โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๔๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (December, 23, 12, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

23-12-2550

Reversing the Logic
of Capitalism

Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

ปรากฏการณ์ใหม่ที่ลูกจ้างยึดสถานประกอบการมาบริหารจัดการ
การสวนกระแสตรรกะทุนนิยม: กิจการที่คนงานกอบกู้ในอาร์เจนตินา
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
นักวิชาการอิสระ โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน

บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศ

ธุรกิจที่ลูกจ้างเป็นผู้บริหารในอาร์เจนตินามีมากมายหลากหลายประเภท
แต่ละแห่งมีสถานะทางกฎหมายและรูปแบบการจัดการการผลิตแตกต่างกันไป
ในเกือบทุกกรณี คนงานเข้ายึดกิจการที่เจ้าของละทิ้งหรือปิดกิจการลง
ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศอาร์เจนตินา เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๑
เจ้าของมักหยุดการผลิต ค้างชำระค่าแรงและล้มละลาย การที่คนงานตัดสินใจ
เข้ายึดสถานประกอบการ เป็นการตัดสินใจที่เกิดจากความจำเป็นมากกว่าเกิดจากอุดมการณ์
ความกังวลใจที่ต้องการรักษางานเอาไว้คือ แรงกระตุ้นให้เข้ายึดโรงงาน
และทำการผลิตอีกครั้งโดยไม่มีเจ้านายหรือเจ้าของ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย
กล่าวคือ คนงานต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางด้านกฎหมาย และทักษะในการบริหารจัดการ
ในบทความชิ้นนี้ จะพูดถึงกรณีดังกล่าวและทางออกของปัญหาพอสมควร
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๔๓
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปรากฏการณ์ใหม่ที่ลูกจ้างยึดสถานประกอบการมาบริหารจัดการ
การสวนกระแสตรรกะทุนนิยม: กิจการที่คนงานกอบกู้ในอาร์เจนตินา
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
นักวิชาการอิสระ โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน

ความนำ
โรงงานที่คนงานเป็นผู้บริหารในอาร์เจนตินาคือตัวอย่างสาธิตให้คนงานทั่วโลกรู้ว่า ลูกจ้างสามารถบริหารกิจการได้ดีกว่า โดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้านายหรือเจ้าของ ปัจจุบันมีกิจการที่คนงานกอบกู้ (recuperated enterprises) ถึงกว่า 180 แห่งที่ยังดำเนินการอยู่ ช่วยสร้างงานให้คนงานชาวอาร์เจนตินากว่า 10,000 ราย ปรากฏการณ์ใหม่ที่ลูกจ้างยึดสถานประกอบการเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 2000 และขยายวงมากขึ้นเมื่ออาร์เจนตินาประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดใน ค.ศ. 2001 ทั่วทั้งประเทศ มีโรงงานปิดกิจการเป็นพัน ๆ แห่งและงานหลายล้านตำแหน่งหายวับไปในเวลาไม่กี่ปี แม้มีอุปสรรคมากมาย แต่ขบวนการกอบกู้กิจการในอาร์เจนตินาก็สามารถสร้างงาน สร้างเครือข่ายกว้างขวางเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างสถานประกอบการต่าง ๆ ที่คนงานเป็นผู้บริหาร และก่อให้เกิดโครงการต่าง ๆ ในชุมชน

ธุรกิจที่ลูกจ้างเป็นผู้บริหารในอาร์เจนตินามีมากมายหลากหลายประเภท แต่ละแห่งมีสถานะทางกฎหมายและรูปแบบการจัดการการผลิตแตกต่างกันไป ในเกือบทุกกรณี คนงานเข้ายึดกิจการที่เจ้าของละทิ้งหรือปิดกิจการลงในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศอาร์เจนตินาเมื่อ ค.ศ. 2001 เจ้าของมักหยุดการผลิต ค้างชำระค่าแรงและล้มละลาย การที่คนงานตัดสินใจเข้ายึดสถานประกอบการ เป็นการตัดสินใจที่เกิดจากความจำเป็นมากกว่าเกิดจากอุดมการณ์ ความกังวลใจที่ต้องการรักษางานเอาไว้คือ แรงกระตุ้นให้เข้ายึดโรงงาน และทำการผลิตอีกครั้งโดยไม่มีเจ้านายหรือเจ้าของ

ฉากหลังของการยึดกิจการ
การว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น การไหลออกของเงินทุนและการพังทลายของภาคอุตสาหกรรม คือฉากหลังของการยึดกิจการ ชาวอาร์เจนตินาต้องดิ้นรนผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดของประเทศในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2001 การว่างงานพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ มีคนว่างงานกว่า 20% และอีก 40% ของประชากรไม่สามารถหางานที่ให้ค่าจ้างเพียงพอ. อาร์เจนตินา ซึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมของละตินอเมริกา กลับต้องกระเสือกกระสนเลี้ยงดูประชากรของตนระหว่าง ค.ศ. 2001-2002 โดยประชาชนถึง 53% ต้องดำรงชีวิตต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน ใน ค.ศ. 2006 ภาวะว่างงานยังอยู่ที่ 12.5% โดยมีประชาชนกว่า 5.2 ล้านคนไม่สามารถหางานที่ให้ค่าจ้างเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน

กิจการที่คนงานควบคุมในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับความเป็นปฏิปักษ์และความรุนแรงจากรัฐบ่อยครั้ง คนงานจำต้องจัดตั้งรวมตัวกันเพื่อต้านทานความพยายามเข้ามาขับไล่ด้วยมาตรการรุนแรง รวมทั้งมาตรการรุนแรงของรัฐในรูปแบบอื่น ๆ เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคนงานและการดำเนินกิจการ ทั้งนี้เพราะคนงานจำต้องละทิ้งสถานประกอบการ ต้องลงทุนลงแรงในการต่อสู้ทางกฎหมาย และต้องดิ้นรนเรียกร้องกฎหมายที่เอื้อต่อกิจการที่คนงานเป็นผู้กอบกู้

การต่อสู้ทางกฎหมายของบรรดาคนงาน
ในเกือบทุกกรณี การต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อก่อตั้งสหกรณ์และได้รับการรับรองความเป็นเจ้าของในกิจการนั้น ๆ ต้องดำเนินผ่านความไม่มั่นคงมากมาย คนงานไม่เพียงต้องคิดหาวิธีบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ แต่ยังต้องวิตกกังวลว่า รัฐบาลอาจออกกฎหมายเพื่อขับไล่ตนออกจากสถานประกอบการ. ในปีที่ผ่านมา กิจการที่คนงานกอบกู้จำนวนหนึ่งในอาร์เจนตินา ซึ่งประกอบด้วยโรงแรมบาวเอน (BAUEN), โรงงานเซรามิกส์ซานอง (Zanon), โรงชำแหละและขายส่งเนื้อลาฟอเรสตา (La Foresta), และโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ต (Chilavert) ต่างก็ต้องฝ่าฟันสมรภูมิทางกฎหมายครั้งใหญ่เพื่อรักษาสถานประกอบการเอาไว้ คนงานพบว่า เพียงแค่พิสูจน์ว่าคนงานสามารถควบคุมการผลิตได้ยังไม่พอ พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย เมื่อหลายกิจการเริ่มกลับมาทำกำไรอีกครั้ง หลังจากวิกฤตการณ์ค่าเงินตกต่ำ เจ้านายเก่า ๆ หลายคนก็อยากทวงบริษัทคืน

ตัวอย่างเช่น โรงแรมบาวเอน คนงานบริหารจัดการกันเองตั้งแต่ ค.ศ. 2003 พนักงานโรงแรมรณรงค์ตลอดเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อกดดันให้เทศบาลนครเมืองบัวโนสไอเรสยับยั้งกฎหมายฉบับหนึ่ง ที่เปิดช่องให้โรงแรมอาจตกไปอยู่ในมืออดีตเจ้าของเก่าอีก แต่เทศบาลนครไม่ยอมยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ หากสหกรณ์โรงแรมบาวเอนไม่สามารถผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ที่ให้ประโยชน์แก่พวกเขา ก็มีความเสี่ยงที่พวกเขาอาจเสียโรงแรมไป

ตลอดสามปีที่ผ่านมา คนงานดำเนินกิจการโรงแรมของสหกรณ์บาวเอนโดยไม่มีสถานะรองรับทางกฎหมาย หรือเงินอุดหนุนของรัฐบาล นับตั้งแต่ยึดโรงแรมมาในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 2003 คนงานค่อย ๆ ทำความสะอาดและซ่อมแซมโรงแรมที่ถูกรื้อกระจุยกระจายและเปิดให้บริการ โรงแรมกลับมาเปิดทำการด้วยพนักงาน 40 คน และปัจจุบันมีคนงานราว 150 คน

แทนที่จะออกกฎหมายรับรองการยึดทรัพย์สินระดับชาติ (หมายถึงรับรองสถานะทางกฎหมายของการที่คนงานยึดกิจการที่ล้มละลายมาบริหารเอง) ศาลกลับพิจารณาสถานะทางกฎหมายของกิจการที่คนงานกอบกู้เป็นกรณี ๆ ไป ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกในหมู่กิจการที่คนงานกอบกู้ 180 แห่งในอาร์เจนตินา ต่างจัดตั้งเป็นกลุ่ม ๆ แยกจากกัน กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ MNER (ขบวนการกอบกู้กิจการแห่งชาติ) ประกอบด้วยกิจการที่คนงานบริหารกว่า 40 แห่ง อาทิ โรงแรมบาวเอน, โรงพิมพ์ชีลาเวิร์ต, โรงแรมและสปาพิสมันตา, โรงชำแหละและขายส่งเนื้อลาฟอเรสตา, โรงช่างไม้มาเดเรรา คอร์โดบา, และโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ซาเนโญ เป็นต้น ผู้นำสายเปรองนิสท์ (Peronist - Peronnism)(*) (ผู้นิยมตามแนวทางของอดีตประธานาธิบดีเปรอง) คือ เอดัวร์โด มารัว มีบทบาทในการสร้างกลยุทธ์ทางกฎหมาย เพื่อช่วยโรงงานที่คนงานกอบกู้
(*) Peronist policies
Peron's ideas were widely embraced by a variety of different groups in Argentina across the political spectrum. Peron's personal views would eventually become a burden on the ideology, his anti-clericalism did not strike a sympathetic chord amongst upper class Argentinians. Peron's public speeches were consistently nationalist and populist. It would also be difficult to separate Peronism from corporate nationalism, for Peron nationalized Argentina's large corporations, blurring distinctions between corporations and government. At the same time, the labor unions became corporate themselves, relinquishing the right to strike in agreements with Peron as Secretary of Welfare in the military government from 1943-45. In exchange, the state was to assume the role of negotiator between conflicting interests.


อีกกลุ่มหนึ่งคือ MNFR (ขบวนการกอบกู้โรงงานแห่งชาติ) นำโดยลูอิซ คาโร คาโรเป็นทนายความที่สนับสนุนระบบทุนนิยม เคยสมัครเป็นตัวแทนของพรรคคริสเตียนประชาธิปไตย ที่มีแนวทางชาตินิยม MNFR ดำเนินการโดยยึดและกลืนสหกรณ์คนงาน เมื่อบริษัทนั้น ๆ เผชิญวิกฤตการณ์ทางตลาดหรือกฎหมาย กรณีที่ฉาวโฉ่ที่สุดคือ โรงงานผลิตชุดสูทบรุกแมน (Brukman) คนงานบรุกแมนหลายคนบ่นว่า ลูอิซ คาโรกลายเป็นเจ้านายคนใหม่ สหกรณ์คนงานที่ตกเป็นของ MNFR มักยุติบทบาททางการเมือง ปิดกั้นโรงงานจากคนภายนอก และมีแนวโน้มที่จะกลับไปเป็นแบบเดิม ๆ เหมือนสมัยที่มีเจ้านาย กลุ่มที่เล็กกว่าและมีความสำคัญน้อยคือ CTA ซึ่งเป็นชื่อของสหภาพแรงงานแกนกลางของคนงานอาร์เจนตินา ส่วนโรงงานเซรามิกส์ซานองเป็นตัวแทนของอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก สหกรณ์ซานอง ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า FaSinPat (ย่อมาจาก Fabica Sin Patron: โรงงานไม่มีเจ้านาย) ดำเนินงานในฐานะองค์กรอิสระ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงานเซรามิกส์ในเมืองเนวเก้นด้วย FaSinPat เป็นโรงงานที่คนงานกอบกู้เพียงแห่งเดียวที่เรียกร้องให้โอนโรงงานเซรามิกส์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคนงานมาเป็นของชาติ

คนงานจะบริหารธุรกิจด้วยตนเองอย่างไร ?
เรื่องที่คนงานที่กอบกู้กิจการในอาร์เจนตินาวิตกมากที่สุดก็คือ จะบริหารจัดการธุรกิจด้วยตนเองอย่างไร โรงงานที่คนงานกอบกู้ที่ใหญ่ที่สุดในอาร์เจนตินาคือ ซานอง ปัจจุบันมีคนงาน 470 คน ภายใต้การควบคุมของคนงาน ไม่มีผู้บริหารอาชีพทำงานในโรงงานนี้ มีแต่คนงานเท่านั้น คนงานต้องเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการขาย การตลาด การวางแผนการผลิต และงานเทคนิคชั้นสูงอื่น ๆ คนงานซานองทำงานร่วมกับทนายความ นักบัญชีและผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพอื่น ๆ ที่พวกเขาไว้ใจอย่างสม่ำเสมอ แต่มืออาชีพเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ สมัชชาคนงานเป็นผู้ลงคะแนนเสียงตัดสินใจในเรื่องทางเทคนิค มืออาชีพมาช่วยจัดการอบรมทักษะพิเศษบางอย่างให้คนงานที่ซานอง แต่ในกิจการที่คนงานกอบกู้อื่น ๆ มักขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญที่ไว้ใจได้

การวางแผนจัดอบรมทักษะให้เป็นระบบก็เป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง ในขณะที่กิจการที่คนงานกอบกู้หลายแห่งก่อตั้งเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้อย่างไม่เป็นทางการ แต่การอบรมทักษะพิเศษก็ยังขาดแคลน ไหนคนงานจะต้องบริหารธุรกิจ และไหนจะต้องต่อสู้ทางด้านกฎหมาย การวางแผนการผลิตระยะยาวและการฝึกอบรมจึงมักกลายเป็นความสำคัญลำดับท้ายสุดไปโดยปริยาย

กิจการที่คนงานกอบกู้ต้องเปิดดำเนินการผลิตใหม่โดยไม่มีเงินลงทุน ไม่มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือเงินอุดหนุนจากรัฐ ในหลาย ๆ กรณี คนงานยึดกิจการขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีแต่เทคโนโลยีล้าสมัยแล้ว หน่วยงานรัฐบาลและไม่ใช่รัฐบาลที่ทำงานกับ SME (กลุ่มกิจการขนาดเล็กถึงขนาดกลาง) ไม่ยอมจัดหาทุนให้กิจการที่คนงานกอบกู้ เนื่องจากมีสถานะทางกฎหมายหมิ่นเหม่ โรงงานและธุรกิจที่คนงานควบคุมหลายแห่ง จึงไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในการยื่นขอสินเชื่อจากรัฐบาลและ/หรือเงินกู้จากธนาคาร

ในขณะที่กิจการที่คนงานกอบกู้บางแห่งพัฒนายุทธศาสตร์ก้าวหน้า เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ภายในสถานประกอบการ แต่ก็มีอีกหลายแห่งที่ยังยึดติดอยู่กับโครงสร้างเดิม ๆ ที่ตกทอดจากสมัยมีเจ้านาย แทนที่จะจัดตั้งในลักษณะที่คนงานทั้งหมดมีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจ สหกรณ์ของคนงานบางแห่งกลับเลือกใช้วิธีจัดการแบบสั่งการจากบนลงล่าง และใช้อัตราค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกัน บางแห่งก็จัดตั้งตามรูปแบบสหกรณ์คนงานดั้งเดิม นั่นคือมีฝ่ายบริหารคอยจัดการด้านการบริหาร โดยคนงานที่ใช้แรงงานมีส่วนร่วมน้อยมาก แนวโน้มแบบอนุรักษ์นิยมที่ปิดกั้นสถานประกอบการจากคนภายนอก และจัดการบริหารภายในแบบรวมศูนย์อำนาจเช่นนี้ ส่วนใหญ่มักเกิดมาจากความกลัวว่า จะพ่ายแพ้การต่อสู้ทางกฎหมายในศาลหรือล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจ

ยุทธศาสตร์ทางเลือก: เป็นอิสระจากรัฐและตลาด
นอกจากถูกโจมตีทางกฎหมายแล้ว กิจการที่คนงานกอบกู้ในอาร์เจนตินายังต้องวางยุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะอุปสรรคด้านการตลาด โดยไม่มีการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐ เนื่องจากขาดโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีล้าสมัย สหกรณ์ของคนงานจำนวนมากมีโอกาสน้อยเหลือเกินที่จะอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันในตลาดทุนนิยม วิธีที่ดีที่สุดในการอยู่รอดของกิจการที่คนงานกอบกู้ก็คือ สร้างตลาดทางเลือกสำหรับสินค้าที่ผลิตภายในกิจการประเภทนี้ การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันเองภายในเครือข่ายของสถานประกอบการที่คนงานกอบกู้ จะช่วยสร้างหลักประกันว่า สินค้าจำนวนหนึ่งสามารถทำกำไรได้แน่นอน การสร้างเครือข่ายสนับสนุนในหมู่กิจการที่คนงานกอบกู้ โดยเป็นอิสระจากรัฐและตลาด คือความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดของธุรกิจที่คนงานเป็นผู้บริหาร

แม้จะมีอุปสรรคทั้งด้านการเมืองและด้านการตลาด แต่กิจการที่คนงานกอบกู้ในอาร์เจนตินาก็ถือเป็นตัวแทนพัฒนาการทางด้านยุทธศาสตร์ที่ก้าวหน้าที่สุดอันหนึ่งในการปกป้องชนชั้นแรงงานและการขัดขืนต่อระบบทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ ธุรกิจที่คนงานเป็นผู้บริหารพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายที่คุ้มครองตำแหน่งงานของคนงาน รวมทั้งเปิดประตูกฎหมายให้กิจการอื่น ๆ ที่คนงานกอบกู้ด้วย กิจการที่คนงานกอบกู้หลายแห่งช่วยกันสร้างเครือข่ายสมานฉันท์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางในหมู่กิจการที่คนงานกอบกู้ราว 300 แห่งในละตินอเมริกา ซึ่งมีอยู่ในอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา บราซิลและอุรุกวัย นอกจากนี้ ธุรกิจที่คนงานเข้ายึด เช่น ซานอง ชีลาเวิร์ตและโรงแรมบาวเอน ยังสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในชุมชนและการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมด้านอื่น ๆ ด้วย

วาระทางเลือก
กิจการที่คนงานกอบกู้กำลังสร้างขบวนการทางเลือกในระบอบประชาธิปไตยและอำนาจของคนงานในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง การบริหารจัดการด้วยตัวเองของคนงานในอาร์เจนตินาช่วยเพาะเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังในอนาคตสามารถสวนกระแสตรรกะทุนนิยม โดยอาศัยการผลิตเพื่อชุมชน ไม่ใช่เพื่อกำไร และโอนถ่ายอำนาจให้คนงาน ไม่ใช่ขูดรีด

ระบบบริหารจัดการด้วยตัวเองของคนงาน (Worker Self-Management)
คำว่า "ระบบบริหารจัดการด้วยตัวเอง" มาจากแนวคิด "autogestion" (**) ในภาษาสเปน หมายถึงการที่ชุมชนหรือกลุ่มตัดสินใจด้วยตนเอง โดยเฉพาะเมื่อการตัดสินใจนั้นเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการวางแผนและบริหาร กิจการที่คนงานกอบกู้ในอาร์เจนตินานำระบบจัดตั้งในธุรกิจที่คนงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทั้งหมดมาใช้จริงในเชิงปฏิบัติ
(**)Autogestion is a form of workplace decision-making in which the employees themselves agree on choices (for issues like customer care, general production methods, scheduling, division of labour etc.) instead of the traditional authoritative supervisor telling workers what to do, how to do it and where to do it. Examples of such self-management include the Spanish Revolution during the Spanish Civil War, Titoist Yugoslavia, the "recovered factories" movement in Argentina (in Spanish, fabrica recuperada), the LIP factory in France in the 1970s, the Mondragon Cooperative Corporation which is the Basque Country's largest corporation, US AK Press, etc.

In Argentina, workers took over control of the firm, commonly after intentional bankruptcy by the management or after a factory occupation to prevent the risk of a lock out. The Spanish verb recuperar means not only "to get back", "to take back" or "to reclaim" but also "to put back into good condition". Although initially referring to industrial facilities, the term may be extensive to businesses other than factories (i.e. Hotel Bauen in Buenos Aires).

ตามความคิดของเจมส์ เพทราส (James Petras) และ เฮนรี เวลท์ไมเออร์ (Henry Veltmeyer) ในบทความของทั้งสองชื่อ Worker Self-Management in Historical Perspective ระบบบริหารจัดการด้วยตนเองของคนงานช่วยให้คนงานมีอำนาจการตัดสินใจ

1) ตัดสินใจว่าจะผลิตอะไรและเพื่อใคร
2) รักษาการจ้างงานและ/หรือเพิ่มการจ้างงาน
3) จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ผลิต
4) กำหนดลักษณะว่าใครควรได้อะไร ที่ไหนและอย่างไร
5) ผสานการผลิตทางสังคมกับการคืนกำไรให้สังคมเข้าด้วยกัน
6) สร้างความสมานฉันท์ของชนชั้นในโรงงาน ทั้งในระดับภาคส่วนหรือระดับชาติ/นานาชาติ และ
7) สร้างความเป็นประชาธิปไตยให้ความสัมพันธ์ทางสังคมในการผลิต

กิจการที่คนงานกอบกู้ได้พัฒนาข้อเรียกร้องระยะยาวหลายประการสำหรับระบบบริหารจัดการด้วยตัวเองของคนงาน

MNER-ยึด ขัดขืน และผลิต รูปแบบของ MNER คือกดดันฝ่ายนิติบัญญัติทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและเมืองให้ออกกฎหมาย ข้อสังเกตของผู้พิพากษา และนโยบายต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่คนงานกอบกู้ โรงงานหลายแห่งที่เป็นส่วนหนึ่งของ MNER ชนะการต่อสู้ทางกฎหมายและมีสิทธิ์ยึดครองสถานประกอบการไว้ได้ชั่วคราวอย่างน้อย 2 ปีเป็นขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม การดิ้นรนหาสินเชื่อและเงินอุดหนุนเพื่อลงทุนในด้านเครื่องจักร เทคโนโลยี และโครงการด้านวัฒนธรรม มักถูกผู้มีอำนาจในรัฐบาลเพิกเฉยเสียเป็นส่วนใหญ่

การโอนกิจการเป็นของชาติภายใต้การควบคุมของคนงาน นี่คือกรณีของซานอง ข้อเรียกร้องระยะยาวของซานองคือ การโอนกิจการเป็นของชาติโดยอยู่ภายใต้การควบคุมของคนงาน กระนั้นก็ตาม คนงานจากซานองก็ดำเนินการคู่ขนานด้วยการต่อสู้ในศาลของรัฐบาลกลางเพื่อให้สหกรณ์ FaSinPat เป็นที่ยอมรับทางกฎหมายด้วย ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2005 สหกรณ์ FaSinPat ชนะข้อพิพาททางกฎหมาย กดดันให้ศาลของรัฐบาลกลางต้องยอมรับว่า FaSinPat เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีสิทธิที่จะบริหารสหกรณ์เป็นเวลาหนึ่งปี

โรงแรมบาวเอน, โรงพิมพ์ชีลาเวิร์ต, และโรงงานซานอง จับมือเป็นพันธมิตรกันในการเรียกร้องให้มีกฎหมายยึดทรัพย์สินระดับชาติ รัฐบาลมักเสนอแค่ทางออกระยะสั้น โดยให้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายชั่วคราวแก่คนงานที่กอบกู้สถานประกอบการ ใบอนุญาตนี้มักมีอายุระหว่าง 2-5 ปี หากมีกฎหมายยึดทรัพย์สินที่ชัดเจนสำหรับโรงงานที่ผลิตภายใต้การควบคุมของคนงาน ก็จะทำให้ตำแหน่งงานมีความมั่นคงตามกฎหมาย

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2004 คณะตัวแทนของคนงานที่ยึดโรงงานราว 200 แห่งในอาร์เจนตินามาชุมนุมกันในกรุงบัวโนสไอเรส เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายที่ถาวรเพื่อรับรองการยึดโรงงานและกิจการที่ล้มละลายอื่น ๆ มาดำเนินงานภายใต้การควบคุมของคนงานโดยตรง คนงานจากโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ต, โรงแรมบาวเอน, โรงงานตัดเย็บชุดสูทบรุกแมน, โรงพิมพ์คอนฟอร์ตี, โรงงานอิเลกทรอนิกส์เรนาเซร์จากเมืองอูชูไอยา, คลินิกสุขภาพฮูนิน, คลินิกสุขภาพอาโดส, บริษัทรองเท้ากาติก, บริษัทพาสต้าซาเซตรู, และองค์กรของแรงงานไร้งานอีกหลายองค์กรเข้าร่วมในการเดินขบวนครั้งนี้

โรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตในบัวโนสไอเรส เป็นธุรกิจที่คนงานเข้ายึดครองอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งดำเนินงานโดยได้รับใบอนุญาตชั่วคราวจาก ค.ศ. 2002 จนถึง 2004 ข้อตกลงนี้หมดอายุลงในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 2004 ด้วยแรงสนับสนุนจากชุมชนและกิจการที่คนงานกอบกู้แห่งอื่น ๆ ทำให้คนงานชีลาเวิร์ตได้รับสิทธิ์ขาดในการยึดครองโรงพิมพ์ขนาดกลางที่ตั้งอยู่ในละแวกบ้านปอมเปยา ของบัวโนสไอเรส

กลยุทธ์ทางกฎหมาย: การใช้สหกรณ์คนงานและกฎหมายล้มละลาย
กิจการที่คนงานกอบกู้ในอาร์เจนตินามีการพัฒนากลยุทธ์ทางกฎหมายที่ใช้ได้ผล โดยอาศัยกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่นักธุรกิจมาปกป้องคนงานแทน ส่วนกฎหมายบางฉบับที่ออกมาในทางเอื้อประโยชน์แก่กิจการที่คนงานกอบกู้ มักขยายมาจากข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์คนงาน. ในประวัติศาสตร์ของอาร์เจนตินานั้น สหกรณ์คนงานมีชื่อเสียงไม่ค่อยดีนัก ตลอดทศวรรษ 1990 สหกรณ์ถูกใช้เป็นเครื่องมืออำพรางการจ้างผลิตภายนอก (outsourcing) และลดมาตรฐานแรงงานลง กิจการที่คนงานกอบกู้กำลังฟื้นฟูชื่อเสียงดั้งเดิมของสหกรณ์คนงานขึ้นมาใหม่

คนงานยังใช้มาตรา 187 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาตรา 187 คือกฎหมายล้มละลายที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ ยื่นขอล้มละลายได้ง่ายขึ้น ในช่วงทศวรรษ 1990 พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย สายเปรองนิสท์ลงคะแนนเสียงเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ และแก้ไขกฎหมายล้มละลายเสียใหม่ตามคำแนะนำจากองค์การเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF. มาตรา 187 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเร่งการควบรวมกิจการของธุรกิจเอกชน อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นโดยมีมาตราพิเศษข้อหนึ่งระบุว่า ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีล้มละลายสามารถพิจารณามอบกิจการนั้น ๆ แก่คนงาน หากพวกเขารวมตัวก่อตั้งเป็นสหกรณ์ การใช้มาตรานี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลและวินิจฉัยเป็นกรณี ๆ ไป

ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า
ในการยึดโรงงานเกือบทุกกรณี คนงานใช้ยุทธวิธีปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า ขั้นแรกคือยึดสถานประกอบการในเชิงกายภาพก่อน พนักงานโรงแรมบาวเอนตัดกุญแจที่ล็อกประตูทางเข้าด้านข้างเพื่อเข้าไปยึดโรงแรม. แน่นอน ปฏิบัติการแบบนี้เป็นการตั้งคำถามโดยตรงต่อแนวคิดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เอกชน. จากนั้น คนงานต้องรณรงค์ภายในชุมชนเพื่อปกป้องสถานประกอบการที่ยึดมาจากการขับไล่ด้วยความรุนแรง หลังจากวิกฤตการณ์วันที่ 19 และ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2001 ประชาชนและนักเคลื่อนไหวจากกลุ่มปีเกเตโรส์ (1) สมัชชาละแวกบ้านระดับรากหญ้าและองค์กรสิทธิมนุษยชน ช่วยสนับสนุนกิจการที่คนงานกอบกู้ด้วยมาตรการต่าง ๆ กันไป กิจการที่คนงานกอบกู้บางแห่ง เช่น ชีลาเวิร์ต บาวเอน และซานอง ใช้ปฏิบัติการทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วน ในการกดดันศาลให้ยอมรับสถานะทางกฎหมายของสหกรณ์คนงาน ปฏิกิริยาของรัฐบาลต่อซานองรุนแรงทีเดียว มีการใช้กลยุทธ์หลากหลายเพื่อขับไล่คนงานออกไป รัฐบาลพยายามใช้ตำรวจเข้าไปขับไล่ถึง 5 ครั้ง ในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2003 สมาชิกชุมชนจากเมืองเนวเก้น กว่า 5,000 คน ออกมาปกป้องโรงงานระหว่างความพยายามขับไล่คนงานครั้งสุดท้าย

ความถูกต้องตามกฎหมาย vs ความชอบธรรม
กิจการที่คนงานกอบกู้หลายแห่งจำต้องเริ่มดำเนินการผลิตโดยไม่มีสถานะทางกฎหมายใด ๆ รองรับ อาทิเช่น กรณีของโรงแรมบาวเอน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาโลดโผน ตั้งแต่การเปิดตัวอย่างอลังการ การปิดกิจการ และการตัดสินใจของคนงาน. วันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 2001 หลังจากฝ่ายบริหารเริ่มไล่คนงานออกทั้งหมด และขนข้าวของออกไปจากโรงแรมจนเกลี้ยง คนงาน 150 คนถูกทิ้งไว้กลางถนน โรงแรมแห่งนี้ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1978 ระหว่างช่วงรุ่งโรจน์ของรัฐบาลทหารในอาร์เจนตินาชุดสุดท้าย โรงแรมได้เงินกู้และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ตลอดเวลาเกือบ 30 ปี โรงแรมแห่งนี้คือสัญลักษณ์ของชนชั้นกระฎุมพีในอาร์เจนตินา

แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 2003 เมื่อคนงานตัดสินใจเข้ายึดโรงแรม สมาชิกราว 40 คนของสหกรณ์ในปัจจุบัน แอบนัดพบกันตอนเช้าตรู่ที่มุมถนนตรงสี่แยกที่มีการจราจรคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงบัวโนสไอเรส คนงานจากกิจการที่คนงานกอบกู้อื่น ๆ และผู้สนับสนุนจาก MNER มาสมทบ ทั้งหมดเข้าไปยึดตึก ตัดกุญแจที่ประตูด้านข้างและเดินเข้าไปในห้องโถงโรงแรม คนงานพบว่าโรงแรมแทบเหลือแต่ซาก ไม่มีไฟฟ้าและถูกรื้อกระจุยกระจาย เป็นเวลาหลายเดือนที่สมาชิกสหกรณ์ต้องอยู่โยงเฝ้ายามในโรงแรม ระหว่างที่ต่อสู้ฝ่าฟันทางกฎหมายเพื่อก่อตั้งสหกรณ์ สามปีต่อมา คนงานโรงแรมบาวเอนก็ยังดำเนินงานโดยไม่มีความหวังว่าจะได้สถานะทางกฎหมายใด ๆ

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 คนงานเปิดร้านกาแฟริมทางเท้าข้างถนน กลายเป็นสถานที่สะดุดตาในเขตโรงละครของบัวโนสไอเรส พื้นร้านปูด้วยกระเบื้องเคลือบสวยงามคุณภาพสูง ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงงานเซรามิกส์ซานองกับโรงแรมบาวเอน บางคืน โรงแรมคึกคักไปด้วยงานวัฒนธรรม ทั้งละคร งานเลี้ยงค็อกเทล การแสดงระบำแทงโก การแสดงทางวิทยุ และอื่น ๆ อีกมาก คนงานหลายคนกล่าวว่า สหกรณ์ของตนกำลังทำในสิ่งที่นายทุนไม่ยอมทำ นั่นคือ การสร้างงานที่มั่นคงและจ่ายค่าจ้างพอแก่การเลี้ยงชีพ นับตั้งแต่ยึดโรงแรมบาวเอน สหกรณ์จ้างคนงานใหม่เพิ่มมากกว่าแปดสิบคน สหกรณ์จ่ายค่าจ้างเดือนละ 800 เปโซอาร์เจนตินา (260 ดอลลาร์) ให้คนงานทุกคน โดยไม่คำนึงว่าทำหน้าที่อะไร นอกจากนั้น โรงแรมได้ขยายบริการออกไปและมักมีแขกพักเต็มอยู่เสมอ

ความสัมพันธ์แบบประชาธิปไตยภายในสถานที่ทำงาน - การบริหารงานแบบแนวนอน
ในกิจการที่คนงานกอบกู้เกือบทุกแห่ง สมัชชาใหญ่และผู้ประสานงานเข้ามาแทนที่ระบบแบบลำดับชั้นที่มีหัวหน้าผู้คุมงานและเจ้านาย นับตั้งแต่คนงานยึดโรงแรมบาวเอน สหกรณ์จ้างคนงานกว่า 85 คน เกือบทุกคนเป็นอดีตคนงานเก่าและสมาชิกในครอบครัว (2) คนงานทุกคนได้ค่าจ้างเท่ากัน สหกรณ์บาวเอนมีคณะกรรมการบริหารอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วยประธาน รองประธาน เลขานุการและเหรัญญิก แต่การตัดสินใจทางการเมืองกระทำในสมัชชาใหญ่

ในกรณีของซานอง การจ้างคนงานและการจัดการการผลิตตั้งอยู่บนอุดมคติของความสัมพันธ์แนวระนาบ ประชาธิปไตยทางตรงและการปกครองตนเอง ทุกเรื่องตัดสินกันในสมัชชา ไม่มีลำดับชั้นของบุคลากรหรือฝ่ายบริหาร แต่ละแผนก ซึ่งมีทั้งสายการผลิต การขาย การวางแผนการผลิต การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ล้วนแต่มีคณะกรรมการดูแล คณะกรรมการแต่ละชุดลงคะแนนเสียงเลือกผู้ประสานงานคนหนึ่ง ผู้ประสานงานของแต่ละแผนกคอยแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นปัญหา ข่าวสารและความขัดแย้งภายในแผนกของตนแก่ที่ประชุมใหญ่ของผู้ประสานงาน จากนั้น ผู้ประสานงานก็แจ้งข่าวจากคณะกรรมการกลับไปที่แผนกของตน ทุกสัปดาห์ คนงานจะจัดประชุมใหญ่ของแต่ละกะ และมีประชุมสมัชชาใหญ่ของทั้งโรงงานเดือนละครั้ง ซึ่งจะหยุดพักการผลิตทั้งหมด

คนงานหลายคนในกิจการที่คนงานกอบกู้บอกว่า จังหวะการทำงานของตนเปลี่ยนไป ดังคำพูดของอิซาเบล เซเกอีรา แม่บ้านที่ทำงานให้โรงแรมบาวเอนมากว่า 11 ปี เมื่อพนักงานเปิดโรงแรมใหม่อีกครั้ง มันกลายเป็นความหวังถึงอนาคตที่ไม่เหมือนเดิม "เราทำงานด้วยจิตสำนึกของเราเอง ไม่ต้องมีใครมาสอดส่องอยู่ข้างหลัง หรือบอกให้ทำนั่นทำนี่ เราช่วยกันทำงานเพื่อให้โรงแรมสะอาดและสวยงาม" เธอกล่าว

ก่อนการยึดโรงงาน การผลิตภายในซานองเป็นไปเพื่อสร้างกำไรสูงสุดให้บริษัท ลดค่าจ้างให้อยู่ในระดับต่ำสุด ตัดลดมาตรการความปลอดภัยของคนงาน และกดดันคนงานให้ผลิตในระดับสูงสุดด้วยจำนวนคนน้อยที่สุด สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุเฉลี่ย 25-30 ครั้งต่อเดือน และถึงขั้นเสียชีวิตหนึ่งรายทุกปี มีคนงานทั้งหมด 14 คนตายในโรงงานนี้ นับตั้งแต่คนงานยึดซานองเป็นต้นมา ไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นภายในโรงงานแม้แต่ครั้งเดียว

ที่โรงแรมบาวเอน การซ่อมแซมบูรณะโรงแรมทั้งหมดทำด้วยการลงขันของพนักงาน ในช่วงปีแรกที่เปิดดำเนินการ คนงานเลือกที่จะคืนกำไรกลับไปให้สหกรณ์ แทนที่จะนำค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกลับบ้าน คนงานใช้เงินไปถึง 30,000 ดอลลาร์ เพื่อสร้างร้านกาแฟใหม่ริมถนน ใน ค.ศ. 2006 สหกรณ์จะเปิดฉลองพื้นที่บริเวณสระน้ำที่เพิ่งบูรณะเสร็จ พวกเขายังปรับปรุงข้อบังคับด้านความปลอดภัยภายในโรงแรมและการป้องกันไฟไหม้ในห้องพักด้วย

การจัดคอนเสิร์ตสร้างแรงสนับสนุน
กุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่ไขสู่ความสำเร็จของกิจการที่คนงานกอบกู้ก็คือ การสอดแทรกการต่อสู้ของคนงานเข้าไปในชุมชน พร้อม ๆ กับการปกป้องตำแหน่งงาน กิจการที่คนงานกอบกู้ยังสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาด้วย ทั้งซานองและบาวเอนมีการจัดคอนเสิร์ตดนตรีร็อค และการแสดงละครที่เปิดให้ชุมชนเข้าชม การจัดคอนเสิร์ตเป็นสิ่งที่ใช้ได้ผลมากในการสร้างแรงสนับสนุนต่อกิจการที่คนงานกอบกู้ คอนเสิร์ตยังได้รับความสนใจรายงานเป็นข่าวใหญ่จากสื่อมวลชน ซึ่งปรกติแล้วมักจะไม่เต็มใจตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับกิจการที่คนงานกอบกู้

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีแฟนเพลงและผู้สนับสนุนกว่า 11,000 คน เข้าชมคอนเสิร์ตดนตรีของวงร็อครุ่นเก๋า La Renga ที่จัดในพื้นที่โกดังของซานอง คนงาน 460 คนจากโรงงานที่คนงานควบคุมเป็นผู้จัดการแสดงทั้งหมด ทั้งการสร้างเวทีขนาดใหญ่ การติดโปสเตอร์และขายตั๋วราคาถูก

คนงานที่ซานองบริจาคกระเบื้องปูพื้นให้ศูนย์วัฒนธรรมและองค์กรชุมชนอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ ใน ค.ศ. 2004 คนงานสร้างคลินิกดูแลสุขภาพฉุกเฉิน ในชุมชนนูเอวาเอสปันญา ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง

ความเชื่อมโยงท้องถิ่นกับโลก
"ด้วยระบบบริหารจัดการด้วยตัวเองของคนงาน เรากำลังอยู่ในกระบวนการสร้างพลังสมานฉันท์ของคนงาน หรือประชาชนที่ไม่ได้สนใจแต่เรื่องค่าจ้างเท่านั้น" คือคำพูดของมาร์เซโล รูอาร์เต ประธานสมัชชาที่มาจากการเลือกตั้งของสหกรณ์บาวเอน เขาเสริมว่า "พวกเรากำลังพยายามปรับปรุงสภาพสังคม ทั้งในด้านวัฒนธรรมและการเมือง"

ในระดับท้องถิ่น โรงแรมบาวเอนกลายเป็นตัวอย่างโดดเด่นในการสร้างพันธมิตร และการพัฒนาเครือข่ายสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางการต่อสู้ทางกฎหมายและบริหารโรงแรมชั้นนำจนประสบความสำเร็จ สมาชิกของสหกรณ์ไม่เคยลืมรากเหง้าของตนเอง. บาวเอนกลายเป็นศูนย์การเมืองสำหรับการจัดตั้งองค์กรของคนงาน คนงานรถไฟฟ้าใต้ดิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครูโรงเรียนรัฐบาล คนงานด้านโทรคมนาคม คนงานรถไฟและองค์กรของแรงงานไร้งาน จับมือกันเป็นเครือข่ายพันธมิตรขององค์กรคนงานรากหญ้าในชื่อ The Inter-Sindical Clasista (Classist Union Coalition-เครือข่ายพันธมิตรสหภาพแห่งชนชั้น) เครือข่ายพันธมิตรสหภาพแห่งชนชั้นมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอที่โรงแรมบาวเอน และเสนอที่จะจัดตั้งโรงเรียนสหภาพขึ้นภายในโรงแรม การเคลื่อนไหวแบบนี้ช่วยสร้างเครือข่ายสนับสนุนกิจการที่คนงานกอบกู้ในวงกว้าง

ปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งอาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัยและเวเนซุเอลา ยังคงเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ แม้จะพบอุปสรรคด้านการตลาดก็ตาม คนงานชาวละตินอเมริกากว่า 30,000 คนทำงานอยู่ในกิจการที่สหกรณ์เป็นผู้บริหาร ซึ่งเป็นกิจการที่เจ้านายเก่าปิดลงและลูกจ้างเป็นผู้เปิดดำเนินการใหม่

การประชุมกิจการที่คนงานกอบกู้แห่งละตินอเมริกาครั้งที่หนึ่ง 2005
ตัวแทนจากโรงงานและกิจการที่คนงานควบคุมจากอาร์เจนตินา อุรุกวัย เวเนซุเอลาและบราซิล ร่วมมือกันจัด "การประชุมกิจการที่คนงานกอบกู้แห่งละตินอเมริกาครั้งที่หนึ่ง" ขึ้นเมื่อวันที่ 28 และ 29 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ในกรุงคารากัส เพื่อสร้างยุทธศาสตร์ร่วมกันในการต่อต้านการโจมตีของรัฐบาลและตลาดคนกินคน. ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลาเป็นประธานเปิดงานครั้งนี้ ซึ่งมีคนงานที่บริหารจัดการกิจการด้วยตัวเองมาร่วมงานกว่า 1,000 คน คนงานเหล่านี้กำลังปฏิบัติตามคำขวัญ "ยึด ขัดขืน และผลิต" การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการริเริ่มเพื่อสร้างเครือข่ายสนับสนุนซึ่งกันและกันด้านเศรษฐกิจ ในหมู่กิจการและโรงงานราว 300 แห่ง ที่คนงานกำลังบริหารจัดการด้วยตัวเองในละตินอเมริกา

ปลายปีนี้ (2006) รัฐบาลเวเนซุเอลาออกกฤษฎีกาหลายฉบับ เพื่อยึดโรงงานที่ถูกปิดให้คนงานเปิดการผลิตใหม่ ระหว่างการประชุม ชาเวซลงนามในกฤษฎีกายึดโรงงาน 2 แห่ง กิจการที่คนงานกอบกู้ในประเทศอื่น ๆ เห็นว่า เวเนซุเอลาคือต้นแบบของกฎหมายที่เอื้อต่อการยึดกิจการของคนงานโดยมีรัฐคอยสนับสนุน

บริษัทของคนงานหลายแห่งคาดหวังว่าจะได้ลงนามข้อตกลงทางการค้าและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างการประชุม ประธานาธิบดีชาเวซ สัญญาจะสนับสนุนกิจการที่คนงานกอบกู้ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคี แต่ผ่านไปหลายเดือนหลังการประชุม โครงการริเริ่มที่รัฐบาลสนับสนุนส่วนใหญ่กลับล่าช้าไปหรือถูกลืมเสียเฉยๆ

ข้อตกลงระหว่างกิจการที่คนงานกอบกู้ต่างหากที่ได้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรมมากที่สุด แม้กระทั่งในกรณีของเวเนซุเอลา กิจการที่คนงานกอบกู้ในละตินอเมริกาต้องเรียนรู้ว่า คนงานไม่สามารถหวังพึ่งรัฐให้ผลักดันไปข้างหน้า โรงงานและกิจการที่คนงานยึดกำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขากำลังจัดตั้งเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ต่าง ๆ ในการปกป้องคนงานละตินอเมริกาที่ตกเป็นเหยื่อการปิดโรงงานและสภาพการทำงานที่เลวร้าย แม้ว่าประสบการณ์ใหม่ ๆ เหล่านี้จำต้องดำรงอยู่ควบคู่กันไปภายในตลาดแบบทุนนิยม แต่มันหลอมรวมเป็นนิมิตหมายใหม่สำหรับวัฒนธรรมแรงงาน ประสบการณ์ของระบบบริหารจัดการด้วยตัวเองและการจัดตั้งของคนงานเป็นการท้าทายต่อโครงสร้างของระบบทุนนิยมโดยตรง ด้วยการตั้งคำถามต่อกรรมสิทธิ์เอกชน การกอบกู้ความรู้ของคนงานกลับคืนมา และการจัดการการผลิตเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากกำไร

สรุป

ปัญหาหลัก:
- คนงานต้องต่อสู้กับการโจมตีด้วยกฎหมายและการขับไล่ด้วยความรุนแรง
- การทำร้ายร่างกาย เช่น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005 กลุ่มคน 4 คนลักพาตัวและทำร้ายภรรยาของคนงานคนหนึ่งในโรงงานซานอง
- การขาดสินเชื่อและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อลงทุนในบริษัท ทำให้แข่งขันได้ยาก
- แรงกดดันจากตลาดและการขาดโครงสร้างพื้นฐาน
- ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่ไว้ใจได้มาให้ความรู้
- ขาดแคลนการฝึกอบรมด้านเทคนิคและทักษะอย่างเป็นระบบ
- การสร้างตลาดทางเลือกเพื่อสินค้าที่ผลิตออกมา

ข้อเรียกร้องและข้อเสนอของภาคประชาชน
- ออกกฎหมายระดับชาติเพื่อยึดทรัพย์สินสำหรับกิจการที่คนงานกอบกู้ทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพและเงื่อนไขพื้นฐานในการดำเนินงานและวางแผน

- ออกกฎหมายให้รัฐบาลอำนวยสินเชื่อและทุนอุดหนุน เพื่อช่วยให้กิจการที่คนงานกอบกู้แข่งขันได้ในตลาด
- ยุติการกดดันปราบปรามกิจการที่คนงานบริหาร

- สร้างนโยบายสนับสนุนกิจการที่คนงานกอบกู้ เนื่องจากกิจการเหล่านี้ช่วยสร้างงานที่มีค่าจ้างพอแก่การครองชีพ และเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อความสัมพันธ์ทางสังคมแบบประชาธิปไตยในสถานที่ทำงาน รวมทั้งเป็นตัวอย่างให้คนงานทั่วโลกได้ตระหนักว่า คนงานสามารถจัดการการผลิตได้ดีกว่าเจ้านาย หรือเจ้าของด้วยซ้ำ

- นโยบายด้านการเงินการคลัง ที่ยอมรับคุณูปการของกิจการที่คนงานบริหาร ในด้านการผลิตและการจัดการกำไร เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของคนงานและชุมชน

ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ใช้ได้ผล
- ตั้งคำถามต่อการขูดรีดของระบบทุนนิยม ด้วยการสร้างทางเลือกที่เป็นอิสระภายใต้ระบบบริหารจัดการด้วยตัวเองของคนงาน
- ทวงคืนความรู้ของคนงาน
- สร้างกระบวนการประชาธิปไตยในสถานประกอบการ

- ซานองกับบาวเอนให้การสนับสนุนชุมชนและโครงการด้านวัฒนธรรม โรงแรมบาวเอนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ซานองจัดคอนเสิร์ตดนตรีร็อคเพื่อสร้างแรงสนับสนุน ส่วนโรงพิมพ์ชีลาเวิร์ตสร้างศูนย์วัฒนธรรมถาวรไว้ภายในโรงงาน

- สร้างเครือข่ายความสมานฉันท์อย่างกว้างขวาง โดยตั้งอยู่บนการช่วยเหลือและความร่วมมือซึ่งกันและกัน ในหมู่กิจการที่คนงานกอบกู้และองค์กรแรงงานอื่น ๆ

- MNER พยายามก่อตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือกิจการที่คนงานกอบกู้แห่งอื่น ๆ ให้เปิดดำเนินการได้

- กิจการที่คนงานกอบกู้แห่งแรก ๆ พัฒนายุทธศาสตร์ด้านกฎหมายที่เปิดประตูกฎหมายแก่กลุ่มคนงานอื่น ๆ เพื่อปกป้องตำแหน่งงานของตนด้วยการยึดสถานที่ทำงาน

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

แปลจาก: Marie Trigona, "Recuperated Enterprises in Argentina: Reversing the Logic of Capitalism," Citizen Action in the Americas Profile (Silver City, NM: International Relations Center, March 17, 2006).

เกี่ยวกับผู้เขียน: Marie Trigona เป็นสมาชิกในกลุ่ม Grupo Alavio เธอเขียนงานเป็นประจำให้แก่ IRC Americas Program (americas.irc-online.org)
Web location: http://americas.irc-online.org/amcit/3158

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) Piqueteros ความหมายตรงกับภาษาอังกฤษคือ picketers (คำเรียกนักประท้วงที่ใช้วิธีปิดล้อมทางเข้าออก) คือชื่อของหนึ่งในขบวนการสังคมใหม่ในอาร์เจนตินา ขบวนการปีเกเตโรส์เป็นขบวนการของคนว่างงานหรือกึ่งว่างงานหลายแสนคน จัดตั้งเป็นองค์กรแบบกระจายอำนาจในลักษณะของ "สหพันธ์" โดยมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ทางการเมืองและยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ขบวนการปีเกเตโรส์มีร่วมกันคือ การเป็นตัวแทนของคนจนว่างงานในชุมชนแออัดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะล่มสลายของภาคอุตสาหกรรม พวกเขาเรียกร้องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีการปิดถนน แต่บางส่วนในขบวนการนี้พัฒนาไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจในระดับโครงสร้าง (ผู้แปล)

(2) ในบทความของ Marie Trigona, "Worker Self-Management in Argentina," ZNet; May 25, 2006. เขียนถึงเรื่องการจ้างงานนี้ไว้ว่า:

"ควรจ้าง ใครทำงาน ในกิจการที่คนงานบริหาร? ในเชิงยุทธศาสตร์ นี่เป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จและความเป็นประชาธิปไตยในการบริหารจัดการด้วยตัวเองของคนงาน คนงานโรงงานซานองมีแนวทางเชิงการเมืองมากที่สุดในการจ้างคนงาน... เมื่อซานองเริ่มดำเนินการผลิตภายใต้การควบคุมของคนงาน พวกเขาจ้างอดีตคนงานซานองที่ถูกไล่ออกก่อน ต่อจากนั้น พวกเขาเริ่มแบ่งตำแหน่งงานให้นักกิจกรรมรากหญ้า ที่ทำงานกับขบวนการปีเกเตโรส์ นี่ช่วยก่อให้เกิดความสมานฉันท์และความโปร่งใสในความรู้สึกของคนงานใหม่....

การจ้างคนในครอบครัวเป็นเรื่องเสี่ยง
"ในการจ้างคนงาน การจ้างคนในครอบครัวเป็นเรื่องเสี่ยง นี่เป็นความผิดพลาดสำคัญประการหนึ่งที่ผู้เขียนพบเจอในกิจการที่คนงานกอบกู้หลายแห่ง นับตั้งแต่คนงานยึดโรงแรมบาวเอน....คนงานที่บาวเอนจ้างใหม่ส่วนใหญ่เป็นลูกชาย ลูกสาว แม่ พ่อ พี่น้องของคนงานบาวเอนเดิม จึงมีการถกเถียงภายในเกี่ยวกับความโปร่งใสและประสิทธิภาพ มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะลืมจุดเริ่มต้นของสหกรณ์ หากคุณได้งานเพราะความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่ใช่เพราะความผูกพันทางการเมืองที่จะทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปกป้องสถานประกอบการ ในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว การจ้างคนในครอบครัวควรมีการพิจารณาใหม่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวมักก่อให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบลำดับชั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบบบริหารจัดการด้วยตัวเองของคนงานกำลังพยายามก้าวให้พ้น"

 

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
23 December 2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
ในการจ้างคนงาน การจ้างคนในครอบครัวเป็นเรื่องเสี่ยง นี่เป็นความผิดพลาดสำคัญประการหนึ่ง นับตั้งแต่คนงานยึดโรงแรมบาวเอน....คนงานที่บาวเอนจ้างใหม่ส่วนใหญ่เป็นลูกชาย ลูกสาว แม่ พ่อ พี่น้องของคนงานบาวเอนเดิม จึงมีการถกเถียงภายในเกี่ยวกับความโปร่งใสและประสิทธิภาพ มันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะลืมจุดเริ่มต้นของสหกรณ์ หากคุณได้งานเพราะความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่ใช่เพราะความผูกพันทางการเมืองที่จะทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปกป้องสถานประกอบการ การจ้างคนในครอบครัวมักก่อให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบลำดับชั้น
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream