Everyone is permitted
to copy and distribute verbatim copies of
this licene document,
but changing
it is not allowed. - Editor
อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
การเมืองและความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์
หลากหลายชาติพันธุ์ในพม่า
การเมือง และเรื่องแรงงานทาส
บุษยรัตน์
กาญจนดิษฐ์ : ผู้วิจัย
ส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์
สาขาพัฒนาชนบทศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้วิจัย
ซึ่งเป็นส่วนภาคผนวกของวิทยานิพนธ์
สาขาพัฒนาชนบทศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง
ยุทธศาสตร์การอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า:
กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
SURVIVAL STRATEGIES OF MIGRANT WORKERS FROM MYANMAR:
A CASE STUDY IN BANGKOK, THAILAND
บทความวิชาการต่อไปนี้
ได้คัดมาบางส่วนจากภาคผนวกของวิทยานิพนธ์ของผู้วิจัย
ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในประเทศพม่า โดยมีหัวข้อดังนี้
- ภูมิสัณฐานและประชากร, การเมืองหลังอาณานิคม
- พม่าและชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ, ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์
- การอพยพโยกย้ายภายใต้เงื่อนไขต่างๆ, ความขัดแย้งทางการเมือง ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า
- รูปแบบการบังคับกลุ่มชาติพันธุ์ และการอพยพโยกย้ายมายังประเทศไทย
- การบังคับใช้แรงงานทาสและการเกณฑ์เป็นลูกหาบ
- การบังคับใช้แรงงานในพม่า: โครงการท่อก๊าซไทย-พม่า
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๕๐๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๓ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๒.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
การเมืองและความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์
หลากหลายชาติพันธุ์ในพม่า
การเมือง และเรื่องแรงงานทาส
บุษยรัตน์
กาญจนดิษฐ์ : ผู้วิจัย
ส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์
สาขาพัฒนาชนบทศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงเรื่องทั้งหมดของบทความชิ้นนี้ประกอบด้วย
- ภูมิสัณฐานและประชากร
- การเมืองหลังอาณานิคม
- พม่าและชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ
- ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์
- การอพยพโยกย้ายภายใต้เงื่อนไขต่างๆ
- ความขัดแย้งทางการเมือง ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า
- รูปแบบการบังคับกลุ่มชาติพันธุ์ และการอพยพโยกย้ายมายังประเทศไทย
- การบังคับใช้แรงงานทาสและการเกณฑ์เป็นลูกหาบ
- การบังคับใช้แรงงานในพม่า: โครงการท่อก๊าซไทย-พม่า
ภูมิสัณฐานและประชากร
ประเทศพม่ามีเนื้อที่รวม 678,033 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนด้านตะวันออกที่ติดต่อกับประเทศไทยยาวถึง
2,533 กิโลเมตร และมีพรมแดนด้านอื่นๆ ติดกับประเทศอินเดีย จีน บังคลาเทศ. พม่ามีประชากรรวมประมาณ
50 ล้านคน ประกอบด้วยชาวเบอร์มัน(Burman) และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนของประเทศ
เช่น กะเหรี่ยง(Karen) มอญ(Mon) ไทยใหญ่(Shan) ยะไข่(Rakhine) คะฉิ่น(Kachin)
ชิน(Chin) คะยา(Kayah) กะเรนนี(Karenni) ฯลฯ
ประเทศพม่าแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. รัฐ (State) หมายถึงพื้นที่ที่มีประชากรของชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ แบ่งออกเป็น 7 รัฐ ประกอบด้วย รัฐคะฉิ่น (Kachin State), รัฐฉาน(Shan State), รัฐคะยา(Kayah State), รัฐกะเหรี่ยง (Kayin State), รัฐมอญ (Mon State), รัฐอาระกัน (ยะไข่) (Rakhine State), และรัฐชิน (Chin State)
2. เขตหรือภาค (Division) หมายถึงพื้นที่มีประชากรพม่าหรือชาวเบอร์มัน (Burman) อาศัยอยู่หนาแน่น แบ่งออกเป็น 7 เขต ประกอบด้วย เขตตะนาวศรี (Thaninthayi Division), เขตย่างกุ้ง (Yangoon Division), เขตอิระวดี (Ayeyawady Division), เขตพะโค (Bago Division), เขตมะกวย(Magway Division), เขตมัณฑะเลย์ (Mandalay Division), เขตสะกาย (Sagaing Division)
ประเทศพม่าเคยมีอดีตที่รุ่งโรจน์ ภายใต้การปกครองของกษัตริย์หลายพระองค์ที่พยายามรวบรวมสร้างความเป็นปึกแผ่นเหนือดินแดนลุ่มน้ำอิระวดี ในอดีตประเทศพม่าเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีเทือกเขาสูง ป่าทึบ และมีแม่น้ำอิระวดีเป็นเส้นแดนแบ่งวิถีชีวิตของผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ แม้ช่วงที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ พม่ายังคงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม และยังทำหน้าที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาคเอเชียตลอดมา
การเมืองหลังอาณานิคม
ประเทศพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ.2491 แต่กลับกลายเป็นเอกราชที่นำมาซึ่งสงครามภายในระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ
เมื่อนายพล ออง ซาน ผู้นำการเรียกร้องเอกราชถูกลอบสังหาร และนายพลเนวินขึ้นสู่อำนาจพร้อมไม่ยอมรับสัญญาปางโหลงที่นายพล
ออง ซาน เซ็นร่วมกับผู้นำไทยใหญ่, ฉิ่น, และคะฉิ่น, เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2489
ซึ่งเป็นสัญญาที่ยินยอมให้ชนชาติกลุ่มน้อยปกครองตนเอง ภายหลังได้รับเอกราชแล้วเป็นเวลา
10 ปี
ภายใต้การปกครองเบ็ดเสร็จของนายพลเนวิน การต่อสู้ระหว่างชนชาติกลุ่มน้อยและรัฐบาลพม่ายังคงดำเนินต่อมา พร้อมกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้พม่าถูกนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก จนรัฐบาลเนวินต้องประกาศลดค่าเงินจ๊าต (Kyat) ในเดือนกันยายน2530 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงของประชาชนทั่วประเทศ ตามมาด้วยการปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมกันกลางใจเมืองย่างกุ้งในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 เหตุการณ์การสังหารหมู่ครั้งนั้น เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ 8-8-88 (เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988) และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนชาวพม่าตกอยู่ในภาวะยากแค้นแสนสาหัส และต้องหลบหนีทั้งภัยทางการเมือง และภัยทางเศรษฐกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านตราบจนทุกวันนี้
พม่าและชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ
1. ประชาชนพม่า (Burman)
ประชาชนพม่าส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่ในภาคตะนาวศรี ภาคย่างกุ้ง ภาคอิระวดี ภาคพะโค
ภาคมะกวย ภาคมัณฑะเลย์ ภาคสะกาย โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศพม่า
เป็นศูนย์กลางธุรกิจ อุตสาหกรรม และการปกครอง เช่น อุตสาหกรรมต่อเรือ ซ่อมเรือ
โรงกลั่นน้ำมัน มีมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและมีเจดีย์ที่สำคัญหลายแห่ง.
ในพื้นที่ภาคพะโคเคยเป็นแหล่งปลูกข้าวมากที่สุดในพม่า ซึ่งเป็นเหตุให้พม่าเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
เป็นศูนย์กลางธุรกิจที่รวมสินค้าทั้งระดับสูงและต่ำของพม่า. สำหรับภาคมัณฑะเลย์แทบทุกเมืองมีโรงสีข้าวและการทำประมง
มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 4 ล้านเอเคอร์ พืชเศรษฐกิจคือข้าว ข้าวโพด ฝ้ายและปอ
ทางตอนใต้มีนาเกลือ และภาคมะกวย มีบ่อน้ำมันที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของภาคได้
มีการปลูกงาคุณภาพดี ข้าวฟ่าง และสำลี มีอุตสาหรรมเฟอร์นิเจอร์ จานชาม และล้อเกวียนไม้เคลือบแลคเกอร์
หลังจากที่รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นรายได้หลักของประเทศเมื่อปี 2539 รัฐบาลทหารพม่าได้มีโครงการตกแต่งเมืองให้สวยงาม คนที่อาศัยอยู่ในย่างกุ้งถูกบังคับให้ทาสีบ้านใหม่และให้ช่วยกันทำความสะอาดและขยายถนน และสร้างสวนสาธารณะ มีการบังคับให้อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกเมือง บางรายที่เป็นพ่อค้าถูกบังคับให้เลิกกิจการและให้ย้ายไปอยู่ในที่ที่ขาดแคลนการคมนาคม ไฟฟ้า และน้ำประปา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีงานทำ มีโรคคุกคามอย่างหนัก มีการบังคับใช้แรงงานอยู่ตลอด
เนื่องจากมีการประท้วงอย่างมากมายในปี พ.ศ. 2531 จึงมีกองกำลังทหารประจำการอยู่ ซึ่งมักจะออกลาดตระเวนตามถนนหนทางและปรับปรุงซ่อมแซมเมืองอยู่ตลอด หากมีอะไรเกิดขึ้นจะได้ระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที ย่างกุ้งเป็นที่ตั้งของเรือนจำอินเส่ง (Insein) ที่มีชื่อในทางที่ไม่ดี ซึ่งมีนักโทษการเมืองถูกขังอยู่นับพันคน หลายคนถูกตัดสินโทษเนื่องจากการออกมาแสดงการต่อต้านรัฐบาลและสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งสภาพภายในคุกนั้นโหดร้ายมาก นักโทษถูกเฆี่ยนตีและทรมานเป็นประจำ มีอาหารการกินที่ย่ำแย่และปราศจากการดูแลรักษาพยาบาล
ส่วนชาวนาในภาคอิระวดี มักถูกบังคับให้ขายข้าวบางส่วนที่เก็บเกี่ยวได้ให้แก่รัฐบาลในราคาที่ต่ำ ซึ่งทำให้การหาเลี้ยงชีพเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาการบังคับใช้แรงงานก็เป็นปัญหาหลักอย่างหนึ่งในภาคอิระวดี ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าบังคับใช้แรงงานโดยให้ชาวบ้านขยายสนามบินและขุดคลองเพื่อทำนาข้าว ชาวบ้านในภาคมะกวยถูกบังคับใช้แรงงาน ซึ่งมีประมาณ 80,000 คน ถูกบังคับสร้างถนนที่เชื่อมระหว่าง Yenangyaung - Natmauk
2. กลุ่มชนชาติพันธุ์
2.1 กลุ่มกะเหรี่ยง
เดิมชาวกะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน เช่น มณฑลยูนนาน
กวางเจา กวางตุ้ง กวางไส ซึ่งในขณะนั้นเป็นถิ่นของเผ่าไท ภายหลังได้แบ่งแยกเป็นไทยน้อย
ไทยใหญ่(เงี้ยว) ซึ่งนักประวัติศาสตร์เห็นว่า กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าโบราณที่อพยพมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
หรือทิศตะวันออกของดินแดนสองฝากฝั่งแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของรัฐกะเหรี่ยง
ชนชาติกะเหรี่ยงอาจแบ่งออกได้เป็นกลุ่มย่อยได้สองกลุ่มหลัก คือ สะกอ(Sgaw) และ โป (PWO). กลุ่มสะกอมีจำนวนร้อยละ 60 ของกะเหรี่ยงทั้งหมด และมักจะอาศัยอยู่ทางใต้ของกลุ่มโป. นอกจากนี้ยังมีชาวกะเหรียงกลุ่มย่อยที่เป็นกลุ่มเล็กๆ อีกหลายกลุ่ม เช่น พวกคะยาหรือคะเรนนี (กะเหรี่ยงแดง) ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐคะยาและในจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย และยังมีพวกปะโอ (Pa-O) หรือพวกตองสู (มาจากตองอู) หมายถึง ผู้อาศัยอยู่บนภูเขาในภาษาพม่า พวกนี้แม้จะพูดภาษาซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับภาษาของพวกโปแต่มีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมกับพวกไทยใหญ่มากกว่า ภาษาเขียนทั้งสองกลุ่มใช้เหมือนกัน ภาษาพูดเพี้ยนกันไปบ้างแต่ก็สามารถเข้าใจกันได้ ภาษากลางใช้ภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ
ปัจจุบันกะเหรี่ยงได้แบ่งชนชาติของตนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ยางแดง(กะยา) กับยางขาว (กอทูเล) อาศัยอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอุดมไปด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์และแนวภูเขาหิน มีอาณาเขตติดกับรัฐมอญและภาคพะโค ทางตอนเหนือของภาค มีแม่น้ำสาละวินกั้นระหว่างรัฐกะเหรี่ยงกับประเทศไทย ที่ไหลลงสู่ทะเลในอ่าวเมาะตะมะ. เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงชื่อว่าพะอัน(Pha-an) ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิระวดีตอนล่าง ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสะโตง ลุ่มแม่น้ำสาละวินตอนล่าง และแถบภูเขาตามแนวชายแดนไทย-พม่า
ประชากรชาวกะเหรี่ยงร้อยละ 70 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา ในเมืองหลวงพะอัน (Pha-an) มีสาธารณูปโภคค่อนข้างน้อย นอกจากจะมีถนนที่สร้างโดยบริษัททำไม้ของไทย ซึ่งภายหลังรัฐบาลพม่าใช้ในการทหาร เพื่อต่อต้านกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติ. ในปัจจุบันทุกส่วนของรัฐนั้นเสียหาย เนื่องจากการทำสงครามทำให้เกิดความยากแค้น การเพาะปลูกถูกทำลาย ผู้คนถูกฆ่าตายหรือไม่ก็ถูกบังคับให้ย้ายที่อยู่อาศัย หมู่บ้านถูกเผาทำลายหลายแหล่ง
รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการปราบปรามกิจกรรมของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union หรือ KNU)อย่างหนัก ผู้ที่อยู่ในรัฐกะเหรี่ยงได้รับผลกระทบอยู่ตลอดเวลา มีการบังคับให้ย้ายถิ่นที่อยู่ทั่วไป โดยที่ชาวบ้านมักจะได้รับคำสั่งให้ย้ายออกจากหมู่บ้านเพื่อเคลียร์พื้นที่เพื่อใช้เป็นค่ายทหารเป็นระยะเวลาหลายวัน หรือมิเช่นนั้น ทหารจะทำลายหมู่บ้านและฆ่าคนในหมู่บ้านทั้งหมด มีการบังคับใช้แรงงานโดยทั่วไป ซึ่งบางครั้งชาวบ้านก็ถูกสั่งให้ส่งตัวแทนเพื่อเป็น อาสาสมัครไปเป็นลูกหาบให้กองทัพ มีคนจำนวนมากที่ไปแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย ลูกหาบจะถูกทหารพม่าบังคับให้แบกของหนักเข้าไปในป่า จนกระทั่งไม่สามารถทนต่อความเหน็ดเหนื่อย การขาดแคลนอาหารหรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะถูกทหารฆ่าหรือปล่อยทิ้งไว้ให้ตายเอง บางกรณีถูกใช้ให้ไปเก็บกู้กับระเบิด
2.2
กลุ่มไทยใหญ่
กลุ่มไทยใหญ่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ในเมืองหลวงตองยี (Taunggyi) ประชากรแบ่งออกเป็น
16 กลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทยใหญ่. รองลงมาเป็นชนชาติปะหล่อง ชนชาติปะโอ
ชนชาติว้า ชนชาติคะฉิ่น ชนชาติทน ชนชาติอางซา ชนชาติลาหู่หรือมูเซอ ชนชาติอาข่าหรืออีก้อ
ชนชาติโกก้าง ชนชาติปะต่องหรือคะยา ชนชาติลีซอ ชนชาติยางดำ ยางลาย และยางแดง
ชนชาติต่องเลอ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
รัฐฉานมีพื้นที่ที่กว้างขวางในทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า และมีชายแดนติดกับประเทศจีนและไทย มีแม่น้ำสาละวินไหลผ่านเป็นตามแนวยาวของรัฐจากชายแดนทางตอนเหนือที่ติดกับจีนและลงมายังที่ราบสูงของรัฐฉานไปยังรัฐคะยา รัฐฉานประกอบไปด้วยทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรแร่ธาตุ อาทิ ป่าไม้สัก, ไม้ตึง, ไม้เปา, แร่เงิน, แร่ตะกั่ว, แร่ทองคำ, แร่ทองแดง, แร่เหล็ก, แร่วุลแฟรม, แร่ดีบุก, แร่ทังสเตน, แร่แมงกานีส เป็นต้น
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดอยสูงส่วนใหญ่ทำไร่บริเวณเนินเขา
เป็นระบบไร่หมุนเวียน เมื่อครบ 3 ปีจึงเวียนไปทำที่อื่นและย้อนกลับมาใหม่หลังจากดินได้รับการฟื้นฟู
ส่วนใหญ่เป็นไร่ข้าว, ข้าวโพด, ถั่วเหลือง, (นำไปใช้ทำถั่วเน่า ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวไทยใหญ่),
งา, นุ่น, และฝิ่น
ปัจจุบันมีการพยายามรวมดินแดนของรัฐฉานให้เป็นของประเทศพม่า รัฐบาลทหารได้ทำลายพระราชวังของไทยใหญ่ในเมืองเชียงตุงและอีกหลายเมือง
และเข้ามาจัดการศึกษาเกี่ยวกับพม่าให้แก่เด็กในพื้นที่ รัฐบาลทหารพม่าได้บังคับให้ประชาชนกว่า
3 แสนคนย้ายที่อยู่ ประชาชนมักถูกเกณฑ์ไปบังคับใช้แรงงาน ทั้งโครงการก่อสร้างและเป็นลูกหาบอาวุธให้ทหาร
ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากหนีเข้ามายังประเทศไทย
2.3
กลุ่มมอญ
กลุ่มมอญมักอาศัยอยู่ในรัฐมอญ บริเวณในเมืองหลวงเมาะละแหม่ง(Mawlamyine) และภาคตะนาวศรีบริเวณเมืองหลวงทวาย
(Dawei) และเมืองเมยกุย(Myeik) ในประวัติศาสตร์ชาวมอญเป็นพวกแรกที่อาศัยอยู่ในดินแดนทางตอนใต้ของพม่า
ซึ่งได้ค้นพบอาณาจักรและได้นำภาษาเขียนรวมทั้งศาสนาพุทธเข้ามาสู่พม่า ต่อมาในปี
ค.ศ. 537 เจ้าชาย Samala และเจ้าชาย Wimala สองพี่น้องได้สร้างอาณาจักร Mon Kingdom
Hongsavatoi ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองพะโค (Pegu)ในปัจจุบัน
อาณาจักรแห่งนี้เต็มไปด้วยความสงบสุขและมั่งคั่งเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งถูกราชวงค์เชื้อสายพม่าครอบครองดินแดน ในปี ค.ศ.1757. ผู้ปกครองพม่าได้ทำการบุกรุกและทำลายอาณาจักรมอญ วรรณคดีของมอญซึ่งถูกเขียนลงบนใบปาล์มถูกชาวพม่าทำลาย ภาษามอญกลายเป็นภาษาต้องห้าม ชาวมอญถูกกดขี่ข่มเหงและตกเป็นทาส ทรัพย์สินเงินทองถูกปล้นและเผาทำลาย ชาวมอญได้หนีร่นลงมาทางใต้เรื่อยๆ ยังภาคตะนาวศรี และภาคตะวันตกของประเทศไทย
ปัญหาสำคัญของกลุ่มมอญในปัจจุบันคือ การถูกบังคับใช้แรงงานจากรัฐบาลพม่า ในช่วงปี ค.ศ. 1993-1994 มีประชาชนประมาณ 120,000- 150,000 คนถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟ มีคนเสียชีวิตหลายร้อยคนเนื่องมาจากอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บและความเหน็ดเหนื่อย ทหารของรัฐบาลทหารพม่าได้ประมาณการว่ามีคนเสียชีวิตประมาณ 30,000 คนก่อนที่ทางรถไฟความยาว 100 ไมล์ระหว่างเย-ทวายจะสร้างเสร็จ นอกจากนี้รัฐบาลทหารพม่ายังเกณฑ์แรงงานบังคับให้ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวและสาธารณูปโภคในเมืองทวายและเมกุย แรงงานบังคับต้องตรากตรำใช้แรงงานในการสร้างสนามบิน อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ถนน ท่าเรือ และแม้กระทั่งสนามกอล์ฟ
โครงการที่มีการบังคับใช้แรงงานที่มีชื่อเสียงที่สุดในรัฐมอญคือ การสร้างท่อส่งก๊าซไทย-พม่า ซึ่งท่อก๊าซจะถูกวางเป็นแนวมาจากอ่าวเมาะตะมะ แล้วทะลุผ่านภาคตะนาวศรีเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์แล้ว คนจำนวนมหาศาลที่อาศัยอยู่ตามแนวท่อก๊าซต้องถูกโยกย้าย และเป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้คนที่ไร้ที่อยู่อาศัยเหล่านั้นมาทำงานในการสร้างท่อก๊าซดังกล่าว
2.4
กลุ่มอาระกัน
กลุ่มอาระกันอาศัยอยู่ในรัฐอาระกัน บริเวณเมืองหลวงซิตตวย(Sittway) ชาวอาระกันนับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม
ประชาชนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีอาชีพทำนา ซึ่งเคยผลิตข้าวจำนวนมากแต่ก็ลดลงเป็นระยะ
เพราะชาวนาถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง มีแรงงานใช้ฝีมือในการต่อเรือ และทำการประมง
มีโรงสี โรงน้ำแข็งในบางที่ มีโรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไวน์ในเมือง Kyauktaw
การขาดการพัฒนาทางด้านสาธารณูปโภค และการบริหารที่ผิดพลาดส่งผลต่อเศรษฐกิจของชาวอาระกัน รัฐบาลมักจะบังคับให้ชาวนาขายผลผลิตบางส่วนที่เก็บเกี่ยวได้ในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เกณฑ์ชาวบ้านไปบังคับใช้แรงงานในโครงการก่อสร้างต่างๆ รัฐบาลมีโครงการที่จะสร้างหมู่บ้านตัวอย่าง (Model Village) ไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกษียณอายุแล้ว โดยรัฐบาลได้ยึดที่ดินมาจากชาวบ้านและให้ชาวบ้านที่พลัดถิ่นเข้ามาสร้างหมู่บ้านดังกล่าว
2.5
กลุ่มคะเรนนี หรือคะยา
ชาวคะเรนนีหรือชาวกะเหรี่ยงแดงซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐคะเรนนี กลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่คนไทยรู้จักน้อยที่สุด
ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์รัฐคะเรนนีอยู่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน
ส่วนเหตุผลทางวัฒนธรรมประชากรในรัฐคะเรนนีส่วนใหญ่เป็นชาวเขาต่างเผ่ากับชาวเขาในประเทศไทย.
เหตุผลทางเศรษฐกิจ รัฐคะเรนนีไม่มีตลาดการค้าชายแดนหรือสะพานมิตรภาพเชื่อมสองฝั่งประเทศเป็นหนึ่งเดียว
เช่น สะพานมิตรภาพไทย-พม่าเชื่อมอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมืองเมียวดีในเขตรัฐกะเหรี่ยง,
หรือสะพานการค้าเชื่อมอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กับอำเภอท่าขี้เหล็กในเขตรัฐฉาน.
สิ่งเชื่อมต่อผืนแผ่นดินระหว่างคะเรนนีและแม่ฮ่องสอน มีเพียงภูเขาและสายน้ำเท่านั้น
(วันดี สันติวุฒิเมธี, 2543)
ชาวคะเรนนีส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงชื่อลอยก่อ(Loikaw) อาชีพของชาวบ้านส่วนมากทำการเกษตร พืชเศรษฐกิจคือข้าว มีอุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ ป่าไม้ ประมง เหมืองแร่.ตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวคะเรนนีประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ จนทำให้บางพื้นที่นั้นยากแค้นอย่างมาก ส่งผลให้มีเศรษฐกิจแบบตลาดมืดเกิดขึ้นมากมาย. การบังคับใช้แรงงานเป็นปัญหาใหญ่ ชาวบ้านจำนวนมากถูกบังคับให้ทำงานหนักและมีอันตรายโดยไม่ได้รับค่าแรง ดังเช่นในช่วงแรกของทศวรรษ 1990 ที่มีการสร้างทางรถไฟระหว่างเมืองหลวงของรัฐคะยาคือลอยก่อ(Loikaw) และเมืองอองบัน (Aungban) ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก. แรงงานบังคับได้ถูกใช้ในการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ทั้งๆ ที่ไฟฟ้าที่ผลิตแทบจะไม่ได้ใช้ในท้องที่ แต่ได้ถูกนำไปใช้ในเขตเมืองหลวงของชาวพม่าเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนจำนวนมากถูกบังคับให้ละทิ้งบ้านเรือนเนื่องจากน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน และถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการตัดกำลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และได้ขู่ประหารชีวิตชาวบ้านที่ขัดขืน
2.6
กลุ่มคะฉิ่น
ชนชาติคะฉิ่นอาศัยอยู่ในรัฐคะฉิ่นในเมืองหลวงมิตจินา(Myitkyina) คะฉิ่นนั้นประกอบด้วยชนเผ่ากลุ่มย่อยๆ
ที่สำคัญ 4 กลุ่ม คือ จิงเป่า (Jinghpaw) ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด, รองลงมาคือ อาซิ
(Atsi) ลาชิ (Lashi) และมารู (Maru). สามกลุ่มหลังอาศัยอยู่ใกล้ชายแดนจีน และมีภาษาพูดเป็นของตนเองที่แตกต่างจากกลุ่มที่อยู่ค่อนมาทางพม่า
ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นภูเขาและพื้นที่เนินเขา ทำการเพาะปลูกข้าวแบบไร่หมุนเวียน
ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนใกล้หุบเขาแม่น้ำอิระวดีจะทำการเพาะปลูกข้าว อุตสาหกรรมไม้ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้
โดยมีความต้องการไม้สักจากจีนและไทย
สถานการณ์ทั่วไปในปัจจุบัน อุตสาหกรรมป่าไม้ทำให้เกิดปัญหาป่าไม้ถูกทำลายจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เกิดดินทลายและน้ำท่วม ทำให้มีประชาชนต้องเสียชีวิตไปนับไม่ถ้วน ยาเสพติดนับเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากมีวัยรุ่นจำนวนมากติดเฮโรอีน เพื่อหนีหรือลืมความโหดร้ายในพม่า การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันและการค้าประเวณี ทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของโรคเอดส์. ชาวคะฉิ่นยังคงถูกบังคับใช้แรงงาน ทั้งให้สร้างถนน สนามบิน และเขื่อน และบางคนถูกจับในข้อหานักโทษทางการเมือง
2.7
กลุ่มชิน
ชาวชินนั้นเป็นการผสมผสานกันระหว่างพม่ากับธิเบต และมีเผ่าย่อยๆ ออกไปอีก 52
เผ่า ซึ่งมีอยู่ 9 กลุ่มที่อาศัยอยู่ในรัฐชินอย่างเป็นทางการ เช่น Tiddim ในตอนเหนือ,
Falam, Hakha, Paletwa และ Daletmay รัฐชินตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพม่า มีพื้นที่ติดกับบังคลาเทศและอินเดีย
บริเวณพื้นที่ภูเขามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่เบาบางมาก เนื่องจากสภาพดินที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว
สภาพเศรษฐกิจและสังคม
มีการทำนาแบบขั้นบันไดซึ่งเป็นการช่วยป้องกันหน้าดินพังทลาย ปลูกข้าวโพด ถั่ว
มันฝรั่ง มัสตาร์ด กาแฟ ส้มจีน แอบเปิ้ล มัลเบอรรี่และองุ่น. ประชากรอาศัยสินค้าที่นำเข้ามาจากที่อื่น
การติดต่อสื่อสารและคมนาคมไม่สะดวกเนื่องจากขาดแคลนสาธารณูปโภคและถนน คนส่วนมากมักใช้ขบวนล่อในการเดินทาง
ไม่มีตลาดขนาดใหญ่เพราะพื้นที่เป็นภูเขา ไม่สะดวกในการเดินทางไกลเพื่อซื้อขายสินค้าในแต่ละวัน
รัฐบาลพม่าได้ใช้แผนการย้ายคนเชื้อสายพม่าไปยังรัฐชิน และแยกชุมชนเพื่อสร้างความเป็นพม่าในพื้นที่นี้
รัฐชินเป็นดินแดนที่ยากจนที่สุดในสหภาพพม่า รัฐบาลทหารพม่ายังซ้ำเติมชาวบ้านด้วยการบังคับใช้แรงงานในโครงการก่อสร้างและเป็นลูกหาบให้กองทัพ
ดินแดนนี้ได้ถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่ม เช่น Chin
National Front ซึ่งได้ต่อสู้กับรัฐบาลกลางตั้งแต่กลางช่วงปี ค.ศ. 1980
(http://www.huso.buu.ac.th/sociology/boondoem/myanmar)
ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์
ก่อนพม่าจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอย่างสมบูรณ์ อังกฤษได้ผนวกพม่าและดินแดนของชนกลุ่มน้อยต่างๆ
เช่น ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง คะฉิ่น และมอญ เข้าเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย ซึ่งอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมในขณะนั้น
หลังจากนั้นอังกฤษได้ใช้นโยบายการแบ่งแยกและปกครอง (Divide and Rule) โดยแบ่งการปกครองในพม่าออกเป็น
2 ส่วน คือ เขตพม่าแท้ (Burma Proper) และเขตชายแดน (Frontier Areas) ในส่วนของพม่าแท้ได้รวมดินแดนบางส่วนในรัฐอาระกันและมอญเข้าไว้ด้วย
การปกครองในเขตพม่าแท้อังกฤษจะเข้ามาปกครองโดยตรง ขณะที่การปกครองในเขตภูเขาหรือชายแดนจะใช้การปกครองโดยอ้อม คือ ปล่อยให้ผู้ปกครองเผ่าหรือแคว้นที่เคยปกครองกันมาแต่ดั้งเดิมปกครองต่อไป แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของผู้บริหารชาวอังกฤษ ประชาชนในเขตชายแดนนี้ ได้แก่ ฉาน(ไทยใหญ่) คะฉิ่น คะเรนนี (คะยา) ชิน และกะเหรี่ยง
นโยบายแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความร้าวฉานระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่เพียงอังกฤษจะทำให้รัฐพม่าซึ่งเคยมีอำนาจเหนือรัฐชนกลุ่มน้อยอื่นๆ กลายเป็นเขตปกครองหนึ่งที่มีสถานะเทียบเท่ากับเขตชนกลุ่มน้อย แต่อังกฤษยังยกระดับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มให้มีสถานะเหนือกว่าพม่า เช่น สนับสนุนให้ชาวกะเหรี่ยงเข้ามารับราชการทหาร และตำรวจในกรมกองของอังกฤษมากกว่าสนับสนุนชาวพม่า
ส่วนทางด้านรัฐฉาน อังกฤษได้ยกระดับแคว้นต่างๆ ของเจ้าฟ้าไทยใหญ่ขึ้นรวมเป็นสหพันธรัฐฉาน (Federated of Shan States) และจัดตั้งสภาผู้นำแห่งสหพันธรัฐฉาน (Federal Council of Shan Chiefs) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าฟ้าแคว้นต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลเรื่องของกิจการภายในรัฐฉาน วิธีการดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกร้าวและสร้างศัตรูระหว่างชนชาติพันธุ์กับชนชาติพม่า เพราะทหารและตำรวจซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจะต้องคอยปราบปรามชาวพม่าที่พยายามต่อสู้กับชาวอังกฤษ ทำให้ชาวพม่ารังเกียจ และถึงขั้นเกลียดชังชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมมือเป็นฝ่ายเดียวกับอังกฤษ
ตลอดระยะเวลาที่อังกฤษปกครองพม่าและชนกลุ่มน้อย แม้ว่าอังกฤษจะพยายามให้สิทธิในการปกครองตนเองกับชนกลุ่มน้อยและยกระดับสถานะให้เท่าเทียมหรือเหนือกว่าชาวพม่า แต่ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มต่างก็ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของคนภายนอก และไม่ต้องการให้อังกฤษ ซึ่งเป็น"คนอื่น"เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรบนแผ่นดินของตนเองเช่นกัน
ตลอดเวลาที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมนั้น อังกฤษมีรายได้จากการขายทรัพยากรธรรมชาติในดินแดนชนกลุ่มน้อยเป็นเงินจำนวนมหาศาล โดยแบ่งปันผลกำไรส่วนหนึ่งให้ชนกลุ่มน้อยที่เป็นเจ้าของพื้นที่เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้อังกฤษยังเก็บภาษีจากชาวบ้านทุกทาง เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีทำนา ภาษีทำสวนทำไร่ ภาษีสินค้า เป็นต้น. ชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ จึงต้องการได้แผ่นดินของตนเองกลับคืน
กระแสชาตินิยมต่างๆ เริ่มรุนแรงและปรากฏชัดเจนขึ้นหลังจากญี่ปุ่นเข้ามาปกครองพม่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นอังกฤษต้องการกลับเข้ามาปกครองพม่าและชนกลุ่มน้อยต่อไปแต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากมีขบวนการชาตินิยมเกิดขึ้นหลายกลุ่ม โดยมีแกนนำที่สำคัญ คือ นายพล ออง ซาน ขณะที่ทางฝ่ายชนกลุ่มน้อยก็มีการจัดตั้งองค์กรของตนเอง เช่น ชาวกะเหรี่ยงประกาศขอจัดตั้งเป็นรัฐอิสระ และก่อตั้งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union หรือ KNU) ส่วนเจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้จัดตั้งสภาผู้นำแห่งสหพันธรัฐฉาน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2490 และกำหนดให้วันนี้เป็นวันชาติไทยใหญ่
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2490 ตัวแทนจากรัฐฉาน รัฐฉิ่น และรัฐคะฉิ่น ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่าได้จัดตั้ง "สภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา" (Supreme Council of the United Hill People) ขึ้น โดยในวันเดียวกันนั้นเอง นายพล ออง ซาน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ต้องการให้ชนชาติต่างๆ ร่วมกับพม่าในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งเจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้ตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าหากรัฐฉานไม่มีสิทธิแยกตัวเป็นอิสระหลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็จะไม่ร่วมมือกับพม่าอย่างเด็ดขาด. ต่อมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2490 ที่ประชุมได้มีมติตกลงที่ร่วมกันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่จะร่วมกันเพื่อเรียกร้องเอกราชเท่านั้น หลังจากได้รับเอกราชแล้วทุกรัฐมีอิสระในการตัดสินใจทุกอย่าง ดังนั้นเป้าหมายที่ต้องร่วมกันครั้งนี้เพื่อให้เกิดพลังในการเจรจาต่อรองกับอังกฤษเท่านั้น ในที่สุด วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 เจ้าฟ้าไทยใหญ่ และตัวแทนจากรัฐต่างๆ จึงได้ร่วมลงนามในข้อตกลงปางโหลง ซึ่งนายพล ออง ซานเป็นผู้ร่างขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสาระของข้อตกลงปางโหลงทั้งหมด 9 ข้อ ไม่ได้ระบุถึงสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระ และเมื่อบรรดาเจ้าฟ้าทวงถามนายพล ออง ซาน ได้ตอบว่า "เรื่องสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระนั้น น่าจะนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจะมีผลดีมากกว่าที่จะเขียนไว้ในข้อตกลงปางโหลง" (วันดี สันติวุฒิเมธี, 2544) ดังนั้นสิทธิการแยกตัวของรัฐต่างๆ จึงไปปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าเมื่อปี 2490 ซึ่งนายพล ออง ซานได้ริเริ่มร่วมกันร่างกับผู้แทนชนชาติต่างๆโดยมีข้อความสำคัญ คือ ชนชาติต่างๆ ที่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลง ได้แก่ ไทยใหญ่ คะฉิ่น และชินจะมีสิทธิแยกตัวเป็นอิสระหลังจากอยู่ร่วมกันในสหภาพครบ 10 ปี นับจากวันที่พม่าได้รับเอกราช คือ วันที่ 4 มกราคม 2491 โดยระบุไว้ในบทบัญญัติที่ 10 บรรทัดที่ 202 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้. อนึ่งทางด้านชาวกะเหรี่ยงซึ่งไม่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงปางโหลงนั้น ถือว่าพวกตนมีสิทธิแยกตัวเองออกเป็นอิสระนับจากวันที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่เมื่อรัฐบาลพม่าไม่ยอมให้แยกตัวออกมา ชาวกะเหรี่ยงจึงก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยงเพื่อเรียกร้องอิสรภาพให้ตนเอง
ผู้นำพม่าคนใหม่คือ อูนุ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกของพม่า และนายพลเนวิน ผู้นำทหารมีทัศนคติและนโยบายต่อชนกลุ่มน้อยแตกต่างจากนายพล ออง ซาน อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ขณะที่นายพล ออง ซาน ยอมระบุให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิปกครองตนเองในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 แต่นายกรัฐมนตรีอูนุและนายพลเนวิน กลับไม่ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิดังกล่าว โดยเฉพาะสิทธิในการแยกตัวออกไปเป็นประเทศอิสระ เพราะเกรงว่ารัฐบาลพม่าจะต้องสูญเสียรายได้จากทรัพยากรในดินแดนชนกลุ่มน้อยอย่างมหาศาล นอกจากนี้พื้นที่ที่ชาวพม่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ยังแทบไม่มีทรัพยากรใดๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นเมื่อครบกำหนด 10 ปีหลังจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลพม่าจึงไม่ยอมให้ชาวไทยใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ แยกตัวออกไปปกครองตนเอง
หลังจากนั้นเมื่อนายพลเนวินทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีอูนุ และได้ประกาศยุบสภา รวมทั้งยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 เจตนารมณ์ของข้อตกลงปางโหลงจึงกลายเป็นโมฆะ และไฟสงครามระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ จึงปะทุขึ้น
การอพยพโยกย้ายภายใต้เงื่อนไขต่างๆ
สถานการณ์ชายแดนไทย-พม่า และการลี้ภัยของประชาชนที่เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่าเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่
2 มีนาคม 2505 เป็นต้นมา เนื่องจากนายพลเนวิน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ใช้นโยบาย
"สังคมนิยมวิถีพม่า" (the Burmese Way to Socialism) เป็นระบบการปกครองใหม่ของพม่า.
มีการจัดตั้ง "สภาปฏิวัติ" ขึ้นมาดำเนินงานในการบริหารประเทศ ทำการยกเลิกรัฐธรรมนูญ
ยุบสภา และนำระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารเข้ามาแทนที่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตะวันตก
(นรนิติ เศรษฐบุตร, 2528:18)
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของนายพลเนวิน ส่งผลให้ประชาชนชาวพม่าพากันหลบหนีออกจากประเทศเป็นจำนวนมาก เพราะไม่มั่นใจในการปกครองระบบสังคมนิยม อีกทั้งรัฐบาลใหม่ยังเป็นคณะนายทหาร จึงทำให้ประชาชนหวาดกลัว และจากการปราบปรามนักศึกษาที่ก่อการประท้วงอย่างรุนแรงของสภาปฏิวัติ ทำให้นักศึกษาส่วนหนึ่งหลบหนีการจับกุมมายังประเทศไทย นอกจากนักศึกษาแล้วยังมีนักการเมืองและประชาชนที่ไม่พอใจคณะปฏิวัติและสภาปฏิวัติอีกเป็นจำนวนมาก จึงนับได้ว่าปีนี้เองประเทศไทยเริ่มมีผู้หลบหนีภัยจากพม่าเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มเติมขึ้นมาจากกลุ่มเดิมที่มีมาเป็นประจำนั่นคือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มักหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยยามเกิดความไม่สงบในฝั่งพม่า เกิดความวุ่นวายจากการสู้รบ หรือภัยพิบัติใดๆ ในอดีตที่ผ่านมา (พรพิมล ตรีโชติ, 2548:14-15)
ในขณะเดียวกันสภาปฏิวัติได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้กับกองทัพบก ในการป้องกันประเทศและปราบปรามการก่อการร้ายภายในประเทศ โดยกองทัพบกนั้นนอกจากจะมีกองกำลังอยู่ที่ย่างกุ้งแล้ว ยังมีกองบัญชาการตามเขตต่างๆ ของพม่าอีก 8 ภาค เป็นการกระจายการรักษาความมั่นคงเข้าไปในเขตต่างๆ เพื่อสะดวกในการปราบผู้ก่อการร้ายทั้งจากคอมมิวนิสต์และชนกลุ่มน้อย (นรนิติ เศรษฐบุตร, 2528:20) และภารกิจที่สำคัญของกองทัพบกในขณะนั้นก็คือ การปราบปรามกองกำลังชนกลุ่มน้อย เพราะบรรดาชนกลุ่มน้อยที่ก่อการกบฏนั้นยังเป็นปัญหาอยู่ และรัฐบาลกลางของพม่าแม้ว่าจะพยายามอย่างหนักในการปราบปราม แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ยังคงต่อสู้เพื่อเอกราชของตัวเอง และมีประชาชนให้การสนับสนุนอยู่ แม้จะมิใช่ทั้งหมดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การปราบปรามกองกำลังชนกลุ่มน้อยของกองทัพบกพม่า ส่งผลให้มีชนกลุ่มน้อยและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่รัฐชายขอบ อันได้แก่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐคะยา รัฐฉาน รัฐคะฉิ่น รัฐชิน และรัฐอาระกัน(ยะไข่) ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทั้งสิ้น โดยเฉพาะประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเขตรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา รัฐมอญ และรัฐฉาน ซึ่งมีพรมแดนติดกับชายแดนไทย ต่างพากันหลบหนีภัยเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าปี พ.ศ. 2505 นับเป็นปีที่มีความสำคัญของกระบวนการอพยพข้ามถิ่นของประชาชนจากพม่า ทั้งที่เป็นชาวพม่าเองและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ แต่กลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองและการปราบปรามอย่างรุนแรง กลับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลพม่าหรือสภาปฏิวัติได้หันมาเน้นนโยบายในการปราบชนกลุ่มน้อยอย่างจริงจัง เพื่อกดดันให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยวางอาวุธและยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล และยอมรับอำนาจการปกครองของรัฐบาลพม่าที่ย่างกุ้ง (พรพิมล ตรีโชติ, 2548:16)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 เมื่อรัฐบาลพม่าได้วางนโยบายในการจัดการกับปัญหากองกำลังชนกลุ่มน้อยอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังภายในของประเทศพม่ามาเป็นเวลาช้านาน ประกอบกับรัฐบาลพม่าได้ค้นพบกุศโลบายในการจัดการกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณชายขอบประเทศ ซึ่งเป็นดินแดนติดต่อกับประเทศอื่น อาทิเช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศไทย ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้รัฐบาลพม่าเริ่มวางแผนระยะยาวในการจัดการกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยเหล่านี้อย่างเป็นระบบ
กุศโลบายที่รัฐบาลพม่าค้นพบ คือ การใช้ประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นปัจจัยหลักในการบีบบังคับให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยต้องยอมสวามิภักดิ์หรือยอมจำนนต่อฝ่ายตน โดยการหว่านล้อมให้รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านยกเลิกการให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังเหล่านั้นโดยใช้ผลประโยชน์เป็นตัวล่อ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย (พรพิมล ตรีโชติ, 2548:42)
ช่วงระยะเวลาปลายทศวรรษที่1980 ต่อต้นทศวรรษที่ 1990 เป็นระยะเวลาที่ทหารของพม่าโจมตีกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่าอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบอย่างยิ่ง กองกำลังที่ได้รับผลกระทบได้แก่ กองกำลังมอญ กะเหรี่ยง คะยา และไทยใหญ่ ส่งผลให้มีประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก
ความขัดแย้งทางการเมือง
ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า
ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ปัญหานี้เริ่มรุนแรงขึ้นมากตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ.2490 เพราะพม่าต้องการผนวกเอาดินแดนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ-ชาติพม่า โดยการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญและสัญญาปางโหลง
ที่พม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำขึ้น ซึ่งมีเงื่อนไขและตกลงกันไว้ว่า หากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมมือกับพม่าต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษสำเร็จ
หลังจากนั้น 10 ปี กลุ่มชาติพันธุ์ใดต้องการแยกตัวไปปกครองตนเองก็สามารถกระทำได้
แต่เมื่อครบกำหนด 10 ปี พม่ากลับไม่ปฏิบัติตามสัญญาพร้อมกันนั้นยังส่งทหารเข้าไปยึดพื้นที่ของทุกกลุ่มชาติพันธุ์
เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ-ชาติพม่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีกำลังน้อยจึงกลายเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศพม่านับจากนั้นเป็นต้นมา
และหลังจากพม่ากลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ อำนาจทางการเมืองการปกครองต่างตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า พม่าได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศพร้อมกับดำเนินนโยบายสร้างรัฐ-ชาติให้เป็นนโยบายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ นโยบายทำให้เป็นพม่า (Burmanization)นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อผสมกลมกลืนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้รู้สึกว่าเป็นพม่าพร้อมให้ความจงรักภักดีต่อประเทศพม่ามากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของตน โดยการประกาศให้ภาษาพม่าเป็นภาษาประจำชาติ เปลี่ยนตำราเรียนเป็นภาษาพม่า และให้ใช้ชุดแต่งกายพม่าเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติ. ผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลพม่าดังกล่าวทำให้เกิดกระแสการต่อต้านจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างรุนแรงและหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีสำนึกในชาติพันธุ์ของตนเองสูง จึงต่อต้านนโยบายการทำให้เป็นพม่าอย่างรุนแรง รัฐบาลพม่าจึงได้เข้าปราบปรามอย่างเข้มแข็งและจริงจัง จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ต้องอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง (Human Rights Documentation Unit, 2000:181)
ช่วงระยะเวลาปลายทศวรรษที่ 1980 ต่อต้นทศวรรษที่ 1990 เป็นระยะเวลาที่ทหารของพม่าโจมตีกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่าอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ กองกำลังที่ได้รับผลกระทบได้แก่ กองกำลังของมอญ กะเหรี่ยง คะยา และไทยใหญ่ ส่งผลให้มีประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา ลักษณะการเข้ามาในระยะนี้จะเข้ามาคราวละมากๆ เช่น เป็นจำนวน 100 คนขึ้นไป บางครั้งมากันทั้งหมู่บ้าน ประมาณ 2,000-3,000 คน. การเข้ามาในครั้งนี้จะเข้ามาอยู่อย่างถาวรหรือไม่ก็อยู่นานขึ้น เนื่องจากมีสาเหตุ 2 ประการ คือ (พรพิมล ตรีโชติ, 2548:43-44)
1. กองทัพพม่าไม่ได้ถอนกำลังกลับไปในช่วงฤดูฝน ซึ่งในอดีตเมื่อยกกองทัพมาตีแล้ว พอถึงฤดูฝนก็จะยกทัพกลับไป ประชาชนก็พากันกลับบ้านไปทำมาหากินกันต่อ แต่ในระยะหลังกองทัพพม่าสามารถยึดพื้นที่ได้เป็นการถาวร และตั้งกองร้อยประจำการในบริเวณที่ยึดได้ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้ากลับไปเผชิญหน้ากับทหารพม่า
2. การเข้ามาประจำการของทหารพม่า ทำให้ประชาชนที่เป็นชาวบ้านถูกกระทำย่ำยีจากทหารพม่าในรูปแบบต่างๆ กัน นับตั้งแต่การเกณฑ์แรงงาน การเก็บภาษี ตลอดจนถึงการรีดไถ ปล้นชิงทรัพย์ และแม้กระทั่งข่มขืนผู้หญิงในหมู่บ้าน
สาเหตุ 2 ประการนี้ ทำให้ชาวบ้านที่เป็นชนกลุ่มน้อย ไม่กล้าอพยพกลับบ้านดังเช่นที่เคยปฏิบัติ และตกค้างอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
รูปแบบการบังคับกลุ่มชาติพันธุ์
และการอพยพโยกย้ายมายังประเทศไทย
พม่าเป็นดินแดนที่มีรายงานว่า รัฐบาลทหารละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ไม่ว่าจะเป็นการบังคับชาวบ้านเป็นแรงงานทาส การสั่งอพยพโยกย้าย หรือเผาหมู่บ้านที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนกองทัพชนกลุ่มน้อย
รวมถึงการกดขี่รูปแบบต่างๆ ที่ผลักไสให้คนนับล้านต้องพลัดถิ่นฐาน ผลลัพธ์โดยตรงจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้น
นำมาสู่การถูกละเมิดสิทธิด้านอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบต่อความมั่นคงในชีวิตอย่างรุนแรงต่อมา
การบังคับใช้แรงงานทาสและการเกณฑ์เป็นลูกหาบ
"ผมหนีมาเมืองไทยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เพราะที่ฝั่งโน้น ทหารพม่าบังคับใช้แรงงานชาวบ้านมากเกินไป จนผมไม่มีเวลาทำไร่ทำนาของตัวเองเลย การบังคับใช้แรงงานมีหลายอย่าง ทั้งสร้างถนน สร้างสะพาน แบกไม้ ทำงานในค่ายทหารพม่า และทำนาให้ทหารพม่า" (ผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่อายุ 45 ปี)
"ฉันหนีเข้ามาเมืองไทยหลังจากสามีฉันถูกทหารพม่าฆ่าทิ้งเมื่อ 4 เดือนก่อน ทหารพม่าบังคับให้ชาวบ้านทำงานให้พวกเขา ตั้งแต่เป็นลูกหาบ สร้างถนนและค่ายทหาร สามีของฉันต้องไปทำงานเป็นลูกหาบให้กับทหารพม่าด้วยเหมือนกัน ส่วนฉันไม่ต้องไปเพราะต้องดูแลลูกเล็กๆ สามีของฉันต้องไปทำงานให้ทหารพม่าบ่อยเกินไป จนกระทั่งเขาป่วยหนัก แล้ววันหนึ่งทหารพม่าก็มาที่บ้านของเรา พาตัวเขาไปและฆ่าเขาทิ้ง ฉันจึงพาลูกอพยพมาเมืองไทย" (ผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่อายุ 37 ปี)
"ทุกวันเสาร์ผู้ใหญ่บ้านทุกคนต้องไปประชุมที่ค่ายทหาร ถ้าไม่ไปทหารจะส่งจดหมายสั่งให้เราไป ทหารข่มขู่เราและบอกว่าเราต้องเคารพทหาร ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2545 ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องไปเฝ้าถนน (เพื่อเฝ้าดูว่ามีกองกำลังกู้ชาติชนกลุ่มน้อยเข้ามาในพื้นที่หรือไม่) ทุกๆ สองวัน เราต้องส่งตัวแทนชาวบ้านไปทำงานสองคน โดยเราต้องใช้มือเปล่าควานหากับระเบิดในแอ่งน้ำทุกๆ แอ่งทุกๆ เช้า และรายงานทหารพม่าทราบ" (เพียรพร ดีเทศน์, 2546)
คำพูดข้างต้นเป็นคำบอกเล่าของผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าที่หนีเข้ามาฝั่งไทย เนื่องจากถูกบังคับใช้แรงงานและละเมิดสิทธมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยทหารพม่า สาเหตุของการบังคับใช้แรงงานในพม่านั้นมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยสำคัญมาจากการลงทุนต่างประเทศในโครงการพัฒนา เนื่องจากประเทศพม่าในปัจจุบันยังคงปกครองด้วยรัฐทหาร ซึ่งมีนโยบายการบังคับใช้แรงงานชาวบ้านอย่างเป็นระบบ ซึ่งการบังคับใช้แรงงานดังกล่าวนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ
การบังคับใช้แรงงานนั้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ชายขอบอันเป็นดินแดนของชนกลุ่มน้อยเท่านั้น ในเขตเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวพม่าแท้ ก็ปรากฎการบังคับใช้แรงงานประชาชนในโครงการปรับปรุงสภาพบ้านเมือง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลทหารคาดหวังว่าจะสามารถนำรายได้จำนวนมหาศาลมาสู่ประเทศ โดยในปี 2539 อันเป็นปีที่รัฐบาลทหารประกาศเป็นปีการท่องเที่ยวสหภาพพม่า (Visit Myanmar Year 1996) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวดังกล่าวมีประชาชนถูกเกณฑ์เป็นแรงงานซึ่งรัฐบาลทหารเรียกคนเหล่านี้ว่า "อาสาสมัคร" ในการก่อสร้าง และปรับปรุงอาคารสถานที่ราชการ การสร้างกำแพงและปรับปรุงหน้าบ้านของประชาชนให้สวยงาม การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น การบูรณะพระราชวังมัณฑะเลย์ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2537 ประชาชนและนักโทษจำนวน 2,000 คน ได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ทำความสะอาดขุดลอกคูคลองระยะทาง 6 ไมล์ ลึก 11 ฟุตด้วยมือเปล่าโดยไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือใดๆ(กลุ่มต่อสู้เพื่อพม่า,2539:22) เป็นต้น โดยในแต่ละชุมชนต้องจัดหาแรงงานและเงินตามโควต้าที่รัฐบาลทหารกำหนด หากไม่กระทำตามก็จะถูกปรับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบระดับความรุนแรงของการบังคับใช้แรงงานในประเทศพบว่า ในพื้นที่ชายขอบอันเป็นเขตชนกลุ่มน้อยมีความรุนแรงของปัญหาและรูปแบบการบังคับใช้แรงงานรุนแรงกว่าพื้นที่ของพม่าแท้ ด้วยพื้นฐานความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาทำให้รัฐบาลทหารและกองทัพมองชนกลุ่มน้อยในลักษณะแปลกแยกหรือเกิดการแบ่งพวก. การบังคับใช้แรงงานต่อชาติพันธุ์อื่นในระหว่างการสู้รบเป็นความคุ้นเคยสำหรับกองทัพพม่า ที่เคยปฏิบัติกับเชลยในระหว่างสงครามมาแต่โบราณ ดังนั้นความรุนแรงที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กองทัพรัฐบาลสามารถเข้ายึดครองได้และจัดตั้งค่ายทหาร เพื่อความสะดวกในการควบคุมและเกณฑ์แรงงาน ซึ่งมักกระทำควบคู่ไปกับการบังคับโยกย้ายถิ่น ชาวบ้านที่ได้รับคำสั่งอพยพส่วนใหญ่ต้องย้ายมาอยู่ใกล้ค่ายทหาร และถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ไม่มีอาหารและน้ำให้ ชาวบ้านต้องเตรียมมาเองเช่นเดียวกับเครื่องมือในการทำงานต่างๆ บางครั้งเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำ บางครั้งชาวบ้านต้องใช้มือเปล่าทำงานเนื่องจากขาดแคลนเครื่องมือ เมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน ก็ขาดการดูแลรักษา และมักถูกปล่อยให้ตายไปในที่สุด
รูปแบบหรือลักษณะงานในการบังคับใช้แรงงานของรัฐบาลทหารพม่าต่อประชาชน สามารถจำแนกออกได้ดังนี้
-
การเกณฑ์แรงงานเพื่อทำงานในค่ายทหาร มักเป็นชาวบ้านจากหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกับค่ายทหารของกองทัพรัฐบาลที่เข้ามาจัดตั้งค่ายในพื้นที่
เมื่อมีการเข้ามาจัดตั้งค่ายทหารใหม่ชาวบ้านก็จะถูกเกณฑ์ให้รวบรวมวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างและทำการก่อสร้างค่ายทหารใหม่
เมื่อค่ายทหารแล้วเสร็จทหารของกองทัพจะกำหนดให้แต่ละครอบครัวส่งตัวแทนหนึ่งคนในการสร้างโรงนอนทหาร
ทำบังเกอร์ ขุดสนามเพลาะ และสร้างรั้วรอบค่าย ขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งต้องทำงานอื่นๆ
ในรูปของงานรับใช้ทหารในค่าย ได้แก่ งานทำความสะอาด ซักผ้า งานด้านซ่อมบำรุง
ทำอาหาร ตักน้ำ หาฟืน และเป็นคนส่งสาส์นซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งจากกองทหารแจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้าน
นอกจากนี้ชาวบ้านในพื้นที่ควบคุมยังมีหน้าที่ในการดูแลและเปิดเส้นทางขนส่งเสบียงของกองทัพรัฐบาลในรัศมี
5-10 เมตรตามสองข้างทางของเส้นทางเพื่อลดโอกาสในการถูกโจมตีจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่อาจเข้าโจมตีและแย่งชิงเสบียงของกองทัพ
- การเกณฑ์แรงงานในโครงการเพื่อการพัฒนาของรัฐ
ในการพัฒนาประเทศโดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อรองรับการลงทุนจากนักธุรกิจต่างชาติทำให้รัฐบาลทหารวางแผนในการก่อสร้างถนน
สะพาน และสนามบินในเมืองสำคัญต่างๆ รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านพลังงานที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน
เช่น โครงการท่อส่งก๊าซจากแหล่งยาดานาในอ่าวเมาะตะมะ และโครงการเขื่อนสาละวินที่ทำข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลไทย
หรือโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมจากจีนตอนใต้ เชื่อมมายังย่างกุ้งตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยผลักดันให้มีการดึงประชาชนเข้าสู่ระบบการเกณฑ์แรงงาน เพื่อการก่อสร้างตามโครงการพัฒนาของรัฐทั่วประเทศ
โดยประชาชนถูกบังคับให้ทำงาน 2 อาทิตย์ต่อเดือนหรือบางครั้งชาวบ้านต้องถูกเกณฑ์แรงงานตลอดทั้งปี
โดยได้รับอนุญาตให้หยุดพักได้เพียง 1-2 เดือนในช่วงฤดูฝนของทุกปี ตัวอย่างเช่น
กรณีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากเมืองเย ในรัฐมอญ ถึงเมืองทวายในภาคตะนาวศรี รวมระยะทางทั้งสิ้น
110 ไมล์ เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2536 เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงการซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาของรัฐบาลทหารพม่ากับบริษัทยูโนแคล
บริษัทโทเทล และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านจากเมืองเย (Ye)
เมืองตันบิวซายัด (Thanbyuzayatt) และเมืองมูดอน(Mudon) ในรัฐมอญถูกเกณฑ์แรงงานวันละ
20,000 คน รวมทั้งชาวบ้านจากเมืองเยบิว(Yebyu) ทวาย (Tavoy) หลวงลอง (Luanglon)
และทาเยทจอง (Thayet Chaung) ในตะนาวศรีถูกเกณฑ์แรงงานวันละ 28,000 คน หรือเมืองละ
7,000 คนต่อวัน ทำงานอย่างหนักในการก่อสร้างคันทางรถไฟสูง 8 ฟุต กว้าง 12 ฟุต
เป็นระยะทาง 110 ไมล์ ซึ่งประมาณว่ามีการใช้แรงงานประชาชนในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟดังกล่าว
120,000 - 150,000 คน (Karen Human Rights Group,1998). กรณีการสร้างทางรถไฟจากเมืองลอยกอว์(Loikaw)
ถึงอองบาน(Aungban) ในรัฐคะเรนนี เมื่อปี 2535 ที่มีการเกณฑ์แรงงานชาวบ้านประมาณ
20,000-30,000 คน
การขยายเส้นทางคมนาคมโดยการสร้างโครงข่ายถนนในรัฐกะเหรี่ยงจากเมืองกอกะเรก(Kawkareik) และเมืองจองโด (Kyone Doh) ไปยังเมืองนาบู(Nabu) ซึ่งขยายเส้นทางเชื่อมเครือข่ายถนนจากเมืองนาบู(Nabu)-บีต๊ะกา(Bee T,ka) และผาอินจอง(Pain Kyone) นาบู(Nabu) - ปาตา(Pata) นาบู(Nabu)-ดอว์ลาน(Daw Lan) และจองยะวา(Kyone Ywa) ผาอินจอง(Pain Kyone) -พะอัน(Pha-an) ชาเวกุน(Shwegun)-เมียงจีงู(Myaing Gyi Ngu). การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองเมียงกาเล(Myaing Galay) ในรัฐกะเหรี่ยง(พึ่งอ้าง,1998) และโครงการขยายสนามบินที่บะวิน(Bassien)ในเขตอิระวดี ปี 2537 มีประชาชนถูกเกณฑ์แรงงานถึง 30,000 คนในการก่อสร้างสนามบิน และประชาชนกะเหรี่ยงอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกเกณฑ์แรงงานในการก่อสร้างถนนตามโครงการความร่วมมือขยายเส้นทางคมนาคมระยะทาง 120 กิโลเมตร ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าปี 2542 มูลค่า 1.2 พันล้านบาท (อ้างแล้ว,1998)
-
การเกณฑ์แรงงานในภาคการเกษตร รัฐบาลทหารได้ทำการริบที่ดินของประชาชนไปโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ใกล้ที่ตั้งค่ายทหาร ซึ่งนอกจากจะถูกยึดที่ดินทำกินแล้ว
ยังถูกบังคับให้เป็นแรงงานภาคการเกษตรในการเพาะปลูกบนที่ดินอันเคยเป็นของตน เพื่อนำผลผลิตดังกล่าวเป็นเสบียงแก่ทหารที่มาตั้งค่ายประจำการอยู่ในพื้นที่นั้นๆ
รวมทั้งต้องเพาะปลูกพืชพาณิชย์ เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ ให้แก่กองทัพตามโควตาและราคาที่ถูกกำหนด
โดยรัฐบาลซึ่งนำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากการบังคับซื้อดังกล่าว ส่งเป็นสินค้าออกนำรายได้มาบำรุงกองทัพต่อไป
เช่น ในรัฐฉานกองทัพรัฐบาลบังคับเกณฑ์ชาวบ้าน 20,000 คนจากหมู่บ้านวันซาม(Wan
Zarm) 6,032 คน จากหมู่บ้านนาร์งู(Nar Ngu) และ 750 คนจากหมู่บ้านน้ำตวงกอง (Nam
Tawng Kong) ให้ปลูกข้าวโพด งา และถั่วเหลืองเป็นพื้นที่ 600 เอเคอร์ใกล้หมู่บ้านน้ำตวงกองให้แก่กองทัพ(Karen
Human Rights Group,1998)
การถูกบังคับให้เป็นแรงงานภาคการเกษตรแก่กองทัพโดยไม่ได้รับผลตอบแทนและการถูกบังคับให้ต้องขายผลผลิตในราคาต่ำแก่รัฐบาลทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการผลิต
รวมทั้งต้องรับภาระในการเสียภาษีแก่รัฐบาล 20,000-100,000 จ๊าต/หมู่บ้าน/ปี และหากหมู่บ้านใดอยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหมู่บ้านนั้นก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงตามไปด้วย
- การเกณฑ์แรงงานในลักษณะลูกหาบ การถูกบังคับเกณฑ์เป็นลูกหาบนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยหวาดกลัวมากที่สุด เนื่องจากต้องเผชิญกับการปฏิบัติอันเลวร้ายจากรัฐบาลทหารพม่า และอยู่ในสภาพที่ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ตลอดเวลา การเกณฑ์ลูกหาบมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยอยู่ หรือเกิดขึ้นในพื้นที่สีน้ำตาล(Brown Area) เมื่อทหารรัฐบาลเข้าทำลายหมู่บ้านของชนกลุ่มน้อย หากเป็นช่วงที่มีการต่อสู้อย่างหนักกองทัพก็จะมีคำสั่งกำหนดโควต้าส่งไปยังผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านต่างๆ หรืออาจมีการบุกเข้าจับประชาชนตามบ้านเรือน ที่ทำงาน สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ ท่าเรือ โรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่โรงเรียน และคนเดินถนนทั่วไปที่ทหารพบเห็น ส่วนใหญ่เป็นชายฉกรรจ์อายุ 18-40 ปี แต่หากมีความต้องการลูกหาบเป็นจำนวนมากอาจเลือกเอาคนชรา เด็ก และสตรีด้วย ซึ่งลูกหาบผู้หญิงนั้นต้องเสี่ยงต่อการถูกข่มขืน และการล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ
การเกณฑ์แรงงานลูกหาบจำแนกได้ 3 รูปแบบ ได้แก่
1) ลูกหาบประจำกองพล กองทัพจะมีคำสั่งไปยังหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณที่มีการตั้งค่ายทหารให้จัดส่งคนมาทำงานที่ค่ายทหาร ตามโควต้าที่กำหนดขึ้น โดยคำนวณจากจำนวนประชากรในหมู่บ้านเป็นระยะเวลาครั้งละ 5-10 วัน หากเจ็บป่วยหรือไม่สามารถมาทำงานเป็นลูกหาบในค่ายได้ ด้วยเหตุสุดวิสัยอื่นๆ ก็ต้องว่าจ้างผู้อื่นให้มาทำงานแทนในอัตราค่าจ้างวันละ 100 จ๊าต (Karen Human Rights Group,1998) ทั้งนี้ลูกหาบต้องนำเสบียงอาหารและเครื่องนอนมาเอง และสามารถกลับบ้านได้เมื่อมีคนมาผลัดเปลี่ยนตามกำหนดเวลา อย่างไรก็ดีลูกหาบกลุ่มนี้ถือว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับลูกหาบกลุ่มอื่น เพราะมีอาหาร น้ำบริโภค แม้จะต้องจัดเตรียมมาเองและโดยปกติไม่ต้องเดินทางไปแนวหน้า2) ลูกหาบในการปฏิบัติการทางทหาร ลูกหาบในกลุ่มนี้มักถูกบังคับเกณฑ์มาในระหว่างที่กองทัพรัฐบาลบุกเข้าทำลายหมู่บ้านของชนกลุ่มน้อย หรือถูกจับตัวมาจากสถานที่ชุมนุมต่างๆ และมักเป็นลูกหาบที่มาจากพื้นที่อื่นที่มิใช่คนในพื้นที่สู้รบนั้น เพื่อป้องกันมิให้สามารถหลบหนีได้ ลูกหาบกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากต้องติดตามกองทหารในการรบแนวหน้า โดยมักถูกใช้ให้เดินนำหน้าทหารเพื่อเคลียร์ทุ่นระเบิด(Human Minesweeper) และถูกใช้ให้เป็นโล่มนุษย์(Human Shield) กันกระสุนให้แก่ทหารรัฐบาลในระหว่างการปะทะกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย รวมทั้งไม่ได้รับอาหารน้ำเพียงพอทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เจ็บป่วยและไม่สามารถทำงานได้ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้ถูกลงโทษ และถูกสังหาร หรือถูกปล่อยให้เสียชีวิตเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่ลูกหาบคนอื่น หากลูกหาบที่มีอยู่หลบหนี กองทัพก็จะกวาดต้อนคนกลุ่มใหม่หรือเรียกตัวลูกหาบประจำกองพลมาประจำการแทน
3) ลูกหาบตามสะดวก เป็นลูกหาบที่ถูกทหารจับตัวมาจากริมทางสำหรับขนของเป็นการชั่วคราว หรืออาจถูกบังคับใช้งานต่อในการปฏิบัติการทางทหารโดยตั้งข้อกล่าวหาต่างๆ เพื่อให้ต้องอยู่รับใช้กองทัพต่อไป เช่น กล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ หลบเลี่ยงไม่จ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือไม่สามารถส่งมอบผลผลิตการเกษตรได้ตามโควต้าที่รัฐบาลกำหนด เป็นต้น. สิ่งเหล่านี้ก็จะถูกใช้เป็นข้ออ้างในการลงโทษความผิดที่ประชาชนเหล่านี้มิได้กระทำ ให้ต้องมาเป็นลูกหาบให้แก่กองทัพ. งานในหน้าที่ของลูกหาบโดยทั่วไป ได้แก่ การแบกขนเสบียงอาวุธให้กับกองทหารตรวจการ , การขนส่งเสบียงไปยังค่ายทหารที่ตั้งฐานประจำอยู่ในท้องถิ่น, การเฝ้าประจำยามเพื่อระวังภัยจากการบุกโจมตีของกองกำลังชนกลุ่มน้อย และทำหน้าที่ทั่วไปตามที่ได้รับคำสั่งในค่ายทหาร เช่น การสร้างบังเกอร์ เคลียร์พื้นที่บริเวณรอบค่ายทหาร เพื่อป้องกันการซุ่มโจมตีจากกองกำลังชนกลุ่มน้อย และการฝังทุ่นระเบิด เป็นต้น
บรรดาชนกลุ่มน้อยที่ถูกเกณฑ์แรงงานเป็นลูกหาบนั้น เป็นกลุ่มที่ถูกกระทำละเมิดมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง นอกจากการถูกบังคับให้แบกขนเสบียงอาวุธที่มีน้ำหนักมาเป็นระยะทางไกลแล้ว ในระหว่างการสู้รบยังถูกใช้เป็นโล่กันกระสุนให้ทหารของรัฐบาล ถูกใช้ให้เดินนำหน้ากองทหารเพื่อเคลียร์ทุ่นระเบิด บางครั้งถูกบังคับให้สวมเครื่องแบบทหารของรัฐบาลเพื่อเป็นเหยื่อล่อกองกำลังฝ่ายต่อต้าน และยังถูกทำร้าย ถูกสังหาร โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ในปี 2541 คณะกรรมการไต่สวนขององค์การแรงงานโลกพบว่า มีการใช้แรงงานทาสอย่างกว้างขวางและเป็นระบบในพม่า. ในปี 2542 รัฐบาลทหารมีคำสั่งที่ 1/99 ให้ฐานทัพทุกแห่งลงโทษผู้ที่บังคับให้มี "การเอาแรง" หรือการบังคับเป็นลูกหาบ ถึงอย่างนั้นทหารพม่าก็ยังคงบังคับให้พลเรือนก่อสร้างฐานทัพ หลุมเพลาะ สร้างรั้วสำหรับค่ายทหาร ให้ไปนำไม้ไผ่มาเพื่อก่อสร้างอาคาร ให้นำน้ำและอาหารมาให้ ช่วยถางพื้นที่ ก่อสร้างฐานทัพ ช่วยสร้างถนนตรวจการณ์ ทำหน้าที่จิปาถะและทำงานในไร่โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด ถ้าขัดขืนก็จะต้องถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก อดีตทหารพม่าคนหนึ่ง ซึ่งเคยทำหน้าที่เกณฑ์แรงงานบอกเล่าประสบการณ์ของเขาว่า
"กองพันทหารเบาที่ 72 จะมาเกณฑ์แรงงานชาวบ้านเป็นประจำ ผู้บัญชาการกองพันต้องการได้แรงงาน 20 คน จากแต่ละหมู่บ้านโดยรอบ บางครั้งจะมีการบอกให้ชาวบ้านมารวมตัวกันและเดินทางออกไป โดยไม่แจ้งว่าให้ไปทำงานที่ไหนหรือเป็นระยะเวลาเท่าไร ถ้าชาวบ้านไม่อยากไปก็จะต้องจ่ายเป็นเงินแทน ผู้ที่ไม่มีเงินจ่ายและปฏิเสธจะไปทำงานก็จะถูกทุบตีหรือถูกยิง ผมได้เห็นมากกว่าหนึ่งคนที่ถูกฆ่าด้วยเหตุผลดังกล่าว"
นอกจากการบังคับให้มา "เอาแรง" ตามค่ายทหารแล้ว ทหารพม่ายังบังคับพลเรือนให้ทำหน้าที่ลูกหาบ โดยช่วยขนอาวุธยุทธภัณฑ์และเสบียง และทำหน้าที่เป็นกองหน้าในการกู้ระเบิด ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล ลูกหาบที่เคยทำงานอย่างหนักคนหนึ่งกล่าวว่า "ส่วนใหญ่พวกเราต้องช่วยขนอาหาร กระสุนปืนและอุปกรณ์ด้านทหาร" ลูกหาบหลายคนเสียชีวิตเนื่องจากถูกทรมาน ถูกกับระเบิดและเจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้งการขาดสารอาหารและมีสุขภาพไม่ดี "ครั้งหนึ่งผมเห็นลูกหาบที่ไม่มีแรงจะยกของได้อีกต่อไป เขาถูกทหารพม่าตีจนตาย"
การบังคับใช้แรงงานในพม่า:
โครงการท่อก๊าซไทย-พม่า
ตัวอย่างสำคัญของการบังคับใช้แรงงานในพม่า คือ โครงการท่อก๊าซไทย-พม่า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่สร้างโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประชาชนในประเทศพม่าโดยเฉพาะในรัฐมอญ
ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว บริษัทเจ้าของโครงการต้องมีความช่วยเหลือจากกองกำลังทหารพม่า
โดยกองกำลังทหารได้ให้การสนับสนุน 3 ขั้นตอน คือ
- ขั้นที่หนึ่ง เข้าไปคุ้มกันพื้นที่ก่อนที่จะมีการก่อสร้าง โดยใช้กำลังบังคับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
และกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนนับไม่ถ้วน
- ขั้นที่สอง เมื่อมีการก่อสร้างบนชายฝั่ง เช่น ถนน และแคมป์ก่อสร้าง งานทั้งหมดควบคุมโดยทหารพม่า
โดยใช้บังคับใช้แรงงานประชาชน และ
- ขั้นสุดท้าย ทหารพม่าส่งกำลังคุ้มกันท่อก๊าซ
แม้การก่อสร้างท่อก๊าซจะเสร็จสิ้นลง
แต่ประชาชนก็ยังถูกบังคับใช้แรงงานโดยหน่วยคุ้มกันท่อก๊าซ จากการสัมภาษณ์ของอิมเมจเอเชีย
ในหลายปีที่ผ่านมายืนยันได้ว่า ยังมีการเกณฑ์ชาวบ้านไปเป็นลูกหาบ และบางครั้งชาวบ้านก็ถูกทำร้ายและทิ้งไว้ให้ตายไป
ดังที่ผู้ลี้ภัยซึ่งเดินทางออกมาจากเขตท่อก๊าซเล่าว่า "ในปี 2544 ผมต้องไปเป็นลูกหาบ
10 ครั้ง พวกเขามาตรวจตราความปลอดภัยของท่อก๊าซ และพวกเราต้องหาบอาหาร อุปกรณ์
ให้พวกเขา และทำทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ"
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
สารบัญเนื้อหา
7 I สารบัญเนื้อหา
8
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
are a long-standing
concern for the international community and
human rights organizations. There is general agreement that the military
regime in Burma is one of the world's most repressive and
abusive regimes. Brad Adams, director of Human Rights Watch's Asia division,
in a 2004 address described the human rights situation
in the country as appalling: "Burma is the textbook example of a police
state. Government informants and spies are omnipresent. Average Burmese
people are afraid to speak to foreigners except in most superficial of manners
for fear of being hauled in later for questioning or worse.
There is no freedom of speech, assembly or association."