โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๘๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (October, 19, 10, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ดังได้กล่าวในข้างต้นส่วนหนึ่งแล้วว่า การผลักดันให้ ครม. นำเอาร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาได้ ก็คือการยึดอำนาจของทหารในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบที่คนโดยทั่วไปไม่คุ้นเคย เพราะเรามักคุ้นอยู่กับรูปลักษณ์ของการนำรถถัง และกำลังพลทหารราบออกมาวิ่งแสดงกำลังให้เห็นอย่างน่าเกรงขามบนถนน เพื่อประกาศศักดาว่าทหารได้ยึดอำนาจแล้ว แต่การต่อสู้ทางการเมืองในบางครั้ง ไม่มีความจำเป็นต้องกระทำเช่นว่านั้น กองทัพสามารถยึดอำนาจได้โดยการกดดันให้รัฐบาลยอมรับการออกกฎหมาย เพื่อค้ำจุนสถานะและผลประโยชน์ของกองทัพ
19-10-2550

Thai Politics
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.


นักวิชาการ กับ การเมืองเรื่องอำนาจนำของกองทัพ
ไทยถอยหลัง: ๑ ปีรัฐประหาร และกฎหมายความมั่นคงใหม่
ธีรยุทธ บุญมี, สุรชาติ บำรุงสุข : เขียน
ธีรยุทธ บุญมี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - สุรชาติ บำรุงสุข, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทวิเคราะห์และความคิดเห็นทางวิชาการต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน
รวบรวมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งจากสิ่งพิมพ์ และข้อมูลออนไลน์
- เรื่องแรกเกี่ยวกับการประเมินผลงานรัฐบาล ๑ ปีหลังรัฐประหาร ที่แต่งตั้งโดย คปค. (คมช.)
- ส่วนเรื่องที่สองคือ การเสนอร่างกฎหมายความมั่นคงในช่วงปลายรัฐบาลชุดดังกล่าว
ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นความพยายามสร้างรัฐทหาร หรือรัฐความมั่นคงขึ้น
เป็นการปฏิวัติเงียบอย่างหนึ่ง โดยกองทัพพยายามเข้ามามีบทบาทนำทางการเมือง

สำหรับการนำเสนอบนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน ได้ลำดับหัวข้อดังต่อไปนี้
(๑) ธีรยุทธ บุญมี: ประเมินผลงาน ๑ ปีหลังรัฐประหาร ๑๙ ก.ย. ๔๙
- ประเมินผลงาน ๑ ปีหลังรัฐประหาร ๑๙ ก.ย. ๔๙ และวิเคราะห์อนาคตการเมืองไทย
- หวั่น คมช. เล่น 'ลิเกการเมือง' ไม่ยอมจบ - พล.อ.สนธิเปรยกำลังเขียนบทลิเกตอนต่อไป
(๒) สุรชาติ บำรุงสุข: กฎหมายความมั่นคงใหม่ : กำเนิดรัฐทหารใหม่!
- กฎหมายความมั่นคงใหม่ : กำเนิดรัฐทหารใหม่!
- รัฐประหารเงียบ !
(๓) จดหมายคัดค้าน ร่าง พรบ.รักษาความมั่นคงภายใน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๘๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

นักวิชาการ กับ การเมืองเรื่องอำนาจนำของกองทัพ
ไทยถอยหลัง: ๑ ปีรัฐประหาร และกฎหมายความมั่นคงใหม่
ธีรยุทธ บุญมี, สุรชาติ บำรุงสุข : เขียน
ธีรยุทธ บุญมี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - สุรชาติ บำรุงสุขฐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(๑)

(สำนวนที่ ๑)
๑. ธีรยุทธ บุญมี: ประเมินผลงาน ๑ ปีหลังรัฐประหาร ๑๙ ก.ย. ๔๙
และวิเคราะห์อนาคตการเมืองไทย

(ประชาไท : นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ถือเอาวันครบ 1 ปีของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจดังนี้. ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า)

1. ประเมินผลงาน 1 ปีหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 49
รัฐบาลฤาษีสอบตกโดยสิ้นเชิง เพราะทำตัวเป็นรักษาการให้งานพอเดินไปได้ ขาดวิสัยทัศน์ ขาดการนำ ขาดความมุ่งมั่นที่จะขจัดการคอรัปชั่นในแผ่นดินไทย ขาดการตระหนักถึงภารกิจเชิงประวัติศาสตร์ที่ต้องนำพาสังคมไทยให้พ้นวิกฤติ รวมทั้งอธิบายกับคนไทยและชาวโลกถึงความผิดของระบอบอำนาจเก่า คมช. คะแนนหวุดหวิด ครูปัดให้ผ่าน เพราะกลัว คมช. จะขอสอบซ้ำ อย่างไรก็ตาม พลเอกสนธิได้คะแนนความตั้งใจและความพยายาม

คตส. ได้คะแนนดี เพราะสามารถค้นหาหลักฐาน เหตุผล ดำเนินคดีระบอบอำนาจเก่าได้หลายคดี แต่จะเลื่อนเป็นดีมาก ถ้าจะขยายผลไปสู่นักการเมืองคนอื่นๆ จำนวนมากที่คอร์รัปชั่น

โดยรวม 1 ปีของรัฐประหาร 19 ก.ย. สะท้อนว่า การรัฐประหารมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงได้จำกัด ในอนาคตไม่ควรจะมีการรัฐประหารอีกแล้ว ผลงานของรัฐบาลสุรยุทธ์ก็สะท้อนว่าอดีตข้าราชการ เทคโนแครต เป็นชนชั้นที่ไม่สามารถนำพาประเทศได้อีกต่อไป เพราะวัฒนธรรมข้าราชการไม่ชื่นชมผู้มีความสามารถ ไม่เน้นประสิทธิภาพ วิสัยทัศน์ ความสำเร็จ และความรวดเร็วทันการณ์ แต่ชนชั้นนี้สามารถใช้ประสบการณ์ตรวจสอบคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจมิชอบได้ดี

2. ยี่เกการเมือง: ถ้าสนธิเล่นเข้าการเมือง
วิกฤติทักษิณเป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศไทย จนต้องใช้วิถีทางรัฐประหารมาแก้วิกฤติ แต่ในช่วงที่ผ่านมา คมช. ทำเสมือนเล่นลิเกการเมือง จะแสดงไปเรื่อยๆ ไม่ยอมจบเรื่อง พลเอกสุรยุทธ์เป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์อาวุโส บรรเลงเพลงออกแขกแต่เชื่องช้าคล้ายเพลง 3 ชั้น ส่วนประธาน คมช. รับบทบังธิมาออกแขก พูดจาทีแรกคมคาย คนดูชอบใจ เลยออกแขกต่อไปไม่หยุด มิหนำซ้ำยังอยากจะไปเปลี่ยนเครื่องเล่นเป็นตัวเอกต่อ ทั้งที่คนดูเบื่อหน่ายกันหมดแล้ว

สังคมไทยแต่ก่อนมีคติ 4 อย่าห้าม คือ อย่าห้ามฝนจะตก, แดดจะออก, หญิงจะคลอดลูก, พระจะสึก. ปัจจุบันต้องเพิ่มอีก 2 อย่าห้ามคือ ฤาษีจะกลับอาศรม และทหารจะเล่นการเมือง ปัจจุบันสังคมได้แสดงออกชัดเจนว่าต้องการให้พรรคการเมืองแสดงบทบาทแก้ปัญหาประเทศชาติ ความสำคัญของทหารหมดไป พลเอกสนธิจึงไม่ควรเล่นการเมือง

3. คำแนะนำต่อ ผบ.ทบ. คนใหม่
ภาระหน้าที่ของกองทัพในช่วงเปลี่ยนผ่านที่คนยังเกรงใจมี 2 อย่าง คือ

(ก) การให้คำแนะนำตักเตือน (advise & warning) ต่อภาคการเมืองว่าไม่ควรทำสิ่งที่สุดโต่ง จนทำให้สังคมขัดแย้งแตกขั้ว

(ข) ผบ.ทบ., ผบ.ตร. มีลักษณะเป็นคนรุ่นใหม่ ควรปรึกษาประสานงานใกล้ชิด เพื่อยกเครื่องการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้
ความมั่นคงของชาติ และการป้องกันการก่อการร้ายในประเทศ

4. การเลือกตั้ง 2550 ฝังระบอบทักษิณ

1. การเลือกตั้งเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า ระบอบทักษิณจะสลายตัวหรือไม่ สังคมวิทยาชี้ให้เห็นว่า สังคมทำงานทุกอย่างเพื่อให้ตัวมันเองอยู่รอดต่อไป โดยไม่ขึ้นกับเจตนารมณ์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทักษิณจึงจะกลับมามีอำนาจอีกไม่ได้ เพราะจะสร้างปัญหาความแตกแยกขัดแย้งต่อไปไม่รู้จบ ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีเป้าหมายร่วมกันของสังคม เพื่อลดทอนจำนวน ส.ส. ของพรรคทักษิณลง ซึ่งจะนำไปสู่การสลายตัวของอำนาจเก่าในที่สุด. แต่ถ้ากล่าวในเชิงรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งครั้งนี้มีความชอบธรรมต่ำ เพราะประชามติรัฐธรรมนูญมีเสียงคัดค้านมากถึง 40% คนส่วนหนึ่งจะคลางแคลงความเป็นกลางของรัฐ ความยุติธรรมขององค์กรอิสระต่างๆ

2. การเลือกตั้งแบบ 4 สุดๆ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่สุดขั้วในความไม่ดีงาม เป็นการเลือกตั้ง 4 สุดๆ หรือ 4 สุดขั้ว คือ

- ซื้อเสียงกันแหลกรานมากที่สุด
- สกปรกมากที่สุด ในการใช้อำนาจรัฐ กลุ่มพวกพ้องตัวเองเอาเปรียบคู่ต่อสู้
- สามานย์มากที่สุด คือจะมีการใช้วิชามาร นโยบายหลอกลวง ใบปลิว ข่าวลือ ทำลาย ทำร้ายคู่แข่ง ฟ้องร้องโกงเลือกตั้งมากและกว้างขวางที่สุด
- เสียบมากที่สุด พรรคขั้วที่ 3 ที่ 4 ก็เหมือนปลาร้าเก่าในไหใหม่ ในการจัดรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จะมีความพยายามวิ่งเต้นเสียบเพื่อร่วมเป็นรัฐบาลอย่างน่าเกลียดที่สุด รวมทั้งซื้อ ส.ส. หรือพรรคการเมืองด้วย

3. พรรคพลังประชาชน (พปช.) ไม่มีโอกาสตั้งรัฐบาล เนื่องจากเหตุ 2 ประการ คือ การที่ภาคธุรกิจสังคมการเมืองร่วมกันโดดเดี่ยวกลุ่มอำนาจเก่า และโดยแนวโน้มจำนวน ส.ส. ของ พปช. จะได้ไม่พอเพียงจะจัดตั้งรัฐบาล
ตัวเลข ส.ส. ประเมินเบื้องต้นจากข้อมูลปัจจุบัน ได้ดังนี้

(ก) ถ้าประเมินจากคะแนนเสียงการลงประชามติ ซึ่งอยู่ในสัดส่วน 40: 60 พปช. จะได้ส.ส. ราว 190 คน และฝ่ายคัดค้านทักษิณได้ราว 290 คน

(ข) ถ้าประเมินละเอียดขึ้นจากอดีต ส.ส. ที่แต่ละพรรคมีอยู่ ผสานด้วยการที่ภาครัฐ สังคม การเมือง และธุรกิจ จะโดดเดี่ยวกลุ่มทักษิณ ปัจจัยระบบเลือกตั้งแบบพวง จำนวน ส.ส. ที่ลงสมัครในนาม พปช. จะมากสุดอยู่ราว 200 คน (เท่ากับตัวเลข ส.ส. ของ ทรท. ดั้งเดิมในปี 2544) ในจำนวนนี้ต้องหัก ส.ส. กทม. ซึ่งมีโอกาสเป็นของ ปชป. ออกอีกประมาณ 30 ที่นั่ง และถ้าคำนวณว่าปัจจัยด้านลบถ้ามีมากจะทำให้ พปช. สูญเสียที่นั่งในภาคกลาง อีสาน เหนือ ไปอีกเฉลี่ยเขตละ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 5 ถ้าปัจจัยลบมีไม่มาก. ทรท. จะเสียส.ส. ไปอีกประมาณ 35-60 เหลือรวมประมาณ 110-135 คน ซึ่งถ้าเพิ่มปัจจัยด้านบวกให้บ้าง ก็อาจประมาณให้ พปช. ได้จำนวนส.ส. 150 คน ฝ่ายค้านทักษิณได้รวมกันราว 275 คน

5. การเมืองทางแยก พาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าหรือหายนะ: 4 คุณสมบัติเด่นของนายกฯ คนใหม่

1. รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมอย่างน้อย 3 พรรคขึ้นไป ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรฝ่ายค้านเดิม มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งมากที่สุด

2. รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะโชคดีเพราะภาคธุรกิจ สังคม และประชาชนทั่วไปสนับสนุนให้มีโอกาสทำงานแก้ปัญหาของประเทศ

3. การเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งหน้ามีความสำคัญยิ่ง 3 ประการคือ (1) เป็นโอกาสที่จะสลายวิกฤติทักษิณลงไปอย่างสิ้นเชิง (2) เป็นโอกาสที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอุตสาหกรรมผลิตสินค้าราคาถูกของเราหมดอนาคต เพราะการแข่งขันของจีน เวียดนาม ขณะเดียวกันเราก็มีโอกาสเกาะกระแสที่โลกกำลังหนุนให้จีน อินเดีย และเอเชียเติบโต และ (3) โอกาสที่พรรคซีกรัฐบาล (ประชาธิปัตย์, ชาติไทย, เพื่อแผ่นดิน) จะบูรณาการสร้างโครงสร้างพันธมิตรคล้าย UMNO (ของมาเลเซีย) หรือ LDP (ของญี่ปุ่น) เพื่อให้ก้าวพ้นจากข้อจำกัดของความเป็นรัฐบาลผสมของพรรคย่อยๆ

4. ผู้นำรัฐบาลคนใหม่ควรประกอบด้วย 4 คุณสมบัติเด่นคือ (1) ต้องมีวิสัยทัศน์เชิงเศรษฐกิจ (2) ต้องทำงานได้รวดเร็ว (3) ต้องผูกใจทั้งชาวบ้านและภาคธุรกิจได้ และ (4) ต้องมีชั้นเชิงยืดหยุ่นทางการเมืองพอที่จะรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งอาจมีเสถียรภาพถึงครึ่งเทอมหรือมากกกว่าได้ เพราะผู้นำหลักๆ ที่คาดว่าจะตั้งรัฐบาล เช่น ประชาธิปัตย์, ชาติไทย, พลังแผ่นดิน, กลุ่มสุวัจน์-รวมใจไทย มีประสบการณ์ทางการเมืองสูง และเข้าใจความรู้สึกของประชาชนและภาคเศรษฐกิจ ถ้าเราโชคดีการเมืองจะก้าวพ้นจากวัฏจักรอุบาทว์ที่มีมาโดยตลอด

5. แต่ถ้าหากนายกฯ คนใหม่ขาดคุณสมบัติดังกล่าว การเมืองไทยจะกลับไปเหมือนเดิมอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งถึงสองปี กล่าวคือการแก่งแย่งผลประโยชน์ คอรัปชั่น ถอนทุน เพิ่มทุน อย่างขนานใหญ่กว่าทุกครั้ง เพราะทุกพรรคตระหนักว่า ในการเลือกตั้งในครั้งถัดไปจะต้องต่อสู้กับพรรคอำนาจเก่าซึ่งมีท่อน้ำเลี้ยงจำนวนมหาศาล

6. ในอีกมุมหนึ่งของการเมืองหลังการเลือกตั้ง 50 (พ.ศ.2550), อาจเรียกเป็นการเมืองของการนิรโทษกรรม เพราะการลงโทษยุบพรรค(ไทยรักไทย)และห้ามไม่ให้ 111 คนดำรงตำแหน่งการเมือง เป็นการลงโทษโดยภาพรวม มีผู้ไม่ได้ทำผิดโดยตรงรวมอยู่ด้วย การนิรโทษกรรมจึงอาจเป็นไปได้ แต่ต้องไม่รวมถึงผู้ที่ต้องคดีคอร์รัปชั่นโกงกินบ้านเมือง การนิรโทษกรรมนี้สำคัญ เป็นปัจจัยที่ทำจะให้รัฐบาลหน้าล้มได้

6. ภารกิจการสร้างภาวะปกติ และ road map สร้างความปรองดองในชาติ

1. สังคมไทยควรเข้าสู่โหมดปกติ (Normalization หรือ Normal Mode) ได้แล้ว ทั้งนี้เพราะคนไทยเผชิญหน้ากับวิกฤติทักษิณ ต้องอยู่ในอารมณ์เคร่งเครียดวิตกกังวลว่าจะเกิดความรุนแรง อนาคตไม่มั่นคงมาตลอดสองปีเต็ม. ถึงเวลาที่สังคมไทยจะต้องก้าวพ้นจากภาวะที่เป็นทุกข์ดังกล่าว โดยต้องมั่นใจว่าทักษิณจะไม่สามารถกลับคืนมาสู่อำนาจได้อีกแล้ว เพราะการเมืองไทยก้าวเข้าสู่ภาวะปกติ. ทักษิณใช้มาตรการ / ยุทธศาสตร์สุดขั้วซึ่งแพ้มาตลอด ตัวเองถูกจำกัดบทบาทโดยคดีความต่างๆ ประเทศไทยใช้ระบบพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ละตินอเมริกา ซึ่งเป็นระบบประธานาธิบดี ผู้นำประชานิยมจึงได้แรงศรัทธาเหนียวแน่น. ในอีกทางหนึ่งขบวนการประชานิยมมักแตกเป็นส่วน ๆ และสลายตัวในที่สุด

2. เพื่อให้วิกฤติทักษิณคลี่คลายตัว สังคมไทยต้องโอนอ่อนผ่อนตามทหารและนักการเมืองมาตลอด เราไม่ควรปล่อยให้สภาพซึ่งเปรียบเสมือนการเขียนเช็คเปล่า ให้ทหารหรือนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามทักษิณเติมเงินเอาได้ตามใจชอบอีกต่อไป เพราะระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุลย์ของบ้านเมืองจะเสียหาย

3. สังคมไทยต้องเริ่มเรียกร้องให้ทหารกลับสู่ที่ตั้งและมีบทบาทตามที่ควรจะเป็น

4. สังคมไทยต้องเรียกร้องพันธมิตรฝ่ายค้านทักษิณให้กลั่นกรองตัวบุคคลที่จะเป็น ส.ส. และผลิตนโยบายที่มีคุณภาพพอที่จะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้

5. เศรษฐกิจไทยเจอปัญหาร้ายแรง อุตสาหกรรมบางประเภทขาดความสามารถในการแข่งขัน คนตกงานและว่างงานเพิ่มขึ้น สังคมไทยควรหันมาขบคิดแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว. ในอีกทาง เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่ดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจเอเซีย จีน อินเดีย เป็นช่วงจังหวะที่ต้องฉกฉวยเอาไว้ มากกว่าจะมาเสียเวลากับอดีตผู้นำที่โกงกินบ้านเมือง เห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงประเทศชาติ

7. การเมืองบูรณาการแบบสมดุล ทฤษฎี 4 พลังประชาธิปไตยและการแก้วิกฤติเชิงถาวร

1. การเมืองไทยมีปัญหาซื้อเสียง การคอร์รัปชั่น การแตกแยก แก่งแย่งผลประโยชน์ จนทำให้คนส่วนใหญ่หมดหวังกับการปฏิรูปการเมือง. รัฐธรรมนูญ 2540, 2550 มุ่งแก้มิติเดียว คือให้พรรคการเมืองเข้มแข็งหรืออ่อนแอ ไม่มองว่าพรรคการเมืองไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ จึงแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ ตามภาค ไม่มองความสมดุลภายในโครงสร้างประชาธิปไตยไทย

2. โครงสร้างประชาธิปไตยไทยมีอยู่ 4 พลัง คือ (1) ชนชั้นรากหญ้า (2) กลุ่มทุนใหญ่ที่เชื่อมโยงกระแสโลกาภิวัตน์ (3) กลุ่มข้าราชการ เทคโนแครต (4) ภาคสังคม วิชาการ และสื่อ. พลังทั้ง 4 นี้ขาดบูรณาการและความสมดุล ทุนใหญ่ในกระแสโลกาภิวัตน์มีลักษณะทั่วประเทศ (หรือทั่วโลก) จึงสามารถครอบงำรากหญ้า ภาคชนบท ที่มีลักษณะเป็นท้องถิ่นได้ง่าย มันจึงมีเสียงความเป็นตัวแทนมากเกินไป สามารถเข้ามาแทนที่ข้าราชการที่มีลักษณะทั่วประเทศและเคยมีอำนาจมาก่อน ส่วนรากหญ้าถูกครอบงำ จึงมีลักษณะมีเสียงน้อยไป (under representation) ส่วนภาคสังคมคือ นักวิชาการและสื่อนั้น แม้จะมีฐานะทั่วประเทศ แต่ก็มีฐานเสียงเป็นส่วนๆ หรือเป็นชนชั้น ไม่ได้มีลักษณะกว้างขวางแท้จริง ความไม่สมดุลทำให้เกิดวิกฤติทักษิณ คือ เนื่องจากกลุ่มทุนใหญ่ขยายตัวไปครอบงำส่วนอื่น และคอร์รัปชั่นมากเกินไป จึงถูกคัดค้านจากปัญญาชน สื่อ ที่ต้องการให้ประชาธิปไตยมีมิติด้านศีลธรรมคุณธรรมด้วย และในที่สุดก็ถูกรัฐประหารจากพลังสถาบันทหารที่กลัวทุนจะขัดแย้งกับสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มากเกินไป

3. การแก้ด้วยการบูรณาการอย่างสมดุล การแก้ปัญหาการเมืองไทยต้องแก้ 2 มิติ คือ (1) ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งระดับประเทศ ด้วยการบูรณาการให้พ้นขอบเขตกลุ่มย่อย และ (2) แก้ด้วยการให้พลังต่างๆ เกิดความสมดุลกัน ไม่มากเกินไปจนครอบงำคนอื่น หรือน้อยเกินไปจนถูกครอบงำ ดังนี้คือ

- ชนชั้นรากหญ้า ซึ่งถูกครอบงำให้เป็นตัวของตัวเอง แก้ปัญหาความยากจนเพื่อให้พวกเขาพ้นบ่วงการเป็นทาสบริโภคนิยม และระบบอุปถัมภ์

- ส่วนข้าราชการ มักแสดงบทบาทผิดๆ (misrepresentation) โดยรับใช้นักการเมือง หรือไม่ก็อยากครอบงำนักการเมืองในรูปปเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ ก็ต้องแก้โดยให้มีบทบาทที่ถูกต้อง คือ เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจตรวจสอบ ถ่วงดุลย์อำนาจการเมือง

- กลุ่มทุนใหญ่ พยายามเลี่ยงการเมือง มีลักษณะเป็นตัวแทนการเมืองน้อย (under representation) ยกเว้นกลุ่มทุนทักษิณ ซึ่งอาศัยกระแสโลกาภิวัตน์เข้าไปครอบงำส่วนต่างๆ มากเกินไป. ทางแก้ กลุ่มทุนต้องเข้ามามีบทบาททางการเมือง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ไม่ใช่การเมืองแบบผูกขาด และเพื่อส่งเสริมให้นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจ เข้ามาเล่นการเมืองมากขึ้น

- กลุ่มนักวิชาการ สื่อ ต้องทำงานอย่างหนักด้วยความเปิดกว้างต่อไป

การแก้ด้วยการสร้างบูรณาการ คือ การแก้ลักษณะกลุ่มก๊วนย่อยของรากหญ้าและนักการเมืองตามพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ให้การเมืองก้าวพ้นจากระดับพื้นที่ไปสู่ระดับชาติ สามารถทำได้ 2 ทาง คือ (1) มีนโยบายที่ดึงดูดประชาชนได้ทั่วประเทศ เช่นที่พรรคไทยรักไทยใช้นโยบายประชานิยมสร้างความนิยมในพรรค จนก้าวพ้นขอบเขตของการเป็นก๊กเป็นกลุ่ม (2) ในอีกทางหนึ่ง เป็นแนวที่กลุ่มพันธมิตรค้านทักษิณกำลังเลือกเดินอยู่ คือการสร้างองค์กรที่มีฐานเสียงทั่วทุกภาค เพื่อบูรณาการให้ก้าวพ้นข้อจำกัดของแต่ละพรรคที่มีฐานในภาคเดียวหรือ 2 ภาค ปัจจุบันโอกาสเกิดองค์กรถาวรยังมีน้อย แต่อนาคตพันธมิตรฝ่ายค้านอาจเห็นความจำเป็นของการพัฒนาทั้งรูปองค์กรและนโยบาย มาบูรณาการให้พ้นจากข้อจำกัดระดับภูมิภาคได้

(สำนวนที่ ๒)
๒. ธีรยุทธหวั่น คมช. เล่น 'ลิเกการเมือง' ไม่ยอมจบ - พล.อ.สนธิเปรยกำลังเขียนบทลิเกตอนต่อไป
(เรียบเรียงจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, แนวหน้า, และไอเอ็นเอ็น)

ธีรยุทธ บุญมีสวมเสื้อกั๊กตัวเก่งโผล่ประเมินรัฐบาลสุรยุทธ์สอบตก แต่ปัดคะแนนให้ คมช.ผ่าน เพราะหวั่น 'ขอสอบซ้ำ'. ตั้งฉายา คมช.'เล่นลิเกการเมือง' พล.อ.สนธิยืดอกรับชอบดูลิเกมาตั้งแต่เด็ก เปรย 'เราเป็นลิเก เหมือนกับที่เราเล่นละคร ชีวิตคือละคร' ชี้คนไทยชอบดูละครน้ำเน่า แย้มกำลังเขียนบทลิเกตอนใหม่ พูดเป็นปริศนาอาจรับบทเอง หากไม่มีพระเอกมาเล่น!?

ให้สุรยุทธ์ สอบตก แต่ปัดให้ คมช. ผ่านเพราะหวั่น 'ขอสอบซ้ำ'
วันนี้ (17 ก.ย.) นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดแถลง "ประเมินผลงาน 1 ปีรัฐบาล และวิเคราะห์อนาคตการเมืองไทย" ว่า รัฐบาลฤๅษีภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถือว่าสอบตกโดยสิ้นเชิง เพราะทำตัวเป็นรักษาการ ให้งานพอเดินไปได้ แต่ขาดวิสัยทัศน์ ขาดความมุ่งมั่นที่จะขจัดการคอร์รัปชัน. โดยรวมผลงานรัฐบาลสะท้อนว่าอดีตข้าราชการ และ
เทคโนแครตเป็นชนชั้นที่ไม่สามารถนำพาประเทศได้อีกต่อไป

"ส่วนการทำงานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ผ่านหวุดหวิด ครูปัดให้ผ่าน เพราะกลัว คมช.จะขอสอบซ้ำ. แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.ได้คะแนนความตั้งใจและความพยายาม แต่ไม่ควรลงเล่นการเมือง เพราะจะเสมือนเล่นลิเกการเมืองที่แสดงไปเรื่อยๆ ไม่ยอมจบ และว่าปัจจุบันสังคมแสดงออกชัดเจนว่าต้องการให้พรรคการเมืองแก้ไขปัญหาชาติ ความสำคัญของทหารจึงหมดไป"

ชม คตส. - ตั้งฉายา คมช. เล่นลิเกการเมืองแบบไม่ยอมจบ มี พล.อ.สนธิมาออกแขก
นายธีรยุทธ ยังได้ตั้งฉายาให้กับ คมช. ในการทำงานช่วงที่ผ่านมาว่า คมช. ทำเสมือนเล่นลิเกการเมือง ที่จะแสดงไปเรื่อยๆ ไม่ยอมจบเรื่อง โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์นายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่หัวหน้าวงปี่พาทย์อาวุโส ขณะที่ ประธาน คมช. รับบทเป็นบังธิ มาออกแขก. พร้อมกันนี้ ยังตั้งฉายาให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นคนดังคล้ายถั่วแระ ณ แมนซิตี้ ที่ทำหน้าที่เอาธงชาติไทย ไปปักในเวทีฟุตบอลระดับโลก

ขณะเดียวกัน นายธีรยุทธ ยังเห็นว่า ก่อนหน้านี้สังคมไทยมีคติ 4 ข้อที่อย่าห้าม คือ อย่าห้ามฝนจะตก, แดดจะออก, หญิงจะคลอดลูก, และพระจะสึก. ซึ่งปัจจุบันต้องเพิ่มอีก 2 ประการคือ ฤาษีจะกลับอาศรม, และทหารจะเล่นการเมือง. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันสังคมไทยแสดงออกชัดเจนว่า ต้องการให้พรรคการเมืองแสดงบทบาทในการแก้ปัญหาประเทศชาติ และให้ความสำคัญของทหารหมดไป ดังนั้น พล.อ.สนธิ จึงไม่ควรที่จะลงเล่นการเมือง. สำหรับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นายธีรยุทธ กล่าวว่า ได้คะแนนดี แต่ควรขยายผลเพิ่มไปสู่นักการเมืองอื่นที่คอร์รัปชัน

ชี้ลักษณะ 4 สุดๆ ในการเลือกตั้ง แต่ พปช.(พรรคพลังประชาชน)จะไม่ได้ตั้งรัฐบาล
นอกจากนี้ นายธีรยุทธยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า "ระบอบทักษิณ" จะสลายตัวไปหรือไม่ และการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีลักษณะ "4 สุดๆ" เกิดขึ้นคือ ซื้อเสียงมากที่สุด, สกปรกมากที่สุด, ใช้วิชามารมากที่สุด, และเสียบมากที่สุด. แต่เชื่อว่าพรรคพลังประชาชนจะไม่มีโอกาสตั้งรัฐบาล จากเหตุผล 2 ประการ คือ ภาคธุรกิจ สังคม การเมือง จะร่วมกันโดดเดี่ยวกลุ่มอำนาจเก่า และแนวโน้มจำนวน ส.ส. ของพรรคพลังประชาชนจะไม่เพียงพอจัดตั้งรัฐบาล

นายธีรยุทธ เชื่อว่า รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมอย่างน้อย 3 พรรค โดยพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรฝ่ายค้านเดิม น่าจะมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด โดยผู้นำรัฐบาลใหม่ควรมีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ มีวิสัยทัศน์เชิงเศรษฐกิจ, ทำงานเร็ว, ผูกใจได้ทั้งชาวบ้านและนักธุรกิจ, และมีชั้นเชิงทางการเมืองพอที่จะรักษาเสถียรภาพรัฐบาล. ซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะมีเสถียรภาพอยู่บริหารประเทศได้ถึงครึ่งเทอม หรือมากกว่านั้นได้. ถ้าโชคดีการเมืองไทยจะหลุดพ้นวงจรอุบาทว์ แต่ถ้านายกฯ คนใหม่ขาดคุณสมบัติเหล่านี้ การเมืองไทยจะกลับไปเหมือนเดิมอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 ปี การแก่งแย่งผลประโยชน์ คอรัปชั่น ถอนทุน เพิ่มทุนอย่างขนานใหญ่กว่าทุกครั้งจะเกิดขึ้น เพราะทุกพรรคจะตระหนักว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าที่มีท่อน้ำเลี้ยงมหาศาล

นายธีรยุทธกล่าวว่า การนิรโทษกรรมให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน อาจเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่รวมถึงผู้ต้องคดีคอรัปชั่นโกงกินบ้านเมือง ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าหรือหกล้มได้

เชื่อการเมืองหลังเลือกตั้งสลาย 'วิกฤตทักษิณ'. อนุพงษ์เป็น ผบ.ทบ.ไม่ส่งผลกระทบการเมือง
อย่างไรก็ตาม นายธีรยุทธยังเชื่อว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งจะโชคดี เพราะภาคธุรกิจ สังคม และประชาชนจะช่วยกันสนับสนุนการแก้ปัญหาของประเทศ และการเมืองหลังการเลือกตั้งจะมีความสำคัญ 3 ประการ คือ

- การสลายวิกฤต "ทักษิณ" ลงไปอย่างสิ้นเชิง
- เปิดโอกาสปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และ
- พรรคซีกรัฐบาลจะบูรณาการโครงสร้างพันธมิตร เพื่อให้ก้าวพ้นข้อจำกัดของการเป็นรัฐบาลผสมพรรคย่อย

นายธีรยุทธยังกล่าวถึงผู้บัญชาการทหารบก คนใหม่ กับผลกระทบต่อการเมืองว่า หากผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา(ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก) จะไม่มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะทำให้เกิดความแปรปรวนทางการเมือง

นอกจากนี้ นายธีรยุทธ ยังกล่าวว่า สังคมไทยควรเข้าสู่ภาวะปกติได้แล้ว เนื่องจากคนไทยเผชิญกับวิกฤต "ทักษิณ" และอยู่ในอารมณ์เคร่งเครียดมาตลอด 2 ปีเต็ม ต้องมั่นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่สามารถกลับคืนมาสู่อำนาจได้อีกแล้ว โดยจะถูกจำกัดบทบาทด้วยคดีความต่างๆ รวมถึงระบอบการปกครองของไทยที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ ไม่เหมือนประเทศละตินอเมริกา ที่ปกครองโดยระบอบประธานาธิบดี ทำให้ผู้นำประชานิยมมักจะได้แรงศรัทธาเหนียวแน่นจากประชาชน

และเพื่อให้วิกฤติทักษิณคลี่คลาย สังคมไทยต้องโอนอ่อนผ่อนตามทหาร นักการเมืองมาตลอด ซึ่งเราไม่ควรปล่อยให้สภาพที่เสมือนการเขียนเช็คเปล่า ให้กับทหารและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามทักษิณเติมเงินได้ตามใจชอบต่อไปได้อีก. "ควรเรียกร้องให้ทหารกลับเข้าสู่ที่ตั้ง และมีบทบาทที่ควรจะเป็น รวมทั้งเรียกร้องให้พันธมิตรฝ่ายค้านได้กลั่นกรองตัวบุคคลที่จะมาเป็น ส.ส. เพื่อผลิตนโยบายที่มีคุณภาพแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ เศรษฐกิจไทยที่เจอปัญหาร้ายแรง มากกว่าจะมาเสียเวลากับอดีตผู้นำที่โกงบ้านกินเมือง เห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงประเทศชาติ"

เสนอทฤษฎี 4 พลังประชาธิปไตยแก้วิกฤติถาวร
นายธีรยุทธยังได้เสนอ road map สร้างความปรองดองในชาติ โดยขั้นตอนการคลี่คลายเพื่อให้เกิดความปรองดองในชาติ สามารถทำผ่านกลไกหลักของสังคม คือ การใช้สถาบันที่ยุติธรรมและเป็นกลางเป็นผู้คลี่คลาย รวมถึงการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ครอบครองพื้นที่และผลประโยชน์ที่เหมาะสมของตน โดยอาศัยการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ดังนั้น รัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, จะต้องดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ขณะที่สื่อมวลชน นักวิชาการควรร่วมกันเผยแพร่ทรรศนะที่เปิดกว้าง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจนสุดขั้ว

นายธีรยุทธ ยังนำเสนอทฤษฎี 4 พลังประชาธิปไตยแก้วิกฤติเชิงถาวร โดยพลังที่มีอยู่ในโครงสร้างประชาธิปไตย 4 พลัง คือ ชนชั้นรากหญ้า, กลุ่มทุนเชื่อมโยงกระแสโลกาภิวัตน์, กลุ่มข้าราชการเทคโนแครต, และภาคสังคมวิชาการ รวมถึงสื่อ, ที่จะต้องบูรณาการสร้างความสมดุลในกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเชื่อว่าปัญหาการเมืองสามารถแก้ไขได้ด้วยการบูรณาการอย่างสมดุล การแก้ปัญหาการเมืองไทยต้องแก้ 2 มิติ คือ ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และสร้างความสมดุลของพลังต่างๆ ไม่ให้เกิดการครอบงำคนอื่นมากหรือน้อยเกินไป

ทำนายเลือกตั้งครั้งหน้ากลุ่มทุนสองฝ่ายสู้กัน แต่ประชาธิปัตย์จะได้ตั้งรัฐบาล
นายธีรยุทธยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะการต่อสู้ของกลุ่มอำนาจเก่าที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะมีการสู้กันอย่างสุดฤทธิ์ ว่าแหล่งทุนของนักการเมืองในประเทศไทยเป็นทุนจีน ที่ไม่มีบทบาททางการเมืองมาก เช่น กลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์ หรือธนาคารยักษ์ใหญ่บางแห่ง. นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา เขาก็กลายเป็นนายทุนที่คุมพรรคการเมืองเต็มที่ จนทำให้พรรคที่เขาคุมเป็นพรรคใหญ่ และผูกขาดอำนาจ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่การเมืองไทยจะเกิดสมดุล โดยมีกลุ่มทุนเพียงกลุ่มเดียว อย่างไรก็ตาม ครั้งหน้าจะเป็นการต่อสู้เต็มที่ทั้งสองฝ่าย และคะแนนจะออกมาแบบ 50 ต่อ 50

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายธีรยุทธตอบว่า นายอภิสิทธิ์มีศักยภาพพอที่จะเป็นนายกฯ ได้ และเสียงวิจารณ์ที่มีต่อนายอภิสิทธิ์นั้นไม่ค่อยยุติธรรมกับเขา โดยเฉพาะเรื่องที่ว่ายังไม่มีบารมี เนื่องจากบารมีสามารถสร้างกันได้ โดยจะเริ่มขึ้นจากการทำงาน เช่น กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั้น แต่ก่อนก็เริ่มจากการเป็นนักการเมืองโนเนม ไม่มีชื่อเสียง เมื่อได้ทำงานไม่กี่ปี บารมีก็เกิด

"ข้อวิจารณ์ว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นละอ่อนทางการเมืองจึงไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม หากคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ จริง ต้องปรับรูปแบบการทำงาน โดยต้องเป็น "มาร์คฉลุย" ไม่ใช่ติดภาพ "มาร์คเชื่องช้า" จากคุณชวน เพราะถ้าเป็นฟอร์มนั้น คุณอภิสิทธิ์จะถูกตีหนัก โดยเฉลี่ยแล้วคุณอภิสิทธิ์เป็นคนใช้ได้". นายธีรยุทธกล่าวว่า นอกจากนายอภิสิทธิ์แล้ว ผู้ที่น่าสนใจ อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นต้น

'หมัก พลังประชาชน' หมดสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี คาดสังคมจะครหา
นักวิชาการผู้นี้เชื่อว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะแรงกดดันทางสังคมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับนายสมัครจะมีมาก ยิ่งนายสมัครและพรรคพลังประชาชนออกมาสื่อสารกับสังคมมากเท่าไร ก็จะเป็นตัวเร้าให้ประชาชนตัดสินใจได้เร็วขึ้น เมื่อครั้งเลือกตั้งเมื่อพรรคประชาธิปัตย์แข่งกับพรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พรรคประชาธิปัตย์ก็เข้าวินมาเต็ม. พรรคพลังธรรมก็ตกต่ำลง เนื่องจากมีคนกล่าวหาว่า พล.ต.จำลองพาคนไปตาย จึงเชื่อว่ากรณีนายสมัครจะไม่แตกต่างกับครั้งนั้น เพราะประชาชนคิดได้

"การที่คุณสมัครออกมาพูดบ่อยๆ ยิ่งสร้างรอยแยกในพรรคเขาเอง และตอนนี้ประชาชนก็ไม่ใช่ว่าจะเอาพรรคพลังประชาชนทั้งหมด โดยเฉพาะคนกรุงที่คาดว่าจะเทเสียงให้คุณสมัคร ก็คงไม่ใช่ เพราะคนกรุงไม่ได้อยู่กับคุณทักษิณ แต่ถ้าพรรคพลังประชาชนปรับตัวได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี"

แต่ถ้า พล.อ.สนธิ เล่นการเมือง ระบอบทักษิณจะกลับมายืนบนท้องถนน
นายธีรยุทธยังบอกว่าถ้า พล.อ.สนธิลงมาเล่นการเมือง โดยเป็นหัวหน้าพรรค ก็จะทำให้คนที่สนับสนุนระบอบทักษิณโดยใช้กำลังจะกลับมายืนบนท้องถนนอีก และจะแรงกว่าเก่า ซึ่งจะเป็นการเปิดเชื้อให้การเมืองยืดเยื้อยาวนานไม่สงบ ไม่ส่งผลดีต่อประเทศ. อย่างไรก็ตาม หากในอนาคต พ.ต.ท.ทักษิณกลับมา ถ้าไม่ใช่เรื่องการต่อสู้คดี แต่มาเดินหน้าลุยการเมือง ก็จะสร้างความยุ่งเหยิงทางการเมืองและสังคม

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ รายงานการแถลงข่าวในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า นายธีรยุทธยังคงสวมใส่เสื้อกั๊กสีน้ำตาลคล้ายตัวเดิม พร้อมทั้งกล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยท่าทางอิดโรยว่า ที่เงียบหายไปนานประมาณ 1 ปีนั้นมีคนออกมาทักถามว่าในสถานการณ์ที่ผ่านมาทำไมถึงไม่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมือง ก็ได้ตอบผู้ที่สงสัยออกไปว่า สาเหตุที่ไม่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองนั้น เป็นเพราะสุขภาพไม่ดี คือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน และผ่านการทำบอลลูนมาแล้วถึง 2 หน. "ผมต้องทำอีกบอลลูนอีกหนในวันที่ 9 ตุลาคมที่จะถึง อย่างไรก็ตาม ในช่วงขณะนี้ที่ต้องออกมาพูดก็เพื่อที่จะปรับอารมณ์ของสังคม เพราะเห็นว่าสังคมตกอยู่ในความเครียดและกังวลตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะไม่ค่อยสบาย" นายธีรยุทธกล่าว

พล.อ.สนธิ รับผลสอบธีรยุทธ 'ผ่านหวุดหวิดก็ถือว่าสอบผ่าน'
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ ให้คะแนนการทำงานของ คมช. แค่ผ่านหวุดหวิดว่า ผ่านหวุดหวิดก็ถือว่าสอบผ่าน ส่วนที่ตั้งสมญานามให้ คมช.ว่าเป็นลิเกนั้นยังไม่ทราบ. เมื่อถามว่า มีการมองว่า หาก พล.อ.สนธิ ลงเล่นการเมือง จะกลายเป็นลิเกที่ไม่จบ. ประธาน คมช. กล่าวว่า เป็นลิเกตอนไหนก็ไม่รู้ เพราะลิเกจะเล่นจบเป็นตอนๆ ในส่วนของ คมช.ก็ถือว่าจบแล้ว

แย้มกำลังเขียนบทลิเกตอนใหม่ พูดเป็นปริศนาหากหาพระเอกมาเล่นไม่ได้
ผู้สื่อข่าวย้อนถามว่า แสดงว่ายอมรับว่าเป็นลิเกใช่หรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า "เราเป็นลิเก เหมือนกับที่เราเล่นละคร ชีวิตคือละคร เป็นละครฉากหนึ่งซึ่งจบไปแล้ว" เมื่อถามว่า เป็นละครน้ำเน่าหรือไม่ พล.อ.สนธิ ตอบว่า "ก็แล้วแต่คนดู หากบางคนดูก็อาจจะชอบต่างกัน บางคนชอบดูน้ำเน่า"

เมื่อถามว่า ลิเกหรือละคร ตอนต่อไปนั้นจะให้ติดตามอย่างไร ประธาน คมช.กล่าวว่า "ก็ติดตามดูเอา" ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่านจะเป็นตัวละครในนั้นอยู่หรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวพร้อมหัวเราะว่า "กำลังเขียนบทอยู่ ผมเนี่ยเป็นคนเขียน" ถามต่อไปว่า แล้วจะร่วมแสดงด้วยหรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า "อันนี้ก็แล้วแต่ ดูพระเอกว่ามีหรือไม่" เมื่อถามว่า หากพระเอกไม่ตกลงมาเล่น จะเป็นพระเอกเองหรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า "ค่อยว่ากันอีกที"

โฆษกรัฐบาล-เทพเทือก ขานรับผลสอบ อ.ธีรยุทธ
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ฉายาลิเกที่นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการออกมาตั้งให้กับรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องธรรมดา อ.ธีรยุทธ ก็ตั้งฉายาอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามอย่างที่ตนเคยเรียนแล้วว่า ทุกคนก็ทำงานเต็มที่เพื่อชาติบ้านเมือง ดังนั้นเรื่องการให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกันในยามที่บ้านเมืองไม่เป็นปกติก็เป็นสิ่งที่ดี

ส่วนหนังสือพิมพ์แนวหน้ายังรายงานเพิ่มอีกด้วยว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายธีรยุทธ บุญมี ที่แถลงข่าววิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลใน 1 ปีที่ผ่านมา ว่านายธีรยุทธ ที่สามารถจะแสดงความเห็นได้ และถือว่าเป็นนักวิชาการที่มีการกลั่นกรองข้อมูลก่อนที่จะแสดงความเห็น ซึ่งใครจะชอบใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ส่วนที่มีการพูดถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนก็ขอขอบคุณ และพรรคประชาธิปัตย์เองก็ปลื้มใจ และทำให้มีกำลังใจในการทำงานในสนามการเมืองมากขึ้น ส่วนผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมานั้น ตนไม่ขอให้ความเห็น. ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่มีการมองว่ารัฐบาลหน้าจะมีอายุแค่ 2 ปี นายสุเทพ กล่าวว่า "ไม่มีใครรู้จริง การเมืองเป็นสิ่งไม่แน่นอน ดังนั้นก็ขอทำวันนี้ให้ดีทีสุด"


(๒)


๑. สุรชาติ บำรุงสุข: กฎหมายความมั่นคงใหม่ : กำเนิดรัฐทหารใหม่!
(รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข: ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คัดลอกจากประชาไทออนไลน์)

"ปัญหาของรัฐสมัยใหม่ ไม่ใช่เรื่องของการกบฏด้วยกำลังอาวุธ
แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธ (ทหาร)
กับนักการเมือง" (แซมมวล ฮันติงตัน)

The Soldiers and the State (1957)
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และดูจะเป็นเรื่องที่ฝ่ายทหารเก็บความลับได้เป็นอย่างดีก็คือ การเตรียมร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฉบับใหม่ จนกระทั่งเมื่อผ่านเข้าไปสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว สังคมโดยรวมจึงได้มีโอกาสรับรู้จากการแถลงของโฆษกรัฐบาล. สาระหลักของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็คือ การมอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้ามารับบทบาทหลักในการ "รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" และทำหน้าที่ในการ "บูรณาการและประสานการปฏิบัติร่วมกับทุกส่วนราชการ" เพื่อก่อให้เกิด "ความสงบเรียบร้อยในประเทศ" และไม่เป็น "ภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน" (ดูรายละเอียดในส่วนหลักการของร่างฯ)

ดังนั้นหากกล่าวถึงองค์กรที่ถูกชุบชีวิตให้กลายเป็น "ยักษ์ใหญ่" ก็คือ กอ.รมน. ทั้งที่เมื่อมีการยกเลิก พรบ. การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว องค์กรนี้ก็น่าจะต้องจบชีวิตลงด้วย เพราะเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ แต่องค์กรกลับดำรงอยู่เรื่อยมา แม้จะไม่มีภารกิจที่ชัดเจนรองรับ จนกระทั่งเมื่อแนวคิดที่จะสร้างฐานทางการเมืองเพื่อรองรับต่อบทบาทของทหารขึ้นในอนาคต จึงนำไปสู่การปลุกชีวิตของ กอ.รมน.ให้ฟื้นขึ้นมาอีก

ถ้าสมมติว่าฝ่ายรัฐตัดสินใจในที่สุด ที่จะผลักดันให้กฎหมายนี้เกิดขึ้นจริงๆ ปัญหาสำคัญที่ติดตามมาก็คือ การนิยามว่าอะไรคือการกระทำที่เป็น "ภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร" ซึ่งในมาตรา 3 ข้อ 2 ได้ระบุไว้อย่างกว้างขวาง ได้แก่

1. การมุ่งทำลายหรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ
2. การจารกรรม
3. การก่อวินาศกรรม
4. การก่อการร้าย
5. การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ
6. การบ่อนทำลาย
7. การโฆษณาชวนเชื่อ
8. การยุยง การปลุกปั่นให้ใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีเจตนามุ่งหมายให้เกิดความไม่สงบสุข
9. กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในมาตรา 6 จึงได้จัดให้มี "คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน" ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย

1. นายกรัฐมนตรี (ประธาน)
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รองประธาน)
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รองประธาน)
4. ปลัดกระทรวงกลาโหม (กรรมการ)
5. ปลัดกระทรวงมหาดไทย (กรรมการ)
6. ปลัดกระทรวงยุติธรรม (กรรมการ)
7. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กรรมการ)
8. ปลัดกระทรวงการคลัง (กรรมการ)
9. ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรรมการ)

10. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (กรรมการ)
11. ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง (กรรมการ)
12. อัยการสูงสุด (กรรมการ)
13. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (กรรมการ)
14. ผู้บัญชาการทหารบก (กรรมการ)
15. ผู้บัญชาการทหารเรือ (กรรมการ)
16. ผู้บัญชาการทหารอากาศ (กรรมการ)
17. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (กรรมการ)
18. เสนาธิการทหารบก (กรรมการและเลขานุการ)

หากพิจารณาในประเด็นข้างต้น จะเห็นได้ว่า องค์กรเช่นนี้มีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับ"สภาความมั่นคงแห่งชาติ"อย่างมาก ซึ่งหากพิจารณาถึงมิติของการบริหารจัดการ ก็ไม่น่าจะมีความจำเป็นอะไรที่จะจัดตั้งองค์กรในลักษณะที่เหมือนกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้เกิดความซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก และอาจจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของการกำหนดและการกำกับนโยบายความมั่นคงของประเทศ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีแต่อย่างใด

อีกทั้งมูลฐานความผิดใน พรบ. ฉบับนี้ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จนอาจกลายเป็นกฎหมายที่เอื้อให้รัฐมีอำนาจอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งการนิยามความผิดอย่างกว้างขวางเช่นนี้ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ง่าย และทั้งในบางกรณีก็ไม่มีความชัดเจนว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐจะกินความเพียงใด เป็นต้น และในบางกรณีของความผิดที่ถูกหยิบขึ้นมา ก็ไม่น่าจำเป็นต้องถึงขั้นใช้กฎหมายพิเศษอะไรรองรับ เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งกฎหมายอาญาและกฎหมายฟอกเงินที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอในการรับมือ และผู้รับบทบาทหลักก็น่าจะเป็นตำรวจ ซึ่งทหารควรเล่นบทบาทเสริมมากกว่า

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า อำนาจสำคัญอยู่ในมาตราที่ 25 และ 26 โดยใน มาตรา 25 ให้อำนาจแก่ ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะของผู้อำนวยการ กอ.รมน. คือ

1) ห้ามบุคคลนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
2) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ
3) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา
4) ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด
5) ให้บุคคลนำอาวุธที่กำหนดไว้มามอบให้เป็นการชั่วคราว
6) ให้เจ้าของกิจการหรือผู้จัดการจัดทำประวัติพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อแจ้งพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวให้พนักงานทราบ
7) ออกคำสั่งให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงไว้ในครอบครอง จะต้องรายงานแก่เจ้าหน้าที่
8) ออกคำสั่งใช้กำลังทหารหรือตำรวจเพื่อระงับหรือควบคุมสถานการณ์เพื่อให้เกิดความสงบได้

อีกทั้งยังให้อำนาจแก่ ผอ.รมน. อย่างมาก จนดูไม่ต่างจากอำนาจที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2519 ซึ่งรัฐสามารถจับกุมบุคคลในข้อหาเป็น "ภัยต่อสังคม" ได้ ดังจะเห็นได้จากสาระที่ถูกกำหนดไว้ใน มาตรา 26 อีกได้แก่

1) มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมและควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง
2) ดำเนินการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง
3) สามารถออกหนังสือเรียกบุคคลมารายงานตัว
4) มีอำนาจในการตรวจค้นยานพาหนะ หรือสถานที่ที่ต้องสงสัย
5) สามารถยึด/อายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้

จากอำนาจในมาตราทั้งสอง จะเห็นได้ว่า กอ.รมน. ได้กลายเป็น "ยักษ์ใหญ่" ซึ่งจะมีอำนาจมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้เกิดความกังวลว่า อำนาจที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ จะส่งผลให้เกิด "กระบวนการทำให้เป็นทหาร" (Militarization) กับการเมืองไทย อันอาจทำให้ไทยกลายเป็น "รัฐทหาร" ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จะส่งผลให้เกิดอาการ "เอียงขวา" มากขึ้น จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐไทยให้เป็น "รัฐความมั่นคง" ได้ไม่ยากในอนาคต. แต่สิ่งที่จะเห็นได้อย่างชัดเจน หากเมื่อกฎหมายนี้ถูกประกาศใช้ก็คือ การเกิด "รัฐซ้อนรัฐ" ที่อำนาจการเมืองจะถูกโอนจากนักการเมือง (และรวมทั้งคณะรัฐมนตรี) ไปไว้ที่ผู้นำทหาร

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ อำนาจด้านความมั่นคงที่ปรากฏในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งน่าจะมีอยู่พอเพียงในการบริหารจัดการกับปัญหาความมั่นคงไทยได้ในอนาคต แต่หากฝ่ายรัฐคิดว่าไม่พอที่จะจัดการกับปัญหา ก็น่าจะทดลองแก้ไขกฎหมายเดิม โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ เว้นแต่การออกกฎหมายนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันทางการเมืองแก่ผู้นำทหาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ไม่ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือการเมืองจะต้องหันกลับไปสู่การเลือกตั้งอีกในอนาคต แต่อำนาจสำคัญจะยังคงอยู่กับฝ่ายทหาร และผู้นำทหารจะยังคงเป็น "ผู้มีอำนาจจริง" ในการเมืองไทยตลอดไป!

2. สุรชาติ บำรุงสุข: รัฐประหารเงียบ !

"ประชาชนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร ในเรื่องของการรัฐประหาร
ถ้ามีรัฐประหาร ก็หมายถึงว่า ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารไม่ดี และถ้าไม่มีรัฐประหาร ก็หมายถึงว่าความสัมพันธ์นี้ดี ... แต่ในความเป็นจริง ประเทศหนึ่งประเทศใดอาจจะมีความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่ไม่ดี โดยปราศจากการคุกคามของการรัฐประหารก็ได้"

Michael C. Desch
Civilian Control of the Military (2001)

การผ่านร่างพระราชบัญญัติการรักษาความความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2550 อาจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น "รัฐประหารเงียบ" เพราะหลังจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 แล้ว ได้มีข่าวเรื่องราวของการรัฐประหารเกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่เรื่องราวดังกล่าวก็ยังคงเป็นเพียงข่าวลือ แม้ในบางกรณีจะมีความน่าเชื่อถืออย่างมากถึงขนาดว่ามีการเคลื่อนกำลังแล้วก็ตาม

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปครบรอบ 9 เดือนของการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น ความพยายามในการฟื้นฟูอำนาจของฝ่ายทหารก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพียงแต่การดำเนินการในชั้นนี้ ไม่ได้กระทำด้วยการใช้กำลังออกมายึดอำนาจจากรัฐบาล หากแต่เป็นการกระทำที่ดำเนินไปด้วยการออกกฎหมายมารองรับบทบาทของทหารในอนาคต พร้อมๆ กับการโอนอำนาจไปไว้ที่กองทัพ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า รัฐประหารได้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นไปในรูปแบบของ "รัฐประหารเงียบ"

ดังนั้นหากพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการออก พ.ร.บ.ความมั่นคงใหม่ อาจสรุปได้เป็นประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) การกำเนิดของรัฐทหารใหม่
หากมีการนำ พ.ร.บ. ความมั่นคงดังกล่าวออกมาใช้จริง ก็จะเสมือนกับการก่อตั้ง "รัฐทหาร" ขึ้น หรือบางท่านอาจจะเห็นว่าคล้ายกับกรณีในละตินอเมริกา คือ รัฐเช่นนี้จะมีสภาพคล้ายกับ "รัฐความมั่นคง" (security state) ที่ทุกอย่างภายในรัฐถูกควบคุมโดยหน่วยงานความมั่นคง และดำเนินการด้วยกฎหมายความมั่นคงอย่างเข้มงวด ซึ่งหากจะกล่าวอีกด้านหนึ่งก็คือ การทำให้เกิดสภาพ "รัฐซ้อนรัฐ" ขึ้น โดยศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองจะถูกนำมาไว้กับกองทัพ มากกว่าจะปล่อยให้อยู่ในมือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ในสภาพเช่นนี้ กระบวนการทางการเมืองจึงถูกครอบงำด้วย "กระบวนการทำให้เป็นทหาร" ซึ่งจะเห็นได้จากทัศนะคติในการมองปัญหาว่าภัยคุกคามต่อกองทัพ มีนัยเท่ากับภัยคุกคามต่อประเทศ หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ ผลประโยชน์ของกองทัพ มีค่าทางสมการคณิตศาสตร์เท่ากับผลประโยชน์ของชาติ เป็นต้น

2) การรัฐประหารเงียบ
ดังได้กล่าวในข้างต้นส่วนหนึ่งแล้วว่า การผลักดันให้ ครม. นำเอาร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาได้ ก็คือการยึดอำนาจของทหารในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบที่คนโดยทั่วไปไม่คุ้นเคย เพราะเรามักคุ้นอยู่กับรูปลักษณ์ของการนำรถถัง และกำลังพลทหารราบออกมาวิ่งแสดงกำลังให้เห็นอย่างน่าเกรงขามบนถนน เพื่อประกาศศักดาว่าทหารได้ยึดอำนาจแล้ว

แต่การต่อสู้ทางการเมืองในบางครั้ง ไม่มีความจำเป็นต้องกระทำเช่นว่านั้น กองทัพสามารถยึดอำนาจได้โดยการกดดันให้รัฐบาลยอมรับการออกกฎหมาย เพื่อค้ำจุนสถานะและผลประโยชน์ของกองทัพ ดังจะเห็นได้ว่า การประกาศข้อกำหนดต่างๆ เมื่อมีเหตุอันเป็นภัยต่อความมั่นคงนั้น ควรจะเป็นการออกคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจเช่นนี้กลับถูกโอนไปไว้กับผู้บัญชาการทหารบกในตำแหน่งของผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ. รมน.)

ในการนี้ ผอ. รมน. (ผบ. ทบ.) ยังสามารถออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารได้ ซึ่งคำสั่งเช่นนี้ควรเป็นอำนาจของรัฐบาล ในฐานะองค์อธิปัตย์ในทางการเมือง ตัวอย่างของประเด็นเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่าอำนาจของกองทัพกำลังอยู่ในสถานะที่เกินกว่าอำนาจของฝ่ายการเมือ งโดยไม่จำเป็นต้องใช้การขู่ หรือคุกคาม ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือการยืนยันถึงการรัฐประหารเงียบที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลกำลังมีสถานะหลักลอยมากขึ้นนั่นเอง

3) การส่งสัญญาณที่ผิดพลาด
สัญญาณที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะถูกตีความในเรื่องของการปูทางเพื่อจัดตั้งรัฐทหารในอนาคต หรือการทำรัฐประหารเงียบก็ดี ล้วนแต่เป็นการบ่งบอกถึงปรากฏการณ์ว่า ทหารกำลังเป็นสถาบันที่มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และอีกนัยหนึ่งก็เป็นการบ่งบอกถึงสถานะเชิงสัมพัทธ์ของรัฐบาลว่ากำลังอ่อนแอลงโดยปริยาย

การส่งสัญญาณเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพราะผลจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยแย่ลงมากพอแล้ว ดังจะเห็นได้ว่า การรัฐประหารไม่ใช่จุดขายในเวทีระหว่างประเทศ ในทางตรงข้าม การดำรงไว้ซึ่งระบอบการเลือกตั้ง โดยอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤตอย่างไรก็ตาม คือจุดที่จะทำให้เกิดการยอมรับในสากล มากกว่าจะขายด้วยภาพลักษณ์ของรัฐบาลคุณธรรมสูงที่มาจากการรัฐประหาร เพราะอย่างไรเสีย ภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่ถูกค้ำจุนด้วยการยึดอำนาจของทหารนั้น ไม่สามารถเรียกร้องความสนับสนุนทางการเมืองจากเวทีนานาชาติได้ แม้จะมีสถานทูตของชาติมหาอำนาจตะวันตกในกรุงเทพฯ แสดงท่าทีสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาก็ตามที แต่กฎหมายของหลายๆ ประเทศ ก็ไม่อนุญาตให้รัฐบาลของเขาติดต่อกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร โดยเฉพาะย่างยิ่ง ในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

4) ปัญหาการบริหารงานความมั่นคง
ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงใหม่มีลักษณะ "หัวมังกุท้ายมังกร" อยู่มาก เพราะดูจะเหมือนกับการเอาโครงสร้างของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาสวมใส่ โดยมี กอ. รมน. เป็นผู้เล่นบทบาทแทน ยิ่งดูจากองค์ประกอบของบุคลากรแล้วก็ยิ่งชัดเจนถึงความคล้ายคลึงกับโครงสร้างของ สมช.
ในหลักการของร่าง พ.ร.บ. ได้กล่าวว่า จัดทำกฎหมายนี้ขึ้นก็เพื่อการบูรณาการหน่วยงานของภาครัฐในการดำเนินการด้านความมั่นคง แต่หากกฎหมายนี้ถูกใช้จริงก็จะทำให้สถานะของ กอ. รมน. ดูจะไม่แตกต่างไปจาก สมช. ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรทั้งสองต่างก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
การจัดทำโครงสร้างในลักษณะเช่นนี้ย่อมคาดการณ์ได้ว่า ฝ่ายทหารกำลังพยายามยกฐานะของหน่วยงานของตน (กอ. รมน.) ให้มีฐานะเป็นองค์กรระดับนโยบายและปฏิบัติควบคู่กันไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความพยายามที่จะทำให้ กอ. รมน. มีความเป็น "เบ็ดเสร็จ" ในตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องของกระบวนการใช้อำนาจ

5) ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน
แม้ในสถานการณ์ปัจจุบัน จะมีข้อโต้แย้งจากรัฐบาล ผู้นำทหาร และกลุ่มผู้สนับสนุนการรัฐประหารว่า สถานการณ์ภายในของไทยมีความไม่เป็นปกติอยู่มาก ดังนั้นรัฐไทยจึงควรต้องยอมรับถึงความจำเป็นในการยึดถือเป็นแนวทางว่า "ความมั่นคงต้องมาก่อนสิทธิมนุษยชน" และการออกกฎหมายความมั่นคงใหม่ก็คือ การยืนยันถึงหลักคิดดังกล่าว

ในความเป็นจริงไม่ใช่อะไรมาก่อน และอะไรอยู่หลัง หากแต่ในการบริหารรัฐที่ดีนั้น รัฐบาลจะสามารถสร้างสมดุลของตาชั่งระหว่างการดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนของบุคคล กับการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐได้อย่างไร การยึดถือเอาประเด็นใดเป็นหลักแต่เพียงส่วนเดียว อาจจะทำให้เกิดอาการเสียสมดุลได้ ซึ่งก็จะไม่เป็นผลดีต่อรัฐเท่าใดนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ประเทศไทยเองกำลังอยู่ในโลกสมัยใหม่นั้น สมดุลของสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคง จะเป็นหลักประกันทั้งต่อปัญหาธรรมาภิบาล และต่อประเด็นภาพลักษณ์ของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งกฎหมายใหม่นี้ ยังมีการประกันว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น กล่าวคือไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ในขณะที่พระราชกำหนดปี 2548 ยังคงสิทธิของผู้เสียหาย ให้สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทางราชการได้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ. 2550 ได้ตัดสิทธิในส่วนนี้ทิ้ง ประเด็นปัญหาในลักษณะเช่นนี้อาจจะต้องคิดให้ละเอียด เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ข้อความในลักษณะดังกล่าวจะเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

6) ผลต่อความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารในอนาคต
ผลกระทบต่ออนาคตของการเมืองไทย เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย จะคิดอยู่เฉพาะแต่เพียงการเพิ่มอำนาจและบทบาทของทหารแต่เพียงประการเดียวไม่ได้ เพราะหากจะต้องคิดถึงการสร้างความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่ดีแล้ว หรือที่เป็นประชาธิปไตยในอนาคต กฎหมายในลักษณะเช่นนี้จะเป็นปัจจัยด้านบวกหรือไม่ต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า รัฐไทยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายความมั่นคงเพื่อคุ้มครองตัวเอง หากแต่กระบวนการทำพร้อมๆ กับสาระของกฎหมายนี้ จะต้องนำมาพิจารณาในกรอบของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่เป็นประชาธิปไตยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่ถูกทำให้กลายเป็นกรอบทางการเมืองใหม่ที่มอบให้กองทัพเป็น "ผู้ดูแล" ระบอบการเมืองทั้งหมดไทยเสียเอง !

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จดหมายคัดค้าน ร่าง พรบ.รักษาความมั่นคงภายใน

เรียน สื่อมวลชน
สสส. ยื่นจดหมาย ต่อ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญัญัติแห่งชาติ

วันที่ 18 ตุลาคม 2550

เรื่อง ข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ...
เรียน ประธานคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญัญัติแห่งชาติ

ตามที่คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญัญัติแห่งชาติ จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. .. ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) คณะทำงานยุติธรรมและสันติภาพภายใต้
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนา (กป.อพช.) มีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการขขายบทบาทให้ทหาร เข้ามามีบทบาทครอบงำสังคมมากขึ้น และอาจมีการใช้อำนาจล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ด้วยเหตุผล ดังนี้

ประการแรก เป็นการจัดตั้งกองอำนวยการักษาความมั่นคงภายในให้มีอำนาจแทนหน่วยงานของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ โดย กอ.รมน. สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ ทุกฉบับ หรือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้ กอ.รมน.ดำเนินการแทนได้ในทุกสถานการณ์ ตลอดจนการให้อำนาจ กอ.รมน.จัดตั้งหน่วยงานระดับภาคและระดับจังหวัด ให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ กอรมน.ระดับชาติ จึงถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจให้กองทัพหรือทหารมีอำนาจเหนือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ซี่งเป็นการรวบอำนาจให้ทหาร หรือกองทัพ ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ประการที่สอง เป็นการให้อำนาจกับผู้อำนวยการ กอ.รมน.สามารถออกข้อกำหนดที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การยุติการชุมนุมในที่สาธารณะ การห้ามใช้เส้นทางคมนาคม การค้นอาคาร สถานที่ เป็นต้น

ประการที่สาม การออกข้อกำหนด คำสั่งของผู้อำนวยการ กอ.รมน.ตามกฎหมายฉบับนี้ ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง อันเป็นการขัดกับหลักการทั่วไปของการปกครองในรอบประชาธิปไตยที่การใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร จะต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการอยู่เสมอ อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม

ประการที่สี่ การยกเว้นความผิดของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางใดๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการลุแก่อำนาจ และทำให้คนทำผิดลอยนวลดังเป็นที่ประจักษ์อยู่ในขณะนี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงขอเรียกร้องให้ยุติการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ... เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพราะ รัฐบาลชั่วคราวไม่ควรมีอำนาจในการพิจารณากฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง และเป็นการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นใหม่ที่มีผลเป็นการผูกพันกับรัฐบาลทั้งการใช้อำนาจต่อประชาชน และงบประมาณของรัฐในระยะยาว ซึ่งสมควรเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่จะมีการจัดตั้งขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 23 ธันวาคมที่จะถึงนี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
คณะทำงานยุติธรรมและสันติภาพ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงสร้างประชาธิปไตยไทย

โครงสร้างประชาธิปไตยไทยมีอยู่ 4 พลัง คือ (1) ชนชั้นรากหญ้า (2) กลุ่มทุนใหญ่ที่เชื่อมโยงกระแสโลกาภิวัตน์ (3) กลุ่มข้าราชการ เทคโนแครต (4) ภาคสังคม วิชาการ และสื่อ. พลังทั้ง 4 นี้ขาดบูรณาการและความสมดุล ทุนใหญ่ในกระแสโลกาภิวัตน์มีลักษณะทั่วประเทศ (หรือทั่วโลก) จึงสามารถครอบงำรากหญ้า ภาคชนบท ที่มีลักษณะเป็นท้องถิ่นได้ง่าย มันจึงมีเสียงความเป็นตัวแทนมากเกินไป สามารถเข้ามาแทนที่ข้าราชการที่มีลักษณะทั่วประเทศและเคยมีอำนาจมาก่อน ส่วนรากหญ้าถูกครอบงำ จึงมีลักษณะมีเสียงน้อยไป (under representation) ส่วนภาคสังคมคือ นักวิชาการและสื่อนั้น แม้จะมีฐานะทั่วประเทศ แต่ก็มีฐานเสียงเป็นส่วนๆ หรือเป็นชนชั้น ไม่ได้มีลักษณะกว้างขวางแท้จริง

ความไม่สมดุลทำให้เกิดวิกฤติทักษิณ คือ เนื่องจากกลุ่มทุนใหญ่ขยายตัวไปครอบงำส่วนอื่น และคอร์รัปชั่นมากเกินไป จึงถูกคัดค้านจากปัญญาชน สื่อ ที่ต้องการให้ประชาธิปไตยมีมิติด้านศีลธรรมคุณธรรมด้วย และในที่สุดก็ถูกรัฐประหารจากพลังสถาบันทหารที่กลัวทุนจะขัดแย้งกับสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มากเกินไป

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

19th October 2007