บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Different
Feminist Theory
Midnight
University
ความเข้าใจเชิงทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม
Different
Feminist Theories:
ในความต่างของทฤษฎีสตรีนิยมทั้ง ๔
(ตอน ๒)
ดร.สันต์
สุวัจฉราภินันท์ : แปลและเรียบเรียง
อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
บทความวิชาการชิ้นนี้แปลและเรียบเรียงจากงานของ
Marysia Zalewski
เรื่อง: Feminism After Postmodernism: Theorising Through Practice
ในบท Introduction: Different Feminist Theories
เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายและแตกต่างของทฤษฎีสตรีนิยม
ประกอบด้วย สตรีนิยมแนวสุดโต่ง, สตรีนิยมแนวเสรีนิยม, สตรีนิยมแนวมาร์กซิสท์/สังคมนิยม
และสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ ซึ่งจะเตรียมกรอบความคิดอย่างกว้างๆ
เกี่ยวกับพื้นฐานทางปรัชญา
ที่แตกต่างในเรื่องเดียวกันให้เข้าใจอย่างชัดเจน
ในส่วนของหัวเรื่องสำคัญในบทความวิชาการชิ้นนี้
ประกอบด้วย
แอนเดียร์ ดาว์กิน กับภาพลักษณ์อันสุดโต่ง, จูดิส บัตเลอร์ สตรีนิยมหลังสมัยใหม่,
การแตกแขนงของแนวคิดสตรีนิยม: อะไรที่ทำให้เกิดการกดขี่ผู้หญิง และจะทำให้มันหายไปได้อย่างไร?,
๖ คำที่สำคัญ สำหรับแนวคิดกลุ่มสตรีนิยมแบบเสรีนิยม, ผู้หญิงเป็นเสมือนชาติพันธุ์ที่มีขนนก,
ทำไมผู้หญิงจึงไม่สามารถเป็นได้อย่างผู้ชาย, เกลียดผู้ชาย, ผู้หญิงต้องมาก่อน,
เป็นต้น
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๒๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๗ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ความเข้าใจเชิงทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม
Different
Feminist Theories:
ในความต่างของทฤษฎีสตรีนิยมทั้ง ๔
(ตอน ๒)
ดร.สันต์
สุวัจฉราภินันท์ : แปลและเรียบเรียง
อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. แนวคิดสตรีนิยมแบบสังคมนิยม
จากบางส่วนของบทกวี "นักสังคมนิยมและนักปฎิวัติสร้างการเปลี่ยนแปลง" เขียนโดย ชาลอส เพอร์กิน กิลแมน (Charlotte Perkins Gilman) ได้เปิดประเด็นไปสู่ข้อโต้แย้งระหว่างแนวคิดแบบสังคมนิยมและแนวคิดแบบสตรีนิยม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือระหว่าง ชนชั้นและเพศสภาพ
เมื่อโลกใบนี้ถูกทำให้ดีขึ้น ผู้หญิงก็จะถูกยกระดับให้ดีขึ้นด้วย
นักสังคมนิยมกล่าวเอาไว้
แต่คุณไม่สามารถที่จะยกระดับโลกใบนี้ด้วยตัวคุณคนเดียวแน่นอน
ในขณะที่ครึ่งหนึ่งยังไม่เห็นความสำคัญตรงนี้
นั่นคือ ทำให้การปฎิวัติและการสร้างการเปลี่ยนแปลงยังคงเป็นอยู่อย่างนี้โลกใบนี้ถูกทำให้ตื่นขึ้นและกล่าวออกมาว่า
งานของพวกเจ้าเหมือนกันทั้งหมด
ทำงานด้วยกันหรือทำงานแยกกัน
ทำงานไปซะ, คนทุกคน, ทำงานด้วยใจและความรักในงาน
เข้าไปสู่ระบบของมันซะ
(Hansen and Philipson, 1990: v)
ชนชั้นหรือเพศสภาพ
ในบทกวีด้านบนที่กล่าวไว้ ดูเหมือนจะเป็นการเปิดประเด็นให้คิดถึงข้อโต้แย้งที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างนักสังคมนิยมและนักปฎิวัติสร้างการเปลี่ยนแปลง
คนแรกน่าจะเป็นคนที่สนใจในเรื่องเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นจากความกดขี่ทางชนชั้น
ในขณะที่คนที่สองน่าจะสนใจในเรื่องการเลือกปฎิบัติโดยเฉพาะเลือกกระทำต่อผู้หญิง.
ในการใช้ภาษาปัจจุบัน เราสามารถสรุปได้ว่ามันเป็นข้อขัดแย้งระหว่างเรื่องราวทางชนชั้นและทางเพศสภาพ
คำถามที่เกิดขึ้นคือว่า อะไรสำคัญกว่ากัน ชนชั้นและเพศสภาพมันกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันและเชื่อมโยงถึงกันไม่ใช่หรือ?
นักสตรีนิยมแบบสังคมนิยมได้พยายามขบคิดถึงปัญหาที่ว่านี้ และสิ่งที่ได้จึงนำพาไปสู่การพัฒนาทางด้านความรู้ความคิดทฤษฏีทางสายสตรีนิยมและทางด้านการปฎิบัติ
๖ คำที่สำคัญ สำหรับแนวคิดกลุ่มสตรีนิยมแบบสังคมนิยม
แนวคิดที่ว่าประกอบไปด้วย 6 คำสำคัญ คือ "ชนชั้น/ระบบทุนนิยม", "การปฎิวัติ",
"สังคมชายเป็นใหญ่", "จิตวิเคราะห์" (Psychoanalysis), "สภาวะของอัตบุคคล"
(Subjectivity) และ "ความแตกต่าง" ทั้ง 6 คำสำคัญนี้ก่อให้มุมมองที่กว้าง
ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นความคิดที่มีส่วนร่วมและอิทธิพลจากแนวคิดอื่นๆ เช่น มารก์ซิสท์,
สตรีนิยมแบบสุดโต่ง, และจิตวิเคราะห์. การผสมผสานกันระหว่างอิทธิพลจากแนวคิดอื่นๆ
ที่บวกเข้ากับการโต้แย้งระหว่างชนชั้นและเพศสภาพ ทำให้แนวคิดสตรีนิยมแบบสังคมนิยมมีความน่าหลงใหล
และก่อให้เกิดเป็นความซับซ้อนของทั้งด้านแนวคิดและด้านปฎิบัติการ. นอกจากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นทางการเมืองสายสังคมนิยมทั่วโลกในช่วงทศวรรษล่าสุด
(โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความคิดและกรอบทฤษฏีทางสังคมนิยมอย่างก้าวขวาง
ซึ่งรวมทั้งแนวความคิดทางสายสตรีนิยมแนวสังคมนิยมนี้ด้วย สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ผสมผสานเข้าสู่ความซับซ้อนของแนวคิดดังกล่าว
มาร์กซิสท์หรือสตรีนิยมแบบสังคมนิยม
แน่นอนว่าแนวคิดสตรีนิยมแบบสังคมนิยมนี้ ได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งมาจากแนวคิดแบบมาร์กซิสท์.
แต่คำว่า "สตรีนิยมแบบสังคมนิยม" น่าจะสะท้อนประเด็นต่างๆ ที่ตรงกว่า
โดยเฉพาะจุดกำเนิดและจุดยืนของแนวคิดนี้ ถ้าจะพูดให้ตรงจุดคือ ทฤษฏีของมาร์กซิสท์ที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับชนชั้นและระบบทุนนิยม
คือต้นกำเนิดของการจุดประกายความคิดให้กับนักสตรีนิยมแบบสังคมนิยม. อย่างไรก็ตาม
การที่คิดถึงประสบการณ์เฉพาะเจาะจงของผู้หญิงที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมมันยังสามารถเปิดประเด็นไปได้หลากหลายทิศทาง
โดยย่อๆ ถ้ากล่าวถึงข้อโต้แย้งที่มักจะได้ยินอยู่ทั่วไปคือว่า ผู้หญิงคือประชาชนลำดับที่สองในระบบทุนนิยมและระบบโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่
ในระบบดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของการหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องจากคนทำงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนงานผู้หญิง
(Humm, 1989: 213)
ตามหลักการของมาร์กซิสท์สามารถนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ได้ถึง งานบ้านของผู้หญิงที่เป็นเสมือนกลไกอันหนึ่งของระบบทุนนิยม และการที่งานเหล่านั้นไม่ได้ถูกมองว่าเป็น "งานที่แท้จริง" เพราะการที่งานเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของกลไกการตลาดและเศรษฐกิจ. การมอง "งาน" ในลักษณะนี้คือสิ่งที่ได้มาจากแนวคิดแบบมาร์กซิสท์ และในขณะเดียวกันได้แนวคิดเรื่อง "สังคมชายเป็นใหญ่" และ "ธรรมชาติของการเมืองในความเป็นส่วนตัว". จากแนวคิดแบบสตรีนิยมแบบสุดโต่ง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาข้อถกเถียงที่สำคัญที่เกิดขึ้นแบบคู่ขนานกันไป นั้นคือ ข้อถกเถียงทางด้านแรงงานในบ้าน และข้อถกเถียงในเรื่องระบบคู่และระบบรวม
สังคมชายเป็นใหญ่ และ/หรือระบบทุนนิยม
ถ้าการปฎิวัติได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งการปฎิวัตินี้ถือได้ว่าเป็นความต้องการของกลุ่มมาร์กซิสท์และกลุ่มนักสังคมนิยม
ที่มีความต้องการมายาวนานในการล้มล้างระบบทุนนิยม ทฤษฏีจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ซึ่งกลุ่มสตรีนิยมแบบสังคมนิยมในยุคแรกๆ มองว่ามันเป็นจุดกำเนิดของความกดขี่
กดทับ และการหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง เอารัดเอาเปรียบ. การใช้หลักการทางมาร์กซิสท์อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ
เนื่องจากทฤษฏีที่ว่านี้ไม่ได้คิดคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้หญิงอย่างจริงจัง และไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้
สำหรับมุมมองของกลุ่มสตรีนิยมแบบสุดโต่ง มองว่าระบบสังคมชายเป็นใหญ่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากสิ่งที่พวกเธอคาดเดาดูเหมือนว่า จะเป็นไปในแบบ "สากล" มากเกินไป หรือเป็นมุมมองที่ไม่สะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของระบบสังคมชายเป็นใหญ่ และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความกดดันของผู้หญิง. สิ่งที่นักคิดในกลุ่มนี้ต้องการคือ กรอบการมองที่สมบูรณ์ขึ้นสามารถเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ ได้ดีขึ้น และเข้าใจภาพรวมทางทฤษฏีที่ว่าด้วยการถูกกดขี่นี้. ทฤษฏีที่ว่าด้วยกรอบความคิดแบบคู่ตรงข้ามโต้แย้งเอาไว้ว่า ระบบสังคมชายเป็นใหญ่และระบบทุนนิยมนั้นไม่เหมือนกัน แต่มีการเชื่อมโยงถึงกัน. สำหรับนักทฤษฏีที่ว่าด้วยการรวมระบบต่างๆ เข้าด้วยกันอ้างว่า สองระบบนี้ไม่สามารถที่จะคิดพิจารณาแยกกันได้. ข้อถกเถียงนี้และข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้องกับแรงงานภายในบ้านเกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน ข้อเสนอแนะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือ แรงงานภายในบ้านควรจะมีค่าแรงเช่นเดียวกัน มันไม่ใช่คำแนะนำที่รัฐบาลใดจำเป็นต้องทำตาม แต่สิ่งที่น่าจะต้องตระหนักอย่างจริงจังคือ แม่บ้านทุกคนทำงานหนักมาก!
ยังไม่เพียงพอ
นอกเหนือไปจากข้อถกเถียงที่ยาวนานตามหน้าหนังสือวิชาการต่างๆ กลุ่มมาร์กซิสท์และกลุ่มสตรีนิยมแบบสุดโต่งยังได้ทำการพิสูจน์ว่า
ข้อถกเถียงดังกล่าวนั้น ยังไม่เพียงพอต่อกลุ่มสตรีนิยมแบบสังคมนิยม ดังนั้นพวกเขาจึงหันไปพึ่งพาทฤษฏีทางจิตวิเคราะห์
จากบทความที่มีอิทธิพลต่อความคิดอย่างมากในยุคแรกๆ ของ จูเลียต มิสเชล (Juliet
Mitchell) ในบทความที่ชื่อว่า "ผู้หญิง: การปฎิวัติที่ยาวนานที่สุด"
(1966) บทความนี้ถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดความประหลาดใจในตอนนั้น
เนื่องจากโดยปกติแล้ว นักสตรีนิยมมักจะวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฏีทางจิตวิเคราะห์ว่าเป็นลำเอียงและเกลียดผู้หญิง
อย่างไรก็ตามบทความของมิเชล บทนี้และรวมทั้งหนังสือเล่มต่อมาของเธอที่เตือนสติให้นักสตรีนิยมเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการปฎิวัติทางระบบทุนนิยมและทางจิต. สตรีนิยมอาจจะใช้ทฤษฏีทางจิตวิเคราะห์ในการค้นหาและเปิดโปงอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และสภาวะของอัตบุคคลที่ถูกสร้างขึ้น และเป็นมุมมองที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับความคิดในแง่ลบสำหรับสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นดังกล่าว. ถ้าจิตวิเคราะห์สอนเราในเรื่อง "กายภาพไม่ใช่พรหมลิขิต" และได้เปิดโปงให้เห็นถึง "คน" ในด้านสังคม โดยผ่านกระบวนการการเกิดขึ้นจาก "คน" ในด้านกายภาพ ถ้าเป็นไปตามนั้น นั่นหมายความว่า เครื่องมือที่ใช้ในจิตวิเคราะห์ยังเอื้อให้สามารถนำมาใช้สร้างสภาวะของอัตบุคคลของผู้หญิงขึ้นมาได้ ถ้าเราสามารถที่จะทำให้เห็นได้ว่า ผู้หญิงและความเป็นหญิงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นกับมุมมองทางด้านร่างกายเนื้อตัวแต่เพียงอย่างเดียว เราก็จะสามารถทำให้เกิดความแตกต่างซึ่งน่าจะสามารถนำไปสู่การล้มล้างแนวที่เอารัดเอาเปรียบทางเพศและการครอบงำของผู้ชายได้
สภาวะอัตบุคคลที่แตกต่าง
= ความรู้ที่แตกต่าง
แนวคิดในเรื่อง "สภาวะเพศสภาพของอัตบุคคลที่มีความแตกต่าง" เปิดทางให้นักสตรีนิยมหลายคนได้โต้แย้งถึงเหตุผลและความคิดที่แตกต่างเพื่อที่จะต่อรองกับผู้ชาย.
ตามปกติแล้วความแตกต่างทางเพศสภาพนี้สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดลำดับชั้น
เกิดข้อเปรียบเทียบ เกิดความด้อยกว่า นักสตรีนิยมหลายคนมีความเฉลียวฉลาดที่จะไม่พยายามปฎิเสธถึงข้อแตกต่างเหล่านี้
แต่กลับแสดงให้เห็นข้อแตกต่างดังกล่าว และใช้ข้อแตกต่างนี้ให้เกิดประโยชน์ ยกอย่างเช่น
หนังสือหลายเล่มที่มีอิทธิพลและค่อนข้างเปิดประเด็นให้เกิดการท้าทาย เสนอแนะว่า
ผู้หญิงหรือเด็กผู้หญิง "ผิดพลาด" และข้อผิดพลาดเหล่านั้นอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลทางศีลธรรมจรรยา.
เหตุที่ "ผิดพลาด" เพราะว่าพื้นฐานการวัดข้อผิดพลาดเหล่านั้น ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของเด็กผู้ชายและผู้ชาย
(Gilligan, 1982). มันไม่ใช่ความต้องการของ กิลลิกัน (Gilligan) ที่พยายามจะโน้นน้าวคนอื่นๆ
ว่า ผู้หญิงมีอำนาจในการใช้เหตุผลด้านศีลธรรมเฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่เธอต้องการที่จะนำเสนอแนวคิดที่ว่าผู้หญิงมี
แนวทางที่แตกต่าง ในการใช้เหตุผลด้านศีลธรรมที่ต่างออกไปต่างหาก
นักสตรีนิยมคนอื่นๆ พยายามที่จะสืบค้นว่า ต้นตอของการเกิดขึ้นของความแตกต่างทางด้านเพศสภาพเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ตัวอย่างเช่น แนนซี่ โชวโดโรว์ (Nancy Chodorow) ที่โต้แย้งเอาไว้ว่าเด็กผู้หญิงค่อยๆ กลายไปมีลักษณะทางเพศสภาพพัฒนาขึ้นมาตามอายุ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือการพัฒนาการทางด้านความต้องการที่จะเป็น "แม่" และต้องการที่จะมี "ความเป็นหญิง" ตั้งแต่ในช่วงอายุต้นๆ. สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เด็กผู้หญิงเลือกแต่มันกลับกลายเป็นเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่ถูกสั่งสมมา หยั่งลึกเข้าไปในระดับจิตสำนึก. การวิเคราะห์ของ โชวดูโรว นั้นตั้งอยู่บนฐานความคิดของปมแห่งโอดิบุส ดังที่เธอเชื่อว่าเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายนั้นมีการแก้ปมนี้ต่างกัน เนื่องจากในบางส่วนเป็นเพราะข้อแตกต่างทางสายสัมพันธ์ทางกายภาพที่เขาและเธอมีต่อมารดา
ในเชิงอุปมาอุปมัย เด็กผู้ชายจะตัดสายสัมพันธ์ของเขาจากมารดา เกิดการแยกตัวออกอย่างเจ็บปวด และผลที่เกิดขึ้นคือบุคลิกภาพที่ค่อนข้างจะตัดขาดและไม่เหมาะสมต่อการมีบทบาทและหน้าที่ทางสายมารดา. ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะเข้าหามารดาและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องก้าวผ่านขั้นตอนแห่งการแยกตัวหรือตัดขาดที่เจ็บปวดในช่วงที่เจริญเติบโตขึ้นมา และจะพบว่าเด็กผู้หญิงสามารถที่จะ "สร้างสัมพันธ์" กับคนอื่นๆ ได้ดีกว่า และนั่นเป็นเหตุให้พวกเธอสามารถที่จะต่อยอดทางบทบาทและหน้าที่ของสายมารดาได้เป็นอย่างดี
การวิเคราะห์ความแตกต่างทางเพศสภาวะของอัตบุคคลนี้ ได้ช่วยให้นักสตรีนิยมได้พัฒนาองค์ความรู้และสร้างกรอบทฤษฏีใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดแบบมาร์กซิสท์ขึ้นมา โดยกรอบทฤษฏีนี้จะต้อง "ถูกต้อง" เพื่อผลแห่งแนวทางในการปฎิบัติที่สามารถจะทำได้. ทฤษฏีชุดนี้เรียกได้ว่าเป็น ทฤษฏีจุดยืนทางสายสตรีนิยม ที่มีนัยยะว่าความแตกต่างทางสภาวะเพศสภาพของอัตบุคคลนี้ที่สามารถนำไปสู่องค์ความรู้ที่แตกต่าง. เรายังสามารถคิดไปได้ว่า มันคือการหยิบยื่นให้อย่างพิเศษของแนวคิดสตรีนิยมแบบสังคมนิยมที่ "เปิดโอกาสในการสร้างกรอบทฤษฏีใหม่ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและโครงสร้างที่มีความเกี่ยวเนื่องกันของความกดขี่ ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในปัจจุบัน" (Jaggar, 1983: 316-317)
ความซับซ้อนของความแตกต่าง
เนื้อหาทางด้าน อัตลักษณ์ทางเพศ (Sexuality) ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นจากแนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่ง
และก่อให้เกิดเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับแนวคิดสตรีนิยมแบบสังคมนิยม. สำหรับนักสตรีนิยมบางคนแล้ว
เรื่องราวทางด้าน "อัตลักษณ์ทางเพศ" กลายเป็นประเด็นหลัก มากไปกว่า"ชาติพันธุ์"
ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิดครั้งสำคัญระหว่างสตรีนิยมในช่วงท้ายของทศวรรษ
1970s และ "ก่อให้เกิดการสั่นคลอนของความเป็นหนึ่งเดียวกันในด้านเนื้อหา
ทิศทางและจุดมุ่งหมายของแนวคิดสตรีนิยม" (Segal, 1987: 65) เนื้อหาโดยย่อคือ
การมีอยู่ของกลุ่มแนวคิดที่เกี่ยวกับเลสเบี้ยน ผนวกกับเนื้อหาทางการเมืองของกลุ่มนี้
และ/หรือ กลุ่มแนวคิดที่เน้นการแยกตัวออก ทั้งสองมีการผสมผสานร่วมกัน รวมกับกลุ่มแนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่ง
เพื่อเน้นย้ำถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงของผู้ชาย ที่ได้เพิ่มความตรึงเครียดและความซับซ้อนให้กับนักสตรีนิยมสังคมนิยมทั้งด้านทฤษฏีและปฎิบัติ
ความซับซ้อนที่ว่านี้ สามารถพบเจอได้จากวัตถุประสงค์ที่เกิดขึ้นจากนักสตรีนิยมสังคมนิยม. อลิสัน แจคการ์ (Alison Jaggar) ในปี 1983 เช่น เพื่อที่จะรื้อสร้างความรู้ เพื่อที่จะยกเลิกระบบชนชั้นและระบบเพศสภาพ เพื่อปัจจัยทางด้านกายภาพที่ดีกว่า เพื่อที่จะล้มล้างความคิดที่ว่าความเป็นคนงานและความเป็นผู้หญิงคือการจัดกลุ่มทางสังคม เพื่อที่จะสร้างเนื้อหาทางการต่อรองทางการเมืองให้กับผู้หญิง และเพื่อที่จะใช้เป็นอำนาจในการโค่นล้มการครอบงำของผู้ชาย ทั้งหมดนี้ดูเหมือนว่าจะทำสำเร็จได้โดยทางการปฎิวัติทาง"วัตถุ" และ"ทางนามธรรมหรือทางจิตสำนึก". นักสตรีนิยมแนวเสรีนิยมในทศวรรษที่ 1990s อาจจะหันไปเป็นนักสตรีนิยมแบบสังคมนิยม และเน้นย้ำถึงการที่ไม่สามารถทำสำเร็จในประเด็นต่างๆ ได้!
4. แนวคิดสตรีนิยมหลังสมัยใหม่
คุณจะได้อะไรถ้าคุณจะแย้งกับนักทฤษฏีหลังสมัยใหม่นิยมด้วยการใช้สมาชิกของกลุ่มมาเฟีย มันคือข้อเสนอที่คุณไม่อาจจะเข้าใจ แนวความคิดหลังสมัยใหม่นิยมได้รับขนานนามว่าเป็นอะไรที่เข้าถึงยากและเข้าใจได้ยาก ไม่ว่าสิ่งที่กล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ หรือแม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบที่เกินจริง หรือไม่ว่ามันจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดสตรีนิยมหลังสมัยใหม่หรือไม่เป็นประเด็นที่น่าขบคิด
ถึงแม้ว่าจะมีเนื้อหาที่เข้าถึงได้ยาก แต่มันยังคงจะเป็นไปได้ที่จะจับเอาคำสำคัญหลักๆ มานำเสนอเช่น "อัตบุคคล", "ภาษา", "อำนาจ/ความจริง/ความรู้", "การต่อต้านอภิมหากาพย์ของการเล่าเรื่อง" (Anti-Metanarrative), "การต่อต้านพื้นฐานที่สั่งสมมา" และ "การรื้อสร้าง". คำสำคัญหลักๆ เหล่านี้นำไปสู่เรื่องราวแนวคิดหลังสมัยใหม่นิยมได้ด้วยตัวมันเอง ดังนั้นจึงเกิดคำถามที่ว่า "เราจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่า ตรงจุดไหนที่เราสามารถแยกแยะออกว่านั่นคือ "สตรีนิยมในแนวคิดหลังสมัยใหม่". ในการตอบคำถามนี้ ขอให้เราลองมาดูตรงจุดที่แนวคิดสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ได้ถือเกิดขึ้นโดยจุดสำคัญๆ 2จุด คือ
จุดแรก เกิดจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางทฤษฏีที่ได้จากนักสตรีนิยมสมัยใหม่ และ
จุดที่สอง คือ ได้มาจากแนวคิด"หลังสมัยใหม่"และแนวความคิดสกุล"หลังโครงสร้างนิยม"อย่างค่อนข้างที่จะชัดเจน
ตามการกล่าวอ้างข้างต้นจะเห็นได้ว่า นักสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ค่อนข้างที่จะเชี่ยวชาญที่จะเปิดโปงความผิดพลาด และความอ่อนแอของแนวคิดแบบสตรีนิยมประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีนัยยะถึงแนวคิดที่ผูกผันกับสมัยใหม่นิยม ประเด็นสำคัญอีกจุดหนึ่งคือ การสั่นคลอนและการรื้อสร้างการจัดแบ่งกลุ่มผู้หญิง
ฉันยังเป็นผู้หญิงอยู่หรือไม่
ฉันได้ทำการชักจูง
และพยายามสร้างและรวบรวมสิ่งต่างๆ เข้าไปในโรงนา แต่ไม่มีใครสักคนที่ได้ยินฉัน
ฉันยังเป็นผู้หญิงอยู่หรือไม่ ฉันสามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างที่ผู้ชายเขาทำกัน
เมื่อฉันได้รับโอกาสนั้น ฉันยังเป็นผู้หญิงอยู่หรือไม่ ถ้าฉันให้กำเนิดลูกสิบสามคน
และได้เห็นว่าเกือบทั้งหมดได้ถูกขายออกไปเป็นทาส และเมื่อฉันร้องห่มร้องไห้ในความเศร้าของแม่
ไม่มีใครมีแต่เพียงพระเยซูเท่านั้นที่ได้ยิน ฉันยังเป็นผู้หญิงอยู่หรือไม่
(Sojourner Truth, Women's Convention in Akron, Ohio, 1851)
ข้อความบางส่วนที่ตัดตอนมาข้างบนนี้ มาจากเสียงร่ำร้องของ โซจูเนอร์ ทรูช (Sojourner Truth) ผู้ซึ่งเห็นด้วยกับการเลิกทาสผิวดำ ได้ลุกขึ้นมาเพื่อที่จะปฎิเสธว่าตัวของเธอนั้นไม่ได้ถูกกรอบกำหนดมาด้วยความอ่อนแอ และความเป็นผู้หญิงหรือความเป็นสุภาพสตรี (ที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของคนผิวขาว ชนชั้นกลาง). ในคริสตศตวรรษที่ 19 ถ้อยคำของเธอยังได้แสดงให้เห็นว่า เธอต้องการที่จะอ้างถึง "ความเป็นหญิง" จากความเป็นแม่และความรู้สึกที่เศร้าสลดของผู้เป็นแม่เมื่อลูกของเธอถูกพลากจากไป. ในหลายๆ มุม เธอเป็นทั้งผู้ชายและผู้หญิงในเวลาเดียวกัน ถ้าสำหรับผู้ชายผู้ซึ่งเคยได้เธอเอาไว้เป็นทาสรับใช้ แน่นอนว่าสำหรับเขาแล้ว เธอคือผู้หญิง และที่สำคัญอวัยวะสำหรับการสืบพันธุ์ย่อมจะตอกย้ำได้. แต่ผู้ชายเหล่านั้นกลับปฎิบัติต่อเธอเสมือนเธอเป็นผู้ชาย คาดหวังการทำงานจากเธอ และทำโทษเธอในลักษณะเดียวกันกับทาสผู้ชายผิวดำ. ในเวลาเดียวกันเจ้า นายเธอจะไม่สามารถคิดไปได้ว่า โซจูเนอร์ ทรูช จะเป็นผู้หญิงที่อยู่ในโลกเดียวกันกับภรรยาหรือลูกสาวของเขา อะไรล่ะที่ทำให้เรากล่าวได้ว่าคนๆ นั้นเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง
แน่นอนว่า สำหรับสตรีนิยมสมัยใหม่แล้วคำตอบนี้ง่ายและชัดเจนมาก เพราะนักสตรีนิยมสมัยใหม่มักจะมีแนวคิดที่ว่า การที่คนใดคนหนึ่งเป็นอัตบุคคลได้นั้น เป็นการพัฒนามาตั้งแต่ยุคแห่งการรู้แจ้ง (the Age of Enlightenment) ประโยคที่เป็นที่รู้จักกันดีของ เรเน เดสการ์ต (Rene Descartes) 'ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่" เป็นเสมือนตัวอย่างทางความคิดที่ดีในคำอธิบายเรื่องความเป็นอัตบุคคลหรือ "ตัวตน" ในยุคนั้น. ถ้าดูอย่างผิวเผินแล้วประโยคนี้ของ เดสการ์ต ไม่น่าจะมีความโดดเด่นอะไรมากมาย แต่ทว่าแท้จริงแล้ว มันชี้ให้เห็นอะไรบางอย่างที่สำคัญมาก นั่นคือ แนวคิดและความเชื่อของมนุษย์ผู้ซึ่งเคลื่อนที่จากผู้ทรงฤทธานุภาพ เช่น พระเจ้าหรือกษัตริษ์ ผู้ซึ่งเป็นอยู่ในฐานะผู้กำหนดสร้างความจริงและความรู้อย่างสมบูรณ์ และด้วยในยุคแห่งการรู้แจ้งนี้เองที่นำเสนอความคิดใหม่ๆ ที่เชื่อว่า มนุษย์แต่ละคน (I) สามารถอยู่ในฐานะผู้กำหนดสร้างความจริงและความรู้ได้เหมือนกัน. นั้นแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่ออกไปจากตำแหน่งแห่งที่เดิมๆ ที่เราเคยเป็น "ทาสทางความคิด" ไปสู่ความมีเกียรติและศักดิ์ศรีในความเป็นอัตบุคคล และกลายเป็นพื้นฐานของการเรียกร้องถึงสิทธิและการกำหนดสร้างตัวตนที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในทุกวันนี้
นักสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ต้องการเดินตามทิศทางทางความคิดที่ยุคแห่งการรู้แจ้งเปิดเอาไว้ให้ พวกเธออ้างถึงความมีอยู่อย่างเป็นที่สุดของอัตบุคคล ไม่ว่าพระเจ้าหรือมนุษย์ เป็นเพียงแค่มายา. ถ้าชาวสมัยใหม่นิยมคิดถึงอัตบุคคลของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นผลแอปเปิ้ล ที่มีแกนอยู่ข้างใน, ชาวหลังสมัยใหม่กลับคิดถึงอัตบุคคลนั้นในลักษณะที่เป็นหัวหอม สามารถแกะเปลือกออกที่ละชั้นๆ สิ่งที่เหลืออยู่คือความว่างเปล่าที่ตรงกลางของแก่นแกนภายใน. แต่นี้ไม่ได้หมายความว่าความเป็นอัตบุคคล (ของคนเราทั่วไป) ไม่มีอยู่หรือไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ การตั้งคำถามต่อรูปแบบของความเป็นอัตบุคคลต่างหาก และอะไรคือสิ่งที่สร้าง ประกอบขึ้นเป็นความเป็นอัตบุคคลนั้น. สำหรับชาวสมัยใหม่นิยมพวกเขาเชื่อถือถึงแก่นแกนหลักในการประกอบสร้างเป็นอัตบุคคล และนั่นได้จุดประกายให้นักสตรีสมัยใหม่นิยมกล่าวว่า "ให้พูด ให้เล่าเหมือนอย่างที่มันเป็น" เกี่ยวกับผู้หญิง หรือพูดในอีกมุมหนึ่งคือ เพื่อที่จะกล่าวได้ว่าผู้หญิงคืออะไรและควรจะเป็นอย่างไร? แต่ในทางตรงกันข้ามสำหรับนักสตรีนิยมหลังสมัยใหม่แล้ว มันไม่มีอะไรที่เรียกว่าแก่นแกนและพวกเธอเลือกที่จะถามว่า "อย่างไรที่ผู้หญิงกำลังจะเป็น และอย่างไรที่ผู้หญิงจะพูด"
แค่เพียงคำพูดเท่านั้นหรือ
สิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งที่เราสามารถกำหนดสิ่งต่างๆ ได้คือ ผ่านการใช้ภาษา และสำหรับนักทฤษฏีหลังสมัยใหม่
การให้คำกำจัดความผ่านการใช้ภาษานั้น ไม่ใช่เพียงแค่การให้ชื่อ แต่มันคือโครงสร้างของความหมายและสภาวะอัตบุคคล
ความคิดและความหมายนั้นถูกสร้างขึ้นผ่านภาษาและมันจะไม่มีความหมายใดๆ เลย ถ้าอยู่นอกเหนือจากภาษา
ถือได้ว่าภาษาเป็นเสมือนพื้นที่หนึ่งที่ความรู้สึกถึงตัวตนของคนเรา และสภาวะแห่งอัตบุคคลของเราได้ถูกสร้างขึ้น
(Weedon, 1987: 21)
ประเด็นที่สำคัญอีกจุดหนึ่งที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจคือ ความหมายในตัวมันเองเกิดขึ้นอย่างปราศจากเหตุผลและมีความลื่นไหล และสำหรับรูปแบบที่สามารถกำหนดได้นั้น จำเป็นต้องมีการอ้างอิงถึงความหมายอื่นๆ นอกจากตัวมันเอง (Jackson, 1992: 26) หรืออย่างที่มีนักเขียนคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า "ความหมายจะถูกกำหนดสร้างขึ้นผ่านจุดที่เชื่อมต่อถึงกันระหว่างส่วนต่างๆ ซึ่งคำจำกัดความนั้นได้ถูกวางเอาไว้แล้วอย่างแม่นยำในความแตกต่างของกันและกันนั่นเอง" (Barrett, 1992: 202) ยกตัวอย่างเช่น คำว่า "ตะวันตก" ในความหมายที่อยู่ตรงข้ามกับ "ตะวันออก" "ทิศเหนือ" อยู่ตรงข้ามกับ "ทิศใต้" "ผู้ชาย" ที่อยู่ตรงข้ามกับ "ผู้หญิง" และ "สิ่งที่ดีที่ถูก" อยู่ตรงข้ามกับ "สิ่งที่ไม่ถูกต้อง"
นักทฤษฏีหลังสมัยใหม่นิยมหลายคน ไม่ว่าจะเป็นสตรีนิยมหรือไม่ก็ตาม ได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากแนวคิดของนักภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง เฟอร์ดินัน เดอร์ โซซูส (Ferdinand de Saussure) (1974) ภาษาสำหรับ โซซูส แล้ว มันไม่ใช่เพียงแค่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้นมาก่อนแล้ว แต่ยังเป็นการกำหนดสร้างความจริงให้กับเราอีกด้วย. ความแตกต่างทางภาษาสามารถแบ่งแยกความจริงทางสังคมที่แตกต่างกัน และที่สำคัญกำหนดสร้างความหมายที่แตกต่างกัน ในการแปลอย่างตรงไปตรงมาจากภาษาใดภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง ไม่สามารถที่จะคาดหวังได้ว่าจะเป็นจริงและถูกต้องทั้งหมด (Barrett, 1992: 203 และ Weedon, 1987: 22)
ยกตัวอย่างเช่น ความหมายของคำว่า "ความเป็นชาย" และ "ความเป็นหญิง" ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในภาษาที่แตกต่างกันออกไป, ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน การที่พยายามจะกำหนดกรอบความหมายเอาไว้ ความผิดพลาดในการชื่นชมสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในขณะที่การปิดกั้นและการหาช่องทางอะไรอย่างในการเปิดช่องทางนั้นให้เกิดขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่นักทฤฏษีหลังสมัยใหม่ต้องการที่จะเปิดโปง
อำนาจ/ ความจริง/ ความรู้
เมื่อคิดถึงตามคำนิยามว่า ความหมายทุกอย่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล
และอัตบุคคลคือสิ่งที่ถูกกำหนดสร้างขึ้น นักสตรีนิยมหลังสมัยใหม่อ้างว่า "ความจริงเพียงหนึ่งเดียว"
หรือความรู้ที่ไม่สามารถนำออกมาเสนอได้ ไม่น่าจะมีอยู่ และไม่น่าจะมีตรรกะในการคิด
และการตระหนักรู้ของอัตบุคคลก็อาจจะไม่ใช่เนื้อหาหลักของมัน ถ้าตัวตนแห่งคาร์ทีเชียน
(จากคำพูดของ เรเน เดสการ์ต, "ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่") มันคือภาพมายา
มันไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดความรู้และความยุติธรรม ซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่นักทฤษฏีสมัยใหม่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้
(Coole, 1993: 195)
นักเขียนหลังสมัยใหม่หลายคนไม่เพียงแค่จะกล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่า"ความจริง"และ"ความรู้" จะไม่มีอยู่อีกต่อไป พวกเขายังโต้แย้งต่อไปว่าอะไรที่ทำให้ความจริงเกิดการบิดเบือน นั่นคือการปฎิบัติการทางอำนาจ ตัวอย่างเช่น ฟูโก (Foucault) เขาไม่สนใจต่อการวิเคราะห์ค้นหาความจริง เพราะว่าความจริงคือภาพมายาและภาพตัวแทนของความล้มเหลว แต่ในสิ่งที่เขาทำคือ การเปิดประเด็นถึงคำถามที่ว่า ทำไมความเชื่ออะไรบางอย่างสามารถพิจาณาได้ว่าเป็นความจริง. สำหรับ ฟูโก แล้วใครก็ตามสามารถกำหนดสร้างความจริงได้ คนๆ นั้นก็จะสามารถยึดครองเอาพลังอำนาจไว้ได้
ถึงตรงนี้เราคงจะพอนึกออก ใครเป็นผู้กำหนดสร้างผู้หญิง จะเป็นใครก็ตามพวกเขากำลังเล่นอยู่ในเกมส์ของอำนาจ สิ่งที่นักสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ต้องการคือ การที่จะเห็นถึงการเคลื่อนที่ออกไปจากประเด็นหลักที่พวกเขายืนกรานในฐานะของความเป็นสมัยใหม่นิยม และได้ตั้งคำถามต่อไปยังคำจำกัดความของคำว่า "ผู้หญิง" เช่น การเน้นย้ำถึงเพศสภาพ คือมูลเหตุอย่างหนึ่งของอำนาจและลำดับขั้นสูงต่ำ ดังนั้นอำนาจได้กลายเป็นเสมือนหนึ่งการจัดหมวดหมู่หลักในการวิเคราะห์นี้
ความจริงจะไม่สามารถอยู่นอกขอบเขตของอำนาจ ความจริงคือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มันถูกผลิตออกมาในหลายลักษณะหลายรูปแบบ มันสะท้อนให้เห็นถึงความมีอำนาจ ท่ามกลางความหลากหลายของสังคม มันก็ทำให้แต่ละสังคมได้ผลิตความจริงที่แตกต่างกัน หรือลักษณะของวาทกรรมซึ่งสามารถยอมรับและผลิตสร้างให้เกิดเป็นความจริง; กลไกและความแม่นยำต่างๆ ที่สามารถทำให้เราแบ่งแยก แตกออก ระหว่าง"ความเป็นจริง" และ"ความไม่จริง"
(Grant, 1993: 131)
สำหรับความต้องการของเหล่านักสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่จะค้นหาว่าผู้หญิงคืออะไร แต่ยังเปิดโปงถึง อำนาจ/ความจริง/ความรู้ ที่มีลักษณะเป็นเกมส์ และต่อเนื่องต่อมาเรื่อยๆ เข้ามากำหนดสร้างผู้หญิงขึ้น. การใช้คำว่า "เกมส์" ในที่นี้ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะลดความตรึงเครียดที่เกิดขึ้นในเรื่องดังกล่าว
การต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างเลยหรือ
มันคือลักษณะของนักทฤษฏีหลังสมัยใหม่ ที่เชี่ยวชาญการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับโลกทางสังคม
ซึ่งอาจไม่มีความเกี่ยวเนื่องต่อความเข้าใจดังเดิมที่สั่งสมมา (Fraser and Nicholson,
1990: 21) สำหรับทฤษฏีใหญ่และทฤษฏีที่เชื่อมถึงกันในระดับต่างๆ (ซี่งในบางครั้งเราเรียกมันว่า
อภิมหากาพย์ของการเล่าเรื่อง) ซึ่งมีความพยายามที่จะให้คำอธิบายความเป็นจริงของสังคมที่เกิดขึ้น
คือเป็นจุดที่ข้อโต้แย้ง และต้องการจะมุ่งประเด็นไปสู่จุดขัดแย้งนั้น และทฤษฏีสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว
มันมีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดลักษณะของความเป็น "สากล" ขึ้น ในความเป็นสากลนี้เองที่ถูกมองจากนักทฤษฏีหลังสมัยใหม่ว่า
เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยน่าประทับใจที่หลงเหลือมาจากยุคแห่งการรู้แจ้ง(the Enlightenment)
หรือในขณะเดียวกันก็มีนัยยะถึง ความต้องการของมนุษย์ที่ปรารถนาการจะค้นหา และสร้างคำอธิบายแบบองค์รวม
การคาดเดา และการควบคุม ตัวอย่างหนึ่งคือทฤษฏีสายมาร์กซิสท์ แต่แน่นอนว่าเราไม่ได้รวมเอาแนวคิดสตรีนิยมเข้ามาผนวกด้วย
ในขอบเขตทางสังคมเมื่อถูกมองโดยนักทฤษฏีหลังสมัยใหม่แล้ว มันเป็นความซับซ้อนและมีหลากหลายที่ยากต่อการทำความเข้าใจ ดังนั้นการใช้ทฤษฏีที่สามารถสร้างความต่อเนื่องจึงได้ถูกหยิบยกขึ้น เพื่อที่จะอธิบายชีวิตการเป็นอยู่ของคนหลายๆ คน จำเป็นต้องมีการอ้างอิงถึงกลุ่มหลักๆ โดยทั่วไปเช่น ชาติพันธุ์, เพศสภาพ, และชนชั้น. แน่นอนว่า การอ้างอิงถึงกลุ่มแบบนี้ กลายเป็นการลดทอนความละเอียดอ่อน และความหลากหลายภายในกลุ่มเป็นอย่างมาก
สตรีนิยมหลังสมัยใหม่ในปัจจุบัน เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งทางทฤษฏีของกลุ่มสตรีนิยมกันเอง และเกิดขึ้นจากอิทธิพลทางความคิดของนักทฤษฏีหลังสมัยใหม่ ผลก็คืออะไรบางอย่างที่นำเสนอตัวเองในลักษณะของ ความไม่มีรูปร่างแน่นอน, การวิเคราะห์, ความลื่นไหล และการรื้อสร้าง. สตรีนิยมบางคนใช้คำว่า "นักสตรีนิยมแบบรื้อสร้าง" (Deconstructive Feminism) เพราะพวกเธอเหล่านั้นเห็นว่า จุดมุ่งหมายของแนวคิดสตรีนิยมในปัจจุบันคือ การตรวจสอบ การแบ่งแยกในการวิเคราะห์ และการซักถาม โดยการนำเอาทฤษฏีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น แนวคิดมาร์กซิสท์ และแนวคิดเสรีนิยม (ซึ่งเป็นตัวอย่างของทฤษฏีหลักในสายสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์)มาใช้ และเพื่อจะเป็นการเปิดโปงถึงคำมั่นสัญญาที่ซ่อนเร้นในการวิเคระห์วาทกรรมอีกด้วย (Gatens, 1992: 121)
หลายๆ ทฤษฏีถูกนำเข้ามาสอดประสานกันอย่างลึกซึ้ง โดยกลุ่มแนวคิดสตรีนิยมแบบรื้อสร้าง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างแนวคิดสายสตรีนิยมในปัจจุบันและในอดีต ที่ผ่านมาทฤษฏีสตรีนิยมหลายๆ แนว เช่น แนวเสรีนิยม, แนวมาร์กซิสท์, สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการแยกออกจากทฤษฏีที่มีพื้นฐานมาจากผู้ชาย. แนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่งไม่สามารถนำเข้ามาผนวกรวมกับแนวคิดสตรีนิยมแบบรื้อสร้างได้เพราะว่า แนวคิดแบบสุดโต่งเชื่อในแก่นสารของผู้หญิงหรือลักษณะทางกายภาพอะไรบางอย่าง สามารถช่วยทำให้เธอผลิตทฤษฏีที่ปราศจากการเจือปนทางความคิดที่มาจากระบบโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ได้. ดังนั้นในแนวคิดแบบปัจจุบัน ไม่ว่าจะถูกอธิบายว่าเป็นแบบหลังสมัยใหม่หรือแบบรื้อสร้าง ถูกให้คำนิยามเอาไว้ว่าเป็นคู่ตรงข้ามทั้งทฤษฏีทางสายสังคมและการเมืองที่เกิดจากผู้ชาย อย่างน้อยก็กลุ่มผู้ที่เชื่อในทฤษฏีที่ว่าด้วยความสำคัญของ "แก่นแกน" หรือการใช้ "ภาพรวมทั้งหมด" และทฤษฏีทางสตรีนิยมที่มีลักษณะร่วมในพื้นฐานทางกรอบวิธีคิดกับกลุ่มแรก นั่นหมายรวมถึงทฤษฏีสตรีนิยมในยุคทศวรรษที่ 1970s ซึ่งได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
แนวคิดสตรีนิยมแบบหลังสมัยใหม่สามารถเข้าใจได้ว่า มีการใช้ยุทธวิถีการรื้อสร้างของทฤษฏีหลังสมัยใหม่นิยมโดยทั่วไปมาใช้ และมีความสนใจเป็นพิเศษต่อการรื้อสร้างทางเพศสภาพ และความเป็นหญิง/ความเป็นผู้หญิง ประเด็นคือไม่ใช่การเสาะหาความจริงของผู้หญิงหรือเพศสภาพ เพราะว่าความจริงไม่สามารถดึงดูดเรียกร้องให้เป็นพื้นฐานในการสร้างความยุติธรรม เนื่องจากมันถูกทำให้ติดยึดอยู่ภายใต้กรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และประเด็นคือไม่ใช่ที่จะปลดปล่อยให้ผู้หญิงมีความเป็นอิสระจากความกดดันหรือจากการกดขี่ทางอัตลักษณ์ เนื่องจากทุกอัตลักษณ์สามารถเกิดขึ้นจากความถูกกดขี่. อิสระภาพประกอบไปด้วย "ความสุขสำราญในการที่ไม่มีอัตลักษณ์ใดๆ มากรอบ" และการที่ได้ต่อต้านการถูกจัดกลุ่มใส่ประเภท นั้นแหละ การต่อต้านอำนาจและความต้องการที่จะแสวงหาความจริง (Grant, 1993: 131)
ความจริงเกี่ยวกับผู้หญิง พวกเธอคืออะไร พวกเธอรู้ได้อย่างไร? นั่นคือคำถามที่สำคัญสำหรับกลุ่มแนวคิดสตรีนิยมแบบเดิม "บัดนี้ได้กลายเป็นกรอบแนวคิดทางด้านการกดขี่ห่มเหงในตัวมันเองสำหรับเป็นวัตถุดิบสำหรับการคิดวิเคราะห์ของนักสตรีนิยมหลังสมัยใหม่" โครงการที่สำคัญคือการที่ตรวจสอบหากลไกของอำนาจที่เข้ามากรอบกำหนดการเกิดขึ้นของอัตลักษณ์ของความเป็นหญิง เพื่อที่จะก่อให้เกิดการต่อต้านจากการถูกกรอบของอัตลักษณ์นี้ต่อไป
บทสรุป: เกี่ยวกับทฤษฎีสตรีนิยมสายต่างๆ
การแบ่งแยกคำว่า
"เพศ" และคำว่า "เพศสภาพ"
จากการผสมผสานของหลากหลายแนวทางของการปฏิบัติ สามารถอธิบายแนวคิดสตรีนิยมได้ว่าเป็นรูปแบบของการปฎิบัติการณ์ชนิดหนึ่ง
(Praxis) โดยเฉพาะการเป็นปฏิบัติการณ์ทางการเมือง ซึ่งประกอบกันขึ้นโดยผสมผสานทั้งมิติของการกระทำและ
ทฤษฏี โดยหนทางหนึ่งในการทำความเข้าใจว่า อะไรเป็นรากฐานที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นแนวคิดสตรีนิยมนั้น
คือการพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องของ เพศ (Sex),
เพศสถาพ (Gender), ชาติพันธุ์และชนชั้น และโครงสร้างทางสังคมที่แบ่งแยกโดยอัตลักษณ์ทางเพศ
การแบ่งแยกคำว่า "เพศ" และคำว่า "เพศสภาพ" นั้นเป็นรากฐานและประเด็นสำคัญทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติของสตรีนิยม โดยในภาพรวมคำว่า "เพศ" อาทิเช่น เพศชาย (Male) และ เพศหญิง (Female) หมายถึงความแตกต่างกันทางชีววิทยาของร่างกาย และ "เพศสภาพ" อาทิเช่น ความเป็นชาย (Masculine) และ ความเป็นหญิง (Feminine) หมายถึง สิ่งที่ถูกสังคมสร้างขึ้นให้แตกต่างกันระหว่างผู้ชาย (Men) และ ผู้หญิง (Women) โดยเพศที่แตกต่างกันนั้นโดยทั่วไปแล้วถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ ที่ถูกทำให้แตกต่างโดยธรรมชาติมาตั้งแต่เริ่มต้น ในขณะที่เพศสภาพที่แตกต่างกันนั้น ถึงแม้ว่าจะมีพื้นฐานมาจากเพศที่แตกต่างกัน แต่กลับถูกสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ผลิตให้เกิดความแตกต่างกัน และความแตกต่างนี้ยังคงแปรผันไปตามเวลาและสถานที่ ซึ่งเรื่องของคำว่า "เพศ" และ "เพศสภาพ" นี้เป็นประเด็นสำคัญที่สำคัญในการแบ่งแยกนักสตรีนิยมให้แตกออกเป็นหลายสายอีกด้วย
"เพศสภาพ" นั้นประกอบไปด้วยหลายส่วน ซึ่งเป็นส่วนที่มีเนื้อหาทั้งในเชิงร่วมสมัย และในเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการเข้าไปทำการสำรวจประเด็นซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสตรีศึกษาและการศึกษาเพศสภาพ ซึ่งแต่ละบทได้นำเสนอประเด็นที่แตกต่างกันของข้อขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ; ความแตกต่างของผู้หญิงจากผู้ชายในเรื่องของความเท่าเทียมหรือแตกต่าง; ความแตกต่างระหว่างผู้หญิงด้วยกันเองในเรื่องของ เพศสภาพ, ชาติพันธุ์, ชนชั้น และ อัตลักษณ์ทางเพศ (Sexuality); ความเสรี (liberal) และสุดโต่ง (Radical) ในความคิดเชิงการเมืองของนักสตรีนิยม; คำนิยามของการเป็นเพศหญิง - ในเชิงวัตถุนิยม (Materialism), ในความคิดทื่เชื่อถึงการมีแก่นแกนหลัก (Essentialism), โครงสร้างนิยม (Constructionism); แนวทางจิตวิเคราะห์ของแองโกล-อเมริกัน (Anglo-American) และ ฝรั่งเศส; สมัยใหม่นิยม (Modernism) และหลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism); ทฤษฏีที่ว่าด้วยเนื้อหาของการรักเพศเดียวกัน (Queer Theory) และ บุรุษศึกษา (Men's Study)
บุคคลก็คือเรื่องการเมือง
(The Personal is Political)
ประเด็นสำคัญอันแรกในการอุบัติขึ้น ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดสตรีนิยมคือ การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน
โดยสตรีนิยมรุ่นแรกเกิดขึ้นในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 และเบ่งบานในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่
19 โดยเป็นการต่อต้านความไม่เท่าเทียมกันของสิทธิทางกฎหมายจากสังคมปิตาธิปไตย(สังคมผู้ชายเป็นใหญ่)
(Patriarchy) และการที่ผู้หญิงถูกบังคับให้ต้องพึ่งพาผู้ชาย ดังที่ เวอร์จิเนียร์
วูลฟ์ (Virginia Woolf) ได้เสนอไว้ว่า การต่อสู้ของผู้หญิงในการเรียกร้องสิทธิ์ที่เท่าเทียมนั้น
เป็นการต่อสู้เพื่อตัวผู้หญิงเอง และเป็นการต่อสู้กับการถูกกีดกันจากปริมณฑลของความเป็นสาธารณะ
ส่วนสตรีนิยมรุ่นที่สองนั้นอุบัติขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1960 ถึง 1970 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา โดยมุ่งเน้นไปในการทำความเข้าใจว่า ทำไมผู้หญิงถึงแตกต่างจากผู้ชาย มากกว่าการที่จะหาหนทางว่าทำอย่างไรผู้หญิงจึงจะมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย. เนื่องมากจากการที่ต้องการประเมินหาความแตกต่างของผู้หญิงจากผู้ชายทั้งในเชิงกายภาพและเชิงความรู้สึก ทำให้เกิดการก่อตั้งกลุ่มเฉพาะผู้หญิงขึ้น และยังมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปลุกจิตสำนึกในเรื่องผู้หญิงอีกด้วย โดยสตรีนิยมรุ่นที่สองนี้เข้าใจว่า ความเท่าเทียมกันในเชิงการเมืองและพื้นฐานของการเลือกปฏิบัตินั้น ล้วนเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในระดับบุคคลทั้งสิ้น แม้กระทั้งในบ้านของตนเอง จึงเป็นที่มาของวลีที่ว่า "บุคคลก็คือเรื่องการเมือง"
ความแตกต่างระหว่างสตรีนิยมรุ่นแรกกับสตรีนิยมรุ่นที่สองนั้น อาจพูดได้โดยสรุปว่า เป็นการเคลื่อนย้ายความสนใจในเรื่องของความเท่าเทียมสู่ความแตกต่าง จากการพยายามชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของผู้คนจากภาครัฐ (หรือภาวะแห่งความไม่เท่าเทียม?) สู่การชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของผู้หญิงจากผู้ชาย และความแตกต่างของผู้หญิงด้วยกันเองแต่ละคนอีกด้วย. โดยสตรีนิยมรุ่นแรกนั้นสามารถอธิบายได้ในรูปแบบของกระบวนการปลดปล่อยทางการเมือง ที่ต้องการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย แต่ความหมายของการที่เมื่อผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชายแล้วเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ถูกถามถึง. ซึ่งตรงข้ามกับความคิดเชิงการเมืองของนักสตรีนิยมแบบสุดโต่ง ซึ่งความต้องการปลดปล่อยให้ผู้หญิงเป็นอิสระนั้น ถูกนิยามไว้ว่าความเป็นผู้หญิงคือความแตกต่าง; การเป็นผู้หญิงนั้นมีความหมายอย่างไร? โดยงานของ ซิโมน เดอ บูเวอร์ (Simone de Beauvoir) ได้เสนอว่า ผู้หญิงคือความเป็นอื่น (Other) จากผู้ชายเพราะฉะนั้น พวกเธอจึงไม่สามารถถูกให้ความหมายโดยนิยามของเพศชายได้
คำนิยามและความพยายามในการที่จะอธิบายความแตกต่างของเพศหญิงนั้น มาจากแนวคิดสตรีนิยมหลากหลายแนวทาง ซึ่งถึงแม้ว่ารูปแบบของการวิเคราะห์จะแตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้ว ความแตกต่างทางเพศมักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นผล และการที่ผู้ชายเป็นใหญ่ก็มักจะเป็นสาเหตุเสมอ โดยหนึ่งในความคิดที่มีอิทธิพลและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดในเรื่องของเพศที่แตกต่าง ทำให้ผู้หญิงตกเป็นคนชายขอบ ถูกเสนอโดยนักสตรีนิยมชาวอเมริกัน เบตตี้ ฟรีดันท์ (Betty Friedan) ซึ่งได้เสนอไว้ในบทความชื่อ "ปัญหาไร้ชื่อ" ที่เป็นการวิพากษ์ถึงผลกระทบของชีวิตในบ้านชนบทที่มีต่อผู้หญิง
เมื่อผ่านไปเกือบทศวรรษ นักสตรีนิยมได้พัฒนาวิธีในการวิพากษ์เรื่องความแตกต่างของเพศ (Sex difference) อย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างเช่น ชูลามิท ไฟร์สโตน (Shulamith Firestone) ได้พัฒนาแนวคิดวัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Materialism) ในรูปแบบของเธอเอง เพื่อที่จะโต้แย้งว่า ร่างกายของผู้หญิงนั้นถูกพิจารณาว่าเป็นวัตถุ (Material Base) ในการแสดงให้เห็นว่าพวกเธอถูกกดขี่เพียงไร? ด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกัน เคท มิลเลท (Kate Millett) ได้เสนอว่า ความแตกต่างทางเพศของผู้ชายและผู้หญิงนั้น ทำให้เกิดรูปแบบของการเมืองเรื่องเพศ (Form of Sexual Politics) และความไม่เท่าเทียมของอำนาจ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการควบคุมผู้หญิงผ่านทางการสั่งสอน (Indoctrination) และความรุนแรง
ผู้ที่สนับสนุนเรื่องความแตกต่างของเพศอย่างสุดขั้วอีกคนหนึ่งคือ
Mary Daly นักสตรีนิยมชาวอเมริกัน โดย Daly จะมุ่งเน้นไปที่การสรรเสริญความแตกต่างของเพศหญิง
(Female Difference). งานของ Daly นั้น จะเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความคิดอันเขม็งเกลียวของนักสตรีนิยมแบบสุดโต่ง
ซึ่งได้พัฒนารูปแบบของการวิเคราะห์ ที่มุ่งเน้นไปในเรื่องของความแตกต่างทางด้านแก่นหรือสาระ
(Essential Difference) มากกว่าความแตกต่างทางวัตถุ (Material Difference). นักสตรีนิยมผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในการทำให้ความแตกต่างของเพศดังกล่าว
ขยายจากวงการการศึกษาไปสู่การถกเถียงกันในสังคมกระแสหลักคือ นักสตรีนิยมชาวออสเตรเลียที่ชื่อว่า
เจอร์มาน เกียร์ (Germaine Greer) ผู้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องของการทำลายผู้หญิง
เกิดขึ้นจากการที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้น ยังเป็นเอกสารอ้างอิงสำคัญในแวดวงสตรีนิยม
เช่นเดียวกับงานของ แอนเดียร์ ดาว์กิน (Andrea Dworkin) ที่มีการหยิบประเด็นที่ขัดแย้งในเรื่องของการทำให้เพศหญิงกลายเป็นวัตถุ
(Objectification) จากพลังของเพศชาย ความก้าวร้าวทางเพศ และ หนังโป๊ ซึ่งทำให้เห็นมุมมองสำคัญอันหนึ่งของนักสตรีนิยมในการมองเรื่องความแตกต่างของเพศ
เนื่องมาจากความต้องการในเชิงการเมืองที่จะปลดปล่อยตนเองของสตรีนิยมรุ่นแรกๆ
และความปรารถนาที่จะเน้นย้ำ เพื่อสร้างความเป็นกลุ่มก้อนของผู้หญิง และชี้ให้เห็นความแตกต่างของผู้หญิงจากผู้ชาย
ทำให้กลุ่มสตรีนิยมหลายกลุ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ให้ความสำคัญกับความเหมือนกันของผู้หญิงมากเกินกว่า
ที่จะสนใจความแตกต่างระหว่างพวกเธอเหล่านั้น. ถึงแม้ว่ามีนักสตรีนิยมหลายคนที่ให้ความสนใจในเรื่องของการถูกกดขี่
มากกว่าเรื่องของ"เพศ" และ"เพศสภาพ" อาทิเช่น การให้ความสนใจในเรื่องของชนชั้น
เชื้อชาติ และอัตลักษณ์ทางเพศ แต่ผลงานของนักสตรีนิยมเหล่านี้ก็ยังสะท้อนถึงความกดขี่
และความแตกต่างทางเพศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนัยยะว่าการกดขี่เหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้หญิง
นักสตรีนิยมผิวดำและนักสตรีนิยมเลสเบี้ยน
สำหรับประเด็นในส่วนของทั้งนักสตรีนิยมผิวดำและนักสตรีนิยมเลสเบี้ยนนั้น เป็นการพัฒนาความเข้าใจในเรื่องของความแตกต่างระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง
โดยองค์กรคอมบาฮี ริเวอร์ คอลเลคทีฟ (The Combahee River Collective, 1974) เป็นการทำงานเพื่อสร้างทฤษฎีสตรีนิยมที่เกี่ยวข้องกับการแตกต่างกันของเชื้อชาติ
มีการรวมงานเขียนของนักเขียนสตรีผิวดำหลายท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวดังกล่าว
อาทิเช่น การต่อต้านการตกเป็นเหยื่อโดยการใช้ความเข้มแข็งของสตรีผิวดำ, ความสัมพันธ์ของประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน
กับความคิดในเชิงทฤษฎีและมุมมองในทางบวกในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน
สำหรับนักสตรีนิยมเลสเบี้ยนนั้น ความแตกต่างระหว่างผู้หญิงถูกเข้าใจว่า ความรักชอบทางเพศ (Sexual Preference) นั้นเป็นสิ่งเดียวกับเพศ (Sex) เลสเบี้ยนนิยม (Lesbianism) ถูกเข้าใจในรูปแบบของวัฒนธรรมเพศหญิง (Female Culture) และ ลักษณะของชุมชนแบบหนึ่งที่มีการปฏิบัติการทางเพศแตกต่างออกไป. สำหรับนักเขียน เอเดรียน ริช (Adrienne Rich) นั้น เลสเบี้ยนนิยมสามารถมีประสบการณ์ได้ในทั้งรูปแบบของการสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Continuum) และในรูปแบบของสิ่งที่มีขึ้นอยู่แล้วตั้งแต่ต้น (Existence) ในขณะที่คนอื่นๆ เน้นไปที่เรื่องของมิตรภาพของเพศหญิง (Female Friendship) เช่น นักกวีสตรีนิยมผิวดำเลสเบี้ยน ออเดร ลอร์ดจ์ (Audre Lorde) เป็นตัวอย่างของการปะทะกันระหว่าง "ความรู้สึก"และ"ความมีเหตุผล" เพื่อที่จะแสดงให้เห็นภาพความสัมพันธ์ที่เกี่ยวประสานกันระหว่างการกดขี่ และเชื้อชาติกับเพศสภาวะ เช่นเดียวกับชนชั้นและเพศสภาพ
คู่แฝด : ทุนนิยมและความคิดแบบปิตาธิปไตย
ในอังกฤษนักสตรีนิยมมากมายที่การวิเคราะห์เรื่อง ทุนนิยม และความคิดแบบปิตาธิปไตย
เพื่อที่จะทำความเข้าใจในเรื่องว่าชนชั้นเช่นเดียวกับเพศสภาพ มีอิทธิพลอย่างไรในการกดขี่ผู้หญิง
คำถามถูกถามถึงขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความเกี่ยวพันกันระหว่าง เพศสภาพและชนชั้น
อาทิเช่น อะไรมาก่อน, อะไรมีอำนาจมากกว่ากัน และทั้งสองอย่างนี้จะมาตัดกันในทางเดิมตลอดหรือไม่?
ดังเช่นที่ถูกโต้แย้งโดย ชิลล่า โรวโบแทม (Sheila Rowbotham) ว่าการเป็นชนชั้นแรงงานนั้นยิ่งทำให้ผู้หญิงถูกกดขี่เป็นสองเท่า
สตรีนิยมแบบสังคมนิยม และสตรีนิยมแบบมาร์กซิสท์ ได้เชื่อมประสานสองทฤษฎีในการอธิบายว่า โครงสร้างทางสังคมสองแบบ ซึ่งได้แก่ผู้ชายเป็นใหญ่และทุนนิยมได้มีความสัมพันธ์กัน ทั้งในที่บ้านและที่ทำงาน และในที่บ้านและที่สาธารณะ โดยในบทความที่สำคัญของ ไฮดี้ ฮาร์ทแมน (Heidi Hartman) ได้โต้แย้งว่า ทุนนิยมและลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่นั้น เหมือนโครงสร้างทางสังคมที่เป็นคู่แฝดซึ่งคอยช่วยเหลือกันในการกดขี่ผู้หญิง แต่ความคิดซึ่งเป็นที่แพร่หลายมากกว่าในประเด็นนี้คือ ความคิดของมิเชล แบรเรท (Michele Barrett) ซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นว่า บทบาทของผู้หญิงทั้งในบ้านและที่ทำงานนั้น ล้วนเป็นไปอย่างสนับสนุนกัน โดยเป็นไปเพื่อการบริการระบบทุนนิยม
คนไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง
(One is not born a woman)
การทำความเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมผู้หญิงถึงแตกต่างจากผู้ชาย จำเป็นต้องเข้าไปพิจารณาถึงความรู้และประสบการณ์ของผู้หญิง
จากการทำงานในเรื่องสตรีนิยมอย่างยาวนานกับ จูเลียท มิเชล (Juliet Mitchell)แสดงให้เห็นว่า
ผู้หญิงนั้นต้องการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (Psychic Revolution) และการถูกกดขี่ของพวกเธอต้องได้รับการประเมิน
(Assessed) ในแบบอื่น
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่จิตวิเคราะห์ เพื่อที่จะรับมือกับความแตกต่างระหว่างผู้หญิงแต่ละคน
ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเน้นในเรื่องของกรณีศึกษาแต่ละกรณีมากเกินไป
โดยทฤษฎีจิตวิเคราะห์
เป็นทฤษฎีที่ซ้อนอยู่ระหว่าง เชิงกายภาพ และ เชิงสังคม ในเรื่องของ"เพศ"
และ"ความแตกต่างระหว่างเพศสภาพ" ซึ่งความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง
ไม่สามารถถูกอธิบายอย่างง่ายๆ ได้ อันนี้แตกต่างจากการแยกแยะทางสังคมในเรื่องของชนชั้น
เพศสภาพ เชื้อชาติ และ ความสัมพันธ์ทางเพศ หรือลักษณะของร่างกายที่แตกต่างกันตามธรรมชาติ.
ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เป็นการทำความเข้าใจในระดับจิตไร้สำนึก ในเรื่องของการที่เรารับรู้เรื่องของเพศและลักษณะของเพศสภาพ
โดยเข้าไปศึกษาโครงสร้างทางจิตในเรื่องของเพศสภาพและความสัมพันธ์ระหว่างความเก็บกดในระดับจิตไร้สำนึกและเพศหญิง
ในอเมริกา นักจิตวิเคราะห์ แนนซี่ โครโดโรว์ (Nancy Chodorow) ได้ทำการการวิพากษ์วิจารณ์งานของซิกมันท์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จากทฤษฎีของเธอเองในเรื่องของความแตกต่างทางเพศผ่านพัฒนาการของจิตวิเคราะห์ว่า บทบาททางสังคมที่ผู้หญิงถูกกำหนดให้เป็นแม่นั้นทำให้เกิดพัฒนาการที่แตกต่างกันของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง โดยทำให้เด็กเพศหญิงเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งต่างๆ เนื่องมาจากแม่ของพวกเธอก็มีเพศเช่นเดียวกับพวกเธอ, ในขณะที่เด็กเพศชายเรียนรู้ที่จะแยกตัวเองออกจากสิ่งต่างๆ เนื่องมาจากผู้ปกครองของพวกเขามีเพศแตกต่างจากพวกเขา ซึ่งผลของความแตกต่างในเชิงจิตวิทยานี้ แคโรล กิลลิแกน (Carol Gilligan) เรียกมันว่า "หลักจริยธรรมแห่งการดูแลของเพศหญิง" (Ethic of Care) ซึ่งมีความต้องการที่จะ เอาใจใส่, สัมพันธ์, และเชื่อมโยง
ในฝรั่งเศสสถานการณ์ได้แตกต่างออกไป นักจิตวิเคราะห์สตรีนิยม เฮเลเน่ ซิเซียร์ส (Helene Cixious) ลิวซ์ อิริกาเรย์ (Luce Irigaray) และ จูเลีย ครีสท์เทว่า (Julia Kristeva) ได้ใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป จากการมีพื้นฐานจากงานของฟรอยด์ และ ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) แต่ได้ต่อต้านอย่างสุดขั้ว เหล่านักสตรีนิยมเหล่านี้ได้เสนอว่า การสร้างตัวตนและ สภาวะอัตบุคคล (Subjectivity) ในงานของฟรอยด์ และ ลากองนั้นคือ เกิดขึ้นในลักษณะที่ถูกทำให้กลายเป็นมุมมองที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ (Gendered) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากอัตบุคคลเพศชาย (Male Subject) และสภาวะอัตบุคคลของชาย (Male Subjectivity) ซึ่งทำให้นักสตรีนิยมทั้งสามท่านนี้ ได้แทนที่ ความคิดแบบ "องคชาตินิยม" (Phallocentricism) ของฟรอยด์ และลากอง ด้วยมุมมองใหม่และคิดถึงการสร้างตัวตนของผู้หญิงจากมุมมองอื่นๆ
งานของอิริกาเรย์นั้น ได้โต้แย้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง "เพศ" ทั้งหลายว่า ไม่ได้ถูกจำแนกแยกแยะด้วยลักษณะแบบสมการเพศชาย/เพศหญิง ในที่ซึ่งเพศหญิงในที่นี้คืออะไรก็ตาม ที่ไม่ใช่ชาย, โดยอันนี้ไม่ใช่การโต้แย้งเพื่อที่จะทำการวิพากษ์เพื่อที่จะกลับค่าลำดับชั้นของเพศชายและเพศหญิง หรือพูดถึงการที่ผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ, แต่แสดงให้เห็นว่า เพศหญิง/ผู้หญิงนั้น ไม่จำเป็นจะต้องถูกวางลำดับไว้ว่าเป็นคู่ตรงข้ามของเพศชาย/ผู้ชาย. โดยอิริกาเรย์ได้แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ที่เป็นทางเลือกของเพศหญิง (Alternative Female Symbolism) ที่มีฐานมาจากการอุปมามาจาก อวัยวะสืบพันธุ์, สัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง, ด้วยความหมายที่แตกต่างกันออกไป. สัญลักษณ์ของริมฝีปาก - ทั้งปากและอวัยวะเพศหญิง- มีลักษณะของการท้าทายองค์ชาติ เนื่องมาจากลักษณะของมัน ได้บรรจุลักษณะของกามารมณ์ไว้. จากมุมมองแบบองค์ชาติ อวัยวะเพศหญิงคือรู ซึ่งเป็นข้อบกพร่อง แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง "ความเป็นหนึ่ง" ของสัญลักษณ์ของเพศชายจะกลาย "เป็นสอง" ทันที เมื่อได้สัมผัสกันและกัน ที่ซึ่งไม่ได้แยกจากกันด้วยความขัดแย้ง (Negation) แต่เป็นสิ่งซึ่งปฏิสัมพันธ์ต่อกันและเชื่อมเข้าเป็นหนึ่งเดียว ไม่เป็นหนึ่งแต่กระจายออก แตกออก หลากหลาย และไม่รวมศูนย์
งานของอิริกาเรย์ กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการโต้เถียง ระหว่างแนวความคิดที่ยึดถือตัวตนที่เป็นเนื้อแท้ (Essentialism) และแนวคิดที่มองว่าการเป็นผู้หญิงนั้น เกิดขึ้นมาโดยผ่านการถูกสร้าง-การประกอบสร้าง (Constructionism). นักสตรีนิยมผู้ที่เชื่อว่า สาเหตุที่เกิดการกดขี่เพศหญิงและทำให้เกิดความแตกต่างนั้น สามารถพบได้ในสิ่งที่เกิดจากหลักฐานที่จับต้องได้ (Material Circumstances) - (โดยผ่านเรื่องราวทางสังคมหรือประวัติศาสตร์ - การวิพากษ์การใช้ทฤษฏีทางจิตวิเคราะห์ในการทำความเข้าใจการถูกสร้างขึ้นของอัตบุคคลของเพศหญิง ว่าเกิดเพศหญิงขึ้นในลักษณะของการไม่มีตัวตนทางประวัติศาสตร์ ตามแบบที่กลุ่มนักคิดที่เชื่อการในเรื่องเนื้อแท้มีอยู่ตั้งแต่แรก (Essentialist) เชื่อนั้น, การถูกมอบให้โดยธรรมชาติ หรือเป็นมาแต่กำเนิด) - แต่การที่ปฏิเสธคู่ตรงข้ามและการยืนยันความจำเป็นของการแตกต่างของเพศหญิงนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความแตกต่างของเพศหญิงดังกล่าว เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือไปจากบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์. ร่างกายที่แตกต่างของเพศหญิงยังถูกพิจารณาว่า เป็นผลผลิตหนึ่งของสังคมและแรงทางกายภาพ การสร้าง หรือผลิต เช่นเดียวกับการมีอยู่ขององคชาติ และ การที่ถูกตัดออกไป (ในกรณีของผู้หญิง)
"องค์ประธาน"
(The Subject) และ "ความเป็นชาย"
ถึงแม้คำว่า "หลังสมัยใหม่นิยม" จะถูกใช้อย่างกว้างขวาง แต่ความหมายของมันก็ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขว้างเช่นกัน.
สำหรับกลุ่มหนึ่ง หลังสมัยใหม่นิยมถูกอธิบายว่า เป็นเงื่อนไขเฉพาะเชิงประวัติศาสตร์
- เงื่อนไขของเศรษฐกิจในช่วงทุนนิยมตอนปลาย และการที่มันรวมตัวกับวัฒนธรรมและความรู้.
สำหรับกลุ่มอื่นๆ หลังสมัยใหม่นิยมไม่ใช่ของใหม่ การเปลี่ยนผ่านระหว่างสมัยใหม่นิยม
(Modernism) มาสู่หลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism) เป็นความซ้ำของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคก่อนๆ
โดยคนส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยว่า หลังสมัยใหม่นิยมสามารถนิยามได้ว่า เป็นการพัฒนาขึ้นของญานวิทยา(Epistemology) ในแง่ของการรู้(Knowing) เกี่ยวกับความจริง(Truth) ความเป็นจริง(Reality) และประวัติศาสตร์, โดยหลังสมัยใหม่นิยมนั้น เป็นการตั้งคำถามถึงความสามารถของผู้คนในการที่จะรู้ความจริง. สิ่งที่เราสามารถรู้ได้คือความจริงที่แตกต่างกัน; การสงสัยในความสามารถของผู้คนในการที่จะรู้ความเป็นจริง - สิ่งที่เราสามารถรู้ได้คือ ภาพตัวแทนของความเป็นจริง; การสงสัยในความสามารถของผู้คนในการที่จะรู้ประวัติศาสตร์ - ประวัติศาสตร์ทั้งหมดถูกตัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ และสัมพันธ์อยู่กับนักประวัติศาสตร์และคนอ่านเป็นอย่างมาก
การตั้งคำถามในเรื่องของความจริง, ความเป็นจริง และประวัติศาสตร์ของหลังสมัยใหม่นิยมนี้ ทำให้สตรีนิยมและนักหลังสมัยใหม่นิยม มีปัญหาที่ร่วมกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของทฤษฏีที่ว่าด้วยองค์ประธานของผู้หญิง. แนวคิดหลังสมัยใหม่ ได้ทำการวิพากษ์ความรู้ของแนวคิดสตรีนิยม เนื่องจากแนวคิดหลังสมัยใหม่นี้ ได้เอื้อให้เกิดการวิพากษ์ต่อความหลายหลายขององค์ประธานสมัยใหม่ต่างๆ มันจึงไม่สามารถที่จะยอมให้แนวคิดสตรีนิยมและองค์ประธานของผู้หญิงถูกผลิตซ้ำ เฉกเช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของอัตบุคคลของผู้ชาย
ในมุมหนึ่งแล้ว สำหรับนักสตรีนิยมบางคน นี่กลายเป็นปัญหาเพราะไม่สามารถกำหนดความรู้ให้นิ่งหรือมั่นคงเพียงพอ ที่จะคิดพิจารณาถึงสภาวะอัตบุคคลของเพศหญิง โดยในกรณีนี้ นักหลังสมัยใหม่นิยมได้ทำการเพิกเฉยต่อโครงการทางการเมืองทั้งหมด และในทางตรงกันข้ามกลับเปิดรับต่อแนวคิดแบบสัมพัทธนิยม (Relativism). แต่นักสตรีนิยมอีกส่วนหนึ่ง ก็ต้อนรับกับคำถามของหลังสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามสิ่งที่เป็นมาแต่เดิม โดยพยายามจะค้นหาให้เกิดทัศนะใหม่ๆ ในเรื่องของอัตบุคคล, ความจริง, ความเป็นจริง และประวัติศาสตร์ และการเสนอว่าการไม่เสถียรคงที่ของสิ่งต่างๆ นั้น ส่งผลทางด้านบวก เช่น ที่อิริกาเรย์ได้เสนอไว้ว่า ทฤษฏีใดๆ ก็ตามซึ่งเกี่ยวของกับอัตบุคคลหรือองค์ประธาน มักจะถูกทำให้เหมาะสมเสมอโดยการใช้ความเป็นชาย. ความแตกต่างหลากหลายนั้น อนุญาตให้สตรีนิยมยืนอยู่สองฝากระหว่าง "อภิมหากาพย์ของการเล่าเรื่อง (Metanarrative) ของสมัยใหม่นิยม" และ "แนวคิดเรื่องสัมพัทธนิยม ของหลังสมัยใหม่นิยม" ทำให้เกิดการคิดที่เชื่อมโยงข้ามไปมาระหว่างสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่
ผลกระทบของแนวคิดหลังสมัยใหม่ต่อสตรีนิยม สามารถอธิบายได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการเพ่งมองที่"สิ่งของ"ไปที่การเพ่งมอง"คำ" จากการที่พิจารณาถึง "ของจริง" (Real Thing) - ความจริงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ของการที่ผู้หญิงถูกกดขี่ อาทิเช่น การข่มขืน ค่าแรงที่ไม่เท่าเทียม และปัญหาที่ผู้หญิงจะต้องทำงานนอกบ้าน และต้องรับภาระในการเลี้ยงดูบุตรไปด้วย สู่คำถามซึ่งเป็นตัวแทนในการวิพากษ์ถึงสถานการณ์เหล่านี้ ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสตรีนิยมแบบหลังสมัยใหม่ ด้วยการใช้ทฤษฎีโครงสร้างนิยม โดยเฉพาะงาน มิเชล ฟูโก (Michel Foucault) และเทคนิครื้อสร้างของชาร์ค เดริด้า (Jaque Derrida) เพื่อที่จะอภิปรายในเรื่องของเพศสภาพซึ่งเป็นตัวแทนของตัวบททางวัฒนธรรมและการปฏิบัติ. ฟูโก ได้ทำการขยายขอบเขตของความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์จากการรื้อสร้าง "อดีตจริงๆ" (Real Past) ด้วยการใช้เหตุผลและการแยกแยะ สู่กลวิธีในการสร้างอำนาจและความรู้ และการต่อรองในเรื่องอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจและผู้สยบยินยอม แต่ถึงกระนั้นปัญหาจริงๆ ก็ยังคงอยู่. ในปัจจุบันนี้มีนักสตรีนิยมหลายคนที่ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำงานในการอภิปรายในเรื่องที่มา และสาเหตุของการกดขี่แบบหลังสมัยใหม่ มาสู่การเกิดขึ้นของการกดขี่ที่ยังคงอยู่
เพศสภาพในฐานะที่เป็นการวิเคราะห์แบบหนึ่ง
(Gender as an analytic Category)
ความจริงที่ว่า ผู้หญิงนั้นถูกแยกออกไปจากภาพตัวแทนของการควบคุม และยังถูกมองในลักษณะของสัญญะที่มาพร้อมกับพวกเธอ
ทำให้นักสตรีนิยมทั้งหลายมุ่งประเด็นการศึกษาไปที่ว่าระบบการสื่อความหมายของภาพตัวแทนนั้นมีเพศสภาพได้อย่างไร?
เช่นเดียวกับคำถามว่าทำไม นักประวัติศาสตร์สตรีนิยมได้แสดงให้เห็นว่า มีเพศสภาพอยู่ในภาพตัวแทน
โดยนักประวัติศาสตร์สตรีนิยมในช่วง 1970 นั้นเป็นการเข้าไปทำความเข้าใจกับชีวิตของผู้หญิง
แตกต่างกับนักสตรีนิยมในปัจจุบัน โจน วอลเลซ์ สก๊อท (Joan Wallach Scott) ที่มองว่า
เพศสภาพสามารถเป็นหน่วยในการวิเคราะห์ได้ด้วยตัวมันเอง เพศสภาพไม่ได้เป็นเพียงตัวแบ่งแยกชีวิตดังเช่นที่พวกเธอใช้ชีวิตในอดีตเท่านั้น
แต่ยังเป็นการสร้างรูปแบบของหลักฐาน ซึ่งสามารถนำมาตีความและอธิบายได้โดยนักประวัติศาสตร์
รูปแบบของภาพตัวแทน เปิดเผยให้เห็นบางส่วนของประวัติศาสตร์; พวกเขาถูกแบ่งแยกเพศสภาพตามแต่มุมมองของผู้แต่งของพวกเขาในอดีต
เช่นเดียวกับนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน
ภาพตัวแทนของเพศสภาพนั้น ไม่ได้เพียงแต่เป็นตัวบอกว่ามีเพศที่แตกต่างกันอย่างไร
แต่ยังบ่งบอกถึงว่าชนชั้นและเชื้อชาติถูกทำให้มีความแตกต่างกันอย่างไรด้วย. ทฤษฎีหลังสมัยใหม่
ได้แสดงให้เห็นว่า ชนชั้นและเชื้อชาติมีความสัมพันธ์อย่างไรกับเพศสภาพ และสามารถสร้างรูปแบบของการกดขี่ทางเพศที่หลากหลายได้อย่างไร?
ทฤษฎีหลังอาณานิคม นั้นได้เสนอว่า "ชนชาติ" คือภาพตัวแทนของวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงทัศนะ
"เป็นอื่น" ซึ่งถูกเสนอต่อโดยนักหลังอาณานิคมสตรีนิยมว่า "เป็นอื่น"
ในที่นี้หมายถึงลักษณะของความเป็นหญิงนั้นเอง
งานศึกษาความเป็นชาย: บุรุษศึกษา
งานที่ทำการศึกษาทางความเป็นชายก็เริ่มมีให้เห็นเช่นเดียวกัน มันมีความสำคัญในการทำความเข้าใจในเรื่องความแตกต่างของภาพตัวแทนในเชิงสังคมและวัฒนธรรม
ซึ่งเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่หลากหลายและจากช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน.
จากการศึกษาผู้ชายหรือที่เรียกว่า บุรุษศึกษา (Men's Study) มีความต้องการที่จะสร้างให้เกิดความสมดุลกับสตรีศึกษา
ดังเช่นที่ถูกอธิบายโดยแฮร์รี่ บลัด ไว้ในบทที่ 12 ว่า โดยทั่วไปแล้วการศึกษางานบุรุษศึกษานั้น
เป็นเสมือนการเห็นอกเห็นใจความคับแค้นใจทางการเมืองของกลุ่มสตรีนิยม และตอบสนองต่อกระบวนการวิธีวิจัยในสายสตรีนิยม
โดยพยายามมองว่า เพศสภาพเป็นสิ่งที่ถูกสังคมสร้างขึ้น มากกว่าพยายามที่จะย้อนนำเสนอกลุ่มของผู้ชาย
ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายและความเป็นชายในปัจจุบันเปิดเผยว่า มันมีความสำคัญมากที่จะรวมเอากลุ่มก้อนทั้งสอง "ผู้ชายและความเป็นชาย" และ "ผู้หญิงและความเป็นหญิง" ถูกสร้างขึ้นมาบนความสัมพันธ์ร่วมกัน และมันยังมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงความหลากหลายทางเพศ, เชื้อชาติ, และอัตลักษณ์ทางเพศที่มีการผสมผสานเข้าไปด้วยกัน ทั้งนี้อาจเพื่อทำให้ความรู้ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดแบบคู่ตรงข้ามในเรื่อง เพศ-เพศสภาพ ได้มีประเด็นที่ต่างออกไป
จูดิท บัทเลอร์: "เพศ"และ"เพศสภาพ
ในบทที่ 13 หรือบทสุดท้ายในส่วนแรก จูดิท บัทเลอร์ ได้เสนอว่า "เพศ"และ"เพศสภาพ"นั้น
ต่างเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยสังคมและประวัติศาสตร์ สำหรับบัทเลอร์แล้ว "เพศสภาพ"นั้นไม่เป็นไปตามวัฒนธรรม
เฉกเช่นเดียวกับ"เพศ"นั้นไม่เป็นไปตามธรรมชาติ. เพศที่เป็นความจริงของธรรมชาติก็ยังไม่ได้หมายความว่าเกิดก่อนสิ่งที่ถูกเขียนและบันทึกเอาไว้ในเรื่องเพศสภาพ
ถึงแม้ว่าความแตกต่างทางเพศสภาพอาจจะถูกหยิบยกเป็นประเด็นในการถกเถียง ที่หลุดออกไปจากความแตกต่างทางด้านร่างกายและเครี่องเพศ
ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง และมันก็สามารถอธิบายถึงความแตกต่างทางด้านเพศที่ถูกสร้างผ่านการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบ
และที่เกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์อย่างเฉพาะเจาะจง ในการคิดถึงร่างกายเพียงแค่เป็นเรื่องราวในเชิงกายภาพ
เชิงโครงสร้างทางกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือแม้แต่แค่ด้านจิตใจอย่างเดียวเท่านั้นก็ถือว่าเป็นข้อจำกัดในการวิเคราะห์
ในทางตรงกันข้าม บัทเลอร์พิจารณาว่า "เพศสภาพ"คือการแสดง และการแสดงนั้นเองที่ก่อให้เกิดภาพลวงตาของตัวตนทางเพศภายในจิตใจเรา. บัทเลอร์ได้เสนอว่า "เพศสภาพก่อให้เกิดปัญหา" (Gender Trouble) แท้จริงแล้วถูกผลิตขึ้นผ่านสิ่งที่เรียกว่า "การหลบซ่อนการแสดงออกทางด้านร่างกาย" (Subversive Body Acts) หรือ "ร่างกายในการปลอมแปลง" (the Body in Drag) ซึ่งเป็นการแสดงเพศสภาพประดิษฐ์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ และการก่อกวนระบบความหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเพศ และเพศสภาพผ่านการล้อเลียนตลกขบขัน
ในแนวความคิดแบบ "การแสดงออก" (Performativity) ของเพศสภาพนี้ เกิดขึ้นไปในแนวคู่ขนานกับนักคิดที่ใช้ทฤษฏีของความผิดปกติ ผู้ซึ่งโต้แย้งว่า ถ้าเพศสภาพประดิษฐ์นี้ปรากฎให้เห็นเด่นชัดผ่านการจัดแสดง, การแสดงออกทางเพศสภาพนี้อาจจะถูกใช้เพื่อเป็นการวิพากษ์ถึงความเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นของร่างกาย และเพศในความหมายเชิงชีวภาพ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88