ ชนิดที่การใช้กฎหมายและศาลมาปิดเสียงความจริง ชนิดที่ส่งนักข่าวไปสู่กรงขัง ชนิดที่มากับโทษอาญาสำหรับการหมิ่นประมาท

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 (2005) ขณะที่ผู้ดำเนินรายการวิทยุคนหนึ่งในเมืองมินดาเนา กำลังดำเนินรายการปกติของเขาที่ออกอากาศเป็นประจำทุกเช้า โดยที่เขากำลังนั่งอยู่ในห้องส่งสัญญาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าไปในห้องฯและจับกุมเขาด้วยข้อหาหมิ่นประมาท ที่ถูกแจ้งความโดยภรรยาของเจ้าหน้าที่องค์กรท่องเที่ยว ผู้ฟังรายการของเขาต่างได้ยินเหตุการณ์การจับกุมนี้

ปีที่แล้ว บรรณาธิการนิตยสารข่าว Newsbreak ถูกลากไปเข้าห้องขังหลังจากที่ตำรวจนอกเครื่องแบบนำหมายจับมาแสดงในเวลาเย็นมากเกินกว่าที่จะขอประกันตัวได้ทัน เหตุผล: คดีหมิ่นประมาทที่เรียกค่าเสียหายสองล้านเปโซนี้ ผู้ฟ้องคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นที่รู้กันดีว่ามีความเกี่ยวดองกับประธานาธิบดี. อีกกรณีหนึ่ง นักข่าวถูกควบคุมตัวอยู่ในคุกนานกว่า 10 ชั่วโมง (สถานที่นั้นไม่ได้เป็นที่ควบคุมตัวเฉพาะ แต่เป็นสถานที่คุมขังปกติที่ถูกขังร่วมกับผู้ต้องหาทั่วไปในคดีอาชญากรรม) ทั้งๆ ที่มีการยื่นขอประกันตัวไปตั้งแต่ช่วงเช้า แต่ผู้พิพากษาเซ็นคำสั่งอนุญาตในตอนบ่าย

อีกด้านหนึ่ง นักข่าวสองคนที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้รับการประกันตัวทัน ทำให้พวกเขาสามารถกลับไปทำงานตามปกติได้ แต่ในวันรุ่งขึ้นขณะที่ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่อยู่ในงานแถลงข่าว ตำรวจได้จู่โจมเข้าไปจับกุมทั้งสองคน เป็นการจับกุมกลางที่สาธารณะที่ทำให้นักข่าวตกเป็นข่าวเสียเอง แทนที่จะเป็นผู้เขียนข่าว. อีกกรณีหนึ่ง นักข่าววิทยุถูกโทษจำคุกหกเดือน สำหรับคดีหมิ่นประมาทที่เขาถูกฟ้องร้องเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว

คดีสมาชิกสภานิติบัญญัติหญิง วิ่งเปลือยกายในโรงแรมมนิลา
กรณีที่สะเทือนใจมากที่สุด คือคดีของ อเล็กซ์ อโดนิส (Alex Adonis) ผู้ดำเนินรายการวิทยุที่ปัจจุบันถูกจำคุกอยู่ที่ Davao Penal Colony เป็นปีที่สองของโทษที่เขาได้รับทั้งหมด 6 ปี. อโดนิสและผู้ร่วมดำเนินรายการถูกฟ้องหมิ่นประมาทโดย Prospero Nograles (ปัจจุบันเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร) หลังจากที่พวกเขาอ่านและแสดงความเห็นต่อรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติวิ่งเปลือยกายในโรงแรมมนิลา โดยพยายามที่จะหนีสามีที่กำลังโกรธเกรี้ยว

ในช่วงต้นของการพิจารณาคดี เป็นช่วงที่ทางสถานีย้าย อนิสไปอยู่ที่จังหวัดอื่นทำให้เขามีปัญหามากในการมาฟังการพิจารณาคดี เพราะไม่มีเงินค่าเดินทาง ส่วนผู้ร่วมดำเนินรายการอีกคนหนึ่งนั้นศาลสั่งยกฟ้อง. อโดนิสถูกพิพากษาลงโทษโดยที่ตัวเองไม่ได้มาฟังคำพิพากษา ที่แย่ไปกว่านั้น สตรีที่ถูกกล่าวถึงว่าอยู่กับ Nograles ในรายงานข่าวเหตุการณ์ดังกล่าว เพิ่งจะยื่นฟ้องอโดนิสในคดีหมิ่นประมาทจากเหตุการณ์เดียวกัน

คดีหมิ่นประมาททางอาญา เป็นเครื่องมือหนึ่งของผู้มีอำนาจที่ถูกนำมาใช้ซ้ำซาก
ในปี พ.ศ. 2543 (2000) เรื่องเกี่ยวกับผลของยาฆ่าแมลงที่แพร่พิษในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในเมืองมินดาเนาถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน บริษัทที่เกี่ยวข้องทำการฟ้องร้องหมิ่นประมาทบรรณาธิการและนักข่าวที่เขียนข่าวนี้โดยทันที แต่ศาลสั่งยกฟ้อง โดยระบุว่ารายงานข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นที่ฟังขึ้น ซึ่งสาธารณชนมีสิทธิที่จะได้รับการบอกกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ สองสามปีต่อมา เมื่อผู้บริหารสูงสุดของบริษัทได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการกระทรวงเกษตร กระทรวงยุติธรรมได้สั่งกลับคำพิพากษา และสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่

และมีคดีหมิ่นประมาทจำนวนมากที่ฟ้องร้องโดย Mike Arroyo สามีของประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปาเกล-อาโรโย่ สามีของประธานาธิบดีฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท 11 คดีต่อนักข่าว คอลัมนิสต์ ผู้พิมพ์ และบรรณาธิการรวมทั้งหมด 46 คน ทุกคดีถูกฟ้องในช่วงสามปี และมีการเรียกค่าเสียหายรวมทั้งหมด 141 ล้านเปโซ บรรณาธิการและนักข่าวบางคนถูกฟ้องมากกว่าหนึ่งคดี ข้อมูลจำนวนการฟ้องร้องที่มากมายนี้กลายเป็นประเด็นในความสนใจของสหภาพนักข่าวแห่งฟิลิปปินส์ (NJUP) โดยคอลัมนิสต์คนหนึ่งที่มาขอคำปรึกษาจากสหภาพฯ เมื่อเขาอ้างว่าจะต้องมีสื่อไม่น้อยกว่า 20 คนที่ถูกนายอาโรโย่ฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาท

ทางสหภาพฯ จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาท ที่นายอาโรโย่เป็นผู้ฟ้องร้องและมีการโพสต์ไว้บนเวบไซด์ และพบว่าจริงๆ แล้ว มีนักข่าวมากกว่า 40 คนที่ถูกเขาฟ้องร้อง จึงได้มีการทำการรณรงค์เข้าชื่อกัน เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาทและกดดันให้นายอาโรโย่ถอนฟ้อง การรณรงค์นี้เน้นประเด็นโทษหมิ่นประมาททางอาญาได้สำเร็จ และค่อยๆ นำไปสู่ประเด็นการฟ้องคดีในนามกลุ่มบุคคล

แต่ไม่ได้มีแต่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐในระดับชาติเท่านั้น ที่ชอบใช้คดีหมิ่นประมาททางอาญาเป็นอาวุธจัดการกับหนังสือพิมพ์ พวกผู้บริหารในระดับท้องถิ่นก็ใช้คดีหมิ่นประมาททางอาญา เพื่อรักษาอำนาจโดยการสกัดกั้นรายงานข่าวที่เป็นด้านลบเกี่ยวกับพวกเขา ผ่านด้วยการฟ้องหมิ่นประมาท. ในเมืองมินดาเนา นายกเทศมนตรีฟ้องร้องนักข่าว 22 คนในคดีหมิ่นประมาท. ในจังหวัด Cavite ที่อยู่ติดกับมนิลา ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักข่าว 10 คนในคดีหมิ่นประมาท

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวที่เหยื่อกลายเป็นผู้ต้องหา
ยังมีอีกหลายคดีที่ใครได้ยินก็ต้องหัวเราะด้วยความขบขัน แต่ไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะสำหรับสถานการณ์เสรีภาพสื่อในประเทศฟิลิปปินส์ กรณีหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ระดับบริหารส่วนท้องถิ่นคนหนึ่งถูกบันทึกภาพไว้ขณะที่กำลังไล่ทุบตีนักข่าว หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพและข่าวนี้ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ฟ้องร้องนักข่าวคนที่ถูกทุบตีอยู่ในภาพในข้อหาหมิ่นประมาท. ในอีกกรณีที่คล้ายๆ กัน นักข่าว 2 คน คือ Sonny Mallari และ Johnny Glorioso ที่รอดชีวิตจากการถูกลอบสังหาร ถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท ภายหลังที่พวกเขาเปิดเผยชื่อบุคคลที่พวกเขาสงสัยว่าเป็นผู้บงการ

Mallari กล่าวว่า ฟิลิปปินส์คงเป็นประเทศเดียวที่คุณจะเห็นเหยื่อกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทเมื่อพวกเขาพยายามเรียกร้องหาความยุติธรรม และมีประเทศใดในเอเชียบ้างที่ประธานาธิบดีฟ้องหมิ่นปะมาทนักข่าว? ที่ฟิลิปปินส์มี ไม่ใช่คนเดียว แต่อดีตประธานาธิบดีถึง 2 คน ที่ฟ้องร้องนักข่าว คืออดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาคีโน, และโจเซฟ เอสทราดา

อะไรคือผลของทั้งหมดนี้?
Newsbreak นิตยาสารที่เคยออกทุกสองสัปดาห์ต้องประสบกับปัญหาทางการเงิน ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาทโดยเพื่อนของครอบครัวประธานาธิบดีอาโรโย่ บรรณาธิการของนิตยสารบอกว่า ผู้ลงโฆษณาโดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในกำกับของรัฐบาล ไม่ต้องการที่จะเกี่ยวข้องกับ Newsbreak อีกต่อไป ในที่สุด Newsbreak ต้องยุติการพิมพ์ และดำเนินกิจการผ่านเวบไซด์ในชื่อเดิม. ปัจจุบัน การดำเนินกิจการของ Newsbreak ขึ้นอยู่กับเงินทุนที่ได้รับจากองค์กรพัฒนาเอกชนต่างชาติ โดยจะมีการพิมพ์ฉบับพิเศษเผยแพร่ในบางโอกาส

สำหรับนักข่าว ผลกระทบสะท้อนให้เห็นจากการตัดสินใจยุติการทำงานในวิชาชีพสื่อ หรือไม่ก็เปลี่ยนจังหวัดหรือย้ายไปอยู่ต่างประเทศ บางคนจำต้องกล้ำกลืนหลักการและออกประกาศสาธารณะขอขมาต่อผู้ฟ้องร้อง เพียงเพื่อที่จะให้รอดพ้นจากคดีหมิ่นประมาท เพื่อประโยชน์และความอยู่รอดปลอดภัยของครอบครัว ขณะที่ Mallari กำลังไตร่ตรองที่จะเจรจากับบุคคลที่เขาเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารเขา หากจะมีการถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาท

เพียงการคุกคามด้วยการฟ้องร้องคดีอาญา ก็มากเกินพอที่จะก่อให้เกิดผลที่น่าหวาดหวั่นต่อสื่อ ดังคำกล่าวของ Jose Manuel Diokno ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวฟิลิปปินส์ที่ว่า "กฎหมายอาญาได้รับการสนับสนุนโดยอำนาจรัฐ เมื่อนักข่าวถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาททางอาญา รัฐนั้นแหละที่เป็นผู้ชี้นิ้วกล่าวหาไปที่เธอ รัฐอีกเช่นกันที่มีเครื่องมือมากมายที่จะจับเธอ ฟ้องดำเนินคดีเธอ ตัดสินให้เธอเป็นผู้บริสุทธิ์หรือผู้ทำความผิด และถ้าเป็นประการหลัง รัฐก็จะจำคุกเธอ". ในความจริง ผลที่น่าหวาดหวั่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่มีการขู่ว่าจะฟ้องหมิ่นประมาท

สำหรับนักข่าวที่ทำงานในสถานีวิทยุชุมชนเล็กๆ หรือหนังสือพิมพ์ชุมชน ความไม่มั่นคงทับทวีอีกหลายเท่า ไม่เพียงเพราะมีทรัพยากรที่น้อยกว่ามากเท่านั้น แต่นักธุรกิจหรือนักการเมืองบางคนจะเลือกที่จะฟ้องร้องหมิ่นประมาทกับหนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่น มากกว่าฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ทั้งๆ ที่เรื่องที่เป็นข้องถกเถียงนั้นถูกตีพิมพ์ทั้งในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ระดับชาติ

เหมือนกับการฆ่านักข่าว
คดีหมิ่นประมาททางอาญาไม่ควรมีที่ทางในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานของรัฐควรต้องเปิดกว้างสำหรับการถูกตรวจสอบสาธารณะอยู่เสมอ. สุดท้าย ผู้สูญเสียไม่ได้มีเพียงนักข่าวที่ต้องเสี่ยงว่าจะถูกคุมขังหรือต้องเตรียมเงินไว้ประกันตัว. สุดท้าย ผู้สูญเสียคือประชาชน ที่จะไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับประเด็นที่สื่อควรที่จะต้องรายงาน แต่ไม่ได้รายงานเพราะความหวาดกลัวคดีหมิ่นประมาท

เพื่อรับมือกับการคุกคามของคดีหมิ่นประมาท
สหภาพนักข่าวแห่งฟิลิปปินส์ (NJUP) ได้ทำการสรุปประเด็นไว้ดังต่อไปนี้

1. นักข่าวควรต้องเตรียม

- เบอร์โทรศัพท์และที่ติดต่อของผู้ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ คือ ทนายความ,
- โทรศัพท์สายด่วนของสหภาพนักข่าว, บรรณาธิการ, ผู้จัดพิมพ์, ผู้จัดการสถานี
- เตรียมเงินสำหรับประกันตัวไว้
- เตรียมแบบฟอร์มสำหรับการยื่นขอประกันตัว
- ในบางพื้นที่ ให้สำรวจศาลที่การปฏิบัติงานในช่วงกลางคืนไว้ด้วย

2. นักข่าวต้องตระหนักไว้ว่า นอกจากการต่อสู้ในและนอกห้องข่าวแล้ว คดีหมิ่นประมาณทำให้ศาลกลายเป็นสนามต่อสู้แห่งใหม่เพื่อเสรีภาพสื่อ
3. ความจำเป็นสำหรับกลุ่มสื่อและองค์กรข่าวที่จะต้องรณรงค์ให้มากขึ้น ต่อการเรียกร้องให้ยกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาท ทั้งในระดับชาติและระดับสากล
4. ความต้องการสำหรับการศึกษาและการจัดอบรมให้นักข่าว (โดยเฉพาะนักข่าววิทยุและโทรทัศน์) เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท - กฎหมาย, มาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง, เครื่องมือต่างๆ, และจรรยาบรรณ การจัดอบรมควรทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จบในครั้งเดียว

5. ความจำเป็นที่ต้องสร้างเครือข่ายทนายความ ที่จะช่วยต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ รวมถึงคดีหมิ่นประมาท
6. ส่งเสริมการใช้กลไกภายในต่างๆ เช่น ผู้ตรวจการรัฐสภา (ombudsman), การแก้ข้อความที่ผิดพลาด และการขอขมา, และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรควบคุมกันเอง เช่น สภาการหนังสือพิมพ์

7. ความจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และทำการวิจัยว่ากรณีคุกคามต่างๆ นั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อเสรีภาพสื่อ และสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีในประเทศ

ความจริงจะทำให้คุณเป็นอิสระ
ดังนั้น เราอย่ายอมปล่อยให้ผู้ที่ปรารถนาจะซ่อนเร้นความจริงได้สมหวัง
เราอย่ายอมปล่อยให้ผู้รายงานความจริงถูกทำให้เงียบเสียง - ไม่ใช่ด้วยกระสุนของผู้ลอบสังหาร ไม่ใช่ด้วยการคุกคาม ไม่ใช่ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ละเมิดเสรีภาพสื่อ และไม่ใช่ด้วยการฟ้องหมิ่นประมาท

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง: เวทีระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อ

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 18 May 2008 : Copyleft by MNU.

ที่ฟิลิปปินส์-ผู้ดำเนินรายการวิทยุถูกจับกลางห้องส่ง และถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี เพราะเล่าข่าวเรื่อง ส.ส.หญิง ต้องวิ่งเปลือยกายอยู่กลางโรงแรม เนื่องจากหนีสามีนักการเมืองอารมณ์ร้าย - นักข่าวที่ถูกลอบสังหารต้องกลายเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาท เมื่อพยายามที่จะร้องหาความยุติธรรม - ประธานาธิบดีฟ้องร้องเพื่อเอาสื่อเข้าคุก. สถิติการคุกคามสื่ออย่างรุนแรงนับได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ถึงขั้นต้องมีการเตรียมโทรศัพท์สายด่วน และหน่วยงานฉุกเฉินไว้รองรับ.
ที่อินโดนิเซีย
- สื่อบางแห่งต้องปิดกิจการเพราะล่มจมจากการถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาลในคดีหมิ่นประมาท - ขณะที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งอินโดนิเซียต่อสู้อย่างแข็งขัน เพื่อกำจัดกฎหมายทั้งปวงที่คุกคามเสรีภาพสื่อ (คัดลอกมาบางส่วนจากบทความ)

H