1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
ประวัติศาสตร์การศึกษาและการศึกษาประวัติศาสตร์
ภาคเหนือ:
ภายหลังนโยบายรัฐพัฒนา และทุนนิยมบุกรุก (๒)
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์
เชษฐพัฒนวนิช: แปลและเรียบเรียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
บทความเพื่อสิทธิพลเมือง
สิทธิทางเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
บทแปลต่อไปนนำมาจาก บทที่ ๒ ของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ
Kriangsak Chetpatanavanich เรื่อง 'Constructing the Third Identities
Through Northern Country Songs (Pleng Lukthung Kam Mueang):
A Social History of Modernity in Rural Chiang Mai',
Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University, 2007.
ได้รับทุนจากโครงการปริญญาเอกาญจนาภิเษก ส.ก.ว.
เดิมชื่อ: ประวัติศาสตร์การศึกษาและการศึกษาประวัติศาสตร์ ของสังคมชนบทภาคเหนือ
ประกอบด้วยหัวเรื่องหลักและหัวเรื่องรองดังต่อไปนี้
- มุมมองแรก: ความเป็นหนึ่งเดียวและความสืบเนื่องของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ
- โครงสร้างของสังคมชนบทไทยในมุมมองของ แจ๊ค เอ็ม พอตเตอร์
- การมองสังคมชนบท โดยสกุล"ฉัตรทิพย์"
- อุดมการณ์การนับถือผีกับการรักษาวิถีชุมชนชนบท
- ริชาร์ด เดวิด: กรอบคิดคู่ตรงข้ามที่จำเป็น(essential dichotomy)
- ขึด อุบาทว์ พิธีกรรม และปรัมปรานิยาย
- มุมมองที่สอง: ความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ
- แคเธอรีน โบวี: ชนชั้นปกครอง คนรวย และคนจน
- การพัฒนาของรัฐ และทุนนิยมบุกรุก
- อานันท์ กาญจพันธุ์ และ แอนดรู เทอร์ตัน
- ชยันต์ วรรธนะภูติ: ผีและพุทธศาสนาในฐานะเครื่องมือควบคุม
- มุมมองที่สาม: การผสมผสาน (hybridization) สถานการณ์ชนบทกับเมืองภาคเหนือโดยตัวแสดง
- มิเชล มอร์แมน: การใช้ที่ดิน ๒ ลักษณะ หลังการเข้ามาของเศรษฐกิจการตลาด
- เจนิเฟอร์ เกร์ และ มาร์ก ริทชี: การผสานกันระหว่างเศรษฐิกจเมืองกับเศรษฐกิจชนบท
- การทรงเจ้าที่เป็นรูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์นับถือผี
- โรสลีน มอร์รีส: Episteme ของรัฐไทย และการแปลงวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า
- พิธีกรรมสืบชะตาเมือง การแย่งพื้นที่ระหว่างผีกับพุทธ
- การเมืองของสุนทรียภาพในผ้าซิ่นตีนจก
- เฮนรี ดี เดลคลอร์: การแปลความหมายการพัฒนาที่แตกต่างในหมู่ชาวบ้าน
- สรุป: ประวัติศาสตร์ของสังคมชนบทภาคเหนือ
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๕๕๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๒.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ประวัติศาสตร์การศึกษาและการศึกษาประวัติศาสตร์
ภาคเหนือ:
ภายหลังนโยบายรัฐพัฒนา และทุนนิยมบุกรุก (๒)
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์
เชษฐพัฒนวนิช: แปลและเรียบเรียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มุมมองที่สาม: การผสมผสานหรือผสมพันธุ์
(hybridization) สถานการณ์ชนบทกับเมืองภาคเหนือโดยตัวแสดง
ในขณะที่มุมมองหรือแกนเรื่องที่แรกเสนอว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมและอุดมกาณ์ของสงคมชนบทมีสถานะหยุดนิ่ง
คงที่. ในทางตรงกันข้า มมุมมองที่สองพิจารณาแตกต่างออกไป นั่นคือ โครงสร้างของสังคมชนบทภาคเหนือสัมพันธ์กับและเปลี่ยนแปลงโดยพลังจากภายนอก
ซึ่งกระทำโดยรัฐศูนย์กลาง และต่อมามีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม
ได้ปรากฎแกนเรื่องหรือมุมมองที่สามขึ้นมา ซึ่งได้ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทภคเหนือโดยการกระทำของตัวแสดง
หรือคนชนบทตอบสนองหรือตอบโต้ต่อบริบทสมัยใหม่ หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง ผสมผสานเงื่อนไขหรือสถานการณ์สมัยใหม่กับประสบการทางประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของพวกเขาอย่างไร
มิเชล มอร์แมน: การใช้ที่ดิน
๒ ลักษณะ หลังการเข้ามาของเศรษฐกิจการตลาด
แกนเรื่องที่สามนี้ อาจย้อนกลับไปไกลได้ถึงงานของ มิเชล มอร์แมน (Moerman, 1968)
ทีเดียว มอร์แมน เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธการศึกษรสังคมชนบทจากจุดยืนของ Formalists
และ Substantivists (Chaiyan, 2000)
- Formalists เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทนั้น ก็เนื่องมาจากการรับเอาสถานการณ์ใหม่ๆ โดยปัจเจกบุคคลชนบท เพื่อจะบรรลุเป้าหมายเชิงผลประโยชน์ส่วนบุคคล. ในขณะที่พวก
- Substantivists เชื่อว่า คนชนบทยังคงยืนยันในวิถีการดำรงชีวิตแบบสังคมดั้งเดิมของพวกตน โดยเก็บรักษาวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนแบบรวมหมู่ และเศรษฐกิจเลี้ยงตัวเองหรือพอยังชีพ ท่ามกลางการบุกรุกเข้ามาของเศรษฐกิจทุนนิยม
อย่างไรก็ตาม งานของมอร์แมนอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างออกไป ในงานวิจัยของมอร์แมน เขาพยายมชี้ว่าเมื่อรัฐและตลาดบุกเข้ามายังพื้นที่ที่เขาศึกษานั้น ชาวบ้านได้มีการปรับตัวเองในหลายวิถีทาง. เพื่อที่จะตอบโต้กับทั้ง Formalists และ Substantivists มอร์แมนเสนอว่า ชาวบ้านสัมพันธ์กับรัฐและทุนโดยในด้านหนึ่งพวกเขายังคงสืบเนื่องรักษาความสัมพันธ์แบบชุมชนของพวกเขาเอง ดังเช่น ระบบการใช้ที่ดินแบบดั้งเดิม การแลกเปลี่ยนแรงงาน และอื่นๆ แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่งนั้น วิถีชีวิตและการจัดการแบบปัจเจกชนสมัยใหม่ได้ถูกรับเข้ามาด้วย ยกตัวอย่างคือ การจัดการเกี่ยวกับการใช้ที่ดิน
ในขณะที่พวกเขาสืบเนืองระบบการจัดการแบบเก่าในที่ดินซึ่งอยู่รอบๆ หมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ดินที่ถูกใช้เพื่อผลิตเพื่อการยังชีพแบบเดิม และสืบเนื่องระบบดั้งเดิมต่างๆ เช่นการใช้แรงงานแบบรวมหมู่ สิทธิชุมชนต่างๆ ตลอดจนระบบชลประทานเหมืองฝาย ในการผลิตในที่ดินที่เป็นการผลิตเพื่อการยังชีพดังกล่าวนั้น ในกรณีที่ดินที่อยู่ห่างไกลออกไปที่ใช้ทำการผลิตเพื่อตลาด พวกเขากลับรับเอาการจัดการที่สัมพันธ์กับรัฐและระบบตลาดมาใช้ ดังเช่น สิทธิในที่ดินแบบปัจเจกที่รับรองโดยรัฐ และการจ้างแรงงานเพื่อการเพาะปลูก เป็นต้น ส่วนผลผลิตที่ผลิตได้จากที่ดินประเภทนี้จะถูกขายเพื่อผลกำไรของปัจเจก
เจนิเฟอร์ เกร์ และ มาร์ก
ริทชี: การผสานกันระหว่างเศรษฐิกจเมืองกับเศรษฐกิจชนบท
งานที่ศึกษาสังคมชนบทตามแนวแบบของมอร์แมนสืบเนื่องจากทศวรรษที่ 1970-80 มาถึงปัจจุบัน
ตัวอย่างของงานดังกล่าวก็คือ งานของ เจนิเฟอร์ เกร์ (Gray, 1990) และของ มาร์ก
ริทชี (Ritchie, 1996) ทั้งเกร์และริทชีเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงขั้นมูลฐานของสังคมชนบทภาคเหนือ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอำเภอต่างๆ ที่ตั้งอยู่รอบๆ เมืองเชียงใหม่ ปรากฏขึ้นนับตั้งแต่การขยายตัวของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการบริการเข้าสู่เขตชนบท
หนึ่งในบรรดาการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่างๆ ก็คือ รายได้หลักของประชาชนชนบทไม่ได้มาจากผลผลิตทางการเกษตรอีกต่อไป
และด้วยรายได้นอกภาคเกษตรนี้เอง ที่ช่วยทำให้ภาคเศรษฐกิจการเกษตรของชนบทยังคงดำรงอยู่ได้
ปรากฎการณ์นี้ก็คือเศรษฐกิจชนบทภาคเหนือได้แปรเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่งที่เป็นการผสานกันระหว่างภาคเศรษฐิกจเมืองกับเศรษฐกิจชนบท
เกร์และริทชี่วิเคราะห์ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงของชนบทขึ้นอยู่กับหลายๆ เงื่อนไข เช่น ระยะใกล้-ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ กล่าวคือยิ่งใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่เท่าใด การเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งเป็นไปอย่างมาก. เจ้าที่ดินใหญ่มีความมุ่งหมายโดยตัวเองที่จะปรับตัวของพวกเขา พวกเขาสามารถให้เช่าที่ดินของตัวเอง และด้วยเหตุดังนั้น พวกเขาจึงสามารถส่งลูกหลานให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ดังนั้นบุตรหลานของเจ้าที่ดินใหญ่เหล่านั้น จึงได้รับโอกาสที่ดีที่จะได้ตำแหน่งที่ดีในระบบราชการ หรือในบริษัทห้างร้านธุรกิจเอกชน
และเนื่องจากกลุ่มเจ้าที่ดินรายใหญ่เป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในหมู่บ้าน พวกเขาจึงมีทุนเพียงพอที่จะเปิดร้านค้าในหมู่บ้าน เช่นขายเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ในขณะที่ชาวนาที่มีที่ดินรายย่อย และชาวนาไร้ที่ดิน อาจทำการเพาะปลูกในที่ดินของตัวเองหรือที่ดินเช่า โดยที่มีสมาชิกในครอบครัวบางคนรับจ้างทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม หรือไม่ก็ไปเป็นคนงานก่อสร้าง เป็นคนขับรถสี่ล้อรับจ้าง เป็นแรงงานและพนักงานระดับล่างทั้งในภาคธุรกิจเอกชน และราชการ พวกเขาอาจเลิกทำการผลิตทางการเกษตรไปเลย แล้วเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นคงานเต็มเวลาตามโรงงานอุตสาหกรรม ภัตตาคาร หรือห้างสรรพสินค้า ทั้งในเมืองหรือไม่ก็เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือไปทำงานยังต่างประเทศ
ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบท ดำเนินไปในวิถีทางที่เศรษฐกิจสังคมชนบทผสมผสานหรือผสมพันธุ์ (hybridization) กับเศรษฐกิจภาคเมือง สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ชนบทสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น การผสมผสานหรือผสมพันธุ์ก่อให้เกิดกลุ่มคนที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นในสังคมชนบท กลุ่มคนหรือชนชั้นต่างๆ เหล่านี้ มีตำแหน่งหน้าที่ มีจุดมุ่งหมาย มีกิจกรรม มีวิถีชีวิต ที่เป็นของตัวเอง พวกเขาคือเจ้าที่ดินใหญ่และชาวนา นายทุนท้องถิ่น และประชาชนชั้นคนงานท้องถิ่นระดับล่าง เป็นข้าราชการ ครู นางพยาบาล พนักงานบริษัท พนักงานต้อนรับในโรงแรม เป็นคนขับรถสี่ล้อ คนงานก่อสร้าง พนักงานรับใช้ คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น. กลุ่มคนต่างๆ เหล่านี้ในด้านหนึ่งพวกเขามีประสบการณ์ในสังคมชนบท มีรากฐาน มีญาติมิตรอยู่ในสังคมชนบท เข้าร่วมกิจกรรมพิธีกรรมทางสังคมของชนบท (โดยเฉพาะผู้ที่มาจากครอบครัวชาวนาเจ้าของที่ดินรายย่อยและชาวนาไร้ที่ดิน) ในขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็มีประสบการณ์ของชีวิตเมืองทั้งในแง่การทำงานและวิถีชีวิตอื่นๆ อาจกล่าวได้ว่า ชนบทสมัยใหม่เป็นสังคมอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ทั้งสังคมชนบทแบบดั้งเดิม และไม่ใช่สังคมเมืองสมัยใหม่, แต่เป็นสังคมชนบทแบบใหม่ ที่เป็นการผสมพันธุ์ระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมือง
การทรงเจ้าที่เป็นรูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์นับถือผี
พูดในเชิงอุดมการณ์ การผสมผสานหรือผสมพันธุ์ระหว่างอุดมการณ์ของสังคมชนบทกับของสังคมเมืองสมัยใหม่ได้ปรากฏเด่นชัดมากขึ้น
ตัวอย่างของการชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ดังกล่าวก็คือ งานศึกษาของ เออร์วาย (Irvine,
1984) เกี่ยวกับการทรงเจ้าสมัยใหม่ เขาเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่าการเสื่อมลงของความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษในสังคมชนบทภาคเหนือ
เป็นสถานการณ์ที่สังคมชนบทกำลังละทิ้งอุดมการณ์แบบนับถือผีใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อมองกว้างออกไป
เขาพบว่า แม้ความเป็นสมัยใหม่ และการพัฒนา (ที่ไม่เท่าเทียมกัน) สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้อธิบายความเสื่อมลงไปของการนับถือผีบรรพบุรุษ
แต่ทว่าอุดมการณ์นับถือผีโดยรวมก็หาเสื่อมลงไปไม่ ทว่ากลับไปขยายตัวในรูปแบบอื่น
ดังเช่นการทรงเจ้า ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เขาพบว่ามีการขยายตัวอย่างมากในเชียงใหม่
(Irvine, 1984: 315)
การทรงเจ้าที่เป็นรูปแบบหนึ่งของอุดมการณ์นับถือผีนั้น ในสังคมสมัยใหม่ได้เข้าไปสัมพันธ์หรือผสมผสานกับสถานการณ์สมัยใหม่ต่างๆ เช่นสถานการณ์ทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความเชื่อหรืออุดมการณ์ของสังคมสมัยใหม่
ประการแรก ในเชิงเศรษฐกิจ การทรงเจ้ากลายเป็นพิธีกรรมที่รับใช้และแก้ไขความคับค้องใจของการพัฒนา และการทำให้ทันสมัยในทางเศรษฐกิจ คือการทรงเจ้า
สัมพันธ์ทั้งหมดกับค่านิยมที่อยู่ภายใน เพื่อการบรรลุผลสำเร็จในทางวัตถุของปัจเจกบุคคลในตำแหน่ง และความต้องการทางเศรษฐกิจซึ่งค่านิยมนี้สรรค์สร้างขึ้นมา ตัวอย่างคือเมื่อไม่พอใจกับหน้าที่การงานหรือเมื่อเกิดการว่างงาน คนๆ นั้นสามารถจะอาศัยอำนาจของผีในร่างทรง เพื่อให้เขาบรรลุผลสำเร็จ อำนาจของการเข้าทรงสามารถนำไปใช้เพื่อส่งอิทธิพลและเป็นหลักประกันเพื่อให้ผู้ที่เหนือกว่าทางสังคมหรือผู้อุปถัมภ์ของเขาโปรดปราน หรือเพื่อให้เขาได้มาซึ่งตัวเลขที่จะถูกรางวัลลอตเตอรี ผู้ที่ประสบผลสำเร็จก็จะปรึกษาร่างทรงด้วย เขาจะขอให้อำนาจของผีในร่างทรงบันดาลให้เขาได้มาซึ่งสถานภาพ หน้าที่ที่สูงขึ้น และได้มาซึ่งความร่ำรวยทางวัตถุอย่างชอบธรรม (Irvine, 1984: 315)
ทั้งการทรงเจ้าได้กลายมาเป็นอาชีพใหม่ของผู้หญิง และพวกเธอจำนวนหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง. เออร์วาย อธิบายว่า จากข้อมูลได้แสดงให้เห็นว่า คนทรงเจ้าจำนวนเล็กๆ จำนวนหนึ่งประสบความสำเร็จ บางคนสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองจากบรรดา "ลุกค้า" ที่มีทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ดังนั้น ความสำเร็จทางวัตถุได้กลายมาเป็นเกณฑ์ที่สำคัญในการประเมินคนทรงเจ้าแต่ละคน ความร่ำรวยของพวกเขาได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นรางวัลที่พวกเขาสมควรได้รับ จากการเสียสละตัวเองเป็นคนทรงเจ้า และเพื่อ "ลูกค้า" แต่ทว่าความร่ำรวยก็สามารถใช้เป็นเครื่องชี้ถึงการจัดการกับ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" เพื่อผลประโยชนทางเศรษฐกิจที่เป็นการส่วนตัวอีกด้วย
ประการที่สอง การทรงเจ้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ แง่มุมที่สองก็คือความสัมพันธ์หรือการผสมผสานระหว่าง การทรงเจ้ากับโครงสร้างและอุดมการณ์ทางการเมืองสมัยใหม่ หรือรัฐ-ชาติ คนทรงเจ้าจำนวนมากอ้างว่า "ผี" หรือ "เจ้า" ที่มาเข้าทรงพวกเขา คือวีระบุรุษในสังคมจารีต ผู้ซึ่งต่อต้านการบุกรุกของศัตรูของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พม่า
อย่างไรก็ตามท่ามกลางการทรงเจ้าสมัยใหม่ แง่มุมเกี่ยวกับความเป็นวีระบุรุษแห่งชาติของผีนักรบเหล่านี้ ได้รับการกล่าวถึงอย่างเป็นการเน้นโดยละเอียด การทรงเจ้าจำนวนมากบรรยายถึงว่า เจ้าใช้ดาบของพวกพระองค์ต่อสู้กับพม่าอย่างไรในชาติปางก่อน บางพระองค์ถูกฆ่าโดยศัตรูระหว่างการต่อสู้ภาพพจน์ของเจ้าในฐานะที่เป็นผู้ปกปักรักษาบ้านเมืองปรับได้เป็นอย่างดีกับคติปัจจุบันของการพิทักษ์รักษารัฐด้วยการป้องกันชาติ ชีวประวัติของวีระบุรุษของเขาชี้ไปที่การเสียสละตัวเองอย่างไม่เห็นแก่ตัว ในนามของการอยู่รอดของชุมชนและแสดงถึงเจ้าและการเข้าทรงพวกพระองค์กับผลประโยชน์ของรัฐ ณ เวลาที่ความก้าวราวของคอมมิวนิสต์เข้ามาจัดโครงสร้างการรับรู้ทางการเมือง และให้แรงกระตุ้นครั้งใหม่กับปฏิบัติการแบบจารีต (Irvine, 1984: 319)
การทรงเจ้าอ้างไปถึงบุคคลระดับชาติดังเช่น รัชกาลที่ 5 และ 6 และพระองค์อื่นๆ ในฐานะเป็นเจ้าผู้เข้าทรง ด้วย
ประการที่สาม การทรงเจ้ากับความเป็นพุทธศาสนิก แง่มุมที่สามคือการทรงเจ้าที่สัมพันธ์กับความเชื่อหรืออุดมการณ์ของคนสมัยใหม่ นั่นก็คือ พุทธศาสนา ในด้านหนึ่ง คนทรงเจ้าเสนอตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี โดยวิธีการดังเช่นการจัดการทอดผ้าป่า ซึ่งหมายถึงเป็นการจาริกแสวงบุญในการนำจีวรและสิ่งของทั้งหลาย ไปถวายให้แด่พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ขบวนผ้าป่าเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เป็นปรกติ แต่คนทรงเจ้าได้ใช้ขบวนทอดผ้าป่าในฐานะที่เป็นการแสดงตัวเองเป็นพุทธศาสนิกที่ดีในสายตาของฆราวาสทั่วไป
ยิ่งไปกว่านั้น คนทรงเจ้าจำนวนมากชี้ว่า "เจ้า" ที่มาเข้าทรงพวกเขานั้นคือบุคคลสำคัญในศาสนาพุทธ
- ประการแรก คนทรงเจ้าสมัยใหม่ชี้ว่า ครูผีที่ทรงอำนาจของตนคือบุคคลซึ่งเป็นที่นับถือในศาสนาพุทธ ยกตัวอย่างเช่น ผีครูของพวกเขาคือพระพุทธเจ้าเอง หรือไม่ก็คือสานุศิษย์คนสำคัญของพระองค์ เป็นพี่-น้องกับพระพุทธเจ้า หรือไม่ก็เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ เช่น พระศรีอาริยเมตไตรย์
- ประการที่สอง สิ่งที่พบเห็นเป็นปรกติธรรมดาก็คือ บรรดาคนทรงสมัยใหม่ทั้งหลายมักอ้างว่า เจ้าที่เข้าทรงพวกเขาก็คือพระโพธิสัตว์
- ประการที่สาม ก็คือแนวโน้มที่จะลงความเห็นในบรรดคนทรงเจ้าว่า เจ้าที่มาเข้าทรงพยายามแสวงหาวิถีทางที่จะ "ช่วยมนุษยชาติโดยวิธีทำบุญ " (Irvine, 1984: 319)
การที่คนทรงเจ้าทั้งหลายชี้ตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนนั้น ก็เพื่อป้องกันตนเองจากการโจมตีของคนที่นิยมความเป็นสมัยใหม่และบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า พวกเขาเป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องจิตวิญาณผีสางที่ล้าหลัง และเพื่อให้ความชอบธรรมกับการทรงเจ้าของพวกตัวเอง
ประการที่สี่ การทรงเจ้ากับสัมพันธ์ชายหญิง แง่มุมสุดท้ายของความสัมพันธ์หรือการผสมผสานระหว่างการทรงเจ้ากับโครงสร้างและอุดมการณ์แบบสมัยใหม่ก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ชาย-หญิง (gender) เนื่องจากคนทรงเจ้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ทว่าผีที่มาเข้าทรงเป็นผู้ชาย ตรงนี้จะหมายความได้ว่าคือสถานการณ์ที่ผู้หญิงรุกเข้าไปในสถานที่ของผู้ชาย ในบางกรณีการสวมบทบาทความเป็นผู้ชายของ "เจ้า" ที่ลงมาเข้าทรงของผู้หญิงคนทรงเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ม้าทรงบางคนไปไกลถึงขนาดปฏิเสธความเป็นจริงที่ว่าตัวพวกเธอเองมีประจำเดือน มีรายงานว่าม้าทรงอาวุโสจากเชียงใหม่คนหนึ่งแสดงถึง "ความเป็นชาย" ของเธอ และด้วยเหตุดังนั้นเธอจึงมีธรรมชาติที่ "บริสุทธิ์" โดยการกล่าวว่าเธอหยุดมีประจำเดือนเมื่อต้นอายุ 30 ปี. ม้าทรงจาก น่าน อ้างถึงสถานะที่ "บริสุทธิ์" ของผู้ที่ไม่ได้ถูกแปดเปื้อนด้วยเลือดของประจำเดือนของเธอ เธอบรรยายถึงว่า การไหลอย่างหนักของประจำเดือนของเธอซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เธอนั่งสมาธิหยุดลงทันใดได้อย่างไร และไม่มาอีกเลย ซึ่งเธอต้องขอบคุณต่อการแทรกแซงของ "เจ้า" ผู้ซึ่งทำให้เธอบริสุทธิ์ (Irvine, 1984: 320)
มีม้าทรงคนหนึ่งที่อ้างว่าครูผีของเธอคือ "เจ้า" โมกคลา สานุศิษย์รูปสำคัญของพระพุทธเจ้า เมื่อเธอจัดให้มีพิธีเพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงต่อ "เจ้า" โมกคลา ได้มีพระสงฆ์สามรูปมารวมในพิธีด้วย
พระทั้งสามรูปเดินจงกรมต่อหน้าศาลของครูผีซึ่งทำให้ระลึกถึงการเต้นรำประกอบพิธี พระทั้งสามแสดงการคาราวะครูผีผู้เป็นประมุขคือ "เจ้า" โมกคลา โดยการแสดงออกอย่างลึกซึ้งด้วยการคล่อมตัวลงต่อหน้าม้าทรง ปฏิบัติต่อหน้าธารกำนันด้วยภาพที่วิปลาสที่สุดในสังคมไทย ที่พระผู้เป็นนักบวชซึ่งแต่ละรูป คือสมภารของวัดหนึ่งๆ สองรูปจากทางเหนือของไทย และหนึ่งรูปจากกรุงเทพฯ กำลังก้มคาราวะจรดพื้นต่อผู้หญิงที่นั่งอยู่ (Irvine, 1984: 321)
ในเชิงอุดมการณ์ การนับถือผีของชาวบ้านในรูปของการทรงเจ้าผสมพันธุ์การทรงเจ้าเข้ากับเศรษฐกิจทุนนิยม อุดมการณ์ของรัฐสมัยใหม่คือรัฐ-ชาติ รวมทั้งผสมพันธุ์สถานะที่ด้อยกว่าของผูหญิงกับตำแหน่งแห่งที่ที่สูงกว่าของผู้ชาย การผสมพันธุ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านการนับถือผี สู่ความเป็นสมัยใหม่ทั้งในเชิงเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและในเชิงชาติ และเป็นการทำลายสถานะที่แตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงลงไป โดยสร้างสถานะใหม่ให้กับ"ผู้หญิง" ที่สวบบทบาทของ "ผู้ชาย"
โรสลีน มอร์รีส: Episteme
ของรัฐไทย และการแปลงวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีงานอื่นที่เสนอถึงการผสมผสานหรือผสมพันธุ์ระหว่างความทรงจำหรือประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของชาวบ้านกับสถานการณ์แบบสมัยใหม่
จากงานวิจัยของ โรสลีน มอร์รีส (Morris, 2000; 2002) ที่เสนอว่า episteme ของรัฐไทยสมัยใหม่ถูกสถาปนาโดยการอ้างว่า
รัฐไทยสมัยใหม่นั้นสืบเนื่องมาจากอดีต ดังนั้นเพื่อที่จะผดุงรักษาสถานะ Episteme
ดังกล่าวเอาไว้ ก็จำเป็นต้องมีการสร้างภาพแทนความจริง (representation) เพื่อชี้และตอกย้ำว่ารัฐไทยนั้นเก่าแก่
การสร้างภาพแทนความจริงดังกล่าวก็ดังเช่น การรื้อฟื้นและสร้างใหม่พีธีกรรมแบบจารีตขึ้นมา
การผลิตประวัติศาสตร์แห่งชาติ และการบูรณโบราณสถาน เป็นต้น ในกระบวนการนี้ หนึ่งในบรรดาชายขอบที่รัฐไทยเลือกใช้เป็นสถานที่ในการสร้างภาพแทนความจริงก็คือเชียงใหม่
เชียงใหม่ได้ถูกสร้างให้เป็นสถานที่ของภาพแทนความจริงก่อนสมัยใหม่ของรัฐชาติไทย
ด้วยเหตุดังนั้นจึงมีโครงการซ่อมแซมฟื้นฟูแหล่งประวัติศาสตร์ในเมืองเชียงใหม่
มีการฟื้นฟูและสร้างใหม่ทางวํฒนธรรมต่างๆ ขึ้นมา
ในขณะเดียวกันทุนนิยมสมัยใหม่ก็ได้ทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้าเพื่อที่จะเปลี่ยนให้วัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่บริโภคได้ สิ่งนี้ก็คือกระบวนการทำความคิดทางวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม ให้กลายเป็นวัตถุที่เป็นรูปธรรม " เชียงใหม่และทางภาคเหนือของไทย สร้างเป็นแหล่งก่อนสมัยใหม่สำหรับกรุงเทพฯ และสำหรับอุดมคติแบบสมัยใหม่ของกรุงเทพฯ ด้วยความเป็นของเก่าแก่ที่เผยแสดงออกมา เชียงใหม่จึงถูกอ่านในฐานะที่เป็นสถานที่ของความดั้งเดิมอย่างแท้จริง"(Morris, 2002: 69) และ"(เชียงใหม่) ได้กลายเป็นเมืองของการจัดแสดง ที่ซึ่งแหล่งโบราณสถานและศูนย์การค้าคือศาลบูชาของการบริโภคเสพติดวัตถุ (fetishes) ของสมัยใหม่ ที่มาก่อนท่ามกลางสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์โดยตัวเอง อดีตโดยเฉพาะอดีตของภาคเหนือได้กลายมาเป็นวัตถุของ ความมุ่งหมาย (Morris, 2000: 6)
พิธีกรรมสืบชะตาเมือง
การแย่งพื้นที่ระหว่างผีกับพุทธ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการสร้างเชียงใหม่ให้เป็นภาพแทนความจริงของรัฐไทยแบบจารีต
และการทำเชียงใหม่ให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม พิธีกรรมจำนวนมากได้รับการฟื้นฟูสร้างใหม่
ในด้านหนึ่งรัฐฟื้นฟู ตัวอย่างเช่น พิธีกรรมสืบชะตาเมือง พิธีกรรมนี้สร้างใหม่ให้อยู่ในฐานะพิธีกรรมแบบพุทธ
จากแง่มุมของรัฐพุทธศาสนาคือหนึ่งในบรรดาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แท้จริงแบบไทย
และด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นศาสนาของรัฐไทยด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง ก็ปรากฏการฟื้นฟูและการแพร่หลายออกไปของพิธีเข้าทรงโดยชาวบ้านเชียงใหม่ ม้าทรงต่างๆ และกลุ่มชาวบ้านเหล่านั้นต่างอ้างว่าพิธีเข้าทรงเหล่านี้ เช่น พิธีเข้าทรงที่จัดให้มีในงานบูชาเสาหลักเมือง คือพิธีที่เก่าแก่แท้จริงของเชียงใหม่ เนื่องเพราะเกิดก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนา ในทัศนะของชาวบ้านเชียงใหม่กลุ่มนี้ "ผีคือพิธีเก่าแก่ พิธีกรรมนี้เริ่มขึ้นก่อนพิธีอันนั้น (พิธีสืบชะตาเมืองแบบพุทธ - ผู้เขียน) สิ่งนี้เป็นของแท้ เป็นสิ่งที่เป็นของทางเหนือ การเข้าทรงเฟื่องฟูก็เนื่องมาจาก ปฏิบัติการของการเข้าทรงเป็นพิธีที่เก่าแก่" (Morris, 2002: 77)
ด้วยเหตุดังนั้น มีความแตกต่างขัดแย้งและการต่อสู้กันระหว่างรัฐ และชาวบ้านเชียงใหม่ในการสร้างพิธีกรรมที่เป็น "ของแท้" ภายใต้ episteme ของรัฐไทยสมัยใหม่ และสร้างเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นภาพแทนความจริงของรัฐก่อนสมัยใหม่ รัฐฟื้นฟูและสร้างใหม่พิธีสืบชะตาเมืองในฐานะที่เป็นพิธีกรรมแบบพุทธเพื่อ ที่จะเสนอถึงอดีตที่เป็น "ของแท้" ของเชียงใหม่ สิ่งนี้แตกต่างขัดแย้งกับประสบการณ์หรือความทรงจำของชาวบ้านเชียงใหม่ ซึ่งสืบเนื่องความเชื่อเรื่องผีของพวกเขา ดังนั้นการทรงเจ้าในพิธีบูชาศาลหลักเมืองเชียงใหม่ จึงได้รับการฟื้นฟูสร้างใหม่โดยประชาชนในฐานะที่เป็นพิธีที่เป็น "ของแท้" ของชียงใหม่ เพื่อที่จะสืบต่อประสบการณ์ของพวกเขา
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวบ้านเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งยืมแนวความคิดของรัฐไทย นั่นก็คือสังคมสมัยใหม่สืบเนื่องจากอดีต เพื่อที่จะผสมพันธุ์กับความทรงจำของเขาที่แตกต่างจากของรัฐ ดังนั้น รัฐไทยสมัยใหม่ที่กรุงเทพฯสร้างพิธีสืบชะตาเมืองของเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นพิธีแบบพุทธ และยืนยันว่าเป็นพิธี "แบบไทย" ที่เก่าแก่, ด้วยเหตุดังนั้น เชียงใหม่จึงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยมาแต่ดั้งเดิม
ในทางตรงกันข้าม ชาวบ้านเชียงใหม่ได้สร้างความทรงจำอันอื่นเกี่ยวกับการเข้าทรงในพิธีบูชาศาลหลักเมือง และอ้างว่านี่คือพิธีที่เก่าแก่กว่าพิธีแบบพุทธ และผสมผสานหรือผสมพันธุ์แนวความคิดที่ว่ารัฐไทยสืบเนื่องจากอดีต เข้ากับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือความทรงจำเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ นั้นก็คือการเข้าทรง การผสมพันธุ์ดังกล่าวทำให้คนเชียงใหม่เป็นผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง. อย่างไรก็ตามการสร้างความทรงจำหรือประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นสังคมที่เก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยหรือไม่ก็ตาม เป็นเงื่อนไขที่สามารถทำให้เชียงใหม่กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ให้ทั้งผู้คนเชียงใหม่เอง หรือผู้ที่มาเยือนได้เสพความเก่าแก่อันนั้น
การเมืองของสุนทรียภาพในผ้าซิ่นตีนจก
งานเรื่องต่อมาที่จะนำเสนอในที่นี้ก็คืองานของ ปราโมท ภักดีณรงค์ เรื่อง การเมืองของสุนทรียภาพในผ้าซิ่นตีนจก
กับกระบวนการรื้อฟื้นวัฒนธรรมแม่แจ่ม (ปราโมท, 2004) ปราโมทศึกษาการสร้างความหมายหรือความรู้ของการผลิตผ้าทอพื้นเมืองของคนแม่แจ่ม
จังหวัดเชียงใหม่ โดยนักวิชาการ สื่อมวลชน พ่อค้า และชาวบ้านแม่แจ่มเอง นักวิชาการ
สื่อมวลชน และพ่อค้า เล่าเรื่องผ้าทอพื้นเมืองแม่แจ่ม ที่เชื่อมสัมพันธ์กับวัฒนธรรมชุมชนและพุทธศาสนา
เส้นด้ายที่ถูกบรรจงแต้มลงผืนผ้าต้องอาศัยหยาดเหงื่อ ความพากเพียร ทั้งทางกายและทางใจของผู้สร้าง ที่ไม่เพียงจะถ่ายทอดคุณค่าทางศิลปะพื้นบ้านออกมาเท่านั้น แต่ยังแฝงถึงสาระความเชื่อเรื่องป่าหิมพานต์และสวรรค์ในพุทธศาสนาของท้องถิ่นอีกด้วย (ปราโมท, 2004: 127). และ ผ้าทอคือบทนิยามของผืนผ้าแห่งชีวิต ที่สะท้อนถึงความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมชุมชน หรือสังคมหนึ่งๆ โดยการจำลองสีสันและลวดลายลงบนผืนผ้า เพื่อถ่ายทอดสัญลักษณ์บางอย่างซึ่งแฝงเร้นอยู่ภายใน (ปราโมท, 2004: 132)
การสร้างความหมายหรือความรู้เกี่ยวกับผ้าพื้นเมืองโดยนักวิชาการและสื่อมวลชน ในด้านหนึ่งมีจุดมุ่งหมายไปที่การสร้างผ้าทอให้เป็นชิ้นงานที่เป็นอนุสรณ์ของงานศิลปะ คือกระบวนการผลิตผ้าที่มีคุณค่าในฐานะที่เป็นความหมายที่เต็มเปี่ยมสำหรับสังคมชนบท และในฐานะที่เป็นหนึ่งในบรรดารากเหง้าของสังคมไทย นี่คือคุณค่าที่เก่าแก่ของไทยแบบพุทธที่สมควรได้รับการระลึกไว้ในความทรงจำ. ด้วยความเป็นไทยอันนี้ รากฐานของอัตลักษณ์ของบรรดาชาวเมืองสมัยใหม่ได้ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์, ในอีกด้านหนึ่ง การทอผ้าพื้นเมืองมีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำให้ผ้าเหล่านั้นกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่า และเป็นพื้นที่สำหรับคนภายนอกในการที่จะขูดรีดชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ทอผ้าเหล่านั้นขึ้นมา
นอกจากนั้น การสร้างความหมายหรือความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้ผู้คนจากภายนอกมีศักยภาพที่จะควบคุมและบังคับบัญชาชีวิตของคนพื้นถิ่น และลากจูงบรรดผู้คนเหล่านั้นเข้าสู่วงจรของเศรษฐกิจทุนนิยม โดยเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นแรงงานเพื่อผลิตสินค้าทางวัฒนธรรม เพื่อขายแก่บรรดาชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมือง อย่างไรก็ตาม ปราโมทเสนอต่อไปว่า เพื่อเป็นการสนองตอบ ประชาชนท้องถิ่นได้ลุกขึ้นมาผลิตความหมายของผ้าทอมือแตกต่างไปจากบรรดาชนชั้นกลางเหล่านั้น ตามความหมายของชาวบ้าน ผ้าทอเป็นความจำเป็นของพวกเขา การทอผ้าทำให้เสียทั้งเวลา และได้รับความเหนื่อยยากลำบาก ในกระบวนการที่จะให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบที่ต้องผลิตเองและที่ต้องหาซื้อมาในภาวะที่เงินตราเป็นสิ่งหายากสำหรับชาวบ้าน นี่คือการต่อสู้ ต่อรอง และการขอมีส่วนร่วมในการสร้างความหมายหรือความรู้ของชาวบ้านท้องถิ่น เพื่อที่จะสร้างพื้นที่ของพวกเขาเองภายในปริมณฑลแห่งอำนาจ
คือในขณะที่บรรดานักวิชาการ สื่อมวลชน และพ่อค้า ผลิตและสถาปนาความหมายหรือความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าแม่แจ่ม ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถเป็นผู้กำหนดวิถีและทิศทางของชีวิตของคนท้องถิ่น งานศึกษาของปราโมทพบว่า แม้ชาวบ้านเหล่านั้นบางกลุ่มรับเอาความรู้เหล่านั้นเข้ามา ซึ่งทำให้พวกเขาต้องตกเป็นเบี้ยล่างของบรรดาชนชั้นกลางดังกล่าว อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ขัดแย้งกับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของพวกเขา ดังนั้นจึงมีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาผสมผสานวิธีการสร้างความรู้เชิงประวัติศาสตร์จากภายนอก ให้เข้ากับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของพวกเขา แล้วสร้างเป็นความหมายหรือความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าที่เป็นของพวกเขาเอง
ความรู้ดังกล่าวมีความหมายยิ่ง เนื่องเพราะมันคือความรู้ที่เขาสัมพันธ์เข้ากับชีวิต และอัตลักษณ์ที่เป็นประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง กระบวนการสร้างคุณค่าเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยประชาชนท้องถิ่นเองนี้ ไม่เพียงแต่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อสนองตอบต่อเงื่อนไขหรือบริบทจากภายนอกที่เข้ามาครอบงำ และเอาประโยชน์จากพวกเขาเท่านั้น แต่ทว่าได้ให้พื้นที่สำหรับพวกเขาในอันที่จะสร้างชีวิตที่เป็นอิสระของพวกเขาเอง ท่ามกลางบริบทของสังคมสมัยใหม่อีกด้วย
เฮนรี
ดี เดลคลอร์: การแปลความหมายการพัฒนาที่แตกต่างในหมู่ชาวบ้าน
ยังมีงานอื่นๆ อีกที่ชี้ให้เห็นถึงการสร้างความหมายหรือความรู้โดยคนชนบทภาคเหนือ
ผ่านการผสมผสานความทรงจำ หรือประสบการณ์ทางประวิศาสตร์ของพวกเขากับความคิดหรือสถานการณ์สมัยใหม่
เช่นงาน ของ เฮนรี ดี เดลคลอร์ (Delclore, 200; 2003) เดลคอร์ เสนอว่ากลุ่มชาวบ้านหรือชาวนากลุ่มต่างๆ
ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือความทรงจำที่แตกต่างกัน ได้สร้างและแปลความหมายของ
"การพัฒนา" ของรัฐที่แตกต่างกัน การพัฒนาที่ได้แทรกเข้ามาในพื้นที่ชนบทของจังหวัดน่านตั้งแต่ราวทศวรรษที่
1970-80 กล่าวคือ ในการะบวนการเข้าสู่สมัยใหม่หรือความทันสมัย รัฐได้นำเข้าความคิดและการปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาเข้าสู่พื้นที่ชนบทของจังหวัดน่าน
ในหมู่บ้านที่เดลคลอร์ศึกษา สถานการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของการแปลความ
หรือสร้างความหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่แตกต่างกันขึ้นอย่างน้อยสามกลุ่ม โดยการสร้างความหมายเกี่ยวกับการพัฒนาดังกล่าวนั้น
ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของแต่ละกลุ่ม
กลุ่มแรกคือกลุ่มชนชั้นนำ ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐที่เข้ามาขยายเศรษฐกิจแบบตลาดในพื้นที่ชนบท พวกเขาอาจเป็นพวกนายทุนเงินกู้ หรือคนกลางรับซื้อพืชผลจากชาวบ้าน กลุ่มนี้แปรความความหมายของการพัฒนาตามแบบของรัฐและทุน
กลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้นำตามประเพณี ผู้ได้ประโยชน์จากกลไกดั้งเดิม เช่น ระบบอุปถัมภ์ และระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานแบบดั้งเดิม พวกเขาสูญเสียตำแหน่งที่ได้เปรียบเนื่องจากการดำเนินโครงการการพัฒนาของรัฐ ที่กระตุ้นชาวนาจนให้เพาะปลูกพืชเชิงพาณิชย์ หรือไม่ก็ส่งเสริมพวกเขาให้เดินทางไปขายแรงงานในเมือง ในกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศ ด้วยเหตุดังนั้นชาวนาจนเหล่านี้จึงสามารถได้มาซึ่งเงินสด จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงหรือขอความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้นำเชิงประเพณีที่เป็นผู้อุปถัมภ์พวกเขาอีกต่อไป สิ่งนี้นำมาซึ่งความเสื่อมลงของความสัมพันธ์แบบผู้อุปถัมภ์และผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ผู้นำตามประเพณีได้ประโยชน์ ดังนั้นกลุ่มผู้นำเก่าซึ่งพวกเขาจำนวนหนึ่งกลายเป็นนักพัฒนาในองค์กรพัฒนาเอกชน จึงแปลความหมายของการพัฒนาที่แตกต่างจากของรัฐ พวกเขาคล้อยตามทฤษฎีวัฒนธรรมชุมชนของนักพัฒนาแห่งองค์กรพัฒนาเอกชน นั่นคือ "วัฒนธรรมชุมชนทำให้ชาวบ้านบรรลุคุณค่าแบบไทยที่เป็นเชิงบวก เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกรุณาปราณี และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งหมดก่อตัวขึ้นภายในชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเกษตรกรรมแบบเลี้ยงตัวเอง และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์" (Delclore, 2003: 66)
ทฤษฎีวัฒนธรรมชุมชนดังกล่าว
สอดคล้องกับความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มผู้นำตามประเพณี ดังเช่น "แต่ก่อนผู้คนแรกเปลี่ยนแรงงานกัน
และพวกเขาแบ่งปันอาหารซึ่งกันและกันในขณะที่พวกเขาทำงาน ... (แต่ก่อน) วิถีชีวิตนั้นเรียบง่าย
ไม่มีการต่อสู้แข่งขัน ทุกๆ ครอบครัวเหมือนกันหมด ผู้คนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงานทุกสิ่ง
... ผู้คนทำงานด้วยใจ... (และแลกเปลี่ยนแรงงานกัน) ... มันไม่เหมือนการจ้าง ...
การจ้าง เงินคือสิ่งสำคัญ คุณจะทำงานในช่วงเวลาที่แน่นอน ... แต่ทว่าการแลกเปลี่ยนแรงงานมีหัวใจเป็นสิ่งสำคัญ"
(Delclore, 2003: 68-9)
คนกลุ่มนี้มีทัศนะเชิงบวกต่อชีวิตแบบดั้งเดิม เพราะพวกเขาได้รับประโยชน์จากสถานการณ์เช่นนั้น
ในจังหวัดน่าน ผู้นำดั้งเดิมครอบงำชีวิตทางสังคมของชาวบ้าน ผ่านการรวมกันเข้าของเกียรติยศเชิงสัญลักษณ์กับอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง
ผู้นำหมู่บ้านบางคนเป็นผู้ร่ำรวยซึ่งในช่วงก่อนทศวรรษที่ 1970 นั้น หมายความว่าพวกเขาร่ำรวยมาจากไร่นาทีอุดมสมบูรณ์และวัวควายที่พวกเขาครอบครองอยู่
ในขณะที่บรรดาเพื่อนบ้านของพวกเขาต้องทำนาบนพื้นที่ในที่สูงกันดาร ซึ่งได้ผลผลิตน้อยไม่พอแก่การยังชีพ
ผู้นำดั้งเดิมมีข้าวส่วนเกิน และสามารถเข้าถึงเงินสดได้ พวกชาวนาจนจึงต้องพึ่งพาพวกเขาโดยการยืมข้าวหรือขอกู้เงิน
(Delclore, 2003: 70) ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยเป็นแรงงาน ดังนั้น สถานการณ์แบบดั้งเดิมคือสถานการณ์ที่กลุ่มผู้นำทางประเพณีเป็นผู้ได้เปรียบ
กลุ่มที่สามคือชาวบ้านที่ยากจน ผู้ซึ่งพิจารณาว่ารัฐและการพัฒนานั้นให้ประโยชน์ รัฐและทุนนิยมได้เข้ามาสนับสนุนให้พวกเขาผลิตพืชเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนให้เขาออกไปขายแรงงานภายนอก ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินสด และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำตามประเพณีอีกต่อไป คนกลุ่มนี้มีความทรงจำที่ไม่ดีกับอดีต พวกเขาพูดเกี่ยวกับสถานการณ์ในอดีตว่าเป็นความยากลำบาก และมองปัจจุบันในฐานะที่เป็น "ความรุ่งเรือง" อารมณ์ความรู้สึกทั่วไปของพวกเขาเมื่อรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตในอดีต สามารถสรุปได้โดยการสนองตอบโดยทันใดของหญิงชราคนหนึ่ง ต่อคำถามเกี่ยวกับสภาพชีวิตของผู้คน ณ หมู่บ้านของเธอในช่วงที่เธอยังอยู่ในวัยเยาว์ ว่ามัน "ตุ๊กนัก"(ทุกข์มาก) และ
เกษตรกรจำนวนมาก วาดภาพอดีตโดยทั่วไปว่า ไม่เจริญ คำว่าไม่เจริญนั้นสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคำว่า "พัฒนา" และร่วมความหมายกันกับคำว่า "ศิวิไลย์" และ"ทันสมัย" ซึ่งสนับสนุนวาทกรรมแบบไทยเกี่ยวกับ"ความก้าวหน้า" แต่ด้วยเหตุที่คำว่าพัฒนาชอบใช้อยู่ในหมู่ ข้าราชการและองค์กรพัฒนาเอกชน ชาวบ้านทั้งหมดจึงชอบมากกว่าที่จะกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของชนบทด้วยคำว่า "เจริญ" (อารยธรรม ก้าวหน้า) โดยเน้นไปที่เทคโนโลยี่
กระแสไฟฟ้า การสร้างถนน การขยายตัวและความเข้มข้นของพืชเชิงพาณิชย์ การเข้าถึงเงินสดจากกิจกรรมเชิงตลาด และการได้มาซึ่งสินค้าอุปโภคต่างๆ (Delclore, 2003: 73)
ตรงนี้ต้องเข้าใจด้วยว่า ผู้คนที่เป็นชาวนาจนในอดีตนั้น ต้องทำการผลิตในที่ชายป่าหรือเชิงเขาที่กันดาร และ "เถื่อน" คือไม่เจริญ ตามความคิดของผู้คนในอดีตนั้น บ้านเมืองคือความเจริญ ส่วนป่าเขาคือ "เถื่อน" ดังนั้นพวกชาวนาที่ยากจนจึงคุ้นเคยกับ "เถื่อน" ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก และอันตรายจากสิงสาราสัตว์ทั้งหลาย พวกเขาจึงพิจารณาตามความหมายแบบแบบดั้งเดิมว่า การที่รัฐเข้ามา"พัฒนา" ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนหนทาง และการนำไฟฟ้าเข้ามาในเขตป่าเขา ทำให้เขตป่าเขาพ้นจากความ "เถื่อน" ว่าคือการนำเอาความ เจริญ เข้ามา
กล่าวได้ว่ากลุ่มที่แตกต่างกันของคนชนบท แปลความหรือสร้างความหมายของการพัฒนาที่สอดคล้องกับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ หรือความทรงจำเกี่ยวกับอดีตของพวกเขาแต่ละกลุ่ม. อย่างไรก็ตาม เดลคอร์ ชี้ด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวมิใช่สถานการณ์ที่สถิตย์และคงที่แน่นอน "ในทางปฏิบัติ ... ความทรงจำบังเกิดขึ้นในบริบทที่เฉพาะเจาะจงและเปลี่ยนแปลงได้"
... ความทรงจำของชาวบ้านเป็นผลมาจากบริบทที่เปลี่ยนไปด้วย หลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อเดือนพฤษภาคม 1997 ผู้เขียนได้ยินว่า ชาวบ้านจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับทางเลือกของพวกเขาในการครองชีพ เกี่ยวกับสภาวะเงินเฟ้อ และการปลดออกจากงานในเมือง การผันแปรไปอย่างทันใดในโชคลาภ นำไปสู่ปรากฏการณ์ของการรื้อฟื้นความทรงจำใหม่ และผู้เขียนเริ่มได้ยินพวกเขานึกย้อนอดีตอย่างชื่นชม ดังเช่นเมื่อยามที่ป่าให้ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร เพื่อนบ้านร่วมมือกัน และ "จิตใจของคนไร้ทุกข์" (Delclore, 2003: 75)
โดยสรุปก็คือ มุมมองหรือแกนเรื่องนี้เสนอว่า สังคมชนบทภาคเหนือสมัยใหม่เกิดขึ้นจากการผสมผสานหรือการผสมพันธุ์ (hybridization) ระหว่างสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคม และอุดมการณ์สมัยใหม่เข้ากับความทรงจำของผู้แสดง (actor) ชนบทภาคเหนือ ที่นำมาซึ่งความหมายหรืออัตลักษณ์ที่สามของสังคม "ชนบทใหม่" ของเชียงใหม่
ในขณะที่มุมมองที่หนึ่งและที่สอง (๑. มุมมอง ความเป็นหนึ่งเดียวและความสืบเนื่องของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ ๒. มุมมอง ความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมชนบทภาคเหนือ) มองไปที่สังคมชนบทภาคเหนือผ่านทางแง่มุมเชิงโครงสร้างที่เป็นสากล โดยปราศจากการพิจารณาบริบทเฉพาะของสถานการณ์ต่างๆ ของชนบท และถึงแม้ว่ามุมมองหรือแกนเรื่องที่สองจะตรวจสอบบริบทที่เปลี่ยนไปของชนบท แต่ทว่าก็เป็นการมองความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์จากแง่มุมเชิงโครงสร้างที่เป็นสากล และจากจุดยืนของผู้ศึกษาวิจัย ส่วนแง่มุมที่สาม (๓. การผสมผสานหรือการผสมพันธุ์ (hybridization) สถานการณ์ชนบทกับเมืองภาคเหนือ) ศึกษาสังคมชนบทโดยการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงจากจุดยืนของผู้ที่ถูกศึกษาเอง หรือจาก ตัวแสดง ท่ามกลางบริบทของแต่ละสถานการณ์เฉพาะของสังคมชนบทภาคเหนือ ซึ่งได้รับการละเลยจากมุมมองหรือแกนเรื่องที่หนึ่งและที่สอง ดังนั้น มุมมองหรือแกนเรื่องที่สามจึงตรวจสอบการสนองตอบของตัวแสดงชนบท ผู้ซึ่งผสมผสานหรือผสมพันธุ์สถานการณ์ภายนอกที่รุกเข้ามากับความทรงจำหรือประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของพวกเขา แล้วผลิตเป็นความหมายหรืออัตลักษณ์ที่สาม (the third identities) ที่หลากหลายขึ้นมา
สรุป: ประวัติศาสตร์ของสังคมชนบทภาคเหนือ
จากมุมมองหรือแกนเรื่องเกี่ยวกับชนบทภาคเหนือทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น ได้แสดงต่อเราถึงแนวพินิจ (approach) ของการศึกษาสังคมชนบทภาคเหนือสามแนวที่สัมพันธ์กัน นั่นคือ แกนเรื่องที่หนึ่งหรือแนวพินิจแรกอยู่ในฐานะบทตั้ง (thesis) แกนเรื่องที่สองอยู่ในฐานะบทแย้ง (antithesis) และแกนเรื่องที่สามอยู่ในฐานะบทสรุป (synthesis)
- แนวพินิจที่เป็นบทตั้ง พิจารณาโครงสร้างของสังคมชนบทภาคเหนือว่าสถิตย์ไม่เปลี่ยนแปลง คือมีพลังอยู่ภายในสังคมชนบทภาคเหนือที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง และรักษาโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมและอุดมการณ์แบบของตนเอาไว้จากการบุกรุกของพลังจากภายนอก
- แนวพินิจที่เป็นบทแย้ง ชี้ถึงพลังจากภายนอกในฐานะที่เป็นปัจจัยอันนำมาซึ่งความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างของชนบท โดยความขัดแย้งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงชนบทให้เป็นไปในทิศทางของแบบแผน (model ) ภายนอก. ในขณะที่
- แนวพินิจที่สาม คือบทสรุป เสนอว่าความเปลี่ยนแปลงของชนบทภาคเหนือนั้น เกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ระหว่างปัจจัยภายนอกกับประสบการณทางประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของคนชนบทที่เป็นผู้แสดง ผลก็คือ สถานการณ์หรือแบบแผนใหม่ของชนบทใหม่ของภาคเหนือ ซึ่งไม่เหมือนกับแบบแผนทั้งภายนอกและภายในสังคมชนบทภาคเหนือเอง แต่ทว่าเป็นอัตลักษณ์หรือความหมายที่หลากหลายที่สามของ "ชนบทใหม่"
พิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง แนวพินิจทั้งสามสะท้อนการเปลี่ยนแปลงหรือประวัติศาสตร์สังคมของชนบทภาคเหนือ ด้วย สังคมชนบทภาคเหนือแต่เดิมตั้งอยู่บนพื้นฐานเชิงจารีต บนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมและอุดมการณ์ที่เป็นอิสระ เศรษฐกิจชนบทแบบดั้งเดิมตั้งอยู่บนฐานของการผลิตทางการเกษตรแบบพอยังชีพ ซึ่งการจัดองค์กรทางสังคมคือความร่วมมือกันทั้งในแง่กระบวนการผลิตและในแง่วิถีชีวิตของผู้คน การจัดองค์กรทางสังคมดังกล่าวสร้างขึ้นบนอุดมการณ์แบบนับถือผี เช่น การจัดองค์กรเหมืองฝายที่สัมพันธ์กับการนับถือผีขุนน้ำเดียวกันของประชาชนผู้ใช้น้ำในระบบชลประทานเดียวกัน สายผี (หรือระบบเครือญาติ) ก็คือการที่คนกลุ่มหนึ่งนับถือผีปูย่าหรือผีบรรพบุรุษเดียวกัน ทั้งนี้ระบบเครือญาติดังกล่าวมีขึ้นก็เพื่อการแลกเปลี่ยนแรงงานและการจัดสรรที่ดินเพื่อการเพาะปลูกร่วมกัน เป็นต้น มุมมองหรือแกนเรื่องแรกนี้ชี้ถึงโครงสร้างทางอุดมการณ์และทางเศรษฐกิจสังคมที่คงที่ สถิตย์ และเป็นอิสระของสังคมชนบทภาคเหนือแต่ดั้งเดิม
อย่างไรก็ตามแนวพินิจที่สองชี้ว่า ในอีกระดับหนึ่งของสังคมชนบทภาคเหนือ คือการที่สังคมดังกล่าวมิใช่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวและเป็นอิสระแต่เพียงด้านเดียว มีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในที่ทำให้แต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชน ต้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกันและสัมพันธ์กับโลกภายนอก เงื่อนไขดังกล่าว เป็นพื้นฐานที่กำหนดความสลับซับซ้อนและความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นในสังคมชนบท หมายความว่า แม้ว่าด้านหลักของการผลิตของสังคมชนบทจะเป็นการผลิตแบบเลี้ยงตัวเอง แต่ทว่าการผลิตดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ อีกทั้งวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตเครื่องอุปโภคต่างๆ อาจมีไม่เพียงพอ หรือขาดแคลน ด้วยเหตุดังนั้น การค้าเพื่อเสริมความไม่เพียงพอดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยปัจจัยอันนี้ที่กำหนดให้สถานะสูง-ต่ำกำเนิดขึ้นในสังคมชนบท และซ้อนทับกับการจัดองค์กรแบบรวมหมู่ภายในชุมชน เนื่องเพราะการค้าสามารถเปิดโอกาสสำหรับคนบางคนในอันที่จะสะสมความมั่งคั่งได้มากกว่าคนอื่นๆ สถานะของความร่ำรวยกับความยากจนจึงบังเกิดขึ้น และผลก็คือความสัมพันธ์ตามระบบอุปถัมภ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมและอำนาจอันอื่นซ้อนทับโครงสร้างทั้งสองดังกล่าวด้วย นั่นก็คือ โครงสร้างที่สถาปนาโดยรัฐศูนย์กลางที่ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ กษัตริย์และเจ้าที่เชียงใหม่สถาปนาอำนาจของพวกเขาในในพื้นที่ชนบท แล้วดำเนินการริบที่ดินบางส่วน เข้าควบคุมระบบเหมืองฝายที่สำคัญ บังคับขูดรีดส่วย และเกณฑ์แรงงาน จากประชาชนชนบท. รัฐสร้างความชอบธรรมและผดุงรักษาอำนาจครอบงำเหนือชาวบ้านโดยนอกจากการมีกำลัง และเครื่องไม้เครื่องมือที่เหนือกว่าชาวบ้านแล้ว รัฐยังใช้อุดมการณ์ทางพุทธศาสนาในการควบคุมจิตสำนึกของประชาชนอีกด้วย กษัตริย์ทรงได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงสะสมบุญบารมีเพื่อบรรลุมรรคผล ด้วยเหตุฉะนั้น พระองค์จึงทรงใกล้ชิดกับธรรมะมากกว่าชาวบ้านทั่วไป และทรงช่วยให้ประชาชนหลีกหนีจากบาปกรรม ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมอันเนื่องมา จากกิเลสตัณหา พระองค์จึงสมควรมีอำนาจปกครองอยู่เหนือประชาชนทั่วไป
โดยเหตุนี้ สังคมชนบทเชียงใหม่ดั้งเดิมจะประกอบไปด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และอุดมการณ์อย่างน้อยสามโครงสร้างที่ซ้อนทับกันอยู่ คือ โครงสร้างขององค์กรชุมชนที่เป็นอิสระ ลำดับชั้นภายใน และโครงสร้างทางสังคมและอำนาจที่สถาปนาโดยรัฐที่บุกรุกเข้ามา. เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ รัฐจากกรุงเทพฯ ขจัดอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์เชียงใหม่ออกไป แล้วสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้นมาแทน ด้วยเหตุนี้ เชียงใหม่จึงเริ่มต้นเข้าสู่สังคมสมัยใหม่
รัฐสมัยใหม่ที่กรุงเทพฯ ได้สร้างเงื่อนไขที่ช่วยให้ทุนนิยมขยายตัวเข้าสู่พื้นที่ชนบทอีกด้วย ผลก็คือการเพิ่มมากขึ้นของการผลิตทางการเกษตรเพื่อขาย การบุกรุกเข้ามาของรัฐสมัยใหม่และทุนนิยมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม และอุดมการณ์ของชนบทเชียงใหม่ การผลิตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนพึ่งพากันของแรงงานค่อยๆ ลดน้อย และเสื่อมลงในที่สุด การแตกตัวของชั้นชนของสังคมใหม่ถือกำเนิดขึ้น ประชาชนชนบทจึงแบ่งออกเป็นอย่างน้อยสามประเภท นั่นคือ เจ้าที่ดินรายใหญ่, ชาวนาที่เป็นเจ้าของที่ดินรายย่อย, และชาวนาไร้ที่ดิน
ส่วนในแง่ของความสัมพันธ์ทางการผลิตคือการผสมผสานกันของ การเช่าที่ดินที่ส่งผลตอบแทนเป็นผลผลิตและแรงงาน การแลกเปลี่ยนแรงงาน การเช่าที่ดินที่ส่งผลตอบแทนเป็นเงินสด และการจ้างแรงงาน. วิถีชีวิตของคนทั้งสามประเภทดังกล่าวเริ่มแยกแตกต่างออกจากกัน เจ้าที่ดินได้เปลี่ยนตัวเองกลายเป็นพ่อค้าและนายทุนท้องถิ่น พวกเขาเข้าสู่ธุรกิจโดยการให้เช่าที่ดินของพวกเขาแก่ชาวนาเจ้าของที่ดินรายย่อย และชาวนาไร้ที่ดิน ในขณะเดียวกันก็อาจเปลี่ยนตัวเองเป็นพ่อค้าคนกลาง ผู้ซึ่งรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากจากบรรดาเกษตรกร ส่งต่อไปยังนายทุนทางการเกษตรรายใหญ่ที่อยู่ในเมือง ชาวนาไร้ที่ดินเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้เช่าที่ดิน และแรงงานรับจ้างทั้งภายในชนบทและในเมือง และส่วนใหญ่ของเจ้าของที่ดินรายย่อยยังคงผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองโดยมูลฐาน
ด้วยเหตุดังนั้น ความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างชนบท สะท้อนเงื่อนไขภายในสังคมชนบทและการรุกเข้ามาของปัจจัยต่างๆ จากภายนอก ซึ่งทำให้สังคมชนบทเชียงใหม่และภาคเหนือสลับซับซ้อนและไร้เสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และอุดมการณ์ของชนบทเชียงใหม่และภาคเหนือ ในฐานะที่สถิต ในด้านหนึ่ง และเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกในอีกด้านหนึ่ง มิได้ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ของสังคมชนบทใหม่ได้อย่างกระจ่าง ดังนั้น มุมมองหรือแกนเรื่องที่สามได้เสนอการมองสังคมชนบทภาคเหนือที่ซับซ้อนและเป็นพลวัตยิ่งกว่า นั้นก็คือการพิจารณาว่า การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของหมู่บ้าน เกิดขึ้นโดยการผสมพันธุ์ระหว่างเงื่อนไขเมืองที่บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ชนบท กับ ความทรงจำหรือประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของคนชนบทภาคเหนือกลุ่มต่างๆ
ในประการแรกคือ การผสมพันธุ์ชี้โดยการผสมผสานของการผลิตและระบบการจัดการแบบเศรษฐกิจทุนนิยม กับระบบเศรษฐกิจการเกษตรของชนบท หมายความว่า ในขณะที่อุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจบริการของเมืองขยายตัวเข้าสู่ชนบท ชาวบ้านจำนวนมากจากครอบครัวระดับต่างๆ ได้ถูกชักจูงให้เข้าทำงานในโรงงาน บริษัทร้านค้าเอกชน และองค์กรในระบบราชการ ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเดียวกันอาจยังคงทำงานในไร่นาต่อไป ชาวบ้านจำนวนมากยังคงผลิตผลผลิตทางการเกษตรอยู่ แต่ทว่าการผลิตดังกล่าวที่ดำรงอยู่ได้นั้น ก็เนื่องเพราะมีรายได้นอกภาคการเกษตรของสมาชิกคนอื่นๆ ที่เข้าไปทำงานในภาคเมืองค้ำจุนช่วยเหลืออยู่
สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความสลับซับซ้อนของสังคมชนบทภาคเหนือนั่นคือ กลุ่มหรือชนชั้นทางสังคมในพื้นที่ชนบทใหม่จะประกอบไปด้วย ผู้นำเก่า เช่นพระ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น (ผู้ซึ่งอำนาจของพวกเขาค่อยๆ เจือจางลงเรื่อยๆ) ในขณะเดียวกันปรากฏกลุ่มคนใหม่ๆ เช่นคนจน (ชาวนาไร้ที่ดินที่เช่าที่ดินหรือรับจ้าง) ที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นและชาวนารายย่อย นายทุนและกรรมาชีพท้องถิ่น กลุ่มคนชั้นกลางระดับต่างๆ ที่ทำงานในภาคเอกชนและภาครัฐ คนงานก่อสร้าง พนักงานลูกจ้างระดับล่างในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และภัตตาคาร ซึ่งแต่ละกลุ่มคนต่างแยกแตกต่างจากกันเพิ่มมากขึ้น อันเป็นความหลากหลายและซับซ้อนอย่างยิ่ง
ส่วนงานของ เออ์วาย, มอร์ลีส, ปราโมท, เดลคลอร์, เราสามารถเห็นได้ถึงความพยายามในการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทเชียงใหม่ และภาคเหนือ จากการที่เพ่งจุดสนใจไปที่โครงสร้างสู่การพิจารณาไปที่ผู้แสดง (actor) การจัดการกับพลังภายนอกโดยตัวแสดงชนบทต่างๆ ไปในทิศทางที่กำหนดโดยประสบการณ์หรือความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมและความคิดของพวกเขา การสนองตอบสามารถเห็นได้จากการต่อสู้ช่วงชิงความหมายหรืออัตลักษณ์ผ่านพื้นที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่นการทรงเจ้าในกรณีของเออร์วาย และมอร์ลีส, ผ้าทอ ในกรณีของปราโมท, และ "การพัฒนา" ในกรณีของเดลคลอร์
ด้วยเหตุฉะนั้น ตราบเท่าที่ปฏิบัติการณ์ของตัวแสดง แทนที่จะเป็นโครงสร้างแบบกว้างๆ ได้รับความตระหนักสนใจ ภาพของประชาชนชนบทภาคเหนือจึงดำเนินไปด้วยความหลากหลาย สลับซับซ้อน และหลากทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ดังเช่น การปรับตัวของคนทรงท้องถิ่นกับเศรษฐกิจ การเมือง และความคิด แบบสมัยใหม่ (เออร์วาย) การสร้างความหมายหรืออัตลักษณ์ของชาวบ้านเชียงใหม่ผ่านการเข้าทรง (มอร์ลีส) การสร้างความหมายหรืออัตลักษณ์ของชาวบ้านแม่แจ่มผ่านการสร้างความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า (ปราโมท) และการสร้างความหมายเกี่ยวกับการพัฒนาของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน (เดลคลอร์) ผลก็คือ การต่อสู้ช่วงชิงความหมายหรืออัตลักษณ์ของประชาชนชนบท สามารถบรรลุได้โดยผ่านพื้นที่ทางวัฒนธรรม
กล่าวโดยรวม แกนเรื่องหรือมุมมองทั้งสามสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของสังคมชนบทภาคเหนือ การเปลี่ยนแปลงนี้ดำเนินจากสภาพเฉพาะดั้งเดิมของสังคมชนบทสู่สภาพการณ์ใหม่ อันเป็นผลมาจากการบุกรุกเข้ามาของรัฐและทุนนิยม ซึ่งนำชนบทเชียงใหม่และภาคเหนือให้ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของของรัฐสมัยใหม่และระบบทุนนิยม ซึ่งในท้ายที่สุด ประชาชนชนบทพยายามที่จะทำให้ตัวเองเป็นอิสระ หรือมีส่วนร่วม หรือตอบสนองกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงโดยการสร้างความหมายของความเป็นสมัยใหม่ที่เป็นของตัวเองขึ้นมา
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. 1985 เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต นนทบุรี: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์
- ภักดีกุล รัตนา. 2000 'ภาพลักษณ์ 'ผู้หญิงเหนือ' จากปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ถึง ต้น พุทธศตวรรษที่ 26' วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต
(ภาควิชาประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่- พรพิไล เลิศวิชา. 1991 ไขประตูดอย กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาชนบท
ปราโมท ภักดีณรงค์. 2004 'การเมืองของสุนทรียภาพในผ้าซิ่นตีนจกกับการรื้อฟื้นวัฒนธรรมแม่แจ่ม' วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาษาอังกฤษ
- Anan Ganjanapan. 1984 'Partial Commercialization of Rice Production in Northern Thailand (1900-1980).' Ph.D. dissertation, Cornell University.
- Bowie, Katherine. 1988 'Peasant Perspectives on Political Economy of the Northern Thai Kingdom of Chiang Mai in the Nineteenth Century: Implications for the Understanding of Peasant Political Expression.' Ph.D. dissertation, University of Chicago.
- Chaiyan Rajchagool. 2000 "What Happen to the Formalist / Substantivist Debate?" Warasan Asornsat Silpakorn University 22(2):
- Chayan Vaddhanaphuti. 1984 'Cultural and Ideological Reproduction in Rural Northern Thai Society.' Ph.D. dissertation, Stanford University.
- Chayan Vaddhanaphuti. 2000 ""Khon Mueang": Identity, Reproduction and Social Space of Khon Mueang." Paper presented at Conference on "Khon Mueang in the
Changing Social Context," Department of Political Sciences and Department of Sociology and Anthropology, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University.- Davis, Richard. 1974 "Tolerance and Intolerance of Ambiguity in Northern Thai Myth and Ritual." Ethnology 13(1): 1-24.
- Delcore, Henry D. 2000 'Localizing Development: Environment, Agriculture, and Memory in Northern Thailand.' Ph.D. dissertation, University of Wisconsin-Madison.
- Delcore, Henry D. 2003 "Nongovernmental Organization and the Work of Memory in Northern Thailand," American Ethnologist 30(1): 62-84.
- Embree, John E. "Thailand a Loosely Structured Social System." American Anthropologist 52: 181-93.
- Gray, Jenifer. 1990 'The Road to the City: Young Women and Transition in Northern Thailand.' Ph.D. dissertation, Macqarie University.
- Hank, Lucien M. 1972 Rice and Man. Chicago: Aldine
- Hirsch, Philip. 1990 Development Dilemmas in Rural Thailand. Singapore: Oxford University Press.
- Irvine, Walter. 1984 "Decline of Village Spirit Cults and Growth of Urban Spirit Mediumship: The Persistence of Beliefs, the Position of Women and Modernization," Mankind 14(4): 315-323.
- Moerman, Michael. 1968 Agricultural Change and Peasant Choice in a Thai Village. Berkeley and Los Angeles: University of California Press.
- Morris, Rosalind C. 2000 In the Place of Origins: Modernity and Its Mediums in Northern Thailand. Durham and London: Duke University Press.
- Morris, Rosalind C. 2002 "Crises of the Modern in Northern Thailand: Ritual, Tradition, and the New Value of Pastness," in Shegeharu Tanabe and Charles F.Keyes (eds.) Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos, (pp. 68-94), London: Routledge Curzon.
- Potter, Jack M. 1976 Thai Peasant Social Structure. Chicago: The University of Chicago Press
- Preecha Kuwinpant. 1980 Maketing in North-central Thailand: A Study of Socioeconomic Organization in a Thai Market Town. Bangkok: Social Research Institute, Chulalongorn University.
- Ritchie, Mark Andrew. 1996 'From Peasant Farmers to Construction Workers: The Breaking Down of the Boundaries Between Agrarian and Urban Life in Northern Thailand,1974-1992.' Ph.D. dissertation, University of California at Berkeley.
- Turton, Andrew. 1976 "Northern Thai Peasant Society: Twentieth-Century Transformation in Political and Jural Structure." The Journal of Peasant Studies 3(3): 267-298.
คลิกกลับไปทบทวนบทความเรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๑
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com