บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
coup
d'etat
Midnight
University
รายงานวิจัย - ๑๒ เดือนของการรัฐประหารสังคมไทย
รัฐประหาร
๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ กับการเมืองไทย (ตอนที่ ๑)
รองศาสตราจารย์
ดร. เกษียร เตชะพีระ : วิจัย
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
งานวิจัยฉบับนี้ กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอรับมาจากผู้วิจัย
เพื่อเผยแพร่ต่อสังคม
โดยเนื้อหางานวิจัย มุ่งที่จะบรรยายและวิเคราะห์กระบวนการโค่นรัฐบาลทักษิณ
ซึ่งเริ่มต้นจากปรากฏการณ์สนธิ
ลิ้มทองกุล และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ที่เปิดฉากขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามมาด้วย ตุลาการภิวัตน์
และจบลงด้วย กองทัพภิวัตน์ กับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
จากนั้นงานวิจัย ได้วิเคราะห์วิจารณ์ลักษณะแนวโน้มการเมืองไทยหลังรัฐประหาร
ภายใต้การปกครองของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยเน้นประเด็นการพยายามทำลาย
ฐานอำนาจของระบอบทักษิณ, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และ
การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๓๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๓๙ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานวิจัย - ๑๒ เดือนของการรัฐประหารสังคมไทย
รัฐประหาร
๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ กับการเมืองไทย (ตอนที่ ๑)
รองศาสตราจารย์
ดร. เกษียร เตชะพีระ : วิจัย
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
บทคัดย่อ
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งบรรยายและวิเคราะห์กระบวนการโค่นรัฐบาลทักษิณ
ซึ่งเริ่มต้นจาก
๑) ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุลและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เปิดฉากขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามมาด้วย
๒) ตุลาการภิวัตน์ ภายหลังพระราชดำรัส ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ และจบลงด้วย
๓) กองทัพภิวัตน์กับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) โดยเน้นประเด็นพระราชอำนาจ (royal prerogative), ตุลาการภิวัตน์ (judicial review), และบทบาทของเครือข่ายข้าราชบริพาร (monarchical network) ในการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ
จากนั้นงานวิจัยก็วิเคราะห์วิจารณ์ลักษณะแนวโน้มการเมืองไทยหลังรัฐประหารภายใต้การปกครองของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยเน้นประเด็นการพยายามทำลายฐานอำนาจของระบอบทักษิณ, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐
"ประชาธิปไตยน่ะ
มันต้องรัฐประหารบ่อย ๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย"
ในเรื่องสั้นของ "ลาว คำหอม" - อันเป็นนามปากกาของคุณคำสิงห์ ศรีนอก
(พ.ศ. ๒๔๗๓ - ปัจจุบัน) นักประพันธ์หัวก้าวหน้ารุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ผู้มีฝีมือดีที่สุดของไทยคนหนึ่งและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.
๒๕๓๕ (2) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ภายใต้ชื่อเรื่องที่จงใจสะกดให้เพี้ยนว่า
"นักกานเมือง" นั้น ตัวเอกปฏิลักษณ์ (anti-hero) ชื่ออาจารย์เขิน เขียนรัก
เป็นคนสำมะเลเทเมา ตื้นเขิน ฉวยโอกาส ไร้หลักการอยู่ที่หัวเมืองแห่งหนึ่ง อดีตเขาเคยเป็นถึงสมภารเจ้าวัด
ทว่าผ้าเหลืองร้อนจนสึกตามแม่หม้ายชื่อหวานอิ่มออกมา หลังจากอยู่กินกันหลายปี
เมียก็มาป่วยตายไปเสีย ความเสียดายเสียใจทำให้อาจารย์เขินหันไปกินเหล้าแก้ทุกข์อย่างจริงจัง
อาศัยเงินทองที่แม่หวานอิ่ม ทิ้งไว้ให้เลี้ยงเหล้าบรรดาลูกน้องขี้เมาสามสี่คนเช้าจรดเย็นไปวันๆ
มาวันหนึ่งด้วยความไม่ชอบขี้หน้าหมู่หวด ตำรวจท้องที่ บวกแรงยุของพรรคพวกในวงเหล้า อาจารย์เขินก็ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร หลังเกิดรัฐประหารไล่หลวงพิบูล หลวงเผ่าออกไป แล้วก็เวรกรรมแกดันชนะเลือกตั้งขึ้นมา อารามหวั่นวิตกกลัดกลุ้มว่าหน้าที่ ส.ส. ในกรุงเทพฯจะเป็นชีวิตอีกแบบที่ยุ่งยากเดือดร้อนวุ่นวายเหมือนหาเสนียดให้กับตัว แกจึงละทิ้งหน้าที่ผู้แทนฯ แล้วเผ่นหนีหายไปเสียเฉยๆ ในที่สุด
ตอนหนึ่งในเรื่องระหว่างกำลังตั้งวงก๊งเหล้าเมาอ้อแอ้รอบสาย อาจารย์เขินก็อรรถาธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประหารกับประชาธิปไตยในการเมืองไทยแก่ขี้เมาร่วมวงว่า: -"ขยันยุ่งเหลือเกินนิ" ก้อยอ้อแอ้ในลำคอ "นี่ละมังที่พวกปากมากมันพูดปาวๆ ตอนเลือกผู้แทน มันว่าไงนะ อาจารย์ อะไรนะ ไตไตนี่แหละ" ยื่นหน้าไปทางเขิน. "ประชาธิปไตยเว้ย ไม่ใช่ไตไต" เขินพูดอย่างเคร่งขรึม "เขาเรียกว่ารัฐประหาร ประชาธิปไตยน่ะ มันต้องรัฐประหารบ่อยๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย" (3)
แม้จะเป็นแค่คำคุยโวของตัวละครสมมุติขี้โอ่ขี้เมา ทว่าคำกล่าวเสียดสีนี้ก็ทรงไว้ซึ่งแก่นแกนอันเป็นสัจธรรมประการหนึ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยสมัยใหม่ นั่นคือ ใช่ว่ารัฐประหารทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นผลเสียต่อประชาธิปไตยของไทยก็หาไม่. ความจริงแล้ว การรัฐประหารนี่แหละที่ข้าราชการทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนระดับกลาง (พวก "คุณหลวง") กลุ่มหนึ่งผู้เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร" ใช้เป็นวิธีการโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมาในการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (4)
และในบรรดาการรัฐประหารที่ทำสำเร็จ ๑๒ ครั้งถัดมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ (๒ ครั้ง), ๒๔๙๐, ๒๔๙๑, ๒๔๙๔, ๒๕๐๐, ๒๕๐๑, ๒๕๑๔, ๒๕๑๙, ๒๕๒๐, ๒๕๓๔ และ ๒๕๔๙ นั้น (5) ก็มีอย่างน้อย ๖ ครั้งที่ก่อการกันขึ้นเพื่อกอบกู้หรือส่งเสริมสิ่งที่รู้จักกันในชั้นหลังว่า "ระบอบประชาธิปไตยแบบ ไทยๆ" ได้แก่:
๑) รัฐประหาร ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งพยายามตัดตอนอำนาจการเมืองของฝ่ายพลเรือนปีกซ้ายของคณะราษฎร ภายใต้การนำของหลวงประดิษฐมนูธรรมด้วยข้ออ้างภัยคอมมิวนิสต์และฟื้นฟูพระราชอำนาจและสถานภาพของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
๒) รัฐประหาร ๘ พ.ย. พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งขับโค่นฝ่ายพลเรือนปีกซ้ายของคณะราษฎรและขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ออกจากอำนาจไป๓) รัฐประหาร ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งรุล้างกลุ่มทหาร-ตำรวจต่อต้านคณะเจ้าใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงครามกับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ออกจากอำนาจไป
๔) รัฐประหาร ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งถอนรากถอนโคนการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญทิ้ง และรื้อฟื้นระบอบสัมบูรณาญาสิทธิ์กลับคืนมาในรูปแบบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นอัตตาธิปัตย์
๕) รัฐประหาร ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งฆ่าหมู่ปราบปรามขบวนการนักศึกษาและประชาชนในเมือง ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างขุดรากถอนโคนภายใต้อำนาจนำของคอมมิวนิสต์ลงไป และ
๖) รัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งหยุดชะงักระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งไว้ เพื่อตัดตอนอำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มธุรกิจใหญ่ ที่มีรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทน จากนั้นก็พยายามปรับโครงสร้างระบอบประชา-ธิปไตยฯเสียใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจนำดังกล่าวโผล่กลับมาอีก
คำบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประหารกับประชาธิปไตยของไทยข้างต้น อาจฟังดูเสมือนเป็นปฏิทรรศน์ชวนฉงน ทว่านับแต่ราวต้นพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ประชาธิปไตยของไทยก็ไม่เคยเป็นระบอบประชาธิปไตยเฉยๆ เลย หากเป็น "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เสมอมา หากยึดตามถ้อยคำที่ใช้ในมาตรา ๒ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับลงประชามติ พุทธศักราช ๒๕๕๐
ทางลัดทางหนึ่งในการทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะพิเศษของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แบบไทย ๆ ก็คือย้อนรอยประวัติคำว่า "ประชาธิปไตย" ดู
ศัพท์ "ประชาธิปตัย" (สะกดแบบเดิม) ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติขึ้นตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๔๕๕ คำนี้ แรกเริ่มเดิมทีทรงใช้ในความหมายที่ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "republic" หรือที่แปลกันในชั้นหลังว่า "สาธารณรัฐ" (6) อันหมายถึงระบอบการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์ (a government with no king) (7)
การเปลี่ยนย้ายความหมายของคำว่า "ประชาธิปตัย" จาก "republic" ไปเป็น"democracy" แบบที่เราเข้าใจและใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นภายหลังการประนีประนอมระหว่าง คณะราษฎร กับสถาบันกษัตริย์ ในการอภิวัฒน์ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อคณะผู้ปกครองใหม่เลือกใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) แทนที่จะเปลี่ยนไปเป็นระบอบสาธารณรัฐเสียทีเดียว. ดังปรากฏหลักฐานคำว่า "ประชาธิปไตย" ถูกใช้ในความหมายใหม่ว่า "democracy" ใน เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (ปฏิทินเดิม) โน่นแล้ว (8)
ผลพวงทางประวัติศาสตร์ของการประนีประนอมทางการเมืองครั้งนั้นจึงส่งผลสืบเนื่องมาทำให้เป็นไปได้ที่จะขนานนามระบอบการเมืองไทยปัจจุบันว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "a democratic form of government with the King as Head of State" (ตามคำแปลวลีนี้ที่ได้การรับรองเป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา). ซึ่งหากเราทดลองแปลวลีไทยนี้ไปเป็นภาษาอังกฤษโดยยึดตามความหมายดั้งเดิมของคำว่า "ประชาธิปตัย" สมัยรัชกาลที่ ๖ ดู ก็จะได้ความว่า: "a Republic with the King as Head of State" !?!
นี่เป็นปฏิพจน์ (oxymoron) ที่เป็นไปได้ก็เพราะกระบวนการทางการเมืองวัฒนธรรมที่ดลบันดาลให้ศัพท์การเมืองจากต่างชาติต่างภาษา ที่มีนัยเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคนกลับเชื่องหรือหมดเขี้ยวเล็บพิษสงลง (taming or metathesis) ด้วยเดชานุภาพของพระราชอำนาจนำ (9)
กล่าวให้ถึงที่สุด การกลับกลายความหมายอันน่ามหัศจรรย์น ี้เป็นสัญลักษณ์แสดงความสำเร็จของพระราชอำนาจนำที่ทรงสร้างสมขึ้นด้วยพระราชอุตสาหะ วิริยะต่อเนื่องยาวนานในรัชกาลปัจจุบัน จนสถาบันกษัตริย์กลับมีสถานะทางการเมืองโดดเด่นเป็นหลักในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างยิ่งยวดเหนือล้ำกว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในบางด้านด้วยซ้ำไป (10)
สู่รัฐประหาร ๑๙ กันยายน
๒๕๔๙
หาก "ทักษิโณมิคส์" หรือแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณหมายถึง:
- การแปรกิจการภาคสาธารณะของรัฐชาติ ให้กลายเป็นของเอกชนไม่ถือชาติตามแนวทางเสรีนิยมใหม่
สำหรับคนรวยผู้มีเส้นสายทางการเมือง; ควบคู่กับ
- ประชาบริโภคนิยมสำหรับคนจนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง แล้ว
"ระบอบทักษิณ" ก็อาจหมายถึง ระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยมภายใต้อำนาจนำของกลุ่มทุนใหญ่
ความขัดแย้งหลักของการเมืองไทยก่อนรัฐประหาร
๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็คือความขัดแย้งระหว่าง [ระบอบทักษิณ + ทักษิโณมิคส์]
กับ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือนัยหนึ่ง
ระบอบเลือกตั้งธิปไตยภายใต้พระราชอำนาจนำ นั่นเอง
พลังใหม่ฝ่ายแรกได้เติบใหญ่ แผ่ขยายรุกคืบ เข้ากระแทกโยกคลอนกรอบโครงอำนาจเก่าฝ่ายหลังอย่างแข็งกร้าวรวดเร็ว
จนก่อเกิดปฏิกิริยาต่อต้านคัดค้านกว้างขวางออกไปในที่สุด. ขณะสิ่งที่กล่าวอ้างเรียกขานกันว่า
"ปฏิญญาฟินแลนด์" จะจริงเท็จอย่างไรยังไม่พิสูจน์ทราบชัดนั้น (11)
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ [ท่วงทำนองการนำเดี่ยวแบบซีอีโอบรรษัทประเทศไทย ของนายกฯ ทักษิณ,
นโยบายทักษิโณมิคส์, และระบอบพรรคเด่นพรรคเดียวที่กำลังเติบกล้าขึ้นมา] (12)
สวนทวนกระแส [อุดมการณ์ราชาชาตินิยม, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, และเครือข่ายข้าราชบริพาร]
(13) อย่างแจ้งชัด
กระแสคลื่นการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณ ทยอยเคลื่อนตัวซัดสาดเข้ามาเป็น ๓ ระลอกด้วยกันโดยทั้งหมดกินเวลา ๑ ปี จากเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ได้แก่:
- ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล กับพันธมิตรประชาชนฯ หรือขบวนการมวลชนราชาชาตินิยม (ก.ย. ๒๕๔๘ - เม.ย. ๒๕๔๙)
- ตุลาการภิวัตน์ (เม.ย. - ก.ค. ๒๕๔๙)
- กองทัพภิวัตน์กับรัฐประหาร (ก.ค. - ก.ย. ๒๕๔๙)
1. ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุลกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
คนชั้นกลางในเมืองและชนชั้นนำเดิมที่ประกอบกันเป็นฝ่ายค้านนอกสภาต่อรัฐบาลของนายกฯ
พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตรนั้น มีความแตกต่างหลากหลายกันทางอุดมการณ์และการเมืองเกินกว่าจะหล่อหลอมเข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่นเองได้.
ในที่สุด จุดร่วมเดียวที่สามารถรวมใจพลังการเมืองนานาสารพัดประเภทเหล่านี้ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดังปรากฏว่าข้อเรียกร้องใจกลางที่ค่อยๆ ก่อตัวสุกงอมขึ้น ท่ามกลางยุทธการสื่อมวลชนของสนธิ
ลิ้มทองกุล กับเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จากกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงกุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้แก่ การถวายพระราชอำนาจคืนและขอพระราช-ทานผู้นำในการปฏิรูปการเมืองแทนที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ
(14)
ในแง่นี้ "ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล" จึงน้อมนำและอิงอาศัยความชอบธรรมจากการรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีสมาชิกคณะองคมนตรีเป็นแกนนำภายใต้ร่มธง "ธรรมราชา" ประเด็นดังกล่าวนี้บวกกับแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้กลายมาเป็นฐานคติรองรับให้แนวร่วมอันกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวสื่อมวลชนต่อต้านการเซ็นเซอร์, องค์กรพัฒนาเอกชนต่อต้านรัฐ, สหภาพแรงงานต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน, กลุ่มสนับสนุนการพัฒนาทางเลือกต่อต้านทุนนิยม ฯลฯ มาปฏิบัติภารกิจร่วมกันทางการเมืองได้
ถึงแม้ข้อเรียกร้องถวายคืนพระราชอำนาจที่ริเริ่มโดยสนธิ ลิ้มทองกุลกับเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ จะเป็นชนวนให้เกิดข้อโต้แย้งถกเถียงกันในสาธารณชนอื้ออึงเพียงใด แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอันเป็นเครือข่ายแนวร่วมหลวมๆ ของกลุ่มและบุคคลฝ่ายค้านสารพัดพวกคละเคล้ากัน ซึ่งเข้าสวมบทแกนนำทางการของขบวนการต่อต้านทักษิณที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด สืบต่อเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็หันมาเห็นชอบและเก็บรับมันไปเป็นข้อเสนอของตนเองในเวลาอันรวดเร็วราวเดือนครึ่งหลังก่อตั้ง (15) ฉะนั้นเอง ขบวนการต่อต้านทักษิณจึงเข้าสวมรับเอาเอกลักษณ์รวมหมู่ทางการเมืองแบบราชาชาตินิยม โดยนิยามทักษิณกับระบอบของเขาเป็นศัตรูของชาติ พุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์
เมื่อขบวนการมวลชนราชาชาตินิยมดังกล่าวข้างต้นถูกจุดเครื่องติดและเริ่มเร่งแรงขึ้นแล้ว ก็ได้แผ่ขยายตัวจากกรุงเทพฯ ไปสู่เมืองศูนย์กลางอื่นๆ ทั่วประเทศ แม้ว่าผลสะเทือนของมันจะถูกหักกลบลบล้างไปบ้างจากการเคลื่อนไหวคู่ขนานของคาราวานคนจน ผู้สนับสนุนทักษิณที่ชุมนุมสำแดงพลังตอบโต้อยู่ที่สวนจตุจักร (กรุงเทพฯ). กล่าวโดยรวมแล้ว นับว่าขบวนการมวลชนราชาชาตินิยมประสบความสำเร็จในการกดดันให้นายกฯทักษิณประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร จัดเลือกตั้งใหม่ (๒๔ ก.พ. ๒๕๔๙) ,ประกาศเว้นวรรคตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งที่ชนะเลือกตั้ง (๔ เม.ย. ๒๕๔๙) และลาพักราชการระยะยาวจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี (๕ เม.ย. - ๒๓ พ.ค. ๒๕๔๙). กระนั้นก็ตาม พรรคไทยรักไทยก็ชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒ เม.ย. ๒๕๔๙ อยู่ดีและส่อท่าทีแน่ชัดว่าจะครองอำนาจรัฐต่อไปโดยยึดกุมสภาผู้แทนราษฎรไว้เบ็ดเสร็จ และยังมีทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค
วิเคราะห์วิจารณ์พระราชอำนาจ:
อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ
ข้อเสนอของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรื่อง "ถวายพระราชอำนาจคืน",
"ขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญ" หรือ "นายกฯพระราชทาน
- รัฐบาลพระราชทาน" ก็ตามล้วนมีฐานคิดที่มาจากปรัชญาและธรรมเนียมปฏิบัติของระบอบเสรีประชาธิปไตยตะวันตก
ที่เรียกว่า PREROGATIVE ซึ่งราชบัณฑิตยสถานแปลเป็นไทยว่า "อำนาจพิเศษ"
หรือ "พระราชอำนาจ" (16) นี่แหละ คือรากเหง้าทางความคิดและแบบธรรมเนียมปฏิบัติของมาตรา
๗ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐
แต่เดิม PREROGATIVE ถูกนิยามโดยนักคิดการเมืองเสรีประชาธิปไตยตะวันตกว่าหมาย ถึง:
- อำนาจของฝ่ายบริหารที่จะดำเนินการไปตามดุลพินิจเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม ในกรณีที่กฎหมายมิได้ระบุบ่งบอกไว้ว่าให้ดำเนินการอย่างไร และบางครั้งกระทั่งในกรณีที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยซ้ำไป
- การที่ประชาชนอนุมัติให้ผู้ปกครองสามารถเลือกกระทำการต่างๆ อย่างเสรีเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเมื่อกฎหมายเงียบเสียง (คือมิได้ระบุบ่งบอกไว้) และบางครั้งกระทั่งกระทำการฝ่าฝืนบท บัญญัติของกฎหมายด้วยซ้ำไป, รวมทั้งประชาชนยังยินยอมรับผลสำเร็จของการกระทำดังกล่าวด้วย
- อำนาจในการทำประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่มีกฎเกณฑ์กำกับ
- การที่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจเหนือกฎหมายเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม (17)
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเนื้อหาของมาตรา
๗ ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ซึ่งระบุว่า:
"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
(18). จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา ๗ จำกัดขอบเขตของ PREROGATIVE ให้แคบเข้าเฉพาะกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้เท่านั้น
(กล่าวคือไม่เปิดช่องให้ใช้ในลักษณะที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติประดามีของรัฐธรรมนูญ)
และยังตีวงกำกับสำทับลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ต้องเป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้นด้วย
นั่นหมายความว่าหากยึดการตีความมาตรา ๗ อย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร ก็มิอาจใช้อำนาจตามมาตรา ๗ เพื่อ "ขอนายกฯ พระราชทาน" ได้ เพราะมีมาตรา ๒๐๑ แห่งหมวด ๗ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กำกับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว. อย่างไรก็ตาม หากอ่านเอาเรื่องบรรดาข้อเสนอข้างต้นในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ความหมายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติของมันก็คือ การเรียกร้องให้ใช้ อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ (ad hoc absolutism) นั่นเอง กล่าวคือมันสะท้อนความมุ่งมาดปรารถนาอยากได้อำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ ที่อยู่นอกและเหนือรัฐธรรมนูญลงมาปฏิบัติการ ขจัดกวาดล้างและจัดระเบียบสังคมการเมืองเสียใหม่เป็นการเฉพาะกิจเฉพาะกาล - ก่อนจะย้อนกลับเข้าสู่หลักนิติรัฐและระบอบรัฐธรรมนูญปกติอีกครั้งหนึ่ง
ทว่าในสภาพการณ์และเงื่อนไขใดเล่า ที่การใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ จะมีฐานความชอบธรรมที่พออ้างอิงได้ในประวัติการเมืองประชาธิปไตยของไทย? ในทางหลักการ วาระความจำเป็นแห่งอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ ปรากฏขึ้นเมื่อเกิดสภาพรัฐล้มเหลว (failed state) ที่รัฐประสบความล้มเหลวอย่างเป็นระบบในการปฏิบัติหน้าที่พื้นฐานตามสัญญาประชาคมของมัน กล่าวคือ:
- รัฐไม่สามารถปกป้องสิทธิในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของพลเมือง ก่อเกิดสภาพ "ภาวะธรรมชาติ" (the state of nature) หรือนัยหนึ่งเสมือนไร้รัฐ, ไม่มีศาลสถิตยุติธรรมที่ทรงสิทธิอำนาจเป็นที่ยอมรับของผู้คนโดยทั่วไปให้เป็นที่พึ่ง; หรือ
- รัฐล่วงละเมิดสิทธิในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของพลเมืองเสียเอง ก่อเกิดสภาพ "ภาวะสงคราม" (the state of war) ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำสงครามกับพลเมือง ใช้กำลังประทุษร้ายร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินประชาชนโดยปราศจากสิทธิ์อันชอบที่จะทำเช่นนั้น; หรือ- ประชาชนพลเมืองเพิกถอนความยินยอม (consent) จากรัฐ หรือนัยหนึ่งไม่ยอมรับไม่ยอมปฏิบัติตามอำนาจรัฐโดยทั่วไป รัฐได้แต่ใช้กำลังบังคับ (coercion) มาข่มขี่ประชาชนพลเมืองให้ทำตามคำสั่งเท่านั้น
เบื้องหน้าภาวะรัฐล้มเหลวอันคับขันดังกล่าวข้างต้น สังคมมีทางเลือกที่เผชิญหน้าอยู่ ๒ ทาง กล่าวคือ:
๑) กลับสู่ภาวะธรรมชาติที่ไร้รัฐ ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสงครามของทุกคนต่อทุกคน (war of all against all) ทั้งนี้ขึ้นกับความคงอยู่และเข้มแข็งของสายใยเครือข่ายประชาสังคม หรือ
๒) สถาปนาสังคมการเมืองขึ้นมาใหม่ (refounding political society) ซึ่งเป็นที่ยอมรับของบุคคลและฝ่ายต่างๆ ด้วยการใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ
ในประสบการณ์การเมืองไทย สถานการณ์ที่อาจจัดว่าเข้าข่ายหรือใกล้เคียงภาวะรัฐล้มเหลวดังกล่าวคือ เหตุการณ์นักศึกษาประชาชนลุกขึ้นสู้เผด็จการทหารเมื่อ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และเหตุการณ์ประชาชนลุกขึ้นสู้รัฐบาลทหารเมื่อพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งกรณีแรกคลี่คลายไปด้วยการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรี "พระราชทาน" (19) ส่วนกรณีหลังคลี่คลายไปด้วยปฏิบัติการพลิกโผชื่อนายกรัฐมนตรีจากพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ เป็นนายอานันท์ ปันยารชุนโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ระหว่างนำรายชื่อเข้ากราบถวายบังคมทูลฯแต่งตั้ง (20)
อย่างไรก็ตาม ข้อน่าคิดก็คือภาวะรัฐล้มเหลวดังกล่าวนี้ - เมื่อเรียนรู้แล้ว มีประสบการณ์แล้ว - ก็อาจสามารถวิศวกรรมหรือสร้างสถานการณ์ความล้มเหลวของรัฐ (to engineer a state failure) ขึ้นมาได้อย่างน้อยก็ด้วย ๒ วิธีการ ได้แก่: -
๑) ด้วยความรุนแรง เช่น ก่อจลาจล เผาบ้านเผาเมือง และ/หรือ ยั่วยุให้กำลังทหาร-ตำรวจปราบฆ่าผู้คนกลางเมือง (21)
๒) ด้วยปฏิบัติการไม่รุนแรงหรืออารยะขัดขืน (civil disobedience) อันเป็นมาตรการแสดง ออกอย่างสันติวิธีว่า ประชาชนพลเมืองเพิกถอนความยินยอม-ไม่ยอมรับ ไม่ยอมปฏิบัติตามอำนาจรัฐโดยทั่วไป จนรัฐและระบอบการเมืองทำงานไม่ได้ ดังที่ขบวนการอหิงสาของมหาตมะคานธีกระทำต่อรัฐเจ้าอาณานิคมอังกฤษเพื่อกู้เอกราชของอินเดีย หรือขบวนการสิทธิพลเมืองของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์กระทำต่อรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นอเมริกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองเสมอภาคแก่ชนผิวดำ (22)
อย่างไรก็ตามในประวัติการเมืองประชาธิปไตยของไทย อีกกรณีหนึ่งที่มีการใช้อำนาจพิเศษหรือพระราชอำนาจเข้าแทรกแซงโดยตรงในทางการเมืองคือ เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ณ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทั้งนี้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณนิติธาดา และรัฐมนตรีอีก ๑๓ นาย จากคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น ๒๐ นาย (23)
สถานการณ์ตอนนั้นไม่ได้เกิดภาวะรัฐล้มเหลวแต่อย่างใด ทว่ามีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในวงการรัฐบาลระหว่าง [คณะเจ้าและขุนนางอนุรักษนิยมฝ่ายนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณนิติธาดา] กับ [ปีกซ้ายของคณะราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนฝ่ายรัฐมนตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม] เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอ. การประกาศพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราครั้งนั้น จึงเท่ากับเป็นการใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจของกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งเพื่อขจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจนอกเหนือจากว่า ใครฝ่ายใดสถาบันใดเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเพื่อใช้พระราชอำนาจในพระราชกฤษฎีกานี้แล้ว ยังอยู่ตรงที่ว่าไม่นานต่อมา วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ รัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดาก็ถูกยึดอำนาจโดยคณะทหารบก ทหารเรือและพลเรือน ภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และพันโทหลวงพิบูลสงคราม จากนั้นรัฐบาลใหม่ที่มีพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีก็เปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และออกพระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ได้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้นเสียเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้น "...มิได้อาศัยอำนาจในรัฐธรรมนูญประการใด ซึ่งทำให้เสื่อมทรามความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ" (24)
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๙ กับกรณีตัวอย่างการใช้อำนาจพิเศษหรือพระราชอำนาจ (PREROGATIVE) ในอดีตของไทยแล้ว จะเห็นได้ว่ามันละม้ายใกล้เคียงกรณีพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราปี พ.ศ. ๒๔๗๖ มากกว่าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ หรือพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ กล่าวคือ เป็นความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่าง [ฝ่ายรัฐบาลรักษาการทักษิณและผู้สนับสนุน] กับ [ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ต่อต้านทักษิณ] มากกว่าจะเป็นภาวะรัฐล้มเหลวใดๆ (25)
ในภาวะขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองเช่นนั้น การขอให้ทรงใช้อำนาจพิเศษหรือพระราชอำนาจตามมาตรา ๗ พระราชทานนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นการเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวฯ ซึ่งทรงเป็นประมุขของคนไทยทุกคนทุกฝ่าย ทรงเลือกข้างเป็นของบางคนบางฝ่ายในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง อันจะส่งผลกระทบต่อสถานภาพและสัมพันธภาพของพระมหากษัตริย์กับฝ่ายอื่นๆ สถาบันอื่นๆ ในสังคมการเมืองไทยในระยะยาว
ฉะนั้น การขอนายกฯพระราชทานด้วยอำนาจมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ก็ตาม, ขอให้กองทัพเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดย "ยืนอยู่ข้างประชาชน" ก็ตาม, กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว มีสาระเป้า หมายสำคัญเหมือนกัน คือขอให้มีการใช้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจมาขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยอยู่นอกและเหนือรัฐธรรมนูญนั่นเอง
2. ตุลาการภิวัตน์
ในระหว่างที่ นายอักขราทร
จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดและต่อมา นายชาญชัย
ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรมทยอยกันเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ตามลำดับ
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่
๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ นั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสขอร้องให้คณะตุลาการศาลต่างๆ พิจารณาปรึกษาช่วยกันหาทางแก้ไขวิกฤตที่สุดในโลก ที่กำลังเกิดขึ้นเนื่องจากการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและอาจเป็นโมฆะ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาติบ้านเมืองล่มจมไป พระองค์ยังทรงชี้แจงด้วยว่าคำขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจพระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน โดยอ้างมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น ทำให้พระองค์เดือดร้อนมากเพราะผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบมั่ว ไม่มีเหตุมีผล เป็นการให้พระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ทำตามใจชอบ (26)
สืบเนื่องจากพระราชดำรัสองค์นั้น คณะตุลาการแห่งศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญก็เริ่มเคลื่อนไหวปรึกษาหารือประสานกันอย่างพร้อมเพรียง เปิดเผยโดดเด่นต่อสาธารณะอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (27) นำไปสู่การพิจารณาไต่สวนดำเนินคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอย่างเร่งด่วนฉับไวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ:
- ๒๗ เม.ย. ๒๕๔๙ ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒ และ ๒๓ เม.ย. ที่ผ่านมา รวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ ๒๙ เม.ย. ศกนี้ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองได้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยสั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระงับการจัดการเลือกตั้งในวันที่ ๒๙ เม.ย.นี้ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
- ๘ พ.ค. ๒๕๔๙ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ ๒ เม.ย. พ.ศ. ๒๕๔๙ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนเสียและจัดเลือกตั้งใหม่- ๒๓ พ.ค. ๒๕๔๙ ศาลแขวงสงขลายกฟ้องคดีประชาชนฉีกบัตรเลือกตั้งประท้วง โดยถือเป็นการใช้สิทธิต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยสันติวิธี
- ๒๙ มิ.ย. ๒๕๔๙ ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง กกต. ที่ให้ใช้ตรายางประทับแทนกากบาทบัตรเลือกตั้ง
- ๑๓ ก.ค. ๒๕๔๙ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องอัยการสูงสุดให้ยุบ ๕ พรรคการเมืองรวมทั้งพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
- ๒๕ ก.ค. ๒๕๔๙ ศาลอาญาพิพากษาจำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ๓ คนที่เหลือเป็นเวลา ๔ ปีโดยไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ๑๐ ปี ฐานปล่อยให้มีการเวียนเทียนรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ ๒๓ เม.ย. ๒๕๔๙ อีกทั้งสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว จนในที่สุดทั้งสามยอมลาออกจากตำแหน่ง กกต. หลังจากนั้นศาลได้อนุญาตให้ทั้งสามคนประกันตัวออกไป
- ๑๐ ส.ค. ๒๕๔๙ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาประชุมสรรหาผู้สมควรได้รับเสนอชื่อเป็นคณะ กรรมการการเลือกตั้ง ๑๐ คนเพื่อส่งให้วุฒิสภาคัดเหลือ ๕ คนทำหน้าที่ กกต. ชุดใหม่ ฯลฯ
ระหว่างกระบวนการข้างต้นที่ถูกขนานนามในภาษาไทยว่า "ตุลาการภิวัตน์" (judicial review) กำลังดำเนินอยู่นั้นเอง (28) ดูเหมือนรักษาการนายกฯทักษิณจะเปลี่ยนใจ และไม่ยอมวางมือทางการเมือง โดยกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯ อีกเมื่อวันที่ ๒๓ พ.ค. ๒๕๔๙ และประกาศจะนำพรรคไทยรักไทยลงต่อสู้ชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ไม่ยอมเปิดเผยว่าตัวเองจะรับบทบาทการเมืองใดหลังเลือกตั้ง
ขณะเดียวกันรักษาการนายกฯทักษิณ
ก็เริ่มโจมตีตอบโต้เครือข่ายข้าราชบริพารด้วยตนเองอย่างเปิดเผย นอกจากเขียนจดหมาย
"ส่วนตัว" ลงวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๒๕๔๙ กล่าวโทษฟ้องร้องไปถึงประธานาธิบดีจอร์จ
บุชผู้ลูกแห่งสหรัฐอเมริกาแล้ว (29) เขาก็กล่าวหาโดยไม่ระบุนาม - ต่อหน้าที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับสูงทุกกระทรวงทบวงกรมกว่า
๕๐๐ คนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ - ถึง "บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"
ว่าเข้ามาสั่งการวุ่นวายการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เพื่อบ่อนทำลายรัฐบาล
(30)
คำกล่าวหานี้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อมวลชนว่า "บุคคลฯ"
ดังกล่าวหมายถึงใคร? พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี?
และมีแรงกดดันจากบุคคลชั้นนำให้รักษาการนายกฯทักษิณระบุออกมาให้แจ่มแจ้ง (31).
ปรากฏรายงานข่าวในชั้นหลังว่า ประมาณหนึ่งเดือนถัดมา รักษาการนายกฯทักษิณได้ขอนัดรับประทานดินเนอร์หูฉลามสองต่อสองกับอดีตนายกฯบรรหาร
ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยที่ร้านซ้งหูฉลาม ย่านสะพานพระปิ่นเกล้าฯ เพื่อหาลู่ทางสมานฉันท์ทางการเมือง
ในโอกาสนั้นนายบรรหารได้ซักถามทักษิณเกี่ยวกับ "บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"
ที่เขากล่าวถึงว่า:
"...จากวันที่ ๑๐ เมษายนมาเนี่ย คุณสร้างเรื่อง ผู้มีบารมี มาแล้ว แล้วผู้มีบารมี คุณบอกเป็นบุคคล แล้วบุคคลคือใคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนะสิ เขาก็บอกว่า "เปล่า พี่ผมไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น" ผมถามว่า ป๋าเปรม หรือเปล่า เขาเงียบ ผมบอกว่า "คุณทำอย่างนี้ไม่ได้นะ ตายนะเนี่ย ปากพูดต้องระมัดระวังด้วย" (32)
วิเคราะห์วิจารณ์ตุลาการภิวัตน์: การตีความ ๔ แนวทาง
ปรากฏการณ์ที่สื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับเรียกว่า "ศาลกู้ชาติ" หรือโดยเนื้อแท้ทางรัฐศาสตร์แล้วอาจเรียกได้ว่าเป็น "การใช้อำนาจตุลาการเข้าแทรกแซงเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด การได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตย" (judicial intervention to adjudicate on the acquisition of sovereign power) นี้ได้รับการประเมินวิเคราะห์ทางวิชาการอย่างเอาการเอางานและทันท่วงทีโดยนักวิชาการ นักนิติศาสตร์และผู้พิพากษามากมายหลายท่าน ในที่นี้ ผู้เขียนขอเลือกสรรข้อวิเคราะห์ที่โดดเด่นสำคัญทั้งโดยแนวทรรศนะและฐานะบทบาทของผู้วิเคราะห์มาสรุปเสนอโดยสังเขป ๔ ท่าน ได้แก่:
- ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา (ตำแหน่งขณะนั้น) ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์- บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
- มีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานวุฒิสภาและประธานรัฐสภา ปัจจุบันเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานกรรมการกฤษฎีกา
คณะที่ ๑ (กฎหมายการเมืองการปกครอง)
หนึ่ง) ธีรยุทธ บุญมี
ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้คิดประดิษฐ์คำว่า "ตุลการภิวัตน์" มาเรียกขานปรากฏการณ์นี้เป็นคนแรก
โดยนิยามว่า: "กระบวนการตุลาการภิวัตน์ หรือกฎหมายภิวัตน์ หรือนิติธรรมภิวัตน์
(judicialization of politics) ... คือการให้อำนาจแก่ฝ่ายตุลาการในการตรวจสอบถ่วงดุลสองอำนาจใหญ่
คือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้" หรือ "กระบวนการตรวจสอบเชิงหลักกฎหมายของฝ่ายตุลาการ"
(judicial review) (33)
ธีรยุทธเสนอว่า เป้าหมายของกระบวนการตุลาการภิวัตน์ก็เพื่อโต้แย้งทัดทาน และพัฒนาให้พ้นจาก "แนวคิดประชาธิปไตยตามลัทธิเสียงส่วนใหญ่ (majoritarianism)" หรือ "ลัทธิ ๑๖ ล้านเสียง" ของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเมื่อบวกกับ "ลัทธิรัฐสภา" แล้ว "หากก้าวไปสุดขั้วก็จะกลายเป็นระบอบเผด็จการหรือเผด็จการโดยรัฐสภาได้"
หากวิเคราะห์เปรียบเทียบกับทางรัฐศาสตร์ ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional democracy) มีกลไกมาตรการใหญ่ๆ ที่ใช้มาป้องกันกำกับควบคุมการใช้อำนาจประชาธิปไตยของเสียงข้างมาก (majoritarian democracy) ไม่ให้เสื่อมทรามกลายเป็นระบอบทรราชของเสียงข้างมาก (the tyranny of the majority) อยู่ด้วยกัน ๔ ชนิดได้แก่:
๑) บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขพิเศษในการลงมติบางกรณี เช่น ต้องใช้มติเสียงข้างมากเป็นพิเศษ อาทิสองในสามของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดแทนเสียงข้างมากธรรมดา หรือให้ถ่วงเวลาลงมติเนิ่นช้าออกไป เป็นต้น
๒) ศาลตุลาการคณะต่างๆ เช่นศาลรัฐธรรมนูญ - อันประกอบไปด้วยชนชั้นนำผู้เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ส่วนน้อย - ได้มีอำนาจทบทวนยับยั้งการที่เสียงข้างมากในสภาฯ จะละเมิดรัฐธรรมนูญ๓) การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นฝักฝ่ายเพื่อคานอำนาจกัน ได้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติ, ฝ่ายบริหาร, ฝ่ายตุลาการ; รวมทั้งบทบาทของสถาบันสื่อมวลชนนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ (บางครั้งเรียกว่า "อำนาจที่ ๔") หรือแม้แต่ธนาคารชาติ (ในแง่การเงินการธนาคาร)
๔) การจัดวางกลไกตรวจสอบ-ถ่วงดุลอำนาจ ระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ไว้ในระบบ เช่น ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, กลไกการยื่นกระทู้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี, วุฒิสภาตรวจสอบทบทวนกฎหมายที่ผ่านโดยสภาผู้แทนฯ, พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาแล้ว และส่งคืนเพื่อให้พิจารณาทบทวนเมื่อพระองค์ไม่ทรงเห็น ชอบด้วย, องค์การมหาชนอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, คณะ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น (34)
ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมากลไกมาตรการทัดทานอำนาจเสียงข้างมากประเภทต่างๆ ค่อนข้างไม่ทำงานหรือทำงานไม่ได้ผลภายใต้รัฐบาลทักษิณ, มักถูกแทรกแซง บิดเบือน คุมกำเนิดและทำให้เป็นอัมพาตบ่อยครั้ง ด้วยพลังเสียงข้างมากที่ยึดกุมอำนาจบริหารและนิติบัญญัติไว้, จนในที่สุดสังคมต้องหันไปอาศัยตุลาการทั้ง ๓ ศาลให้ช่วยกัน "ตุลาการภิวัตน์" ตามข้อ ๒ ข้างต้นเป็นที่พึ่งสุดท้ายในกรอบระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ธีรยุทธได้ตั้งคำถามชวนถกเถียงว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์ก้าวก่ายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งได้รับฉันทานุมัติจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่? หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งถูกต้องชอบธรรมหรือ ไม่? เขาตอบว่าเมื่อมองดูแบบปฏิบัติของประเทศต้นตำรับประชาธิปไตยตะวันตกต่างๆ แล้ว กระบวนการตุลาการภิวัตน์น่าจะถูกต้องด้วยเหตุผลประการต่าง ๆ ได้แก่:
- ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนบกพร่องตรงที่ หลังเลือกตั้งแล้ว ผู้แทนแย่งชิงตัดขาดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน สิทธิการกำหนดตัวเองของประชาชนจึงเสมือนหนึ่งถูกแช่แข็งไปเสีย จำต้องให้ฝ่ายตุลาการซึ่งมีรากเหง้าจากเจตจำนงของประชาชนแต่ดั้งเดิมเช่นกัน มาตรวจสอบแก้ไขจุดนี้
- เอาเข้าจริง การแยกอำนาจอธิปไตยเป็นฝ่ายต่าง ๆ ไม่ได้ชัดเจนเบ็ดเสร็จมาแต่ต้น- เมื่อเปรียบเทียบอำนาจทั้ง ๓ ฝ่าย ฝ่ายตุลาการจะเน้นมองผลประโยชน์ระยะยาวสุด และกว้างสุดของประเทศ
จึงควรทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายอื่น- สังคมแห่งความเสี่ยงสมัยใหม่ (risk society) แยกเป็นระบบย่อยๆ อันซับซ้อน ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงจากภยันตรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากบรรษัทธุรกิจใหญ่ จึงควรให้ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่ปกป้องประชาชนจากความเสี่ยงภัยเหล่านี้ เพราะแยกห่างจากกลุ่มธุรกิจที่สุดยิ่งกว่าอำนาจอื่น
- ฝ่ายรัฐสภาอยู่ใกล้ผลประโยชน์และอารมณ์สาธารณชน, ขาดความสนใจและความชำนาญที่จะมองกฎหมายอย่างรอบด้านเป็นระบบทั้งหมด จึงควรให้ฝ่ายศาลทบทวนกฎหมายจะดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากมองดูประสบการณ์ของประเทศต้นตำรับประชาธิปไตยตะวันตกชุดเดียวกันจากอีกมุมหนึ่ง ก็จะพบว่า มีข้อควรคำนึงเกี่ยวกับกระบวนการตุลาการภิวัตน์เช่นกัน ดังต่อไปนี้คือ:
- พึงระมัดระวังว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์อาจเปิดช่องให้นำไปสู่ "ตุลาการธิปไตย" หรือการปกครองโดยฝ่ายตุลาการ (judicial rule) ไม่เพียงแค่การตรวจสอบเชิงหลักกฎหมายของฝ่ายตุลาการ (judicial review) เท่านั้น
- หากถึงขั้นนั้น แทนที่ศาลจะเป็นกลไกอันจำเป็นและเป็นประโยชน์เพื่อเหนี่ยวรั้งจำกัดลัทธิเสียงส่วนใหญ่ การณ์จะกลับกลายเป็นว่าศาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (an unelected court) จะเข้าแทนที่เสียงข้างมากในฐานะกลไกหลักทางด้านนิติบัญญัติไปเสีย- กล่าวในทางทฤษฎี กระบวนการตุลาการภิวัตน์เป็นคุณตรงที่มันช่วยหลีกเลี่ยงป้องกันลัทธิยึดติดตัวบท หรือยึดติดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญเป็นเกณฑ์แบบแห้งแล้งเถรตรงตายตัวถ่ายเดียว (textualism and originalism) ทว่าในทางกลับกัน ตุลาการภิวัตน์ก็อาจมีโทษหากล้ำเส้นเกินเลย กลายเป็นลัทธิเอาอำนาจตุลาการไปเคลื่อนไหวทางสังคมและ/หรือการเมืองแบบไม่บันยะบันยัง (unconstrained judicial activism)
- ความเสี่ยงอันตราย (risk) ในกรณีหลังอยู่ตรงฝ่ายตุลาการอาจถูกชักจูงให้ดำเนินกระบวน การตุลาการภิวัตน์ไขว้เขวไปตามอุดมการณ์ของเสียงข้างน้อยต่าง ๆ (minoritarian ideologies) หรือแม้แต่กระแสอารมณ์วูบไหวชั่วครู่ชั่วยามของเสียงข้างมาก (the majoritarian passions of the moment) ก็เป็นได้ อาทิ การที่ศาลฎีกาสหรัฐอเมริกายืนยันรับรองคำสั่งให้กักกันชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นทั้งหมดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งที่คำสั่งนั้นตั้งอยู่บนความระแวงสงสัยรวมหมู่มากกว่าหลักฐานหนักแน่นอันใด
- ฉะนั้น กล่าวให้ถึงที่สุด ที่พึ่งในการต่อต้านทัดทานลัทธิเสียงข้างมาก (majoritarianism) อาจมิใช่กระบวนการตุลาการภิวัตน์โดยตัวมันเอง (เพราะฝ่ายตุลาการก็อาจโน้มเอียงผิด พลาดได้ ดูข้อ ๔) แต่เป็นวัฒนธรรมในการตีความและใช้กฎหมายซึ่งวิวัฒน์คลี่คลายไปอย่างเชื่องช้า หรือจะเรียกว่าธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมก็ได้ สิ่งนี้ต่างหากเป็นตัวช่วยเหนี่ยวรั้งให้ศาลใช้ดุลพินิจอย่างยับยั้งชั่งใจในกรอบขอบเขตอันพอเหมาะพอควร
สอง) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ
ไล่เลี่ยกับการเผยแพร่บทความของธีรยุทธ บุญมี. ประธานศาลฎีกา นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ
ได้ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ กรณีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง
(กกต.) แทนตำแหน่งที่ว่างลง ๒ คน ลงวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ (35)
ในหนังสือนี้ ประธานศาลฎีกาได้เสนอการตีความ [พระราชดำรัสพระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่
๒๕ เมษายน ๒๕๔๙] รวมทั้ง [การปฏิบัติงานสนองพระราชดำรัสสืบเนื่องต่อมาของศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลปกครองและศาลฎีกาเพื่อตรวจสอบสถาบันการเมืองและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒ เมษายน ๒๕๔๙] ซึ่งตัวเองเข้าร่วมโดยตรงไว้อย่างมีนัยสำคัญ
ในที่นี้ผู้เขียนใคร่นำเสนอเปรียบเทียบเนื้อหาในหนังสือของประธานศาลฎีกา กับบทความของ ธีรยุทธโดยทำเป็นตารางคู่ขนานเฉพาะประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวดังต่อไปนี้:
๑. หลักการทั่วไป
๒. เงื่อนไขสถานการณ์พิเศษ
๓. การตีความพระราชดำรัสและปฏิบัติการของ ๓ ศาล
๑) หลักการทั่วไป
บทความของอาจารย์ธีรยุทธ
"พระราชดำรัสที่จะให้คณะผู้พิพากษาเป็นผู้แก้ ปัญหาวิกฤตของชาติ... เป็นการมองอำนาจศาลอย่างกว้างขวาง แนวที่เปิดทางให้กับสิ่งที่ประเทศยุโรปเรียกว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์ของระบอบการปกครอง (judicialization of politics) และสหรัฐอเมริกาเรียกการตรวจสอบฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติโดยระบบตุลาการ (power of judicial review) ซึ่งคือการที่อำนาจตุลาการเข้าตรวจสอบการออกกฎหมาย การใช้อำนาจของนักการเมืองอย่างเข้มงวดจริงจัง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ประเทศไทยก็ก้าวเดินมาสู่กระบวนการตุลาการภิวัตน์นี้ โดยผ่านศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง" (ตุลาการภิวัตน์, น. ๑๖ - ๑๗)หนังสือของประธานศาลฎีกา
"ในการปกครองระบอบระชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล"
๒) เงื่อนไขสถานการณ์พิเศษ
บทความของอาจารย์ธีรยุทธ
"แต่เนื่องจากฝ่ายบริหารเข้ารุกล้ำแทรกแซงกลไกราชการและอำนาจตรวจสอบอย่างหนักจนนำไปสู่วิกฤตดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแนะให้ทั้ง ๓ ศาลได้เข้ามามีบทบาทร่วมกันเพื่อแก้วิกฤต" (ตุลาการภิวัตน์, น. ๑๗)
หนังสือของประธานศาลฎีกา
"แต่ในเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะว่างเว้นรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักรไว้"
๓) การตีความพระราชดำรัสและปฏิบัติการของ ๓ ศาล
บทความของอาจารย์ธีรยุทธ
"ตามทฤษฎีการเมือง เราจะมองการพระราชทานคำแนะนำครั้งนี้ได้อย่างไร?"ตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะประมุขของอำนาจอธิปไตยทั้ง ๓ ด้าน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ท่านทรงความชอบธรรมที่จะชี้ทางแนะนำอำนาจใดอำนาจหนึ่งให้ปฏิบัติเพื่อแก้วิกฤตของชาติ "ในฐานะประมุขของฝ่ายตุลาการ ๓ ศาล ซึ่งใช้รูปแบบการประชุมร่วมเพื่อแนะนำอำนาจฝ่ายอื่น เช่น กกต. ก็มีความชอบธรรม เพราะแม้ประชาธิปไตยจะยึดหลักการแยกอำนาจ แต่ไม่ถือเป็นหลักการแยกอำนาจเด็ดขาด การวิพากษ์วิจารณ์ แนะนำซึ่งกันและกันย่อมทำได้ เช่น ฝ่ายบริหารหรือนักวิชาการอาจแนะนำศาลว่า การปฏิรูปการบริหารภายในเพื่อเร่งรัดคดีต่างๆ ก็ย่อมได้ "การแนะนำเป็นการใช้อำนาจอย่างอ่อนเป็นทางอ้อม เพราะเป็นการแนะนำเชิงการเมือง ไม่ใช่เชิงคดีความ แต่ผู้ได้รับคำแนะนำอาจเลือกไม่กระทำก็ได้ เช่นที่ กกต.เลือกที่จะไม่ลาออก โดยถือว่าถูกตามกฎหมาย แต่ไม่ถูกโดยพฤตินัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อข้อแนะนำประมุขศาลต่อ กกต.เกิดขึ้น สืบเนื่องจากคำแนะนำซึ่งประมุขของประเทศได้พระราชทานลงมา" (ตุลาการภิวัตน์, น. ๑๗)หนังสือของประธานศาลฎีกา
"พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมา จึงเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"
เราอาจตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตีความ "ตุลาการภิวัตน์" ๒ แนวทางข้างต้นได้ดังนี้:
- ขณะที่อาจารย์ธีรยุทธมุ่งตีความกรณีดังกล่าวว่าสอดคล้องกับแบบปฏิบัติสากลของบรรดาประเทศต้นตำรับประชาธิปไตยตะวันตกทั้งหลาย ประธานศาลฎีกากลับเน้นว่ามันเป็นไปตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นลักษณะเฉพาะของไทย
- ขณะที่อาจารย์ธีรยุทธเห็นว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในเงื่อนไขสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองของชาติที่ก่อขึ้นโดยฝ่ายบริหาร ประธานศาลฎีกาอธิบายว่ามันเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่เกิดสุญญากาศทางอำนาจนิติบัญญัติและบริหารในระหว่างยุบสภาฯ อันเป็นการตีความที่ค่อนข้างปลอดการเมือง, เป็นกลางและเชิงเทคนิคกว่า- ขณะที่อาจารย์ธีรยุทธตีความกรณีตุลาการภิวัตน์ของไทยว่า โดยเนื้อแท้แล้วเป็นการ "แนะนำ" (ย้ำคำนี้ซ้ำถึง ๑๐ ครั้งใน ๔ ย่อหน้า) อันเป็น "การใช้อำนาจอย่างอ่อนเป็นทางอ้อม" "ตามรัฐธรรมนูญ" ใน "เชิงการเมือง ไม่ใช่เชิงคดีความ" ซึ่ง "ผู้ได้รับคำแนะนำอาจเลือกไม่กระทำก็ได้", สอดคล้องกับหลักพระราชอำนาจที่จะทรงตักเตือนรัฐบาล (The right to warn) ตามแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษที่ Walter Bagehot สรุปประมวลไว้ในหนังสือ The English Constitution (ค.ศ. ๑๘๖๕-๖๗) (36) และไม่ถือว่าฝ่ายตุลาการแทรกแซงอำนาจฝ่ายอื่นแต่อย่างใด "เพราะแม้ประชาธิปไตยจะยึดหลักการแยกอำนาจ แต่ไม่ถือเป็นหลักการแยกอำนาจเด็ดขาด" นั้น ประธานศาลฎีกากลับอธิบายความหมายโดยอ้างอิงมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญว่าเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางศาลและเป็นการปฏิบัติภารกิจของศาลเพื่อสนองพระราชดำรัสโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ, อันนับเป็นการตีความการใช้อำนาจครั้งนี้ว่ามีลักษณะอย่างแข็งเป็นทางตรงตามรัฐธรรมนูญ, ไม่จำแนกเชิงการเมืองออกจากเชิงคดีความ, และไม่ได้เปิดช่องให้เลือก
- ข้อพิจารณาสำคัญที่สุดระหว่างการตีความ "ตุลาการภิวัตน์" ๒ แนวทางนี้น่าจะอยู่ตรงหลักความพร้อมรับผิด (accountability) ว่ามีตำแหน่งแห่งที่อยู่แตกต่างกันตรงไหนอย่างไรในการตีความแต่ละแบบ?
สาม) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ นักกฎหมายมหาชนชั้นนำภาครัฐก็ทยอยออกมาทำหน้าที่อธิบายความหมายกระบวนการ
"ตุลาการภิวัตน์" เริ่มด้วยบทความ "ทศพิธราชธรรมกับพระมหากษัตริย์ไทย"
ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นอุปสมบทเป็นภิกษุฉายา
"ปวรสกโก" (37)
ถัดมา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภาและประธานรัฐสภา ทั้งยังเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ ๑ (กฎหมายการเมืองการปกครอง) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่หนังสือพิมพ์มติชนรายวันเนื่องในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่อง "๖ ทศวรรษ...อัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญ" (38)
การตีความปรากฏการณ์ "ตุลาการภิวัตน์"
ของทั้งสองมีความเหมือน/ความแตกต่างบางประการที่น่าสนใจทั้งในแง่หลักการ, เหตุผลข้อถกเถียงและข้อวินิจฉัย
แต่อาจประมวลสรุปในขั้นต้นได้ว่า:
ขณะที่บวรศักดิ์ตีความอิงหลัก "ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา-กษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
หรือที่เขาเรียกว่า "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" (Convention of
the Constitution) ดังที่ปรากฏความในมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ โดยยึดโยงเข้ากับหลักทศพิธ-ราชธรรมนั้น.
มีชัยเน้นตีความอิงหลัก "พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ"
ในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ โดยชี้ให้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการใช้อำนาจทางตุลาการเข้ามาแก้ปัญหา
เพื่อความกระจ่างควรกล่าวแต่ต้นว่าทั้งสองคนไม่เห็นด้วยกับการที่บางฝ่ายขอให้พระบาท- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ "พระราชอำนาจ" (Royal Prerogative) พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยอ้างมาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองเมื่อต้นปี ๒๕๔๙ ทั้งนี้เพราะขัดแย้งกับมาตราอื่นๆ หลายมาตราในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ซึ่งจะต้องถูกงดใช้ไป (เหตุผลของบวรศักดิ์) และยังเป็นการให้พระองค์ตัดสินในลักษณะเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นกลางในเวลาเกิดวิกฤต (เหตุผลของมีชัย)
กระนั้นแล้ว จะทำความเข้าใจกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาอย่างไรดี? บทความขนาดยาวของบวรศักดิ์ชิ้นนี้ มีจุดประสงค์จะชี้ว่า ตลอดรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับแต่พระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหา ชนชาวสยาม" เป็นต้นมา พระองค์ทรงยึดมั่นปฏิบัติหลักทศพิธราชธรรมอย่างแน่วแน่สม่ำเสมอจนมันได้แปรเปลี่ยนกลายเป็น
๑) หลักการและแนวทางปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
๒) หลักบริหารจัดการรัฐกิจ และกิจการพลเมืองสำหรับนักบริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมทุกระดับ และ
๓) หลักการทางสังคมสำหรับสมาชิกสังคมทั้งปวง กล่าวคือ:
- หลักศีลและอวิโรธนะ (high moral character & non-deviation from righteousness or conformity to the law) ซึ่งสอดคล้องเคียงคู่ไปกับหลักนิติรัฐและรัฐธรรมนูญแห่งระบอบประชาธิปไตย
- หลักปริจจาคะและตปะ (self-sacrifice & austerity or self-control or non-indulgence) ซึ่งสอดคล้องเคียงคู่ไปกับหลักการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและความโปร่งใสในการบริหาร อันเป็นเสาหลักสองในสามประการของธรรมรัฐหรือธรรมาภิบาล (good governance) ในยุคโลกาภิวัตน์
- หลักอวิหิงสา, มัททวะและอาชชวะ (non-violence or non-oppression; kindness and gentleness & honesty, integrity) ในการดำเนินโครงการพระราชดำริเพื่อแก้ไขบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน เป็นต้น
สรุปรวมความคือด้วยพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงบำเพ็ญปฏิบัติมาตลอดรัชกาล หลักทศพิธราชธรรม ได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" (Convention of the Constitution) - คือเป็นเลือดเนื้อ (flesh and blood) ที่ห่อหุ้มโครงกระดูก (skeleton) ของรัฐธรรมนูญ - แห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย
นั่นหมายความว่า โดยผ่านการปฏิบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บัดนี้หลักทศพิธราช-ธรรมได้ถูกแปรเป็นธรรมเนียม (conventionalized) ส่วนที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญไทย, เป็นที่ยอมรับ (consensus), มีผลผูกพัน (binding), แม้ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย เอาไปฟ้องร้องกันในศาลไม่ได้เวลาใครล่วงละเมิด, แต่ก็มีสภาพบังคับทางการเมืองที่ผู้ล่วงละเมิดจะถูกวิพากษ์วิจารณ์, ว่าทำการฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติ (unconventional) และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (unconstitutional)
นับว่าบทความของบวรศักดิ์ให้ความหมายใหม่ทางวัฒนธรรมที่กระชับรัดกุมขึ้นแก่มาตรา
๗ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ โดยยึดโยงน้อมนำหลักทศพิธราชธรรมไปรองรับกำกับการใช้พระราชอำนาจ
"ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับ
กล่าวสำหรับพระราชดำรัส ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ แก่ฝ่ายตุลาการ บวรศักดิ์วิเคราะห์เชื่อมโยงตามหลักที่วางไว้ข้างต้นว่าดังนี้:
๑) จัดเป็นกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชสิทธิที่จะทรงแนะนำ ทรงสนับ สนุนและทรงตักเตือน (หรือ advisory power; ไม่ใช่ decision-making power อันเป็นอำนาจตัดสินใจที่พ่วงตามมาด้วยภาระรับผิดชอบทางการเมืองต่อผลที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี) ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญแห่งระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษที่วางแบบอย่างไว้แต่เดิม กล่าวคือ:
"To state the matter shortly, the sovereign has, under a constitutional monarchy such as ours, three rights - the right to be consulted, the right to encourage, the right to warn." (39)
๒) ทว่าในกรณีพระราชดำรัสองค์นี้ ยังจัดเป็นข้อยกเว้นด้วย เพราะพระองค์พระราชทานพระราชดำรัสครั้งนี้อย่างเปิดเผย ซึ่งปกติจะไม่ทรงกระทำนอกจากในภาวะไม่ปกติจริงๆ ฉะนั้น หลักเรื่องความลับและการห้ามอ้างอิง (the principles of confidentiality and non-reference) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญในกรณีพระราชทานคำแนะนำโดยทั่วไป จึงได้รับยกเว้น
๓) อย่างไรก็ตาม หลักเรื่อง "พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงกระทำผิดเลย" (The King can do no wrong.) ยังต้องถือว่าคงอยู่แม้ในกรณีนี้ - โดยหลักดังกล่าวถือว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการพิจารณาทางการเมืองใดๆ (is not involved in any political consideration) ดังนั้นพระองค์จึงไม่ทรงกระทำผิด, แต่ตัวผู้กราบบังคมทูลฯ แนะนำและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการต่างหาก ที่มีเจตจำนงทางการเมือง และฉะนั้นจึงมีความรับผิดชอบทางการเมืองและกฎหมาย
๔) นั่นหมายความว่าการดำเนินการใดๆ ตามพระราชดำรัสต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรและบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็น "ส่วนปฏิบัติการ" ของรัฐธรรมนูญ (efficient parts of the Constitution)
ซึ่งในกรณีพระราชดำรัส ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็หมายถึงอำนาจหน้าที่และความรับผิด ชอบของฝ่ายตุลาการทั้ง ๓ ศาลนั่นเอง
นับว่าการตีความกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" ของบวรศักดิ์มีลักษณะระมัดระวัง พยายามแยกแยะ และอิงธรรมเนียมประเพณีแบบอนุรักษ์นิยม อันนำไปสู่ข้อสรุปที่เอาเข้าจริงก็ไม่ต่างจากของธีรยุทธ บุญมี นัก กล่าวคือ:
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นอยู่ในบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ ทรงแนะนำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่ให้พระมหากษัตริย์มาทรงกระทำสิ่งที่ผิดหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ" (40)
สี่) มีชัย ฤชุพันธุ์
ในคำให้สัมภาษณ์พิเศษแก่หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน (๑๒ มิ.ย. ๒๕๔๙, น. ๑๑) มีชัย
ฤชุพันธุ์เลือกอธิบายกระบวนการ "ตุลาการภิวัตน์" หรือ [พระราชดำรัสแก่ฝ่ายตุลาการเมื่อ
๒๕ เมษายน ๒๕๔๙] + [การปฏิบัติงานสนองพระราชดำรัสของฝ่ายตุลาการทั้ง ๓ ศาลสืบต่อมา]
แบบเดียวกับคำอธิบายของ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ในหนังสือถึงประธานวุฒิสภา
นายสุชน ชาลีเครือ ที่อ้างถึงข้างต้น
กล่าวคือทั้งคู่ตีความพระราชดำรัส ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ โดยอิงมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ว่าเป็นกรณี "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ทว่าความแตกต่างโดดเด่นที่น่าสนใจยิ่ง อยู่ตรงการประเมินค่า และเหตุผลข้อถกเถียงรองรับคำอธิบายข้างต้นของมีชัย
มีชัยชี้ว่านี่เป็น "ครั้งแรก" (ย้ำคำนี้ ๒ ครั้งในบทสัมภาษณ์) ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางศาลในลักษณะนี้ อันสะท้อน "พระอัจฉริยภาพจริงๆ", "พระอัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ที่คนธรรมดานึกไม่ออก" สิ่งที่ผู้คนทั่วไปนึกคิดไม่ถึง - ทว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนึกถึงด้วยพระอัจฉริยภาพ - เกี่ยวกับเนื้อความของมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ในทรรศนะของมีชัย พอแยกแยะออกได้ ๓ ประเด็นคือ:
- เวลานึกถึงอำนาจอธิปไตย คนทั่วไปจะนึกถึงแต่ฝ่ายบริหาร อันได้แก่ คณะรัฐมนตรี และฝ่ายนิติบัญญัติ
อันได้แก่รัฐสภาเป็นหลัก, ไม่คิดถึงฝ่ายตุลาการ
- เวลาคิดถึงฝ่ายตุลาการ คนทั่วไปก็จะคิดแต่ในความหมายของการพิจารณาพิพากษาคดี,
ไม่คิดถึงในแง่ที่เป็นอำนาจส่วนหนึ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นอำนาจอธิปไตย- พระราชดำรัส ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนึกถึงฝ่ายตุลาการในฐานะเป็นองค์อำนาจ
ไม่ใช่แค่ตัวการพิจารณาพิพากษาคดี, และทรงใช้อำนาจตุลาการในฐานะอำนาจอธิปไตยเป็นครั้งแรก
สำหรับสภาพเงื่อนไขอันเป็นเหตุให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัย ริเริ่มใช้อำนาจตุลาการในฐานะอำนาจอธิปไตยเป็นครั้งแรกนี้ ก็ได้แก่วิกฤตทางการเมืองครั้งที่ ๓ (เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙, ส่วนสองครั้งก่อนคือ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ และ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕) ในครั้งนี้เกิดภาวะอำนาจอธิปไตยอีก ๒ อำนาจได้แก่บริหารและนิติบัญญัติใช้ไม่ได้เพราะเกิดปัญหา (มีการยุบสภาฯ จึงเหลือเพียงรัฐบาลรักษาการ), ทุกคนตันหมดแล้ว หมดทางไป มองไม่เห็นลู่ทาง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร, บ้านเมืองทำท่าจะเสียหายแล้ว โดยทุกครั้งที่ทรงลงมาแนะนำทางออกเพื่อแก้วิกฤตด้วยพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีหลัก ๒ ประการ คือเพื่อความสุขสงบของประเทศและความอยู่รอดปลอดภัยของประชาชน
นอกจากนี้ เวลาที่จะทรงแก้นั้น ทรงระมัดระวังที่จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ทรงแก้โดยปลอดจากการเมือง, และทรงเป็นกลาง จะไม่ทรงลงมาในลักษณะที่จะทำให้ข้างใดข้างหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าถูกหรือผิด หรือในลักษณะที่เท่ากับว่าเข้าข้างใครอีกข้างหนึ่ง ไม่ทรงไปทำให้เห็นว่าอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง - ซึ่งยากลำบากมาก แต่เพราะเหตุนั้นจึงทำให้เป็นที่ยอมรับได้
มาในครั้งนี้ พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ฝ่ายตุลาการก็ "เป็นเพียงการให้คำแนะนำ" เหมือนดังที่เคย "ทรงชี้ทาง" แก่ฝ่ายต่างๆ ในอดีต, พระองค์ "เพียงแต่บอกว่าใครควรจะลงไปทำ...ลองไปคิดดูสิว่าใครจะทำอะไร", "อาศัยอำนาจที่มีอยู่ไปทำกันเอาเอง จะไปทำอย่างไรก็ไปทำกันเอาเอง"
ส่วนฝ่ายตุลาการ ๓ ศาลที่รับสนองพระราชดำรัสนั้นก็ต้อง "ดูว่าจะทำอะไรได้บ้างในกรอบของตัวเอง", "โดยคนที่ไปทำก็จะมีขอบเขต อย่างตุลาการก็มีขอบเขต" แบ่งออกเป็น ๒ ขา ได้แก่: -
ขาแรก) อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งมีตัวบทกำหนดกรอบไว้ค่อนข้างชัดเจน มีระยะเวลา มีความเที่ยงธรรม โอกาสที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีจะเท่ากัน อันเป็นอำนาจปกติทั่วไปอยู่แล้ว
ขาหลัง) อำนาจตุลาการที่จะไปแก้วิกฤตการเมือง ในฐานะที่เป็นคนไม่รู้เรื่องบริหารและนิติบัญญัติมาก่อน.....
อำนาจขาหลังนี้เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายตุลาการเริ่มใช้ ค่อนข้างแปลกใหม่และไม่คุ้นเคย นับว่าเป็นอาณาบริเวณที่ฝ่ายตุลาการยังไม่ได้สำรวจทำความรู้จักมาก่อน (uncharted territory) จึงค่อนข้าง "อันตราย" (มีชัยย้ำคำนี้ถึง ๔ ครั้งในบทสัมภาษณ์) และต้องระมัดระวังในการดำเนินการว่าทำอะไรได้บ้าง? ทำอะไรไม่ได้บ้าง? ควรทำอะไรบ้าง? ไม่ควรทำอะไรบ้าง?
ที่สำคัญจะเดินเรื่องแค่ไหนอย่างไรดี
ขาหลัง - อันเป็นเรื่องการเมือง มีฝักมีฝ่าย มีพวกพ้อง มีคนได้รับผลร้ายและได้รับผลดี
เวลาเสียก็จะไม่พอใจ ว่ากล่าวและอาจไม่ยอมรับ ลงไปรุมศาลได้ - จึงจะไม่ไปขัดขาแรก
- อันเป็นเรื่องการพิจารณาพิพากษาคดีตามหลักกฎหมายอย่างเที่ยงธรรม - จนขาพันกันสะดุดล้มลง?
แม้แต่มีชัยเองก็พูดถึงประเด็นนี้ด้วยถ้อยคำคลุมเครือแปลกแปร่งพิกล คือใช้คำว่า
"เขา (หมาย ถึงฝ่ายตุลาการ) ก็จะแก้เท่าที่เขาจะเอื้อม เขาก็แนะนำเท่าที่เขาจะทำได้"
โดยเสนอแนะหลักการป้องกันสองขาเดินขัดกันเองแก่ฝ่ายตุลาการไว้ว่า: -
- อาศัยกระบวนการตามอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีให้สอดคล้องกัน โดยกำหนดทิศทางร่วมกันได้
- แต่ไม่ใช่ต้องตัดสินอย่างเดียวกัน หรือไปตัดสินแทนกัน เพราะจะทำให้ขาดความเป็นอิสรภาพที่ศาลแต่ละศาลสั่งกันไม่ได้
เราอาจดึงข้อสรุปสำคัญบางประการเกี่ยวกับกระบวนการตุลาการภิวัตน์ในทรรศนะของมีชัยได้ว่า:
- การใช้อำนาจตุลาการในฐานะอำนาจอธิปไตยโดยองค์พระประมุข เพื่อแก้วิกฤตทางการเมืองครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย
- โดยทรงตีความมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่ว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ - ด้วยพระอัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญชนิดที่คนธรรมดานึกไม่ออก- อย่างไรก็ตาม พระราชดำรัสของพระองค์เพียงทรงชี้ทางแนะนำแก่ฝ่ายตุลาการ ส่วนการปฏิบัติสนองพระราชดำรัสของฝ่ายตุลาการ ๓ ศาลนั้นย่อมต้องมีกรอบ มีขอบเขตของตัวเอง และต้องรับผิดชอบเอง
- ขอบเขตอำนาจของฝ่ายตุลาการในเรื่องนี้มี ๒ ขา คือขาแรกอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี และขาหลังอำนาจที่จะไปแก้วิกฤตทางการเมืองซึ่งไม่เคยทำมาก่อน เป็นครั้งแรกเช่นกัน จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังให้อำนาจสองขาเดินไปด้วยกันได้ ไม่ขัดกันเอง
ในทางวิชาการ อาจจะจริงที่การใช้อำนาจตุลาการมาแก้วิกฤตทางการเมืองทำให้อันตรายต่อศาล โดยเฉพาะถ้าใช้ไม่ถูกกาละเทศะ แต่ในภาวะวิกฤตที่หมดทางไปและฝุ่นยังตลบ อำนาจอธิปไตยด้านอื่นไม่อยู่ในฐานะที่จะแก้ปัญหาได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตุลาการอันเป็นอำนาจเดียวที่มีอยู่ โดยขอภาวนาให้เรื่องจบเร็ว ๆ ศาลจะได้ไม่ต้องออกมายุ่งกับการเมือง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
(คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกัน
ตอนที่ ๒)
เชิงอรรถ
(1) เสนอต่อการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๕๐), ๑๓ - ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
(2) ดูเอกสารบทความข้อเขียนเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังของคำสิงห์ ศรีนอกอย่างพิสดารได้ในหนังสือที่จัดพิมพ์ในวาระอายุครบรอบ ๗๐ ปีของเขา ชาติ กอบจิตติและคณะ, รวบรวม, งานและความคิดลาว คำหอม (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นักเขียน, ๒๕๔๔).
(3) ลาว คำหอม (คำสิงห์ ศรีนอก), "นักกานเมือง", ฟ้าบ่กั้น (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กอไผ่, ๒๕๓๐), หน้า ๙๘.
(4) ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 = 1932 Revolution in Siam (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547).
(5) ดูรายละเอียดใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, "ข้ออ้าง" การปฏิวัติ-รัฐประหาร-กบฏในเมืองไทยปัจจุบัน: บทวิเคราะห์และเอกสาร, เอกสารวิชาการ โครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน หมายเลข ๖/๒๕๕๐/๒๐๐๗, ชาญวิทย์ เกษตรศิริและคณะ, บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๐), หน้า ๑๒ - ๔๔.
(6) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส, ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗). ดังปรากฏข้อความในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ตอนหนึ่งว่า:
"(แต่ก็) มีปัญหาว่าจะเปนไปได้จริงเช่นนั้นฤาไม่ ต่างว่าเลิกเจ้าแผ่นดิน เลิกเจ้าและเลิกขุนนางเสียให้หมด เปลี่ยนลักษณปกครองเปนประชาธิปตัย (ริปับลิค) อันตามตำราว่าเป็นลักษณปกครองซึ่งให้โอกาศให้พลเมืองได้รับความเสมอหน้ากันมากที่สุด เพราะใคร ๆ ก็มีโอกาศที่จะได้เป็นถึงประธานาธิบดี ข้อนี้ก็ดีอยู่ (ตามตำรา)..." (หน้า ๗๒ เส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน ตัวสะกดคงไว้แบบเดิมตามต้นฉบับ)
(7) "A republic is a kind of government that has no king, queen, or other monarch and where the people are sovereign." อ้างจาก "Republic", Simple English Wikipedia, accessed 23 October 2007, <simple. wikipedia.org/wiki/Republic>.
(8) ปรีดี พนมยงค์, "เค้าโครงการเศรษฐกิจ", ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหา-วิทยาลัยธรรมศาสตร์และโครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, ๒๕๒๖), หน้า ๑๗๓ - ๗๔. ในข้อความว่า:
"ในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญคือ "บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" (เน้นโดยผู้เขียน)
(9) Kasian Tejapira, "The Politics of Translation", Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927 - 1958 (Kyoto: Kyoto University Press and Trans Pacific Press, 2001), pp. 196 - 99.
(10) ดูกรณีตัวอย่างและข้อถกเถียงเรื่องนี้ใน เกษียร เตชะพีระ, "อำนาจนำ (hegemony)", มติชนรายวัน, ๑๒ ต.ค. ๒๕๕๐, น. ๖; และ ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๕๐).
(11) ดูบันทึกคำอภิปรายและรายงานข่าวใน "ชำแหละ"ปฏิญญาฟินแลนด์" ชู"ปฏิญญาธรรม-ศาสตร์" ปกป้องสถาบันกษัตริย์", มติชนรายวัน, ๒๕ พ.ค. ๒๕๔๙, น. ๒; "ชัยอนันต์"ชี้เหตุ กค. "ทักษิณ" ไป มวลชนปะทะ ปักใจ "บางอำนาจ" เข้าแทรกแซง "เกรียงกมล" โต้ฟินแลนด์ไร้สาระ", มติชนรายวัน, ๒๕ พ.ค. ๒๕๔๙, น. ๑.
(12) ดูข้อถกเถียงละเอียดใน เกษียร เตชะพีระ, "ภาคสอง: ระบอบทักษิณ", บุชกับทักษิณ: ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ๒๕๔๗), หน้า ๑๒๑ - ๒๔๐.
(13) ดูข้อถกเถียงละเอียดใน เกษียร เตชะพีระ, "สถาบันกษัตริย์", จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙: วิกฤตประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ: มูลนิธิ ๑๔ ตุลา, ๒๕๕๐), หน้า ๓๘ - ๕๓.
(14) เห็นได้จากคำถวายสัตย์ปฏิญาณร่วมต่อสู้เพื่อถวายคืนพระราชอำนาจที่สนธิ ลิ้มทองกุลอ่านนำให้ผู้ชมกล่าวตามในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๔๘ ณ สวนลุมพินี และฎีกา ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ของสนธิ ลิ้มทองกุล, สโรชา พรอุดมศักดิ์และคณะ อ้างในคำนูณ สิทธิสมาน, ปรากฏการณ์สนธิ: จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, ๒๕๔๙), หน้า ๓๐๔ - ๐๖, ๓๑๕ - ๒๒.
(15) ดูแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฉบับที่ ๖/๒๕๔๙ นัดหมายชุมนุมใหญ่แสดงตนขอพึ่งพระบารมีขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๗ ปลดชนวนวิกฤตของแผ่นดินเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๓ มี.ค. ๒๕๔๙ ใน คนข่าวอิสระ (นามแฝง), รวบรวม, ถอดรหัสเลือกตั้ง ๒๕๔๙ ตุลาการภิวัฒน์ หยุด! ระบอบทักษิณ (กรุงเทพฯ: นาง สุนิสา อินทร์นุรักษ์, ๒๕๔๙), หน้า ๑๖๑ - ๖๓.
(16) ศัพท์รัฐศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๔), หน้า ๑๖๙.
(17) สรุปเรียบเรียงจาก John Locke, "Chap. XIV: Of Prerogative, The Second Treatise of Government: An Essay Concerning the True Original, Extent, and End of Civil Government", Two Treatises of Government, Peter Laslett, ed., (New York: New American Library, 1965), pp. 421 - 27. ข้อเขียนที่ถือเป็นงานแม่บทของปรัชญาเสรีประชาธิปไตยอังกฤษชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. ๑๖๘๙
(18) วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม, รวบรวม, รวมรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๑), หน้า ๑๑.
(19) วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : กองทุนศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, ๒๕๔๖).
คำบอกเล่าของสัญญา ธรรมศักดิ์เกี่ยวกับการได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นบ่งชี้ชัดว่าการดำเนินการแต่งตั้งซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยมาตรา ๑๔ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช ๒๕๑๕ โดยมีนายทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น เกิดขึ้นโดยเจ้าตัวงงงันไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนเลย
(20) อนุสรณ์ ศิริชาติ, "อาทิตย์ อุไรรัตน์ ไทม์แมชชีน วันหักดิบ", มติชนรายวัน, ๖ มี.ค. ๒๕๔๘, น. ๑๑.
(21) ดูตัวอย่างกรณีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ ในธนโชคและศิริกานดา, ผมผิดหรือ? ที่ยึดกรือเซะ! พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กู๊ดมอร์นิ่ง, ๒๕๔๗), หน้า ๒๕๐ - ๕๖.
(22) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อารยะขัดขืน (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมล คีมทอง, ๒๕๔๙).
(23) ดู ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม, รวบรวมเรียบเรียง, "พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่", รัฐธรรมนูญ บทกฎหมายและเอกสารสำคัญในทางการเมืองของประเทศไทย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๑๙), หน้า ๒๔๙ - ๕๐.
(24) อ้างจาก ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม, รวบรวมเรียบเรียง, "พระราชบัญญัติให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ได้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖", รัฐธรรมนูญ บทกฎหมายและเอกสารสำคัญในทางการเมืองของประเทศไทย, หน้า ๒๖๘ - ๖๙.
(25) การที่ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช นักรัฐศาสตร์ผู้จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย มิตรสนิทเก่าแก่ของสนธิ ลิ้มทองกุลและอดีตมันสมองวิชาการของเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้ตีพิมพ์บท ความ "การงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา",ผู้จัดการรายวัน, ๒๗ ก.พ. ๒๕๔๙, น. ๑๒, ออกมา "ขอให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ยังไม่ให้มีการเลือกตั้งจนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ"ประจวบเหมาะในจังหวะนั้นจึงมีนัยทางยุทธศาสตร์การเมืองที่สำคัญคล้องจองกับกรณีประวัติศาสตร์ข้างต้น
(26) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, "พระราชดำรัส ๒๕ เม.ย. ๒๕๔๙", ใน คนข่าวอิสระ (นามแฝง), รวบรวม, ถอดรหัสเลือกตั้ง ๒๕๔๙, หน้า ๗ - ๑๔.
(27) คนข่าวอิสระ (นามแฝง), รวบรวม, "บันทึกแห่งตุลาการภิวัตน์: ๓ ศาล...๓ ประสานผดุงความยุติธรรม", ถอดรหัสเลือกตั้ง ๒๕๔๙, หน้า ๖๗ - ๗๒.
(28) ธีรยุทธ บุญมี, ตุลาการภิวัตน์ (Judicial review) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๙).
(29) "เปิด จ.ม. โต้ตอบ 'ทักษิณ-บุช'", มติชนรายวัน, ๑๒ ก.ค. ๒๕๔๙, น. ๒.
(30) "ทักษิณประกาศสู้ ไม่ถอยให้อำนาจนอก รธน.", มติชนรายวัน, ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๙, น. ๒.
(31) มีชัย ฤชุพันธุ์, "ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี", ๔ ก.ค. ๒๕๔๙, www.meechaithailand.com/ index1.html.
(32) อ้างจาก บรรหาร ศิลปอาชา, สัมภาษณ์พิเศษโดยชาลินี จงจิตร, "มังกรเติ้งเปิดอินไซด์ดินเนอร์หูฉลาม," มติชนรายวัน, ๒๑ ส.ค. ๒๕๔๙, น. ๑๑.
(33) ธีรยุทธ บุญมี, "พิพากษาหาความยุติธรรมให้ประเทศ เพิ่มดุลยภาพการเมืองไทย ก้าวสู่การปฏิรูปการเมืองหน ๒", ตุลาการภิวัตน์ (Judicial review) (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๙), หน้า ๑๙, ๒๕, ๒๖. บทความนี้นำเสนอครั้งแรกในงานสัมมนา "วิกฤตประเทศไทยยุคทุนนิยมไล่ล่า" ในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อความอ้างอิงด้านล่างของธีรยุทธมาจากหนังสือเล่มนี้
(34) Jon Elster, "Majority Rule and Individual Rights", in Obrad Savi?, ed., The Politics of Human Rights (London and New York: Verso, 1999), pp. 120 - 48.
(35) "เปิดบันทึก ปธ. ศาลฎีกา ย้ำเหตุคว่ำบาตร ๓ กกต.", มติชนรายวัน, ๒ มิ.ย. ๒๕๔๙, น. ๒. ข้อความอ้างอิงด้านล่างของประธานศาลฎีกามาจากเอกสารชิ้นนี้
(36) Walter Bagehot, The English Constitution (London: The Fontana Library, 1963), pp. 111 - 20.
(37) ฉบับตัดตอนภาษาไทยได้แก่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, "ทศพิธราชธรรมกับพระมหากษัตริย์ไทย", มติชนรายวัน, ๑๑ มิ.ย. ๒๕๔๙, น. ๒; ฉบับสมบูรณ์ภาษาอังกฤษทยอยลงต่อกัน ๕ ตอนในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ได้แก่ 1) Borwornsak Uwanno, "Ten principles of a righteous King", Bangkok Post, 12 June 2006, p. 8; 2) Borwornsak Uwanno, "Thailand's Dhammaraja", Bangkok Post, 13 June 2006, p. 10; 3) Borwornsak Uwanno, "King and the Constitution", Bangkok Post, 14 June 2006, pp. 12 - 13; 4) Borwornsak Uwanno, "A Proof beyond any shadow of doubt", Bangkok Post, 15 June 2006, p. 12; 5) Borwornsak Uwanno, "The King's paternalistic governance", Bangkok Post, 16 June 2006, p. 10. ข้อความอ้างอิงด้านล่างของบวรศักดิ์มาจากบทความเหล่านี้
(38) มีชัย ฤชุพันธุ์, สัมภาษณ์พิเศษโดยหทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, "๖ ทศวรรษ...อัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญ", มติชนรายวัน, ๑๒ มิ.ย. ๒๕๔๙, น. ๑๑; และควรอ่านข้อเขียนของเขาอีกชิ้นประกอบด้วย มีชัย ฤชุพันธุ์, "อำนาจ กกต. ตาม ม. ๑๔๕", มติชนรายวัน, ๑๔ มิ.ย. ๒๕๔๙, น. ๑๑. ข้อความอ้างอิงด้านล่างของมีชัยมาจากบทสัมภาษณ์และข้อเขียนนี้
(39) Bagehot, The English Constitution, p. 111.
(40) บวรศักดิ์, "ทศพิธราชธรรมกับพระมหากษัตริย์ไทย", มติชนรายวัน, ๑๑ มิ.ย. ๒๕๔๙, น. ๒.
(คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๒)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88