wbfish.gif (2301 bytes)

SacadeR.jpg (29139 bytes)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์

ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ ในเวลาเดียวกันนั้น นักวิชาการส่วนหนึ่ง ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ ”นักวิชาการเครื่องซักผ้า”.
นักวิชาการเครื่องซักผ้า คือคนกลุ่มหนึ่ง ที่อยู่คราบของนักวิชาการที่คอยทำหน้าที่ฟอกโครงการขนาดใหญ่ หรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม อันไม่น่าไว้วางใจให้สะอาด บริสุทธิ์ โดยเป็นที่น่าสงสัยต่อจริยธรรมทางวิชาการ.
ความจริงแล้ว ศาสตร์ทุกศาสตร์ วิชาการทุกสาขา ควรเป็นไปเพื่อชีวิตที่งดงามและชีวิตที่มีสุขของมนุษย์และธรรมชาติ มิใช่หรือ ?

สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35

 

introduction

1.TV.Program

2.Questionnaire

3. Information

4. Article and Knowledge  

5. Discussion

6. Schedule

7. Member

8. History

9. Alternative School

10. answer & Letter

11. art & movie

12. Webboard

13. midnight's report

14. midnight's special

15. psychology

16.link

17. criticism

18. creativity

19.art link

HOME

WEBBOARD

reporter

 

Bkasean2.jpg (19967 bytes)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เริ่มโฆษณาปูกระแส "อัตราความเสียหายเฉลี่ยต่อวันอันเกิดจาก ม็อบสมัชชาคนจนยึดเขื่อนปากมูล" มาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม โดยผ่านปากผู้บริหาร กฟผ. และนาย ตำรวจระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนจะชงเรื่องส่งลูกต่อให้นายสาวิตต์ โพธิวิหค รมว.ประจำสำ นักนายกฯ ผู้กำกับดูแล กฟผ. แถลงปาวๆ ตามว่า :-"ตนได้รับรายงานว่า เราสูญเสียประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 1.5-2 ล้านบาทต่อวัน เนื่องจากไม่ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ คิดว่าน่าเสียดายที่ต้องสูญเสียเงินไปเปล่าๆ" (มติชนรายวัน, 9 มิ.ย. 43,น.27)

นับเป็นตัวเลขความเสียหายสูงมากน่าตกใจ ท่ามกลางอาการไม่ทรงก็ทรุดทางเศรษฐกิจและหนี้สาธารณะ ท่วมหูท่วมหัวไทยทั้งชาติภายใต้ฝีมือบริหารของทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ในขณะนี้ แต่อย่าเพิ่งตกใจตื่นตูมตามคุณสาวิตต์ จนพยักพเยิดให้เจ้าหน้าที่ กฟผ.ทั่วอีสานทั้ง 500 ลุยเคลียร์ม็อบ หรือกดดันให้คณะกรรมการกลางแก้ไขปัญหาลงมติเปิดเครื่องปั่นไฟต่อ โดยไม่ฟังให้รอบด้าน ตรองให้ถ้วนถี่ และชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบตัวเลข "ความเสียหาย" ข้างต้นกับตัวเลขอื่นๆ ที่ กฟผ. ไม่ยักบอกให้ดีเสียก่อน มิฉะนั้นประเทศชาติอาจขาดทุนเสียหายเพราะเขื่อนปากมูลมากกว่านี้หลายเท่า !

ก่อนอื่นตัวเลขที่ กฟผ.ไม่ได้รายงานคุณสาวิตต์และไม่เคยบอกให้สาธารณชนทราบเลยก็คือ .....เขื่อนปากมูลทำให้ กฟผ.ขาดทุนไปแล้วถึง 177 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6,726 ล้านบาท!(ตามอัตราแลก เปลี่ยนปัจจุบันที่ประมาณ 38 บาท/ดอลลาร์)(ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้างล่างนี้ประยุกต์ดัดแปลงจาก Grainne Ryder and Wayne White, "Pak Mool cost  more than it's worth," The Nation, 10 June 2000, A5)

อะฮ้า! มันขาดทุนบานตะไทขนาดนั้นเข้าไปได้ยังไงกัน? อย่างนี้ครับ ผมจะพยายามแจกแจงคณิตศาสตร์ปากมูลที่ กฟผ.ไม่อยากให้เรารู้สู่กันฟัง ต้นทุนการสร้างเขื่อนปากมูลเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นตอนนี้อยู่ที่ 233 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,850 ล้านบาท เพื่อให้คุ้มทุน รายงานธนาคารโลกปี พ.ศ. 2539 คำนวณว่าเขื่อนปากมูลควรจะผลิตไฟฟ้าให้ได้เป็นมูลค่า ปีละ 28 ล้านดอลลาร์ หรือราว 12% ของต้นทุนการสร้างเขื่อน 233 ล้านดอลลาร์ ถ้าทำได้ตามนี้ เขื่อนปากมูลก็จะคุ้มทุนใน 8 ปี กฟผ.ก็จะได้เฮ และชาติไทยก็จะได้ไชโย!

แต่อนิจจา รายงานการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์ของทีดีอาร์ไอที่ทำส่งคณะกรรมการเขื่อนโลกระบุว่า เอาเข้าจริงเขื่อนปากมูลผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยเป็นมูลค่าปีละ 7 ล้านดอลลาร์ เท่านั้นในสองปีหลังที่ผ่านมา แปลว่าเมื่อครบกำหนดคุ้มทุน 8 ปี ในปี พ.ศ.2545 เขื่อนปากมูลก็จะปั่นไฟได้เป็นมูลค่าเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น เพียง(7 x 8 =) 56 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น

56 ล้านดอลลาร์นี่แหละครับคือ คุณค่าทางเศรษฐกิจของเขื่อนปากมูลในปัจจุบัน ลงทุนสร้างไป 233 ล้าน กะว่าปั่นไฟ 8 ปี ก็คุ้ม แต่พอปั่นไป 8 ปีจริงได้คืนมาเพียง 56 ล้าน นั่น หมายความ ว่าขาดทุนไปถึง(233- 56 =) 177 ล้านดอลลาร์ หรือ 6,726 ล้านบาท ใน 8 ปี หารเฉลี่ยแล้วตกวันละ(6,726 หารด้วย [365 x 8] + 2 หรือ 2922 =) 2.3 ล้านบาททุกวันที่เดินเครื่องปั่นไฟที่เขื่อนปากมูล กฟผ.จึงขาดทุนวันละ 2 ล้าน 3 แสนบาท หรือเดือนละ 69 ล้านบาท หรือปีละ 840 ล้านบาทต่างหาก!

และจุ๊ๆ...พ่อแม่พี่น้องไม่ต้องห่วงครับ หน่วยงานฉลาดๆ อย่าง กฟผ.เขาไม่ผูกขาดความขาดทุนนี้ไว้คน เดียวให้โง่หรอก เขาย่อมค่อยๆ บรรจงผลักภาระขาดทุนวันละ 2.3 ล้านบาท นี้มาใส่ไหล่บ่าพวกเราประชา ชนชาวไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทั้ง 61 ล้านคน ให้ช่วยกันแบ่งเบาแบกรับไว้คนละนิดละหน่อยอย่างนุ่มนวลแนบเนียน ไม่กระโตกกระตากตกแค่คนละ 3 สตางค์กว่าๆ ต่อวันหรือบาทเศษๆ ต่อเดือนหรือ 13 บาทสามสลึง ต่อปีเท่านั้น ไม่เท่าไหร่ ขี้ไก่ชัดๆ กะอีเศษเงินแค่นี้เพื่อเห็นแก่ชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กฟผ.คนไทยจะทน ไม่ไหวก็ให้มันรู้ไปสิ ใช่ไหมครับ? แหะๆ

ฉะนั้น กฟผ.เจ้าของโครงการ ธนาคารโลกผู้ปล่อยกู้โครงการ รัฐบาลเปรมผู้ริเริ่มโครงการ รัฐบาลน้าชาติผู้ อนุมัติโครงการ รัฐบาลอานันท์ผู้ไม่สั่งยกเลิกโครงการ รัฐบาลชวนผู้ก่อสร้างโครงการจนแล้วเสร็จ ล้วนไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใดทั้งสิ้น เราคนไทยผู้รักชาติและใจใหญ่เท่าแม่น้ำโขง-ชี-มูลรวมกันขอยืดอกจ่าย เอง

กฟผ.ย่อมได้ เฮ! ธนาคารโลกย่อมได้ฮา! และรัฐบาลทุกชุดได้ไชโย! ยกเว้นสมัชชาคนจนดื้อรั้นไม่รักชาติเท่านั้นที่โห่ประท้วงเขื่อนปากมูลไม่ยอมเลิก เฮ้อออ......... กฟผ.อาจแก้ตัวว่าเขื่อนปากมูลน่าจะใช้งานได้นาน 25 ปี ก่อนถึงอายุขัย..... (ครับ เขื่อนก็ตายเป็นเหมือนกันเนื่องจากการสะสมตัวของตะกอนหน้าเขื่อนจนมันเต็มตื้นขึ้นมากระทั่ง ผลิตไฟฟ้าหรือทำชลประทานไม่ได้อีกต่อไป ความจริงเขื่อนในบ้านเราก็เท่งทึงกันไปบ้างแล้ว เพียงแต่ ทางราชการท่านปิดไว้ เพราะกลัวพวกเราแตกตื่นตกใจเดี๋ยวจะเลยเลิกคิดสร้างเขื่อนหมด ท่านจึงไม่รื้อ เขื่อนทิ้งแต่ปล่อยซากไว้ให้เราดูเล่นเฉยๆ แบบพีระมิดหรือสุสานของ "การพัฒนา" แบบไม่ยั่งยืนอะไรทำนองนั้น)

...และใน 25 ปี นั้นก็เดินเครื่องปั่นไฟไปเรื่อยๆ ก็จะได้ไฟฟ้าเป็นมูลค่าตั้ง(7 x 25 =) 175 ล้าน ดอลลาร์นู่น ไม่ใช่แค่ 56 ล้านดอลลาร์ ใน 8 ปี อย่างที่ว่าสักหน่อย ถ้าจะเอาสีข้างเข้าถูแบบนั้นมันก็พูดได้ แต่มองข้ามอะไรที่สำคัญไปบางอย่างเช่น 1)ต้นทุนค่าสร้างเขื่อนปากมูล 233 ล้านดอลลาร์นั้นมันมีค่าเสียโอกาส(opportunity cost) ของมันอยู่ ถ้าไม่เอามาสร้างเขื่อนประโยชน์ต่ำแบบนี้ เงินมหาศาลตั้งหลายพันล้านบาทดังกล่าวประเทศไทยเราก็เอาไปใช้อย่างอื่นได้ เช่น ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนาดกำลังผลิตเต็มพิกัด 150 เมกะวัตต์ เปิดใช้ไป 8 ปี ก็คุ้มทุนแล้ว เป็นต้น

แต่เขื่อนปากมูลนี่เปิดใช้ไป 8 ปี แล้วก็ยังขาดทุน ส่วนอีก 17 ปี ที่เหลือนั้นต่อให้เดินเครื่องปั่นไฟต่อ เราก็จะไม่ขาดทุนน้อยลงกว่า 177 ล้านดอลลาร์ แม้สักแดงเดียวแต่อย่างใด เพราะอย่าลืมว่าถ้าไม่สร้างเขื่อนเรามี "โอกาส" จะนำเงิน 233 ล้านดอลลาร์ไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ย 12% ต่อปีแทนได้ปีละ 28 ล้าน ดอลลาร์สบายใจเฉิบ อัตราความเสียหายใน 17 ปี หลังจึงจะคิดจากต้นทุนแรกสร้างคงที่แค่ 233 ล้านดอลลาร์ไม่ได้แต่ต้องคิดเปรียบเทียบกับประโยชน์ทั้งหมดที่ประเทศเราพึงมีพึงได้หากนำเงินก้อนนี้ไปใช้อย่างอื่น ซึ่งรวมเบ็ดเสร็จแล้วค่าเสียโอกาสใน 17 ปีหลังจะสูงถึง(17 x 28 ล้าน =) 476 ล้านดอลลาร์ หรือ 18,088 ล้านบาท

2)ฉะนั้นต้นทุนของไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูลจะผลิตได้ใน 17 ปี หลังจึงเท่ากับค่าเสียโอกาสที่จะใช้เงิน 233 ล้านดอลลาร์ ไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ใน 17 ปี คือ 476 ล้านดอลลาร์ด้วย และต่อให้ใช้เขื่อนปากมูลเดินเครื่องปั่นไฟไปอีก 17 ปี ก็จะได้ไฟฟ้ามาเป็นมูลค่าเพียง(17 x 7 ล้าน =) 119 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แปลว่าขาดทุนค่าเสียโอกาสไปอีก 476 - 119 = 357 ล้านดอลลาร์ หรือนัยหนึ่งทุกๆ 4 ดอลลาร์ ที่ กฟผ.เสียไปเพราะเขื่อนปากมูล(8 ปี แรกในรูปเงินค่าก่อสร้างจริง ส่วน 17 ปี หลังในรูปค่าเสียโอกาสที่จะใช้เงินก้อนเดียวกันไปทำอย่างอื่น)

กฟผ.ได้ไฟฟ้าคืนจากเขื่อนปากมูลมาเป็นมูลค่าเพียง 1 ดอลลาร์ เท่านั้นจ่าย 476 ได้ 119 หรือจ่าย 4 ได้ 1 นี่แหละครับพี่น้องคือสัดส่วน cost-efficiency หรือประสิทธิภาพ การลงทุนของเขื่อนปากมูลที่เจ้าหน้าที่ กฟผ.พร้อมจะรักษาไว้สุดชีวิต แม้ต้องลุยเลือดเนื้อเพื่อนคนไทยร่วมชาติ ชาวบ้านแม่มูนมั่นยืนเข้าไปก็ตาม ลงทุนสูตรวิบัติแบบนี้ ถ้าบริษัทประเทศไทยไม่ขาดทุนฉิบหายวันนี้ก็ไม่รู้จะไปขาดทุนฉิบหายวันไหน แล้วล่ะครับ

ทำใจเถิดครับว่าเงินค่าก่อสร้างเขื่อนปากมูลที่ขาดทุนไป 177 ล้านดอลลาร์นั้นถึงไงชาวไทยเราก็ไม่ได้คืน ไม่ว่าจะใช้เขื่อนผลิตไฟฟ้าต่อหรือไม่ก็ตามแทงบัญชีรายได้ประชาชาติศูนย์ไปได้เลย แล้วหัวร่อสมน้ำหน้าตัวเองซะที่เชื่อ กฟผ. แต่เรายังมีทางฟื้นฟูบูรณะทะนุถนอมรักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติของเราที่หลงเหลืออยู่ได้บ้าง หากคิด พิจารณาอย่างรอบคอบและตัดสินใจด้วยปัญญา มิใช่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ข้อแรกสุด อย่าลุยชาวบ้าน กฟผ.ไม่ใช่หน่วยงานรับผิดชอบด้านความมั่นคงและปราบปรามของรัฐ ไม่มีความชำนาญด้านนี้ มิหนำซ้ำยังเป็นคู่กรณี จึงไม่ใช่ธุระกงการและไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ขืนลุยเข้าไปมีแต่เสียหาย อาจถึงบาดเจ็บล้มตาย พวกเราก็คนไทยด้วยกันทั้งนั้น ธนาคารโลกและนานาอารยประเทศ เจ้าหนี้ก็จะประณาม กฟผ.อาจได้หน้าแต่ชาติไทยชาวไทยไม่ได้อะไรขึ้นมานอกจากบาดแผลซ้ำเติม

ข้อสอง เปลี่ยนขาดทุนเป็นกำไร โดยเปลี่ยนเขื่อนปากมูลเป็นห้องทดลองเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความ สมานฉันท์และการฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ โดยหยุดผลิตไฟฟ้าและเปิดประตูเขื่อนให้น้ำมูลได้ไหลและปลานา นาพันธุ์ได้อพยพเคลื่อนย้ายไปวางไข่ฟักตัวหากินตามธรรมชาติ ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการพิเศษในสังกัดวุฒิสภาเพื่อศึกษาติดตามและเสนอ มาตรการฟื้นฟูบูรณะธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนแม่น้ำมูลในระยะยาว ที่มีวุฒิสมาชิกตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ กฟผ.หน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเช่นกรมประมงเป็นสมาชิก ส่วนกรณีจะใช้เขื่อนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอีกโสตหนึ่งด้วยสลับบ้างหรือไม่ ในช่วงไหนของปีนานเท่าใด ในลักษณะเงื่อนไขอย่างไร ให้เป็นไปตามนโยบายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมาธิการกำหนดโดยรัฐ บาลและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รับไปปฏิบัติด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ เราจะประหยัดค่าบำรุงรักษาและเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเขื่อนปากมูลลง และประหยัดค่าชดเชยความเสียหายซึ่งเหลือที่จะประมาณได้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบนับพันๆ ครัวเรือน

ในทางกลับกันธรรมชาติของแม่น้ำและพันธุ์ปลาจะค่อยๆ ได้รับการฟื้นฟู ชาวบ้านจะเปลี่ยนสภาพ จากม็อบ ผู้ประท้วงและผู้คอยรับค่าชดเชยช่วยเหลือจากรัฐไปเป็นชาวประมงรายย่อยผู้สามารถพึ่งตนเองอย่างพอเพียง สร้างผลผลิตเพิ่มรายได้ให้ระบบเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นภาระแก่ผู้อื่นเช่นปัจจุบันและคนไทยร่วม ชาติก็จะได้ไม่ต้องตีกันฆ่ากัน ทำร้ายทำลายกันอย่างโฉดเขลา เพียงเพื่อเขื่อนที่สอบตกคณิตศาสตร์จนขาดทุนย่อยยับเหล่านี้

Bdam2.jpg (22861 bytes)

เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN)
'ถ้าแม่น้ำโขงคือราชาแห่งสายน้ำ แม่น้ำมูลก็คือบัลลังก์แห่งราชานี้' ประโยคของนักเขียนสารคดีตะวันตกนี้ สามารถอธิบายถึงความสำคัญของแม่น้ำมูลได้เป็นอย่างดี

ด้วยขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง 117,000 ตารางกิโลเมตร กินอาณาบริเวณตั้งแต่ด้านใต้ของทิวเขาภูพาน ด้านตะวันตกของทิวเขาเพชรบูรณ์ ทิวเขาดงพญาเย็น และด้านเหนือของทิวเขาสันกำแพง และพนมดงรักไปจนจรดแม่น้ำโขง
แม่น้ำมูลจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักของคนอีสาน ที่หล่อเลี้ยงคนในลุ่มน้ำนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกระทั่งคนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า 'แม่มูล' ที่หมายถึง 'ทรัพย์สมบัติที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ'

จุดเด่นที่สำคัญของแม่น้ำมูลก็คือ ระบบนิเวศที่หลากหลาย แม่น้ำมูลที่ไหลโค้งตวัดไปมาทำให้เกิดระบบนิเวศแบบพื้นที่ชุ่มน้ำกว้างใหญ่ไพศาล กระจายตลอดสองฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศแบบป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งคล้ายคลึงกับระบบนิเวศแถบทะเลสาบเขมร
ป่าบุ่งป่าทามเหล่านี้ คือ แหล่งอาศัย วางไข่ และอนุบาลพันธุ์ปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง เช่นเดียวกับระบบนิเวศแถบทะเลสาบเขมร ขณะที่บริเวณปากมูลตั้งแต่พิบูลมังสาหารลงไปจนถึงปากมูล สภาพทางธรณีวิทยาทำให้เกิดระบบนิเวศแบบแก่งหินกลางลำน้ำ ซึ่งเป็นระบบที่สลับซับซ้อน มีแก่งต่างๆ มากกว่า 50 แก่ง ที่เป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลา

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ปลา ระบุว่า แถบปากมูลก่อนการสร้างเขื่อนปากมูลมีพันธุ์ปลาท้องถิ่นถึง 258 ชนิด เป็นปลาที่อาศัยเฉพาะแก่งและย้ายถิ่นอยู่ถึง 160 ชนิด แม่น้ำมูลจึงได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของประเทศ
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนนี้ กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสร้างเขื่อนทั้งบนลำน้ำมูลและแม่น้ำสาขา
จนกระทั่งลุ่มน้ำมูลเป็นลุ่มน้ำที่มีเขื่อนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างเสร็จในลุ่มน้ำมูลถึง 13 เขื่อน คือเขื่อนห้วยกุ่ม เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำปาว เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำมูลบน และเขื่อนปากมูล
นอกจากนี้ ยังมีเขื่อนอีกประมาณ 14 เขื่อน ภายใต้โครงการผันน้ำโขง ชี มูล ที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังก่อสร้าง เช่น เขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา เขื่อนเหล่านี้นักสร้างเขื่อนได้ทำให้สังคมไทยเชื่อมาตลอดว่า เพื่อเป็นการพัฒนาที่จะนำมาซึ่งความสะดวกสบาย และความอยู่ดีกินดี แต่หากรื้อประวัติศาสตร์เพื่อดูเบื้องหลังของการสร้างเขื่อนในภาคอีสานแล้ว ข้ออ้างเหล่านี้เป็นเพียงเสื้อคลุมเท่านั้น

ประการแรก เขื่อนคือมรดกของจักรวรรดินิยมในยุคสงครามเย็น จากการที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรจากประเทศโลกที่หนึ่ง ได้เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการขยายอิทธิพลในเขตอนุภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ สหรัฐและพันธมิตรเข้ามาวางแผนสร้างเขื่อนในภาคอีสาน ด้วยความเชื่อที่ว่าเขื่อนจะนำมาซึ่งการพัฒนาให้ภาคอีสานกลายเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยม และใช้วิธีการนี้ในการต่อต้านการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ที่นำโดยจีน และโซเวียต

เขื่อนที่กล่าวถึงนี้ เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินการขององค์กรสร้างเขื่อน และองค์การช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐและพันธมิตร และภายใต้โครงการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาขององค์กรเหนือรัฐ อย่างธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติ และคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง แม้ปัจจุบันนี้ โครงการเขื่อนต่างๆ ที่กำลังขัดแย้งกันในลุ่มน้ำนี้ไม่ว่าจะเป็น โครงการเขื่อนโป่งขุนเพชร หรือโครงการเขื่อนลำโดมใหญ่ ก็ล้วนแต่วางแผนไว้ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

ประการที่สอง เขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำมูลสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐ ดังจะเห็นได้จากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูลที่สัมพันธ์กับการเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐในภาคอีสาน ดังเช่นเขื่อนสิรินธรที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับฐานทัพสหรัฐที่อุบลราชธานี

ด้วยเหตุนี้ เขื่อนหลายเขื่อนในลุ่มน้ำมูลจึงไม่ควรที่จะสร้าง แต่ก็ยังถูกสร้างขึ้นมา เช่น เขื่อนสิรินธรที่มีกำลังผลิตติดตั้งเพียง 36 เมกะวัตต์ (น้อยกว่าเขื่อนปากมูลถึงสี่เท่า) แต่ได้ท่วมผืนป่าและที่ดินที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า ๑๘๐,๐๐๐ ไร่ แล้วยังอพยพชาวบ้านอย่างถอนรากถอนโคนมากกว่า ๓,๐๐๐ ครอบครัว

ประการที่สาม การสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูลเกิดจากแรงผลักดันของบรรดาบรรษัทข้ามชาติ ที่ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเขื่อน ผ่านองค์กรเหนือรัฐในนามของโครงการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา แต่ท้ายที่สุดก็เพื่อประโยชน์ของบรรดาอุตสาหกรรมเขื่อนจากประเทศโลกที่ 1 นั่นเอง

ตัวอย่างก็คือ การสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งได้รับเงินทุนจากกองทุนพิเศษสหประชาชาติ และสนับสนุนการก่อสร้างจากธนาคารเพื่อการบูรณะของเยอรมัน (Kreditanstalt fur Wiedraufbau)
หลังจากนั้น บริษัทของเยอรมันก็เข้ามาผูกขาดการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ กล่าวคือ บริษัท Salzgitter Industrial Gamb H. เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาเพื่อสำรวจรายละเอียด ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง
ส่วนงานก่อสร้างเขื่อน ทางระบายน้ำล้น และโรงไฟฟ้า ก่อสร้างโดยบริษัทจากเยอรมัน ขณะที่เครื่องกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็ผลิตโดยบริษัทจากเยอรมันเช่นกัน

หรือกรณีเขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม ที่สร้างโดยกลุ่มทุนญี่ปุ่น โดยผ่านบทบาทของบริษัท EPDC (Electric Power Development Company) กรณีเขื่อนปากมูลที่กำลังขัดแย้งอยู่นั้น หากพลิกดูเบื้องหลังแล้วก็เกิดจากการผลักดันของธนาคารโลก โดยการสนับสนุนการศึกษาจากฝรั่งเศส และเงินกู้จากธนาคารโลกก็กลับไปจ้างหรือซื้ออุปกรณ์จากบรรษัทอุตสาหกรรมเขื่อน

ปัจจุบัน แม้ว่าสงครามเย็นจะสงบลงแล้ว แต่บรรดาทุนอุตสาหกรรมเขื่อนจากประเทศโลกที่หนึ่งก็ยังเข้ามาผลักดันเขื่อนในลุ่มน้ำนี้ต่อไป ดังเช่น เขื่อนลำโดมใหญ่ ที่ได้รับผลักดันโดยญี่ปุ่น เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว ความขัดแย้งเรื่องเขื่อนในลุ่มน้ำมูลจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างคนท้องถิ่น ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตและทรัพยากร กับบรรดานักสร้างเขื่อนที่รับเอาลัทธิการพัฒนาแบบทุนนิยมที่ตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น
โดยที่ประโยชน์ของการสร้างเขื่อนนี้ก็เพื่อบรรดาบรรษัทสร้างเขื่อนและองค์กรเหนือรัฐ โดยที่รัฐไทยเป็นเพียงตัวดำเนินการที่ไม่แตกต่างกับม้าไม้เมืองทรอย

ขณะที่ประเด็นของผลกระทบทางสังคมนั้น เขื่อนที่สร้างขึ้นในลุ่มน้ำมูลนั้นได้เป็นสาเหตุของการทำลายชุมชนท้องถิ่นอย่างถอนรากถอนโคน
จนถึงปัจจุบัน ประมาณว่าคนในลุ่มน้ำมูลต้องอพยพเพราะเขื่อนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ครอบครัว โดยที่ยังไม่นับชาวบ้านที่ต้องอพยพและสูญเสียที่ดินจากการสร้างระบบคลองส่งน้ำ
ขณะที่ยังมีชาวบ้านที่กำลังจะต้องถูกอพยพอีกนับแสนคน เฉพาะโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล โครงการเดียวก็จะต้องมีการอพยพชาวบ้านเป็นจำนวนถึง 149,921 คน

ปัจจุบันคนท้องถิ่นเหล่านี้ต้องเผชิญกับชะตากรรมอันเลวร้าย แตกกระสานซ่านเซ็น และกลายเป็นคนจนอย่างฉับพลันและถาวร
ในบางกรณี ต้องถูกผลักให้อยู่ที่ชายขอบของสังคมดังเช่น ชาวบ้านบากชุมที่ต้องอพยพจากการสร้างเขื่อนสิรินธร ที่ทุกวันนี้ต้องกลายเป็นคนคุ้ยขยะในกรุงเทพมหานคร

ขณะที่ในด้านสิ่งแวดล้อม เขื่อนเป็นตัวการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินและแม่น้ำมูลอย่างรวดเร็ว จนทำให้แม่น้ำที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งของประเทศต้องเหลือเพียงตำนาน

ประการแรก การสร้างเขื่อนทำให้เกิดพื้นที่ท่วมป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของภูมิภาค รวมทั้งที่ดินทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์สองฝั่งแม่น้ำ จนถึงปัจจุบันประมาณว่า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนได้ทำลายป่าไม้และที่ดินทำกินที่อุดมสมบูรณ์ไปถึง 1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้รวมถึงที่ดินในที่ราบลุ่มและป่าบุ่งป่าทามสองฝั่งแม่น้ำมูล

ประการที่สอง การสร้างเขื่อนเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแม่น้ำ และพันธุ์ปลายิ่งกว่าสาเหตุของจับปลามากเกินไป หรือการเกิดมลภาวะในระดับปานกลาง ทั้งนี้ เพราะเขื่อนได้ปิดกั้นอินทรีย์สารที่เป็นฐานของห่วงโซ่อาหาร ไม่ให้ไหลลงมาท้ายน้ำ อินทรีย์สารเหล่านี้ถูกแยกสลายลงจนสิ่งมีชีวิตชั้นสูงกว่าไม่สามารถใช้เป็นอาหารได้
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ น้ำในอ่างเก็บน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ปลาไม่สามารถอยู่ในน้ำที่ไม่มีอาหารและเป็นพิษเช่นนี้ได้ แต่หอยทากพันธุ์ที่เป็นเชื้อพาหะโรคพยาธิ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพของน้ำที่ไม่มีออกซิเจนเช่นนี้ได้ดี

ด้วยเหตุนี้ ปลาในอ่างเก็บน้ำนั้นจึงเป็นที่สงสัยตลอดมาว่าน่าจะเป็นที่มาของโรคพยาธิใบไม้ในตับ มีรายงานยืนยันว่าภายหลังมีการสร้างเขื่อนในอีสานเสร็จใหม่ๆ ได้พบพยาธิหลายชนิด ในบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อน เช่น เขื่อนอุบลรัตน์พบว่ามีชาวบ้านในบริเวณนั้นติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ในตับ สูงขึ้นร้อยละ 50.07 ภายในระยะเวลา 3-5 ปี และในที่สุดชาวบ้านก็ติดเชื้อ 100 เปอร์เซ็นต์

การวิจัยของคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าโรคร้ายแรงนี้ยังเกิดขึ้นทั้งในพื้นที่อ่างเก็บน้ำและในพื้นที่ชลประทาน สร้างความบั่นทอนชีวิตของประชาชนที่เป็นโรคนี้ถึง 4 ล้านคนในภาคอีสาน เขื่อนที่อ้างว่าจะทำให้เกิดการพัฒนานั้น จริงๆ แล้วคือการสร้างแหล่งบ่มเพาะโรคร้ายที่ค่อยๆ บั่นทอนชีวิตของคนท้องถิ่นนั่นเอง

ที่สำคัญก็คือ เขื่อนได้ปิดกั้นการเดินทางของปลาระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูล ที่นักชีววิทยายืนยันว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีพันธุ์ปลาถึง 1,238 ชนิด จะเป็นรองก็แต่แม่น้ำอะเมซอนเท่านั้น การเดินทางของปลาระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลนี้เอง ทำให้แม่น้ำมูลและแม่น้ำสาขามีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งโปรตีนตามธรรมชาติของคนอีสาน

ปัญหานี้ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากการสร้างเขื่อนปากมูล ที่ได้ปิดตายระบบลุ่มน้ำมูนทั้งระบบ แม้ว่ามีการสร้างบันไดปลาโจนขึ้นมาแก้ปัญหานี้ แต่บันไดปลาโจนก็ไม่สามารถทำให้ปลาอพยพจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลได้

การศึกษาของกรมประมงเองก็ระบุว่าปลาสามารถผ่านบันไดปลาโจนได้เพียง 63 ชนิด หรือคิดเป็น 21.4% ของพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูนที่เคยมี บางวันปลาเดินทางขึ้นเพียง 2 ถึง 3 ตัวเท่านั้น และยังเป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่ใช่ปลาทางเศรษฐกิจ การปิดตายลุ่มน้ำมูลด้วยเขื่อนปากมูล จึงไม่ได้มีเพียงชาวประมงกว่า 6,000 ครอบครัว ที่อยู่รอบอ่างเท่านั้น แต่รวมถึงคนลุ่มน้ำมูลและลำน้ำสาขาอื่นที่มีอาชีพประมงและจับปลาเป็นอาหารในครอบครัวด้วย

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมล่าสุดที่เขื่อนบนลุ่มน้ำมูลสร้างขึ้นมาก็คือ ปัญหาการกระจายของดินเค็ม ซึ่งปรากฏชัดในกรณีเขื่อนราษีไศล และโครงการโขง ชี มูล เนื่องจากแผ่นดินอีสานนั้นคือแผ่นดินที่เค็มไปด้วยเกลือ โดยที่ราบแอ่งโคราช มีชั้นของเกลือแทรกอยู่กับชั้นหินทรายและหินชนิดต่างๆ ตั้งแต่ระดับ 3-40 เมตร ลงไปจนถึง 7-800 เมตร โดยมีภูเขาโดมเกลือใหญ่ใต้ดิน 6-7 แห่ง

การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำนั้น จะทำให้เกิดการยกระดับของน้ำใต้ดินที่เค็มให้ขึ้นมาใกล้ผิวดินมากยิ่งขึ้น และเกลือที่ละลายอยู่ในน้ำนี้ ในฤดูแล้งก็จะสะสมอยู่บนผิวดินกลายเป็นคราบเกลือและปัญหาดินเค็มตามมา
ส่วนในอ่างเก็บน้ำก็จะมีการสะสมของเกลือ และทำให้น้ำที่เก็บมีความเค็ม ขณะที่พื้นที่ชลประทานที่ได้รับน้ำจากการสร้างเขื่อนก็จะมีการสะสมของเกลือ จนไม่สามารถใช้สำหรับการเพาะปลูกได้อีกต่อไป

ปัญหาการกระจายของดินเค็มนี้ ในที่สุดก็นำมาซึ่งความวิบัติให้กับคนท้องถิ่นที่ยากแก่การแก้ไข
หากพิจารณาในแง่มุมที่ว่า เขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำมูลไม่ได้มาจากความต้องการของคนท้องถิ่น และผลประโยชน์ที่ได้นั้นน้อยมาก ดังเช่น เขื่อนปากมูลที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 40 เมกะวัตต์ บางเดือนก็ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้เลย

เขื่อนสิรินธรนั้นมีกำลังผลิตติดตั้งเพียง 36 เมกะวัตต์ หรือเขื่อนราษีไศลที่ไม่มีใครได้ประโยชน์เลยทั้งที่สร้างไปแล้ว 7 ปี ในขณะที่คนท้องถิ่นต้องแบกรับภาระจากผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ โครงการเขื่อนต่างๆ ที่ยังไม่ได้สร้างก็ควรถึงเวลาที่จะทบทวนและยกเลิก

ขณะเดียวกันเขื่อนที่กำลังก่อสร้าง เช่น เขื่อนหัวนา และเขื่อนอื่นๆ ในโครงการโขง ชี มูล ก็ควรระงับไว้ก่อน
ส่วนเขื่อนที่สร้างไปแล้ว และไร้ประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยมาก ก็ควรยกเลิกการใช้ โดยการเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำและพันธุ์ปลา และคืนที่ดินที่สมบูรณ์ให้กับชุมชน

บทเรียนของการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำมูลที่มีนานกว่า 4 ทศวรรษนั้น สามารถสรุปได้แล้วว่าพอแล้วสำหรับการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำมูล
การคืนอิสรภาพให้แม่น้ำมูลจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเขื่อนกับคนอีสาน!?!

 

 

 
HOST@THAIIS