ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้กับสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




04-04-2551 (1522)

เอกสารข่าว WTO Watch และแนะนำหนังสือเกี่ยวเนื่อง
ย้อนรอยหนึ่งทศวรรษ WTO และวิกฤตซีแอตเทิลถึงแคนคูน
โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสนับสนุนการเผยแพร่เอกสารข่าว WTO Watch

แนะนำหนังสือโครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
เป็นการอารัมภบทถึงหนังสือเกี่ยวเนื่องกับองค์การการค้าโลก ซึ่งเผยแพร่เป็นระยะ
สำหรับบนหน้าเว็บเพจนี้ จะกล่าวถึงหนังสือโครงการฯ ๕ เล่มดังต่อไปนี้
1. แนะนำหนังสือ: หนึ่งทศวรรษ WTO
2. แนะนำหนังสือ : Trade Policy Review of Thailand: The Thai Government Reports, 1995-2007
3. แนะนำหนังสือ : การจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ
4. แนะนำหนังสือ : จีนกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก WTO: รายงาน USTR ปี 2549
5. แนะนำหนังสือ : การเมืองว่าด้วยการเจรจาการค้าพหุภาคี: จากซีแอตเทิลถึงแคนคูน
6. แนะนำหนังสือ : National Trade Estimate of Thailand: The USTR Reports, 2001-2007
(หนังสือที่แนะนำทั้งหมด สามารถ download ได้ตาม url ที่ให้ไว้ตอนท้ายในแต่ละเรื่อง)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารข่าวและการแนะนำหนังสือดังกล่าวมีสาระประโยชน์แก่สาธารณชน
โดยทั่วไป จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสื่อกลางให้กับสังคมไทยและคนที่อ่านไทยทั่วโลก
ปัจจุบัน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
ที่กำลังศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงนักวิชาการและคนในวัยทำงานทั้งภาคธุรกิจและแรงงาน
สถิติการคลิกของเว็บไซต์แห่งนี้ล่าสุดประมาณ ๓.๕ - ๔.๕ ล้านคลิกต่อเดือน โดย IP ไม่ซ้ำกันเกือบ ๒ แสน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๒๒
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารข่าว WTO Watch และแนะนำหนังสือเกี่ยวเนื่อง
ย้อนรอยหนึ่งทศวรรษ WTO และวิกฤตซีแอตเทิลถึงแคนคูน
โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสนับสนุนการเผยแพร่เอกสารข่าว WTO Watch


บทความแนะนำหนังสือต่อไปนี้ประกอบด้วย

1. แนะนำหนังสือ: หนึ่งทศวรรษ WTO
2. แนะนำหนังสือ :
Trade Policy Review of Thailand: The Thai Government Reports, 1995-2007
3. แนะนำหนังสือ : การจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ
4. แนะนำหนังสือ : จีนกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก WTO: รายงาน USTR ปี 2549
5. แนะนำหนังสือ : การเมืองว่าด้วยการเจรจาการค้าพหุภาคี: จากซีแอตเทิลถึงแคนคูน

6. แนะนำหนังสือ : National Trade Estimate of Thailand: The USTR Reports, 2001-2007
7. แนะนำหนังสือ : การเจรจารอบโดฮาให้ประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาจริงหรือ?
8. แนะนำหนังสือ : สังคมเศรษฐกิจไทยใน USTR Special 301 Report


1. แนะนำหนังสือ: หนึ่งทศวรรษ WTO
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และ สมบูรณ์ ศิริประชัย : บรรณาธิการ

เอกสารวิชาการหมายเลข 18
โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
กุมภาพันธ์ 2551 / 446 หน้า

เอกสารวิชาการเรื่อง "หนึ่งทศวรรษ WTO" เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะประมวลข้อมูลและการวิเคราะห์การทำหน้าที่ขององค์การการค้าโลกในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษแรกขององค์กรโลกบาลแห่งนี้ เอกสารนี้ประกอบด้วยเนื้อหา 10 บท นอกเหนือจากคำนำที่เขียนถึงองค์การการค้าโลกในรอบทศวรรษแรกเพื่อให้เห็นภาพรวมแล้ว ยังมีบทความว่าด้วยกำเนิด WTO, สำนักเลขาธิการและผู้อำนวยการ WTO, การเข้าเป็นสมาชิก WTO, กลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO, การใช้ Anti-Dumping Duty, ทศวรรษแรกของ TRIPs, หนึ่งทศวรรษแรกของ GATS, การทำข้อตกลงภูมิภาคีและทวิภาคี และอนาคตของ WTO

องค์การการค้าโลกจุติเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 และมีอายุครบทศวรรษเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 หากพิจารณาแต่เพียงผิวเผินก็อาจคิดว่า องค์การการค้าโลกเป็นเพียงทารกที่ต้องการฟูมฟักเพื่อการเติบโตกล้าแข็ง แท้ที่จริงแล้ว องค์การการค้าโลกใช้เวลา 'ตั้งท้อง' ยาวนานถึง 47 ปี กว่าที่จะ 'คลอด' ได้

การจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มาแต่ "ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยศุลกากรและการค้า" (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) หาได้มาซึ่ง "องค์การการค้าระหว่างประเทศ" (International Trade Organization: ITO) พร้อมกันด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐสภาอเมริกันไม่ยอมพิจารณาให้สัตยาบันกฎบัตรฮาวานา (Havana Charter) ITO จึงตายทั้งกลม ในขณะที่ GATT มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2491 แม้ GATT จะมีสำนักเลขาธิการ (GATT Secretariat) ทำหน้าที่แม่บ้าน แต่ GATT มีฐานะเป็นเพียงข้อตกลงการค้าพหุภาคี หาได้มีฐานะเป็นองค์กรโลกบาลที่มีหน้าที่ดูแลการจัดระเบียบและการปฏิบัติตามระเบียบการค้าระหว่างประเทศไม่ นานาประเทศจึงโหยหาองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้

องค์การการค้าโลกเป็นผลผลิตของการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย (Uruguay Round) การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบดังกล่าว มิได้ 'คลอด' เฉพาะแต่องค์กรโลกบาลแห่งใหม่เท่านั้น หากยังให้กำเนิด GATT 1994 อันเป็นระเบียบการค้าระหว่างประเทศระเบียบใหม่ควบคู่กับ GATT 1947 ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม องค์การการค้าโลกมีหน้าที่ดูแลให้มวลสมาชิกปฏิบัติตามระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ทั้ง GATT 1947 และ GATT 1994

GATT 1994 ก่อให้เกิดระเบียบใหม่ 2 ระเบียบ และกลไกใหม่ 2 กลไก ระเบียบใหม่อันเป็นผลผลิตของการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย ได้แก่

- ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services: GATS) และ
- ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of
Intellectual Property Right: TRIPS)

ส่วนกลไกใหม่ที่ตกทอดแก่องค์การการค้าโลก ได้แก่

- กลไกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Dispute Settlement Mechanism) และ
- กลไกการประเมินนโยบายการค้า (Trade Policy Review Mechanism) ของมวลสมาชิก

การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย ยังผลให้ระเบียบการค้าระหว่างประเทศขยายออกไป และจะขยายมากยิ่งขึ้นไปอีกหากการเจรจารอบโดฮาบรรลุผล การขยายขอบเขตระเบียบการค้าระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่ออกนอกปริมณฑลของการค้าระหว่างประเทศในความหมายดั้งเดิม นอกจากจะก้าวล่วงไปจัดระเบียบว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะก้าวล่วงไปจัดระเบียบสิ่งแวดล้อม ระเบียบการลงทุนระหว่างประเทศ และอื่นๆ อีกด้วย. ข้อดีของพัฒนาการดังกล่าวนี้ ก็คือ ระบบการค้าโลกแปรเปลี่ยนไปเป็นระบบที่ยึดกฎกติกาที่ชัดเจนมากขึ้น (Rule-Based Trading System) แต่ข้อเสียก็คือ ภาคีองค์การการค้าโลกต้องสูญเสียอธิปไตยในการกำหนดนโยบายของตนเอง การสูญเสียปริมณฑลด้านนโยบาย (Policy Space) ดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดต้นทุนแก่มวลสมาชิก รวมทั้งประเทศที่ต้องการเป็นสมาชิกใหม่มากขึ้น ซึ่งยังผลให้ประโยชน์สุทธิที่ได้จากการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกลดน้อยถอยลง

ประเทศด้อยพัฒนามีข้อกังขาเพิ่มขึ้นตามลำดับว่า ระเบียบการค้าระหว่างประเทศภายใต้องค์การการค้าโลกเป็นระเบียบที่เป็นธรรมมากน้อยเพียงใด ความกังขาดังกล่าวนี้เกิดจากข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก ประเทศด้อยพัฒนาไม่มีศักยภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในการ 'เล่นเกม' ระนาบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ระบบการค้าโลกที่ยึดกฎกติกาเป็นที่ตั้ง ย่อมต้องการให้มวลสมาชิก 'เล่นเกม' ภายใต้กฎกติกาชุดเดียวกัน (Level Playing Field) โดยกล่าวอ้างว่า การ 'เล่นเกม' ภายใต้กฎกติกาชุดเดียวกันนับเป็นการ 'เล่นเกม' ที่เป็นธรรม. แต่ประเทศด้อยพัฒนาเริ่มตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ประเทศด้อยพัฒนาไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ และถึงขั้นอาจไม่สามารถพัฒนาได้ หาก 'เล่นเกม' ภายใต้กฎกติกาชุดเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิบัติต่อประเทศด้อยพัฒนาเป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment) จึงดังขรม

ประการที่สอง ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป มิได้ 'เล่นเกม' ตามกฎกติกาภายใต้องค์การการค้าโลกอย่างเคร่งครัด มีการเล่นแร่แปรธาตุกฎกติกาเหล่านั้น อาทิเช่น เมื่อมีข้อตกลงในการทลายกำแพงภาษี เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปโดยเสรี ประเทศมหาอำนาจกลับไปสร้างกำแพงกีดขวางการค้าระหว่างประเทศที่มิใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Barriers) ดังเช่น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures) การอ้างอิงความเสียหายอันเกิดจากการทุ่มตลาด (Dumping) และการใช้อากรต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty) ในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ในประการสำคัญ ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ภายใต้การเจรจารอบอุรุกวัยในการลดการอุดหนุนและปกป้องการผลิตสินค้าเกษตร มีการเสกสรรค์มาตรการกล่อง และเล่นแร่แปรธาตุกับมาตรการกล่อง (Box Shifting) เพื่ออำพรางการไม่ 'เล่นเกม' ตามกฎกติกาขององค์การการค้าโลกโดยเคร่งครัด กฎกติกาภายใต้องค์การการค้าโลกเป็นกฎกติกาที่เป็นธรรมหรือไม่ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันโดยหาข้อยุติมิได้ ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ แต่ประเทศด้อยพัฒนาดูเหมือนจะมีความเห็นร่วมกันว่า ระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันไม่เกื้อกูลกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศโลกที่สาม

กลไกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่สร้างขึ้นในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย ซึ่งตกเป็นมรดกขององค์การการค้าโลกในปัจจุบัน แม้จะมิอาจอวดอ้างได้ว่าเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ดีกว่ากลไกภายใต้ GATT 1947 และมีส่วนช่วยป้องกันการก่อเกิดสงครามการค้าระหว่างประเทศ ประเทศด้อยพัฒนาไม่เสียเปรียบประเทศพัฒนาแล้วมากนัก ในยามที่เกิดข้อพิพาททางการค้า เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็มีองค์การการค้าโลกเป็นที่พึ่ง กระนั้นก็ตาม ความเชื่องช้าในการวินิจฉัยข้อพิพาทก็ดี และอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในการคัดสรรคณะผู้วินิจฉัยข้อพิพาทก็ดี ยังเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไข

กลไกการประเมินนโยบายการค้าของมวลสมาชิก อันเป็นกลไกใหม่ที่มาพร้อมกับองค์การการค้าโลก มีประโยชน์ในการประเมินว่า เส้นทางการค้าระหว่างประเทศของสมาชิกแต่ละประเทศเบี่ยงเบนจากเส้นทางเสรีนิยมหรือไม่ หากมีการเบี่ยงเบน องค์การการค้าโลกมีหน้าที่ในการดำเนินการให้สมาชิกทั้งมวลยังคงเดินบนเส้นทางการค้าเสรีต่อไป

The Most-Favoured Nation Principle: MFN
เมื่อองค์การการค้าโลกมีอายุครบหนึ่งทศวรรษเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 องค์กรโลกบาลแห่งนี้มีสมาชิก 148 ประเทศ โดยที่เมื่อแรกก่อตั้งมีสมาชิกเพียง 76 ประเทศ อาณาจักรขององค์การการค้าโลกครอบคลุมปริมณฑลของสังคมเศรษฐกิจโลก ประเทศที่ยังอยู่นอกปริมณฑลขององค์การการค้าโลกยังต้องการที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์กรโลกบาลแห่งนี้ เพราะได้ประโยชน์จากหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (The Most-Favoured Nation Principle: MFN) ซึ่งเกื้อกูลการเข้าถึงตลาดของภาคีสมาชิกกว่าร้อยประเทศ กระนั้นก็ตามกระบวนการรับสมาชิกองค์การการค้าโลกกลับเชื่องช้าและกินเวลาอย่างเหลือเชื่อ โดยที่ในช่วงเวลาหลังนี้กว่าจะได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ ต้องใช้เวลาเจรจาเกินกว่าทศวรรษ

Spaghetti Bowl Effects
องค์การการค้าโลกมีขนาดใหญ่โตและอุ้ยอ้าย ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจต้องการขยายระเบียบการค้าระหว่างประเทศให้ครอบคลุมสิ่งที่ตนเองจะได้ประโยชน์ แต่ประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งได้บทเรียนในอดีต ต่างระมัดระวังมิให้ระเบียบใหม่ไม่เกื้อกูลกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตน การขยายระเบียบการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะองค์การการค้าโลกยึดกฎคะแนนเสียงเอกฉันท์ เมื่อประเทศมหาอำนาจผลักดันการขยายระเบียบการค้าระหว่างประเทศในทิศทางที่ต้องการมิได้ จึงหันไปทำข้อตกลงการค้าเสรีทั้งระดับภูมิภาคี (Regionalism) และทวิภาคี (Bilateralism) ข้อตกลงการค้าเสรีและเขตการค้าเสรีจึงผุดขึ้นจำนวนมาก ยังผลให้ระเบียบการค้าระหว่างประเทศมีทั้งระเบียบพหุภาคี ภูมิภาคี และทวิภาคี กฎกติกาการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้พันกันอย่างยุ่งเหยิงดุจเดียวกับการพันกันของเส้นสปาเก็ตตีในชาม (Spaghetti Bowl Effects) ความเป็นไปดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตขององค์การการค้าโลก

ในเดือนมิถุนายน 2546 องค์การการค้าโลกแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 8 ท่าน โดยมีนายปีเตอร์ ซัทเธอร์แลนด์ (Peter Sutherland) อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกเป็นประธาน เพื่อให้จัดทำรายงานว่าด้วยการปฏิรูปองค์การการค้าโลก ซึ่งปรากฏต่อมาในชื่อ The Future of the WTO: Addressing Institutional Changes in the New Millennium (2004) ข้อเสนอที่ปรากฏในรายงานนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันโดยทั่วไป

ประเทศมหาอำนาจไม่พอใจองค์การการค้าโลก เพราะไม่สามารถขยายระเบียบการค้าระหว่างประเทศให้ครอบคลุมปริมณฑลที่เป็นประโยชน์แก่ตน ประเทศด้อยพัฒนาไม่พอใจองค์การการค้าโลก เพราะระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันไม่เกื้อกูลการพัฒนาของประเทศโลกที่สาม ดูเหมือนว่าใครต่อใครพากันไม่พอใจองค์การการค้าโลก แต่องค์การการค้าโลกจะยังคงมีชีวิตสืบต่อไปในอนาคตเท่าที่เห็น

เอกสารวิชาการนี้ประมวลข้อมูลและบทวิเคราะห์ว่าด้วยองค์การการค้าโลกในด้านต่างๆ เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์การการค้าโลก และระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งนับวันแต่จะซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้นเรื่อยๆ

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
หมายเหตุ เอกสารวิชาการชุดนี้เป็นผลงานของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก www.thailandwto.org/Doc/Pub/Academicpaper_18.pdf

2. แนะนำหนังสือ : Trade Policy Review of Thailand: The Thai Government Reports, 1995-2007
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ : บรรณาธิการ

เอกสารข้อมูลหมายเลข 17
โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
กุมภาพันธ์ 2551 / 212 หน้า

เอกสารข้อมูล Trade Policy Review of Thailand: The Thai Government Reports, 1995-2007 รวบรวมรายงานที่รัฐบาลไทยเสนอต่อองค์การการค้าโลก เพื่อใช้ในกระบวนการประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทย กระบวนการดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดเอกสาร 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นรายงานของรัฐบาลไทย อีกชุดหนึ่งเป็นรายงานที่จัดทำโดยสำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลก

การประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศ (Trade Policy Review) เป็นกลไกที่ภาคีสมาชิก GATT มีฉันทมติให้สร้างขึ้นเมื่อการประชุมการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย (2529-2537) ดำเนินไปได้ครึ่งทาง ทั้งนี้เป็นผลจากมติที่ประชุม ณ นครมอนทรีอัล (Montreal) ประเทศคานาดาในเดือนธันวาคม 2531 โดยที่ต่อมาปรากฏใน Article III ของ Marrakesh Agreement Establishing the World Trade Organization ในเดือนเมษายน 2537 ยังผลให้การประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศเป็นกลไกหลักขององค์การการค้าโลกที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นมา

การประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศ
เหตุใดจึงต้องมีการประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลก. Annex 3 ของ Marakesh Agreement กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลก 2 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก เพื่อดูแลให้ภาคีสมาชิกปฏิบัติตามกฎกติกาและพันธะผูกพันที่มีต่อองค์การการค้าโลก ทั้งนี้เพื่อให้ระบบการค้าพหุภาคีดำเนินอย่างราบรื่น มีความโปร่งใสมากขึ้น และเอื้ออำนวยให้ภาคีสมาชิกรับรู้และเข้าใจนโยบายการค้าระหว่างประเทศของภาคีสมาชิกด้วยกัน โดยที่มิได้ใช้เป็นกลไกในการบังคับให้ภาคีสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลง หรือใช้ในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รวมทั้งมิได้ใช้ในการบังคับให้ภาคีสมาชิกยอมรับพันธะผูกพันใหม่ในด้านนโยบาย

ประการที่สอง เพื่อประเมินว่า นโยบายและจารีตปฏิบัติด้านการค้าระหว่างประเทศของภาคีสมาชิกหนึ่งๆ มีผลกระทบต่อระบบการค้าพหุภาคีอย่างไรบ้าง

หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของภาคีสมาชิก คือ Trade Policy Review Body (TPRB) ทั้งนี้โดยใช้คณะมนตรีทั่วไปขององค์การการค้าโลก (WTO General Council) ทำหน้าที่ TPRB ประกอบด้วยภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกทุกประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศมีความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคีทุกประเทศ

ความถี่ในการประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศมีข้อกำหนดใน Annex 3 ของ Marakesh Agreement โดยยึดความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ

(1) ภาคีสมาชิกที่มีการค้าระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก 4 อันดับแรก (ปัจจุบัน ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น
และสาธารณรัฐประชาชนจีน) จะมีการประเมินทุก 2 ปี

(2) ภาคีสมาชิกที่มีการค้าระหว่างประเทศมากเป็นอันดับถัดไป 16 ประเทศ จะมีการประเมินทุก 4 ปี

(3) ภาคีสมาชิกนอกเหนือจาก (1) และ (2) จะมีการประเมินทุก 6 ปี

(4) ภาคีสมาชิกที่ด้อยพัฒนามากที่สุด (The Least Developed Countries) อาจกำหนดระยะเวลาการประเมินยาวนานกว่าปกติได้

การประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลก เน้นประเด็นนโยบายและจารีตปฏิบัติ โดยพิจารณาครอบคลุมถึงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และความจำเป็นในการพัฒนา ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินมาจาก 2 แหล่ง แหล่งที่หนึ่งมาจากรัฐบาลภาคีสมาชิกที่ถูกประเมิน ซึ่งต้องนำเสนอรายงานว่าด้วยนโยบายการค้าระหว่างประเทศของประเทศของตน อีกแหล่งหนึ่งมาจากสำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลก ซึ่งต้องนำเสนอข้อมูลและรายงานนโยบายการค้าระหว่างประเทศของภาคีสมาชิกดังกล่าว

องค์กรประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศ (TPRB) จะประชุมเพื่อพิจารณาข้อมูลจากแหล่งทั้งสอง ในการนี้ TPRB กำหนดตัวผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนล่วงหน้าเป็นผู้นำการอภิปราย โดยที่ภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกทุกประเทศมีสิทธิเข้าร่วมประชุม ภายหลังการถกอภิปราย TPRB แล้ว สำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลกเป็นฝ่ายนำข้อมูลและผลการถกอภิปรายเขียนเป็นรายงาน โดยเป็นผู้รับผิดชอบข้อมูลและความเห็นที่ปรากฏในรายงานแต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นจึงมีการเผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายการค้าระหว่างประเทศฉบับที่เขียนโดยสำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลก และฉบับที่นำเสนอโดยรัฐบาลภาคีสมาชิกที่ถูกประเมิน รวมทั้งรายงานการประชุม TPRB และข้อสรุปของประธาน TPRB ด้วย

เอกสารนี้เป็นประโยชน์ในการศึกษานโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทย และพัฒนาการของนโยบายดังกล่าว เอกสารนี้ควรจะใช้ควบคู่กับรายงานที่จัดทำโดยสำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลกด้วย

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
หมายเหตุ เอกสารข้อมูลชุดนี้เป็นผลงานของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก www.thailandwto.org/Doc/Pub/PubData/Datapaper_17.pdf

3. แนะนำหนังสือ : การจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

เอกสารวิชาการหมายเลข 17
โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
ธันวาคม 2550 / 232 หน้า


เอกสารนี้เป็นเอกสารวิชาการหมายเลข 17 ของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประกอบด้วยเนื้อหา 6 บท

บทที่ 1 ว่าด้วย GATT 1947 กับการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศก่อนการเจรจารอบอุรุกวัย บทนี้ให้ภาพสินค้าเกษตรโลกกับภาพรวมนโยบายเกษตรของประเทศต่างๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากับประชาคมยุโรปที่มีต่อกติกา GATT 1947 กับสถานการณ์ภาพสินค้าเกษตรภายใต้แกตต์ การเจรจารอบต่างๆ ภายใต้แกตต์ก่อนรอบอุรุกวัยและการดำเนินการของประเทศสมาชิกที่สร้างปัญหาต่อข้อตกลงแกตต์

บทที่ 2 ว่าด้วยการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย ซึ่งให้ภาพรวมการเจรจารอบอุรุกวัย กระบวนการเจรจารอบอุรุกวัย และการบรรลุข้อตกลงการค้าสินค้าเกษตร และข้อตกลงการค้าสินค้าเกษตรรอบอุรุกวัย

บทที่ 3 กล่าวถึงผลของการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรภายใต้ข้อตกลงรอบอุรุกวัย ปัญหาในการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรภายใต้ข้อตกลงรอบอุรุกวัย ผลการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงรอบอุรุกวัย และการเตรียมการเจรจาการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรรอบใหม่คือ การเจรจารอบโดฮา ซึ่งยังไม่ยุติในขณะนี้

บทที่ 4 กล่าวถึงการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรรอบโดฮา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ประเด็นและท่าทีของกลุ่มต่างๆ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่แคนคูน ในบทนี้ ผู้เขียนแบ่งการเขียนเป็น 6 ตอนย่อยคือ

- ความเป็นมาและภาพรวมของการประชุมรอบโดฮา
- การเริ่มเจรจาสินค้าเกษตรรอบใหม่
- ภาพรวมที่แคนคูน
- ประเด็นการเจรจา และท่าทีของประเทศพัฒนาแล้ว
- การรวมกลุ่มประเทศเพื่อการต่อรองในการเจรจาที่แคนคูน
- บทสรุป

บทที่ 5 ผู้เขียนจำแนกการวิเคราะห์เป็น 5 ตอนย่อยคือ

- การเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มต่างๆ หลังแคนคูน
- สามประเด็นหลักของการเจรจาในการประชุมเดือนกรกฎาคม 2547
- กรอบการเจรจาเดือนกรกฎาคม (July Package)
- การเคลื่อนไหวหลังกรอบการเจรจาเดือนกรกฎาคม
- บทสรุป

บทที่ 6 ซึ่งเป็นบทสุดท้าย ผู้เขียนได้กล่าวถึงความล้มเหลวของการเจรจารอบโดฮา ซึ่งยังไม่ยุติ เพียงแต่หยุดไว้ชั่วคราวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 บทนี้แยกเป็น 6 ตอนคือ

- การประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 6 ที่ฮ่องกง
- ประเด็นสำคัญในการเจรจาหลังการประชุมที่ฮ่องกงกับจุดจบของรอบโดฮา
- ข้อคิดเห็นต่อความล้มเหลว
- ความพยายามหลังความล้มเหลวในเดือนกรกฎาคม 2548
- อนาคตข้างหน้ากับทางเลือกในการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตร
- บทสรุป

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้จัดทำภาคผนวก ลำดับเหตุการณ์สำคัญ และคำอธิบายศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในองค์การการค้าโลก ให้ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับศัพท์เหล่านี้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

จุดเด่นของเอกสารฉบับนี้ก็คือ นับเป็นการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์สำคัญๆ ได้ในเรื่องการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรกรรมระหว่างประเทศได้ดีระดับหนึ่ง เพราะสามารถวิเคราะห์ถึงการจัดระเบียบของสินค้าเกษตรกรรมตั้งแต่ GATT 1947 ซึ่งเปลี่ยนเป็นองค์การการค้าโลกในปี 2538 (1995)จนถึงปัจจุบัน. นอกจากนั้นยังวิเคราะห์ถึงความล้มเหลวของการเจรจาในรอบโดฮา ซึ่งเป็นรอบปัจจุบันที่การเจรจายังไม่สิ้นสุด

การจัดระเบียบการค้าสินค้าเป็นประเด็นที่มีข้อโต้แย้งมากที่สุดประเด็นหนึ่ง ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก ทั้งนี้ก็เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ประชาคมยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา ล้วนมีการปกป้องคุ้มครองภาคเกษตรกรรมของตนเองอย่างเหนียวแน่น นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือในการอุดหนุนภาคเกษตรกรรมของตนอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนภายในประเทศหรือการอุดหนุนการส่งออก

ในการศึกษานี้ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นอย่างกระจ่างชัดว่า สาเหตุแห่งความยากจนของประเทศกำลังพัฒนานั้น มีปัญหารากฐานมาจากการคุ้มครองและอุดหนุนภาคเกษตรกรรมในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งยังผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ยิ่งกว่านั้นเอกสารฉบับนี้ยังให้ความรู้ว่า การเจรจาในรอบที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังรอบอุรุกวัยนั้น แม้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเจรจาสำเร็จให้มีการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรลง แต่เป็นการที่ลดน้อยจนเกินไป นอกเหนือจากนั้น มาตรการในการสร้างกล่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล่องอำพัน กล่องฟ้า และกล่องเขียวก็ล้วนเป็นการเล่นเกมของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในการยืดเวลาการปกป้องคุ้มครองและอุดหนุนภาคเกษตรของตนต่อไป

การเจรจาในรอบอุรุกวัยนี้มิได้มีการลดการอุดหนุนลงมากมายดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แท้ที่จริงประเทศกำลังพัฒนานั้นมิได้ประสบชัยชนะแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ก็มิได้หมายความว่า ประเทศกำลังพัฒนาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรเสียทีเดียว นับตั้งแต่การเจรจาของ July Package 2004 ประเทศกำลังพัฒนาไม่ว่าจะกลุ่ม G-20 หรือกลุ่ม G-99 ต่างก็สามารถรวมตัวกันระดับหนึ่งในการเจรจาเรื่องการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรกับประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยเหตุนี้ การเจรจารอบโอฮาที่หยุดชะงักลงตั้งแต่กรกฎาคม 2547 ก็อาจถือว่า ยังไม่ใช่จุดจบของการเจรจาแต่อย่างใด. ในการเจรจาที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาสามารถผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องค่อยๆ ลดการอุดหนุนการเกษตรของตน แม้ว่า การอุดหนุนยังมีอยู่ค่อนข้างสูง และหนทางในการลดการอุดหนุนทั้งหมดอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 10 ปีก็ตาม

เอกสารฉบับนี้นับเป็นเอกสารที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักศึกษา และประชาชน ที่สนใจเรื่องการจัดระเบียบการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบการเจรจาพหุภาคีขององค์การการค้าโลก นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้วิเคราะห์ในบทสุดท้ายเกี่ยวกับการทำข้อตกลงกาค้าเสรี (FTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกากับออสเตรเลีย เป็นต้น

ผู้สนใจเอกสารฉบับนี้ขอรับเอกสารได้ที่โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ download เอกสารฉบับสมบูรณ์ได้ที่ www.thailandwto.org/Doc/Pub/Academic_Paper_17.pdf

สมบูรณ์ ศิริประชัย

4. แนะนำหนังสือ : จีนกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก WTO: รายงาน USTR ปี 2549
สุนทร ตันมันทอง

เอกสารข้อมูลหมายเลข 16
โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
มกราคม 2551 / 80 หน้า


เอกสารข้อมูลชุดนี้ เก็บความจากรายงานของ USTR เรื่อง 2006 Report to Congress on China's WTO Compliance สำนักผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (USTR) มีหน้าที่รายงานความเป็นไปใน WTO แก่รัฐสภาอเมริกัน อีกทั้งต้องรายงานให้รัฐสภาอเมริกันทราบด้วยว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ปฏิบัติตามพันธะผูกพันที่มีต่อองค์การการค้าโลกหรือไม่ เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตามพันธะที่มีต่อสหรัฐอเมริกา

สาธารณรัฐประชาชนจีนสมัครเป็นสมาชิก GATT ในเดือนกรกฎาคม 2529 ขณะที่ยังไม่มีองค์การการค้าโลก และต้องใช้เวลาในการเจรจาและปรับตัวเนิ่นนานกว่า 15 ปี จนในที่สุดได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2544 (2001) นับเป็นสมาชิกลำดับที่ 146 ขององค์กรโลกบาลแห่งนี้. ในกระบวนการสมัครเป็นสมาชิก GATT/WTO สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบและนโยบายการค้าระหว่างประเทศ (Trade Regime) แก่บรรดาประเทศที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อนแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องเจรจาทั้งระดับพหุภาคีและระดับทวิภาคี

- การเจรจาระดับพหุภาคีกับสมาชิก GATT/WTO ก็เพื่อกำหนดพันธะของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการปฏิบัติตามกฎกติกาของ GATT/WTO พร้อมทั้งกำหนดตารางเวลาในการปฏิบัติตามกฎกติกาเหล่านั้น

- การเจรจาระดับทวิภาคีกับสมาชิก GATT/WTO
เป็นรายประเทศก็เพื่อให้มีหลักประกันว่า จะไม่มีสมาชิกประเทศใดคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะในขั้นตอนการพิจารณาของ Working Party on WTO Accession สาธารณรัฐประชาชนจีนจะต้องได้รับคะแนนเสียงเอกฉันท์จากมวลสมาชิก ด่านสำคัญอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีนจำต้องทำข้อตกลงทวิภาคีกับสมาชิกรายสำคัญขององค์การการค้าโลก การบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป นับเป็นปมเงื่อนสำคัญที่ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ ด้วยเหตุนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงมีพันธะต้องปฏิบัติตามทั้งกฎกติกา WTO และข้อตกลงทวิภาคีที่ทำกับมวลสมาชิก WTO อันเป็นเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิก WTO

ในรายงานเรื่อง 2006 Report to Congress on China's WTO Compliance USTR นำเสนอข้อเท็จจริงให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนปฏิบัติตามพันธะผูกพันในการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในเรื่องใดบ้าง และยังมิได้ปฏิบัติตามพันธะผูกพันในเรื่องใดบ้าง พันธะผูกพันดังกล่าวนี้ครอบคลุมทั้งกฎกติกา WTO และข้อตกลงทวิภาคีที่ทำกับสหรัฐอเมริกา สมาชิกรัฐสภาอเมริกันอาศัยข้อมูลจากรายงานนี้ในการกดดันรัฐบาลอเมริกัน เพื่อให้ไปกดดันสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกทอดหนึ่ง รายงานนี้ช่วยให้เข้าใจปัญหาความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนดียิ่งขึ้น

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
หมายเหตุ เอกสารข้อมูลชุดนี้เป็นผลงานของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก www.thailandwto.org/Doc/Pub/Pubdata/Datapaper_16_China.pdf

5. แนะนำหนังสือ : การเมืองว่าด้วยการเจรจาการค้าพหุภาคี: จากซีแอตเทิลถึงแคนคูน
สุนทร ตันมันทอง

เอกสารวิชาการหมายเลข 16
โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
ตุลาคม 2550 / 258 หน้า


เหตุใดการเจรจาการค้ารอบโดฮาจึงยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จในเร็ววัน? การหาคำตอบคงไม่ได้มุ่งไปที่สถานะและความไม่คืบหน้าของการเจรจาในปัจจุบันเท่านั้น แต่อาจต้องสืบค้นกลับไปตั้งแต่ก่อนการเปิดการเจรจารอบโดฮาในปี 2544

องค์การการค้าโลกและความสำเร็จของรอบอุรุกวัยเริ่มสั่นคลอนและสูญเสียศรัทธาจากกรณีการสรรหาผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกในปี 2542 ตามมาด้วยการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯนับตั้งแต่สงครามเวียดนาม เพื่อประท้วงการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่เมืองซีแอตเทิล จนถูกขนานนามว่า เป็นการเริ่มต้นเปิดสนามรบของภาคประชาชนอย่างเป็นทางการต่อกระแสโลกาภิวัฒน์ ประเทศมหาอำนาจเป็นแกนนำในความพยายามกอบกู้ศรัทธาต่อระบบการค้าพหุภาคี ด้วยการเปิดการเจรจาการค้ารอบใหม่ในอีกสองปีต่อมา พร้อมตั้งเป้าหมายไว้ว่า การค้าพหุภาคีจะให้ความสำคัญแก่ประเทศด้อยพัฒนาเป็นลำดับแรก ช่วงเวลาอันแสนสุขของการเจรจารอบโดฮาอยู่ได้ไม่นาน เพราะหลังจากนั้น การเจรจารอบโดฮาเข้าสู่อาการโคม่า นับตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีครั้งถัดมาที่เมืองแคนคูนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

เอกสารวิชาการ "การเมืองว่าด้วยการเจรจาการค้าพหุภาคี:จากซีแอตเทิลถึงแคนคูน" ให้ภาพของการเมืองในการเจรจาการค้าพหุภาคี โดยเน้นไปที่ "ความล้มเหลว" ของการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกสองครั้ง นั่นคือ ครั้งที่สามที่เมืองซีแอตเทิลในปี 2542 และครั้งที่ห้าที่เมืองแคนคูนในปี 2546 ซึ่งไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆ ได้ ทั้งนี้ก็ด้วยข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ว่า ประเทศต่างๆ มีจุดยืนและผลประโยชน์แตกต่างกัน จนกลไกการเจรจาขององค์การการค้าโลกไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสัมฤทธิผล

ทางออกที่องค์การการค้าโลกใช้ก็คือ การประชุมแบบปิดเพื่อสร้างความเห็นพ้องจากประเทศสมาชิกจำนวนหนึ่ง ก่อนขยายวงออกไปจนประเทศสมาชิกที่เหลืออยู่ปฏิเสธได้ยาก วิธีการนี้ใช้ได้ผลในการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย ซึ่งเป็นความสำเร็จของการค้าเสรีที่หลายคนกล่าวขวัญถึง แต่สำหรับซีแอตเทิลและแคนคูน วิธีการนี้ใช้ไม่ได้ผล และนั่นทำให้ลักษณะความไม่โปร่งใสและไม่เป็นประชาธิปไตยขององค์การการค้าโลกเผยตัวออกมาอย่างรวดเร็ว นี่เป็นประเด็นที่มักถูกยกขึ้นมาเป็นปัญหาสำคัญขององค์การการค้าโลก ทว่าหากเป็นความสำเร็จของการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย สิ่งที่ถูกกล่าวถึงกลับกลายเป็นเรื่องความเชื่อมั่นและเจตจำนงที่มีต่อแนวทางการค้าพหุภาคีของประเทศสมาชิก ยังไม่พบถ้อยคำสรรเสริญความสำเร็จขององค์การการค้าโลกที่ผ่านมาว่า เป็นเพราะองค์การการค้าโลกนั้นเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าองค์การการค้าโลกจะกำหนดกติกาไว้ว่า จะบริหารจัดการโดยมวลสมาชิกและเพื่อมวลสมาชิกอย่างเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การกำหนดนโยบายการค้าพหุภาคี มีลักษณะเป็นลำดับชั้นในลักษณะของปิรามิด(Pyramid) หรือวงกลมรวมศูนย์(Concentric Circle) กล่าวโดยพื้นฐานก็คือ เป็นการเจรจาการค้าพหุภาคีที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect Multilateralism) ประเทศสมาชิกต่างเข้าใจกติกาของเกมส์นี้ดี หลายประเทศอาจแสดงความไม่พอใจต่อการประชุมแบบปิดนี้ว่า สะท้อนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยขององค์การการค้าโลกเพียงใดก็ตาม แต่เอาเข้าจริงแล้ว ประเทศเหล่านั้นก็มิได้มุ่งโจมตีไปที่วิธีการประชุมดังกล่าว ทั้งนี้เพราะมันจะเป็นประโยชน์หากประเทศเหล่านั้น สามารถเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในการกำหนดจุดยืนที่สามารถมีอิทธิพลเหนือประเทศสมาชิกอื่นๆ ในที่ประชุมใหญ่ได้ เพื่อผ่องถ่ายผลประโยชน์จากการค้าพหุภาคีมาสู่ตนในที่สุด

การเมืองในการเจรจาการค้าพหุภาคี ประกอบไปด้วยตัวละครทั้งที่เป็นรัฐบาลและมิใช่รัฐบาล. ในอดีต ประเทศมหาอำนาจยึดมั่นว่า ตนเป็นศูนย์กลางในการเจรจาเพื่อกำหนดนโยบาย การเจรจากับประเทศสมาชิกที่เหลือคือ สิทธิที่จะรับหรือไม่รับเท่านั้น หากประเทศสมาชิกอื่นๆ รวมกลุ่มกันตั้งข้อต่อรอง ประเทศมหาอำนาจก็มีกลยุทธ์ในการสลายกลุ่ม โดยการสร้างพระเดชพระคุณให้แก่ประเทศสมาชิกในกลุ่มบางประเทศ จนทำให้บทบาทของประเทศซีกโลกใต้ที่ผ่านมามีไม่มากนัก. แต่ในกรณีของรอบโดฮา กลุ่ม G20 เป็นตัวอย่างของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยืนหยัดในการเจรจาต่อรองจนทำให้กลยุทธ์เดิมๆ ของประเทศมหาอำนาจใช้ไม่ได้ผลมากเท่าใดนัก ปัจจัยสำคัญของอำนาจต่อรองดังกล่าวคือ ความเชื่อมแน่นภายในกลุ่มและระบบเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องของประเทศกำลังพัฒนา ดังเช่น จีน บราซิล และอินเดีย

ในขณะเดียวกัน ตัวละครที่เพิ่มเข้ามานอกจากเหนือจากประเทศสมาชิก แต่สามารถส่งผลต่อการเจรจาไม่มากก็น้อยก็คือ องค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) การเข้ามามีส่วนร่วมของ NGOs และภาคประชาชนเป็นการขยายความเป็นการเมืองในระดับภาคประชาสังคม ของการเจรจาการค้าพหุภาคี ทำให้ประเด็นด้านมนุษย์และสังคมเข้ามาเพิ่มเติม แทนที่การพูดถึงประเด็นดั้งเดิมอย่างการพัฒนา ปัญหาความแตกต่างระหว่างประเทศซีกโลกเหนือ-ใต้ การลดความยากจนและการกระจายรายได้เพียงอย่างเดียว การเมืองในการเจรจาการค้าพหุภาคี ย่อมไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป

ความล้มเหลวจากซีแอตเทิลถึงแคนคูน ย่อมเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงไปถึงสถานะของการเจรจาการค้ารอบโดฮาในปัจจุบัน ช่วงเวลาอันแสนสุขของรอบโดฮา ดูจะอยู่ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่กรุงโดฮาในปี พ.ศ.2544 เท่านั้น และเริ่มออกอาการโคม่าเมื่อการประชุมรัฐมนตรีที่แคนคูนไร้ข้อสรุปใดๆ จนไร้ทิศไร้ทางอยู่ในปัจจุบัน บางทีความล้มเหลวขององค์การการค้าโลกอาจไม่ใช่เรื่องแปลกพิเศษใดๆ ความสำเร็จและช่วงเวลาอันแสนสุขที่กรุงโดฮาต่างหาก ที่อาจเป็นเหตุการณ์พิเศษเฉพาะ ซึ่งเกิดขึ้นมาเพราะเหตุผลทางการเมืองในการรักษาสถานะของระบบการค้าพหุภาคีหลังจากสั่นคลอนจากความล้มเหลวในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เมืองซีแอตเทิล การเจรจาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ประเทศสมาชิกไม่พร้อมที่จะเจรจาการค้าเพื่อผลประโยชน์ของประเทศด้อยพัฒนาเป็นลำดับแรก

สุนทร ตันมันทอง
หมายเหตุ เอกสารนี้เป็นผลผลิตของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก www.thailandwto.org/Doc/Pub/Pub/16_Seattle_to_Cancun.pdf



6. แนะนำหนังสือ : National Trade Estimate of Thailand: The USTR Reports, 2001-2007
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ : บรรณาธิการ

เอกสารข้อมูลหมายเลข 20
โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
เมษายน 2551 / 234 หน้า

National Trade Estimate Report ซึ่งมีชื่อเต็มว่า National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers (NTE) เป็นรายงานที่สำรวจอุปสรรคและทำนบที่กีดขวางสินค้าออกของสหรัฐอเมริกาในประเทศต่างๆในสังคมเศรษฐกิจโลก สำนักผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Trade Representative: USTR) เป็นผู้จัดทำรายงานนี้ตั้งแต่ปี 2529 โดยที่ต้องรายงานต่อประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา คณะกรรมาธิการการเงินแห่งวุฒิสภา (The Senate Finance Committee) และคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องในสภาผู้แทนราษฎร

ภาระหน้าที่ของ USTR ในการจัดทำ National Trade Estimate Report มีที่มาจากบทบัญญัติในกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ฉบับปี 2517 (The Trade Act of 1974) Section 181 กฎหมายฉบับนี้ ต่อมาแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎหมายดังต่อไปนี้

(1) The Trade and Tariff Act of 1984 (Section 303)
(2) The Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 (Section 1304)
(3) The Uruguay Round Trade Agreement Act of 1994 (Section 311)
(4) The Internet Tax Freedom Act (Section 1202)

บทบัญญัติในกฎหมายเหล่านี้ทำให้ USTR มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลว่าด้วยอุปสรรคและทำนบกีดขวางการส่งสินค้าออกของสหรัฐอเมริกา การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของประชาชนชาวอเมริกัน และการละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูลเหล่านี้เกื้อกูลการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลอเมริกัน และเป็นประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ประโยชน์ในการทำให้การค้าระหว่างประเทศของสังคมเศรษฐกิจโลกขยายตัวอันเป็นประโยชน์ต่อทุกชนชาติ. รายงาน NTE ไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนี้เท่านั้น หากยังพยายามประมาณการผลกระทบเชิงปริมาณ อันเกิดจากมาตรการและจารีตปฏิบัติในการกีดกันการส่งสินค้าออกของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย รวมทั้งการให้ข้อเสนอแนะในการขจัดอุปสรรคและทำนบกีดขวางการส่งสินค้าออกดังกล่าว

ในการจัดทำรายงาน NTE, USTR รวบรวมข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร หน่วยรัฐการอื่นๆ สถานทูตอเมริกันในนานาประเทศ รวมตลอดจนองค์กรการค้าของภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน นอกจากนี้ USTR ยังประกาศใน Federal Register เปิดรับข้อมูลจากสาธารณชนโดยทั่วไปอีกด้วย

อุปสรรคและทำนบกีดขวางการค้าระหว่างประเทศ หมายถึง มาตรการและนโยบายรัฐบาลที่ประกาศใช้เพื่อจำกัด ป้องกันหรือกีดขวางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศ อุปสรรคและทำนบกีดขวางเหล่านี้ปรากฏในรูปกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ รวมตลอดจนจารีตปฏิบัติที่ใช้ในการปกป้องสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมิให้ต้องแข่งขันกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ และ/หรือเพื่อกระตุ้นการส่งออกสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ

NTE จำแนกอุปสรรคและทำนบกีดขวางการค้าระหว่างประเทศออกเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่

1. นโยบายการนำเข้า อาทิเช่น ภาษีศุลกากรค่าธรรมเนียมการนำเข้า มาตรการเชิงปริมาณในการจำกัดการนำเข้า (Quantitative Restriction) การออกใบอนุญาตการนำเข้า (Import Licensing) พิธีการทางศุลกากร ฯลฯ

2. การกำหนดมาตรฐาน การติดฉลาก การออกใบรับรอง และการทดสอบคุณภาพสินค้า เช่น การกำหนดมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การไม่ยอมรับหนังสือรับรองของสหรัฐอเมริกา ฯลฯ

3. การจัดจ้างจัดซื้อโดยรัฐ (Government Procurement) เช่น การจัดซื้อเฉพาะสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ การเปิดประมูลในวงจำกัด ฯลฯ
4. การอุดหนุนการส่งออก (Export Subsidy)

5. การไม่ยอมรับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา
6. การสร้างอุปสรรคการค้าบริการ (Services Barriers) เช่น การจำกัดประเภทบริการของสถาบันการเงินต่างชาติ ฯลฯ

7. การสร้างอุปสรรคในการลงทุนระหว่างประเทศ (Investment Barriers) เช่น การกำหนดเงื่อนไข Local Content ในการผลิตเงื่อนไขการส่งออกสินค้าที่ผลิต การจำกัดการส่งออกเงินทุนและกำไรที่ได้จากการลงทุน ฯลฯ
8. จารีตปฏิบัติทางธุรกิจที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขัน (Anticompetitive Practices)

9. ข้อจำกัดทางการค้าที่มีผลต่อ E-Commerce
10. อุปสรรคทางการค้าอื่นๆ

อุปสรรคและทำนบกีดขวางการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้มีทั้งที่ขัดและไม่ขัดต่อกฎกติกาขององค์การการค้าโลก ส่วนที่ขัดต่อกฎกติกาขององค์การการค้าโลก USTR สามารถดำเนินการเอาผิดด้วยการฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก และ/หรือด้วยการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกาเอง ส่วนที่ไม่ขัดต่อกฎกติกาขององค์การการค้าโลก USTR อาจเสนอให้รัฐบาลอเมริกันใช้แรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศคู่ค้าลดทอนหรือทำลายอุปสรรคและทำนบกีดขวางการค้าระหว่างประเทศเหล่านั้น

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า จำนวนประเทศที่ปรากฏใน National Trade Estimate Report เพิ่มขึ้นตามกาลเวลาจาก 49 ประเทศในปี 2544 เพิ่มเป็น 58 ประเทศในปี 2550 (ดูตารางที่ 1) ซึ่งมีนัยว่า ประเทศที่มีการค้าอันไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกาในสายตาของ USTR มีจำนวนเพิ่มขึ้น. ประเทศไทยมีรายงานปรากฏใน National Trade Estimate Report ด้วย รายงานเหล่านี้มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจว่า USTR มองนโยบายการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลไทยอย่างไร

โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch) นำรายงานเหล่านี้มาตีพิมพ์เผยแพร่ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษานโยบายการค้าระหว่างประเทศ และในการทำความเข้าใจปัญหาข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
หมายเหตุ เอกสารข้อมูลชุดนี้เป็นผลงานของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/PubData/Datapaper_20.pdf


7. แนะนำหนังสือ : การเจรจารอบโดฮาให้ประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาจริงหรือ?
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และสมบูรณ์ ศิริประชัย : บรรณาธิการ

เอกสารข้อมูลหมายเลข 19
โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
พฤษภาคม 2551 / 178 หน้า

การเจรจาการค้าพหุภาคี (Multilateral Trade Negotiations) นับตั้ง GATT มีผลบังคับใช้ในปี 2491 เป็นต้นมา มีเป้าประสงค์ในการขยายระเบียบการค้าระหว่างประเทศบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม โดยที่ในระยะหลังระเบียบดังกล่าวนี้มีแนวโน้มที่จะขยายออกไปครอบคลุมปริมณฑลนอกการค้าระหว่างประเทศในความหมายดั้งเดิม

การเจรจารอบโดฮาสืบทอดมรดกทางประวัติศาสตร์ของการเจรจาการค้าพหุภาคีดังกล่าวนี้ ด้านหนึ่ง การเจรจารอบโดฮาพยายามขยายปริมณฑลของระเบียบการค้าเสรี อีกด้านหนึ่ง พยายามบรรจุ Singapore Issues เข้าสู่ระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปพยายามผลักดันการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศในแนวทางที่เอื้อผลประโยชน์แห่งชาติตน จนบางกรรมบางวาระถึงกับหลงลืมคำประกาศเจตนารมณ์ของการเจรจารอบโดฮาที่ต้องการให้เป็นรอบแห่งการพัฒนา (Development Round) โดยกำหนดเข็มมุ่งในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศเพื่อเกื้อกูลกระบวนการพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนาโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (The Least Developed Countries)

ประสบการณ์จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจารอบโดฮาหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

คำถามที่ว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาหรือไม่ เกือบจะเป็นคำถามเดียวกับคำถามที่ว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่ยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือไม่

สมาชิกองค์การการค้าโลกต้องปฏิบัติตามกฎกติกาชุดเดียวกัน (Level Playing Field) การค้าระหว่างประเทศภายใต้การดูแลขององค์การการค้าโลกเป็นระบบที่ยึดกฎกติกาเป็นที่ตั้ง (Rule-Based Trading System) ประเทศด้อยพัฒนาที่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้ระบบดังกล่าวนี้ ย่อมต้องมีความสามารถในการแข่งขัน หากไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความได้เปรียบเทียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ได้ ย่อมยากที่จะได้ประโยชน์จากระบบการค้าเสรี ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่อยู่ในฐานะเช่นที่ว่านี้ การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยได้ให้บทเรียนแก่ประเทศโลกที่สามว่า จะต้องไม่ผลีผลามรับระเบียบการค้าเสรี เพราะนอกจากไม่แน่ว่าจะอยู่รอดทางเศรษฐกิจได้เท่านั้น หากยังต้องเผชิญกับการเล่นแร่แปรธาตุของประเทศมหาอำนาจในการหาประโยชน์จากกฎกติกาองค์การการค้าโลกอีกด้วย

ประเทศมหาอำนาจพยายามโน้มน้าวให้ประเทศด้อยพัฒนาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ และเดินแนวทางการพัฒนาโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ประเทศด้อยพัฒนาที่จำต้องพึ่งพิงเงินกู้จากองค์กรโลกบาล ดังเช่นธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อยู่ในภาวะจำยอมในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามฉันทมติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งถีบตัวเป็นเมนูนโยบายเศรษฐกิจหลักของโลกนับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา

ประเทศมหาอำนาจและองค์กรโลกบาลพยายามเผยแพร่ความเชื่อที่ว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศช่วยเพิ่มพูนสวัสดิการทางเศรษฐกิจแก่ประเทศคู่ค้า อีกทั้งยังมีการผลิตงานวิชาการที่ให้ข้อสรุปว่า การเปิดเสรีแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยปราศจากการถูกผูกมัดและโดยปราศจากปฏิบัติการต่างตอบแทน (Unilateral Liberalization) ให้ประโยชน์แก่ประเทศ มากยิ่งกว่าการเปิดเสรีที่ถูกผูกมัดและที่มีปฏิบัติการต่างตอบแทนจากประเทศคู่ค้า หากการเปิดเสรีชนิด 'ข้าไปคนเดียว' ให้ประโยชน์มหาศาลจริงแท้แน่นอน เหตุไฉนประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป จึงไม่เลือกเส้นทางการเปิดเสรีชนิด 'ฉายเดี่ยว' โดยไม่ต้องนำพาว่าประเทศคู่ค้าเปิดเสรีตามไปด้วยหรือไม่ และโดยไม่ต้องนำพาในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกติกาขององค์การการค้าโลกให้ยุ่งยาก

ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นการเจรจา อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผลการเจรจา

ประเด็นการเจรจา ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ หากเป้าประสงค์ในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่การเปิดตลาด และการส่งเสริมให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัว ประเด็นการเจรจาเกือบจะเป็นชุดเดียวกับที่เจรจาในรอบโดฮา แต่ถ้าวัตถุประสงค์ของการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ อยู่ที่การเกื้อกูลให้ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาพ้นจากความยากจน ประเด็นการเจรจาย่อมแตกต่างจากชุดที่กำลังเจรจาในรอบโดฮา

Rodrik (2004) และ Stiglitz and Charlton (2005) วิพากษ์ประเด็นการเจรจาในรอบโดฮาว่า มิได้เกื้อกูลกระบวนการพัฒนาของประเทศยากจน Rodrik (2004) ชี้ให้เห็นว่า การจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ โดยมุ่งประเด็นการเปิดเสรีตลาดการค้าสินค้าเกษตร ให้ประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาเพียงบางประเทศเท่านั้น หาได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหมดไม่ เพราะประเทศด้อยพัฒนาจำนวนมากมิได้ส่งออกสินค้าเกษตร

ในทัศนะของ Rodrik (2004) การเจรจารอบโดฮาจะได้ชื่อว่าเป็น 'รอบแห่งการพัฒนา' (Development Round) ก็ต่อเมื่อจับประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศโดยเสรีเป็นประเด็นหลัก อีกทั้งต้องเปิดให้ประเทศด้อยพัฒนามีพื้นที่ในการกำหนดนโยบายของตนเอง (Policy Space) มิใช่กำหนดกฎกติกาขององค์การการค้าโลก เพื่อรัดรึงประเทศด้อยพัฒนาจนไม่มีอธิปไตยในการเลือกเส้นทางการพัฒนาของตนเอง ในการนี้จำเป็นต้องยอมรับความแตกต่างด้านสถาบันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ด้วยเหตุที่ประเด็นการเจรจารอบโดฮามิได้ให้ประโยชน์โดยตรงแก่ประเทศในโลกที่สาม Rodrik (2005) จึงมีความเห็นว่า หากการเจรจารอบโดฮาจบลงด้วยความล้มเหลวก็มิใช่เรื่องอันควรแก่การเสียดายแต่ประการใด

Stiglitz and Charlton (2005) เสนอความเห็นว่า ประเด็นการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาจำนวนมากมิได้สอดคล้องกับเป้าหมายการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศเพื่อเกื้อกูลการพัฒนา และการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศด้อยพัฒนา ประเด็นที่สร้างต้นทุนแก่ประเทศด้อยพัฒนาและสมควรที่จะเรียกร้องให้ยกเลิกการเจรจา ได้แก่

(1) ความตกลงด้านการลงทุน
(2) กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา
(3) การเปิดเสรีการค้าบริการ
(4) มาตรการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการค้า เช่น มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
(5) การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงิน

กล่าวโดยสรุปก็คือ ทั้ง Rodrik (2004; 2005) และ Stiglitz and Charlton (2005) มีความเห็นว่า วาระการเจรจารอบโดฮาที่กำลังดำเนินการอยู่มิได้ให้ประโยชน์ขั้นรากฐานแก่ประเทศด้อยพัฒนา หากต้องการให้รอบโดฮาเป็น 'รอบแห่งการพัฒนา' จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงประเด็นและวาระการเจรจาใหม่

ผลของการเจรจา นอกเหนือจากประเด็นการเจรจาแล้ว "ผลการเจรจา"นับเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ที่กำหนดผลประโยชน์ที่ภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกได้รับ การเจรจารอบโดฮาที่ผ่านมาเน้นประเด็นการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตร เนื่องจากประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งนำโดยกลุ่ม G20 และกลุ่มอื่นๆ ไม่ยอมเจรจาประเด็นภายใต้ Singapore Issues. กระนั้นก็ตาม ประเทศมหาอำนาจพยายามผลักดันประเด็นการเปิดเสรีตลาดสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร (Non-Agricultural Market Access: NAMA) รวมตลอดจนการเปิดเสรีการค้าบริการ และการยอมรับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา แม้ว่าการเจรจารอบโดฮาจะผ่านพ้นมาเกินครึ่งทศวรรษ แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

เมื่อการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาเริ่มต้นในปี 2544 ประเทศมหาอำนาจโหมโฆษณาว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากนโยบายการค้าเสรีอย่างมหาศาล ประหนึ่งว่า ประเทศด้อยพัฒนาอุดมด้วยอวิชชา และไม่ตระหนักถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากนโยบายการค้าเสรี ธนาคารโลกเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการโฆษณานี้

รายงานเรื่อง Global Economic Prospects 2004: Realizing the Development Promise of the Doha Agenda ขององค์กรโลกบาลแห่งนี้ เสนอผลการวิเคราะห์ว่า การเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรภายใต้การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา จะให้ประโยชน์แก่ภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกอย่างมหาศาล และสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรนี้ตกแก่ประเทศด้อยพัฒนาเป็นสำคัญ (World Bank 2003) รายงานนี้ก่อให้เกิดวิวาทะในวงวิชาการเป็นอันมาก ประเด็นการถกเถียงที่สำคัญ ก็คือ

- การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาให้ประโยชน์แก่สังคมเศรษฐกิจโลกมากมหาศาลจริงหรือ และ
- ประเทศด้อยพัฒนาเป็นผู้ได้ประโยชน์ในสัดส่วนสำคัญจากรอบโดฮาจริงหรือ

นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเศรษฐศาสตร์ พากันดาหน้าออกมาวิพากษ์ World Bank (2003) ข้อวิจารณ์ที่สำคัญ ก็คือ World Bank (2003) ประมาณการผลได้ผลเสียจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาจากข้อมูลที่ไม่ทันสมัย. World Bank (2003) พบว่า ประโยชน์ในสัดส่วนสำคัญที่ได้จากรอบโดฮาเกิดจากการลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตร แต่ World Bank (2003) มิได้ตระหนักว่า ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรจากประเทศที่พัฒนาแล้ว กำแพงภาษีโดยข้อเท็จจริงต่ำอยู่แล้ว ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตรจึงมิได้มีมากดังผลการประมาณการของ World Bank (2003) ในประการสำคัญ มีความเคลื่อนไหวในสังคมเศรษฐกิจโลกในการทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาคี ซึ่งมีผลในการลดกำแพงภาษีในหมู่ภาคีสมาชิก

ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนี้ ทำให้วงวิชาการมีข้อกังขาอย่างสำคัญเกี่ยวกับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้ จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา เมื่อมีการพัฒนาฐานข้อมูลให้ทันสมัยยิ่งขึ้น จึงมีการศึกษาประเด็นนี้จากฐานข้อมูลใหม่ ผลการศึกษาพบว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากรอบโดฮามิได้มีมาก ในประการสำคัญประโยชน์ตกแก่ประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าประเทศด้อยพัฒนา (Ackerman 2005; Polaski; 2006)

แบบจำลองที่นิยมใช้ในการประเมินผลกระทบ อันเกิดจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศอันเป็นผลจากการเจรจารอบโดฮาเป็น Computable General Equilibrium (CGE) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Global Trade Analysis Project Model (GTAP) และอาศัยฐานข้อมูลจาก GTAP Dataset การใช้ฐานข้อมูลที่ต่างกันทำให้ผลการวิเคราะห์แตกต่างกัน GTAP Dataset Version 5 ใช้ข้อมูลปี 2540 เป็นฐาน ในขณะที่ Version 6 ใช้ข้อมูลปี 2544 เป็นฐาน ความแตกต่างสำคัญ ก็คือ กำแพงภาษีในสังคมเศรษฐกิจโลกลดลงเป็นอันมากระหว่างปี 2540-2544 ทั้งนี้เป็นผลจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาคี การใช้ข้อมูลจาก GTAP Dataset Version 6 จะทำให้ประมาณการประโยชน์สุทธิที่ได้จากการเจรจารอบโดฮามีไม่มากเท่าการใช้ข้อมูลจาก Version 5

ความข้างต้นนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่าง World Bank (2003) กับ Anderson and Martin (2006) ในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกในเดือนกันยายน 2546 ธนาคารโลกชี้นำให้ประเทศด้อยพัฒนายอมรับการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรโดยอ้างว่า สวัสดิการทางเศรษฐกิจของสังคมเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 500,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน (Suppan 2005) ในขณะที่ World Bank (2003: 131) สรุปว่า สวัสดิการทางเศรษฐกิจของโลกที่เพิ่มขึ้นจากการเจรจารอบโดฮาอยู่ระหว่าง 400,000 - 900,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน โดยที่มากกว่าครึ่งหนึ่งตกแก่ประเทศด้อยพัฒนา

ในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ณ นครฮ่องกงในเดือนธันวาคม 2548 นายปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการองค์กรโลกบาลแห่งนี้ อ้างผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนว่า การขจัดกำแพงภาษีและเงินอุดหนุนสินค้าเกษตรจะทำให้สวัสดิการของสังคมเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น 574,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน (Suppan 2005) บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจารอบโดฮามิได้มีมากดังที่อวดอ้างกัน

ด้วยเหตุที่ World Bank (2003) ถูกวิพากษ์และโจมตีเป็นอันมาก ธนาคารโลกจึงจัดการให้มีการวิจัยใหม่ โดยใช้ข้อมูลที่ทันสมัยมากกว่าเดิม ทั้งนี้ภายใต้การอำนวยการของศาสตราจารย์คิม แอนเดอร์สัน (Kym Anderson) แห่ง University of Adelaide ประเทศออสเตรเลีย งานวิจัยภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ ทยอยปรากฏสู่โลกวิชาการ โดยที่มีการปรับปรุงข้อมูลและการวิเคราะห์ตามลำดับ (Anderson and Martin 2005; Anderson, Martin, and Valenzuela 2006; Anderson, Martin, and van der Mensbrugghe 2006; Anderson and Valenzuela 2006)

ผลงานวิจัยเหล่านี้รวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือในเวลาต่อมา ดังปรากฏใน Anderson and Martin (2006) ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า การเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่ประกอบกับการเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตร จะให้ประโยชน์แก่สังคมเศรษฐกิจโลกเพียง 55,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน คิดเป็นประมาณ 0.13% ของ World GDP ในจำนวนนี้เป็นประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาเพียง 12,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ซึ่งมีไม่ถึง 22% ของประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Hertal and Keeney 2006)

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจารอบโดฮาตามประมาณการใหม่นี้ต่ำกว่าประมาณการเดิมมาก ยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า การเจรจารอบโดฮาไม่สามารถผลักดันให้เปิดตลาดสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจารอบนี้ยิ่งต่ำลงไปอีก ด้วยเหตุดังนี้ การเจรจารอบโดฮามิอาจเป็น 'รอบแห่งการพัฒนา' ได้ เพราะช่วยแก้ปัญหาความยากจนในสังคมเศรษฐกิจโลกได้เพียงน้อยนิด ทั้งๆ ที่ผลการวิจัยออกมาเช่นนี้ Anderson and Martin (2006: 384) ยังคงกล่าวสรุปว่า "…The potential gains from further global trade reform are large…" จนถูกวิพากษ์โดย Bureau (2006)

ผลการศึกษาของ Anderson and Martin (2006) ประกอบกับ Ackerman (2005) และ Polaski (2006) ยังความยินดีปราโมทย์แก่ขบวนการประชาสังคมที่ต่อต้านองค์การการค้าโลก และลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ในประเทศต่างๆ งานศึกษาผลประโยชน์อันคาดว่าจะได้จากการเจรจารอบโดฮา ถึงจะพยายามธำรงลักษณะวิชาการมากเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดมิอาจปฏิเสธได้ว่า มีลักษณะการเมืองอย่างเด่นชัด

- ด้านหนึ่งผู้คนที่ต่อต้านองค์การการค้าโลก ต่อต้านกระบวนการโลกานุวัตร และต่อต้านลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ล้วนต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างประทศมิได้ให้ประโยชน์แก่ประเทศโลกที่สามอย่างสำคัญ

- ในอีกด้านหนึ่งผู้ที่ขับเคลื่อนกระบวนการโลกานุวัตร และสนับสนุนลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมสมัยใหม่ ล้วนต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ระบบการค้าเสรีให้ประโยชน์แก่มวลมนุษย์ร่วมกัน ดังที่ธนาคารโลกพยายามโหมประโคมว่า การเจรจารอบโดฮาจะให้ประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างมหาศาล

หากองค์การการค้าโลกขยายระเบียบการค้าเสรี ภาคีสมาชิกต้องมีภาระในการปรับโครงสร้างการผลิต โดยผันทรัพยากรจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบไปสู่กิจกรรมที่ยังมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ มิพักต้องกล่าวว่า การปรับโครงสร้างการผลิตอาจมีปัญหาและอุปสรรคทางด้านสถาบันและการเมืองภายในประเทศ หากพิจารณาจากแง่มุมของประเทศด้อยพัฒนา ต้นทุนการปรับโครงสร้างการผลิตดังกล่าวนี้อาจสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนามากที่สุด

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ย่อมมีประเทศที่ได้รับประโยชน์และประเทศที่เสียประโยชน์ แต่ GATT / WTO รวมทั้งชุมชนระหว่างประเทศไม่เคยสร้างกลไกในการถ่ายโอนส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศที่ได้ประโยชน์ ไปช่วยเหลือประเทศที่เสียประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เสียประโยชน์ที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา

หากองค์การการค้าโลกขยายปริมณฑลของกฎกติกาออกไปจากปริมณฑลเดิม ภาคีสมาชิกต้องสูญเสียพื้นที่การดำเนินนโยบาย (Policy Space) เพิ่มขึ้น ต้นทุนอันเกิดจากการสูญเสียปริมณฑลด้านนโยบายดังกล่าวนี้ อาจสูงมากสำหรับประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ (Di Caprio and Gallagher, 2006; Gallagher, 2005, Gallagher, 2007, Hoekman, 2005)

การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก โดยพื้นฐานต้องสูญเสียพื้นที่การดำเนินนโยบายอยู่แล้ว เพราะต้องปฏิบัติตามกฎกติกาขององค์กรโลกบาลแห่งนี้ ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงกฎกติกาขององค์การการค้าโลก ดังนั้น การขยายปริมณฑลของกฎกติกาองค์การการค้าโลกย่อมทำให้ภาคีสมาชิกต้องสูญเสียพื้นที่การดำเนินนโยบายเพิ่มขึ้น จนท้ายที่สุดไม่มีอธิปไตยในการกำหนดนโยบายของตนเองเพราะถูกรัดรึงโดยกฎกติกาองค์การการค้าโลก จนไม่สามารถเลือกเส้นทางการพัฒนาเส้นทางอื่นที่มิได้กำกับโดยฉันทมติวอชิงตัน

ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจ กดดันให้ประเทศโลกที่สามดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีในปริมณฑลต่างๆ แต่ประเทศเหล่านี้ ทั้งยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ล้วนมีประสบการณ์ในการปกป้องอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเทศ แม้จนทุกวันนี้ นโยบายการปกป้องอุตสาหกรรมซึ่งขัดต่อปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ก็ยังคงดำรงอยู่

การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา ดุจเดียวกับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบก่อนหน้านี้ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนา ส่วนผู้เสียประโยชน์ก็เช่นเดียวกันที่มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นการเจรจาและข้อตกลงในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศใหม่ ผลการศึกษาในช่วงหลังให้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเจรจารอบโดฮา มิได้มีมากเท่าการประโคมข่าวในช่วงต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประโคมข่าวของธนาคารโลก

หนังสือเล่มนี้นำเสนอการเก็บความงานวิชาการรายการสำคัญ ที่ประมาณการประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลกหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยผู้อ่านเข้าใจความเคลื่อนไหว และความเป็นไปในวงวิชาการในประเด็นการศึกษาผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
หมายเหตุ เอกสารวิชาการชุดนี้เป็นผลงานของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/Pub/AcademicPaper_19.pdf

บรรณานุกรม

Ackerman, Frank (2005).
"The Shrinking Gains from Trade: A Critical Assessment of
Doha Round Projections", Global Development and Environment
Institute, Tufts University Working Paper No.05-01, 2005.

Anderson, Kym, and Will Martin,
"Agricultural Trade Reform and the Doha Development
Agenda." World Bank Policy Research Working Paper 3607, May 2005.

Anderson, Kym, and Will Martin (eds.),
Agricultural Trade Reform and the Doha Development
Agenda. Palgrave Macmillan and the World Bank, 2006.

Anderson, Kym, Will Martin, and Ernesto Valenzuela,
"The Relative Importance of Global Agricultural Subsidies
and Market Access." World Bank Policy Research Working
Paper 3900, April 2006.

Anderson, Kym, Will Martin, and Dominique van der Mensbrueehe,
"Doha Merchandise Trade Reform: What's at Stake for Developing
Countries?" World Bank Policy Research Working
Paper 3848, February 2006.

Anderson, Kym, and Ernesto Valenzuela,
"Do Global Trade Distortions Still Harm Developing Country
Farmers?" World Bank Policy Research Working Paper 3901, April 2006.

Bureau, J. Christophe
"Book Review: Agricultural Trade Reform and the Doha Development
Agenda by Kym Anderson and Will Martin,"
World Trade Review, 5 (2006), 491-495.

Di Caprio, Alisa, and Kevin P. Gallagher,
"The WTO and the Shrinking of Development Space,"
Journal of World Investment and Trade, 7(5) (October 2006).

Gallagher, Kevin P.
Putting Development First: The Importance of Policy Space
in the WTO and IFIs. London: Zed Books, 2005.

Gallagher, Kevin P.
"Measuring the Cost of Lost Policy Space at the WTO" IRC
Americas Program Policy Brief (March, 2007), IRC Americas,
Center for International Policy, Washington, D.C.

Hertel, T.W., and Roman Keeney,
"What Is at Stake: The Relative Importance of Import Barriers,
Export Subsidies, and Domestic Support," in Kym
Anderson and Will Martin (eds.), Agricultural Trade Reform
and the Doha Development Agenda (Palgrave Macmillan
and the World Bank, 2006), pp. 37-62.

Hoekman, Bernard.
"Operationalizing the Concept of Policy Space in the WTO:
Beyond Special and Differential Treatment," Journal of International
Economic Law 8(2) (2005), 405-424.

Polaski, Sandra
Winners and Losers: Impact of the Doha Round on Developing
Countries. Washington, D.C.: Carnegie Endowment
for International Peace, 2006.

Rodrik, Dani
"How to Make the Trade Regime Work for Development."
JFK School of Government, Harvard University, February 2004.

Rodrik, Dani
"Let the Doha Round Fail." Project Syndicate, November 2005.

Stilitz, Joseph, and Andrew Charlton,
Fair Trade for All: How Trade Can Promote Development.
Oxford University Press, 2005.

Suppan, Steve
"Recalibrating Expectations." Institute for Agriculture and
Trade Policy, Minneapolis, Minnesota, USA (December 1,2005)

8. แนะนำหนังสือ: สังคมเศรษฐกิจไทยใน USTR Special 301Report
สุนทร ตันมันทอง / แนะนำโดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

เอกสารเหตุการณ์ปัจจุบันหมายเลข 8
โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)
พฤษภาคม 2551 (80 หน้า)

กฎหมายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเป็นกฎหมายปกป้องกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชาติ หาได้เป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปไม่ กลไกการปกป้องกิจกรรมทางเศรษฐกิจผุดขึ้นแล้วผุดขึ้นเล่า ในกฎหมายการค้าระหว่างประเทศฉบับต่างๆ

Special 301 และ Super 301 เป็นบทบัญญัติในกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ The Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 ของสหรัฐอเมริกา สาระสำคัญของบทบัญญัติทั้งสอง ก็คือ การสร้างกลไกให้รัฐบาลอเมริกันมีอำนาจในการลงโทษประเทศคู่ค้าที่มีการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกา กลไกเช่นว่านี้มีมาแต่ The US Tariff Act of 1922

Section 301 ปรากฏครั้งแรกใน US Trade Act of 1974 (Section 301-302) ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในการลงโทษประเทศคู่ค้าที่สร้าง 'unjustifiable and unreasonable foreign barriers' ครอบคลุมทั้งการค้าสินค้าเกษตร และสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร ในขณะที่ US Trade Expansion Act of 1962 สร้างกลไกการลงโทษเฉพาะสินค้าเกษตร US Trade Act of 1974 ขยายการลงโทษให้ครอบคลุมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ และการเล่นงานประเทศคู่ค้าที่ใช้มาตรการการอุดหนุนการส่งออก (Export Subsidies) อีกทั้งกำหนดให้ผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกาต้องรายงานต่อรัฐสภาทุก 6 เดือน

US Trade Agreement Act of 1979 ซึ่งเป็นกฎหมายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ
อเมริกาฉบับต่อมา มิได้เปลี่ยนแปลงอำนาจประธานาธิบดี แต่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการไต่สวนปฏิบัติการการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้า ดังเช่นการกำหนดกรอบเวลา การสถาปนากระบวนการปรึกษาหารือกับประเทศคู่ค้าที่ถูกกล่าวหา และการใช้กระบวนการระงับข้อพิพาท (Section 301-306)

US Trade and Tariff Act of 1984 ให้อำนาจ USTR (US Trade Representative - ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ) ในการริเริ่มการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้าได้เอง โดยไม่ต้องรอการร้องเรียนจากอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหาย ปริมณฑลของการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมขยายไปครอบคลุมการละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา และการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ นอกจากนี้ USTR ยังมีหน้าที่จัดทำรายงาน National Trade Estimates เสนอต่อรัฐสภา (Section 301-307)

US Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 ร่างขึ้นท่ามกลางกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากดุลการค้าระหว่างประเทศเริ่มขาดดุลตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 ตามมาด้วยภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังผลให้ภาวะการว่างงานถีบตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันสินค้าออกของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ การส่งออกไม่ขยายตัวเท่าที่ควร นายทุนอุตสาหกรรมและผู้นำกรรมการผสานเสียงกับนักการเมืองเรียกร้องให้ปิดตลาดอเมริกัน โดยอ้างว่า การเปลี่ยนแปลงฐานะการค้าระหว่างประเทศ จากที่เคยเกินดุลอยู่บ้างมาเป็นการขาดดุลนั้นเป็นเพราะประเทศคู่ค้าสร้างอุปสรรคกีดขวางสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน ตลาดอเมริกันกลับเปิดกว้างรับสินค้าเข้าง่ายเกินไป เสียงเรียกร้องให้เล่นงานประเทศคู่ค้าที่มีการค้าอันไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกาจึงดังขรม ทั้งนี้โดยไม่พิจารณาถึงประสิทธิภาพการผลิตที่เสื่อมทราม และค่าเงินดอลลาร์ที่สูงกว่าพื้นฐานที่เป็นจริง

US Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 มีความหนา 467 หน้า หนากว่า US Trade Expansion Act of 1962 ถึง 15 เท่า นับเป็นกฎหมายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ
อเมริกาที่มีความหนามากที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอเมริกัน ความหนาของกฎหมายฉบับนี้เป็นผลจากการต่อสู้ระหว่างกลุ่มพลังชาตินิยมเศรษฐกิจ กับกลุ่มพลังเสรีนิยมเศรษฐกิจภายในสหรัฐอเมริกานั้นเอง หลังจากใช้เวลากว่า 3 ปีในการต่อสู้ ในที่สุดรัฐสภาอเมริกันก็ให้ความเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ในเดือนสิงหาคม 2531 และประธานธิบดีโรนัลด์ เรแกน ลงนามประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในเดือนเดียวกันนั้นเอง

US Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 มีหลักการแตกต่างจาก US Trade Act of 1974 อย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก US Trade Act of 1974 เพ่งพินิจการปฏิบัติของประเทศคู่ค้าที่มีต่อสินค้าออกของสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ สินค้าที่สหรัฐอเมริกาส่งไปขายยังประเทศต่างๆ ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมหรือไม่, มีการปฏิบัติการในการกีดกันสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาหรือไม่. แต่ US Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 ให้ความสำคัญในการพิจารณาปฏิบัติการของประเทศคู่ค้าในการส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐอเมริกา (หรืออีกนัยหนึ่ง สินค้าที่สหรัฐอเมริกานำเข้า)

ประการที่สอง US Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 ให้อำนาจฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้แทนการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (US Trade Representative: USTR) ในการตอบโต้ประเทศคู่ค้าที่มีปฏิบัติการที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐอเมริกามากขึ้น

อาวุธสำคัญของ US Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 ก็คือ บทบัญญัติที่มีชื่อเรียกว่า Super 301 (ซึ่งก็คือ Section 1302 ของกฎหมายนี้) หรือที่รู้จักกันในเกม Gephardt Amendment (ตามชื่อ Richard A. Gephardt สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากมลรัฐมิสซูรี สังกัดพรรคเดโมแครต) บทบัญญัตินี้กำหนดให้ USTR จัดทำรายงานประจำปีระบุชื่อ Priority Foreign Country อันได้แก่ ประเทศที่มีปฏิบัติการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากมีการขจัดปฏิบัติการเหล่านั้นจะช่วยให้การส่งออกของสหรัฐอเมริกาขยายตัว

ต่อมาเมื่อมีประกาศใช้ Uruguay Round Agreement Act of 1994 มีการเปลี่ยนแปลงให้ระบุปฏิบัติการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมแทนการระบุชื่อประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีผลต่อการปฏิบัติงานของ USTR ในสาระสำคัญ กระบวนการประกาศชื่อประเทศที่มีปฏิบัติการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกา (Naming Process) นับเป็นขั้นตอนสำคัญ ประเทศที่ถูกจัดให้เป็น Priority Foreign Country จักต้องถูกไต่สวนและอาจถูกลงโทษด้วยมาตรการต่างๆ USTR จะต้องจัดทำรายชื่อ Priority Foreign Country ภายใน 30 วัน หลังจากที่นำเสนอ National Trade Estimate Report

นอกจาก Super 301 แล้ว US Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 ยังมีบทบัญญัติที่เรียกกันว่า Special 301 (ชื่อสามัญของ Section 1303) ซึ่งกำหนดให้ USTR ไต่สวนและเล่นงานประเทศคู่ค้าที่ละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกา นอกจาก Priority Foreign Country ที่มีบทบัญญัติในกฎหมายแล้ว ต่อมา USTR ยังเพิ่มการจำแนกประเทศอีก 2 กลุ่ม คือ Priority Watch List (PWL) และ Watch List (WL) ต่อมาเมื่อการบังคับใช้ US Uruguay Round Agreement Act of 1994 กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจ USTR เล่นงานประเทศที่มิได้ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกาอย่างพอเพียงและมีประสิทธิผล (adequate and effective intellectual property protection) แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะปฏิบัติตาม WTO Agreement on Trade-Related Aspects of Right (TRIPs) ก็ตาม

นอกจากนี้ US Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 ยังแก้ไขเพิ่มเติม Title VII ของ US Tariff Act of 1930 เพื่อให้สามารถใช้ Anti-Dumping Duty (ADD) และ Countervailing Duty (CVD) ในการปกป้องกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กระบวนการประกาศชื่อประเทศที่มีปฏิบัติการการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกาก็ดี ตลอดจนการตัดสินใช้อากรตอบโต้การทุ่มตลาด (ADD) และอากรตอบโต้การอุดหนุนก็ดี เป็นกระบวนการทางการเมือง หาได้เป็นกระบวนการทางวิชาการไม่ USTR ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศ ทั้งกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง รวมทั้งฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดี) และฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา)

สถิติจำนวนประเทศที่มีปฏิบัติการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกาในสายตา USTR ระหว่างปี 2545-2551 ปรากฏในตารางที่ 1 โดยมีรายละเอียดในภาคผนวก (ข) สูงสุด 52 ประเทศในปี 2547, ต่ำสุด 43 ประเทศในปี 2550. บางประเทศถูกจัดกลุ่มในทางที่ดีขึ้น บางประเทศเลวลง บางประเทศมีทั้งขึ้นและลง รายชื่อประเทศหลักมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก

เอกสารเหตุการณ์ปัจจุบันฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ USTR Special 301 Report และเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า USTR จัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศใด และเปลี่ยนแปลงการจัดกลุ่มอย่างไร (Watch List ระหว่างปี 2545-2549 และ Priority Watch List ระหว่างปี 2550-2551) การรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ประกอบกับการที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ตัดสินใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดกลุ่มประเทศอย่างมิอาจปฏิเสธได้ แม้ว่าไทยจะปฏิบัติตามกฎกติกาขององค์การการค้าโลก แต่ USTR สามารถอ้าง US Uruguay Round Agreement Act of 1994 ในการเล่นงานไทยได้ การเปลี่ยนแปลงการจัดกลุ่มประเทศเป็นการตัดสินใจทางการเมือง มากกว่าเป็นการตัดสินใจจากข้อเท็จจริงว่าด้วยการละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

หมายเหตุ เอกสารข้อมูลชุดนี้เป็นผลงานของโครงการ WTO Watch
(จับกระแสองค์การการค้าโลก) หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก
http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/PubCur/CurrentPaper8.pdf


ตารางที่ 1
จำนวนประเทศที่มีการปฏิบัติการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐอเมริกา
ตามสายตา USTR ระหว่างปี พ.ศ. 2545 - 2551


หมายเหตุ

PFC = Priority Foreign Country
PWL = Priority Watch List
WL = Watch List

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๑ : Release date 4 April 2008 : Copyleft by MNU.
การเจรจารอบโดฮาเริ่มออกอาการโคม่า หลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกในปี พ.ศ.๒๕๔๖ จบลงโดยไร้ข้อสรุปใดๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการเจรจารอบโดฮาต่อไป ที่ประชุมครั้งนั้นไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องสินค้าเกษตร และเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมที่สิงคโปร์ (Singapore Issues) หลังจากแคนคูน. รอบโดฮาก็อยู่ในสภาพไร้ทิศทาง ประเทศสมาชิกกว่า ๑๕๐ ประเทศตกลงกันได้เพียง กำหนดการในการขจัดการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เท่านั้น. ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ฮ่องกงในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๔๘ แม้ว่าจะมีความพยายามในการฟื้นการเจรจารอบโดฮาหลายครั้ง แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่สามารถเป็นแรงผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาหลุดออกจากหล่มได้
H
โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก: WTO Watch คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว.