ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



03-04-2551 (1521)

แนะนำวรรณกรรมแวดวงภาวนา : Literature review
แนะนำวรรณกรรม: จากจุดจบแห่งจินตนาการ ถึงความเงียบ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
หนังสือของ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด เลขที่ ๑๑๓-๑๑๕ ถ.เฟื่องนคร(ตรงข้ามวัดราชบพิธ)
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ ๐-๒๒๒๒-๕๖๙๘, ๐-๒๖๒๒-๐๙๕๕

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นการแนะนำหนังสือ ๓ เล่มในแวดวงภาวนา
และการอยู่อย่างสันติ ซึ่งเป็นของ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด ประกอบด้วย
๑. บทความวิจารณ์หนังสือ "จุดจบแห่งจินตนาการ" (The End of Imagination)
๒. บทแนะนำหนังสือ "ปัญญาญาณแห่งการอภัย" (The Wisdom of Forgiveness)
๓. วิจารณ์หนังสือ "ความเงียบ" (The Spirit of Silence: Making Space for Creativity) และ
๔. จะกู่ก้องร้องบอกโลกด้วยความเงียบ (The Spirit of Silence: Making Space for Creativity)
หัวข้อสุดท้าย เป็นเรื่องเดียวกับข้อที่ ๓ แต่เสนอแนะโดยผู้เขียนต่างกัน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารข่าวดังกล่าวมีสาระประโยชน์แก่สาธารณชน
โดยทั่วไป จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสื่อกลางให้กับสังคมไทยและคนที่อ่านไทยทั่วโลก
ปัจจุบัน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
ที่กำลังศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงนักวิชาการและคนในวัยทำงานทั้งภาคธุรกิจและแรงงาน
สถิติการคลิกของเว็บไซต์แห่งนี้ล่าสุดประมาณ ๓.๕ - ๔.๕ ล้านคลิกต่อเดือน โดย IP ไม่ซ้ำกันกว่าเกือบ ๒ แสน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๒๑
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แนะนำวรรณกรรมแวดวงภาวนา : Literature review
แนะนำวรรณกรรม: จากจุดจบแห่งจินตนาการ ถึงความเงียบ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด เลขที่ ๑๑๓-๑๑๕ ถ.เฟื่องนคร(ตรงข้ามวัดราชบพิธ)
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ ๐-๒๒๒๒-๕๖๙๘, ๐-๒๖๒๒-๐๙๕๕

๑. บทความวิจารณ์หนังสือ "จุดจบแห่งจินตนาการ" (The End of Imagination)
ทวี คุ้มเมือง (เขียน) นำมาจาก http://www.suan-spirit.com/news.asp?id=23

"แต่บางครั้งนักเขียนก็ต้องทุบกระจกให้แตกกระจาย เพราะอีกด้านหนึ่งของกระจกนั้น ความจริงกำลังจ้องตาเรา"
ปาฐกถารับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดี ค.ศ. ๒๐๐๕ ของ ฮาโรล พินเทอร์ /
ภัควดี วีระภาสพงษ์: แปล

วรรณกรรม ดำรงความหมายอยู่กึ่งกลางระหว่างเหตุผลกับจินตนาการ ศิลปะแห่งการประพันธ์มักเชื่อมผสานเอาสัจธรรมและมายาการผ่านกลวิธีนำเสนอสารพัน ก่อกำเนิดสภาวะทรงเสน่ห์พอจะฉุดดึงผู้อ่านให้ปลดปล่อยอารมณ์ไหลเลื่อนสู่ห้วงขณะดื่มด่ำซึมซาบไปกับเรื่องราวหลากหลาย กระทั่งเคลิ้มเคลื่อนหล่นร่วงหลุดจากปัจจุบันอันปั่นป่วนปรวนแปรลงไปตามรอยแยกของอดีต - อนาคต วรรณกรรมจึงคล้ายหุบเหวนิลกาฬ ลึกล้ำชวนเชิญให้หลบลี้ซุกซ่อนรักษาบาดแผลชีวิต ประดุจโอสถศาลาสำหรับพักรักษาอาการปวดร้าวใจประดามีบนโลกนี้

แต่เมื่อนักเขียนเจ้าของรางวัลบุ๊กเกอร์ไพรซ์ ค.ศ. ๑๙๙๗ ยุติบทบาทต่องานเขียนแนววรรณกรรมที่พร้อมจะสร้างชื่อเสียงเงินตราให้กับตนเองอีกมหาศาล แล้วหันปลายปากกามาขับเคลื่อนความเรียงต่อต้านการสร้างเขื่อนกักน้ำ ปฏิเสธโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ คัดค้านอำนาจครอบงำของบรรษัทข้ามชาติ โต้แย้งต่อแนวนโยบายจากองค์กรโลกบาล กระทั่งนำเสนอวิธีประจันหน้ากับจักวรรดินิยมอเมริกา ฯลฯ ถึงบรรทัดนี้ คงจำต้องหยุดถ้อยพรรณนาอันอาจนำไปสู่ลัทธิบูชาตัวบุคคลลงเสียที เพราะสำหรับ อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) แล้ว ถือเป็นหลุมพรางทางการเมือง คือกับดักของสังคมซึ่งยังมิบรรลุนิติภาวะ และมันย่อมยืนอยู่ตรงข้ามกับความเสมอภาคในชุมชนแบบประชาธิปไตย

อรุณธตี เริ่มต้น จุดจบแห่งจินตนาการ โดยเปรียบเทียบอธิบายสำหรับคำถามซ้ำซากว่า ทำไมเธอถึงหยุดสร้างสรรค์เชิงวรรณศิลป์ เปลี่ยนมาเขียนงานนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาทุกข์ยากของคนยากไร้ เช่น ชนอาทิวาสี (ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในอินเดีย) พวกทลิต (ชนชั้นต่ำไร้วรรณะ) ที่นับวันจะพัดพาเธอให้ห่างไกลจากสิ่งซึ่งนักเขียนส่วนใหญ่ตะเกียกตะกายไขว่คว้า. "ฉันรู้สึกเหมือนคนที่เดินสะดุดกองหลุมฝังศพ" (น. ๑๕) เท่านี้ยังไม่พอ เธอต้องการสืบสวนหาต้นตอสาเหตุ เพื่อกระชากหน้ากากฆาตกรผู้ประกอบอาชญากรรมให้เปิดเผยแจ่มแจ้งอีกด้วย

โดยไม่มัวประหวั่นพรั่นพรึงกับสถานการณ์จริงอันปรากฏชัดเบื้องหน้า ในห้วงขณะความเป็นหรือตายของมวลประชาผู้ไร้ผลประโยชน์ต่อรอง นอกเหนือไปจากมุ่งหวังเพียงดำรงวิถีชีวิตปกติสุขเอาไว้ ต้องถูกตัดสินตามสะดวกโดยอำนาจฉ้อฉลปราศจากความชอบธรรม ผสมกับเล่ห์กลสมคบคิดจากพวกสามเหลี่ยมเหล็ก ซึ่งประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ. แรงเหวี่ยงปะทะจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ถูกเธอถ่ายทอดเป็นโวหารเชิงอุปลักษณ์ (Metaphor) ตามวิสัยศิลปินอย่างชวนหวั่นสยองยิ่งนัก "บนธงชาติมีรูโหว่ และมันกำลังเลือดไหล" (น. ๒๓)

การนำตนเองเข้าเผชิญกับกรณีขัดแย้งทางสังคมชนิดดับเครื่องชน ย่อมนำมิตรแท้พร้อมทั้งศัตรูถาวรมาเยี่ยมเยือนและจ้องหาจังหวะโจมตีไปพร้อมกัน แต่ความเข้มข้นทางปัญญากลับยิ่งผุดบังเกิดขึ้นท่ามกลางกองข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม รายงานสรุปผลกระทบ, เอกสารประจำปี, ใบแถลงการณ์, จดหมายข่าว, บทวิจัย, คำสัมภาษณ์, ตัวเลขสถิติ, ภาพยนตร์สารคดี ฯลฯ ซึ่งเธอใช้เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับตีแผ่กลไกซ่อนเร้นของรัฐ พิจารณาได้จากเชิงอรรถตอนท้ายของแต่ละบทในหนังสือเล่มนี้ ส่อแสดงถึงเรี่ยวแรงอุตสาหะค้นคว้าอย่างเข้มข้นเพื่อให้การศึกษาแก่ตนเอง เพราะแหล่งอ้างอิงเหล่านี้เต็มเปี่ยมด้วยข้อเท็จจริงอันแหบแห้งแล้งเข็ญ ไม่ชวนชื่นรื่นเริงบันเทิงใจอะไรเลย หากเทียบกับการอ่านงานวรรณกรรมชั้นเลิศ ดารดาษเปี่ยมล้นลีลาภาษาพลิ้วเพลิน ย่อมผ่อนคลายสบายหฤทัยกว่ามากนัก

ในฐานะนักเลงวรรณกรรม เธอย่อมคุ้นชินกับการอ่านโครงเรื่องจากงานเขียนยอกย้อนซ้อนสำนวนมาอย่างโชกโชนพอตัว ประสบการณ์ดังกล่าวถูกผันแปรประโยชน์ใช้สอย เมื่อยามต้องสลัดคลาบไคลรายละเอียดปัญหาปลีกย่อยทั้งหลาย เพื่อมุ่งสู่แก่นกลางโศกนาฏกรรมในนามการพัฒนาประเทศ "มีเรื่องราวซ้อนอยู่ในเรื่องต่าง ๆ และมันง่ายที่จะสูญเสียความชัดเจนของสงครามไป ในท่ามกลางปลักของความเศร้าของผู้อื่น" (น. ๕๑) ความเป็นธรรมไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอฉันใด เพียงแสดงอาการเวทนาสงสารจึงยังไม่พอเพียงสำหรับเปลี่ยนแปลงสังคมฉันนั้น หนทางต่อสู้อย่างยืดเยื้อยาวนานจึงจำเป็น หากมุ่งหวังนำมาซึ่งความถูกต้องต่อผู้ถูกกระทำทุกถ้วนหน้า

ห้าสิบปีหลังได้รับเอกราชจากจักวรรดิอังกฤษในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ อินเดียใช้เงินกว่า ๘๗๐,๐๐๐ ล้านรูปี เพื่อเร่งพัฒนาภาคชลประทาน ผลสัมฤทธิ์คือเขื่อนคอนกรีตจำนวน ๓,๓๐๐ แห่ง แต่ยังมิสามารถจัดการลดปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมฉับพลันผ่อนทุเลาลงได้ หากนำภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด การกดขี่ขับไล่อพยพย้ายถิ่นของคนยากไร้ประมาณ ๔๔,๑๘๒ คนต่อหนึ่งเขื่อนมาให้อย่างชัดเจน ถ้าลดค่าเฉลี่ยตัวเลขแบบต่ำสุดที่ ๑๐,๐๐๐ คนต่อหนึ่งเขื่อน ดังนั้น เขื่อน ๓,๓๐๐ แห่ง x ประชาชน ๑๐,๐๐๐ คน = ๓๓,๐๐๐,๐๐๐ คน นี่เป็นคำตอบสุดท้ายที่ผู้ปกครองอินเดียมอบเป็นของขวัญตอบแทนสำหรับการเสียสละเพื่อปิตุภูมิ "หลายครั้งที่ชาตินิยมก็มีบางสิ่งบางอย่างที่เจาะจงและเยียบเย็นแบบคณิตศาสตร์" (น. ๗๐)

แน่นอนว่างานเขียนประเภทนี้ คงมิอาจนำรางวัลยิ่งใหญ่หรือยอดจำหน่ายสูงลิ่วชนิดพิมพ์ซ้ำกระหน่ำซื้อให้กับผู้เขียนและสำนักพิมพ์แห่งไหน อรุณธตีจำต้องเคยผ่านภาวะเสียดทานกับแรงกดดันเหล่านี้มาอย่างสาหัส "ในฝันนั้นความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่มีศักดิ์ศรี และบางครั้งก็คุ้มค่าที่จะต่อสู้ให้ได้มาด้วยซ้ำ" (น. ๑๐๐) เธอกระทำตนเป็นเพียงเสียงตะโกนแทนเพื่อนพี่น้องผู้ถูกเงื้อมมืออำนาจรัฐขู่ตะคอกปิดปากเงียบซื่อ โดยหลอมละลายอัตตาแห่งดาวรุ่งในโลกอักษรศาสตร์ คงเหลือเพียงวลีสัจจะปรากฏสื่อสารสู่สังคมโลกเท่านั้น

ขอย้อนคำนึงถึงบางถ้อยวาจาจากริมฝีปากของนักเขียนรางวัลซีไรท์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร ไทม์เอเชีย ฉบับวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เกี่ยวกับเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง "ผู้คนมากมายเริ่มเลือกข้าง โดยที่ไม่รู้จริง ๆ ว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ หรือมันจะแก้ปัญหาอะไรได้หรือไม่ บางคนไปร่วมชุมนุมประท้วงเพียงเพราะต้องการเป็น 'ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์' หรือพบปะเพื่อนฝูงถ่ายรูป มันกลายเป็นโรงละครไปเสียแล้ว" มุมมองแบบสายตานก ท่าทีเยี่ยงนักสังเกตการณ์ ถือเป็นคุณสมบัติพิเศษของนักเขียน แต่เรียวลิ้นส่อเสียดซึ่งอ้าง "ความเป็นกลาง" มีให้รับฟังกันเสมอจากนักการเมือง หากทัศนคติเยี่ยงนี้ เริ่มลุกลามถึงนักเขียนผู้ไร้เดียงสาต่อปัญหาเชิงนโยบายรัฐ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ไกลเกินกว่าปุ่มบนโทรศัพท์มือถือ แล้วเฝ้าหุ้มห่อรูปการณ์จิตสำนึกไว้ในเสื้อยืดปัจเจกกระฎุมพีสีลูกกวาด ภายใต้อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศประมาณ ๒๒ องศาเซลเซียส…

"แต่จำเป็นไหมที่นักเขียนจะต้องคลุมเครือในเสียทุกสิ่ง? …มีหลายช่วงตอนอันน่ากลัวที่ความสุขุมรอบคอบจะกลายเป็นเพียงถ้อยคำตอแหลสำหรับความขลาดกลัวเท่านั้น? " (น. ๑๓๓) ยิ่งหวนพลิกอ่านหนังสือเล่มนี้มากรอบเท่าไหร่ ประกายหยั่งเห็นต่อวรรณทัศน์ยิ่งขยับขยายพ้นผ่านจากจุดเดิมมากขึ้นทุกขณะ โมงยามเคยนั่งละเลียดเล็มรสภาษากลายกลับเป็นช่วงเปล่าเปลืองเคว้งคว้างไปโดยปริยาย หรืออำนาจวรรณกรรมสิ้นไร้เรี่ยวแรงจะชูธงนำกระแสเปลี่ยนแปลงอะไรกันอีกแล้ว เหลือแต่ความสนุกสนานกับรูปแบบนำเสนอแปลกแหวกแนวเยี่ยงป้ายโฆษณาสินค้า โดยเลือกหยิบจับภาพร่างบางส่วนด้านจากวิถีเยี่ยงชนชั้นกลางเอาไว้ ห่างพ้นเพิกเฉยต่อแดดร้อนลมแรงบนแผ่นดินถิ่นพำนัก "ความปลอดภัยจะมีได้ต่อเมื่อนิ่งเฉยยอมจำนนเท่านั้น" (น. ๑๐๔)

อย่าปล่อยนิสัยแสร้งเป็นกลางเกาะกุมจิตวิญญาณนักเขียนอีกนานนักเลย เพราะ ฮาโรล พินเทอร์ ได้ยืนยันย้ำเตือนถึงพันธกิจบนเส้นทางวรรณกรรมไว้อย่างแจ่มชัดแล้ว "นักเขียนเลือกและยึดมั่นในการเลือก...นักเขียนต้องยืนอยู่ด้วยตัวเอง บนขาของตัวเอง ไม่มีที่พักพิง ไม่มีเกราะคุ้มกัน นอกจากนักเขียนจะโกหก"
แต่นักเขียนส่วนหนึ่งยังคงปฏิบัติตนตามประโยคสุดท้ายนี้กันอยู่เสมอ...หรือมิใช่?

๒. บทแนะนำหนังสือ "ปัญญาญาณแห่งการอภัย" (The Wisdom of Forgiveness)
ชลนภา อนุกูล (เขียน) นำมาจาก http://www.suan-spirit.com/news.asp?id=26

ออกจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย ที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจะสามารถรักษาความร่าเริงแจ่มใส มีอารมณ์ขัน และเปี่ยมด้วยความกรุณาแม้แต่ผู้ที่เป็นศัตรูของตน ตลอดเวลาที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองมารดรของตนมากว่า ๔๕ ปี แต่ทะไล ลามะ ผู้นำทางการเมืองและจิตวิญญาณของชาวทิเบต ก็เป็นพยานยืนยันอย่างดีต่อโลก ว่ามีแต่หนทางของสันติวิธีเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริง ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า แม้ความรู้ยิ่งใหญ่มหาศาลก็อาจนำมนุษยชาติไปสู่หายนะได้หากปราศจากหัวใจที่ดีงาม ดังที่เหตุการณ์ ๑๑ กันยา และสงครามทั้งหลายแหล่ ก็เป็นประจักษ์พยานของการใช้ความรู้ในการประหัตประหารสรรพชีวิตอย่างไร้หัวจิตหัวใจ

หนังสือ "The Wisdom of Forgiveness : Intimate Conversations and Journeys" เป็นความพยายามที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของปัญญาญาณในพุทธศาสนา ที่นำไปสู่การไม่ถือโกรธและให้อภัย จากตัวอย่างที่มีชีวิตในยุคสมัยของเรา - ทะไล ลามะ - ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ค.ศ. ๑๙๘๙. วิกเตอร์ ชาน นักเขียนเชื้อสายจีนมีความสนิทสนมชิดเชื้อกับทะไล ลามะ มากว่าสามสิบปี เขาเริ่มสัมภาษณ์พระองค์ท่านตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ได้เข้าพบใกล้ชิด และเดินทางร่วมกับพระองค์ไปยังที่ต่างๆ เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปี กว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นหนังสือเล่มนี้

เนื้อหาหนังสือแบ่งเป็น ๒๐ บท แต่ละบทไม่ยาวนัก เน้นการเล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์และบทสนทนาต่างๆ ผ่านมุมมองอันหลากหลาย เพื่ออธิบายบุคลิกและลักษณะนิสัยใจคอของผู้นำทางจิตวิญญาณท่านนี้ ตลอดจนแง่มุมความคิดและการฝึกฝนปฏิบัติของพระองค์ ที่นำไปสู่ความไม่โกรธและการให้อภัย. ในบทเริ่มต้นของหนังสือ ชานบรรยายภาพของทะไล ลามะ เมื่อปรากฎต่อฝูงชน ทั้งกองทัพนักข่าวและผู้เข้าร่วมฟังปาฐกถาหลากชาติพันธุ์จำนวนมหาศาล ว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและความเมตตา ครั้นถามถึงเหตุที่ทำให้ผู้คนเหล่านั้นนิยมชมชื่นในตัวท่าน ทะไล ลามะ ก็ให้คำอธิบายว่า อาจจะเป็นเพราะท่านมองโลกในแง่ดี และมองเห็นผู้อื่นเป็นมนุษย์ร่วมเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกัน ตัวท่านเองนั้นแม้จะหัวเราะเสียงดังบ่อยครั้ง แต่ก็มีอารมณ์เศร้าได้บ้างในบางที หากก็อยู่ไม่นานนัก เปรียบกับมหาสมุทร ที่มีคลื่นกระเพื่อมอยู่ด้านบน แต่ภายในข้างใต้กลับสงบนิ่ง และคุณสมบัติในข้อนี้เองก็ได้รับการยืนยันจากสาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ซึ่งกล่าวว่า ทะไล ลามะทำให้ผู้คนรอบข้างรู้สึกยินดีต่อการเป็นมนุษย์

ชานเองก็มีความประทับใจในตัวทะไล ลามะมาก นับตั้งแต่พบกันครั้งแรกเมื่อเขายังเป็นคนหนุ่ม เพิ่งทุลักทุเลจากการถูกจับเป็นตัวประกันที่เมืองคาบุล อัฟกานิสถาน หลังจากหนีออกมาได้พร้อมเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกสองคน หนึ่งในนั้นสมาทานพุทธทิเบต เขาจึงได้มีโอกาสเข้าพบท่าน และตั้งคำถามอันอาจหาญ "ท่านเกลียดคนจีนไหม?" ทะไล ลามะ ในวัย ๓๗ ปี ขณะนั้น ยังหนุ่มคะนองนัก ทั้งยังหัวเราะไม่หยุด ตั้งแต่เห็นชานในเครื่องแต่งกายเป็นฮิปปี้มาเข้าพบ ครั้นได้ยินคำถามดังกล่าวก็จ้องมองหน้าชานเขม็งก่อนตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า "ไม่" ก่อนขยายความว่า แม้ชาวทิเบตจะถูกกระทำย่ำยี ชาวจีนก็ยังเป็นเพื่อนอยู่เสมอ ทิเบตมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลจีนคอมนิวนิสต์เท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลจีนกระทำนั้น เป็นสิ่งที่ชาวทิเบตอภัยให้ได้

คำตอบที่ได้รับในครั้งนั้นประทับจิตประทับใจชานอยู่เสมอ เขาเริ่มสนใจทิเบตมากขึ้น จากเดิมที่เกิดและโตในฮ่องกง ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แต่รู้เรื่องทิเบตน้อยมาก รู้จักแต่เพียงลามะทิเบตที่เก่งกล้าสามารถจากนิยายของกิมย้งเท่านั้น ทั้งนิยายกำลังภายในก็เต็มไปด้วยเรื่องของการแก้แค้น ชานกลายเป็นนักวิจัยเรื่องทิเบต ใช้เวลาเดินทางไปทิเบตนับสิบครั้ง และเขียนหนังสือเกี่ยวกับทิเบตเล่มหนาเตอะ. ในการเขียนหนังสือร่วมกับทะไล ลามะ เล่มนี้ เขาได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าพบทะไล ลามะ ในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมทั้งการตื่นขึ้นมาภาวนาเพื่อนั่งสมาธิและทำวัตรเช้าตั้งแต่ตีสี่ในตำหนักส่วนพระองค์. ชานได้บรรยายกิจวัตรประจำวันของทะไล ลามะไว้ค่อนข้างละเอียด ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีชั่วโมงทำงานค่อนข้างรัดตัวและต้องเดินทางบ่อยครั้ง ทะไล ลามะกลับมีใบหน้าอ่อนเยาว์ ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการบำเพ็ญภาวนาไม่ยึดติดในอารมณ์ต่างๆ ตลอดจนการละเว้นจากความโกรธ อันมีพื้นฐานมาจากการตระหนักรู้ในโทษของอารมณ์ด้านลบ ที่นำไปสู่ความรุนแรงได้

จากนั้น ชานได้นำพาเราไปพบกับเรื่องราวของผู้คนที่ดำเนินชีวิตอยู่บนวิถีที่พ้นไปจากความโกรธแค้น ไม่ว่าจะเป็น โลปอน-ลา พระทิเบตที่ถูกเจ้าหน้าที่จีนจับไปทรมานและอยู่ในคุกยี่สิบปี ริชาร์ด มัวร์ เด็กหนุ่มที่ตาบอดตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ เพราะถูกยิงด้วยกระสุนยางจากทหารควบคุมจราจลเข้าที่ตาขวา และสาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ผู้เคยรับฟังเรื่องราวจากเหยื่อของการเหยียดผิวสองหมื่นกว่าคน เพื่อเยียวยาและสมานฉันท์บาดแผลในประเทศอาฟริกาใต้ และแม้กระทั่งทะไล ลามะเอง ก็ต้องฝึกปฏิบัติภาวนาอย่างหนักหน่วงเพื่อลดความโกรธเกลียด และเพิ่มพูนความกรุณา

เรื่องเล่าแห่งความกรุณาของทะไล ลามะ ที่โดดเด่นยิ่ง เห็นจะเป็นเรื่องแถลงการณ์ประนามรัฐบาลจีนต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เทียน อัน เหมิน ซึ่งนักศึกษาจีนถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ณ เวลานั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กำลังจะมีการเจรจาระหว่างจีนและทิเบต ในโอกาสอันงามที่หาได้ยากเช่นนี้ ทะไล ลามะได้เลือกที่จะปกป้องรักษาสิทธิในอิสรภาพและประชาธิปไตยของนักศึกษาจีน มากกว่าความหวังของชนชาติทิเบตเอง และแม้ในการเดินทางมายุโรปครั้งแรก ในการพูดปาฐกถาต่างๆ ก็มีถ้อยคำน้อยมากที่กล่าวถึงทิเบต หากพูดถึงแต่เรื่องของความกรุณา การมีหัวใจดีงาม และความรู้สึกรับผิดชอบโดยรวม ครั้นถูกที่ปรึกษาติติง ท่านก็ให้เหตุผลว่า ผู้คนเหล่านี้ล้วนมีปัญหาของตนเองหนักหนาพออยู่แล้ว และก็หวังว่าท่านจะช่วยได้ ท่านจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเพิ่มภาระของท่านให้กับผู้อื่นได้อีก. ความกรุณาของอวตารแห่งองค์พระโพธิสัตว์อันปราศจากขอบเขตนี้ ดูเหมือนจะเป็นภาพพจน์ที่ผิดไปจากความเข้าใจของชาวจีนโดยมากทีเดียว จะมีข้อยกเว้นก็แต่ปัญญาชนจีนที่ปราศจากอคติและได้มีโอกาสได้พบปะกับทะไล ลามะโดยตรง ซึ่งต่างก็ยกย่องให้ความเป็นผู้มีกรุณาของพระองค์

เรื่องที่ว่าด้วยความกรุณาอีกเรื่องก็คือ ชายหนุ่มตาบอดผู้หนึ่ง ได้ขายบ้านเรือนเดินทางมากับแม่ผู้ชรา ผ่านทิเบต เนปาล อินเดีย เพื่อมาเฝ้าองค์ทะไล ลามะ ในพิธีกาลจักร ท่านมองเห็นชายหนุ่มผู้นี้กับแม่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก ก็ได้เข้าไปทักทายไต่ถาม เมื่อทราบเรื่องก็ให้อยู่ในความดูแลของแพทย์หลวง และในเวลาไม่นานก็ได้รับทราบว่ามีพระทิเบตอีกรูปได้แสดงความประสงค์ที่จะอุทิศดวงตาให้อีกข้าง โดยพร้อมที่จะผ่าตัดมอบดวงตาให้ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ชานค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจกับน้ำใจไมตรีดังกล่าวมากทีเดียว

การปฏิบัติภาวนาของทะไล ลามะ ที่นำไปสู่การให้อภัยนั้น ตั้งอยู่บนฐานของความกรุณาและการตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งผ่านการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา. ท่านเล่าว่า เริ่มฝึกปฏิบัติความกรุณาบนวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ตั้งแต่อายุสามสิบสองปี และมองว่าความกรุณานั้นเป็นวิธีการ ซึ่งเปรียบได้กับการนวดดินเหนียวให้นุ่ม ส่วนการพิจารณาเรื่องความว่างนั้นนำไปสู่ปัญญา เปรียบได้กับการขึ้นรูปดิน การปฏิบัติภาวนาสองเรื่องควบคู่กันไปนี้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์โภชผลอย่างยิ่งยวด

ในวิถีพุทธนั้นเชื่อว่า สรรพสิ่งต่างถูกร้อยโยงเข้าไว้ด้วยกัน ประดุจดังตาข่ายของอินทรเทพ การกระทำหนึ่งย่อมส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก หากเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ย่อมเข้าใจเหตุแห่งความรุนแรงต่างๆ ในโลกได้ ว่าทุกคนก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การขจัดความรุนแรงบนโลกก็คือ การหลีกเลี่ยงความรุนแรงภายในตัวเรานั่นเอง

เรื่องที่ออกจะดูยุ่งยากสำหรับชาวตะวันตกเห็นจะเป็นการทำความเข้าใจเรื่องความว่าง หรือ อนัตตา. ชานก็ยอมรับว่าเขาไม่อาจเป็นลูกศิษย์ที่ดีนักของทะไล ลามะในเรื่องนี้. ปรกติแล้วผู้ปฏิบัติธรรมมักไม่ค่อยเล่าประสบการณ์การภาวนาให้ผู้อื่นฟังนัก ดังกรณีที่นักภาวนาสายขงจื๊อได้เอ่ยถามทะไล ลามะขึ้นมาครั้งหนึ่ง หากแต่ท่านก็เลี่ยงที่จะไม่ตอบ อย่างไรก็ดีชานก็มีโอกาสรับฟังจากทะไล ลามะ ถึงภาวะในการภาวนาครั้งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดค่อนข้างมาก และน่าสนใจทีเดียว

ในช่วงสุดท้ายของการเดินทางร่วมกัน ชานได้ติดตามทะไล ลามะไปร่วมประกอบพิธีกาลจักรที่เมืองโพธิคยา ซึ่งถือเป็นพิธีสำคัญของชาวพุทธทิเบต แต่การณ์กลับเป็นว่า ท่านเกิดป่วยขึ้นมากระทันหัน และป่วยหนักเสียจนไม่อาจทำพิธิได้ ชานไม่ได้พบท่านอีกเลยถึงสองเดือนหลังจากนั้น เมื่อพบกันในภายหลัง ท่านก็เล่าว่าขณะที่ป่วยนั้น ระหว่างที่เดินทางไปโรงพยาบาล ท่านเห็นภาพผู้คนที่ทุกข์ยากอยู่ข้างทางไม่ได้รับการเหลียวแล ต่างจากท่านอย่างมาก ดังนั้น แม้จะมีความทรมานทางกาย แต่ท่านก็มีความเบิกบานทางธรรมมาก และมองว่าความเจ็บป่วยเป็นครูทางจิตวิญญาณที่ดี

ก่อนสิ้นสุดการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้าย ทะไล ลามะได้เปลี่ยนบทจากผู้ถูกถามมาเป็นผู้ถามบ้าง โดยถามถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวของชาน ซึ่งเขาก็ตอบอย่างซื่อๆ ว่า อย่างน้อยเขารู้สึกว่าตัวเองน่าจะเป็นตัวแบบที่ดีให้กับลูกได้บ้าง. ในตอนท้ายของหนังสือ ชานได้ชี้ให้เห็นภาวะทางจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับทางกายอย่างเด่นชัด ซึ่งก็คือสุขภาพหัวใจของทะไล ลามะ ที่แข็งแรงเหมือนกับเด็กหนุ่มอายุยี่สิบปี ซึ่งเป็นผลจากการใช้ชีวิตเรียบง่ายและการพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดลึกซึ้งจนเข้าถึงความสงบทางใจ และแม้แต่ความโกรธก็ไม่อาจเข้ามากร้ำกรายทำลายความสงบภายในได้เลย

หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอวิถีการปฏิบัติแบบพุทธที่นำไปสู่การให้อภัย แม้จะไม่ใช่ลักษณะของคู่มือการให้อภัยแบบสำเร็จรูป แต่ก็ประสบผลสำเร็จในการนำเสนอเรื่องนามธรรมผ่านรูปธรรมของเหตุการณ์และเรื่องเล่าต่างๆ. เรื่องเล่าว่าด้วยความกรุณาทั้งหลาย ทั้งของทะไล ลามะเอง หรือของผู้อื่น นั้นดูเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุคสมัยปัจจุบัน ลำดับขั้นของความกรุณาก็ดูจะแตกต่างกันไป ทำให้เห็นว่าความกรุณาอันล้นพ้นประมาณปราศจากขอบเขตนั้นย่อมอยู่เหนือตัวตนออกไป

ประเด็นหลักของหนังสือนั้นอยู่ที่มรรควิธีที่นำไปสู่การให้อภัย ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความกรุณาและการพิจารณามองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง วิธีปฏิบัติที่นำไปสู่จุดหมายทั้งสองประการนั้นปรากฎอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบตอย่างค่อนข้างเด่นชัด หนังสือไม่ได้เสนอภาพของวีรบุรุษผู้อาจหาญ หรือความเคร่งครัดสำรวมของนักบวช หากแต่เสนอความเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา เป็นความติดดินอันแสนธรรมดา และนี่เอง อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ปุถุชนอย่างเราท่านรู้สึกและเชื่อมั่นในตนเองได้มากขึ้น ว่าหนทางที่ปราศจากความโกรธเกลียด พ้นไปจากอารมณ์ด้านลบ เข้าถึงความสุขที่แท้ มีความสงบทางใจ ด้วยการอุทิศตนเพื่อรับใช้สรรพสัตว์ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน

ประวัติผู้เขียน: วิกเตอร์ ชาน เกิดและเติบโตในฮ่องกง ก่อนที่จะย้ายไปศึกษาต่อที่แคนาดาสาขาฟิสิกส์ แต่ชีวิตก็หักเหไป เมื่อถูกลักพาตัวที่กรุงคาบุล อัฟกานิสถาน พร้อมกับเพื่อนผู้หญิงอีกสองคน เมื่อหนีออกมาได้ ก็มีโอกาสพบกับทะไล ลามะ ความประทับใจที่เกิดขึ้นครั้งนั้นเป็นเครื่องเร้าให้เขาสนใจทิเบต และเขียนหนังสือ Tibetan Handbook: A Pilgrimage Guide ซึ่งหนากว่าพันหน้า

ความสัมพันธ์ระหว่างชานและทะไล ลามะนั้นถือว่าอยู่ในระดับใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเริ่มเขียน The Wisdom of Forgiveness: Intimate Conversations and Journeys ซึ่งนอกจากจะบรรยายภาพทะไล ลามะอย่างค่อนข้างละเอียดชัดเจนแล้ว ยังทำให้เห็นมิตรภาพระหว่างเขา กับ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบตที่น่าสนใจยิ่ง ปัจจุบันเขาทำงานประจำอยู่ที่สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย

๓. วิจารณ์หนังสือ "ความเงียบ" (The Spirit of Silence: Making Space for Creativity)
ทวี คุ้มเมือง (เขียน) นำมาจาก http://www.suan-spirit.com/news.asp?id=24

หากปราศจากเสื้อผ้า เราทุกคนคงทุกข์ทรมานท่ามกลางสภาพปรวนแปรของอุณหภูมิ ถ้าไร้แหล่งพักพิง มนุษย์ย่อมมิอาจพักผ่อนได้อย่างสะดวกสบายเท่าใดนัก ยิ่งเมื่อไม่อาจเชื่อมโยงตัวตนเข้ากับเจตจำนงของชีวิต จิตวิญญาณโหยหาย่อมซัดเซพเนจรไปท่ามกลางโลกวัตถุอย่างหลงทิศผิดทางซ้ำแล้วซ้ำเล่า. ปฏิเสธได้ยากว่าคุณภาพของการดำรงอยู่ย่อมพึ่งพิงวัตถุเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อบำรุงสุขภาพกายเป็นขั้นต้น แต่ผู้คนกลับพอกพูนเสริมแต่งปัจจัยชีวิตด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีล้ำยุคนานัปการ จนเป็นสัมภาระดิจิตอลที่คล้ายอวัยวะเสริมสำหรับประกอบกิจวัตรประจำวัน นับตั้งแต่ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไอพ็อด (iPod) หรือเครื่องเล่นเอ็มพีสาม ฯลฯ เพื่อสร้างกำแพงเสียงดังกระหึ่มปิดกั้นการรับรู้ของเราจากเสียงรบกวนสารพัดที่คนอื่นก็สร้างขึ้นมาเช่นกัน

พื้นที่ร่วมสมัยจึงเกลื่อนกลาดไปด้วยขยะเสียงล่องลอยอบอวลไออากาศ คลุกเคล้าไปพร้อมควันพิษกลางเมืองใหญ่ ความเงียบ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้นเพื่อพลิกฟื้นญาณทัศน์ของมนุษย์ต่อสภาวะลึกซึ้งด้านศิลปะ ความเร้นลับทางจิตวิญญาณ และกิจวัตรอันเปี่ยมศรัทธาต่อสันโดษธรรม ภายใต้ถ้อยคำซึ่งร้อยรัดเอามิติเวลาในประวัติศาสตร์ ผสานเข้ากับนานาเหตุการณ์สถานที่ เพื่อสื่อแสดงถึงวิถีเข้าสู่ความเงียบของเหล่านักบวช กวี ฤาษี ศิลปิน ตลอดถึงคีตกรผู้สร้างสรรค์ท่วงทำนองดนตรี !

เพราะการจะประสบกับความเงียบมิใช่แค่หลีกหนีจากเสียงต่าง ๆ (แม้แต่ร่างกายของเราก็ยังมีจังหวะเต้นของหัวใจดังสม่ำเสมอ) หรือเพียงถอดถอนตัวตนออกจากสภาพแวดล้อมวุ่นวายเท่านั้น แต่คือการโน้มดวงจิตดิ่งลึกแหวกว่ายกลางห้วงโมงยามอย่างมีสติ ชุ่มฉ่ำอยู่กับประกายหยั่งเห็นสุนทรียธรรมที่นิ่งสงบ พร้อมเริงระบำไปในทุกจังหวะเคลื่อนไหวแห่งธรรมชาติภายใน ก่อนคลี่คลายรับรู้เฝ้าสังเกตทุกช่วงเปลี่ยนแปลงของกระแสฤดูกาล นี่คือบทเรียนสำหรับฝึกฝนมนุษย์ให้ซึมซับถึงเจตจำนงของชีวิตได้อย่างตรงประเด็นยิ่งนัก

หนังสือเล่มนี้เป็นงานสร้างสรรค์ที่ศิลปินชาวอังกฤษ "จอห์น เลน" กลั่นกรองประสบการณ์ทั้งจากการอ่านค้นคว้าชีวประวัติบุคคล ข้อธรรมจากหลายศาสนา หลักปรัชญามากสำนัก กระทั่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ตะวันตก โดยเขาเลือกหยิบจับแก่นสาระซึ่งซุกซ่อนอยู่กระจัดกระจาย หลอมรวมเป็นผลึกนึกคิดอันเข้มข้นจริงจังด้วยประเด็นวิพากษ์สังคมปัจจุบัน พร้อมบอกเล่าอย่างฉันท์มิตรยามนำเสนอถึงจุดเปลี่ยนสู่อารยธรรมใหม่ คอยปลอบโยนปลุกเร้าให้มองเห็นถึงศักยภาพของปัจเจก ซึ่งพร้อมผลักดันโลกสู่ครรลองดุลยภาพ ซึ่งเอื้อต่อสรรพสิ่งอื่นนอกเหนือจากแค่รับใช้เฉพาะมนุษย์เท่านั้น

พ้นจากข้อมูลเพื่ออรรถาธิบายเชิงเปรียบเทียบแล้ว ความเงียบ ยังเผื่อพื้นที่บนแผ่นกระดาษปลดปล่อยให้ผู้อ่านซึมซับลายเส้นภาพพิมพ์จากฝีมือของ "คริฟฟอร์ด ฮาร์เปอร์" ศิลปินผู้เคยรังสรรค์ภาพประกอบกับรูปปกให้ ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา มาแล้ว จึงเพิ่มพูนความงามแบบเคร่งขรึมทว่าปลอดโปร่งใจยามเพ่งพินิจ ช่วยหนุนเนื่องเรื่องราวภายในเล่มอย่างเหมาะเจาะลงตัว

การเปิดพื้นที่ว่างสำหรับจิตวิญญาณ คือจุดตั้งต้นของการจาริกไปบนความสงบเงียบผ่านวัฒนธรรมโบราณ เฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่สอง มีนักบวชผู้เลือกดำรงชีวิตอย่างเคร่งครัดสมถะอยู่กลางทะเลทรายอียิปต์ตลอดถึงบริเวณหุบเขาโดยรอบกว่าสองหมื่นรูป ก่อนเผยแพร่เข้าสู่อารามบนทวีปยุโรปในอีกสองร้อยปีถัดมา ส่วนที่ประเทศจีน จำนวนนักพรตเต๋าผู้เป็นปราชญ์โด่งดังยุคราชวงศ์ฮั่นมีประมาณหนึ่งพันสามร้อยท่าน ยิ่งในอินเดียบรรดาศรัทธูหรือสันยาสีผู้แสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมันมีจำนวนประมาณห้าล้านคน แต่แนวโน้มโดยรวมของผู้เลือกเอาสันโดษธรรมเป็นเครื่องห่อหุ้มเริ่มลดน้อยถอยถด จนกลายเป็นกลุ่มคนที่เล็กลงเรื่อย ๆ พร้อมกับการโอบล้อมรุกรานของสังคมสมัยใหม่อย่างหนักหน่วงมากขึ้น

ปฏิปักษ์ต่อความเงียบไม่ใช่แค่เสียงอึกทึกครึกโครมเท่านั้น กลับหมายรวมถึงกลไกควบคุมเชิงความคิดที่มนุษย์ถูกบ่มเพาะด้วยระบบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อปลูกฝังระเบียบวินัยอันเอื้อต่อการปกครองโดยรัฐ ผูกโยงถึงโครงสร้างเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการแข่งขันแย่งชิงให้ตนเองอยู่สูงเหนือผู้อื่นเสมอ จนทำให้มนุษย์เน้นกอบโกยเงินตรามากกว่าเกาะกุมวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เมื่อยิ่งเน้นบริโภครองรับสายพานผลิตสินค้าเชิงปริมาณด้วยอัตราเร่งเร็วมากเท่าไหร่ จิตใจย่อมปั่นป่วนตึงเครียดจนเผยแสดงภาวะแปลกแยกเซื่องซึม ปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ความเสื่อมโทรมของดินฟ้าอากาศ ฯลฯ สถานการณ์เหล่านี้คือวิกฤติที่โถมกระหน่ำใส่ผู้คนอย่างถี่กระชั้นจนกายใจแทบหมดสิ้นกำลังวังชาจะไปจินตนาการสร้างสรรค์อะไรอื่นได้อีก

อิสรภาพจากอารมณ์หงุดหงิดว้าวุ่นซึ่งพันธนาการมหาชนเอาไว้ คือค้นให้พบตาน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายในแต่ละคนด้วยตัวเอง ความเงียบย่อมมิใช่แค่อยู่อย่างว่างเปล่า หากเป็นจังหวะเติมเต็มส่วนขาดหายให้ชีวิตที่ถูกขโมยเวลาไปใช้อย่างเปล่าเปลืองกับแถวยาวเหยียดของรถติดบนท้องถนน ยืนรอเข้าคิวจ่ายเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต จมปลักอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ หรือเฝ้าคอยโอกาสเสพยศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่งขึ้น เหตุเหล่านี้ต่างหากที่เป็นความว่างเปล่าซึ่งใครหลายคนกระโจนไขว่คว้ามาครอบครองเอาไว้ !

องค์ประกอบของการเข้าถึงความเงียบตามทัศนะของจอห์น เลน ผู้เลือกมีวัตรปฏิบัติตามแบบอารามคาทอลิก จึงเกาะเกี่ยวเหนียวแน่นกับการแสวงหาความประจักษ์ชัดแบบจิตนิยม แต่ด้วยความเป็นศิลปินมิใช่นักวิชาการ แนวทางที่เขานำเสนอจึงดูนุ่มนวลมีเสน่ห์มากกว่าตรรกะจืดชืดแห้งแล้งเชิงทฤษฎี ความเงียบจึงเป็นกระบวนการอันผสมผสานพลิ้วไหว ทั้งหมั่นภาวนาอยู่กับปัจจุบันขณะ เจริญสติไปพร้อมกับทำงาน เสาะหาสุนทรียธรรมจากทุกสิ่งนับแต่ข้าวของเครื่องใช้จนถึงซากปรักหักพัง หัดยำเกรงและรู้จักสรรเสริญต่อความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อย่างสม่ำเสมอ ส่วนการออกก้าวเดินก็เป็นวิธีสัมผัสกับโลกภายนอก ควบคู่กับช่วงปลีกวิเวกครุ่นคำนึงกลางภวังค์สมาธิ จวบจนสามารถบ่มกลั่นกระแสสำนึกแนบสนิทกับความเงียบ เมื่อนั้นภาวะแจ้งประจักษ์ย่อมเผยแสดงออกโดยแผ่วเบาทว่าลึกซึ้งถึงแก่นชีวิต

นัยสำคัญของการความเงียบอย่างเข้มข้น ไม่ได้หมายถึงกักขังตัวเองกับสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะนั้นย่อมเสมือนทัณฑกรรมถ้าพยายามบีบคั้นกดข่มความรู้สึกมากเกินจำเป็น เป้าหมายของผู้ใฝ่สันโดษธรรมย่อมโน้มนำให้พร้อมเข้าร่วมแก้ไขขจัดทุกข์ภัยทั้งหลายอย่างถ่อมตน การรับใช้สังคมจึงเป็นขั้นตอนขัดเกลาอัตตายึดมั่น ตัวอย่างเช่น "วอลท์ วิทแมน" กวีผู้ยอมสลัดคราบเสรีชนออกเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยให้แก่ทหารบาดเจ็บในสงครามกลางเมืองอเมริกาอย่างปฏิเสธฝักฝ่าย. "แค็ท สตีเวนส์"นักร้องยอดนิยมชาวอังกฤษ ซึ่งหันหลังให้กับวงการบันเทิง เพื่อเริ่มปฏิบัติศาสนกิจเยี่ยงมุสลิม พร้อมก่อตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาทั้งชาวอิรักกับอเมริกันซึ่งต่างประสบเคราะห์กรรมจากเหตุการณ์ ๙/๑๑ ถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้ายโดยไม่แบ่งแยกว่าเชื้อชาติศาสนาใดทั้งสิ้น

แม้นิยามของความเงียบในทางการเมือง มักหมายถึงอาการเพิกเฉยหรือหวาดเกรงต่ออำนาจปกครองที่อยู่พ้นเงื่อนไขตรวจสอบจากประชาชน อันเป็นมุมมองแง่ลบต่อสารัตถะแท้จริงของความเงียบอีกแบบหนึ่ง เพราะยังคงจัดวางความเงียบเอาไว้เฉกอาการหนวก บอดใบ้ เมื่อยิ่งเยาะเย้ยให้ความเงียบกลายเป็นแค่พฤติกรรมคับแคบหมกมุ่น ผู้คนจึงเผชิญหน้ากับโมงยามยุ่งยากโกลาหลอย่างอึดอัดตีบตันไร้ทางออก จนสิ้นหวังต่ออนาคตหมดเจตจำนงของชีวิตลงทุกขณะ. การเข้าถึงความเงียบ จึงดุจคำปราชญ์จีนเคยบอกเตือนให้มนุษย์รู้จักหาประโยชน์จากความไร้ประโยชน์นั่นกระมัง

๔. จะกู่ก้องร้องบอกโลกด้วยความเงียบ ((The Spirit of Silence: Making Space for Creativity)
จิตติ พัวสุทธิ (เขียน) นำมาจาก http://www.suan-spirit.com/news.asp?id=25

ชีวิต(ของพวกเขา) ไร้ความสงบ ไร้วัฒนธรรม วนเวียนอยู่กับอาหารกระป๋อง หนังสือพิมพ์ที่มีแต่ภาพ วิทยุ และเครื่องยนตร์ที่ครางกระหึ่ม เด็กๆ ที่เติบโตในอารยธรรมเช่นนี้จะรู้ดีในเรื่องสิ่งดึงดูดใจ แต่ไม่รู้จักพระคัมภีร์ไบเบิล ผู้คนที่คุ้นเคยกับอารยธรรมอย่างนี้ โดยเฉพาะโลกยุคใหม่ก็มีแต่ช่างเทคนิค กรรมกรมีฝีมือซึ่งได้รับค่าจ้างสูง นักบินกับเครื่องยนตร์กลไกของเขา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยุ ผู้สร้างภาพยนตร์ นักหนังสือพิมพ์ยอดนิยม และนักเคมีอุตสาหกรรม
จอร์จ ออร์เวล

เ สียงกระโปรงผ้าหนาปัดไปบนพื้น เมื่อยามที่เดินจากห้องนี้ไปห้องนั้น ฮิลเดการ์ดแห่งบีเง่น อยู่ในห้องผนังสีขาวธรรมดาๆ กำลังประพันธ์ดนตรี ปั่นด้าย และอ่านหนังสือ...ห่างจากุฏิไปราวๆ ร้อยหลา เรียวกัน กำลังมองพระจันทร์วันเพ็ญอย่างเคลิ้มฝัน... เอมิลี ดิกกินสัน ได้แต่ฟังอารมณ์ของตนสนทนาเป็นบทกวีถึงสิ่งที่เธอได้ยินได้ฟังในบ้าน... เฮนรี่ เดวิด ธอโร มีเก้าอี้สามตัวในบ้าน หนึ่งตัวสำหรับนั่งเงียบๆ คนเดียว สองตัวเพื่อมิตรภาพ สามตัวเพื่อการสมาคม แต่ส่วนใหญ่เขาสมัครใจจะอยู่ตามลำพัง... เซซาน มีความสุขกับการเขียนภาพหัวกระโหลกบนโต๊ะตัวเดียวกับที่เขาเคยกองผลส้มกับหัวหอม...จิออจิโอ โมรันดี แทบจะไม่ยอมให้ใครเข้ามาในห้องทำงาน เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานหลายปี ทำให้มีฝุ่นจับอยู่บนขวด บนอ่าง แจกัน และเครื่องใช้ธรรมดาๆ ซึ่งเขาพิจารณาเขียนภาพลายเส้นและภาพจิตรกรรมอย่างต่อเนื่อง...ฯลฯ

บ่อยครั้งเมื่อเรารวมกลุ่มอยู่ในครอบครัว ในเผ่า ในเมือง ความอบอุ่นก็ดูจะมาอิงแอบแนบชิดตัวเราเสียจนไม่รู้สึกถึงความโดดเดี่ยวเดียวดาย หากแต่บางครั้งบางคราเมื่อได้ปลีกตัวแยกออกไปแต่เพียงลำพังไปอยู่กับตัวเองก็กลับทำให้เรารู้สึกเบาใจยิ่งกว่า ในฐานะมนุษย์เราต้องการส่วนผสมทั้งสองประการกับชีวิต เพียงแต่ท่ามกลางความเร่งรีบอึกทึกโกลาหลของโลกสมัยใหม่ จะดีกว่าไหมหากเราสามารถผ่อนพักไปหาที่ทางเฉพาะของตัวเอง ไปอยู่กับความเงียบเพื่อจะตระหนักรู้ว่าตัวเองนั้นคือใคร

ฮิลเดการ์ด แห่ง บีเง่น, เรียวกัน, เอมเมลี ดิกคินสัน, เฮนรี เดวิด ธอโร, พอล เซซาน, จิออจิโอ โมรันดี ฯลฯ บ้างชื่ออาจจะคุ้นตา บ้างชื่ออาจจะไม่เคยประสบพบพาน บ้างอาจจะมีความหมายเฉพาะกลุ่ม บ้างอาจจะมีชื่อเสียงโด่งดังคับโลก หากแต่ตัวละครจากหนังสือ ความเงียบ เปิดพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ กลับเปิดมุมมองชวนให้หวนคิดกับวิถีแห่งความเจริญของสังคมปัจจุบัน ยุคสมัยที่เงินตราและความเร่งร้อนถือสิทธิ์เข้ามายึดครองพื้นที่ของเวลาในชีวิตประจำวันไปจนหมด

"ความเงียบ เปิดพื้นที่เพื่อความสร้างสรรค์" เป็นอีกหนึ่งหนังสือทางเลือก ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่อึกทึกครึกโครมของบรรดาหนังสือร่วมสมัยทั้งหายแหล่ ซึ่งดาหน้าออกมาประชันกันอย่างไม่เว้นวาง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทซุบซิบดารา เปิดเรื่องลับเฉพาะของบุคคลชั้นนำ หรือจะเป็นหัวข้อข่าวการเมืองอื้อฉาวในความสนใจของผู้คนทั่วๆ ไป

จอห์น เลน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นจิตรกร นักเขียน และนักการศึกษา เคยดำรงตำแหน่งประธานแห่ง Dartington Hall Trust เป็นผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง Beaford Center และเป็นตัวจักรสำคัญในการ่อตั้ง Schmacher College นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว จอห์น เลนยังมีผลงานอื่นอีกหลายเล่ม อาทิเช่น ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา ความงามข้ามกาลเวลา และ ต้นไม้สายใยแห่งชีวิต ฯลฯ

สดใส ขันติวรพงษ์ ผู้แปล เป็นอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา ปัจจุบันเป็นนักแปลอิสระ มีผลงานแปลทั้งที่เป็นงานวิชาการและวรรณกรรมหลายต่อหลายเล่ม อาทิเช่น ประวัติศาสตร์กัมพูชา(แปลร่วม) ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา ความงามข้ามกาลเวลา ต้นไม้สายใยแห่งชีวิต พี่น้องคารามาซอฟ อันนา คาเรนินา นาซิสซัสกับโกลด์มุนด์ สิทธารถะ อมตเทวี เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ความรักของเจน แอร์ ฯลฯ

หนังสือเล่มนี้เรียงร้อยนานาทัศนะว่าด้วยความเงียบและความสงบในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ช่วยให้เราสัมผัสสัมพันธ์กับความลึกซึ้งด้านใน ซึ่งเลื่อนไหลจนไม่ทันสังเกตในชีวิตประจำวันอันวุ่นวาย ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานศิลปะ วรรรณคดี หรือดน ตรี และปลุกเราให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งจะสัมผัสได้อย่างเต็มเปี่ยมก็ด้วยจิตอันเป็นอิสระจากการคาดคะเนล่วงหน้า

"เปิดที่ว่างให้แก่จิตวิญญาณ" บทแรกของหนังสือบอกเล่าทัศนะของความเงียบและความสงบในวัฒนธรรมที่แตกต่าง จากมุมมองของศาสนาหลายหลากตั้งแต่คริสต์ ฮินดู พุทธ และเต๋า แม้จะมีความผิดแผกในรายละเอียดต่างๆ นาๆ หากแต่ทุกๆ ศาสนากลับมีจุดร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นั่นก็คือความเงียบ ความเงียบและความสงบถือเป็นหัวใจของศาสนาหลักทุกศาสนา

สาเหตุอย่างเดียวที่ทำให้มนุษย์เป็นทุกข์คือ
เขาไม่รู้ว่าจะอยู่เงียบๆ ในห้องของตนได้อย่างไร
เบลส ปาสกัล

อยู่เงียบๆ ในห้องของตน บทที่สองเริ่มนำพาเราเข้าไปรู้จักและทำความเข้าใจกับโลกนอกกระแส กับผู้คนอย่างฮิลเดการ์ด แห่งบิเง่น, เรียวกัน, เอมิลี ดิกคินสัน, เฮนรี เดวิด ธอโร ฯลฯ ซึ่งใช้ชีวิตสวนทางกันกับการยืนยันของยุคสมัยใหม่ ซึ่งเห็นว่าจะพบความสุขที่แท้ก็แต่ในการกระทำทางกาย อาทิเช่น เดินทางท่องเที่ยว เล่นกีฬา แข่งกีฑา หรือแม้แต่การจับจ่ายใช้สอยซื้อหาสินค้าตามห้างร้าน สำหรับเขาเหล่านั้นบริบทแห่งความสุขไม่ได้เกิดขึ้นจากความตื่นเต้นเร้าใจ ทว่าเกิดจากความสงัดในห้องทำงานสร้างสรรค์ ห้องสวดมนตร์ภาวนา ในความสงบของท้องทุ่ง ท่ามกลางเงียบของท้องนา และการอุทิศตนบนวิถีทางชีวิตประเสริฐ

และเมื่อเริ่มจะคลี่คลายกับอีกมุมมองในการใช้ชีวิตท่ามกลางความร้อนเร่าของยุคสมัยก็มาถึง ศัตรูแห่งความเงียบ บทที่สามของหนังสือซึ่งได้แยกแยะให้เห็นถึงศัตรูตัวฉกาจของความเงียบสงบทั้งสองประการ นับตั้งแต่ประการแรกด้วยการแทรกแซงความสงบของจิตใจจากปัจจัยภายนอก เราๆ ท่านๆ มักจะพบว่ายากจะหาความสงบไม่ว่าที่ไหน ทั้งในเมืองใหญ่ เมืองเล็ก หรือในหมู่บ้าน มิเว้นวายทุกโมงยามทั้งกลางวันและกลางคืน หากแต่ศัตรูประการที่สองกลับร้ายกาจยิ่งกว่า มันมิเคยหยุดหย่อนผ่อนพักเพราะผุดออกมาจากภายในของตัวเรา มันคือสารพัดความคิด ความเชื่อ และสมมุติฐานตามความเคยชินที่เราแบกไว้ในใจตลอดเวลา

ถ้าเราต้องการเป็นอิสระจากความหงุดหงิด วุ่นวายใจ และการทำงานหนักเกินไป เราจำเป็นต้องแก้ไขเยียวยาภาพลวงตา ความเบี่ยงเบน ความเครียดและความเหนื่อยหน่ายดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป้าหมายของเราอยู่ที่การแสวงหาความยินดี แสวงหาความสร้างสรรค์ ความชุ่มชื่นใจ และการชุบชูจิตวิญญาณ...
บทที่สี่ เครื่องมือฟื้นฟูความยินดี (หน้า 93)

ศิลปะในสิ่งธรรมดาๆ...การสร้างสรรค์...การขอบคุณและการสดุดี...พลังบำบัดของธรรมชาติ...ความสำคัญของสัมพันธภาพ...มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ...มองหาความงาม... การปฏิบัติภาวนา...การไม่มีตัวตน...การยำเกรง...การเห็น...ความเรียบง่าย...การเดิน...คุณค่าของความเงียบและความวิเวก...คุณค่าของการดำเนินชีวิตไปอย่างเนิบช้า... ทั้งหมดนี้ก็คือรายละเอียดของคำแนะนำแต่ละบทแต่ละขั้นตอน ใน เครื่องมือฟื้นฟูความยินดี บทที่สี่ของหนังสืออันจะนำมาซึ่งความหมายสำหรับผู้ที่กำลังแสวงหาความอิ่มเอิบภายใน แน่นอนว่าเราไม่จำเป็นต้องหนีจากโลก การจะมีความสุขในโลกนั้นหมาย ถึงการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ และมีช่วงพักเพื่อจะได้ใคร่ครวญกับความสงบและสันติสุข

แค่อยู่อย่างถูกต้อง บทสรุปสุดท้ายของหนังสือเมื่อมาถึงคำถามที่ว่าเราจะทำตัวอย่างไร ในสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่คำถามใหม่ และมนุษย์หลายชั่วอายุคนมาแล้ว ผู้ได้ผจญกับความเสื่อมทรามและความระส่ำระสาย ได้พบคำตอบต่อคำถามนี้ คำตอบซึ่งตลอดมามีความเชื่อทางศาสนาเป็นเครื่องนำทางอย่างแข็งขัน

มีภาพยนตร์สั้นๆ เกี่ยวกับชีวิตบั้นปลายของตอลสตอย ซึ่งสร้างโดยนักสร้างภาพยนตร์ผู้กล้าหาญคนหนึ่ง ตอลสตอยไม่ยอมให้เขาเข้าไปในบ้าน ท่านผู้เฒ่าเอาแต่กระ โดดอยู่บนบันไดบ้านและร้องว่า " แค่อยู่อย่างถูกต้อง "
เฮนรี ชุคมัน

ความเงียบ : เปิดพื้นที่เพื่อความสร้างสรรค์ บอกเราให้รู้ว่าความเงียบ ความวิเวก และความเนิบช้าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่หวังจะมีชีวิตอย่างรู้ตื่นรู้เบิกบานอยู่กับปัจจุบันขณะ ความจริงซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ที่จะรู้ได้ด้วยตัวเองเท่านั้น. ความเงียบ ความวิเวก และความเนิบช้าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้จะสร้างความกลมกลืนและความเป็นระเบียบให้แก่โลกที่ปั่นป่วนสับสน ทำให้เรามีฐานะที่แข็งแกร่งในท่ามกลางความโกลาหล. ความเงียบ ความวิเวก และความเนิบช้า จะทำให้บุคคลสามารถลุกขึ้นฟันฝ่าเพื่อชีวิต และมั่นใจอนาคต ถึงจะเจ็บปวด แต่เขาก็จะะรอดพ้นจากอันตราย

นอกจากจะประทับใจอย่างยิ่งเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง เรายังสามารถจะรับรู้รายละเอียดและเข้าร่วมกับกิจกรรมการรวมตัวของกลุ่มคนหลายอาชีพที่เล็งเห็นว่ากรุง เทพฯ มีภาวะมลพิษเกิดขึ้นทุกตรอกซอกซอย และอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสงบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อรณรงค์แก้ไขมลพิษทางเสียงในนามของ ชมรมคนรักความเงียบ และชมรมหรี่เสียงกรุงเทพ ได้ที่... http://www.geocities.com/quietbangkok http : //quietbangkok.blogspot.com

 


++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 3 April 2008 : Copyleft by MNU.
การนำตนเองเข้าเผชิญกับกรณีขัดแย้งทางสังคม ย่อมนำมิตรแท้พร้อมทั้งศัตรูถาวรมา ในฐานะนักวรรณกรรม เธอย่อมชินกับการอ่านโครงเรื่องจากงานเขียนยอกย้อนซ้อนสำนวนมาอย่างโชกโชนพอตัว ประสบการณ์ดังกล่าวถูกผันแปรประโยชน์ใช้สอย เมื่อยามต้องสลัดคลาบไคลรายละเอียดปัญหาปลีกย่อยทั้งหลาย เพื่อมุ่งสู่แก่นกลางโศกนาฏกรรมในนามการพัฒนาประเทศ "มีเรื่องราวซ้อนอยู่ในเรื่องต่าง ๆ และมันง่ายที่จะสูญเสียความชัดเจนของสงครามไป ในท่ามกลางปลักของความเศร้าของผู้อื่น"ความเป็นธรรมไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอฉันใด เพียงแสดงอาการเวทนาสงสารจึงยังไม่พอเพียงสำหรับเปลี่ยนแปลงสังคมฉันนั้น หนทางต่อสู้อย่างยืดเยื้อยาวนานจึงจำเป็น หากมุ่งหวังนำมาซึ่งความถูกต้องต่อผู้ถูกกระทำทุกถ้วนหน้า
H
Jamphel Ngawang Lobsang Yeshe Tenzin Gyatso (born Llhamo Dondrub (Tibetan: Wylie: Lha-mo Don-'grub) 6 July 1935 in Tibet), is the fourteenth and current Dalai Lama. He is a practicing member of the Gelug School of Tibetan Buddhism and is influential as a Nobel Peace Prize laureate, as the world's most famous Buddhist monk, and as exiled leader of the Tibetan government in Dharamsala, India.

Gyatso was the fifth of 16 children born to a farming family in the village of Taktser in the historic Tibetan region of Amdo where he learned the Amdo dialect of Tibetan as his first language. He was proclaimed the tulku (rebirth) of the thirteenth Dalai Lama two years after he was born.

Suzanna Arundhati Roy (born November 24, 1961) is an Indian novelist, writer and activist. She won the Booker Prize in 1997 for her first novel, The God of Small Things and in 2002, the Lannan Cultural Freedom Prize.

Roy was born in Shillong, Meghalaya to a Keralite Syrian Christian mother, the women's rights activist Mary Roy, and a Bengali father, a tea planter by profession. She spent her childhood in Ayemenem or Aymanam in Kerala, and went to school at Corpus Christi, Kottayam, followed by the Lawrence School, Lovedale in the Nilgiris, Tamil Nadu. She then studied architecture at the School of Planning and Architecture, New Delhi, where she met her first husband, architect Gerard DaCunha.