บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Different
Feminist Theory
Midnight
University
ความเข้าใจเชิงทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม
Different
Feminist Theories:
ในความต่างของทฤษฎีสตรีนิยมทั้ง ๔
(ตอน ๑)
ดร.สันต์
สุวัจฉราภินันท์ : แปลและเรียบเรียง
อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน
จากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์
เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน(สิทธิชุมชน)ในประเทศไทย
บทความวิชาการชิ้นนี้แปลและเรียบเรียงจากงานของ
Marysia Zalewski
เรื่อง: Feminism After Postmodernism: Theorising Through Practice
ในบท Introduction: Different Feminist Theories
เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายและแตกต่างของทฤษฎีสตรีนิยม
ประกอบด้วย สตรีนิยมแนวสุดโต่ง, สตรีนิยมแนวเสรีนิยม, สตรีนิยมแนวมาร์กซิสท์/สังคมนิยม
และสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ ซึ่งจะเตรียมกรอบความคิดอย่างกว้างๆ
เกี่ยวกับพื้นฐานทางปรัชญา
ที่แตกต่างในเรื่องเดียวกันให้เข้าใจอย่างชัดเจน
ในส่วนของหัวเรื่องสำคัญในบทความวิชาการชิ้นนี้
ประกอบด้วย
แอนเดียร์ ดาว์กิน กับภาพลักษณ์อันสุดโต่ง, จูดิส บัตเลอร์ สตรีนิยมหลังสมัยใหม่,
การแตกแขนงของแนวคิดสตรีนิยม: อะไรที่ทำให้เกิดการกดขี่ผู้หญิง และจะทำให้มันหายไปได้อย่างไร?,
๖ คำที่สำคัญ สำหรับแนวคิดกลุ่มสตรีนิยมแบบเสรีนิยม, ผู้หญิงเป็นเสมือนชาติพันธุ์ที่มีขนนก,
ทำไมผู้หญิงจึงไม่สามารถเป็นได้อย่างผู้ชาย, เกลียดผู้ชาย, ผู้หญิงต้องมาก่อน,
เป็นต้น
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๔๒๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๖ ธันวาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ความเข้าใจเชิงทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยม
Different
Feminist Theories:
ในความต่างของทฤษฎีสตรีนิยมทั้ง ๔
(ตอน ๑)
ดร.สันต์
สุวัจฉราภินันท์ : แปลและเรียบเรียง
อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความนำ
ลองจินตนาการถึง แอนเดียร์ ดาว์กิน (Andrea Dworkin) และ จูดิส บัตเลอร์ (Judith Butler) ในบทสนทนาโต้ตอบกันในเรื่อง "สตรีนิยม" เป็นไปได้หรือไม่ว่า ทั้งสองคนจะเห็นด้วยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลองคิดดู ยกตัวอย่างเช่น บทสนทนาเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง ลองคิดดูว่าบทสนทนาของทั้งคู่จะออกมาในรูปแบบใด เป็นไปได้หรือไม่ที่ แอนเดียร์ ดาว์กิน จะพูดเรื่องเกี่ยวกับ "สงครามต่อต้านผู้หญิง" หรือเกี่ยวกับการผลิตซ้ำหรือการตอกย้ำเกี่ยวกับความรุนแรงของเพศชาย จากห้องนอนที่เยื้องกลายไปสู่ห้องทำงาน และในขณะเดียวกัน จูดิส บัตเลอร์ ก็คงจะต่อต้านความคิดเหล่านั้ นและย้อนถามถึงสิทธิของคนที่พยายามจะพูดแทนกลุ่มคนสิ้นหวังกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า "ผู้หญิง"
ลองจินตนาการถึงบทสนทนาระหว่างพวกเขาทั้งสองคนที่ตั้งอยู่บนคำถามที่ว่าอะไรคือ สตรีนิยม หรือผู้หญิงคืออะไร? บัตเลอร์ อาจจะไม่แค่หยิบยกประเด็นเรื่องความเป็นไปไม่ได้ที่จะพยายามใช้คำจำกัดความของคำว่า "ผู้หญิง" แต่ยังคงจะต้องกล่าวถึงสิ่งที่อันตรายในการที่จะพูดหรือใช้คำจำกัดความดังกล่าว และที่สำคัญเธอยังคงแนะนำให้เราคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้คำจำกัดความดังกล่าวด้วย. อย่างไรก็ตาม ดาว์กิน อาจจะตอบโต้กลับโดยการกล่าวว่า แน่นอนมันเป็นการยากที่จะยืนกรานอยู่บนคำจำกัดความที่ชัดเจนเช่นนั้นที่ว่า "ผู้หญิงคืออะไร?" หรือ "พวกเธอต้องการอะไร?" หรือ "อะไรคือความต้องการของแนวความคิดแบบสตรีนิยม?" ในการจะละเลยที่จะไม่สร้างความชัดเจนใดๆ ทำให้เราเกิดความกระอักกระอ่วนใจ และอาจจะนำเราไปสู่ฝันร้ายของสตรี ในจุดที่เราไม่สามารถพูดเพื่อคนอื่นๆ ได้เลย หรือทำให้ไม่มีความมั่นใจที่จะใช้ข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มสตรีนิยมที่จะสร้างให้เกิดความสำนึกในเรื่องของ "สิทธิ" และความเป็น "อิสรภาพ"ของผู้หญิง
แล้วทำไมเราจำเป็นต้องจินตนาการถึงบทสนทนาแบบนี้ ทำไมมันจึงมีความสำคัญที่จะคำนึงถึงข้อแม้ ข้อถกเถียง หรือข้อตกลงร่วมกันของ แอนเดียร์ ดาว์กิน และ จูดิส บัตเลอร์ ในเรื่องเกี่ยวกับสตรีนิยม เราจะได้อะไรจากบทสนทนาบทนี้ ? สิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังทำคือ การเปิดประเด็นหนังสือเล่มที่คุณกำลังอ่านอยู่ โดยอาศัยการจินตนาการบางส่วนถึงบทสนทนาระหว่าง แอนเดียร์ ดาว์กิน และ จูดิส บัตเลอร์ เพราะนักเขียนทั้งสองคนนี้ดูเหมือนว่าจะเป็น"ตัวแทนของคู่ตรงข้าม"ของแนวความคิดของกลุ่มสตรีนิยมที่อยู่กันคนละขั้ว
สำหรับคนหลายๆ คนแล้ว
- ดาว์กิน เป็นตัวแทนหลักของกลุ่มสตรีนิยมแบบสุดโต่งในยุคทศวรรษ 1970s
(หรือแบบที่เชื่อถือความเป็นผู้หญิงในลักษณะมูลราก - Radical Feminist) ในขณะที่
- บัตเลอร์เป็นเสมือนตัวแทนของกลุ่มสตรีแบบหลังสมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน (Postmodern Feminist)
ความจริงแล้ว นักเขียนทั้งสองคนดูเหมือนว่าจะเป็นบุคคลตัวอย่างที่สำคัญ สำหรับการนำเสนอแนวความคิดแบบสตรีนิยมที่พวกเธอได้นำมาใช้ ในเชิงที่ว่า บ่อยครั้งตัวอย่างเหล่านี้ถูกนำไปเป็น "เครื่องมือในการเตือนสติในฝ่ายตรงข้ามของกันและกัน" เพราะเนื่องจากบทบาทที่เป็นแบบอย่างของแต่ละคน ภาพที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่า พวกเธอกลายมาเป็นแบบฉบับของลักษณะของนักสตรีนิยมที่ "คุณไม่อยากจะเป็น" ถ้าเผอิญว่าคุณจำเป็นต้องไม่เห็นด้วยกับจุดยืนทางความคิดของพวกเธอ
แอนเดียร์ ดาว์กิน กับภาพลักษณ์อันสุดโต่ง
แน่นอนว่าสำหรับ ดาว์กิน ภาพลักษณ์ของนักสตรีนิยมแบบสุดโต่งนี้กลับกลายมาเป็นผลลัพธ์ในแง่ลบ
มันเกิดขึ้นในความคิดว่าภาพลักษณ์ของเธอกลายเป็นนักสตรีนิยมที่งุ่มงาม สำหรับศตวรรษที่
20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอมักจะถูกมองว่าเป็นภาพตัวแทนของความพยายามที่จะล้มล้างความคิดหรือจินตนาการสำหรับผู้หญิง
และสิ่งที่เธอควรจะเป็น ซึ่งความคิดและจินตนการนี้ ดาว์กิน กล่าวว่า มันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากสังคมของปิตาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นใหญ่
(Western Patriarchal Man). ดาว์กิน ไม่ใช่คนสวย เธออ้วนและเธอไม่ยอมที่จะหยุดพูด
นอกเหนือไปจากนั้น ทฤษฏีทางสายสตรีนิยมและจุดยืนทางการเมืองของเธอ ยังผูกโยงเข้ากับข้อโต้แย้งและเนื้อหาหลักของกลุ่มสตรีนิยมชาวตะวันตกในช่วงทศวรรษ
1970 นั่นหมายถึงเธอกำลังพูดโดยอ้างถึง "ความเป็นสากลของผู้หญิง" "โครงสร้างที่ครอบงำของชายเป็นใหญ่",
"สงครามที่ต่อต้านผู้หญิง", และความต่อเนื่องของความรุนแรงของผู้ชาย
จูดิส บัตเลอร์ สตรีนิยมหลังสมัยใหม่
(ผู้หญิงเป็นเพียงนิทานเรื่องหนึ่งเท่านั้น)
จูดิส บัตเลอร์ ในทางตรงกันข้าม กล่าวอย่างมีวาทศิลป์โดยใช้ภาษาของหลังสมัยใหม่ในช่วงทศวรรษ
1990 ปฎิเสธข้อโต้แย้งและเนื้อหาหลักพื้นฐานนั้น ปฎิเสธที่จะยอมรับคำจำกัดความดังกล่าว
และบ่อยครั้งที่ต่อต้านที่จะตอบคำถามเหล่านั้นที่พยายามซักถามเธอ. สำหรับเธอแล้วการตั้งคำถามที่ว่า
"อะไรกันแน่คือแนวความคิดแบบสตรีนิยม?" หรือ "ผู้หญิงคือใครกันแน่?"
ทำให้เธอถูกมองและกลายเป็นแบบอย่างของแนวความคิดสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ ซึ่งสำหรับคนหลายๆ
คนแล้ว ก่อให้เกิดความกลัวและความสงสัยว่า ความหมายและความสำคัญของแนวความคิดแบบสตรีนิยมที่พยายามจะต่อรอง
เพื่อที่จะได้มาซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิงกำลังจะศูนย์เสียไป เพราะว่า
[ตามความคิดในแบบที่ บัตเลอร์ นำเสนอนั้น] ผู้หญิงเป็นเพียงแค่นิทานเรื่องหนึ่งเท่านั้น
(Women are simply a fiction) สิ่งที่เธอกล่าวนั้นน่าสนใจมาก แต่ทว่า บัตเลอร์
ค่อนข้างสับสนกับ "ภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ควรจะเป็นในสายตาผู้ชายตะวันตก
ในสังคมโครงสร้างชายเป็นใหญ่" เพราะเธอเป็นเลสเบี้ยน (Lesbian)
ใช่หรือไม่ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้กำลังจะแนะว่าแนวความคิดแบบสตรีนิยมตะวันตกกำลังจะเคลื่อนที่ไป เช่นเดียวกันสังคมของเราที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21. แท้จริงแล้วมันสำคัญหรือที่จะต้องสนใจความแตกต่างในแนวทางของ ดาว์กิน หรือของ บัตเลอร์ และลองคิดว่าบางทีอะไรบ้างที่คนอีกคนหนึ่งจะทำ โดยใช้จุดยืนและความคิดที่แตกต่างกัน. อะไรกันแน่ที่ ดาว์กิน และบัตเลอร์ได้ทำอย่างแท้จริงตามมุมมองและจุดยืนที่แตกต่างกันของพวกเธอ? ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะมุ่งประเด็นไปที่จุดยืนทางการเมืองและการที่ได้ลงมือกระทำ มันนำไปสู่แนวความคิดที่แตกต่างกันของสตรีนิยมอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น เป็นไปได้หรือไม่ว่าจุดยืนทางทฤษฏีของเธอทั้งสองทำให้เราสนับสนุนสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ และเข้าร่วมการเดินขบวนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว, เป็นไปได้หรือไม่ว่าพวกเธอทำให้เราต้องคิดกังวลถึงอนาคตของผู้หญิง, และสำหรับคำถามที่สำคัญมาก อะไรที่แนวความคิดในสายสตรีนิยมของพวกเธอเอื้อให้เกิด หรือกระตุ้นให้พวกเราได้ลงมือกระทำ
การแตกแขนงของแนวคิดสตรีนิยม:
"อะไรที่ทำให้เกิดการกดขี่ผู้หญิง
และจะทำให้มันหายไปได้อย่างไร?"
แนวความคิดของกลุ่มสตรีนิยม ดูเหมือนจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง
ในปี 1983 อลิสสัน จาร์การ์ (Alison Jaggar) กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า "นักคิดสายสตรีนิยมทุกคนหยิบยกประเด็นปัญหาเดียวกัน
นั่นคือ อะไรที่ทำให้เกิดการกดขี่ข่มเหงผู้หญิงและจะทำอย่างไรที่จะทำให้การกดขี่ข่มเหงเหล่านั้นหายไป?"
มุมมองนี้ดูเหมือนจะหายไปจากเนื้อหาของการถกเถียงของกลุ่มสตรีนิยมในปัจจุบัน
มันมีความสำคัญหรือไม่ที่ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่นี้ได้หายไป ไม่มีอยู่อีกแล้ว.
เราอยากจะทำให้ประเด็นของการถกเถียงเหล่านั้นกลับมาหรือไม่, อะไรที่เป็นผลลัพธ์ที่ตามมาจากสิ่งที่เราจะเลือก
ไม่ว่าเราจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วหรือการแตกแขนงออกของแนวความคิดกลุ่มสตรีนิยมในช่วงทศววรรษที่ผ่านมา กลายเป็นสิ่งที่ทำให้นักสตรีนิยมหลายคนเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก. "ทฤษฏีที่ว่าด้วยสตรีนิยมในปัจจุบันดูยุ่งเหยิง และกลายเป็นเสมือนโครงข่ายอันซับซ้อน. ในส่วนของกลุ่มคนที่นำเอาแนวทฤษฏีสตรีนิยมไปใช้นั้น กลับมุ่งเข้าหาความซับซ้อนของทฤษฏีเหล่านี้ด้วยความอารมณ์ที่ไม่พอใจ". ความไม่พอใจดังกล่าว ถูกทำให้แย่ลงโดยกลุ่มคนที่มีความคิดความเชื่อที่ว่าแนวทางของกลุ่มแนวคิดสตรีนิยมที่อยู่ภายใต้ป้ายชื่อ "หลังสมัยใหม่" นั้น กลายเป็นแนวคิดที่ครอบงำเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มนักคิดสมัยใหม่ หรือกลุ่มสตรีนิยมในปี 1970s ที่ถูกมองว่าเป็น "สิ่งที่ไร้ประโยชน์" และ "ผิดยุคผิดสมัย" หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ นักสตรีนิยมสุดโต่งอย่างเช่น แอนเดียร์ ดาว์กิน นั้นมีลักษณะเป็นหัวเก่าและใช้ประโยชน์ได้น้อยมากสำหรับในทศวรรษใหม่
มันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่จะกล่าวอ้างว่า มันจะเป็นไปได้จริงหรือที่จะพูดว่าแนวคิดสตรีนิยมทั่วไปในยุค 1970s -- เสรีนิยม, กลุ่มมาร์กซิสท์, กลุ่มสังคมนิยม, และกลุ่มสุดโต่ง, - จะไม่มีประโยชน์ใดๆ ในปัจจุบัน มันมีความแตกต่างกันมากหรือระหว่างกลุ่มแนวคิดสายสตรีนิยมในปี 1970s และในปี 1990s? สำหรับนักเขียนสตรีนิยมในปัจจุบันหลายคน คำตอบสำหรับคำถามท้ายสุดนี้ ดูเหมือนว่าจะ "ใช่". ความแตกต่างระหว่างยุคทั้งสองของแนวคิดในสายสตรีนิยมมีอย่างมาก และบางคนเชื่อว่า จะไม่สามารถเชื่อมโยงให้ความแตกต่างนี้เข้าหากันได้
สำหรับอีกหลายๆ คน มันคือการเปลี่ยนฐานคิดและมุมมองทางทฤษฏีตั้งแต่ปี 1960s นักเขียนเหล่านี้ได้พินิจพิจารณาและถกเถียงกันในเรื่องเกี่ยวกับ "ช่องว่าง" ในระดับขั้นของทฤษฏี สิ่งที่หนังสือเล่มนี้จะทำคือ การคิดทบทวนและการพิจารณาเกี่ยวกับการให้คุณค่าที่กล่าวถึงนี้กันใหม่ ในเรื่องช่องว่างและระดับขั้นของทฤษฏีนี้ โดยคิดวิเคราะห์ดูว่าความแตกต่างทางทฤษฏีดังกล่าว จะมีผลในเชิงปฎิบัติอย่างไร เหตุผลหนึ่งที่สำคัญที่จำเป็นต้องคบคิดความแตกต่างทางกรอบทฤษฏี คือ เพราะว่ามันจะเอื้อให้ตั้งคำถามที่ว่า "ในทุกวันนี้ สิ่งที่แตกต่างระหว่างแนวคิดสตรีนิยมและนักคิดสายสตรีนิยมก่อให้เกิดอะไรขึ้น และอย่างไร?"
คิควิเคราะห์เพื่อเข้าใจทฤษฏีผ่านการปฎิบัติ
ในการที่จะคิดวิเคราะห์เพื่อเข้าใจทฤษฏีผ่านการปฎิบัติ และเพื่อที่จะเข้าสู่ประเด็นเนื้อหาของชีวิตประจำวันแล้ว
หนังสือเล่มนี้ต้องการที่จะนำเสนอทฤษฏีสตรีนิยม ซึ่งได้เกิดขึ้นหรือได้ถูกนำมาใช้ในช่วงระหว่างปี
1970s ถึง 1990s. ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สำหรับในช่วงปี 1970s นั้นเราเรียกได้ว่าเป็นยุคของเสรีนิยม,
มาร์กซิสท์ /สังคมนิยม, และกลุ่มนิยมความสุดโต่ง. แต่สำหรับในช่วงปี 1990s นั้นมันเป็นยุคของหลังสมัยใหม่และหลังโครงสร้างนิยม.
มันไม่ใช่ความต้องการของหนังสือเล่มนี้ที่จะทำการจัดกลุ่ม หรือนำเสนอกลุ่มทฤษฏีเหล่านี้อย่างน่าเบื่อหน่าย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ต้องการ คือการคลี่คลายปมปัญหาที่สำคัญ ประเด็นหลักๆ และหัวข้อที่น่าสนใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทฤษฏีเหล่านี้ เพื่อที่จะก่อให้เกิดการคิดใหม่เกี่ยวกับ"รอยแยก"ของแนวคิดสายสตรีนิยมในปี 1970s และในปี1990s. สำหรับใครก็ตามที่เขียนเกี่ยวกับแนวคิดสตรีนิยมในช่วงปีท้ายๆ ของปี 1990s จำเป็นอย่างมากที่จะต้องสะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับปฎิบัติการหรือวิธีการในการจัดกลุ่มแนวคิดสตรีนิยมต่างๆ ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะกล่าวอย่างละเอียดในบทต่อไป แต่มันกลายเป็นประเด็นที่มีประโยชน์เหมือนกันสำหรับการจัดกลุ่มของแนวคิดทางสายสตรีนิยม ที่มักจะถูกกล่าวถึงและถูกใช้บ่อยครั้งโดยนักสตรีนิยมจำนวนมาก ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อใช้มันในการช่วยให้เราเข้าใจว่า ทำไมความแตกต่างของนักคิดและกลุ่มแนวคิดที่แตกต่างกันของสายสตรีนิยมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
เช่นเดียวกันที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้สามารถกรอบการแบ่งแยกระหว่างปี 1970s โดยให้เรียกว่าเป็น "กลุ่มแนวคิดสตรีนิยมสมัยใหม่", และปี 1990s ให้เรียกว่าเป็น "กลุ่มแนวคิดสตรีนิยมหลังสมัยใหม่". ในจุดนี้เราน่าจะต้องตั้งข้อสังเกตว่า การจะเรียกรวมเอาแนวคิดทั้ง4 ของแนวคิดสตรีนิยมในช่วงปี 1970s ภายใต้ชื่อ "กลุ่มแนวคิดสตรีนิยมสมัยใหม่" กลายเป็นการกล่าวอ้างถึงความไม่แตกต่างระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง. ลองคิดดูถึงการสนทนาระหว่าง แอนเดียร์ ดาว์กิน และสตรีนิยมแนวเสรีนิยมเช่น เบตตี้ ฟรีดันท์ (Betty Friedan) ในการจัดกลุ่มสำหรับแนวคิดสตรีนิยมปี 1970s ภายใต้ชื่อของสัทธิ "สมัยใหม่นิยม" ซึ่งนี่กำลังบอกเราว่า แนวคิดเหล่านี้มีความเหมือนกันที่สำคัญอยู่ หรืออย่างน้อยมีความเหมือนกันที่จะทำให้แนวคิดเหล่านี้ถูกมองและถูกพิจารณาในลักษณะเดียวกัน แต่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มแนวคิดแบบสตรีนิยมในปี 1990s. มันดูเหมือนจะประหลาด ในการกำหนดความยาวและการถกเถียงอย่างเคร่งเครียดระหว่างกลุ่มคนเหล่านี้ เน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างปี 1960s, 1970s และ 1980s ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะนำเสนออีกครั้งหนึ่งในบทต่อไป
อย่างไร ที่เกี่ยวกับการปฎิบัติ
สำหรับการปฎิบัติการที่อยากจะชี้ชวนให้คิดถึงทฤษฏีเหล่านี้ คือผ่านเทคนิควิทยาการในด้านการสืบพันธุ์
มันเป็นพื้นที่ที่ดีในการศึกษา. เหตุผลหนึ่งคือ ไม่ว่าทั้งกลุ่มนักคิดสายสตรีนิยม
1970s หรือกลุ่ม 1990s ต่างมีความสนใจที่คล้ายคลึงกันในส่วนของการใช้เรือนร่าง,
การข่มเหงเรือนร่าง, และการประกอบสร้างทางด้านเรือนร่างของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในด้านของการสืบพันธุ์มาเป็นพื้นฐาน นั้นหมายถึงหนังสือเล่มนี้กำลังตั้งคำถามต่อเทคนิควิธีการของการสืบพันธุ์จากมุมมองของสตรีนิยมหลายๆ
มุม ซึ่งสามารถเอื้อให้เราได้เห็นถึงข้อแตกต่างที่ได้จากการคิดหรือการวิเคราะห์
ผ่านการใช้ทฤษฏีสตรีนิยมซึ่งจะนำไปสู่หรือไม่นำไปสู่ความแตกต่างของความคิดและการใช้งาน
ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของการปฎิบัติการ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นนักสตรีเสรีนิยมที่อุทิศตนเพื่อการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมและโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้หญิง
โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานในโลกสาธารณะ อะไรที่นักสตรีนิยมคนนี้จะคิดถึงเมื่อพิจารณาถึงการใช้เครื่องอุลตร้าซาวน์ต่อกลุ่มคนท้องในประเทศแถบตะวันตกทุกวันนี้
เพื่อที่จะตรวจสอบความผิดปกติในครรภ์มารดา
นักสตรีเสรีนิยมคนนั้นจะสามารถสรุปได้หรือไม่ว่า มันเป็นสิ่งที่ดีในการให้กำเนิดลูกที่ผิดปกติ จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตต่อๆ ไปนั้น ที่จะต้องใช้เวลาอย่างมากมายในการดูแล ซึ่งอาจจะทำให้โอกาสในการกลายเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในบริษัททางกฎหมายที่ทำงานอยู่ด้วยต้องสูญหายไป หรือ ถ้าเป็นนักสตรีนิยมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดเรื่องโครงสร้างชายเป็นใหญ่ของสตรีนิยมแบบสุดโต่ง นักสตรีนิยมคนนี้จะคิดถึงอะไรเมื่อพูดถึง "เด็กหลอดแก้ว". ไม่เหมือนแนวคิดแบบนักสตรีเสรีนิยม เธอไม่ได้คิดว่าการสืบพันธุ์เช่น "เด็กหลอดแก้ว" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มโอกาสหรือทางเลือกอื่นๆ สำหรับผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่ดี. ในทางตรงข้าม เธอกลับคิดว่ามันเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นผลผลิตของโครงสร้างชายเป็นใหญ่ที่ต้องการควบคุมร่างกายของผู้หญิง และยังจะใช้เวลาในการบันทึกความเจ็บปวดของผู้หญิงในการที่จะตั้งครรภ์ผ่านท่อนำเชื้อ. ถึงตรงนี้เราเห็นแล้วว่า ความแตกต่างระหว่างแนวคิดและทฤษฏี สามารถนำไปสู่เรื่องราวคนละแบบและนำไปสู่วิธีการปฎิบัติที่แตกต่างกัน และนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ
เหตุผลที่สองที่จะสนับสนุนถึงเรื่องที่ว่า ทำไมการปฎิบัติการที่เราเลือกเป็นตัวเลือกที่ดี นั่นคือคำถามที่เกี่ยวกับวิธีการและเทคโนโลยีของการสืบพันธุ์ สามารถนำไปสู่คำถามสำหรับผู้หญิง มันเป็นเสมือนประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่เกิดจากการแบ่งแยกระหว่างสตรีนิยมสมัยใหม่ และสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ในการตั้งคำถามต่อผู้หญิง (คนเดียว) และผู้หญิง (หลายคน). สำหรับนักสตรีนิยมผู้หลงไหลต่อขนบธรรมเนียม ยึดติดกับแนวคิดและวิธีการมองแบบสมัยใหม่นิยม ไม่รู้สึกยินดีและยอมรับต่อการยกเลิกของการกลุ่มนักคิดแบบหลังสมัยใหม่ ที่ปฎิเสธการจัดกลุ่ม "ผู้หญิง" ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่อาจปฎิเสธได้ของทฤษฏีและข้อโต้แย้งทางการเมืองของกลุ่มแนวคิดสตรีนิยม. ถ้ากลุ่มนักสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ไม่สามารถพูดถึงผู้หญิง ซึ่งกลุ่มนักสตรีนิยมสมัยเก่าน่าจะโต้แย้งว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว แนวความคิดแบบนี้จะสามารถช่วยผู้หญิงที่จะคิดหรือใช้เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการสืบพันธุ์ เช่น การตรวจครรภ์ด้วยอุลตร้าซาวน์อย่างไร? คำถามที่เกี่ยวข้องกับการจัดกลุ่ม "ผู้หญิง"นี้ได้ถูกนำมาอภิปรายอย่างละเอียดในภาคทฤษฏี แต่อะไรล่ะที่ถูกนำเสนอในภาคปฎิบัติ คำถามในทำนองนี้เป็นสิ่งซึ่งหนังสือที่ท่านกำลังอ่านจะพยายามคลี่คลายต่อไป
และในส่วนต่อๆ ไปในบทนี้ จะเป็นการนำเสนอแนวคิดหลักๆ ทั้ง 4 สายของกลุ่มแนวคิดสตรีนิยม คือ สายสตรีนิยมเสรีนิยม, สตรีนิยมสุดโต่ง, สตรีนิยมสังคมนิยม และสตรีนิยมหลังสมัยใหม่. ในบทที่ 2 จะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปบนแนวคิดหลักๆ ซึ่งสามารถช่วยให้วัดคุณค่าความคิดต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างแนวคิดสตรีนิยมสมัยใหม่ในปี 1970s และสตรีนิยมหลังสมัยใหม่นิยมในปี 1990s ได้ ซึ่งนั้นคือเรี่องราวที่เกี่ยวกับ อัตบุคคล (Subject) ญานวิทยาหรือทฤษฏีความรู้ (Epistemology) และการเมือง (Politics). ในบทที่ 3 จะได้นำถกเถียงประเด็นสตรีนิยนสมัยใหม่ผ่านการปฎิบัติการทางด้านเทคโนโลยีการสืบพันธุ์ และศึกษาในทิศทางเดียวกันสำหรับสตรีนิยมหลังสมัยใหม่. ในบทที่ 4 และในบทที่ 5 จะหันกลับมาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนสำหรับรอยแยก และการแตกออกของกลุ่มนักคิดทั้งสองกลุ่มดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปของหนังสือเล่มนี้
1. แนวคิดสตรีนิยมแบบเสรีนิยม
๖
คำที่สำคัญ สำหรับแนวคิดกลุ่มสตรีนิยมแบบเสรีนิยม
ถ้าจะกล่าวถึงลักษณะที่สำคัญของแนวคิดสตรีนิยมแบบเสรีนิยม เราจำเป็นต้องคิดถึงคำ
6 คำ หรือ 6 แนวความคิดหลัก นั้นคือ อิสระ, การเลือก, สิทธิ, ความเท่าเทียม,
ความมีเหตุผล และ การควบคุม. คำทั้ง 6 คำนี้ ไม่มีคำไหนเลยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับแนวคิดสตรีนิยมเสรีนิยมแบบไร้เหตุผล
ในบริบทของแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศอังกฤษหรือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสัญชาตญาณแล้ว เราคงจะคิดว่าเราต้องการและเราควรจะได้อิสระ. เราต้องการการมีโอกาสที่จะเลือกและสิทธิที่จะเลือก เราต้องการการได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียม เราสามารถที่จะใช้เหตุใช้ผล และดูแลควบคุมตัวของเราเองได้อย่างอิสระ. ในทุกๆ ความรู้สึกที่กล่าวมานี้ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักของแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย. อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อเรากลับพบว่าเมื่อไม่นานมานี้เอง ประมาณช่วงปี 1960 ผู้หญิงส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษได้รับเงินเดือนหรือค่าแรงไม่เท่ากับผู้ชายที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน มันดูเหมือนจุดเล็กๆ แต่จำเป็นต้องย้ำเตือนเอาไว้ว่า โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงมักจะได้รับการปฎิบัติไม่เหมือนผู้ชาย และแน่นอนว่ามันทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากมายและหลายหลากต่อชีวิตของผู้หญิง ประเด็นหลักๆ สองประเด็นของแนวคิดนี้พยายามที่จะเปิดโปงและทำลายแนวคิดเก่าๆ เดิมๆ ว่าผู้หญิงคืออะไร? และควรเป็นอย่างไร? ที่สำคัญเพื่อที่จะเอื้อและสนับสนุนให้ผู้หญิงได้ทำในสิ่งต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย เพื่อให้ได้สถานภาพและรางวัลอย่างเดียวกัน
ผู้หญิงเป็นเสมือน ชาติพันธุ์ที่มีขนนก
ตัวอย่างของข้อถกเถียงในช่วงต้นๆ สามารถพบได้จากข้อเขียนของ แมรี่ วูสโตนคลาฟ
(Mary Wollstonecraft) ในหนังสือที่ชื่อ การแก้ตัวของสิทธิสตรี (A Vindication
of the Rights of Woman) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1792 วูสโตนคลาฟ มีความกังวลเป็นอย่างมากสำหรับการที่ผู้หญิงได้ถูกทำให้อ่อนแอและกลายเป็นสัตว์โลกที่น่าสงสาร.
เธอได้อธิบายว่า ผู้หญิงเป็นเสมือน ชาติพันธุ์ที่มีขนนก เหมือนนกที่ถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ในกรงขัง
ผู้ซึ่งไม่มีอะไรจะทำนอกจากโอ้อวดภูมิใจในตัวตน และส่งเสียงเจื้อยแจ้วจากกิ่งไม้หนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่ง
(วูสโตนคลาฟ, 1988: 55). ความพยายามของเธอเรียกร้องความ "ยุติธรรม"
(เธอใช้ตัวหนังสือตัวใหญ่ JUSTICE) ต่อผู้หญิง (สำหรับเธอแล้วเป็นครึ่งหนึ่งของชาติพันธุ์ของมนุษย์)
เกิดจากการที่เธอได้สังเกตผู้หญิงในสังคมและได้เข้าไปมีส่วนร่วม รวมทั้งโต้ตอบกับนักทฤษฏีทางรัฐศาสตร์คนสำคัญซึ่งมีอิทธิพลอย่างมาก
คือ ชอง-ชาค์ก-รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ความโกรธของ
วูสโตนคลาฟ มาจากแนวคิดบางอย่างของ รุสโซ เช่น ใน Emile (พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี
ค.ศ.1762), รุสโซ ได้อ้างว่า
การศึกษาของผู้หญิงควรจะเป็นไปในลักษณะที่เทียบเคียงกับผู้ชายเสมอ เพื่อที่จะทำให้มีประโยชน์ต่อเรา เพื่อที่จะทำให้เรารักและเคารพพวกเธอ เพื่อทำให้เราได้เรียนรู้เมื่อเรายังเด็ก และดูแลพวกเราเมื่อเราโตขึ้น เพื่อที่จะชี้แนะ และปลอบใจเรา เพื่อที่จะทำให้การใช้ชีวิตของเราราบรื่นและอยู่ในข้อตกลงเดียวกัน: มันเป็นหน้าที่ของผู้หญิงตลอดมา และพวกเธอควรจะถูกสั่งสอนแบบนี้ตั้งแต่ยังแบเบาะ
(รุสโซ, 1955: 328)
วูสโตนคลาฟ ไม่สามารถที่จะเห็นดีเห็นงามคล้อยตามแนวคิดนี้ได้ และแน่นอนว่าเธอต่อต้านมัน. ข้อโต้แย้งของเธอและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้นตั้งอยู่บนข้อคิดเกี่ยวกับ "สิทธิโดยธรรมชาติ" เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คน เธอเชื่อว่าคนแต่ละคนมีสิทธิโดยธรรมชาติตั้งแต่กำเนิด และมนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์คือความมีเหตุผล. วูสโตนคลาฟ ได้พยายามขยายความคิดนี้เพื่อรวมผู้หญิงเข้าไปด้วย และแนวทางการปฎิบัติแบบ "รวมผู้หญิงเข้าไปด้วย" นี้ จึงกลายเป็นสิ่งที่สตรีนิยมแบบเสรีนิยมได้ยึดถือเป็นแนวปฎิบัติต่อๆ กันมา
ในศตวรรษที่ 18 แมรี่ วูสโตนคลาฟ กล่าวว่าเด็กผู้หญิงควรจะได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กผู้ชาย. ในประเทศฝรั่งเศสในช่วงเวลาเดียวกัน โอลิมพี เดอร์ เกาล์ท (Olympe de Gouges) พยายามเรียกร้องผู้ชายให้ขยายสิทธิชาวฝรั่งเศสให้ผู้หญิงเช่นกัน. ในศตวรรษที่ 19 อลิซาเบต เคดี สแตนตัน (Elizabeth Cady Stanton) ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เขียนข้อเรียกร้องที่เรียกว่า "คำยืนยันแห่งความรู้สึก" (Declaration of Sentiments) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำยืนยันในการประกาศอิสรภาพ ที่กล่าวว่าผู้ชายและผู้หญิงมีความเท่าเทียมกัน และในประเทศอังกฤษ จอห์น สจ๊วต มิว (John Stuart Mill) และ เฮริต ไทเลอร์ มิว (Harriet Taylor Mill) เขียนหนังสือหลายเล่มที่สุดโต่ง แนะให้ผู้หญิงทั้งหลายควรจะได้รับอภิสิทธิการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเลือกตั้ง และสิทธิในการดำเนินการด้านสาธารณะ (มิว, 1970; ไทเลอร์, 1970)
ทำไมผู้หญิงจึงไม่สามารถเป็นได้อย่างผู้ชาย
ข้อเรียกร้องให้ได้รับการปฎิบัติเช่นเดียวกันกับผู้ชาย หรืออนุญาตให้ทำในสิ่งที่ผู้ชายทำได้
เป็นสิ่งที่อยู่ภายในความคิดของกลุ่มแนวคิดสตรีนิยมแบบเสรีนิยมตลอดมา. ในศตวรรษที่
20 ผลที่ได้คือการได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม สิทธิเท่าเทียมในโอกาสของการทำงาน
และสิทธิที่เท่าเทียมในเวทีการเมืองสาธารณะ และการทำงานเช่นเดียวกับผู้ชาย. การใช้กฎหมายถือได้ว่าเป็นหนึ่งในยุทธวิถีที่ทำให้ได้มาซึ่งสิทธิเท่าเทียมต่างๆ
เหล่านี้ เช่น ในประเทศอังกฤษ กฎหมายที่ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าจ้างอย่างเท่าเทียมในปี
1970 และกฎหมายที่ว่าด้วยการกดขี่ทางเพศในปี 1975 เพราะด้วยแนวคิดที่ว่าผู้หญิงมักจะโดนกดขี่และถูกเลือกปฎิบัติเป็นเพราะ
เพศ (Sex) และจากแนวคิดนี้เองที่ได้นำไปสู่ยุทธวิถีต่างๆ ในการต่อสู้เพื่อต่อต้านแนวคิดดังกล่าว
ตอบรับกับแนวคิดของ วูสโตนคลาฟก่อนหน้านี้ที่กล่าวว่าผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นคนน่าสงสาร นักสตรีนิยมแบบเสรีนิยมในศตรรษที่ 20 หลายคนกล่าวว่า "เป็นเพราะการกรอบกำหนดบทบาททางเพศ" เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นคนที่มีความสำเร็จน้อยกว่าผู้ชาย. กลุ่มนักคิดกลุ่มนี้ชี้ให้เห็นว่าสมควรที่จะหยุดเลี้ยงเด็กผู้หญิงขึ้นมาในลักษณะที่เป็นแบบรับ(passive)อย่างเดียว ซึ่งทำให้ขาดความมั่นใจ และที่สำคัญต้องผลักดันให้สามารถที่จะพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองได้. ในทำนองเดียวกัน ผู้ว่าจ้างและคนที่ให้การศึกษาควรที่จะปฎิเสธมุมมองเดิมๆ ที่ เด็กผู้หญิงควรจะโตไปและทำงานในลักษณะงานของ "ผู้หญิงทั่วๆ ไป" ซึ่งไม่มีวันพ้นงานพยาบาลและงานเลขานุการ. ในช่วงปี 1960 และ 1970 ได้ทำการสร้างและปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองหลายอย่างซึ่งเกิดขึ้นใน "การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา" เบตตี้ ฟรีดันท์ ได้ทำการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อผู้หญิงแห่งชาติ (the National Organisation for Women [NOW]) ขึ้นในปี 1966
นโยบายหลักของกลุ่มนี้คือ การเรียกร้องให้เกิดสิทธิเท่าเทียมของประชาชน สิทธิเท่าเทียมของการเข้าถึงข้อมูลทางด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านสังคมสงเคราะห์ ที่สำคัญคือการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมต่อผู้หญิง. สำหรับนักสตรีนิยมแนวเสรีนิยมหลายคนพยายามที่จะนำเสนอถึงผลดีและการปรับเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นต่อการเลือกปฎิบัตินี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นต่อการรื้อถอนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานต่อการเลือกปฎิบัติต่อผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่น ในการสมัครงาน การปรับเปลี่ยนการเลือกปฎิบัติอาจจะหมายถึงการที่งานนั้นๆ ให้แก่ผู้สมัครที่เป็นผู้หญิง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำให้เท่าเทียมกัน (Hawkesworth, 1990: 171-197; Humm, 1992: 181)
ล้มล้างเพศสภาพได้หรือ
ทำไมผู้คนถึงต้องการโลกที่ไม่มีระบบเพศสภาพ สำหรับแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม
ความเท่าเทียม อิสระ และสิทธิ นักสตรีนิยมแนวเสรีนิยมอ้างว่า โดยทั่วไปผู้หญิงไม่ได้รับอิสระและสิทธิเท่าเทียมเนื่องมาจากเพศของพวกเธอ
และผลที่เกิดขึ้นคือการใช้ชีวิตที่ลำบากสำหรับผู้หญิงเพราะบ่อยครั้งมันกลายเป็นข้อแม้ที่จะได้มาซึ่งเงินและสถานภาพ.
ข้อโต้แย้งทั้งหลายได้มุ่งประเด็นไปที่จุดนี้ จุดที่พยายามคลี่คลายข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นจากเพศและระบบเพศสภาพ
ในศตวรรษที่ 19 ข้อแม้ในการคิดคำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางด้านกายภาพ ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ.1874 หัวหน้าโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัย Harvard ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ เพศในการศึกษา: โอกาสที่เท่าเทียมของผู้หญิง (Sex in Education: A Fair Chance for the Girls) ซึ่งเขาได้กล่าวไว้ว่า การให้การศึกษาผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชายสามารถนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้หญิงไม่ดูแลรักษาความสะอาด เพราะเหตุว่าผู้หญิงมักจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางสมองมากกว่าการพัฒนาทางด้านอวัยวะทางกายภาพที่เกี่ยวกับประจำเดือน (Hubbard, 1990: 39). ในฝั่งประเทศอังกฤษ, ในปี ค.ศ. 1886 ประธานของสมาคมแพทย์อังกฤษได้กล่าวไว้ว่า การให้การศึกษาผู้หญิงอาจจะทำให้พวกเธอไม่สนใจที่จะทำหน้าที่ให้กำเนิดลูกต่อไป
ชาติพันธุ์ของมนุษย์จะสูญหายไป เนื่องจากคนเหล่านั้นที่ควรจะได้มาเป็นลูกๆ ของพวกเธอ สำหรับความต้องการของมารดาแล้ว เขาจะไม่ได้เกิดขึ้นมา ผู้หญิงถูกสร้างขึ้นและมีความหมายถึง, แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้ชาย, ที่จะเป็นมารดาของมนุษยชาติ
(อ้างมาจาก Hubbard, 1990: 39)
ความแตกต่างของการดูแลรักษาทางด้านเพศที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เป็นทางด้านอารมณ์ความรู้สึก และทางด้านจิตกลายเป็นสิ่งที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองและการปรับเปลี่ยน. ในความเป็นจริงแล้ว แนวความคิดที่ว่า "ความประพฤติของผู้หญิงโดยทั่วไป" ซึ่งเกิดขึ้นและดำเนินมาเป็นเวลาร่วมสองสามศตวรรษที่ผ่านมา บ่อยครั้งมักจะตั้งอยู่บนความไม่มีเหตุผล และบ่อยครั้งอยู่บนความบ้า (Ussher, 1991) มันน่าสนใจที่ว่าความบ้าของผู้หญิงนั้น บ่อยมากที่ถูกโยงเข้าหาเรื่องราวทางด้านกายภาพ. ในรากศัพท์ที่อธิบายการตัดมดลูกออก - hysterectomy - เป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่การตัดออกของ "ราก" ของโรคฮิสทีเรีย หรือเป็นโรคจิตประสาทซึ่งไม่อาจควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรมได้ เช่น ความโกรธ ความกลัว ความตื่นเต้น เป็นต้น
การอ้างเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดในแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยตะวันตกเมื่อเราก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 อาจจะดูตลกขบขันเสียด้วยซ้ำ แนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ้างเหตุผลทางด้านกายภาพในศตรรษที่ 19 กว้างขึ้นและขยายตัวมาก มีการอ้างว่าสมองของผู้หญิงโดยทั่วไปแล้วเล็กกว่าสมองผู้ชาย นั่นหมายความว่าผู้ชายมีความคิดสติปัญญาดีกว่าผู้หญิง แต่นักวิจัยหลายๆ คนสามารถพิสูจน์ได้ว่า ข้ออ้างดังกล่าวกลับก่อให้เกิดเป็นปัญหา เพราะว่า ถ้าตามเหตุและผลที่อ้างแล้ว เราจะพบว่าช้างและวาฬที่มีสมองโตกว่ามนุษย์จะต้องมีสติปัญญาสูงกว่ามนุษย์เช่นเดียวกัน (Saunders and Platt, 1997: 177). สิ่งที่สตรีนิยมแนวเสรีนิยมต้องการคือการพิสูจน์ให้เห็นว่า การอ้างเหตุผลและข้อโต้แย้งบางอย่างมันเกิดข้อผิดพลาดอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นจากข้อโต้แย้งนี้ เช่น ในประเทศอังกฤษผู้หญิงที่มีอายุเกิน 21 ปี สามารถที่จะได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้งได้ตั้งแต่ปี 1928 ซึ่งในขณะที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 1999 ได้มีนายกรัฐมนตรีหญิงและมีผู้หญิงจำนวน 101 คนเป็นสมาชิกในรัฐสภา ในประเทศตะวันหลายๆ ประเทศการเลือกปฎิบัติที่ตั้งอยู่บนความแตกต่างทางเพศ ได้กลายเป็นสิ่งผิดกฏหมาย มันดูเหมือนว่าการทำงานของสตรีนิยมแนวเสรีนิยมจะประสบความสำเร็จ
2. แนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่ง
นักสตรีนิยมแบบสุดโต่งเป็นสิ่งที่สื่อชอบที่จะโจมตี นักสตรีนิยมเหล่านี้มักจะถูกให้ภาพตัวแทนที่ว่าเป็น "นักสตรีนิยม-นาซี" (Feminazis) หรือ ตามความถูกต้องทางการเมืองอาจจะเรียกได้ว่าเป็น "นักสตรีนิยมแบบสตาลินซ์" (Stalinist Feminists). ภาพตัวแทนเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพต่างๆ ที่พยายามทำล้อเลียนความเป็นนักสตรีนิยมแบบสุดโต่ง และบ่อยครั้งภาพของผู้หญิงอ้วน น่าเกลียด ไว้ทรงผมสั้นๆ และรสนิยมในการแต่งตัวที่แย่, โดยทั่วไปแล้ว มันมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับเลสเบี้ยนเจือบนอยู่ในภาพตัวแทนนั้นด้วย และเมื่อเราถามว่าพวกเธอคิดอย่างไรกับคำว่า "สตรีนิยม", เร็วๆ นี้มีคำตอบจากผู้หญิงคนหนึ่งในรัฐสภาของอังกฤษได้ให้ไว้ว่า
อะไรหรือที่เรียกว่า "สตรีนิยม" ฉันคนหนึ่งที่เชื่อในความเท่าเทียมและความสามารถ ไม่ใช่ที่เพศสภาพของฉัน แต่ฉันไม่ได้เห็นตัวฉันในภาพลักษณ์ของเลสเบี้ยนที่มีขนขาที่ยาว ฉันต่อสู้เพื่อการจ้างงานทีเท่าเทียม แต่ฉันยังคงดูเหมือนผู้หญิงทุกประการ
(Fitzsimons, 1997: 75)
ในการตอบโต้นี้มีกลิ่นอายของความกดดันอยู่ในนั้นด้วย ลอร์นา ฟริซสิมอนซ์ (Lorna Fitzsimons) ดูเหมือนว่าเธอจะค่อนข้างที่จะเชี่ยวชาญในการที่จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับอะไรก็ตามที่สุดโต่ง หรือในที่นี้ภาพ "ที่ล้อเลียน" สำหรับขนบนร่างกายที่มีมากเกินไป สำหรับนักสตรีนิยมแบบสุดโต่งอาจจะกล่าวได้ว่า ลอร์นา ฟริซสิมอนซ์ เป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างน่าเกลียด ผู้ซึ่งไม่ยอมที่จะยอมปรับเปลี่ยนเข้าหามาตราฐานของตะวันตกในเรื่องความเป็นหญิง บางที "ความน่ารังเกียจและความน่าเกลียด" ของสิ่งต่างๆ สำหรับผู้หญิง ซึ่งถูกกล่าวไว้ในหนังสือของ เจอร์มาน เกียร์ (Germaine Greer) ที่ชื่อว่า ขันทีผู้หญิง (The Female Eunuch, 1970) กลายเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้อง
6 คำที่สำคัญ สำหรับแนวคิดกลุ่มสตรีนิยมแบบสุดโต่ง
มีคำอยู่ 6 คำหรือ 6 แนวคิดที่สำคัญ สำหรับกลุ่มสตรีนิยมแบบสุดโต่ง คือ "ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง",
"สังคมชายเป็นใหญ่", "การกดขี่", "ประสบการณ์",
"การควบคุม", และ "เรื่องในระดับบุคคลก็คือเรื่องทางการเมือง"
(the Personal is Political). ใน 6 คำหรือ 6 แนวคิดนี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากแนวคิดของสตรีนิยมแบบเสรีนิยม,
ทั้งๆ ที่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือคำว่า "การควบคุม" (Control) บางกระแสความคิดและความเชื่อเสนอว่า
แนวคิดเหล่านี้เป็นความคิดแบบสมัยเก่า และแม้กระทั่งไม่มีเหตุผลในประชาธิปไตยของประเทศฝั่งตะวันตกในช่วงเวลาต้นยุคปี
2000 ยกตัวอย่างเช่น ข้อเขียนที่ได้มาจากกลุ่ม New York Red-stockings ที่เขียนขึ้นในปี
1969
ผู้หญิงเป็นกลุ่มชนชั้นที่ถูกกดขี่ ความกดดันกลายเป็นสิ่งทั้งหมดที่เรามี มีผลกระทบต่อการเป็นอยู่และชีวิตของเรา เราถูกทำให้กลายเป็นสินค้า, กลายเป็นแม่พันธุ์ผู้ให้กำเนิด, กลายเป็นคนรับใช้ในบ้านและแรงงานราคาถูก, เราถูกมองว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตอยู่เพื่อสนองประโยชน์ต่อชีวิตของผู้ชาย ผู้ชายทุกคนกดขี่ผู้หญิง
(อ้างมาจาก Bryson, 1992: 183-4,)
หรือในบทความที่อ้างมาจาก แมรี่ ดาลี่ (Mary Daly) ในเรื่อง "สังคมชายเป็นใหญ่ ตัวมันเองคือศาสนาของโลกใบนี้" การที่ใช้บทความที่เขียนอย่างกล้าหาญ เปิดประเด็น และ อ้างอย่างเป็นสากล ในตอนแรกดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างไม่ค่อยเหมาะสม โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมของสังคมตะวันตก และในศตวรรษใหม่นี้. ในการก้าวเข้าไปสู่การเป็นสมาชิกใหม่ของรัฐสภา ลอร์นา ฟริซสิมอนซ์ ค่อนข้างที่จะลำบากใจที่จะเชื่อว่า "ความรู้สึกกดดันของเธอคือทั้งหมด" หรือเพศของเธอกำลังทำให้เธอกลายเป็น "สิ่งที่จะช่วยสนองประโยชน์ต่อชีวิตของผู้ชาย" เธอจะทำงานของเธอได้อย่างไรถ้าเธอเชื่อว่า "ผู้ชายทั้งหมดกำลังกดขี่ผู้หญิงทั้งหมด"
เกลียดผู้ชาย
ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ชายคือปัญหาของกลุ่มนักสตรีนิยมแบบสุดโต่ง ตัวอย่างเช่น
นักเขียนหญิง วาเรรี่ โซลานาส (Valerie Solanas) (1968) ที่ได้สร้างกลุ่มที่เรียกว่า
"กลุ่มที่ปราศจากผู้ชาย" (The Society for Cutting Up Men [SCUM])
ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายกลายเป็นปัญหาสำหรับนักคิดกลุ่มนี้ก็เพราะว่า ผู้ชายดูเหมือนจะกลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งและศูนย์กลางของการควบคุมพวกเธอ
ผู้ชายยังคงได้งานที่ดีกว่า ได้เงินเดือนที่มากกว่า ได้พื้นที่ดินที่มากกว่า
และได้อภิสิทธิต่างๆ. แน่นอนว่าสตรีนิยมแบบเสรีนิยมได้สังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้เหมือนกัน
แต่พวกเธอเลือกที่จะคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากความคิดแบบเก่าและเกลียดผู้หญิง
ซึ่งสามารถที่จะปรับแก้ไขได้ตามเวลาและเหตุผล. แต่กลุ่มสตรีนิยมแบบสุดโต่งไม่สามารถที่จะคล้อยตามมุมมองนี้ได้
เพราะพวกเธอพบว่า มีอะไรมากกว่านั้นและมากไปกว่าข้อบกพร่องง่ายๆ หรือการเกลียดผู้หญิง
สิ่งนั้นคือรากฐานมากจากสังคมชายเป็นใหญ่
การนำเสนอแนวความคิดในเรื่องสังคมชายเป็นใหญ่นี้ ก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย หนึ่งในคำจำกัดความที่ตรงไปตรงมาที่สุดของสังคมชายเป็นใหญ่คือ การครอบครองของผู้ชาย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าการครอบครองของผู้ชายคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีต่อผู้หญิง แต่ทว่ามันคือการครอบครองเชิงโครงสร้าง. วิธีหนึ่งที่จะคิดคำนึงถึงแนวความคิดเรื่องโครงสร้างคือให้คิดถึงระบบของการให้ลำดับคุณค่าที่สั่งสมมาในสังคมของมนุษย์ และในสังคมของชายเป็นใหญ่นี้สามารถให้คำจำกัดความอย่างง่ายๆ แต่ทว่ามีผลกระทบอย่างมากมาย อะไรก็ตามที่มีส่วนร่วมกับผู้ชายและความเป็นชาย มักจะถูกให้คุณค่าสูงกว่าอะไรก็ตามที่มีส่วนร่วมกับผู้หญิงและความเป็นหญิง. แนวความคิดเรื่องโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่นี้สำคัญมาก ซึ่งเปิดโอกาสให้สตรีนิยมแนวสุดโต่ง สามารถอธิบายว่า ทำไมผู้หญิงจึงมักจะถูกทำให้เสียโอกาสและทำให้ด้อยกว่าผู้ชาย
แนวความคิดและทฤษฏีที่เกี่ยวกับสังคมชายเป็นใหญ่นั้น มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยจับประเด็นหลัก ประเด็นต่างๆ ที่แยกตัวออกไป และความเกี่ยวข้องโยงใยของมุมมองต่างๆ ที่มีต่อความกดขี่ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง และในยังสามารถพัฒนาแนวความคิดเพื่อที่จะพินิจพิจารณาและวิเคราะห์ถึงรูปแบบที่หลากหลายสำหรับความเท่าเทียมทางเพศสภาพที่อยู่เหนือเวลา ชนชั้น และกลุ่มชาติพันธุ์
(Walby, 1990: 2)
โครงสร้างทางทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับสังคมชายเป็นใหญ่นี้ เสนอไว้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาจากผู้ชาย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีส่วนร่วมกับผู้ชายและความเป็นชาย นั้นหมายความว่าไม่ใช่เพียงแค่ผู้ชายเป็นผู้ครอบครอง แต่คุณค่าของความเป็นชายก็ยังคงทำหน้าที่ของการครอบครองเช่นเดียวกัน ทั้งในด้านแนวความคิดและวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน นั้นหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า ความคิด ความรู้ และความรู้สึก หรือองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี หรือองค์ความรู้ทางด้านวรรณกรรม หรือแม้กระทั่งชีวิตส่วนตัวแทบจะเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าผู้ชายเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลผลิตที่เกิดขึ้นนี้ทั้งในด้านความรู้และเทคนิควิทยาการ สิ่งที่สำคัญกว่าคือผู้ชายและคุณค่าของความเป็นชายที่ได้รับอภิสิทธิ์เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น การตัดสินว่าอะไรควรจะเป็นหรือไม่เป็นองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์. สตรีนิยมแบบสุดโต่งตัดสินใจว่า จะต้องปรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้แบบกลับหัวกลับหาง และวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงอยู่ตรงกลางแทนที่
ผู้หญิงต้องมาก่อน
อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าผู้หญิงกลายมาอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ตรงกลางของทุกสิ่งทุกอย่าง
โลกจะเป็นอย่างไร? การหาคำตอบต่อคำถามเหล่านี้ไม่ง่าย และมันก็ไม่ง่ายที่จะทำนายว่า
ถ้าประเทศอังกฤษมีผู้หญิงอยู่ในคณะรัฐบาลจำนวนมากถึง 600 คน จะทำให้การบริหารประเทศแตกต่างออกไปอย่างไร?
สิ่งที่กลุ่มสตรีนิยมแบบสุดโต่งมุ่งให้ความสนใจคือ คำถามที่ว่า อะไรที่ผู้หญิงทำปกติ
มากกว่าอะไรที่ผู้ชายทำ และจะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าสิ่งที่ผู้หญิงทำนั้นทำสืบต่อกันมาเหมือนเป็นประเพณีนิยมและถูกมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ
บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นตัวเลขเงินเดือนจำนวน 6 หลักของคุณแม่ และสิ่งที่กลุ่มสตรีนิยมแบบสุดโต่งต้องการจะนำวางไว้ที่ศูนย์กลางไม่ใช่สิ่งที่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ผู้หญิงทำอยู่ประจำ
แต่ทว่าเป็นสิ่งที่ผู้หญิงคิดแบบสืบต่อกันมาเสมือนเป็นประเพณีนิยม
มันดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและดูเหมือนว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แต่ลองคิดดูให้ดี ถ้าในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทุกสิ่งทุกอย่างถูกให้ความสำคัญต่อผู้ชาย เช่น ประเทศ, การวิเคราะห์การเมือง, ศาสนา, และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง และสิ่งที่เกิดขึ้นคือการริดรอนสิทธิของผู้หญิง แน่นอนว่ามันมีบางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการครอบงำ และสิ่งที่น่าจะพิจารณาต่อไปคือ การตัดสินที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ผู้หญิงทำต่อผู้ชาย
การพิจารณานี้ยังครอบคลุมไปถึงสิ่งที่ดูอย่างผิวเผินแล้ว "เหมือนกัน" เราคงจะเคยเห็นโปสเตอร์ที่นิยมติดอยู่ตามผนังของห้องทำงานที่เน้นประเด็นถึง "ความเหมือนที่แตกต่าง" ตัวอย่างบางอันที่เราสามารถเห็นได้เช่น "เขา เข้ากันได้ดีกับเพื่อนร่วมงาน/เธอ ชอบที่จะนินทาคนอื่นตลอดเวลา" หรือ "เขาได้ไปรับประทานอาหารกลางวันกับเจ้านาย นั้นแสดงว่า เขาจะต้องได้รับการเลื่อนขั้น/เธอ ต้องมีเรื่องทางชู้สาวกับเจ้านาย" หรือ "เธอ มักจะมาสาย เธอ ต้องไปเดินช็อปปิ้งแน่นอน/เขา ต้องไปร่วมการประชุม"
นักสตรีนิยมแบบสุดโต่งอาจจะหันไปหานักสตรีนิยมแบบเสรีนิยมและกล่าวว่า มันไม่มีความสำคัญอะไรหรอกถ้าผู้หญิงได้เรียนรู้และทำในสิ่งเดียวกันกับที่ผู้ชายทำ พวกเธอจะไม่ได้รับการปรนนิบัติและเข้าใจพวกเธอในแบบเดียวกัน. มีภาพการ์ตูนภาพหนึ่ง ภาพนั้นเป็นภาพของการประชุมร่วมกันของผู้ชาย 5 คนและผู้หญิง 1คน ทั้งหมดนั่งอยู่รอบๆ โต๊ะกลม. หนึ่งในผู้ชายกลุ่มนั้นพูดขึ้นมาว่า "นั่นเป็นความคิดเห็นที่เยี่ยมมากมิสโจนท์ บางทีหนึ่งในกลุ่มผู้ชายที่อยู่ที่นี้อยากจะทำมันขึ้นมา" ภาพและคำพูดนั้นกำลังสะท้อนให้เห็นลำดับขั้นในสังคมชายเป็นใหญ่ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่ภาพนั้นกำลังกล่าวถึงคือ คุณค่าที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ "ความเป็นชาย" เข้าไปมีส่วนร่วมกับสิ่งๆ นั้น
ความจริงใหม่
แนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่ง โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นจากเรื่องราวของความทุกข์คับข้องใจ
ที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงของผู้ชาย และการตกเป็นเหยื่อของผู้หญิงซึ่งนำไปสู่คำอธิบายเรื่อง
แนวคิดสตรีนิยมแบบที่สตรีตกเป็นเหยื่อ. แต่แนวคิดแบบนี้ค่อนข้างแปลกเพราะเหมือนกับจะบอกว่า
ผู้หญิงทุกๆ คนจะต้องมีประสบการณ์เดียวกัน ในลักษณะที่เหมือนกับถูกปลดปล่อยออกมา
หรือถูกผลิตขึ้นจากรากฐานที่แนวคิดแบบสุดโต่งของสตรีนิยม ที่เอื้อให้เกิดการสร้างขึ้นใหม่ของประสบการณ์เหล่านั้น.
ผู้หญิงผู้ซึ่งโกรธเกรี้ยวบุตรของตนไม่จำเป็นอีกต่อไปที่จะคำนึงว่าพวกเธอเป็นแม่ที่ไม่ดี
ใครบ้างล่ะที่จะไม่รู้สึกอึดอัดและเหนื่อยหน่ายกับความรู้สึกที่ต้องดูแลบ้านและเด็กเล็กๆ
อยู่ตลอดวัน. สิ่งที่ถือได้ว่าเกิดการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงคือ ประสบการณ์แย่ๆ ที่ผู้หญิงเหล่านั้นไปประสบพบเจอมา
เช่นโดนสามีทำร้ายเนื่องจากไม่ได้เตรียมอาหารเย็นให้พร้อม สามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความรุนแรงที่ยอมรับไม่ได้.
สตรีนิยมแบบสุดโต่งกำลังรื้อ-สร้างความจริงใหม่ อะไรก็ตามที่ถูกเข้าใจในก่อนหน้านี้ว่า
"ไม่มีความรุนแรง" เดี๋ยวนี้สามารถที่จะอธิบายใหม่ได้ว่า "เป็นความรุนแรงในครอบครัว"
สิ่งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อชีวิตของผู้หญิงหลายคน แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ไปยุติสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงหลายต่อหลายคนกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง
สตรีนิยมแบบสุดโต่ง สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองที่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่ถูกกำหนดสร้างและครอบงำและสืบต่อๆ กันมาเป็นศตวรรษได้อย่างไร? และทำอย่างไรที่สามารถเข้าไปจับประเด็นเรื่อง "ความจริง". แน่นอนว่าจะต้องไม่ใช่การใช้วิธีการคิดและพิจารณาในลักษณะเดียวกับสิ่งที่ผู้ชายใช้ สตรีนิยมแบบสุดโต่งสามารถเปิดให้เกิดการคิดซึ่งสามารถรวมเอาสิ่งต่างๆ วิธีการต่างๆ ที่ได้ถูกคัดกรองแยกออกไป และเข้าใจไปว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกลับเข้ามา การนำเอาประสบการณ์ของผู้หญิงและการนำเสนอมุมมองของความจริงจากสายตาของพวกเธอ เช่น
[สำหรับความรู้ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่ง] มันเกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงของผู้หญิง ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดและความโกรธของพวกเธอ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่มันกลับทำให้เกิดความรู้ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้หญิง สิ่งทีเกิดขึ้นไม่สามารถที่จะอาศัยวิธีการที่เป็นลำดับขั้นตอนปกติในการลำดับการเรียนรู้ และบ่อยครั้งการใช้ภาษาและสำนวนที่สามารถกระชากอารมณ์ร่วมของคนอ่าน และช่วยทำให้สติของคนเหล่านั้นได้ออกไปพ้นจากการครอบงำของโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ และมุ่งเข้าสู่มุมมองแบบผู้หญิงเป็นศูนย์กลางได้
(Jaggar, 1983: 369)
วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของผู้ชาย
เมื่อลองมองดูที่ความรู้ในแบบวิทยาศาสตร์ สตรีนิยมแบบสุดโต่งคนหนึ่งที่ได้รับการฝึกฝนมาให้เป็นนักวิทยาศาสตร์
ได้ตั้งคำถามเอาไว้ว่า "ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์นี้ได้มีการถูกผนวกเข้ากับความรู้ที่มาจากความเป็นชายมากน้อยแค่ไหน
และอะไรที่จะสามารถให้ความหมายได้โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ ถ้าองค์ความรู้ที่ได้มานี้เกิดขึ้นจากสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความเป็นชาย
หรือจากความเป็นอื่น?" (Keller, 1985: 3) นักสตรีนิยมแบบสุดโต่งหลายคนพยายามรื้อค้น
ตรวจสอบบทความทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะใช้เป็นหลักฐานในการที่จะพิสูจน์ว่า ความรู้ที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ร่วมกับความเป็นชาย
และมีตัวอย่างที่เกิดอย่างมากมาย ตัวอย่างเช่นจาก ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon)
หนึ่งในลูกชายหลายคนที่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นมาลืมตาดูโลก เพราะเหตุว่าแม่ของเขาอาจจะได้
"รับการศึกษามากเกินไป". นักวิทยาศาสตร์ในแนวสตรีนิยมอ้างว่า ทฤษฏีทางสายวิทยาศาสตร์
และการปฎิบัติทางสายวิทยาศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน หนึ่งในตัวอย่างนั้นเช่น ภาพจิตนาการของกลุ่มรักต่างเพศ
ภาพจินตนาการเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของกลุ่มนักสตรีนิยมแบบสุดโต่ง ที่พยายามเน้นให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดการต่อยอดไปถึงความคิดทั่วๆ
ไปโดยเฉพาะเรื่อง "ธรรมชาติของความอ่อนแอและด้อยกว่า" และ "การเป็นฝ่ายตั้งรับของผู้หญิงผู้ซึ่งต้องการการควบคุมดูแล"
ความกลัวและความลังเล
สำหรับแนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่ง บ่อยทีเดียวที่แนวคิดในลักษณะนี้สามารถช่วยทำให้สิ่งที่ถูกทำให้ลืมไปแล้ว
สิ่งที่ล้าสมัย และมากเกินพอดี มันมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มของสตรีนิยมและกลุ่มที่ไม่ใช่สตรีนิยม
ในการที่จะเข้าไปตรวจสอบย้อนหลังประวัติศาสตร์เพื่อที่จะค้นหาถ้อยคำที่รุนแรง
และใช้มันเพื่อจะเป็นหลักฐานถึงความไร้ประโยชน์ของแนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่ง บางทีอาจเป็นเพราะความกลัว
ความลังเล และความขยะแขยงที่นักสตรีนิยมแบบสุดโต่งได้เปิดโปงมันออกมาทำให้ผู้คนรู้สึกไม่สบายใจ
บางทีคำอธิบายในเรื่องเกี่ยวกับความกลัวที่สตรีนิยมแบบสุดโต่งได้ให้เอาไว้ มันมากเกินไปสำหรับคนบางคน
ตัวอย่างหนึ่งคือในเรื่องเทคโนโลยีในการสืบพันธุ์
นั่งอยู่ที่เครื่องพิมพ์ดีดของฉันตอนกลางคืน ฉันเห็นบทความของฉันในเครื่องมือสำหรับการสืบพันธุ์นี้ คล้ายกับมันมีความต้องการที่จะกรีดร้องเตือนผู้หญิงคนอื่นๆ
(Corea, อ้างจากใน Barr, 1988: 171)
มันมีความสำคัญที่จะต้องกล่าวว่า แนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่งนี้สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เหตุเพราะว่าแนวคิดนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้นำเอาชีวิตและประสบการณ์ของเธอเข้าสู่ศูนย์กลางของความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในประวัติศาสตร์ของทฤษฏีทางสังคมและการเมือง และที่สำคัญ การสร้างความจริงใหม่ถือได้ว่าเป็นผลสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม. การเปิดโปงโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ที่มักจะใช้กิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับผู้ชายเอาไว้เหนือกว่าผู้หญิง ที่มักจะถูกวางตำแหน่งแห่งที่เอาไว้ต่ำกว่า กลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการปฎิวัติทางความคิดนี้ และการที่ตระหนักได้ว่า ลำดับขั้นที่เกิดขึ้นจากเพศสภาพนั้นกลายเป็นสิ่งที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของมนุษย์ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากด้านหนึ่งที่เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสู่อีกด้านหนึ่งที่เป็นเรื่องครอบครัวและความรู้สึกถึงการมีตัวตน
การตระหนักรู้นี้ถือได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมเหมือนกัน สำหรับนักสตรีนิยมแบบสุดโต่งแล้วพวกเธอเชื่อว่า ในทุกๆ ด้านของชีวิตของคนๆ หนึ่งกลายเป็นเนื้อหาภายในข้อจำกัดของโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่ข้อจำกัดของโลกสาธารณะทั่วไป ผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการผลักดันให้ชีวิตและประสบการณ์ของผู้หญิงเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่เข้าไปตั้งอยู่ในศูนย์กลาง คือการโต้แย้งที่ว่า "ความเป็นส่วนตัวก็เป็นเรื่องของการเมืองเหมือนกัน" คือการเข้าไปตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคน กิจกรรม และประสบการณ์ของพวกเขาที่เกิดขึ้นตามนัยทางการเมือง ซึ่งรวมไปถึงเรื่องราวของความใกล้ชิดและความสัมพันธ์ทางเพศ แต่เราต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่กลุ่มสตรีนิยมแบบสุดโต่งที่ทำให้ชีวิตส่วนตัวกลายเป็นเรื่องทางการเมือง สิ่งที่พวกเธอทำคือ การเปิดโปงสิ่งที่เป็นการเมืองอยู่แล้วตั้งแต่ต้นต่างหาก นั้นหรือที่กำลังจะบอกว่าแนวคิดสตรีนิยมแบบสุดโต่งเป็นแนวคิดที่ไร้ประโยชน์ในปัจจุบัน
คลิกไปอ่านต่อบทความเรื่องเดียวกัน
ตอนที่ ๒
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ หรือถัดจากนี้สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88