ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




09-05-2551 (1557)

พินิจโครงสร้างสันติภาพ และบทสัมภาษณ์ กัสตูรี มะกอตอ
ภาคใต้: วิหารแห่งสันติภาพ และการเจรจาระหว่างพูโลกับรัฐบาลไทย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep south watch)

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความเพื่อสิทธิพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
บทความต่อไปนี้ได้รับมาจาก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ประกอบด้วย
๑. การสร้างวิหารแห่งสันติภาพและความมั่นคงเพื่อจัดการปัญหาความรุนแรง
๒. พูโล ยืดอกรับผิดชอบ เผยยุทธศาสตร์ส่งออกความรุนแรง ลากรัฐไทยขึ้นโต๊ะเจรจา

โดยเรื่องแรกเป็นบทความของ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำเสนอ
สภาพนิเวศวิทยาของความขัดแย้ง และการเสนอภาพโครงสร้างวิหารแห่งสันติภาพ
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นบทสัมภาษณ์ของตัวแทน'ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้'
ซึ่งได้สัมภาษณ์แกนนำพูโล (ฝ่ายต่างประเทศ) ที่เปิดเผยถึงขั้นตอนและประเด็นในการเจรจา
ระหว่างขบวนการพูโลและรัฐบาลไทย เพื่อหาทางยุติความรุนแรง อีกทั้งยังเป็นการเผยให้เห็น
ข้อเท็จจริงบางอย่าง ต่อความสงสัยว่า พูโลเป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมก่อเหตุความรุนแรง
ชายแดนภาคใต้ หรือใช้เวทีโลกเพื่อสร้างให้ตนเองมีบทบาทขึ้นมาเท่านั้น
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๕๗
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Interviewee: Kasturi Mahkota, Foreign Affairs representative for PULO (Click)
Interviewer: Deep South Watch (www.deepsouthwatch.org)
Original Languages: Questions posed in Thai, responses in Malay, later translated to Thai by DSW.

Translated to Enlish by John Grima. Also posted on his website, www.souththailand.org

at the bottom of the April 27 posting

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

พินิจโครงสร้างสันติภาพ และบทสัมภาษณ์ กัสตูรี มะกอตอ
ภาคใต้: วิหารแห่งสันติภาพ และการเจรจาระหว่างพูโลกับรัฐบาลไทย
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep south watch)

๑. การสร้างวิหารแห่งสันติภาพและความมั่นคงเพื่อจัดการปัญหาความรุนแรง
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (www.deepsouthwatch.org)
ดัดแปลงจาก David J. Kilcullen "Three Pillars of Counterinsurgency."
Remarks delivered at the U.S. Government Counterinsurgency Conference,
Washington D.C., 28 September 2006

ว่าด้วยสภาพนิเวศวิทยาของความขัดแย้ง
การก่อความไม่สงบ คือการต่อสู้เพื่อควบคุมพื้นที่ทางการเมืองที่อยู่ในภาวะแก่งแย่งแข่งขันกันระหว่างรัฐ (หรือกลุ่มรัฐ) และกลุ่มท้าทายรัฐกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือหลายๆ กลุ่ม โดยที่กลุ่มเหล่านี้มีฐานการสนับสนุนของประชาชน การก่อความไม่สงบเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนที่เติบโตพัฒนาการมาจากเครือข่ายทางสังคม และดำเนินการโดยผ่านเครือข่ายทางสังคมที่เกิดขึ้นมาก่อนการเกิดเหตุการณ์ (อาจจะเป็นหมู่บ้าน เผ่า ครอบครัว กลุ่มละแวกบ้าน กลุ่มทางการเมืองหรือศาสนา) และการก่อความไม่สงบนี้จะดำรงอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคม อยู่ในสภาพเงื่อนไขของความไม่เป็นทางการและสภาพทางวัตถุที่มีความซับซ้อน เราจึงควรจะมองสภาวะแวดล้อมเหล่านี้เหมือนกับระบบนิเวศในอีกแบบหนึ่ง

การก่อความไม่สงบจึงรวมเอากิจกรรม และบทบาทของตัวแสดงที่มีความเป็นอิสระแต่มีความเชื่อมโยงกัน แต่ละคนก็มุ่งแสวงหาหนทางที่ได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อความอยู่รอดและผลประโยชน์ตอบแทนในสภาพแวดล้อมที่สับสนอลหม่านและปะทะเผชิญหน้ากัน เมื่อตกอยู่ในเงื่อนไขที่เปรียบเสมือนสภาพแวดล้อมแห่งระบบนิเวศทางชีวภาพ ตัวแสดงเหล่านี้มีพัฒนาการและมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง บ้างก็แสวงหาความชำนาญพิเศษที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัยอย่างมั่นคง ในขณะที่ตัวแสดงตัวอื่นกลายเป็น "นักล่า" ในสภาพแวดล้อม ตัวแสดงบางตัวดำรงอยู่แล้วในสภาพแวดล้อมก่อนเกิดความขัดแย้ง พวกนี้ประกอบไปด้วยการปกครอง กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเผ่าพันธุ์ กลุ่มเครือญาติสายตระกูล หรือชุมชน กลุ่มทางชนชั้น ทั้งประชากรในเมืองและในชนบทและสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคม

ในห้วงเวลาปกติตัวแสดงเหล่านี้จะประพฤติตนในแบบที่มีทั้งความร่วมมือร่วมใจกัน และแข่งขันกันในบางครั้ง แต่ในขณะนี้ เนื่องจากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจภายในอย่างรุนแรง พวกเขาหันมาเผชิญหน้าปะทะสู้รบกันและทำลายล้างกัน การแข่งขันกันอย่างสงบสันติและความตึงเครียดแบบสร้างสรรค์ซึ่งรักษาสังคมไว้ในภาวะปกติ ได้ถูกปั่นให้เกินเลยขอบเขตของการควบคุม ความขัดแย้งได้กลายเป็นตัวคุกคามทำลายสังคมทั้งสังคม

สภาพแวดล้อมใหม่นี้ ยังอาจจะทำให้เกิดตัวแสดงใหม่ด้วย แม้สภาพนี้ยังไม่เกิดในประเทศไทย คนพวกนี้ประกอบไปด้วยองค์กรจัดตั้งกองกำลังอาวุธในท้องถิ่น และกลุ่มติดอาวุธต่างชาติที่ถูกดึงเข้ามาสู่ความขัดแย้งจากภายนอก บ่อยครั้งที่องค์กรเหล่านี้รวมถึงกองกำลังต่อต้านความไม่สงบของประเทศต่างชาติ (เช่นสหรัฐอเมริกาในกรณีอิรัก) ผู้ก่อการร้ายต่างชาติเป็นตัวเพิ่มความขัดแย้งและทำให้ความขัดแย้งเปลี่ยนไปจากเรื่องหนึ่ง ไปสู่อีกเรื่องหนึ่งเพื่อดำเนินการตามวาระของตนเอง นอกจากนี้ความขัดแย้งยังอาจจะทำให้เกิดผู้ลี้ภัย ผู้ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน และบางครั้งเกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจำนวนมหาศาล มันทำให้เกิดการโยกย้ายฐานทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดสภาวะการว่างงาน อาชญากรรม และได้สร้างกลุ่มติดอาวุธต่างๆ เช่นกลุ่มโจร กลุ่มนักค้ายาเสพติด กลุ่มนักค้าของเถื่อนและนักค้าในตลาดมืด

สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องยอมรับว่า "รัฐหรือกองกำลังของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านการก่อความไม่สงบมิได้อยู่นอกระบบนิเวศนี้" กองกำลังของรัฐก็อยู่ในระบบดังกล่าวด้วยเวทีของการปฏิบัติการสงครามจึงมิใช่แผ่นผ้าใบที่รัฐเป็นผู้ถือพู่กันละเลงงานศิลปะฝ่ายเดียว แต่มันเป็นระบบแห่งสิ่งมีชีวิตที่มีพลวัตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสนองตอบการกระทำของฝ่ายรัฐ และจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินความสมดุลระหว่างการแข่งขันต่อสู้ของพลังฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง (รวมทั้งกองกำลังเฉพาะกิจของรัฐด้วย!)


สิ่งที่ทำให้ตัวแสดงบทบาทการต่อต้านการก่อความไม่สงบแตกต่างไปจากฝ่ายอื่นก็คือ เจตนาหรือความมุ่งหมาย ฝ่ายต่อต้านการก่อความไม่สงบจะเหมือนกับตัวแสดงฝ่ายอื่นๆ ก็คือต้องการจะเพิ่มโอกาสความอยู่รอดและอิทธิพลของฝ่ายตนให้มากที่สุด และขยายพื้นที่ซึ่งฝ่ายตนเองควบคุมอยู่ แต่สิ่งที่ต่างกับตัวแสดงฝ่ายอื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ก่อความไม่สงบ) ก็คือ ฝ่ายต่อต้านการก่อความไม่สงบมีเจตนาที่จะลดปัจจัยแห่งการทำลายล้าง การปะทะเผชิญหน้า และพยายามทำให้ระบบกลับไปสู่ภาวะปกติที่มีปฏิสัมพันธ์ในสังคมแบบแข่งขันกันอย่างสงบสันติ ลักษณะเช่นนี้บางครั้งเราเรียกว่า "การนำไปสู่ประชาธิปไตย" แต่แน่นอนว่า กระบวนการประชาธิปไตยที่ไร้รากฐานอันแข็งแกร่งของประชาสังคมอาจจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพและความขัดแย้งที่ไม่จบสิ้น

ดังนั้น ไม่ว่าเป้าหมายทางการเมืองจะเป็นเช่นใด วัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติของการต่อต้านการก่อความไม่สงบก็คือ ทำให้เกิดมาตรการการควบคุมในสภาพแวดล้อมทั้งหมด ในสภาวะระบบนิเวศที่ซับซ้อนเต็มไปด้วยตัวแสดงหลายตัว เช่นคำว่า "การควบคุม" ไม่ได้หมายความถึงการบังคับให้เกิดระเบียบด้วยการครอบงำอย่างไม่มีการตั้งคำถาม แต่หมายความถึงการทำให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือกันในการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ร่วมกัน

การอธิบายเช่นนี้ไม่ใช่หมายความว่าการต่อสู้กับความรุนแรงก่อความไม่สงบจะใช้แต่ความอ่อนนุ่ม ละเว้นการใช้ความรุนแรงและไม่เผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม สงครามครั้งนี้เป็นเรื่องการต่อสู้แข่งขันกันถึงเป็นถึงตาย ฝ่ายแพ้จะถูกเบียดขับออกไปอยู่ตรงชายขอบ ไม่ได้รับการสนับสนุนและถูกทำลายในที่สุด ตัวแสดงทุกตัวก็ใช้การต่อสู้ถึงชีวิตเพื่อควบคุมประชากร ดังนั้น เท่าที่รู้กันมายังไม่มีวิธีการใดในการต่อต้านการก่อความไม่สงบโดยไร้ซึ่งการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของฝ่ายตรงข้าม จึงมักจะมีการฆ่าเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การฆ่าฟันฝ่ายตรงข้ามมิได้เป็นวัตถุประสงค์แต่เพียงประการเดียว และในสภาวะแวดล้อมของการต่อต้านการก่อความไม่สงบที่มีปฏิบัติการในหมู่ประชาชน การใช้กำลังมักจะตามมาด้วยการทำให้เกิดความสูญเสียอย่างรุนแรงทั้งสองฝ่าย ทำให้ประชากรเกิดความหมางเมินแปลกแยก เกิดความรู้สึกเป็นศัตรูต่อกัน และเกิดผลกระทบตามมาอย่างไม่ได้คาดคิดไว้ ในทางการเมือง ยิ่งใช้กำลังมาก การรณรงค์ทั้งทางการเมืองและการทหารก็ยิ่งอยู่ในภาวะอันเลวร้าย เป้าหมายที่แท้จริงน่าจะอยู่ตรงที่การทำให้ฝ่ายตรงข้ามตกอยู่ในสภาพชายขอบ และเอาชนะด้วยควบคุมเหนือพื้นที่ทางการเมืองและสังคมในอาณาบริเวณที่เกิดความขัดแย้ง

กรอบความคิดในการจัดการกับการก่อความไม่สงบและความรุนแรง
กรอบความคิดนี้ช่วยให้คนทั่วไปมองเห็นว่าความพยายามของตนอยู่ตรงที่จุดไหน กรอบดังกล่าวยังเป็นตัวช่วยในการวัดความก้าวหน้า และตัวช่วยการประสานงานตัวแบบซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ใช้ได้ แต่เป็นการต่อต้านการก่อความไม่สงบ และยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพ การสร้างเสถียรภาพ รวมถึงการฟื้นฟูบูรณะและการช่วยเหลือเยียวยาทางมนุษยธรรม

ตัวแบบประกอบด้วย

- ฐาน (ข่าวสารข้อมูล)
- เสาหลักสามเสา (ความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ) และ
- ส่วนหลังคา (การควบคุม)

แนวทางนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีคลาสสิคในการต่อต้านการก่อความไม่สงบ เป็นการนำเอาบทเรียนการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรักษาสันติภาพ การพัฒนา บทเรียนของรัฐที่อ่อนแอ และประสบการณ์จากสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดในอดีตหลายทศวรรษที่ผ่านมาจากหลายประเทศทั่วโลก มาใช้ประโยชน์

ภายในตัวแบบสามหลัก เพื่อสร้างวิหารแห่งสันติภาพ
- ฐาน (ข่าวสารข้อมูล) เป็นพื้นฐานสำหรับกิจกรรมทั้งหมด เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ความรับรู้ (perception) เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการระบบควบคุม และการมีอิทธิพลเหนือกลุ่มประชากรกลุ่มต่างๆ มาตรการในด้านความมั่นคง การเมืองและเศรษฐกิจ แม้จะมีความสำคัญแต่จะมีประสิทธิผลก็ต่อเมื่อตั้งอยู่บนฐานหรือถูกบูรณาการเข้ากับยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลข่าวสาร การกระทำทุกอย่างในการต่อต้านการก่อความไม่สงบจะเป็นการส่งข่าวสารข้อมูลออกไปสู่ประชาชน เป้าประสงค์ของการรณรงค์ด้านข้อมูลข่าวสารก็จะต้องบูรณาการกับการส่งสารเหล่านี้ มาตรการดังกล่าวอาจจะรวมไปถึงการเก็บข้อมูลการข่าว การวิเคราะห์และกระจายข้อมูลข่าวสารและปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร ปฏิบัติการด้านสื่อสารมวลชน และมาตรการเพื่อตอบโต้กับแรงจูงใจ การสนับสนุนและอุดมการณ์ของฝ่ายก่อความไม่สงบ องค์ประกอบของตัวแบบนี้ยังรวมถึงการพยายามที่จะเข้าใจสภาพนิเวศสังคมโดยผ่านข้อมูลสถิติประชากร การทำสำรวจความคิดเห็น การเก็บข้อมูลเชิงวัฒนธรรมและข้อมูลเกี่ยวกับตัวคนหรือข้อมูลใน "พื้นที่ของความเป็นมนุษย์" ในเขตต้องห้าม และยังรวมความไปถึงการทำความเข้าใจผลกระทบจากการปฏิบัติการของรัฐในกลุ่มประชากร ผลที่ทำให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งและสภาวะแวดล้อม

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่ตัวแสดงทุกตัวจะร่วมมือกระทำการในยุทธศาสตร์นี้ แต่ตราบใดที่ฐานของข้อมูลข่าวสารยังไม่ได้รับการพัฒนา เสาหลักอื่นๆ ของการต่อต้านการก่อการร้ายก็จะไม่มีประสิทธิผล ที่สำคัญก็คือ การปฏิบัติการรณรงค์ด้านข่าวสารข้อมูลจะต้องดำเนินการทั้งในระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เพราะผู้ก่อความไม่สงบในปัจจุบันอาศัยเครือข่ายระดับโลกในการเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ การสนับสนุน เงินทุนและการสรรหาบุคลากร

- เสาหลักสามเสา (ความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจ) ต่อมาสิ่งที่ตั้งอยู่บนฐานของข่าวสารข้อมูลนี้ก็คือ เสาหลักสามเสา ซึ่งทั้งสามเสานี้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ถ้าไม่มีการพัฒนาทั้งสามเสาแบบคู่ขนาน การรณรงค์ก็จะไม่สมดุล. ตัวอย่างเช่น ถ้าเน้นการพัฒนาโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมากโดยไม่มีความมั่นคง ก็จะเหมือนกับการสร้างเป้าการโจมตีที่มีความอ่อนแอในตัวเองในจำนวนมากยิ่งขึ้น. ในทางตรงกันข้ามถ้ามีการเน้นความมั่นคงมากเกินไปโดยไม่มีความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองและระบบธรรมาภิบาล ก็จะยิ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มติดอาวุธก่อความไม่สงบ. ในการพัฒนาเสาแต่ละเสา เราวัดได้จากความมีประสิทธิผล (สมรรถนะและศักยภาพ) และความชอบธรรม (ระดับที่ประชากรยอมรับว่าการกระทำของรัฐเป็นสิ่งที่สอดคล้องตามผลประโยชน์ของตน)

เสาหลักแห่งความมั่นคง ประกอบด้วยความมั่นคงทางการทหาร (การปกป้องประชากรจากการโจมตีหรือข่มขู่คุกคาม โดยกองกำลังสงครามจรยุทธ์ กลุ่มโจร ผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ) และความมั่นคงในการตำรวจ (ตำรวจชุมชน การข่าวตำรวจ งานข่าวสันติบาล และกองกำลังติดอาวุธภาคสนามของตำรวจ) ความมั่นคงนี้ยังรวมไปถึงความมั่นคงมนุษย์ การสร้างกรอบของสิทธิมนุษยชน สถาบันภาคพลเมือง การปกป้องคุ้มครองปัจเจกบุคคล การป้องกันสาธารณภัย (ป้องกันไฟ รถพยาบาล อนามัยชุมชน และการป้องกันภัยภาคพลเรือน) และความมั่นคงของประชากร เสาหลักอันนี้เกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้บัญชาการหน่วยทหารมากที่สุด แต่บทบาทของเครื่องมือทางการทหารมีความสำคัญทั้งระบบไม่เพียงแค่เสาหลักด้านความมั่นคง ในขณะที่กิจกรรมของฝ่ายพลเรือนก็มีความสำคัญในเสาหลักความมั่นคงเช่นเดียวกัน เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความมั่นคงมิใช่ฐานสำคัญของความก้าวหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในทำนองเดียวกัน ความมั่นคงก็ไม่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจเช่นกัน ทั้งสามเสาหลักจะต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนา "ในแบบคู่ขนานกัน" ไป และจะต้องอยู่อย่างสมดุล ในขณะที่ตั้งอยู่บนฐานอันเข้มแข็งของการรณรงค์ด้านข่าวสารข้อมูลอย่างมีประสิทธิผล

เสาหลักทางการเมือง เน้นหนักที่ระดมการสนับสนุน การสร้างความชอบธรรมและประสิทธิผลจะเป็นมิติสำคัญที่สุดที่เสานี้พัฒนาขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วยความพยายามที่จะระดมผู้มีส่วนได้เสียมาสนับสนุนการปกครอง เบียดขับให้ผู้ก่อความไม่สงบและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ไปอยู่ชายขอบ ขยายขอบเขตของธรรมาภิบาลและสืบสานการปกครองด้วยกฎหมาย ปัจจัยที่สำคัญก็คือ การสร้างศักยภาพทางสถาบันในทุกองค์กรของการปกครอง และสถาบันภาคพลเมืองที่ไม่ใช่ของรัฐ และสร้างบูรณาการทางสังคมให้เกิดขึ้นใหม่ เช่น การปลดอาวุธ การลดการระดมกำลังทางทหาร และสร้างบูรณาการใหม่ให้กับนักรบฝ่ายก่อความไม่สงบ เสาหลักของฝ่ายการเมืองเป็นเวทีสำคัญของความพยายามทำให้เกิดความช่วยเหลือทางการฑูต และสร้างธรรมาภิบาลฝ่ายพลเรือน

เสาหลักทางเศรษฐกิจ รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาทางมนุษยธรรมเฉพาะหน้า และโครงการพัฒนาในระยะยาวในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการพาณิชย์ ความช่วยเหลือในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั้งระบบ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวช่วยสร้างศักยภาพของสังคมในการรับการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก

- ส่วนหลังคา (การควบคุม) เสาหลักทั้งสามเสาจะเป็นตัวค้ำจุนวัตถุประสงค์ใหญ่ก็คือ"การควบคุม" ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงสุดของการต่อต้านความรุนแรง เป้าหมายจึงมิใช่เพียงแค่การสร้างเสถียรภาพ เพราะเสถียรภาพไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ และถึงแม้ว่าเราจะแสวงหาเสถียรภาพ รัฐจะต้องใช้มันเป็นแค่เครื่องมือไปสู่จุดหมายอื่น เป็นก้าวๆ หนึ่งเพื่อการรักษาสถานะการควบคุมในสภาวะแวดล้อมที่ไร้การควบคุม มิใช่ว่าจะใช้เสถียรภาพเพื่อเป็นเป้าหมายในตัวเอง

กล่าวโดยสรุป ในการทำงานให้บรรลุผลถึงการควบคุมความรุนแรง รัฐบาลจะต้องพยายามจัดการให้เกิดจังหวะหรือกระแสของกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง สามารถควบคุมระดับความรุนแรงและรักษาระดับของเสถียรภาพในสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศทางสังคม เจตนารมณ์ของการต่อต้านความไม่สงบมิใช่ลดความรุนแรงให้ถึงระดับศูนย์หรือฆ่าผู้ก่อความไม่สงบทุกคน แต่อยู่ที่การนำระบบกลับไปสู่สภาพปกติรัฐบาลไม่ใช่เพียงแค่สถาปนาการควบคุม แต่เสริมความเข้มแข็งให้กับระบบการควบคุมทางสังคมและเปลี่ยนมันให้เป็นสถาบันที่ยั่งยืน มีประสิทธิผลและมีความชอบธรรม

Interviewee: Kasturi Mahkota, Foreign Affairs representative for PULO (Click)
Interviewer: Deep South Watch (www.deepsouthwatch.org)
Original Languages: Questions posed in Thai, responses in Malay, later translated to Thai by DSW.

Translated to Enlish by John Grima. Also posted on his website, www.souththailand.org

at the bottom of the April 27 posting

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๒. 'พูโล' ยืดอกรับผิดชอบ เผยยุทธศาสตร์ 'ส่งออกความรุนแรง' ลากรัฐไทยขึ้นโต๊ะเจรจา
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (www.deepsouthwatch.org)
http://www.deepsouthwatch.org/index.php?l=content&id=238

ความนำ
การเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงชายแดนภาคใต้ เพื่อหาทางยุติสถานการณ์ แม้จะมิอาจกล่าวได้ว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลไทย แต่แกนนำรัฐบาลทุกสมัยนับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ต่างยอมรับว่า นี่คือ แนวทางหนึ่งในการคลี่คลายปัญหา. ขณะรัฐบาลไทยจะยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางนี้ แต่ในด้านของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานี โดยเฉพาะ "องค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี" หรือ "พูโล" กลับมีการประกาศตัวเป็นตัวแทนเจรจาอย่างชัดเจน ท่ามกลางข้อสงสัยว่า "พูโล"เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุตัวจริง หรือนักฉวยโอกาสทางการเมือง. ล่าสุดรัฐบาลพรรคพลังประชาชน โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า หากการเจรจาสามารถยุติปัญหาได้ ก็จำเป็นจะต้องทำ แนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งนายสมัครสุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ดูแลปัญหาชายแดนภาคใต้ ไปไกลถึงการตั้งเขตปกครองพิเศษ รวมทั้งการพิจารณาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้แก่สมาชิกพูโลกลุ่ม'หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ' นักโทษคดีกบฏแบ่งแยกดินแดน เพื่อให้ออกมาช่วยแก้ปัญหา

หลังเหตุการณ์คาร์บอมบ์โรงแรมซีเอสปัตตานีช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กำลังมีการนำปัญหาชายแดนภาคใต้เข้าสู่เวทีโลก และขณะนี้มี 2 กลุ่มกำลังตั้งโต๊ะเจรจากันอยู่ที่สวิสเซอแลนด์ (ปลายเดือนมีนาคม 2551)

กัสตูรี มะกอตอ (Kasturi Mahkota) ฝ่ายการต่างประเทศขององค์กรปล่อยรัฐปัตตานี หรือ 'พูโล' ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ในประเทศสวีเดน อ้างว่าได้นัดหารือกับตัวแทนของไทย ที่กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย 'ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้' ถือโอกาสนี้นัดพบเขาเพื่อพูดคุย สอบถามในประเด็นปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้. การสัมภาษณ์แกนนำ 'พูโล' ครั้งนี้ ประเด็นน่าสนใจอยู่การเปิดเผยถึงขั้นตอนและประเด็นในการเจรจาระหว่างขบวนการต่อสู้เพื่อปัตตานีและรัฐบาลไทย เพื่อหาทางยุติความรุนแรง อีกทั้งยังเป็นการฉายให้เห็นข้อเท็จจริงบางอย่าง ต่อความสงสัยว่า พูโลเป็นองค์กรที่มีส่วนร่วมก่อเหตุความรุนแรงชายแดนภาคใต้ หรือใช้เวทีโลกเพื่อสร้างให้ตนเองมีบทบาทขึ้นมาเท่านั้น
คำตอบ จากฝ่ายการต่างประเทศพูโล มีนัยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

บทบาทของ'พูโล'
กัสตูรีบอกว่าเข้าใจและฟังภาษาไทยรู้เรื่อง เขาฟังคำถามภาษาไทยของเราและตอบในทันทีด้วยภาษามลายู
เขาเริ่มต้นการสนทนาด้วยการกล่าวถึงภาพรวมการทำงานของ 'พูโล'

"หวังว่าการพบกันในครั้งนี้จะได้เปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับปัตตานีให้คนทั่วไปได้เข้าใจ โดยเฉพาะรัฐไทย ว่าทำไมเราถึงต้องร่วมกันต่อสู้ ผมเองทำหน้าที่เป็นฝ่ายต่างประเทศ หลังจากที่มีการประชุมร่วมกันระหว่าง"พูโลเก่า"และ"พูโลใหม่"ที่ตะวันออกกลางในปี 2548 และฐานะที่ไม่เป็นทางการ ผมเป็นโฆษกพูโลด้วย. พูโลตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2511 เพื่อปกป้อง เรียกร้อง และต่อสู้ ดูแลชะตากรรมชาวปัตตานี คำว่าปัตตานี เป็นความหมายที่กว้าง รวมถึงคนที่เป็นมลายูปัตตานีอิสลามส่วนใหญ่ และเชื้อชาติอื่นที่หลากหลายในดินแดนนี้ พูโลต่อสู้เพื่อคนที่อยู่ในปัตตานีทั้งหมด มิใช่เพื่อมลายูปัตตานีเท่านั้น

แต่น่าเสียดายที่การสื่อสารนี้ถูกทำลายโดยรัฐไทย ชาตินิยมไทยพยายามที่จะทำลายล้างชาติพันธุ์ของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พูโลต่อสู้หรือ"ญิฮาด"บนพื้นฐานหลักการที่ถูกวางไว้โดยยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน ดังนั้นพูโลจะไม่รุกราน หรือทำผิดหลักที่กำหนดโดยนานาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ส่วนใหญ่มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และเป็นผู้ก่ออาชญากรรม เป้าหมายของพูโลคือ เรียกร้องสิทธิที่ถูกยึดครองโดยสยาม เรียกร้องในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกกระทำโดยรัฐไทย อำนาจที่สูญหายไป การกดขี่ และการกระทำเพื่อคนมลายูปัตตานีที่เสียสิทธิไป นี่คือเป้าหมายการต่อสู้ของพูโล

การต่อสู้เรียกร้องสิทธิเหล่านี้ไม่ผิดหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อปลดปล่อยดินแดนปัตตานี ไม่ใช่การแยกดินแดนหรือเอาดินแดนของไทย เพราะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าในอดีตปัตตานีเป็นอาณาจักรมีผู้ปกครองของตนเอง. การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันพูโลต้องยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงตาม พูโลจึงถือเป็นตัวแทนในการเจรจากับรัฐบาลไทย โดยอาจผ่านสื่อ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง เราตระหนักเสมอว่าความขัดแย้งจะต้องแก้ด้วยการเจรจาพูดคุย ที่จริงมิใช่ว่ามีทางเลือกอะไรมากมาย แต่ในการต่อสู้หรือความขัดแย้งมิอาจยุติได้โดยใช้กองกำลังหรืออาวุธ พูโลจึงพยายามล็อบบี้นำปัญหาปัตตานีเข้าสู่เวทีโลก"

๐ การพูดถึงสิทธิมนุษยชน แต่ในพื้นที่ผู้กระทำความรุนแรงก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน พูโลมีส่วนกระทำความรุนแรงนี้ด้วยหรือไม่
ถ้าเราดูความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันมีหลายวิธีการ แต่วิธีการหนึ่งคือการก่อการร้ายที่ถูกวางแผนมาล่วงหน้า ทั้งจากองค์กรใต้ดินและรัฐ อีกวิธีการคือการก่อการร้ายที่ไม่ถูกวางแผน ซึ่งมาจากหลายๆ กลุ่ม เช่นการแก้แค้น อีกส่วนหนึ่งคือ Black Violence หรือความรุนแรงที่ไม่รู้ว่าใครทำ แต่สำหรับผมเชื่อว่ารัฐเป็นผู้กระทำ อีกส่วนหนึ่งคือนักฉวยโอกาส ทั้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่อยากย้ายตัวเองออกจากพื้นที่เพราะได้รับผลประโยชน์ ทั้งจากภายในและภายนอก เช่นกลุ่มค้ายาเสพติด

องค์กรขบวนการต่อสู้ มักจะถูกกล่าวหาจากรัฐว่ามีส่วนเกี่ยวข้อองกับยาเสพติด การต่อสู้ของขบวนการปัตตานี โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นคนมลายู ตามหลักอิสลามแล้วเรื่องยาเสพติดถือเป็นเรื่องต้องห้ามตามหลักศาสนา ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ขบวนการต่อสู้จะนำสิ่งที่ผิดมาใช้ในการต่อสู้ครั้งนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นขบวนการต่อสู้ถูกกล่าวหามาตลอด รัฐไทยพยายามนำพูโลไปโยงกับขบวนการเจไอ และอัลกออิดะห์ เราไม่ปฏิเสธว่าบางอย่างเรามีส่วนกระทำ และเราก็ประกาศว่าเราเป็นคนทำ

๐ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีกองกำลังหรือสมาชิกของพูโลเข้าร่วมด้วยหรือไม่
การเกิดขึ้นของพูโล ก็เพื่อเรียกร้องเอกราช เพราะฉะนั้นเราไม่ปฏิเสธว่าเราได้วางแผนสิ่งเหล่านี้ เรามีการเตรียมพร้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ กองกำลัง การประชาสัมพันธ์ เรามีสิ่งเหล่านี้อยู่. แต่ยุทธศาสตร์ของพูโล เราพยายามให้ห่างไกลจากข้อกล่าวหาว่าเป็นเจไอหรืออัลกออิดะห์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราจึงไม่ต้องการที่จะปฏิเสธหรือประกาศว่าเราทำหรือไม่ได้ทำ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงจากการตกอยู่ในบัญชีดำของนานาชาติว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย ถ้าเราถูกขึ้นบัญชีดำ การต่อสู้ของเราจะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น สถานะของพูโลในปัจจุบันจึงได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่จะร่วมกันยุติความรุนแรง

การที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยพูดว่า มี 2 กลุ่มที่เป็นตัวแทนเจรจากับรัฐบาลไทย ผมขอเปิดเผยตรงนี้ก็คือ "พูโล"และ"บีอาร์เอ็น"

๐ ถึงแม้ว่าจะไม่ประกาศความรับผิดชอบในการก่อเหตุ แต่มีวัตถุประสงค์อะไรในการก่อความรุนแรง
ไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีการแก้ปัญหา บางครั้งความรุนแรงก็จำเป็นต้องมีเพื่อให้มีการนำไปสู่การแก้ปัญหา

๐ พูโลจะก่อเหตุแบบไหน ทำอะไรให้เห็นถึงปัญหา
หากพูโลจะก่อเหตุ จะไม่ทำร้ายประชาชนทั่วไป แต่จะกระทำต่อเจ้าหน้าที่และผู้ที่ทำงานให้กับเจ้าหน้าที่

๐ การก่อเหตุใช้กำลังของพูโลฝ่ายเดียว หรือรวมกำลังกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย
เรื่องนี้ผมขอไม่พูด เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับขบวนการที่ต่อสู้อยู่ในขณะนี้

๐ พูโลเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ไม่ขอแสดงความคิดเห็น พูโลพยายามจะใช้สันติภาพในการร่วมกันแก้ปัญหา ผมขอเรียกร้องสมาชิกพูโล และองค์กรอื่นๆ ที่ต่อสู้เพื่อปัตตานี และประชาชนโดยรวมให้ร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยสันติ เพื่อยุติความรุนแรง และแสดงให้โลกได้รู้ว่า คนปัตตานีไม่นิยมความรุนแรง และต้องการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี

๐ หากใช้ความรุนแรงเพื่อให้โลกสนใจปัญหาปัตตานี ฉะนั้นความรุนแรงจะไปถึงไหน สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เพียงพอแล้วหรือยัง
ขอบเขตนี้รัฐบาลไทยควรเป็นผู้ให้คำตอบ เพราะประชาชาติใดที่ถูกกดขี่ ถูกกระทำจากรัฐ ถ้าความอดทนถึงที่สุด ประชาชนสามารถกระทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผมไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า ประชาชนจะทำอะไรบ้าง

๐ ขอถามย้ำในประเด็นความรุนแรง หากพูโลยอมรับว่ามีส่วนในการกระทำ ผู้ตอบก็ไม่ใช่รัฐไทยฝ่ายเดียว ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมกระทำความรุนแรง พูโลก็น่าจะตอบได้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากว่า 4 ปีนี้เพียงพอแล้วหรือยัง
สื่อและรัฐมักจะยึดเอาปี 2547 เป็นจุดของความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยและปัตตานีเกิดขึ้นมานับ 100 ปีแล้ว และจำนวนผู้สูญเสียมหาศาลมากมายแต่ไม่ได้ถูกนำเสนอ ตัวเลขที่เกิดขึ้นมิได้ทำให้รัฐไทยสนใจอะไรมากนัก จึงอยากเรียกร้อง เพราะตัวเลขความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็มิใช่น้อย จึงอยากเรียกร้องให้โอกาสที่จะมีช่องทางในการยุติปัญหา

๐ การไปสู่สันติได้ เป้าหมายของพูโลคืออะไร ต้องการเรียกร้องถึงระดับไหน
นโยบายหลักคือเรียกร้องเอกราชปัตตานีจากการปกครองของสยาม ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรในปี 2511 จนถึงขณะนี้เราไม่เคยเปลี่ยน แต่เราพร้อมที่จะพูดคุยเจาจรและยอมรับในข้อเสนอของรัฐบาลไทย

๐ ที่ผ่านมาพูโลสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นให้โลกได้รับรู้ในประเด็นอะไรบ้าง
เราเรียกร้องที่จะยุติปัญหาด้วยสันติวิธี โดยผ่านตัวกลางในเวทีการเจรจาและผ่านสื่อมวลชน ในฐานะที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุย และจะอย่างไรก็แล้วแต่ ปัญหาของปัตตานีทุกวันนี้เป็นปัญหาในระดับนานาชาติแล้ว แต่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับความจริงตรงจุดนี้เอง

๐ มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ ที่บ่งชี้ว่ากรณีปัญหาของปัตตานีได้รับความสนใจในเวทีโลก เพราะว่าเท่าที่เรารับข้อมูลในขณะนี้ทั้งในประเทศไทยและผ่านสื่อต่างประเทศ เรายังเห็นระดับความสนใจขององค์กรระหว่างประเทศค่อนข้างน้อย แม้แต่โอไอซี
เพื่อที่จะรักษาขั้นตอนที่จะนำไปสู่การเจรจา เราจำเป็นต้องปกปิดข้อมูลเรื่องนี้ เรายังไม่อยากเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการต่อสู้ตรงนี้ การดำเนินการระหว่างองค์กรเรียกร้องเอกราชกับรัฐบาลไทย เรายังไม่เปิดเผยให้โลกได้รับรู้โดยภาพกว้าง เป็นกระบวนการที่ต้องปกปิดไว้ก่อนเพื่อไม่ต้องการทำลายกระบวนการเจรจา ถ้านายกฯ สมัคร ไม่เปิดข้อมูลในวันนั้น ผมก็ไม่กล้าที่จะพูดในวันนี้ แต่เนื่องจากนายกฯ ได้พูดไปแล้วในเบื้องต้น เราจึงได้พูดต่อเนื่อง เนื่องจากกระบวนการทำงานตรงนี้ ไม่ได้ผ่านสื่อมวลชน เป็นกระบวนการที่ต้องรักษาเป็นความลับ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาในภาคใต้

๐ กระบวนการที่ว่านี้เป็นกระบวนการที่พูโลเข้าไปหาบุคคลที่สาม โดยที่รัฐไทยไม่รับรู้และมีส่วนร่วมด้วยหรือเปล่า?
กระบวนการเหล่านี้ เราก็หาบุคคลที่สาม แต่บังเอิญว่ารัฐบาลไทยเองก็มองหาเราอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงไปประจวบเหมาะพอดี

๐ ในความคิดของคุณ กลุ่มบุคคลที่สามควรจะเป็นกลุ่มไหน?
ฝ่ายไหนนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งรัฐบาลไทยและพูโล

๐ เราจำเป็นต้องตั้งคำถามเพราะต้องการทราบถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ผมเข้าใจดี เพราะที่ผ่านมาก็ถูกตั้งคำถามมากมายจากหลายๆ องค์กร

๐ คำถามที่ถูกตั้งถามมากที่สุดคืออะไร?
ปัญหาแรกคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นใครเป็นคนก่อ ปัญหาที่สองคือวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

๐ แล้วคุณตอบเขาไปอย่างไร?
ก็ตอบอย่างที่ผมได้กล่าวไปบ้างแล้ว

๐ กระบวนการเจรจาที่อาจจะยังไปไม่ถึงไหน อาจเป็นเพราะว่าพูโลเองหรือใครก็ตามที่กำลังกระทำอยู่ยังไม่เปิดเผยตัวตนชัดๆ ยังไม่กล้าประกาศตัวว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของตัวเอง แม้แต่สิ่งที่คุณพูดเมื่อสักครู่ก็ยืนยันถึงข้อกล่าวหานี้ คือระบุว่าพูโลเป็นส่วนหนึ่งของผู้กระทำ แต่ก็ยังมีกลุ่มอื่นอีก เพราะฉะนั้นในเมื่อกลุ่มผู้กระทำมีหลายกลุ่ม กลุ่มนักสู้เพื่อปัตตานีก็มีหลายกลุ่ม แล้วการเลือกคุยแค่กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ก็ไม่ได้หมายความกลุ่มนี้หยุด กลุ่มอื่นก็หยุดไปด้วย จึงมีคำถามว่าความรุนแรงในขณะนี้ถึงขั้นตอนสุดท้ายในการเจรจาแล้วหรือไม่ และสอง กระบวนการเจรจาที่จำเป็นต้องพึ่งบุคคลที่สามนั้นควรจะเป็นใคร และสุดท้ายประเด็นที่จะคุยน่าจะมีอะไรบ้าง?
กระบวนการตรงนี้ได้ดำเนินการมาตลอดสามปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ถือได้ว่าเกี่ยวข้องกับทุกขบวนการ แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลไทยเห็นว่ามีเพียงสององค์กรเท่านั้น ที่มีความสามารถหรือมีบทบาทที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ พูโลก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีความเป็น 'มืออาชีพ' และความรับผิดชอบเพียงพอ ดังนั้นจึงมอบหมายให้เพียงสององค์กรเท่านั้นเป็นตัวแทนในการเจรจา

๐ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมองเพียงแค่สองกลุ่ม แต่ในขบวนการต่อสู้เพื่อปัตตานีได้มีการแบ่งงานและหน้าที่กันทำหรือไม่ เช่นการแบ่งบทบาทภายในและภายนอกประเทศ หรือแม้แต่ภารกิจในการให้สัมภาษณ์อยู่ในขณะนี้ องค์กรอื่นๆ เขาเห็นชอบด้วยหรือไม่ พวกเขาได้มอบหมายให้คุณหรือพูโลดำเนินการตรงนี้หรือไม่?
กระบวนการที่จะยุติความขัดแย้ง เราได้จัดตั้งคณะกรรมการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการวิจัย (Research Committee) คณะกรรมการสานเสวนา (Dialogue Committee) และอื่นๆ อีกมากมาย

๐ การแบ่งงานลักษณะนี้เป็นโครงสร้างของพูโลเท่านั้นใช่หรือไม่? ขอย้ำคำถามว่าพูโลและขบวนการอื่นๆ ได้มีการแบ่งงานกันรับผิดชอบหรือแบ่งบทบาทกันหรือไม่
แน่นอนที่สุด ถ้าวันนั้นมาถึง พูโลตระหนักดีว่าจะต้องมีทุกขบวนการเข้ามามีส่วนร่วมในการยุติปัญหา

๐ แสดงว่าที่ผ่านมาก็ไม่มีการหารือกัน ต่างคนต่างทำใช่หรือไม่?
ที่จริงแล้ว ความร่วมมือมีอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้เป็นแบบทางการ

๐ นั่นแสดงว่าบทบาททางด้านการต่างประเทศที่พูโลทำทั้งหมดเพื่อการต่อสู้ให้กับปัตตานี ขบวนการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็น บีไอพีพี เบอซาตู ต่างรับรู้และเห็นชอบอย่างนั้นหรือ?
ถ้าดูจากวันนี้ สิ่งที่พูโลทำมาทั้งหมดก็ยังไม่มีการต่อต้านจากขบวนการอื่นๆ ขบวนการอื่นก็สนับสนุนให้พูโลเป็นตัวแทนในการเจรจา ถ้าจะมีปัญหาก็จะเป็นปัญหาทางด้านเทคนิคอย่างเดียว

๐ เช่นอะไรบ้าง
ทุกองค์กรมียุทธศาสตร์ของแต่ละองค์กร พูโลก็มียุทธศาสตร์ของพูโล แต่ทุกองค์กรล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน

๐ สิ่งที่พูโลทำอยู่ เป็นไปในฐานะ speaker หรือ โฆษกของกลุ่มอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า?
ผมไม่อยากจะกล่าวในลักษณะอย่างนั้น เพราะผมพูดในที่นี้ในฐานะของพูโลเท่านั้น

๐ หมายความว่าในกลุ่มอื่นๆ ก็มีคนที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับคุณด้วยเช่นกัน?
ผมเชื่อว่าองค์กรอื่นก็มีเช่นกัน แต่เนื่องจากว่าเวลายังไม่เอื้ออำนวยให้เขาเปิดเผยตัวเอง นอกจากนี้ เนื่องจากพูโลมีสมาชิกอยู่ทั่วไปในต่างประเทศ จึงสามารถจะทำงานด้านนี้ได้ ส่วนองค์กรอื่นอาจขาดแคลนบุคลากรในต่างประเทศ จึงไม่สามารถที่จะทำบทบาทหน้าที่ตรงนี้ได้

๐ จากข้อมูลที่เคยได้คุยกับรองแม่ทัพภาคที่ 4 หลังกรณีปัญหา 131 คนไทยที่อพยพไปอยู่ฝั่งมาเลเซีย ขณะนั้นมีองค์กรที่นำประเด็นนี้มาเคลื่อนไหว คือ องค์กรสิทธิมนุษยชนมลายูปัตตานี หรือ "ฮัมโร" ผมถามถึงบทบาทความเคลื่อนไหวของ"ฮัมโร"และองค์กรอย่าง"พูโล"ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวในต่างประเทศ รองแม่ทัพฯ กล่าวดิสเครดิตพูโลว่า หากการปล้นปืนเมื่อปี 2547 เป็นการเปิดศักราชใหม่ของความรุนแรง เขาไม่เชื่อว่า"พูโล"จะมีส่วนร่วมในการก่อเหตุที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ผ่านมา เพราะว่าความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ในขณะที่พูโลยังแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ พูโลเพิ่งมาหารือที่ซีเรีย และรวมตัวกันใหม่เป็นพูโลเบอซาตู ประมาณกลางปี 2548 เขาสะท้อนให้เห็นว่านี่แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของพูโล และเขาไม่เชื่อว่าพูโลเป็นผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ขอโทษที่ต้องพูดตรงๆ ว่า พูโลใช้จุดเด่นของตัวเองที่อยู่ในต่างประเทศมาสร้างบทบาทให้กับตัวเอง ทั้งๆ ที่ศักยภาพในพื้นที่ของพูโลเองก็ลดลงไปแล้ว นี่คือประเด็นคำถามต่อบทบาทของพูโล
เราตระหนักเสมอว่ารัฐบาลไทยหวาดผวาต่อพูโล เพราะฉะนั้นจึงพยายามจะดิสเครดิตพูโล ไม่อยากให้เราเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องตรงนี้ เหตุผลก็เพราะพูโลมีความเคลื่อนไหวทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นการยากที่เขาจะยอมรับกับบทบาทของพูโลในต่างประเทศ ถ้าเราดูช่วงเวลาการต่อสู้จะเห็นว่าพูโลมีการต่อสู้มาโดยตลอด ไม่ได้มีช่วงที่เรียกว่าตกต่ำอะไร เพราะเรามีความเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ

ขอยกตัวอย่าง กรณีเว็บไซต์ เหตุใดเว็บไซต์ของพูโลต้องถูกปิด ถ้ารัฐบาลไทยไม่กลัวพูโล รัฐบาลไทยต้องใช้งบประมาณเป็นล้านในการที่จะปิดเว็บไซต์ของพูโล แม้ว่าตอนนี้จะเพิ่งเปิดได้อีกครั้ง ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าเป็นความเข้มแข็งของพูโล นอกจากนี้ อีกตัวอย่างหนึ่ง หากเกิดการปะทะกันและต้องมีการสูญเสียนับร้อยก็ไม่เท่ากับที่พูโลเขียน 1 บทความที่เผยแพร่ไปยังทั่วโลก

การต่อสู้ของพูโลเป็นการต่อสู้ที่ทันสมัย ตามยุคสมัย รัฐบาลไทยสามารถทำอะไรได้ พูโลก็สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้เช่นกัน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลไทยกลัวมากที่สุด ดังนั้น รัฐบาลไทยพยายามที่จะดิสเครดิตพูโล เพื่อที่จะให้พูโลตกต่ำหรือพยายามทำให้ดูเหมือนว่าสมาชิกของพูโลนั้นไม่หลงเหลืออยู่แล้ว. เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ พูโลก็ได้เตรียมความพร้อมที่จะแก้ปัญหาการดิสเครดิตของรัฐบาลไทยไว้แล้ว การที่รัฐบาลไทยบอกว่าพูโลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในภาคใต้ นั่นเป็นประเด็นที่พูโลต้องการให้ถูกเผยแพร่ไปยังทั่วโลก เพื่อที่จะให้ปลดจากการอยู่ในองค์กรบัญชีดำ (Black List) จากนานาชาติ

๐ ทำไมพูโลถึงต้องการให้มีภาพที่ไม่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ ทั้งๆ ที่หากว่าการยุติความรุนแรงจะต้องเอาคู่ขัดแย้งมาคุยกัน แต่ในกรณีนี้ หากพูโลไม่อยากให้ถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งแล้วจะส่งผลอย่างไร?
แต่พูโลก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ถูกเลือกโดยรัฐบาลไทยให้ร่วมเจรจา ดังนั้น รัฐบาลไทยย่อมรู้ดีว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในวันนี้ใครเป็นคนทำ

๐ กระบวนการเจรจาที่ว่านี้ เริ่มต้นขึ้นมาเมื่อไหร่?
เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2005

๐ ก่อนหรือหลังการประชุมที่ซีเรียเพื่อรวมตัวกันของพูโลเก่าและพูโลใหม่
ก่อนหน้านั้น

๐ กระบวนการเป็นอย่างไร เริ่มต้นอย่างไร?
ที่จริงในกระบวนการเจรจา พูโลเป็นองค์กรที่มาทีหลัง ก่อนหน้านี้มีการเจรจากับขบวนการอื่นๆ มาก่อนแล้ว การพูดคุยกันในเดือนพฤษภาคม 2548 ก็ไม่เป็นทางการ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การเจรจา

๐ การหารือครั้งนั้นตัวแทนจากไทยที่ไปหารือด้วยมาจากฝ่ายไหน?
เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

๐ ตอนเริ่มแรกนั้นคุยประเด็นอะไรบ้าง?
ประเด็นที่ว่าใครกันแน่ที่จะสามารถยุติปัญหาความรุนแรงได้ ทั้งฝ่ายของขบวนการและฝ่ายรัฐไทยเอง เพราะความแตกแยกที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นภายในฝ่ายขบวนการเท่านั้น ฝ่ายไทยเองก็มีความแตกแยกเกิดขึ้น เพราะหากเราดูตอนนี้ ผู้มีอำนาจในประเทศไทยก็มีหลายอำนาจ อย่างง่ายๆ ทั้งรัฐบาล กองทัพบก กองทัพภาคที่ 4 และรวมทั้งอำนาจที่อยู่นอกเหนือรัฐบาลอีก สามสี่อำนาจเหล่านี้ยังไม่รวมเป็นหนึ่ง ฉะนั้นกระบวนการต่อจากนั้นคือการรวมอำนาจให้เป็นหนึ่งเพื่อยุติปัญหา

๐ อำนาจที่รวมกันเป็นอำนาจของฝ่ายไหน ฝ่ายขบวนการต่อสู้หรือฝ่ายรัฐไทย หรือทั้งสองต้องรวมกันก่อน
ตอนนี้ทางขบวนการต่อสู้ก็ได้กดดันให้รัฐบาลไทยตั้งตัวแทน (Delegacy) ที่จะมาร่วมกันเจรจาอย่างเป็นทางการ ในฝ่ายของขบวนการก็มีตัวแทนจากสององค์กร แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องมาแก้ไข สามปีที่ผ่านมายังอยู่ในช่วงของกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะหาว่าองค์กรใดหรือใครที่สามารถจะเป็นตัวแทนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ แม้ว่าทางการไทยจะมีตัวแทนอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการยังเรียกได้ว่ามีปัญหาอยู่

๐ ในบรรดาอำนาจฝ่ายต่างๆ ที่คุณได้กล่าวถึงมีการส่งตัวแทนมาติดต่อยังคุณโดยตรงหรือไม่?
ขณะนี้มีเพียงตัวแทนจากรัฐบาลกลาง ส่วนที่เหลือ ข้อตกลงที่ได้มาก็ไม่สามารถจะดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำคือการรวมอำนาจจากส่วนต่างๆ ให้ได้

๐ ที่ผ่านมาสามรัฐบาลมีแนวทางการเจรจาที่แตกต่างกันอย่างไร คิดทิศทางภายใต้รัฐบาลสมัครจะเป็นอย่างไร ?
ถ้าดูตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ที่เริ่มต้นพูดคุยกัน แต่ก็เพิ่มความถี่ในการพูดคุยขึ้นในช่วงรัฐบาลสุรยุทธ์ แต่ถึงช่วงรัฐบาลสมัครมานี้ยังไม่มีการนัดพบแต่อย่างใด แต่เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันยังเป็นรัฐบาลใหม่ เราจึงพยายามนำข้อมูลที่ผ่านมาส่งให้กับคุณสมัคร

๐ ตัวแทนฝ่ายไทยที่มาพบตั้งแต่เริ่มแรกเป็นคนเดิมหรือเปล่า
ตำแหน่งเปลี่ยนแปลง แต่ตัวคนยังเป็นคนเดิม

๐ หากเป็นคนเดิม ประเด็นในการพูดคุยก็คงมีลำดับขั้นมาเรื่อยๆ หากเริ่มต้นที่แต่ละฝ่ายกำหนดตัวคนที่จะมาพูดคุยกันจนถึงวันนี้ ประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยกันคืออะไร?
ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการสร้างความเชื่อมั่น เพราะฉะนั้นก็คงไม่สามารถจะดำเนินการอะไรได้มากกว่านี้

๐ ได้พบเจอพูดคุยกันมาแล้วหลายครั้ง อะไรคือสิ่งที่ทำให้ยังไม่มีความเชื่อมั่น?
ความขัดแย้งที่ชายแดนใต้เกิดขึ้นมายาวนาน การแก้ปัญหาก็ต้องใช้เวลา ทั้งความรู้สึกเคียดแค้นหรือความรู้สึกที่ไม่ดีก็ยังอยู่ ก็จำต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นก่อน

๐ ผู้บริหารของประเทศไทยในอดีตเคยพูดถึงกระบวนการเจรจาว่า ความเชื่อมั่นของทางการไทยจะเกิดขึ้นก็ต้องมีการทดสอบ อย่างเช่น ขอให้ยุติความรุนแรงภายใน 1 เดือน นี่เป็นประเด็นหรือเปล่าที่ทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่นระหว่างกัน?
ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะตอนนี้อยู่ที่รัฐบาลไทยจะแสดงความจริงใจที่จะแก้ปัญหาจริงหรือไม่ ข้อเรียกร้องของฝ่ายขบวนการจนถึงทุกวันนี้รัฐบาลไทย ก็ยังไม่แสดงให้เห็นว่าจะดำเนินการใดๆ

๐ คุณเรียกร้องอะไร?
ขอไม่ให้ความเห็น

๐ หมายความว่าข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ได้รับการดำเนินการ จึงยังไม่เกิดความเชื่อมั่นระหว่างกัน?
ทางฝ่ายขบวนการเองก็ตระหนักดีว่า สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเรียกร้องนั้น โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของฝ่ายขบวนการก็เพื่อต้องการดูว่ารัฐบาลไทยทำจริงหรือไม่ เราพร้อมที่จะทำตามถ้ารัฐบาลไทยดำเนินการก่อน

๐ คุณเชื่อว่าการเจรจาจะยุติความรุนแรงหรือไม่?
ทุกความขัดแย้งก็ต้องยุติด้วยการเจรจา

๐ การเจรจาเราสามารถยืดหยุ่นได้แค่ไหน
ถ้าผมตอบถือว่าผมไม่ฉลาด เพราะนี่คือข้อเรียกร้องที่ฝ่ายเราเป็นคนเสนอ เพราะฉะนั้น คนที่ต้องตอบคือทางรัฐบาลตอบข้อเรียกร้องว่า ทางการและพูโลต้องการอะไร ที่ยืดหยุ่นได้คืออะไร ถ้าไม่ได้รับเอกราชจะเป็นอะไร
อย่างที่คุณเฉลิม (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย) เคยพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ (Autonomy) ทางรัฐบาลไทยรับได้แค่ไหน มันมีรูปแบบเป็นอย่างไร ถ้าได้ในสิ่งเหล่านั้น ขบวนการจะต้องคุยกับองค์กรอื่นๆ ว่าสิ่งที่รัฐบาลเสนอมารับได้หรือไม่

๐ การพูดคุยแนวทางสันติภาพที่ลังกาวี ช่วงปลายปี 2549 พูโลได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่?
ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในนามขององค์กร แต่มีสมาชิกบางคนที่เข้าไปมีส่วนในฐานะส่วนตัว

๐ ถ้ามองถึงอุดมการณ์ที่สูงสุดของพูโล มองภาพสังคมปัตตานีในจินตนาการอย่างไร ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
อินชา อัลเลาะห์ หากเป็นพระประสงค์ของอัลเลาะห์ในอนาคต เราจะปกครองตามที่ประชาชนต้องการและเป็นไปตามบทบาทขององค์กรนานาชาติที่มีบทบาทตรงนี้ เราจะไม่กดขี่คนที่เป็นส่วนน้อย (Minority) ภายใต้การปกครองของเรา เราจะสร้างตัวอย่างที่ดีให้กับเขาว่าสามารถอยู่ได้ภายใต้การปกครองที่มีผู้นำเป็นมุสลิม ในเบื้องต้นเราจะจัดรัฐบาลชั่วคราว อายุ 4-5 ปี จากนั้นก็จะมีการเลือกตั้งเพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ เราจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจ สิ่งที่พูดนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการได้เอกราชอย่างสมบูรณ์เต็มใบ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ (หัวเราะ) แต่หากอยู่ในรูปแบบการปกครองพิเศษก็จะต้องให้ประชาชน เป็นลงประชามติชี้ว่าต้องการอย่างไร

หากเป็นการปกครองแบบ Autonomy ก็อาจจะใช้เวลาถึง 30 ปี เพื่อทำการลงประชามติว่ารูปแบบใดที่ประชาชนต้องการ เรื่องแรก คือ รูปแบบการปกครองที่กำหนดมาไปก่อน อีก 50 ปีก็จะลงประชามติอีกครั้งว่าจะเป็นรูปแบบใดอีก

๐ แสดงว่าแม้ได้เป็น Autonomy แล้วก็ยังไม่ยุติการคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อได้เอกราชหรือไม่
เราจะให้สิทธิกับประชาชนก่อนว่า Autonomy ที่ได้รับนั้น ประชาชนรับได้หรือไม่ หรืออาจให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง

๐ ธรรมดาของประเทศเอกราชใหม่ มักมีปัญหาภายในคือความขัดแย้งกันเอง คุณเตรียมรับมือกับมันอย่างไร
เราตระหนักดีถึงภาวะนั้นซึ่งได้ปรากฏขึ้นในอาเจะห์และติมอร์ เราจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เราตระหนักดีและเราพยายามที่จะหาวิธีการป้องกัน

๐ ระบอบการเมืองการปกครอง รูปแบบที่คุณออกแบบเป็นอย่างไร
เรายังไม่ได้ถูกวางหรือพูดคุยไว้ขนาดนั้น แต่เราคาดว่าจะเป็น Republic Islam Patani เรื่องเขตแดนเรายังไม่มีการกำหนด แต่ก็เป็นประเด็นที่จะต้องพูดคุยและทำร่วมกันกับหลายฝ่าย แต่จะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย

๐ การเคลื่อนไหวของอิสลามทั่วโลกมักประกาศใช้ 'ชารีอะห์' หรือกฎหมายอิสลาม คุณจะทำสิ่งนี้ด้วยหรือไม่
ชาริอะห์ เราใช้เฉพาะกับคนที่เป็นมุสลิมเท่านั้น เราจะไม่ใช้กฎหมายเหล่านี้ไปบังคับกับคนอื่น แต่เราจะใช้กฎหมายอิสลามที่บริสุทธิ ที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

๐ กฎหมายสูงสุดก็เป็นรัฐธรรมนูญ
แน่นอน

๐ แล้วจะมีวิถีทางเศรษฐกิจอย่างไร
จะมีวิถีทางเศรษฐกิจผสมกันระหว่างรูปแบบปัจจุบันกับเศรษฐกิจแบบอิสลาม มาเลเซียก็เป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบอิสลาม

๐ ปัจจัยอะไรที่จะหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ มีทรัพยากรอะไรหล่อเลี้ยงประเทศเล็กๆ นี้
ปัตตานีมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์มากมาย แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการเปิดเผย รัฐไทยรู้ดีว่าในดินแดนปัตตานีมีทรัพยากรมากมาย ดังนั้นก่อนที่จะสายเกินไปในการใช้นั้น เราน่าที่จะเข้ามาใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์กับคนปัตตานีให้มากที่สุด

๐ ทำไมรัฐไทยไม่ชิงนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้เสียก่อน หากมันมีมากมายจริง
รัฐบาลไทยไม่กล้าที่จะมาลงทุนเพราะรู้ว่าดินแดนนี้วันหนึ่งจะเป็นของคนปัตตานี จึงไม่ยอมที่จะลงทุน เพราะรู้ดีว่าจะไม่ได้ใช้ทรัพยากรนั้น ผมไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกถึงความร่ำรวยของปัตตานี ด้านเกษตรนั้นประจักษ์ดีว่าอุดมสมบูรณ์ ข้อผิดพลาดหนึ่งรัฐบาลไทยคือการไม่ได้ใช้โอกาสของการพัฒนานั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัญหาความขัดแย้งคงจะไม่เกิดหากได้ให้พัฒนาในพื้นที่นั้น แต่วันนี้มันได้สายไปแล้ว รัฐบาลไทยได้ใช้นโยบายที่ล้าหลัง พยายามที่จะทำลายภาษาและวัฒนธรรมมลายูปัตตานี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ฉลาดเลย

๐ เหตุที่ติมอร์ได้รับเอกราช ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร หากปัตตานีมีทรัพยากรขนาดนี้จริงๆ จะมีประเทศที่สามยื่นมือเข้ามาช่วยหรือไม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช
แน่นอนเราต้องการประเทศที่จะมาเข้าร่วมกับปัตตานี ที่จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน รัฐบาลไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาร่วมกันก็ได้

๐ คุณยืนยันว่านานาชาติรับรู้ปัญหาปัตตานีมาตั้งแต่ต้น ความพยายามของนานาชาติที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปํญหาให้จบไป มีเหตุผลมาจากการที่ปัตตานีอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรหรือไม่
หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศที่เข้ามาย่อมมีประโยชน์แอบแฝง ทุกองค์กรที่รู้ก็ต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน

๐ ด้านการต่างประเทศ ถ้าเรามองโคโซโว ซึ่งเป็นประเทศใหม่ล่าสุด จะไม่ได้รับความสำเร็จขนาดนี้หากไม่มีมหาอำนาจอย่าง อเมริกาและนาโต้ ในกรณีปัตตานี มีมหาอำนาจใดที่มีพลังพอที่จะสนับสนุน หรือลอบบี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ คุณเล็งใครไว้หรือไม่
แน่นอน เราเล็งเอาไว้แต่ยังไม่เป็นทางการ ถ้าในอดีตเราต้องไปหาเขา แต่ในวันนี้เขากลับมาหาเรา เรามีเพื่อนมากที่อยู่ตรงนั้น ในระยะสั้นนี้ ผมจะนำปัญหาปัตตานีไปสู่ EU (สหภาพยุโรป)

๐ ทำไมต้องเป็น EU แทนที่จะเป็นโลกอาหรับ
ใน OIC (องค์กรที่ประชุมอิสลามโลก) ก็ยังคงมีอยู่ และทางการไทยก็พยายามที่จะต่อ OIC อยู่เสมอ และมีบางประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนเรา ดังนั้นการที่จะเข้าไปหา OIC จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต้องให้ความระมัดระวัง ซึ่งเราก็มั่นใจว่า OIC จะอยู่เคียงข้างเรา แต่ช่วงเวลานั้นยังมาไม่ถึง ในฐานะที่เราเป็นประชาชาติมุสลิมนั้นเราจะละทิ้ง OIC ไปไม่ได้

๐ ทำไมคิดว่า EU จะรับฟังปัญหาของคุณ
เนื่องจากยุโรปมีบทบาทอยู่ในระดับโลกดังนั้น การเลือกฝ่ายนั้นก็จะเป็นผลดีต่อประชาชาติปัตตานี EU เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการกดขี่ประชาชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อย

๐ ถ้าเราใช้มุมมองที่เชิดชูสิทธิมนุษยชนและประเด็นทรัพยากรของปัตตานี บทบาทของสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังครามเย็นมานี้มีสูงมาก ทั้งยังถือว่าเป็นอภิมหาอำนาจที่เข้าไปจัดระเบียบโลกในหลายพื้นที่ กรณีอิรัก อัฟกานิสถาน อเมริกาใช้ข้ออ้างทางสิทธิมนุษยชน ในการไปจัดการ ทำไมคุณไม่เลือกอเมริกา หากคุณมองเรื่องทรัพยากรรวมทั้งบริษัทน้ำมันที่เข้ามาดำเนินการ ประเทศที่สำรวจทรัพยากรของโลกดูจะไม่มีใครเกินอเมริกา
ไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งอเมริกา แต่ในระยะนี้เราคงเลือก EU ไปก่อน ทางขบวนการไม่ได้ละทิ้งแต่ไม่ถึงขั้นตอนที่จะคุยกับอเมริกา

๐ เรื่องรายงานวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากร ไม่ทราบว่าทำโดยนักวิจัยทีมเศรษฐกิจของพูโลเองหรือมาจากแหล่งอื่น
เป็นงานวิชาการที่ค้นคว้าโดยนานาชาติ ซึ่งมีอยู่หาอ่านได้ทั่วไป

๐ การต่อสู้ที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษไม่เคยเห็นความรุนแรงที่มากขนาดนี้ การรู้ถึงฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์มันได้เร่งให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมรึเปล่า?
เป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือคนปัตตานีตอนนี้เป็นคนที่ฉลาดมากขึ้น และมีสำนึกในสิ่งที่ทำอยู่กับพวกเขา

๐ ภายใต้สถานการณ์การต่อสู้เช่นนี้มาเลเซียมีท่าทีอย่างไรกับการต่อสู้ของคุณ
มาเลเซียไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวในปัตตานี แต่เนื่องจากคนปัตตานีเป็นคนที่มีเชื้อชาติมลายู มีศาสนาเดียวกัน มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ จึงทำให้มาเลเซียถูกมอง ถูกกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือขบวนการเคลื่อนไหวในปัตตานี

๐ เอกภาพภายในของขบวนการคุณเป็นอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นการเคลื่อนไหวของ 'ลุคมัน บินลิมา'
ภายหลังจากการรวม"พูโลเก่า"กับ"พูโลใหม่" ก็ได้มีการมอบหน้าที่ให้กับ ลุคมัน แต่เขาไม่รับตำแหน่งเหล่านั้น และพยายามที่จะนำความคิดของพูโลเก่าออกมา เป็นสิทธิของเขาในฐานะประชาชนปัตตานีที่จะเรียกร้องเพื่อเอกราชปัตตานี แต่ไม่ใช่ในฐานะผู้นำของพูโล. ขอบคุณที่ถามคำถามนี้ เพราะจะช่วยให้คลายความสงสัยต่อข้อแถลงของ ลุคมัน บินลิมา ว่าเขายังเป็นคนในขบวนอยู่รึเปล่า การเจรจาสันติภาพ เขาไม่ได้เข้ามามีส่วนในการเจรจาแต่อย่างใด ส่วนข้อแถลงล่าสุดของเขาที่ว่า การเจรจาต้องมีตัวกลางนั้นสิ่งเหล่านี้มีอยู่ทั้งหมดแล้ว มีมาหลายปีแล้วด้วยซึ่งมีความพร้อมทุกอย่าง

๐ คุณบอกว่า พูโลต่อสู้โดยหลักสิทธิมนุษยชนแต่ว่าในประเทศไทยก็มีองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่พยายามขับเคลื่อนแทนชาวมลายูปัตตานี คุณจัดความสัมพันธ์กับกลุ่มเหล่านี้อย่างไร
เราขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อ NGO เหล่านี้ ที่เสียสละเวลา ทำหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือชาวมลายูปัตตานี

๐ คุณติดต่อโดยตรงกันบ้างหรือไม่
ก็มีบ้างในบางครั้ง ไม่ได้สม่ำเสมอนัก ในระดับองค์กรต่อองค์กร หลายองค์กรที่ทำงานเคยมาร้องห่มร้องไห้กับเราก็มี

๐ พูโลคาดหวังกับการเมืองในระบบรัฐสภาหรือไม่ ในฐานะเวทีการต่อสู้เวทีหนึ่ง
นั่นคือการต่อสู้บนพื้นฐานรัฐธรรมนูญของไทย ไม่ใช่การต่อสู้บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญปัตตานี และนั่นไม่ได้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จ และแม้เขามีจิตใจที่จะต่อสู้ พวกเขาก็ไม่กล้าที่พูดความจริง หากเขากล้าพูดเขาก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปอยู่ในสภาได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นเขาจะแก้ปัญหาได้อย่างไร พวกเขาให้ ความสำคัญกับชีวิตของเขายิ่งกว่าความปลอดภัยของปัตตานี"

๐ เวลามีข่าวสารถึงที่เผยแพร่จากพูโล คุณไม่ได้ใช้คำนำหน้าตัวเองว่า 'นาย' แต่ได้ใช้ว่า 'พันเอก' นำหน้า ทำให้คนทั้งหลายเคลือบแคลงว่า ยศที่นำหน้านั้นคุณได้มันมาอย่างไร
เป็นยศกิติมศักดิ์ที่ได้มาจากองค์กรของพูโลเอง

๐ ชีวิตของคุณในสวีเดนเราอยากให้คุณเล่าอย่างสั้นๆ ว่า คุณดำรงชีวิตอยู่อย่างไร มีอาชีพอะไร
ผมทำธุรกิจเล็กๆ ในสวีเดน เป็นงานหลักอยู่ที่นั่น ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าว่าทำอะไร

++++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก

PULO - The Patani United Liberation Organization (also spelled Pattani United Liberation Organisation) or PULO is one of the active militant groups calling for a free and independent Patani. This group, along with others, is currently fighting for the independence of Thailand's predominantly Malay Muslim south.

History
PULO was founded in 1968 reportedly around the leadership of Kabir Abdul Rahman, a Patani Malay scholar. Its militant wing, which carries out the organization's violent attacks, is known as the Patani United Liberation Army or PULA. A separatist group called New PULO splintered off from the main organization in 1995

Current separatist actions
Currently, PULO has a policy of targeting those whom it views as collaborators and associates of the Thai government, such as civil servants, soldiers and policemen. Recently, their main target has been Buddhist monks, school teachers, and even Muslim village protection volunteers. The organization carries out car bombs, road side bombs and drive-by shootings targeting Thai military and police.

PULO considers itself to be continuing the independence struggle of the Malay Sultanates after the area declared its independence following the fall of Ayutthaya in 1767. The Islamic state proposed by PULO would cover the areas they say were historically ruled by the Sultanate of Pattani - consisting of Pattani, Narathiwat, Yala, Songkhla and Satun provinces in present-day Thailand. However, Songkla Province is only about 30% Muslim and mainly Thai speaking, while Satun actually was part of Kedah and has shown virtually no support for separation from Thailand.

On November 27, 2006, the Thai government ordered all schools in the province of Pattani temporarily closed. This was in response to protect its citizen from the upsurge brutal attacks on school teachers -- including women -- in the previous months. Since then, several schools have been burnt by the separatist militants.

(http://en.wikipedia.org/wiki/PULO)

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ : Release date 09 May 2008 : Copyleft by MNU.
ในการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความรุนแรงชายแดนภาคใต้ เพื่อหาทางยุติสถานการณ์ แม้จะมิอาจกล่าวได้ว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลไทย แต่แกนนำรัฐบาลทุกสมัยนับแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ต่างยอมรับว่านี่คือ แนวทางหนึ่งในการคลี่คลายปัญหา. ขณะรัฐบาลไทยจะยังไม่มีความชัดเจนในแนวทางนี้ แต่ในด้านของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานี โดยเฉพาะ"องค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี" หรือ"พูโล"กลับมีการประ กาศตัวเป็นตัวแทนเจรจาอย่างชัดเจน ท่ามกลางข้อสงสัยว่า "พูโล" เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุตัวจริงหรือนักฉวยโอกาสทางการเมือง ล่าสุดรัฐบาลพรรคพลังประชาชน โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า หากการเจรจาเป็นหนทางให้สามารถยุติปัญหาได้ ก็จำเป็นจะต้องทำ (คัดจากบทความ)
H