บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
October
14 - 6th
Midnight
University
บทวิเคราะห์ย้อนรอย: เหตุการณ์ฆ่านักศึกษาประชาชน
๖ ตุลา ๑๙
การเมืองไทยจาก
๑๔ - ๖ ตุลาฯ: สองชาตินิยมชนกัน
รองศาสตราจารย์
ดร. เกษียร เตชะพีระ : เขียน
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
บทความวิชาการนี้ กอง
บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอรับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ย้อนรอยถึงสาเหตุที่นำมาซึ่งการล้อมฆ่านักศึกษา
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ (๓๑ ปีที่แล้ว)
โดยต้นธารมาจากการตีความและอุดมการณ์ชาติ ศาสนา เอกราช ประชาธิปไตยต่างกัน
เนื่องด้วยวาทกรรมที่ต่างกันนี้ ก่อเกิดปฏิบัติการทางวาทกรรมไปคนละทาง
และทั้งสองฝ่ายต้องปะทะกันในที่สุด และทำให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมกลางกรุง
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๔๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทวิเคราะห์ย้อนรอย: เหตุการณ์ฆ่านักศึกษาประชาชน
๖ ตุลา ๑๙
การเมืองไทยจาก
๑๔ - ๖ ตุลาฯ: สองชาตินิยมชนกัน
รองศาสตราจารย์
ดร. เกษียร เตชะพีระ : เขียน
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
ความนำ
"การเมืองไทยจาก ๑๔ - ๖ ตุลาฯ: สองชาตินิยมชนกัน" บทความขนาดยาวชิ้นนี้แบ่งเป็น
๔ ตอน ได้แก่
๑. ปรากฏการณ์
๒. ย้อนรอย
๓. ต้นธาร
๔. วิเคราะห์
๑) ปรากฏการณ์
หลายปีก่อน ผมเคยเอาวิดีโอเรื่อง Pawns & Players หรือ Just Games ซึ่งคุณคำรณ
คุณะดิลก คนรุ่น ๑๔ ตุลาฯ แห่งกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยว สร้างให้รายการสารคดี
South ออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ในอังกฤษ หลังเหตุการณ์พฤษภามหาโหด ๒๕๓๕
มาฉายให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ชั้นปีที่หนึ่ง ๘๐๐ กว่าคนดู ที่ห้องบรรยาย บร. ๔
ศูนย์รังสิต ประกอบการเรียนวิชา มธ. ๑๒๒ สังคมกับการปกครอง
ในภาพยนตร์ที่สะท้อนการเมืองไทยยุคใหม่ได้สั้นกระชับและดีเยี่ยมเรื่องนี้ มีภาพสังหารโหดนักศึกษาประชาชนเมื่อ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ แทรกอยู่บางตอน อาทิ ภาพคุณวิชิตชัย อมรกุล นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาฯ ชั้นปีที่สอง เพื่อนเก่าของผมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ถูกแขวนคอกับต้นมะขาม มีรองเท้าแตะยัดปาก และโดนรุมทุบตีเตะซ้ำ ภาพกองศพ ๔ ศพถูกสุมทับด้วยยางรถยนต์ราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา โดยมีผู้คนมากหลายห้อมล้อมมุงดูอยู่กลางสนามหลวง ตรงข้ามวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ผมจึงเตือนนักศึกษาให้รู้และเตรียมใจไว้ล่วงหน้าก่อนฉายว่า จะมีภาพรุนแรงโหดร้ายทำนองนี้อยู่ หากทำใจไม่ได้ถึงตอนนั้นก็ควรหลับตาเสีย
พอเลิกเรียนคาบนั้น ต่างคนแยกย้ายกันไป ก็มีนักศึกษาหญิงสองคนเดินรี่ตามผมมา เมื่อทันกันกลางทาง หนึ่งในสองก็เอ่ยถามผมด้วยหน้าตาอึดอัดไม่สบายใจว่า: "อาจารย์คะ ทำไมประชาชนปรบมือหัวร่อดีใจที่พวกเราถูกฆ่า?" เป็นคำถามที่เล่นเอาผมอึ้ง คิดตอบไม่ทัน เพราะมันแปลกและแหลมคมทั้งโดยเนื้อหา และตรงที่ผู้ถามซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นหลังเกือบยี่สิบปี แต่กลับนับตัวเองเกี่ยวดองเป็นพวกเดียวกับบรรดานักศึกษาเหยื่อ ๖ ตุลาฯ รุ่นน้ารุ่นอาเหล่านั้นว่า "พวกเรา". ผมขอตัวไปคิดดูอยู่หลายคืน ก่อนจะกลับมาตอบให้ทั้งชั้นฟังในการเรียนครั้งถัดไปว่า: "เพราะพวกเขาเข้าใจว่าเราไปกระทบกับของที่เขารักมาก และเขาคิดว่าเขาทำตามความประสงค์ของผู้ที่เขารักที่สุด"
ปี พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๑๙ นับเป็นช่วงสงครามอุดมการณ์อย่างแท้จริง และดุเดือดรุนแรง ชนิดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในสังคมไทย ถึงแก่สามสถาบันหลักของชาติถูกพลังการเมืองฝ่ายขวาระดมมาร ณรงค์ต่อต้านปรักปรำขบวนการนักศึกษา ประชาชนฝ่ายซ้ายอย่างครบถ้วน กล่าวคือ
สถาบันชาติ
ฝ่ายขวานิยามชาติ (nation) ด้วยเชื้อชาติ (race) และหยิบประเด็นนี้มาแบ่งแยกให้ร้ายโจมตีผู้นำ
และนักกิจกรรมนักศึกษาไม่หยุดหย่อนว่า "ไม่ใช่คนไทย" อาทิ ต้นปี ๒๕๑๙
เคยมีป้ายผ้าขนาดใหญ่ของฝ่ายขวา ขึงกางอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เรียกขานคุณเกรียงกมล
เลาหไพโรจน์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่า "เคี้ยง
แซ่เล้า", ประณามว่าคุณสุธรรม แสงประทุม เลขาฯ ศูนย์นิสิตฯ พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็น
"แขก", และบิดเบือนว่าคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำขบวนการนักศึกษาประชาชน
๑๔ ตุลาฯ เป็น "ญวน" เป็นต้น
หลังเหตุการณ์ฆ่าหมู่ ๖ ตุลาฯ รัฐมนตรีมหาดไทย สมัคร สุนทรเวช ได้ไปพูดเรื่อง "คนที่ถูกเผาที่ธรรมศาสตร์เป็นคนญวน" ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งถูกบันทึกเทปไว้และคุณ ศิระ ถิรพัฒน์ นำมาลงพิมพ์ในหนังสือ โหงว นั้ง ปัง ของเขาหน้า ๑๕๕-๕๖ ความบางตอนว่า:
"การเผาคนตายกันกลางถนนนั้น ไม่ใช่ลักษณะของคนไทย"
"เหตุที่วิกฤตการณ์เกิดขึ้นแปลกมาก มีการทุบตีคนให้ตายแล้วเอามาแขวนคอ ชักชวนให้เอาไม้ไปตี เอาเก้าอี้ไปตี แล้วเอาคนที่ถูกแขวนคอจนตายนั้นเอามาวาง มีการเอายางรถยนต์วางแล้วเอาศพวางแล้วเอายางรถยนต์วางทับ เอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาทั้ง ๔ ศพ". "ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นกลางถนน กลางสนามหลวง กลางถนนราชดำเนิน ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ได้ แต่ผลการสอบสวนในภายหลังนั้นก็สามารถจะปะติดปะต่อได้"
"การที่มีการเผาคนตายไป ๔ คนนั้นเป็นการเผาคนซึ่งต้องการทำลายหลักฐาน ไม่ให้รู้ว่าเป็นคนชาติใด เพราะเหตุว่าหลักฐานในกองที่ไหม้นั้น มีรูปโฮจิมินห์เล็ก ๆ ซึ่งเผาไปไม่หมด""เราสอบไปในภายหลังในธรรมศาสตร์ซึ่งไม่ได้...หนักหนานั้น มีหมาซึ่งถูกฆ่าตายแล้วย่าง หมาตุ๋น หมาสตูว์ เอาอ่างมีตะแกรง หมากรอบทั้งตัวมีมีดเสียบอยู่หลายตัว" "ผมเองซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอยู่ แต่ได้เข้าไปดูเองและไปดูหลักฐานที่โรงพักชนะสงคราม".
"เราวิเคราะห์ได้ในเวลาต่อมาว่า มีชาติอื่นคือชาติเวียดนามนั้นจำนวนไม่ทราบได้แน่นอน เข้าไปเกี่ยวข้องในกรณีธรรมศาสตร์ แล้วเข้าใจว่าเป็นคนเวียดนามเองที่ถูกฆ่าตาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชันสูตรและกลายเป็นคนชาติอื่น ซึ่งจะกระทบกระเทือนถึงทางการนั้น คนที่เกี่ยวข้องได้จัดการเผาคนทั้ง ๔ เสีย""เขาเรียกวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่มิใช่วิสัยคนไทย ทำการเผาคนกลางถนนนั้นไม่ใช่วิสัยของคนไทย..."
เป็นอันว่าการสังหารโหดในกรณี ๖ ตุลาฯ ตามเวอร์ชั่นของคุณสมัครเป็นเรื่อง "ญวนเผาญวน" คนไทยไม่เกี่ยว ไม่ได้ทำ ไม่ใช่วิสัย ไม่รับผิดชอบ และไม่มีเหตุอะไรต้องเดือดเนื้อร้อนใจ
สถาบันศาสนา
กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารรายสัปดาห์ จัตุรัส, ปีที่ ๒ ฉบับที่
๕๑ ประจำวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙ หน้า ๒๘-๓๒ อันกลายมาเป็นคำขวัญระบือลือลั่นของฝ่ายขวาว่า
"ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" ดังต่อไปนี้:
จตุรัส: การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์ บาปไหม?
กิตติวุฑโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน
สถาบันกษัตริย์
อนุสนธิจากการที่ชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร สังกัดองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จัดแสดงละครที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล้อเลียนการฆ่าโหดสองพนักงานชั้นตรีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
นครปฐม คือคุณชุมพร ทุมไมย และคุณวิชัย เกษศรีพงษา ผู้ถูกทุบตีทำร้ายอย่างทารุณจนตาย
แล้วนำไปแขวนคอประจานไว้หน้าอู่รถนอกเมือง ขณะออกติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับเมืองไทยของพระถนอม
กิตติขจร โดยมีสายตรวจตำรวจนครปฐมเป็นผู้ต้องสงสัย
ภาพถ่ายคุณอภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาปีสองคณะวารสารศาสตร์ฯ หนึ่งในสองตัวแสดง ขณะทำท่าถูกแขวนคอในชุดทหาร ถูกนำไปขยายใหญ่ลงเต็มหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม กรอบบ่ายวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พร้อมพาดหัวข่าวตัวเป้งกล่าวหาว่า: "แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯเหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ""
ชาตินั้นเป็นฆาตกรได้!
ด้วยความเข้าใจว่าขบวนการนักศึกษาเป็นญวน (ไม่ไทย) เป็นมาร (ไม่พุทธ) และหมิ่นฯ
รัชทายาท (ไม่จงรักภักดี) หรือนัยหนึ่งเป็นคนนอกที่อยู่ตรงข้ามกับ "ชาติไทย"
ทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จตามนิยามข้างต้น. ในวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ชาติไทยจึงพยายามฆ่าผมกับเพื่อน
ๆ แต่เผอิญเรารอดชีวิตมาได้. บทเรียนแพงที่สุดบทแรกเกี่ยวกับชาตินิยมที่เราเรียนรู้จาก
๖ ตุลาฯ จึงมีว่า ชาตินั้นเป็นฆาตกรได้!
๒) ย้อนรอย
ในทรรศนะของผม แก่นแท้ของการเมืองไทยช่วง ๓ ปี ภายหลังการลุกขึ้นสู้เผด็จการทหารของนักศึกษาประชาชนเมื่อ
๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ จนถึงการฆ่าหมู่นักศึกษาและรัฐประหาร ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
คือ การชนกันของชาตินิยมสองกระแส ได้แก่
- ราชาชาตินิยมฝ่ายขวา กับ
- ประชาชาตินิยมฝ่ายซ้าย
โดยต่างฝ่ายต่างก็รักชาติทั้งคู่ ทว่านิยามและจินตนากรรม "ชาติ" ต่างกัน, ยึดถือแก่นแท้และสารัตถะหลักของ "ชาติ" แตกต่างกัน, มอง "ศัตรูของชาติ" และฝักใฝ่ขั้วมหาอำนาจการเมืองโลกตรงข้ามกันคนละขั้ว, ได้รับแรงบันดาลใจและปรุงแต่งขึ้นจากศัพท์แสงวาทกรรมต่างลัทธิอุดมการณ์กัน, จึงต่างก็เกี่ยวโยงสืบเนื่องกับลัทธิสากลนิยมคนละสายกัน กล่าวคือ ประชาชาตินิยมฝ่ายซ้ายเชื่อมโยงกับลัทธิสากลนิยมคอมมิวนิสต์ ขณะที่ราชาชาตินิยมฝ่ายขวาเชื่อมโยงกับลัทธิสากลนิยม แอนตี้-คอมมิวนิสต์
ดังที่ ผศ. ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แห่งแผนกประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ในบทความเรื่อง "เหตุการณ์ ๖ ตุลาเกิดขึ้นได้อย่างไร" ในหนังสือ อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง (พ.ศ. ๒๕๔๔) ของคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หน้า ๑๐๐ ว่า:
"การต่อต้านจักรพรรดินิยมอเมริกาของขบวนการนักศึกษา ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลของลัทธิชาตินิยมซึ่งมีการตีความใหม่ เพราะในสายตาของรัฐบาลไทยในระยะก่อนหน้านี้ ศัตรูผู้ที่จะรุกรานประเทศไทยนั้น คือคอมมิวนิสต์ที่มุ่งจะแทรกซึมบ่อนทำลายความสงบสุขของประชาชาติไทย ความรักชาตินั้นหมายถึง การที่จะต้องรังเกียจชิงชังและต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ซึ่งโดยนัยมักจะหมายถึงคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนามเหนือ ส่วนสหรัฐอเมริกาคือมหามิตร ที่ทุ่มเทความช่วยเหลือประเทศไทยให้พ้นจากการรุกรานของคอมมิวนิสต์
"ปรากฎว่าขบวนการนักศึกษาหลัง ๑๔ ตุลาฯ ได้ตีความเสียใหม่ว่า ศัตรูที่รุกรานและครอบงำประเทศไทยอย่างแท้จริงนั้นคือ สหรัฐอเมริกา. ส่วนคอมมิวนิสต์นั้นเป็นเพียง 'ผี' ที่ปลุกขึ้นมาสร้างภาพให้ประชาชนหวาดกลัว เพราะไม่ได้ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนเลยว่า มหาอำนาจคอมมิวนิสต์คือสหภาพโซเวียตและจีน จะก่อการรุกรานประเทศไทยในทางใด หากในประเทศไทยนั้นมีแต่การครอบครองของทหารและฐานทัพอเมริกา ราวกับว่าประเทศตกอยู่ภายใต้การยึดครอง นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาคือผู้ก่อสงครามในอินโดจีน ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากต้องบาดเจ็บล้มตาย แต่ที่สำคัญก็คือ การครอบงำและรุกรานของสหรัฐอเมริกา ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความร่วมมือของชนชั้นปกครองไทยนั่นเอง"
ชาตินิยมของนักศึกษามาจากไหน?
การตีความชาตินิยมใหม่โดยขบวนการนักศึกษาหลัง ๑๔ ตุลาฯ นี้มีที่มาจากไหน? ประสบการณ์
เอกสารหลักฐานและบันทึกความทรงจำร่วมสมัย อีกทั้งงานศึกษาค้นคว้าทางวิชาการในชั้นหลังหลายชิ้น
ระบุพ้องต้องกันถึงอิทธิพลของแนวคิดซ้ายใหม่จากตะวันตก, ซ้ายเก่าจากผลงานของปัญญาชน
นักคิด นักเขียนสังคมนิยมสมัยพุทธทศวรรษ ๒๔๙๐, ซ้ายจีนจากความคิดเหมาเจ๋อตุง
และการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนแดง, และซ้ายป่าจากขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ที่มีต่อขบวนการนักศึกษาหลัง ๑๔ ตุลาฯ
แต่ข้อค้นพบใหม่ที่มีนัยสำคัญน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ดีเด่นเรื่อง "ก่อนจะถึง ๑๔ ตุลาฯ: ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชน ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๑๖)" (พ.ศ. ๒๕๔๕) ของคุณประจักษ์ ก้องกีรติ มหาบัณฑิตประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับคำชมเชยจากอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐว่า "เป็นงานวิชาการเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่ดีที่สุดในภาษาไทยปัจจุบัน"
วิทยานิพนธ์เล่มนี้บ่งชี้ว่า ชาตินิยมของขบวนการนักศึกษาดังกล่าว กลายพันธุ์มาจากชาตินิยมราชการตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ด้วย กล่าวคือทั้งชาตินิยมราชการ กับชาตินิยมนักศึกษาประชาชนก่อน ๑๔ ตุลาฯ ต่างมีโครงสร้างหลักๆ เหมือนกัน. โดยชาตินิยมนักศึกษาประชาชนหยิบยืมเชื้อมูลต่างๆ จากโครงสร้างแนวคิดชาตินิยมราชการมาเสริมเติมแต่งต่อ ทว่าขณะเดียวกันก็ย้อนรอย ดัดแปลง กลับตาลปัตรเนื้อหาองค์ประกอบต่างๆ ของโครงสร้างดังกล่าวเสียใหม่ คุณประจักษ์สรุปใจความสำคัญเป็นตารางเปรียบเทียบชาตินิยมสองกระแสไว้ที่หน้า ๒๗๓ ของวิทยานิพนธ์ดังนี้:
ตารางที่
๔.๒
องค์ประกอบของชาตินิยมราชการเทียบกับชาตินิยมนักศึกษาประชาชน
ข้อน่าสนใจคือ ที่ทางของสถาบันกษัตริย์อยู่แห่งใดในการกลายพันธุ์ของชาตินิยมข้างต้น? ข้อสรุปของวิทยานิพนธ์ของคุณประจักษ์ที่ว่า ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนก่อน ๑๔ ตุลาฯ มีลักษณะหลากหลายทางอุดมการณ์, ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดต่างๆ ทั้งซ้ายใหม่ ซ้ายเก่า ชาตินิยม และกษัตริย์นิยมด้วยนั้น เป็นพื้นให้พอสันนิษฐานได้ว่าฐานะความสำคัญของสถาบันกษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติ น่าจะเป็นฐานคติที่ชาตินิยมนักศึกษา ประชาชน ยอมรับร่วมกับชาตินิยมราชการโดยนัย จึงไม่กลายเป็นประเด็นให้ต้องทักถามท้าทาย และน่าจะช่วยให้การกลายพันธุ์ระหว่างชาตินิยมทั้งสองเป็นไปอย่างราบรื่นกลมกลืนขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ยังมีเชื้อมูลหลักอย่างหนึ่งถูกอนุรักษ์ไว้สืบไป ท่ามกลางการกลับตาลปัตรองค์ประกอบอื่นๆ, ก่อนที่ขบวนการนักศึกษา กับพลังอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม จะเอนเอียงออกห่างจากกันไปเรื่อยๆ ในภาวะแยกขั้วทางอุดมการณ์หลัง ๑๔ ตุลาฯ
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ขณะชาตินิยมนักศึกษาประชาชนก่อตัว กลายพันธุ์ และเอียงซ้ายอยู่ในเมือง, ในเขตชนบทป่าเขาก็ปรากฏการชนกันของชาตินิยมสองกระแสเคียงขนานไปด้วย
โดยการชนกันดังกล่าวไม่เพียงแต่ดำเนินไปทางการเมือง หากถึงขั้นจับอาวุธรบกันทางทหารในสงครามประชาชน
ในช่วงแรก ราว พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๒ องค์กรนำสมัชชา ๓ ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้นิยามสภาพของเมืองไทยภายใต้การเข้าครอบงำทางการเมือง และการตั้งฐานทัพกับส่งกำลังทหารเข้ามาตั้งประจำของสหรัฐอเมริกาว่าเป็น "เมืองขึ้นแบบใหม่" (neo-colony) โดยรัฐบาลเผด็จการทหารสมัยนั้น ได้สมคบตกลงยินยอมให้อเมริกาใช้ไทยเป็นฐานทัพผ่านทางไปรุกรานประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน
สภาพเช่นนี้ จึงกำหนดให้ภารกิจปฏิวัติประเทศไทย เน้นประเด็นการกอบกู้เอกราชอธิปไตยของชาติ ในลักษณะสงครามปลดปล่อยประชาชาติ (war of national liberation) ทำนองเดียวกับสงครามปฏิวัติในเวียดนามขณะนั้น, และเป็นเหตุผลให้พรรคตั้งชื่อกองกำลังติดอาวุธเพื่อทำสงครามปฏิวัติของตนในช่วงแรกว่า "พลพรรคประชาชนไทยต่อต้านอเมริกา" (พล.ปตอ.) และในระยะไล่เลี่ยกัน พคท. ก็ได้ผลักดันให้ก่อตั้งและชูบทบาทองค์กรแนวร่วมประชาชาติ ๒ องค์กรขึ้นมาเป็นธงของขบวนปฏิวัติ ได้แก่
- "ขบวนการเอกราชแห่งประเทศไทย" (ประกาศเปิดตัว ๑ พ.ย. พ.ศ. ๒๕๐๗ แต่อ้างว่าก่อตั้งปิดลับมาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ หรือกระทั่งก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ด้วยซ้ำไป?) ซึ่งมีอดีตเทศมนตรี และสมาชิกสภาจังหวัดตรัง คุณ มงคล ณ นคร เป็นผู้ประสานงาน, และ
- "แนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทย" (ก่อตั้ง ๑ ม.ค. พ.ศ. ๒๕๐๘) ซึ่งมี พันโทพโยม จุลานนท์ อดีตอาจารย์โรงเรียน เสนาธิการทหารบก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี เป็นตัวแทน ต่อมาวันที่ ๑ พ.ย. พ.ศ.๒๕๐๘ ขบวนการเอกราชฯ ก็ประกาศสมทบรวมตัวเข้ากับแนวร่วมรักชาติฯ เป็นเอกภาพ
น่าสนใจการใช้คำว่า
"พลพรรค" (partisans?) ในชื่อกองกำลังติดอาวุธของ พคท. ข้างต้น เพราะหากสำรวจดูประวัติการเมืองไทยเท่าที่ปรากฏ
ดูเหมือนหนแรกและหนเดียวที่คำๆ นี้ถูกใช้มาก่อนหน้านั้นคือ ในคราวเรียกชื่อกองกำลังใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นผู้ยึดครอง
สมัยสงครามโลกครั้งที่สองว่า "พลพรรคเสรีไทย" การเลือกใช้คำ "พลพรรค"
เรียก พล.ปตอ. เลียนแบบซ้ำสองกับเสรีไทย จึงสะท้อนว่าฝ่ายนำ พคท. สมัชชา ๓ อาจจินตนาการสภาพการเมืองไทยระหว่าง
พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๒ ว่าซ้ำรอยประวัติศาสตร์ เทียบเคียงได้กับสภาพการเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
กล่าวคือ:
ตารางแสดงการเทียบเคียงทางประวัติศาสตร์
อันอาจเป็นที่มาของคำ "พลพรรค" ในชื่อกองกำลังติดอาวุธของ พคท.
คุณอุดม สีสุวรรณ (พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๕๓๖) กรรมการกลางและกรมการเมือง พคท. สมัยสมัชชาพรรคครั้งที่ ๒ และ ๓ (พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๒๕) ผู้ถูกคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์จับกุมคุมขัง (พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๗) และเข้าป่าทางอีสานเหนือ เขตดงพระเจ้า ราวหนึ่งปีต่อมาหลังเสียงปืนแตกสามสัปดาห์ (ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘) ก่อนขึ้นเป็นฝ่ายนำภาคอีสานเหนือระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๘ ได้บันทึกฉากการรบในป่าครั้งหนึ่ง ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์ สองชาตินิยมชนกัน ท่ามกลางสงครามจรยุทธ์ยุคนั้นไว้ในหนังสือ สู่สมรภูมิภูพาน (พ.ศ. ๒๕๓๒) ภายใต้นามปากกา พ.เมืองชมพู ว่า (หน้า ๑๗๗-๗๘):
ทันใดนั้น แทนที่จะเป็นเสียงปืน กลับเป็นเสียงตะโกนด่ามาจากฝ่ายโน้น แล้วก็มีเสียงโต้ตอบจากฝ่ายนี้ ไม่ผิดอะไรกับที่เคยอ่านพงศาวดารจีนว่า เมื่อกองทหารสองฝ่ายมาประจันหน้ากันแล้วก็จะต้องใช้ผรุสวาทยั่วยุโทสะของอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน...
"ไอ้พวกขี้ข้าของจีนแดง ออกมายอมจำนนเสียโดยดี พวกมึงทำไมจึงนับถือเหมาเจ๋อตุงเป็นพ่อว? ออกมาซิโว้ย ไอ้พวกขายชาติ" ทางนี้เอามั่ง
"มึงนั่นแหละเป็นไอ้พวกขายชาติ มึงนั่นแหละนับถือไอ้จอห์นสันเป็นพ่อ มึงนั่นแหละขายชาติให้กับอเมริกา..."ฟังคำด่าทอต่อว่ากันของทั้งสองฝ่ายแล้ว ผมได้เก็บเอาไปคิดอยู่ตั้งหลายปีเลยทีเดียว แทนที่ฝ่ายหนึ่งจะด่าอีกฝ่ายหนึ่งว่า "ไอ้พวกขี้ครอก ไอ้พวกไพร่สถุล ไอ้พวกอัปรีย์จัญไร มึงบังอาจไม่เจียมกะลาหัว..." "หรืออีกฝ่ายหนึ่งจะโต้กลับมาว่า "ไอ้พวกขี้ข้าเจ้าที่ดิน ไอ้พวกสมุนนายทุนขูดรีด ไอ้พวกนายเงินหน้าเลือด..." ซึ่งจะมีกลิ่นอายของชนชั้นสักหน่อย
แต่แล้วปรากฏว่าไม่มีเลย ทั้งสองฝ่ายโยนเรื่องไปให้เหมาเจ๋อตุงกับจอห์นสัน แล้วต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่า เป็นขี้ข้าของต่างชาติ และที่ต้องมารบกันนั้นก็เป็นเรื่องการบัญชาของต่างชาติ พวกเขาไม่พูดถึงสาเหตุภายในเลย จะว่าไม่รู้ก็ไม่ใช่ จะว่าไม่อยากพูดก็ไม่เชิง ทั้งนี้อาจเป็นได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก เหมือนกับประเทศเล็กทั้งหลายทั้งปวงในโลก ที่มักจะตกเป็น "เบี้ย" ของประเทศใหญ่ และประเทศใหญ่ไม่ว่าซ้ายหรือขวาก็มักจะใช้ประเทศเล็กเป็นเบี้ยทางการเมือง ไม่ว่าเป็นเรื่องชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม ฉะนั้น คำด่าของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นการแสดงออกซึ่งสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในจิตสำนึก...
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเสียงวิพากษ์และแรงกดดัน บีบคั้น จากสมาชิกพรรคชั้นนำบางส่วนที่อยู่ในปักกิ่ง ประกอบด้วยคุณ ศักดิ์ สุภาเกษม และบรรดาผู้ที่อุดมเรียกว่า "เร็ดการ์ด", "ซ้ายจัด" (น. ๕๒, ๑๐๒, ๑๑๒) ฝ่ายนำพรรคสมัชชา ๓ จึงยอมปรับเปลี่ยนการวิเคราะห์สังคมไทย รวมทั้งลักษณะและเป้าหมายของสงครามปฏิวัติ ให้สอดคล้องลงรอยกับหลักทฤษฎีดั้งเดิมแบบเหมาอิสต์ของจีน กล่าวคือ ปรับการวิเคราะห์สังคมไทยจาก "เมืองขึ้นแบบใหม่" มาเป็น "กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา" ตามเดิม, ปรับลักษณะและเป้าหมายของสงครามปฏิวัติ จากสงครามปลดปล่อยประชาชาติต่อต้านกองทหารอเมริกาในไทย มาเป็น สงครามกลางเมือง (civil war) ปลดแอกประชาชนต่อต้านกองทหารของรัฐบาลเผด็จการไทยเอง, ชูพรรคนำทุกสิ่งทุกอย่าง ลดธงแนวร่วมลงมาพับเก็บเงียบๆ, เปลี่ยนชื่อกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติจาก "พลพรรคประชาชนไทยต่อต้านอเมริกา" (พล.ปตอ.) มาเป็น "กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย" (ทปท. ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒), ส่งผลให้ต้องพลอยเปลี่ยนชื่อและเนื้อร้องท่อนแรกของเพลงมาร์ชประจำกองกำลังที่จิตร ภูมิศักดิ์แต่งไว้ ตามคำสั่งของฝ่ายนำพรรคก่อนเขาถูกเจ้าหน้าที่ยิงตายในชายป่าบ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร จาก "พลพรรคครองชัย เกรียงไกรเกริกฟ้า..." มาเป็น "กองทัพปลดแอกประชาชนไทย เกรียงไกรเกริกฟ้า" ไปด้วย (แคน สาริกา, วาระสุดท้ายแห่งชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์, ๒๕๓๑, น. ๑๓๔-๓๕)
๓) ต้นธาร
ทว่าหากจะสืบสาวย้อนรอยกลับไปถึงต้นธารของชาตินิยมทั้งสองกระแสที่ชนกันในป่าแล้ว
ผมเห็นว่ามันอยู่ในการเมืองไทยพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้รัฐบาลจอมพลแปลก
พิบูลสงครามรอบ ๒ และยุคเริ่มต้นสงครามเย็นที่นานาประเทศในโลกแบ่งออกเป็นสองค่ายเข้าเผชิญหน้ากัน
ได้แก่ "ค่ายโลกเสรี" กับ "ค่ายคอมมิวนิสต์"
ในยุคนั้นเองที่ชาตินิยมสองกระแสนี้เริ่มก่อตัวขึ้นในเมืองไทย ซึ่งต่างก็ได้รับแรงบันดาลใจและปรุงแต่งขึ้นจากศัพท์แสง วาทกรรมของลัทธิสากลนิยม ๒ สายในระดับสากล กล่าวคือ:
๑. ชาตินิยมฝ่ายซ้าย ซึ่งเกี่ยวโยงสืบเนื่องกับลัทธิสากลนิยมคอมมิวนิสต์
ชาตินิยมฝ่ายซ้ายแห่งพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ เป็นผลสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวก่อกบฎทางปัญญา
ความคิด และการเมืองวัฒนธรรมขนานใหญ่ มีการเสนอบทวิพากษ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์และศิลปะวรรณคดีศักดินา,
รวมทั้งปรัชญาและเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยม-เสรีนิยม-ปัจเจกชนนิยมอย่างขุดรากถอนโคน
บทวิพากษ์ดังกล่าวมีที่มาจากกระบวนการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมข้ามชาติและจากเมืองสู่ชนบท
คร่าวๆ ดังนี้คือ:
[ปัญญาชนผู้มีการศึกษา รู้สองภาษาหรือมากกว่า ทั้งในและนอกพรรคคอมมิวนิสต์ แปลงานเขียนและศัพท์แสงลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ จากภาษาจีนและอังกฤษ ให้เป็นไทย]
[นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ประพันธ์ผลงานวรรณกรรมนานาชนิด อันปรุงแต่งขึ้นด้วยภาษาวาทกรรมแปลดังกล่าว และแปรมันเป็นสินค้า วางจำหน่ายเผยแพร่ในตลาดสิ่งพิมพ์และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมทุนนิยม][สินค้าและวาทกรรมเหล่านี้ เข้าถึงมือนักศึกษาปัญญาชนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นเบื้องแรก แล้วแพร่หลายต่อไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ]
[ในที่สุด นักศึกษาปัญญาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองจากวาทกรรมมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ ก็แทรกซึมเข้าสู่พื้นที่ชนบทอันกว้างขวางของประเทศ นำมันไปเผยแพร่ต่อแก่ชาวนา ชาวไร่ และชนชาติส่วนน้อยกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นประชากรส่วนข้างมากของชาติ]
วาทกรรมฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านเผด็จการทหาร - จักรวรรดินิยมอเมริกา - ศักดินา ก็เกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการที่ว่านี้ และค่อยก่อตัวเป็นประชาชาตินิยมฝ่ายซ้าย ซึ่งท้าทายชาตินิยมของเผด็จการทหารและราชาชาตินิยมของคณะเจ้าแต่เดิม. ดังจะเห็นได้ว่านี่เป็นยุคบุกเบิกงานแปลต้นตำรับลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์จากมาร์กซ, เองเกลส์, เลนิน, สตาลิน, เหมาเจ๋อตุง เป็นไทย, เป็นยุคสร้างสรรค์งานประวัติศาสตร์และวรรณกรรมฝ่ายซ้าย อาทิ "ไทยกึ่งเมืองขึ้น" ของ พ.เมืองชมพู (อุดม สีสุวรรณ), "โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทยในปัจจุบัน" ของ สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์), "แลไปข้างหน้า" ของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), "ปีศาจ" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ (ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์), "ข้อไม่น่าศึกษาทางการประพันธ์" และ "ข้อคิดจากวรรณคดี" ของ อินทรายุธ (อัศนี พลจันทร), "เศรษฐีวิทยา" ของ ผู้ยิ่งน้อย (สมัค บุราวาศ) อีกทั้งงานเชิงปรัชญา กาพย์กลอน เพลง บทละคร ภาพยนตร์จำนวนมาก
๒. ชาตินิยมฝ่ายขวาซึ่งเกี่ยวโยงสืบเนื่องกับลัทธิสากลนิยมแอนตี้-คอมมิวนิสต์
ลัทธิสากลนิยมแอนตี้-คอมมิวนิสต์ ถูกนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรโลกเสรี
(เช่นอังกฤษ, ฟิลิปปินส์) อย่างเอาการเอางานต้นพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ พร้อมอิทธิพลทางการเมืองกับความช่วยเหลือในรูปดอลล่าร์
และอาวุธในยุคสงครามเย็น (นับแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงราว พ.ศ. ๒๕๓๓)
และสงครามเกาหลี (พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๔๙๖), แล้วกลายมาเป็นนโยบายของรัฐไทย. อย่างไรก็ตาม
ในฐานะวาทกรรมการเมือง "ลัทธิแอนตี้-คอมมิวนิสต์" ก็ถูกชนชั้นนำฉวยใช้ไปเล่นงานปรปักษ์ในเกมอำนาจแบบไม่เลือกอุดมการณ์
เช่น กรณีฆาตกรรมคุณเตียง ศิริขันธ์ กับพวก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นต้น
วาทกรรมแอนตี้-คอมมิวนิสต์นี้ ได้ผสานหลอมรวมเข้ากับชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยม-รัฐนิยม-ทหารนิยมของเผด็จการทหาร และกับราชาชาตินิยมของคณะเจ้า, กลายเป็นชาตินิยมฝ่ายขวาแอนตี้-คอมมิวนิสต์ที่ยึดถือสถาบันชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ และอุดมการณ์ "ความเป็นไทย" เป็นแกน และได้กลายเป็นพื้นฐานทางอุดมการณ์ของรัฐราชการไทยสืบมา. และในพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ นี้เองที่เราได้เห็นงานวรรณกรรมลือเลื่องของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เอกอัครปัญญาชนสาธารณะของฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม ได้แก่นวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ซึ่งพุ่งเป้าวิพากษ์โจมตีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และ "ไผ่แดง" ซึ่งมุ่งล้อเลียนคอมมิวนิสต์ไทย
มีข้อสังเกตที่น่าสนใจบางประการเกี่ยวกับการเมืองวัฒนธรรมของการก่อตัวของชาตินิยมทั้ง ๒ ขั้วในพุทธทศวรรษนี้ นั่นคือ:
๑) ดูเหมือนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕, คณะและบุคคลที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมรดกเชิงสถาบันของมัน จะตกเป็นเป้ารุมโจมตีจากทั้งฝ่ายขวาและซ้ายอย่างหนักหน่วงในช่วงนี้ อันที่จริงการโจมตีดังกล่าว มีมาตั้งแต่แรกเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว โดยรุนแรงหนักเบาเป็นระยะตามสถานการณ์ ทว่าในพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ การโจมตีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ มีลักษณะพิเศษบางอย่างต่างจากอดีต ได้แก่
๑.๑) มันเกิดขึ้นท่ามกลางความแตกแยก เพลี่ยงพล้ำ และเสื่อมสิ้นอำนาจของสมาชิกคณะราษฎรทุกกลุ่ม ดังปรากฏว่า กลุ่มปรีดีหมดอำนาจไปโดยพื้นฐานราวกลางพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ ในสภาพที่ตัวปรีดี พนมยงค์เอง ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ กลับไทยไม่ได้. ขณะที่กลุ่มจอมพลแปลก ก็ค่อนข้างโดดเดี่ยวง่อนแง่น แม้กุมตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีฐานอำนาจมั่นคงของตนเอง ต้องพึ่งพากำลังตำรวจของกลุ่ม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และทหารบกของกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คอยค้ำจุน
๑.๒) การหลุดจากวงจรอำนาจรัฐของคณะราษฎรส่วนใหญ่, เงื่อนไขพิเศษที่มีการยกเลิกกฎหมายแอนตี้-คอมมิวนิสต์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๕ และการที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยม ได้ร่วมปันส่วนอำนาจรัฐฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติโดยผ่านพรรคประชาธิปัตย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๔ ซึ่งได้เปิดพื้นที่ทางการเมือง, เวทีสาธารณะและสื่อมวลชนให้แก่ ทรรศนะที่วิพากษ์โจมตีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ อย่างกว้างขวางแพร่หลายชนิดไม่เคยมีมาก่อน, เป็นโอกาสให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมทำการโต้ปฏิวัติทางการเมืองวัฒนธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ได้ถนัดถนี่เต็มที่ (สี่แผ่นดินของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์)ขณะที่ฝ่ายซ้ายก็วิพากษ์วิจารณ์ข้อจำกัดทางการเมืองของ ๒๔๗๕ เพื่อผลักดันการปฏิวัติใหม่ให้ข้ามพ้น ๒๔๗๕ ไป ("แลไปข้างหน้า" ของศรีบูรพา), โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรูปแบบการโจมตีเปลี่ยนจากบทความและแถลงการณ์ทางการเมือง ไปเป็นนวนิยายซึ่งเข้าถึงผู้อ่านหลากหลายกว้างขวาง จับจิตจับใจจับจินตนาการมหาชนลึกซึ้งแนบเนียนกว่า, จึงนับเป็นการปูทางด้านอุดมการณ์แก่การกลับมาของอำนาจรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutist state or absolutism) ในรูปเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ หลังจากว่างเว้นไป นับแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา
๑.๓) พฤติการณ์แบบทุนนิยมขุนนางของกลุ่มซอยราชครูของเผ่า และกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของสฤษดิ์ ที่อาศัยตำแหน่งหน้าที่และอำนาจรัฐที่กุมอยู่ในมือของตนเองและพวกพ้อง ทำการคอรัปชั่น, ฉ้อราษฎร์บังหลวงมาเป็นสมบัติส่วนตน, และใช้กลไกรัฐไปเล่นงานศัตรูการเมืองส่วนตัว โดยไม่ไยดีหลักนิติธรรม ทำให้แนวโน้มหลักของแบบแผนวัฒนธรรมการเมืองค่อยกร่อนทำลาย และเฉไฉเบี่ยงเบนจาก [หลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญนิยมแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕] ไปเป็น [หลักอำนาจอธรรมของผู้ถือกฎหมายที่แปรอำนาจสาธารณะ มารับใช้ผลประโยชน์เอกชนส่วนตัวในพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐] ซึ่งจะนำไปสู่ [หลักรัฐ+ชาติคือกูและอำนาจเผด็จการอาญาสิทธิ์ของทหาร หลังการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ พ.ศ. ๒๕๐๑] ในที่สุด
๒) ความตึงเครียดใดๆ ที่เคยมีระหว่างชาตินิยมแบบเชื้อชาตินิยม-รัฐนิยม-ทหารนิยมของจอมพลป. กับราชาชาตินิยมของคณะเจ้าได้รับการคลี่คลายไปโดยจอมพลสฤษดิ์ ภายใต้ระบอบปฏิวัติหลัง พ.ศ. ๒๕๐๑ ด้วยการโค่นรัฐธรรมนูญนิยมทั้งในทางการเมือง, อุดมการณ์และสัญลักษณ์ กล่าวคือ:
๒.๑) โค่นรัฐธรรมนูญนิยมในทางการเมือง แล้วแทนที่ด้วยอำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์ของตนเอง ("ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว" หรือนัยหนึ่ง "รัฐคือกู" และ "ชาติคือกู"), เสมือนหนึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับเป็นสัมบูรณาญาสิทธิ์ในทางปฏิบัติ โดยมีตนเองเป็นจอมเผด็จการทหารผู้กุมอำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์เหนือชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของไพร่พลเมือง (มาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒) ประดุจพระเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิตในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มิปาน
๒.๒) โค่นรัฐธรรมนูญนิยมในทางอุดมการณ์และสัญลักษณ์ แล้วแทนที่ด้วยสถาบันกษัตริย์ โดยขุดถอนหมุดจารึก จุดประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองบนถนนราชดำเนินหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมทิ้ง, ยกเลิกวันชาติที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามเคยกำหนดให้เป็นวันเดียวกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน และหันไปถือวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคมแทน, เชิดชูยกย่องสถาบันกษัตริย์ขึ้นสูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ สถิตสถาพรเป็นเทพารักษ์อภิบาลบริบาลชาติบ้านเมือง (palladiumization of the monarchy)๒.๓) ภายใต้ระบอบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ เชื้อมูลองค์ประกอบทางอุดมการณ์และนโยบายที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ หรือเน้นย้ำให้ความสำคัญอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน คือ การต่อต้านกวาดล้างปราบปรามคอมมิวนิสต์ และฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรงเด็ดขาดจริงจัง (strong & violent anti-communism), วาทกรรมพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการหรือ "พ่อปกครองลูก" บนพื้นฐานข้ออ้าง "ความเป็นไทย" หรือ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" (despotic paternalism & the ethno-ideology of Thainess), และการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม ภายใต้การวางแผนแบบรวมศูนย์จากส่วนกลางโดยรัฐราชการ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง (state-centralized economic developmentalism)
๓) ในแง่หนึ่ง น่าจะกล่าวได้ว่าชาตินิยมฝ่ายซ้ายสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ที่ก่อตัวขึ้นในสมัยนั้นส่งผลเหมือนเป็นกระจกสะท้อน และตัวเร่งปฏิกิริยาตอบกลับจากชนชั้นปกครอง ทำให้ฝ่ายหลังรวมตัวตกผลึกทางอุดมการณ์เป็นชาตินิยมฝ่ายขวาแอนตี้-คอมมิวนิสต์ชัดเจนขึ้น ความที่วาทกรรมฝ่ายซ้ายซึ่งปัญญาชนไทยแปล และแปรมาจากลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์มีลักษณะชัดเจน เรียบง่าย เป็นระบบ มีลำดับเหตุผลเป็นขั้นเป็นตอน
ตั้งแต่หลักคิดพื้นฐาน (วัตถุนิยมวิภาษ, วัตถุนิยมประวัติศาสตร์, พลังการผลิต/ความสัมพันธ์การผลิต, ฐานเศรษฐกิจ/โครงสร้างส่วนบน, ชนชั้นกดขี่ขูดรีด/ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน, ชนชั้นปกครอง/ประชาชน, ชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น), ทฤษฎีพัฒนาการ ๕ ขั้นตอนของสังคมทั่วไป (คอมมูนบุพกาล -> ครองทาส -> ศักดินา -> ทุนนิยม -> คอมมิวนิสต์), การวิเคราะห์สังคมไทย (กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา), เป้าหมายการปฏิวัติ (ศัตรู ๓ ตัวได้แก่จักรพรรดินิยมอเมริกา, ศักดินานิยมเจ้านายขุนนาง, ทุนนิยมขุนนางเผด็จการทหาร), ไปจนถึงลักษณะของการปฏิวัติ (การปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ หรือการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย) ฯลฯ เหล่านี้น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นขับเน้นรวมศูนย์ให้กลุ่มพลังและสถาบันต่างๆ ฝ่ายตรงข้ามสำนึกถึงความเป็นปฏิปักษ์และผนึกรวมตัวกันเป็นฐานการเมืองของชาตินิยมฝ่ายขวาแอนตี้-คอมมิวนิสต์ ถนัดชัดเจนขึ้น
๔) วิเคราะห์
หลังจากย้อนรอยปรากฏการณ์สองชาตินิยมชนกันกลับไปถึงต้นธาร ผมใคร่วกกลับมาวิเคราะห์เนื้อหาที่แตกต่างขัดแย้งกันของ
ประชาชาตินิยมฝ่ายซ้าย กับ ราชาชาตินิยมฝ่ายขวา ในการเมืองไทยจาก ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.
๒๕๑๖ - ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ในตอนท้ายนี้ โดยสมมุติโจทย์ว่า:
ถ้าลองให้ซ้ายกับขวาสมัยนั้น ต่างฝ่ายต่างมองแก่นแกนหรือเสาหลักแห่งความเป็นชาติของฝ่ายตรงข้ามดู, พวกเขาน่าจะเข้าใจและตีความ "หัวใจ" แห่งความเป็นชาติของอีกฝ่ายว่าอย่างไร?
ประชาชาตินิยมฝ่ายซ้าย
เริ่มจากฝ่ายซ้ายก่อนว่าขบวนการนักศึกษาประชาชนมองแก่นแกนหรือเสาหลักแห่งชาติของฝ่ายขวา
อันได้แก่ [ชาติ- ศาสนา-พระมหากษัตริย์] อย่างไร?
ชาติ: - ฝ่ายซ้ายปฏิเสธการนิยามชาติ (nation) โดยยึดเชื้อชาติ (race) เป็นเกณฑ์แบ่ง, ไม่แบ่งแยกคนไทยเชื้อชาติต่างๆ ไม่ว่าไทย ลาว จีน ญวน เขมร ส่วย แขก ภูไทย ม้ง กะเหรี่ยง ฯลฯ ล้วนถือเป็นพลเมืองไทยที่มีสิทธิเสรีภาพเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งสิ้น, ทว่าในขณะเดียวกัน ฝ่ายซ้ายเน้นเส้นแบ่งทางชนชั้น (class) โดยให้ความสำคัญแก่ประชาชนผู้ใช้แรงงานชั้นล่าง อันได้แก่ กรรมกร ชาวนาชาวไร่เป็นหลักไม่ว่าชนชาติใด, ฉะนั้นจึงยึดถือหลักความสมานฉันท์ข้ามชาติในหมู่คนชั้นล่าง, แต่กับคนชั้นสูงผู้มั่งมีทรัพย์สินและกดขี่ขูดรีดคนชั้นล่างชาติเดียวกันแล้ว ต้องถือว่าเป็นชนชั้นปกครอง ไม่นับเป็นประชาชน และไม่นึกร่วมอยู่ในประชาชาติ
ศาสนา: - ฝ่ายซ้ายถือว่าความคิดจิตสำนึกของมนุษย์ย่อมพัฒนาผ่านขั้นต่างๆ ในประวัติศาสตร์จากการนับถือผีและสิ่งเร้นลับอาถรรพ์ - ตำนานเทพปกรณัม - ศาสนา - ปรัชญา - วิทยาศาสตร์เป็นระดับสูงสุด, และถือว่าลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ ก็เป็นความคิดวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง กล่าวคือ เป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสังคมที่พัฒนาถึงขั้นสูงสุดในปัจจุบัน, ดังนั้นจึงวิพากษ์ศาสนาว่าเป็นฝิ่นของประชาชน หมายความว่าด้านหนึ่งศาสนามีคุณช่วยบรรเทาปวดทางใจพอให้คนเราทนอยู่ในโลกที่ปรวนแปร ดูไร้เหตุไร้ผลและพลการนี้ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีโทษที่มอมเมา ไม่เจาะลึกถึงเหตุผลและความจริงแบบวิทยาศาสตร์, ในอนาคต เชื่อว่าศาสนาจะพ้นยุคหมดสมัย ผู้คนจะหมดศรัทธาเลิกเชื่อไปเองเมื่อถึงสังคมอุดมคติ
พระมหากษัตริย์: - ฝ่ายซ้ายใช้คำว่า "ศักดินา" เป็นสามานยนามเรียกการปกครองในระบอบราชาธิปไตยทั่วไป โดยที่ศัพท์คำนี้มาจากชื่อเรียกสังคมขั้นที่ ๓ ในทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ ว่าด้วยพัฒนาการของสังคมมนุษย์ ๕ ขั้นตอน (คอมมูนบุพกาล -> ครองทาส -> ศักดินา -> ทุนนิยม -> คอมมิวนิสต์), การเลือกใช้ศัพท์คำนี้เรียกระบอบราชาธิปไตยไทย จึงเท่ากับจับการปกครองรวมทั้งบรรดาสถาบันและประเพณีแห่งระบอบนั้น ใส่เข้าไปในวิถีขั้นตอนพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ทั่วไปในกรอบทฤษฎีดังกล่าว ซึ่งย่อมจะต้องมีอันคลี่คลายไปตามตรรกะแห่งทฤษฎี, ฝ่ายซ้ายมักวิพากษ์ศักดินาในอดีต (ตามครรลองงานยอดนิยมเรื่อง "โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทยในปัจจุบัน" ของจิตร ภูมิศักดิ์) แต่เงียบต่อปัจจุบันเพราะตระหนักถึงพื้นภูมิอันแน่นหนาของวัฒนธรรมการเมืองอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมในหมู่คนไทยร่วมสมัย, อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจดูวิสัยทัศน์สังคมอุดมคติในอนาคต ก็ไม่มีที่ทางชัดเจนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ราชาชาตินิยมฝ่ายขวา
มองมุมกลับบ้างว่า ฝ่ายขวาสมัยนั้นเข้าใจและตีความแก่นแกนหรือเสาหลักแห่งชาติของฝ่ายซ้าย
อันได้แก่ เอกราช, ประชาธิปไตย, และความเป็นธรรมทางสังคม อย่างไร?
เพื่อสะดวกแก่การเปรียบเทียบความคิดรวบยอด ผมขอสรุปเสนอเป็นตารางดังนี้:
จะเห็นได้ว่าชาติหรือชุมชนในจินตนากรรมของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ดังสรุปความข้างต้น เป็นชาติที่แตกต่างกันคนละชาติ เป็นชุมชนที่จินตนาการไว้ตรงข้ามกันคนละชุมชน, ชุมชนในจินตนากรรมหรือจินตนาการแห่งชาติทั้งสองนี้เอง ที่เข้าปะทะชนกันในพื้นที่รัฐชาติเดียวระหว่าง ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ - ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ เพื่อแย่งชิงรัฐ อันเป็นเดิมพันยอดปรารถนาและรางวัลสูงสุดที่ต่างฝ่ายต่างต้องการได้มาไว้เป็นเครื่องมือที่ขาดเสียมิได้ ในการธำรงรักษาหรือเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์ชาติหรือชุมชนในจินตนากรรมของตนให้ปรากฎเป็นจริง
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90