ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




05-04-2551 (1523)

กิจการธนาคาร: ปีนให้พ้นกำแพงหลักทรัพย์ค้ำประกัน
Muhammad Yunus: พ้นไปจากธนาคารในระบบและสินเชื่อเพียงผู้ชาย
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

สำหรับบทความแปลชิ้นนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจการธนาคารในระบบ ที่ไม่เอื้อต่อคนจนและผู้หญิง
ธนาคารกรามีนได้มาพลิกฟื้นสถานการณ์ดังกล่าว โดยตอบสนองต่อความยากจนอย่างตรงเป้า
เพื่อเอาชนะความทุกข์ยาก ความลำบาก และขนบจารีตอันไม่มีใครเคยตั้งคำถามกับธนาคารฯ
สำหรับบทแปลนี้ ได้เรียงลำดับเรื่องราวดังต่อไปนี้...
- กิจการธนาคาร: ปีนให้พ้นกำแพงหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- ธนาคารชนะตะ
- มายาคติที่มีต่อคนจน
- ยูนุส: ผมจะเป็นคนค้ำประกันเอง
- หลักการพื้นฐานระบบธนาคาร "ยิ่งคุณมีมากเท่าไร คุณจะได้รับมาก"
- คนจน พ่อค้าเงินกู้ ธนาคาร และตลาดเสรี
- ชีวิตของอัมมาจัน อะมีนา
- เหตุใดจึงควรปล่อยกู้ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- ผู้หญิงประสบปัญหาความยากจนและความหิวโหยเข้มข้นกว่าผู้ชาย
- ผู้ชายไม่เห็นว่าครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ
- ปัญหาการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้หญิง
- การไม่ยอมรับว่าผู้หญิงเป็นพลังทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
ที่กำลังศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงนักวิชาการและคนในวัยทำงานทั้งภาคธุรกิจและแรงงาน
สถิติการคลิกของเว็บไซต์แห่งนี้ล่าสุดประมาณ ๓.๕ - ๔.๕ ล้านคลิกต่อเดือน โดย IP ไม่ซ้ำกันเกือบ ๒ แสน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๒๓
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กิจการธนาคาร: ปีนให้พ้นกำแพงหลักทรัพย์ค้ำประกัน
Muhammad Yunus: พ้นไปจากธนาคารในระบบและสินเชื่อเพียงผู้ชาย
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


กิจการธนาคาร: ปีนให้พ้นกำแพงหลักทรัพย์ค้ำประกัน (พ.ศ. 2519)

เมื่อพบว่างานที่ทำกับชาวนาไม่เอื้อประโยชน์ถึงผู้ยากไร้สุด ผมจึงเริ่มสนใจปัญหาคนไร้ที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งอาศัยและทำงานอยู่ใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย ผมมักคิดเสมอว่าคนไร้ที่ดินจะเป็นคนกล้าได้กล้าเสียกว่าชาวนารายย่อย เพราะชาวนาซึ่งมีที่ดินย่อมมีชีวิตติดกับผืนดินนั้น เป็นเหตุให้พวกเขามีลักษณะค่อนข้างอนุรักษ์นิยม มีทัศนะการมองแคบ และมักจะมองจากมุมของตนเอง ในขณะที่คนไร้ที่ดินไม่มีความผูกพันกับที่ดิน น่าจะเป็นคนที่พร้อมจะเคลื่อนย้ายและพร้อมจะรับแนวคิดใหม่ ๆ จึงเป็นคนกล้าได้กล้าเสียมากกว่า สภาพความยากไร้บีบให้พวกเขาเป็นนักสู้ และการไม่ผูกติดกับที่ดิน ทำให้พวกเขาไม่ผูกติดกับวิถีชีวิตแบบจารีตนิยม

เรื่องราวของซูเฟีย เบกุม ทำให้ผมถึงกับต้องนั่งตัวตรง ผมไม่อยากเชื่อเลยว่ายังมีคนที่ทนทุกข์กับชีวิตแบบทาสในเรือนเบี้ย และเธอไม่สามารถหาเงินเพียง 20 เซ็นต์เพื่อทำธุรกิจของตนเองได้ ตอนที่ผมให้เงินยืม 27 เหรียญกับชาวบ้าน 42 คน ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าเงินเพียงแค่นี้จะทำให้ผู้คนจำนวนมากมีความสุขได้ขนาดนั้น! และผมไม่คิดจะปล่อยปัญหาไว้แค่นั้น ผมต้องการปรับปรุงให้ดีขึ้น ผมต้องการให้มีโครงสร้างระดับสถาบันซึ่งช่วยให้คนจนสามารถเข้าถึงเงินตามที่ต้องการได้ แต่จะทำได้อย่างไรล่ะ? ผมคิดจะติดต่อกับธนาคาร ธนาคารน่าจะให้พวกเขายืมเงินที่ต้องการ และอันที่จริงนั่นเป็นหน้าที่ของธนาคารอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ธนาคารชนะตะ
ผมเข้าไปนั่งในรถโฟล์คเต่าสีขาวและขับไปที่สาขาของธนาคารชนะตะ แถวๆ นั้น, ธนาคารแห่งนี้เป็นธนาคารใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและเป็นธนาคารของรัฐ สาขาธนาคารที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ด้านนอกประตูทางด้านซ้ายของถนน ท่ามกลางร้านรวงเล็กๆ แผงลอยและร้านอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจของชาวบ้านแถวนั้น พวกเขาตั้งร้านรวงเหล่านี้เพื่อขายทุกอย่างให้กับนักศึกษาไม่ว่าจะเป็นหมากพลู อาหาร กระดาษ และปากกา เป็นที่รวมของสามล้อซึ่งคอยรับส่งนักศึกษาจากหอพักไปยังห้องเรียน

ธนาคารชนะตะสาขามหาวิทยาลัยจิตตะก่องเป็นห้องแถวห้องเดียว หน้าต่างด้านหน้าติดลูกกรง ส่วนผนังทาสีเขียวขี้ม้า แต่ก็หลุดลอกจนเกือบหมด เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปด้านขวาจะพบแคชเชียร์ พื้นที่ที่เหลือเป็นที่วางของโต๊ะและเก้าอี้ไม้ มีตู้เซฟวางอยู่มุมขวาด้านหลัง ผู้จัดการนั่งอยู่ด้านซ้าย มีพัดลมเพดาน เขาต้อนรับผมอย่างสุภาพและเชิญให้นั่ง "มีอะไรให้ผมช่วยบ้างครับ?" พนักงานนำชากับขนมมาให้ ผมอธิบายถึงเหตุที่ทำให้มาที่นี่

"คราวก่อนผมยืมเงินคุณเพื่อไปทำโครงการเกษตรสามส่วน ตอนนี้ผมมีข้อเสนอใหม่ ผมอยากให้คุณปล่อยกู้ให้กับคนจนในหมู่บ้านจอบรา เป็นเงินจำนวนไม่มากหรอก ผมเองก็เคยปล่อยกู้ให้พวกเขา ผมปล่อยกู้เป็นจำนวนเงิน 27 เหรียญให้กับชาวบ้าน 42 คน แต่ยังมีคนจนอีกมากมายที่ต้องการเงิน พวกเขาต้องการเงินเพื่อช่วยให้ทำงานได้ต่อ เอาไปซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ"

"วัตถุดิบอะไรบ้างครับ?" พนักงานธนาคารมองผมอย่างประหลาดใจ ราวกับว่าเป็นเกมชนิดใหม่และเขาไม่คุ้นเคยกับกติกาการเล่น เขายอมให้ผมพูดด้วยความเคารพต่อผมในฐานะหัวหน้าภาควิชาในมหาวิทยาลัย แต่เห็นได้ชัดเจนทีเดียวว่า เขาไม่เข้าใจสิ่งที่ผมพูด. ผมบอกเขาว่า "มีชาวบ้านบางคนทำเก้าอี้ไม้ไผ่ บางคนสานเสื่อ ขับรถสามล้อ ...ถ้าพวกเขามีโอกาสยืมจากธนาคารตามอัตราดอกเบี้ยทั่วไป จะทำให้พวกเขาสามารถผลิตสินค้ามาขายในตลาดทั่วไปได้ สามารถมีผลกำไรและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้"

"ผมก็เห็นด้วยครับ"
"แต่ที่เป็นอยู่ตอนนี้พวกเขามีชีวิตต้องทำงานเหมือนกับทาสไปจนตลอดชีวิต ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป พวกเขาก็จะไม่มีโอกาสหลุดพ้นจากอุ้งมือของพ่อค้าส่ง (ไพคารี) ซึ่งให้พวกเขายืมเงินและขูดรีดดอกเบี้ยแพง ๆ ไปได้"
"ผมรู้ว่าคุณคงหมายถึงพวกมหาโจร (ผู้ให้เงินกู้) สิ"
"ผมมาที่นี่วันนี้เพราะอยากให้คุณปล่อยเงินกู้ให้กับชาวบ้าน"
ผู้จัดการแทบจะหุบปากไม่ลง เขาเริ่มหัวเราะ "ผมทำไม่ได้หรอกครับ"
"ทำไมไม่ได้ล่ะ?" ผมกล่าว

"ก็..." เขาอึ้งไปเล็กน้อย ไม่แน่ใจว่าควรจะเรียงลำดับเหตุผลเพื่อคัดค้านผมอย่างไรดี "อย่างแรกเลยเงินกู้ยืมเพียงเล็กน้อยที่คุณบอกว่าพวกเขาต้องการกู้ คิดเป็นจำนวนไม่มากพอเมื่อเทียบกับต้นทุนเอกสารที่พวกเขาต้องกรอกด้วยซ้ำ และธนาคารคงไม่มาเสียเวลาแสดงสินน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนั้น"
"ทำไมถึงไม่ล่ะ?" ผมกล่าว "ทำไมไม่ให้กู้กับคนจนทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก"
"ประการแรกสุด คนเหล่านี้ไม่รู้หนังสือ พวกเขาไม่สามารถกรอกสัญญาเงินกู้ได้ด้วยซ้ำ"
"ในบังคลาเทศซึ่งประชากร 75% ไม่สามารถอ่านและเขียนได้ การกำหนดการกรอกข้อมูลให้เป็นเงื่อนไขของเงินกู้ เป็นเรื่องน่าหัวเราะนะ"
"ทุกธนาคารในประเทศนี้ก็มีกฎเกณฑ์แบบนี้แหละครับ"
"ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าระบบธนาคารของเราคงจะมีปัญหาน่ะสิ"
"อย่าว่าแต่กู้เงินเลยครับ แม้แต่ตอนที่คนเอาเงินมาฝาก เราก็ยังให้เขาเขียนระบุจำนวนเงินที่ต้องการฝากเลย"
"ทำไมล่ะ?"
"หมายความว่าอย่างไรที่คุณถามว่า "ทำไม?""
"ก็ทำไมธนาคารไม่สามารถรับเงินและก็ออกเป็นใบเสร็จที่ระบุว่า "ธนาคารได้รับเงินเป็นจำนวน...จากคุณ..." ล่ะ ทำไมเสมียนธนาคารไม่สามารถกรอกข้อมูลเหล่านี้ได้ ทำไมต้องปล่อยให้ผู้ฝากเงินเป็นผู้กรอกเองล่ะ?"

"คุณจะทำธุรกิจธนาคารได้อย่างไร ถ้าต้องติดต่อกับคนที่ไม่สามารถอ่านและเขียนได้?"
"ง่ายนิดเดียว ธนาคารก็ออกใบรับเงินระบุจำนวนเงินที่ธนาคารได้รับสิ"
"แล้วในกรณีที่เขาต้องการถอนเงินล่ะ?"
"ผมไม่ทราบ...แต่มันน่าจะมีวิธีที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ผู้ยืมเงินอาจมาที่ธนาคารพร้อมกับแสดงใบเสร็จรับเงินที่ระบุจำนวนเงินฝากไว้ต่อแคชเชียร์ จากนั้นแคชเชียร์ก็ถอนเงินมาให้ ระบบการทำบัญชีจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของธนาคารเอง"
ผู้จัดการส่ายหัวแต่ไม่ได้ตอบ ราวกับไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนดี
"ผมรู้สึกว่าระบบธนาคารของคุณไม่เป็นมิตรต่อผู้ไม่รู้หนังสือเลยนะ"
คราวนี้ผู้จัดการเริ่มโกรธ "อาจารย์ครับ กิจการธนาคารมันไม่ง่ายอย่างที่คุณคิดหรอก"
"คงจะอย่างนั้น แต่ผมเชื่อว่ากิจการธนาคารก็ไม่ซับซ้อนอย่างที่คุณพยายามอธิบายหรอก"
"เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ความจริงก็คือว่าผู้กู้จากทุกธนาคารแห่งในโลกล้วนต้องกรอกแบบฟอร์มทั้งนั้น"
"เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้น" ผมกล่าวยอมรับกับสภาพความเป็นจริง "ผมจะเอานักศึกษามาเป็นอาสาสมัครช่วยกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้กับพวกเขา คิดว่าคงไม่เป็นปัญหาหรอก"
"แต่คุณไม่เข้าใจหรอก เราไม่สามารถให้เงินกู้กับคนจนได้เลย" ผู้จัดการธนาคารกล่าว
"ทำไมไม่ได้ล่ะ?"

ผมพยายามพูดอย่างสุภาพ ดูเหมือนว่าการสนทนาของเราจะมีอะไรซ่อนเร้นอยู่ ผู้จัดการธนาคารมีรอยยิ้มเปื้อนบนใบหน้า ซึ่งบ่งบอกว่าเขาคิดว่าผมกำลังกลั่นแกล้งเขา เขาคิดว่ามันคงเป็นการสัมภาษณ์แบบขำ ๆ หรืออาจจะเหลวไหลด้วยซ้ำ แต่ผมเอาแต่จ้องมองเขาอย่างจริงจังสุด ๆ

"ก็พวกเขาไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันน่ะสิ" ผู้จัดการกล่าว ยังไม่แน่ใจว่าผมแกล้งโง่หรือเป็นนักแสดง แต่คาดว่าถ้าพูดเช่นนี้คงทำให้การสนทนาของเราจบลง
"คุณจะเอาหลักทรัพย์ค้ำประกันไปทำไม ในเมื่อคุณจะได้เงินคืนแน่ ๆ นั่นคือสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ มิใช่หรือ"
"แน่นอน เราต้องการเงินคืน" ผู้จัดการกล่าว "แต่ในขณะเดียวกันเราต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกันเช่นกัน นั่นเป็นหลักประกันของเรา"
"ผมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีเหตุผลเลยนะ คนจนสุดทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ยังไง ๆ พวกเขาก็ต้องขายของเพื่อหาเงินมาซื้ออาหาร พวกเขาจะต้องหาทางจ่ายเงินคืนคุณแน่ ๆ เพื่อจะได้สามารถกู้ยืมเงินต่อได้ และมีชีวิตต่อไปอีกวันหนึ่ง นั่นไม่ใช่หลักประกันดีที่สุดที่คุณต้องการหรือ...ชีวิตของพวกเขาน่ะ"

ผู้จัดการส่ายหัว "อาจารย์ คุณมันพวกอุดมคติ คุณมีชีวิตอยู่กับหนังสือและทฤษฎี"
"แต่ถ้าคุณแน่ใจว่าคุณจะได้เงินคืน คุณจะเอาหลักทรัพย์ค้ำประกันไปทำไมล่ะ?"
"มันเป็นกฎของธนาคารครับ"
"แสดงว่าเฉพาะคนที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันถึงจะมีสิทธิยืมเงินน่ะสิ?"
"ใช่ครับ"
"มันช่างเป็นกฎเกณฑ์ที่โง่เง่า แสดงว่ามีแต่คนรวยเท่านั้นที่สามารถกู้ยืมเงินได้"
"ผมไม่ได้เป็นคนคิดกฎนี้นะ ธนาคารเป็นคนตั้งมันขึ้นมา"
"ถ้าอย่างนั้นผมว่าเราควรเปลี่ยนกฎที่ว่านี้"
"ถึงอย่างไร ธนาคารของผมก็ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ได้อยู่ดี"
"ธนาคารคุณไม่สามารถปล่อยเงินกู้ได้หรือ?"
"ครับ ธนาคารของเรามีเฉพาะบริการรับฝากเงินจากอาจารย์และมหาวิทยาลัย"
"เอ๊ะ แต่ธนาคารทำกำไรจากการปล่อยกู้ไม่ใช่หรือ?"

"มีแต่สำนักงานใหญ่ที่เป็นคนปล่อยกู้ พวกเราแค่ทำหน้าที่รับฝากเงินจากมหาวิทยาลัยและพนักงาน ส่วนเงินกู้ที่เราให้กับโครงการเกษตรสามส่วนของคุณเป็นข้อยกเว้นเนื่องจากได้รับอนุมัติจากสำนักงานใหญ่"
"คุณหมายความว่าถ้าผมมาที่นี่เพื่อขอยืมเงิน ทำอย่างไรคุณก็ไม่สามารถให้เงินกู้ผมได้หรือ?"
"ถูกต้องแล้วครับ" เขาหัวเราะ ชัดเจนว่าผู้จัดการไม่เคยมีช่วงเวลาบ่ายที่แสนจะสนุกสนานเช่นนี้มาเป็นเวลานานแล้ว
"ถ้าอย่างนั้นที่เราสอนกันในมหาวิทยาลัยว่าธนาคารมีหน้าที่ให้เงินกู้ก็เป็นเรื่องโกหกพกลมน่ะสิ?"
"คุณต้องไปติดต่อที่สำนักงานใหญ่เพื่อขอกู้เงินครับ และผมก็ไม่ทราบว่าพวกเขาจะตัดสินใจอย่างไร"
"ดูเหมือนว่าผมคงต้องไปคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่านี้น่ะสิ"
"ครับ ควรจะเป็นอย่างนั้นแหละ"
ตอนที่ผมจิบน้ำชาคำสุดท้ายและเตรียมตัวกลับ ผู้จัดการกล่าวว่า "ผมรู้ว่าอาจารย์คงไม่หยุดแค่นี้ แต่เท่าที่ผมรู้เกี่ยวกับกิจการธนาคาร ผมบอกอาจารย์ได้เลยว่าแผนการที่ว่าไม่มีทางสำเร็จแน่"
"ขอบคุณครับ" ผมกล่าว

มายาคติที่มีต่อคนจน
อีกสองสามวันต่อมาผมเดินทางไปพบคุณฮาวละดาร์ ผู้จัดการส่วนภูมิภาค ธนาคารชนะตะ ที่สำนักงานของเขาในเมืองจิตตะก่อง ผมบอกกับเขาถึงสิ่งที่ต้องการ ดูเหมือนเราจะมีการพูดคุยคล้าย ๆ กับที่ผมมีกับผู้จัดการธนาคารสาขาในหมู่บ้านจอบรา นอกจากเหตุผลที่ผมเคยฟังมาก่อนแล้ว การสนทนาครั้งนี้ยังทำให้ผมได้ทราบเกี่ยวกับบรรทัดฐานของธุรกิจธนาคารซึ่งตรงข้ามกับข้อเสนอของผม. ในอีกหลายปีต่อมา ผมยังมีโอกาสเรียนรู้ถึงวิธีคิดของคนประเภทต่าง ๆ ที่มีต่อคนจน และมักได้ยินถ้อยคำที่พูดกันจนเคยชินและมายาคติต่าง ๆ จากปากของคนที่ไม่เคยทำงานกับคนจนเลย แต่พวกเขาพูดเรื่องเหล่านั้นด้วยความมั่นใจ อย่างเช่น

- ก่อนที่จะทำกิจกรรมสร้างรายได้ใด ๆ คนจนจะต้องได้รับการอบรมเสียก่อน
- การให้เฉพาะเงินกู้อย่างเดียวจะเปล่าประโยชน์ แต่ต้องให้คู่ไปกับการอบรม การตลาด บริการขนส่ง เทคโนโลยี การศึกษา
- คนจนไม่รู้จักเก็บออม
- คนจนเป็นพวกชอบบริโภคทุกสิ่งที่ซื้อได้ เพราะเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย
- คนจนทำงานร่วมกันไม่ได้
- ความยากจนเรื้อรัง ส่งผลต่อความคิดและทำลายความทะเยอทะยานของคนจน เช่นเดียวกับนกที่ถูกขังในกรงตลอดชีวิต เมื่อมีโอกาสออกมาภายนอก พวกมันก็ไม่ต้องการบินหนีไป
- ผู้หญิงยากจนไม่มีทักษะ ป่วยการที่จะไปคิดถึงโครงการสำหรับพวกเธอ
- คนจนมีแต่ความหิวโหยและอดอยากจนไม่มีสติปัญญาที่จะตัดสินใจได้อย่างชอบด้วยเหตุผล
- คนจนมีความคิดคับแคบ พวกเขาไม่สนใจอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตนเอง
- คนจนอยู่ใต้อิทธิพลของศาสนาและวัฒนธรรม (โดยเฉพาะผู้หญิง) พวกเขาไม่มีทางก้าวขาไปในทิศทางอื่นหรอก

- โครงสร้างอำนาจในชนบทมีพลังและฝังรากลึก โครงการให้เงินกู้เช่นนี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้
- การให้สินเชื่อกับคนจน ทำลายความเป็นนักปฏิวัติของพวกเขา ทำลายจิตวิญญาณแห่งนักปฏิวัติ เป็นการมอมเมาคนจนให้ยอมรับสถานภาพที่เป็นอยู่
- การให้สินเชื่อเป็นวิธีจัดตั้งมวลชนอย่างฉลาด ให้สามารถรวมตัวต่อต้านคนรวยและทำลายระเบียบสังคมที่มีอยู่
- ไม่มีทางที่ผู้หญิงจะสามารถเก็บเงินกู้หรือรายได้ไว้กับตนเอง สามีของพวกเธอจะทรมาน และถึงกับฆ่าพวกเธอถ้าจำเป็น เพื่อแย่งชิงเอาเงินไป
- คนจนมีความสุขจากการรับใช้เจ้านายมากกว่าดูแลตนเอง
- การให้สินเชื่อกับคนจนไม่ก่อให้เกิดการผลิต แต่กลับจะเพิ่มภาระให้กับคนจนที่เปราะบางและพวกเขาไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ การให้พวกเขากู้จะทำให้พวกเขาจนลง เพราะเป็นเหตุให้คนจนต้องพยายาม (หรือถูกบังคับให้) ต้องพยายามหาเงินมาจ่ายเงินกู้
- การส่งเสริมคนจนให้ประกอบกิจการเองจะทำให้แรงงานอิสระน้อยลง ส่งผลให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อและส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตในภาคเกษตรกรรม
- การให้สินเชื่อต่อผู้หญิงจะส่งผลกระทบต่อบทบาทแบบดั้งเดิมของผู้หญิงในครอบครัว ทั้งยังทำลายความสัมพันธ์ของเธอกับสามี
- สินเชื่ออาจมีส่วนช่วยเป็นการชั่วคราว แต่ในระยะยาวแล้วมันอาจไม่มีประโยชน์เลย และไม่ช่วยให้โครงสร้างสังคมปรับตัวสู่ความเท่าเทียมมากขึ้นด้วย

รายการเหล่านี้อาจระบุได้ต่อเนื่องจนไม่สิ้นสุด เพราะมายาคติและความจริงครึ่ง ๆ กลาง ๆ แบบนี้มีอยู่มากมายและฝังรากลึกในสังคมทั่วไป เป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังทุกแห่งหนในโลก. มายาคติหรือความจริงครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ละอันอาจกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่สร้างความชอบธรรม แต่โดยทั่วไปแล้วมักเป็นการพูดเกินความจริง เหตุผลหลายอย่างที่ว่าก็อาจนำมาใช้กับคนรวยได้พอ ๆ กับคนจน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ข้อวิจารณ์เหล่านี้จะชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิธีจัดการโครงการกู้ยืม กลไกของการให้สินเชื่อ การออกแบบวิธีชำระเงินคืน และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น

แต่มายาคติบางอย่างที่ว่า (อย่างเช่น เราจำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อสร้างหลักประกันให้กับการจ่ายเงินกู้คืน) กลับกลายเป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับกันทั่วไป เป็นเหตุให้มนุษย์สร้างสถาบันและกำหนดนโยบายที่ตั้งอยู่บนมายาคติเหล่านี้ เป็นเหตุปิดกั้นไม่ให้คนจำนวนมากในสังคมเข้าถึงสินเชื่อ ในขณะเดียวกันก็ทำให้กลุ่มคนบางส่วนในสังคมได้รับอภิสิทธิเป็นพิเศษ

ในระหว่างการสนทนาที่สำนักงานภูมิภาคจิตตะก่องของธนาคารชนะตะ คุณฮาวละดาร์บอกว่า "รัฐบาลย่อมมีหน้าที่ช่วยเหลือคนจน เอาล่ะ ถ้าคุณสามารถหาคนรวยในหมู่บ้านนั้นสักคนหนึ่งที่พร้อมจะทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันได้ ผมคิดว่าธนาคารอาจพิจารณาให้สินเชื่อกับคนเหล่านั้นโดยไม่เรียกร้องหลักทรัพย์ค้ำประกัน" เป็นสิ่งที่น่าคิด ข้อเสนอนี้ดูเหมือนจะมีประโยชน์อย่างชัดเจน แต่จุดอ่อนที่มีอยู่ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่อาจยอมรับได้

"ผมทำแบบนั้นไม่ได้" ผมอธิบาย "จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ค้ำประกันเอาเปรียบคนที่เขาเป็นนายประกันให้ล่ะ? ที่สุดแล้วเขาอาจทำตัวเป็นทรราช เขาอาจปฏิบัติกับคนกู้ยืมราวกับเป็นทาสก็ได้" ความเงียบปกคลุมระหว่างเราทั้งสอง เป็นที่ชัดเจนจากการพูดคุยกับนายธนาคารหลายคนในช่วงที่ผ่านมาว่า ความคิดของผมไม่เพียงขัดแย้งกับธนาคารชนะตะเท่านั้น แต่ยังท้าทายระบบธนาคารทั้งหมดอีกด้วย

ผมจะเป็นคนค้ำประกันเอง

"แล้วผมจะเป็นคนค้ำประกันเองได้หรือเปล่าครับ?" ผมถาม
"ตัวอาจารย์เองหรือ?"
"ครับ คุณจะยอมให้ผมเป็นคนค้ำประกันเงินกู้ไหมล่ะ?"
ผู้จัดการยิ้ม "คุณคิดว่าจะมีการยืมเงินสักเท่าไร?"
ผมตอบโดยเผื่อ ๆ ตัวเลขไว้เล็กน้อย "อาจจะประมาณ 10,000 ตากา (300 เหรียญ) ไม่มากกว่านั้นหรอกครับ"
"ถ้าอย่างนั้น" เขาเคาะนิ้วกับกระดาษบนโต๊ะและก้มหน้าคิด ผมสามารถมองเห็นกองกระดาษหลายปึกที่เต็มไปด้วยฝุ่นวางสุมกันในแฟ้มเก่า ๆ แฟ้มเอกสารทำขึ้นจากกระดาษสีฟ้าจาง ๆ วางสุมกันไปจนถึงหน้าต่างด้านหลังของเขา พัดลมเพดานทำให้เอกสารบางส่วนที่ไม่มีของทับเอาไว้ปลิวสับสนวุ่นวาย เอกสารที่อยู่บนโต๊ะของผู้จัดการก็ดูสับสนวุ่นวาย แต่มีการยึดไว้กับตำแหน่งอย่างมั่นคงเพื่อรอการตัดสินใจของเขา. "ผมคิดว่าถ้าเป็นตามจำนวนเงินที่คุณบอก เราน่าจะยอมให้คุณเป็นผู้ค้ำประกันได้ แต่อย่าขอเงินมากกว่านี้นะ"

"ตกลงครับ" เราจับมือกัน จากนั้นผมกล่าวเสริมว่า "แต่ถ้าผู้กู้รายใดรายหนึ่งไม่ชำระเงินคืน ผมก็จะไม่เข้ามาชำระคืนแทนนะ" ผู้จัดการมองผมอย่างไม่สบายใจ ท่าทางไม่แน่ใจว่าเหตุใดผมจึงสร้างปัญหายุ่งยากให้กับเขาอีก "แต่ถ้าคุณเป็นผู้ค้ำประกัน เราย่อมสามารถบังคับให้คุณจ่ายได้"
"คุณจะทำอย่างไรล่ะ"
"เราสามารถใช้กฎหมายบังคับคุณได้"
"ก็ได้ เชิญทำได้เลย"
เขาจ้องมองผมราวกับผมเป็นคนวิกลจริต แต่นั่นเป็นสิ่งที่ผมต้องการ ผมต้องการทำให้ระบบที่ไม่ยุติธรรมและบ้า ๆ บอ ๆ แบบนี้สั่นสะเทือน ผมต้องการเป็นแท่งไม้ซึ่งแหย่เข้าไปในวงล้อเพื่อหยุดยั้งเครื่องกลอันร้ายกาจ ผมยอมเป็นผู้ค้ำประกัน แต่ผมจะไม่รับประกัน

"อาจารย์ยูนุส คุณย่อมรู้ดีว่าเราจะไม่ฟ้องร้องหัวหน้าภาควิชาซึ่งยอมเอาตัวเองเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของพวกขอทาน เฉพาะความเสียหายต่อชื่อเสียงของธนาคารก็อาจจะไม่คุ้มกับเงินที่จะได้คืนจากคุณแล้ว อย่างไรก็ตาม เงินกู้ที่ว่าก็ช่างน้อยเหลือเกินจนแทบจะไม่คุ้มกับค่าทนาย และยิ่งไม่คุ้มเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เราต้องใช้เพื่อให้ได้รับเงินคืนมา"
"นั่นเป็นหน้าที่ของธนาคาร คุณมีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุนกำไรของคุณเอง แต่ผมจะไม่ชำระคืนถ้ามีกรณีเบี้ยวหนี้"
"อาจารย์ยูนุส คุณกำลังทำให้ผมลำบากใจ"
"ผมเสียใจ แต่ธนาคารก็ทำให้เกิดปัญหากับคนจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะคนยากไร้ที่ไม่มีอะไรเลย"
"ผมจะพยายามช่วยนะครับ อาจารย์"
"ผมเข้าใจ ผมไม่ได้ตำหนิคุณหรอก ผมกำลังตำหนิกฎเกณฑ์ของกิจการธนาคารต่างหาก"
หลังจากตอบโต้กันไปสักพัก คุณฮาวละดาร์สรุปว่า "ผมจะเสนอเรื่องนี้ไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงธากาและรอดูว่าพวกเขาจะมีความเห็นอย่างไร"
"แต่เท่าที่ผมเข้าใจ ในฐานะผู้จัดการส่วนภูมิภาค คุณมีอำนาจที่จะอนุมัติเรื่องนี้มิใช่หรือ?"
"ครับ แต่ข้อเสนอนี้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่และผมไม่สามารถอนุมัติได้ ผู้ที่อนุมัติจะต้องมาจากสำนักงานใหญ่ครับ"

ผมใช้เวลาติดต่อทางเอกสารกลับไปกลับมาหกเดือนกว่าจะมีการให้กู้ยืมอย่างเป็นทางการ สุดท้ายในเดือนธันวาคม 2519 ผมสามารถทำให้ธนาคารชนะตะปล่อยกู้ให้กับคนยากจนที่หมู่บ้านจอบราจนสำเร็จ

ในช่วงปี 2520 ทั้งปี ผมต้องทำหน้าที่ลงนามในใบขอเงินกู้ทุกใบ แม้แต่ช่วงที่ผมต้องเดินทางไปยุโรปหรืออเมริกา ผู้ช่วยของผมก็ต้องส่งเอกสารเหล่านี้ไปให้ผมลงนาม ธนาคารไม่ติดต่อโดยตรงกับผู้กู้ ผมเป็นผู้ค้ำประกัน และสำหรับธนาคารแล้ว คนที่พวกเขาเชื่อใจมีอยู่คนเดียวก็คือตัวผม พวกเขาไม่ต้องการทำธุระกับคนจนซึ่งใช้เงินของพวกเขา อันที่จริงแล้ว พวกเขาคงไม่อยากติดต่อกับคนจนเอาเสียเลย และในขณะเดียวกันผมพยายามช่วยให้ผู้กู้ที่แท้จริง ซึ่งผมอยากจะเรียกว่าเป็นจัณฑาลในระบบธนาคาร ช่วยให้พวกเขาไม่ต้องเสียศักดิ์ศรีและได้รับการปฏิบัติอย่างอับอายจากการไปธนาคาร

หลักการพื้นฐานระบบธนาคาร "ยิ่งคุณมีมากเท่าไร คุณจะได้รับมาก"
ผมอยู่ในช่วงที่เริ่มสำนึกถึงหลักการพื้นฐานของระบบธนาคารในโลก นั่นคือ "ยิ่งคุณมีมากเท่าไร คุณจะได้รับมากเท่านั้น" หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง "ถ้าคุณไม่มีอะไรเลย คุณก็จะไม่ได้เงินกู้" เป็นสิ่งที่ไม่ชาญฉลาดเลยที่ธนาคารกำหนดให้มีชนชั้นของบุคคล "ซึ่งไม่คู่ควรกับสินเชื่อ" หมายถึงว่า "เราไม่สามารถแตะต้องคุณได้" เหตุใดนายธนาคารจึงยืนยันว่าต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันล่ะ? เหตุใดสิ่งนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพวกเขา? เหตุใดผู้ออกแบบระบบธนาคารจึงสร้างให้เกิดกำแพงแบ่งแยกด้านการเงินเช่นนี้? ผมเชื่อว่าแนวคิดและหลักการเหล่านี้คงได้รับการถ่ายทอดมาหลายชั่วรุ่นคนโดยไม่มีการตรวจสอบ

พวกเราที่ธนาคารกรามีน จงใจตั้งคำถามกับหลักการพื้นฐานของธนาคารในเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในตอนแรกที่ทำเช่นนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันถูกต้องหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาอย่างไร มันเหมือนกับผมเดินโดยหลับตา และเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง งานของพวกเราจึงเป็นความพยายามที่แสดงให้เห็นว่า จัณฑาลหรือคนที่แตะต้องไม่ได้ในระบบการเงินนั้น อันที่จริงเป็นคนที่น่าแตะต้องสัมผัส หรือถึงกับน่ากอดรัดด้วยซ้ำ

คนจน พ่อค้าเงินกู้ ธนาคาร และตลาดเสรี
ด้วยความประหลาดใจและมหัศจรรย์ใจ ผมพบว่าคนที่ยืมเงินโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมีอัตราการจ่ายชำระเงินคืนดีกว่าคนที่กู้ยืมเงินโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันมากมายด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้ว เราได้รับเงินชำระคืนมากกว่า 98% เพราะคนจนรู้ดีว่า สินเชื่อของเราเป็นโอกาสเพียงหนึ่งเดียวที่จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความจน และพวกเขาไม่มีโอกาสจะถอยไปไหนอีกแล้ว ถ้าพวกเขาทำผิดสัญญากับเราสักครั้งหนึ่ง พวกเขาจะอยู่รอดได้อย่างไร ?

ในอีกด้านหนึ่ง คนที่ร่ำรวยก็ไม่สนใจต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพราะพวกเขารู้วิธีใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเอง ในขณะที่คนซึ่งอยู่ส่วนล่างของสังคมกลัวไปเสียทุกอย่าง พวกเขาจึงพยายามปฏิบัติตามหน้าที่เป็นอย่างดี เพราะรู้สึกว่าต้องทำเช่นนั้น พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น. ความจนไม่ใช่เรื่องของตัวเลขมากมายที่ทับถมใส่เรา. ความจนไม่ใช่ค่ายกักกันของนาซี ซึ่งเป็นสถานที่กักตัวมนุษย์ไว้เพื่อรอให้ตายไปเอง. ความจนเป็นเหมือนกำแพงสูงที่รายล้อมตัวเรา และธนาคารกรามีนไม่ควรทำหน้าที่หยิบยื่นความช่วยเหลือเข้าไปให้คนที่ถูกกำแพงล้อมรอบ เพียงเพื่อช่วยให้เขามีความสุขกับชีวิตไปอีกวันหรือสองวัน ธนาคารกรามีนและโครงการที่ต่อยอดไปทั่วโลก ช่วยให้คนเกิดกำลังใจและสามารถทำลายกำแพงรอบตัวพวกเขา และปลดปล่อยตนเองออกมา

ความจนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนจำนวนมาก ซึ่งยอมจำนนและอาศัยอยู่ในกำแพงนั้น. ความจนเป็นโรคซึ่งทำให้ร่างกายและความคิดของเราเป็นอัมพาต. การทำลายระบบกู้ยืมแบบพ่อค้าเงินกู้จะต้องเกิดขึ้นจากการส่งเสริมให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ ทั้งสองระบบต่างอยู่ในธุรกิจสินเชื่อ และเราควรปล่อยให้มีการแข่งขันกันภายใต้ระบบตลาดเสรี. แต่เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีสถาบันการเงินใดตอบสนองความต้องการของคนจน ตลาดสินเชื่อจึงถูกครอบงำโดยพ่อค้าเงินกู้ และกลายเป็นธุรกิจที่งอกงามสำหรับพวกเขา และธุรกิจเช่นนี้เป็นเหมือนรถด่วนที่วิ่งในทิศทางเดียวไปสู่ความยากจนมากยิ่งขึ้น. เราสามารถชะลอการเร่งรุดสู่ความยากจนเช่นนี้ และการจราจรไม่ควรมีแค่ทิศทางเดียว การจราจรแบบสองทางจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ๆ ทำหน้าที่ให้สมกับบทบาทที่ควรจะทำ

ชีวิตของอัมมาจัน อะมีนา
เส้นทางชีวิตของอัมมาจัน อะมีนา หนึ่งในผู้กู้รายแรก ๆ ของเราสะท้อนให้เป็นประโยชน์ของโครงการสินเชื่อรายย่อยต่อขอทาน. ในบรรดาลูกหกคนของอัมมาจัน สี่คนเสียชีวิตเพราะความหิวโหยหรือโรคภัย มีเพียงลูกสาวสองคนที่รอด สามีซึ่งแก่กว่าเธอมากก็เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการขายทรัพย์สินของครอบครัวไปเกือบหมดเพื่อหาวิธีรักษา. หลังจากสามีเสียชีวิต สิ่งที่อะมีนาเหลืออยู่ได้แก่บ้าน ตอนนั้นเธอมีอายุประมาณ 40 ปี ซึ่งตามมาตรฐานของบังคลาเทศก็ถือว่าเป็นสาวแก่ และที่ตรงข้ามกับมาตรฐานของโลก ผู้หญิงบังคลาเทศมีอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชาย (58.1 ต่อ 58.4 ปี) เธอไม่รู้หนังสือและไม่เคยประกอบอาชีพหารายได้มาก่อน พี่น้องของสามีพยายามไล่เธอและลูก ๆ ออกจากบ้าน ซึ่งเธออาศัยอยู่มา 25 ปี แต่เธอไม่ยอมไป

เธอพยายามทำเค้กและขนมเที่ยวเดินเร่ขาย วันหนึ่งเธอกลับมาบ้านและพบว่าพี่เขยขายหลังคาสังกะสีไปแล้ว และคนซื้อกำลังง่วนอยู่กับการขนย้ายหลังคา. ตอนนั้นฤดูฝนกำลังเริ่มขึ้น เธอรู้สึกหนาว หิวโหย และยากจนกว่าที่จะประกอบอาหารเพื่อไปขายอีกได้ สิ่งที่เหลืออยู่เธอนำมาเป็นอาหารให้กับลูก ๆ ของเธอ. เหตุที่อัมมาจัน อะมีนาเป็นคนมีศักดิ์ศรี เธอจึงขอทานเฉพาะในหมู่บ้านใกล้เคียง เหตุที่บ้านของเธอไม่มีหลังคา ฤดูมรสุมจึงทำลายกำแพงบ้านที่เป็นดินลงเสีย วันหนึ่งเธอกลับมาบ้านและพบว่าบ้านพังทลายลง เธอเริ่มตะโกนร้อง "ลูกสาวฉันอยู่ไหน? ลูก ๆ ของฉันอยู่ไหนกัน?" เธอพบว่าลูกคนโตเสียชีวิตอยู่ใต้ซากปรักหักพังของบ้าน

ตอนที่นุชหันเพื่อนร่วมงานของผมพบเธอในปี 2519 อัมมาจัน อะมีนาอุ้มลูกที่เหลือรอดชีวิตคนเดียวในวงแขน เธอทั้งหิวโหย ใจสลาย และจนตรอก แน่นอนว่าผู้ให้กู้ก็ดี ธนาคารก็ดี คงไม่มีใครอยากให้สินเชื่อกับเธอ แต่ธนาคารกรามีนปล่อยเงินกู้ให้เธอ และช่วยให้เธอเริ่มทำตะกร้าไม้ไผ่ และเธอเป็นลูกค้าของเราจนกระทั่งวันที่สิ้นลม ในปัจจุบันลูกสาวของเธอก็เป็นสมาชิกของธนาคารกรามีนเช่นกัน เรามีเรื่องราวของชีวิตแบบนี้อีกกว่าสองล้านชีวิต แต่ละคนเป็นสมาชิกของเรา

เหตุใดจึงควรปล่อยกู้ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย?
โดยทั่วไปธนาคารในบังคลาเทศมักลำเอียงทางเพศ พวกเขาไม่ต้องการปล่อยสินเชื่อให้ผู้หญิง. พอผมพูดเช่นนี้ เพื่อนที่เป็นนายธนาคารด้วยกันก็รู้สึกเคืองใจ พวกเขาตะโกนใส่ผมว่า "คุณไม่เห็นหรือ เรามีสาขาธนาคารเฉพาะผู้หญิงอยู่ทั่วทุกเมืองเลยนะ? เป็นสาขาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการกับผู้หญิงโดยเฉพาะเลยล่ะ" ผมตอบว่า "ครับ ผมทราบว่ามี และผมรู้ถึงแนวคิดเบื้องหลังด้วย ธนาคารเหล่านี้มีขึ้นเพื่อรับฝากเงิน นั่นเป็นเหตุให้คุณตั้งธนาคารสาขาสำหรับผู้หญิง แล้วถ้าผู้หญิงเหล่านั้นต้องการยืมเงินจากคุณล่ะ?"

ผู้หญิงในบังคลาเทศ แม้แต่ผู้หญิงรวย หากต้องการยืมเงินจากธนาคาร ผู้จัดการจะถามเธอว่า "คุณได้ปรึกษากับสามีของคุณก่อนหรือเปล่า?" และถ้าเธอบอกว่า "ค่ะ" ผู้จัดการก็จะบอกว่า "แล้วเขาเห็นด้วยกับการขอเงินกู้นี้ไหม?" ถ้าคำตอบยังเป็นเช่นเดิมว่า "ค่ะ" ผู้จัดการก็จะบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นช่วยกรุณามาพร้อมกับสามีเพื่อที่เราจะได้พูดคุยเรื่องนี้กับเขาดีไหม?"ในทางตรงข้าม ไม่มีผู้จัดการคนไหนคิดจะถามผู้กู้ยืมที่เป็นชายเลยว่า เขาได้พูดคุยเรื่องนี้กับภรรยาก่อนหรือเปล่า และไม่มีผู้จัดการคนไหนขอให้ผู้ชายนำภรรยามาด้วยระหว่างการเจรจาสัญญาเงินกู้ แค่เสนอเรื่องนี้ก็คงทำให้ผู้ชายรู้สึกเคืองใจแล้วล่ะ!

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลย ก่อนที่จะมีธนาคารกรามีน ในบรรดาผู้กู้ทั้งหลายในบังคลาเทศคิดเป็นผู้หญิงเพียงไม่เกิน 1% ผมเห็นว่าสิ่งนี้สะท้อนความลำเอียงทางเพศของระบบธนาคารอย่างชัดเจน. จากการวิจารณ์การเลือกปฏิบัติของธนาคารต่อผู้หญิงมาเป็นเวลานาน ผมจึงต้องการให้ครึ่งหนึ่งของผู้กู้จากโครงการช่วงทดลองของเราเป็นผู้หญิง เมื่อเราได้ผู้กู้เป็นผู้หญิงจำนวนพอสมควรแล้ว เราเริ่มเห็นผลลัพธ์ที่สำคัญ

ผู้หญิงประสบปัญหาความยากจนและความหิวโหยเข้มข้นกว่าผู้ชาย
เราพบเหตุผลใหม่ที่สนับสนุนการให้ความสำคัญต่อผู้กู้ที่เป็นหญิง ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความลำเอียงทางเพศอีกต่อไปแล้ว เราพบเหตุผลใหม่ที่สนับสนุนการให้สินเชื่อกับผู้หญิง. ยิ่งผมมีส่วนร่วมมากเท่าไร ผมยิ่งตระหนักยิ่งขึ้นว่าสินเชื่อที่ให้กับผู้หญิงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าสินเชื่อที่ให้กับผู้ชาย
โดยทั่วไปแล้ว ความยากจนและความหิวโหยเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมักประสบกับปัญหาความยากจนและความหิวโหยเข้มข้นกว่าผู้ชาย ถ้ามีใครบางคนในครอบครัวต้องยอมเสียสละอดอาหาร กฎเกณฑ์โดยทั่วไปมักระบุว่าต้องเป็นแม่ ทำให้แม่ต้องเกิดความยากลำบากเนื่องจากไม่สามารถให้นมลูกได้ในช่วงที่เกิดความอดอยากขาดแคลน

การเกิดเป็นคนจนในบังคลาเทศเป็นความทุกข์ แต่ยิ่งเป็นคนจนและเป็นผู้หญิงด้วยนับเป็นปัญหารุนแรงสุด ผู้หญิงซึ่งมีโอกาสไม่มากนักต้องพยายามยิ่งกว่าผู้ชายเพื่อจะเอาตัวรอดจากความยากจน. ผู้หญิงยากจนในสังคมเราไม่มีความมั่นคงเอาเสียเลย เมื่ออยู่ในบ้านสามีเธอก็ไม่มีความมั่นคง เพราะเขาสามารถโยนหล่อนออกมาเมื่อใดก็ได้ที่ต้องการ เขาสามารถหย่ากับเธอโดยการปฏิญาณสามครั้งว่า "กระผมต้องการหย่า กระผมต้องการหย่า กระผมต้องการหย่า" เธอไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ และโดยทั่วไปไม่มีโอกาสได้ทำงานหาเงินนอกบ้าน แม้ต้องการจะไปก็ตาม เมื่ออยู่บ้านของสามีแล้วไม่มีความมั่นคงฉันใด เมื่ออยู่ในบ้านพ่อแม่ตนเองเธอก็ไม่มีความมั่นคงฉันนั้น ญาติ ๆ ของเธอเฝ้ารอจะให้เธอออกจากบ้านเพราะจะทำให้มีคนที่พวกเขาต้องเลี้ยงดูน้อยลงหนึ่งปาก

ถ้าเธอหย่าและต้องกลับมาที่บ้านพ่อแม่ เธอจะกลายเป็นสิ่งที่สร้างความอับอายและไม่เป็นที่ต้องการ ดังนั้นถ้าผู้หญิงยากจนในสังคมของเรามีโอกาสเสียแล้ว พวกเธอย่อมต้องการสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง อย่างความมั่นคงด้านการเงิน. จากประสบการณ์ของเรา มีหลักฐานชี้ชัดว่าผู้หญิงยากไร้ปรับตัวเองได้เร็วกว่าและดีกว่า จนสามารถพึ่งตนเองได้มากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงยากจนมองไปถึงอนาคตข้างหน้า พวกเธอพร้อมจะทำงานหนักขึ้นเพื่อหลุดพ้นจากความจน ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงสุดสำหรับพวกเธอ

ผู้ชายไม่เห็นว่าครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ
ผู้หญิงใส่ใจและเตรียมการให้ลูก ๆ มีชีวิตดีขึ้น และทำหน้าที่เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอยิ่งกว่าผู้ชาย
การให้เงินกับครอบครัวโดยผ่านผู้หญิง ก่อให้เกิดประโยชน์กับครอบครัวมากกว่าเงินที่ให้ผ่านผู้ชาย. ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ชายเองก็มีการจัดอันดับความสำคัญแตกต่างไป พวกเขาไม่เห็นว่าครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญสุด เมื่อพ่อผู้ยากไร้เริ่มหารายได้ได้มากขึ้น เขาจะนำเงินมาปรนเปรอตนเอง แล้วเหตุใดธนาคารกรามีนจึงควรให้เงินผ่านผู้ชายล่ะ?

เมื่อแม่ผู้ยากไร้เริ่มมีรายได้ ความฝันของเธออยู่ที่ตัวลูกของเธอนั่นเอง รองจากลูกก็คือครอบครัว แม่จะนำเงินมาใช้ซื้อข้าวของเครื่องใช้ ทำให้หลังคาแข็งแรงขึ้น ทำให้ความเป็นอยู่ในครอบครัวดีขึ้น ผู้กู้ของเรารายหนึ่งตื่นเต้นมาก เธอคว้าแขนผู้สื่อข่าวเพื่อพาไปดูเตียงเดี่ยวซึ่งเธอซื้อมาสำหรับตัวเธอเองและครอบครัว. ถ้าเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจคือการทำให้มาตรฐานชีวิตดีขึ้น กำจัดความยากจน การเข้าถึงการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี และการลดความไม่เท่าเทียม เราควรเริ่มต้นจากการทำงานกับผู้หญิง พวกเธอเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดในบรรดาคนยากจน คนไร้งานทำ และคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบทางสังคมและเศรษฐกิจ และเนื่องจากผู้หญิงอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก พวกเธอจึงมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของบังคลาเทศ

ปัญหาการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้หญิง
งานศึกษาของธนาคารกรามีน เพื่อเปรียบเทียบการใช้เงินกู้ของผู้ชายและผู้หญิง ยืนยันผลการวิเคราะห์ข้อนี้เสมอ. อย่างช้า ๆ เราเริ่มเน้นปล่อยสินเชื่อให้ผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แรงต่อต้านในเบื้องต้นและสำคัญสุดมาจากสามี จากนั้นก็เป็นพวกมูเลาะห์ (ผู้สอนศาสนา) จากนั้นก็เป็นพวกประกอบอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โดยทั่วไปสามีต้องการให้ปล่อยกู้กับพวกเขา (ผมมักได้ยินจากปากของผู้กู้ว่า สิ่งที่เป็นหายนะใหญ่หลวงสุดของพวกเขาไม่ใช่ภัยธรรมชาติ ไม่ใช่ไต้ฝุ่นหรือทุพภิกขภัย แต่เป็นผู้ชายที่มาขโมยเงินของพวกเขาและใช้เงินทุนเหล่านั้นอย่างสูญเปล่า) พวกมูเลาะห์และพ่อค้าเงินกู้มองว่าธนาคารกรามีนเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่ออิทธิพลของพวกเขาในหมู่บ้าน. ผมคิดอยู่แล้วว่าต้องมีแรงต่อต้านเช่นนี้ แต่ที่ทำให้ผมประหลาดใจกลับเป็นข้าราชการและผู้ทำงานอาชีพต่าง ๆ ซึ่งได้รับการศึกษาและต่างไม่เห็นด้วยกับเรา พวกเขาบอกว่า "ไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะปล่อยกู้กับผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายจำนวนมากไม่มีงานทำและไม่มีรายได้" ส่วนคนอื่นบอกว่า "ทำไมถึงให้เงินกับผู้หญิงล่ะ พวกเธอก็จะเอาเงินที่ได้ไปให้กับสามีอยู่ดี สิ่งที่คุณทำจะยิ่งทำให้ผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้นเสียอีก"

แต่ประสบการณ์ของเรากลับเป็นตรงข้าม การให้โอกาสผู้หญิงเป็นผู้ควบคุมกระเป๋าเงิน เป็นก้าวย่างแรกที่ให้สิทธิกับพวกเธอในฐานะมนุษย์ภายในหน่วยสังคมระดับครอบครัว เจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทดลองของเรา อันที่จริง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากธนาคารชาติซึ่งพบว่าเราให้เงินกู้กับผู้หญิงมากกว่า เขียนจดหมายในเชิงข่มขู่มาที่ผมว่า "โปรดอธิบายอย่างชัดเจนและโดยทันทีว่า เหตุใดสัดส่วนผู้ยืมเงินของคุณจึงเป็นผู้หญิงจำนวนมาก"

น้ำเสียงในจดหมายมีลักษณะหยาบคาย เหมือนกับเป็นคำเตือนต่อพวกเรา ผมเขียนตอบกลับไปว่า "ผมยินดีที่จะอธิบายเหตุผลว่า เหตุใดจึงมีผู้หญิงที่เป็นลูกค้าของธนาคารกรามีนจำนวนมาก แต่ก่อนที่ผมจะอธิบายผมอยากทราบว่า ทางธนาคารชาติเคยส่งจดหมายไปธนาคารอื่นเพื่อขอให้พวกเขาอธิบายว่า เหตุใดผู้กู้ของเขาส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ชายหรือเปล่า" ผมไม่เคยได้รับจดหมายตอบอีกเลย และพวกเขาก็ไม่มากดดันให้ผมตอบคำถามของพวกเขาอีก

การไม่ยอมรับว่าผู้หญิงเป็นพลังทางเศรษฐกิจ การทำความเข้าใจกับผู้ชาย
จากที่ผมเดินทางไปทั่วโลก ผมเชื่อว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบังคลาเทศ ในการวางแผนพัฒนาทั่วไป พวกเรามักไม่ยอมรับว่าผู้หญิงก็เป็นพลังทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหตุผลเช่นกัน. ในประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น บังคลาเทศ จารีตแบบปุระดะห์ ปิดกั้นทำให้ผู้หญิงต้องอยู่แต่ในบ้าน ผู้ชายจึงมองว่าผู้หญิงมีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อยมาก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากสินสอดที่ครอบครัวต้องจัดหามาเพื่อแต่งลูกสาวออกไป การมีลูกสาวโสดอยู่ในบ้านจึงกลายเป็นภาระสำคัญ

การปล่อยสินเชื่อให้ผู้หญิง ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันโดยทั่วไปในบังคลาเทศ หลายคนบอกว่าเป็นเหมือนการปฏิวัติด้านสังคมอย่างหนึ่ง การที่ผู้หญิงยากจนมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในขณะที่ผู้ชายไม่มีโอกาสเช่นนั้น ย่อมทำให้เกิดปัญหาสังคมที่ไม่คาดคิดหลายประการ เราคิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น และพยายามหาหนทางที่แตกต่างกันหลายประการเพื่อแก้ไข ในตอนแรกเราทำสิ่งผิดพลาด เนื่องจากเราไม่มีมาตรการป้องกันพอเพียง โครงการสินเชื่อของเราทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างสามีกับภรรยา แต่เราค่อย ๆ เรียนรู้ เราพยายามเตรียมพร้อมเพื่อไม่ให้ผู้กู้ "เอาความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยามาแลกกับเงิน หรือต้องเอาเงินไปแลกกับความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา"

เป็นสิ่งที่เราต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เราเตรียมความพร้อมและความช่วยเหลือให้กับผู้กู้หลายอย่าง กว่าที่พวกเธอจะเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตได้ เราพยายามหาทางออกจากโครงสร้างองค์กรที่เป็นอยู่ แทนที่จะหาทางออกภายนอกธนาคาร กลุ่มสมาชิกผู้กู้มีบทบาทสำคัญ พวกเขาพยายามหาหนทางร่วมกันและส่งเสริมให้เกิดยุทธศาสตร์ระดับบุคคล เราหาวิธีแก้ปัญหากับสามีโดยการเชิญให้พวกเขาเข้าร่วมประชุมกับธนาคาร ถ้าอยู่ในครอบครัว พวกเขาอาจทำตัวร้าย ๆ กับภรรยา แต่เมื่อธนาคารเชิญให้พวกเขามาประชุมเป็นกลุ่มใหญ่ สามีเหล่านี้กลับแสดงท่าทีเข้าอกเข้าใจและมีเหตุผลมากขึ้น เราอธิบายให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเราทำ ซึ่งช่วยคลี่คลายความเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับกฎและขั้นตอนของธนาคาร และที่สำคัญ สามีเหล่านี้ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกละเลย. ธนาคารกรามีนก้าวข้ามผ่านจุดนั้นมาเป็นเวลานาน ในปัจจุบันเราปล่อยเงินกู้ให้กับสามีด้วย ไม่ใช่เฉพาะภรรยา แต่ผู้กู้ยืมเงินหลักของเรายังคงเป็นภรรยา

ปัญหายุ่งยากสุดเนื่องจากความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาเกิดขึ้นเมื่อผู้กู้ต้องการเงินกู้เพื่อสร้างบ้าน เพื่อให้มีคุณสมบัติในการรับเงินกู้ด้านอาคารสงเคราะห์ ผู้กู้จะต้องพิสูจน์ว่าตนเองสามารถชำระคืนเงินกู้หนึ่งปีเพื่อทำการค้าของตนเองได้สามครั้งติดต่อกัน นอกจากนั้น สามีจะต้องยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินสำหรับสร้างบ้านให้กับเธอ ในหลายกรณี สามีเห็นว่าเป็นการร้องขอมากเกินไป แต่นั่นเป็นกฎของธนาคารและเราต้องปฏิบัติตามนั้น เราปล่อยเงินกู้เพื่อสร้างบ้านไปมากกว่าสี่แสนครั้ง ในทุกครั้งสามียอมลงนามโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินสำหรับสร้างบ้านให้กับภรรยา

นอกจากโครงสร้างระดับสถาบันที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาที่ดีขึ้นแล้ว ระบบการปล่อยกู้แบบกลุ่มยังมีอิทธิพลในทางอ้อมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ บางครั้งการทำงานเป็นกลุ่มเช่นนี้ทำหน้าที่เหมือนกับการให้คำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการต่อชีวิตแต่งงาน. ผมสังเกตพบเรื่องนี้ในช่วงที่กำลังพยายามจัดตั้งระบบธนาคารกรามีนขึ้นที่ Tangail ในช่วงก่อนปี 2526 ตอนที่กำลังเดินจากถนนในหมู่บ้านเพื่อกลับมาที่สาขาธนาคาร หลังจากไปประชุมกับชาวบ้านแล้ว ผมได้พบกับชายหนุ่ม (อายุประมาณ 30 ปี) ซึ่งเดินอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน เขาทักทายผม ผมทักทายตอบ เราเดินเคียงข้างกันไป

"คุณทำงานกับธนาคารกรามีนใช่ไหมครับ?" เขาถาม
"ครับ" ผมตอบ "คุณรู้ได้อย่างไร?"
"ผมเห็นคุณไปประชุมในหมู่บ้าน ภรรยาของผมก็อยู่ในกลุ่มด้วย"

ทันใดนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับเขาเปลี่ยนไป ผมเริ่มสนใจในตัวเขา เขาบอกผมว่าเขาชื่อชอยนัล เขาเป็นแรงงานภาคเกษตร ฟาริดา ภรรยาของเขาเข้าร่วมกับธนาคารกรามีนเมื่อแปดเดือนก่อน พวกเขามีลูกสาวอายุ 5 ขวบ

"ฟาริดาทำงานหนักเพื่อหาเงินมาผ่อนชำระหนี้คืนตามเวลาในแต่ละอาทิตย์ เธอไม่เคยขาดส่งเลยสักงวด"
"ก่อนที่เธอจะยืมเงินจากธนาคารกรามีน เธอต้องขออนุญาตจากคุณหรือเปล่า?"
"เธอมาขอในตอนแรก ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เธอทำถูกต้องหรือเปล่า แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านก็มากู้ยืมเงินด้วย เธอรบเร้าขอคำอนุญาตจากผม สุดท้ายผมก็ยอม"
"คุณดีใจที่เธอเข้าร่วมหรือเปล่า? ถ้ามองย้อนไป คุณคิดว่าเธอไม่ควรเข้าร่วมกับเราหรือเปล่า?"
"เปล่าเลยครับ ผมยินดีมากที่เธอเข้าร่วม เธอเคยบ่นว่าเราไม่มีอาหารพอกิน แต่ตอนนี้เธอเลิกบ่นแล้ว เรามีมากพอที่จะเลี้ยงพวกเราทั้งสามปาก"

ผมรู้สึกเหมือนนักศึกษาที่สอบได้คะแนนดีในการสอบไล่ ผมยินดีมากที่กิจการดำเนินไปด้วยดี ทั้งผมและชอยนัลเดินเคียงข้างกันไปอย่างเงียบ ๆ. ความเงียบอันยาวนานถูกทำลายลงเมื่อชอยนัลพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงในทางลบ "มีอยู่อย่างหนึ่งครับ แต่ก่อนผมชอบทุบตีภรรยา แต่คราวที่แล้วตอนที่ผมทุบตีเธอ ผมต้องเจอกับปัญหาใหญ่ ผู้หญิงซึ่งอยู่ในกลุ่มสมาชิกกู้ยืมร่วมกับฟาริดามาหาผม โต้เถียงและตะโกนใส่ผม ผมไม่ชอบอะไรแบบนั้นเลย พวกเขามีสิทธิอะไรที่มาตะโกนใส่ผม? ผมสามารถทำกับภรรยาอย่างไรก็ได้ ก่อนหน้านั้นผมก็เคยทุบตีภรรยา ไม่เห็นมีใครพูดหรือใส่ใจเลย แต่ผมไม่สามารถทำแบบนั้นได้อีกแล้ว กลุ่มผู้กู้ยืมขู่ผมว่า ถ้าผมยังทุบตีภรรยาอีก พวกเขาจะเล่นงานผม". ผมพยายามปลอบใจชอยนัล "ผมคิดว่าอาจถึงเวลาที่คุณต้องเลิกยุ่งกับภรรยา และเธอก็ทำงานหนักอยู่แล้ว เธอต้องการความสนับสนุนจากคุณ คุณลองหาวิธีการอย่างอื่นเพื่อระบายอารมณ์สิ"

งานศึกษาอย่างเป็นอิสระชี้ให้เห็นว่าหลังจากที่สมาชิกผู้หญิงเข้าร่วมกับโครงการธนาคารกรามีน โอกาสที่พวกเธอจะถูกทุบตีโดยสามีก็ลดลงอย่างมาก

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 5 April 2008 : Copyleft by MNU.
ความจนเป็นโรคซึ่งทำให้ร่างกายและความคิดของเราเป็นอัมพาต. การทำลายระบบกู้ยืมแบบพ่อค้าเงินกู้จะต้องเกิดขึ้นจากการส่งเสริมให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ ทั้งสองระบบต่างอยู่ในธุรกิจสินเชื่อ และเราควรปล่อยให้มีการแข่งขันกันภายใต้ระบบตลาดเสรี. แต่เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีสถาบันการเงินใดตอบสนองความต้องการของคนจน ตลาดสินเชื่อจึงถูกครอบงำโดยพ่อค้าเงินกู้ และกลายเป็นธุรกิจที่งอกงามสำหรับพวกเขา และธุรกิจเช่นนี้เป็นเหมือนรถด่วนที่วิ่งในทิศทางเดียวไปสู่ความยากจนมากยิ่งขึ้น. เราสามารถชะลอการเร่งรุดสู่ความยากจนเช่นนี้ และการจราจรไม่ควรมีแค่ทิศทางเดียว การจราจรแบบสองทางจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ๆ ทำหน้าที่ให้สมกับบทบาทที่ควรจะทำ (คัดมาบางส่วนจากบทความ)
H

ด้วยความประหลาดใจและมหัศจรรย์ใจ ผมพบว่าคนที่ยืมเงินโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมีอัตราการจ่ายชำระเงินคืนดีกว่าคนที่กู้ยืมเงินโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันมากมายด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้ว เราได้รับเงินชำระคืนมากกว่า 98% เพราะคนจนรู้ดีว่า สินเชื่อของเราเป็นโอกาสเพียงหนึ่งเดียวที่จะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความจน และพวกเขาไม่มีโอกาสจะถอยไปไหนอีกแล้ว ถ้าพวกเขาทำผิดสัญญากับเราสักครั้งหนึ่ง พวกเขาจะอยู่รอดได้อย่างไร ?

ในอีกด้านหนึ่ง คนที่ร่ำรวยก็ไม่สนใจต่อการบังคับใช้กฎหมาย เพราะพวกเขารู้วิธีใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนเอง ในขณะที่คนซึ่งอยู่ส่วนล่างของสังคมกลัวไปเสียทุกอย่าง พวกเขาจึงพยายามปฏิบัติตามหน้าที่เป็นอย่างดี เพราะรู้สึกว่าต้องทำเช่นนั้น พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น. ความจนไม่ใช่เรื่องของตัวเลขมากมายที่ทับถมใส่เรา. ความจนไม่ใช่ค่ายกักกันของนาซี ซึ่งเป็นสถานที่กักตัวมนุษย์ไว้เพื่อรอให้ตายไปเอง. ความจนเป็นเหมือนกำแพงสูงที่รายล้อมตัวเรา และธนาคารกรามีนไม่ควรทำหน้าที่หยิบยื่นความช่วยเหลือเข้าไปให้คนที่ถูกกำแพงล้อมรอบ เพียงเพื่อช่วยให้เขามีความสุขกับชีวิตไปอีกวันหรือสองวัน ธนาคารกรามีนและโครงการที่ต่อยอดไปทั่วโลก ช่วยให้คนเกิดกำลังใจและสามารถทำลายกำแพงรอบตัวพวกเขา และปลดปล่อยตนเองออกมา