บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกชิ้นที่เผยแพร่ เป็นสมบัติสาธารณะ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ ภายใต้นโยบายลิขซ้าย (copyleft) เพื่อสังคมไทย



สำหรับผู้สนใจส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ความยาวไม่น้อยกว่า ๑๐ หน้ากระดาษ กรุณาส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
นักศึกษาและผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่แบนเนอร์ข้างบนนี้
อุดมศึกษาทางเลือก สำหรับผู้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014

Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licen
e document, but changing
it is not allowed. - Editor
อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๐๙ เผยแพร่วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ : date 16 March 2008
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี รวมบทความทั้งหมดจำหน่ายเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการดำเนินงานเว็บไซต์ หากสนใจสั่งซื้อได้ที่อีเมล์ midnightuniv(at)gmail.com
H

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
ค้นหาบทความโดยคลิกที่แบนเนอร์และใส่คำค้นที่สำคัญ



16-03-2551 (1509)

อุตสาหกรรมตะวันตกดิน: ความขัดแย้งระหว่างรัฐ ทุน และประชาชน
ความตายของมดที่โรงพยาบาล ความตายของชาวบ้านที่บางสะพาน
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บทความทั้งหมด รวบรวมมาจากเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์

บทความต่อไปนี้จำนวน ๕ เรื่อง เขียนโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
บรรณาธิการนิตยสารสารคดี ซึ่งเคยเผยแพร่แล้วทั้งใน นสพ.มติชน
และเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ ประกอบด้วยบทความดังต่อไปนี้
๑. ชีวิตและความตายของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
๒. ๑๐๐ วัน วนิดา กับเขื่อนปากมูน
๓. ความฝันของชาวบางสะพาน กับความฝันของสหวิริยา
๔. อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก คำถามถึงสภาพัฒน์ฯ
๕. มาบตาพุด: เมื่อสุขภาพเดินตามรอย ความเจริญทางเศรษฐกิจ

สองเรื่องแรก เกี่ยวข้องกับชีวิตเบื้องลึก เบื้องหลัง และการจากไปของ
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
ส่วนสามเรื่องหลังคือเบื้องลึก เบื้องหลัง และความรุนแรงที่อุตสาหกรรมหนัก
เขตภาคตะวันออก ร่วมกับหน่วยงานของรัฐก่อขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งที่
ปรากฏเป็นรูปธรรม ระหว่างบริษัทสหวิริยากับชาวบ้านบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์
รวมไปถึงมลพิษที่มาบตาพุด ซึ่งมีผลต่อชีวิตมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ภายใต้ทางเลือกการพัฒนาที่ไม่ฉลาดตามแนวทางอุตสาหกรรมตะวันตกดิน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๐๙
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อุตสาหกรรมตะวันตกดิน: ความขัดแย้งระหว่างรัฐ ทุน และประชาชน
ความตายของมดที่โรงพยาบาล ความตายของชาวบ้านที่บางสะพาน
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บทความทั้งหมด รวบรวมมาจากเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ เขียนโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

๑. ชีวิตและความตายของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
พ่อของมด (มด ชื่อเล่นของวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) ได้เคยบอกกับผู้เขียน หลังจากทราบว่าลูกสาวคนโตป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และไม่มีทางรักษาแล้วว่า"ลูกสาวคนนี้ ลำบากมาตลอดชีวิต". มดป่วยเป็นโรคร้ายมานานแล้ว ประมาณปี 2547 มดเคยบอกเพื่อนสนิทว่า คลำเจอก้อนเนื้อบริเวณหน้าอก เพื่อนได้บอกมดให้ไปตรวจร่างกาย แต่ช่วงเวลานั้น เธอต้องเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปพบปะพี่น้องคนจนทั่วประเทศที่ขอคำปรึกษาในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

คนทั่วไปอาจจะทราบว่ามดทำงานต่อสู้เคียงข้างชาวบ้านปากมูน เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมมาตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี แต่หลายคนคงไม่ทราบว่าเธอเข้าไปช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาชาวบ้านที่ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม ไม่ว่ากรณีท่อก๊าซ ปตท.ที่กาญจนบุรี สงขลา กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด กรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนสาละวิน เขื่อนสิรินธร ไปจนถึงบรรดาผู้ป่วยจากมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ จนสามารถรวมตัวเป็นองค์กรชาวบ้านเข้มแข็งที่สุดในนามของสมัชชาคนจน

พี่มดไม่เคยปฏิเสธคนเหล่านี้ที่มาขอคำปรึกษาในการเคลื่อนไหวเรียกร้องความชอบธรรม แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง. ผู้เขียนจำได้ดีว่า เมื่อหลายปีก่อนที่ชาวบ้านบ่อนอกประท้วงโดยการปิดถนน รองอธิบดีกรมตำรวจคนหนึ่งได้โทรศัพท์ทางไกลมาหาพี่มด เพื่อขอร้องให้เป็นตัวกลางไปช่วยเจรจากับชาวบ้าน. จากบ้านไปอยู่อีสานนานหลายเดือน กลับมาบ้านเห็นหน้าพ่อแม่ได้ไม่กี่ชั่วโมง เที่ยงคืนนั้นเธอก็เก็บเสื้อผ้าเตรียมลงใต้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายชาวบ้าน

ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ ได้ทำให้คนยากคนจนจำนวนมากที่เคยเกรงกลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่เคยตัวสั่นงันงกเมื่ออยู่ต่อหน้าบุคคลในเครื่องแบบ ได้รู้สึกถึงสิทธิในความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องความถูกต้อง กล้าพูดจาตอบโต้บุคคลระดับผู้ว่าราชการจังหวัดไปถึงระดับรัฐมนตรีอย่างไม่หวั่นเกรง. ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ เคยถูกคู่กรณีที่เขื่อนปากมูนใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นเมียน้อย กระทั่งพิมพ์ใบปลิวร่อนไปทั่วเมืองอุบลฯ กล่าวหาว่าเป็นชู้กับผู้นำชาวบ้าน และรับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหว ไม่ให้เมืองไทยมีการพัฒนา

หลายปีก่อนน้องชายคนหนึ่ง ได้มอบรถแวนโตโยต้าสีขาวเก่าๆ คันหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการทำงานของพี่สาว ปรากฏว่าคู่กรณีไปปล่อยข่าวออกตามวิทยุกระจายเสียงว่า นังวนิดาเอาเงินที่ได้จากต่างชาติไปออกรถแกรนด์เชอโรกีสีขาว ป้ายแดงคันละหลายล้านบาท. ผู้หญิงคนนี้มีพ่อเป็นเพื่อนรุ่นน้องนายธนาคารที่ชื่ออุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน อาศัยอยู่บนถนนสีลมตั้งแต่เด็ก และเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนมาจบระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม

แม้ว่าพ่อจะเป็นเจ้าของโรงงานยากันยุงขนาดเล็ก แต่กิจการในช่วงหลังไม่ค่อยดี และยังต้องส่งเสียลูกๆ ให้เรียนหนังสือ 7 คน มดในฐานะลูกสาวคนโตจึงต้องคอยเลี้ยงดูน้องๆ ที่ยังเล็กอีก 5 คน แม้ว่าในขณะนั้นเธอได้เข้าร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง ในระหว่างเป็นนักเรียนช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516. ปี พ.ศ.2517 มดสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่สามปีแรกในชีวิตมหาวิทยาลัย เธอเป็นเด็กกิจกรรมแถวหน้าสุด ไปเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกรรมกรตามโรงงานต่างๆ โดยเฉพาะคนงานโรงงานผลิตกางเกงฮาร่า จนถูกตำรวจจับติดคุกหลายวัน

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อกระทิงแดงและตำรวจบุกเข้ามามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มดเป็นนักศึกษาคนแรกๆ ที่ทางการหมายหัว ต้องการตัวมากที่สุด แต่โชคดีที่พรรคพวกเอาตัวไปซ่อนไว้ในบ้านแห่งหนึ่งแถวท่าพระจันทร์ ก่อนที่มดจะตัดสินใจเข้าป่าเช่นเดียวกับเพื่อนนักศึกษาหลายพันคน

สามปีกว่าผ่านไป มดออกจากป่า กลับมาเรียนหนังสือต่อ และย้ายมาเรียนจนจบคณะรัฐศาสตร์ แต่เป็นช่วงเวลาที่พ่อถูกจับ ถูกฟ้องล้มละลาย เพราะไปเซ็นเช็คค้ำประกันให้กับเพื่อน มดและพี่น้องคนอื่นต้องช่วยทำงานหาเงินมาใช้หนี้ มดทำงานทุกอย่างตั้งแต่เป็นแม่ค้าหาบเร่ เป็นไก๊ด์บริษัททัวร์ ขายประกันชีวิต เพื่อหาเงินให้กับครอบครัว. พอมรสุมในครอบครัวผ่านไป มดในวัยสามสิบต้นๆ ผู้มีแววจะประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ ได้ตัดสินใจละทิ้งความสุขสบายส่วนตัว กลับไปทำงานกับคนยากคนจนตามความเชื่อ ตามอุดมคติอีกครั้งหนึ่ง

ความเชื่อที่ว่า ความยากจนไม่ได้เกิดจากเวรกรรม แต่เกิดจากความไม่เป็นธรรม

- มดไม่ได้ต่อสู้เพื่อคนจนเพียงอย่างเดียว แต่มดปลุกให้คนจนลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม
- มดเป็นเอ็นจีโอไม่กี่คนที่นอนกลางดิน กินบนพื้นถนน และเดินทางด้วยรถไฟชั้นสามกับชาวบ้าน
- มดเป็นเอ็นจีโอไม่กี่คนที่กล้าทำงานร้อน เสี่ยงต่อการถูกจับ และถูกใส่ร้ายป้ายสี

มดตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกับชาวบ้านหลายคดี โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นโจทก์ และยังถูกอดีตผู้ว่าฯ กทม. และหัวหน้าพรรคการเมืองในปัจจุบัน ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท. มดยังเคยถูกนักข่าวอาวุโส ผู้เป็นขาใหญ่ประจำทำเนียบรัฐบาลด่าประจานต่อหน้าคนอื่นๆ ว่าเป็นพวกรับเงินต่างชาติมาบ่อนทำลายประเทศ แต่มดก็อดทนมาโดยตลอด ด้วยความเชื่อว่า การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น ต้องใช้เวลาอันยาวนาน

สามสิบกว่าปีที่ผ่านมา มดไม่เคยเปลี่ยน ยังแบกรับปัญหาของคนยากคนจนมาโดยตลอด ขณะที่เพื่อนๆ ฝ่ายซ้ายหลายคนเป็นนักธุรกิจ หลายคนกลายเป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี. ก่อนการเลือกตั้ง คนเหล่านี้รับปากที่จะช่วยเหลือคนจนทุกเรื่อง แม้กระทั่งเดินมากินส้มตำกับชาวบ้านปากมูนหน้าทำเนียบ แต่พอมีอำนาจขึ้นมา นักการเมืองทุกพรรคทำเหมือนกันหมด คืออยู่เคียงข้างฝ่ายราชการ ทำให้องค์กรชาวบ้านแตกแยก ทำให้ขบวนการของคนจนอ่อนแอให้มากที่สุด และกล่าวหาว่ามดเป็นนายหน้าค้าความจน

แต่มดก็ยังยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาโดยตลอด มดไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนนง่ายๆ แม้ว่าสุขภาพจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ. กระทั่งเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2549 มดได้บอกกับน้องชายคนสุดท้องว่า ร่างกายไม่ไหวแล้ว ให้พาไปโรงพยาบาล และหมอได้ตรวจพบว่าเธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะสี่ จึงเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ร่วมกับการผ่าตัดและการฉายรังสีซ้ำ จนอาการดีขึ้นในช่วง 3-4 เดือนถัดมา. มดไม่ได้บอกใคร ด้วยเกรงว่าจะมีคนเป็นห่วง แต่พยายามรักษาตัวอย่างเงียบๆ ที่บ้านน้องชายร่วมสองปี

แต่ช่วงหลังมดมีอาการไอถี่ๆ ขึ้น พี่น้องจึงพามาพบแพทย์ และได้ตรวจพบว่าโรคร้ายมีการแพร่กระจายไปที่ปอดทั้งสองข้าง ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2550 มดได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดในโครงการทดลองยาเคมีบำบัดตัวใหม่ล่าสุด ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ภายหลังการใช้ยามากว่า 7 เดือน พบว่าเซลล์มะเร็งในปอดโตขึ้น จึงได้ตัดสินใจร่วมกับแพทย์ยุติการรักษาด้วยการใช้ยาเคมี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ช่วงหลังมดเริ่มมีอาการน้ำท่วมปอด หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ไม่สามารถเอนตัวนอนได้ แพทย์ได้เจาะเอาน้ำในปอดทั้งสองข้างออกเป็นระยะ และพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่อาการกลับทรุดลงตามลำดับ จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และสื่อสารด้วยการพยักหน้าหรือส่ายหน้าได้ อาทิตย์สุดท้ายมดยังอดทนต่อสู้กับโรคร้าย เพื่อไม่ให้พ่อแม่พี่น้องที่สู้เพื่อช่วยชีวิตของมดมาโดยตลอดต้องผิดหวัง

ก่อนเที่ยงของวันที่ 6 ธันวาคม ความดันของมดลดต่ำลงมาก ชีพจรเต้นแผ่วเบา พ่อแม่ผู้จับมือลูกอยู่ข้างเตียงโดยตลอด มากระซิบข้างหูลูก บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ พี่น้องทุกคนดูแลเป็นอย่างดี ไม่กี่นาที มดจากไปด้วยความสงบเป็นนิรันดร์. คนโบราณเคยพูดว่า "น้ำตาของลูกเมื่อพ่อแม่ตาย จะไม่มากเท่ากับน้ำตาของพ่อแม่เมื่อเห็นลูกตาย" แม่กอดลูกร่ำไห้อย่างไม่อายฟ้าดิน. ดวงตาของพ่อแดงก่ำ และพูดว่ามดไปสวรรค์แล้ว
(ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2550)

๒. ๑๐๐ วัน วนิดา กับเขื่อนปากมูน
วันอาทิตย์นี้ ชาวบ้านปากมูนกำลังจัดงานบุญร้อยวันเพื่อรำลึกถึง มด หรือคุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์.
ต้นปีที่ผ่านมา ผมพาเพื่อนคนหนึ่งไปทำธุระที่เมืองอุบลฯ เลยแวะไปดูเขื่อนปากมูน เพราะเพื่อนอยากดูมานานแล้ว เพื่อนบอกว่า ได้ยินชื่อเขื่อนนี้มานานแล้ว ไม่เคยเห็นสักที

เขื่อนปากมูนตั้งกั้นแม่น้ำมูน ห่างจากปากน้ำที่ไหลไปออกแม่น้ำโขงเพียง 5 กิโลเมตร. เราขับรถผ่านอำเภอโขงเจียม แล่นเข้าไปตรงบริเวณสวนหย่อมก่อนจะถึงตัวเขื่อน ที่เคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนของชาวบ้านปากมูนสามพันกว่าคนที่ปักหลักสู้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ อย่างทรหดมานานหลายปี แต่สุดท้ายก็ถูกกลุ่มอันธพาลบุกเผาหมู่บ้านจนวอดวายสิ้น บริเวณสวนหย่อมนี้ถูกรั้วเหล็กปิดตายอย่างถาวร ราวกับจะกลัวการลุกฮือของชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง

เราเดินไปถึงตัวเขื่อนปากมูน ที่ใช้เงินภาษีสร้างในราคาเริ่มต้น 3,000 กว่าล้านบาท กว่าจะบานปลายออกมาเป็น 6,000 กว่าล้านบาท เพื่อนที่เป็นนักธุรกิจพูดออกมาประโยคแรกว่า "ตอนแรกผมคิดว่าคงเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ไม่คิดว่าจะเป็นเขื่อนเล็กแค่นี้เอง แต่ทำไมสามารถสร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมานานนับสิบปีได้ มันจะคุ้มหรือนี่" เพื่อนกล่าวต่อว่า "คุณรู้ไหม มูลค่าของความแตกแยกที่ผ่านมา และเวลาของทั้งสองฝ่ายที่สูญเสียไปกับความขัดแย้ง มันอาจจะมีราคามากกว่าเขื่อนนี้ก็ได้"

"แล้วเขื่อนปากมูนนี้ผลิตไฟฟ้าได้กี่เท่าไหร่" เพื่อนถามต่อ. พอได้ทราบคำตอบว่า ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 140 เมกะวัตต์ เกือบเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของห้างสยามพารากอน ในกรุงเทพมหานคร ที่ใช้ไฟฟ้าถึง 123 เมกะวัตต์ "มันคุ้มตรงไหน สร้างเขื่อนนี้ขึ้นมาผลิตไฟฟ้าพอใช้กับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง"

เราพาเพื่อนไปดูบันไดปลาโจน ซึ่งโด่งดังไปทั่วประเทศเมื่อหลายปีก่อน จากฝีมือการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ปูพรมไปทุกสื่อว่า เขื่อนปากมูนที่ปิดขวางการเดินทางของปลาจำนวนมหาศาลจากแม่น้ำโขงที่จะเข้ามาในแม่น้ำปากมูน เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงคนอีสานตามลุ่มน้ำมูนนั้น บัดนี้สามารถแก้ปัญหาได้แล้วด้วยบันไดปลาโจน คนลำน้ำมูนจะจับปลาแม่น้ำมูนมาทำปลาร้า ปลาแดกกินกันได้ทั้งปี. บันไดปลาโจนมีลักษณะเหมือนกับทางเดิน ทำด้วยแท่งคอนกรีตเป็นขั้นๆ เพื่อให้ปลากระโดดขึ้นไปทีละขั้น จนสามารถไปถึงชั้นบนของเขื่อนและสามารถข้ามเขื่อนไปได้ แต่ได้ถูกนักวิชาการประมงวิจารณ์ว่า เป็นความคิดที่ล้มเหลว เพราะปลาแถบนี้ไม่ใช่ปลาที่สามารถกระโดดแบบปลาแซลมอนที่ว่ายทวนน้ำและกระโดดขึ้นชั้นน้ำตกได้. แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯก็ไม่สนใจเสียงวิจารณ์ต่างๆ นานา เดินหน้าสร้างบันไดปลาโจนจนสำเร็จ ใช้เงินลงทุนและงบฯ โฆษณาหลายร้อยล้านบาท และเชิญกองทัพผู้สื่อข่าวแห่มาทำข่าวกันเอิกเกริก

ทุกวันนี้ป้ายบันไดปลาโจนถูกเอาออก เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวได้สังเกตเห็นว่า บริเวณนี้คือบันไดปลาโจน เราเดินลงไปสำรวจแท่งคอนกรีตที่ถูกทิ้งร้าง เห็นมีน้ำไหลเอื่อยๆ ราวกับไม่ถูกใช้งานมานานแล้ว. ชาวบ้านบอกว่ามันถูกปิดตายมาเป็นเวลานาน ที่ผ่านมาเคยเห็นแต่ปลาซิวตัวเล็กๆ กระโดดว่ายเล่น ไม่เคยพบปลาว่ายทวนน้ำกระโดดขึ้นไปได้เหมือนที่โฆษณาสักครั้งเลย

ทุกวันนี้เขื่อนปากมูนมีชื่อเสียงโด่งดังกว่าสถานที่หลายแห่งในตัวเมืองอุบลฯ เพราะผู้หญิงกรุงเทพฯ ตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เดินทางไปร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนกับชาวปากมูนที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ในยุคสมัย รสช.ครองอำนาจ ที่เขื่อนยังไม่ลงมือสร้าง. มด หรือวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ร่วมสู้กับชาวบ้าน ตั้งแต่ไปยืนประท้วงบนแก่ง เพื่อไม่ให้มีการระเบิดแก่ง ไปประท้วงบนศาลากลางจังหวัด บนถนนหน้าทำเนียบ หน้าที่ทำการของธนาคารโลกที่เป็นผู้ปล่อยเงินกู้รายใหญ่ในการก่อสร้างเขื่อนปากมูน. แม้ธนาคารโลกจะอนุมัติเงินกู้ แต่ก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของธนาคารโลก ที่มีการอนุมัติเงินกู้โดยมติไม่เป็นเอกฉันท์

พอเขื่อนสร้างเสร็จ เธอก็ยังไม่ยอมหยุดต่อสู้ ยังต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมของชาวบ้าน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง ผู้ไม่สามารถจับปลาได้อีก จนถูกจับ ถูกตั้งข้อหาสารพัดอย่าง. แม้เขื่อนจะสร้างสำเร็จ แต่สิ่งที่มดและชาวบ้านได้ต่อสู้จนกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมก็คือ การจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสในการทำงาน ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน เพราะที่ผ่านมามีแต่การจ่ายค่าเวนคืนบ้านและที่ดินเท่านั้น

มดมีเพื่อนเป็นนักการเมืองทุกพรรค แต่เธอสรุปได้ว่า คนเหล่านี้เป็นมิตรที่ดี เมื่อเป็นฝ่ายค้านไม่มีอำนาจวาสนา แต่พอข้ามฟากอยู่ฝ่ายรัฐบาลก็กลายเป็นคู่กรณีทุกครั้ง. หลายครั้งที่มดถูกเพื่อนนักการเมืองคนเดือนตุลาหักหลัง จากคำพูดอันสวยหรูก่อนเป็นรัฐบาล มดจึงเลือกที่จะยืนหยัดอยู่กับภาคประชาชนมาโดยตลอดชีวิต. มดทำให้สังคมหันมามองปัญหาของคนตัวเล็กๆ คนจนๆ อย่างจริงจัง และสรุปบทเรียนว่าการรวมพลังของเหล่าคนผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น จึงสามารถต่อรองกับอำนาจรัฐได้

มดเคยพูดว่า "ถ้ามากันคนสองคนจะได้พบก็แต่ยาม ถ้ามี 10-20 คน อาจจะได้เจอเลขาฯ ศูนย์บริการประชาชน ถ้ามาเป็นร้อยจะได้เจอเลขาฯ รัฐมนตรี มาเป็นพันรัฐมนตรีช่วยฯจะลงไปหา ถ้ามีสักหมื่นรัฐมนตรีจะลงมาเจรจาด้วย แต่จะให้นายกฯ มาพบปะเจรจาต้องสักสองหมื่น"

ไม่แปลกใจที่การต่อสู้ของชาวบ้านกับเขื่อนปากมูลอันยาวนานจะเป็นวัตถุดิบชั้นยอด ที่บรรดานักศึกษาทั้งในประเทศและจากต่างประเทศแห่กันมาทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก นับร้อยชิ้น. ไม่แปลกใจที่การต่อสู้ครั้งนี้ เป็นที่ฝึกงานชั้นดีของบรรดานักข่าวสายการเมืองและสายสิ่งแวดล้อมทุกสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์รุ่นแล้วรุ่นเล่าต้อง เคยผ่านการทำข่าวของชาวบ้านปากมูนและกลุ่มสมัชชาคนจนแน่นอน

ไม่แปลกใจที่มดสร้างชาวบ้านที่เคยกลัว เคยหงอบุคคลในเครื่องแบบ ให้กลายเป็นนักพูดที่กล้าพูดความจริง ความทุกข์ของพวกเขาตอกหน้าผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรัฐมนตรีมาแล้ว. หน่วยงานความมั่นคงยอมรับว่า มดเป็นนักยุทธวิธีที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าการปีนบันไดเข้าทำเนียบ การนำฝูงชนสองสามหมื่นคนนั่งสมาธิล้อมทำเนียบหลายเดือน หรือการยึดสันเขื่อนเพื่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เพื่อต่อรองกับรัฐบาล โดยใช้หลักสันติวิธี
มดคิดเสมอว่า การต่อสู้ไม่ได้หวังผลแพ้ชนะในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ประชาชนจะต้องสู้ไปเรื่อยๆ ไม่ท้อถอย
มดมีความหวังเสมอ แต่ไม่เคยคาดหวังอันใด

ครั้งหนึ่ง มดเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ดิฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละ ไม่ได้คิดว่าเป็นนักบุญหรือแม่พระ และก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นหญิงเหล็ก ดิฉันเป็นคนธรรมดา เพียงแต่ดิฉันเป็นคนไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนนง่ายๆ เท่านั้น" …จะมีสักกี่คนที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนนง่ายๆ ในสถานการณ์เช่นนี้
(ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนัสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2551)

๓. ความฝันของชาวบางสะพาน กับความฝันของสหวิริยา
"ฆ่ากันตายอีกแล้วหรือ" เพื่อนนักธุรกิจคนหนึ่งเอ่ยปากถามขึ้น เมื่อเห็นข่าวความขัดแย้งของชาวบ้านที่คัดค้านโรงถลุงเหล็ก ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนนำมาสู่ความตายของชาวบ้านคนหนึ่ง. ในสังคมไทยทุกวันนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ยังไม่รุนแรงถึงฆ่ากันตาย แต่ความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตลอดเวลา ความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนการฆ่ากันตายถือเป็นเรื่องปรกติ คู่ความขัดแย้งกรณีที่เกิดขึ้นที่ อ.บางสะพาน เป็นตัวอย่างล่าสุดที่น่าสนใจ

มุมน้ำเงินคือบริษัทอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ของประเทศ ชื่อว่า บริษัท สหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในชื่อย่อว่า "SSI" ด้วยทุนจดทะเบียนถึง 13,000 ล้านบาท มี ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ อดีตกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เป็นประธานกรรมการบริษัท มีตระกูล "วิริยประไพกิจ" ตระกูลชื่อดังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และกรรมการบริษัทเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในสังคม

บริษัท สหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งใน พ.ศ.2533 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนรายใหญ่ของประเทศ และกลุ่มทุนนี้ได้เข้ามายึดพื้นที่หลายแห่งใน อ.บางสะพาน จนกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในเขตเวสเทิร์นซีบอร์ด มีทั้งโรงถลุงเหล็กและท่าเรือน้ำลึกเป็นของตัวเอง และยังเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ. เรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมที่รัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ ทุกยุคทุกสมัยต้องให้ความเกรงใจ

จนกระทั่งใน พ.ศ.2548 รัฐบาลได้อนุมัติโครงการใหม่ของบริษัท สหวิริยาฯ ที่จะสร้างโรงถลุงเหล็ก โดยใช้งบฯลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงถลุงเหล็กครบทั้งหมดใน อ.บางสะพาน โดยใช้เวลาดำเนินการนาน 15 ปี ซึ่งถึงเวลานั้นบริษัทก็จะมีรายได้ถึง 2 แสนล้านบาท ถือเป็นอภิมหาโครงการที่ใครก็ฉุดไม่อยู่แล้ว หน่วยราชการและรัฐต้องช่วยกันสนับสนุน ตามทิศทางการพัฒนาของประเทศ

ส่วนมุมแดง หรือคู่กรณี ย่อมหนีไม่พ้นชาวบ้านบางสะพานผู้ไม่มีใครรู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อมาก่อน เพียงแต่ว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขตามธรรมชาติมาช้านาน ไม่รวย ไม่จน อาจจะแต่งตัวปอนๆ อาจจะดูไม่ค่อยฉลาดในสายตาของคนเมือง แต่พวกเขาก็อยู่ด้วยความสุข ไม่อยากได้โรงงานใหญ่ๆ หรือสิ่งแปลกปลอมมาอยู่ใกล้บ้าน เพราะกลัวว่าอากาศจะไม่บริสุทธิ์ น้ำจะเน่า

ชาวบางสะพานศึกษาบทเรียนมาแล้วว่า ทุกครั้งที่มีอุตสาหกรรมขนาดยักษ์เกิดขึ้นในพื้นที่ ผู้ต้องทนทุกข์ทรมานจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเต็มๆ ก็คือชาวบ้านรอบๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด. ชาวบางสะพานเริ่มไม่สบายใจ เมื่อได้ข่าวว่ามีนายทุนค่อยๆ มากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อสร้างโรงถลุงเหล็กบนพื้นที่พันกว่าไร่ พวกเขารู้ดีว่าความไม่สงบสุขกำลังมาเคาะประตูบ้านแล้ว และสุดท้ายพวกเขาก็ทนไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของเขาในนามของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน เมื่อรู้ว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าพรุแม่รำพึง อันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญและอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศและเป็นของสาธารณะมานาน อยู่ดีๆ ก็มีการออกเอกสารสิทธิแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน และสุดท้ายทางบริษัท สหวิริยาฯ ก็เป็นผู้ครอบครอง

บริษัทอ้างว่าทำถูกกฎหมาย แต่วิธีการที่ได้เอกสารสิทธิมา สร้างความประหลาดใจยิ่งนัก. ป่าพรุแม่รำพึงเป็นป่าสาธารณะที่ชาวบ้านแถวนี้ร่วมกันใช้ประโยชน์ เก็บปู ปลา เก็บผักหญ้า สมุนไพร และเป็นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ตามธรรมชาติ และเป็นแหล่งรับน้ำหรือ "แก้มลิง" ธรรมชาติของชาวบางสะพานก่อนไหลลงสู่ทะเลมาเป็นเวลานาน. หากคิดเป็นเงินตรา มูลค่าของป่าพรุแห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วยป่าเสม็ดขาวและกระจูด มีปลา 46 ชนิด และนกน้ำ 73 ชนิด อาจจะไม่ได้มีราคาเป็นร้อยหรือพันล้านบาท แต่มันมีค่ามากสำหรับชาวบางสะพานที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้มาตลอดชีวิต ถ้าพูดอย่างเชยๆ ก็คือ เป็นวิถีชีวิตแบบพอเพียงของพวกเขา

นายวิฑูรย์ บัวโลย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้คัดค้านโรงงาน แต่ต้องการรักษาป่าพรุผืนนี้ไว้ สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ เมื่อเริ่มเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ แทนที่จะพยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่คัดค้านอย่างจริงใจ ใช้การเจรจาอย่างสันติวิธีเพื่อลดความขัดแย้ง แต่กลับมีบางคนบางกลุ่มใช้วิธีแบบโบราณ คือสร้างความแตกแยกในชุมชนที่อยู่กันมานาน ด้วยการเอาผลประโยชน์เข้าล่อ มีพฤติกรรมส่อใช้เงินซื้อ และจ้างอันธพาล นักเลงหัวไม้ออกข่มขู่ชาวบ้าน จนทุกวันจะมีเสียงปืนดังในบริเวณนั้นคืนละหลายสิบนัด เพื่อเป็นการกดดันไม่ให้ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหว แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมแพ้

ล่าสุด เมื่อชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนได้ออกมาคัดค้านการถมดินของทางโรงงาน เพราะรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ของโครงการนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การปะทะและมีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย. ทุกวันนี้แกนนำฝ่ายคัดค้านโครงการไม่กล้าเข้าพื้นที่ เพราะถูกหมายหัวเอาไว้แล้ว ความร้าวฉานของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ที่เป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกันมาหลายสิบปี เกิดขึ้นเมื่อมีการสร้างโรงงานแห่งนี้ และมันบาดลึกเกินกว่าจะสมานแผลได้

ขณะที่ในเว็บไซต์ของบริษัท สหวิริยาฯ ได้ประกาศชัดเจนว่า "บริษัทมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม อันเป็นวิถีทางการดำเนินธุรกิจที่ดี โดยจะดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โปร่งใส และยุติธรรม และให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาควบคู่กันไป"

นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเคยพูดกับ ส.ว.บางคนที่ลงพื้นที่ว่า "โครงการนี้เดินหน้ามาขนาดนี้แล้ว เงินลงทุนเยอะขนาดนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องสร้างให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ". ขณะที่ความขัดแย้งในพื้นที่ยังคุกรุ่นอยู่ มีรายงานข่าวว่า นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาฯ ได้ประกาศผลการดำเนินงานงวดปี 2550 มีกำไรสุทธิ 952.97 ล้านบาท ลดลง 64.57% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,690.13 ล้านบาท ผลงานที่ลดลงมาจากรายได้จากการขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงจาก 3.46 หมื่นล้านบาท เมื่อ พ.ศ.2549 เหลือเพียง 2.78 หมื่นล้านบาท. กำไรที่ลดลงของปีนี้ ดูจะเป็นปัจจัยกดดันให้บริษัทต้องรีบเปิดโรงงานถลุงเหล็กให้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ?

ความฝันของบริษัท สหวิริยาฯในอนาคต คือก้าวไปสู่ความเป็น 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมเหล็กของโลก
ขณะที่ฝันของชาวบางสะพานกำลังสลายลง คนในตระกูลวิริยประไพกิจยอมลงมาเปิดอกคุยกับพวกเขาได้ไหม
(ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551)

๔. อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก คำถามถึงสภาพัฒน์ฯ
ทราบไหมครับว่าอุตสาหกรรมอะไรที่ได้ชื่อว่าก่อมลพิษ และสร้างความสกปรกให้กับสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของโลก. อุตสาหกรรมโรงถลุงเหล็ก และโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ได้รับการจัดอันดับให้อยู่บนหัวแถว เพราะวัตถุดิบคือแร่เหล็ก และถ่านหินที่ใช้อย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมนั้น สามารถก่อมลพิษได้มากที่สุด จากขั้นตอนการผลิตที่ถูกปล่อยออกมา และกากของเสียเหลือใช้จำนวนมากที่ถูกทิ้งเอาไว้บนพื้นดิน

ในปี พ.ศ.2545 อุตสาหกรรมเหล็กของบรรษัท US Steel Corporation เป็นผู้ปล่อยมลภาวะทางอากาศสูงเป็นอันดับสองในอเมริกา โดยปล่อยสารพิษถึง 1.2 ล้านกิโลกรัม ประกอบด้วย แอมโมเนีย กรดไฮโดรคลอริค เอธิลีน สารประกอบสังกะสี เมทานอล และเบนซีน รวมทั้ง แมงกานีส ไซยาไนด์ และสารประกอบโครเมียม ฯลฯ. ปัจจุบันอุตสาหกรรมถลุงเหล็กจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศที่เจริญแล้วมักส่งเสริมให้ประเทศด้อยพัฒนา หรือประเทศที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมผลิตขึ้นแทน และรับซื้อภายหลัง เพื่อต้องการผลักปัญหามลพิษให้กับประเทศเหล่านั้นแทน

ปัจจุบันประเทศจีนและอินเดียจึงกลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการอุตสาหกรรมเหล็ก และสร้างปัญหามลพิษให้กับผู้คนในประเทศอย่างรุนแรง. ทาทา สตีล ในประเทศอินเดีย เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นผู้สร้างมลภาวะให้กับคนอินเดียมากที่สุดเช่นกัน เช่นเดียวกับประเทศจีนที่ผลิตเหล็กได้ปีละ 400 ล้านตัน แต่ในปี พ.ศ.2550 ธนาคารโลกรายงานว่า มีคนจีนตายด้วยสาเหตุการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมสูงถึงปีละ 750,000 คน

จะเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของคนไทยหรือชาวอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่ทราบ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในประเทศ โดยวางแผนให้อำเภอบางสะพานเป็นที่ตั้งของโครงการเวสเทิร์นซีบอร์ด พัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก โดยมีเครือบริษัทสหวิริยาเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไม่มีแร่เหล็กเลย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว

คาดว่าอุตสาหกรรมถลุงเหล็กในบริเวณนี้ที่ใช้พื้นที่ถึง 20,000 ไร่ จะมีกำลังการผลิตรวมปีละ 30 ล้านตัน ซึ่งประเทศไทยจะได้กลายเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ด้วยงบฯลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท โดยขณะนี้กำลังเริ่มโครงการแรก กำลังการผลิตรวม 5 ล้านตันต่อปี แต่ไม่ทันไรก็ทะเลาะกับชาวบ้านในพื้นที่ รุนแรงจนถึงกับมีการยกพวกตีกันและฆ่ากันตายแล้ว

สาเหตุสำคัญที่ทางสภาพัฒน์ฯ ได้เลือกพื้นที่บนอำเภอบางสะพานเป็นที่ตั้ง "เมืองหลวงเหล็กของโลก" นั้น เป็นเพราะมีพื้นที่ติดทะเล เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมหนักที่ต้องใช้แหล่งน้ำ และมีร่องน้ำลึกตามธรรมชาติบริเวณแหลมแม่รำพึง เหมาะในการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก เพื่อขนส่งสินแร่เหล็กจากเมืองนอก ทำเลห่างจากกรุงเทพมหานครไม่ไกลมาก และราคาที่ดินยังไม่แพง

แต่อีกด้านหนึ่งสภาพัฒน์ฯ อาจจะไม่ทันคิดก็คือ อำเภอบางสะพานเป็นแหล่งที่มีธรรมชาติงดงามมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลบริเวณหาดบ้านกรูดไปจนถึงหาดแม่รำพึง ได้รับการยอมรับว่ามีชายหาดสวยงามเหมือนกับชายหาดหัวหินหรือชะอำในอดีต อากาศบริสุทธิ์ น้ำทะเลสีสวย อาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ ผู้คนยังไม่พลุกพล่านมาก ในอนาคตมีศักยภาพพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยเฉพาะหากประเทศไทยต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ. หากสภาพัฒน์หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยวางแผนดีๆ หาดบ้านกรูดถึงหาดแม่รำพึงอาจเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวแห่งใหม่ทั้งในและนอกประเทศ ที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท

แต่เมื่อรัฐบาลได้เห็นชอบในการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กในเครือบริษัทสหวิริยาแล้ว ในพื้นที่อำเภอบางสะพาน สิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ก็คือ

- รัฐบาลหรือบริษัทไม่ได้บอกชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงจับปลา จับกุ้ง ทำสวนมะพร้าว สวนปาล์ม และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าของรีสอร์ท ร้านอาหารเลยว่า ในอนาคตจะเกิดโรงงานถลุงเหล็กใหญ่ที่สุดในโลกอยู่หน้าบ้านพวกเขา ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า จะมีปล่องพ่นควันพิษ 29 ปล่องพ่นฝุ่นพิษขึ้นสู่ท้องฟ้าปีละ 300,000 ตันต่อปี

- ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า บริเวณทะเลหน้าแหลมแม่รำพึง ที่กรมประมงประกาศว่าเป็นพื้นที่ที่ปลาทูมาวางไข่หนาแน่นที่สุดในอ่าวไทย รองจากหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และทะเลแถบหลังสวน จังหวัดชุมพรนั้น กำลังจะกลายเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึก มีสะพานยื่นออกไปนอกหาดยาวถึง 2 กิโลเมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่หลายสิบลำมาส่งแร่เหล็กปีละ 3 ล้านกว่าตัน

- ไม่มีใครบอกพวกเขาว่า โรงงานถลุงเหล็กขนาดยักษ์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อมาก็คือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2,800 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริเวณอำเภอทับสะแก ที่อยู่ติดกับอำเภอบางสะพาน เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับโรงถลุงเหล็กเหล่านี้

- ไม่มีใครบอกชาวบ้านว่า อุตสาหกรรมปล่อยมลพิษสกปรกที่สุดกำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อป้อนไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้กับโรงงานถลุงเหล็ก และโรงไฟฟ้าก็ต้องสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก เพื่อขนเชื้อเพลิงถ่านหินจากอินโดนีเซียมาใช้ผลิตไฟฟ้าปีละ 9 ล้านตัน และสร้างปล่องสูงนับร้อยเมตร เพื่อพ่นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

สิ่งที่คนในพื้นที่ได้รับรู้ก็คือ เมื่อสิบกว่าปีก่อน บริษัทเครือสหวิริยาได้ก่อสร้างโรงงานรีดเหล็ก โรงงานเหล็กเส้นขึ้นมา โดยที่ชาวบ้านยังไม่ทันคิดอะไรชัดเจน แต่ผลที่ตามมาก็คือ ตั้งแต่มีโรงรีดเหล็กที่มีปล่องปล่อยควันพิษลอยออกมาทุกคืน น้ำฝนที่ชาวบ้านเคยดื่มมานานไม่อาจดื่มได้อีกต่อไป เพราะมีคราบน้ำมันลอยอยู่ ต้องซื้อน้ำดื่มในตลาดแทน. กุ้ง ปลา จำนวนมากที่เคยจับได้แถบหาดแม่รำพึงก็หายไป เช่นเดียวกับที่มีผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นถึง 17,000 คน

สิ่งที่ชาวบ้านสังเกตก็คือ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีคนมากว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งที่ดินสาธารณะ หรือป่าพรุที่ไม่เคยมีใครเป็นเจ้าของมาหลายชั่วอายุคน วันดีคืนดีก็มีการออกเอกสารสิทธิเปลี่ยนมือไปมา สุดท้ายก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเหล่านี้ ชาวบ้านมาทราบทีหลังว่า ที่ดินหลายพันไร่ที่มีการเปลี่ยนมือ คือบริเวณที่จะก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กขนาดยักษ์

สิ่งที่บริษัทเหล่านี้บอกกับชาวบ้านตลอดมาก็คือ พวกเขาใช้เงินซื้อที่ดินมาอย่างถูกกฎหมาย พวกเขาทำถูกต้องตามกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ของกรมเจ้าท่าทุกประการ ดังนั้นพวกเขามีสิทธิที่จะสร้างโรงงานถลุงเหล็กขึ้นบนพื้นที่นี้ได้ แถมยังมีรัฐบาลเป็นพี่เลี้ยงรายใหญ่ เพราะคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักร และภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงินสองหมื่นกว่าล้านบาท และยังอุตริประกาศกฎอัยการศึกในเมืองตากอากาศ มีทหารลงมาเดินกันขวักไขว่ เพื่อต้องการให้อุตสาหกรรมนี้เกิดให้ได้

แต่เครือสหวิริยาลืมนึกไปว่า ชาวบ้านบางสะพานก็มีสิทธิลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เช่นกัน หากโรงงานถลุงเหล็กเกิดขึ้นจริงแล้ว เขาหวั่นกลัวแน่นอนว่า อากาศจะเป็นพิษ น้ำจะเน่า กุ้ง หอย ปู ปลาจะหายไป และนักท่องเที่ยวจะไม่กลับมา. ชาวบางสะพานไม่ต้องการให้ที่นี่กลายเป็นมาบตาพุดแห่งที่สอง ที่ชาวบ้านต้องนอนรอความตายผ่อนส่งโดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือได้เลย

คนงานหรือผู้บริหารโรงงานถลุงเหล็กอาจจะมาทำงานที่นี่ไม่กี่ปี แล้วก็ย้ายงาน หรือเปลี่ยนงานใหม่ แต่คนบางสะพานต้องอยู่กินบนผืนดินแห่งนี้ไปตลอดชีวิต. พอสิ้นปีผลกำไรจากการถลุงเหล็กที่ส่วนหนึ่งมาจากการทำลายธรรมชาติ และการสร้างความแตกแยกให้กับคนในพื้นที่ ก็กลายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่มีทั้งหัวดำและหัวแดงในตลาดหลักทรัพย์

การลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านบางสะพานจึงเพิ่งจะเริ่มต้น แต่คงไม่จบลงเหมือนชาวบ้านบางระจัน. นิคมอุตสาหกรรมเหล็กมูลค่า 500,000 ล้านบาท คงไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นง่ายๆ เหมือนอย่างภาพในเพาเวอร์พอยต์ ตอนไปโรดโชว์ให้กับแหล่งเงินกู้เสียแล้ว
(ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551)



๕. มาบตาพุด: เมื่อสุขภาพเดินตามรอย ความเจริญทางเศรษฐกิจ
หากจำกันได้ เมื่อราวต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์รายงานว่า ผลการศึกษาสถานการณ์อุบัติใหม่ของโรคมะเร็งในปี 2544-2546 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า คนระยองป่วยเป็นโรคมะเร็งมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะมะเร็งในปอด, ขณะเดียวกันคนระยองยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศ และมีอัตราของเด็กแรกเกิดมีร่างกายผิดปกติสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบสิบปีที่ผ่านมา

หากเป็นคนนอกวิเคราะห์หาสาเหตุ ก็คงนึกว่า สาเหตุของโรคมะเร็งในปอด น่าจะเป็นเพราะคนระยองสูบบุหรี่จัด หรือสาเหตุจากควันพิษในอากาศทั่วไป แต่หากถามคนระยองที่อยู่ในพื้นที่มานาน คำตอบที่ได้รับก็คือ คนระยองเจ็บป่วยมานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะโรคมะเร็งอย่างเดียว โดยเฉพาะคนที่ทำงานและชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ความเจ็บป่วยผิดปกติของคนแถวนั้น เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ภายหลังการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บนที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก พื้นที่เกือบหมื่นไร่ และตามติดมาด้วยการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งอื่นรวมกัน สองหมื่นกว่าไร่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก, อมตะซิตี้, ผาแดง, และล่าสุดนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย, เพื่อที่จะให้จังหวัดระยองเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เพราะมีท่าเรือน้ำลึก พื้นที่ราบขนาดใหญ่ติดทะเล มีถนน โรงไฟฟ้า น้ำประปา และระบบสาธารณูปโภคพร้อมสรรพสำหรับรองรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนับแสนคน

ปัจจุบันระยองมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 2,151 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี
นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นความภูมิใจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นแหล่งรองรับนักลงทุนอุตสาหกรรมรายใหญ่จากทั่วโลก และนักลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมัน ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก และการผลิตไฟฟ้า ด้วยมูลค่าการลงทุนหลายล้านล้านบาท

ในแง่ของของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นธุรกิจดาวรุ่งในปัจจุบัน เป็นธุรกิจหลักที่ค้ำยันเศรษฐกิจไทย ช่วยทำให้จีดีพี. ของประเทศโตขึ้น บริษัทเหล่านี้ล้วนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นหุ้นบลูชิป หุ้นเหล่านี้รวมๆ กันแล้ว มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าหุ้นราว 5 ล้านล้านบาท ในตลาดหลักทรัพย์ จึงได้รับการดูแลอุ้มชูอย่างดีเยี่ยมตั้งแต่รัฐบาลป๋าเปรม มาจนถึงรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลขิงแก่ ราวกับไข่ในหิน

เมื่อมีข่าวความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนรอบๆ พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ขึ้นหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ เราก็จะได้เห็นบรรดารัฐมนตรีพากันลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม. ภาพที่เห็นจนชินตาตามหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์คือ ท่านรัฐมนตรีในชุดสวมหมวกกันน็อก ห้อมล้อมด้วยผู้ติดตามและนักข่าว เดินตรวจพื้นที่ในโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมกับรับฟังคำชี้แจงจากเจ้าของโรงงาน อธิบายว่าโรงงานมีระบบเทคโนโลยีทันสมัยในการลดการปล่อยควันพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในขบวนการผลิต และปล่อยสารพิษไม่เกินมาตรฐานของทางการ จึงไม่มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด. ภาพต่อมาอาจจะเห็นบรรดาท่านเหล่านี้ไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านรอบพื้นที่ และรับปากว่าจะดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศต่อไป. รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยรับปากทุกเรื่อง แต่สุดท้ายพอข่าวจางหายกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง ทุกอย่างก็กลับคืนสู่ความเงียบต่อไป

อันที่จริงกรมควบคุมมลพิษได้เคยทำการสำรวจคุณภาพอากาศรอบ ๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด พบสารอินทรีย์ระเหย ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 20 ชนิด ซึ่งเกือบทั้งหมดมีค่าเกินกว่าระดับมาตรฐานของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา. กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในตำบลมาบตาพุด พบผู้ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 88, โรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้นร้อยละ 57. ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ครูและเด็กนักเรียนโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ถูกหามส่งโรงพยาบาลนับร้อย ๆ คน เพราะทนสูดกลิ่นเหม็นจากโรงกลั่นน้ำมันที่ตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนไม่ไหว สุดท้ายก็ยอมแพ้ด้วยการย้ายโรงเรียนหนี ขณะที่ชาวบ้านรอบ ๆ โรงเรียนต้องยอมทนกลิ่นเหม็น จนป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันถ้วนหน้า เพราะไม่สามารถย้ายบ้านได้. ส่วนโรงพยาบาลมาบตาพุด ที่ทำการรักษาของคนเหล่านี้ ก็มีแผนจะย้ายโรงพยาบาลออกจากพื้นที่เช่นกัน เพราะมีกองขยะภูเขามาตั้งอยู่ใกล้ ๆ

ทุกวันนี้แม้ว่าจะมีผู้ป่วยในตำบลมาบตาพุดเพิ่มขึ้น แต่ทางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้ออกมายืนยันว่า โรงงานอุตสาหกรรมสามารถลดจุดรั่วซึมที่ทำให้เกิดสารอินทรีย์ระเหยในบรรยากาศที่เกินมาตรฐานได้ และมีการตรวจสอบปริมาณการปล่อยมลพิษตลอดเวลา จึงแน่ใจว่าสามารถลดปัญหามลพิษได้. และเมื่อเร็ว ๆนี้ สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นชอบในการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชียเพิ่มเติมอีกจำนวน 700 ไร่ ในเขตอำเภอบ้านฉาง และอนุมัติให้สร้างโรงงานปิโตรเคมีมูลค่านับหมื่นล้านบาทเข้าในพื้นที่ได้ โดยยืนยันว่ามีกระบวนการดูแลด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างได้มาตรฐาน จะไม่สร้างปัญหาให้กับผู้คนเหมือนที่มาบตาพุด

"ทุกวันนี้ผมยืนมองปล่องควันโรงงานจากที่บ้านทุกวัน คิดว่าควันที่ออกมาเยอะอย่างนี้มันจะไปตกอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ใช่บ้านของเรา อยากจะบอกคนที่เกี่ยวข้องว่า พอแล้วครับอุตสาหกรรมที่บ้านของผม ตอนนี้เพื่อนๆ ในหลายตำบลต่างก็นอนไม่หลับ เพราะกลัวว่าถ้าสร้างโรงงานแล้วจะเดือดร้อน แต่ถ้าโรงงาน หรือโรงไฟฟ้ามา บอกได้เลยว่าน้ำคงไม่พอใช้ทำสวนอีกต่อไปแล้ว คงจะต้องเดือดร้อนมาก" นายสมบูรณ์ เพชรฉกรรจ์ คนบ้านฉาง ผู้เห็นเพื่อนบ้านหลายคนเจ็บไข้ได้ป่วย และค่อยๆ ตายลงไป เล่าให้นักข่าวฟัง

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศผลประกอบการออกมาว่า ครึ่งปีแรก กลุ่มธุรกิจพลังงานและน้ำมันมีกำไรสุทธิทั้งหมด 90,000 กว่าล้านบาท คาดว่าในปีนี้จะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทั้งหลายเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท... ดูแลเงินปันผลของผู้ถือหุ้นแล้ว เหลียวมามองชะตากรรมของคนระยองด้วยนะครับ
(ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2550)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข่าวเพิ่มเติม วันที่ 18 มีนาคม 2551
ชาวบ้านแม่รำพึงตระเวนยื่น จม. ร้องทบทวนนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก
ประชาไท

วันที่ 18 มีนาคม 2551 ชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และเครือข่าย 5 พันธมิตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์ฯบ้านกรูด, กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก, กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี, กลุ่มรักษ์บ้านเกิด ต.อ่าวน้อย, กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง) ซึ่งคัดค้านโครงการโรงถลุงเหล็กของบริษัทเครือสหวิริยา จำนวนกว่า 400 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อขอให้ทบทวนแผนการพัฒนาปี พ.ศ. 2538 โดยให้เหตุผลว่า นิคมอุตสาหกรรมเหล็กไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอให้พิจารณาการอนุมัติเงินลงทุนสนับสนุน โดยเฉพาะกรณีธรรมาภิบาลของบริษัท

เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. กลุ่มชาวบ้านได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยมี ดร.อำพล กิตติอำพน เลขาธิการฯ เป็นผู้รับมอบหนังสือ ทั้งนี้หนังสือระบุขอให้สภาพัฒน์ฯ ทบทวนแผนพัฒนาในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และระงับการให้การสนับสนุนแก่โครงการโรงถลุงเหล็ก โดยให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาการพิจารณาแผนการลงทุนของสภาพัฒน์ฯ ไม่ได้มีการพิจาณาจากข้อเท็จจริงถึงศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งควรจะส่งเสริมให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยว แทนที่จะเป็นการส่งเสริมให้มีการลงทุนให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเหล็ก. ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแผนพัฒนาของสภาพัฒน์ฯ ตั้งแต่ปี 2538 ที่ระบุว่า พื้นที่ประจวบ-บางสะพาน-ชุมพร นั้นมีโอกาสพัฒนาเป็นอุสาหกรรมหลักชายฝั่ง และให้สหวิริยาเป็นหัวหอกในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหล็ก ด้วยความฝัน 'เมืองหลวงเหล็กของไทย (อาเซียน)' ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ว่าโรงถลุงเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหนักที่ก่อมลพิษสูง และใช้ไฟฟ้าอย่างมหาศาล

จากนั้นเวลา 11.00 น. ได้เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอให้ทบทวนการลดหย่อนภาษีให้กับโครงการโรงถลุงเหล็กของบริษัทเครือสหวิริยา เนื่องจากกลุ่มทุนในเครือสหวิริยา โดย นายวิทย์ วิริยะประภัยกิจ ได้เตรียมยื่นเรื่องขอสิทธิพิเศษจากบีโอไอ ในการสนับสนุนการลงทุนในโครงการโรงถลุงเหล็ก ในพื้นที่ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่, เฟสที่ 1 เงินลงทุน 90,000 ล้านบาท และท่าเรือน้ำลึกกว่า 2.04 กิโลเมตร. โดยหนังสือระบุความไม่โปร่งใส และไม่มีธรรมาภิบาล รวมถึงผลกระทบต่อชุมชน ดังนี้

(1) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมฉบับแรก ที่ถอนออกจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ถูกตรวจสอบพบว่า เป็นเท็จหลายประการ เช่น อ้างว่าป่าพรุเป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

(2) ที่ดินที่ถูกตรวจสอบถูกเพิกถอนเนื่องจากมีการทุจริตใช้ ส.ค.1 ซ้ำซ้อน นำที่ดินแปลงอื่นมาออกเอกสารสิทธิ และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อบางสะพานอีกด้วย

(3) ไม่มีการระบุใน EIA ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่จะประกาศเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญระดับชาติ และไม่มีการออกมาตรการในการดูแลผลกระทบที่อาจเกิดกับพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว

(4) ทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ. 2535 โดยทำการปรับพื้นที่ก่อนที่ EIA จะผ่านความเห็นชอบ จนส่งผลให้ชาวบ้านหมู่ที่ 1 บ้านดอนสำราญ เดือดร้อนเรื่องบ่อน้ำตื้นลดระดับลงอย่างรวดเร็วกว่า 50 หลังคาเรือนโดยรอบโครงการ จากการขุดคลองของโครงการ และคลองระบายน้ำของโครงการยังมีจุดทิ้งน้ำลงในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างแน่นอน

(5) ไม่มีการทำความเข้าใจต่อชุมชนอย่างจริงจัง และโปร่งใส มีการจัดจ้างคนในและนอกพื้นที่ให้เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการ จนส่งผลให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในพื้นที่จนมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน และยังมีการว่าจ้างผู้มีอิทธิพลเข้าข่มขู่ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่รอบโครงการ

(6) เป็นโครงการที่มีมลพิษสูง ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน 4 หมู่บ้าน มีระยะห่างจากโครงการเพียง 100 เมตร ใกล้วัด โรงเรียนหลายแห่ง และยังจะส่งผลให้เกิดการแย่งชิงน้ำในภาคการเกษตรอย่างมหาศาลในอนาคต ซึ่งในโครงการเดิมก็มีการแย่งชิงน้ำจนส่งผลให้ชาวบ้านที่ทำนาในปัจจุบัน มีการทำนาลดลง จาก 20,000 กว่าไร่ เหลือเพียง 6,000 กว่าไร่ในปัจจุบัน. และในโครงการโรงถลุงเหล็กนี้ มีแนวโน้มนำเครื่องจักรเก่ามาใช้ในโครงการเป็นจำนวนมาก

(7) โครงการตั้งอยู่บนความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบต่ออาชีพประมง ที่เป็นแหล่งอาหารระดับชาติ คือ แหลมแม่รำพึง ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ปลาทูที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย โดยที่ต้นคลองแม่รำพึงเป็นแหล่งแพลงตอนพืชที่มีปริมาณมาก และไหลลงสู่อ่าวบางสะพาน จึงทำให้อ่าวบางสะพานเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญ จึงมีมาตรการปิดอ่าวทุกปี กว่า 26,400 ตารางกิโลเมตร

(8) รัฐต้องไม่สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมหิวพลังงาน ที่ตอบสนองเฉพาะความมั่งคั่งของกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภท แต่ควรสร้างเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับการค้าขายในระยะยาว นั่นคือ ระบบธรรมาภิบาลแบบประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ความต้องการของภาคธุรกิจ ที่สำคัญไม่ควรทำลายวิถีชีวิต และอาชีพดั้งเดิมที่ยั่งยืนอยู่แล้ว

ด้านนางสาวสุดจิตร อินทรไทยวงศ์ รองเลขาธิการรักษาราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการลงทุน บีโอไอ ซึ่งเป็นตัวแทนรับข้อร้องเรียน กล่าวว่า จะนำข้อมูลที่ได้รับมาประกอบการพิจารณา แต่ยืนยันว่าการส่งเสริมการลงทุน จะต้องมีการศึกษาถึงความเหมาะสม ซึ่งโครงการดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลมองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค และทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กจะเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตาม รัฐไม่มีเจตนาที่จะทำลายภาคเกษตร และเชื่อว่าอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรสามารถไปด้วยกันได้ ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบ เหมือนในต่างประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมนี ก็มีตัวอย่างของการอยู่ร่วมกัน มีการกำหนดวันหยุดเพื่อให้มีการทำประมง โดยปลาที่จับได้ก็ไม่มีสารพิษเจือปน

ต่อมาในช่วงบ่าย กลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงถลุงเหล็กฯ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่กรมประมง เพื่อขอให้กรมประมงมีท่าทีที่ชัดเจนต่อการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งจะก่อสร้างในบริเวณแหลมแม่รำพึง เพราะบริเวณแหลมแม่รำพึงคือแหล่งวางไข่ของปลาทูแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตามการศึกษาของกรมประมงซึ่งต้องมีการอนุรักษ์ไว้ นอกจากนี้ยังได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อช่วยสำรวจและรวมรวมความหลากหลายทางทะเลในพื้นที่

นายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวหลังจากเสร็จสิ้นการตระเวนยื่นจดหมายว่า ดร.ธรณ์ มีความยินดีและเต็มใจที่จะให้การช่วยเหลือชาวบ้าน โดยจะทำหนังสือยื่นต่อคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขอให้จัดนักศึกษาเข้าร่วมในการสำรวจความหลากหลายทางทะเล ซึ่งจะมีการลงพื้นที่หลังจากเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์ และรับปากว่าจะทำแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 เดือน หลังจากนั้นจะมีการสรุปข้อมูลมอบให้ชาวบ้าน และส่งมอบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักความหลากหลาทางชีวภาพ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

นอกจากนี้ นายสุพจน์ยังได้กล่าวถึงการมามอบหนังสือแก่กระทรวงต่างๆ ในวันนี้ว่า ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานมักบอกว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่ก็มีส่วนสนับสนุนให้โครงการใหญ่ๆ เข้ามาในพื้นที่ และที่ผ่านมาแม้ว่าตนเองและ 5 พันธมิตรจังหวัดประจวบฯ จะได้ทำการยื่นหนังสือให้กับหน่วยงานต่างๆ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลหน่วยงานของรัฐมีการปรับเปลี่ยนองค์กร หนังสือที่ยื่นในรัฐบาลชุดก่อนก็อาจถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้การยื่นจดหมายยังถือเป็นการกระตุ้นเตือนในสิ่งที่ผิดพลาดที่ผ่านมา ไม่ใช่ให้เอามาทำผิดซ้ำอีก

"รัฐต้องหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าที่เราได้ [ประโยชน์] จากอุตสาหกรรม ได้จริงหรือไม่ ต้องมีการวิจัยใหม่ที่ว่ากระจายรายได้และมีผลต่อเศรษฐกิจ มันเป็นความจริงหรือเป็นผลประโยชน์กับคนกลุ่มเดียว แต่เสียประโยชน์ในวงกว้าง" นายสุพจน์กล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าทางกลุ่มไม่ได้ต้องการขวางการพัฒนาของประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสม ไม่ควรเอาการพัฒนามาเป็นข้ออ้าง เพื่อนำเอาอุตสาหกรรมเหล็กเข้ามาในพื้นที่. นอกจากนี้ นายสุพจน์ ยังได้กล่าวถึงการลงพื้นที่ของนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 7 มีนาคม 51 ที่ผ่านมา และมีคำสั่งให้แต่งตั้ง 'คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำบลแม่รำพึง' ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา โดยให้มีผู้แทนจากชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งจากการร่วมหารือกับชาวบ้านภายในชุมชนตำบลแม่รำพึง และกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ยังไม่มีชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์และบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้

นายสุพจน์แสดงความคิดเห็นต่อมาว่า การตั้งชื่อ 'คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม' ควรเปลี่ยนเป็น 'คณะกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน' เพราะทางกลุ่มต้องการมุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นดั้งเดิม ที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่เอาไว้ ไม่ใช่การฟื้นฟู โดยที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องเข้ามามีบทบาทในการเป็นเจ้าภาพในการจัดการ และการปกป้องทรัพยากรไม่ให้ถูกบุกรุกทำลาย

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


Words from the Text
มดทำให้สังคมหันมามองปัญหาของคนตัวเล็กๆ คนจนๆอย่างจริงจังและสรุปบทเรียนว่าการรวมพลังของเหล่าคนผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น จึงสามารถจะต่อรองกับอำนาจรัฐได้. มดเคยพูดว่า "ถ้ามากันคนสองคนจะได้พบก็แต่ยาม ถ้ามีสิบ-ยี่สิบคน อาจจะได้เจอเลขาฯ ศูนย์บริการประชาชน ถ้ามาเป็นร้อย จะได้เจอเลขาฯ ของ รัฐมนตรี มาเป็นพันรัฐมนตรีช่วยฯจะลงไปหา ถ้ามีสักหมื่นรัฐมนตรีจะลงมาเจรจาด้วย แต่จะให้นายกฯ มาพบปะเจรจาต้องสักสองหมื่น" ไม่แปลกใจที่การต่อสู้ของชาวบ้านกับเขื่อนปากมูลอันยาวนานจะเป็นวัตถุดิบชั้นยอด ที่บรรดานักศึกษาทั้งในประเทศและจากต่างประเทศแห่กันมาทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก นับร้อยชิ้น. (คัดลอกมาจากบทความ)
Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com

A sunset industry is an industry in decline, one that has passed its peak
or boom periods. When a business fails it becomes a sunset industry
e.g coal industry. Coal is no longer needed so people do not want to
buy it any more so there is no money coming in to the industry.
Companies like this become sunset because
they have declined and are no longer running.
A sunrise industry is one that is new or relatively new, is growing fast
and is expected to become important in the future. Examples of sunrise industries include hydrogen fuel production, space travel
for tourism, and online encyclopedias.