บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกชิ้นที่เผยแพร่ เป็นสมบัติสาธารณะ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ ภายใต้นโยบายลิขซ้าย (copyleft) เพื่อสังคมไทย



สำหรับผู้สนใจส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ความยาวไม่น้อยกว่า ๑๐ หน้ากระดาษ กรุณาส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
นักศึกษาและผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่แบนเนอร์ข้างบนนี้
อุดมศึกษาทางเลือก สำหรับผู้เรียนรู้ด้วยตัวเอง
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014

Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licen
e document, but changing
it is not allowed. - Editor
อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๐๑ เผยแพร่วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ : date 6 March 2008
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี รวมบทความทั้งหมดจำหน่ายเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการดำเนินงานเว็บไซต์ หากสนใจสั่งซื้อได้ที่อีเมล์ midnightuniv(at)gmail.com
H

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

 

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
ค้นหาบทความโดยคลิกที่แบนเนอร์และใส่คำค้นที่สำคัญ



06-03-2551 (1501)

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทางออกเชื้อเพลิงชีวภาพ vs ความมั่นคงทางอาหาร
กรณีศึกษาในบราซิล: กับดักเชื้อเพลิงเกษตร ด้านมืดเชื้อเพลิงชีวภาพ
ภัควดี วีระภาสพงษ์: แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย

ยุคครึ่งหลังของความรุ่งเรืองพลังงานน้ำมันได้มาถึงแล้ว ราคาน้ำมันได้สูงขึ้นหลายเท่าตัว
อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โลกกำลังแสวงหาทางออกจากน้ำมันอาหรับ ไปสู่เอธานอลและ
เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะบราซิลกำลังเป็นตัวแทนผู้นำการผลิตพลังงานเกษตรชนิดนี้
ที่ให้ความหวังว่าเชื้อเพลิงจะราคาถูกลง และวิกฤตการณ์น้ำมันจะบรรเทาลงในอนาคต
เบื้องหลังของความหวังอันสว่างของมนุษย กลับกลายเป็นความทุกข์ยากของคนกลุ่มหนึ่ง
ที่ต้องแลกด้วยชีวิต พร้อมสังเวยสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของโลกใบนี้
midnightuniv(at)gmail.com

บทความแปลบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วย
๑. กับดักของเชื้อเพลิงเกษตร
๒. ด้านมืดของเชื้อเพลิงเกษตร: กรณีศึกษาในบราซิล

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๕๐๐
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๑
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทางออกเชื้อเพลิงชีวภาพ vs ความมั่นคงทางอาหาร
กรณีศึกษาในบราซิล: กับดักเชื้อเพลิงเกษตร ด้านมืดเชื้อเพลิงชีวภาพ
ภัควดี วีระภาสพงษ์: แปลและเรียบเรียง
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

๑. กับดักของเชื้อเพลิงเกษตร
แปลจาก: Laura Carlsen, "The Agrofuels Trap," (Washington, DC: Foreign Policy In Focus, September 10, 2007).
Web location: http://fpif.org/fpiftxt/4533

ความนำ
การพัฒนาเชื้อเพลิงเกษตร (agrofuels) ก้าวมาถึงขั้นตอนระดับโลกแล้ว เพียงแค่ในปีที่แล้วเพียงปีเดียว (2007) จำนวนของการประกาศตัว จำนวนเงินดอลลาร์ และแผนการพัฒนาที่หันไปหาเชื้อเพลิงเกษตร มีจำนวนมากชนิดที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นเปรียบไม่ติด แนวคิดที่เคยซบเซามาหลายทศวรรษ จู่ ๆ ก็กลายเป็นที่รักใคร่ไยดีของเหล่านักการเมือง ธุรกิจใหญ่ นักการเงินระหว่างประเทศและสื่อมวลชน

เพียงแค่ข้อเท็จจริงนี้อย่างเดียวก็ชวนให้เราวิตก เคยมีมาก่อนเมื่อไรกันที่การแสวงหาทางเลือกอื่นในเชิงนิเวศวิทยาที่ดีกว่าการใช้น้ำมัน กลายเป็นที่นิยมในหมู่รัฐบาลและบรรษัทธุรกิจพร้อม ๆ กันอย่างนี้? มีการโอ้อวดว่าเชื้อเพลิงเกษตรคือทางออกต่อปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่สังคมอเมริกันและโลกกำลังเผชิญ บรรดาฝ่ายสนับสนุนอ้างว่า เชื้อเพลิงเกษตรช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยให้การเติบโตทางอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่บนน้ำมันยืดอายุต่อไป เชื้อเพลิงเกษตรมีความยั่งยืนและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น

แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนกว่านี้ ความจริงจะเปิดเผยให้เราเห็นว่า อนาคตโรยดอกกุหลาบที่ฝ่ายสนับสนุนเชื้อเพลิงเกษตรวาดภาพให้เราคล้อยตามนั้น มีหลายหลืบมุมที่ดูเหมือนเลวร้ายพอ ๆ กับอดีตที่เลวร้ายที่สุด

เชื้อเพลิงเกษตรคืออะไร?
แนวคิดเกี่ยวกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีมาตั้งแต่รถยนต์ถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในคริสตศตวรรษที่ 19 แต่เนื่องจากการผลิตปิโตรเลียมมีต้นทุนต่ำ และทัศนคติแบบ "พรุ่งนี้ไม่เคยมาถึง" ของอุตสาหกรรมรถยนต์ มันจึงเบียดขับเอธานอลและเชื้อเพลิงชีวภาพอื่น ๆ ไปอยู่รอบนอกมาหลายทศวรรษ

อธิบายอย่างง่าย ๆ เชื้อเพลิงเกษตรคือเชื้อเพลิงเผาไหม้ได้ที่ทำจากวัตถุอินทรีย์ เช่น พืชหรือผลพลอยได้จากสัตว์ เชื้อเพลิงเกษตรที่ผลิตกันทั่วไปคือแอลกอฮอล์ ซึ่งผลิตในกระบวนการคล้ายคลึงกับการกลั่นสุราพื้นบ้าน เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่ากันมาก เอธานอลส่วนใหญ่ผลิตจากข้าวโพดและอ้อย. ไบโอดีเซลผลิตจากปาล์ม ถั่วเหลือง คาโนลา หรือพืชให้น้ำมันชนิดอื่น ๆ ส่วนเอธานอลจากเซลลูโลส (cellulosic ethanol) ผลิตโดยการย่อยสลายไฟเบอร์จากหญ้าหรือจากพืชชนิดอื่น ๆ ได้เกือบทุกชนิด

พลังงานเหล่านี้ถือเป็นพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากเราสามารถปลูกพืชขึ้นมาใหม่ได้ทุกปี ถึงแม้ว่าในหลาย ๆ กรณี ปัจจัยที่ใช้ปลูกพืช ซึ่งประกอบด้วยน้ำที่ไม่เน่าเสีย ดินที่อุดมสมบูรณ์และปุ๋ย จัดเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปภายในแต่ละภูมิภาคก็ตาม เชื้อเพลิงเกษตรสามารถนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากน้ำมัน โดยเฉพาะในด้านการขนส่ง กระนั้นก็ตาม ในปัจจุบันมีการใช้เชื้อเพลิงเกษตรเพียงแค่ 1.8% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่มักนำมาผสมกับน้ำมันปิโตรเลียม เครื่องยนต์ทั่วไปสามารถใช้น้ำมันผสมเอธานอลในปริมาณต่ำได้ทันทีโดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่อง ส่วนเครื่องยนต์แบบ flex-fuel สามารถใช้น้ำมันผสมในอัตราที่สูงขึ้น และเทคโนโลยีบางอย่างสามารถทำให้เครื่องยนต์ใช้เอธานอลล้วน ๆ หรือไบโอดีเซลได้

คำที่มักใช้เรียกเชื้อเพลิงเกษตรที่คุ้นหูมากกว่าก็คือคำว่า "เชื้อเพลิงชีวภาพ" (biofuels) แต่คำ ๆ นี้บดบังความเป็นจริงที่สำคัญหลายประการ "ชีว" เป็นอุปสรรค (prefix) ที่หมายถึงชีวิต "เชื้อเพลิงชีวภาพ" จึงดูเหมือนให้ความหมายว่า เชื้อเพลิงชนิดนี้เกิดจากกระบวนการทางชีววิทยาตามธรรมชาติ และนำมาใช้ตอบสนองความจำเป็นของสังคมโดยทั่วไป

แต่ความเชื่อทั้งสองประการนี้ผิดทั้งคู่ การใช้ที่ดินจำนวนมหาศาลเพื่อการปลูกพืชเชิงเดี่ยวดัดแปลงพันธุกรรมที่จะนำมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงเกษตรนั้น ไม่ได้มีความเป็นธรรมชาติหรือเป็นมิตรต่อโลกเลย นอกจากนี้ มันยังทำให้เกษตรกรต้องพลัดถิ่นฐาน และมีการขูดรีดแรงงานในไร่นาที่ผลิตพืชผลที่ใช้ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงเกษตร ซึ่งขัดต่อมาตรฐานการครองชีพที่ดีของมนุษย์

ในทำนองเดียวกัน อัตราการบริโภคน้ำมันในประเทศพัฒนาแล้ว ก็ไม่ใช่การเติบโตตามปรกติของสังคมที่มีสุขภาพแข็งแรงเช่นกัน แต่มันเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่ชาวอินเดียนแดงเผ่าโฮปีเรียกว่า koyaanisqatsi-ชีวิตขาดสมดุล "ความสมดุล" อาจเป็นคำในเชิงอัตวิสัย และพวกนักอุตสาหกรรมมักโจมตีว่า นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมักไม่มีความสมดุล โดยมีอคติต่อการใช้สอยของมนุษย์และสร้างภาพอุดมคติในการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่เราสามารถมองดูความไม่สมดุลนี้ในเชิงสถิติ ไม่เพียงแค่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปกำลังร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังดูได้จากแบบแผนการใช้ทรัพยากรที่เอียงกะเท่เร่อย่างเห็นได้ชัด การบริโภคน้ำมันต่อหัวในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกมากกว่า 5 เท่า

คำว่า "เชื้อเพลิงเกษตร" ช่วยบอกโดยตรงว่า เชื้อเพลิงชีวภาพผลิตขึ้นมาอย่างไร คำว่า "เกษตร" (agro) บอกให้รู้ข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่า เชื้อเพลิงชนิดนี้จะมาแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรจากพืชผลทางการเกษตรโดยตรง โดยเฉพาะอาหาร ด้วยเหตุนี้ ความคลั่งไคล้ในการผลิตเชื้อเพลิงเกษตรจึงเป็นภัยคุกคามต่อแหล่งอาหารในโลก เป็นอันตรายต่อการบรรเทาความยากจน และบั่นทอนความปรารถนาของชนชาติต่าง ๆ ที่จะสร้างงานและผลิตอาหารเลี้ยงดูพลเมืองของตนเอง กล่าวคือ ความสามารถในการบรรลุอธิปไตยทางอาหารนั่นเอง องค์กรเกษตรกรรายย่อยทั่วโลก ออกมาต่อต้านการเปลี่ยนที่ดินทางการเกษตรให้มาผลิตพืชผลที่ใช้ในเชื้อเพลิงเกษตร

การส่งเสริมเชื้อเพลิงเกษตร
นักวิทยาศาสตร์และนักนิเวศวิทยายังคงโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของเชื้อเพลิงเกษตร มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ขัดแย้งกันเองเกี่ยวกับการสร้างพลังงานสุทธิของเชื้อเพลิงเกษตรว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะมากขึ้นหรือน้อยลง รวมทั้งการแก้ปัญหาต้นทุนและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไรกันแน่ อย่างไรก็ตาม ฉันทามติทางการเมืองกลับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทรงอำนาจ ในเวลาสั้น ๆ แค่ไม่กี่ปี กลุ่มพลังที่มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ได้จับมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อส่งเสริม "เชื้อเพลิงชีวภาพ" แล้ว

ใครอยู่เบื้องหลังความคลั่งไคล้ใน "เชื้อเพลิงชีวภาพ" และทำไม?
ในการปราศรัยต่อรัฐสภาประจำปี ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ประกาศเป้าหมายที่จะใช้เชื้อเพลิงเกษตรแทนที่น้ำมันจำนวน 20% ให้ได้ภายใน 10 ปี สหภาพยุโรปก็ประกาศเป้าหมายคล้าย ๆ กัน ในการประชุมครั้งล่าสุด กลุ่มประเทศ G-8 เห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ทุ่มทุนพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงเกษตร และสถาบันการเงินระหว่างประเทศออกหุ้นกู้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อการนี คณะกรรมการเอธานอลระหว่างประเทศในทวีปอเมริกา (Interamerican Ethanol Commission) มีเจบ บุช (น้องชายของจอร์จ บุช) นั่งเป็นประธาน นอกจากนี้ก็มีนายโรเบร์โต โรดรีเกส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของบราซิลและผู้นำในธุรกิจเกษตร รวมทั้งนายลูอิส โมเรโน ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศในทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank)

ภาคธุรกิจเองก็กระตือรือร้นพอ ๆ กัน ถ้าไม่ใช่มากยิ่งกว่า มีอุตสาหกรรมโลกาภิวัตน์ 4 กลุ่มที่เป็นแนวหน้าในการผลักดันการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงเกษตร การลงทุนและการผลิต นั่นคือ อุตสาหกรรม ธุรกิจเกษตร, น้ำมัน, รถยนต์, และ เทคโนโลยีชีวภาพ

นับแต่เริ่มต้นที่มีการผลิตเชื้อเพลิงเกษตรเป็นต้นมา บริษัทธุรกิจเกษตร อาทิ ADM, คาร์กิลล์, Bunge และ Dreyfus ต่างกระโจนขึ้นรถไฟขบวนนี้ ในเมื่อมีเงินทุนอุดหนุนจากรัฐบาล ตลอดจนกำไรมหาศาลที่ถ่ายเทได้อย่างเสรีทั่วโลก เชื้อเพลิงเกษตรจึงน่าดึงดูดใจกว่าสมัยก่อน ใน ค.ศ. 2005 เชื้อเพลิงเกษตรมีส่วนแบ่งในตลาด 15.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 15% บริษัท ADM ซึ่งเป็นผู้กลั่นรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง ผลิตเอธานอลถึง 1 พันล้านแกลลอนใน ค.ศ. 2006 และมีแผนขยายกำลังการผลิตออกไปอีก 550 ล้านแกลลอนภายในเวลาสองปีข้างหน้า ส่วนคาร์กิลล์เป็นเจ้าของโรงกลั่นเอธานอลที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และทำสัญญาหรือเป็นเจ้าของไร่อ้อยในบราซิล

บริษัทน้ำมันเห็นว่าเชื้อเพลิงเกษตรคือสิ่งที่จะมาต่ออายุให้ตน รวมทั้งทำให้ธุรกิจแตกแขนงออกไปด้วย การใช้เชื้อเพลิงเกษตรไม่ทำให้แบบแผนการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปหรือจำเป็นต้องปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนน้ำมันแต่อย่างใด เพียงแค่กำหนดให้ผสมเอธานอลหรือไบโอดีเซลสัก 5-10% ลงในน้ำมันที่ใช้กันทั่วไป ก็ทำให้การใช้น้ำมันยืดอายุออกไปได้อีกหลายชั่วคน. ในทำนองเดียวกัน อุตสาหกรรมรถยนต์สามารถรักษาหรือกระทั่งเพิ่มยอดขาย เนื่องจากประชาชนต้องซื้อรถใหม่ที่ปรับให้เข้ากับเอธานอล พร้อม ๆ กับกลบข้อโต้แย้งของกลุ่มคนที่เรียกร้องเรื่องต้องห้ามสูงสุดในระบบทุนนิยม นั่นคือ ข้อเรียกร้องให้ลดการบริโภคลง

กลุ่มสุดท้ายในยักษ์ใหญ่ทั้งสี่นี้ก็คือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มนี้อาจดูเหมือนได้รับผลประโยชน์ไม่ชัดเจนเหมือนกลุ่มอื่น แต่อันที่จริงแล้ว มันได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มันกำลังเผชิญแรงต่อต้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การบรรลุเป้าหมายปริมาณการผลิตเชื้อเพลิงเกษตร จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพืชผลเพาะปลูกสำหรับใช้ผลิตเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ รวมทั้งต้องเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนลง พืชดัดแปลงพันธุกรรมเป็นทางลัดที่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ระยะสั้นในเรื่องนี้ได้ ข้าวโพดและอ้อยดัดแปลงพันธุกรรมชนิดต่าง ๆ ที่มีการดัดแปลงให้เหมาะต่อการผลิตเอธานอลโดยเฉพาะ ตอนนี้มีการใช้กันอย่างกว้างขวางแล้ว

อันที่จริง เนื่องจากเอธานอล 90% ในสหรัฐฯ มาจากข้าวโพด และข้าวโพดที่ปลูกในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม เอธานอลจึงมีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า "เหล้าข้าวโพดของมอนซานโต" บริษัทมอนซานโตเป็นผู้นำในการผลิตข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม และตอนนี้มีการวิจัยที่มุ่งเน้นการตัดต่อยีนของพืชชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งมีคุณสมบัติที่ทำให้เข้าสู่กระบวนการกลั่นเอธานอลได้ง่ายขึ้น ผลผลิตใหม่ ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เหมาะต่อการบริโภคของมนุษย์

เมื่อมีกลุ่มผู้สนับสนุนยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ข้อเท็จจริงประการหนึ่งย่อมกระจ่างแจ้งต่อสายตา นั่นคือ การปฏิวัติเชื้อเพลิงเกษตรไม่ใช่การปฏิวัติแต่อย่างใด การเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงเกษตรคือตัวอย่างของการปฏิรูประบบเพียงเพื่อให้ระบบนั้นคงอยู่ต่อไปเท่านั้น

รื้อแผนที่ทวีปอเมริกาใหม่
ความเฟื่องฟูของเอธานอลเปิดฉากในซีกโลกตะวันตก ด้วยการส่งเสริมของคณะกรรมการเอธานอลระหว่างประเทศในทวีปอเมริกา รวมทั้งข้อตกลงทวิภาคีที่กำลังขยายตัว ที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นข้อตกลงระหว่างจอร์จ บุช และลูลา ดา ซิลวาแห่งบราซิลเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว แผนการเหล่านี้คือภัยคุกคามที่จะรื้อแผนที่ทวีปอเมริกาเสียใหม่ ทั้งในด้านเกษตรกรรมและเศรษฐกิจการเมือง

ความเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดินภายใต้ยุทธศาสตร์เชื้อเพลิงเกษตร จะเปลี่ยนโฉมภูมิประเทศและวิถีชีวิตให้ต่างไปจากเดิม ไม่เพียงเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ตลอดทั่วทั้งซีกโลกนี้เลยทีเดียว ถึงแม้มีพืชดัดแปลงพันธุกรรมและผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่การผลิตเชื้อเพลิงเกษตรของสหรัฐฯ ยังห่างไกลจากเป้าที่ตั้งไว้มาก การแสวงหาแหล่งผลิตในต่างประเทศทำให้มีแหล่งผลิตราคาถูกและไว้ใจได้ในทวีปอเมริกา. ธุรกิจเกษตรในเอกวาดอร์วางแผนขยายการปลูกอ้อยออกไปอีก 50,000 เฮกตาร์ (308,750 ไร่) รวมทั้งถางป่าอีก 100,000 เฮกตาร์ (617,500 ไร่) เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน. ในประเทศโคลอมเบีย การผลิตปาล์มน้ำมันมีสมญานามแล้วว่า "ดีเซลของการตัดไม้ทำลายป่า"

บราซิลคือห้องทดลองของอนาคตในด้านการใช้เอธานอล รถยนต์ในบราซิลถึง 80% สามารถใช้เอธานอลและเอธานอลเป็นส่วนผสมถึง 40% ในน้ำมันที่ใช้กับรถยนต์ บราซิลเป็นผู้ผลิตเอธานอลจากอ้อยถึง 60% ของผลผลิตในโลก มีการปลูกอ้อยบนที่ดินถึง 3 ล้านเฮกตาร์ (18,525,000 ไร่). บราซิลผลิตเอธานอลถึง 17 พันล้านลิตรต่อปี และมีเป้าหมายที่จะครอบครอง 50% ของตลาดเอธานอลโลก นี่คือข้อมูลจากธนาคารแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบราซิล (BNDES) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ บราซิลจึงวางแผนเตรียมที่ดินอีก 60 ล้านเฮกตาร์ (370.5 ล้านไร่) ไว้ปลูกอ้อย

ผู้บาดเจ็บรายแรกจากการปรับโครงสร้างการผลิตทางเกษตรกรรมครั้งนี้ก็คือ เกษตรกรรายย่อย. จริงอยู่ คงไม่มีใครคิดว่าสภาพของเกษตรกรรายย่อยในบราซิลหรือในส่วนอื่น ๆ ของละตินอเมริกาคือชีวิตในอุดมคติ ในเกือบทุกประเทศของภูมิภาคนี้ ครอบครัวในพื้นที่ชนบทมีจำนวนถึงสองในสามหรือมากกว่านั้นที่ต้องดำรงชีวิตในความยากจน แต่การผลิตเชื้อเพลิงเกษตรก็ไม่ใช่ช่องทางใหม่ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ตรงกันข้าม ประสบการณ์ของบราซิลแสดงให้เห็นอันตรายอย่างน่าประหวั่น มันสร้างความเสื่อมถอยให้แก่หมู่คนที่อ่อนแอที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคม

เจมส์ ธอลบี (James Thorlby) หนึ่งในคณะกรรมการที่ดินปศุสัตว์ในบราซิล รายงานว่า การผลิตเชื้อเพลิงเกษตรทำให้เกษตรกรต้องพลัดถิ่นฐาน คนเหล่านี้มีทางเลือกสองทางคือ เป็นแรงงานในไร่หรือไปเป็นชาวสลัมในเมือง. ธอลบีตั้งข้อสังเกตว่า ในรัฐเปร์นัมบูกู มีเกษตรกร 45,000 ครอบครัวที่ต้องพลัดถิ่นฐาน เพราะการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ เกรงว่า เกษตรกรไร้ที่ดินที่ไม่สามารถหางานทำในไร่ อาจจำต้องเข้าไปบุกเบิกถางป่าในพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพ การที่ที่ดินและโรงกลั่นกระจุกตัวอยู่ในเงื้อมมือของชนชั้นสูงในชนบทและบรรษัทข้ามชาติ เป็นการขับไสครอบครัวเกษตรกรออกไปจากพื้นที่นี้ทั้งหมด

การจับมือครั้งใหม่ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับพันธมิตรในภูมิภาคนี้เพื่อเปลี่ยนละตินอเมริกาให้กลายเป็นแหล่งผลิตเชื้อเพลิงเกษตร ไม่เพียงสร้างผลกำไรแก่บรรษัทข้ามชาติและธุรกิจยักษ์ใหญ่ แต่ยังช่วยคานอำนาจที่กำลังเพิ่มขึ้นของเวเนซุเอลาและประเทศอื่น ๆ ที่พยายามหนีจากอิทธิพลอำนาจของสหรัฐฯ ด้วย. พันธมิตรเอธานอลคือการพยายามรวบรวมกลุ่มอำนาจใหม่ขึ้นมาในละตินอเมริกา โดยมีสหรัฐอเมริกากับบราซิลเป็นพี่เบิ้ม และมีบรรษัทข้ามชาติเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ นี่อาจบ่อนเซาะความพยายามที่จะผนึกกำลังด้วย Mercosur (ตลาดร่วมอเมริกาใต้) และทำลายความพยายามที่จะรวมตัวในระดับภูมิภาค เช่น การก่อตั้งธนาคารแห่งซีกโลกใต้และสหภาพกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ เป็นต้น

Raul Zibechi นักวิเคราะห์ของเว็บไซท์ CIP Americas Program (http://www.americaspolicy.org) กล่าวว่า สหรัฐฯ "กำลังใช้บราซิลเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อหาทางโดดเดี่ยวเวเนซุเอลาและประเทศอื่น ๆ ที่ดำเนินนโยบายสร้างความสามัคคีในละตินอเมริกาเพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ"

ข้อพึงระวัง
ถึงแม้เกษตรกรทั่วทั้งซีกโลกตะวันตกอาจได้รับผลดีจากราคาข้าวโพดที่สูงขึ้น แต่จอร์จ เนย์เลอร์ (George Naylor) แห่งแนวร่วมการทำเกษตรครอบครัวแห่งชาติ (National Family Farm Coalition) เตือนว่า ผลกำไรระยะสั้นจะต้องจ่ายคืนด้วยราคาแพงในอนาคตที่ไม่ไกลนัก และเกษตรกรรายย่อยจะต้องเป็นผู้จ่ายราคาเหมือนเคย. ในการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเชื้อเพลิงเกษตรในกรุงเม็กซิโกซิตีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม (2007) เนย์เลอร์ทำนายว่า ราคาที่สูงขึ้นจะไม่ยืนระยะนาน เพราะเกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น เกษตรกรที่หันมาปลูกพืชเชื้อเพลิงเกษตรอาจลงเอยด้วยการเสียที่ดินไป ในบราซิล ราคาอ้อยเริ่มเข้าสู่ขาลงแล้ว

คำถามก็คือ เราควรต่อต้านการผลิตเชื้อเพลิงเกษตรทั้งหมดหรือผลักดันให้มีการแสวงหาทางเลือกที่ยั่งยืนในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม การผลักดันอาจมีปัญหา เมื่อดูจากอำนาจใหญ่โตทางเศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังเชื้อเพลิงเกษตร โมเดลที่ใช้มักให้ความสำคัญต่อผลกำไรเหนือกว่าสิ่งแวดล้อม และผลตอบแทนต่อการลงทุนเหนือสิทธิมนุษยชนเสมอ. ในบริบทเช่นนี้ โอกาสที่ชุมชนท้องถิ่นและเกษตรกรรายย่อยจะได้รับประโยชน์ยิ่งระเหยหายไปเร็วกว่าแอลกอฮอล์เสียอีก

เมื่อปราศจากฉันทามติของนักวิทยาศาสตร์ในวงกว้าง ทั้งยังไม่มีการออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองเกษตรกร แรงงาน ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อมและแหล่งอาหาร การมุ่งหน้าสู่การพัฒนาเชื้อเพลิงเกษตรอย่างไม่ลืมหูลืมตาจึงขาดเหตุผลอันชอบธรรม

เกี่ยวกับผู้เขียน : Laura Carlsen เป็นผู้อำนวยการโครงการ Americas Program ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน Center for International Policy และเป็นคอลัมนิสต์ของ FPIF

๒. ด้านมืดของเชื้อเพลิงเกษตร: กรณีศึกษาในบราซิล
แปลจาก: Raul Zibechi, "The Dark Side of Agrofuels: Horror in the 'Brazilian California',"
Americas Program Report (Washington, DC: Center for International Policy, July 23, 2007).
Web location:http://americas.irc-online.org/am/4414

Translated from: La cara siniestra de los biocombustibles: Horror en la "California brasile?a"
Translated by: Nalina Eggert and Sonja Wolf

บราซิลกำลังเดิมพันด้วยการอ้างตัวเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่ สืบเนื่องจากการเป็นผู้นำในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ราคาของความทะเยอทะยานนี้ต้องเซ่นสังเวยด้วยสิ่งแวดล้อมและแรงงานตัดอ้อย ซึ่งเป็นตัวละครที่ไม่มีใครมองเห็นในตำนานฉากนี้. "เวลาเครื่องบินบินผ่าน โปรยยาพิษลงมา พ่อของฉันก็ตัวเปียกโชก พ่อล้มป่วยเพราะสารพิษที่พ่นใส่อ้อย นี่คือจุดจบของคนหนุ่มสาวหลายคนที่นี่" แรงงานตัดอ้อยหญิงคนหนึ่งเล่าให้ฟัง เธอเป็นคนงานในเมืองรีเบย์เราเปรตู รัฐเซาเปาลู

"พวกเรามาทำงาน แล้วเขาก็ให้ตั๋วพวกเราไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เราไม่เคยเห็นเงิน เห็นแต่ใบเสร็จว่าเราเป็นหนี้เท่าไร" แรงงานอีกคนจากเมืองเดียวกันยืนยันเช่นเดียวกับคนงานอีกหลายคน แรงงานตัดอ้อย 7 ใน 10 คน เรียนไม่จบชั้นประถมด้วยซ้ำ (1). แรงงานตัดอ้อยคนอื่น ๆ อธิบายว่า พวกเขาถูกนายจ้างโกงตาชั่ง คนงานคำนวณว่า พวกเขาต้องตัดอ้อยถึง 110 กิโลกรัม เพื่อให้ชั่งได้ 100 กิโลกรัม แรงงานเกือบทุกคนถูกล่อลวงมาจากเขตตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจน ทุกคนได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้เงินเดือนสูงมาก แม้แต่นักวิเคราะห์สายกลางหลายคนก็เห็นตรงกันว่า สภาพการทำงานในไร่อ้อยชวนให้นึกถึงยุคทาส แต่ประธานาธิบดีลูอิซ อีนาเซียว ลูลา ดา ซิลวา กล่าวต่อที่ประชุมสุดยอด G-8 ว่า เชื้อเพลิงชีวภาพมี "ศักยภาพมหาศาลในการสร้างงานและรายได้" และ "มันคือทางเลือกที่แท้จริงสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน" (2)

เบื้องหลังโวหารที่ "ฟังดูดีเข้ากับกระแสนิยม" (politically correct) ซุกซ่อนความเป็นจริงที่กำลังจะทำลายป่าแอมะซอน ความเป็นจริงที่ทรมานร่างกายคนหนุ่มสาวหลายล้านคน และคำมั่นสัญญาถึงธุรกิจกำไรงามต่อนักลงทุน เพียงแค่ชื่อ "เชื้อเพลิงชีวภาพ" (biofuels) ก็ดูเหมือนเจตนาจะสร้างความสับสนด้วยซ้ำ เฌา เปโดร สชีดิเล (Jo?o Pedro St?dile) ผู้นำคนหนึ่งของขบวนการแรงงานไร้ที่ดินบราซิล (MST) ชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายสนับสนุนเอธานอล "ใส่คำอุปสรรคว่า 'ชีว' นำหน้าคำนี้ก็เพื่อให้ฟังดูเหมือนมันเป็นสิ่งที่ดี" ด้วยเหตุนี้เอง ฝ่ายต่อต้านเชื้อเพลิงชนิดนี้จึงนิยมใช้คำว่า "เชื้อเพลิงเกษตร" (agrofuels) มากกว่า เพราะคำ ๆ นี้บอกให้รู้ว่า นี่คือพลังงานที่ผลิตมาจากพืชผลทางการเกษตร (3)

ย่ำรอยเดิมเมื่อสี่ศตวรรษก่อน
ในทัศนะของอดีตผู้ว่าการรัฐเซาเปาลู เคลาดิโอ เลมโบ เชื้อเพลิงเกษตรจะขยายการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว (monoculture) ไปทั่วทั้งประเทศ ถึงแม้เขาเป็นนักการเมืองอนุรักษ์นิยมและสมาชิกพรรคแนวหน้าเสรีนิยม (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาธิปไตย) เขาคิดว่าบราซิลกำลัง "ถอยหลังกลับไปที่เดิมเมื่อ 500 ปีก่อน" นั่นคือ ในสมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ในทัศนะของเลมโบ ที่ดินเกษตรกรรมจะสูญเสียไปเมื่อนำมาปลูกอ้อย และประวัติศาสตร์ 4 ศตวรรษจะกลับมาซ้ำรอยเดิม เมื่อ "คนหลายพันต้องพลัดพรากจากชุมชนเพราะอสุรกายของการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย" (4)

เมื่อพิจารณาสภาพการทำงานของแรงงานตัดอ้อย ภาพที่ปรากฏคือโลกอันเลวร้าย โลกที่ควรให้ผู้คนที่กระตือรือร้นกับแนวคิดที่จะนำเชื้อเพลิงเกษตรมาทดแทนน้ำมันควรคิดใคร่ครวญให้ดี จากรายงานหลายชิ้น มีแรงงานราวหนึ่งล้านคนทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ โดยราว 500,000 คนอยู่ในภาคเกษตรกรรม การเก็บเกี่ยวอ้อยเกือบ 80% ใช้แรงงานคน คนงานจะได้รับค่าจ้างต่อเมื่อเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตตามปริมาณที่นายจ้างกำหนด สำหรับในเมืองรีเบย์เราเปรตู ปริมาณที่กำหนดคือ 12 ตันต่อวัน มากกว่าปริมาณใน ค.ศ. 1980 ถึง 2 เท่า ถ้าคนงานทำไม่ถึงเป้า ก็จะไม่ได้รับค่าแรงเลย (5)

เพื่อตัดอ้อยให้ถึงเป้า แรงงานต้องทำงานถึง 10 หรือ 12 ชั่วโมงต่อวัน บางครั้งก็ถึง 14 ชั่วโมง ภายใต้แสงอาทิตย์แผดกล้า พ่อแม่หลายคนต้องพาลูกเล็ก ๆ มาช่วยทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิตเข้าเป้า แม้ว่าเดี๋ยวนี้จำนวนแรงงานเด็กลดลงไปบ้างแล้วก็ตาม ใน ค.ศ. 1993 แรงงานตัดอ้อยทุก 1 ใน 4 คน ในรัฐเปร์นัมบูกู มีอายุระหว่าง 7-17 ปี เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้รับค่าจ้างเงินเดือนใด ๆ เลย ในการเก็บเกี่ยวสองครั้งหลังสุด มีคนงาน 14 ราย เสียชีวิตเพราะทำงานหนักเกินไป แรงงานตัดอ้อยมักมาจากท้องที่อื่น จึงต้องอาศัยรวมกันในไร่ ในกระท่อมที่ไม่มีเบาะรองนอน ไม่มีน้ำหรือครัว คนงานต้องทำอาหารในกระป๋องที่ตั้งบนกองไฟเล็ก ๆ และซื้อของจากร้านขายของชำในไร่ ซึ่งโขกราคาสูงกว่าราคาในตลาด

มีการเผาไร่อ้อยก่อนการตัด เพราะทำให้ตัดง่ายขึ้น แต่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาก และก่อให้เกิดปัญหาด้านทางเดินหายใจอย่างร้ายแรงในหมู่คนงาน. ในเมืองปีราซีกาบา รัฐเซาเปาลู เด็กที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะปัญหาทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 21% ในช่วงที่มีการเผาไร่อ้อย. ในการตัดอ้อยทุก 10 ตัน แรงงานต้องใช้พร้าฟันถึง 72,000 ครั้ง และงอเข่า 36,000 ครั้ง พวกเขาเสียเหงื่อราว 10 ลิตรต่อวัน และต้องเดินวันละ 10 ก.ม. กว่าจะทำงานเสร็จสิ้น. ค่าจ้างรายเดือนมีตั้งแต่ 150-200 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 4,950-6,600 บาท คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ต่อ 33 บาท) ตามข้อมูลของนักสังคมวิทยา ฟรานซิสโก เด โอลิเวย์รา แรงงานตัดอ้อยมีอายุยืนโดยเฉลี่ยต่ำกว่าทาสยุคอาณานิคมเสียอีก (6)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของบราซิล คาร์โลส ลูปี ยอมรับต่อที่ประชุมแรงงานระหว่างประเทศในเจนีวาว่า การผลิตอ้อยในบราซิลมีการใช้แรงงานหนักภายใต้สภาพที่เลวร้าย "พวกเขาทำงานโดยไม่มีเครื่องป้องกันและถึงขนาดนิ้วขาดก็มี"(7). มารีอา อาปาเรซีดา เด โมราเอส ซิลวา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการทำงานในไร่อ้อยมา 30 ปีแล้ว ยืนยันว่า แรงงานตัดอ้อย 45% มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายจ้างชอบแรงงานอพยพแบบนี้ เพราะเมื่อต้องพรากจากครอบครัวญาติมิตร พวกเขาจึงจำทนต่อการกดขี่โดยไม่ปริปาก และหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวที่ยาวนานถึง 7 เดือน พวกเขาก็จะกลับไปหมู่บ้าน ทำให้แรงงานเหล่านี้ก่อตั้งสหภาพได้ยาก (8)

นี่หรือ "ความก้าวหน้า"?
เริ่มมีการนำเครื่องจักรที่ทำงานได้เท่ากับแรงงาน 100 คนมาใช้บ้างแล้ว ด้วยเหตุนี้ เจ้าของไร่อ้อยจึงเพิ่มเป้าการผลิตของแรงงานตัดอ้อย เจ้าของไร่สั่งให้คนงานตัดอ้อยให้ต่ำลงไปชิดโคนมากขึ้นเหมือนการตัดของเครื่องจักร ผลพวงที่ตามมาก็คือ เดี๋ยวนี้นายจ้างเลือกคนงานที่อายุน้อยลง ๆ ซึ่งได้รับค่าแรง 1 ดอลลาร์ต่ออ้อย 1 ตัน

วารสารเศรษฐกิจ Jornal do Valor อธิบายวิธีการค้ามนุษย์เป็นแรงงานทาส: "มีนายหน้าค้าแรงงานมนุษย์ตระเวนไปทั่วทุกรัฐที่ยากจน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายหน้าพวกนี้จะเลือกหนุ่มสาวที่อายุน้อยที่สุด พอแรงงานขึ้นรถบัสเดินทางไปเมืองที่ทำสัญญาไว้ แรงงานตัดอ้อยก็เป็นหนี้ก้อนแรกแล้ว นั่นคือ หนี้ค่าเดินทาง นายหน้าได้เงิน 60 รีล (30 ดอลลาร์) ต่อคนงาน 1 คนที่พามา. ตามปรกติ นายหน้าพวกนี้มักเป็นคนขายสินค้าจำเป็นให้คนงานที่มาถึงใหม่ ๆ ด้วย นายหน้าจึงกลายเป็น 'เจ้าของ' แรงงานมนุษย์ โดยอาศัยการสะสมหนี้" (9)

การขยายพื้นที่ไร่อ้อยจึงทำลายโครงสร้างที่ถักทอเป็นสังคม ในเขตเมืองเดลตา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในรัฐมีนัสชีไรส์ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นถึง 300,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,852,500 ไร่) เมืองนี้ปรกติมีประชากร 5,000 คน แต่จะเพิ่มขึ้นถึง 10,000 คนในช่วงเก็บเกี่ยว. จากรายงานในหนังสือพิมพ์ Correio Braziliense เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้เริ่มมีอัตราการฆ่ากันตายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในสมัยที่ไร่อ้อยยังไม่เพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ มีเด็กผู้หญิงและวัยรุ่นจำนวนมากถูกลักพาตัวมาเพื่อบังคับขายบริการทางเพศในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีแรงงานตัดอ้อยเข้ามาถึงปีละ 20,000 คน แรงงานแออัดกันอยู่ตามชานเมืองเล็ก ๆ และมีการแพร่ระบาดของสุราและโคเคน

การขยายตัวของอุตสาหกรรมอ้อยทำให้เมืองและเทศบาลต่าง ๆ มีประชากรเกินพิกัด. โฆเซ เอวสตากีโอ ดา ซิลวา นายกเทศมนตรีเมืองเดลตา ยอมรับว่า "ระบบเทศบาลแทบจะพังแล้ว ทั้งสถานพยาบาล โรงพยาบาล และโรงเรียนเต็มแน่นไปหมด สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ พวกที่มาพร้อมกับแรงงานก็คือคนสารพัดประเภทและโจร". ในเมืองเดลตาไม่มีโรงแรมแม้สักแห่งเดียว แต่มีซ่องถึง 27 แห่ง นักข่าวพบว่า คนใหญ่คนโตในเมืองนี้หลายคนพัวพันกับการค้ามนุษย์ เพื่อบริการทางเพศและโสเภณีเด็กให้แก่แรงงานตัดอ้อย พวกนายหน้า (ซึ่งมีชื่อเล่นว่า "gatos" หรือแมว) มีปืนและบังคับใช้กฎเกณฑ์ตามอำเภอใจ

สชีดิเล มักใช้ตัวอย่างอันเดียวกันนี้เพื่อสะท้อนภาพปัญหาสังคมที่เกิดจากการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว "เทศบาลเมืองรีเบย์เราเปรตู ที่อยู่ตรงศูนย์กลางของรัฐเซาเปาลู ได้รับการขนานนามว่า 'แคลิฟอร์เนียแห่งบราซิล' เพราะมีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงในอุตสาหกรรมการปลูกอ้อย. ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน เมือง ๆ นี้ผลิตอาหารพอเลี้ยงตัวเอง มีการทำกสิกรรมและจัดว่าเป็นเขตมั่งคั่งที่มีการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม ตอนนี้มันกลายเป็นไร่อ้อยสุดลูกหูลูกตา มีโรงสีราว 30 แห่งควบคุมที่ดินทั้งหมด. ส่วนในเมือง ประชาชนราว 100,000 คน อาศัยอยู่ในสลัม (จากประชากรทั้งหมด 540,000 คนในเขตเทศบาล) ในคุกมีนักโทษถึง 3,813 คน นี่นับเฉพาะผู้ใหญ่ ในขณะที่มีประชากรเพียง 2,412 คนเท่านั้นที่ดำรงชีพและทำงานในภาคเกษตร จำนวนนี้นับรวมเด็กด้วย นี่แหละแบบจำลองของสังคมที่เพาะปลูกอ้อยแบบพืชเชิงเดี่ยว มีจำนวนนักโทษในคุกมากกว่าจำนวนคนที่ทำงานในภาคเกษตรเสียอีก!" (10)

ในฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยเมื่อปีที่แล้ว (2007) "ความก้าวหน้า" ทางเทคโนโลยีอีกประการหนึ่งจะมาถึงบราซิล จะเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บเกี่ยวอ้อยดัดแปลงพันธุกรรม อ้อยชนิดนี้เบากว่าและอมน้ำน้อยกว่า หมายความว่านายทุนจะได้กำไรมหาศาล แต่คนงานจะต้องตัดอ้อยมากกว่าเดิมถึง 3 เท่ากว่าจะถึงเป้า 10 ตัน

ในเขตปลูกอ้อย เจ้าของไร่ปลดคนงานจำนวนมากออกบ่อย ๆ เป็นระยะ ๆ เก็บไว้แต่คนงานที่ดีที่สุด คนงานที่ดีที่สุดที่ว่านี้บางทีเรียกกันว่า "สุดยอดผลิตภาพ" กล่าวคือ คนงานที่สามารถตัดอ้อยได้ถึง 20 ตันต่อวัน และตัดได้เฉลี่ย 12-17 ตันต่อวันในแต่ละเดือน (11) เนื่องจากแรงงานต้องทุกข์ทรมานจากอาการลมชัก ตะคริว ปวดกระดูกสันหลังและเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ เจ้าของไร่ค้นพบ "ทางออกเชิงเทคนิค" ต่อปัญหานี้. โรงสีอ้อยแจกอิเล็กโทรไลต์และวิตามินเสริมให้ ซึ่งปรกติเป็นของที่ใช้กับนักกีฬาหรือคนงานที่มีกิจกรรมทางร่างกายอย่างหนัก ที่โรงสีหลาย ๆ แห่ง แรงงานตัดอ้อยดื่มเครื่องดื่มพวกนี้ก่อนเริ่มทำงาน "อาการปวดหายเป็นปลิดทิ้ง ไม่เป็นตะคริวอีกและทำงานได้มากขึ้น" เปไรรา โนวาเอสบอก ปัญหาก็คือ แรงงานต้องเพิ่มปริมาณสารพวกนี้มากขึ้นทุกเดือน

"ด้วยการใช้ยาและอาหารเสริม คนงานสามารถตัดอ้อยได้มากตามความต้องการของนายทุน คนที่แข็งแรงที่สุดจึงอยู่รอด เหมือนในกระบวนการ "คัดสรรตามธรรมชาติ" แต่คำถามที่ต้องถามก็คือ คนงานจะอยู่รอดได้อย่างไรและได้นานแค่ไหน? เราอาจกล่าวได้ว่า ยาและอาหารเสริมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งของความทันสมัยในบางแง่ และการขยายตัวของการเพาะปลูกอ้อย มันสูบชีวิตไปจากแรงงานที่สร้างความรุ่งเรืองขึ้นมา". เปไรรา โนวาเอส ยืนยันว่า ไม่เคยมีการเก็บตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่ามีคนงานหนุ่มสาวจำนวนมากต้องออกจากงานไปเพราะอาการบาดเจ็บทุพพลภาพ และมีไม่น้อยถึงแก่ชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปใน "แคลิฟอร์เนียแห่งบราซิล"

ผู้ชนะรายใหญ่
ในบราซิล การผลิตอ้อยเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1550 (กว่า 450 ปีที่แล้ว) แต่ขยายตัวอย่างมากตั้งแต่ ค.ศ. 1970 (กว่า 30 ปีที่แล้ว) โดยได้อานิสงส์มาจากราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานขึ้น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการขยายตัวก็คือ ป่าตามชายฝั่งแอตแลนติก ซึ่งหดหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง ตอนนี้ไร่อ้อยกำลังรุกคืบเข้าไปสู่ภาคกลางและภาคตะวันตก คาดการณ์กันว่าระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเซร์ราดูส จะหมดสิ้นลงใน ค.ศ. 2030 ด้วยน้ำมือของการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว อีกเจ็ดปีข้างหน้า บราซิลจะเพิ่มการผลิตเอธานอลมากขึ้นอีกสองเท่า และอาจผลิตอ้อยมากกว่าตอนนี้อีกเกือบ 50% หมายความว่าจะมีการสร้างโรงสีเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่งใน ค.ศ. 2010

มันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ธนาคารแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบราซิล (BNDES) ตั้งเป้าให้บราซิลครองตลาดเอธานอลในโลกถึง 50% นี่หมายถึงการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 17 พันล้านลิตรต่อปีในปัจจุบันเป็น 110 พันล้านลิตรต่อปี ซึ่งจำเป็นต้องมีการปลูกอ้อยถึงราว 80 ล้านเฮกตาร์ (494 ล้านไร่) ถึงจะบรรลุเป้านี้ นั่นหมายถึงการทำลายป่าดงดิบแอมะซอนนั่นเอง รัฐบาลยึดภาคอุตสาหกรรมนี้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาหลัก. ธนาคาร BNDES มีทรัพยากรมากกว่าธนาคารใด ๆ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งมีมากกว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศในทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank) ด้วย. BNDES ประเมินว่า มันจะลงทุน 6 พันล้านดอลลาร์ ในการสร้างโรงสีและการเพาะปลูกอ้อย

แต่บราซิลต้องการขยายเชื้อเพลิงเกษตรไปทั่วทั้งภูมิภาค แผนการเฉพาะหน้าคือส่งออกการผลิตไปสู่กลุ่มประเทศในอเมริกากลางและแคริบเบียน ที่ลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกาไปแล้ว (เช่น CAFTA) ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีขาเข้าของวอชิงตัน "จุดประสงค์คือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกือบเสร็จสมบูรณ์ไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้" นี่คือคำอธิบายในนิตยสาร Peripecias "จบกระบวนการในประเทศเหล่านั้นและส่งออกสู่ตลาดสหรัฐฯ" ธนาคารบราซิลให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่การลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ แต่ต่อรองขอส่วนแบ่งหุ้นถึง 30% ในโครงการของภูมิภาคอเมริกากลาง

ในทัศนะของสชีดิเล มีสามภาคส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกันที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในโครงการเอธานอล นั่นคือ "บริษัทน้ำมัน (ซึ่งต้องการลดการพึ่งพิงแต่น้ำมันลง), ธุรกิจเกษตร (เช่น บริษัท Bunge, คาร์กิลล์ และมอนซานโต) ซึ่งต้องการผูกขาดตลาดผลผลิตทางการเกษตรในระดับโลก", และบรรดาทุนข้ามชาติที่ "จับมือเป็นพันธมิตรกับเจ้าของที่ดินในซีกโลกใต้ โดยเฉพาะในบราซิล เพื่อใช้ที่ดินอันกว้างใหญ่มหาศาลเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงเกษตร" (12)

อนาคตดูน่าประหวั่น แทนที่จะหาทางกดดันให้ปรับเปลี่ยนแบบแผนการบริโภคและสภาพแวดล้อมของการใช้พลังงาน โดยเฉพาะในด้านการขนส่ง นักลงทุนยักษ์ใหญ่อย่างยอร์จ โซรอส และบรรษัทข้ามชาติอย่างคาร์กิลล์ กลับเข้ามามีบทบาทในการผลิตเอธานอลในบราซิลเพื่อเพิ่มพูนผลกำไรของตน. ส่วนปัญหาโลกร้อนหรือสภาพการทำงานของแรงงานตัดอ้อยไม่เคยแผ้วพานเข้ามาในความคิดของคนพวกนี้เลย

เชิงอรรถ

1. การสัมภาษณ์ที่รวมรวมโดย Comision Pastoral da Terra และนำมาตีพิมพ์ซ้ำใน Nucleo Amigos da Terra Brasil, p. 15.
2. Luiz Inacio Lula da Silva, ob. cit.
3. Carlos Vicente, ob. cit.
4. Estado de Sao Paulo, 13 March 2007, on www.estadao.com.br.
5. ตัวเลขทั้งหมดมาจากการศึกษาของ Nucleo de Amigos da Terra Brasil.
6. Francisco de Oliveira, in Folha de Sao Paulo, 27 May 2007.
7. O Estado de Sao Paulo, 11 June 2007.
8. Maria Aparecida de Moraes Silva, interview in Instituto Humanitas Unisinos magazine on www.unisinos.br.
9. Jornal do Valor, Sao Paulo, 17 May 2007.
10. Carlos Vicente, ob. cit.
11. Jose Roberto Pereira Novaes, ob. cit
12. Carlos Vicente, ob. cit.

เกี่ยวกับผู้เขียน: Raul Zibechi เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะบรรณาธิการของ Brecha วารสารรายสัปดาห์ที่ออกในกรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย นอกจากนี้ เขายังเป็นครูและนักวิจัยเกี่ยวกับขบวนการสังคมในสถาบัน Multiversidad Franciscana ของละตินอเมริกา รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้ขบวนการสังคมอีกหลายขบวนการ เขาเขียนบทความเป็นประจำทุกเดือนให้ Americas Program (www.americaspolicy.org)

บรรณานุกรม

- Carlos Vicente, "El cultivo de agrocombustibles solo interesa al capital transnacional", interviewed by Joao Pedro Stedile, Biodiversidad magazine.

- Jose Roberto Pereira Novaes, "Campeoes de produtividade: dores e febres nos canaviais paulistas",
11 June 2007 on www.pastoraldomigrante.com.br.

- Luiz Inacio Lula da Silva, "Desafios para la cumbre del G-8", La Jornada.
- Maria Aparecida de Moraes Silva, interviewed in Instituto Humanitas Unisinos magazine on www.unisinos.br.

- Nucleo Amigos da Terra Brasil, "Agronegocio e biocombustiveis: uma mistura explosive", 2006, www.natbrasil.org.br.

- Paola Visca, "El combustible de los biocombustibles", in Peripecias, 23 de mayo de 2007.
- Pastoral do Migrante: www.pastoraldomigrante.br.

 


++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1500 เรื่อง หนากว่า 30000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


Words from the Text
มีการเผาไร่อ้อยก่อนการตัด เพราะทำให้ตัดง่ายขึ้น แต่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหาด้านทางเดินหายใจอย่างร้ายแรงในหมู่คนงาน. ในเมืองปีราซีกาบา รัฐเซาเปาลู เด็กที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะปัญหาทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น ในการตัดอ้อยทุก ๑๐ ตัน แรงงานต้องใช้พร้าฟันถึง ๗๒,๐๐๐ ครั้ง และงอเข่า ๓๖,๐๐๐ ครั้ง พวกเขาเสียเหงื่อราว ๑๐ ลิตรต่อวัน และต้องเดินวันละ ๑๐ ก.ม. กว่าจะทำงานเสร็จสิ้น. ค่าจ้างรายเดือนมีตั้งแต่ ๑๕๐-๒๐๐ ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว ๔,๙๕๐-๖,๖๐๐ บาท คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์ต่อ ๓๓ บาท) ตามข้อมูลของนักสังคมวิทยา ฟรานซิสโก เด โอลิเวย์รา แรงงานตัดอ้อยมีอายุยืนโดยเฉลี่ยต่ำกว่าทาสยุคอาณานิคมเสียอีก
Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2008
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
The concept of a renewable fuel source has been around
since cars were first invented in the 19th century. But the low cost of petroleum products and the "tomorrow never comes" attitude of the auto industry relegated ethanol and other biofuels to the sidelines for decades.
Simply put, agrofuels are combustible fuels made from organic material—plants or animal by products. Most commonly produced are alcohols, produced in a process similar to backyard distilling but on a much larger scale. Corn and sugarcane ethanol predominate.
http://americas.irc-online.org/am/4535
การผลิตเชื้อเพลิงเกษตรทำให้เกษตรกรต้องพลัดถิ่นฐาน คนเหล่านี้มีทางเลือกสองทางคือ เป็นแรงงานในไร่หรือไปเป็นชาวสลัมในเมือง. ธอลบีตั้งข้อสังเกตว่า ในรัฐเปร์นัมบูกู มีเกษตรกร 45,000 ครอบครัวที่ต้องพลัดถิ่นฐาน เพราะการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ เกรงว่า เกษตรกรไร้ที่ดินที่ไม่สามารถหางานทำในไร่ อาจจำต้องเข้าไปบุกเบิกถางป่าในพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพ การที่ที่ดินและโรงกลั่นกระจุกตัวอยู่ในเงื้อมมือของชนชั้นสูงในชนบทและบรรษัทข้ามชาติ เป็นการขับไสครอบครัวเกษตรกรออกไปจากพื้นที่นี้ทั้งหมด

การจับมือครั้งใหม่ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับพันธมิตรในภูมิภาคนี้เพื่อเปลี่ยนละตินอเมริกาให้กลายเป็นแหล่งผลิตเชื้อเพลิงเกษตร ไม่เพียงสร้างผลกำไรแก่บรรษัทข้ามชาติและธุรกิจยักษ์ใหญ่ แต่ยังช่วยคานอำนาจที่กำลังเพิ่มขึ้นของเวเนซุเอลาและประเทศอื่น ๆ ที่พยายามหนีจากอิทธิพลอำนาจของสหรัฐฯ ด้วย