โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๔๓๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (December, 19, 12, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

19-12-2550

coup d'etat
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com

 

 

รายงานวิจัย - ๑๒ เดือนของการรัฐประหารสังคมไทย
รัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ กับการเมืองไทย (ตอนที่ ๒)
รองศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ : วิจัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

งานวิจัยฉบับนี้ กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอรับมาจากผู้วิจัย เพื่อเผยแพร่ต่อสังคม
โดยเนื้อหางานวิจัย มุ่งที่จะบรรยายและวิเคราะห์กระบวนการโค่นรัฐบาลทักษิณ
ซึ่งเริ่มต้นจาก
ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ที่เปิดฉากขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามมาด้วย ตุลาการภิวัตน์
และจบลงด้วย กองทัพภิวัตน์ กับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
จากนั้นงานวิจัย ได้วิเคราะห์วิจารณ์ลักษณะแนวโน้มการเมืองไทยหลังรัฐประหาร
ภายใต้การปกครองของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยเน้นประเด็นการพยายามทำลาย
ฐานอำนาจของระบอบทักษิณ, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และ
การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๔๓๙
ผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๔๙ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รายงานวิจัย - ๑๒ เดือนของการรัฐประหารสังคมไทย
รัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ กับการเมืองไทย (ตอนที่ ๒)
รองศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ : วิจัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐



3. กองทัพภิวัตน์กับรัฐประหาร

หลังจากรักษาการนายกฯทักษิณประกาศ "ไม่ยอมเด็ดขาด" แก่ "บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ณ ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้ว. ครึ่งเดือนต่อมา ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ศกเดียวกัน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในเครื่องแบบนายพลทหารม้าสวมหมวกเบเร่ต์ดำ ก็ได้นำคณะอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนสนิทใต้บังคับบัญชา อาทิ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้น ไปบรรยายพิเศษแก่นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ ๑ - ๔ และข้าราชการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ หอประชุม รร.จปร. ต.พรหมณี อ.เมือง จ.นครนายก ในโอกาสนั้น พลเอกเปรมได้เปรียบเทียบทหารอาชีพกับม้าแข่งไว้อย่างเฉียบคมจนเป็นที่โจษขานกันกว้างขวางว่า:

".....จะเล่าให้ฟังอย่างนี้ก็แล้วกัน เปรียบเทียบคนที่เป็นทหารม้าถึงจะรู้เรื่องม้าดีและเรื่องการแข่งม้า การแข่งม้า ม้าจะมีคอก มีเจ้าของคอก คอกหนึ่งมีม้าหลายตัว ๕ ตัว ๑๐ ตัว ๒๐ ตัวก็ได้ เจ้าของคอกก็เป็นเจ้าของม้า เวลาจะไปแข่ง เขาก็ไปเอาเด็กที่เราเรียกว่าจ๊อกกี้หรือเด็กขี่ม้า ไปจ้างให้เขามาขี่ม้า เขาจะขี่ม้า พอเสร็จจากการขี่ม้า เขาก็กลับไปทำงานอย่างอื่น วันนี้เขาขี่ม้าคอกนี้ พรุ่งนี้เขาขี่ม้าอีกคอกหนึ่ง เขาไม่ได้เป็นเจ้าของม้าหรอก เขาเป็นคนขี่.....

"รัฐบาลก็เหมือนกับจ๊อกกี้ คือเข้ามาดูแลทหาร แต่ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแลกำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดีขี่เก่ง บางคนก็ขี่ไม่ดีขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน รัฐบาลบางรัฐบาลก็ทำงานดีทำงานเก่ง บางรัฐบาลก็ทำงานไม่ดีหรือไม่เก่งก็มี นี่เป็นเรื่องจริง" (1)

ต่อมาวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ พลเรือเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในเครื่องแบบนายพลทหารเรือก็ได้ไปบรรยายพิเศษหัวข้อ "การเสริมสร้างการเป็นผู้นำ ด้วยหลักคุณธรรม ความพอเพียง และความเสียสละ" ให้แก่นักเรียนนายเรือ ณ โรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ โดยกล่าวสรุปเรื่อง คนดี/คนไม่ดีในแง่คุณธรรมจริยธรรมว่า:

"คนดีนั้นต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม คนไม่ดีไม่มี และจะทำให้คนดี จะต้องทำให้เขามีคุณธรรมและจริยธรรม คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะโดยเป็นข้าราชการ เป็นอะไรก็ตาม และก็เป็นผู้บังคับบัญชา คนเป็นผู้กำหนดแนวทางให้กับหน่วยนั้นองค์กรนั้น ถ้าไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ทุกอย่างก็ล-้มเหลวหมด จะมีการโกง การกิน การเห็นแก่พรรคพวก การเห็นแก่ญาติพี่น้อง การเห็นแก่ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าเขาไม่มีคุณธรรมและไม่มีจริยธรรม" (2)

สุดท้ายวันที่ ๓๑ สิงหาคม ศกเดียวกัน พลอากาศเอกเปรม ติณสูลานนท์ในเครื่องแบบนายพลทหารอากาศได้ไปบรรยายพิเศษเรื่อง "ตามรอยพระยุคลบาทกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศของทหารอาชีพ" ที่อาคารรณนภากาศ โรงเรียนนายเรืออากาศ เขตสายไหม กรุงเทพฯ โดยเกริ่นว่า จากการบรรยายตามสถานศึกษาของทหารหลายสถาบัน บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ วันนี้จะพูดอย่างตรงไปตรงมาในฐานะที่เป็นครอบครัวและเป็นญาติกัน จะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ จากนั้นได้กล่าวบางตอนเกี่ยวกับคนไม่ดี แต่มีเงินซึ่งจะถูกพระสยามเทวาธิราชสาปแช่งว่า:

"ผมยกพระบรมราโชวาทให้ฟัง เพื่อให้เข้าใจว่าเราต้องส่งเสริมคนดี และรังเกียจคนไม่ดี การส่งเสริมคนดีอาจทำได้ง่ายกว่าการรังเกียจคนไม่ดี เพราะวัฒนธรรมไทยอาจเป็นอุปสรรคต่อการรังเกียจคนไม่ดี เรามักจะนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ คนมีเงิน ในส่วนของผู้หลักผู้ใหญ่น่าจะพอยอมรับได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ก็ยกมือไหว้ แต่คนมีเงินจะต้องดูให้ดีว่าเขามีเงินมาได้อย่างไร มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ หรือว่ามาด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง เราควรจะต้องแยกแยะให้ได้ว่าใครที่เราควรจะเคารพนับถือ ใครคือคนที่เราควรจะต้องถอยห่างออกไป หากเราไม่ทำอย่างนั้น ถ้าเรายังเคารพนับถือคนที่ไม่ดี แต่เขามีสตางค์ มีเงิน เราก็กลายเป็นคนมีส่วนร่วมโดยทางอ้อม ในการที่ไปยกย่องนับถือคนไม่ดี.....

"ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครก็ตามแม้เพียงแต่คิดจะยึดถือเป็นของตนเอง หรือของพรรคพวกของตนเอง เพื่อประโยชน์อันไม่ชอบธรรมต่อตนเอง หรือต่อพรรคพวกของตนเอง จะพบกับความหายนะในที่สุด พระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคุ้มครองคนดีของชาติบ้านเมืองเสมอ และจะสาปแช่งคนไม่ดีให้มีอันต้องตกทุกข์ได้ยากแสนสาหัสตลอดชีวิต ผมเชื่อในสิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่าชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีความศักดิ์สิทธิ์ มีบารมีจริงๆ ที่จะคุ้มครองคนดีและสาปแช่งคนไม่ดี....."(3)

ด้วยอิทธิพลผลสะเทือนแห่งเสียงปลุกเร้าเรียกร้องในชุดคำบรรยายพิเศษข้างต้นของอดีตผู้บังคับบัญชา - ผู้ได้รับการเสนอให้เป็น "เสาหลักจริยธรรมของสังคม ประสานภาคประชาชนเพื่อป้องกันคอร์รัปชั่น" โดยอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี (4) ซึ่งช่วยดลบันดาลมโนธรรมสำนึก และกระตุ้นจิตวิญญาณทหารอาชีพ ปรากฏว่าเหล่า "ทหารหาญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ได้ทยอยกันลุกขึ้นมาขานรับตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยต่อแถวตบเท้าถอยห่างออกจาก "คนที่ไม่ดี แต่เขามีสตางค์ มีเงิน" อย่างคึกคักพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นพลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพกองทัพภาคที่สาม, (5) พลเรือเอกบรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม, (6) ๔ นายพลจาก ๓ เหล่าทัพสังกัดสำนักงานรองปลัดกระทรวงกลาโหม, (7) และพลเอกมนตรี สุภาพร จเรทหารทั่วไป (8) - ต่างพากันประณามการเมืองที่เข้าก้าวก่ายแทรกแซงกองทัพ, ปฏิญาณจะปกป้องชาติและราชบัลลังก์ด้วยชีวิต, และเข้าชื่อกันส่งหนังสือร้องเรียนการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารอย่างไม่เป็นธรรม ถึงประธานองคมนตรี เป็นต้น

แล้วจู่ ๆ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็มีคำสั่ง "ฟ้าผ่า" แต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับผู้บังคับกองพันของกองทัพภาคที่หนึ่งระลอกใหญ่นอกฤดูกาล ลงนามโดยพลโทอนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพกองทัพภาคที่หนึ่ง ด้วยความเห็นชอบของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการกองทัพบก โดยส่งพลเอกวิชิต ยาทิพย์ รองผู้บัญชาการกองทัพบกมาเป็นประธานการคัดเลือกผู้ถูกโยกย้าย ปรากฏว่าบรรดาผู้บังคับกองพันที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดของเหล่านายพล อดีตนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น ๑๐ เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันกับรักษาการนายกฯทักษิณ ซึ่งคุมกำลังอยู่ในเขต กรุงเทพมหานครฯ ต่างถูกโยกย้ายสับเปลี่ยนแทนที่โดยนายทหารระดับนายพัน ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้รับความไว้วางใจจาก"ทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" นั่นเอง (9)

ขณะเดียวกันที่หลังฉาก นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ยังรับราชการอยู่และปลดประจำการแล้ว ๕ นาย ก็กำลังวางแผนรัฐประหารรัฐบาลรักษาการทักษิณตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ จากคำให้สัมภาษณ์ของนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ - อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรี และผู้อำนวยการกับคอลัมนิสต์นักวิจารณ์นายกฯทักษิณ "ขาประจำ" แห่งหนังสือพิมพ์แนวหน้า ซึ่งหลังรัฐประหารได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ - ที่บอกเล่าแก่นาย Rodney Tasker ผู้สื่อข่าว Asia Times Online เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ นั้น เขาระบุว่าสี่ในห้านายทหารผู้ริเริ่มก่อการรัฐประหารได้แก่

- พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการกองทัพบก
- พลโทอนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพกองทัพภาคที่หนึ่ง (ตำแหน่งขณะนั้น)
- พลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพกองทัพภาคที่สาม (ตำแหน่งขณะนั้น) และ
- นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ เอง

แม้นาวาอากาศตรีประสงค์จะมิได้แจงต่อว่านายทหารคนที่ ๕ คือใคร? แต่เขาก็ยืนยันว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ไม่ได้ร่วมอยู่ในคณะผู้ริเริ่มก่อรัฐประหาร ๕ คนนี้ (10)

วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าได้เปิดเผยและขัดขวางแผน "คาร์-บอมบ์" ที่พยายามลอบสังหารรักษาการนายกฯทักษิณไว้ก่อนจะดำเนินการสำเร็จ จากนั้นก็จับกุมนายทหารสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจำนวนหนึ่งเป็นผู้ต้องหา บ่ายวันเดียวกันนั้น รักษาการนายกฯทักษิณก็สั่งปลด พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จากตำแหน่ง (11)

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เขม็งเกลียวร้อนแรงพลิกผันขึ้นทุกที ถึงขั้นเกิดเหตุมวลชนฝ่ายคัดค้านรักษาการนายกฯทักษิณ ถูกอันธพาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสนับสนุนรักษาการนายกฯรุมกลั่นแกล้งทำร้ายจับกุม จนบาดเจ็บบอบช้ำเลือดอาบต่อหน้าสาธารณชน ณ ศูนย์การค้ากลางกรุงติดๆ กัน (12) เพื่อนมิตรของรักษาการนายกฯทักษิณที่ถดถอยลดน้อยลงทุกทีในกองทัพ ก็ได้รวมตัวแสดงพลังให้กำลังใจรักษาการนายกฯทักษิณ และหารือเตรียมการ หากเกิดกรณี "ไม่คาดฝัน" ขึ้นในกองพลทหารม้าที่ ๒ รักษาพระองค์เมื่อเช้าวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ก่อนเขาออกเดินทางไปร่วมประชุมอาเซมที่ประเทศฟินแลนด์ และประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ประเทศคิวบา ตบท้ายด้วยการร่วมประชุมสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกานานกว่าสิบวัน (13)

อย่างไรก็ตาม คืนวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่นายกฯทักษิณจะขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ค พลเอกสนธิกับคณะก็ได้ช่วงชิงก่อการรัฐประหารตัดหน้าเป็นผลสำเร็จโดยไม่เสียเลือดเนื้อ และสยบความพยายามอันอ่อนแอระส่ำระสายของฝ่ายรัฐบาลที่จะต่อต้านการรัฐประหารลงได้ เป็นอันว่าการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนต่อเนื่องกันนาน ๑๕ ปีของประเทศไทยได้สิ้นสุดลง

แต่นอกเหนือจากคณะผู้ก่อการแล้ว ใช่ว่ารัฐประหารครั้งนี้จะเป็นที่แปลกใจและคาดไม่ถึงของทุกคนก็หามิได้ เพราะสี่วันก่อนหน้านั้น สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสถาบันราชภัฏนครราช-สีมา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และหนึ่งในห้าแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เขียนลงคอลัมน์ "คลื่นสังคม" ประจำของเขาในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ โดยอ้างอิงข้อเขียนของเปลว สีเงิน (โรจน์ งามแม้น) แห่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และอดีตเอกอัครราชทูตสุรพงษ์ ชัยนามในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเมื่อเร็วๆ นี้มาประกอบว่า:

"หากตุลาการภิวัตน์เอาไม่อยู่ คงเหลือเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะจัดการได้คือกองทัพภิวัตน์..... (หรือนัยหนึ่ง) การอภิวัฒน์สังคมโดยกองทัพ....ให้ทหารโค่นล้มระบอบเผด็จการพลเรือน เพื่อคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยปราศจากการนองเลือด....." (14)

การขับเคลื่อนเครือข่ายข้าราชบริพาร
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙) เคยให้สัมภาษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรายชื่อบุคคลที่เป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือนและประชาชนที่เป็นเครือข่ายของพระองค์ ขณะเสด็จต่างจังหวัด พระองค์จะมีเจ้าหน้าที่แผนกหนึ่งคอยจดชื่อว่าแต่ละคนทำอะไร และคนที่จดก็แบ่งออกเป็นแผนกๆ เช่น แผนกกลาโหม แผนกมหาดไทย แผนกราชเลขาฯ และอื่น ๆ อีกมาก โดยทำเป็นดัชนีบัตรเอาไว้ คะเนว่าในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้น พระองค์มีรายชื่อในเครือข่ายแล้วกว่า ๖,๐๐๐ คน (15)

ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ดันแคน แมคคาโค ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยแห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร ได้วิเคราะห์ไว้ในบทความสำคัญชิ้นหนึ่งเมื่อสองปีก่อนว่า เครือข่ายที่เขาเรียกว่า "Network Monarchy" นั้นแผ่ขยายออกไปจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านคณะองคมนตรีและบรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนในพระบรมราชูปถัมภ์ (หรือเอ็นจีโอหลวง) (16) ลงไปถึงข้าราชบริพารทั้งปวง โดยสามารถขับเคลื่อนส่งผลสะเทือนทางการเมืองอย่างใหญ่หลวงในยามคับขันจำเป็น (17) แมคคาโคยังได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ในบทวิจารณ์ของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและประธานองคมนตรีครอบครอง "บัญชีรายการหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งไม่มีใครทัดเทียมได้" (18)

ในกระแสการเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา เครือข่ายข้าราชบริพารได้ปรากฏบทบาทให้เห็นทุกขั้นตอน ทั้งต่อหน้าธารกำนัลและอย่าง"ปิดทองหลังพระ" กล่าวคือ: ในช่วงการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อเนื่องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มราชนิกุลได้ร่วมลงชื่อถวายฎีกาเพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๗, จัดแถลงข่าว รวมทั้งเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทักษิณ โดยศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชและ, ดร. ปราโมทย์ นาครทรรพ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงและประกอบด้วยสมาชิกชั้นนำ ได้แก่ หม่อมราชวงศ์ยงยุพลัษณ์ เกษมสันต์, หม่อมหลวงอนงค์ นิลอุบล, หม่อมราชวงศ์รำพิอาภา เกษมศรี, นางสุมาลี วีระไวทยะ, นางปราไพ ประสาททองโอสถ เป็นต้น (19)

สำหรับช่วงตุลาการภิวัตน์ ได้มีการเปิดเผยบันทึกเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างบุคคล ๓ คนซึ่งถูกอ้างว่าได้แก่ พล.ต.ต. พีรพันธุ์ เปรมภูติ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาระดับ ๑๑ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กับ ตุลาการ ๒ คน คือ นายวิรัช ชินวินิจกุล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา และนายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค ๖ ช่วยงานประจำสำนักประธานศาลฎีกา ทั้งสองมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายตุลาการ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองตามพระราชดำรัส ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ตอนหนึ่งของคำสนทนานั้นกล่าวอ้างถึงการเชื่อมประสานระหว่าง ฝ่ายตุลาการ กับประธานองคมนตรีด้วย (20)

ในช่วงกองทัพภิวัตน์กับรัฐประหาร ได้ปรากฏข้อมูลน่าสนใจ - ซึ่งยังไม่ได้ถูกปฏิเสธโต้แย้งจากฝ่ายใด - จากปากของสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำเครือข่ายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระหว่างออกเดินสายปราศรัยแก่คนไทยที่วอชิงตัน ดี.ซี. ในสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ มีความบางตอนบ่งชี้ถึงบทบาทการขับเคลื่อนเครือข่ายข้าราชบริพารในสถานการณ์ตอนนั้นว่า:

"ผมมองว่า พล.อ.สุรยุทธ์ โดยพื้นฐาน ผมรู้ก่อนที่ท่านจะเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรี (ขณะยังเป็นองคมนตรี - ผู้เขียน) ตอนที่ผมสู้กับทักษิณ ท่านจะแอบโทรศัพท์เข้ามา คุณสนธิสู้ไปนะ ทนไป ทนเจ็บหน่อย ผมถึงรู้ไง มึงให้กูเจ็บ ให้กูอาบเลือด แล้วมึงก็มาเสวยสุข แต่ไม่เป็นไรช่างมัน ขอกันกินมากกว่านี้ เพื่อประเทศชาติ เรื่องเล็ก ทนเจ็บหน่อย ที่พูดให้ฟังนี่ไม่ได้ทวงบุญคุณ สนธิ ผมยอมรับว่าประเทศชาติขาดซึ่งองค์ความรู้ ผมเป็นนายกฯ เมื่อไร ผมจะให้ฟรีทีวี ให้คุณเอาฟรีทีวีไปทำเรื่องให้ประชาชนรู้ นี่จากปาก พล.อ.สุรยุทธ์ พล.อ.สนธิ.....

".....ก็พอดีทักษิณ made the biggest mistake in his life เขาไปถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ตอนนั้น ซึ่งประวัติตรงนี้ผมเคยเล่าให้คุณผู้ฟังฟังแล้ว เอาว่าเป็นครั้งแรกที่เราสามารถจะรวมพลได้เป็นหมื่น หลายครั้งเป็นแสน พวกนี้ก็เห็นแล้ว เฮ้ย ไอ้เจ๊กแซ่ลิ้มมันใช้ได้ ก็เข้ามาอยู่ข้างหลัง ตอนนี้ก็เริ่มแล้วพล.อ.สุรยุทธ์ โทรมา พล.อ.สนธิ ให้คนใกล้ชิดโทรมา ในวังมีเยอะ เส้นสายในวัง ทุกคนสนิทหมด ผมถึงเลย คุณไม่ต้องพูดว่าถึงไม่ถึง คุณมีอะไรก็พูดมา รับรองถึงหูพระกรรณ ผมไม่สนใจหรอก เสร็จเรียบร้อยแล้วก็เริ่มมาหนุนหลังกระบวนการเรา หนุนหลังมาตลอด จนกระทั่งเริ่มรุนแรงขึ้นๆ เเละเริ่มที่จะปะทะกัน

ตัวชี้ขาดคือเหตุการณ์ของตอนนั้นทหารฮึ่มๆ อยู่ตลอดเวลา คุณสพรั่งเข้า เดินเช้าเดินเย็น กินข้าวกับ พล.อ.สนธิ กินข้าวจานเดียวกัน ยุให้ พล.อ.สนธิ ยึดอำนาจ ตลอดเวลา พล.อ.สนธิ คือสนธิ บัง คือยังดำรงความเจ้าเล่ห์เเสนกลเอาไว้ นั่งเงียบๆ คงคำนวณดีๆ ว่าจะมูฟอย่างไร จนกระทั่งมีสัญญาณบางสัญญาณมาถึงผม จู่ ๆ ผมสู้อยู่ก็มีของขวัญชิ้นหนึ่งมาจากราชสำนัก ผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบา ซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี ปรากฏว่าผมได้รับแค่วันเดียว ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา โทรศัพท์มาหาผมเต็มเลย ป๋าเปรมให้คนสนิทโทรมา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทุกคนโทรมาหมดถามว่าจริงหรือเปล่า....." (21)

การเมืองไทยหลังรัฐประหาร: บทวิเคราะห์โดยภาพรวม
แม้จะยังฟันธงให้คำตอบสุดท้ายเกี่ยวกับรัฐประหาร ๑๙ กันยาฯ กับประชาธิปไตยไทยไม่ได้หมดจดถี่ถ้วน แต่ก็พอจะตั้งข้อสังเกตวิเคราะห์ วิจารณ์ขั้นต้นได้ดังต่อไปนี้:

๑) รัฐประหารเพื่อราชบัลลังก์
โดยแก่นแท้แล้ว รัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นรัฐประหารเพื่อราชบัลลังก์ ดังที่แถลงการณ์ของคณะผู้ก่อการฯได้ให้เหตุผลการยึดอำนาจไว้ประการหนึ่งว่า: - "การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน.....หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง" (22)

ยิ่งไปกว่านั้นชื่อของคณะผู้ก่อการฯ ซึ่งปรากฏรายงานข่าวว่าพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้เป็นหัวหน้าใคร่ครวญไตร่ตรองอยู่นานก่อนจะตั้งให้ว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (คปค.) (23) ก็บ่งชี้ชัดว่า รัฐประหารครั้งนี้ก่อขึ้นเพื่อปฏิรูปการปกครองภายในกรอบ - ไม่ใช่ล่วงเลยออกไปข้างนอกกรอบ - ของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข". กล่าวอีกนัยหนึ่งคือก่อรัฐประหารขึ้นก็เพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยไทยไปในลักษณะวิถีทางที่จะทำให้มันปลอดภัยสำหรับสถาบันกษัตริย์ จากการท้าทายด้วยอำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ หรือที่พลเอกสนธิเรียกในเวลาต่อมาว่า "เผด็จการทุนนิยม" นั่นเอง (24)

๒) รัฐประหารเชิงตั้งรับ
ฉะนั้น รัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นรัฐประหารเชิงตั้งรับ ที่ก่อขึ้นโดย "ทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารอาชีพมากกว่าทหารการเมือง. ในความหมายนี้ จึงจัดได้ว่ามันเข้าข่ายเป็นการแทรกแซงทางการเมืองในแบบฉบับของกองทัพผู้พิทักษ์/แก้ไข (the Guardian/Corrective Army) และ/หรือ กองทัพกรรมการเลือกข้างลำเอียง (the Partial Moderator Type Army) มากกว่ากองทัพนักปกครอง (the Ruler Type Army) หากยึดตามการจัดแบ่งประเภทของศาสตราจารย์ Talukder Maniruzzaman นักรัฐศาสตร์ชาวบังคลาเทศ ผู้ศึกษาเปรียบเทียบทหารกับการเมืองทั่วโลก (25)

มันจึงไม่น่าจะนำไปสู่การปกครองโดยทหารแบบวางแผนไว้ต่อเนื่องยาวนาน อย่างในสมัยนายกฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๗, ๒๔๙๑ - ๒๕๐๐) หรือจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส (พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๑๖) แต่น่าจะเป็นการแทรกแซงเฉพาะกิจเฉพาะการณ์ ที่ค่อนข้างสั้น จากนั้นก็ฟื้นฟูการปกครองโดยพลเรือนคืนมา พร้อมกับทหารพากันยกพลกลับสู่กรมกองบางส่วน

ที่กล่าวว่า ทหารจะพากันยกพลกลับสู่กรมกองบางส่วนนั้น ก็เป็นไปในความหมายเชิงอุปมา อุปไมยที่ว่า เมื่อบรรดาผู้ก่อรัฐประหารขึ้น "ขี่เสือ" (หมายถึงใช้กำลังอาวุธก่อกบฏเข้ายึดอำนาจรัฐอย่างผิดกฎหมาย) แล้ว พวกเขาก็จำต้องหาทาง "ลงจากหลังเสือ" (วางมือจากอำนาจรัฐโดยตรง) อย่างปลอดภัย ไม่ให้ "เสือ" (อำนาจรัฐในอนาคต) หันมา "ขม้ำ" (เล่นงานด้วยข้อหาต่างๆ ย้อนหลัง) เอาได้ในภายหลัง. ด้วยการพยายามธำรงรักษาอำนาจของตนและพวกพ้องให้ตกทอดหลงเหลือไว้ ในระบอบการเมืองหลังเลือกตั้งบ้าง อย่างน้อยก็ในด้านกิจการกองทัพ ทั้งนี้อาจด้วยวิธีส่งอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งอย่างไม่ประเจิดประเจ้อ, ช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่เห็นอกเห็นใจทหารได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม, และรื้อฟื้นโครงสร้างการจัดตั้งเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนรากหญ้าเพื่อความมั่นคง ที่ควบคุมโดยฝ่ายทหารอย่างในสมัยสงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์ขึ้นมา เผื่อไว้เรียกใช้ในกรณีต้องจัดแสดงพลังมวลชนหรือมติมหาชนได้ตามต้องการ (26)

ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของพลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร - อดีตแม่ทัพภาคที่ ๓ และ ๑ ใน ๕ ผู้ริเริ่มก่อรัฐประหาร ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๙ ซึ่งต่อมาเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) - ในวงสัมมนาวาดภาพอนาคตประเทศไทย หัวข้อ "ทหารกับการเมือง" จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๕๐ ความบางตอนว่า:

"ตนไม่ปฏิเสธความผิดพลาดของทหารในอดีตจากเหตุการณ์พฤษภา ความผิดพลาดครั้งนั้นทำให้ทหารกลับมาปรับบทบาท ต้องกอบกู้ภาพลักษณ์กลับมา การที่เรากลับมาแทรกแซงในครั้งนี้เพราะพฤติกรรมนักการเมืองที่เข้ามาอยู่ในอำนาจ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ เราไม่มีสิทธิ ไม่ใช่พวกเราจ้องหรือฉวยโอกาส เราห่วงใยสถานการณ์ในหลาย ๆ ด้าน นักการเมืองที่ซื่อสัตย์ควรจะได้เข้ามาเป็นผู้นำ และเหตุการณ์ที่นำมาสู่การรัฐประหารเป็นสิ่งที่มาจากการเปิดโปงโดยประชาชน โดยนักการเมืองด้วยกัน ไม่ใช่ทหารเป็นคนเปิดโปง ทหารไม่ได้ขุดคุ้ยขึ้นมา เราอยากมีความสุขบั้นปลายชีวิต เราไม่อยากเป็นโอลด์โซเยอร์ เนเวอร์ดาย

"เราทำสัญญาประชาคมว่า ๑ ปีแล้วจะถอยออกไป เราทำทุกอย่างด้วยความจำเป็นเพราะทุกอย่างเดินต่อไปไม่ได้ สิ่งที่ทหารควรทำคือชดเชยในอดีตที่ผู้บังคับบัญชาเคยทำผิดพลาดสมัยพฤษภา และจากที่เข้ามาอยู่ ๘ เดือนเราอยากเห็นการเข้ามาจัดระเบียบในอำนาจที่มีอยู่..... เราขอยืนยันว่า หลังจากนี้ คมช.จะไม่เป็นเหมือนปี ๓๕ จะไม่เบี่ยงเบน ไม่หลงติดกับอำนาจ เราเป็นทหารยุคใหม่มองเห็นอำนาจเป็นสิ่งที่น่ากลัว.....

"วันนี้ คมช. มีกรอบการทำงานชัดเจนว่าจะส่งมอบการทำงานให้รัฐบาลใหม่ ต้องรู้ว่าส่งมอบให้กับใคร ไม่ใช่ใครที่ไหนก็มารับ ไม่อย่างนั้นที่ทำมาก็สูญเปล่า จุดที่เราพูดว่าประชาธิปไตยอยู่ที่การเลือกตั้ง การเลือกตั้งสำคัญก็จริง แต่ไม่ใช่สาระสำคัญที่สุด ทั้งหมดอยู่ที่จะให้ใครมาใช้อำนาจแทนเรา ต้องทำให้กลไกนั้นคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้.....

"...อยากบอกว่าอย่ากลับมาเช็คบิลพวกเรา หากเช็คบิลเราก็จะเช็คบิลกลับ และหากมีนักการเมืองที่ต้องการทำให้กองทัพอ่อนแอเพราะตั้งข้อรังเกียจ หากทำขอให้ช่วยออกมาต่อต้าน และหากต้องการให้กองทัพอ่อนแอเพราะระแวง คนอย่างนั้นไม่ควรเล่นการเมือง แม้แต่ อบต.ก็ไม่ควรให้เป็น" (27)

ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้กำลังดำเนินการอยู่ ฉะนั้นจึงคาดหมายได้ว่าหนทางที่ทหารจะเดินทัพตบเท้าออกจากการเมืองการปกครอง กลับสู่กรมกองอีกครั้งหนึ่งนั้น คงจะวกวนเป็นเขาวงกต ยืดเยื้ออ้อมค้อม ซิกแซกไปมา สลับซับซ้อนและกินเวลาพอสมควร (28)

๓) เผด็จการหน่อมแน้มหรือเผด็จการครึ่งใบ
ในสภาพที่ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งต่อเนื่องกันมานาน ๑๕ ปี จาก พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๔๙ ประชาสังคมไทย องค์กรพัฒนาเอกชนและขบวนการประชาชนได้เติบใหญ่เข้มแข็ง หลากหลายซับซ้อนขึ้นกว่าก่อนมาก จนถึงขนาดที่ทหารจะก่อรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จได้ในครั้งนี้ ก็แต่โดยได้ความร่วมมือจากประชาสังคมเท่านั้น และดังนั้นเผด็จการทหารชนิดเดียวที่เป็นไปได้ในทุกวันนี้ จึงได้แก่เผด็จการหน่อมแน้มหรือเผด็จการครึ่งใบ (softie or semi-dictatorship)

ความข้อนี้จะเห็นได้จากลักษณะการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารกับรัฐบาลสุรยุทธ์ ที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างระมัดระวัง ละล้าละลัง อิหลักอิเหลื่อ ชักเข้าชักออกและไม่ค่อยกล้าล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากนัก ถึงแม้ในทางทฤษฎีแล้วพวกเขาจะมีอำนาจเด็ดขาดสัมบูรณ์ก็ตาม (29) จนอาจกล่าวได้ว่าอำนาจที่ได้มาจากปืนของคณะรัฐประหาร เอาเข้าจริงกลับไม่สามารถยิงปืนนั้นได้ เพราะเกรงจะสูญเสียความยอมรับจากประชาชน (30)

นอกจากนี้ บรรณาธิการและผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์, นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรประชาชน, นักวิชาการ, เทคโนแครต, นายธนาคาร, สมาชิกเครือข่ายข้าราชบริพาร, และตัวแทนประชาสังคมอื่นๆ มากหน้าหลายตายังได้รับแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารกับรัฐบาลสุรยุทธ์ ให้เข้าไปแบ่งปันกันใช้อำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารในสถาบันต่างๆ ที่ตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมทั้งประกาศและคำสั่งของ คปค. ฉบับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี, (31) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, (32) สมัชชาแห่งชาติ, (33) สภาร่างรัฐธรรมนูญ, (34) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, (35) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ, (36) และคณะที่ปรึกษาอื่น ๆ (37) จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีว่า อำนาจรัฐของคณะรัฐประหารชุดนี้มี "ขุนนางเอ็นจีโอ" เข้าไปร่วมส่วนด้วยมาก เป็นต้น (38)

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว หุ้นส่วนทางการเมืองระหว่างทหารกับภาคส่วนสำคัญของประชาสังคม ภายใต้พระราชอำนาจนำนี่แหละ ที่เป็นฐานอำนาจแท้จริงของรัฐบาลสุรยุทธ์

๔) กลไกรัฐราชการอ่อนลง
เผด็จการหน่อมแน้มยังเกิดจากบุคลิกลักษณะของกลไกรัฐไทยที่เปลี่ยนไปด้วย. นับแต่ยุครุ่งเรืองของรัฐราชการไทย ในพุทธทศวรรษที่ ๒๔๙๐ - กลางพุทธทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา ระบบราชการที่เคยกุมอำนาจใหญ่โต และรวมศูนย์ปกครองประเทศดุจอาณานิคมของตนก็มิปานนั้น (39) ได้ผ่านพบความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากมาย รัฐบาลในระบอบเลือกตั้งธิปไตยชุดต่างๆ (40) ได้ดึงเอาระบบราชการมาขึ้นต่อและรับใช้ภาคการเมือง, เล่นการเมือง, แทรกแซงระบบบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคด้านการเงิน การคลัง ของพวกเทคโนแครตอันประกอบไปด้วยกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงบประมาณ, และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนมันเสื่อมถอยพังพาบลงและไม่อาจทำหน้าที่ได้ เป็นผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ (41)

ในระยะหลังมานี้ ภายใต้การนำรวบอำนาจแบบอัตตาธิปไตยเยี่ยงเถ้าแก่ซีอีโอของนายกฯทักษิณ ความเป็นอิสระทางการเมือง, ความเป็นปึกแผ่นภายในและจรรยาบรรณวิชาชีพของระบบราชการ ก็ยิ่งถูกพลังการเมืองนอกระบบราชการในรัฐบาลกัดกร่อนบ่อนเบียนไปอีก (42) ถึงขนาดที่กล่าวกันว่าในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้น จะตามหาหรือเข้าพบผู้ว่าฯซีอีโอจังหวัดต่างๆ ตอนเช้าวันเสาร์ได้ยากยิ่ง เนื่องจากพวกท่านต่างต้องพากันเอาหูแนบวิทยุจดจ่อรอฟังแนวนโยบายคำชี้แนะประจำสัปดาห์ล่าสุดจากนายกฯซูเปอร์ซีอีโอ ในรายการนายกฯทักษิณพบประชาชนทางวิทยุแห่งประเทศไทยของกรมประชาสัมพันธ์. จนกระทั่งที่สุดแล้วในบรรดาข้าราชการ ก็เหลือเพียงทหาร, ตุลาการ และองคมนตรีเท่านั้น ที่ยังมีอิสระพอจะทัดทานรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ (43)

ดังนั้น แม้นายกฯทักษิณจะพ้นจากอำนาจไปแล้วก็ตาม ข้าราชการจำนวนมากก็ยังคงเสื่อมเสียขวัญกำลังใจ, คุ้นชินการขึ้นต่อนักการเมืองและหวั่นวิตกเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองเสียจน กระทั่งพวกเขาเลือก "ใส่เกียร์ว่าง" และรอดูสถานการณ์ มากกว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ที่ทหารแต่งตั้งเข้ามาอย่างขันแข็งจริงจัง ในการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาลเก่า (44) โดยคาดการณ์ว่า มิช้านานบรรดานักการเมืองอดีตผู้นำรัฐบาล ก็อาจจะได้หวนคืนสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งอีก และไม่แน่ว่าสิ่งที่ตนทำสนองนโยบายรัฐบาลสุรยุทธ์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติในวันนี้ อาจส่งผลให้ตัวเองถูกผู้เสียหายฟ้องร้องต่อศาลกลับในวันข้างหน้าก็เป็นได้ (45)

๕) การเมืองอำนาจนิยมแบบไทยๆ
เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณและสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจรัฐประหาร คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองกับรัฐบาลสุรยุทธ์ ได้เลือกใช้ยุทธศาสตร์ทางการเมืองวัฒนธรรมสองด้าน อันประกอบไปด้วย [การเมืองอำนาจนิยมแบบไทย ๆ + เศรษฐกิจพอเพียง]

กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง พวกเขาพยายามรื้อฟื้นโครงสร้างอำนาจที่เหลื่อมล้ำลดหลั่นเป็นลำดับชั้นกลับมาใหม่ในการเมืองไทย อันเป็นความไม่เสมอภาคทางอำนาจที่ตั้งอยู่บนอุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทยโสดหนึ่ง กับคติที่ถือว่าชนชั้นนำเป็นคนดีมีศีลธรรมอีกโสดหนึ่ง (46) โดยมีระบบราชการกับเครือข่ายข้าราชบริพาร เป็นฐานรองรับค้ำจุนโครงสร้างดังกล่าวในเชิงสถาบัน. พูดง่ายๆ ก็คือ: คนไทยไม่ควรมีอำนาจเท่ากัน คนไทยบางคนควรมีอำนาจมากกว่าคนไทยคนอื่น เพราะพวกเขามีความเป็นไทยมากกว่า และเป็นคนดีมีศีลธรรมยิ่งกว่าคนไทยคนอื่น และเมืองไทยนี้ดีแล้วที่เป็นเช่นนี้!

สำหรับปัญหาว่าอะไรจะเป็นมาตรฐานบ่งบอกความเป็นไทยและคนดีมีศีลธรรม? และใครจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งชี้วัดตัดสินตรวจสอบรับรองความเป็นไทยและคนดีมีศีลธรรมของบุคคลต่างๆ ? นั้น ในทางปฏิบัติ ก็จะได้แก่ "ผู้หลักผู้ใหญ่" ของบ้านเมืองนั่นเอง อาทิเช่น:

- พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษอาวุโสและประธานองคมนตรี รับประกันยืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ "เป็นคนที่ดีมากๆ และเห็นแก่ส่วนรวมจริงๆ" (47)

- ในทางกลับกัน นายกฯ สุรยุทธ์ก็แสดงความเห็นเรื่องการให้สัมภาษณ์ของอดีตนายกฯทักษิณ แก่สื่อต่างชาติเกี่ยวกับเมืองไทยว่า "คำพูดดังกล่าวไม่ใช่เป็นคนไทย" (48)

ฐานคติการเมืองอำนาจนิยมแบบไทยๆ ดังกล่าวยังหมายรวมด้วยว่า เพื่อเห็นแก่ความสมานฉันท์ สามัคคีของคนในชาติ คนไทยไม่ควรขัดแย้งกันทางการเมือง, หากควรครองตนเป็นข้าแผ่นดินที่มีวินัย เชื่อถือไว้วางใจผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้นำ แล้วปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของท่านในทางปฏิบัตินั่นเอง

๖) เศรษฐกิจพอเพียง
ในอีกด้านหนึ่ง เพื่อต้านทานแนวโน้มครอบงำเบ็ดเสร็จของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองกับรัฐบาลสุรยุทธ์ ได้รณรงค์ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเอาจริงเอาจัง โดยประกาศเป็นนโยบายรัฐบาลและเผยแพร่ต่อนานาประเทศผ่านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (49) พร้อมกันนั้น รัฐบาลสุรยุทธ์ก็ได้ขยับปรับเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องนี้จาก "เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หรือนโยบายเศรษฐกิจทางเลือกใหม่" ไปเป็น "เศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต" ด้วย ตามคำวิจารณ์เสนอแนะของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมลและคนอื่น ๆ

นี่สะท้อนว่าในที่สุดแล้ว ทางเดินของเศรษฐกิจไทยในวิสัยทัศน์ชนชั้นนำทหาร-ข้าราชการเดิม จะไม่ไกลไปกว่า เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในความหมายที่ว่า:

- พระองค์ทรงเป็น ประมุขแห่งรัฐ อันเป็นกลไกอำนาจสาธารณะที่จำเป็นในการบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่มากับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ให้เกิดประโยชน์โภคผล

- และพระองค์ยังทรงเป็น ประมุขผู้ทรงชี้นำคุณธรรมทางเศรษฐกิจ ที่พสกนิกรควรยึดถือประพฤติปฏิบัติในการเดินเส้นทางสุ่มเสี่ยงสายโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่นี้สืบไป ดังที่โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอุตสาหกรรมในรัฐบาลชุดนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า:

"ความจริง เศรษฐกิจพอเพียงก็คือ การเอาคุณธรรมมาใส่ทุนนิยม ซึ่งก็คือหลัก ๔ ป.ของท่านนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย ๑.โปร่งใส ๒. เป็นธรรม ๓. ประหยัด และ ๔. ประสิทธิภาพ เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะความโปร่งใส กลไกการตลาดก็ทำงานไม่ได้ แล้วถ้าไม่มีกลไกตลาด การแข่งขันก็ไม่เกิด สุดท้ายระบบเศรษฐกิจก็ไม่เสรี ประสิทธิภาพก็สำคัญ เพราะถ้ามีมากขึ้นก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เบสิคคำหลักๆ จะอยู่ที่คุณธรรม เพราะทุนนิยมของไทยจะเป็นแบบที่ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นคุณธรรม เพราะมันเป็นทางเลือกที่ผมมองว่า เหมาะสมสำหรับสังคมไทย ผมเชื่อ (เน้นเสียง) โดยส่วนตัวของผมว่าเหมาะสำหรับสังคมไทย" (51)

ในทำนองเดียวกัน นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เศรษฐกิจและผู้นำพอเพียง ทางเลือกใหม่ของประเทศชาติ" ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี เมื่อค่ำวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ แก่นักธุรกิจชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศตอนหนึ่งว่า: "สิ่งที่ยึดเสมอคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเหมือนเป็นทางสองแพร่งระหว่างทุนนิยมสุดขั้ว ที่เต็มไปด้วยแสงสี กับธรรมาธิปไตย ที่ไม่มีแสงสีแต่ปลายทางเป็นความสุขทุกคน" (52)

ทว่าคำแถลงของรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางปรัชญาในอุดมคติดังกล่าว ส่งผลโดยไม่ตั้งใจให้นักลงทุนต่างชาติพากันวิตกกังวลสับสนเรื่องแนวนโยบายเศรษฐกิจของไทย ชนิดที่รัฐบาลต้องส่งผู้แทนตามไปชี้แจงหลายต่อหลายครั้ง

รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ = รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันคนอย่างทักษิณ

"เราต้องขอบคุณ คุณทักษิณที่ทำตัวอย่างที่เลวไว้และเที่ยวแสดงให้คนเห็น เราไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อทำลายท่าน แต่เราเขียนมันเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นทำตัวอย่างท่านและสมัครพรรคพวก"
นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ (หนึ่งในห้าผู้ริเริ่มก่อการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐) (53)

ด้วยสัดส่วนคะแนนเสียงเห็นชอบประมาณ ๕๖.๖๙% ต่อไม่เห็นชอบ ๔๑.๓๗% หรือเห็น ชอบ ๑๔,๗๒๗,๓๐๖ คนต่อไม่เห็นชอบ ๑๐,๗๔๗,๔๔๑ คน จากผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติทั้งสิ้นราว ๕๗.๖๑% หรือ ๒๕,๙๗๘,๙๕๔ คนจากผู้มีสิทธิทั้งสิ้น ๔๕,๐๙๒,๙๕๕ คนเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ ตามการแถลงผลอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารที่ออกแบบมาเพื่อป้องกัน "คนอย่างทักษิณ" ไม่ให้ครองอำนาจได้อีกในอนาคตก็ผ่านออกมาบังคับใช้ตามมาตรา ๓๑ แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙

เป็นอันว่าส่วนสำคัญของขั้นตอนที่ ๔ ในแผนปฏิรูปการเมือง ๔ ขั้นของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร เพื่อขจัด "ระบอบเผด็จการทุนนิยม" ของทักษิณได้ลุล่วงไป ในสภาพที่อำนาจแท้จริงของระบอบทักษิณอยู่ตรง [อำนาจทุน + คะแนนเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง] แผนดังกล่าวจึงถูกออกแบบมาให้ประกอบด้วย:

- ยุบพรรคไทยรักไทย อันเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่และศูนย์รวมคะแนนเสียงข้างมากของคนจนคนชายขอบ พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคมีกำหนด ๕ ปี

- ดำเนินคดีอาญาทุจริตคอร์รัปชั่น นำไปสู่การอายัดทรัพย์สินที่เป็นกำลังทุนในประเทศของกลุ่มทุนใหญ่ แกนนำพรรคไทยรักไทยโดย คตส. และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในที่สุด

- พรรคแตก ส.ส. วิ่งกระจัดกระจาย และสิ้นสุด แยกสลายกำลังนักเลือกตั้งมุ้งต่างๆ ออกไป โดดเดี่ยวแกนนำการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ให้เล็กลีบลง

- การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง เพื่อส่งต่อผ่องถ่ายอำนาจรัฐให้แก่พรรครัฐบาลใหม่ที่ไว้วางใจได้ ในความหมาย "จะต้องรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หมายถึงรักประเทศไทย รักสถาบัน" (54)

เหลือเพียงการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ภายใต้การอำนวยการของรัฐบาล ที่นับแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา มีพลเอกสนธิเองเป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) และ กอ.รมน. แทนนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการรณรงค์และแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงด้วย ดังที่พลเอกสนธิได้กล่าวกับรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ในการประชุมหารือครั้งแรกภายหลังรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีว่า:

"กระทรวงมหาดไทยถือเป็นองค์กรที่สำคัญมาก ทุกอย่างอยู่ในมือเรา ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อบต. อบจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มหาดไทยต้องยึดมั่นไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะชี้แนะไปทางใดก็ตาม เจ้าหน้าที่มหาดไทยต้องชี้ให้ชัดเจนว่า สิ่งใดคือการเลือกตั้งที่ถูก สิ่งใดผิด เพราะหากการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดความผิดพลาด จะเกิดวงจรตีกลับ ประเทศชาติจะเปลี่ยนแปลง คนมหาดไทยก็จะเสียใจด้วย" (55)

ความหมายสุดท้ายที่แท้จริงทางการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติจึงไม่น่าจะใช่เรื่องเทคนิคกฎหมายมหาชน สิทธิเสรีภาพ และศีลธรรมจริยธรรมดังที่มักกล่าวอ้างกัน แต่เป็นการป้องกัน "คนอย่างทักษิณ" หรือขจัด"ระบอบเผด็จการทุนนิยม" ต่างหาก และรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ บรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองการปกครองต่างๆ ผ่านการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันเหล่านั้นเสียใหม่ใน ๔ ด้านด้วยกันกล่าวคือ:

๑) ลดทอนอำนาจและอิสระของ [ฝ่ายบริหาร] เมื่อเทียบกับ [ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ] ลง

๒) ลดทอนอำนาจและอิสระของ [นักการเมืองจากการเลือกตั้งโดยรวม] เมื่อเทียบกับอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลของ [สถาบันการเมือง องค์กรอิสระ และข้าราชการประจำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน] ลง

๓) ลดทอนอำนาจและอิสระของ [แกนนำพรรคระดับชาติ] เมื่อเทียบกับ [หัวหน้ามุ้งระดับท้องถิ่น] ลง

๔) ลดทอนช่องทางความเป็นไปได้ที่ [พรรคใหญ่-ทุนใหญ่] จะผูกขาดการเมืองและครอบงำควบรวม [พรรค-ทุนขนาดกลางและเล็ก] ลง

บรรดานักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์และวิศวกรการเมืองผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มุ่งบรรลุผลลัพธ์เหล่านี้ด้วยชุดกลไกมาตรการต่าง ๆ ได้แก่:

- เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณี ส.ส. เขต ๔๐๐ คน จากแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว เป็นรวมเขตเรียงเบอร์. และในกรณี ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรค ๘๐ คนจากบัญชีเดียวทั้งประเทศ เป็น ๘ บัญชีแยกตาม ๘ กลุ่มจังหวัด. ทั้งยังให้ ส.ส. ที่ขึ้นเป็นรัฐมนตรีในฝ่ายบริหารคงตำแหน่ง ส.ส. ในฝ่ายนิติบัญญัติไว้ได้ต่อไป และเปิดช่องทางให้ ส.ส. ที่ถูกขับออกจากพรรคหรือถูกยุบพรรคเข้าสังกัดพรรคใหม่ได้ในเงื่อนไขที่แน่นอน

- เหล่านี้จะทำให้ได้สภาผู้แทนราษฎรหลายพรรค และบั่นทอนการนำระดับชาติของพรรคลง แต่เพิ่มพูนอิทธิพลและอำนาจต่อรองของนักเลือกตั้งท้องถิ่นมุ้งต่างๆ ขึ้น ฝ่ายบริหารที่ได้จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค (นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคชาติไทยคาดว่า จะเป็นรัฐบาล ๕ พรรค) ซึ่งอ่อนแอ ไม่มั่นคง ไม่อาจริเริ่มนโยบายใหม่ได้ง่าย เพราะอาจถูกถอดถอนการสนับสนุนจากพรรคหรือมุ้งร่วมรัฐบาลที่เห็นต่างหรือเสียประโยชน์ได้

- เปลี่ยนแปลงระบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จากเลือกตั้งอย่างเดียว เป็นสรรหากึ่งหนึ่ง เลือกตั้งกึ่งหนึ่ง แต่ยังคงให้วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง จากการเลือกตั้ง เช่น นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, และ ส.ส. ได้

- เพิ่มอำนาจข้าราชการตุลาการและ "คนดี" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในการตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองจากการเลือกตั้งไม่ให้ "ทำชั่ว"ผ่านการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาและองค์กรอิสระต่างๆ และกระทั่งให้อำนาจนิติบัญญัติแก่ศาล และองค์กรอิสระในการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้

- ค้ำประกันอิสระ โดยสัมพัทธ์ของข้าราชการประจำในการปฏิบัติงาน บรรจุแต่งตั้งโยกย้ายโอนเลื่อนและปลดพ้นตำแหน่ง จากการก้าวก่ายแทรกแซงของ ส.ส., ส.ว., นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีและนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่นหรือพรรค ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เว้นแต่ทำตามอำนาจหน้าที่ตามนโยบาย หรือกฎหมายบัญญัติ (มาตรา ๒๖๖, ๒๖๘, ๒๘๔)

- ทหารได้การยอมรับและรับรองว่ามีสิทธิอำนาจสูงสุด ที่จะใช้กำลังอาวุธตัดสินชี้ขาดคำถามหลักทางการเมืองว่าใคร? ควรจะได้หรือไม่ได้อำนาจและทรัพยากรสาธารณะอะไร? ไปเมื่อไหร่? อย่างไร? ว่าทหารเป็นผู้กำหนดสถาปนากรอบกติกาและโครงสร้างทางการเมืองการปกครองต่างๆ ให้สังคมไทยในท้ายที่สุด - ทั้งโดยผ่านกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น และภายในตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (มาตรา ๓๐๙) (56)

สรุปผลลัพธ์โดยรวมของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จึงเป็นการเหวี่ยงสวิงดุลอำนาจการเมืองจากกลุ่มทุนใหญ่ กับพันธมิตรเสียงข้างมากที่เป็นคนจนคนชายขอบ ให้เอียงกระเท่เร่ไปทางทหาร, ตุลาการ, "คนดี" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และข้าราชการประจำกับพันธมิตรคนชั้นกลางนั่นเอง

แนวโน้มการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง
ก่อนจะคาดการณ์แนวโน้มการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ๒๓ ธ.ค. ๒๕๕๐ ควรที่จะลองหันกลับไปดูทิศทางการเมืองไทยในสองสามปีที่ผ่านมาเป็นภูมิหลังพื้นฐานสักเล็กน้อย

Freedom House อันเป็นองค์กรเอกชนด้านการวิจัยและวิชาการทางการเมืองของสหรัฐ-อเมริกาซึ่งส่งเสริมประชาธิปไตยแบบตะวันตก และต่อต้านเผด็จการรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าฟัสซิสต์, คอมมิวนิสต์, หรือเผด็จการทหาร ฯลฯ มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองนั้น จะทำรายงาน "Freedom in the World" ออกมาทุกปี เพื่อตรวจวัดระดับสิทธิทางการเมืองกับเสรีภาพพลเมือง (Political Rights + Civil Liberties) ใน ๑๙๓ ประเทศทั่วโลก และจัดอันดับความเป็นเสรีประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้น แล้วจำแนกออกเป็น ๓ ประเภทด้วยกัน กล่าวคือ:

1. Free หมายถึงประเทศเสรีที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยตั้งมั่น (Established Democracy)
2. Partly Free หมายถึงประเทศกึ่งเสรีที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยระยะผ่าน (Transitional Democracy) และ
3. Not Free หมายถึงประเทศไม่เสรีที่ปกครองในระบอบไม่ประชาธิปไตย (Non-Democracy)
หรือนัยหนึ่งเผด็จการ (Dictatorship) นั่นเอง

ปรากฏว่าในระยะ ๓ ปีที่ผ่านมา อันดับประเทศไทยในรายงานดังกล่าวเป็นดังนี้คือ: (57)

การที่อันดับของประเทศไทยตกจาก Free อันเป็นสภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ มาเป็น Partly Free ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ก็พอเข้าใจได้ว่าคงเป็นเพราะ "ระบอบทักษิณ" ส่วนที่ตกดิ่งต่อในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ถัดมาจนถึงขั้นล่างสุด Not Free ก็ย่อมเป็นเพราะรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

แม้จะมีนายพลบางท่านเสนอให้ประเทศไทยถือเอาพม่าและบางประเทศอัฟริกาเป็นตัวแบบทางการเมืองการปกครอง (ดูเชิงอรรถที่ผ่านมาข้างต้น) แต่ในฐานะที่ไทยเลือกดำเนินยุทธศาสตร์เปิดประเทศ พัฒนาการติดต่อสัมพันธ์แลกเปลี่ยนค้าขายกับนานาประเทศทุนนิยมทั่วโลกมาช้านาน และยังจะเดินเส้นทางเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ต่อไป ไม่หันเหพลิกเปลี่ยน เราก็คงต้องถูกชาวโลกผู้เป็นคู่ค้า, หุ้นส่วน, และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนถามว่า ประเทศไทยหลังรัฐประหารและระบอบเผด็จการจะกลับไปสู่เสรีประชาธิปไตยหรือ Free อีกครั้งอย่างไร? (57)

จากประสบการณ์บทเรียนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) ของนานาประเทศที่เดินเส้นทางเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจาก Not Free ไปสู่ Partly Free และ Free นั้น ได้ค้นพบข้อสรุปตรงกันว่า ปมเงื่อนอยู่ที่ต้องเปลี่ยนกลไกรัฐระบบราชการ ซึ่งมีบุคลิกแบบฉบับที่อำนาจล้นเหลือ, ไม่ยอมพร้อมรับผิด, และทุจริตฉ้อฉล ตรงกันในระบอบเผด็จการทั้งหลายไปในทิศทาง ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ: (58)

- ยกอำนาจการเมืองจากการเลือกตั้งให้อยู่เหนืออำนาจระบบราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
- ทำให้ระบบราชการปลอดการเมืองและกลายเป็นแบบมืออาชีพ
- ให้ทหารถอยทัพออกจากแวดวงการเมือง กลับสู่ภารกิจการทหารในกรมกองของตน

ทว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติ ๒๕๕๐ กลับตาลปัตรสวนทวนกระแสทิศทางหลักทั้ง ๓ นี้ กล่าวคือ:

๑) ลดทอนอำนาจและอิสระของนักการเมืองจากการเลือกตั้งโดยรวมลง, เพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลของข้าราชการตุลาการและ "คนดี" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง, และค้ำประกันอิสระโดยสัมพัทธ์ของข้าราชการประจำ จากการก้าวก่ายแทรกแซงของนักการเมืองจากการเลือกตั้ง

๒) ทำให้ข้าราชการตุลาการเข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันกับการเมืองมากกว่าเดิม - โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้กระบวนการตุลาการภิวัตน์ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังพระราชดำรัส ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ กลายสภาพไปเป็น กระบวนการตุลาการธิปไตยภายใต้ระบอบการเมืองที่ทหารสร้างขึ้น ภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ (judicial review under democratic rule เ judicial rule under military-established political regime) โดยที่ทั้งสองกระบวนการนี้ มีความแตกต่างกันทางการเมืองและหลักกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญ (59)

๓) รับรองสิทธิอำนาจของทหารในการใช้กำลังอาวุธตัดสินชี้ขาดว่า ใครจะกุมอำนาจอธิปไตยและสร้างระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ ว่าเป็นสิ่งชอบด้วยกฎหมาย

เหล่านี้เป็นเครื่องช่วยบ่งชี้ว่าการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ กำลังจะบ่ายหน้าไปสู่ทิศทางใด

สรุป: รัฐประหาร ๑๙ กันยาฯ กับวิกฤตโลกาภิวัตน์ไทย
ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา พลังงานและความสามารถของผู้วิจัย งานวิจัยชิ้นนี้จึงยังมิได้ค้นคว้าวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ ที่สำคัญของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ กับการเมืองไทยอย่างรอบด้าน อาทิ ความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในกลุ่มอำนาจรัฐประหาร และรัฐบาลสุรยุทธ์หลังรัฐประหาร (60) และการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายต่างๆ ในสังคมเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐประหารและรัฐบาลสุรยุทธ์ (61) เป็นต้น ซึ่งคงต้องทิ้งเป็นโจทย์ให้ผู้สนใจติดตามศึกษาต่อไปข้างหน้า ในที่นี้เพื่อสรุปจบรายงานวิจัย ผู้วิจัยใคร่จะพิจารณาคำถามหัวใจโดยภาพรวมว่า:

หากถือตามข้อสันนิษฐานที่ผู้วิจัยได้เสนอไว้ว่า รัฐประหารครั้งนี้ก่อขึ้นเพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยไทยไปในลักษณะวิถีทางที่จะทำให้มันปลอดภัยสำหรับสถาบันกษัตริย์ จากการท้าทายด้วยอำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ หรือที่พลเอกสนธิ เรียกในเวลาต่อมาว่า "เผด็จการทุนนิยม" แล้ว "รัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ จะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของมันเป็นผลสำเร็จหรือไม่? เพราะเหตุใด?" …เพื่อตอบคำถามนี้ เราคงต้องเท้าความย้อนกลับไปสักเล็กน้อย...

อาจกล่าวได้ว่า ณ จุดใดจุดหนึ่งราวกลางพุทธทศวรรษที่ ๒๕๓๐ นั้น ชนชั้นนำไทยได้บรรลุฉันทามติทางยุทธศาสตร์ ที่จะพาประเทศไทยไปสู่เส้นทางโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ นี่ย่อมมิได้หมายถึงการมาร่วมประชุมสมัชชาชนชั้นนำแห่งชาติ เพื่อลงมติกันที่ใดที่หนึ่งและครั้งใดครั้งหนึ่งครั้งเดียวอย่างเป็นทางการ หากเป็นผลสั่งสมจากการตัดสินใจจำนวนมากในหมู่ชนชั้นนำไทย ที่สำคัญๆ เช่น:

- การริเริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมการเมืองหลายด้านของรัฐบาลนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ชุด ๑ และ ๒
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ - ๒๕๓๕

- การสร้างและเผยแพร่วาทกรรม "โลกานุวัตร - โลกาภิวัตน์" ต่อสาธารณชนอย่างเข้มข้นต่อเนื่องเป็นระบบ โดยปัญญาชนสาธารณะและกลุ่มทุนสื่อสารมวลชนแห่งเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ เรื่อยมา

- การตัดสินใจเปิดเสรีบัญชีทุนโดยจัดตั้ง วิเทศธนกิจกรุงเทพฯ (Bangkok International Banking Facilities) ขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ สมัยรัฐบาลชวน ๑ เพื่อเป็นตัวกลางระดมเงินทุนจากต่างประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงตลาดเงินภายนอก เข้ากับตลาดเงินภายในประเทศ

- การรับเอาระเบียบวาระ "ปฏิรูปการเมือง" มาเป็นแนวนโยบายหลักทางการเมืองในการรณรงค์หาเสียงของพรรคชาติไทย และเมื่อได้เป็นรัฐบาล นายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ก็ผลักดันให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางแก่การคัดเลือกจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สมัยรัฐบาลนายกฯพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จนนำไปสู่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบอบเลือกตั้งธิปไตย ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มุ่งหมายให้ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ และสร้างเสริมภาวะผู้นำของฝ่ายบริหาร เพื่อรับมือการท้าทายจากโลกาภิวัตน์ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้น

ทว่าการพาประเทศเดินเข้าสู่เส้นทางโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ของชนชั้นนำไทย ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ใหญ่ ๒ ประการที่พวกเขาคาดคิดไม่ถึง ซึ่งส่งผลบั่นทอนพลังและคุกคามฐานะชนชั้นนำเดิมของไทยอย่างร้ายแรงที่สุด นั่นคือ:

๑) ในทางเศรษฐกิจ มันนำไปสู่วิกฤตการเงินเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ และความฉิบหายล่มจมครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจทุนนิยมไทยหลังจากนั้น จนชนชั้นนายทุนใหญ่ไทยถูกทำลายไป ๖๕% หรือ ๒ ใน ๓ (ตามการประเมินของชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐), (62) หลังฝุ่นวิกฤตจางลง ปรากฏว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ๑๐๐ แห่งหรือกว่า ๑ ใน ๔ ของทั้งหมดถูกเพิกถอนการจดทะเบียน ขณะที่ในบรรดากลุ่มธุรกิจใหญ่ไทย ๒๒๐ กลุ่ม มีกว่า ๕๐ กลุ่ม (หรือ ๗ จาก ๓๐ กลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดของไทย) คิดเป็นประมาณ ๑ ใน ๔ ที่ต้องล้มเลิกกิจการไป หรือเสื่อมทรุดหดตัวอย่างหนักเช่นกัน (63)

๒) ในทางการเมือง มันส่งผลสืบต่อเปิดโอกาสและนำไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งเหลือรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่วงการเมืองโดยตรง นำไปสู่การก่อตั้งพรรคไทยรักไทยที่มีทักษิณเป็นหัวหน้า/CEO ทางการเมืองของชนชั้นนายทุนไทยเมื่อวันที่ ๑๔ ก.ค. พ.ศ. ๒๕๔๑ และการสถาปนาระบอบทักษิณ หรือระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยมภายใต้อำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่โลกาภิวัตน์ ราวปี พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๔๙ โดยที่ระบอบนี้กดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และบ่อนเบียนหลักนิติรัฐ ทั้งยังคุกคามท้าทายระบอบเลือกตั้งธิปไตยภายใต้พระราชอำนาจนำโดยตรงในที่สุด

ถึงแม้การเลือกเดินเส้นทางโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่จะนำพาชนชั้นนำเดิมของไทยไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ และระบอบทักษิณ พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๔๙ อย่างไม่คาดหมาย จนพลังและฐานะของพวกเขาถูกบั่นทอนคุกคามอย่างร้ายแรง แต่กระนั้นกล่าวให้ถึงที่สุด - แม้จะสะบักสะบอม เข็ดเขี้ยวและละล้าละลังเพียงใด - พวกเขาก็ไม่คิดบ่ายเบนหันเหออกไปจากทางสายนี้โดยพื้นฐาน ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นทางภาววิสัยของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันกดดันบังคับ และด้วยข้อจำกัดกับผลประโยชน์ทางอัตวิสัยของพวกเขาเอง ดังที่ผู้วิจัยได้เสนอข้อวิเคราะห์ว่า อย่างไกลที่สุดที่วิสัยทัศน์ชนชั้นนำทหาร-ข้าราชการเดิมของไทยจะก้าวไปนั้น จักไม่ไกลไปกว่า เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในเมื่อด้านหนึ่งไม่คิดผละจากเส้นทางเศรษฐกิจสายโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่เอา "ระบอบทักษิณ" อันเป็นผลลัพธ์สืบเนื่องทางการเมืองของมัน ฉะนั้นทางเดียวที่ชนชั้นนำเดิมของไทยจะทำได้ก็คือต้อง ตัดตอน (emasculate) กลุ่มทุนใหญ่ทางการเมือง

นี่เป็นท่าทีที่พูดให้ถึงที่สุดแล้วขัดแย้งกันในตัวเองและทำไม่ง่ายอย่างที่คิด ทั้งนี้เพราะกระบวน การโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจในสิบกว่าปีมานี้ ได้สร้างและเพิ่มขยายคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา ๒ กลุ่มในสังคมไทย ได้แก่:

๑) กลุ่มทุนใหญ่ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก แล้ว อาศัย "มือยาว" กว่าเพื่อนของตน (หมายถึงเงินทุน, ทักษะความรู้ความชำนาญสมัยใหม่, อิทธิพลผ่านเครือข่ายเส้นสายพวกพ้องในวงธุรกิจการเมืองและราชการ ฯลฯ) ฉวยโอกาสยื่นมือไปคว้าจับ เกาะเกี่ยวเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ เสี่ยงลงทุนในตลาดหุ้นและธุรกิจสินทรัพย์การเงินทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อประสบความสำเร็จ ก็ทำให้ร่ำรวยผิดปกติฉับพลัน อาทิเช่น คุณทักษิณ ชินวัตรและเครือญาติมิตรพวกพ้องแกนนำแห่งพรรคไทยรักไทย เป็นต้น

๒) คนจนหรือคนชายขอบที่ "อยู่ไม่ได้ ไปไม่ถึง" เป็นพวกตกหลุมดำระหว่างชนบทกับเมือง ประเภทอยู่ชนบททำนาทำไร่อย่างเดียวต่อก็ไม่ได้ เพราะสูญเสียที่ดินทำกินและฐานทรัพยากรยังชีพของชุมชนแล้ว แต่ไปเมืองก็ไม่ถึงเพราะขาดแคลนทั้งเงินทุน, ทักษะความรู้ความชำนาญสมัยใหม่, อิทธิพลเส้นสาย ฯลฯ จนเกินกว่าจะลงหลักปักฐานสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นปัจเจกบุคคล ผู้สู้แล้วรวยที่นั่นได้ง่ายๆ จึงกลายเป็นเหยื่อที่พลาดโอกาสจากโลกาภิวัตน์เพราะ "มือสั้น" และถูกตีนที่มองไม่เห็นถีบหลุดเข้าไปใช้ชีวิตทำมาหากิน ดิ้นรน เสี่ยงโชค เสี่ยงภัยอยู่ในตลาดเสรีโดยไร้หลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตสุขภาพร่างกายไปวันๆ ทำให้ค่อนข้างจนดักดาน เช่น เกษตรกรรายย่อยยากจนติดหนี้สินเรื้อรัง/ไร้ที่ทำกิน, แรงงานรับจ้างในหมู่บ้านชนบท, คนขับแท็กซี่-สามล้อ, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, พ่อค้าแม่ขายหาบเร่แผงลอย, ชาวสลัม, คนงานก่อสร้าง, คนงานรับจ้างรายวัน, เด็กขายพวงมาลัยตามสี่แยกไฟแดง ฯลฯ

[แรงงานภาคเกษตรกรรม ฿ เ แรงงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบในเมือง] เหล่านี้ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดคะเนว่ามีราว ๖๗% (๔๑ + ๒๖%) อันเป็นส่วนข้างมากของกำลังแรงงานทั้งประเทศ เทียบกับที่เหลือซึ่งประกอบด้วยแรงงานปกคอขาวหรือคนชั้นกลาง ๑๕%, แรงงานภาคอุตสาหกรรม ๘% และอื่นๆ อีกราว ๑๐% (64)

พวกเขานี่แหละที่เป็นฐานคะแนนเสียงข้างมากอย่างแน่นหนาให้แก่แพ็กเกจนโยบายประชานิยม-เอื้ออาทรต่างๆ นานาของพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป ๓ ครั้งหลังที่ผ่านมา เป็นจำนวน ๑๑ ล้านเสียงเมื่อ ก.พ. ๒๕๔๔, ๑๙ ล้านเสียงเมื่อ ก.พ. ๒๕๔๘, และ ๑๖ ล้านเสียงเมื่อ เม.ย. ๒๕๔๙

เหมือนดังที่คนชั้นกลางในเมือง และนักเลือกตั้งหัวเมืองชนบท อันเป็นกลุ่มคนเกิดใหม่จากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ สมัยเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ได้ใช้เวลาร่วมสองทศวรรษจาก ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึง พฤษภาประชาธรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ ในการดิ้นรนต่อสู้ด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่อเข้าร่วมส่วนใช้อำนาจรัฐ. ปัจจุบัน เราก็กำลังอยู่ในระยะผ่านอันยาวนานของการเปลี่ยนย้ายอำนาจ (power shift) อีกครั้ง ซึ่งกลุ่มทุนใหญ่ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและคนจนคนชายขอบอันเป็นกลุ่มคนที่เกิดใหม่จากการพัฒนาเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ กำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อเข้าร่วมส่วนใช้อำนาจรัฐเช่นกัน

พวกเขาต้องการได้อำนาจรัฐมาก็เพื่อ ใช้มันบริหารจัดการโอกาสกับความเสี่ยงที่พ่วงติดมากับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ด้วยตัวเอง เพราะพวกเขาได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดหวาดเสียวจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ ว่าการปล่อยให้ชนชั้นนำกลุ่มอื่น ไม่ว่านักเลือกตั้ง เทคโนแครต และข้าราชการประจำไปบริหารจัดการเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์แทนนั้น อาจทำให้พวกเขาถึงแก่ฉิบหายล้มละลาย สิ้นเนื้อ ประดาตัว หรือตกงานหมดอาชีพ ขาดที่พึ่งยามป่วยไข้ ต้องเอาลูกออกจากโรงเรียน พาครอบครัวซมซานกลับชนบท หรือหันไปเสี่ยงคุกเสี่ยงตายค้ายาบ้าได้

ในแง่นี้ ระบอบทักษิณ ก็คือการขึ้นยึดกุมอำนาจรัฐเองโดยตรงของกลุ่มทุนใหญ่ แล้วต่อท่อภาครัฐไปอุปถัมภ์คนจนคนชายขอบ ผ่านโครงการประชานิยม - เอื้ออาทรต่างๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมันคือ ระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยม ภายใต้อำนาจนำแห่งพรรคการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่ที่มีคนจนคนชายขอบเป็นฐานเสียงพันธมิตร. ทว่าแนวทางการเมืองอันผิดพลาดที่รวบอำนาจรวมศูนย์ ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ผลักไสมิตร เพิ่มศัตรู บริหารโลกาภิวัตน์เพื่อกลุ่มทุนพวกพ้องเส้นสายของระบอบทักษิณก็นำมาซึ่งความล่มสลายพ่ายแพ้

รัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงเกิดขึ้นในลักษณะปฏิบัติการของแนวร่วมระหว่างรัฐราชการ (ทหาร-ตุลาการ-เครือข่ายข้าราชบริพาร) กับประชาสังคม (คนชั้นกลางกับชนชั้นนำนอกแวดวงรัฐบาล) ภายใต้การนำของทหาร เพื่อโค่นอำนาจการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่. ปฏิบัติการทางการเมืองของคณะรัฐประหารหลังจากนั้น จนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และการจัดเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในลำดับต่อไปก็คือ แบบฝึกหัดวิศวกรรมทางการเมือง (an exercise in political engineering) ที่จะหลีกเลี่ยง "ระบอบทักษิณ" ด้วยการพยายามตัดตอนกลุ่มทุนใหญ่ทางการเมือง ในระหว่างนำพาประเทศไทยเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางเศรษฐกิจสายโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่นั่นเอง

แต่บนแนวทางที่ขัดแย้งกันในตัวเอง และไม่สอดรับกับแนวโน้มความเป็นจริงในทำนอง "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" หรือ "เอาโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ แต่กลับปฏิเสธผลสืบเนื่องทางการเมืองของมัน" ดังกล่าว ย่อมยากที่รัฐประหาร ๑๙ กันยาฯ จะบรรลุเป้าหมายตามภารกิจได้. บทเรียนในอดีตสอนเราว่า ณ จุดใดจุดหนึ่งบนเส้นทางความขัดแย้งที่ทอดยาวออกไปเบื้องหน้าสังคมไทยนี้ การสะดุดกึกชะงักงัน การปะทะขัดแย้ง การสานเสวนา และการประนีประนอมรอมชอม เพื่อหาสูตรแห่งการอยู่ร่วมกัน และทะเลาะกันทางการเมืองอย่างสันติ จะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง ไม่ช้าก็เร็ว และไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม

ในแง่นี้ รัฐประหาร ๑๙ กันยาฯ เพียงแต่ทำให้การเปลี่ยนย้ายอำนาจและจัดวางระเบียบความ สัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ของการเมืองไทย ผลัดเลื่อนวาระออกไป สุ่มเสี่ยงหวาดเสียวขึ้นและยุ่งยากซับ ซ้อนยิ่งขึ้นเท่านั้น

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกกลับไปทบทวนบทความเรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๑)

เชิงอรรถ

(1) อ้างจาก "พล.อ. เปรม ปลูกจิตสำนึก นายร้อย จปร. เป็นทหารของชาติ ทหารของพระเจ้าอยู่หัว", มติชนรายวัน, ๑๕ ก.ค. ๒๕๔๙, น. ๒.

(2) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, "บทบรรยายพิเศษในหัวข้อการเสริมสร้างการเป็นผู้นำด้วยหลักคุณธรรม ความพอเพียง และความเสียสละของ พลเรือเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ณ โรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙", นาวิกศาสตร์, ๙๐: ๒ (ก.พ. ๒๕๕๐), www.navy.mi.th/navic/document/ 900202a.html.

(3) อ้างจาก "'เปรม' ย้ำสำนึกทหารอาชีพ ให้ถอยห่าง 'คนไม่ดีแต่มีเงิน'", มติชนรายวัน, ๑ ก.ย. ๒๕๔๙, น. ๒.
(4) "ธีรยุทธ บุญมี "ชี้ชะตา"ทักษิณ"บนเวทีการเมือง หนุนแก้ รธน. ถ่วงดุล พลังทุน", มติชนรายวัน, ๒๓ ม.ค. ๒๕๔๙, น. ๒.
(5) "แม่ทัพภาคที่ ๓ อัด 'ทหารเลว' สอพลอนายกฯ ปล่อยข่าวใส่ร้าย", มติชนรายวัน, ๒๑ ก.ค. ๒๕๔๙, น. ๒.
(6) "บรรณวิทย์"ข้องใจ การเมืองจุ้นตั้งปลัด กห. โวยอาวุโสสุดโดนแซง อ้าง ตท. ๗ ขวาง"เสธ.อู้", มติชน รายวัน, ๑๗ ส.ค. ๒๕๔๙, น. ๑.

(7) "๔ นายพลยื่นจม.ปธ.องคมนตรี ร้องย้ายทหาร คำสั่งมิชอบ-สนองนักการเมือง "ไอซ์"ชี้ไร้วินัย-แฉเด็ก "บรรณวิทย์",
มติชนรายวัน, ๓๑ ส.ค. ๒๕๔๙, น. ๑.

(8) "มนตรี"ย้ำกลางวงสภา กห. "ทหารเบี้ยล่างนักการเมือง", มติชนรายวัน, ๓๑ ส.ค. ๒๕๔๙, น. ๑๑.

(9) "ย้ายฟ้าผ่า 'ยังเติร์ก' ตท.๑๐ สกัดขุมกำลัง 'ทักษิณ' ลือ...หวาดระแวง 'ปฏิวัติ'", มติชนรายวัน, ๒๑ ก.ค. ๒๕๔๙, น. ๑๑.

(10) Rodney Tasker, "Grumbles, revelations of a Thai coup maker," Asia Times Online, 22 December 2006 www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/HL22Ae01.html.

(11) Songpol Kaopatumtip and Surath Jinakul, "The Fall Guy?", Bangkok Post, 3 September 2006, Perspective Section, p. 1.

(12) "สถุล!รักทักษิณ ไล่ทุบในห้าง ยัวะถูกด่า'โกงชาติ'เหลี่ยมท้าอย่าเลือก", ไทยโพสต์, ๒๐ ส.ค. ๒๕๔๙,
www.thaipost.net/index.asp?bk=sunday&post_date=20/Aug/2549&news_id=128916&cat_id=110100; "ม็อบ'หนุน-ไล่'ทักษิณปะทะเดือดหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์", เดลินิวส์, ๒๒ ส.ค. ๒๕๔๙, www.parliament.go.th/ news/news_detail.php?prid=/25657.

(13) "เหตุ 'ดีเดย์' ๑๙ กันยาเพราะ 'ข่าวปฏิวัติรั่ว'", มติชนรายวัน, ๒๓ ก.ย. ๒๕๔๙, น. ๑๑.

(14) สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, "ลงจากอำนาจรอวันชำระโทษ", เนชั่นสุดสัปดาห์, ๑๕: ๗๔๖ (๑๕ ก.ย. ๒๕๔๙), ๒๖ - ๒๗.

(15) อ้างใน ชนิดา, โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, น. ๑๙๔; ชนิดาบรรยายขยายความเรื่อง "การสร้างสายสัมพันธ์และเครือข่ายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโครงการพระราชดำริ" ไว้โดยพิสดารน่าสนใจที่หน้า ๑๙๓ - ๒๐๒, และดูตัวอย่างภูมิหลังและบทบาทโดยสังเขปของบุคคลสำคัญบางราย ในเครือข่ายนี้ในบทที่ ๖ ของหนังสือ:"เครือข่ายในหลวง" หน้า ๓๗๑ - ๔๕๓.

(16) เกี่ยวกับเอ็นจีโอหลวง ดูงานวิจัยเรื่องนี้ของชนิดา ชิตบัณฑิตย์กับคณะใน Chanida Chitbundid, Chaitahwat Thulathon, and Thanapol Eawsakul, "The Thai Monarchy and Non-governmental Organizations", in Shinichi Shigetomi, Kasian Tejapira, and Apichart Thongyou, eds., The NGO Way: Perspectives and Experiences from Thailand (Chiba: Institute of Developing Economies, Japan External Trade Organization, 2004), pp. 99-145.

(17) Duncan McCargo, "Network monarchy and legitimacy crises in Thailand", Pacific Review, 18:4
(December 2005), 499-519.

(18) Duncan McCargo, "A Hollow Crown", New Left Review, II/43 (January-February 2007), p.141.

(19) "ราชนิกุลหนุนตั้งรัฐบาลชั่วคราว", กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ๖ มี.ค. ๒๕๔๙, www.bangkokbiznews. com/2005/special/sonti/news.php?news=vs268.html; "ชัยอนันต์นำถวายฎีกา ขอนายกฯพระราชทาน", ผู้จัดการรายวัน, ๖ มี.ค. ๒๕๔๙, น. ๑; "ชมรมราชนิกุลฯเดือดคำพูด "แม้ว" เผด็จการ เตือนอย่าพาดพิง - ดึง "ฟ้า" ต่ำ", ผู้จัดการออนไลน์, ๓ ก.ค. ๒๕๔๙, www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000085715.

(20) จักรภพ เพ็ญแข หนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการเป็นผู้นำบันทึกเสียงดังกล่าวมาเปิดบนเวทีปราศรัยสนามหลวงเมื่อวันที่ ๒๒ มิ.ย. ๒๕๕๐ ดู "เปิดโปงขบวนการ แอบอ้าง'พระเจ้าอยู่หัว'", เว็บไซต์ไฮ-ทักษิณ, ๒๒ มิ.ย. ๒๕๕๐, www.hi-thaksin.org/lite/contentdetail.php?ParamID=70549. ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวอ้างเป็นเจ้าของเสียงสนทนาทั้งสามได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่เสียงของตนแต่อย่างใด ขณะเดียวกันตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันดักฟังโทรศัพท์ฯ ต่อนายจักรภพ เพ็ญแข กับพวกรวม ๓ คนเนื่องจากกรณีนี้ ดู "เจ๊เพ็ญ" จำยอมรับ ทราบข้อหาดักฟังโทรศัพท์", ผู้จัดการออนไลน์, ๒๗ ส.ค. ๒๕๕๐, www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp? NewsID=9500000100559.

(21) อ้างจาก "ยามเฝ้าแผ่นดิน: หวั่นอดีต ทรท.รวมตัวฟื้นระบอบทักษิณ", ผู้จัดการออนไลน์, ๒๕ ส.ค. ๒๕๕๐, www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9500000100015.

"ท่านผู้หญิงบุษบา" ที่สนธิกล่าวอ้างข้างต้น น่าจะหมายถึงท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์ นามเดิม หม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร พระขนิษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ธิดาของท่านคือท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย เป็นภริยาของอดีต รมว. ต่างประเทศ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ผู้ร่วมผลักดันก่อตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน. สำหรับเหตุการณ์ที่สนธิเล่าถึงตอนท้าย มีการบันทึกรายละเอียดบางอย่างที่น่าสนใจไว้ใน คำนูณ, ปรากฏ-การณ์สนธิ, บทที่ ๒๔ เสื้อสีเหลือง ผ้าพันคอสีฟ้า, โดยเฉพาะหน้า ๒๘๑.

(22) อ้างจาก พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน, "แถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข", กองบรรณาธิการมติชน, รัฐประหาร ๑๙ กันยา' ๔๙ เรียบแต่ลึก คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๙), น. ๙๓.

(23) พันเอกอัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบกและผู้ช่วยโฆษก คปค. ผู้ให้ข้อมูลนี้ยังเล่าด้วยว่า พลเอกสนธิ ตั้งชื่อคณะรัฐประหารและคำแปลภาษาอังกฤษของชื่อนั้น (Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy - CDRM) ด้วยตัวเองตั้งแต่ก่อนก่อรัฐประหารวันที่ ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๙ เพื่อให้ชื่อดังกล่าวบ่งบอกความตั้งใจของตนที่ก่อรัฐประหาร ด้วยกุศลเจตนาที่จะปกป้องประเทศชาติ ("Royal endorsement for Sonthi", Bangkok Post, 23 September 2006, p. 3)

ต่อมา ทางราชการได้แก้ไขคำแปลภาษาอังกฤษของชื่อ คปค. จากเดิมไปเป็น Council for Democratic Reform เฉย ๆ โดยตัดวลีส่วนท้ายว่า under Constitutional Monarchy ทิ้งเสีย ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดในประชาคมโลกว่า รัฐประหารครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ (Achara Ashayagachat, "Council shortens its name to prevent misunderstanding", Bangkok Post, 27 September 2006, p.3)

(24) ในการให้สัมภาษณ์รายการ "สภาท่าพระอาทิตย์" ทางเอเอสทีวีของเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อเช้าวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ พลเอกสนธิ บุณยรัตกลินได้เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า สาเหตุที่แท้จริงในการยึดอำนาจครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงจาก "ระบอบเผด็จการทุนนิยม" ไปเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อย่างแท้จริง ส่วนเรื่องเหตุผลหลัก ๔ ข้อที่ระบุก่อนหน้านี้ ยังถือเป็นเรื่องรองลงไป ดู "ปธ.คมช.ลั่นล้าง"เผด็จการทุนนิยม"ทาสสิงคโปร์ให้สิ้นซาก", ผู้จัดการออนไลน์, ๑๘ ม.ค. ๒๕๕๐, www.manager. co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9500000006469.

(25) Talukder Maniruzzaman, Military Withdrawal from Politics: A Comparative Study(Cambridge, Massachusetts: Ballinger Publishing Company, 1987), pp. 63 - 82.

(26) เจตนารมณ์ดังกล่าวของคณะรัฐประหาร ปรากฏชัดในร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ... ฉบับแรกที่ผลักดันโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ มิ.ย. ๒๕๕๐ ซึ่งรัฐบาลนายกฯพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จะยื่นเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาออกเป็นกฎหมายให้ทันในรัฐบาลชุดนี้ ท่ามกลางการประสานเสียงคัดค้านเซ็งแซ่อึงมี่ จากประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชนและวงวิชาการ เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จะจัดวางโครงข่ายกลไกรักษาความมั่นคงภายในตั้งแต่ระดับชาติ-ภาค-จังหวัดและกรุงเทพมหานครขึ้น ภายใต้การกำกับบริหารของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการ โปรดดู "เปิดร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ เขี้ยวเล็บ"กอ.รมน."!", มติชนรายวัน, ๒๑ มิ.ย. ๒๕๕๐, น. ๒.

เนื่องด้วยกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านอย่างกว้างขวาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้นำร่าง พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงฯฉบับแรกไปปรับปรุง โดยได้ตัดอำนาจพิเศษตามร่างเดิมออกทั้งหมด, ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแทนที่ ผบ.ทบ., และให้ กอ.รมน. มีหน้าที่เพียงป้องกันและระวังเหตุเบื้องต้น แต่ในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นก็มิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. หากต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจเต็มที่ในการระงับเหตุแทน ฯลฯ

ร่างฉบับปรับปรุงนี้ผ่านความเห็นชอบของคณะ รัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ ต.ค. ๒๕๕๐ แต่ก็ยังถูกยืนกรานคัดค้านอย่างแข็งขัน จากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากร่างปรับปรุงยังคงให้อำนาจล้นเหลือแก่ กอ.รมน. ในลักษณะที่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน จนขัดกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ขาดการตรวจสอบทางตุลาการ ปกป้องเจ้าหน้าที่ให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัย เป็นต้น จึงน่าจะรอไว้ให้รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งมาพิจารณาเรื่องนี้

ล่าสุด ร่างดังกล่าวถูกคณะกรรมการประสานงานรัฐบาล-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) ลงมติเป็นเอกฉันท์ตีกลับไปให้รัฐบาลปรับร่างมาใหม่อีกครั้ง ในประเด็นต่างๆ ที่วิปรัฐบาลยังติดใจเมื่อวันที่ ๑๙ ต.ค. ศกเดียวกัน ดู "สรุปข่าวประชุมคณะรัฐมนตรี ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐", Royal Thai Government, ๑๖ ต.ค. ๒๕๕๐, www.thaigov. go.th; "วิป รบ.-สนช. ตีกลับ ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคง", ประชาไทออนไลน์, ๒๐ ต.ค. ๒๕๕๐, www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID= 9983&System ModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai.

(27) อ้างจาก "'สพรั่ง'ขู่หลัง ๓๐ พ.ค.วุ่นวาย 'ทหารไม่ยอมแน่'", กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ๒๗ พ.ค. ๒๕๕๐, www.bangkokbiznews.com/2007/05/27/printnews.php?newsid=74139.

(28) เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้คาดหมายไว้ในการอภิปรายเรื่อง "ประเทศไทยบนเส้นทางสู่อนาคต" ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๕ ก.พ.๒๕๕๐ ว่าทหารจะยังคงเป็นตัวแปรทางการเมืองอีกตัวแปรหนึ่งไปอีก ๔ - ๕ ปีในลักษณะกลุ่มพลังเหนี่ยวรั้งทางการเมือง ที่แฝงตัวอยู่ในระบบราชการ ("สนธิ"ย้ำความมั่นคงไม่เลิกประกาศ "ชัยอนันต์"ชี้ทหารตัวแปรการเมือง", มติชนราย วัน, ๑๖ ก.พ. ๒๕๕๐, น. ๑)

ในทางกลับกัน ก็มีข้อเสนอจาก พล.อ.ภาษิต สนธิขันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทหารกับการพัฒนาประชาธิปไตย" ในงานมหกรรมประชาธิปไตย ปฎิญญาพัฒนาการเมืองไทย ๒๕๕๐ ที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ ว่า ทางแก้รัฐประหารคือต้องกำหนดบทบาททางการเมืองของทหารไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น พม่าและบางประเทศอัฟริกัน แม้ไม่พัฒนาก็ยังระบุชัดให้ทหารเป็น ส.ส., ส.ว.กี่เปอร์เซนต์ เป็นต้น ("คมช.สอนแก้รัฐประหาร ต้องให้บทบาททหารไว้ใน รธน.", กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ๔ ส.ค. ๒๕๕๐, www.bangkokbiznews.com/2007/08/04/WW03_0301_news.php? newsid= 87732)

(29) ยกตัวอย่างเช่น กรณีพลเอกวินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช. หยิบยกประกาศ คปค. ฉบับที่ ๑๐, มาตรา ๑๑ ของกฎอัยการศึก, และอำนาจของคมช. ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ๒๕๔๙ มาข่มขู่สื่อมวลชนไม่ให้ลงข่าวที่เป็นผลเสียต่อสถานการณ์บ้านเมือง เมื่อวันที่ ๑๐ ม.ค. ๒๕๕๐ แต่แล้ววันรุ่งขึ้น พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ประธาน คมช. ก็กลับกล่าวว่า เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนโดยความสมัครใจ ถ้าไม่ให้ เราก็ไม่ได้รับอะไรเท่านั้นเอง อ้างใน เกษียร เตชะพีระ, "เผด็จการหน่อมแน้ม/เผด็จการครึ่งใบ", มติชนรายวัน, ๒๖ ม.ค. ๒๕๕๐, น. ๖.

(30) ดูคำพูดที่ส่อความคิดความเข้าใจดังกล่าวของนายทหารระดับสูงใน คมช. และนายกฯพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อ้างใน เกษียร เตชะพีระ, "อำนาจอิหลักอิเหลื่อ", มติชนรายวัน, ๑๗ พ.ย. ๒๕๔๙, น. ๖.

(31) ดูรายชื่อและประวัติย่อสมาชิกคณะรัฐมนตรี ๒๖ คน (ไม่นับนายกฯสุรยุทธ์) ใน กองบรรณาธิการมติชน, "โฉมหน้า ครม.พอเพียง 'สุรยุทธ์ ๑/๑'", รัฐประหาร ๑๙ กันยา' ๔๙, น. ๘๐ - ๘๕.

(32) ดูรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดแรกเริ่ม ๒๔๒ คนได้ใน กองบรรณาธิการมติชน, "๒๔๒ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ",
รัฐประหาร ๑๙ กันยา' ๔๙, น. ๑๒๓.

(33) ดูรายชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ๑,๙๘๒ คนได้ที่ "ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ", เว็บไซต์รัฐสภา, ๑๑ ธ.ค. ๒๕๔๙, www.parliament.go.th/parcy/sapa_db/sapa24-upload/24-20061211130143_p_ member.pdf.

(34) ดูรายชื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๑๐๐ คนได้ที่ "สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ", เว็บไซต์รัฐสภา, ๑ ม.ค. ๒๕๔๙, www.parliament.go.th/parcy/sapa_db/member_c/member_c.php.

(35) ดูรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๓๕ คนได้ที่ "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ", วิกิพีเดีย, ๒๙ ก.ค. ๒๐๐๗, th.wikipedia.org/.

(36) ดูรายชื่อสมาชิกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ๑๒ คนได้ที่ "คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ", วิกิพีเดีย, ๘ ส.ค. ๒๐๐๗, th.wikipedia.org/.

(37) ดูรายชื่อคณะที่ปรึกษาฝ่ายต่างๆ รวม ๖๕ คนของ คปค. ได้ที่ กองบรรณาธิการมติชน, "คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ ๑๗/๒๕๔๙", รัฐประหาร ๑๙ กันยา' ๔๙, น. ๑๒๐.

(38) สุรี มิ่งวรรณลักษณ์, "บทความ ๑๕ ปีพฤษภาฯ: องค์กรประชาชนต้องเป็นอิสระจาก 'รัฐ' 'ทุน' และ 'ขุนนางเอ็นจีโอ'", ประชาไทออนไลน์, ๑๖ พ.ค. ๒๕๕๐, www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod =mod_ptcms&ContentID=8079&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai.

(39) แรงบันดาลใจเริ่มแรกอันเป็นแหล่งที่มาของแนวคิดข้อมูลว่าด้วยระบอบอัตตาณานิคม (auto-colony) และความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ระหว่าง [รัฐอาณานิคมตะวันตกในอุษาคเนย์และชมพูทวีป เ รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม เ รัฐราชการหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕] แก่ผู้เขียนคือบทความของ Michael Wright, "Travels of King Chulalongkorn misrepresented", The Nation, 5 July 1997, p. C1.

(40) บทวิเคราะห์ของผู้เขียนว่าด้วยระบอบเลือกตั้งธิปไตยไทย (Thai Electocracy) อยู่ใน เกษียร เตชะพีระ, "ชำแหละระบอบเลือกตั้งธิปไตย: บทเรียนทางการเมืองจากวิกฤตเศรษฐกิจไทย", ใน กาญจนี ละอองศรี และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, บรรณาธิการ, กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์: รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ ๖๐ ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๔), หน้า ๒๙-๕๙.

(41) นี่เป็นข้อวิเคราะห์สรุปมูลเหตุทางการเมือง และการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของวิกฤตการเงินไทยในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่สอดคล้องต้องกันระหว่างนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างอัมมาร สยามวาลา กับคอลัมนิสต์เศรษฐศาสตร์การเมืองเอียงซ้าย ผู้ใช้นามปากกาว่า Chang Noi โปรดดู เกษียร, "ชำแหละระบอบเลือกตั้งธิปไตย", หน้า ๕๕ - ๕๙.

(42) การสอบสวน ปลดย้าย ลงโทษทางวินัยและดำเนินคดีทางแพ่ง ทางอาญาและทางการเมืองกับข้าราชการประจำฝ่ายต่างๆ ในข้อหาทุจริตและฉวยใช้อำนาจในทางมิชอบภายใต้รัฐบาลทักษิณ เช่น ตำรวจ (กรณีซ้อมผู้ชุมนุมต่อต้านนายกฯทักษิณ ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์, คดีวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด), สรรพากร (กรณีไม่เรียกเก็บภาษีซื้อขายและโอนหุ้นของตระกูลชินวัตร-ดามาพงษ์ครั้งต่างๆ), ทหาร (คดีพรรคไทยรักไทยจ้างผู้สมัครพรรคเล็กลงเลือกตั้ง), ตุลาการ (กรณีพยายามติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรคไทยรักไทย) ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระลอกภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยหน่วยราชการและองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ล้วนสะท้อนความข้อนี้ นอกจากนี้ โปรดดู นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, "คำกล่าวการเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการและประกาศ"วาระแห่งชาติด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาคราชการ"", Royal Thai Government, ๘ ธ.ค. ๒๐๐๖, www.thaigov.go.th/TH/News/New_Argument.aspx?Nid= A49000000115.

(43) ข้อวิเคราะห์นี้พัฒนาปรับแปลงมาจากข้อสังเกตอันแหลมคมของผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับแนวโน้มที่องค์กรทั้ง ๓ นี้จะมีบทบาทสำคัญทางการเมืองใน ๒ - ๓ ปีข้างหน้า ดู "สมชาย ปรีชาศิลปกุล: เมื่อชนชั้นนำกำลังแย่งชิงอำนาจกัน โดยใช้ประชาชนเป็นเบี้ย", ประชาไทออนไลน์, ๑๗ ม.ค. ๒๕๕๐, www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID= 6645&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai.

(44) ถึงแก่พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. ต้องออกมาโวยวายว่า: "และผมอยากฝากทุกกระทรวง อย่าใส่เกียร์ว่าง และคิดว่าเหตุการณ์ระเบิดในปีมหามงคลคงไม่เกิดขึ้น อยากจะบอกว่าเลวบัดซบ ผมอยากบอกว่าข้าราชการทุกกระทรวงใส่เกียร์ว่างอยู่ ไม่ให้ความร่วมมือ" (มติชนรายวัน, ๕ ม.ค. ๒๕๕๐, น. ๒)

(45) นี่เป็นข้อสังเกตที่เฉียบแหลมตรงจุดของอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกสุจินดา คราประยูร นายทหารที่เคยร่วมก่อรัฐประหารในนาม "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ว่า:

"ถาม: รัฐบาลชุดนี้บริหารงานมาถูกทางหรือไม่
"สุจินดา: คนก็มองว่าผลงานไม่ออก ไม่รู้ว่าไปติดขัดอะไร อาจเป็นเพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจ เจ้าหน้าที่ก็กลัวว่าทำไปแล้วจะกลับมาถูกฟ้องภายหลัง สมมุติว่าบอกว่าเรื่องนี้ทุจริต แต่เมื่อฟ้องไปสรุปไม่เป็นจริง เขาก็กลับมาฟ้องกลับ อธิบดีก็โดนไป สู้เขาไม่ทำดีกว่า (หัวเราะ)"

ใน พลเอกสุจินดา คราประยูร, สัมภาษณ์พิเศษโดยอัครพงษ์ นครแก้ว, "๑๕ ปีในความทรงจำพล.อ.สุจินดา คราประยูร มอง คมช.จากประสบการณ์ตรง", มติชนรายวัน, ๑๒ มี.ค. ๒๕๕๐, น. ๑๑.

(46) แก่นความคิดเรื่องความเป็นไทยดังกล่าว รองศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สรุปรวบยอดขึ้นมาจากโครงการวิจัยใหญ่ของเธอเรื่อง "ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๕๓๕" ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โปรดดูบทสังเคราะห์ผลการค้นพบจากโครงการวิจัยดังกล่าวของเธอใน สายชล สัตยานุรักษ์, "การสร้าง "ความเป็นไทย" กระแสหลักและ "ความจริง" ที่ "ความเป็นไทย" สร้าง", ฟ้าเดียวกัน, ๓: ๔ (ต.ค. - ธ.ค. ๒๕๔๘), ๔๐ - ๖๗. โดยเฉพาะหน้า ๔๙ - ๖๑.

(47) อ้างจาก "พล.อ.เปรม" การันตี "สุรยุทธ์" คนดี ชี้ รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลอาสาเข้ามาทำงานเพื่อชาติ", เว็บไซต์คมชัดลึก, ๗ มี.ค. ๒๕๕๐, www.komchadluek.net/2007/03/07/k001_96570.php?news_id=96570.

(48) อ้างจาก "สุรยุทธ์" ย้ำ 4 ปฏิรูปเพื่อความยั่งยืน ชี้"แม้ว"ไม่ใช่คนไทย", ผู้จัดการออนไลน์, ๕ มี.ค. ๒๕๕๐, www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9500000026083.

(49) Chris Baker, Thailand Human Development Report 2007: Sufficiency Economy and Human Development (Bangkok: United Nations Development Programme, 2007).

(50) สมเกียรติ อ่อนวิมล, สัมภาษณ์พิเศษโดยสรวิศ ชุ่มศรี, "เศรษฐกิจพอเพียงเป็น 'ปรัชญา' ไม่ใช่ 'ทฤษฎี'", มติชนรายวัน, ๒๖ ก.พ. ๒๕๕๐, น. ๑๑.

(51) อ้างจาก โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์, สัมภาษณ์พิเศษโดยวรินทร์ ตริโน, "โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ วิถี"ทุนนิยม"ในกรอบ "พอเพียง"", มติชนรายวัน, ๑๖ ต.ค. ๒๕๔๙, น. ๑๑.

(52) อ้างจาก "สุรยุทธ์ไม่พอใจผลงาน ๑ ปี", มติชนรายวัน, ๑๒ ต.ค. ๒๕๕๐, น. ๑๓

(53) อ้างจาก Nattaya Chetchotiros, "CHARTER DEFENDED: Prasong says aim was to prevent future Thaksins gaining power", Bangkok Post, 18 August 2007, p. 3.

(54) "ปธ.คมช.ลั่นล้าง"เผด็จการทุนนิยม"ทาสสิงคโปร์ให้สิ้นซาก", ผู้จัดการออนไลน์, ๑๘ ม.ค. ๒๕๕๐, www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp? NewsID=9500000006469; และ "สนธิปฏิวัติเงียบ!", ไทยโพสต์, ๑๙ มิ.ย. ๒๕๕๐, น. ๑.

(55) อ้างจาก "สนธิปลุกคน มท.สกัดวงจรตีกลับ", มติชนรายวัน, ๑๓ ต.ค. ๒๕๕๐, น.๑๓; และข่าวเดียวกันซึ่งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post พาดหัวฟันธงไปเลยว่า Wassana Nanuam & Mongkol Bangprapa, "Sonthi orders poll crusade, Interior told to prevent Thaksin allies winning", Bangkok Post, 13 October 2007, p. 1.

(56) โปรดดู สมยศ เชื้อไทย และกิตติศักดิ์ ปรกติ, "เมื่อบทเฉพาะกาลเป็นบทล้มล้างรัฐธรรมนูญ", มติชนออนไลน์, ๑๖ ส.ค. ๒๕๕๐, www.matichon.co.th/news_ detail.php?id= 1465&catid=16.

(57) ในรายงานสำรวจ Globalization Index 2007 ซึ่งวารสาร Foreign Policy ฉบับประจำเดือน November/ December 2007 ของอเมริกาได้ร่วมกับ A.T. Kearney บริษัทที่ปรึกษาการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลกจัดทำขึ้นนั้น ปรากฏว่าระดับความเป็นโลกาภิวัตน์ของประเทศไทย (วัดจากดัชนีตัวแปร ๔ กลุ่มคือ: การประสานเข้ากับโลกภายนอกทางเศรษฐกิจ, การติดต่อสัมพันธ์ส่วนบุคคล, การเชื่อมต่อทางเทคโนโลยี, และการเกี่ยวข้องพัวพันทางการเมืองกับโลกภายนอก) อยู่ในอันดับที่ ๕๓ จากจำนวน ๗๒ ประเทศและเขตแคว้นที่สำรวจ โดยอันดับของไทยในปีนี้ตกลงมาจากปีที่แล้วถึง ๘ อันดับ และยังต่ำกว่าเวียดนามซึ่งอยู่ในอันดับที่ ๔๘ ในปีนี้ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้การที่ไทยตกอันดับเป็นเพราะสาเหตุทางการเมือง ดู "The Globalization Index 2007", Foreign Policy, November/ December 2007, www.foreignpolicy.com/story/cms.php?story_id=3995&print=1; และ "Vietnam named in globalisation index rankings", Vietnam Economy, 30 October 2007, www.vneconomy.com.vn/eng/article _to_print.php?id=b945d8c4a43738.

(58) Jeffrey Haynes, Comparative Politics in a Globalizing World (Cambridge: Polity, 2005), p. 54.

(59) บทความที่ประมวลสะท้อนทรรศนะวิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ดีคือ Daniel Ten Kate, "Verdict sets a dangerous precedent", Bangkok Post, 9 June 2007, p. 8.

(60) บทวิเคราะห์ที่ให้ภาพรวมเรื่องนี้ได้กระชับชัดเจนยิ่ง ได้แก่ The Political Desk, "Romance of the Three Kingdoms", The Nation, 4 October 2007, www.nationmultimedia.com/option/print.php?newsid =30051222.

(61) บทบรรยายวิเคราะห์ที่ให้ภาพรวมเรื่องนี้ได้กระชับชัดเจน ได้แก่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "สิบเดือนของการต่อต้านรัฐประหาร และ ประเมินสถานการณ์อนาคตระยะใกล้", เว็บบอร์ดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ๑๙ ก.ค. ๒๕๕๐, www.sameskybooks.org/webboard/show.php?Category=sameskybooks&No=19367.

(62) อ้างจาก มติชนสุดสัปดาห์, ๑๗๕๙๒ (๒๓ ก.ย. ๒๕๔๐), ๒๔.

(63) Chang Noi, "10 years after the 1997 crisis", The Nation, 12 June 2007.

(64) Pasuk Phongpaichit, "Thai politics beyond 2006 coup", Bangkok Post, 31 July 2007, p. 8.


(คลิกกลับไปทบทวนบทความเรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๑)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน


นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
19 December 2007
Free Documentation License
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้คาดหมายไว้ในการอภิปรายเรื่อง "ประเทศไทยบนเส้นทางสู่อนาคต" ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๕ ก.พ.๒๕๕๐ ว่าทหารจะยังคงเป็นตัวแปรทางการเมืองอีกตัวแปรหนึ่งไปอีก ๔ - ๕ ปีในลักษณะกลุ่มพลังเหนี่ยวรั้งทางการเมือง ที่แฝงตัวอยู่ในระบบราชการ ("สนธิ"ย้ำความมั่นคงไม่เลิกประกาศ "ชัยอนันต์"ชี้ทหารตัวแปรการเมือง", มติชนราย วัน, ๑๖ ก.พ. ๒๕๕๐, น. ๑) (คัดมาบางส่วนจากบทความ)
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream