ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




02-04-2551 (1520)

เอกสารข่าว WTO Watch และแนะนำหนังสือเกี่ยวเนื่อง
สิงคโปร์กับเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี - G20 กับการเจรจารอบโดฮา (และอื่นๆ)
โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสนับสนุนการเผยแพร่เอกสารข่าว WTO Watch

เอกสารข่าวจากโครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
เป็นการนำเสนอข่าวและบทวิเคราะห์ในหัวข้อดังต่อไปนี้
(๑) องค์การการค้าโลก และการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา
(๒) ข้อตกลงการค้าทวิภาคีและภูมิภาคี และข้อตกลงเศรษฐกิจอื่นๆ
(๓) การค้าโลก
(๔) ข้อพิพาทการค้า
โดยเอกสารข่าวจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์แห่งนี้เดือนละ ๒ เรื่องในสัปดาห์ที่สองและที่สี่ของเดือน
และยังนำเสนอเอกสารแนะนำหนังสือ WTO Watch ซึ่งจะเผยแพร่เป็นครั้งคราว ขึ้นอยู่กับหนังสือที่ออกจำหน่าย
เอกสารข่าว WTO Watch เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนมกราคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารข่าวดังกล่าวมีสาระประโยชน์แก่สาธารณชน
โดยทั่วไป จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสื่อกลางให้กับสังคมไทยและคนที่อ่านไทยทั่วโลก
ปัจจุบัน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
ที่กำลังศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงนักวิชาการและคนในวัยทำงานทั้งภาคธุรกิจและแรงงาน
สถิติการคลิกของเว็บไซต์แห่งนี้ล่าสุดประมาณ ๓.๕ - ๔.๕ ล้านคลิกต่อเดือน โดย IP ไม่ซ้ำกันเกือบ ๒ แสน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๒๐
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๘.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารข่าว WTO Watch และแนะนำหนังสือเกี่ยวเนื่อง
สิงคโปร์กับเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี - G20 กับการเจรจารอบโดฮา (และอื่นๆ)
โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสนับสนุนการเผยแพร่เอกสารข่าว WTO Watch


บทความวิชาการต่อไปนี้ประกอบด้วย

7. สิงคโปร์กับเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี (เอกสารข่าวฉบับที่ 7)
8. G20 กับการเจรจารอบโดฮา (เอกสารข่าวฉบับที่ 8)
9. ความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) ภายใต้องค์การการค้าโลก (เอกสารข่าวฉบับที่ 9)
10. Stiglitz Plan: ข้อเสนอสำหรับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา
(เอกสารข่าวฉบับที่ 10)
11. มาเลเซียกับเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี (เอกสารข่าวฉบับที่ 11)
12. สินค้าพิเศษ (Special Products) กับการเจรจารอบโดฮา (เอกสารข่าวฉบับที่ 12)
13. Special 301 Report ว่าด้วยสังคมเศรษฐกิจไทย (2545-2551) (เอกสารข่าวฉบับที่ 13)
14. ความล้มเหลวในการเจรจารอบโดฮาหมายถึงจุดจบของ WTO หรือไม่ (เอกสารข่าวฉบับที่ 14)
15. ฤาโดฮาไม่มีโค้งสุดท้าย? (เอกสารข่าวฉบับที่ 15)
16. ข้อพิพาทว่าด้วยกุ้งไทย-สหรัฐอเมริกา: 'จบ' จริงหรือ? (เอกสารข่าวฉบับที่ 16)
17. ประเทศกำลังพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจารอบโดฮาได้อย่างไร ? (เอกสารข่าวฉบับที่ 17)
18. ฟิลิปปินส์กับเส้นทางการทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอกสารข่าวฉบับที่ 18)
19. 2008 Farm Act ขัดต่อกฎกติกาของ WTO หรือไม่?
(เอกสารข่าวฉบับที่ 19)
20. อินโดนีเซียกับเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี
(เอกสารข่าวฉบับที่ 20)
21. การเมืองเรื่องกล่อง (Box Shifting)
(เอกสารข่าวฉบับที่ 21)
22. สินค้าอ่อนไหว (Sensitive Products)
(เอกสารข่าวฉบับที่ 22)
23. เมื่อการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาถึงคราวล้างไพ่
(เอกสารข่าวฉบับที่ 23)
24. Country of Origin Labeling: สลากบอกแหล่งกำเนิดสินค้า
(เอกสารข่าวฉบับที่ 24)

คลิกกลับไปหน้าสารบัญ: เอกสารข่าว WTO Watch และแนะนำหนังสือเกี่ยวเนื่อง

24. Country of Origin Labeling: สลากบอกแหล่งกำเนิดสินค้า
สมคิด พุทธศรี (เอกสารข่าวฉบับที่ 24 ธันวาคม 2551)

ผู้บริโภคอเมริกันจักต้องพบ 'ความแปลกใหม่' ในการเลือกซื้อสินค้าขั้นปฐม 4 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จำพวกเนื้อสัตว์ สินค้าประมง สินคาเกษตรที่เน่าเสียได้ (อาทิ ผัก ผลไม้) และถั่ว เมื่อกฎหมายใหม่ระบุให้ผู้ผลิตและผู้ขายต้องปิดป้าย 'สลากบอกแหล่งกำเนิดสินค้า' หรือ 'COOL' (Country of Origin Labeling) ไว้ที่ผลิตภัณฑ์ของตน โดยกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2551 เป็นต้นไป (1)

(1) สำหรับสินค้าประมงมีการบังคับใช้ไปก่อนแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2548

'การแปะสลากบอกแหล่งกำเนิดสินค้า' หรือ 'COOL' เป็นกฎระเบียบภายใต้ Farm Security and Rural Investment Act of 2002 โดย COOL จะทำหน้าที่บอกข้อมูลข่าวสารแก่บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศใด ทั้งนี้หากกระบวนการผลิตสินค้านั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศ รายละเอียดจะต้องระบุให้ครบถ้วนด้วยเช่นกัน

การผลักดันให้มีการบังคับใช้ COOL ต้องเผชิญกับความยากลำบากและใช้เวลาไม่น้อย อันที่จริง รัฐสภาอเมริกันผ่านกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2545 และมีกำหนดการบังคับใช้ในปี 2547 แต่แล้วการบังคับใช้ก็มิอาจเกิดขึ้นได้ (2) เมื่อบรรษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารต่างพากันอ้างว่า กฎหมายฉบับนี้สร้างภาระต้นทุนที่สูงเกินไปสำหรับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร

(2) ดังที่กล่าวไปในเชิงอรรถที่ 1 แล้วว่า สินค้าประมงมิได้ถูกเลื่อนออกไปเฉกเช่นสินค้าชนิดอื่นๆ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลท้องถิ่นของมลรัฐอลาสก้า ต้องการที่จะแยกความแตกต่างของปลาที่ผลิตโดยเกษตรกรอเมริกัน และปลานำเข้าให้ชัดเจน

ทั้งรัฐสภาและรัฐบาลไม่อาจทานแรงกดดันทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ถึงขนาดที่กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (US Department of Agriculture) ต้องออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ พร้อมข้อมูลสนับสนุนว่า การบังคับใช้ Cool จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมอาหารกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์อเมริกัน เช่นนั้นแล้วจึงมิใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในปี 2547 รัฐสภาอเมริกันจะมีมติให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นปี 2550 และเมื่อครั้นมาถึงกำหนดในปี 2550 รัฐสภาก็เลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีกครั้ง

สถานการณ์เริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อมีการระบาดของโรค 'วัวบ้า' มีการสั่งเก็บคืนเนื้อวัวที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคคืนจากท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ปรากฏการณ์ข้างต้นก่อให้กระแสความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด สมาชิกรัฐสภาอเมริกันจึงเริ่มทบทวนท่าทีต่อ COOL ใหม่อีกครั้ง

ฝ่ายให้ผู้ที่สนับสนุน COOL ให้เหตุผลว่า ผู้บริโภคที่ได้รับข้อมูลข่าวสารย่อมสามารถตัดสินใจหลีกเลี่ยงสินค้าที่มาจากแหล่งกำเนิดสินค้าที่ตนเชื่อว่าไม่ปลอดภัยได้ นอกจากนี้สลากยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้บริโภคที่มีรสนิยมแบบ 'ชาตินิยม' อันจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตสัญชาติอเมริกันอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้แย้งบางประการต่อการประกาศบังคับใช้ COOL โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ว่า การบังคับใช้ COOL ภาวะที่ผู้บริโภคตื่นตระหนกย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตเนื้อวัวอเมริกันฉวยโอกาสแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มราคาเนื้อวัวที่เกินจริง ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความหวาดกลัวเนื้อวัวต่างประเทศแก่ผู้บริโภค ในแง่นี้แล้ว ผู้บริโภคย่อมเป็นผู้ที่ได้รับผลเสียมากกว่าผลได้จากการประกาศใช้กฎหมาย

ประเด็นอื่นๆ ที่มีการกล่าวถึง ได้แก่ ความชัดเจนของและความครอบคลุมภายใต้ COOL ในกรณีของความชัดเจน มีข้อกังขาว่า อะไรเป็นเกณฑ์ที่คอยกำหนดว่า สินค้าชนิดใดอยู่ / ไม่อยู่ ภายใต้การบังคับใช้ของ COOL ตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาข้อนี้ คือ ความสับสนในกรณีการนำเข้าถั่วแช่แข็งบรรจุห่อ และถั่วที่ผสมกับแครอทบรรจุห่อ เมื่อกฎหมายกำหนดว่า การนำเข้าถั่วแช่แข็งบรรจุห่อจักต้องกระทำภายใต้กฎระเบียบของ COOL แต่หากเป็นการนำเข้าถั่วที่ผสมกับ
แครอทบรรจุห่อ กฎหมายกลับละเว้นให้มิต้องกระทำภายใต้ COOL ความไม่ชัดเจนดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารเรียกร้องให้มีการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

ส่วนในกรณีของความครอบคุลม มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกาพยายามที่จะทำให้ COOL ครอบคลุมสินค้าในระดับที่แคบที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะความปลอดภัยด้านอาหารที่สหรัฐอเมริกาเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

23. เมื่อการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาถึงคราวล้างไพ่
สิทธิกร นิพภยะ (เอกสารข่าวฉบับที่ 23 ธันวาคม 2551)

ไม่ว่าความล้มเหลวของการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2551 จะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใดก็ตาม หรือจะส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกหรือไม่ ประการใด แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮายังคงดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นการเจรจาอีกครั้ง ภายหลังการหยุดพักประจำปีขององค์การการค้าโลก ตลอดเดือนสิงหาคม เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากอาจกล่าวได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงชนิด 'ล้างไพ่'

แม้การเปลี่ยนแปลงของการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาแบบล้างไพ่นี้ไม่ถึงขนาดยกเครื่องประเด็นการเจรจา แต่ก็มีผลต่อการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาไม่น้อย เนื่องจากผู้แทนการเจรจาของกลุ่มประเทศแกนหลัก ทั้งระดับการเมืองและระดับผู้แทนประจำองค์การการค้าโลก (กำลังจะ) เปลี่ยนหน้าไป

แม้ว่ากระบวนการเจรจาขององค์การการค้าโลก โดยเฉพาะกระบวนการเจรจาที่จำกัดเฉพาะบางประเทศ ทั้งการเจรจาแบบกรีนรูม (Green Room) และการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการของประเทศแกนนำการเจรจา 4 ประเทศ (G-4) คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป บราซิล
และอินเดีย ถูกโจมตีว่า เป็นกระบวนการเจรจาที่ขัดต่อหลักการธรรมาภิบาลคือ ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และความรับผิด แต่กระบวนการเจรจาเช่นนี้ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนการเจรจา อย่างไร
ก็ตาม ภายหลังที่องค์การการค้าโลกเริ่มกลับมาเริ่มต้นการเจรจากันอีกครั้ง ผู้แทนการเจรจาในระดับการเมืองได้เปลี่ยนหน้าไป (รวมถึงกำลังจะเปลี่ยนหน้า) อย่างน้อยที่สุด 3 ใน 4 คนของผู้แทนการเจรจาระดับการเมืองของกลุ่ม G-4

ไม่เพียงแต่นาง Catherine Ashton เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมาธิการการค้าแห่งสภาพยุโรป แทนนาย Peter Mandelson ที่ได้ลาออกไปเพื่อรับตำแหน่งในรัฐบาลนาย Gordon Brown เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เท่านั้น ผู้แทนการเจรจาของสหรัฐอเมริกาและอินเดียก็กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง การชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนาย Barack Obama เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 อาจมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา ส่วนอินเดียเองก็จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในต้นปี 2552 ภายหลังการเลือกตั้งดังกล่าว ผู้แทนการเจรจาของสหรัฐอเมริกาและอินเดียอาจไม่ใช่นาง Susan Schwab และนาย Kamol Nath อีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงผู้แทนการเจรจามิได้จำกัดเฉพาะในระดับการเมือง (รัฐมนตรี) เท่านั้น การเปลี่ยนแปลงนี้ยังขยายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงประธานกลุ่มการเจรจาอีกด้วย โดยเฉพาะประธานกลุ่มการเจรจาหลัก ทั้งประธานกลุ่มการเจรจาเรื่องการเกษตรและประธานกลุ่มการเจรจาเรื่องการเข้าถึงตลาดสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร (NAMA) (*)

(*)NAMA (Non-Agriculture Market Access) refers to all those products that are not covered by the Agreement on Agriculture or the negotiations on services. In practice, NAMA products include manufacturing products, fuels and mining products, fish and fish products, and forestry products. The NAMA negotiations have been considered important by the WTO as NAMA products account for almost 90% of the world's merchandise exports.

นาย Luzius Wasescha ผู้แทนจากสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มการเจรจาเรื่อง NAMA แทนนาย Don Stephenson ผู้แทนจากแคนาดา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 เช่นเดียวกัน นาย Crawford Falconer ผู้แทนจากนิวซีแลนด์ ซึ่งดำรงประธานกลุ่มการเจรจาการเกษตรมาอย่างยาวนาน กำลังจะกลับไปรับตำแหน่งทางการเมืองที่นิวซีแลนด์ในเดือนธันวาคม 2551

แม้ว่ายากที่จะประเมินได้ว่า การเปลี่ยนแปลงคณะผู้แทนการเจรจาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาอย่างไร แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการเจรจา อย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงผู้แทนการเจรจาในระดับการเมืองอาจส่งผลต่อจุดยืนและท่าทีของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนตัวผู้แทนการเจรจาของสหภาพยุโรป เนื่องจากตลอดระยะเวลาการเจรจาที่ผ่านมา นาย Peter Mandelson มีท่าทีและจุดยืนยอมรับข้อเรียกร้องเรื่องการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร ถึงแม้ว่าจะถูกฝรั่งเศสคัดค้านเสมอว่า ข้อเสนอการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของนาย Mandelson เกินกว่าอำนาจการเจรจาที่มี อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า นาง Catherine Ashton กรรมาธิการการค้าแห่งสหภาพยุโรปคนใหม่จะมีจุดยืนและท่าทีการเจรจาอย่างไร

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงประธานกลุ่มการเจรจาก็ย่อมมีผลต่อการเจรจาเช่นกัน เนื่องจากประธานกลุ่มการเจรจาไม่เพียงแต่ทราบรายละเอียดประเด็นการเจรจาทางด้านเทคนิคแล้ว ยังมีสารสนเทศเกี่ยวกับจุดยืนและท่าทีการเจรจาของประเทศต่างๆ จากการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการตลอดระยะเวลาการเจรจาสารสนเทศเหล่านี้ ทำให้ประธานกลุ่มเจรจาสามารถประเมินได้ว่า ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศยอมรับข้อเรียกร้องในแต่ละประเด็นได้มากน้อยแค่ไหน

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงผู้แทนการเจรจาในครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกของการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมส่งผลต่อการเจรจาไม่ว่าทางหนึ่งหรือทางใดและยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาต่อไป

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

22. สินค้าอ่อนไหว (Sensitive Products)
อิสร์กุล อุณหเกตุ (เอกสารข่าวฉบับที่ 22 พฤศจิกายน 2551)

การปฏิรูประบบการค้าสินค้าเกษตรเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) ภายใต้การดำเนินการขององค์การการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ในวรรค 31 - 34 ของกรอบการเจรจาเดือนกรกฎาคม 2004 (July 2004 Framework) อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดสินค้าอ่อนไหวได้ในจำนวนพิกัดอัตราภาษีที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงพันธกรณีที่มีอยู่ของสินค้าดังกล่าว และต้องไม่เป็นการลดทอนวัตถุประสงค์ของการลดอัตราภาษีแบบลำดับขั้น โดยนำหลักการเรื่อง 'การปรับปรุงอย่างสำคัญ' (Substantial Improvement) มาใช้กับสินค้าเหล่านี้ผ่านการผสมผสาน (Combination) พันธกรณีเรื่องโควตาภาษี (Tariff Quota) และการลดภาษี ข้อความดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาประเด็นสินค้าอ่อนไหวในรอบโดฮา

แม้ว่าองค์การการค้าโลกมิได้นิยามความหมายของ "สินค้าอ่อนไหว" ที่ชัดเจนไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากกรอบการเจรจาดังกล่าว และการปฏิบัติที่เป็นพิเศษภายใต้ภาคผนวก 5 ของความตกลงว่าด้วยการเกษตร เราอาจสรุปได้ว่า สินค้าอ่อนไหว คือ สินค้าเกษตรของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาที่จะได้รับการปฏิบัติที่ยืดหยุ่นกว่าสินค้าปรกติ โดยลดภาษีลงน้อยกว่าการลดภาษีตามสูตรที่ได้ตกลงกัน อย่างไรก็ตาม สินค้าดังกล่าวจักต้องมีการพัฒนาเข้าถึงตลาดอย่างสำคัญผ่านการผสมผสานพันธกรณีเรื่องโควตาภาษี (Tariff Quota) และการลดภาษี

สินค้าอ่อนไหวมีส่วนอย่างสำคัญต่อการบิดเบือนระบบการค้าสินค้าเกษตร และเนื่องจากการเจรจาประเด็นดังกล่าวมิได้มีเกณฑ์ในการกำหนด (Designation) หรือการเลือก (Selection) ดังเช่นสินค้าพิเศษ (Special Products) ประเทศสมาชิกจึงสามารถเลือกสินค้าอ่อนไหวได้โดยอิสระ และคำนึงถึงปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง มากกว่าปัจจัยด้านการค้าระหว่างประเทศ. ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจึงต้องการใช้การเจรจาประเด็นสินค้าอ่อนไหวเพื่อปกป้องภาคเกษตรกรรมของตน ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรกลับต้องการให้ผลการเจรจาในประเด็นดังกล่าวบิดเบือนการค้าสินค้าเกษตรน้อยที่สุด จุดยืนที่ไม่ตรงกันของทั้งสองฝ่ายทำให้การเจรจาประเด็นดังกล่าวมีความคืบหน้าไม่มากนัก นับตั้งแต่เริ่มการเจรจาจนกระทั่งในปัจจุบัน

ร่างกรอบความตกลงเดือนกรกฎาคม (July Draft Modalities) ที่ใช้เป็นพื้นฐานในการประชุมย่อยระดับรัฐมนตรี (Mini-ministerial Conference) ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2551 เป็นความคืบหน้าล่าสุดของการเจรจาประเด็นสินค้าอ่อนไหว ในร่างกรอบความตกลงดังกล่าวกำหนดแนวทางในการขยายโควตาอัตราภาษีไว้ 2 แนวทางในภาคผนวก ซี

- แนวทางแรก เสนอโดยประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตร อันได้แก่ สหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศ G-10 ประเทศเหล่านี้ต้องการขยายโควตาอัตราภาษีเฉพาะในพิกัดอัตราภาษีจำนวนไม่มาก ดังนั้น การขยายโควตาอัตราภาษีตามแนวทางแรก จึงขึ้นอยู่กับระดับการบริโภคภายในประเทศของสินค้าเฉพาะในพิกัดอัตราภาษีที่กำหนด แนวทางนี้เรียกว่า 'การกำหนดเฉพาะส่วน' (Partial Designation)

- ขณะที่แนวทางที่สอง คือ แนวทางแบบ 'รายสินค้า' (Product Approach) เสนอโดยประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร อันได้แก่ กลุ่มประเทศแครนส์ (Cairns Group) (*) และกลุ่มประเทศ G-20 ตามแนวทางหลังนี้ การขยายโควตาอัตราภาษีจะเกิดขึ้นในระดับ 'ประเภทสินค้า' (Product Category) ซึ่งกว้างกว่าพิกัดอัตราภาษีตามแนวทางแรก

(*) The Cairns Group is an interest group of 19 agricultural exporting countries, composed of Argentina, Australia, Bolivia, Brazil, Canada, Chile, Colombia, Costa Rica, Guatemala, Indonesia, Malaysia, New Zealand, Pakistan, Paraguay, Peru, the Philippines, South Africa, Thailand, and Uruguay.

The Group takes its name from the Australian city of Cairns, where its inaugural meeting took place in 1986. The Australian Government led the formation of the group, though some of the South East Asian countries had been working together on agricultural trade through ASEAN.

ขณะที่ในรายงานของนาย Crawford Falconer ประธานกลุ่มเจรจาสินค้าเกษตรที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการการเจรจาการค้า (Trade Negotiation Committee: TNC) สรุปความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าวว่า ที่ประชุมกลุ่ม G7 และการประชุมแบบ 'ห้องสีเขียว' ตกลงร่วมกันว่า ประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว สามารถกำหนดสินค้าอ่อนไหวได้ร้อยละ 4 ของพิกัดอัตราภาษีสินค้าเกษตร และมีทางเลือกที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 ในกรณีประเทศที่มีอัตราภาษีนำเข้าสูงมาก เช่น สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ แนวทางดังกล่าวเรียกว่า แนวทางแบบ "4+2" ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเลือกสินค้าอ่อนไหวในสัดส่วนระหว่างหนึ่งในสามถึงสองในสามของพิกัดอัตราภาษีสินค้าอ่อนไหวเพื่อลดภาษีน้อยกว่าการลดภาษีตามสูตร อย่างไรก็ตาม หากการเบี่ยงเบนออกจากการลดภาษีตามสูตรนี้มากขึ้น จำนวนสินค้าอ่อนไหวที่สามารถเลือกได้จะลดลง และระยะเวลาการปฏิบัติตามพันธกรณี (Implementation Period) ก็จะสั้นลงด้วยเช่นกัน

การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) ถือเป็นวาระแห่งการพัฒนา (Doha Development Agenda: DDA) ขององค์การการค้าโลก การเจรจาการค้าพหุภาคีในรอบนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการเจรจาการค้ารอบที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขความยากจน และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วพยายามเร่งผลักดันการเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรม และภาคบริการ แต่กลับไม่ยินดีที่จะลดการปกป้องสินค้าเกษตรของตน โดยยังคงตั้งกำแพงภาษีสูง และมีการอุดหนุนสินค้าเกษตรอย่างมาก ทั้งการอุดหนุนภายในประเทศและการอุดหนุนเพื่อการส่งออก การเจรจาประเด็นสินค้าอ่อนไหวเป็นตัวอย่างอันชัดแจ้งของพฤติกรรมแบบ "มือถือสากปากถือศีล" ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และกลุ่ม G-10 (*)

(*) G10 includes ten countries identified by the World Trade Organization which are "vulnerable" to imports due to ongoing reform in the agricultural sector. The Group of ten (G-10) consists of Switzerland, Japan, South Korea, Taiwan, Liechtenstein, Israel, Bulgaria, Norway, Iceland and Mauritius.

การเจรจาประเด็นสินค้าอ่อนไหว มีความสำคัญต่อการเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรในประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก โดยเฉพาะความสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ดังนั้น แม้การเจรจาประเด็นสินค้าอ่อนไหวจะเป็นเพียงการเจรจาเกี่ยวกับข้อยกเว้นในการเข้าถึงตลาด แต่ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเจรจาประเด็นการอุดหนุนสินค้าเกษตรแต่อย่างใด เพราะการปฏิรูประบบการค้าสินค้าเกษตรมิอาจเกิดขึ้นได้จริง หากตลาดสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วยังคงได้รับการปกป้องดังเช่นที่ผ่านมา.


เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

21. การเมืองเรื่องกล่อง (Box Shifting)
สุนทร ตันมันทอง (เอกสารข่าวฉบับที่ 21 พฤศจิกายน 2551)

การจัดระเบียบการค้าพหุภาคี ไม่ได้เป็นเวทีการเจรจาระหว่างผู้ที่นิยมการค้าเสรี กับ ผู้ที่ยังยึดมั่นการกีดกันทางการค้าแต่เพียงอย่างเดียว ในการเจรจารอบโดฮาปัจจุบันยังมีเวทีการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ที่เรียกร้องความเป็นธรรมจากการค้า กับ ผู้ที่พยายามผ่อนผันความเป็นธรรมนั้นออกไป ซ้อนอยู่ด้วย. หลังจากการเปิดรอบแห่งการพัฒนาโดฮา ประเทศด้อยพัฒนาต่างมุ่งหวังถึงผลประโยชน์จากการค้าพหุภาคีที่จะผ่องถ่ายมาสู่ตน ตามคำมั่นสัญญาที่ประเทศพัฒนาให้ไว้ที่กรุงโดฮาในปี 2544 เดิมพันแห่งความหวังดังกล่าวอยู่ที่การเจรจาสินค้าเกษตร

เมื่อการเจรจาดำเนินไป ประเทศด้อยพัฒนาได้เรียนรู้ว่า ประเทศพัฒนายังคงไม่ยอมผ่อนปรนในเรื่องการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรได้ง่ายๆ มิหนำซ้ำยังแสวงหาทางเจรจาต่อรองเพื่อรักษานโยบายการเกษตรของตนเอาไว้ ประเทศสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการบิดเบือนการค้าสินค้าเกษตรด้วยเงินอุดหนุนดังกล่าวจึงรวมกลุ่มกันคัดค้าน ความขัดแย้งนี้เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้รอบโดฮายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

ผลจากการเจรจารอบอุรุกวัยทำให้ประเทศสมาชิกต้องลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร องค์การการค้าโลกจำแนกการอุดหนุนสินค้าเกษตรภายในประเทศออกเป็น 3 กล่อง ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบสัญญาณไฟจราจร แนวคิดนี้มาจากข้อเสนอของสหรัฐฯ ในระหว่างการเจรจารอบอุรุกวัยในปี 2532 ภายหลังเมื่อประเทศภาคีแกตต์สามารถบรรลุความตกลงว่าด้วยการเกษตรในปี 2535 การจัดประเภทดังกล่าวปรับเปลี่ยนเป็น

- กล่องสีอำพัน (Amber Box) ซึ่งเป็นการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่มีผลบิดเบือนการค้าและการผลิต
- กล่องสีฟ้า (Blue Box) ซึ่งเป็นการอุดหนุนเพื่อจำกัดการผลิตที่มีผลบิดเบือนไม่มากหรือไม่มีเลย และ
- กล่องสีเขียว (Green Box) ซึ่งเป็นการอุดหนุนผ่านโครงการบริการของรัฐบาลที่ไม่มีผลบิดเบือนการค้า

ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกมีพันธกรณีในการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรภายในประเทศที่อยู่ในกล่องสีอำพัน และคงระดับการอุดหนุนในกล่องสีฟ้าไว้ แต่สามารถอุดหนุนสินค้าเกษตรตามเงื่อนไขของกล่องสีเขียวได้

ในการเจรจารอบโดฮา ประเทศพัฒนาพยายาม "การเล่นแร่แปรธาตุ" ยื่นข้อเสนอในการเจรจาที่ทำให้ตนสามารถยักย้ายเงินอุดหนุนสินค้าเกษตรต้องห้าม ไปตามเงื่อนไขที่องค์การการค้าโลกอนุญาตให้อุดหนุนได้ ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงพันธกรณีการลดในอนาคตและรักษาระดับการอุดหนุนสินค้าเกษตรของตนเอาไว้ให้มากที่สุด ประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ล้วนเป็นประเทศที่อุดหนุนสินค้าเกษตรมากที่สุดในโลก นโยบายการเกษตรในประเทศทั้งสองล้วนส่งผลให้สินค้าเกษตรสามารถส่งออกไปขายได้ในราคาถูก พฤติกรรมดังกล่าวรู้จักกันดีว่า เป็นการทุ่มตลาด (Dumping) ซึ่งส่งผลอย่างร้ายกาจต่อภาคเกษตรกรรมในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าและประเทศที่นำเข้าอาหารสุทธิ

กลุ่ม G20 (*) เป็นตัวละครสำคัญในการกดดันให้ประเทศพัฒนาลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรวมกลุ่มกับประเทศที่ยังคงปกป้องภาคเกษตรกรรมในช่วงก่อนการประชุมรัฐมนตรีที่เมืองแคนคูนในปี 2546 โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนา สหรัฐฯและสหภาพยุโรปพยายามรวมหัวกันเพื่อปกป้องนโยบายการอุดหนุนสินค้าเกษตรของตนในระหว่างการประชุมครั้งดังกล่าว โดยเสนอให้ลดการอุดหนุนในกล่องสีอำพันลง รักษาการอุดหนุนสินค้าเกษตรโดยการจ่ายเงินโดยตรงในกล่องสีฟ้าและกล่องสีเขียวทั้งกล่อง ข้อเสนอดังกล่าวแตกต่างจากข้อเสนอของกลุ่ม G20 ซึ่งต้องการให้ขจัดการอุดหนุนในกล่องสีฟ้าและกำหนดเพดานการอุดหนุนในกล่องสีเขียว

(*)The G20 (Group of 20, also variously G21, G22 and G20+) is a bloc of developing nations established on 20 August 2003. The group emerged at the 5th Ministerial WTO conference, held in Canc?n, Mexico from 10 September to 14 September 2003. In trade negotiations, the group has pressed for an end to agricultural subsidies by industrialized nations and opposed liberalization. The G-20 accounts for 60% of the world's population, 70% of its farmers and 26% of world's agricultural exports.

กลุ่ม G20 เห็นว่า ที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาพยายามอาศัยเงื่อนไขการอุดหนุนที่ไม่บิดเบือนการค้าและได้รับอนุญาตจากองค์การการค้าโลกในทั้งสองกล่องดังกล่าว ผันเงินอุดหนุนจำนวนมากสู่เกษตรกรในประเทศ จนสามารถส่งออกสินค้าเกษตรจำนวนมากในราคาถูก และกดดันจนราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดในตลาดโลกลดลง ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ฝ้าย

ภายใต้แรงกดดันให้ลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรที่ต่อเนื่องมาจากแคนคูน แม้ว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะยินยอมทางอ้อมไปแล้วว่า ต้องลดการอุดหนุนในกล่องสีอำพันลงอีกมาก แต่ทั้งสองประเทศก็พยายามยื่นข้อเสนอให้ผ่อนคลายเงื่อนไขการจัดประเภทการอุดหนุนสินค้าเกษตรในกล่องที่เหลือให้มากขึ้น จนกระทั่งข้อเสนอให้ผ่อนคลายเงื่อนไขการจัดประเภทในกล่องสีเขียวและคงเงื่อนไขการจัดประเภทในกล่องสีฟ้าถูกบรรจุเป็นมติของที่ประชุมคณะมนตรีทั่วไปในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2547 ความสำเร็จที่ว่านี้แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยการยกประโยชน์อื่นๆ ให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น การตั้งกรอบในการเจรจาเพื่อการลดการอุดหนุนในกล่องสีอำพันแบบก้าวหน้า และการขจัดการอุดหนุนการส่งออกทุกรูปแบบ เป็นต้น แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะข้อเสนอดังกล่าวเป็นการปูทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายหลักในการรักษานโยบายการอุดหนุนภายในของตน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาเงินอุดหนุนในกล่องสีเขียวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการอุดหนุนที่องค์การการค้าโลกอนุญาตให้อุดหนุนได้ไม่อั้น

หลังจากความคืบหน้าของรอบโดฮาในครั้งดังกล่าว กลุ่ม G20 ยังคงพยายามสกัดกั้นมิให้ประเทศพัฒนาเจรจาเพื่อให้ยักย้ายมาตรการการอุดหนุนจากกล่องหนึ่งไปสู่อีกกล่องหนึ่ง แต่ประเด็นหลักบนเวทีเจรจาเปลี่ยนมาเน้นที่การแสวงหาสูตรในการลดภาษีศุลกากร เพื่อเปิดตลาดสินค้าเกษตรและการลดการอุดหนุนในกล่องสีอำพัน เมื่อที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ไม่ยอมลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรภายในประเทศเพิ่ม ในขณะที่สหภาพยุโรปยังคงดึงดันไม่เปิดตลาดสินค้าเกษตรของตนมากกว่าที่เป็นอยู่ ก็พลอยทำให้การเจรจารอบโดฮาล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความพยายามเปลี่ยนประเด็นการเจรจาไปสู่หัวข้ออื่นๆ ในเรื่องสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เรื่องสินค้าพิเศษ แต่ก็ยังไม่เป็นผล และถึงแม้จะประสบผลคืบหน้า การเจรจาขั้นต่อไปก็อาจต้องเคลื่อนกลับมาสู่เรื่องกล่องและการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรภายในประเทศ การเมืองเรื่องกล่องเป็นความขัดแย้งในเรื่องความชอบธรรมทางการค้า ซึ่งประเทศสมาชิกไม่เห็นด้วย หากประเทศมหาอำนาจจะครอบงำการค้าเกษตรโลกเพียงเพราะร่ำรวยกว่าประเทศอื่นๆ

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

20. อินโดนีเซียกับเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี
สมคิด พุทธศรี (เอกสารข่าวฉบับที่ 20 ตุลาคม 2551)

อินโดนีเซียถือว่าเป็น "น้องใหม่" ในวงการการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี Megawati (พ.ศ.2544 - 2547) ไม่มีแนวนโยบายหรือยุทธศาสตร์ทางการค้าใดเลย ที่เสนอให้อินโดนีเซียทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี การเสนอแนะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในรัฐบาล Yudhodono ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบันเท่านั้น. ข้อเสนอข้างต้นกลายเป็นประเด็นถกเถียงที่ไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุปโดยง่าย แม้แต่ในหน่วยงานของรัฐเองก็มีเสียงสนับสนุนและคัดค้านพอๆ กัน มิพักต้องกล่าวถึงว่า ฉันทมติจากภาคประชาสังคมและชุมชนวิชาการเป็นสิ่งที่ยากที่จะปรากฏได้

ท่ามกลางกระแสการถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อสรุป รัฐบาลอินโดนีเซียกลับเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการไล่กวดการทำข้อตกลงการค้าเสรี และได้บรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น (Japan - Indonesia Economic Partnership Agreement) ในเดือนสิงหาคม 2550

อาจกล่าวได้ว่า การวิ่งบนเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรีของอินโดนีเซีย เป็นการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดในสังคมเศรษฐกิจโลก แม้ว่าอินโดนีเซียจะพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ (ในปี 2548 อัตราการเปิดประเทศอยู่ที่ระดับ 53.87 ของ GDP) แต่การค้าระหว่างประเทศก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก การเข้าถึงตลาดทั่วโลกยังคงเป็นเงื่อนไข 'จำเป็น' ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในช่วงแรกของการพัฒนาประเทศ อินโดนีเซียใช้การพัฒนาเศรษฐกิจแบบผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Imported Substitution) ควบคู่ไปกับการส่งออกน้ำมัน แต่เมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำในทศวรรษ 2520 ยุทธศาสตร์นี้ก็มิอาจดำรงอยู่ได้. ในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมัน อินโดนีเซียเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2538 มีการประกาศใช้เมนูนโยบายไม่ต่ำกว่า 24 ชุด เพื่อแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพ และส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งนี้ นัยหนึ่งคือ การเปลี่ยนไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เน้นการส่งออก (Export Orientation) ที่มีภาคหัตถอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ

สาระสำคัญของนโยบายการค้าภายใต้การปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ การดำเนินนโยบายการเปิดตลาดของตนเองโดยสมัครใจ (Libetaization) โดยการลดอุปสรรคทางการค้าที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษีของตนเอง. ภายใต้ทางเดินแบบพหุภาคี อินโดนีเซียเป็นสมาชิกแรกเริ่มขององค์การการค้าโลกและมีข้อผูกมัดสำคัญที่เป็นผลมาจากการเจรจาการค้าในรอบอุรุกวัย (Uruguay Round) หลายด้าน ได้แก่ การลดเพดานภาษีศุลกาการ การควบคุมสินค้าเกษตร การยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การยกเลิกค่าธรรมเนียมในสินคานำเข้า การเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงตลาดในภาคธุรกิจสำคัญ และการยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับส่วนประกอบที่ผลิตภายในประเทศ ภายใต้ความตกลง TRIMs เป็นต้น

อินโดนีเซียเป็นผู้สนับสนุนการค้าเสรีภายในอุษาคเนย์อย่างแข็งขัน กลุ่มนักผลิตนโยบายของอินโดนีเซียเชื่อว่า ข้อตกลงการค้าเสรี AFTA จักนำมาซึ่งความความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค อันเป็นความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่ 'แท้จริง' ของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย. อย่างไรก็ตาม วิกฤติการณ์การเงิน 2540 ทำให้กระบวนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียต้องหยุดชะงักลง ในส่วนของกระบวนการเปิดเสรีโดยสมัครใจ แม้ว่าอินโดนีเซียจะไม่ปิดตนเองออกจากเศรษฐกิจโลกและรับเอามาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจตามคำแนะนำของ IMF มาใช้ ตามข้อผูกมัดของจดหมายแสดงเจตจำนง (Letter of Intend) ที่รัฐบาลอินโดนีเซียทำกับ IMF แต่การล่มสลายของระบอบ Suharto โต้ที่ปกครองประเทศกว่า 32 ปี กลับฉุดรั้งกระบวนการดังกล่าวมิให้เดินหน้าไปได้เท่าที่ควร

วิกฤติการณ์ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกระบวนการเปิดเสรีภายในภูมิภาค เมื่อแต่ละภาคีหันไปดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภายในตามความเชื่อพื้นฐานของตน ซึ่งขัดแย้งกันเอง. กล่าวสำหรับอินโดนีเซีย รัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารประเทศต่อจาก Suharto ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie หรือ Megawati ล้วนมีท่าทีที่ไม่สนใจการรวมกลุ่มภายใต้อาเซียนทั้งสิ้น. อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียมิอาจอยู่เฉยได้ เมื่อไทยดำเนินนโยบายการค้าแบบ Darwinism ไล่กวดสิงคโปร์ในการทำข้อตกลงการค้าเสรี ในขณะที่การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีนกำลังบั่นทอนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย

การฝากความหวังไว้กับการจัดระเบียบการค้าเสรีโดย WTO ก็ดู "เลื่อนลอย" เกินไป เมื่อพิจารณาถึงความจริงข้อที่ว่า ผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างมวลหมู่สมาชิกองค์การการค้าโลกและการต่อต้านขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลก เป็นปัญหาที่มิอาจแก้ได้ในเร็ววัน. ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ นักผลิตนโยบายอินโดเซียเห็นว่า การเข้าสู่กระบวนการไล่กวดการทำข้อตกลงการค้าเสรี เป็นยุทธวิธีเดียวที่เหลืออยู่ในการธำรงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขัน คำถามพื้นฐานของอินโดนีเซียจึงไม่ใช่คำถามที่ว่า "อินโดนีเซียสมควรที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีหรอไม่" อีกต่อไป แต่คำถามที่เหมาะสมกว่าก็คือ "อินโดนีเซียจะเลือกทำข้อตกลงการค้าเสรีกับใคร และเลือกทำอย่างไร" เพื่อให้สังคมเศรษฐกิจของตนได้รับประโยชน์มากที่สุด

การทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ท่ามกลางความกังขาของสังคมเศรษฐกิจ นับเป็นรูปธรรมทางคิดที่ชัดเจนของกลุ่มนักผลิตนโยบายอินโดนีเซีย มิพักต้องกล่าวถึงว่าอินโดนีเซียมีแผนที่จะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอีกทั้งสิ้น 7 ข้อตกลง

'FTA Mania' กำลังระบาดสู่สังคมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
ข้อตกลงการค้าเสรีของอินโดนีเซียที่มีการลงนามแล้ว (ปีที่มีการลงนาม)

- ASEAN Free Trade Agreement - AFTA (2535)
- ASEAN - CHINA Free Trade Agreement -ACFTA (2545) * ลงนามในส่วน Framework Agreement
- ASEAN - KOREA Free Trade Agreement -AKFTA (2548) * ลงนามในส่วน Framework Agreement
- Japan- Indonesia Economic Partnership Agreement (2550)

ข้อตกลงการค้าเสรีของอินโดนีเซียที่อยู่ระหว่างการเจรจา (ปีที่เริ่มเจรจา)

- ASEAN - India - AIFTA (2546)
- ASEAN - New Zealand and Australia - AANZFTA (2547)
- ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership - AJCEP (2548)

ข้อตกลงการค้าเสรีของอินโดนีเซียที่อยู่ในแผนเจรจา (อยู่ระหว่างการศึกษา)
อินโดนีเซีย - สหรัฐอเมริกา, อินโดนีเซีย - สหภาพยุโรป (EU), อินโดนีเซีย - ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย - นิวซีแลนด์, อินโดนีเซีย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA), อินโดนีเซีย-ปากีสถาน, อินโดนีเซีย-อิหร่าน

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

19. 2008 Farm Act ขัดต่อกฎกติกาของ WTO หรือไม่?
สุนทร ตันมันทอง (เอกสารข่าวฉบับที่ 19 ตุลาคม 2551)

วันที่ 22 พฤษภาคม 2551 รัฐสภาสหรัฐฯผ่านกฎหมายการเกษตรสหรัฐฯฉบับใหม่ ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Food, Conservation and Energy Act of 2008 เพื่อมาแทนที่ FSRI Act 2002 ที่หมดอายุลง โดยหลักการและสาระสำคัญแล้ว กฎหมายการเกษตรฉบับล่าสุดมิได้แตกต่างไปจาก FSRI Act 2002 ที่เป็นข้อพิพาททางการค้ามากเท่าใดนัก และอาจขัดต่อกฎกติกาของ WTO สองชุดคือ

- ความตกลงว่าด้วยการเกษตร และ
- ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้

The Farm Security and Rural Investment Act (FSRI Act 2002) ฉบับก่อนหน้านี้พยายามตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรอเมริกัน แต่กลับไม่เป็นที่พอใจของประเทศอื่นๆ. ในปี 2550 คณะพิจารณาของ WTO มีคำวินิจฉัยว่า มาตรการอุดหนุนฝ้ายของสหรัฐฯ เช่น การจ่ายเงินโดยตรง (Direct Payments) มาตรการเงินกู้ด้านการตลาด (Marketing Loan Program) และการจ่ายเงินเพื่อป้องกันความผันผวนของราคา (Counter-Cyclical Payments) ขัดต่อกฎกติกาของ WTO นอกจากนี้ ในปีถัดมา สหรัฐฯยังถูกบราซิลและแคนาดาฟ้องร้องอีกว่า กำลังจ่ายเงินอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าเกินกว่าพันธกรณีที่ผูกพันกับ WTO ขณะที่ในการเจรจารอบโดฮา ประเทศกำลังพัฒนารวมกลุ่มกันเพื่อกดดันให้สหรัฐฯ ลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรในสัดส่วนที่มากพอ ก่อนที่จะมาเรียกร้องการเปิดตลาดสินค้าเกษตรในประเทศอื่นๆ. ปัจจุบัน การเจรจาต่อรองในสมการนี้ยังไม่สามารถหาคำตอบที่ต่างยอมรับได้

แต่ไม่ว่าจะถูกกดดันจากประเทศอื่นๆ อย่างไร กฎหมายการเกษตรปี 2551 ฉบับนี้ก็ยังคงรักษามาตรการอุดหนุนหลักๆ จาก FSRI Act 2002 ไว้ และขยายขอบเขตการอุดหนุนพืชผลมากขึ้น รวมทั้งออกมาตรการอุดหนุนใหม่ๆ เข้ามา. ประธานาธิบดีบุชพยายามชี้แจงกับสภาคองเกรสว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรอเมริกันมีรายได้เพิ่มกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ การคงเพดานราคาและรายได้เดิมไว้ จะทำให้รายได้จากตลาดสินค้าเกษตรในช่วงเวลาที่ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูง มาช่วยแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณการอุดหนุนของรัฐบาลกลางได้มากกว่า หลังจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเนื่องจากรัฐบาลบุช
ต้องการให้มีการปฏิรูปมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรจากฉบับที่แล้ว เพื่อนำไปต่อรองให้ประเทศอื่นๆ เปิดตลาดสินค้าเกษตรในการเจรจารอบโดฮา ทว่าในท้ายที่สุด รัฐสภาสหรัฐฯ ก็ใช้เสียงสองในสามล้มวีโต้ของประธานาธิบดีบุช และผ่านกฎหมายการเกษตรฉบับปี 2551 ออกมาได้

กฎหมายการเกษตรฉบับปี 2551 คงหลักการและมาตรการการอุดหนุนหลักๆ จากฎหมายการเกษตรฉบับก่อนหน้าไว้ อันได้แก่ การจ่ายเงินโดยตรง มาตรการเงินกู้ด้านการตลาด และการจ่ายเงินเพื่อป้องกันความผันผวนของราคา. มาตรการเหล่านี้มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนโดยนำราคาปัจจุบันมาพิจารณา หากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลกำหนด เกษตรกรก็สามารถรับเงินอุดหนุนดังกล่าวได้ ในการอุดหนุนการส่งออก กฎหมายการเกษตรฉบับปี 2551 ยังคงใช้มาตรการสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Export Subsidies) โดยมีการปรับเปลี่ยนมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออก (GSM 102 Program) ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะพิจารณาของ WTO

กฎหมายการเกษตรฉบับปี 2551 ปรับเพิ่มเพดานราคาเงื่อนไขที่สามารถรับเงินอุดหนุนตามราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้น เช่น การปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย (Target Price) ในการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อป้องกันความผันผวนของราคาแก่พืชผล 6 ชนิด อันได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต และเมล็ดพืชน้ำมันบางชนิด เป็นต้น รวมทั้งยังเพิ่มรายการพืชผลที่ได้รับเงินอุดหนุนจากเดิมทั้งหมด 17 รายการเป็น 25 รายการโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว และออกมาตรการประกันรายได้เสริมใหม่ (Average Crop Revenue Election Program: ACRE) แม้ว่าก่อนหน้านี้ คณะพิจารณาและองค์กรอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่า มาตรการการจ่ายเงินโดยตรง และการจ่ายเงินเพื่อป้องกันความผันผวนของราคา ที่ให้แก่เกษตรกรเมริกันที่ปลูกฝ้ายเป็นมาตรการที่มีผลบิดเบือนการค้า เนื่องจากมีผลต่อการตัดสินใจเพาะปลูกฝ้ายแทนการเพาะปลูกผักและผลไม้ ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนน้อยกว่า

นี่จะเป็นปัญหาต่อไปอีกว่า สหรัฐฯจะจ่ายเงินอุดหนุนที่มีผลบิดเบือนการค้าเกินกว่าพันธกรณีที่สหรัฐฯผูกพันไว้กับ WTO โลกหรือไม่ สหรัฐฯมีเพดานการอุดหนุนที่บิดเบือนตลาดในกล่องสีอำพัน (Amber Box) อยู่ที่ 19.1 พันล้านดอลลาร์อเมริกันต่อปี แต่บราซิลและแคนาดายื่นฟ้องสหรัฐฯใน WTO ว่า อุดหนุนเกินเพดานดังกล่าว เนื่องจากหากใช้คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นข้ออ้างอิง ทำให้เมื่อรวมการจ่ายเงินโดยตรง และการจ่ายเงินเพื่อป้องกันความผันผวนของราคาเข้ามาในการคำนวณเงินอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าในกล่องสีอำพันของสหรัฐฯ สหรัฐฯจะอุดหนุนเกินเพดานดังกล่าว

เหตุผลที่ทำให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ สามารถแสดงตัวเลขการอุดหนุน
ที่ต่ำกว่าพันธกรณีได้ เป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นในช่วงเวลาที่บังคับใช้กฎหมายการเกษตรฉบับที่แล้วมากกว่า ยังไม่ต้องกล่าวถึงว่า ในร่างกรอบการเจรจาสินค้าเกษตรในการเจรจาการค้ารอบโดฮา (Revised Draft Modalities for Agriculture) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯยอมลดเพดานการอุดหนุนดังกล่าวลงเหลือ 7.6 พันล้านดอลลาร์อเมริกัน ดังนั้น มาตรการอุดหนุนในกฎหมายการเกษตรฉบับนี้ จะขัดต่อกฎกติกาขององค์การการค้าโลกหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตรในอนาคต

ในความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ มาตรการมาตรการการจ่ายเงินกู้แทนเมื่อรายได้ไม่เพียงพอ (Loan-deficiency Payment) และการจ่ายเงินเพื่อป้องกันความผันผวนของราคาในกฎหมายการเกษตรฉบับปี 2539 และ 2551 อาจเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องว่า เป็นการอุดหนุนที่ห้ามใช้ตามความตกลงดังกล่าว เนื่องจากมีบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยในคดีฝ้ายกับบราซิล

ในอีกห้าปีข้างหน้า กฎหมายการเกษตรฉบับปี 2551 กำลังเดินซ้ำรอยกฎหมายการเกษตรฉบับก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ยังคงเป็นนโยบายการเกษตรที่พยายามตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรอเมริกันแต่ไม่เป็นที่พอใจของประเทศอื่นๆ

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


18. ฟิลิปปินส์กับเส้นทางการทำข้อตกลงการค้าเสรี
สมคิด พุทธศรี (เอกสารข่าวฉบับที่ 18 กันยายน 2551)

คำถามพื้นฐานทางนโยบายที่ว่า "ฟิลิปปินส์ควรวิ่งบนเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรีหรือไม่" เพิ่งปรากฏในสังคมเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในรอบห้าปีที่ผ่านมา และกลายเป็นวาระทางเศรษฐกิจได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคมและชุมชนวิชาการ

กลุ่มชนชั้นนำและนักผลิตนโยบายใช้เวลามานานนักในการตอบคำถามข้างต้น ฟิลิปปินส์ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ Japan - Philippines Economic Partnership Agreement ในปี 2549 การลงนามครั้งนี้นัยหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า นับแต่นี้ไปฟิลิปปินส์จักอยู่บนเส้นทางของกระบวนการไล่กวดการทำข้อตกลงการค้าเสรี

อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการหาคำตอบที่รวดเร็วของฟิลิปปินส์เป็นผลมาจาการปะทะสังสรรค์กันระหว่างความจำเป็นในการธำรงไว้ซึ่ง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศกับสถานการณ์สังคมเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

นับตั้งแต่เดินตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบมองออกไปข้างนอก (Outward Orientation) ในทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ก็ผนวกตนเองเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอัตราการเปิดประเทศ (Degree of Openness) โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2546-2548 อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 90 ของ GDP ด้วยอัตราการเปิดประเทศเช่นนี้ การเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จึงอยู่บนฐานของการเดินตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบมองออกไปข้างนอกให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับการเข้าถึงตลาดสำหรับสินค้าส่งออก

ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ใช้แนวทางการเปิดตลาดของตนโดยสมัครใจ (Liberalization) เป็นยุทธวิธีหลักในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ โดยหมุดหลักอยู่ที่การปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ในช่วงปลายทศวรรษ 2520 และการปฏิรูปภาษีในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ผลของ "สองปฏิรูป" ทำให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ค่อนข้างเปิดโดยเปรียบเทียบ อัตราภาษีศุลกากรโดยเฉลี่ยลดลงจากร้อยละ 27.8 ในปี 2533 เหลือเพียงร้อยละ 8.1 ปี 2543 พร้อมๆ กับการมยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีจำนวนมาก

บนเส้นทางเดินของการค้าพหุภาคี ฟิลิปปินส์ยอมปฏิบัติตามข้อผูกมัดที่เป็นผลมาจากการเจรจารอบอุรุกวัย (Uruguay Round) เป็นอย่างดี ในส่วนของการเจรจารอบโดฮา ทั้งนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์เชื่อว่า จะเป็นการดีที่สุดถ้าหากการเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคี สามารถลุล่วงไปได้บนเงื่อนไขที่สอดคล้องกับการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

ฟิลิปปินส์ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการเปิดเสรีทางการค้าภายในอาเซียนผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สำหรับฟิลิปปินส์แล้วอาเซียนเป็นเวทีการค้าระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในระดับเดียวกับ WTO

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา กระบวนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทั้งสามแนวทาง ต่างประสบกับปัญหาชะงักงัน ในแนวทางของกระบวนการเปิดเสรีโดยสมัครใจ ฟิลิปปินส์หันกลับมาดำเนินนโยบายการค้าตามลัทธิปกป้องตนเอง (Protectionism) ตามความต้องการของกลุ่มที่เสียประโยชน์จากกระบวนการเปิดเสรี และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนชาตินิยมที่รู้สึกว่าตนกำลังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ จากคู่แข่งสัญชาติอื่น

ในแนวทางของการค้าแบบภูมิภาคี วิกฤติการณ์การเงิน 2540 มีผลทำให้แนวทางการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของแต่ละภาคีแตกต่างกันออกไป ฟิลิปปินส์เองเป็นหนึ่งในภาคีที่เลือกสงวนท่าทีในการที่จะเปิดเสรีมากขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความกังวลในขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งสำคัญอย่างไทยและอินโดนีเซียมีค่าเงินที่อ่อนค่าลง

ในขณะที่การเจรจาการค้ารอบโดฮายังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อความขัดแย้งของมวลหมู่สมาชิก และการต่อต้านขององค์กรพัฒนาเอกชนในระดับสากล เป็นปัญหาที่มิอาจแก้ได้ในเร็ววัน

ภายใต้บริบทเช่นนี้ การทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นยุทธวิธีเดียวที่เหลืออยู่ในกระบวนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ในช่วงแรกฟิลิปปินส์มีทัศนคติในทางลบต่อยุทธวิธีนี้ เมื่อครั้งที่สิงคโปร์เดินหน้าทำข้อตกลงการค้าเสรี ฟิลิปปินส์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การดำเนินนโยบายของสิงคโปร์เป็นการทำลายซึ่งภราดรภาพระหว่างภาคีอาเซียนด้วยกันเอง

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของกลุ่มบุคคลที่ยึดกุมกระบวนการกำหนดนโยบายของฟิลิปปินส์เริ่มเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ประธานาธิบดี Gloria Macapacal Arroyo เริ่มกล่าวถึงความจำเป็นในการออกวิ่งบนกระบวนการไล่กวดการทำข้อตกลงการค้าเสรีต่อสาธารณะในหลายวาระด้วยกัน ทั้งนี้เบื้อหลังท่าทีที่เปลี่ยนไป คือ การเผชิญกับแรงกดดันอย่างน้อยสองประการ ดังนี้

ประการแรก ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์กำลังถูกบั่นทอนลง หลังจากที่ประเทศคู่แข่งทางการค้าอย่างไทยได้วิ่งตามสิงคโปร์ไปในกระบวนการไล่กวดการทำข้อตกลงการค้าเสรี และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีน

ประการที่สอง ประเทศคู่ค้ามหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ต้องการที่จะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ผนวกการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับฟิลิปปินส์เป็นส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านก่อการร้าย

หลังจากการเข้าสู่เส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี สิ่งที่ฟิลิปปินส์ต้องคำนึงในลำดับต่อไป คือ "ทำอย่างไรจึงจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการทำข้อตกลงการค้าเสรีให้ได้มากที่สุด และทำอย่างไรผลประโยชน์จะกระจายเข้าสู่ประชาชนอย่างแท้จริง"

ข้อตกลงการค้าเสรีของมาเลเซียที่มีการลงนามแล้ว (ปีที่ลงนาม)

ASEAN Free Trade Agreement - AFTA (2535)
ASEAN - CHINA Free Trade Agreement -ACFTA (2545) * ลงนามในส่วน Framework Agreement
Malaysia-United States Trade and Investment Framework Agreement - TIFA (2547)
ASEAN - KOREA Free Trade Agreement -AKFTA (2548) * ลงนามในส่วน Framework Agreement
Japan - Philippines Economic Partnership Agreement - JPEPA (2549)

ข้อตกลงการค้าเสรีของฟิลิปปินส์ที่อยู่ระหว่างการเจรจา (ปีที่เริ่มเจรจา)

ASEAN - India - AIFTA (2546)
ASEAN - New Zealand and Australia - AANZFTA (2547)
ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership - AJCEP (2548)

ข้อตกลงการค้าเสรีของฟิลิปปินส์ที่อยู่ในแผนเจรจา (อยู่ระหว่างการศึกษา)
ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกา - ฟิลิปปินส์
ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไต้หวัน - ฟิลิปปินส์

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

17. ประเทศกำลังพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจารอบโดฮาได้อย่างไร ?
วิโรจน์ สุขพิศาลี (เอกสารข่าวฉบับที่ 17, กันยายน 2551)

การเจรจาการค้าเสรีระดับพหุภาคีขององค์การการค้าโลกรอบปัจจุบัน ประเทศสมาชิกต่างมีฉันทามติให้การเจรจารอบนี้เป็น "รอบแห่งการพัฒนา" หัวใจสำคัญของการเจรจาในรอบนี้คือ การสร้างประโยชน์และเอื้อต่อการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการเจรจารอบก่อนหน้ามิได้พูดถึงประเด็นนี้มากนัก ดังนั้น การเจรจาหรือความตกลงใดๆ ในการประชุมรอบนี้จึงต้องเน้นไปที่ผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาเป็นสำคัญ

การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นนับเป็นกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น การเจรจาการค้าควรผลักดันให้มีการยกเลิกการอุดหนุนสินค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ควรผลักดันให้ยกเลิกการจำกัดการนำเข้า และลดภาษีการนำเข้าซึ่งเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งควรมีการขยาย duty-free และ quota-free ในการเข้าสู่ตลาดสำหรับสินค้าส่งออกของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ครอบคลุมในทุกสินค้าส่งออก นอกจากนั้นกลุ่มประเทศพัฒนาอื่นๆ ควรขยายข้อตกลงนี้เพื่อให้ประเทศประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในการเข้าสู่ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาด้วย

อย่างไรก็ตาม อาจมีความตกลงบางข้อที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ดังนั้น ความ
ตกลงของการเจรจาจักต้องยึดถือความเป็นธรรมเป็นที่ตั้ง ความตกลงต้องไม่สร้างผลประโยชน์แก่ประเทศร่ำรวยบางประเทศ แต่จักต้องสร้างประโยชน์หรือส่วนแบ่งสูงสุดจากการเจรจาแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนามีความแตกต่างทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว การเปลี่ยนแปลงในนโยบายการค้าระหว่างประเทศย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัว ดังนั้นประเทศเหล่านี้ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษและแตกต่าง(Special and Differential Treatment) ประเทศกำลังพัฒนาควรมีระยะเวลาในการปรับตัวในการปฏิบัติตามความตกลงที่นานขึ้น เพื่อให้สามารถพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิตภายในประเทศ ซึ่งการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษและแตกต่าง นับเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อยกระดับการพัฒนาในประเทศและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา

นอกเหนือจากการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษและแตกต่างแก่ประเทศกำลังพัฒนา การเจรจารอบโดฮาควรกำหนดการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเหล่านี้ ในการปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคทางการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกโดยอาจอาศัยความช่วยเหลือจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเป็นองค์กรหลักในการให้ความช่วยเหลือ

ประเด็นการเปิดเสรีการซื้อขายและส่งมอบบริการ (Mode of Supply) การเจรจาต้องผลักดันให้มีการเปิดเสรีการซื้อขายและส่งมอบบริการ ในรูปแบบที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้ประโยชน์สูงสุด คือ การเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวมิได้เป็นประเด็นสำคัญในการเจรจา

ในปัจจุบันการเจรจาการค้าได้ขยายขอบเขตไปไกลกว่าเรื่องที่เกี่ยวกับการค้า เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือทรัพย์สินทางปัญญา หากขอบข่ายนโยบายครอบคลุมประเด็นนอกเหนือจากการค้า การกำหนดประเด็นและกรอบการเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลกจะเป็นไปด้วยความลำบาก อีกทั้งการขยายขอบเขตการเจรจาที่กว้างขึ้น จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีต้นทุนในการเจรจาเพิ่มขึ้น ดังนั้นขอบเขตการเจรจาควรครอบคลุมเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าเท่านั้น อีกทั้งในการเจรจารอบโดฮา มีหลายประเด็นที่ไม่ควรอยู่ในการเจรจารอบนี้ เนื่องจากมิได้สร้างผลประโยชน์และมิได้เอื้อต่อการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ความตกลงด้านการลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

การเจรจาการค้าที่ประสบความล้มเหลวที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งมาจากการดำเนินงานขององค์การการค้าโลกเอง ทั้งความไม่โปร่งใสของกระบวนการเจรจาที่จัดให้มีการประชุมลับ หรือกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นจึงควรมีการปฏิรูปเชิงสถาบันภายในองค์การการค้าโลกเพื่อให้กระบวนการเจรจาการค้ามีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น

หัวใจสำคัญที่สุดในการผลักดันให้ประเทศด้อยพัฒนาได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเจรจาคือ การสร้างค่านิยมในมวลหมู่สมาชิกให้ตระหนักว่า การเจรจาการค้าครั้งนี้ จักต้องสร้างความเป็นธรรมและการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างแท้จริง เพื่อให้สมดังจุดมุ่งหมายของการเจรจาการค้าในรอบที่ได้ชื่อว่า "รอบแห่งการพัฒนา".

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

16. ข้อพิพาทว่าด้วยกุ้งไทย-สหรัฐอเมริกา: 'จบ' จริงหรือ?
สมคิด พุทธศรี (เอกสารข่าวฉบับที่ 16, สิงหาคม 2551)

กรณีพิพาทกุ้ง ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาเป็นปัญหายืดเยื้อ โดยเริ่มต้นจากการที่สหภาพยุโรปกีดกันกุ้งนำเข้าจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย ที่ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีสาร chloramphenicol และสารดังกล่าวหลงเหลืออยู่ในตัวกุ้ง เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อุตสาหกรรมกุ้งแบบ 'ข้ามซีกโลก' เมื่อกุ้งที่ไม่สามารถส่งเข้าไปยังยุโรปได้ถูกส่งไปสหรัฐอเมริกาแทน ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามิได้กำหนดระดับขั้นต่ำของสารตกค้างที่เป็นอันตรายเอาไว้ ปริมาณกุ้งในสหรัฐอเมริกาจึงล้นตลาดและราคากุ้งตกต่ำลงอย่างมาก

กลุ่มผู้ผลิตกุ้งในรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกาจึงรวมตัวกันภายใต้ชื่อ 'กลุ่มพันธมิตรกุ้งภาคใต้' (Southern Shrimp Alliance: SSA) เพื่อกดดันให้รัฐบาลอเมริกันไต่สวนและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากประเทศผู้ส่งออกกุ้ง ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย การกดดันประสบผลสำเร็จเมื่อ กระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศรับฟ้องและเปิดการไต่สวนข้อหาการทุ่มตลาดสินค้ากุ้งจากทั้ง 6 ประเทศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2547

การไต่สวนได้ข้อสรุปว่า มีการขายกุ้งแช่แข็งและกุ้งบรรจุกระป๋องต่ำกว่าราคาต้นทุนที่แท้จริง โดยกุ้งนำเข้าจากไทยมีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 5.56 ถึง 10.52 (1) ผลที่ตามมาก็คือ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti Dumping Duty) ตามส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดจากผู้ส่งออกไทยและอื่นๆ อีก 5 ประเทศ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 เป็นต้นมา พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้นำเข้าที่ถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต้องวางพันธบัตรเงินสดต่อเนื่อง (Continuous Bond: C-Bond) ในอัตราร้อยละ 100 ของมูลค่าการนำเข้าตลอดทั้งปี คูณด้วยอัตราอากรทุ่มตลาดทุกครั้งที่มีการส่งสินค้าเข้าสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดย้อนหลังของศุลกากรสหรัฐอเมริกา ทว่า 'ความยุ่งยาก' บังเกิดขึ้น เมื่อในความเป็นจริง ผู้ส่งออกกลับต้องเป็นผู้แบกรับภาระการวางพันธบัตรเงินสดต่อเนื่องแทน เพราะผู้นำเข้าสหรัฐฯส่วนใหญ่ไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวได้

ไทยตอบโต้สหรัฐอเมริกาด้วยการยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 โดยอ้างว่า ประพฤติกรรมของสหรัฐอเมริกาในการใช้มาตรการ Zeroing เพื่อคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดกับกุ้งไทยขัดต่อกฎข้อที่ 4.2.2 ของความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด และการกำหนดให้ผู้นำเข้าที่ถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต้องวางพันธบัตรเงินสดต่อเนื่อง (Continuous Bond: C-Bond) นั้นไม่สอดคล้องกับกฎข้อที่ 18.1 ของความตกลงดังกล่าว ทั้งนี้ยังผลไปสู่การขัดต่อกฎข้อ VI วรรค 2 และ 3 ของข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า GATT 1994

ภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก ไทยและสหรัฐอเมริกาจะต้องเริ่มต้นหารือร่วมกัน โดยไทยยื่นคำร้องขอหารือกับสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2549 อย่างไรก็ตาม การหารือล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เมื่อสหรัฐฯยืนยันที่จะคงไว้ซึ่งข้อกำหนดให้วางพันธบัตรเงินสดต่อเนื่อง ไทยจึงตัดสินใจยื่นคำร้องให้องค์กรระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO (Dispute Settlement Body: DBS) ตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดี (panel) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 DBS มีมติให้ตั้งคณะกรรมการเมือวันที่ 26 ตุลาคม 2551 และคณะมนตรีทั่วไปเห็นชอบในการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2550

การพิจารณาความของคณะกรรมการพิจารณาข้อพิพาท (Panel) ได้ข้อสรุปว่า สหรัฐอเมริกาทำผิดจริง แต่สหรัฐอเมริกากลับไม่ยอมรับผลการตัดสิน และยื่นอุทธรณ์ในปลายเดือนเมษายน 2551 (2) อย่างไรก็ตาม คณะพิจารณาอุทธรณ์มีมติยืนยันตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาคดี และองค์กรระงับข้อพิพาทประกาศรับรองมติของคณะอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 เป็นอันสิ้นสุดกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO

แม้ว่าตามกระบวนการระงับข้อพิพาทแล้ว เมื่อคำวินิจฉัยของคณะพิจารณาอุทธรณ์ยืนยันให้ไทยชนะคดี สหรัฐอเมริกาจักต้องยกเลิกมาตรการทั้งสองที่ใช้กับไทย แต่บทสรุปของคดีจะเป็นเช่นไรยังคงเป็นข้อกังขา เมื่อผลในทางปฏิบัติยังมิอาจเกิดขึ้นได้ในทันที ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเองยังไม่มีปฏิกิริยาที่ชัดเจนต่อมติดังกล่าว ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป. ไม่เพียงเท่านั้น การออกมาโจมตีอุตสาหกรรมกุ้งไทยด้วยข้อหาต่างนานาไม่ว่าจะเป็น การใช้แรงงานเด็กหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการที่ SSA ร้องเรียนต่อรัฐสภา เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯใช้ระบบ Green Ticket แบบใหม่ (3) ล้วนเป็นสัญญาณบ่งว่า 'ศึก' ครั้งนี้ยังมิอาจจบลงด้วยกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า รัฐบาลอเมริกันพยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาผลประโยชน์ของตน มากกว่าที่จะคำนึงถึงกฎกติกาและหลักการที่นานาประเทศยอมรับร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้เดือดร้อนเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง 'ความหน้าด้าน' ของสหรัฐอเมริกาก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวี เช่นนี้แล้ว 'สงครามว่าด้วยกุ้ง' ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาจักต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และอาจไม่มีวันจบสิ้น ตราบเท่าที่ผู้ผลิตจากทั้งสองประเทศยังคงต้องแข่งขันกันอยู่

ประเด็นพื้นฐานที่ต้องติดตามจึงมีอยู่อย่างน้อย สอง ประการ

ประการแรก ข้อพิพาทนี้จะมีบทลงเอยเช่นใด SSA และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะมีท่าทีอย่างไร
ต่อคำวินิจฉัยของคณะพิจารณาอุทธรณ์แห่งองค์การการค้าโลก

ประการที่สอง หากแม้นข้อพิพาทนี้ยุติแล้ว ความขัดแย้งครั้งต่อไปจะออกมาในรูปแบบใด และกลไกการระงับข้อตกลง
ภายใต้ WTO จะเพียงพอต่อการแก้ไขความขัดแย้ง หรือไม่?

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

15. ฤาโดฮาไม่มีโค้งสุดท้าย?
อิสร์กุล อุณหเกตุ (เอกสารข่าวฉบับที่ 15, สิงหาคม 2551)

ปลายเดือนกรกฎาคม 2547 ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกพร้อมใจกัน 'ฝ่าทางตัน' การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) ได้เป็นผลสำเร็จหลังบรรลุกรอบความตกลงที่รู้จักกันในชื่อ July Package 2004 และสร้างความหวังว่า การเจรจารอบโดฮาอาจได้ข้อสรุปในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม 4 ปีต่อมา การเจรจายังคงดำเนินต้องต่อไปและมิอาจหาข้อสรุปได้ ซ้ำร้ายความมุ่งหวังที่จะฝ่าทางตันครั้งใหม่ต้องจบลง เมื่อประเทศสมาชิกมิสามารถตกลงกรอบการเจรจา July Package 2008 ร่วมกันได้

การเจรจารอบโดฮาที่ดำเนินมายาวนานเกือบ 7 ปีนับแต่เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปี 2544 มีทีท่าว่า กำลังจะเข้าสู่โค้งสุดท้าย เมื่อนาย Carwford Falconer ประธานคณะเจรจาสินค้าเกษตรและนาย Don Stephenson ประธานคณะเจรจาการเข้าถึงตลาดของสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตรจัดทำโครงร่างข้อเสนอฉบับแก้ไข (Revised Modalities) ซึ่งเป็นการสรุปจุดยืนในการเจรจาล่าสุดของประเทศสมาชิกนับตั้งแต่การเจรจาในช่วงเดือนกันยายน 2550 แล้วเสร็จและเผยแพร่ต่อประเทศสมาชิกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 ทำให้แผนการประชุมย่อยระดับรัฐมนตรี (Mini-Ministerial Conference) เพื่อการตัดสินใจระดับรัฐมนตรีขั้นสุดท้ายก่อนการดำเนินการเจรจาขั้นต่อไปสามารถเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551

อย่างไรก็ตาม การประชุมย่อยระดับรัฐมนตรีดังกล่าวกลายสภาพเป็นการประชุมขนาดย่อยลงไปยิ่งกว่าเดิม เมื่อการเจรจาเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกเพียง 7 ประเทศ หรือรู้จักกันในชื่อ กลุ่ม G-7 อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย บราซิล จีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยมีนาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกเป็นผู้ดำเนินการเจรจา แนวทางการเจรจาดังกล่าวสร้างความสับสนงุนงงให้กับรัฐมนตรีการค้าจากกว่า 40 ประเทศที่เหลือ และทำได้เพียงนั่งรอคอยผลการเจรจาจากกลุ่ม G-7 และผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก

แม้ว่าการเจรจาระหว่างกลุ่มประเทศดังกล่าวจะหาข้อยุติสำคัญได้ในหลายประเด็น แต่กลับต้องหยุดชะงักลง เมื่ออินเดียและจีนไม่เห็นด้วยกับสาระสำคัญในกลไกปกป้องพิเศษ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการให้กำหนดระดับปริมาณการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 150 ของปริมาณการนำเข้าในปีฐานจึงจะสามารถใช้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าพิเศษนั้นๆ ได้ นาย Pascal Lamy พยายามยื่นโครงร่างฉบับใหม่เพื่อประนีประนอมความเห็นของทั้งสองฝ่าย แต่ถูกปฏิเสธโดยตัวแทนจากสหรัฐฯ ขณะที่วิธีการใช้กลไกปกป้องพิเศษที่เสนอโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศในกลุ่ม G-7 ก็ถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธอีกครั้ง และนำไปสู่การปิดม่านการเจรจา

ประเทศพัฒนาแล้วนำโดยสหรัฐฯ เชื่อว่า การเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้มากขึ้นเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการประกันความมั่นคงทางอาหารและการดำรงชีพ แต่ประเทศกำลังพัฒนานำโดยอินเดียและจีนกลับเห็นในทางตรงกันข้าม โดยสนับสนุนความคิดของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งกลุ่มประเทศ G-33 กลุ่มประเทศ ACP และกลุ่มประเทศในแอฟริกาที่ต้องการกลไกการปกป้องในกรณีที่การนำเข้าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการดำรงชีพ ความเห็นที่แตกต่างกันนี้ทำให้การเจรจารอบโดฮาที่กำลังจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายกลับไปแขวนอยู่บนเส้นด้ายอีกครั้ง

นาง Susan Schwab ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) กล่าวภายหลังการเจรจาล้มเหลวลงว่า ประเทศสมาชิกสามารถสร้างความก้าวหน้าในการเจรจาในช่วง 10 วันหลังสุดได้มากยิ่งกว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แต่ "ประเทศบางประเทศต้องการมากขึ้นและมากขึ้นสำหรับการปิดตลาด" และ "เป็นเรื่องน่าเศร้าที่จะอ้างถึง 'รอบแห่งการพัฒนา' หากผลการเจรจาทำให้อุปสรรคทางการค้ามีมากกว่าก่อนเริ่มรอบการเจรจา ดังเช่นจุดยืนในประเด็นกลไกการปกป้องพิเศษ" ความเห็นดังกล่าวถูกตอบโต้แทบจะทันที โดยนาย Kamal Nath รัฐมนตรีพาณิชย์อินเดียกล่าวว่า การเจรจาเป็นไปได้ด้วยดีตลอด และประเทศสมาชิกมิได้ขัดแย้งกันในประเด็นใหญ่ ประเด็นที่ทำให้การเจรจาต้องยุติลง คือ ประเด็นกลไกการปกป้องพิเศษที่จะถูกใช้เพื่อการคุ้มครองความมั่นคงในการดำรงชีพ ทั้งนี้ "ความมั่นคงในการดำรงชีพมิใช่สิ่งที่สามารถเจรจาต่อรองกันได้ หากการหยุดชะงักของการเจรจาเป็นเหตุผลด้านการค้าก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่หากเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงในการดำรงชีพก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแตกต่างกันมาก"

ขณะที่กลุ่มประเทศ G-33 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสินค้าพิเศษและกลไกปกป้องพิเศษมาตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่เห็นด้วยกับการโยนความผิดให้กับการเจรจาประเด็นดังกล่าวเพียงประเด็นเดียว ทั้งที่ยังมิได้เริ่มการเจรจาประเด็นอื่นๆ ซึ่งอาจไม่สามารถหาข้อยุติเช่นกัน เช่น สินค้าฝ้ายและการสูญเสียสิทธิที่มีอยู่เดิม (preference erosion) โดยนาง Mari Pangestu รัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซียตัวแทนกลุ่มประเทศ G-33 ให้ความเห็นว่า "หากรอจนระดับปริมาณนำเข้าสูงมาก ก็สายไปที่จะคุ้มครองวิถีชีวิตของเกษตรกร" และ "เราถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมโดยที่เราไม่ได้ทำ เราเชื่อว่า เราเป็นผู้บริสุทธิ์ที่เรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ (ใช้กลไกปกป้องพิเศษเพื่อปกป้องเกษตรกรจากการไหลทะลักของการนำเข้า) และหากเรากระทำความผิด (ใช้กลไกปกป้องพิเศษเพื่อเป็นอุปสรรคต่อการค้า) ก็จำเป็นต้องใช้กลไกเพื่อแก้ไข"

นาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกยอมรับว่า ความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการใช้กลไกการปกป้องพิเศษนำไปสู่ความล้มเหลวของการเจรจา โดยกล่าวว่า "บางประเทศกังวลว่า การใช้มาตรการปกป้องพิเศษจะกระทบกระเทือนการค้าปรกติ จึงต้องการให้ใช้ระดับปริมาณการนำเข้าที่สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่บางประเทศต้องการใช้ระดับที่ต่ำกว่า ความแตกต่างดังกล่าวไม่สามารถประนีประนอมกันได้หลังจาก 60 ชั่วโมงในการพยายามเชื่อมโยงจุดยืน" และ "การเจรจาในวันนี้ (30 กรกฎาคม) เป็นการถอยหลังที่รุนแรง เราต้องพยายามหาวิธีการที่จะนำการเจรจากลับมาอยู่ในแนวทางดังเดิม"

แม้ว่ากลไกปกป้องพิเศษจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การประชุมย่อยระดับรัฐมนตรีต้องล้มเหลว แต่องค์การภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า เบื้องหลังความล้มเหลวดังกล่าวที่แท้แล้วอยู่ที่ท่าทีของสหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการเจรจาในประเด็นสินค้าฝ้าย เนื่องจากกฎหมายการเกษตรของสหรัฐฯ ปี 2008 (US Farm Bill 2008) วางแผนการอุดหนุนฝ้ายไว้ไม่น้อยไปกว่าเดิมตลอด 5 ปี นับจากนี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐฯ จะทำตามข้อเสนอการลดการอุดหนุนฝ้ายที่มากไปกว่าการลดการอุดหนุนปรกติที่ร้อยละ 70 ดังนั้น หากสหรัฐฯ ปล่อยให้การเจรจาในประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้น การเห็นผลประโยชน์ของเกษตรกรฝ้ายหลักพันในประเทศสำคัญกว่าเกษตรกรฝ้ายหลักล้านในแอฟริกาย่อมทำให้สหรัฐฯ ต้องตกเป็นฐานะจำเลยของการเจรจาในฐานที่ไม่มีความจริงใจในประเด็น 'วาระแห่งการพัฒนา'

การเจรจารอบโดฮาจะเริ่มต้นอีกครั้งหลังการหยุดพักช่วงฤดูร้อนในเดือนสิงหาคม แต่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้อย่างชัดแจ้งว่า การเจรจาจะเป็นไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเมื่อ 'ขาใหญ่' ในการเจรจาอย่างสหรัฐฯ ยังต้องรอคอยผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนที่จะกำหนดจุดยืนในการเจรจาต่อไป แม้ว่าการวิ่งมาราธอนที่ชื่อ 'การเจรจารอบโดฮา' กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้าย แต่เป็นไปไม่ได้ที่นักวิ่งคนใดคนหนึ่งจะวิ่งเข้าเส้นชัยเพียงลำพัง หากประเทศสมาชิกถือผลประโยชน์ของตนสำคัญกว่าผลประโยชน์ต่อระบบการค้าพหุภาคีแล้ว อาจทำให้การเจรจาหยุดชะงักหรือล้มเหลวลงได้ทุกขณะ และเส้นชัยของการเจรจารอบโดฮาก็จะอยู่ห่างไกลเช่นเดิม.

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

14. ความล้มเหลวในการเจรจารอบโดฮาหมายถึงจุดจบของ WTO หรือไม่
อิสร์กุล อุณหเกตุ (เอกสารข่าวฉบับที่ 14 กรกฎาคม 2551)

องค์การการค้าโลกถือกำเนิดในปี 2538 ตามความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก (Marrakes Agreement Establishing the World Trade Organization) อันเป็นผลผลิตจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย (Uruguay Round) ในข้อ III ของความตกลงดังกล่าวกำหนดให้องค์การการค้าโลกมีหน้าที่จัดเวทีสำหรับการเจรจาการค้าระดับพหุภาคีสำหรับประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) อันเป็นการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบแรกและรอบล่าสุดนับตั้งแต่มีการสถาปนาองค์การการค้าโลกในปี 2538 กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เมื่อประเทศสมาชิกไม่สามารถบรรลุข้อสรุปในประเด็นหลักร่วมกันได้ แม้ว่าการเจรจารอบดังกล่าวจะใช้เวลายาวนานกว่า 6 ปีแล้วก็ตาม ความล้มเหลวในการทำหน้าที่ "เจ้าภาพ" ในการเจรจาการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลกนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า องค์การการค้าโลกอาจก้าวไปสู่จุดจบในไม่ช้า

แม้ว่าองค์การการค้าโลกเคยพบกับความล้มเหลวในการผลักดันการประชุมรอบใหม่ภายใต้ชื่อ "รอบแห่งสหัสวรรษ" (Millennium Round) มาแล้ว เมื่อครั้งการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา (Seattle Ministerial Conference) ในปี 2542 แต่ความล้มเหลวดังกล่าวยังถูกแทนที่ด้วยความปีติ เมื่อองค์การการค้าโลกสามารถเริ่มการเจรจารอบใหม่ได้ในที่สุด ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่โดฮา กาตาร์ (Doha Ministerial Conference) ในปี 2544 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ย่อมเปลี่ยนแปลงไปมากหากการเจรจารอบโดฮาต้องล้มเหลว เนื่องจากในปัจจุบัน การเจรจารอบโดฮาเป็นความหวังหนึ่งเดียวของระบบการค้าพหุภาคี ระยะเวลาในการเจรจาทั้งสิ้นกว่า 75 เดือนที่ผ่านมาย่อมกลายเป็นเรื่องสูญเปล่า และความน่าเชื่อถือของระบบการค้าพหุภาคีก็จะยิ่งเสื่อมถอยลงไปอีก โดยเฉพาะหากประเทศสมาชิกหันไปเจรจาการค้าในระดับทวิภาคีและภูมิภาคีทดแทน

การเจรจาการค้าระดับทวิภาคีและภูมิภาคีเป็นกระแสการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีที่แคนคูน เม็กซิโก (Cancun Ministerial Conference) ในปี 2546 ต้องจบลงโดยไม่มีความคืบหน้า กระแสดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อการเจรจารอบโดฮาดำเนินไปอย่างล่าช้า รวมถึงหยุดชะงักในเดือนกรกฎาคม 2549 ความตกลงการค้าระดับทวิภาคีและภูมิภาคีที่มีผลบังคับใช้เพิ่มขึ้นถึง 54 ฉบับหรือเกือบ 1 ใน 3 ของความตกลงการค้าระดับทวิภาคีและภูมิภาคีทั้งหมดที่มีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี (2546 - 2549) ทั้งนี้ แม้ว่าการเปิดเสรีในระดับทวิภาคีและภูมิภาคีอาจจะลดอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดของประเทศต่างๆ ได้ แต่ก็จะก่อให้เกิดปัญหาสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก ความตกลงการค้าต่างระดับย่อมก่อให้เกิดกฎกติกาหลายชุดซึ่งซับซ้อน และพันกันอย่างยุ่งเหยิงราวกับสปาเกตตีในชาม ตามที่ศาสตราจารย์ Jagdish Bhagwati เรียกว่าเป็น Spaghetti-Bowl Effect

ประการที่สอง การเจรจาการค้าในระดับทวิภาคีและภูมิภาคีนี้ ประเทศกำลังพัฒนามีอำนาจต่อรองน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาที่สำคัญในเรื่องการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) โดยเฉพาะเรื่องการอุดหนุนสินค้าเกษตร และ

ประการสุดท้าย การหันเหความสนใจในการเจรจาการค้าออกจากการเจรจาในระดับพหุภาคี ไปเป็นระดับทวิภาคีและภูมิภาคีย่อมทำให้หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination Principle) ต้องถูกทำลายลง และประโยชน์ที่ประเทศสมาชิกพึงได้จากระบบการค้าพหุภาคีก็จะลดน้อยลงด้วย

นอกเหนือไปจากการเจรจาการค้าทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาคีแล้ว วิธีการเจรจาของประเทศสมาชิกก็ส่งผลต่ออนาคตขององค์การการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกพยายามผลักดันการเจรจารอบโดฮาอย่างหนัก แต่วิธีการเจรจาที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน กลับเป็นวิธีการที่สั่นคลอนหลักการพื้นฐานขององค์การการค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมนอกรอบระหว่างประเทศแกนนำในการเจรจาอันได้แก่ บราซิล อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่เมืองพอตส์ดัม เยอรมนี ในเดือนมิถุนายน 2550 เพื่อรื้อฟื้นการเจรจารอบโดฮา หรือการประชุมแบบ 'ห้องเขียว' (Green Room Meeting) ในปัจจุบันซึ่งทำให้ประเทศสมาชิกจำนวนไม่น้อยถูกกีดกันออกจากกระบวนการเจรจา ตัวอย่างทั้งสองข้างต้นเป็นการเจรจาที่ไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม และขัดต่อหลักการประชาธิปไตยในองค์การการค้าโลก

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ การทำหน้าที่ขององค์กรระงับข้อพิพาทแห่งองค์การการค้าโลก (WTO Dispute Settlement Body: DSB) ซึ่งถือเป็นความสำเร็จประการสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี กลไกระงับข้อพิพาทภายใต้องค์การการค้าโลกยังคงพอเป็นที่พึ่งให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาได้พอสมควร แต่แนวโน้มดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง เมื่อประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ เริ่มแสดงอาการดื้อแพ่งต่อคำวินิจฉัยขององค์กรระงับข้อพิพาทอยู่เนืองๆ แม้บทบัญญัติว่าด้วยข้อพิพาทการค้าจะอนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการตอบโต้ประเทศคู่พิพาทที่แพ้กรณีพิพาทได้ หากประเทศนั้นๆ ไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยขององค์กรระงับ แต่ความสามารถในการตอบโต้ของประเทศกำลังพัฒนาแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องปฏิบัติตามกฎกติกาภายใต้องค์การการค้าโลก

การเจรจารอบโดฮาดำเนินมาแล้วถึง 6 ปี แม้จะยังไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า การเจรจารอบโดฮาประสบความล้มเหลว การเจรจารอบอุรุกวัยใช้เวลาถึง 7 ปีในการเจรจา แต่ปัจจุบันองค์การการค้าโลกมีประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นจากรอบอุรุกวัยอีกกว่า 30 ประเทศ จึงเป็นธรรมดาที่การเจรจามิอาจหาข้อยุติได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคงมิอาจทำให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกมองโลกในแง่ดีได้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อเส้นตายของการเจรจาแทบทุกเส้นที่เคยกำหนดไว้ต้องผ่านพ้นไปโดยมิได้ข้อสรุป ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามขึ้นอีกทวีคูณ หากต้องการให้การเจรจารอบดังกล่าวลุล่วงไปได้

หากการเจรจารอบโดฮาต้องล้มเหลวลง ก็ใช่ว่าองค์การการค้าโลกจะก้าวไปสู่จุดจบ แต่หากประเทศสมาชิกหันเหแนวทางการเจรจาไปสู่การเจรจาการค้าระดับทวิภาคีและภูมิภาคีทดแทน หรือเลือกใช้วิธีการเจรจาที่ไม่โปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วม หรือพยายามทำลายกลไกระงับข้อพิพาทภายใต้องค์การการค้าโลก เช่นนั้นนาฬิกาชีวิตขององค์การการค้าโลกก็จะเริ่มต้นนับถอยหลังในไม่ช้า.

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดยโครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

13. Special 301 Report ว่าด้วยสังคมเศรษฐกิจไทย (2545-2551)
สุนทร ตันมันทอง (เอกสารข่าวฉบับที่ 13 กรกฎาคม 2551)

มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) เป็นหนึ่งในเครื่องมือของรัฐบาลสหรัฐฯในการจัดการกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯในประเทศต่างๆ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯมีหน้าที่จัดทำรายงานที่เรียกว่า Special 301 Report ซึ่งแสดงความคืบหน้าแบบรายปีในการแก้ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่างๆ เพื่อยื่นแก่สภาคองเกรสในเดือนเมษายนของทุกๆปี ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีดำจำเป็นจะต้องเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ มิฉะนั้น สหรัฐฯอาจริเริ่มไต่สวนและใช้มาตรการตอบโต้ได้ เช่น การตัดสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆของสหรัฐฯ เป็นต้น

ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลไทยจับตาดูการประเมินของผู้แทนการค้าสหรัฐฯมาตลอด และพยายามแสดงให้สหรัฐฯเห็นว่า ไทยได้ดำเนินการตามข้อกังวลและความคาดหวังของสหรัฐฯแล้ว เนื่องจากเกรงว่า สหรัฐฯจะตัดสิทธิพิเศษทางด้านภาษีของไทยเป็นการตอบโต้ ช่วงปี พ.ศ.2545-2551 เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเนื่องจากในปี พ.ศ.2550 ผู้แทนการค้าสหรัฐฯขยับฐานะของไทยจากประเทศที่ต้องจับตาดู (Watch List) กลายเป็นประเทศที่ต้องจับตาดูเป็นลำดับแรก (Priority Watch List) นั่นก็หมายความว่า การปกป้องและบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของไทยตกต่ำลงกว่าที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องพึงระลึกไว้ก็คือ Special 301 Report เป็นการ
ประเมินจากความคาดหวังของประเทศที่สามารถทำกำไรจากทรัพย์สินทางปัญญาได้มากที่สุดประเทศหนึ่ง

ภาคเอกชนและล๊อบบี้ยิสต์จากอุตสาหกรรมอเมริกัน ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการพิจารณาของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ เปิดช่องให้ผู้แทนจากภาคเอกชนเหล่านี้สามารถยื่นข้อเสนอแนะ (Special 301 Recommendation) เกี่ยวกับอุปสรรคและสภาพปัญหาการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศที่ตนดำเนินธุรกิจด้วยแก่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นอกจากนี้ บรรดาผู้แทนเหล่านี้ยังวิ่งเต้นให้ฝ่ายนิติบัญญัติกดดันรัฐบาลสหรัฐฯ ในกรณีของไทย กลุ่มอุตสาหกรรมที่ร้องเรียนและยื่นข้อเสนอแนะส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเครื่องแต่งกาย อาทิเช่น Pharmaceutical Research and Manufacturers of America (PhRMA) และ Levi Strauss & Co. เป็นต้น

ในช่วงปี พ.ศ.2545 -2549 ไทยถูกจัดให้อยู่ในสถานะประเทศที่ต้องจับตาดู ปัญหาที่เป็นข้อกังวลของสหรัฐฯส่วนใหญ่เป็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ (Copy Rights) และเครื่องหมายทางการค้า (Trademarks) เช่น การลอกเลียนแบบผลิตสื่อกลางเก็บข้อมูล (Optical Media) ซอฟแวร์ทางธุรกิจ และความบันเทิง การทำสำเนาหนังสือ สินค้าปลอมแปลงเครื่องหมายทางการค้าและละเมิดลิขสิทธิ์ และการลักลอบพ่วงสัญญาณเคเบิลทีวี นอกเหนือจากประเด็นเหล่านี้ก็เป็นข้อกังวลเกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมและการบังคับใช้ที่ขาดประสิทธิภาพของไทย

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2550 ต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.2551 ไทยถูกเลื่อนสถานะกลายเป็นประเทศที่ต้องจับตาดูเป็นลำดับแรก ใน Special 301 Report ระบุว่า การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของไทยตกต่ำลง ทั้งจากการละเมิดลิขสิทธิ์ การปลอมแปลงเครื่องหมายทางการค้า รวมทั้งการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing: CL) ยารักษาโรคเอดส์และโรคเส้นเลือดอุดตันหัวใจในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2549 และมกราคม พ.ศ.2550 ซึ่งสหรัฐฯกังวลในเรื่องการขาดความโปร่งใสในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯพยายามยืนยันว่า การประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิยาของไทยมิใช่ปัจจัยชี้ขาดในการเปลี่ยนแปลงสถานะของไทยครั้งนี้

สหรัฐฯเริ่มกังวลเกี่ยวกับปัญหาการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนของสิทธิบัตร (Patent) โดยเฉพาะสิทธิบัตรยาตั้งแต่ พ.ศ.2548 หลังจากที่ไทยพยายามต่อรองขอลดราคายาจากบริษัทผู้ทรงสิทธิในปี พ.ศ.2547-2548 จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศ
มาตรการบังคับใช้สิทธิดังกล่าว ทำให้ Merck&Co บริษัทยาผู้ทรงสิทธิของสหรัฐฯ วิ่งเต้นให้สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ จำนวน 22 คนยื่นจดหมายทักท้วงไทยไปที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แต่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ก็ไม่กล้าฟันธงว่า การประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิยาของไทยเป็นปัจจัยชี้ขาดก็เพราะ ไทยสามารถทำได้ตามปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์กับการสาธารณสุขปี พ.ศ. 2544 ซึ่งผ่อนปรนสามารถนำเข้าหรือผลิตยาสิทธิบัตรภายในประเทศได้เพื่อผลประโยชน์ด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯสามารถอ้าง US Uruguay Round Act of 1994 เล่นงานไทยได้ ภายหลังเลื่อนสถานะของไทย รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไทยต้องเดินสายอธิบายกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และบริษัทยาถึงกรุงวอชิงตัน

การประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิยาของไทยอาจมีผลสำคัญ แต่มิใช่ทั้งหมด ในปี พ.ศ.2550 บราซิลดำเนินการแบบไทยคือ ขอเจรจาลดราคากับบริษัทยาและประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิยา Efavirenz ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ไทยประกาศ แต่สหรัฐฯยังคงสถานะประเทศที่ต้องจับตาดูของบราซิลไว้เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน ในกรณีของไทย การรัฐประหารเดือนกันยายน พ.ศ.2549 มีผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะของไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ครั้งหนึ่ง สหรัฐฯก็เคยบีบรัฐบาล รสช.เพื่อให้ไทยแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร โดยขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

ในขณะเดียวกัน ความล้มเหลวในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับสหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2549 ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน เพราะประเด็นการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเป็นหนึ่งในประเด็นที่ไทยกับสหรัฐฯตกลงกันไม่ได้ในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่ผ่านมา การรัฐประหารจึงประจวบเหมาะกับการประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิยา (อาจรวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจต่างด้าว พ.ศ.2542) ที่สหรัฐฯสามารถใช้มาตรา 301 พิเศษเพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการเจรจาเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเมื่อเริ่มต้นข้อตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต ในการหารือเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯภายหลังการเลื่อนสถานะของไทย สหรัฐฯพยายามยื่นข้อเสนอการคุ้มครองสิทธิบัตรยาชุดเดียวกับที่เคยเสนอแก่ไทยในช่วงการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี การเปลี่ยนแปลงสถานะกลุ่มประเทศของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จึงเป็นการตัดสินใจทางการเมืองมากกว่าการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อเท็จจริง.

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

12. สินค้าพิเศษ (Special Products) กับการเจรจารอบโดฮา
อิสร์กุล อุณหเกตุ (เอกสารข่าวฉบับที่ 12 มิถุนายน 2551)

การปฏิรูประบบการค้าสินค้าเกษตร เป็นประเด็นสำคัญยิ่งในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) ภายใต้การดำเนินการขององค์การการค้าโลก ซึ่งปรากฏในปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) ว่า ต้องการให้ผลลัพธ์ของการเจรจา "...มีการพัฒนาการเข้าถึงตลาดอย่างสำคัญ โดยลดการอุดหนุนการส่งออกทุกรูปแบบ และลดการบิดเบือนการค้าผ่านการอุดหนุน ภายในประเทศอย่างสำคัญ..." อย่างไรก็ตาม แม้ในทางหนึ่ง การปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับประโยชน์จากระบบการค้ามากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่ง การเปิดเสรีทางการค้าที่มากขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน ดังนั้น การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment: S&D) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรดำเนินไปได้ด้วยดี

ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการเจรจาว่าด้วย "การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง" คือ ประเด็นสินค้าพิเศษ (Special Products: SPs) ซึ่งเกิดขึ้นจากข้อกังวลจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก สินค้าบางกลุ่มหรือบางพิกัดอัตราภาษี ต้องการการปฏิบัติที่เป็นพิเศษเพื่อประกันความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในการครองชีพในระยะสั้น หรือช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะความมั่นคงสำหรับประชากรยากจนในชนบทของประเทศกำลังพัฒนา

ประการที่สอง สินค้าบางกลุ่มหรือบางพิกัดอัตราภาษีกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งต้องการเวลาในการปรับปรุงความสามารถในการผลิตและลดข้อจำกัดต่อ
การค้าต่างๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ

ความสำคัญของการเจรจาประเด็นสินค้าพิเศษเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อการเจรจารอบโดฮาเปลี่ยนไปใช้วิธีการแบบ 'กลับหัวกลับหาง' (Reverse Engineering) โดยนำประเด็นข้อยกเว้นต่างๆ ในการเปิดเสรีการค้าสินค้า เช่น สินค้าอ่อนไหว (Sensitive Products) และสินค้าพิเศษมาเจรจาก่อนจะขยายไปสู่ประเด็นที่ใหญ่กว่า ดังเช่น ภาษีศุลกากรสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงวิธีการเจรจาดังกล่าวใช่ว่าจะสำเร็จได้โดยง่าย เนื่องจากสินค้าพิเศษเป็นประเด็นการเจรจาที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากที่สุดประเด็นหนึ่ง ในการเจรจาว่าด้วยการค้าสินค้าเกษตร การเจรจาประเด็นดังกล่าวโดยพื้นฐานแล้วเป็นการประนีประนอมระหว่าง
"ฝ่ายที่ต้องการให้มีการพัฒนาการเข้าถึงตลาดให้มากขึ้น" กับ "ฝ่ายที่ต้องการใช้ประโยชน์จากหลักการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างกับสินค้าเกษตร" จุดยืนของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันมาก นับตั้งแต่เริ่มการเจรจาแม้จนกระทั่งในปัจจุบัน ทำให้ 'การประนีประนอม' เกิดขึ้นได้ยาก แม้ว่าจะมีความคืบหน้าบ้างก็ตาม

การเจรจาประเด็นสินค้าพิเศษประกอบด้วยสาระสำคัญสองประเด็นย่อย ได้แก่ การกำหนดสินค้าพิเศษ (Designation) และการปฏิบัติต่อสินค้าพิเศษ. ความเห็นของประเทศสมาชิกในทั้งสองประเด็นย่อยเมื่อแรกเริ่มแตกออกเป็น 2 ฝ่าย

- โดยในประเด็นการกำหนดสินค้าพิเศษนั้น ประเทศสมาชิกส่วนหนึ่งเสนอว่า ประเทศสมาชิกควรสามารถ "กำหนดสินค้าพิเศษด้วยตัวเอง" (Self-Designation) ซึ่งหมายความว่า ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีสิทธิในการกำหนดว่า สินค้าใดจะถูกระบุเป็นสินค้าพิเศษ ขณะที่ประเทศสมาชิกอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาไม่ควรกำหนดสินค้าพิเศษได้อย่างอิสระ แต่ควรจำกัดขอบเขตของการกำหนดสินค้าพิเศษเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการค้าน้อยที่สุด

- ส่วนในประเด็นการปฏิบัติต่อสินค้าพิเศษนั้น ประเทศสมาชิกส่วนหนึ่งเห็นว่า สินค้าพิเศษควรได้รับการยกเว้นจากการลดภาษี และข้อตกลงโควตาอัตราภาษี (Tariff Rate Quotas: TRQ) แต่ประเทศสมาชิกอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ไม่ควรมีข้อยกเว้นใดๆ ในเรื่องการลดภาษีสำหรับสินค้าพิเศษ เนื่องจากการพัฒนาการเข้าถึงตลาดต่างหากที่เป็นบรรทัดฐานสำหรับสินค้าทุกชนิด

การเจรจาประเด็นสินค้าพิเศษยังคงมิได้ข้อสรุปจนกระทั่งในปัจจุบัน แม้จะมีความคืบหน้าพอสมควร โดยในประเด็นการกำหนดสินค้าพิเศษนั้น ประเทศสมาชิกหันเหจากการเจรจาเพื่อกำหนดจำนวนสินค้าพิเศษที่เหมาะสมโดยตรงไปเป็นการเจรจาประเด็นตัวบ่งชี้ (indicators) เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถกำหนดสินค้าพิเศษได้ในจำนวนที่ยอมรับได้แทน และเริ่มเจรจาตัวบ่งชี้ 5 ตัวแรกจากรายการตัวบ่งชี้ที่กลุ่ม G-33 (*) เสนอ ได้แก่

(1) สินค้านั้นๆ ต้องเป็นอาหารหลัก (staple food)
(2) ต้องมีสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศต่อการผลิตภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
(3) การบริโภคสินค้านั้นๆ ภายในประเทศ ต้องมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการส่งออกทั้งโลก
หรือมีสัดส่วนสำคัญต่อการส่งออกสินค้านั้นๆ ของประเทศส่งออกที่ใหญ่ที่สุด

(4) การผลิตสินค้านั้นๆ ต้องเป็นการผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยอย่างมีนัยสำคัญ และ
(5) การจ้างงานเพื่อผลิตสินค้านั้นๆ ต้องเป็นการจ้างงานในชนบทอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ตัวบ่งชี้อื่นๆ ที่เหลือยังคงต้องมีการเจรจาต่อไป

(*)The G33 is the name for a group of developing countries that coordinate on trade and economic issues. The name is similar to that of the G8.It was created in order to help group countries which were all facing similar problems.

ขณะที่ประเด็นการปฏิบัติต่อสินค้าพิเศษนั้น นาย Crawford Falconer ประธานคณะเจรจาว่าด้วยสินค้าเกษตรเสนอข้อเสนอแบบปากเปล่า ในที่ประชุม Room E เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2007 ว่า สินค้าพิเศษจะสามารถลดภาษีได้ต่ำกว่าการลดภาษีตามสูตรร้อยละ 5 ในแต่ละขั้นอัตราภาษี แนวคิดดังกล่าวได้สร้างความสับสนแก่ตัวแทนประเทศสมาชิกที่เข้าประชุมว่า การลดภาษีต่ำกว่าการลดภาษีตามสูตรร้อยละ 5 นี้เป็นอัตราที่ต่ำกว่าสินค้าปรกติหรือสินค้าที่ถูกกำหนดให้เป็นสินค้าอ่อนไหว และเรียกร้องให้นาย Falconer นำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม ประธานกลุ่มเจรจาสินค้าเกษตรปฏิเสธที่จะเสนอแนวคิดดังกล่าวเป็นเอกสาร โดยชี้แจงว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นเท่านั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอเป็นเอกสาร ทั้งนี้ นาย Falconer ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วิธีการปฏิบัติต่อสินค้าพิเศษจะเป็นเช่นไรย่อมต้องขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้าที่ถูกกำหนดเป็นสินค้าพิเศษ หากสินค้าพิเศษมีจำนวนมาก การปฏิบัติต่อสินค้าพิเศษก็จะแตกต่างจากการลดภาษีตามสูตรไม่มาก แต่หากต้องการให้ปฏิบัติต่อสินค้าพิเศษแตกต่างจากการลดภาษีตามสูตรมากขึ้น สินค้าพิเศษจำเป็นต้องมีจำนวนไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของการเจรจาประเด็นสินค้าพิเศษนี้เป็นเพียงแสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์การเจรจาเท่านั้น เพราะไม่ว่าประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกจะสามารถหาข้อยุติของการเจรจาประเด็นสินค้าพิเศษร่วมกันได้หรือไม่ ปัญหาที่ใหญ่กว่ายังคงรออยู่ แม้ว่าประเด็นสินค้าพิเศษจะมีความสำคัญในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา แต่ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญกับประเทศที่เป็นผู้นำเข้าอาหารสุทธิ (Net Food Importers) มากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น ความสำคัญของการเจรจาประเด็นสินค้าพิเศษ จึงน้อยกว่าความสำคัญของประเด็นการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วที่ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา ทั้งที่เป็นประเทศผู้ส่งออกและประเทศผู้นำเข้า ความสำเร็จของการเจรจาประเด็นสินค้าพิเศษจึงแทบจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากประเทศสมาชิกไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องลดระดับการอุดหนุนสินค้าเกษตรลง และอาจนำไปสู่การล่มสลายของการเจรจารอบโดฮาก็เป็นได้.

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

11. มาเลเซียกับเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี
สมคิด พุทธศรี (เอกสารข่าวฉบับที่ 10 / พฤษภาคม 2551)
(เชิงอรรถเพิ่มเติมโดย กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ปรากฏการณ์ 'FTA Mania' แพร่ระบาดไปทั่วสังคมเศรษฐกิจโลก มาเลเซียในฐานะสมาชิกชุมชนเศรษฐกิจโลกก็มิอาจหลีกเลี่ยงปรากกฏการณ์นี้ได้เช่นกัน ด้วยการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไปแล้วทั้งสิ้น 6 ข้อตกลง และอยู่ระหว่างการเจรจาอีกทั้งสิ้น 11 ข้อตกลง

'FTA Mania' ของมาเลเซียเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง เพราะในช่วงต้นทศวรรษ 2540 มาเลเซียถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ดำเนินนโยบายการค้าที่ขัดกับปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม และมีท่าทีที่ระแวดระวังต่อการการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศนอกภูมิภาค มิไยต้องกล่าวถึงว่า เป็นเพื่อนบ้านที่ออกมาวิจารณ์สิงคโปร์อย่างรุนแรง เมื่อครั้งที่สิงคโปร์เริ่มออกวิ่งบนถนนของข้อตกลงการค้าเสรี

อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนมาใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตเพื่อส่งออก (Export-led Growth) ภายใต้ New Economic Policy (NEP) (*) ในปี 2513 นับเป็นการ "ปูพื้น" ให้กับถนนข้อตกลงการค้าเสรีของมาเลเซีย. NEP ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างมีนัยสำคัญ โดยการค้าระหว่างประเทศทวีความสำคัญขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2513 อัตราการเปิดประเทศ (Degree of Openness) คิดเป็นเพียงร้อยละ 86.9 ของ GDP ในขณะที่ปี 2548 อัตราการเปิดประเทศอยู่ที่ระดับร้อยละ 223.2 ของ GDP อัตราการเปิดประเทศที่กว้างขวางส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียมิอาจตัดขาดจากระบบเศรษฐกิจโลกได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดทั่วโลก

(*)The Malaysian New Economic Policy (NEP or DEB for Dasar Ekonomi Baru in Malay), is an ambitious and controversial socio-economic restructuring affirmative action program launched by the Malaysian government in 1971 under the then controversial Prime Minister Tun Abdul Razak. The NEP ended in 1990, and was succeeded by the National Development Policy in 1991. Although the NEP was hailed in some quarters as having reduced the socioeconomic disparity between the Chinese minority and Malay majority, others accused it of having reduced non-Malays to the status of second-class citizens by cementing ketuanan Melayu (Malay supremacy). The NEP is often invoked as part of the Malay Agenda, which is in turn part of the Malaysian social contract granting Malays special rights in return for citizenship for non-Malays.

Goals
The NEP had the stated goal of poverty eradication and economic restructuring so as to eliminate the identification of ethnicity with economic function. The initial target was to move the ratio of economic ownership in Malaysia from a 2.4:33:63 ratio of Bumiputra, Other Malaysian, Foreigner ownership to a 30:40:30 ration. This was to be done by redistributing the wealth to increase the ownership of enterprise by Bumiputras from the then 2.4% to 30% of the share of national wealth. The 30% target for Bumiputra equity was proposed by Ismail Abdul Rahman after the government was unable to come to a consensus on an appropriate policy goal.

Alongside this redistribution of wealth was the goal of increased economic growth, which was mainly in the form of ISI. This economic growth would allow the non-Bumiputra share of the economy to decrease, while permitting the growth of non-Bumiputra business interests in absolute terms. In some quarters, this was referred to as "expanding pie theory": the Bumiputra share of the pie would increase, without reducing the size of the non-Bumiputra slices of the pie. This theory was first enunciated in the Second Malaysia Plan.

In 1975 the government created incentives to expand large-scale manufacturing industries and energy-intensive industries, targeting these industries and building policies around them. The Heavy Industries Corporation of Malaysia (HICOM), for example, was formed in order to assist in the manufacture of pig-iron, aluminium die casting, pulp and paper, steel, cement, motorcycle and heavy engineering. At the same time, export incentives were initiated.

ที่ผ่านมานั้นมาเลเซียดำเนินนโยบายการเปิดตลาดของตนเองโดยสมัครใจ (Unilateral Liberalization) โดยการลดภาษีศุลกากรของตนเองลง ทั้งนี้มาเลเซียถือเป็นประเทศที่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากที่สุดโดยเปรียบเทียบหากใช้มาตรฐานของประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งยังมีบทบาทไม่น้อยในการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีบนเวที WTO อาทิ การเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ผลักดันประเด็นการเข้าถึงตลาดสินค้าหัตถอุตสาหกรรม การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มแคร็นส์ (Cairns Group) (*) เพื่อสนับสนุนให้มีการค้าสินค้าเกษตรกรเพิ่มมากยิ่งขึ้นในตลาดโลก รวมไปถึงการบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อรองรับความตกลงทริปส์ (TRIPs) เป็นต้น

(*)The Cairns Group is a coalition of 19 agricultural exporting countries which account for over 25 per cent of the world's agricultural exports. During the current WTO Doha Round of negotiations the Group has continued to push for the liberalisation of trade in agricultural exports, a cause that unites the Group across language, cultural and geographic boundaries. Made up of developed and developing countries across five continents, the Group is committed to achieving free and fair trade in agriculture that provides real and sustainable benefits for the developing world.

The Cairns Group is an excellent example of successful coalition building in the trade area. By acting collectively it has had more influence and impact on the agriculture negotiations than any individual members could have had independently.
Members of the Group are: Argentina, Australia, Bolivia, Brazil, Canada, Chile, Colombia, Costa Rica, Guatemala, Indonesia, Malaysia, New Zealand, Pakistan, Paraguay, Peru, the Philippines, South Africa, Thailand and Uruguay.
(http://www.cairnsgroup.org/introduction.html)

ในส่วนของการทำข้อตกลงการค้าเสรีนั้น ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นข้อตกลงหลักเพียงข้อตกลงเดียวที่มาเลเซียสนับสนุนในตอนแรก โดยมุ่งหวังว่า ด้านหนึ่ง AFTA จะช่วยกระชับความสัมพันธ์โดยพฤตินัยระหว่างภาคีอาเซียน ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง จะสามารถช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีการค้าระดับโลกได้

กระบวนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงหลังวิกฤติการณ์การเงิน 2540 เมื่อมาเลเซียดำเนินนโยบายการค้าแบบกึ่งปกป้องตนเอง (Semi protectionism) พร้อมๆ กับการถอนตัวอย่างไม่เป็นทางการจากข้อเรียกร้องที่ตนเคยเรียกร้องในการเจรจารอบอุรุกวัย ในขณะเดียวกันวิกฤติการณ์ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกระบวนการเปิดเสรีภายในภูมิภาค เมื่อแต่ละภาคีหันไปดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภายใน ตามความเชื่อพื้นฐานของตนซึ่งขัดแย้งกันเอง ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างปัจจัยเชิงสถาบันกับนโยบายการค้าของภาคีอาเซียนถูกขยายใหญ่ขึ้นอีก ภายใต้บริบทเช่นนี้กระบวนการเปิดเสรีภายใต้ AFTA คงมิอาจเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างน้อยก็ในอนาคต
อันใกล้

อย่างไรก็ตาม การถอยห่างออกจากปรัชญาการค้าแบบเสรีครั้งนี้ มาเลเซียต้องเผชิญกับภาวะ "ข้อกังขาทางนโยบาย" (Policy dilemma) เมื่อคู่แข่งสำคัญในอุษาคเนย์อย่างไทยดำเนินนโยบายการค้าแบบ Darwinism (*) ไล่กวดสิงคโปร์ในการทำข้อตกลงการค้าเสรี ในขณะที่การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็กำลังบั่นทอนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของตน

(*) Economic Darwinism (Evolutionary economics) is a relatively new economic and diverse school of thought that is inspired by evolutionary biology. It stresses complex interdependencies, competition, growth, structural change, and resource constraints.
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน http://en.wikipedia.org/wiki/Economic_Darwinism)

ในขณะเดียวกันการจัดระเบียบการค้าโลกโดย WTO ก็ดูจะฝากความหวังไว้ไม่ได้ เมื่อผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างมวลหมู่สมาชิกองค์การการค้าโลกและการต่อต้านขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลกเป็นปัญหาที่มิอาจแก้ได้ในเร็ววัน

ที่สุดแล้วนักผลิตนโยบายของมาเลเซียก็เริ่มมีความเห็นว่า ในการธำรงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ มาเลเซียจักต้องถือการทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นยุทธวิธีหลักในการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศ มาเลเซียเริ่มเข้าสู่กระบวนการวิ่งไล่กวดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในปี 2546 โดยเริ่มต้นเจรจากับประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก

ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น การปรับเปลี่ยนมาใช้การทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นยุทธวิธีหลักในการดำเนินนโยบายการค้า ระหว่างประเทศของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ก็สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของมาเลเซียเป็นอย่างดีด้วย

ในเบื้องแรกนั้นมาเลเซียเริ่มต้นด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่สุดแล้วสภาพสังคมเศรษฐกิจโลกก็ทำให้ 'FTA Mania' แพร่ระบาดสู่สังคมเศรษฐกิจมาเลเซียในที่สุด

"หากต่อต้านไม่ได้ ก็จงเข้าร่วม" ยังคงเป็นอมตพจน์ที่ใช้ได้ดีในปัจจุบัน

ข้อตกลงการค้าเสรีของมาเลเซียที่มีการลงนามแล้ว (ปีที่ลงนาม)

- ASEAN Free Trade Agreement - AFTA (2535)
- ASEAN - CHINA Free Trade Agreement -ACFTA (2545) * ลงนามในส่วน Framework Agreement
- Malaysia-United States Trade and Investment Framework Agreement - TIFA (2547)
- ASEAN - KOREA Free Trade Agreement -AKFTA (2548) * ลงนามในส่วน Framework Agreement
- Japan - Malaysia Economic Partnership Agreement - JMEPA (2548)
- Malaysia - Pakistan (2548) * ลงนามในส่วน Early Harvest Program

ข้อตกลงการค้าเสรีของมาเลเซียที่อยู่ระหว่างเจรจา (ปีที่เริ่มเจรจา)

- ASEAN - India - AIFTA (2546)
- Malaysia - Korea Free Trade Agreement (2547)
- Malaysia - News Zealand Free Trade Agreement (2547)
- ASEAN - New Zealand and Australia - AANZFTA (2547)
- ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership - AJCEP (2548)
- Chile - Malaysia Free Trade Agreement (2549)
- US - Malaysia Free Trade Agreement (2549)
- Malaysia - Australia Free Trade Agreement (2549)
- Preferential Tariff Arrangement - Group of Eight Developing Countries - PTA-D-8 (2549)
- Trade Preferential System-Organization of Islamic Conference - TPS-OIC (2549)
- India - Malaysia Comprehensive Economic Cooperation Agreement -CECA (ยังไม่ประกาศเจรจาอย่างเป็นทางการ)

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

10. Stiglitz Plan: ข้อเสนอสำหรับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา
วิโรจน์ สุขพิศาล (เอกสารข่าวฉบับที่ 10 / พฤษภาคม 2551)

การเจรจาการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลกรอบโดฮา เกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2544 จุดประสงค์สำคัญภายใต้การเจรจา "รอบแห่งการพัฒนา" คือ ลดอุปสรรคการค้าระหว่างกัน และสร้างกฎระเบียบการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะความเป็นธรรมต่อประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากในการเจรจาการค้ารอบที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วมักเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเจรจามากกว่าประเทศกำลังพัฒนา

เนื่องจากการการเจรจารอบโดฮาเริ่มมีแนวโน้มออกจากความตั้งใจที่ให้การเจรจาการค้ารอบโดฮาเป็นรอบแห่งการพัฒนา โจเซฟ สติกลิตส์ อดีตรองประธานธนาคารโลก และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2544 ได้เสนอแนวทางสำหรับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาให้ดำเนินไปสู่ความตั้งใจเดิมที่ให้การเจรจาในครั้งนี้เป็นเวทีของประเทศกำลังพัฒนา

Blue Sky Analysis
สติกลิตส์เสนอหลักการสำคัญสำหรับการเจรจารอบแห่งการพัฒนานี้ โดยเสนอว่า ความตกลงใดๆ ต้องมีส่วนช่วยในการพัฒนาและไม่มีผลกระทบทางลบต่อประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งควรกำหนดรูปแบบการเจรจาเป็นไปในแนวทาง Blue Sky Analysis คือความตกลงต้องไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์หรือประเด็นในอดีตมาเกี่ยวข้อง

ความเป็นธรรมในความหมายของสติกลิตส์
สติกลิตส์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมทั้งกระบวนการสร้างข้อตกลงและตัวความตกลงเอง การเจรจาการค้ารอบที่ผ่านมามิได้ใช้หลักความเป็นธรรมในการกำหนดความตกลงใดๆ เนื่องจากประเทศต่างๆ มักยึดถือผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ซึ่งการเจรจาการค้าที่นำพาไปสู่การพัฒนาได้นั้น จักต้องเป็นการเจรจาที่ยึดถือความเป็นธรรมเป็นที่ตั้ง โดยความเป็นธรรมในความหมายของสติกลิตส์ มิใช่การแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกัน แต่หมายถึงประเทศกำลังพัฒนาควรได้ประโยชน์หรือส่วนแบ่งสูงสุดจากการเจรจา หากความตกลงใดที่ประเทศพัฒนาได้รับประโยชน์ แต่ประเทศกำลังพัฒนามิได้รับประโยชน์ ความตกลงนั้นย่อมมิได้มีความเป็นธรรมตามความหมายของสติกลิตส์

ในปัจจุบันการเจรจาการค้าได้ขยายขอบเขตไปไกลกว่าเรื่องที่เกี่ยวกับการค้า เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือทรัพย์สินทางปัญญา สติกลิตส์เห็นว่า หากขอบข่ายนโยบายครอบคลุมประเด็นนอกเหนือจากการค้า การกำหนดประเด็นและกรอบการเจรจาภายใต้องค์การโลกจะเป็นไปด้วยความลำบาก อีกทั้งการขยายขอบเขตการเจรจาที่กว้างขึ้นจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีต้นทุนในการเจรจาเพิ่มขึ้น ดังนั้นขอบเขตการเจรจาจึงควรครอบคลุมเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าเท่านั้น

การเจรจาการค้ารอบโดฮา ควรเป็นประเด็นที่สร้างประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา
สติกลิตส์เห็นว่า ประเด็นที่ควรพูดถึงในการเจรจาการค้ารอบโดฮา ควรเป็นประเด็นที่สร้างประโยชน์และเอื้อต่อการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วมักผลักดันประเด็นการเจรจาที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มของตน เช่นประเด็นการเปิดเสรีการซื้อขายและส่งมอบบริการ (Mode of Supply) ประเทศพัฒนาแล้วจะผลักดันการเปิดเสรีในรูปแบบการบริการที่ประเทศตนได้ประโยชน์ ในขณะที่รูปแบบการบริการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้ประโยชน์สูงสุด คือ การเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือต่ำ กลับมิได้เป็นประเด็นสำคัญในการเจรจา

ประเด็นการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม
ประเด็นการค้าสินค้าเกษตร สติกลิตส์เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก ดังนั้นควรผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วยกเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตร ยกเลิกการจำกัดการนำเข้า และลดภาษีการนำเข้าซึ่งเป็นการลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดของประเทศกำลังพัฒนา เช่นเดียวกับประเด็นการค้าสินค้าอุตสาหกรรม สติกลิตส์เสนอประเทศพัฒนาแล้วควรลดการปกป้องสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา

มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี
นอกจากมาตรการกีดกันการค้าทางด้านภาษีจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงตลาดของประเทศกำลังพัฒนาแล้ว มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษีนับเป็นปัญหาหนึ่งต่อการเข้าถึงตลาดซึ่งประเทศพัฒนาแล้วมักใช้กีดกันสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาควรเรียกร้องให้มีการหยิบยกปัญหาเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการเจรจา โดยเฉพาะการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีความเป็นธรรมต่อประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งมีกระบวนการพิจารณาและระงับข้อพิพาทที่เป็นกลางอย่างแท้จริง

๔ ประเด็นที่ไม่ควรอยู่ในการเจรจารอบโดฮาครั้งนี้
ในการเจรจารอบโดฮามีหลายประเด็นที่ไม่ควรอยู่ในการเจรจารอบนี้ เนื่องจากมิได้สร้างผลประโยชน์ และมิได้เอื้อต่อการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งยังก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มต่อประเทศกำลังพัฒนา ประเด็นดังกล่าวคือ

1) ความตกลงด้านการลงทุน ที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องการให้เพิ่มสิทธิของนักลงทุนและให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ในขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีกลับถูกละเลยจากการเจรจา

2) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่เป็นการให้อำนาจผูกขาดแก่เจ้าของสิทธิ อันเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา

3) มาตรการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น Green tariff (มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม) ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาหวั่นเกรงว่าจะเป็นมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าของประเทศกำลังพัฒนา

4) การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงิน ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วไม่ควรแทรกแซงในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศกำลังพัฒนา ควรเป็นนโยบายที่กำหนดภายในประเทศนั้นๆ

Special and Differential Treatment
นอกจากนั้น สติกลิตส์เห็นว่ายังมีประเด็นอื่นๆ ที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ ประเทศกำลังพัฒนาควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อยกระดับการพัฒนาในประเทศ และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา

การแข่งขันอย่างเสรี และการผูกขาดข้ามชาติ
ประเด็นนโยบายการแข่งขัน สติกลิตส์มองว่า การที่ประเทศกำลังพัฒนาผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดตลาดภายในประเทศให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนามีต้นทุนในการปฏิบัติตามและการตรวจสอบสูงขึ้น อันเนื่องมาจากตลาดภายในประเทศกำลังพัฒนามิได้มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ประโยชน์ของการเปิดการแข่งขันเสรีจะเกิดขึ้นเมื่อตลาดมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นองค์การการค้าโลกควรให้อิสระแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการเลือกนโยบายที่เหมาะสมต่อการพัฒนาในประเทศของตน นอกจากนั้น องค์การการค้าโลกควรให้ความสำคัญกับการต่อต้านการผูกขาดข้ามชาติ ซึ่งการผูกขาดข้ามชาติทำให้สวัสดิการโดยรวมของประเทศลดลง

การเจรจาการค้าแบบ"ทวิภาคี"และ"ภูมิภาคี"ในทัศนะของสติกลิตส์
ประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าแบบ"ทวิภาคี"และ"ภูมิภาคี"กับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เนื่องจากความล้าช้าของการเจรจารอบโดฮา ซึ่งสติกลิตส์มองว่า การเจรจาดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อประเทศกำลังพัฒนาและระบบการค้าโลก เนื่องจากระบบการค้าโลกตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ (non-discrimination) แต่การเจรจาการค้าแบบทวิภาคีและภูมิภาคี กลับมีการเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มที่ตกลงการค้าทวิภาคีต่อกันซึ่งสามารถค้าขายกันได้อย่างเสรี กับกลุ่มประเทศที่มิได้ตกลงการค้าทวิภาคีแก่กัน ซึ่งถูกกีดกันการค้าจากกำแพงภาษี

ทำไมการเจรจาการค้าโลกจึงระสบความล้มเหลว
การเจรจาการค้าที่ประสบความล้มเหลวที่ผ่านมา สติกลิตส์เห็นว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการดำเนินงานขององค์การการค้าโลกเอง ทั้งความไม่โปร่งใสของกระบวนการเจรจาที่จัดให้มีการประชุมลับ หรือกระบวนการพิจารณาทางกฏหมายที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น จึงควรมีการปฏิรูปเชิงสถาบันภายในองค์การการค้าโลก เพื่อให้กระบวนการเจรจาการค้ามีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสยิ่งขึ้น อีกทั้งองค์การการค้าโลกควรสร้างค่านิยมภายในองค์กรว่า การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนา ถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญขององค์การการค้าโลก.

หมายเหตุ

1. เอกสารนี้เป็นผลผลิตของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก) ซึ่งได้รับการสนันสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

2. Stiglitz Plan ปรากฏใน Joseph Stiglitz and Andrew Charlton. Fair Trade For All: How Trade Can Promote Development.
Oxford University Press, 2005

3. ฉบับภาษาไทยโดยย่อ โปรดอ่าน ชมเพลิน สุวรรณภาณุ : Stiglitz Plan: ข้อเสนอสำหรับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา
เอกสารข้อมูลหมายเลข 9 โครงการ WTO Watch กรกฎาคม 2548
http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/PubData/Stiglitz.pdf

9. ความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) ภายใต้องค์การการค้าโลก
อิสร์กุล อุณหเกตุ (เอกสารข่าวฉบับที่ 9 / พฤษภาคม 2551)

ตามมุมมองขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารโลก, IMF, รวมถึงองค์การการค้าโลกนั้น ประเทศกำลังพัฒนาสามารถผนวกตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้นผ่านการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ จุดมุ่งหมายขององค์กรต่างๆ เหล่านี้จึงอยู่ที่การขจัดอุปสรรคทางการค้าให้หมดไปเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้าเพิ่มขึ้น จุดมุ่งหมายดังกล่าวเป็นหัวใจหลักสำคัญของการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบปัจจุบัน หรือ วาระแห่งการพัฒนารอบโดฮา (Doha Development Agenda)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการเจรจาการค้าอาจช่วยลดทอนอุปสรรคภายนอก ทั้งอุปสรรคด้านภาษีศุลกากร และอุปสรรคที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ได้ แต่การขาดแคลนความรู้ ทักษะ เงินทุน สาธารณูปโภคพื้นฐาน และปัญหา 'เทปสีแดง' (Red Tape)(*) ของหน่วยงานภาครัฐยังคงเป็นอุปสรรคภายในประเทศกำลังพัฒนา ที่ทำให้การผลิตและการส่งออกไม่พัฒนาเท่าที่ควร องค์การการค้าโลกเชื่อว่า ความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสามารถด้านอุปทานจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดอุปสรรคภายในดังกล่าว ดังนั้น ความช่วยเหลือเพื่อการค้าจึงมิได้เป็น 'สิ่งทดแทน' ประโยชน์ที่ประเทศกำลังพัฒนาควรได้รับจากผลการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบปัจจุบัน หากแต่เป็น 'ส่วนเติมเต็ม' เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นสามารถได้รับประโยชน์จากระบบการค้าพหุภาคีได้อย่างเต็มที่

(*)"Red tape" is a derisive term for excessive regulation or rigid conformity to formal rules that is considered redundant or bureaucratic and hinders or prevents action or decision-making. It is usually applied to government, but can also be applied to other organizations like corporations. Red tape generally includes the filling out of seemingly unnecessary paperwork, obtaining of unnecessary licenses, having multiple people or committees approve a decision and various low-level rules that make conducting one's affairs slower, more difficult, or both.

ด้วยเหตุดังกล่าว ในปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจารอบโดฮา จึงกำหนดให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกต้องเจรจาในประเด็นความช่วยเหลือทางเทคนิค และการสร้างความสามารถทางการค้า (Technical Assitance and Capacity Building) และขยายไปสู่ประเด็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อการค้าในการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่ฮ่องกงในเดือนธันวาคม 2548 โดยคาดหวังว่า ประเด็นดังกล่าวจะนำไปสู่ความสำเร็จในการเจรจารอบโดฮา และสร้างความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพให้แก่ระบบการค้าพหุภาคี

แม้ว่าจะไม่มีการนิยามความหมายของความช่วยเหลือเพื่อการค้าที่แน่ชัดโดยองค์กรหรือหน่วยงานระหว่างประเทศ แต่เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า ความช่วยเหลือเพื่อการค้า คือ เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาที่ประเทศพัฒนาแล้วให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยมีจุดประสงค์เพื่อขยายการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในระบบการค้าโลก ทั้งนี้

- ความช่วยเหลือเพื่อการค้าในความหมายแคบ หมายถึง การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้า ผ่านการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการวางแผน พัฒนา และบังคับใช้นโยบายทางการค้าและข้อตกลงทางการค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนการส่งออกและเงินทุนที่ใช้ในด้านการค้า

- ขณะที่ความช่วยเหลือเพื่อการค้า ในความหมายที่กว้างขึ้นนั้น ยังครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น ระบบคมนาคมขนส่งพลังงาน การสื่อสาร เป็นต้น การสร้างความสามารถด้านอุปทานในภาคการผลิตต่างๆ เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการค้าที่เสรีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความช่วยเหลือเพื่อการค้ายังอาจหมายรวมไปถึงการสนับสนุนแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวทางการค้า เช่น การสร้างตาข่ายทางสังคม(*) หรือการฝึกอบรมแรงงาน

(*) ตาข่ายทางสังคม - The social safety net is a term used to describe a collection of services provided by the state, such as welfare, unemployment benefit, universal healthcare, homeless shelters, the minimum wage and sometimes subsidized services such as public transport, which prevent individuals from falling into poverty beyond a certain level.

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของความช่วยเหลือในปัจจุบัน คือ ประเทศผู้รับความช่วยเหลือมักใช้เงินช่วยเหลือในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนงบประมาณปกติ ซึ่งอาจขัดกับความตั้งใจประเทศผู้บริจาค ที่ต้องการให้เงินช่วยเหลือดังกล่าวถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง (Aid Fungibility) และส่งผลให้เงินช่วยเหลือถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิผล ปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการแบ่งแยกความช่วยเหลือเพื่อการค้า ออกจากความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเภทอื่นๆ อย่างชัดเจนขึ้น หากไม่มีการกำหนดขอบเขตของความช่วยเหลือเพื่อการค้าที่ชัดเจนแล้ว ความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วที่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาจไม่สร้างประโยชน์แก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือ หรืออาจซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ให้ร้ายแรงยิ่งขึ้นได้

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการทั่วไป นาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ประกาศการแต่งตั้งคณะทำงานว่าด้วยความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade Task Force) คณะทำงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือเพื่อการค้า ภายใต้กรอบการทำงานเพื่อการบูรณาการ (Integrated Framework: IF) อันเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศ 6 องค์กร ได้แก่ IMF, ITC, UNCTAD, UNDP, ธนาคารโลก, และองค์การการค้าโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานว่าด้วยความช่วยเหลือเพื่อการค้าในปัจจุบัน องค์การการค้าโลกมิได้เป็น "เจ้าภาพ" ในประเด็นความช่วยเหลือเพื่อการค้า บทบาทในการจัดการความช่วยเหลือเพื่อการค้ายังคงอยู่ที่ประเทศผู้บริจาคเดิม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลกมีบทบาทแต่เพียงพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน และคอยติดตามผลการดำเนินงานเท่านั้น

ความคืบหน้าล่าสุดของการดำเนินงานในประเด็นดังกล่าว คือ ความร่วมมือระหว่างองค์การการค้าโลกกับธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค ผ่านโครงการขับเคลื่อนความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Mobilizing Aid for Trade) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2550 โครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้น เพื่อหาแนวทางการจัดการความช่วยเหลือเพื่อการค้าที่เหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนา ในภูมิภาคละตินอเมริกา เอเชีย - แปซิฟิก และแอฟริกา

แม้ว่าการเจรจาในประเด็นความช่วยเหลือเพื่อการค้า จะเป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกมีความคิดเห็นค่อนข้างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน แต่การบรรลุผลสำเร็จในการเจรจาประเด็นดังกล่าวยังต้องขึ้นอยู่กับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารโลกและ IMF ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การเจรจาในประเด็นความช่วยเหลือเพื่อการค้า มิได้เป็นการเจรจาเพียงประเด็นเดียวที่
เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ดังนั้น ความสำเร็จในการเจรจาประเด็นดังกล่าวเป็นเพียง "เงื่อนไขที่จำเป็น" ในการบรรลุจุดประสงค์ของ "วาระแห่งการพัฒนา" หาใช่ "เงื่อนไขที่เพียงพอ" ไม่ เพราะผลการเจรจาในประเด็นหลักทั้งประเด็นสินค้าเกษตร และการเข้าถึงตลาดสินค้านอกภาคการเกษตรย่อมมีความสำคัญต่อการพัฒนาเช่นเดียวกัน และอาจมีผลต่อการพัฒนายิ่งไปกว่าประเด็นความช่วยเหลือเพื่อการค้า ความสำเร็จในประเด็นความช่วยเหลือเพื่อการค้าแทบจะไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากการเจรจาในประเด็นหลักทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่บรรลุผลสำเร็จ หรือผลการเจรจาไม่เป็นธรรมและมิได้เป็นไปในทิศทางที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา.

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

8. G20 กับการเจรจารอบโดฮา
สุนทร ตันมันทอง (เอกสารข่าวฉบับที่ 8 / เมษายน 2551)

แม้ว่าภาวะชะงักงันของการเจรจาการค้าพหุภาคีจะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในสังคมเศรษฐกิจโลก แต่สถานการณ์ของรอบโดฮาในปัจจุบันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจในการเจรจาการค้าพหุภาคี หากความสำเร็จในการเปิดการค้าเสรีในอดีต เป็นเพราะกลยุทธ์การครอบงำการเจรจาของประเทศมหาอำนาจในเวทีพหุภาคีทำงานได้โดยง่าย การหยุดชะงักของการเจรจารอบโดฮาในปัจจุบัน ก็น่าจะมาจากการที่กลยุทธ์การครอบงำของประเทศมหาอำนาจทำงานได้ยากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากบทบาทในการเจรจาของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม G20

กลุ่ม G20 ถือกำเนิดขึ้นในช่วงก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกในปี พ.ศ.2546 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนายี่สิบประเทศหันมารวมกลุ่มกันก็คือ การรวมหัวกันของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำการเปิดเสรีสินค้าเกษตรแบบก้าวหน้ากับสหภาพยุโรป ในฐานะผู้นำการเปิดเสรีสินค้าเกษตรแบบจำกัด เพื่อมาปกป้องนโยบายการอุดหนุนสินค้าเกษตรของทั้งสองประเทศก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีที่แคนคูน ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีจุดยืนสนับสนุนสองประเทศมหาอำนาจดังกล่าวรู้สึกผิดหวัง ประเทศกำลังพัฒนายี่สิบประเทศ (G20) นำโดยบราซิล, อินเดีย, และจีนจึงรวมกลุ่มกันและยื่นข้อเสนอร่างกรอบการเจรจาสินค้าเกษตรของตนบ้าง อันเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของกลุ่ม G20 ในรอบโดฮา.

บราซิลในฐานะแกนนำในการจัดตั้งกลุ่ม G20 จำเป็นต้องเปลี่ยนจุดยืนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจากประเทศที่ต้องการการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรแบบก้าวหน้าในกลุ่มแคร์นส์ (CAIRNS) (*) มาประนีประนอมกับประเทศที่ปกป้องภาคการเกษตรอย่างอินเดีย เมื่อต้องมารวมกลุ่มกัน ประเด็นแรกที่ทั้งสองจะต้องรอมชอมกันให้ได้ก็คือ การเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตร ในขณะที่ประเด็นที่ทั้งสองประเทศเห็นตรงกันมากที่สุดก็คือ การอุดหนุนสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนา และการปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนา (Special and Different Treatment)

(*) The Cairns Group is an interest group of 19 agricultural exporting countries, composed of Argentina, Australia, Bolivia, Brazil, Canada, Chile, Colombia, Costa Rica, Guatemala, Indonesia, Malaysia, New Zealand, Pakistan, Paraguay, Peru, the Philippines, South Africa, Thailand, and Uruguay. The Group takes its name from the Australian city of Cairns, where its inaugural meeting took place in 1986. The Australian Government led the formation of the group, though some of the South East Asian countries had been working together on agricultural trade through ASEAN.

The move to form the group was largely a response to the spiralling trade subsidies of the European Union's Common Agricultural Policy and the USA's Export Enhancement Program. Particularly, the objection came to the double standards between the GATT forcing countries to liberalise their economies, whilst the USA were granted a waiver for agricultural protection in the 1950's. The Cairns Group's objective is to bring about liberalization of global trade in agricultural produce. In particular, its members aim to abolish export subsidies and trade-distorting ("amber box") domestic support measures for agricultural products[verification needed] and seek to improve market access for exported agricultural goods. The coalition attempts to present a common front in multilateral trade negotiations at the World Trade Organization, tabling joint proposals and occasionally working with like-minded groups such as the G20 group of developing nations.
(ดูเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://www.cairnsgroup.org/introduction.html)

โครงสร้างหลักเมื่อกลุ่ม G20 จัดตั้งขึ้นประกอบด้วยประเทศสมาชิกกลุ่มแคร์นส์ 11 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา ฟิลิปปินส์ กัวเตมาลา ปารากวัย ไทย และแอฟริกาใต้ กับประเทศจากกลุ่ม G33 (*) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยืดหยุ่นจากการเปิดตลาดสินค้าเกษตรจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ คิวบา ฟิลิปปินส์ อินเดีย ปากีสถาน เปรู และเวเนซูเอลา วัตถุประสงค์หลักของกลุ่ม G20 จึงอยู่ที่การสร้างดุลยภาพระหว่างวัตถุประสงค์ของกลุ่มแคร์นส์กับกลุ่ม G33 เป็นหลัก นั่นคือ เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาเปิดตลาดสินค้าเกษตรแก่ประเทศด้อยพัฒนา ลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรอย่างสำคัญ และขจัดการอุดหนุนการส่งออกทุกรูปแบบ

(*)The G33 is the name for a group of developing countries that coordinate on trade and economic issues. The name is similar to that of the G8.It was created in order to help group countries which were all facing similar problems. The G33 has proposed special rules for developing countries at WTO negotiations, like allowing them to continue to restrict access to their agricultural markets. (ดูรายชื่อประเทศได้จาก http://en.wikipedia.org/wiki/G33_%28developing_countries%29)

ประเทศพัฒนาอาจแปลกใจต่อความเชื่อมแน่นของกลุ่ม G20 ในการประชุมที่แคนคูน การประชุมรัฐมนตรีแบบห้องเล็กระหว่างประเทศมหาอำนาจกับแกนนำของกลุ่ม G20 เพื่อหาทางออกให้แก่ที่ประชุมใหญ่ไม่สามารถสั่นคลอนกลุ่ม G20 ได้ แม้ว่าจะมีประเทศสมาชิกบางประเทศโดยเฉพาะจากทวีปอเมริกาถอนตัวออกจากกลุ่ม หลังจากสหรัฐฯ แสดงความไม่พอใจประเทศสมาชิกที่กำลังเจรจาการค้าเสรีทวิภาคีกับสหรัฐฯ ยิ่งไปกว่านั้น ภายหลังจากแคนคูน ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหันไปให้ความสำคัญกับการค้าเสรีในระดับทวิภาคีและภูมิภาคมากขึ้น เช่น เขตการค้าเสรีอเมริกากลาง (CAFTA) เขตการค้าเสรีแห่งทวีปอเมริกา (Free Trade Area of the Americas: FTAA) รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างสหภาพยุโรปกับกลุ่มประเทศแอนเดียน (Andean) ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อกดดันประเทศสมาชิกในกลุ่ม G20 ที่เป็นคู่เจรจาในความตกลงการค้าดังกล่าว นี่อาจเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้โคลอมเบีย เปรู และเอกวาดอร์ออกจากกลุ่ม อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์โดมิโน (Dominoes effect) ในกลุ่ม G20 ไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศแกนนำของกลุ่มอย่างบราซิลและอินเดีย ยังคงยึดมั่นในจุดยืนของกลุ่ม

การยืนหยัดในจุดยืนเรื่องสินค้าเกษตรของกลุ่ม G20 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่แคนคูน เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การประชุมไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ใดๆ ได้ อำนาจในการต่อรองของกลุ่ม G20 มาจากประเทศสมาชิกแกนนำในกลุ่ม ที่กลายมาเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจใหม่ของโลกอย่างอินเดีย บราซิล และจีน หลังจากแคนคูน กลุ่ม G20 เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามกอบกู้การเจรจารอบโดฮา ดำเนินการเจรจาเชิงรุกและนำเสนอทางออกของการเจรจาเรื่องสินค้าเกษตร จนข้อเสนอในเรื่องการเข้าถึงตลาด (Market Access) ของกลุ่มปรากฏในแผนงานและกรอบการเจรจาการค้ารอบโดฮา (31 กรกฎาคม 2547) ซึ่งเป็นความคืบหน้าสำคัญหลังจากความล้มเหลวที่แคนคูน

เมื่อการเจรจาดำเนินไป เป้าหมายของกลุ่ม G20 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ลงรายละเอียดมากขึ้นในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 6 ที่ฮ่องกงในเดือนธันวาคม 2548 กลุ่ม G20 พยายามดักคอประเทศมหาอำนาจที่อุดหนุนสินค้าเกษตรไม่ให้ยักย้ายมาตรการการอุดหนุนสินค้าเกษตรจากกล่องหนึ่งไปอีกกล่องหนึ่ง (Box Shifting) เพื่อรักษาระดับการอุดหนุนสินค้าเกษตรของตนไว้ รวมทั้งต้องการความชัดเจนจากประเทศพัฒนาว่า จะยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรเมื่อใด จนในท้ายที่สุด สหภาพยุโรปยินยอมยกเลิกการอุดหนุนดังกล่าวภายในปี 2556

อย่างไรก็ดี ความไม่เห็นพ้องในกลุ่ม G20 ก็เริ่มปรากฏให้เห็นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในหัวข้อการเข้าถึงตลาดซึ่งเป็นประเด็นเปราะบางของกลุ่ม รอยแยกเริ่มปรากฏขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกจากกลุ่มแคร์นส์เก่า และกลุ่ม G33 เช่น กรณีสูตรการลดภาษีศุลกากรสินค้าเกษตร ซึ่งอินเดียและอินโดนีเซียขัดแย้งกับอาร์เจนตินา และประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 อื่นๆ ในแถบลาตินอเมริกา แต่บราซิล และจีนพยายามวางตัวเป็นกลางเพื่อมิให้รอยแยกดังกล่าวกลายเป็นจุดแตกหักของกลุ่ม

ประเทศแกนนำของกลุ่ม G20 เข้าร่วมในการประชุมเวทีเล็กแต่มีอิทธิพลต่อรอบโดฮา ตั้งแต่การประชุมเบญจภาคี (The Five Interest Parties) ในปี 2547 ต่อเนื่องมาถึงการประชุม G6 ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีที่ฮ่องกง อันประกอบไปด้วยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป บราซิล อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เวทีการประชุม G6 กลายเป็นเวทีหลักของการเจรจารอบโดฮา เพราะเมื่อประเทศที่เข้าร่วมเจรจาในเวทีนี้ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร การเจรจารอบโดฮาก็จำต้องระงับไปโดยปริยาย นี่อาจเป็นเพียงกลยุทธ์ของประเทศมหาอำนาจในการเจรจาแบบกลุ่มเล็กเพื่อมาครอบงำการเจรจาของประเทศสมาชิกทั้งหมด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศมหาอำนาจมิได้ผูกขาดกำหนดอนาคตของการค้าพหุภาคีแต่เพียงผู้เดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทบาทของกลุ่ม G20 เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนอยู่แล้ว

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

7. สิงคโปร์กับเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี
สมคิด พุทธศรี (เอกสารข่าวฉบับที่ ๗ / เมษายน ๒๕๕๑)

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สังคมเศรษฐกิจโลกหันมาใช้ยุทธศาสตร์การทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับภูมิภาคีและทวิภาคีเป็นกลไกหลักในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากมายทั้งในวงวิชาการและระดับการดำเนินนโยบาย. สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่แถวหน้าสุดของการทำข้อตกลงการค้าเสรี ด้วยการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีทั้งแบบทวิภาคีเสรีและภูมิภาคีไปแล้วทั้งสิ้น 13 ข้อตกลง และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 10 ข้อตกลง ด้วยปริมาณข้างต้น ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรีมากที่สุดในเอเชียบูรพา มิพักต้องกล่าวถึงว่า สิงคโปร์อยู่ในกลุ่มประเทศกระตือรือร้นในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี

คำถามพื้นฐานจึงมีอยู่ว่า เหตุใดปรากกฎการณ์ 'FTA Mania' จึงเกิดขึ้นกับประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและมีเศรษฐกิจขนาดเล็ก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคกลับมีท่าทีระแวดระวังและตั้งข้อกังขากับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

การออกวิ่งบนเส้นทางการทำข้อตกลงการค้าเสรี ไม่สามารถแยกออกจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ผ่านมาของสิงคโปร์ได้ การใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบมองออกไปข้างนอก (outward orientation) ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องตั่งแต่ทศวรรษ 2500 ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของสิงคโปร์อย่างมีนัยสำคัญ การค้าระหว่างประเทศกลายเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์อย่างยิ่งยวด. ในปี 2548 สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขนาดการค้าใหญ่เป็นอันดับ 15 ของโลก ด้วยมูลค่าการค้ากว่า 430 พันล้านดอลลาร์อเมริกัน หรือคิดเป็นร้อยละ 367.96 ของ GDP นับเป็นอัตราการเปิดประเทศ (Degree of Openness) ที่สูงที่สุดในโลก การเปิดประเทศอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้การเจริญเติบโตของสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ

เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การเงิน 2540 สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในอุษาคเนย์ ที่สามารถฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แม้จะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2541 (-1.5%) แต่ก็ฟื้นคืนอีกครั้งในปี 2542 และ 2543 ด้วยอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 7.2 และ 10.1 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงยิ่ง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กลางปี 2543 สิงคโปร์ต้องเผชิญกับความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐอเมริกาเริ่มแตกสลาย บทสรุปในครั้งนั้น คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์หดตัวร้อยละ 2.4

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยังผลมาสู่เศรษฐกิจสิงคโปร์ เป็นการเผยจุดอ่อนสำคัญของสิงคโปร์ ในขณะเดียวกันการเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็บั่นทอนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของสิงคโปร์. นักผลิตนโยบายสิงคโปร์ตระหนักถึงปัญหาข้างต้นเป็นอย่างดีและเห็นว่า สิงคโปร์จำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างการผลิตจากระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrail Ecomony) ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบบริการ (Sevice Economy)

การปรับโครงสร้างการผลิตเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องใช้เวลานาน ในขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้าที่สิงคโปร์ต้องเผชิญอยู่คือ การขยายตลาดส่งออก นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา สิงคโปร์มิอาจหวังพึ่งพิงตลาดภายในภูมิภาคอาเซียนได้อีกต่อไป วิกฤติการณ์การเงินของอาเซียในปี 2540 ส่งผลให้เกิดการแตกตัวของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในกลุ่มอาเซียน ในขณะที่สิงคโปร์ต้องการที่จะเดินหน้าเพื่อเปิดเสรีมากขึ้น ประเทศอื่นๆ กลับใช้นโยบายกึ่งป้องกันตนเอง (Semi-protectionism) ซึ่งส่งผลต่อช่องว่างของปัจจัยเชิงสถาบันและนโยบายการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้การค้าเสรีภายในภูมิภาคจึงมิอาจไปไกลกว่า AFTA ได้ อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันใกล้นี้

ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์เห็นว่า การจัดระเบียบการค้าเสรีโดย WTO ใช้เวลายาวนานเกินไป ผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างมวลหมู่สมาชิกองค์การการค้าโลก และการต่อต้านขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลกมิอาจแก้ปัญหาได้ในเร็ววัน ความเห็นข้างต้นได้รับการพิสูจน์ว่าถูก จากภาวะชะงักงันของการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีหลังจากความล้มเหลวในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกที่เมืองแคนคูน (Cancun) ในปี 2546. ด้วยเหตุนี้ การทำข้อตกลงการค้าเสรีในลักษณะทวิภาคีและภูมิภาคี จึงเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่ของสิงคโปร์ในกระบวนการเปิดเสรีทางการค้า ยุทธวิธีเช่นนี้ไม่เพียงทำให้การขยายตลาดของสิงคโปร์สามารถดำเนินต่อไปได้เท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับสิงคโปร์โดยตรงจากที่ไม่สู้มีมากนักในการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี

ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น การปรับเปลี่ยนมาใช้การทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นนโยบายหลัก ในการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าสำคัญอย่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ก็สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสิงคโปร์เป็นอย่างดี. นักผลิตนโยบายสิงคโปร์เชื่อว่า ยุทธวิธีการทำข้อตกลงการค้าเสรีหาได้ขัดกับยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบบริการไม่ ตรงกันข้าม กลับช่วยส่งเสริมและเกื้อหนุนกระบวนการดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ข้อตกลงการค้าเสรีของสิงคโปร์ที่มีการลงนามแล้ว (ปีที่มีการลงนาม)

- ASEAN Free Trade Area - AFTA (2535)
- New Zealand and Singapore Closer Economic Partnership (2543)
- The Japan - Singapore Economic Partenership Agreement - JSEPA (2544)
- ASEAN and The People's Republic of China - ACFTA (2544)
- The EFTA - Singapore Free Trade Agreement - EFSTA (2546)
- Singapore - Australia Free Trade Agreement - SAFTA (2546)
- US - Singapore Free Trade Agreement - (2546)

- India - Singapore Comprehensive Economic Cooperation Agreement - CECA (2548)
- ASEAN - Korea Free Trade Agreement - AKFTA (2548)
- Singapore - Jordan Free Trade Agreement - SJFTA (2548)
- Korea - Singapore Free Trade Agreement - KSFTA (2548)
- Panama - Singapore Free Trade Agreement - (2549)
- Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement - TPSEP (2549)
- Singapore - Gulf Cooperation Council (GCC) Free Trade Agreement (2551)

ข้อตกลงการค้าเสรีของสิงคโปร์ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา (ปีที่เริ่มเจรจา)

- Mexico - Singapore Free Trade Agreement - MSFTA (2543)
- Canada - Singapore Free Trade Agreement (2544)
- ASEAN - India Free Trade Agreement - AIFTA (2546)
- ASEAN - New Zealand and Australis (2548)
- Bahrain - Singapore Free Trade Agreement (2548)
- Pakistan - Singapore Free trade Agreement (2548)
- ASEAN - Japan Comprehensive Economic Partnership - AJCEP (2548)
- Peru - Singapore Free Trade Agreement (2549)
- Singapore - China Free Trade Agreement (2549)
- ASEAN - EU Free Trade Agreement (2551).

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 2 April 2008 : Copyleft by MNU.
การเจรจารอบโดฮาเริ่มออกอาการโคม่า หลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกในปี พ.ศ.๒๕๔๖ จบลงโดยไร้ข้อสรุปใดๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการเจรจารอบโดฮาต่อไป ที่ประชุมครั้งนั้นไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องสินค้าเกษตร และเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมที่สิงคโปร์ (Singapore Issues) หลังจากแคนคูน. รอบโดฮาก็อยู่ในสภาพไร้ทิศทาง ประเทศสมาชิกกว่า ๑๕๐ ประเทศตกลงกันได้เพียง กำหนดการในการขจัดการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เท่านั้น. ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ฮ่องกงในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๔๘ แม้ว่าจะมีความพยายามในการฟื้นการเจรจารอบโดฮาหลายครั้ง แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่สามารถเป็นแรงผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาหลุดออกจากหล่มได้
H
โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก: WTO Watch คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว.