มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ
ในเวลาเดียวกันนั้น
นักวิชาการส่วนหนึ่ง
ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว
ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง
โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ
นักวิชาการเครื่องซักผ้า. สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35
|
|
ถ้าเรามีเงินกันคนละหนึ่งบาท แล้วเรานำมาแลกกัน จะไม่เกิดอะไรพอกพูนขึ้น, แต่หากว่าเรามีความรู้กันคนละหนึ่งเรื่อง นำมาแลกกัน เราจะมีความรู้เพิ่มขึ้น สนใจแลกเปลี่ยนบทความ ความรู้ และความคิดเห็น เพื่อปันให้คนอื่นๆ โปรดส่งบทความ ของท่าน ผ่าน e-mail มายัง address : [email protected] ชัชวาล ปุญปัน / คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การต่อสู้กับเทคโนโลยีของชาวบ้านภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็น แม่มูนมั่นยืน , ชาวราษีไศล , ชาวโป่งขุนเพชรฯลฯ และชาวบ่อนอก ,หินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมไปถึงชาวบ้านที่กาญจนบุรี และสงขลา เป็นการต่อสู้ระหว่างนักวิทยาศาสตร์อิงธรรมชาติ คือชาวบ้าน กับนักวิทยาศาสตร์อิงเทคโนโลยีตะวันตก ในคราบของ กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม มีอำนาจรัฐและอำนาจเงินหนุนหลัง ในแง่ของผู้บูชาเทคโนโลยีว่าเป็นคำตอบแบบเบ็ดเสร็จของสังคมนั้น เขื่อนก็ดี ท่อก๊าซก็ดี เป็นเครื่องรางของขลังและไสยศาสตร์ตะวันตก ที่จะสามารถดลบันดาลความมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ให้กับเจ้าของ ดุจเดียวกับพระคะแนนสุดฤทธิ์ สุดเดช ฉะนั้น ในขณะที่ชาวบ้านพื้นถิ่นเรียนรู้การดำรงชีวิตกับธรรมชาติ ด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมเฉพาะถิ่นอันยาวนาน เช่นสายอารยธรรมลุ่มแม่น้ำมูน ที่ยังความอุดมสมบูรณ์และพอเพียง การสถาปนาแท่งคอนกรีตขนาดมหึมา ตัดสายโลหิตแห่งลำน้ำ จึงเป็นการทำสงครามระหว่างเศรษฐกิจแบบพอเพียง กับ เศรษฐกิจการค้า ที่มากับอำนาจรวมศูนย์( centralization ) และการลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์( dehumanization ) ลงเสมอวัตถุ ชีวิตของมนุษย์กลายเป็นองค์ประกอบปลีกย่อยของแท่งคอนกรีต ถูกกำหนดจังหวะโดยเครื่องจักรกล สุดแต่จะบันดาลให้เป็นไป จากชาวประมงไปเป็นกรรมกรไร้ทักษะ ไปเป็นเด็กปั๊ม เด็กเสริฟ เป็นคนเก็บขยะ อาศัยอยู่ใต้สะพานลอยในกรุงเทพ ฯลฯ ก็เศรษฐกิจการค้าที่มีตลาดเป็นหัวใจสำคัญนั้น คือการเน้นการบริโภคแบบไม่มีขีดจำกัด วิทยาศาสตร์เสนอตัวเข้ามารับใช้เศรษฐกิจแบบนี้อย่างสุดตัว ด้วยการสนับสนุนการบริโภคธรรมชาติภาคกลางวัน หมายความว่าพยายามทำกลางคืนให้เป็นกลางวันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขื่อนผลิตไฟฟ้า ท่อก๊าซผลิตไฟฟ้า น้ำมันผลิตไฟฟ้า ถ่านหินผลิตไฟฟ้า วิทยาศาสตร์ตะวันตกไม่พอใจธรรมชาติภาคกลางคืน เมื่อกลางคืนไม่ได้พลังงานและความสว่างจากดวงอาทิตย์ ก็หันมารีดเค้นจากโลก รีดเอาจากแม่น้ำ รีดเอาจากป่า รีดเอาจากน้ำมัน เค้นเอาจากชีวิตสัตว ์ และมนุษย์ที่อ่อนแอกว่า ไปสังเวยเฉพาะคนบางกลุ่ม และในการแย่งชิงทรัพยากรไปจากมือของชาวบ้านนั้น นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี เลือกยืนอยู่ข้างอำนาจมากกว่าชาวบ้าน ยิ่งกว่านั้น วิทยาศาสตร์ แทนที่จะเป็นความเข้าใจในโลกธรรมชาติในมิติที่หลากหลาย ก็กลายเป็นการสร้างองค์กร และบุคคล ที่ไม่เข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน และยังรังเกียจความไม่รู้ของชาวบ้าน รังเกียจคนไม่รู้เรื่องโคบอลต์ รังเกียจชาวบ้านไม่รู้เรื่องวิศวกรรมชลประทาน ไม่รู้เรื่องจลน์ศาสตร์ของน้ำ ไม่รู้เรื่องอิเล็กโทรแมกเนติสซึ่ม ไม่รู้เรื่องไบโอไดเวอร์ซิตี้ ไม่รู้เรื่องจีเอ็มโอ ทำไมชาวบ้านโง่และดื้ออย่างนี้ เมื่อดูผู้บริหารระดับนำของรัฐวิสาหกิจมาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ชวนให้ต้องคิดว่า สถาบันทางวิทยาศาสตร ์ช่างสามารถผลิตคนหัววิทยาศาสตร์ให้ไม่เข้าใจสังคมไทยได้สม่ำเสมอมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ เราสามารถสร้างคนจากลูกชาวบ้านธรรมดา ให้กลายเป็นคนดูแคลนวิถีชีวิตท้องถิ่นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราสามารถผลิตคนออกไป รับจ้างทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบไร้จรรยาบรรณได้อย่างน่าอัศจรรย์ เราสามารถรับทุนวิจัย จากมูลนิธิ องค์กรเถื่อน ที่จ้องจะขโมยพันธุ์พืชท้องถิ่น ได้อย่างน่าตาเฉย เราร่าเริงยินดีที่จะสนิทสนมค้นคว้าวิจัยเป็นมือเป็นเท้าให้กับบรรษัทอุตสาหกรรม แต่ปฎิเสธที่จะรับฟังปัญหาจากชุมชนชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมนั้น สมาคมทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายช่างอ่อนแอเกินกว่าจะเป็นผู้นำให้กับชุมชนและสังคม ลุกขึ้นมาสู้กับความไม่ชอบธรรม ในการทำลายล้างวิถีชีวิตและธรรมชาติของเรา ทั้งๆที่วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเจริญขึ้นในประเทศไทย ก็ด้วยการใช้เงินจากภาคเกษตรล้วนๆ รัฐบาลใช้เงินจากผลผลิตของชาวบ้านนี่แหละ มาทุ่มเป็นทุนให้กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยไม่เคยเหลียวแลชาวบ้านเลย เรียกว่าสูบเอาไปใช้อย่างเดียว นึกว่ายิ่งเรียนสูง ตำแหน่งสูง จะยิ่งเห็นบุญคุณ กลับกลายเป็นตรงกันข้าม ถึงเวลาหรือยัง ที่การเรียนรู้ธรรมชาต ิเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ จะมีพลังมากขึ้น และป้องกันไม่ให้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบนักเลงโต มามีอำนาจคุกคามอยู่ร่ำไป จะปฏิวัติการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างไรให้เป็นอิสระปลอดพ้นจากความล้มเหลวที่ผ่านมา อย่ามัวห่วงอยู่เลยกับการที่ฝรั่งจะจัดอันดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์(แบบฝรั่ง)ของไทยไว้ในอันดับไหน จะแข่งวิทยาศาสตร์โอลิมปิคได้กี่เหรียญ แต่ควรเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าจิตสำนึกที่จะพึงมีต่อสังคม และชุมชนของเรานั้น มันไม่เคยมีในสมการทางวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ต้นแล้ว จะช่วยกันสร้างได้อย่างไร จะเปลี่ยนสถานะจากวิทยาศาสตร์แบบขูดรีดธรรมชาติมาเป็นเพื่อเข้าใจภาษาของธรรมชาติ วิธีหนึ่งก็คือต้องศึกษาจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนนั้นๆ จะได้ยุติการทำร้ายสังคมเสียที ปัญหาโคบอลต์60 ยังไม่ทันหาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ออกมายืนยันสนับสนุนเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ด้วยการให้สัมภาษณ์ว่า จีเอ็มโอ จะแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารได้ โดยยกตัวอย่างเดียวกันกับท ี่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมาพูดในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้คือ การอ้างผลงานว่า จีเอ็มโอแก้ปัญหาในประเทศอินเดียได้ น่าสังเกตว่าการโปรโมตเทคโนโลยีเวลานี้ไม่ใช่เรื่องของนักการตลาดอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์โดยตรง ทั้งนี้เพราะศาสตร์ของเทคโนโลยีเหล่านั้นเกิดขึ้นจากผลประโยชน์ทางการเมือง และการค้า โดยมีบรรษัทข้ามชาติหนุนหลังอยู่ อิทธิพลเหล่านี้สามารถกำหนดทิศทางให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย การสร้างประเด็นสาธารณะ การกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน จนสามารถครอบงำวิธีคิดได้แบบเบ็ดเสร็จ เมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ตะวันตกแล้ว พบว่าไม่เคยมีอิสระจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเลย วิทยาศาสตร์ตอบสนองคำถามจากรัฐ และบรรษัทอุตสาหกรรมเป็นหลัก กล่าวได้ว่า นักวิทยาศาสตร์เป็นทั้งคนงานและแรงงานที่ซื่อสัตย์ และจงรักภักดีกับโรงงานเท่านั้น ส่วนธรรมชาติไม่ต้องพูดถึง ความสนใจธรรมชาติเป็นเพียงโอกาสและทางผ่านไปสู่ผลประโยชน์อื่นๆที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนในการวิจัย การเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ การเป็นที่ยอมรับ แต่เมื่อใดก็ตามที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มรู้ตัวว่า ตนและงานวิจัยของตนกลายเป็นเครื่องมือให้บรรษัทข้ามชาติกอบโกยผลประโยชน์ และเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์อย่างมหาศาล พอตัดสินใจยุติงานวิจัยแนวนั้นก็ปรากฏว่าถูกเบียดเบียนอย่างหนักทันที ดังศาสตราจารย์ครอซ แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา ประกาศยุติงานวิจัยด้านการตัดต่อพันธุวิศวกรรมพืช ถูกสั่งไม่ให้สอนนักศึกษาวิทยาศาสตร์ และกำลังเผชิญหน้ากับบรรษัทข้ามชาติด้านไบโอเทค ที่มีอำนาจอย่างยูนิลิเวอร์ และมอนซานโตฯลฯอยู่ในขณะนี้ การอ้างผลสำเร็จในประเทศอินเดียเป็นเพียงภาพลวงตาอย่างหนึ่งของวิธีการโปรโมตสินค้า เพราะมีรายงานจากนักวิชาการอินเดียเองที่ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้บรรษัทมอนชานโตกำลังขยายขอบเขตของการผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์พืชของโลก ไปสู่การครอบครองทรัพยากรน้ำ ความขาดแคลนน้ำสามารถใช้แสวงหากำไรได้ ดังนั้นการเข้ามาพัฒนาแหล่งน้ำด้วยหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในสายตาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่นี้จึงมีความหมายว่า เป็นการเปลี่ยนวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม ไปเป็นตลาดของทรัพยากรที่หายาก นั่นเอง สังคมไทยไม่เคยมีโอกาสได้รับความรู้ในแง่มุมอื่นๆของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เพราะทั้งหน่วยงานของรัฐ และภาคธุรกิจต่างพยายามยืนยันเพียงข้อดีของเทคโนโลยีเหล่านี้ ผ่านสื่อชนิดเต็มหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ แต่ข่าวดังต่อไปนี้ประชาชนกลับไม่มีโอกาสได้รับรู้เลย เช่น ไม่กี่วันหลังจากรมต.กระทรวงวิทย์ฯให้สัมภาษณ์ ในอเมริกาได้จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 4 ขึ้นที่บอสตัน ในชื่อเรื่องว่า ความหายนะทางชีวภาพ 2000 ( Biodevastation 2000 ) มีเวบไซต์ออกเผยแพร่เช่น www.biodev.org เป็นต้น ใน www.zmag.org มีบทความ และข่าวสารมากมายที่สหภาพนักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม ให้ข้อมูลเพื่อเปิดโปงเบื้องหลังและอิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติ การเข้าแทรกแซงทางการเมือง การซื้อกิจการภายในประเทศต่างๆ การให้ทุนวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการขโมยผลการทดลองไปใช้กับบรรษัทเพื่อทำกำไรอย่างมหาศาล นักวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติงานวิจัย กลายเป็นน็อตตัวเล็กๆในกระบวนการครอบงำของทุนขนาดใหญ่ วิธีคิด วิธีตั้งคำถามถูกชี้นำให้เป็นไปในทางเดียวกัน เช่น การโฆษณาชวนเชื่อของนักวิทยาศาสตร์การค้าระดับโลก ว่าจีเอ็มโอช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารได้นั้น ทำให้ต้องคิดว่าทำไมปัญหาการขาดแคลนอาหาร จึงได้รับคำตอบจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ตะวันตกแบบมักง่าย และตื้นเขินเช่นนี้ แต่ก่อนเมื่อต้องการจะโฆษณาดีดีที ของนักวิทยาศาสตร์ระดับโนเบล ก็อ้างว่าเกษตรกรรมเคมี จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่โลกได้ มาบัดนี้โยนดีดีทีทิ้ง มาเอาจีเอ็มโอ เป็นเพราะวิทยาศาสตร์ตะวันตก เป็นความรู้แบบเร่งด่วน( fast knowledge) ต้องการแต่จะแก้ปัญหา โดยไม่ตรวจสอบคำถาม ด้วยวิธีคิดแบบเร่งด่วนเช่นนี้หล่อหลอมผ่านระบบการศึกษาให้เห็นว่า ปริมาณของความรู้ยิ่งมีมากยิ่งดี ความรู้ใหม่ต้องดีกว่าความรู้เก่าเสมอ ไม่ต้องรับผิดชอบและคำนึงถึงขอบเขตของการประยุกต์ใช้ ผลก็คือเกิดความรู้ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ขยะ( junk science )มากมาย ไม่ว่าจะเป็น นิวเคลียร์ เคมี พันธุวิศวกรรม เขื่อนฯลฯ วิทยาศาสตร์เหล่านี้กำลังถูกตรวจสอบและตั้งคำถามอย่างเข้มข้นทั้งจากสังคมภายนอก และจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีจิตสำนึกในสาขาของตนนั้นๆ คำถามสำคัญก็คือ วิทยาศาสตร์ ยังมีความหมายเดียวกับ ธรรมชาติอยู่หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ยังมีจรรยาบรรณต่อธรรมชาติอยู่หรือเปล่า ถ้าวัวเป็นเสมือนตัวแทนของธรรมชาติศาสตร์ขยะทั้งหลายได้ทำลายวัวไปมากแล้ว ทำลายได้อย่างรวดเร็วเสียด้วย เมื่อดูระบบคิดนอกวิทยาศาสตร์ กลับให้มุมมองว่า ปริมาณความรู้ที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถชดเชยกับปริมาณความผิดพลาดได้ อีกทั้งความไม่ระมัดระวังในการประยุกต์ใช้ จะกลับกลายมาเป็นตัวทำลายเงื่อนไขที่จะทำให้ศาสตร์หรือความรู้นั้นงอกงามเสียเอง ดังที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมทางจริยธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวศาสตร์ที่เป็นเรื่องเฉพาะทางกำลังติดตัน หาทางออกไม่ได้ จนต้องเร่ขายทั้งศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีเยี่ยม เพื่อรักษาตลาด ปัจจุบันสังคมที่ไม่ประมาทถือว่า เมื่อไรก็ตามที่มีความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์( scientific uncertainty)ในวิธีคิดค้นและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใดๆ เมื่อนั้นต้องใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน( the precautionary principle)อย่างเคร่งครัด จะทำให้ โลกทรรศน์วิทยาศาสตร์ของสังคมไทยปลอดพ้นไปจากวิทยาศาสตร์แบบวัวหายได้อย่างไร ถ้ารัฐและธุรกิจข้ามชาติยังจับมือกันเหนียวแน่นขนาดนี้ สังคมไทยต้องช่วยกันคิด ชัชวาล ปุญปัน / คณะวิทยาศาสตร์ มช. / มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นเวลากว่าพันปีที่ศาสตร์สำคัญของตะวันตก คือวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ได้ปลูกฝังคำอธิบายว่า ธรรมชาติ เป็น เรื่องของโลกรอบตัวเรา (the world around us) โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในความสัมพันธ์นี้ ปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายมหาศาลถูกความสนใจใฝ่รู้ของมนุษย์ พยายามทำให้เป็นกฎเกณฑ์และ ทฤษฎีพื้นฐานที่สามารถอธิบาย ปรากฏการณ์ในโลกอย่าง ครอบคลุมกว้างขวางโดยมีสมมติฐานที่ปรับ เปลี่ยนได้ตลอดเวลา กล่าวได้ว่าฟิสิกส์ตะวันตก คือคำอธิบายธรรมชาติของโลกรอบตัวเราด้วยจารีตทางความคิด แบบหนึ่งที่มีอิทธิพลมาช้านาน ต่างจากตะวันออกที่ไม่แยก us ออกจาก the world ไม่มีใคร around ใคร ดังนั้น การมองโลกจึงต่างกันตั้งแต่ทัศนะ พื้นฐาน คำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงวิธีคิด เกี่ยวกับเทคโนโลยี และ ท่าทีต่อเทคโนโลยีเลยทีเดียว วิทยาศาสตร์ตะวันตกยอมรับความจริงที่สามารถชั่งตวงวัดได้ ทดลองให้เห็นประจักษ์ได้ สิ่งต่างๆ จึงจำเป็น ต้องมี เกณฑ์มาตรฐานที่เป็นทั้งภาษาและเป็นสิ่งอ้างอิงร่วมกัน หรือ เรียกว่าต้องมีมาตรฐานร่วมกัน "ระบบหน่วย" จึงเป็น มาตรฐานที่แสดงโครงสร้างทาง ความคิด กำหนดท่าทีการมองธรรมชาติ รวมถึงท่าทีที่มนุษย์จะปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วย หน่วยมากมายที่ใช้สื่อสารกันในทางวิทยาศาสตร์นั้น จริงๆ แล้วมีพื้นฐานอยู่แค่ ๗ หน่วย และ ๓ ใน ๗ คือหน่วย ความยาว (เมตร) หน่วยเวลา (วินาที) และหน่วยมวล (กิโลกรัม) โดยทุกหน่วยจะมีขนาด เท่าใดก็ต้องไปเทียบกับ เกณฑ์มาตรฐาน เช่น เวลาเทียบเอาจาก นาฬิกาซีเซียม(cesium clock) เป็น มาตรฐาน มีไม้เมตรมาตรฐาน มีมวลมาตรฐานให้ ประเทศต่างๆ เทียบเอาไปใช้ สรุปแล้ว ความเป็นมาตรฐานเกิดจากสิ่งภายนอก เป็นเรื่องของวัตถุที่ใช้เทียบวัดกำหนด หมายกัน แล้วพูดกันในระบบ หน่วย แต่หน่วยพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ตะวันออกกลับ แสดงความสัมพันธ์ ระหว่างภายในกับภายนอกอย่างเป็นระบบ คือเทียบกลับไปกลับมา ระหว่าง รูปธรรมกับนามธรรม เชื่อมโยงจากภายในจิตใจไปสู่โลกภายนอกอย่างน่าสนใจ คัมภีร์สังขยาปกาสกปกรณ์และฎีกา ของพระสิริมังคลาจารย์แห่งล้านนา ผู้เกิดร่วมสมัยกับ โคเปอร์นิคัส (Nicholaus Copernicus) ได้รจนาคัมภีร์อธิบาย the world around us ไว้เช่น เดียวกับฟิสิกส์ตะวันตก แต่มีวิธีคิดต่างกัน คำอธิบาย ธรรมชาติก็ต่างกัน ตัวอย่างเช่น "ระยะ" หรือ "ขนาด" ที่เล็กที่สุดมีชื่อหน่วย ว่า "ปรมาณู" คำว่า "ปรมาณู" นี้ เป็นคำเดิมที่เราใช้กันมานาน ก่อนที่จะเอามาเป็นคำแปลของคำว่า atom ซึ่งจริงๆ แล้วมีความหมายต่างกันมาก. atom หมายถึงแบ่งจนแบ่งไม่ได้ (indivisible) ซึ่งยังเป็นเรื่องของวัตถุอยู่ แต่ปรมาณูท่านให้ ความหมายว่าเป็น "ละอองละเอียด ควรแก่อารมณ์ของทิพยจักษุหาเป็นอารมณ์ ของ ประสาท จักษุไม่" และอีกความหมายหนึ่งคือ "ย่อมไหว" ดังนั้น ในมิติของระยะทางหรือความยาวนี้แม้ส่วนที่ละเอียดที่สุดเกินพิสัยอินทรีย์ของ มนุษย์ในทัศนะของฟิสิกส์ตะวันออกแล้วเป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องของความ เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ไม่คงตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยตลอดเวลา คือชื่อ หน่วยจะบอกความหมายไว้เลย ต่างจากคำว่า meter (เมตร) ที่ไม่มีความหมายนี้ คำว่า "วิหิ" เป็นหน่วยย่อยสุดของการชั่งน้ำหนักและคำนี้มีความหมายน่าสนใจมาก "วิหิ" คือ เมล็ดข้าวเปลือก เมื่อแจกแจงโดยศัพท์ หมายถึง "ย่อมชุบเลี้ยงชีวิตสัตว์ทั้งหลาย" ซึ่งแตกต่าง อย่างสิ้นเชิงกับ kilogram มาตรฐานที่ทำด้วยโลหะ platinum-iridium alloy ซึ่งไม่มีคุณสมบัติ หล่อเลี้ยงชีวิตสัตว์ทั้งหลายแต่อย่างใด มิติของมวลน้ำหนัก ดังกล่าวแล้วนี้ไม่ว่าจะเป็นของใหญ่โตขนาดไหนก็ยังไปโยงเข้ากับ ชีวิตและเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมิติของเวลาด้วยแล้ว ไม่แยกออกจากลมหายใจ ของมนุษย์เลย คำว่า "วินาที" ที่เราใช้มานาน ก่อนจะเอามาเป็นคำแปลของคำว่า second นั้นมี ความหมายต่างกัน และหน่วยวินาทียังมีหน่วยย่อยเป็น"ปราณ" คือลมหายใจเข้าออกของมนุษย์ และย่อยลงไปอีกเป็น "อักษร" จากอักษร หรืออักขระ เป็น ปราณ จากปราณ เป็น วินาที ไปจนเป็น วัน คืน เดือน และปีสืบเนื่องต่อกันไป จากการคำนวณโดยใช้มาตราวัดเวลาในภูมิคณนากถา พบว่า เวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบประมาณเท่ากับเราหายใจเข้าออก ๗.๗๖ ล้านครั้ง การตระหนักรู้ว่าการหายใจเข้าออกของมนุษย์ กับการเคลื่อนที่ของเอกภพเป็นส่วนหนึ่งของกัน และกัน เป็นโลกทัศน์ที่ขาดหายไปจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เน้นการมองโลกแบบแยกส่วนมานาน ยังมีความหมายและคุณค่าในเรื่องอื่นๆ ที่ควรยกมากล่าวถึงอีก เช่น คำว่า "ภาระ" ก็เป็นอีกชื่อหนึ่ง ของหน่วยมวล (ในภาษาฟิสิกส์) หรือน้ำหนัก (ในภาษาชาวบ้าน) คำว่า ภาระ ปรากฏเป็นหน่วย ของการชั่งเทียบได้กับ kilogram แต่ก็ให้ความรู้สึกต่างกันมาก เช่น ขยะ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม กับขยะ ๑๐ ภาระนั้น คำว่า ภาระ ให้นัยยะแห่งความรับผิดชอบอยู่ด้วย ในขณะที่ไม่มีความหมายนี้ในคำว่า kilogram เรื่องของความเร็วของเทคโนโลยีทั้งหลาย เราบอกว่า ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็มองเห็นเป็นวัตถุ ภายนอกทั้งสิ้น แต่ถ้ามองจากฟิสิกส์ล้านนา คำว่า "ตัชชารี" ซึ่งเป็นหน่วยวัดระยะทางมีความหมายว่า ชรา ความเสื่อม และคำว่า "วา" อันเป็นหน่วยวัดระยะทางเช่นกัน มีความหมายหนึ่งคือความเพียร พยายาม (วยามะ) ความเร็วในมิติทางนามธรรมจึงหมายความได้ทั้งความเพียรพยายามต่อหน่วยเวลาหรือความเสื่อมไป ในหน่วยเวลาก็ได้ กล่าวคือ ยิ่งไวมากยิ่งต้องใช้ความพยายามมาก ยิ่งไวมากยิ่งเสื่อมเร็ว คำอธิบายธรรมชาติดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ สามารถนำไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้มาก และยังทำให้ เราได้พบเห็นแง่มุมอีกหลายแง่มุมถ้าจะช่วยกันศึกษาค้นคว้าก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของฟิสิกส์ในสังคมไทย ชัชวาล ปุญปัน / คณะวิทยาศาสตร์ มช. / มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
|