1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
รายงานการดำเนินการพัฒนาโจทย์เพื่อการวิจัยทางกฎหมาย
โจทย์เพื่อการวิจัย:
ประเด็นกฎหมายกับการแก้ปัญหาความยากจน
(๒)
ไพสิฐ
พาณิชย์กุล : ผู้วิจัย
อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
บทความเพื่อสิทธิพลเมือง
และสิทธิทางเศรษฐกิจ (กรณีคนจนในประเทศไทย)
งานวิจัยในทางกฎหมายชิ้นนี้เป็นข้อเสนอโจทย์ของการวิจัยทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจน
และความไม่เป็นธรรม เนื่องจากแนวทางการวิจัยในประเด็นดังกล่าวในสังคมไทยมีอยู่น้อยมาก
(เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ) ปรากฏการณ์ซึ่งพบว่ามีงานวิจัยเหล่านี้น้อย
จึงเป็นสิ่งบอกเหตุที่สำคัญ
ของการพัฒนาโจทย์วิจัยว่า เป็นปมปัญหาขนาดใหญ่ในแง่ของฐานความรู้เกี่ยวกับระบบกฎหมายของประเทศ
ที่จะต้องทำการวิจัยเจาะลึกต่อไป และหากจะจัดกลุ่มงานศึกษาวิจัยและการเคลื่อนไหวทางวิชาการในทาง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความยากจน และความไม่เป็นธรรมแล้ว อาจจะแบ่งได้ ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
2. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความเป็นธรรม
3. กลุ่มงานศึกษาวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจน
4. กลุ่มงานที่มีลักษณะเป็นการศึกษาการปฏิบัติในการใช้อำนาจตามกฎหมาย
5. การเคลื่อนไหวทางวิชาการกฎหมายเกี่ยวกับความยากจน และความเป็นธรรม
เนื่องจากต้นฉบับของงานวิจัยฉบับนี้มีความยาวเกือบ
๕๐ หน้ากระดาษ จึงได้แบ่งการนำเสนอ
ออกเป็น ๒ หัวข้อติดต่อกันในลำดับที่ ๑๕๔๓ และ ๑๕๔๔ เพื่อความสะดวกในการจัดหน้าและการอ่าน
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๕๔๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๕ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๖ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานการดำเนินการพัฒนาโจทย์เพื่อการวิจัยทางกฎหมาย
โจทย์เพื่อการวิจัย:
ประเด็นกฎหมายกับการแก้ปัญหาความยากจน
(๒)
ไพสิฐ
พาณิชย์กุล : ผู้วิจัย
อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ต่อจากบทความลำดับที่
1542
(๓) แนวคิดในการพัฒนาโจทย์วิจัยในอนาคต
หัวใจสำคัญของการพัฒนาโจทย์วิจัยในทางกฎหมาย ควรที่จะมีเป้าหมายอยู่ที่ เราจะสร้างระบบและใช้มาตรการ
กลไกในทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างไร,
ด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธีใด, โดยบทบาทของใคร?
จากการทบทวนและจัดกลุ่มงานในทางกฎหมายพร้อมทั้งความเคลื่อนไหวในทางวิชาการซึ่งเกี่ยวกับปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้เห็นข้อด้อยในวิชาการทางกฎหมายไทย ที่ไม่มองปัญหาความยากจน หรือหากมีนักกฎหมายที่สนใจมองปัญหาดังกล่าวก็เป็นเพียงในฐานะปัจเจก. การมองปัญหาความยากจน ความไม่เป็นธรรมในฐานะที่เป็นสำนักความคิดทางกฎหมาย หรือในเชิงสถาบันยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การที่จะทำให้ประเด็นเรื่องความยากจน ความไม่เป็นธรรม เป็นประเด็นที่หยิบขึ้นมาถกเถียงเป็นประเด็นสาธารณะในทางกฎหมาย รวมถึงความพยายามในการสร้างกรอบความคิดใหม่ๆ ที่จะเข้าใจสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจึงยังไม่เกิดขึ้น การแสวงหาทางออกก็ยังคงวนเวียนอยู่ในกรอบคิด วิธีการแบบเดิมๆ อาทิเช่น การมองปัญหาความยากจนความไม่เป็นธรรมในกรอบคิด โง่ จน เจ็บ ด้วยเหตุนี้ ทางแก้จึงเป็นสูตรสำเร็จที่คุ้นชินอยู่ในระบบราชการและในทางการเมือง ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาความยุ่งยากมากขึ้น
ด้วยข้อจำกัดของระบบกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ประกอบกับความสลับซับซ้อนและการมีประเด็นที่ครอบคลุมในมิติต่างๆ มากมายเกี่ยวกับความยากจนและความไม่เป็นธรรม
จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นออกแบบขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อพัฒนากระบวนการวิจัย ที่จะต้องใช้ตอบคำถามปัญหาความยากจน
ปัญหาความไม่เป็นธรรมทั้งหลายในบริบทสังคมไทย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโจทย์วิจัยไม่ควรที่จะถูกกำหนดขึ้นมาจากนักกฎหมาย
ที่มองปัญหาในเชิงเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว เหตุนี้ในขั้นแรกจึงจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า
ในการวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบที่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมโดยอาศัยกฎหมายนั้น
จักต้องอาศัยกระบวนและเทคนิคในการบริหารการวิจัยอย่างไร เพื่อให้ได้โจทย์วิจัยที่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมได้
หากเริ่มต้นการศึกษาโดยดูจากงานศึกษาการแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในทางปฏิบัติ
หรือจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ดังเช่นงานศึกษาชุดโครงการการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย
โดย รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ และคณะที่เสนอว่า ในขั้นต้นของการจะแก้ไขปัญหาความยากจน
จะต้องสร้างระบบสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าที่คนจนประสบ
เพื่อไม่ให้คนจนตกอยู่ในสภาพที่จมดิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ แล้วหลังจากนั้น ต้องนำมาตรการอื่นๆ
เข้ามาแก้ไขอื่นๆ ตามมา ทั้งทางด้านปัจจัยการผลิต ด้านสิทธิ และโอกาส ด้านความสัมพันธ์ความไม่เสมอภาคอันเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
สังคม และการเมือง เป็นต้น
และนอกจากนั้น ในงานศึกษาดังกล่าวได้ศึกษาจากกรณีศึกษาที่เป็นต้นแบบที่ชุมชนสามารถใช้ภูมิปัญญาและศักยภาพของชุมชนในการจัดระบบสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนด้วยกันเองได้ นอกจากกรณีศึกษาที่ปรากฏในงานดังกล่าวแล้ว ยังมีงานชุดวิจัยที่เกี่ยวกับศักย์ภาพของท้องถิ่นที่สนับสนุนโดย สกว. อีกหลายๆโครงการ (20)
(20) เพื่อความสะดวกในการศึกษา
กรณีที่เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นจริง งานที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจ
โปรดดูรายละเอียดในงานดังต่อไปนี้
1. "นามานุกรมนวัตกรรมท้องถิ่นไทย ประจำปี 2547" รศ.ดร. จรัส สุวรรณมาลา
และคณะ โครงการวิถีใหม่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2547
2. "ฟื้นฟูภูมิปัญญาปักษ์ใต้ ผ่านกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น"
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค 2547
งานศึกษาอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นการสังเคราะห์ประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อส้รางความเข้มแข็งให้ชุมชน และน่าจะเป็นแนวทางที่สำคัญต่อการพัฒนาโจทย์วิจัยในทางกฎหมายแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในสังคม โดยที่คนจนและผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตนเอง คือ การถอดประสบการณ์ที่เป็นบทเรียนจากชุมชนต่างๆ ทั้งที่ล้มเหลวภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจตลอดระยะสี่สิบปีที่ผ่านมา และชุมชนที่ประสบความสำเร็จที่สามารถจะเผชิญปัญหาและพึ่งตนเองได้ ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน ที่ชี้ให้เห็นว่าการจะแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมนั้น จะต้องใช้แนวทางหรือยุทธศาสตร์ในการแก้ปมปัญหาที่มีมิติที่สำคัญดังต่อไปนี้
1.มีการสร้างเครือข่าย ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยชุมชนเอง เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายอันจะนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์
ในโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองใหม่
2. เครือข่ายชุมชนจะต้องมีการจัดการความรู้ของตนเอง
3. เครือข่ายจะต้องมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นการดึงเอาทุนเดิมที่มีอยู่ผสานกับความรู้จากภายนอกหรือความรู้สากลมา อันจะทำให้ชุมชน และเครือข่ายชุมชนสามารถที่จะดำรงคงอยู่โดยพึ่งตนเองได้ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
โดยผู้ที่เป็น "คนนอกชุมชน" ซึ่งต้องการที่จะเข้าไปสนับสนุนชุมชน จะต้องเข้าไปทำให้เครือข่ายชุมชนก่อเกิดองค์ประกอบทั้งสามประการดังกล่าว (21)
(21) โปรดดูรายละเอียดใน "วัฒนธรรมองค์กรของโลกยุคใหม่ เครือข่าย ยุทธวิธีเพื่อประชาคมเข้มข้น ชุมชนเข้มแข็ง" เสรี พงศ์พิศ โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เจริญวิทย์การพิมพ์ เมษายน 2548 กรุงเทพฯ หน้า 23-28
กล่าวโดยสรุปในส่วนที่เกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาโจทย์วิจัย ซึ่งจะเป็นเข็มทิศให้กับกระบวนการในการดำเนินงาน คือ จากการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนแบบองค์รวม ที่ค้นหาแนวทางในการแก้ปัญหาในระดับปฎิบัติจริงในพื้นที่ต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า ระบบกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม และผลักให้ผู้คนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือภาวะที่ไม่มีความมั่นคงในหลักประกันของสิทธิตกอยู่ในความยากจน ดังนั้น จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เหล่านั้นที่เป็นสาเหตุของปัญหาต่อคนจน คนด้อยโอกาสด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายยังเป็นเรื่องรอง และการแก้ไขกฎหมายไม่ได้เป็นคำตอบของทั้งหมดของปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม ยังมีกระบวนการบางอย่างซึ่งมีความจำเป็น กล่าวคือ จากประสบการณ์ของชุมชนต่างๆ หรือของกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ประสบการณ์เหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนำเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยเพื่อจัดการกับปัญหา ด้วยเหตุนี้ กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม จึงจำเป็นต่อการเข้าถึงปัญหาและการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด และเป็นการเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง
ดังนั้น นอกจากประเด็นเนื้อหาในรายละเอียดของกฎหมายที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงแล้ว (ระบบกฎหมายไม่ได้มีขอบเขตเฉพาะแต่บทบัญญัติกฎหมายที่เป็นตัวบท เท่านั้น แต่ระบบกฎหมายเป็นระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซ้อนทับลงไปในสังคม) ยังจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการปรับระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ดังที่ในหลายๆ ชุมชนสามารถทำได้สำเร็จ และเพื่อให้สามารถใช้ กระบวนการวิจัยในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม กระบวนการวิจัยที่จะนำมาใช้ควรที่จะครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
1. การวิจัยเพื่อทำให้ทราบถึงสาเหตุหรือความเป็นจริงของปัญหาความยากจนและ ความไม่เป็นธรรม (ทุกข์-สมุทัย)
2. การวิจัยเพื่อแสวงหาทางออกของปัญหาที่มีความเป็นเหตุเป็นผล เป็นธรรม และสามารถที่จะปฏิบัติได้จริงๆ
บนรากฐานของสังคมไทย โดยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม (นิโรธ - มรรค)
3. การวิจัยเพื่อทำลายมายาคติในทางกฎหมายและวัฒนธรรม ที่สร้างความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมทั้งหลาย
อันจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ และแนวความคิดใหม่ๆ ขึ้นในวงการนิติศาสตร์ไทย
4. กระบวนการวิจัยในฐานะที่จะต้องถูกพัฒนาให้เป็นเครื่องมือของชุมชนที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการจัดการ
ชุมชนท้องถิ่นหรือของกลุ่ม ให้หลุดพ้นจากความยากจนหรือความไม่เป็นธรรม
โดยเป้าหมายของกรอบและแผนกระบวนการวิจัยทางกฎหมายควรที่จะต้องประกอบด้วยเป้าหมายที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1. กลุ่มกระบวนการวิจัยเพื่อการสนับสนุนการก่อตั้งเครือข่ายเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม
กลุ่มที่ 2. กลุ่มกระบวนการวิจัยเพื่อการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและเชิงกระบวนการที่ก่อให้เกิดความยากจนและความไม่เป็นธรรม
กลุ่มที่ 3. กลุ่มกระบวนการวิจัยที่เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในทางกฎหมายเพื่อสร้าง และขยายฐานทางความคิดในทางกฎหมาย เพื่อความเข้าใจของนักกฎหมาย โดยทั้งสามกลุ่มจะต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ดังภาพ
(๔) บทสังเคราะห์จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนได้รับ
4.1 การเข้าถึงระบบข้อมูล
4.2 สิ่งที่ข้อมูลบ่งชี้ถึงความเดือดร้อน
4.3 สิ่งที่ข้อมูลบ่งชี้ถึงปัญหาและข้อจำกัดของระบบการเยียวยาแก้ปัญหาของภาครัฐ
4.1 การเข้าถึงระบบข้อมูล
การประสานงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงระบบฐานข้อมูลในส่วนที่เป็นปัญหาในเรื่องความไม่เป็นธรรมใน
2 ระดับคือ
1. ข้อมูลในระดับของประชาชนทั่วไป
2. ข้อมูลในระดับของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม
1. ข้อมูลในระดับของประชาชนทั่วไป
การประสานงานเพื่อการวางระบบการเข้าถึงฐานข้อมูลในระดับประชาชนทั่วไป ได้ดำเนินการผ่านทางเครือข่ายการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน
และเครือข่ายอิสระของภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นหลัก วิธีการในการประสานความร่วมมือกระทำผ่านรูปแบบการจัดเวทีในการแก้ปัญหาของเครือข่ายต่างๆ
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เครือข่ายมักจะเป็นผู้ที่ร้องขอให้เข้าไปสนับสนุนในฐานะที่เป็นตัวแทนของภาควิชาการทางกฎหมาย
และภาควิชาการที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาโดยภาคประชาชนเอง
ตัวอย่างกรณีเครือข่ายที่ได้ดำเนินการในการประสานและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในทางด้านข้อมูล
เพื่อพัฒนาเป็นการวิจัยต่อไปได้แก่
- เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศภายใต้การสนับสนุนของ ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาค ภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC)
- เครือข่ายองค์กรชุมชนในภาคเหนือ ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ
- เครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่ 6 จังหวัด( ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และ กาญจนบุรี ) ภายใต้โครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
- เครือข่ายองค์กรชุมชนในภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิหยาดฝน
- เครือข่ายสลัมสี่ภาค
- กลุ่มชาวบ้านจำนวน 15 คน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีการปกป้องที่ดินสาธารณะ กรณีจังหวัดลำพูน เป็นต้น
2.
ข้อมูลในระดับของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม
มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ
และกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว
การประสานงานเพื่อนำข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการพัฒนาโจทย์ในการวิจัย
มีข้อจำกัดในข้อกฎหมายสำหรับเรื่องร้องเรียนที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของหน่วยงาน
ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเรื่องของความลับของข้อร้องเรียน ความปลอดภัยของผู้ร้องเรียน
ความเสียหายในทางชื่อเสียงของผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือถูกพาดพิงถึง ฯลฯ ด้วยเหตุของข้อจำกัดทางกฎหมายดังกล่าว
จึงทำให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในขณะที่โครงการวิจัยกำลังดำเนินการเก็บข้อมูลอยู่
จึงไม่อาจที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อหน่วยงานได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว
ก็สามารถที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยที่สามารถสะท้อนความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นได้
หน่วยงานที่ได้ดำเนินการประสานงาน ทั้งที่เป็นทางการและโดยอาศัยความสัมพันธ์ในทางส่วนตัว ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆดังต่อไปนี้
- สำนักงานศาลปกครองกลาง
- สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา
- ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี
- สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ( กรรมาธิการวุฒิสภา, วิทยุรัฐสภา)
- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี
- สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
- กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- กลุ่มจังหวัดCEOภาคเหนือตอนล่าง (ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ,จ.สุโขทัย ,จ. พิษณุโลก , และ จ. เพชรบรูณ์)
- สำนักงานจังหวัดน่าน
- ฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สภาทนายความ
- เครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบลที่ให้ความสนใจในการแก้ปัญหาความความยากจน
แต่อย่างไรก็ตาม จากการประสานงานกับหน่วยงานเหล่านี้ ทำให้ได้เข้าใจถึงปัญหาที่เป็นข้อจำกัดของระบบการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ร้องเรียนมายังหน่วยงานของรัฐ ซึ่งในที่สุดแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของระบบราชการและระบบกฎหมาย ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเพราะมุ่งที่จะแก้ไขเฉพาะรายที่ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ซึ่งเป็นการแก้ในลักษณะของการตั้งรับ และรอจนกว่าจะเกิดการร้องเรียนขึ้น
4.2
สิ่งที่ข้อมูลบ่งชี้ถึงความเดือดร้อน
จากการศึกษาลักษณะของข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากบางส่วนซึ่งดำเนินการเสร็จจากสำนักงานศาลปกครองกลาง,
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(รวมทั้งสิ้นประมาณ 200 เรื่อง) ทำให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของข้อร้องเรียนดังต่อไปนี้
ลักษณะความไม่เป็นธรรม ที่ได้จากการศึกษาเรื่องร้องเรียนต่างๆที่ร้องมายังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียน สามารถที่จะสะท้อนภาพลักษณะสำคัญๆ ได้ดังนี้
1. ลักษณะธรรมชาติของข้อร้องเรียน
2 เนื้อหาของลักษณะความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรม ที่ได้จากข้อร้องเรียน
3.เนื้อหาของลักษณะความเดือดร้อน ที่ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความยากจน ความไม่เป็นธรรม
4. เนื้อหาของลักษณะความเดือดร้อน ที่ได้จากการศึกษาต่อยอดจากงานวิจัยการพัฒนาระบบสวัสดิการคนจนและคนด้อยโอกาส
5. เนื้อหาของลักษณะความเดือดร้อน ที่ได้จากเวทีสัมมนาวิชาการร่วมประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครอง
1. ลักษณะธรรมชาติของข้อร้องเรียน
ในฐานะข้อมูลในการวิจัย ข้อร้องเรียนต่างๆ จำนวนมากมายที่ร้องมายังหน่วยงานต่างๆ
ทุกเรื่องต้องทำมาในรูปแบบของเอกสาร ซึ่งแทบทั้งหมดของข้อร้องเรียนจะส่งมาในรูปของจดหมาย
ดังนั้น หากจะต้องมีการจัดทำระบบการร้องเรียนในรูปของจดหมายแล้ว นั้นเท่ากับว่าระบบการร้องเรียนความไม่เป็นธรรม
ความเดือดร้อน จะเป็นประโยชน์หรือเป็นช่องทางที่ใช้ได้ดีสำหรับผู้ที่เดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม
ในกรณีที่อ่านออกเขียนได้และพอที่จะรู้ช่องทางในการบรรเทาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอยู่บ้าง
และนอกจากนั้น จากการตรวจสอบข้อร้องเรียน พบว่า มีทั้งที่ร้องเรียนเป็นเรื่องส่วนตัวที่ตนเองได้รับ
และเป็นเรื่องร้องเรียนในนามของกลุ่ม
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของทางราชการส่วนใหญ่กำหนดให้ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากสะดวกแก่หน่วยงานในการที่จะดำเนินการและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ระบบการดำเนินการในรูปแบบนี้ แม้จะมีความจำเป็นสำหรับระบบราชการ แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เป็นต้นว่าปัญหาของการสื่อเนื้อหาความไม่เป็นธรรม ระบบงานสารบรรณในการติดตามเรื่อง ฯลฯ ซึ่งแม้จะเป็นปัญหา แต่ก็ต้องพยายามปรับปรุงระบบให้สอดคล้องกับสภาพความเดือดร้อน เช่น การปรับปรุงเพิ่มเติมระบบการร้องเรียนด้วยวาจา หรือรูปแบบวิธีอื่นๆ ที่สามารถที่จะกระจายบริการให้ลงไปถึงกลุ่มผู้ที่เดือดร้อนที่ไม่อยู่ในสถานะที่พร้อมจะใช้บริการในระบบเอกสารปัจจุบันได้ เช่นการมีระบบการสุ่มประเมินจากกลุ่มต่างๆ โดยตรง และโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง เสมอไป
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อร้องเรียนทั้งหลาย รวมถึงการฟ้องเป็นคดีเข้ามาสู่ศาล ในทางด้านเนื้อหาของข้อร้องเรียนและการฟ้องคดี พบว่า ลักษณะของความเดือดร้อนนั้น ไม่ได้เป็นความเดือดร้อนที่เกิดเฉพาะแต่คนจนเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นโดยทั่วๆ ไป ดังต่อไปนี้
- ความไม่เป็นธรรมจากการใช้อำนาจของข้าราชการ (22)
- ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวข้าราชการจากระบบราชการ (23)
- การเรียกร้องชดเชยความเสียหายจากรัฐในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิด (24)
- การร้องเรียนเพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกลั่นแกล้ง (25)
- การร้องเรียนเพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ (26)
(22) เช่น ข้อร้องเรียนการประมูลที่ไม่โปร่งใส
, การฟ้องคดีการใช้อำนาจและไม่ใช้อำนาจโดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(23) เช่น การร้องเรียนและการฟ้องคดีเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยของข้าราชการ และรวมถึงการที่รัฐหรือส่วนราชการฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ร่วมรับผิดในการกระทำละเมิด
(24) เช่นการร้องเรียนและการฟ้องคดีเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ตนควรจะได้รับตามกฎหมาย
(25) เช่น กรณีการร้องเรียนการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา
การออกหมายต่างๆ
(26) โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติด ที่ใช้วิธีการรุนแรง
2 เนื้อหาของลักษณะความเดือดร้อน
ความไม่เป็นธรรม ที่ได้จากข้อร้องเรียน
การสำรวจถึงข้อร้องเรียนต่างๆ ถือเป็นการนำร่องที่ดีในการดึงประเด็นที่พบจากข้อร้องเรียนซึ่งเป็นความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริงมาศึกษา
แต่อย่างไรก็ตาม การสำรวจและศึกษาในลักษณะดังกล่าว นับว่ายังมีข้อจำกัดอยู่มาก
นั่นคือ ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานราชการ เกี่ยวกับข้อร้องเรียนต่างๆ
ที่กำลังดำเนินการอยู่ ทำให้ไม่สามารถที่จะนำข้อมูลจากการร้องเรียนความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่มากมายมาศึกษาได้
เหตุนี้ จึงทำให้ข้อร้องเรียนในหลายๆ กรณี ไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ในทางการวิจัยได้อย่างเต็มที่
แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อมูลจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ข้อมูลความเดือดร้อนที่ฟ้องเป็นคดีเข้ามาสู่ศาลปกครอง และข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำให้สามารถที่จะสังเคราะห์ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง ปฏิบัติการของระบบกฎหมายที่นำไปสู่ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่ผู้ร้องเรียนได้รับ ซึ่งอาจจะแบ่งเป็นลักษณะของความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมได้ดังนี้
- ปัญหาเกี่ยวกับเป้าหมายของกฎหมายหรือเจตนารมณ์ขัดแย้งกัน
- ปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- ปัญหาการใช้ดุลพินิจที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
- ปัญหาการไม่ได้รับการดำเนินการให้เป็นไปตามสิทธิหรือข้อตกลงที่ทำไว้กับประชาชน - ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยที่หน่วยงานของรัฐไม่เข้ามาแก้ไข หรือดำเนินการด้วยข้อหาเล็ก แต่การเอารัดเอาเปรียบยังคงมีอยู่และได้รับการรับรองโดยกฎหมายโดยทางอ้อมว่าถูกตรวจสอบและดำเนินคดีแล้ว
- ปัญหาการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ หรือองค์กรที่มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามเป้าของการปฏิบัติราชการ มากกว่าการอำนวยความยุติธรรม
3.เนื้อหาของลักษณะความเดือดร้อน
ที่ได้จากการสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความยากจน ความไม่เป็นธรรม
การสังเคราะห์ในส่วนนี้นำงานศึกษาวิจัยมาทำการสังเคราะห์ เพื่อสะท้อนความไม่เป็นธรรม
ปัญหา-สาเหตุของความยากจน ทางออกและทางเลือกของคนจนและคนด้อยโอกาส งานศึกษาวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ประกอบด้วย
- โครงการวิจัย ระบบบริหารจัดการท้องถิ่น (27)
- งานศึกษาเรื่องขบวนการทางสังคมในประเทศไทย (28)
- โครงการวิจัยพลวัตเศรษฐกิจชุมชน 3 ลุ่มน้ำในประเทศไทย พ.ศ.2543-2545:ชุมชนหมู่บ้านลุ่มน้ำขาน (29)
(27) "โครงการวิจัยเพื่อการบริหารจัดการในท้องถิ่น"
ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ และคณะ,(สกว.)
(28) โครงการพลวัตเศรษฐกิจการเมืองไทย พ.ศ. 2543 "วิถีชีวิต วิธีสู้ ขบวนการประชาชนร่วมสมัย
" ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ, (สกว.)
(29) โครงการวิจัยพลวัตเศรษฐกิจชุมชน ๓ ลุ่มน้ำในประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๕, ชุมชนหมู่บ้านลุ่มน้ำขาน"
พรพิไล เลิศวิชา และคณะ, (สกว.)
4. เนื้อหาของลักษณะความเดือดร้อน
ที่ได้จากการศึกษาต่อยอดจากงานวิจัยการพัฒนาระบบสวัสดิการคนจนและคนด้อยโอกาส
ในระหว่างการดำเนินการเพื่อประสานงานกับทีมวิจัยชุดต่างๆ ในเครือข่ายของ สกว.
ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมในการให้ความเห็นในระหว่างกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล จึงทำให้มีโอกาสที่จะนำข้อมูลที่อยู่ในระหว่างการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในลักษณะของการต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นโจทย์การวิจัย
และที่สำคัญเครือข่ายของประชาชนในฐานะที่เป็นคนจนหรือผู้ด้อยโอกาสในการพัฒนางานวิจัยในขั้นต่อไป
สามารถที่จะใช้เครือข่ายดังกล่าวเพื่อพัฒนากระบวนการวิจัยในรูปแบบของการวิจัยแบบมีส่วนร่วม(Action
- Participatory Research) เพื่อทำให้เกิดการเสริมสร้างพลัง (Empowerment)ในการพึงตนเองของคนจนและคนด้อยโอกาส
5. เนื้อหาของลักษณะความเดือดร้อน
ที่ได้จากเวทีสัมมนาวิชาการร่วมประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครอง
ประเด็นที่ใช้ในการสัมมนา เพื่อต้องการให้ประธานศาลแต่ละศาล (ในฐานะที่เป็นผู้นำขององค์กรที่มีอิทธิพลในทางกฎหมายมากที่สุดในประเทศ
ทั้งในแง่วิชาการและในแง่ของบทบาทในการบังคับใช้กฎหมาย) ได้สังเคราะห์ทำความเข้าใจ"ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับข้อมูล"กับ"ความไม่เป็นธรรมในสถานการณ์จริง"
ที่เกิดจากบทบัญญัติในทางกฎหมายกับคนจน เช่น ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน ประเด็นเรื่องบทบาทขององค์กรศาลในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับคนจนหรือคนด้อยโอกาส
4.3
สิ่งที่ข้อมูลบ่งชี้ถึงปัญหาและข้อจำกัดของระบบการเยียวยาแก้ปัญหาของภาครัฐ
ระบบการเยียวยาแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมของภาครัฐ
ซึ่งมีข้อจำกัดที่จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร (ทั้งนี้เพื่อการยืนยันระบุถึงตัวบุคคลที่สามารถตรวจสอบได้ในภายหลังว่าเป็นผู้ที่มีตัวตนจริง
และสามารถพิสูจน์ได้) ถือว่ายังไม่เอื้อหรือไม่สนับสนุนให้เกิดการใช้ช่องทางนี้
(เว้นแต่จะเป็นปัญหาที่ผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหมดทางเลือกอื่นๆ แล้ว และปัจจุบันได้มีการปรับปรุงให้มีระบบการร้องเรียนทางโทรศัพท์สายด่วน
การร้องเรียนผ่านทางอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่จะใช้บริการ)
อีกทั้งในหลายๆ กรณี ต้องมีการจัดทำเป็นเอกสารที่มีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร จนเป็นอุปสรรคต่อการร้องเรียน
ด้วยเหตุดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงเกี่ยวกับช่องทางการใช้ประโยชน์ดังกล่าว
ในแง่ของระบบการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ภายในหน่วยงานภาครัฐ จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้น พบว่ามีปัญหาและข้อจำกัดดังต่อไปนี้
1. สภาพของข้อมูลที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของประชาชน มีลักษณะที่กระจัดกระจายไปตามหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย จนไม่สามารถเห็นถึงความเดือดร้อนในภาพรวม เกี่ยวกับขนาดและความรุนแรงของปัญหาว่าอยู่ในระดับใด มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพียงใด
2 . เป็นระบบที่ไม่สามารถที่จะตรวจสอบความซ้ำซ้อน ความทันสมัยของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน หรือระหว่างหน่วยงาน ทั้งนี้เนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องเดียวกันไปยังหลายหน่วยงาน เท่าที่จะร้องเรียนได้
3. ระบบของการร้องทุกข์ไม่ได้เป็นงานหลักของหน่วยงาน แต่มีสถานะเป็นงานซ่อม ดังนั้นงานในลักษณะนี้จึงไม่ถูกให้ความสำคัญ เว้นแต่จะเป็นข่าวหรือเรื่องที่ถูกตรวจสอบ ประกอบกับลักษณะในการบริหารแบบรวมศูนย์และกีดกันหน่วยงานอื่นๆ ด้วยสภาพเช่นนี้ จึงทำให้เรื่องที่ร้องทุกข์เข้ามา ถูกดำเนินการไปตามขั้นตอนและช่องทาง ทำให้เกิดความล่าช้าและยากแก่การตรวจสอบ (ทั้งๆ ที่มีกฎหมายหรือมีระเบียบปฎิบัติที่เกี่ยวกับระยะเวลาในการดำเนินการ หรือการเปิดโอกาสให้สามารถที่จะตรวจสอบติดตามได้ก็ตาม)
4. ในกรณีที่ปัญหาความเดือดร้อนเป็นปัญหาที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ระบบการบริหารจัดการความทุกข์ร้อน ที่มีการร้องเรียนเข้ามานั้น ไม่สามารถที่จะจัดประเภทได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะไร ไม่สามารถที่จะบอกถึงสถานะของขั้นตอนในการจัดการได้ ซึ่งยังเป็นปัญหาความยากลำบากต่อประชาชนที่ร้องทุกข์เข้ามาที่จะติดตาม (ยกเว้นกรณีการดำเนินการของระบบศาลปกครอง ที่เป็นระบบที่น่าจะมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน)
5. ระบบการบริหารเรื่องร้องทุกข์ ยังขาดการจัดการองค์กรให้มีลักษณะของความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทั้งที่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นับได้ว่าเป็นข้อมูลพื้นฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ส่วนราชการ ที่จะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการปรับองค์กรในการปฎิบัติราชการที่มีเป้าหมาย เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบำบัดทุกข์ให้แก่ประชาชนได้
(๕) เครือข่ายการวิจัยด้านกฎหมายเพื่อคนจนและคนด้อยโอกาส
5.1 สภาพความเป็นเครือข่ายการวิจัยในทางกฎหมาย
5.2 บทเรียนและข้อสังเกตบางประการจากการประสานงานเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย
5.3 ข้อจำกัดและทิศทางในอนาคต
5.1 สภาพความเป็นเครือข่ายการวิจัยในทางกฎหมาย
ในการประสานงานเพื่อพัฒนาและวางระบบฐานข้อมูล ได้มีการเตรียมการ ทาบทามที่จะเลือกสรรตัวบุคคลเข้ามาเป็นเครือข่ายการวิจัยอยู่บ้างบางส่วน
และนอกจากนั้น ยังได้ทำการประสานโดยตรงเพื่อสร้างให้เป็นเครือข่ายการวิจัย โดยสามารถที่จะแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ
ดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1. กลุ่มนักวิชาการในสถาบันการศึกษา
กลุ่มที่ 2. กลุ่มข้าราชการที่อยู่ในสายวิชาการ
กลุ่มที่ 3. กลุ่มนักพัฒนาเอกชน
กลุ่มที่ 4. กลุ่มนักศึกษาในระดับมหาบัณฑิต
กลุ่มที่ 5. กลุ่มนักกฎหมายที่อยู่ในวิชาชีพในตำแหน่งต่างๆ
ในการประสานเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการวิจัยกับกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นพบว่า แม้สามารถที่จะหาตัวบุคคลที่น่าจะพัฒนาเป็นเครือข่ายในการวิจัยได้ แต่มีข้อจำกัดของเนื้อหาหรือประเด็นในการวิจัยสองประการที่เป็นอุปสรรค
ประการแรก คือข้อจำกัดในเรื่องระเบียบวิธีวิจัยในทางกฎหมาย
ประการที่สอง คือข้อจำกัดเรื่องที่จะศึกษาวิจัย คือ เรื่องความยากจน ความไม่เป็นธรรม กล่าวโดยสรุปก็คือ มีนักกฎหมายที่สนใจจะทำการวิจัยทางด้านนี้อยู่น้อย และยิ่งเป็นการวิจัยในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับปัญหาของคนในระดับล่าง ยิ่งทำให้มีผู้ที่สนใจในการวิจัยในทางด้านดังกล่าวน้อยลงไปอีก
ด้วยเหตุนี้ การประสานงานเพื่อสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาการวิจัยเท่าที่ได้ดำเนินการมา จึงยังอยู่ในระดับของการเสนอความคิด เพื่อประเมินหรือสำรวจความพร้อมในการพัฒนาระบบเครือข่ายการวิจัยในทางกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม และเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
อันที่จริง ในกลุ่มต่างๆ ที่ได้มีโอกาสประสานดังกล่าว พบว่า ในกลุ่มที่เป็นราชการส่วนใหญ่ในระดับตัวบุคคล มีความประสงค์ที่จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือตามที่ราชการส่วนต่างๆ สั่งการร้องขอมา, ส่วนกรณีนักวิชาการในสถาบันการศึกษา มักจะมีการทำวิจัยเรื่องเหล่านี้กันพอสมควร, กรณีศาลปกครอง ที่มีฝ่ายวิชาการซึ่งทำหน้าที่ในการวิจัยเกี่ยวกับคดีปกครองที่มีการฟ้องเข้ามา และคำพิพากษาของศาลเพื่อวางเป็นหลักกฎหมายปกครอง แต่ก็ไม่ได้เน้นหลักไปที่ปัญหาเรื่องความยากจน. สำหรับในกรณีองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งปรกติก็มักจะมีการวิจัย การรวบรวมข้อมูลต่างๆ อยู่แล้ว ที่สะท้อนเรื่องความไม่เป็นธรรมและปัญหาความยากจนได้เป็นอย่างดี ในส่วนนี้จัดว่ามีศํกยภาพในการที่จะพัฒนาเครือข่ายการวิจัยในทางกฎหมายได้ต่อไป
ส่วนกรณีของสภาทนายความ ซึ่งมีคดีต่างๆ มากมาย กลับยังไม่มีระบบการวิจัยที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว ยกเว้นว่าจะมีทนายความในฐานะปัจเจกที่จะหยิบข้อมูลดังกล่าวมาศึกษาในงานวิจัยที่ทำส่วนตัวในรูปของวิทยานิพนธ์ หรืองานศึกษาวิจัยอิสระ( IS ) แต่ก็มิได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความยากจนโดยตรงนัก. และสำหรับกรณีนักศึกษาในระดับปริญญาโท แม้จะสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพขึ้นมาได้ แต่ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาในประเด็นที่จะศึกษาด้วย ซึ่งงานวิทยานิพนธ์ในทางกฎหมายมักจะไม่ค่อยพบประเด็นเรื่องความเป็นธรรมและความยากจนของคนในระดับล่าง
กล่าวโดยสรุป ในแง่ของประเด็นความเป็นเครือข่ายการวิจัยในทางกฎหมาย อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีความเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ของนักกฎหมายที่จะพัฒนาระบบการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในสังคม. อย่างไรก็ตาม จากการประสานงานพบว่า ยังพอมีกลุ่มนักกฎหมายที่สนใจในการศึกษาวิจัยในเรื่องปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมอยู่บ้างในกลุ่มเล็กๆ และมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ส่วนใหญ่จะอยู่ในสถาบันการศึกษา (สภาทนายความบ้างเล็กน้อย) องค์กรพัฒนาเอกชน ค่อนข้างมาก นอกนั้นอยู่ในองค์กรอิสระ และส่วนราชการอื่นๆ
5.2 บทเรียนและข้อสังเกตบางประการจากการประสานงานเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย
นับเป็นความท้าท้ายทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการที่จะพัฒนาโจทย์วิจัยที่วางอยู่บนความไม่สนใจในการวิจัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัญหาเรื่องความยากจนและความไม่เป็นธรรม โดยการดำเนินการในการประสานงาน
เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย ได้ทดลองทำ 2 แนวทางคือ การประสานงานโดยการใช้วิธีการเลือกนักวิจัยในฐานะที่เป็นปัจเจก
และการประสานงานโดยใช้วิธีการเลือกองค์กรหรือสถาบัน. โดยในระยะเริ่มต้นให้ความสำคัญกับนักวิจัยที่เป็นนักกฎหมายหรือองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายโดยตรง
แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ในระยะต่อมาจึงให้ความสำคัญกับนักวิจัยหรือองค์กรที่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย
แต่มีประสบการณ์หรือมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม
ผลจากการดำเนินการในสองระยะดังกล่าวให้ผลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทำให้เห็นหรือได้ข้อสรุปว่า ความต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากระบบงานวิจัยนั้น ในแวดวงของระบบกฎหมายแทบจะไม่ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวเลย ทั้งในเชิงตัวบุคคลากรหรือในเชิงสถาบัน หรือ แม้กระทั้งกับนักเรียนกฎหมายที่หลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาบังคับให้ต้องมีการทำวิจัย (ประเด็นเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับความยากจนและไม่เป็นธรรมเป็นประเด็นที่แทบจะไม่มีนักเรียนกฎหมายคนใดสนใจ และแม้มีผู้สนใจ แต่ก็มีข้อจำกัดของอาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการในการควบคุมงานวิจัย)
สำหรับการประสานงานเพื่อทำให้เกิดเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเพื่อสร้างฐานในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและการวางเครือข่ายในการพัฒนาระบบวิจัยทางกฎหมาย จากการดำเนินการทำให้เห็นถึงข้อจำกัดที่เป็นปัญหาของระบบองค์ภาครัฐ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับนโยบาย หรือผูกติดอยู่กับผู้บังคับบัญชาในระดับที่สามารถจะตัดสินใจได้เป็นหลัก ดังนั้น ความร่วมมือที่จะจัดทำเป็นเครือข่ายการวิจัยในเชิงสถาบัน จึงไม่อาจที่จะเกิดขึ้นได้หากไม่มีนโยบายที่ชัดเจน และยังผูกติดกับตัวบุคคล
ข้อสังเกตในประการสุดท้าย เกี่ยวกับการประสานงานเพื่อต่อยอดจากงานวิจัยที่ได้ดำเนินการมาแล้วในเชิงที่เป็นฐานข้อมูลเบื้องต้น ที่จะเข้าในสภาพปัญหาและต้องการที่จะพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยในทางกฎหมายต่อไป เนื่องจากผู้ที่จะทำการสังเคราะห์ต่อยอดทางความคิดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยู่ในแวงวงการวิจัย และมีความสนใจในการวิจัยเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นหากสามารถที่จะมอบหมายให้ผู้ที่ทำการวิจัยชุดที่จะต่อยอดเป็นผู้ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์ ก็จะช่วยให้งานที่จะผลิตออกมาได้ผลเร็วขึ้น และหากสามารถที่จะมีการสังเคราะห์ร่วมระหว่างผู้ที่ศึกษาวิจัยเดิมกับนักวิจัยในทางกฎหมายที่จะต่อยอดความคิดกันต่อไป ก็น่าที่จะช่วยทำให้คำถามในการวิจัยมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
5.
3 ข้อจำกัดและทิศทางในอนาคต
การสร้างเครือข่ายงานวิจัย เป็นแกนสำคัญหลักอย่างหนึ่งของระบบการจัดการวิจัย
ดังนั้น ในการประสานงาน จึงพยายามที่จะบอกเล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการในการพัฒนาโจทย์วิจัยที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต
และพยายามที่จะออกแบบลักษณะการดำเนินการที่ไปสอดคล้องหรือเอื้อหรือเสริมการดำเนินงานของหน่วยงาน
ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้วตามภารกิจ เพียงแต่จุดเน้นของงานคือ การให้ความสำคัญกับปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนได้รับ
โดยในระยะเริ่มต้น เป็นช่วงการจัดระบบฐานข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในหน่วยงานต่าง แต่ด้วยเหตุที่ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนได้รับและร้องเรียนมายังหน่วยงานต่างๆ ตามกฎหมายยังถือว่าเป็นความลับ เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นไม่อาจที่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในฐานะที่เป็นข้อมูลที่ทันสมัยสำหรับการวิจัยได้ สิ่งที่ทำได้จึงมีเพียงการนำเอาข้อมูลที่หน่วยงานนั้นๆ เปิดเผยแล้วมาศึกษา อาทิเช่น คำพิพากษาของศาลปกครอง รายงานประจำปีของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นต้น
นอกจากนั้น ข้อจำกัดในด้านภารกิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่มีได้มีหน้าที่โดยตรงในการวิจัย ประกอบกับในบางหน่วยงานที่เข้าไปประสานงานเพื่อพัฒนาโครงการวิจัยเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ และระบบงานภายในหน่วยงานยังไม่มีความชัดเจน จึงทำให้ไม่อาจที่จะพัฒนาการวิจัยต่อไปได้ นอกจากจะรอให้หน่วยงานพร้อมและเปิดใจกว้างที่จะพัฒนางานวิจัยร่วมในระยะต่อไป ในบางหน่วยงานที่เข้าไปประสานเพื่อพัฒนาการวิจัย ก็ไม่อาจที่จะกระทำได้เนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคลในหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ในกลุ่มของนักกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะต้องพยายามมากเป็นพิเศษที่จะสร้างและพัฒนาเป็นเครือข่ายในการวิจัยในทางกฎหมาย แต่จากการเข้าไปทำหน้าที่ในการประสานงานเพื่อพัฒนาเป็นเครือข่ายในการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความยากจนและความไม่เป็นธรรมในมิติทางกฎหมาย พบว่า โอกาสได้ไปเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับชุมชนต่างๆ ที่ประสบปัญหา และสามารถที่จะรวมเป็นกลุ่มและมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง (โดยมีพี่เลี้ยงซึ่งอาจจะเป็นส่วนราชการ สถาบันการศึกษา หรือ องค์กรพัฒนาเอกชนให้การสนับสนุน) แม้ในกลุ่มเหล่านี้จะไม่มีนักกฎหมายก็ตาม แต่กลุ่มต่างๆ เหล่านี้กลับมีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาวิจัย เพื่อแก้ปัญหาที่ตนเองกำลังประสบอยู่
ด้วยเหตุดังนั้น จึงมีแนวโน้มและเป็นทิศทางในอนาคตที่ควรส่งเสริมการวิจัยให้กับผู้ที่จะใช้งานวิจัยคือ กลุ่มคนจน หรือผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้เป็นผู้ที่ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา โดยควรที่จะต้องพัฒนาระบบเครือข่ายและพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ การทำให้ความเป็นธรรมเป็นของทุกๆ คน ไม่เฉพาะแต่นักกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น
ควรที่จะต้องส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับสื่อในด้านต่างๆ ที่จะนำเอากรณีศึกษา ทางออก บทสรุปของงานวิจัยทางกฎหมาย ฯลฯ เพื่อสื่อสารกับประชาชนโดยทั่วไปในภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ
ควรที่จะนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน โดยการสร้างกลุ่มกระบวนวิชาในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับคนจน คนด้อยโอกาส และคนที่ต้องความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และใช้กระบวนการในการเรียนรู้นั้นเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา
(๖) กรอบการสร้างโจทย์วิจัยด้านกฎหมายเพื่อคนจนและคนด้อยโอกาส
จากการดำเนินการประสานงาน เพื่อตรวจสอบระบบฐานข้อมูล ทั้งที่เป็นความรู้ความเข้าใจเดิมในทางกฎหมาย
ฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของปัญหาและแนวโน้ม ผ่านทางงานวิจัยและจากข้อมูลที่เป็นสถานการณ์จริงจากประชาชน
ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เผชิญหน้าและดิ้นรนในการแก้ไขปัญหา ประกอบกับการประมวลผลซึ่งเป็นการสังเคราะห์
โดยกรอบความคิดในทางกฎหมายของผู้เขียนเอง ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย
ทำให้พอที่จะชี้ให้เห็นแนวทางกว้างๆ ของการพัฒนาระบบการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมได้ดังต่อไปนี้
โครงการวิจัยกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมและแก้ไขปัญหาความยากจน มีสมมุติฐานที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ปัญหาเรื่องความ(ไม่)เป็นธรรม กับปัญหาเรื่องความยากจน เป็นสองประเด็นที่เกี่ยวโยงกัน และทั้งสองต่างเป็นประเด็นใหญ่ ดังนั้นถ้าต้องการที่จะแก้ปัญหาด้านหนึ่งโดยไม่มองอีกปัญหาหนึ่ง จะไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาที่ตั้งใจไว้ได้ ความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อที่ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่มองปัญหาแบบเป็นองค์รวมและเชื่อมโยง เพื่อให้เห็นสาเหตุและทางเลือกที่เป็นทางออกของปัญหา
จุดเน้นของโครงการวิจัยจะให้ความสำคัญกับการสังเคราะห์ตัวระบบ/โครงสร้าง/สถาบันทางกฎหมาย โดยใช้กรณีศึกษาที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้คนต่างๆ มาเป็นฐานในการสังเคราะห์ และมุ่งให้ความสำคัญกับทางออกที่เน้นบทบาทของภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากระบบกฎหมาย จนทำให้ตกอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้อย่างปรกติ. ในเวลาเดียวกันจากผลการวิจัยหลายเรื่อง ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น และได้ชี้ให้เห็นถึงทางออกของปัญหา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาคนจน/คนด้อยโอกาส ซึ่งเป็นทางออกของปัญหาที่มีทางเลือกหลายแนวทาง ที่สำคัญก็คือ เป็นทางเลือกที่คนเหล่านั้นเป็นผู้มีส่วนในการเลือกและกำหนดอนาคตของตนเอง
ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึงกระบวนการที่จะการนำผลที่ได้จากการวิจัยไปสู่การแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในทางสังคมศาสตร์ ข้อเสนอประการหนึ่งที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่ประสบความสำเร็จน้อยมากก็คือ การเรียกร้องต่อรัฐภายใต้ "ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย" ดังนั้น เพื่อต้องการที่จะทำให้งานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมและแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นงานวิจัยที่สามารถจับต้องได้และเป็นจริงในทางปฎิบัติ อันเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชน เป็นการสร้างทางด่วนพิเศษ(fast tracks) จึงจำเป็นต้องนำการวิจัยลงสู่ภาคประชาชนด้วยกันเอง เพื่อการแก้ปัญหาให้กับคนจนและผู้ด้อยโอกาส และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการนำผลที่ได้จากการวิจัยไปสู่การสื่อสารสร้างเครือข่ายในการแก้ปัญหา ที่เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชน
ในการเปิดช่องทางของการวิจัย เพื่อทำให้มีการนำเอาการวิจัยไปสู่การเคลื่อนไหวในการใช้สิทธิของตน ควรขยายการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไปสู่มิติในแนวระนาบ (ระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆด้วยกัน) ซึ่งสามารถจะทำได้ง่ายกว่า และมีโอกาสบรรลุผลได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่สามารถใช้การวิจัยเข้าไปทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เช่นในเรื่อง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของภาคประชาชนในการรับการเปลี่ยนแปลงในภาคราชการ
แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ก็มีการวิจัยในโครงการอื่นๆ ที่มีขอบเขตเนื้อหาของงานวิจัยหรือกิจกรรมที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันหลายโครงการ โครงการวิจัยพันธมิตรดังกล่าวนี้ เช่น "โครงการวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการสร้างความเสมอภาค และความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม", "โครงการสิทธิชุมชนศึกษา", "โครงการศึกษา กฎหมายเพื่อคนจน" ของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม, "โครงการศึกษาการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์" กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, "เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน" โดย คณะทำงานเครือข่ายยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะความยากจน ฯลฯ เป็นต้น
แม้จะมีโครงการวิจัยพันธมิตรหลากหลายในมิติและประเด็นการให้ความสำคัญที่แตกต่างกันก็ตาม ในที่สุดแล้วการวิจัยเชิงสังเคราะห์และการปฎิบัติการเพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหากฎหมาย เพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความยากจน จะต้องอยู่ในกรอบแนวทางที่สามารถไปทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบกฎหมาย ในองค์ประกอบส่วนหนึ่งส่วนใด หรือหลายๆ ส่วนในโครงสร้างของระบบกฎหมายดังต่อไปนี้
๑. ระบบความคิด / ความเชื่อ / อุดมการณ์ในทางกฎหมาย
๒. ระบบองค์กร สถาบัน ในทางกฎหมาย
๓. กลไก / ขบวนการ / ขั้นตอน ในทางกฎหมาย
๔. การพัฒนาวิจัยเชิงระบบ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
๕. กระบวนการในการกล่อมเกลาทางกฎหมาย (social learning) และโครงการวิจัยกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม และแก้ปัญหาความยากจนก็มุ่งที่จะให้ครอบคลุมในทุกๆส่วนข้างต้น
หลักการและขอบเขตการวิจัย
ในโครงการวิจัยกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความยากจน
ได้กำหนดกรอบแนวทางการวิจัยไว้ 3 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย
- การวิจัยในส่วนที่เกี่ยวกับหลักการ / บทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมสำหรับคนจน
- การวิจัยในส่วนที่เกี่ยวกับกลไกกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพในการสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจน
- การวิจัยเพื่อสร้างระบบกลไกทางเลือกในการคุ้มครองสิทธิ และสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจนและผู้ด้อยโอกาส
วัตถุประสงค์หลักเพื่อการวิจัย
โครงการวิจัยกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความยากจนมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อต้องการที่จะสำรวจบทบัญญัติกฎหมายต่างๆ ที่สร้างความไม่เป็นธรรมสำหรับคนจนหรือผู้ด้อยโอกาส และสามารถที่จะนำไปสู่การมีข้อเสนอแนะเพื่อการทบทวน แก้ไขบทบัญญัติต่างๆ เหล่านั้น
2. เพื่อต้องการที่จะระบุปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่สร้างภาระเกินสมควรให้แก่ประชาชน
3. เพื่อเสนอรูปแบบการสร้างระบบกลไกในการสร้างความเป็นธรรม ข้อเสนอที่เป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงระบบกลไกตามระบบกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ และการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ตลอดถึงการพัฒนาช่องทางที่หลากหลาย ในการเข้าถึงระบบกระบวนการยุติธรรม และระบบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ
โครงการวิจัยกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความยากจน
ประกอบด้วยโครงการต่างๆ แบ่งตามประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
1. ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาหลักการ / แนวคิดใหม่ๆ ซึ่งรวมตลอดถึงการมีบทบัญญัติกฎหมายใหม่ๆ(ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน) ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม
2. ประเด็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกลไกกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพ ในการสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจน
3. ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบกลไกทางเลือกใหม่ๆ ในการคุ้มครองสิทธิและสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจนและผู้ด้อยโอกาส
4. ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพขององค์กร / บุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบกฎหมาย ไปสู่แนวทางธรรมาภิบาล และการสร้างความรับรู้ และความเข้าใจของคนจนและผู้ด้อยโอกาสให้เข้าใจสิทธิ/หน้าที่ ในแนวทางธรรมาภิบาล
1. ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนา
หลักการแนวคิดใหม่ๆ
ซึ่งรวมถึงการมีบทบัญญัติกฎหมายใหม่ๆ (ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน) ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม
ให้ความสำคัญกับการเสนอทางออกใหม่ๆ ในทางกฎหมายที่ไม่ได้มุ่งในการหาทางออกโดยการเสนอแก้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว
รวมถึงการเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา แต่ทั้งนี้จะต้องตั้งอยู่บนทัศนะในการมองหรือการแก้ปัญหาที่ประชาชน/ชุมชนสามารถที่จะเข้ามามีส่วนในระดับต่างๆ
ได้ด้วย
กระบวนการในการทำวิจัยในส่วนนี้สามารถที่จะเป็นได้ทั้ง การวิจัยเชิงปฏิบัติ(action research) , การวิจัยเชิงเอกสาร(documentary research), และการวิจัยแบบมีส่วนร่วม(participationtary research)
ประเด็นคำถามหลัก
- ถ้ามองปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม โดยการมองในทัศนะของ(จาก)คนจนหรือผู้ด้อยโอกาส จะต้องพัฒนาหรือสร้างองค์ความรู้ในทางกฎหมายใหม่อะไรบ้างเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา
- ในปัจจุบันมีบทบัญญัติกฎหมาย ระเบียบ แนวปฎิบัติ ที่เกี่ยวกับคนจนและผู้ด้อยโอกาสอย่างไรบ้าง จำนวนมากน้อยเพียงใด ส่วนใดที่เป็นปัญหาในการแก้ปัญหาแก่คนจนหรือผู้ด้อยโอกาส
- ในกรณีที่ประชาชนยังคงใช้จารีตประเพณีในการจัดระบบความสัมพันธ์ และสามารถที่จะแก้ปัญหาเรื่องความยากจน และ/หรือ แก้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จารีตดังกล่าวเป็นอย่างไร มีการจัดระบบ การจัดองค์กร และกระบวนการในการใช้จารีตดังกล่าวอย่างไร
โครงการที่ 1 การสำรวจบทบัญญัติกฎหมาย และแนวปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการที่คนจนและผู้ด้อยโอกาส ไม่สามารถที่จะเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
โครงการที่ 2 การพัฒนาแนวความคิดและระบบในทางกฎหมาย เพื่อการเยียวยาความเสียหายให้เป็นไปตามหลักการชดเชยเยียวยาที่ดีและเป็นธรรม
โครงการที่ 3 การทบทวนบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
โครงการที่ 4 การปรับบทบาทในทางกฎหมายขององค์กรปครองท้องถิ่น เพื่อให้แก้ปัญหาสำหรับคนจนเฉพาะกลุ่ม
โครงการที่ 5 การศึกษา รวบรวม และสังเคราะห์ระบบความสัมพันธ์ภายใต้จารีตประเพณีในการใช้ทรัพยากรในชุมชน เพื่อการจัดทำให้เป็นกฎหมาย
2. ประเด็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกลไกกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพในการสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจน
กรอบ/แนวทางในการพัฒนาการวิจัย
จากการสำรวจในเบื้องต้นทำให้มีข้อมูลพื้นฐานชุดหนึ่ง ที่สะท้อนภาพปัญหาของระบบกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นการปรับปรุงกลไกกระบวนการยุติธรรม จะมีจุดเน้นที่ให้ความสำคัญกับการระบุอุปสรรคที่มีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
อันเป็นสาเหตุให้ระบบไม่สามารถที่จะให้ความเป็นธรรมแก่คนจนและผู้ด้อยโอกาสได้
และจากปัญหาดังกล่าว ควรที่จะมีทางออกของปัญหาอย่างไร บทบาทของภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมอย่างไร
ประเด็นคำถามหลัก
- ในกระบวนการยุติธรรมด้านต่างๆ อะไรเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาคนจนหรือผู้ด้อยโอกาส
- ถ้าต้องการที่จะทำให้พ้นไปจากปัญหาข้างต้น จะต้องปรับระบบอย่างไรบ้าง
- กลไกที่เหมาะสมในการติดตามเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนควรจะเป็นอย่างไร และจะนำเอาเรื่องร้องทุกข์ทั้งหมดไปสู่การประมวลผลและการปรับกระบวนการใช้อำนาจของรัฐที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างไรโครงการที่ 1 การปรับปรุงการกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ที่เป็นอุปสรรคทำให้คนจนและคนด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงได้
โครงการที่ 2 การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการรับเรื่องร้องทุกข์ของหน่วยงานภาครัฐ ที่ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
โครงการที่ 3 การพัฒนาระบบฐานข้อมูลรวมเกี่ยวกับการร้องทุกข์ กรณีการไม่ได้รับความเป็นธรรม และระบบการติดตามผลการแก้ปัญหา
โครงการที่ 4 การพัฒนาระบบตัวชี้วัด และการรายงานผลประจำปี สำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม
โครงการที่ 5 การพัฒนาระบบการแจ้งข้อมูลในทางกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแก่ประชาชน
โครงการที่ 6 การปรับเปลี่ยนวิธีพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้การดูแล รักษา และใช้ประโยชน์โดยชุมชน (30)
(30) ในปัจจุบันภายใต้นโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาล โครงการวิจัยนี้ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและปัญหาของประชาชน และบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเพื่อปรับปรุงกฎหมายของรัฐบาลซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการวิจัย
3.
ประเด็นเกี่ยวกับพัฒนาระบบกลไกทางเลือกใหม่ๆ ในการคุ้มครองสิทธิและสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจนและผู้ด้อยโอกาส
กรอบ/แนวทางในการพัฒนาการวิจัย
ในระบบกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน แทบจะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่กล่าวถึงคนจนหรือผู้ด้อยโอกาส
ยกเว้นในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เพิ่งจะมีการประกาศใช้อีกไม่กี่ฉบับ
แต่ปัญหาไม่ได้อยู่แต่เฉพาะว่ามีหรือไม่มีบทบัญญัติกฎหมายเท่านั้น ปัญหาอยู่ตรงที่ระบบการคุ้มครองสิทธิและการให้ความเป็นธรรมไปผูกติดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาทางเลือกใหม่ๆ ในการคุ้มครองสิทธิและการสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจนและผู้ด้อยโอกาส
การนำเอาปัญหาที่ได้จากการสังเคราะห์จากระบบกลไกเดิมเป็นตัวตั้งและดำเนินการแก้ไขน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
ประเด็นคำถามหลัก
- จะวางระบบในการคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ให้ประชาชนกลุ่มต่างๆสามารถที่จะใช้บริการได้อย่างไร
- ถ้าต้องการที่จะทำให้ประชาชนมีความพร้อมในการใช้กลไกการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย จะต้องเตรียมการในเรื่องใดบ้าง
- มีตัวอย่างที่ประชาชนพัฒนาระบบการคุ้มครองสิทธิ หรือพัฒนาระบบในทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างไรหรือไม่ ถ้ามี ระบบดังกล่าวเป็นอย่างไรโครงการที่ 1. การสบับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการรับเรื่องราวร้องทุกข์โดยองค์กรภาครัฐ และองค์กรภาคประชาชน
โครงการที่ 2. การสร้างคู่มือชุดความรู้สำเร็จรูปในทางกฎหมาย ที่คนจนและผู้ด้อยโอกาสมักจะตกเป็นผู้เสียเปรียบ
โครงการที่ 3 การพัฒนาระบบการให้บริการทางกฎหมาย(Legal Services) ก่อนกระบวนการของศาล สำหรับคนจนและผู้ด้อยโอกาส (31)
โครงการที่ 4. การปฎิรูประบบในการตั้งข้อหาในความผิดทางอาญาบางประเภท
โครงการที่ 5 การส่งเสริมให้ประชาชนใช้กระบวนการนิติบัญญัติในระดับท้องถิ่น เพื่อการสร้างความเป็นธรรม
โครงการที่ 6. การเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงข้อเสนอทางนโยบายให้มีสถานะเป็นร่างกฎหมาย
(31) ในปัจจุบัน กระทรวงยุติธรรม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ กรมคุมประพฤติ และ กรมส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้เริ่มดำเนินโครงการวิจัยและสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางเลือก โดยต้องการที่จะทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในระดับของการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อป้องกันข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้น สร้างระบบการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน และการดึงศักยภาพของชุมชนที่จะพัฒนารูปแบบของกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ โดยพยายามที่จะให้ชุมชนเข้ามาเยียวยาบาดแผลที่เกิดจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก และเป็นแบบอย่างและแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมในระยะต่อไป
1. ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนา หลักการ แนวคิด และบทบัญญัติกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรม
2. ประเด็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกลไกกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพ ในการสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจน
3. ประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบกลไกทางเลือกใหม่ ในการคุ้มครองสิทธิและสร้างความเป็นธรรมให้กับคนจนและผู้ด้อยโอกาส
คลิกกลับไปทบทวนบทความเกี่ยวเนื่อง ลำดับที่ 1542
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com