ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




29-04-2551 (1547)

แนวคิดกองทุนบำนาญโลก ของคนวัยชราแบบถ้วนหน้า
แผนกองทุนบำนาญระดับโลก : หลักประกันผู้สูงอายุในยุคโลกาภิวัตน์ (๒)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

บทความเพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ
บทความขนาดยาวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อเสนอความคิดกองทุนบำนาญโลกแบบทั่วหน้า
เขียนโดย Robin Blackburn เรื่อง"A Global Pension Plan" จาก New Left Review 47,
September-October 2007; http://www.newleftreview.org/?page=article&view=2688
มีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ ประชากรโลกจะมีมากกว่า ๙ พันล้านคน ในจำนวนนี้จะมีถึงราว ๒ พันล้านคน
ที่อายุมากกว่า ๖๐ ปี คิดเป็นสัดส่วนถึง ๒๒ % ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในปัจจุบันอย่างถึงรากถึงโคน คนกลุ่มนี้กว่าครึ่งหนึ่ง หรือราว ๑.๒ พันล้านคน
จะไม่มีรายได้ที่มั่นคงเพียงพอ ไม่มีหลักประกันเพียงพอสำหรับวัยชรา ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้ง
ด้านสุขภาพ ปัญหาด้านทุพพลภาพ และรายได้... หากดูเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา มีคนสูงอายุถึง ๓๔๒ ล้านคน
ที่ไม่มีรายได้มั่นคงเพียงพอในปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ยิ่งรุนแรงขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะกับหญิงชรา

midnightuniv(at)gmail.com


บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๔๗
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แนวคิดกองทุนบำนาญโลก ของคนวัยชราแบบถ้วนหน้า
แผนกองทุนบำนาญระดับโลก : หลักประกันผู้สูงอายุในยุคโลกาภิวัตน์ (๒)
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ต่อจากตอนที่ ๑

จำนวนคนชราเพิ่มขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา
น่าเสียดายที่ความใหญ่โตของปัญหาคนชรานั่นเองที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา เงินหนึ่งดอลลาร์ต่อวันอาจดูเหมือนไม่มากนัก แต่มันจะเป็นภาระหนักหน่วงไม่น้อยต่องบประมาณของประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก. เงินบำนาญวัยชราตั้งแต่อายุ 65-70 ปีขึ้นไป ถูกนำมาใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว ในช่วงเวลาที่ประชากรในช่วงอายุนั้นยังมีค่อนข้างต่ำ นั่นคือ 5% ของประชากรทั้งหมด ไม่ใช่มากกว่า 25% ในปัจจุบันหรือจะมากกว่านี้อีกในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่า ประชาชนมักคาดหวังให้รัฐบาลจัดบริการด้านสุขภาพและการศึกษาแบบถ้วนหน้า รวมทั้งใช้เงินเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่าง ๆ มากกว่า

รายงาน Development in an Ageing World ชี้ให้เห็นว่า เหตุที่โครงการเงินบำนาญระดับชาติมีน้อย ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลประเทศยากจนมีรายจ่ายอื่น ๆ มากอยู่แล้ว ในรายงานยกตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนา 60 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่กำลังก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาระดับกลาง ต้นทุนของการจ่ายเงินบำนาญหนึ่งดอลลาร์ต่อวันในประเทศเหล่านี้ คิดเป็นแค่ 1% ของจีดีพี กระนั้นก็ตาม เงินจำนวนนี้ก็ใช่ว่าจะจัดสรรมาได้ง่าย ๆ เพราะยังมีโครงการอื่น ๆ อีกที่สำคัญและเร่งด่วน รายงานประเมินว่า ในบางประเทศ เช่น แคเมอรูน กัวเตมาลา อินเดีย เนปาล และปากีสถาน เป็นอาทิ การจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า 1 ดอลลาร์ต่อวัน อาจสูบงบประมาณไปถึง "10% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด". ในบังคลาเทศ บุรุนดี ไอวอรีโคสต์ และพม่า เงินก้อนนี้ "เทียบเท่ากับงบประมาณด้านสาธารณสุขทั้งหมด" รายงานเสริมว่า "ด้วยเหตุนี้ การหาเงินมาสนับสนุนโครงการบำนาญพื้นฐาน จึงจำเป็นต้องพิจารณาควบคู่กับกระบวนการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการทางสังคมอื่น ๆ ด้วย (รวมทั้งการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนา)" [20]

[20] Development in an Ageing World, p. xvi. "การทดลอง" ของรายงานฉบับนี้เกี่ยวกับเงินบำนาญวันละ 1 ดอลลาร์ ไม่ได้มาจากการที่ผู้เขียนสนับสนุนมาตรการนี้ในการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 คำอธิบายเป็นไปในทำนองนี้มากกว่า กล่าวคือ ความยากจนถูกนิยามที่วันละ 1 ดอลลาร์มานานแล้ว นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้เสนอให้แต่ละรัฐจ่ายบำนาญกันเอง ไม่ใช่เสนอเป็นโครงการระดับโลก

โครงการกองทุนบำนาญ ควรได้จากการเก็บภาษีเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์
ประเทศร่ำรวยนำโครงการเงินบำนาญมาใช้ในช่วงที่ความล้มเหลวของตลาดแสดงให้เห็นว่า กลไกการค้าและการคุ้มครองสังคมเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ ผู้นำภาคธุรกิจบางคนมองว่า แผนการเงินหลังเกษียณเป็นวิธีการหนึ่งที่จะยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ในขณะที่ผู้นำทางการเมืองหวังว่า การนำโครงการนี้มาใช้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความไม่สงบทางสังคม ประสบการณ์ของสงครามโลกครั้งที่สองทำให้แรงกดดันทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งแสดงให้เห็นว่า ระบบเก็บภาษีสมัยใหม่สามารถสร้างรายได้แก่รัฐจำนวนมหาศาล ดังนั้น พวกเขาจึงสนับสนุนการจัดระบบประกันสังคมขนาดใหญ่ โลกทุกวันนี้มีความปั่นป่วนความสังคมมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าอย่างถึงรากถึงโคนในละตินอเมริกา การประท้วงบริษัทน้ำมันในไนจีเรีย การเดินขบวนและหยุดงานประท้วงปีละหลายหมื่นครั้งในจีน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อปัญหาความยุติธรรมและการคุ้มครองทางสังคม ในขณะเดียวกัน สหประชาชาติเองก็เชื่อว่า การจัดสรรเงินบำนาญสามารถช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตได้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น [21]

[21] Development in an Ageing World, p. 57.

แต่แม้ในเวลาที่มีแรงกดดันทางการเมืองหรือเหตุผลที่ส่งเสริมการพัฒนาก็ตาม การมีทรัพยากรจำกัดก็ทำให้ยากที่รัฐบาลจะยอมจัดสรรเงินให้โครงการบำนาญจนเพียงพอต่อความต้องการของคนชรา เช่นเดียวกับที่รัฐสวัสดิการในสมัยก่อนต้องหารายได้จากภาคอุตสาหกรรม เงินที่จะนำมาสนับสนุนกองทุนในวันนี้ จึงควรได้จากการเก็บภาษีตามวงจรการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์

การจัดสรรเงินเพื่อกองทุนบำนาญโลก
ผู้เขียนอธิบายไปข้างต้นแล้วว่า กองทุนบำนาญโลกจำเป็นต้องใช้เงินทุนเริ่มต้นเพียงแค่ 205 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่เราต้องคำนึงด้วยว่า กองทุนจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าภายในอายุคนชั่วรุ่นเดียว หากสามารถสั่งสมกองทุนไว้ได้มากพอในตอนนี้ ในขณะที่ปัญหาคนสูงอายุยังไม่ใหญ่โตนัก ก็จะช่วยให้มีเงินทุนสำหรับจ่ายบำนาญที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 ยิ่งกว่านั้น เราควรมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างกองทุนบำนาญโลกไปพร้อม ๆ กับกระตุ้นให้รายได้เฉลี่ยทั่วโลกมีอัตราสูงขึ้น เพื่อให้คนสูงอายุมีส่วนร่วมกับความมั่งคั่งในอนาคตด้วย การจัดหาเงินทุนสำหรับกองทุนบำนาญโลก รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหาร ย่อมต้องอาศัยการลงทุนลงแรงอย่างจริงจัง กลไกทางการเงินที่นำมาใช้ควรสอดคล้องกับการทำงานของระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม เพื่อให้เกิดฐานภาษีที่กว้างและมีพลวัต

การเก็บภาษี ๓ ประเภท เพื่อกองทุนบำนาญโลก
มีการเก็บภาษีสามประเภทที่เหมาะต่อภารกิจนี้อย่างยิ่ง กล่าวคือ

1. การเก็บภาษีในอัตราต่ำมากจากธุรกรรมด้านเงินตราระหว่างประเทศ
2. การเก็บภาษีน้ำมันที่ใช้ในสายการบินระหว่างประเทศ และ
3. การเก็บภาษีอัตราต่ำจากบรรษัทที่มั่งคั่ง

การคำนวณต่อไปนี้เป็นตัวเลขหยาบ ๆ แต่ก็ใช้ยืนยันได้ว่า กองทุนบำนาญโลกสามารถจัดหาเงินทุนได้อย่างเพียงพอจากภาษีที่เสนอข้างต้น

(1). การเก็บภาษีประเภทแรกก็คือ การเก็บภาษีโทบิน (Tobin Tax) (*) จากการซื้อขายเงินตรา การเก็บภาษีชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะมาตรการหนึ่งที่จะจำกัดการเก็งกำไรจากค่าเงิน แต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นมาตรการในการหารายได้ให้แก่กองทุนบำนาญโลกได้เช่นกัน [22] เนื่องจากตั้งอัตราภาษีไว้ต่ำมากเพียง 0.1% หรือหนึ่งในพันส่วนของการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง มูลค่าของมันจึงไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถระดมเงินก้อนใหญ่ได้จากทั่วโลก มีการประเมินโดยทั่วไปว่า การเก็บภาษีโทบินจากการทำธุรกรรมด้านเงินตราในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จะมีมูลค่าระหว่าง 100-300 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ดังนั้น จึงมีเหตุผลที่เราจะประเมินว่า กองทุนจะมีรายได้จากภาษีนี้อย่างน้อย 150 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วงประมาณ ค.ศ. 2010

(*)A Tobin tax is the suggested tax on all trade of currency across borders. Named after the economist James Tobin, the tax is intended to put a penalty on short-term speculation in currencies. The original tax rate he proposed was 1%, which was subsequently lowered to between 0.1% to 0.25%.

[22] ประเด็นของภาษีโทบิน โปรดดู James Tobin, The New Economics, Princeton 1974, p. 88; Jeffrey Frankel, 'How Well Do Foreign Exchange Markets Function: Might a Tobin Tax Help?', NBER Working Paper W5422, Cambridge, ma 1996; Heikki Patom?ki, 'The Tobin Tax: How to Make It Real', Finnish Institute of International Affairs 1999; Joseph Stiglitz, Globalization and its Discontents, New York 2002.

(2). ในปัจจุบัน น้ำมันที่ใช้ในสายการบินระหว่างประเทศแทบไม่ถูกเก็บภาษีเลย และค่าน้ำมันของสายการบินเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 50 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หากขึ้นราคาน้ำมันอีกเท่าหนึ่ง อาจช่วยให้การบริโภคลดลงราวหนึ่งในห้าหรือหนึ่งในสี่ ขณะเดียวกันก็ยังเก็บภาษีได้ถึง 30 พันล้านดอลลาร์. อาจมีข้อโต้แย้งว่า เงินที่ได้จากภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อมน่าจะนำไปลงทุนในมาตรการอื่น ๆ ที่จะบรรเทาปัญหาโลกร้อนมากกว่า แต่หากนำรายได้เหล่านี้ อย่างน้อยสักครึ่งหนึ่ง ไปใช้ในโครงการที่ดีซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ก็น่าจะไม่เป็นไร รายได้เข้ากองทุนบำนาญโลกสัก 15 พันล้านดอลลาร์ต่อปีย่อมช่วยได้มาก แต่กองทุนยังต้องหารายได้จากแหล่งอื่น ๆ อีก

(3). แหล่งรายได้ประเภทที่สามคือ การเก็บภาษีอัตราต่ำจากมูลค่าหุ้นหรือการซื้อขายหุ้น เราสามารถตั้งเงื่อนไขกับบริษัททุกบริษัทที่มีการจ้างงานมากกว่า 50 ตำแหน่งขึ้นไป หรือมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ ให้จ่ายภาษี 2% ของกำไรรายปี อาจจ่ายเป็นเงินสด หรือในกรณีของบริษัทมหาชน ก็อาจออกหุ้นใหม่ตามมูลค่าให้แก่กระทรวงการคลังแทนเงินสด ส่วนบริษัทเอกชนอาจออกพันธบัตร ห้างหุ้นส่วน รวมทั้งห้างหุ้นส่วนที่มีการถือหุ้นของเอกชน อาจจ่ายเป็นสิทธิในการถือหุ้นลม การบังคับให้ภาคธุรกิจออกหุ้นบริษัทใหม่ (เพื่อจ่ายแทนเงินสด) จะช่วยกระจายมูลค่าของการถือครองหุ้นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีความไม่เท่าเทียมอย่างมากในการถือครองหุ้นและพันธบัตร คนรวยที่สุด 1% ถือครองหุ้นถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมด การเก็บภาษีแบบนี้จึงถือว่าก้าวหน้ามาก ส่วนกองทุนบำนาญต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วจะได้รับเงินชดเชยต่อผลกระทบจากการลดค่าของหลักทรัพย์ที่ถือครองไว้ [23]

[23] การเก็บภาษีหุ้นเพื่อก่อตั้งกองทุนทางสังคมมาจากแนวคิดในงานของ Rudolf Meidner หัวหน้าเศรษฐกรของสหพันธ์สหภาพแรงงานสวีเดน และผู้วางรากฐานรัฐสวัสดิการของสวีเดน

ข้อควรคำนึงในการเก็บภาษีกองทุนบำนาญ
มีลักษณะสำคัญสองประการของระบบจัดเก็บภาษีที่ควรกล่าวถึง

ประการแรก ระบบนี้ต้องใช้กับกำไรที่เกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนในโลก
ประการที่สอง บริษัทสามารถจ่ายภาษีด้วยการออกหุ้นใหม่ โดยไม่ต้องนำเงินออกมาจากกระแสเงินสดของบริษัท

กองทุนบำเหน็จบำนาญขนาดใหญ่ในภาคธุรกิจของสหรัฐฯ และอังกฤษ ต่างบ่นถึงภาระที่ต้องจ่ายเงินสดแก่บรรษัทประกันสิทธิประโยชน์บำนาญและกองทุนคุ้มครองเงินบำนาญ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันแผนการเงินบำนาญแบบ "กำหนดผลประโยชน์หลังเกษียณ" (defined benefit-บำนาญที่ให้แก่พนักงานหลังเกษียณ ซึ่งเป็นบำนาญปรกติที่เรารู้จักกันทั่วไป) ในบางกรณี บริษัทตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากจนไม่มีปัญญาจ่ายเงินให้สถาบันเหล่านี้ นี่ทำให้กฎหมายคุ้มครองการล้มละลาย "หมวด 11" กำหนดให้การออกหุ้นใหม่เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการจ่ายเงินแก่ผู้ค้ำประกัน ในสหราชอาณาจักร. สำนักงานกำกับดูแลเงินบำนาญก็กำหนดเงื่อนไขไว้คล้าย ๆ กัน โดยเปิดโอกาสให้บริษัทที่ขาดเงินสด สามารถออกหุ้นให้แก่กองทุนคุ้มครองเงินบำนาญแทน [24] พนักงานบริษัทสามารถขอรับเงินบำนาญจากกองทุนโลกได้เช่นกัน และคงตอบรับการเก็บภาษีรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้ทำให้นายจ้างเดือดร้อน. ภาษีที่เก็บจากกำไร/หุ้นควรอยู่ที่อัตราต่ำ การเก็บภาษีกำไรบริษัท 2% จะจัดเก็บเงินได้ราว 140 พันล้านดอลลาร์ต่อปี [25] การเก็บภาษีเช่นนี้หมายความว่า แม้แต่กองทุนในดินแดนปลอดภาษีก็ไม่รอดพ้น

[24] ผู้เขียนยกตัวอย่างของการออกหุ้นตามคำสั่งศาลแบบนี้ไว้ใน Age Shock, pp. 134-5, 142.
[25] การประเมินภาษีหุ้นไว้ที่ 2% ของกำไร เป็นแค่วิธีการง่าย ๆ ในการวัดผลประกอบการของบริษัท แต่อาจจำเป็นต้องใช้มาตรวัดอื่น ๆ อีก (กำไรขั้นต้น การประเมินทุน) เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนและการเลี่ยงภาษี

อากรแสตมป์: อีกวิธีการหนึ่งในการเก็บภาษี
ในกรณีที่มีปัญหาการจัดเก็บภาษีหุ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นกลไกที่ก้าวหน้าอย่างถึงรากถึงโคนมาก ก็ยังมีวิธีจัดเก็บภาษีอื่นทดแทนได้ นั่นคือ อากรแสตมป์ การเก็บภาษีวิธีนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานในอังกฤษและประเทศอื่น ๆ อีกทั้งยังประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง. ในสหราชอาณาจักร มีการจัดเก็บอากรในอัตราต่ำมากจากการซื้อขายหุ้นมากว่าสองศตวรรษแล้ว ความสำเร็จในการจัดเก็บอากรนี้ชี้ให้เห็นว่า การเก็บภาษีจำนวนเล็กน้อยจากการทำธุรกรรมมูลค่ามาก ๆ สามารถสร้างรายได้เป็นเงินก้อนใหญ่พอควรโดยมีต้นทุนต่ำ ได้รับความร่วมมือสูงและไม่มีผลข้างเคียงด้านลบใด ๆ ในปัจจุบัน อังกฤษเก็บอากรในอัตรา 0.5% ของการซื้อขายหุ้นแต่ละครั้ง (นอกเหนือจากที่ซื้อขายโดยโบรกเกอร์) และจัดเก็บเงินได้ราว 3 พันล้านปอนด์ (6 พันล้านดอลลาร์) ต่อปี ถึงแม้ตราสารอนุพันธ์ไม่ต้องจ่ายอากรก็จริง แต่การขายสินทรัพย์ของผู้ถือหุ้นที่รองรับตราสารนั้นต้องจ่ายภาษี

สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มล้อบบี้ของภาคธุรกิจ อ้างว่าการเก็บอากรดังกล่าวบั่นทอนฐานะของลอนดอนในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำของโลก แต่สภาพทางการคลังอันมั่งคั่งของลอนดอนพิสูจน์ว่าข้ออ้างนี้ไม่เป็นความจริง. กระทรวงการคลังของอังกฤษต้องพึ่งพิงอากรนี้อย่างมาก เพราะมันเป็นภาษีที่หลีกเลี่ยงยากและจัดเก็บง่ายดาย โดยบรรจุเป็นส่วนหนึ่งในระบบคอมพิวเตอร์ศูนย์กลางที่ใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์. หน่วยงานด้านการเงินของจีนก็ใช้กลไกคล้าย ๆ กัน โดยใช้ "ภาษีโทบิน" เป็นเครื่องมือชะลอการเก็งกำไร แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เก็บเงินได้ก้อนใหญ่พอดู [26]. หลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส มีการจัดเก็บอากรแบบนี้ในอัตราต่ำมากเช่นกัน โดยจัดเก็บทั้งจากพันธบัตรและหุ้น

[26] โปรดดู Geoff Dyer and Jamil Anderlini, 'Beijing Could Reap $40bn Share Tax Bonanza', Financial Times, 4 June 2007.

ในกรณีที่เก็บภาษีข้างต้นแล้วยังไม่เพียงพอ หรือมีปัญหาในการดำเนินงาน การเก็บอากรแสตมป์ระดับโลกหรือภาษีธุรกรรมทางการเงินอาจช่วยเติมช่องว่างได้ จากข้อมูลของสมาพันธ์การแลกเปลี่ยนเงินตราโลก (World Federation of Exchanges) การซื้อขายหุ้นในโลกมีมูลค่า 70 ล้านล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2006 หากเก็บอากรแสตมป์ในอัตราของอังกฤษ ก็จะมีมูลค่าอยู่ที่ 350 พันล้านดอลลาร์ (ที่น่าสนใจก็คือ เจมส์ โทบินเองก็สนับสนุนการเก็บภาษีที่เขาเรียกว่า "ภาษีการโอน" จากการซื้อขายหุ้น โดยต้องการให้ภาษีนี้เป็นไปเพื่อสร้างรายได้และชะลอการเก็งกำไรไปพร้อม ๆ กัน) [27]

[27] James Tobin, Full Employment and Growth, Cheltenham 1996, p. 254. โปรดคำนึงด้วยว่า ในปัจจุบันมีการซื้อขายหุ้นเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งประเทศเล็กและใหญ่ ซึ่งใน ค.ศ. 1974 อันเป็นปีที่โทบินเสนอภาษีนี้เป็นครั้งแรกนั้น ประเทศเหล่านี้ยังไม่มีตลาดหุ้นด้วยซ้ำ

ทบทวนกันอีกทีว่า ภาษีโทบินที่เก็บจากธุรกรรมเงินตราจะจัดสรรเงินให้กองทุนบำนาญโลกราว 150 พันล้านดอลลาร์ ภาษีน้ำมันที่เก็บจากสายการบินระหว่างประเทศจะได้เงินอีกราว 15 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ดังนั้น ในตอนเริ่มต้น จึงจำเป็นต้องหาเงินอีก 40 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งน่าจะได้มาจากการเก็บภาษีหุ้น (หรือภาษีการซื้อขายหุ้น) เพื่อให้พอกับจำนวนเงินที่ตั้งไว้ 205 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนเงินส่วนที่เหลือที่ได้จากภาษีหุ้นอีกประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีนั้น ควรเก็บสะสมไว้ในเครือข่ายกองทุนบำนาญโลกเพื่อเป็นเงินสำรองเชิงยุทธศาสตร์ และเตรียมไว้ให้พอกับอนาคตที่ผู้สูงอายุจะมีจำนวนและสัดส่วนมากขึ้น

การบริหารกองทุนบำนาญโลก และการสร้างผลกำไรเพิ่มเติม
ผู้ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี เหล่านี้ควรเป็นหน่วยงานทางการเงินของประเทศต่าง ๆ โดยมีองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IMF และ IATA (สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) คอยให้ความช่วยเหลือ รายได้ควรนำไปรวมกันไว้ที่สำนักงานใหญ่ของกองทุนบำนาญโลก [28] การรวมบัญชีทรัพย์สินขององค์กรระหว่างประเทศอาจทำให้องค์กรมียอดรวมหลักทรัพย์ที่หลากหลายก็จริง แต่องค์กรเองควรกระจายสินทรัพย์ที่ได้รับมาให้แก่เครือข่ายกองทุนบำนาญโลกเป็นระยะ ๆ ด้วย เครือข่ายตามภูมิภาคควรมีสำนักงานท้องถิ่นประมาณพันแห่ง มีหน้าที่จ่ายเงินบำนาญและรับเงินทุนมาตามลักษณะทางประชากรของแต่ละภูมิภาค เพื่อสร้างเงินทุนสำรองขึ้น เครือข่ายกองทุนบำนาญโลกควรใช้รายได้ที่เป็นเงินสดจ่ายเงินบำนาญออกไป แต่ถือหุ้นและหลักทรัพย์อื่น ๆ ไว้เพื่อก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น ในระหว่างช่วง "สั่งสมทุน" หากนำรายได้จากเงินปันผลไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็น่าจะดีไม่น้อย

[28] กองทุนบำนาญโลกอาจตั้งสำนักงานไว้ในศูนย์กลางการเงินที่สำคัญ เช่น ซูริก ไซปรัส มอริเชียส สิงคโปร์ ฯลฯ โดยเลือกสถานที่ที่จะช่วยให้กำกับการปฏิบัติงานได้ดีขึ้น

เนื่องจากเครือข่ายของกองทุนบำนาญโลกจะไม่เข้าไปซื้อขายหุ้นเสียเอง โอกาสทำผิดพลาดก็มีน้อยลง การที่ทุกฝ่ายรู้ว่า กองทุนจะไม่ขายหุ้นที่ได้มา ย่อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างเสถียรภาพและไม่สร้างความสั่นคลอนให้บริษัทต่าง ๆ ที่กองทุนมีหุ้น. ในราว ค.ศ. 2034 ทรัพย์สินโดยรวมของเครือข่ายกองทุนบำนาญโลกน่าจะมีถึง 7.7 ล้านล้านดอลลาร์ [29] ถ้าเริ่มมีการจ่ายเงินปันผลในตอนนั้น เงินปันผลต่อปีน่าจะอยู่ที่ราว 3% ก็คือ 257 พันล้านดอลลาร์ สำนักงานในภูมิภาคแต่ละแห่งน่าจะมีสินทรัพย์ประมาณ 7.7 พันล้านดอลลาร์ และมีรายได้ 257 ล้านดอลลาร์ การสะสมสินทรัพย์ของกองทุนไว้ล่วงหน้าบวกกับแหล่งรายได้อื่น ๆ จะช่วยให้เงินปันผลของกองทุนบำนาญโลกเพิ่มขึ้นทันกับจำนวนคนสูงอายุที่มีมากขึ้น. โปรดเข้าใจว่า ถึงแม้รายได้ที่เป็นเงินปันผลอาจขึ้น ๆ ลง ๆ บ้าง แต่ถึงอย่างไรก็แปรปรวนน้อยกว่าราคาหุ้น อีกทั้งยังมีหลายวิธีที่จะปรับรายรับให้เป็นไปอย่างราบรื่น

[29] ผู้เขียนตั้งสมมติฐานว่า อัตรากำไรอยู่ที่ 2.5% ต่อปี และผลตอบแทน 5% ต่อปีจะโอนกลับไปให้กองทุนสำหรับ "ระยะเวลาสั่งสมทุน" เป็นเวลา 27 ปี กองทุนเงินสำรองที่เสนอในที่นี้ ซึ่งมีฐานมาจากการเก็บภาษีกำไรของบริษัท 2% จะมีขนาดเท่ากับกองทุนธนาคารกลางของสหรัฐฯ ที่เคยเสนอไว้ในหนังสือ Age Shock ซึ่งมีฐานอยู่ที่การเก็บภาษีกำไรบริษัท 10% เพียงอย่างเดียว

ข้อดีของกองทุนบำนาญโลก
กองทุนบำนาญโลกควรเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ให้ประโยชน์แก่ทุกคนที่ถึงวัยชรา รายได้ที่ได้จากภาษีแลกเปลี่ยนเงินตราและภาษีบรรษัทย่อมมาจากภาคส่วนที่ร่ำรวยในโลก มากกว่าภาคส่วนที่ยากจน อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมเงินตราและกำไรของบรรษัทมักไหลไปสู่แดนปลอดภาษีและประเทศกำลังพัฒนาที่เก็บภาษีต่ำหรือไม่เก็บเลย การเก็บภาษีเงินตราและหุ้นควรเก็บในอัตราต่ำ แต่ต้องเก็บทุกแห่ง หากกลไกการเงินของกองทุนบำนาญโลกดำเนินไปในลักษณะที่บรรยายข้างต้น มันจะช่วยปรับการกระจายรายได้จากคนรวยไปสู่คนจน ในอีกด้านหนึ่ง การที่ทุกประเทศมีส่วนร่วมเหมือน ๆ กัน ไม่ว่ารวยหรือจน ย่อมทำให้กลไกการเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ

พลเมืองในประเทศร่ำรวยน่าจะพอใจระบบการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ที่ครอบคลุมกว้างขวาง ทำให้ดินแดนปลอดภาษีทั้งหลายต้องรายงานความเคลื่อนไหวทางการเงิน และกำไรของบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าไปจดทะเบียนในดินแดนเหล่านี้ [30] กองทุนการเงินโลกจะทำให้คนในประเทศร่ำรวยมีเงินเสริมเข้ามาจำนวนเล็กน้อย และเงินก้อนเดียวกันจะช่วยให้คนฐานะด้อยกว่าดีขึ้นในทุกแห่งทั่วโลก มันควรบรรเทาความยากจนในจุดที่แย่ที่สุดได้ เช่น ในชนบทและเขตชุมชนแออัดของภูมิภาคด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา มันยังช่วยส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบในพฤติกรรมของบรรษัท และประการสุดท้ายที่ไม่ใช่สำคัญท้ายสุดก็คือ มันช่วยส่งเสริมองค์กรทั่วโลกที่อุทิศตัวให้สวัสดิการสังคม

[30] วิธีการกำกับดูแลดินแดนปลอดภาษีให้เข้มงวดขึ้น มีนำเสนอโดยเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ Vito Tanzi ในหนังสือ Policies, Institutions and the Dark Side of Economics, Cheltenham 2000. ดินแดนปลอดภาษีทุกแห่งต้องพึ่งพิงการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับกลุ่มประเทศ OECD ดังนั้น การบังคับให้ดินแดนเหล่านี้ปฏิบัติตามมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลย่อมเป็นไปได้โดยง่าย ขอเพียงมีความตั้งใจที่จะทำเท่านั้น การจะได้รับความนิยมในฐานะดินแดนปลอดภาษี ศูนย์กลางการเงินนอกประเทศต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎการบัญชีขั้นต่ำสุด นักลงทุนเองก็มักเบือนหน้าหนีบางประเทศที่อยากเป็น "ดินแดนปลอดภาษี" เช่น ไลบีเรียหรือนาอูรู และนิยมสถานที่อื่น ๆ ที่ให้ความเชื่อมั่นมากกว่า เช่น เบอร์มิวดา หมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะแชนเนล หมู่เกาะบริติชเวอร์จินส์ มอริเชียสและไซปรัส (ทั้งหมดเป็นหรือเคยเป็นดินแดนใต้อาณัติของสหราชอาณาจักร) โปรดดู 'Places in the Sun', The Economist, 24 February 2007. การเก็บภาษีธุรกรรมด้านเงินตราระดับโลก และภาษีกำไรบริษัทอาจมีปัญหาจากประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ แต่ถ้าสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ให้การสนับสนุน ปัญหานี้อาจแก้ไขได้ โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐในศูนย์กลางการเงินเหล่านี้มีบทบาทในการดำเนินโครงการด้วย

เครือข่ายการบริหารงาน
เครือข่ายตามภูมิภาคต่าง ๆ ของกองทุนบำนาญโลกจะต้องเคารพกฎของการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และต้องว่าจ้างบุคลากรมืออาชีพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เครือข่ายควรมีตัวแทนของชุมชนท้องถิ่นที่เลือกมาตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วย ตามหลักการแล้ว การถือครองหุ้นในบริษัทจำนวนมาก ย่อมทำให้เครือข่ายตามภูมิภาคมีสิทธิ์ออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น แต่อิทธิพลของเครือข่ายกองทุนต่อการบริหารงานของบริษัทใด ๆ น่าจะมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม เครือข่ายกองทุนในแต่ละภูมิภาคน่าจะสามารถผลักดันประเด็นที่เป็นหลักการกว้าง ๆ ได้ เช่น การเคารพสิทธิของแรงงาน หรือการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม. ในบางประเด็น เครือข่ายทั้งหมดอาจตกลงกำหนดมาตรฐานร่วมกันขึ้นมา ส่วนในประเด็นอื่น ๆ สำนักงานแต่ละแห่งหรือตามกลุ่มภูมิภาคทั่วโลกสามารถวางกรอบแนวทางของตัวเองได้ ดังนั้น เครือข่ายกองทุนจึงช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นมีปากมีเสียงมากขึ้น โดยที่ชุมชนเหล่านี้มักถูกบรรษัทยักษ์ใหญ่เพิกเฉยมานาน

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ประการแรกของเครือข่ายกองทุนบำนาญโลก ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ ย่อมเป็นการจัดการจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ในหลาย ๆ ประเทศ หน่วยงานบำนาญของรัฐสามารถเข้ามารับช่วงได้ หากยังไม่ครอบคลุมมากพอ ก็อาจขอความช่วยเหลือและร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ไปรษณีย์ สหกรณ์สินเชื่อรายย่อยท้องถิ่นและระบบราชการ หน่วยงานแบบหลังนี้มีอยู่ในหลาย ๆ ประเทศที่ฝ่ายบริหารระดับชาติไร้ประสิทธิภาพหรือกระทั่งไม่มีอยู่ด้วยซ้ำ ประเทศนามิเบียพัฒนาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการส่งมอบเงินบำนาญวัยชรา โดยใช้ตู้เอทีเอ็มเคลื่อนที่ที่มีรหัสผ่านเป็นลายนิ้วมือ

กองทุนการเงินโลกจะไม่เข้าไปกำหนดว่า ประเทศต่าง ๆ ควรจัดลำดับความสำคัญของนโยบายสังคมและจัดสรรงบประมาณอย่างไร รัฐบาลบางประเทศให้ความช่วยเหลือแก่พลเมืองสูงอายุดีพอสมควรอยู่แล้ว (เช่น แอฟริกาใต้) เมื่อมีเงินจากกองทุนบำนาญโลกเข้ามา รัฐบาลจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ในการปรับงบประมาณเพื่อนำไปใช้กับโครงการอื่น ๆ ที่เห็นว่าจำเป็น โครงการกองทุนบำนาญโลกต้องการเพียงแค่สร้างหลักประกันขั้นพื้นฐานแก่คนชรา นอกเหนือจากนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่จะตัดสินใจว่า ควรเพิ่มเติมหรือสนับสนุนเงินบำนาญนี้อย่างไร

การลงทุนที่ตอบสนองวิสัยทัศน์ชุมชน
กองทุนบำนาญโลกควรนำรายได้ส่วนเกินจากเงินทุนสำรองตามภูมิภาคต่าง ๆ ไปลงทุนในลักษณะที่ตอบสนองความต้องการและวิสัยทัศน์ของชุมชน เจ้าหน้าที่ที่ได้รับเลือกตั้งมาและที่ปรึกษามืออาชีพควรมีกรอบในการลงทุนที่มีความสมดุลระหว่างการลงทุนที่มีประโยชน์ต่อสังคมและความมั่นคงในอนาคต "การลงทุนที่ดีที่สุด" ของกองทุนบำนาญภาครัฐอาจเป็นตัวอย่างได้ในกรณีนี้ เช่น สามารถนำรายได้จำนวนหนึ่งที่กำหนดไว้ชัดเจนไปลงทุนในด้านการเคหะ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในทันทีและช่วยสร้างหลักทรัพย์ที่ดีในอนาคต [31]

[31] Gordon Clark, Pension Fund Capitalism, Oxford 2000, pp. 21-34; และ Archon Fong, Tessa Hebb and Joel Rogers, eds, Working Capital: the Power of Labor's Pensions, Ithaca, NY and London 2000. ประสบการณ์ของสหกรณ์แรงงาน Mondragon Cooperative Corporation ในสเปนก็น่าสนใจเช่นกัน ผู้เขียนถกถึงประเด็นดังกล่าวไว้มากกว่านี้ใน Robin Blackburn, 'Economic Democracy: Meaningful, Desirable, Feasible?', in Daedalus, Summer 2007, pp. 36-45.

ในอดีต รัฐบาลทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมักเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และกิจการสาธารณะต่าง ๆ โดยได้เงินสนับสนุนการดำเนินงานจากการเก็บภาษีรายได้และภาษีโรงเรือน การสร้างหนี้ระดับชาติและระดับท้องถิ่นเป็นแหล่งการเงินที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง ในโลกโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ รัฐบาลในหลายประเทศดูเหมือนเชื่อว่า ควรสั่งสมเงินสำรองและสร้าง "กองทุนของรัฐ" (เช่น "กองทุนซื้อขายล่วงหน้า" ที่รัฐควบคุม ซึ่งดำเนินการอยู่ในออสเตรเลีย จีน นอร์เวและสิงคโปร์) กองทุนบำนาญโลกจะช่วยให้กองทุนในแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแพร่ขยายไปทั่วโลก (กระบวนการการค้าที่เป็นธรรมก็ใช้ตรรกะแบบออกทุนให้ก่อนเช่นกัน โดยที่ราคาส่วนเกินซึ่งลูกค้าเป็นผู้จ่าย ถูกนำไปใช้สร้างกองทุนทางสังคมที่ท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุม)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การบริหารจัดการกองทุนบำนาญโลกในระดับท้องถิ่นเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายนัก ทั้งยังต้องมีการตรวจสอบบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าเงินสดไปถึงมือผู้รับเป้าหมายจริง ๆ กระนั้นก็ตาม การแจกจ่ายเงินก้อนเล็ก ๆ เป็นวิธีที่พิสูจน์แล้วว่า ง่ายกว่าการให้ความช่วยเหลือขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนเป็นชุดใหญ่ ๆ ที่มีทั้งการก่อสร้าง การเก็บรักษาและการจ่ายเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก หากเครือข่ายกองทุนจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและองค์กรไม่เกี่ยวกับการค้าที่มีอยู่แล้ว (ดังที่กล่าวถึงข้างต้น) การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกันจะช่วยให้ท้องถิ่นมีความสามารถในการบริหารการเงินมากขึ้น เครือข่ายกองทุนบำนาญโลกยังสามารถจัดโครงการอบรมที่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ การจัดทำแผนเงินบำนาญแบบถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นแบบได้เงินมาก็จ่ายออกไปหรือสะสมทุนไว้ล่วงหน้า พิสูจน์แล้วว่ามีต้นทุนถูกกว่าการบริหารงานของภาคเอกชน ต้นทุนการบริหารงานไม่ควรเกิน 1% ของกองทุนในแต่ละปี และเป็นไปได้ที่จะน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ

เมื่อดูจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศยากจนและร่ำรวย การใช้บรรทัดฐานเดียว นั่นคือ เงินบำนาญหนึ่งดอลลาร์ต่อวัน ย่อมเป็นการยืนยันถึงหลักการสำคัญแห่งความเสมอภาค ในขณะที่วัฒนธรรมพื้นบ้านมักให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุ การวิวาทะเกี่ยวกับหลักความยุติธรรมของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ มักเน้นถึงความจำเป็นต้องสร้างหลักประกันให้แก่การดำรงชีวิตของกลุ่มคนยากจนที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนสูงอายุนั่นเอง [32] กองทุนบำนาญโลกเป็นสถาบันที่ควรก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคมอยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากนี้ การที่กลุ่มคนสูงวัยมักมีรสนิยมที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม นั่นหมายความว่า การใช้จ่ายของคนสูงอายุมักซื้อสินค้าในท้องถิ่นเป็นหลัก

[32] โปรดดู Thomas Pogge, World Poverty and Human Rights; and Nancy Fraser, 'Reframing Justice in a Globalized World', nlr 36, November-December 2005, pp. 69-88.

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีพรีมาคอฟในรัสเซีย ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 พบว่า การกลับมาจ่ายเงินบำนาญให้คนสูงอายุอีกครั้ง ช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขึ้นมาอีกโสดหนึ่ง. มีผู้นำทางการเมืองคนอื่น ๆ ที่มองเห็นความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของเงินบำนาญถ้วนหน้า หนึ่งในนั้นคือ โลเปซ โอบราดอร์ อดีตนายกเทศมนตรีของเม็กซิโกซิตี ผู้ก่อตั้งระบบเงินบำนาญวัยชราของเทศบาล และเนลสัน แมนเดลา ซึ่งยืนยันว่า พลเมืองสูงอายุทุกคนควรได้รับเงินบำนาญจากรัฐ ทำให้แอฟริกาใต้เป็นประเทศกำลังพัฒนาหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่มีการให้เงินบำนาญแก่ผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า

องค์กรของโลก
เพื่อให้มาตรการที่เสนอมานี้มีประสิทธิภาพ กลุ่มพลังทางเศรษฐกิจและกลุ่มพลังในภูมิภาคต่าง ๆ ที่สำคัญของโลกต้องสนับสนุนโครงการนี้ บางท่านอาจคิดว่า เพียงเรื่องนี้เรื่องเดียวก็ทำให้โครงการนี้ต้องพับไปเสียแล้ว ถึงแม้การแสวงหาแรงสนับสนุนอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่จำเป็นว่ามันต้องยากลำบากถึงขั้นจินตนาการไม่ได้ มีคนสักกี่คนในยุคทศวรรษ 1890 ที่จะคิดว่า ภายในเวลาแค่ไม่กี่ชั่วรุ่น รัฐบาลของตัวเองจะมีโครงการประกันการว่างงาน การศึกษาภาคบังคับถึงระดับมัธยม หรือสิทธิในการเลือกตั้งแบบถ้วนหน้า? กลุ่มพลังทางเศรษฐกิจและการเมืองต่างก็ยอมรับว่า ตัวเองมีหน้าที่ในการจัดสรรให้เกิดความมั่นคงทางสังคมในระดับหนึ่ง โครงการกองทุนบำนาญโลกมีเป้าหมายที่จะให้ประโยชน์ทางใดทางหนึ่งแก่ทุก ๆ ภาคส่วนในโลก มันจะเป็นย่างก้าวเล็ก ๆ ที่จับต้องได้ ไปสู่การต่อสู้กับปัญหาที่เกิดจากโลกาภิวัตน์อันป่าเถื่อน การรณรงค์เพื่อโครงการนี้จะกระตุ้นให้มีการหยิบยกประเด็นปัญหาสำคัญหลายประการขึ้นมาหารือกัน และน่าจะนำไปสู่การปรับปรุงมาตรการที่นำเสนอนี้ในรายละเอียด. ในยุครัฐสวัสดิการ โครงการส่งเสริมความมั่นคงในชีวิตของคนชรา เป็นโครงการหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในเมื่อเราต้องการขยายนโยบายสังคมออกไปในยุคโลกาภิวัตน์ เราก็ควรนำโครงการที่มีคุณค่านี้มาใช้ในระดับโลก [33]

[33] หากสภาพชีวิตที่ไม่มั่นคงของคนสูงอายุถูกเพิกเฉย กลุ่มคนที่อ่อนแออีกกลุ่มหนึ่งก็จะถูกทอดทิ้งเช่นกัน คนกลุ่มนั้นก็คือเยาวชน. ในอนาคต ผู้เขียนหวังจะเขียนบทความเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะใช้เครือข่ายที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อบริหารกองทุนบำนาญโลกมาดูแลการให้ทุนแก่เยาวชน .ซึ่งน่าจะให้เงินทุนจำนวน 1,500 ดอลลาร์ แก่เยาวชนทุกคนสำหรับใช้จ่ายด้านการศึกษาและการฝึกงานจนถึงอายุ 15 หรือ 17 ปี ต้นทุนในการนี้น่าจะใกล้เคียงกับบำนาญวันละ 1 ดอลลาร์ของกองทุนบำนาญโลก ผู้เขียนต้องการแนะว่า น่าจะขึ้นภาษีที่เสนอไว้ในบทความนี้เพื่อให้ได้เงินอีก 150 พันล้านดอลลาร์ต่อปีสำหรับนำมามอบแก่เยาวชน การมีกองทุนอุดหนุนเยาวชนจะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดกับวัยรุ่น เช่น อัตราการลาออกจากโรงเรียน การเข้าไม่ถึงการฝึกอาชีพและการฝึกงาน การว่างงาน อัตราการติดคุก และการทำงานที่ไม่เหมาะสมหรืออันตราย

ดังที่กล่าวถึงในรายงานการพัฒนาประจำปี ค.ศ. 2007 ของธนาคารโลกที่มีชื่อว่า Development and the Next Generation ประชากรอายุ 14-20 ปีจำนวนครึ่งหนึ่งไม่มีงานทำหรือไม่ได้รับการศึกษา ในบางประเทศ เช่น บังคลาเทศ อัตราการลาออกจากโรงเรียนของเด็กผู้หญิงลดลงอย่างมาก เมื่อได้รับทุนการศึกษาก้อนเล็ก ๆ เพื่อให้ได้เรียนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปี ทุนการศึกษาก้อนนี้ช่วยชดเชยรายได้ที่เสียไป ในประเทศเคนยา การแจกเครื่องแบบนักเรียนฟรีช่วยลดอัตราการลาออกจากโรงเรียนทั้งเด็กชายและเด็กหญิง เชื่อกันว่าวิธีการนี้ช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ต้องการของเด็กสาวได้ด้วย กองทุนอุดหนุนเยาวชนยังสามารถช่วยให้ทุนแก่โครงการ "โอกาสที่สอง" แก่อดีตทหารเด็ก "แก๊งอาชญากรเด็ก" และนักโทษวัยรุ่น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ใน ค.ศ. 1795 เมื่อโธมัส เพน (Thomas Paine) ขยายรายละเอียดในข้อเสนอเรียกร้องให้มีบำนาญวัยชราแบบถ้วนหน้า เพนให้เหตุผลว่า เยาวชนควรได้รับเงินก้อน 15 ปอนด์เมื่ออายุครบ 21 ปีด้วย ทั้งเงินบำนาญและเงินอุดหนุนเยาวชนนี้ได้มาจากการเก็บภาษีมรดก 10%

โปรดดู Thomas Paine, 'Agrarian Justice' [1795], in Michael Foot and Isaac Kramnick, eds, The Thomas Paine Reader, Harmondsworth 1987, pp. 471-90. ข้อเรียกร้องเพื่อเยาวชนเป็นพิเศษนี้ยังมีอยู่ใน Bruce Ackerman and Anne Alstott; 'Why Stakeholding' and 'Macro-Freedom' in Bruce Ackerman, Anne Alstott and Philippe Van Parijs, eds, Redesigning Distribution, London 2006, pp. 43-68, 209-16. ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการถูกกีดกันของเยาวชน โปรดดู World Bank Annual Development Report 2007, Development and the Next Generation, pp. 99-100, 18, 70.

ควรย้ำในที่นี้ว่า การจ่ายเงินดอลลาร์ของกองทุนบำนาญโลกควรเป็นเงินดอลลาร์จริง ๆ ไม่ใช่เงินในอัตราแลกเปลี่ยนที่คำนวณตามอำนาจการซื้อ [34] เงินดอลลาร์จริง ๆ จะช่วย "ถักร้อยโลกเข้าด้วยกัน" และช่วยเพิ่มอำนาจการซื้อให้มากขึ้น จากการที่คนสูงอายุทุกคนได้รับบำนาญและการสร้าง "พื้นที่ของการไหลเวียน"(*) ในระดับโลกาภิวัตน์เพื่อจัดสรรทรัพยากรแก่กองทุนต่าง ๆ [35]

[34] วิธีการจัดการกับปัญหาในที่นี้ พยายามคำนึงถึงความเป็นจริงของพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมหาศาลเพื่อทำลายความแตกต่างดังกล่าว ไม่ใช่ยิ่งตอกย้ำความแตกต่างนั้น

[35] Manuel Castells, The Network Society, Oxford 1997.

(*) "พื้นที่ของการไหลเวียน" (space of the flows) เป็นแนวคิดสำคัญของ Manuel Castells ในหนังสือเล่มข้างต้น พื้นที่ของการไหลเวียนคือพื้นที่ที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของประชาชน สินค้าและข้อมูลข่าวสารข้ามระยะทางไกล ๆ อย่างสม่ำเสมอ พื้นที่ของการไหลเวียนไม่ได้ถูกจัดการเพื่อเคลื่อนย้ายสิ่งต่าง ๆ จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเท่านั้น แต่ยังจัดการให้ทุกสิ่งเคลื่อนไหวหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ สังคมยุคปัจจุบันก่อตัวขึ้นรอบ ๆ การไหลเวียน ไม่ว่าจะเป็นการไหลเวียนของทุน ข่าวสาร เทคโนโลยี ภาพพจน์ เสียงและสัญลักษณ์ การไหลเวียนคือกระบวนการที่ครอบงำชีวิตทางเศรษฐกิจ การเมืองและสัญลักษณ์ของสังคมเครือข่าย (network society) (ผู้แปล)

ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกองทุนบำนาญโลกก็คือ การที่กองทุนพยายามถ่ายโอนเงินสดไปให้แก่ผู้สูงอายุโดยตรง จุดนี้สอดคล้องกับข้อสรุปของรายงาน World Bank Poverty Research เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในโลก ซึ่งจัดทำโดย Branko Milanovic ดังนี้:

เมื่อรัสเซียเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุด แทนที่จะมอบเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลคอร์รัปชั่นของประธานาธิบดีเยลต์ซิน เราควรส่งมอบเงินสดโดยตรงแก่พลเมืองที่ขาดแคลนที่สุดดีกว่า องค์การระหว่างประเทศ....สามารถใช้โครงสร้างที่มีอยู่แล้วของบัญชีรายชื่อผู้สูงอายุของกองทุนบำนาญในรัสเซีย และแจกจ่ายเงินสดแก่ผู้รับบำนาญชาวรัสเซียราว 20 ล้านคน นั่นจะเป็นการใช้จ่ายเงินที่ดีกว่านำเงินจำนวนเดียวกันไปมอบให้รัฐบาลรัสเซีย อีกทั้งชาวรัสเซียย่อมมีความรู้สึกที่ดีกว่าที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากชุมชนระหว่างประเทศ แทนที่จะต้องมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความไม่พอใจ กับการที่ชุมชนระหว่างประเทศส่งมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้นำที่ฉ้อฉล

Milanovic ยังแนะนำต่อไปอีกว่า ยุทธศาสตร์แบบเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้ในระดับที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ดังที่เขาตั้งข้อสังเกตว่า:

วิธีการนี้เป็นวิธีการง่าย ๆ แต่ทรงพลัง ประกอบด้วยสามขั้นตอนด้วยกัน นั่นคือ ระดมเงินจากคนรวยในโลก อย่าส่งมอบเงินแก่รัฐบาลไม่ว่าประเทศร่ำรวยหรือยากจน และถ่ายโอน เงินสด แก่คนจนโดยตรง. ขณะที่ผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ที่ขับดันโดยภาคเอกชนล้วน ๆ อาจไม่พอใจแนวคิดที่จะมอบอำนาจการเก็บภาษีให้แก่หน่วยงานระดับโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่พวกเขาน่าจะมองเห็นเสียทีว่า กระบวนการที่พวกเขาสนับสนุนนั้น มันย้อนกลับมาบั่นทอนสถานภาพของตัวเอง พวกเขาจะตระหนักในที่สุดว่า ผลประโยชน์ของพวกเขานั้นอยู่ที่การสนับสนุนปฏิบัติการระดับโลกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ที่จะจัดการกับปัญหาความยากจน....และความไม่เท่าเทียมไปพร้อม ๆ กัน [36]

[36] Branko Milanovic, 'Global Income Inequality: What It Is and Why It Matters', World Bank, Policy Research Working Paper Series 3865, March 2006, pp. 29-30.

ถึงแม้ผู้เขียนยกย่องความมีน้ำใจของแนวคิดข้างต้น แต่การปฏิเสธกลไกรัฐแบบเหมารวมเช่นนี้ อาจทำให้เป้าหมายของความเสมอภาคพร่าเลือนไป และเปิดประตูแก่อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ซึ่งไม่เพียงมีปัญหาด้านความฉ้อฉลเท่านั้น แต่ยังใช้ต้นทุนมหาศาลและไม่มีโครงสร้างตามแนวทางประชาธิปไตยเลย นอกจากนั้น รัฐที่ฉ้อฉลและอำนาจนิยมก็คงดีกว่าไม่มีรัฐเลย

เป้าหมายของเครือข่ายกองทุนบำนาญโลก น่าจะเป็นการจูงใจรัฐให้ยอมรับและเคารพแผนการที่จะเป็นประโยชน์ต่อพลเมืองในประเทศ เครือข่ายกองทุนบำนาญโลกจะช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องได้รับการสนับสนุนด้านกฎหมายจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น กองทุนจึงไม่ควรมีจุดยืนต่อต้านรัฐไปเสียหมด. ขณะแจกจ่ายเงินแก่ประชาชน สำนักงานระดับภูมิภาคของกองทุนควรตั้งเป้าที่จะพัฒนาตัวเองเป็นองค์กรสาธารณะที่มีความรับผิดต่อท้องถิ่น หากตระหนักในประเด็นต่าง ๆ นี้แล้ว ข้อเสนอของ Milanovic ก็ควรแก่การยอมรับและช่วยเสริมความชอบธรรมแก่กองทุนบำนาญโลก

กองทุนบำนาญโลกจะสร้างคูณูปการอย่างสำคัญต่อ "ความมั่นคงในวัยชรา" ที่ระบุไว้ในมาตราที่ 25 (*) ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ "การดำรงชีพที่ควรค่าแก่ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์" ดังที่กล่าวไว้ในมาตราที่ 23 (**). หน่วยงานและการจัดประชุมของสหประชาชาติช่วยกระตุ้นให้โลกหันมาสนใจปัญหาของเด็ก ผู้หญิง ผู้ป่วย และผู้พิการ. การจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยผู้สูงอายุครั้งที่สองในกรุงมาดริด เมื่อ ค.ศ. 2002 ได้ให้ข้อแนะนำที่ดีแก่รัฐบาลที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งมีการขยายความและประกาศเจตนารมณ์ไว้ใน World Social and Economic Report ประจำปี ค.ศ. 2007 กระนั้นก็ตาม ชะตากรรมของผู้สูงอายุและจำนวนคนชราที่จะมีมากขึ้นในอนาคต กลับยังไม่มีหน่วยงานระหว่างประเทศโดยเฉพาะ หรือโครงการระดับโลกใด ๆ มาจัดการกับปัญหานี้โดยตรง กองทุนบำนาญโลกจะเป็นก้าวย่างอย่างเป็นรูปธรรมไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

(*)Article 25.
(1) Everyone has the right to a standard of living adequate for the health and well-being of himself and of his family, including food, clothing, housing and medical care and necessary social services, and the right to security in the event of unemployment, sickness, disability, widowhood, old age or other lack of livelihood in circumstances beyond his control.

(2) Motherhood and childhood are entitled to special care and assistance. All children, whether born in or out of wedlock, shall enjoy the same social protection.
(http://www.un.org/Overview/rights.html)

(**)Article 23.
(1) Everyone has the right to work, to free choice of employment, to just and favourable conditions of work and to protection against unemployment.
(2) Everyone, without any discrimination, has the right to equal pay for equal work.
(3) Everyone who works has the right to just and favourable remuneration ensuring for himself and his family an existence worthy of human dignity, and supplemented, if necessary, by other means of social protection.
(4) Everyone has the right to form and to join trade unions for the protection of his interests. (http://www.un.org/Overview/rights.html)

คลิกกลับไปทบทวนบทความเกี่ยวเนื่อง ตอนที่ ๑ ลำดับที่ 1546

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 29 April 2008 : Copyleft by MNU.
การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวกลายเป็นภาระหนักมากขึ้น ในปัจจุบัน คนชรา ๗๕% ในเอเชียและละตินอเมริกา ยังอาศัยอยู่กับลูกหลาน ส่วนในยุโรปและในอเมริกาเหนือ คนสูงอายุ ๗๓% ต้องดำเนินชีวิตตามลำพัง อย่างไรก็ตาม การที่คนชราจะอยู่ตามลำพังตนเท่านั้น เป็นแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก คนชราที่ต้องดูแลตัวเองคือกลุ่มเสี่ยงต่อความยากจนมากที่สุด โดยเฉพาะ ถ้ามีบำนาญน้อยหรือไม่มีเลย ในกรณีที่ครอบครัวเดิมจนอยู่แล้ว การมีคนชรามาพึ่งพาอาศัยย่อมซ้ำเติมความยากจนให้หนักลงไปอีก แน่นอน ปู่ย่าตายายและญาติสูงอายุที่อาศัยอยู่ด้วยสามารถช่วยดูแลเด็กและแบ่งเบาภาระอื่น ๆ แต่ถ้าคนสูงอายุเหล่านี้ไม่มีรายได้เลย นี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักให้ทั้งครอบครัวตกไปอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนอย่างช่วยไม่ได้
H