1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
รายงานการดำเนินการพัฒนาโจทย์เพื่อการวิจัยทางกฎหมาย
โจทย์เพื่อการวิจัย:
ประเด็นกฎหมายกับการแก้ปัญหาความยากจน
(๑)
ไพสิฐ
พาณิชย์กุล : ผู้วิจัย
อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
บทความเพื่อสิทธิพลเมือง
และสิทธิทางเศรษฐกิจ (กรณีคนจนในประเทศไทย)
งานวิจัยในทางกฎหมายชิ้นนี้เป็นข้อเสนอโจทย์ของการวิจัยทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจน
และความไม่เป็นธรรม เนื่องจากแนวทางการวิจัยในประเด็นดังกล่าวในสังคมไทยมีอยู่น้อยมาก
(เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ) ปรากฏการณ์ซึ่งพบว่ามีงานวิจัยเหล่านี้น้อย
จึงเป็นสิ่งบอกเหตุที่สำคัญ
ของการพัฒนาโจทย์วิจัยว่า เป็นปมปัญหาขนาดใหญ่ในแง่ของฐานความรู้เกี่ยวกับระบบกฎหมายของประเทศ
ที่จะต้องทำการวิจัยเจาะลึกต่อไป และหากจะจัดกลุ่มงานศึกษาวิจัยและการเคลื่อนไหวทางวิชาการในทาง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความยากจน และความไม่เป็นธรรมแล้ว อาจจะแบ่งได้ ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
2. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความเป็นธรรม
3. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจน
4. กลุ่มงานที่มีลักษณะเป็นการศึกษาการปฏิบัติในการใช้อำนาจตามกฎหมาย
5. การเคลื่อนไหวทางวิชาการกฎหมายเกี่ยวกับความยากจน และความเป็นธรรม
เนื่องจากต้นฉบับของงานวิจัยฉบับนี้มีความยาวเกือบ
๕๐ หน้ากระดาษ จึงได้แบ่งการนำเสนอ
ออกเป็น ๒ หัวข้อติดต่อกันในลำดับที่ ๑๕๔๓ และ ๑๕๔๔ เพื่อความสะดวกในการจัดหน้าและการอ่าน
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๕๔๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๔ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานการดำเนินการพัฒนาโจทย์เพื่อการวิจัยทางกฎหมาย
โจทย์เพื่อการวิจัย:
ประเด็นกฎหมายกับการแก้ปัญหาความยากจน
(๑)
ไพสิฐ
พาณิชย์กุล : ผู้วิจัย
อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รายงานการดำเนินการพัฒนาโจทย์เพื่อการวิจัย
กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมและแก้ไขปัญหาความยากจนระยะที่ ๑
(๑) บทนำ: ความเป็นมาและวิธีการดำเนินการ
ในช่วงระยะเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ส่งเสริมและให้การสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยในด้านต่างๆ
เพื่อนำความรู้ไปสู่การพัฒนา และนำไปสู่การขับเคลื่อนให้กระบวนการวิจัยค้นคว้ากลายเป็นเครื่องมือใหม่ๆ
แก่ประชาชนเพื่อเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คำถามมีว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนสามารถมีพลังในการต่อรองหรือสามารถกำหนดการเปลี่ยนแปลงได้เองในระดับหนึ่ง
แทนที่จะถูกต้อนให้เข้าสู่ช่องทางการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบภาวะจำยอม
ประเทศไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และกฎหมาย วิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปีพ.ศ. 2540 เป็นตัวอย่างที่ดีประการหนึ่งของผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากกระแสโลกาภิวัฒน์แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และนำซึ่งปัญหาต่างๆ อีกมากมาย. ในสภาพการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาวก็คือ คนจนและคนด้อยโอกาสที่ไร้สังกัด ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพของสังคมที่ต่างฝ่ายต่างต้องดิ้นรนต่อสู้พยายามที่จะเอาตัวรอดเพื่อให้พ้นจากวิกฤติ
แต่ในท่ามกลางวิกฤติดังกล่าว ก็มีงานที่ศึกษาระบบเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านไทยที่สามารถยืนยันถึงบทบาทขององค์กรชุมชนที่อยู่ในชนบท กลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนของชาวบ้าน ซึ่งมีการร่วมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาที่เคยประสบมาก่อน หรือเกิดขึ้นเพราะเป็นความเข้มแข็งเดิมของชุมชนและสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ กลุ่มเหล่านี้กลับไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจมากนักเหมือนกับที่อื่นๆ (1) ทั้งนี้เนื่องจากภายใต้ระบบเศรษฐกิจชุมชน มีปรัชญา ระบบคิด เป้าหมาย วัฒนธรรม โครงสร้างระบบการผลิต วิถีการผลิต ระบบในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร และระบบกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์อีกชุดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และระบบเศรษฐกิจชุมชนดังกล่าว ดำรงอยู่และเป็นวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวไทยจำนวนมาก (2)
(1) โปรดศึกษาเพิ่มเติมในโครงการวิจัย
" เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านไทย " ศ.ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, เมธีวิจัยอาวุโส
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
หัวหน้าโครงการ ( มีนาคม 2543 - กุมภาพันธ์ 2546 )
(2) "คำแถลงของชุดโครงการวิจัยเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านไทย" ใน พลวัตเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านภาตใต้ตอนบนฝั่งตะวันออก:
กรณีศึกษา 4 พื้นที่ กรุงเทพฯ
สถาบันวิถีทรรศน์ , 2546 หน้า 12
ภายหลังจากเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ มีงานทางเศรษฐศาสตร์อยู่มากที่ศึกษาปัญหาทางเศรษฐกิจในเรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกระแสหลัก และมีอีกส่วนหนึ่งที่หันมาสนใจปัญหาเรื่อง"ความยากจน" โดยมีแนวทางการศึกษายุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความยากจนที่แตกต่างกันคือ โดยแนวทางแรกศึกษาปัญหาความยากจนในฐานะที่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ และมีงานที่ศึกษาในแนวนี้จำนวนมากได้ชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนของประชากรที่อยู่ในภาวะความยากจนโดยรวมมีแนวโน้มลดลง หากนำเอาสัดส่วนของประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน(poverty line) มาอธิบาย แนวการศึกษานี้เรียกว่า การศึกษาในแนวทางการส่งเสริมการเจริญเติบโต (pro-growth). ในระยะต่อมามีการศึกษาปัญหาความยากจนในอีกแนวทางหนึ่งซึ่งเรียกว่า การศึกษาในแนวทางการลดความยากจน (pro-poor) (3) ซึ่งการใช้แนวทางในการศึกษาวิธีนี้พบว่าไม่มีผลเสียต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
(3) "งานวิจัยความยากจนในประเทศไทย : องค์ความรู้และแนวโน้มในอนาคต " สมชัย จิตสุชน เอกสารอัดสำเนา ( 2544 ) หน้า 1
การศึกษาปัญหาความยากจนโดยการใช้เส้นความยากจนมาอธิบาย ตามแนวทางการศึกษาแบบเน้นการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เห็นถึงความยากจนที่มีอยู่ และหากเมื่อมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นความยากจนก็จะค่อยๆลดลง (4) แต่สำหรับในกรณีประเทศไทยกลับพบว่า ผลลัพธ์เป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือตลอดระยะเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมาของการพัฒนา ทำให้คนยากจนลง และมีจำนวนมากขึ้น (5)
(4) โปรดดูรายละเอียดในเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ " โครงการวิจัย เชิงสังเคราะห์ความรู้เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์แก้ความยากจน " ในเรื่อง " นโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาคกับความยากจนในประเทศไทย : การสำรวจสถานะความรู้ " นิธินันท์ วิศเวศวรและคณะ จัดโดย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันร่วมจัดอื่นๆ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม 24 มกราคม 2546 ณ. ห้องประชุมสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ. นครปฐม หน้า 9
(5) "การพัฒนากับความยากจน" สมชัย จิตตสุชน เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการประจำปี 2544 เรื่อง ยุทธศาสตร์การขจัดปัญหาความยากจน 24-25 พ.ย. 2544 จัดโดย มูลนิธิชัยพัฒนาและองค์กรร่วมจัดฯ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ จอมเทียน ชลบุรี หน้า 1
นอกจากการศึกษายุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความยากจนแล้ว ยังมีการศึกษาถึง "สภาวะความยากจน" ซึ่งมีกรอบการมองสภาวะความยากจนใน ๒ แนวทางคือ
- การมองสภาวะความยากจนในกรอบของความยากจนโดยสมบรูณ์ (absolute poverty) และ
- การมองในกรอบของความยากจนโดยเปรียบเทียบ(relative poverty)
การใช้กรอบในการพิจารณาถึงสภาวะความยากจนดังกล่าว ทำให้เห็นถึงสภาพของผู้คนในสังคมในเชิงสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ว่าแต่ละคนมีสถานะภาพอย่างไร? และหากกล่าวถึงเฉพาะในกลุ่มของคนจน มีงานที่พยายามจะแบ่งคนจนออกเป็นกลุ่มหรือประเภทต่างๆ เช่น มีการแบ่งคนจนออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ
- คนจนดักดาน (chronic poverty)
- คนจนที่จนโอกาสในการแสวงหารายได้ และ
- กลุ่มเกือบหรือใกล้จน (conjunctural poverty) (6)
(6) อ้างแล้ว 4 หน้า 4-5
นอกจากการแบ่งคนจนออกเป็นกลุ่มๆ แล้ว ยังมีวิธีการทำความเข้าใจความยากจนอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งประมวลและสังเคราะห์จากกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทยจริงๆ เพื่อให้เห็นถึงองค์ประกอบของความยากจนซึ่งมีอยู่ในสังคมไทยว่ามีองค์ประกอบหรือมิติอะไรบ้าง? จากรายงานการวิจัย "บทสังเคราะห์ภาพรวมการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจน และคนด้อยโอกาสในสังคมไทย" โดย รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ และคณะฯ ได้สังเคราะห์เนื้อหาสาระองค์ประกอบของความยากจนว่าประกอบด้วยความจนในมิติดังต่อไปนี้ คือ จนทรัพย์สิน, จนสิทธิและโอกาส, จนอำนาจ, และจนศักดิ์ศรี, โดยสาเหตุที่ทำให้คนไทยจะไปสู่ความยากจนและด้อยโอกาสมี ๔ ปัจจัย คือ ท่าทีต่อชีวิต, ปัจจัยการผลิต, ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง, และ สวัสดิการ (7)
(7) โปรดดูรายละเอียดใน "สวัสดิการสังคม ฉบับชาวบ้าน แนวคิด นโยบาย แนวทางปฎิบัติ" เศรษฐศาสตร์การเมือง(เพื่อชุมชน) ฉบับที่ 26 ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 57-60
ปัญหาความยากจนไม่ได้มีศึกษากันแต่เฉพาะแวดวงเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ในระยะหลังมีการศึกษาปัญหาความยากจนโดยวงวิชาการอื่นๆ ขึ้นมาด้วย อาทิเช่น นโยบายศึกษากับความยากจน ประชากรศาสตร์กับความยากจน ฯลฯ และนอกจากแวดวงวิชาการแล้ว ยังมีองค์กรภาครัฐที่มีส่วนในการศึกษาและผลิตความรู้ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับปัญหาความยากจน อีก ประกอบกับยังมีองค์กรพัฒนาเอกชน (อพช.) ที่มีส่วนสำคัญในการผลิตองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความยากจน ซึ่งมักจะมีลักษณะตรงข้ามหรือโต้แย้งข้อมูลของภาครัฐ แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ องค์กรชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสมาชิกของชุมชน เริ่มที่จะทำการศึกษาวิจัยปัญหาที่ชุมชนประสบด้วยตนเอง (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม) โดยความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรนอกชุมชน ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ สถาบันการศึกษาต่างๆ ทำการศึกษาวิจัยและผลิตชุดข้อมูลที่เกี่ยวกับชุมชนของตนเองในมิติต่างๆ
ความเคลื่อนไหวทางการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาความยากจนดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นสะท้อนภาพให้เห็นซึ่งค่อนข้างหนักไปทางวิชาการและแนวคิดทฤษฎี ที่พยายามอธิบายปรากฎการณ์ความยากจน และพยายามที่จะนำแนวความคิดหรือข้อเสนอดังกล่าวไปสู่การกำหนดนโยบายหรือภาคปฎิบัติ หรือการดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
สำหรับในที่นี้ ประเด็นข้อสงสัยที่น่าสนใจ ในฐานะผู้ประสานงานเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยก็คือ ท่ามกลางการเคลื่อนไหว การถกเถียงกันในทางวิชาการและทางทฤษฎีที่แหลมคม "กฎหมาย " ในฐานะที่เป็นกฎกติกาที่ใช้อยู่ในสังคม หรือ "นิติศาสตร์" ในฐานะที่เป็นแนวคิดหรือระบบของการให้เหตุผลในเชิงกฎเกณฑ์ กลับไม่ปรากฏบทบาทออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดให้สมกับการเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมฐานความรู้ ทั้งๆ ที่มักจะมีการอ้างกันในหมู่นักกฎหมายอยู่เสมอๆ ว่านักกฎหมายทำหน้าที่เป็นวิศวกรสังคม วิชากฎหมายเป็นวิชาที่อยู่ในระดับแนวหน้า ฯลฯ
ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย เราสามารถที่จะเห็นถึงความยากจนกับกระบวนการยุติธรรม ในฐานะตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของระบบกฎหมาย ในเชิงที่ระบบกฎหมายไม่ได้แบ่งคนหรือผู้ทรงสิทธิในทางกฎหมายตามฐานะทางเศรษฐกิจ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนเท่าเทียมกันในสายตาของกฎหมาย ดังนั้น ระบบกระบวนการยุติธรรมจะต้องปฎิบัติต่อทุกๆ คนอย่างเท่าเทียม และเปิดโอกาสให้ทุกๆ คนสามารถที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากระบบกฎหมายได้ คติความเชื่อเช่นนี้ พัฒนามาจากแนวคิดเรื่องสิทธิและพัฒนาการทางการเมืองตามคติความเชื่อในทางการเมืองการปกครองของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งมีระบบราชการประจำและระบบกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ภายใต้ระบอบการเมืองเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาความยากจน คนจน กับระบบกระบวนการยุติธรรม หรือกฎหมายในทางปฎิบัติแคบๆ เพียงแค่ความพยายามในการแก้ไขปัญหาในเชิงเทคนิค เชิงคดี หรือเชิงวิธีปฎิบัติราชการ และเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนจนกับระบบในลักษณะปัจเจก เท่านั้น หากจะมีความเห็นอกเห็นใจ ก็เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความบังเอิญที่ผู้ใช้กฎหมายเกิดความรู้สึกดังกล่าว เห็นถึงความไม่เป็นธรรมรายกรณีมากว่าที่จะเป็นความสัมพันธ์ที่มีแรงขับเคลื่อน หรือมีสำนึกจากรากฐานความคิดของตัวระบบกฎหมายเอง
เมื่อระบบความสัมพันธ์เกิดขึ้นอย่างแคบๆ การแก้ปัญหาความยากจนโดยระบบกฎหมาย จึงอยู่ในระดับปฎิบัติที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและปลายเหตุของปัญหา เท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงความพยายามของระบบกฎหมาย ที่พยายามที่จะขจัดปัญหาต่างๆ ออกไปเพื่อรักษาระบบเอาไว้ ทั้งนี้ระบบกฎหมายทั้งในฐานะที่เป็นงานราชการและงานวิชาชีพอิสระ ล้วนแล้วแต่เป็นความก้าวหน้าและรายได้จากวิชาชีพกฎหมาย ทั้งสิ้น ดังนั้นปัญหาความยากจน ปัญหาคนจน ในสายตาของระบบกฎหมายจึงมีกรอบคิดมุมมองที่ไม่ซับซ้อน มองแบบตรงไปตรงมา และไม่ได้แยกแยะลงในรายละเอียดที่สอดคล้องกับปรากฎการณ์และข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่
ในแง่ของความเป็น "ศาสตร์" หรือ ความเป็นวิชาการของกฎหมายที่เรียกว่า "นิติศาสตร์" กับ"ปัญหาความยากจนหรือปัญหาของคนจน" หากจะกล่าวในบริบททางวิชาการไม่ว่าจะพิจารณาจากวิชาต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนในหลักสูตรนิติศาสตร์ก็ดี งานที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยในทางกฎหมายก็ดี หรือการทำหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนในระดับที่เป็นการกระทำขององค์กรหรือสถาบันก็ดี แทบจะไม่มีงานหรือความเกี่ยวข้องอย่างใดให้เห็นเมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมทางวิชาการ จำนวนนักศึกษากฎหมาย จำนวนสถาบันที่เปิดสอนในหลักสูตรนิติศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก. กล่าวในความไม่มีอยู่ในทางความคิดของระบบความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาความยากจน ปัญหาของคนจน จึงสะท้อนให้เห็นปัญหาหรือโจทย์การวิจัยที่อุดมไปด้วยประเด็นแง่มุม และงานการพัฒนาต่างๆ อีกมาก ทั้งในทางปฎิบัติและในทางแนวคิดทฤษฎีทางกฎหมาย
สิ่งที่ยืนยันในเชิงข้อเท็จจริง และบอกถึงแนวโน้มและทิศทางของการพัฒนาระบบการวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับปัญหาความยากจน และความไม่เป็นธรรม ซึ่งจำเป็นต้องวางการพัฒนาการวิจัยอย่างเป็นระบบ ได้แก่ ภาพที่ได้จากการสังเคราะห์ต่อยอดจากงานวิจัยที่ดำเนินการมาแล้ว ซึ่งให้การสนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว) ส่วนหนึ่งประกอบกับการสรุปสังเคราะห์จากเวทีการสัมมนา การอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของคนจน คนด้อยโอกาส ความไม่เป็นธรรม การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ความคิดเห็นในทางคดีความต่างๆ ของคนจนคนด้อยโอกาส และการไปร่วมในเวทีชาวบ้านในพื้นที่ตามภูมิภาคต่างๆ (8)
(8) โปรดดูรายละเอียดใน
1. เอกสารประกอบการระดมความคิด "แก้โครงสร้างอย่างไร จึงจะแก้ความยากจน"
จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน คณะทำงานวาระทางสังคม
และ ฯลฯ เมษายน 2544 ณ ห้องประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
2. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ "โครงการวิจัย เชิงสังเคราะห์ความรู้เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์แก้ความยากจน"
จัดโดย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันร่วมจัดอื่นๆ
โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม 24 มกราคม 2546 ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ. นครปฐม เป็นต้น
ข้อมูลทั้งในเชิงที่เป็นบทสรุป ในเชิงข้อเท็จจริง และในเชิงที่เป็นปรากฏการณ์ที่พบ
จากการแลกเปลี่ยนทำให้เห็นความสลับซับซ้อนของกระบวนการที่ทำให้เกิดความยากจน
และความไม่เป็นธรรม ซึ่งมีสาเหตุ ปัจจัย เงื่อนไข และบริบทต่างๆ ทางสังคมที่สลับซับซ้อน
ยากที่จะใช้กรอบคิด หรือแนวทางในการทำความเข้าใจ และหาทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมโดยกรอบแนวคิดใดกรอบคิดหนึ่งได้
และหนทางในการแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้มีหนทางใดหนทางหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งหากพิจารณาสภาพของระบบกฎหมายในปัจจุบันทั้งระบบแล้ว
จะเห็นถึงสภาพที่เป็นข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของระบบ ๔ ประการ ดังต่อไปนี้
ประการแรก กฎหมาย เป็นสิ่งที่มีลักษณะรวมศูนย์ อยู่ใกล้หรือแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกันกับอำนาจรัฐ แม้ผู้ใช้จะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม ลักษณะของการรวมศูนย์ผูกขาดของระบบกฎหมายที่เป็นหนึ่งเดียวกับอำนาจรัฐ จึงทำให้ระบบกฎหมายถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐ และทำให้เกิดมายาคติต่างๆ มากมาย ในการครอบงำทางความคิดของผู้ที่ไม่รู้กฎหมาย
ประการที่สอง คนจน คนด้อยโอกาส ในแง่ของระบบกฎหมายยังมีข้อสงสัยอยู่ว่าบุคคลในสถานะเหล่านั้น มีฐานะอย่างไรในทางกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากหากไปตรวจสอบจากสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง, สิ่งที่กฎหมายสร้างหลักประกันให้, สิ่งที่กฎหมายให้โอกาสก็ดี, ล้วนแล้วแต่มิใช่คุณสมบัติ หรือคุณลักษณะ ของคนจนหรือคนด้อยโอกาส ทั้งสิ้น. ในทางตรงกันข้าม ลักษณะของคนจนหรือคนด้อยโอกาส อาทิ เช่น ไร้การศึกษา ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีอาชีพหรือหลักประกันในทางทรัพย์สินที่มั่นคง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งต้องห้าม หรือแม้กระทั่งเป็นความเสี่ยง หรือถูกตั้งข้อสงสัยโดยกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายทั้งสิ้น
ประการที่สาม สำนึกและจินตนาการของกฎหมาย เป็นสำนึกและจินตนาการของชนชั้นนำที่มีโอกาส เป็นผู้กำหนด หาประเด็น วาระที่สำคัญๆ ในทางกฎหมายมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งระบบกฎหมาย และแม้จะมีตัวแทนหรือโอกาสที่ให้ความคิดของชนชั้นอื่นๆ สามารถที่จะแสดงออกหรือมีบทบาทมากขึ้นก็ตาม แต่ในที่สุด ความคิดเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนความคิดกระแสหลักที่ครอบงำระบบกฎหมายอยู่ ในทางตรงกันข้ามความคิดกระแสรองเหล่านั้น กลับถูกทำให้หมดความสำคัญไปในที่สุด
ประการที่สี่ นักนิติศาสตร์แวดวงวิชาการและนักกฎหมาย ทั้งที่อยู่ในสายอาชีพอิสระและสายราชการ ยังไม่ให้ความสนใจประเด็นเรื่องความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ในกระแสโลกาภิวัตน์มากนัก. ในเวลาเดียวกัน ความสนใจของบรรดานักนิติศาสตร์และนักกฎหมายเหล่านี้ ยังคงให้การสนับสนุนแนวทางที่จะรักษาโครงสร้างที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมของระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เอาไว้ โดยเข้าใจว่าการมีบทบัญญัติกฎหมายที่รับรองสิทธิ-เสรีภาพ รับรองความเสมอภาคและกลไกต่างๆ ในทางกฎหมายตามแบบอย่างที่ประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยมีแล้ว ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมก็จะได้รับการแก้ไข ปัญหาเรื่องคนจนเป็นเพียงผู้ที่ไม่รักษาสิทธิหรือไม่เคารพกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการที่จะหลุดพ้นจากความยากจนคนจนต้องทำตามกติกาตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ความคิดเช่นนี้ หากเทียบเคียงกับความคิดทางเศรษฐศาสตร์แล้วก็คือ ความคิดที่ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกระแสหลักที่เน้นความเจริญทางเศรษฐกิจแบบบนลงล่าง แทนที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรฐกิจบางสำนักที่เน้นความเสมอภาค ซึ่งหากมองในแง่มุมความเสมอภาคดังกล่าวโดยเปรียบเทียบกับความคิดในทางกฎหมาย นับได้ว่าความคิดในทางกฎหมายยังตามหลังความคิดในทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งหมายความว่าหากจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายแล้ว ก่อนอื่นจะต้องทำการปรับพื้นฐานความคิดในทางกฎหมายที่ครอบงำระบบอยู่ก่อน เป็นประการสำคัญ
แม้จะเป็นข้อจำกัดหรือข้อด้อยในทางกฎหมาย
แต่ในขณะเดียวกันในฐานะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาโจทย์วิจัย สภาพที่เป็นข้อจำกัดดังกล่าวก็คือ
สิ่งที่จะต้องวิจัย พัฒนา และท้าท้ายวงการกฎหมายไทย
วิธีการในการดำเนินการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย
กระบวนการในการดำเนินการประกอบด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. การติดต่อประสานงานกับองค์กรและกลุ่มชุมชนต่างๆ โดยแบ่งลักษณะการติดต่อประสานงานเพื่อสร้างระบบเครือข่ายฐานข้อมูลและเครือข่ายการวิจัย คือ
- การติดต่อประสานงานกับองค์กรภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน
- การติดต่อประสานงานกับองค์กรภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการแก้ไขความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรม
- การติดต่อประสานงานกับองค์กรวิชาชีพและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำหน้าที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์
และแก้ไขความเดือดร้อนความไม่เป็นธรรม
- การติดต่อประสานงานกับองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่ ซึ่งสามารถที่จะแก้ไขความเดือดร้อนของตนเองได้สำเร็จ2. การศึกษา วิเคราะห์จากงานวิจัยต่างๆ เอกสารการร้องเรียน ความเห็นของหน่วยงาน การวินิจฉัยชี้ขาดทางคดีและเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ
3. การจัดประชุม การสัมมนากลุ่มย่อย การเข้าร่วมพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ การสัมภาษณ์ การแสดงความคิดเห็น
4. การศึกษาดูงานจากกรณีศึกษาในพื้นที่จริง ในการบริหารจัดการชุมชนแบบมีส่วนร่วม
5. การเข้าไปสังเกตแบบมีส่วนร่วม ในขณะที่มีการใช้สิทธิในการชุมชุนเรียกร้อง
(๒). สถานภาพปัจจุบันของงานวิจัยทางกฎหมาย
กับปัญหาเรื่องความยากจน และความไม่เป็นธรรมในประเทศไทย
สืบเนื่องจากบทนำในการพัฒนาโจทย์วิจัย
ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมอันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาประเทศ
ที่ทำให้เกิดความยากจนและความไม่เป็นธรรม และบทบาทของกฎหมายในฐานะที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งดำรงอยู่ในโครงสร้างของสังคม
แต่ด้วยข้อจำกัดในทางกฎหมาย แทนที่กฎหมายจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ตอกย้ำและสร้างความไม่เป็นธรรมโดยวิธีการรักษาสภาพต่างๆ
ในโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และในตัวกฎหมายเองที่ไม่เป็นธรรมให้คงไว้
หากหันกลับไปทำการสำรวจงานวิจัย และประมวลภาพการเคลื่อนไหวในงานทางวิชาการกฎหมาย
(9) ว่ามีภาพความเคลื่อนไหวที่มีประเด็นเกี่ยวกับความยากจนและความไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้าง
ในทัศนะของผู้เขียนพบว่า มีงานวิจัยในทางกฎหมายน้อยชิ้นมาก ที่ให้ความสำคัญหรือกล่าวถึงการแก้ปัญหาความยากจน
และปัญหาเรื่องความเป็นธรรมของประชาชนในระดับล่าง นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า
งานวิจัยที่มีลักษณะเป็นเชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างกฎหมายกับศาสตร์อื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาความยากจน
และความเป็นธรรมต่อคนจน ก็ยิ่งมีน้อยลงไปอีก ทั้งๆ ที่ปัญหาเรื่องความยากจนและความไม่เป็นธรรมในสังคม
เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งมีความสลับซับซ้อน และต้องอาศัยกรอบคิดในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการในการทำความเข้าใจปัญหา
(10)
(9) การนับรวมเอางานวิจัยในทางกฎหมายและการเคลื่อนไหวทางวิชามากล่าวถึงในที่นี้ เนื่องจาก ข้อจำกัดที่มีงานวิจัยในเชิงเอกสารค่อนข้างน้อย จนไม่สามารถที่จะชี้ให้เห็นถึงสถานภาพของความรู้ที่มีอยู่ ดังนั้น การนำเอาความเคลื่อนไหวทางวิชาการเข้ามาช่วยประกอบการวิเคราะห์ จึง น่าที่บอกถึงสถานภาพและความพยายามในการสร้างองค์ความรู้ในทางกฎหมายทางด้านนี้ได้
(10) จากการสำรวจคร่าวๆ พบว่า งานวิจัยในทางกฎหมายส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ทางด้านกฎหมายเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายแพ่ง กฎหมายธุรกิจ กฎหมายภาษีอากร และกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นส่วนใหญ่ กฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ซึ่งอาจจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนจน คนด้อยโอกาส และผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเพิ่งเริ่มมีมาในช่วงหลัง สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรม เท่าที่มีปรากฏส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้อง กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่
แต่สำหรับงานวิจัยทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความยากจนโดยตรง
อาจกล่าวได้ว่าแทบไม่มีปรากฏให้เห็น เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยในทางกฎหมายในลักษณะอื่นดังที่กล่าวมาข้างต้น
และสำหรับงานวิจัยในทางกฎหมายที่มีลักษณะเป็นสหสาขาวิชา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะที่นำมิติทางกฎหมายเข้าไปร่วมในการศึกษา
มากกว่าการใช้กรอบความคิดของกฎหมายที่ว่าด้วยความยากจนมาเป็นฐานคิดการศึกษากฎหมาย
งานในลักษณะดังกล่าวนี้ มีปรากฏให้เห็นมากขึ้น และสิ่งที่ค้นพบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมาย
คือ การบ่งชี้ให้เห็นข้อจำกัดของความรู้ในทางกฎหมายแทบทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับความยากจน
แม้จะมีนักกฎหมายอยู่กลุ่มหนึ่งที่พยายามจะแสวงหาทางออกให้กับคนจนหรือคนด้อยโอกาส
ที่ได้รับผลกระทบจากราชภัยโดยการบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็เป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
มีลักษณะการแก้ที่ตัวปัจเจกผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่สาเหตุที่แท้จริงของความยากจนอยู่ที่ความยากจน
มีสาเหตุมาจากโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและกฎหมาย
โปรดดูรายละเอียดในเอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฎิบัติการเรื่อง"ทิศทางการวิจัยทางนิติศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ"
ศ.ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จัดโดย สาขาวิชานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2537 หน้า 21-35
หากจะทำการวิเคราะห์ว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และเพื่อพัฒนางานวิจัยในทางกฎหมาย
ในส่วนที่จะไปแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมต่อไป ควรที่จะทำอย่างไร ไปในทิศทางไหน
และควรจะเริ่มต้นตรงจุดใด
ดังที่ได้ยืนยันมาแล้วข้างต้นว่า งานวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจนและความไม่เป็นธรรมในสังคมมีอยู่น้อยมาก (ปรากฏการณ์ซึ่งพบว่ามีงานวิจัยในเรื่องนี้น้อย จึงเป็นสิ่งบอกเหตุที่สำคัญของการพัฒนาโจทย์วิจัยว่า มีปมปัญหาขนาดใหญ่ในแง่ของฐานความรู้เกี่ยวกับระบบกฎหมายของประเทศ ที่จะต้องทำการวิจัยเจาะลึกต่อไป) หากจะจัดกลุ่มงานศึกษาวิจัยและการเคลื่อนไหวทางวิชาการในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความยากจน และความไม่เป็นธรรมอาจจะแบ่งได้ ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
2. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความเป็นธรรม
3. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจน
4. กลุ่มงานที่มีลักษณะเป็นการศึกษาการปฏิบัติในการใช้อำนาจตามกฎหมาย
5. การเคลื่อนไหวทางวิชาการกฎหมายเกี่ยวกับความยากจน และความเป็นธรรม
1. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
งานในกลุ่มนี้ กล่าวได้ว่ามีความใกล้เคียง หรือบางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับความยากจนและความไม่เป็นธรรม(กรณี
สิทธิพลเมือง หรือสิทธิทางเศรษฐกิจ) ซึ่งอาจไม่ได้ใช้คำศัพท์หรือภาษาโดยตรงแต่โดยนัยยะเป็นการศึกษาหรือวิจัยถึงคนจน
คนด้อยโอกาส หรือสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา หรือความเสมอภาค และการดูแล-เคารพในศักดิ์ศรีจากรัฐ
(11)
(11) ตัวอย่างงานในกลุ่มนี้
เช่น
1. "สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ปรัชญา กฎหมาย และความเป็นจริงทางสังคม"
รศ. จรัญ โฆษณานันท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำนักพิมพ์นิติธรรม 2545
2. "การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา
28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 " ผศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต และคณะ
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กรุงเทพ 2544 เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม งานในกลุ่มนี้มักจะเป็นการกล่าวถึงเป้าหมายของ
กฎหมาย หรือเนื้อหาของสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ซึ่งจะแบ่งตามกลุ่มของผู้ด้อยโอกาสที่มีการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในเวทีสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ
อาทิเช่น สิทธิของชนกลุ่มน้อย สิทธิของเด็ก สิทธิของสตรี สิทธิของแรงงาน แต่ไม่ครอบคลุมหรือไม่ได้ระบุชัดถึงคนจน
หรือคนด้อยโอกาสทั่วๆ ไป
นอกจากนั้น เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งของงานศึกษาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน มักจะเน้นหนักในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางอาญาที่ไม่เป็นธรรม
และผลกระทบที่เกิดจากระบบกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะภาพทางเศรษฐกิจ
สังคม การเมือง วัฒนธรรม และกฎหมาย ดังที่จะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
2. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความเป็นธรรม
งานในกลุ่มนี้ครอบคลุมกฎหมายในหลายสาขา อาทิ เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กฎหมายวิธีพิจารณาความ และกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายเทคนิค( ตามภาษาที่นักกฎหมายส่วนใหญ่เข้าใจ)
เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายว่าด้วยการละเมิดทางปกครอง กฎหมายว่าด้วยการเวนคืน
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ ส่วนใหญ่ของงานในกลุ่มดังกล่าว จะอยู่ในงานวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิตศึกษาทางกฎหมายเป็นส่วนใหญ่
แต่อย่างไรก็ตาม งานในกลุ่มนี้ก็ยังมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับงานวิทยานิพนธ์ด้านนิติศาสตร์ทั้งหมดที่มีอยู่ และงานในส่วนดังกล่าวก็ไม่ได้ใช้ฐานคิดเรื่องความยากจนและความไม่เป็นธรรมเป็นพื้นฐานการศึกษา แต่ไปเน้นหนักที่ข้อจำกัดในทางกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงทำให้งานดังกล่าวมักจะมีข้อเสนอที่เป็นการใช้อำนาจในทางการเมือง(ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ )ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ต้นตอของปัญหาหมดไป ดังจะเห็นได้จากในหลายๆ กรณีที่มีการแก้ไขบทบัญญัติกฎหมายในส่วนที่เป็นปัญหาแล้ว แต่แนวทางในการปฎิบัติ ในการบังคับใช้กฎหมาย การตีความ ฯลฯ ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม
ด้วยเหตุนี้ จึงพิสูจน์ว่าปัญหาของกฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่ "ตัวบท" ( Text ) เพียงประการเดียวเท่านั้น หากแต่ต้องเข้าใจต่อไปถึงเงื่อนไขที่กำกับความคิดของผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย และที่สำคัญจากการศึกษากรณีเรื่องร้องเรียน และจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับคนจน มีประเด็นที่ควรต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษจำนวนมากที่ว่า ทำไมคนจน คนด้อยโอกาส เลือกที่จะไม่ใช้สิทธิตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่มีกฎหมายรับรองอยู่อย่างชัดแจ้ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ต้องเข้าใจถึงวัฒนธรรมในการใช้อำนาจหรือไม่ใช้อำนาจตามกฎหมาย การวิจัยเพื่อทำให้เกิดความสามารถในการเข้าใจเงื่อนไขดังกล่าว จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เห็นถึงเครื่องมือในทางกฎหมายอื่นๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนจน และสังคมไทย
3 กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจน
จากการตรวจสอบงานในกลุ่มนี้ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าไม่มีงานวิจัยที่เป็นชิ้นหลักๆ
ในทางกฎหมายที่ใช้ฐานคิดในเรื่องความยากจนศึกษาเลย (12) แต่ที่น่าสนใจก็คือ แม้จะไม่มีการศึกษาถึงความยากจนในทางกฎหมาย
แต่ถ้าหากนำเอาปัญหาของคนจนเป็นตัวตั้ง ก็พออนุมานในเบื้องต้นได้ว่า เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจนของกลุ่มคนจน
อาทิ เช่น กลุ่มชาวนา, กลุ่มกรรมกรผู้ใช้แรงงาน, กลุ่มผู้ป่วยจากแรงงาน, กลุ่มสลัม,
กลุ่มชาวบ้านที่ประสพปัญหาจากโครงการของรัฐ เช่น กลุ่มปัญหาที่ดิน, กลุ่มปัญหาป่าไม้,
กลุ่มปัญหาเขื่อน, กลุ่มเกษตรทางเลือก, กลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น (13)
(12) ผู้เขียนได้พยายามที่จะใช้ฐานคิดเรื่องความยากจนมาศึกษา ในเชิงปฎิสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ในบทความที่เกี่ยวข้องกับความยากจนและความไม่เป็นธรรมใน ๒ บทความ เรื่องแรกคือ "คนจนภายใต้ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย" นำเสนอในเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง " แนวทางการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางกฎหมายสำหรับคนจน " วันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ที่ เนติบัณฑิตยสภา กรุงเทพฯ เรื่องที่สองคือ "บทสังเคราะห์ระบบกฎหมายไทย : เกื้อกูล หรือ กีดกัน การเข้าถึงระบบสวัสดิการของคนจน?" เอกสารประกอบการสัมมนาโครงการการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาส โรงแรมเอเชีย กรุงเทพ วันที่ 18 ธันวาคม 2546 ซึ่งเป็นบทความทางวิชาการที่ผู้วิจัย ศึกษาและเขียนขึ้นภายหลังจากที่โครงการพัฒนาโจทย์วิจัยฯ นี้ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามในทัศนะของผู้เขียนเองบทความทั้งสองยังมีอีกหลายประเด็น ซึ่งต้องการการสังเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไปอีก
(13) การจัดคนจนเป็นกลุ่มดังกล่าว เป็นการจัดตามกลุ่มปัญหาที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในฐานะปัจเจกหรือต่อชุมชน ซึ่งเมื่อได้รับผลกระทบแล้ว ก็จะทำให้คนหล่านั้นอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงกับความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ หรือตกอยู่ในสภาพที่ไร้ปัจจัยการผลิตที่ตนเองเคยพึ่งพิง หรือตกอยู่ในสภาพที่ร่างกาย หรือสมาชิกในครอบครัวต้องแบกรับภาระของการทุพพลภาพ อันเกิดขึ้นจากการทำงานหรือเหตุอื่นๆ ที่มิใช้ตนเองเป็นต้เหตุ ซึ่งการจัดเป็นกลุ่มๆ ดังกล่าวจะช่วยทำให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาสามารถเป็นจริงได้ในทางปฎิบัติ งานในกลุ่มนี้เท่าที่มีปรากฏให้เห็น อาทิเช่น ชุดงานวิจัยเรื่อง "การศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการจัดระบบโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมโดยภาคชุมชน" โดย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ หัวหน้าโครงการ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นการศึกษากรณีต่างๆ ที่ชุมชนรวมกลุ่มกัน และจัดระบบสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกันเอง
เป็นที่น่าสนใจว่าการจัดกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากแวดวงวิชาการที่เป็นทางการหรือกระแสหลัก แต่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง องค์กรพัฒนาเอกชน แกนนำชาวบ้านตัวแทนปัญหาต่างๆ นักวิชาการกระแสรอง และกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนได้ช่วยกันศึกษาผ่านกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย หากถือเอาเกณฑ์การแบ่งกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นปริมณฑลของความยากจน งานวิจัยในทางกฎหมายที่ศึกษาถึงกฎหมายที่เป็นสาเหตุหรือเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาความยากจนของกลุ่มคนจน ก็น่าจะอนุมานได้ว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจน และงานในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อคนจนเป็นหลัก งานในส่วนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงอคติของระบบกฎหมายที่มีต่อคนจน คนด้อยโอกาส
4.
กลุ่มงานที่มีลักษณะเป็นการศึกษาการปฏิบัติในการใช้อำนาจตามกฎหมาย
ด้วยเหตุที่กฎหมายมีได้ทั้งสองมิติคือ ทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ หรือมีความเป็นวิชาการและความเป็นวิชาชีพ
ดังนั้น ภายหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การนำเอากลไกต่างๆ ในทางกฎหมายตามที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
และบทบัญญัติกฎหมายต่างๆ เอื้อ หรือเปิดช่องทางไว้มาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา
จึงมีปรากฏให้เห็นมากขึ้นผ่านทางกลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และนักกฎหมายหัวก้าวหน้าที่อยู่ในภาครัฐ
ซึ่งเผชิญกับปัญหาของกลุ่มคนจน หรือของกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งมีการรวมตัวกันมากขึ้น
งานในลักษณะนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากหากต้องการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
ทั้งในทางกฎหมายและโครงสร้างของความยากจน ทั้งนี้เนื่องจากบทเรียนที่เป็นข้อสรุปจากการใช้สิทธิ
หรือใช้อำนาจตามกฎหมายทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ให้แก่กลุ่มคนจน
ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
โดยทั่วไป งานในลักษณะนี้ไม่จำกัดเฉพาะงานที่มีลักษณะคดีความ หรือคำตัดสินคดีเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงการร้องเรียนหรือการเรียกร้องต่อกลไกของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรอิสระทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงความพยายามในการสื่อสารต่อสังคมด้วย (14)
(14) ตัวอย่างงานในกลุ่มนี้ที่น่าสนใจและอยู่ในระหว่างทดลองดำเนินการคืองานวิจัยในโครงการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายยุติธรรมชุมชน โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นการทดลองปฎิบัติการใช้อำนาจในการระงับข้อพิพาทโดยชุมชน ภายใต้แนวคิดยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถมีโอกาสที่จะจัดการความเป็นธรรมในระดับชุมชนได้ แต่อย่างไรก็ตามภายใต้แนวทางการดำเนินดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการทดลองซึ่งเป็นการปฎิบัติการจริงจึงจำเป็นที่จะต้องติดตามต่อไป
5.
การเคลื่อนไหวทางวิชาการกฎหมายเกี่ยวกับความยากจน และความเป็นธรรม
นอกจากจะมีงานวิจัยให้สามารถจับต้องศึกษาได้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ประเด็นที่น่าสนใจและน่าจะช่วยทำให้การมองภาพของกฎหมายชัดขึ้น
คือ ขณะนี้วงวิชาการทางกฎหมายมีปฎิกริยาอย่างไรต่อคำถามเรื่องความยากจนและความ(ไม่)เป็นธรรมดังกล่าว
จากการสำรวจ ประเด็นที่มีการจัดสัมมนาในทางกฎหมาย ทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
นั่นคือ ในส่วนเรื่องความไม่เป็นธรรมยังคงมีความเคลื่อนไหวในทางวิชาการในรูปแบบของการสัมมนา
ซึ่งมีให้เห็นเป็นระยะตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (15) นอกจากการสัมมนาแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวทางวิชาการในรูปนิทรรศการและการเผยแพร่ในสื่อรูปแบบต่างๆ
ด้วย
(15) การสัมมนาทางวิชาการที่น่าสนใจเป็นพิเศษซึ่งควรที่จะกล่าวถึงไว้
ณ ที่นี้มี 3 เวที คือ
1. การสัมมนาเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน ซึ่งมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นกันหลายครั้ง
โดยการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีที่มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่เวทีประชาคมแผน 8 ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี
2540 และมีการประชุมกันมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั้งในเดือน 14 มีนาคม 2546 เวทีนโยบายสาธารณะ
จึงจัดประชุมครั้งใหญ่เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการศึกษาวิจัยและทำการเคลื่อนไหวในทางกฎหมายเพื่อเอาชนะความยากจน
โดยมีกลุ่มที่สนใจในการศึกษาวิจัยในทางกฎหมายต่างๆ ณ ขณะนั้น 6 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย
1. กลุ่มกฎหมายพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน
2. กลุ่มกฎหมายองค์กรวิสาหกิจชุมชน
3. กลุ่มกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาวิสาหกิจชุมชน
4. กลุ่มกฎหมายกับการพัฒนา
5. กลุ่มกฎหมายเพื่อชุมชนและสังคม
6. กลุ่มกฎหมายสังคมภาคเหนือ
การเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์วงการกฎหมายไทยที่มีความพยายามที่จะจัดตั้งเป็นเครือข่ายการปฎิรูปกฎหมาย
เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และโครงการการพัฒนาโจทย์เพื่อการวิจัย "กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมและแก้ไขปัญหาความยากจนระยะที่
1 ก็ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้กลุ่มที่ 5 กฎหมายเพื่อชุมชนและสังคม
2. การสัมมนาเวทีสาธารณะ "การปฎิรูประบบยุติธรรม เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง และความเป็นธรรมในสังคมไทย"
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
เวทีนโยบายสาธารณะดังกล่าว ต่อมาภายหลังได้จัดสัมมนาในประเด็นเรื่องความเป็นธรรม
กับสังคมขึ้นอีกหลายครั้ง และมีการจัดตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อนำไปสู่การก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการปฎิรูประบบยุติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคม
(สปรย.)
3. การสัมมนาเรื่อง "แนวทางการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางกฎหมายสำหรับคนจน" เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ที่ สำนักศึกษาอมรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา กรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวงการกฎหมายไทย ที่ประธานศาลฎีกา ในฐานะของประมุขของศาลยุติธรรม ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการสร้างความเป็นธรรมและเกี่ยวข้องกับคนจนและปัญหาในทางคดีของคนจนมาแสดงปาฐกถา ในเรื่องที่เกี่ยวกับคนจน ซึ่งสถาบันตุลาการไม่เคยได้แสดงความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวมาก่อน และอีกประการหนึ่งคือ เป็นความร่วมมือกันของประมุขฝ่ายตุลาการ ประมุขของฝ่ายบริหาร และของฝ่ายนิติบัญญัติที่กล่าวถึงเรื่องความเป็นธรรมของคนจน
แม้จะมีงานและความเคลื่อนไหวในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความยากจน และความไม่เป็นธรรมดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ในปัจจุบันมีงานวิจัยในด้านอื่นๆ ที่ศึกษาปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในเชิงปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นและตั้งคำถาม ท้าท้าย หรือมีข้อเรียกร้องต่อระบบกฎหมาย ไม่ว่าจะเรียกร้องต่อนักกฎหมาย ต่อกลไกของระบบกฎหมาย หรือต่อวงการศึกษาทางกฎหมาย ฯลฯ ให้เห็นมากขึ้น (16)
(16) มีตัวอย่างการเคลื่อนไหวทางวิชาการที่น่าสนใจ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนี้และควรกล่าวถึงคือ ข้อเสนอให้มีการแก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐของกลุ่มสมัชชาคนจนต่อรัฐบาล โปรดดูรายละเอียดใน "หนึ่งทศวรรตสมัชชาฅนจน ถึงเวลา เสนอนโยบาย ทางเลือกต่อสังคมไทย" ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการประมวลความคิดเห็น ความต้องการ ของบุคคลที่เรียกตนเองได้อย่างเต็มปากมากที่สุดว่าเป็น "คนจน"
และโปรดดู "วิถีชีวิต วิธีสู้ ขบวนการประชาชนร่วมสมัย" ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ โครงการพลวัตเศรษฐกิจการเมืองไทย สกว. สำนักพิมพ์ตรัสวิน(ซิลค์เวอร์มบุคล์) เชียงใหม่ ( 2545) ประกอบ
นอกจากงานวิชาการในลักษณะที่เป็นงานวิจัยและการเคลื่อนไหวในทางกฎหมายแล้ว ควรที่จะสำรวจหลักสูตรนิติศาสตร์ที่ใช้ในการผลิตบุคลากรทางกฎหมาย ว่ามีส่วนทำให้นักศึกษากฎหมายมีโอกาสที่จะรับรู้ เข้าใจปัญหาเรื่องความยากจน คนจน และ ความไม่เป็นธรรมในโลกของความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด. จากการสำรวจหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งเป็นต้นทางในการผลิตนักกฎหมายในเบื้องต้น พบว่า มีวิชาที่เปิดสอนในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความยากจนน้อยมาก จนแทบจะไม่มีนัยสำคัญ และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ เนื้อหาส่วนใหญ่กลับมองความยากจนเป็นภาระของผู้ที่มีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะต้องแบกรับภาระต่างๆ ในทางกฎหมายพ่วงมาด้วย โดยที่กระบวนการเรียนการสอนไม่ได้มีคำตอบให้กับนักศึกษาว่า จะแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาอย่างไร นอกจากการทำให้นักศึกษากฎหมายทราบและเข้าใจเพียงว่า ได้ทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว และเป็นหน้าที่ของนักกฎหมายที่จะต้องทำตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยไม่มีการตรวจสอบหรือตั้งคำถามต่อกฎหมาย (หรือในความเป็นจริงควรที่จะต้องตั้งคำถามกับระบบกฎหมายทั้งระบบ)
นอกจากประเด็นเรื่องความยากจนแล้ว ประเด็นเรื่องความเป็นธรรมในด้านอื่นๆ เช่น การคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองและการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ ก็ไม่ได้อยู่ในสัดส่วนที่มากเพียงพอที่จะทำให้เกิดการรับรู้เรื่องความยากจน และความไม่เป็นธรรม (17)
(17) ผู้เขียนทราบดีว่า การที่จะมีข้อสรุปใดๆ ต่อหลักสูตรนิติศาสตร์ของสถาบันต่างๆ ควรที่จะทำการสำรวจและตรวจสอบในแง่มุมต่างๆ ด้วยวิธีการที่ละเอียดอ่อนมากกว่าเพียงแค่ดูรายชื่อกระบวนวิชาและเนื้อหาในกระบวนวิชาที่สอนเท่านั้น แต่ในที่นี้ อย่างน้อยเท่าที่ยืนยันได้ในฐานะที่ผู้เขียนเกี่ยวข้องในการจัดทำหลักสูตร และสอนในหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนที่จะมีการปรับปรุงหลักสูตรซึ่งใช้เป็นกรอบโครงสร้างเนื้อหาในทางกฎหมายในการเรียนการสอนมาเป็นเวลาเกือบสิบปี ไม่มีวิชากฎหมายใดโดยตรงที่สอนเรื่องความยากจน
อย่างไรก็ตาม พื่อความเป็นธรรมกับหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควรที่จะกล่าวด้วยว่า แม้การเรียนการสอนจะดำเนินการตามหลักสูตรก็ตาม สาขาวิชานิติศาสตร์ซึ่งทราบถึงข้อจำกัดดังกล่าว ก็ได้พยายามที่จะจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรในรูปแบบต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่สนใจได้เรียนรู้ถึงสภาพการณ์จริงชิงปฏิบัติจริงเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรม อันเกิดขึ้นจากระบบกฎหมาย
สาเหตุที่ในหลักสูตรนิติศาสตร์แทบจะไม่มีกระบวนวิชาที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจเกี่ยวกับความยากจนและความไม่เป็นธรรม
ก็ด้วยเหตุผลที่เป้าหมายของหลักสูตรนิติศาสตร์ ต้องการที่จะผลิตนักกฎหมายตามที่ตลาดวิชาชีพต้องการ
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือ การผลิตนักกฎหมายเพื่อตอบสนองวงการธุรกิจ การค้า หรือการปกครองเป็นส่วนใหญ่
(18) ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์
(18) โปรดดูรายละเอียดในเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง "การสร้างนักกฎหมายยุคใหม่
: จะร่วมกันทำให้เป็นจริงได้อย่างไร?" จัดโดย โครงการพัฒนาระบบกฎหมายไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) ร่วมกับ สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
และสภาทนายความ เมื่อ วันที่ 10 สิงหาคม 2543 ณ โรงแรม เดอะแกรนด์ ซึ่งแทบจะไม่มีประเด็นเรื่องความยากจนเลยในการสัมมนาที่สำคัญ
แม้ว่านานๆ ครั้งที่วงการศึกษากฎหมายจะหยิบเอาประเด็นเรื่องการศึกษากฎหมาย ขึ้นมาถกเถียงกันอย่างจริงจัง
จากการสำรวจข้างต้น แสดงให้เห็นถึงสภาพการณ์ที่เป็นข้อจำกัดของระบบการพัฒนาองค์ความรู้ในการกฎหมายของสังคมไทย ซึ่งในปัญหาอย่างเดียวกัน เกี่ยวกับเรื่องความยากจน (Poverty) และความเป็นธรรม ( Justices) ในระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ จากการศึกษาทำให้พบว่ามีการศึกษาในเรื่อง กฎหมายกับความไม่เป็นธรรม, กฎหมายกับความยากจนกันเป็นกิจลักษณะ มีการพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือแก่คนจนคนด้อยโอกาสอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม มีการจัดทำวารสารทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจนโดยตรง มีการศึกษาเพื่อการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมาย มีระบบการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ ฯ ลฯ (19) ซึ่งเป็นประสบการณ์ของระบบกฎหมายที่มีใช้อยู่ในประเทศต่างๆ ที่วงการนิติศาสตร์ไทยควรตระหนัก และรับช่วงต่อในการศึกษาลงไปในรายละเอียด
(19) ผู้สนใจสามารถที่จะเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ www.law.georgetown.edu/journals/poverty ซึ่งเป็นเว็บไซต์ ของวารสารกฎหมายเกี่ยวกับความยากจนและนโยบาย ( Journal on Poverty Law and Policy ) นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่สนใจในงานทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจนในเวทีระหว่างประเทศ สามารถที่จะเข้าไปค้นคว้าได้ในเว็บไซต์ หัวข้อ law and poverty เพิ่มเติม
คลิกไปอ่านต่อบทความเกี่ยวเนื่อง ลำดับที่ 1543
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com