ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




30-04-2551 (1548)

อุดมศึกษาอินเดีย : ผลผลิตและผลกระทบต่อสังคมอินเดีย
ธรรมนูญอุดมศึกษาอินเดียหลังอาณานิคม

ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ และสมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีสถานะเป็นสถาบันอันสูงส่งในสังคมอินเดีย
ชาวอินเดียทั่วไปมีความสำนึกถึงสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็น "เทวาลัยแห่งการเรียนรู้" (Temple of Learning)
และเชื่อว่าเทวาลัยแห่งการเรียนรู้จะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะนำพาอินเดียไปสู่เป้าหมายที่ดีงามได้
ในสถานะหนึ่ง สถาบันอุดมศึกษาเป็นฝ่ายให้ เป็นฝ่ายนำ และเป็นฝ่ายกระทำต่อสังคม, แต่ในขณะเดียวกัน
สถาบันอุดมศึกษาก็ตั้งอยู่ในสถานะที่เป็นฝ่ายรับ เป็นฝ่ายตาม และเป็นฝ่ายถูกกระทำจากสังคม ไปพร้อม ๆ กัน
หากมองไปที่สถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย จึงควรมองจากทั้งสองสถานะไปพร้อมๆ กัน

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทที่ ๔ : อุดมศึกษาอินเดีย : ผลผลิตและผลกระทบ
จากโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี เรื่อง ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา ๕ ภูมิภาค
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๔๘
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อุดมศึกษาอินเดีย : ผลผลิตและผลกระทบต่อสังคมอินเดีย
ธรรมนูญอุดมศึกษาอินเดียหลังอาณานิคม

ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ และสมปอง เพ็งจันทร์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"ถ้าต้องการผลผลิตภายในหนึ่งปี ให้ปลูกพืชล้มลุก
ถ้าต้องการผลผลิตภายในสิบปี ให้ปลูกไม้ยืนต้น
แต่ถ้าต้องการผลผลิตในระยะเวลาร้อยปี ให้จัดการศึกษา"

นักการศึกษาอินเดีย มักจะยกเอาสุภาษิตบทนี้ขึ้นมากล่าวอ้างเสมอ เมื่อต้องการให้สังคมมองเห็นความสำคัญของการศึกษา และพร้อม ๆ กันนั้น เมื่อสังคมได้ฟังสุภาษิตนี้แล้วก็ย่อมจะเกิดความหวังเสมอว่า สถาบันการศึกษาจะส่งมอบผลผลิตให้กับสังคมเมื่อถึงเวลาอันควร การศึกษาทุกระดับย่อมมีความสำคัญเสมอ แต่อุดมศึกษามีความสำคัญเป็นพิเศษในแง่ของผลผลิต เพราะผลผลิตของอุดมศึกษาย่อมมีผลกระทบต่อสังคมโดยตรงทั้งทางบวกและทางลบ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรลืมว่า สถาบันอุดมศึกษา ไม่ได้ดำรงอยู่อิสระและเป็นเอกเทศจากสังคม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมอยู่ตลอดเวลา

ความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีสถานะเป็นสถาบันอันสูงส่งในสังคมอินเดีย ชาวอินเดียทั่วไปมีความสำนึกถึงสถาบันอุดมศึกษาว่าเป็น "เทวาลัยแห่งการเรียนรู้" (Temple of Learning) และเชื่อว่าเทวาลัยแห่งการเรียนรู้จะมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะนำพาอินเดียไปสู่เป้าหมายที่ดีงามได้. ในสถานะหนึ่ง สถาบันอุดมศึกษาเป็นฝ่ายให้ เป็นฝ่ายนำ และเป็นฝ่ายกระทำต่อสังคม, แต่ในขณะเดียวกัน สถาบันอุดมศึกษาก็ตั้งอยู่ในสถานะที่เป็นฝ่ายรับ เป็นฝ่ายตาม และเป็นฝ่ายถูกกระทำจากสังคม ไปพร้อม ๆ กัน. หากมองไปที่สถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย จึงควรมองจากทั้งสองสถานะไปพร้อม ๆ กัน

๑. ความต้องการและความคาดหวังของสังคมต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสังคมอินเดีย

ในสังคมที่มีรากฐานวัฒนธรรมอันยาวนานเช่นอินเดีย ทำให้ความเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นไปภายใต้ความโหยหาอดีตที่รุ่งเรือง และด้วยความสำนึกทางวัฒนธรรมที่เชื่อมั่นในพลังแห่งความรู้ที่เชื่อว่า ปัญหาทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากความไม่รู้. ความรู้ คือพลังที่จะกำจัดปัญหาทั้งหมดทั้งมวล ความเชื่อเช่นนี้ถูกปลูกฝังไว้ในกระแสความคิด ความเชื่อของชาวอินเดียมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ยุคพระเวท ยุคพุทธศาสนา ยุดฮินดู และยังดำรงอยู่ในกระแสความคิดของอินเดียปัจจุบัน ความเชื่อที่ว่าความรู้จะแก้ปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นได้ และความรู้นั้นจะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยการศึกษาชั้นสูงในสถาบันอุดมศึกษา

ทันทีที่ได้รับอิสรภาพ และมีการแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเป็นกรรมการทำงานกำหนดทิศทางของสถาบันอุดมศึกษา คณะกรรมการทุกชุดต่างพยายามประมวลเอาปัญหาของอินเดียทั้งหมดมาเป็นตัวตั้ง เพื่อกำหนดทิศทางและภารกิจของการศึกษา. ปัญหาหลักและเป็นปัญหาวิกฤตของสังคมอินเดียในขณะนั้น ถ้าจะประมวลแล้ว มีอยู่ 3 ปัญหาหลัก คือ

อย่างแรก ปัญหาความขัดแย้งกันภายในชาติ
ปัญหาจากการขาดความเป็นเอกภาพเกิดขึ้นและดำรงอยู่บนแผ่นดินอินเดียมา ยาวนานนับหลายร้อยปี ประชาชนอินเดียรวมตัวกันเป็นชุมชนด้วยการสร้างความแปลกแยกและเกลียดชังต่อชุมชนอื่น. การเข้ามาของผู้ปกครองต่างศาสนา ทำให้ชาวอินเดียถือเอาเรื่องศาสนามาเป็นเครื่องกำหนดแบ่งกลุ่ม จึงทำให้ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาต่างกัน มีความเกลียดชังต่อกันจนกลายเป็นความแตกแยก

เมื่อผู้ปกครองอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย ได้ใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง ยิ่งทำให้ชาวอินเดียซึ่งแม้จะนับถือพระเจ้าองค์เดียวกันก็ยังหวาดระแวงต่อกันและกัน ต่างกลุ่มต่างอยู่ โดยขาดความเมตตาอาทรต่อกันและกัน จนในที่สุดเมื่อได้รับอิสระภาพจากอังกฤษ ผลแห่งความแตกแยกก็ปรากฏออกมาเป็นว่า อินเดียถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ คืออินเดียที่เป็นฮินดูสถาน และอินเดียที่เป็นปากีสถาน. การเกิดขึ้นของปากีสถาน เป็นเหมือนหนามแหลมที่คอยทิ่มแทงเพื่อย้ำเตือนความเจ็บปวดจาก ความแตกแยกของประชาชนที่เคยอยู่ร่วมกันภายใต้ชื่อว่า "อินเดีย"

ความรู้สึกหวาดกลัวต่อความแตกแยกที่ยังคุกรุ่นอยู่ในอินเดียที่ยังเหลืออยู่เป็นฮินดูสถาน ทำให้ผู้นำประเทศต่างตระหนักถึงปัญหาความแตกแยกร้าวฉานในจิตใจของชาวอินเดีย ที่เป็นปัญหาวิกฤตที่สุดที่จะต้องรีบเยียวยารักษาโดยเร็ว และปัญหาได้ถูกกำหนดให้เป็นภาระของสถาบันการศึกษาที่จะต้องลบรอยแตกแยกออกไปให้สิ้น. ความต้องการเอกภาพ หลังจากได้เอกราชมาแล้ว นับเป็นความต้องการร่วมกันของประชาชนชาวอินเดียทั้งชาติ ที่ได้รู้แล้วว่า "เอกภาพ" มีความจำเป็นและสำคัญไม่น้อยไปกว่าเอกราชที่พวกเขาต่อสู้เรียกร้องต้องการ การได้เอกราชมาแต่ต้องแลกกับความเป็นเอกภาพแห่งอินเดีย เป็นบทเรียนที่ทำให้ชาวอินเดียกระหายเอกภาพแห่งอินเดียเป็นที่สุด และเขาคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยจะช่วยสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวอินเดียได้

อย่างที่สอง ปัญหาความยากจน
ภาพของความยากจน ถูกประทับไว้ในสำนึกของชาวอินเดียและชาวโลกที่มองมาที่อินเดีย จนกลายเป็นปกติสามัญที่เมื่อนึกถึงอินเดียเท่ากับนึกเห็นความยากจน และเมื่อเอ่ยถึงความยากจน ต่างก็นึกเห็นภาพของอินเดีย. ความยากจนเป็นภาพของสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมา เมื่อพ่อค้าต่างแดนเข้ามาสู่อินเดีย แล้วนำเอาแนวคิดเรื่องความร่ำรวยและยากจนเข้ามาเผยแพร่ในสังคมอินเดีย

ในสังคมอินเดียเดิมก่อนที่ระบบคิดแบบพ่อค้าจะเข้ามาครอบงำ การถือครองทรัพย์สินในอินเดียเป็นไปตามกรอบของระบบวรรณะที่แบ่งภาระทางสังคมกัน นักบวช นักวิชาการครอบครองคัมภีร์ตำรับตำรา, ขณะที่พระราชามหากษัตริย์ครอบครองแผ่นดิน (คำว่ากษัตริย์แปลว่าผู้รักษาเขตนา คือ แผ่นดิน), แพศย์ พ่อค้าวาณิช ครอบครองกองคาราวาน, ศูทร ครอบครองอุปกรณ์การเกษตรและอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ, ขณะที่คนนอกจากวรรณะนี้ไป ก็มีหน้าที่รับภาระงานทางสังคมอื่น ๆ ที่เป็นงานรับใช้บริการ

แม้เมื่ออินเดียขยายใหญ่ขึ้นและซับซ้อนมากขึ้นตามปริมาณของประชากร แต่เป็นความซับซ้อนที่ยังวางตั้งอยู่บนโครงสร้างการครอบครอง เพื่อทำหน้าที่ทางสังคมตามสถานะแห่งตน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีนักวิชาการรวยหรือนักวิชาการจน เพราะความเป็นนักวิชาการไม่ได้ถูกกำหนดด้วยทรัพย์สินคือเงินทอง แต่ถูกกำหนดด้วยความรู้อันเป็นคุณสมบัติของนักวิชาการ นักปกครองก็ไม่มีนักปกครองรวยหรือนักปกครองจน เพราะนักปกครองถูกกำหนดด้วยความกล้าหาญ และคุณธรรมของนักปกครอง แม้แต่พ่อค้าวาณิช ก็ไม่มีพ่อค้าวาณิชที่รวยหรือจน คำว่า "เศรษฐี" ที่มีใช้กันในสังคม ไม่ได้หมายถึงการครอบครองทรัพย์สิน หากแต่หมายถึงความสามารถในการแบ่งปันให้ผู้อื่น ใครสามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นได้มาก ผู้นั้นก็เป็นเศรษฐี

ความเป็นเศรษฐีที่สังคมไทยนำมาใช้ในปัจจุบันนี้ มีความหมายแตกต่างและตรงกันข้ามกับความเป็นเศรษฐียุคโบราณของอินเดีย เพราะเศรษฐีไทยในยุคปัจจุบันไม่มีความหมายแห่งความเป็นเศรษฐีของอินเดียในยุคโบราณอยู่เลย. ความแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างไทยและอินเดียคือ คนยากจนที่ถูกจัดเป็นขอทาน ชาวไทยหรือชาวโลกทั่ว ๆ ไปมองขอทานเป็นสัญลักษณ์ของความยากจน หากแต่ชาวอินเดียมองขอทานในแง่ของความเป็นเศรษฐี นั่นคือ หากที่ใดมีขอทานมากก็แสดงว่ามีเศรษฐีมาก เพราะขอทานจะมีอยู่ได้ก็ด้วยการมีผู้ให้ ผู้แบ่งปัน การมีขอทานอยู่มาก ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า มีผู้ให้ผู้แบ่งปันอยู่มาก แม้ในปัจจุบันนี้ที่มีขอทานอยู่มากนั้น ก็เป็นความภูมิใจของชาวอินเดียที่ยังแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า ในสังคมอินเดียยังมีการแบ่งปันกันอยู่

ความร่ำรวย ยากจน มาเกิดขึ้นในจิตสำนึกของชาวอินเดีย เมื่อพ่อค้าวาณิชต่างแดนมาทำให้ชาวอินเดียรู้สึกว่า พวกเขายากจน เพราะพวกเขาไม่มีทรัพย์สิน หรือมีทรัพย์สินน้อยกว่าคนอื่น และทรัพย์สินเหล่านั้นจะแสวงหามาครอบครองได้ด้วยการทำงานตามระบบการจ้างแรงงานที่พ่อค้ากำหนด นั่นคือการเพาะปลูกของเกษตรกร ได้กลายมาเป็นการปลูกเพื่อขายให้พ่อค้า เมื่อพ่อค้าจ่ายเงินให้ เกษตรกรก็เอาเงินนั้นไปซื้อหรือไปเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ. เงินได้กลายมาเป็นเทพเจ้าที่จะเนรมิตรอะไรก็ได้ให้แก่ผู้ครอบครองเงิน และด้วยสำนึกของการทำงานเพื่อแสวงหาเงิน แทนที่จะทำงานตามภาระหน้าที่ทางสังคม ความยากจนก็ปรากฎขึ้นในจิตใจของชาวอินเดีย และได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ของสังคมอินเดียในเวลาต่อมา และตราตรึงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพแล้วนั้น ความสำนึกในความยากจนถูกอัดแน่นอยู่ในจิตสำนึก ภาพความขาดแคลนที่พวกเขาประสบเมื่อมีชีวิตอยู่ในระบบอาณานิคมในกระบวนการเรียกร้องต่อสู้กับผู้ปกครองอังกฤษ แกนนำในการต่อสู้ก็ได้อ้างเหตุผลในการเรียกร้องต่อสู้ว่า เพื่อให้ได้เอกราชที่จะทำให้ชาวอินเดียจะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ปกครองต่างชาติ การเอารัดเอาเปรียบนั้นทำให้ทรัพย์สินของชาวอินเดียถูกปล้นเอาไปเป็นทรัพย์สินของผู้ปกครอง ขณะที่ชาวอังกฤษร่ำรวย แต่ชาวอินเดียยากจน นี่เป็นเพราะชาวอังกฤษเข้ามาปล้นเอาความร่ำรวยของชาวอินเดียไป ด้วยเหตุนี้ชาวอินเดียจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเอกราชเพื่อที่ว่า ความร่ำรวย มั่งคั่งจะได้มีอยู่ในอินเดีย

ข้ออ้างในการเรียกร้องอิสรภาพนี้ได้กลายมาเป็นอารมณ์ความรู้สึกของชาวอินเดียว่า เมื่อเขาได้รับอิสรภาพแล้วพวกเขาจะหายจน. ปัญหาความยากจนจึงถูกยกขึ้นมาเป็นปัญหาหลักอีกปัญหาหนึ่งที่คุกคามสังคมอินเดียอยู่ในขณะนั้น และความยากจนนี้จะสามารถขจัดให้หมดไปได้ก็ด้วยการสร้างคน สร้างรายได้ให้กับคนอินเดีย และมหาวิทยาลัยนี้คือสถาบันที่จะทำให้ทุกคนมีงานทำ และมีเงินใช้กลายเป็นคนรวยได้

อย่างที่สาม ปัญหาความตกต่ำของจิตวิญญาณอินเดีย
อินเดียเป็นชาติที่มีอดีตอันรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ การหวนระลึกถึงอดีต เป็นเหมือนน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจของชาวอินเดียให้มีพลังและความหวังอยู่ได้ แม้จะมีปัญหานานับประการเพียงใด อดีตอันยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองนั้นเกิดขึ้นและทำให้อินเดียเป็นมหาอำนาจทางด้านการค้าและวัฒนธรรมได้ เพราะภูมิปัญญาของอินเดียที่ปรากฏออกมาในรูปของศาสนา

ศาสนาอินเดีย เป็นผลผลิตของชาวอินเดียที่นานาอารยประเทศต่างยอมรับและยกย่อง ชาติอินเดียมีเกียรติภูมิสูงส่งก็เพราะศาสนา ศาสนาอินเดียแผ่ไพศาลไปทั่วภาคพื้นเอเชีย แต่มาวันนี้ศาสนาที่เคยยิ่งใหญ่ของชาวอินเดียกลับรักษาไว้ไม่ได้ อย่าว่าแต่จะให้ชาวโลกกลับมาสนใจศาสนาของอินเดียในยุคปัจจุบันเลย แม้แต่ชาวอินเดียเองก็ยังไม่รู้คุณค่าของศาสนาที่บรรพบุรุษของตนเองประกาศไว้ และด้วยความตกต่ำแห่งจิตใจของชาวอินเดียที่ห่างไกลไปจากศาสนาที่เคยเป็นเสาหลักของอินเดียนี้เอง ที่ทำให้ชาติอินเดียเสื่อมถอยในทุกด้าน เพราะฉะนั้นการจะหวนคืนสู่ความเป็นอินเดียที่ยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองได้อีก ต้องหวนคืนสู่หลักศาสนาและทำให้จิตวิญญาณของอินเดียในอดีตกลับมาสถิตในใจของชาวอินเดียในปัจจุบันนี้อีก

ความต้องการจะรื้อฟื้นจิตใจอันมีหลักศาสนาเป็นแกนกลาง เป็นความต้องการที่กลายมาเป็นความคาดหวังที่จะให้มหาวิทยาลัยอินเดียทำหน้าที่เป็นมหาวิหาร และเทวสถานดังเช่นที่เคยมีในอดีต. กระบวนการรื้อฟื้นทางจิตวิญญาณทางศาสนาของอินเดียนี้ ไม่ใช่การส่งเสริมกิจการศาสนาในรูปแบบของพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมที่ดำเนินการโดยองค์กรทางศาสนา เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะไปขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้อินเดียเป็นประเทศที่ไม่มีศาสนาประจำชาติ (Secular State) การรื้อฟื้นจิตวิญญาณของศาสนาจึงกำหนดไว้ที่การรื้อฟื้นระบบคุณค่าตามคติศาสนาขึ้นมาใหม่ โดยระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยจะต้องปลุกฟื้นจิตวิญญาณอินเดียในอดีต ด้วยการทำให้นักศึกษาตระหนักถึงคุณค่าและความหมายของธรรมะและโมกษะ

ธรรมะ อรรถะ กามะและ โมกษะ
การศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องทำให้ผู้ศึกษาตระหนักถึงเป้าหมายของการศึกษา คือ "ธรรมะ". ธรรมะ คือ ความตระหนักรู้ว่า ชีวิตมีความหมายและคุณค่าอยู่ที่การทำหน้าที่ตามหน้าที่ เพื่อก่อให้เกิดผลอันดีงามต่อสัตว์โลกและธรรมชาติทั้งมวล นอกจากนี้ การศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องทำให้ผู้ศึกษาได้หยั่งถึงความหมายแห่งชีวิตว่า มีปลายทางอยู่ที่"โมกษะ". โมกษะ คือ สภาวะที่ตัวตนของแต่ละบุคคลได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง

ระบบคุณค่าที่จะฟื้นจิตวิญญาณอินเดียขึ้นมาใหม่ คือระบบคุณค่าตามคติแห่งฮินดู ที่ทำให้ชีวิตมีเป้าหมายอยู่ที่ "ธรรมะ, อรรถะ, กามะ, และโมกษะ". ความปรารถนาและคุณค่า ที่เป็นไปตามคติแห่งฮินดู ถูกทำลายไปด้วยระบบการศึกษาแบบตะวันตก ที่ทำให้"ธรรม" และ"โมกษะ" หมดคุณค่าต่อชีวิตไป คงเหลือไว้แต่อรรถะ (ทรัพย์สินและอำนาจ) และกามะ (ความเพลิดเพลินพอใจในการเสพเสวยรูป,รส,กลิ่น, และเสียง) จิตวิญญาณแห่งอินเดียจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีกก็ด้วยการให้กุลบุตร กุลธิดาแห่งอินเดียได้รับการฝึกฝนอบรมให้เขาเหล่านั้นมีความตระหนักในหน้าที่แห่งตน ด้วยการทำหน้าที่ (ธรรมะ) เพื่อหน้าที่ และดำเนินชีวิตไปเพื่อเป้าหมายคือโมกษะ

ความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ของสังคมอินเดียคือความหวังว่า เยาวชนชาวอินเดียรุ่นใหม่ผู้ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว จะเป็นพลังให้เกิดความเป็นเอกภาพในความเป็นอินเดีย จะเป็นพลังลบความยากจนออกไปจากสังคมอินเดีย และจะเป็นพลังยกระดับจิตวิญญาณแห่งอินเดียให้สูงส่งดังเช่นในอดีตที่เคยรุ่งเรือง

๒. การตอบสนองของสถาบันอุดมศึกษา ที่มีต่อความต้องการและความคาดหวังของสังคมอินเดีย

ปัญหาหลัก 3 ประการข้างต้น ที่สังคมต้องการให้มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาแก้ เป็นภาระหน้าที่ซึ่งมหาวิทยาลัยของอินเดียทุกแห่งต่างตระหนักรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใด ๆ ขึ้นมาเพื่อศึกษาและกำหนดพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา ต่างก็หยิบยกเอาปัญหาของประเทศทั้ง 3 ประการนั้น รวมทั้งปัญหาปลีกย่อยอื่นขึ้นมาเป็นตัวตั้ง เพื่อกำหนดภารกิจของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยอินเดียได้ปรับทิศทางใหม่ทันที เมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากระบบการปกครองของอังกฤษ ความคาดหวังและความต้องการของสังคมที่มีต่อมหาวิทยาลัย เป็นความคาดหวังและความต้องการที่มาพร้อมกับเอกราชที่ได้รับมา และการตอบสนองต่อความคาดหวังและความต้องการนี้ได้แสดงออกมาอย่างทันท่วงที ภายหลังการได้รับอิสรภาพในปี ค.ศ. 1948 หนึ่งปีหลังจากได้รับอิสรภาพ รัฐบาลอินเดียได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมาธิการการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (University Education Commission) โดยมี ดร.ราธกฤษณัน นักการศึกษาคนสำคัญของอินเดียเป็นประธานคณะกรรมการ และคณะกรรมการชุดนี้ ถูกเรียกโดยชื่อว่า คณะกรรมการราธกฤษณัน

คณะกรรมการราธกฤษณันกับนัยสำคัญทางสังคม
การแต่งตั้งให้ ดร.ราธกฤษณัน เป็นประธานกรรมาธิการการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนี้ มีนัยสำคัญทางสังคมมาก เพราะขณะนั้น ดร.ราธกฤษณัน เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในฐานะนักปรัชญาคนสำคัญของอินเดีย และพร้อม ๆ กันนั้นก็ถูกมองว่า เป็นนักการศึกษาชั้นแนวหน้าของอินเดีย สถานะความเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัย และมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ทำให้ประชาชนชาวอินเดียไม่ว่าจะเป็นระดับปัญญาชนหรือชาวบ้านทั่วไป ต่างมีความเห็นตรงกันว่า ดร.ราธกฤษณัน เป็นนักปรัชญาอินเดียที่ดีที่สุดของยุคสมัย และก็เป็นนักการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล จึงไม่ลังเลที่จะมอบความไว้วางใจให้ ดร.ราธกฤษณัน เป็นประธานกรรมาธิการเพื่อยกร่างแผนที่สู่อนาคตทางการศึกษา ถ้าเป็นปัจจุบันนี้คงจะกล่าวว่า เป็นประธานร่าง Road Map ทางสังคมอินเดีย

หน้าที่ของกรรมการชุดนี้คือ ศึกษา แล้วรายงานให้รัฐบาลทราบถึงสถานภาพและบทบาทของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ โดยให้คิดคำนึงถึงความต้องการของสังคมที่มหาวิทยาลัยอินเดียจะพึงสนองตอบได้. คณะกรรมการราธกฤษณัน ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1948 และได้เสนอรายงานการศึกษาให้กับรัฐบาลในเดือนสิงหาคม ค.ศ 1949 รายงานของคณะกรรมการราธกฤษณันที่มีถึงรัฐบาลอินเดีย ได้กลายมาเป็นกรอบในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยอินเดียในช่วงแรก หลังจากได้รับเอกราชทางการปกครอง

กรอบทิศทางของมหาวิทยาลัยอินเดีย
กรอบที่กำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยอินเดีย คือ

๑. ความเป็นชาตินิยม มหาวิทยาลัยมีภารกิจที่จะต้องสร้างประชากรชาวอินเดียให้มีจิตสำนึกในความเป็นอินเดียร่วมกัน ไม่ว่ามีชาติพันธุ์ ภาษา ความเชื่อ หรือชนชั้น วรรณะใด ก็จะต้องสำนึกในความเป็นอินเดียเดียวกัน จะต้องมีความเป็นเอกภาพทางจิตสำนึก ในความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม นี่เป็นภาระในการสร้างชาติ

๒. ความรุ่งเรืองมั่งคั่งแห่งอินเดีย มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นแหล่งผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพในการผลิต และสร้างสรรผลผลิตในด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของเพื่อนร่วมชาติ และทำให้อินเดียเป็นชาติที่มีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ และสามารถต่อสู้ในสนามการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นได้ นี่เป็นภาระในการสร้างงานและสร้างรายได้

๓. การปลุกฟื้นจิตวิญญาณแห่งอินเดีย สถาบันอุดมศึกษาจะต้องทำให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ ประดุจดังเทวสถานหรือมหาวิหารในอดีต การศึกษาเชิงคุณค่า (Value Education) จะต้องงอกงามขึ้นในมหาวิทยาลัยทุก ๆ แห่งของอินเดีย และคุณค่าที่จะปลูกฝังในจิตใจของนักศึกษาคือ คุณค่าตามคติแห่งศาสนาของอินเดีย ที่จะต้องทำให้เกิดคุณค่าทั้ง 4 ด้าน คือ "ธรรมะ อรรถะ กามะ และโมกษะ" อย่างครบถ้วนและสมดุลย์ นี่เป็นภาระในการสร้างจิตวิญญาณแห่งอินเดีย

ปัญหาวิกฤตทั้ง 3 ปัญหาที่กล่าวมานี้ เป็นปัญหาที่ฝังแน่นอยู่ในจิตสำนึกของชาวอินเดีย ตั้งแต่ระดับผู้นำจนไปถึงประชาชนระดับรากหญ้า ความต้องการที่จะข้ามให้พ้นปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ทำให้สังคมอินเดียมองหาหนทางที่จะแก้ปัญหาทั้ง 3 นั้นให้ได้ และด้วยจิตสำนึกที่ฝังแน่นอยู่จากใจชาวอินเดียที่ว่า ความรู้เท่านั้นที่จะเป็นแสงสว่างนำทางออกไปจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

เมื่อคิดถึงความรู้ก็ย่อมต้องคิดถึงการศึกษา และการศึกษาที่จะสามารถก่อให้เกิดความรู้ระดับที่จะแก้ปัญหาวิกฤตของชาติได้ ก็ต้องเป็นการศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ด้วยความเชื่อมั่นในพลังแห่งความรู้ ทำให้สังคมอินเดียมีความคาดหวังว่าสถาบันอุดมศึกษาต้องเข้ามามีบทบาทเป็นแกนนำ ในการนำพาสังคมอินเดียให้ผ่านพ้นปัญหาหลักทั้ง 3 ปัญหานั้น

การศึกษากับการสร้างสำนึกชาตินิยม
ชาวอินเดียพากันเชื่อว่า ความแตกแยกในสังคมอินเดียส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากระบบการแบ่งแยกแล้วปกครองของผู้ปกครองชาวอังกฤษ อีกส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดจิตสำนึกในความเป็นอินเดียร่วมกันของประชาชน ดังนั้น เมื่อสาเหตุทางการเมืองถูกขจัดออกไปแล้ว ระบบการแบ่งแยกแล้วปกครองจึงควรจะหมดไปด้วย จะเหลืออยู่ก็เฉพาะการขาดจิตสำนึกร่วมกันของประชาชน และสาเหตุแห่งความแตกแยกนี้จะสามารถขจัดให้สิ้นไปได้ก็ด้วยการศึกษา ที่จะต้องปลูกฝังให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใดและภาษาใด ควรจะต้องมีความรู้สึกร่วมกันในความเป็นอินเดีย ความสำนึกร่วมกันในความเป็นอินเดียนี้จะต้องถูกปลูกฝังไว้ในจิตสำนึกของประชาชนอินเดียทุกคน โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนที่เข้าสู่สถาบันการศึกษา

หลักสูตรการศึกษาของอินเดียในทุกระดับ จึงแฝงไว้ด้วยความหมายที่ปลุกเร้าความสำนึกในความเป็นอินเดีย เช่น "ไม่ว่าตะวันออกหรือตะวันตก อินเดียดีที่สุด" (Whether East or West the Bharat is the Best) หรือ อินเดียของฉันยิ่งใหญ่ที่สุด (เมระ ภารัต มหัน)

ในหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาศาสนาและวัฒนธรรมอินเดีย เป็นกระบวนวิชาบังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียน นักการศึกษาเชื่อว่า สิ่งที่เป็นอินเดียไม่ว่าความเชื่อ(ศาสนา) วิถีชีวิต(วัฒนธรรม) จะต้องถูกยกย่องให้สูงส่ง เพื่อให้ชาวอินเดียทุกคนภาคภูมิใจในความเป็นอินเดียของตนเอง และด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นอินเดียนี้ จะทำให้คนอินเดียไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใด พูดภาษาใด จะมีความสำนึกในความเป็นอินเดียร่วมกัน มหาวิทยาลัยทุกแห่งของอินเดีย จึงต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดและปลูกฝังความเป็นอินเดียลงในจิตสำนึกของนักศึกษาทุกคน

การศึกษากับการขจัดความยากจน
ความยากจนที่เป็นผีร้ายคอยหลอกหลอนชาวอินเดียอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นผลมาจากระบบการเมืองการปกครอง ที่ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าเหนือหัวชาวอินเดีย ทั้ง ๆ ที่ทรัพยากรมีอุดมสมบูรณ์ แต่ชาวอินเดียกลับอดอยากขาดแคลนอาหาร ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นประเทศผลิตเสื้อผ้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศในอดีต แต่เมื่ออยู่ภายใต้ระบบการปกครองของชาวต่างชาติ ชาวอินเดียกลับไม่มีเสื้อผ้าจะห่มกายในยามหนาว ชาวอินเดียเชื่อมั่นกันว่าเมื่อขับไล่ผู้ปกครองต่างชาติออกไปได้แล้ว พวกเขาจะมีโอกาสพลิกฟื้นแผ่นดินอินเดียให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และทำให้ชาวอินเดียทุกคนไม่อดอยากปากแห้งอีกต่อไป แต่การจะทำให้มีอยู่มีกินได้นั้นต้องใช้ความรู้ ความสามารถซึ่งคนอินเดียยังขาดแคลนอยู่ เพราะฉะนั้น สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะคือมหาวิทยาลัยจะต้องสอนให้คนอินเดียมีความรู้ความสามารถ เพื่อขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป

การศึกษากับการฟื้นฟูจิตวิญญาน
ชาวอินเดียมีความเข้าใจว่า ความตกต่ำของประเทศเขานั้นสืบเนื่องมาจาก ภูมิปัญญาอันสูงส่งที่บรรพบุรุษของเขาสร้างสรรค์ไว้ในอดีตถูกทอดทิ้งละเลยโดยคนอินเดียรุ่นปัจจุบัน คัมภีร์พระเวท คัมภีร์อุปนิษัท คัมภีร์ภควัทคีตา และอีกหลาย ๆ คัมภีร์ คือหลักฐานของภูมิปัญญาอินเดียที่อย่าว่าแต่อินเดียด้วยกันเองจะยกย่องเชิดชูเลย แม้กระทั่งชาวต่างประเทศยังยกย่องชื่นชมในความลุ่มลึกของภูมิปัญญาที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์เหล่านั้น ยิ่งคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น อย่าว่าแต่ชาวอินเดียโบราณจะกราบไหว้ภาวนาเช้า-เย็นเลย ชาวเอเชียเกือบทั้งทวีปยังเคารพและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสุดชีวิตจิตใจ แต่มาวันนี้ คนอินเดียกลับหลงลืมภูมิปัญญาอันสูงส่งนั้นเสียสิ้น เพราะมัวไปหลงเชื่อคำบอกเล่าของชาวอังกฤษที่บอกว่า ความรู้ของชาวตะวันตกดีที่สุด และเพราะหลงเชื่อคำบอกเล่าของชาวต่างชาติเหล่านั้น ทำให้ชาวอินเดียสูญเสียจิตวิญญาณแห่งความเป็นอินเดียไป และเมื่อไม่มีวิญญาณแห่งอินเดียอยู่ภายในจิตใจ ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของความเป็นอินเดียก็ไม่หลงเหลืออยู่อีกเลย

ความเข้าใจดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้นำอินเดียยุคใหม่มีความมุ่งมั่นที่จะปลุกฟื้นจิตวิญญาณแห่งความเป็นอินเดียที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในครั้งอดีต ให้หวนคืนมามีชีวิตชีวาในปัจจุบันนี้อีกครั้ง แต่กระบวนการปลุกฟื้นจิตวิญญาณแห่งอินเดียนี้จะทำอย่างไร ? ครั้นจะมอบหมายภารกิจนี้ให้กับองค์กรทางศาสนา ผู้นำอินเดียก็เจ็บไม่รู้ลืมถึงบาดแผลทางศาสนาที่เกิดขึ้นในช่วงการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ เพราะความแตกต่างทางศาสนาจึงเป็นเหตุให้อินเดียต้องแตกแยกเป็น 2 ประเทศ คือ "ฮินดูสถาน"และ"ปากีสถาน" บทเรียนอันเจ็บปวดเพราะเหตุแห่งศาสนานั้น ทำให้อินเดียถึงกับประกาศว่า อินเดียเป็นประเทศที่ไม่มีศาสนาประจำชาติ (Secular State)

การไถ่ถอนศาสนาออกไปเสียจากรัฐ ทำให้ผู้นำอินเดียไม่สามารถมอบหมายภารกิจในการปลุกฟื้นจิตวิญญาณอินเดียให้กับสถาบันทางศาสนาได้ เพราะไม่ใช่องค์กรของรัฐ แต่ภารกิจในการฟื้นฟูจิตวิญญาณนี้ควรจะต้องเป็นกิจการของรัฐ ในที่สุด ภารกิจนี้ก็ตกมาเป็นของมหาวิทยาลัยที่จะต้องทำหน้าที่เป็นเทวาลัยในการเรียกจิตวิญญาณของอินเดียในอดีตคืนมา. ด้วยภารกิจหน้าที่ในการสร้างจิตวิญญาณอินเดียให้กับคนรุ่นใหม่นี้ มหาวิทยาลัยอินเดียจึงมีหน้าที่คล้าย ๆ กับวัดหรือเทวสถานในอดีต สังคมอินเดียยุคใหม่ถูกทำให้เข้าใจและเชื่อว่า มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็นมหาวิหารและเทวสถานดังที่เคยมีในอินเดียโบราณ

ภายใต้กรอบของปัญหาที่กำหนดภารกิจของมหาวิทยาลัย ให้มีหน้าที่"สร้างชาติ", "สร้างงาน", และ"สร้างจิตวิญญาณ"อินเดีย คณะกรรมการราธกฤษณัน ได้เสนอแนวปฏิบัติให้มหาวิทยาลัยอินเดียทุกแห่งยึดถือ เพื่อเป็นแนวทางของการบริหารมหาวิทยาลัย แนวปฏิบัตินั้น มีสาระสำคัญดังนี้

มหาวิทยาลัยจะต้องจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นประชาชาติ ประชาธิปไตย มีศักยภาพในการประกอบวิชาชีพ และมีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ตามคตินิยมแห่งศาสนาและวัฒนธรรมอินเดีย และเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายทางการศึกษาดังกล่าวนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องจัดการศึกษาในแนวทางต่อไปนี้

๑. ฝึกฝนอบรมนักศึกษาให้มีจิตสำนึกและท่าทีต่อชีวิตและสังคมในแนวทางที่จะทำให้เขาเป็นผู้มีความสามารถที่จะเป็นส่วนของสังคม
ที่ประสานกลมกลืนกับผู้อื่น ในวิถีแห่งประชาธิปไตย

๒. ฝึกหัดให้นักศึกษา มีทักษะและความสามารถเชี่ยวชาญในวิชาชีพ เพื่อที่เขาจะได้เป็นกำลังของการสร้างความมั่นคง
และรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอินเดีย

๓. ฝึกฝนกล่อมเกลาให้นักศึกษามีความสนใจใฝ่รู้ มีความสามารถในการหยั่งถึงความไพเราะงดงามแห่งวรรณกรรม ศิลปกรรม และความมีคุณค่าแห่งวัฒนธรรมอินเดีย อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตามคตินิยมแห่งศาสนาและลัทธิความเชื่อของอินเดีย

แผนที่ทางการศึกษาที่คณะกรรมาธิการราธกฤษณัน ร่างขึ้น เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง

- เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในชาติ มหาวิทยาลัยจะต้องมีหน้าที่สร้างสำนึกแห่งความเป็นอินเดียเดียวกัน ร่วมกันให้เกิดขึ้นในจิตสำนึกของนักศึกษา
- เพื่อแก้ปัญหาความยากจน มหาวิทยาลัยจะต้องมีหน้าทสอนวิชาการและวิชาชีพในการเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และ
- เพื่อแก้ปัญหาความตกต่ำทางจิตวิญญาณ มหาวิทยาลัยจะต้องอบรมปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยมแบบโบราณให้เกิดขึ้นในจิตใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ได้

โดยสรุปแล้ว คณะกรรมาธิการราธกฤษณันได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นเพียรพยายามเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมใน 3 ทาง คือ ๑. การสร้างชาติ
๒. การสร้างงาน และ ๓. การสร้างจิตวิญญาณอินเดีย

ธรรมนูญอุดมศึกษาอินเดียหลังอาณานิคม
ทันทีที่รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการราธกฤษณัน ได้ถูกเสนอให้รัฐบาล คณะรัฐมนตรีที่มีท่านบัณฑิตยวาหระ ลาล เนห์รู เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับเอาข้อเสนอนั้นไปเป็นนโยบายของรัฐบาลทางด้านอุดมศึกษาทันที และนโยบายทางด้านอุดมศึกษานี้ ก็ได้ถือปฏิบัติตลอดมาในช่วงยุคของรัฐบาลพรรคคองเกรส แม้ว่าต่อมาจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการหรือคณะกรรมการชุดอื่นขึ้นมาศึกษาทบทวนนโยบายทางด้านการศึกษา แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงแค่การแก้ไขปรับปรุงวิธีการในการจัดการด้านอุดมศึกษา มากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายของอุดมศึกษา

มีผู้กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการราธกฤษณัน ได้เป็นธรรมนูญของอุดมศึกษาอินเดียยุคประชาธิปไตย เหมือนกับที่คำประกาศทางการศึกษาของมาคิวเลย์ เป็นธรรมนูญของอุดมศึกษาอินเดียยุคอาณานิคม ทั้งนี้เพราะอุดมศึกษาของอินเดียยุคประชาธิปไตย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ล้วนแต่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการศึกษาเท่านั้น หาได้มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายไม่ แม้แต่กระทั่งทุกวันนี้อุดมศึกษาอินเดียก็ยังมุ่งไปสู่การสนองตอบทั้งสังคม ในแง่การสร้างชาติ สร้างงาน และสร้างจิตวิญญาณอินเดียอยู่มิเปลี่ยนแปลง

ความล้มเหลวของอุดมศึกษาอินเดีย
ในห้วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ที่สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียได้เพียรพยายามตอบสนองความต้องการของสังคม แต่ดูเหมือนกับว่า ความคาดหวังที่สูงได้สะท้อนกลับมาเป็นความผิดหวังที่สูงเช่นกัน. ความคาดหวังว่าผลผลิตจากมหาวิทยาลัย จะเป็นพลังให้เกิดความเป็นเอกภาพในความเป็นอินเดียนั้น ดูเหมือนจะห่างไกลความเป็นจริง อย่าว่าแต่มหาวิทยาลัยจะไปเป็นแรงผลักให้เกิดเอกภาพและความสามัคคีในชาติเลย แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเองยังเต็มไปด้วยความแตกแยก และแตกต่าง ตัวอย่างเช่น ความเป็นเอกภาพทางภาษาที่จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

ตัวอย่างแรก ปัญหาเกี่ยวกับภาษา
ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอินเดียที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า หลังจากได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว 20 ปี ประเทศอินเดียจะใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษากลางของประเทศแทนภาษาอังกฤษ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ภาษาฮินดีก็ไม่สามารถประกาศใช้เป็นภาษากลางของประเทศอินเดียได้ เพราะได้รับการต่อต้านจากประชาชนที่มีภาษาอื่นเป็นภาษาแม่ของตนเอง. มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศอินเดีย แทนที่จะได้ช่วยกันพลักดันให้ภาษาฮินดีเป็นภาษากลางของประเทศ กลับเป็นแกนนำในการต่อต้านภาษาฮินดีเสียเอง ด้วยการไม่ยอมรับภาษาฮินดีให้เป็นภาษากลางทางการศึกษาในมหาวิทยาลัย

ปัญหาเกี่ยวกับภาษานี้ สะท้อนให้เห็นความเป็นอินเดียในหลายแง่มุม ทั้งในมิติของอดีตและปัจจุบัน. ในมิติของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในอดีต ปัญหาเกี่ยวกับภาษาเป็นปัญหาในแนวลึกของสังคมวัฒนธรรมอินเดีย ที่ใช้เรื่องภาษาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินอินเดีย

- เมื่อพวกอารยันมีอำนาจเหนือพวกทราวิท ภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาของพวกอารยันก็เป็นภาษาที่สูงส่งและเป็นภาษาของอุดมศึกษา ความรู้ชั้นสูงจะต้องถ่ายทอดผ่านภาษาสันสกฤตเท่านั้น

- ครั้นศาสนาอิสลามเข้ามาสู่อินเดีย ภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียก็ได้เข้ามาแทนที่ภาษาสันสกฤต ภาษาอาหรับเป็นภาษาชั้นสูงของการเรียนรู้

- เมื่อมาถึงยุคอาณานิคม ภาษาอังกฤษได้เข้ามาทำหน้าที่แทนภาษาสันสกฤตและภาษาอาหรับ กล่าวคือความรู้ชั้นสูงต้องถ่ายทอดผ่านภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาท้องถิ่นของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นตระกูลภาษาใด มีความต่ำต้อยที่ไม่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการศึกษาเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาได้

ปัญหาเกี่ยวกับภาษาในสังคมอินเดีย เป็นปัญหาที่กลับมาสู่ที่เดิมอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไปร่วม 5 พันปี ข้ออ้างที่ว่า ภาษาอังกฤษเหนือกว่าภาษาอื่น ๆ ของอินเดีย ตามเหตุผลของนักการศึกษาชาวอังกฤษ เช่น มาคิวเลย์, วูด ล้วนเป็นเหตุผลเดียวกับที่พวกพราหมณ์อ้างว่าภาษาสันสกฤตเหนือกว่าภาษาถิ่นของพวกทราวิท ในยุคพระเวท

การใช้ภาษาเป็นสื่อแสดงความเป็นเอกภาพในสังคมอินเดีย ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก นิยามความหมายของเอกภาพ ตามที่ผู้นำอินเดียยุคแรกเริ่มประชาธิปไตยกำหนดไว้เห็นทีจะต้องทบทวนใหม่ เพราะแทนที่ภาษาจะนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์กันภายในชาติ กลับกลายเป็นว่า ภาษานำมาซึ่งความแตกแยกและร้าวฉานในหมู่ชาวอินเดีย ความไม่เป็นเอกภาพทางภาษานี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่สามารถจะสร้างความเป็นเอกภาพในความเป็นอินเดียตามที่คาดหวังได้

ตัวอย่างที่สอง ปัญหาการขจัดความยากจน
ความคาดหวังว่า มหาวิทยาลัยจะเป็นหัวหอกในการกำจัดความยากจนแร้นแค้นให้ลดน้อยลงไป ดูเหมือนจะเป็นความคาดหวังที่บีบคั้นผู้บริหารอุดมศึกษาของอินเดียและรัฐบาลอินเดียเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงแรกแห่งการแบกรับภารกิจนี้ สถาบันอุดมศึกษาของอินเดียได้ตอบสนองความต้องการของสังคมอินเดียช่วงทศวรรษที่ 50 - 80 ของศตวรรษที่ 20 ที่เป็นไปภายใต้นโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นงานอาชีพทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยการเกษตรและสถาบันเทคโนโลยีทางการเกษตรหลายแห่งได้เกิดขึ้น เพื่อสนองตอบสังคมเกษตรกรรม

แต่ช่วง 2 ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 เมื่ออินเดียเปิดประเทศต้อนรับทุนต่างประเทศ และทำให้อินเดียเป็นตลาดการค้าของโลก สถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย ได้ก้าวล้ำความคาดหวังเดิมไปอย่างที่ไม่เคยคาดคิดไว้ก่อน นั่นคือ สถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานภายในอินเดียเท่านั้น หากแต่ได้มุ่งผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อตอบสนองตลาดโลก ดังเช่นที่มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาอินเดีย ได้ผลิตทรัพยากรบุคคลทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก

การมุ่งตอบสนองความต้องการของสังคมในส่วนของการสร้างอาชีพนี้ เป็นภารกิจที่มีความโดดเด่นปรากฎเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดและถูกเพ่งเล็งจากสังคมมากที่สุด เพราะเป็นภารกิจที่สามารถประเมินผลได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ที่ลึกซึ้งอะไรในการประเมิน ทั้งนี้สามารถดูได้จากผู้ผ่านการศึกษามาแล้วว่ามีงานหรืออาชีพอะไร และมีความสามารถในการเลี้ยงตัวและครอบครัวได้มากน้อยเพียงไร

ความเชื่อว่าเรียนจบแล้วมีงานทำ เป็นความเชื่อตามจารีตประเพณีมาแต่โบราณกาล ทั้งนี้เพราะในสังคมฮินดูโบราณที่กำหนดขั้นตอนในการดำเนินชีวิตให้เป็นช่วง ๆ ที่เรียกว่าอาศรม ก็กำหนดให้ช่วงแรกคือ "พรหมจารีอาศรม" เป็นช่วงของการศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้รู้หน้าที่ (ธรรมะ) ในการเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน เป็นผู้นำครอบครัวด้วยการแสวงหาเครื่องอุปโภคบริโภคมาเลี้ยงดูครอบครัว จากความเชื่อนี้จึงกลายมาเป็นคตินิยมว่า การมีงานอาชีพทำเป็นการเริ่มต้น"คฤหัสถ์อาศรม" แม้เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ตัวนักศึกษาเองและครอบครัวก็มีความเข้าใจว่า ช่วงเวลาของการเป็นนักศึกษา คือช่วงเวลาของพรหมจารีอาศรม และจะล่วงพ้นอาศรมนี้ไปก็ต่อเมื่อมีงานทำ มีรายได้จากการทำงาน

ด้วยความเชื่อและความคาดหวังเช่นนี้ มหาวิทยาลัยจึงถูกบีบให้เร่งรีบสร้างบัณฑิตให้มีความสามารถที่จะออกไปหางานทำ และมีเงินเดือนตามโครงสร้างสังคมยุคใหม่ จากเงื่อนไขนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องมุ่งผลิตมนุษย์เงินเดือน (Salary-man) จนกลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีสถานภาพเพียงแค่เป็นสถานที่ถ่ายทอดและฝึกหัดช่างอาชีพเท่านั้น. ความสำเร็จของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ถูกกำหนดให้อยู่ที่การได้ทำงานแล้วมีเงินเดือน ผู้ใดสามารถหางานทำได้และมีเงินเดือน ก็เท่ากับว่าผู้นั้นจบการศึกษาแล้ว ความสำเร็จทางการศึกษาก็ถูกตีค่าเทียบเคียงจากจำนวนเงินเดือนที่สามารถหาได้ ใครได้เงินเดือนสูงก็เท่ากับว่ามีความสำเร็จสูง ในทางตรงกันข้ามหากใครไม่สามารถจะหางานทำได้ ก็เท่ากับว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในทางการศึกษา ไม่ว่าจะมีปริญญากี่ใบ ในสาขาวิชาอะไร ถ้าหากไม่สามารถหางานทำให้มีเงินเดือนได้ ก็เท่ากับเป็นผู้ล้มเหลวในทางการศึกษา นับเป็นความอัปยศอดสูทั้งแก่ตนเองและครอบครัว

กระบวนการศึกษาที่มุ่งสนองตอบการมีงานทำเพื่อให้ได้เงินเดือนนี้ ทำให้ความหมายของอุดมศึกษาอยู่ที่การแสวงหางานทำ เพื่อให้ได้เงินเดือน ไม่ได้อยู่ที่การศึกษาเพื่อเรียนรู้ ความหมายและคุณค่าของชีวิตตามอุดมธรรม - อุดมคติ - อุดมการณ์ ดังที่ควรจะเป็น. ความจริงข้อนี้ดูได้จากสภาพชีวิตของนักศึกษาอินเดีย โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสายวิชาการทั่วไป ที่นักศึกษาต่างใช้เวลาอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นเวลายาวนาน บางคนเรียนจบปริญญาหลายสาขาแล้วยังหางานทำไม่ได้ เมื่อไม่มีงานทำก็เท่ากับว่ายังไม่จบการศึกษา จึงต้องเรียนต่อไปเรื่อย ๆ จนมีคำกล่าวกันในหมู่นักศึกษาอินเดียว่า "นักศึกษาผู้ชาย มีเป้าหมายของการศึกษาอยู่ที่การได้งานทำ, นักศึกษาผู้หญิง มีเป้าหมายของการศึกษาอยู่ที่การได้แต่งงาน". ในชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัย เมื่อวันหนึ่งเพื่อนหยุดเรียนก็ไม่ต้องสงสัยอะไร เพราะมีคำตอบอยู่แล้วว่า ถ้าเป็นเพื่อนผู้ชาย แสดงว่าเขาได้งานแล้ว ถ้าเป็นผู้หญิง ก็แสดงว่าเขาได้แต่งงานสมความปรารถนาไปแล้ว

เพราะภารกิจต้องผลิตมนุษย์เงินเดือน จึงทำให้มหาวิทยาลัยต้องมองหาตลาดแรงงานว่ามีตลาดแรงงานอยู่ที่ใด แล้วมุ่งสนองตอบความต้องการของตลาดแรงงานนั้น และด้วยภารกิจนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องมุ่งหน้าเข้าหาภาคอุตสาหกรรม เพราะเป็นตลาดจ้างแรงงานที่ใหญ่ที่สุด

การตอบสนองความคาดหวังด้านอาชีพและรายได้ ดูเหมือนกับว่าจะเป็นการตอบสนองที่บรรลุผลน่าพอใจที่สุดในปัจจุบันนี้ เมื่อมองจากสายตาของสังคมอุตสาหกรรม แต่หากมองจากสังคมเกษตรกรรมที่เป็นสังคมที่กว้างใหญ่ที่สุดของอินเดีย กลับเป็นภาพที่น่าวิตก เพราะขณะที่สถาบันอุดมศึกษาได้สนองตอบความต้องการของสังคมอุตสาหกรรมและตลาดการค้า ปรากฏว่า การตอบสนองต่อสังคมเกษตรกรรมกลับตกต่ำ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การมุ่งปฏิบัติภารกิจด้วยการสร้างงานสร้างรายได้ ก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อภารกิจด้านอื่น คือ ด้านสร้างชาติและสร้างจิตวิญญาณอินเดีย. เมื่อมาถึงวันนี้ สังคมอินเดียก็มิรู้ว่าจะผิดหวังหรือสมหวังกับการทำหน้าที่สร้างงานของสถาบันอุดมศึกษาดี

ตัวอย่างที่สาม ปัญหาการสร้างจิตวิญญานอินเดีย
การตอบสนองภารกิจสุดท้ายคือ การสร้างจิตวิญญาณอินเดีย ความคาดหวังที่จะให้สถาบันอุดมศึกษาสร้างจิตวิญญาณอินเดีย ดูเหมือนว่าเมื่อมาถึงวันนี้ สังคมเองก็ดูจะลืมไปแล้วว่า เมื่อแรกเริ่มอินเดียยุคใหม่หลังจากพ้นความเป็นอาณานิคม สังคมอินเดียเคยหวังไว้ว่าอินเดียจะกลับมารุ่งเรืองด้วยความเป็นอินเดียดังเช่นอดีต มาวันนี้ สังคมก็ลืม มหาวิทยาลัยเองก็ไม่จริงจังกับภารกิจนี้มากนัก

ภารกิจข้อที่ 3 ของมหาวิทยาลัยคือ การสร้างจิตวิญาณอินเดีย เป็นภารกิจที่หนักหน่วงมากที่สุดในบรรดาภารกิจหลักทั้ง 3 ประการ ความหมายเชิงปฏิบัติของภารกิจข้อนี้ก็ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่าจะปฏิบัติอย่างไร แม้เมื่อปฏิบัติกิจบางอย่างไปแล้ว ก็ไม่รู้จะประเมินได้อย่างไรว่ามหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติภารกิจข้อนี้ไปแล้วมากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ตาม สังคมอินเดียก็คล้าย ๆ กับสังคมไทยคือ คาดหวังว่าเมื่อใครจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นบัณฑิตแล้ว เขาจะเป็นคนดีมีจิตใจเสียสละมีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม ความต้องการและความคาดหวังนี้เป็นความต้องการและความหวังในผลสำเร็จของมหาวิทยาลัย ประชาชนทั่วไปในสังคมเขาไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยจะทำอย่างไร เขารู้และเชื่อแต่เพียงว่ามหาวิทยาลัยจะทำให้ลูกหลานของพวกเขาเป็นคนดี มีคุณธรรม เขาไว้เนื้อเชื่อใจว่าบรรดาคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนพราหมณ์หรือนักบวช ที่จะสอนให้ลูกหลานเขาเป็นคนดีมีจิตวิญญาณที่สูงส่ง นี่คือ ความคาดหวังที่ฝังลึกอยู่ในใจของประชาชนอินเดียทุกหมู่เหล่า

แต่เมื่อมาถึงวันนี้ สังคมอินเดียเริ่มเกิดความรู้สึกสงสัยว่า มหาวิทยาลัยจะสามารถทำให้เยาวชนอินเดียเป็นบุคคลผู้มีจิตวิญญาณแห่งอินเดียที่สูงส่งได้จริงหรือไม่ เสียงวิพากษ์วิจารณ์บัณฑิตและมหาบัณฑิตในด้านคุณธรรมและจริยธรรมเริ่มดังขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ยิ่งเรียนสูงยิ่งห่างไกลความเป็นอินเดีย เพราะยิ่งรู้มาก ยิ่งไม่เคารพในจารีตวัฒนธรรมเดิมของอินเดีย

ความคาดหวังของสังคมอินเดียต่อการสร้างจิตวิญญาณอินเดียนี้ แม้มหาวิทยาลัยจะประสบความล้มเหลว แต่ความล้มเหลวนี้ก็เป็นนามธรรมเสียจนสังคมไม่รู้ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์มหาวิทยาลัยได้อย่างไร สังคมอินเดียเป็นเหมือนคนแก่ที่ทำได้เพียงแค่บ่นกับตัวเอง เพราะคนหนุ่ม ๆ ในสังคมไม่ได้สนใจกับภารกิจข้อนี้ของมหาวิทยาลัยสักเท่าใดนัก

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง: มหาวิทยาลัยอินเดียกับการเมือง การเงิน การศาสนาและสังคม

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 30 April 2008 : Copyleft by MNU.
ความร่ำรวย ยากจน มาเกิดขึ้นในจิตสำนึกของชาวอินเดีย เมื่อพ่อค้าวาณิชต่างแดนมาทำให้ชาวอินเดียรู้สึกว่า พวกเขายากจน เพราะพวกเขาไม่มีทรัพย์สิน หรือมีทรัพย์สินน้อยกว่าคนอื่น และทรัพย์สินเหล่านั้นจะแสวงหามาครอบครองได้ ก็ด้วยการทำงานตามระบบการจ้างแรงงานที่พ่อค้ากำหนด นั่นคือการเพาะปลูกของเกษตรกร ได้กลายมาเป็นการปลูกเพื่อขายให้พ่อค้า เมื่อพ่อค้าจ่ายเงินให้ เกษตรกรก็เอาเงินนั้นไปซื้อหรือไปเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ. เงินได้กลายเป็น เทพเจ้าที่จะเนรมิตรอะไรก็ได้ ให้แก่ผู้ครอบครองเงิน และด้วยสำนึกของการทำงานเพื่อแสวงหาเงิน แทนที่จะทำงานตามภาระหน้าที่ในทางสังคม ความยากจนจึงปรากฎขึ้นในจิตใจของชาวอินเดีย และได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ของสังคมอินเดียในเวลาต่อมา
H