บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Poor
& Poverty
Midnight University
ประวัติความผันแปรไปของความหมายความยากจน
มายาคติในความหมายของความยากจน
ตอนที่ ๑
สามชาย
ศรีสันต์ : เขียน
นักศึกษาปริญญาเอกโครงการสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความวิชาการนี้
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นการพยายามทำความเข้าใจความหมายของความยากจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายที่ผันแปรไปของคำนี้ในประวัติศาสตร์
ดังมีการลำดับหัวข้อทำความเข้าใจดังต่อไปนี้
- การวิเคราะห์ความหมายในระดับมายาคติ
- ความผันแปรไปของความหมายความยากจน
- ความยากจนในสมัยกลาง
- ความยากจนก่อนสังคมอุตสาหกรรม
- ความยากจนหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม และช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ ๒๐
- ดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) หรือ HDI
- ธนาคารโลกกับนโยบาย Post Washington Consensus
- โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม หรือ Social Safety Net
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๗๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๘ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ประวัติความผันแปรไปของความหมายความยากจน
มายาคติในความหมายของความยากจน
ตอนที่ ๑
สามชาย
ศรีสันต์ : เขียน
นักศึกษาปริญญาเอกโครงการสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เอกสารเสนอในการสัมนาทางวิชาการ
โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการและโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องกติกาและอำนาจในสังคมไทย เมื่อวันที่
25 กันยายน 2550
บทคัดย่อ
ความหมายของความยากจนมิได้มีเพียงการนิยามด้วยรายได้ หากแต่มีความหลากหลาย ซับซ้อน
และแปรรูปความหมายไปได้อย่างไม่สิ้นสุด การนิยามความหมายของความยากจน และระบุว่าใครคือคนยากจน
ทำให้เกิดการตอบโต้และแปรรูปความหมายของความยากจนในกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่ายากจน
เขาเหล่านี้ยอมรับต่อหน่วยงานราชการว่าเป็นคนยากจน ในขณะเดียวกันก็พยายามดิ้นรน
และแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตนพ้นไปจากความยากจน ด้วยการใช้สัญญะที่สะท้อนถึงการมีวิถีชีวิตแบบ
"คนทันสมัย" และมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภค การแก้ปัญหาความยากจนในรูปแบบกระจายเงินทุนลงไปสู่คนยากจน
จึงตอบสนองต่อการพ้นจากความยากจน ในสายตาของคนยากจนและเพื่อนบ้านที่จับจ้องกันเอง
แต่ได้กลายเป็นหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหนี้ทางสังคมที่ต้องตอบแทนแก่ผู้กำหนดนโยบายนำเงินมาให้
และหนี้ตัวเงินที่ทำให้คนยากจนเหล่านี้ต้องทำงาน สร้างผลผลิตและหาเงินมาชดใช้หนี้
มายาคติของความยากจนได้ขยายขอบเขตความหมายของความยากจนออกไปครอบคลุมคนทั่วไปที่รัฐบาลที่แล้วเรียกว่า
"คนรากหญ้า" และรัฐบาลปัจจุบันเรียกว่า "รากแก้ว" เป็นการจัดระเบียบ
ควบคุม และพันธนาการคนยากจนไว้ด้วยการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา แสดงออกถึงความปารถนาดี
ขณะเดียวกันสินค้าเชิงสัญญะได้กลายเป็นความหมายใหม่ที่ใช้พิจารณาความยากจน
ความนำ
ความยากจนถูกทำให้เป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ เป็นสิ่งจำเป็นต้องขจัดให้หมดไป
เสมือนเป็นเชื้อแห่งความเลวร้ายที่แฝงฝังอยู่ในพื้นที่สกปรก แปดเปื้อน กันดาร
ล้าหลัง ดังเช่นในสลัม ในพื้นที่ชนบทประเภทต้องเร่งรัดพัฒนา เพื่อชะล้างและเปิดพื้นที่เหล่านี้สู่ความเจริญ
คนยากจนคือคนประเภทที่ไม่สามารถเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศชาติจะนำมาใช้ได้
มีลักษณะ "โง่ จน เจ็บ" กล่าวคือ ขาดการศึกษา มีรายได้ไม่เพียงพอ ร่างกายทรุดโทรมอ่อนแอ
คนจนและความยากจนจึงเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ เป็นสิ่งที่ต้องบำบัด เยียวยา และเร่งฟื้นฟูให้กลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าอีกครั้ง
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเร่งฟื้นฟูเยียวยา ให้พ้นไปจากความยากจนนั้น มิได้เป็นดังคำกล่าวอ้าง เพราะความยากจนไม่เพียงยังดำรงอยู่ แต่ยังสร้างความทุกข์ยากรุนแรงเข้มข้นขึ้น ด้วยการพันธนาการคนที่ถูกนิยามว่ายากจนไว้ให้ตกอยู่ในการควบคุมกำกับ และชี้นำ โดยไม่อาจหลุดพ้นไปได้โดยง่าย
ในการศึกษานี้จะไม่กล่าวอ้างถึงตัวเลขคนยากจนที่นิยามจากเส้นความยากจน (poverty line) ที่ยังดำรงอยู่ หรือการกล่าวอ้างความทุกข์ยากจากรายได้ที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ หากแต่จะกล่าวอ้างถึง
- การซึมซับรับรู้ความหมายของคนที่ถูกนิยามว่ายากจน และ
- แบบแผนการปฏิบัติที่สังคมกระทำต่อคนยากจน
โดยวิเคราะห์ความหมายของความยากจนจากเอกสาร และตัวเลขสถิติมหภาคโดยมุ่งแสดงให้เห็นว่า คนทั่วไปรับรู้ความหมายของความยากจนในลักษณะอย่างไร และเกิดผลสิ่งใดตามมาบ้างจากการรับรู้ความหมายแบบนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าไม่เพียงความยากจนจะยังคงดำรงอยู่ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจะไม่มีทางหมดไปจากสังคมไทยและสังคมโลก
การวิเคราะห์ความหมายในระดับมายาคติ
การวิเคราะห์ความหมายในการศึกษานี้ใช้วิธีวิทยาแบบสัญวิทยา. โซซูร์ (Ferdinand
De Saussure, 1959) กล่าวไว้ในงานเรื่อง "Course in general linguistics"
ว่า การรับเอาความหมายที่ถูกส่งผ่านมา (transformation) ซึ่งไม่ใช่ความหมายอย่างตรงไปตรงมาในรูปของภาษา
หากแต่เป็นสัญญะ (sing) ที่เกี่ยวเนื่องสัมพัทธ์กับบริบทแวดล้อม ซึ่งเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์
วัฒนธรรม การเมือง และสถาบัน การส่งผ่านมายังบุคคลที่สองไปสู่การนิยามให้ความหมายที่ไม่จำเป็นต้องตรงไปตรงมาดังตัวรูปสัญญะ
(signifier) ที่ให้ภาพปรากฏ (image) แต่ขึ้นอยู่กับการตีความและนิยาม ความหมายสัญญะ
(signified) ที่ผันแปรไปตามปรากฏการณ์ เราจึงต้องศึกษาสัญญะในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีองค์ประกอบแวดล้อม
แม้ว่า โซซูร์ จะกล่าวถึงความหมายตรง (denotation) ซึ่งได้แก่การตีความตามสิ่งที่ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา ไม่ลดทอน ขยายความ ขณะที่ความหมายที่ผ่านประสบการณ์ ค่านิยม และปรากฏการณ์แวดล้อม เป็นความหมายแฝง (connotation) ที่ไม่ได้ตรงไปตรงมาดังเช่น ดอกกุหลาบแดง คือดอกไม้ชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอมในความหมายตรง แต่เป็นสัญญะของความรักในความหมายแฝง แต่การวิเคราะห์ความหมายสัญญะในอีกระดับที่มีความลึกซึ้งและน่าสนใจคืองานของ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ในเรื่อง "มายาคติในปัจจุบัน" (Myth Today) ในฐานะที่เป็นภาพมายาจอมปลอม ซึ่งเป็นภาพที่ถูกเสนอผ่านภาษาโดยมีเจตนากำกับ เป็นรูปแบบการให้ความหมาย ซึ่งเป็นความหมายที่อาจกล่าวได้ว่าอยู่เหนือความหมายตรง และความหมายแฝงของโซซูร์
ความหมายในระดับมายาคติ เป็นความหมายที่ไม่ต้องผ่านการตีความในตัวสัญญะ เพื่อค้นหาความหมายสัญญะ แต่เป็นระดับที่สามารถเกิดภาพความรู้สึกในความหมายได้เลย โดยความหมายในระดับแรกคือสัญญะ (sign) ที่ประกอบด้วยตัวรูปสัญญะ (signifier) และความหมาย (signified) ที่รับรู้ได้โดยตรงจากตัวสัญญะ ขณะที่ความหมายในระดับที่สองต้องผ่านการถอดรหัส (decode) ที่แฝงอยู่ในความหมายแรกของตัวสัญญะ การผสมผสานของความหมายในระดับแรก และระดับที่สองที่ทำการผลิตอุดมการณ์โดยมีสิ่งซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังอันเกิดจากการกระทำของอำนาจคือความหมายในรูปของมายาคติ (myht) อันเป็นความหมายชุดใหม่จากการลดทอดความหมายในชุดเดิมลง และเติมความหมายใหม่ลงไป เป็นความหมายที่สร้างอารมณ์ ความรู้สึก มีจุดประสงค์ที่แฝงอยู่ของการจัดกระทำผ่านตัวสัญญะ เพื่อให้เกิดความหมายขึ้น เป็นความหมายที่ให้การรับรู้โดยตัวของสัญญะได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการตีความ (Barthes, Edited by Mark, 2003, pp. 3-36.)
ดังเช่น ความยากจน ที่ได้แก่ ความขาดแคลน ไม่เพียงพอ อยู่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นภาพสัญญะในระดับความหมายตรง แต่เมื่อเป็นความหมายในระดับมายาคติ ความยากจนได้ถูกลดทอนความหมายเดิมลง และให้ภาพของความ หิวโหย ต่ำต้อย ด้อยค่า เป็นเคราะห์กรรมอันเกิดจากบาปติดตัว ที่ถูกลงโทษโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนยากจนจึงเป็นคนที่น่ารังเกียจ ไม่ควรเข้าไปคบหาสมาคมด้วย
ขณะที่ความหมายในปัจจุบันได้ให้ภาพของ ความยากจน เป็นความด้อยพัฒนา ขาดคุณสมบัติที่ดีของการเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ กลายเป็นภาระและเรื่องที่รัฐต้องเข้าไปแก้ไขฟื้นฟู เยียวยาโดยเร่งด่วน โดยปรับโครงสร้างด้านเศรษฐกิจใหม่ และมีระบบการตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐโดยภาคประชาสังคม ขณะที่คนจนกลายเป็นคนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และมีหน้าที่ต้องเชื่อฟังรัฐเพื่อให้พ้นจากความยากจน ความยากจนในระดับมายาคติจึงเลื่อนไหล เปลี่ยนแปลง และก่อรูปขึ้นของสัญญะใหม่อันเกิดจากการเมือง และความต้องการของผู้มีอำนาจ เป็นการหน้าที่ซ้อน (double function) ของความหมายที่แฝงอยู่ถึงความต่ำต้อย ด้อยค่า จากคุณลักษณะที่ผิดพลาดของผู้ที่ได้รับการนิยามว่ายากจน ขณะเดียวกันก็ต้องเชื่อฟังรัฐ เพื่อให้พ้นจากความยากจน เพราะรัฐคือผู้มีหน้าที่เข้ามาบำบัดเยียวยา
มายาคติเป็นนามธรรม (abstract) ที่มีภาพของคุณค่า โน้นน้าวใจให้ยอมรับ และทำตามซึ่งถือเป็นการผลิตซ้ำมายาคติ เป็นระดับความหมายที่มีมิติอันหลากหลายเปลี่ยนรูปร่างได้ แต่ถูกลดรูปให้เหลือเพียงแค่แนวคิด (concept) การศึกษามายาคติต้องค้นหากรรมวิธีสร้างความหมาย การถอดรหัส (decode) สัญญะ เพื่อสร้างความหมาย (signification) ใหม่ที่เป็นมายาคติ เพื่อดูการบิดเบือนมายาภาพที่ถูกสร้างขึ้น การค้นหามายาคติในที่นี้ มีหน่วยการวิเคราะห์ที่วาทกรรมความยากจน เป็นวาทกรรมในรูปของความคิดที่กำกับให้เกิดการปฏิบัติ เสมือนเป็นคำสั่ง (word-order) ซึ่งได้จากงานของ ชิลส์ เดอเลิซ และเฟลิกซ์ กัตตารี (Deleuze and Guattari, 1987, pp.75-85) ในเรื่อง "Postulates of Linguistics"
คำที่เป็นคำสั่งที่ชี้แนะ กำกับให้ผู้ที่ถูกนิยามว่ายากจนปฏิบัติตาม เพื่อนำไปสู่การพ้นจากความยากจน เป็นคำสั่งที่ฟังดูมีเหตุมีผล เป็นความช่วยเหลือ ที่มีความน่าเชื่อถือ สร้างความเห็นพ้องต้องกัน มีฐานะเป็นวาทกรรมทางอ้อม (indirect discourse) เป็นเสียงบ่งบอกนัยสำคัญที่แฝงเร้นอยู่ท่ามกลางเสียงบอกกล่าวทั้งหมด แต่ได้สร้างผลสะเทือนถึงร่างกาย จิตวิญญาณ เสมือนเป็นคำพิพากษาที่ไม่ใช่เพียงเป็นการอ่านคำตัดสิน หากแต่ส่งผลถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนสถานภาพคนให้กลายเป็นนักโทษผ่านภาษา โดยที่ภาษาเป็นเพียงเครื่องมือส่งผ่านไปสู่การควบคุม กำกับ ชี้นำ ที่สื่อความหมายเพียงส่วนหนึ่งในฐานะที่เป็นโครงสร้างประโยค คำ ที่รับรู้ร่วมกันเท่านั้น
แต่สิ่งที่แฝงเร้นอยู่ซึ่งไม่ปรากฏในรูปแบบที่ง่ายและตรงไปตรงมา คือการแฝงเร้นด้วยคำสั่ง ภายใต้เงื่อนไขด้านการเมือง ขณะเดียวกัน การรับเอาความหมายที่ส่งผ่านมาก็ไม่ได้เป็นแบบที่ฝ่ายข้างมาก (majority) จะสามารถย่อยสลายความเป็นตัวตนของฝ่ายที่ถูกระทำลงได้ทั้งหมด (deterritorialisation) หากแต่มีการตอบสนองกลับไป (reactive) ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งการเข้าควบคุมเชิงบังคับ (force) ไม่จำเป็นต้องเป็นการใช้กำลังรุนแรง แต่อาจเป็นเรื่องที่แทรกซึมยอมรับเอาโดยไม่รู้ตัว เป็นความปารถนาดี เป็นมิตรภาพ และถ้อยคำที่ต้องการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา
ดังที่ ฟูโก (Foucault) แสดงให้เห็นใน "วินัยและการลงทัณฑ์" ที่มีทั้งสิ่งที่บ่งบอกให้กระทำ และสิ่งที่ห้ามไม่ให้กระทำ ขณะที่การตอบสนองกลับไปนั้นมีทั้ง ยอมรับ คัดค้าน ยืนยันเห็นพ้อง หรือปฏิเสธ ดังนั้นเสียงข้างน้อย (minority) สามารถตอบโต้ย่อยสลาย หรือส่งเสริมปริมณฑลทางอำนาจ และสร้างปริมณฑลพื้นที่ของตนเองขึ้นมาได้ด้วยเช่นเดียวกัน เป็นความเคลื่อนไหวที่เรียกว่าการกลายพันธ์ (mutation) ดังลำต้นใต้ดินที่แตกแขนงจากรากย่อยมากมาย (rhizome) แยกตัวออกมาก่อเกิดลำต้นใหม่ (Patton, 2000, pp 42-45, 97-108)
ดังเช่น ถ้อยคำที่ว่า "ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยัน" ซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงคนที่ขยันเลย เพราะคนขยันเหล่านั้นไม่ยากจนและเป็นคนปกติธรรมดา หากแต่ข้อความนี้มุ่งปะทะโดยตรงต่อคนยากจน ซึ่งเป็นคำที่แฝงเร้นคำสั่ง ที่ต้องการให้คนยากจนขยันทำมาหากิน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข (เมื่อว่างจากฤดูเพาะปลูกเก็บเกี่ยว ก็ให้ไปทำงานรับจ้าง) ขณะที่อีกนัยหนึ่งก็คือ คนยากจนที่ยังยากจนอยู่นั้นขี้เกียจ หรือการที่ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่รัฐบอกให้ทำเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน เป็นต้น และก็ไม่ได้หมายว่า คนยากจนจะตอบสนองกลับไปในทางที่ยอมตาม เชื่อฟัง เพียงอย่างเดียว เขาสามารถต่อต้าน ขัดขืน ยอมรับบางสิ่งและสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นอาณาบริเวณ พื้นที่ของเขาเองขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์เป็นตัวตน ที่เคลื่อนไหวและมีชีวิต
ความผันแปรไปของความหมายความยากจน
ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน การรับรู้ความหมายของความยากจนไม่ได้มีเพียงมิติเดียว
หากแต่มีลักษณะที่แตกต่างกันไปทั้งในด้านพื้นที่และเวลา วันนี้ความยากจนไม่ใช่สิ่งไม่พึงประสงค์อีกต่อไป
ในทางตรงข้ามกลับกลายเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้ และยินดีที่จะเป็น"คนยากจน".
แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนยากจนเหล่านี้ ก็แสดงให้ผู้คนรอบข้างในสังคมเห็นว่าตนเองไม่ใช่คนที่มีคุณลักษณะของคนยากจนในแบบที่คนทั่วไปเข้าใจกัน
กล่าวอีกนัยหนึ่ง"คนยากจน"กลายเป็นคนยากจนที่ไม่ยอมจน อันเป็นความจน
(poorness) (1) ในความหมายที่แฝงอยู่ในความยากจน (poverty) แต่ในการต่อต้านขัดขืนเพื่อให้ตัวเองพ้นไปจาก
"ความจน" นี้ กลับสร้างความลำบากยากแค้น และตกอยู่ในภาวะ "ความจน"
ในอีกรูปแบบหนึ่ง
(1)
ความจนในที่นี้ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการถูกนิยามว่า "ยากจน" โดยผู้ที่ถูกนิยามว่ายากจนจะมีลักษณะที่ต่ำต้อยด้อยคุณค่า
ในภูมิหลังความเป็นมา ความถนัด และวิถีการดำเนินชีวิต เขาเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่เพื่อไปให้พ้นจากความยากจน
เป็นวิถีชีวิตที่ถูกกำหนดชี้นำ ควบคุม และบังคับโดยทางอ้อมจากบุคคลที่ไม่ยากจน
ความจนสามารถแยกพิจารณาได้ใน 3 มิติ คือ ภาวะไร้รากเหง้าของอดีตอันเป็นความเลวร้าย
(unfounded) ภาวะไร้คุณค่า ต่ำต้อย ไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในงานที่ทำ
(unvalued) และภาวะไร้ตัวตน คือขาดความเป็นตัวของตัวเองเป็นผู้ที่คอยเดินตามในสิ่งที่ผู้อื่นบอกให้กระทำและห้ามไม่ให้กระทำ
(unautomated)
ความยากจนในสมัยกลาง
ก่อนหน้าการปฏิวัติอุตสาหกรรม(ในตะวันตก) ความยากจนเป็นภาวะความอดอยาก หิวโหย
อันเนื่องจากภาวะภัยธรรมชาติ ความแห้งแล้ง น้ำท่วม นำไปสู่การขาดแคลนอาหาร และสิ่งของเครื่องยังชีพ
ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ ในตอนปลายของยุคกลาง (ราวศตวรรษที่ 11-13) ความยากจนกลายเป็นภาวะความทุกข์ยากหิวโหย
จากภัยพิบัติ กล่าวคือคนจนเป็นผู้มีความเป็นอยู่อดอยาก ยากลำบาก เป็นผู้ที่ต้องได้รับการแก้ไขเยียวยา
ซึ่งรัฐต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
จากบันทึกภาวะความอดอยากหิวโหย ในประเทศอังกฤษระบุว่า ในศตวรรษที่ 11-12 ประชาชนตกอยู่ในภาวะอดอยาก แร้นแค้น (famine) โดยเฉลี่ยถึงคราวละ 14 ปี มีคนตายเพราะความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก ประชาชนต้องกินเนื้อม้า เปลือกไม้ และหญ้าเป็นอาหาร. ในช่วงศตวรรษที่ 10-17 ภาวะความอดอยากหิวโหยเกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกจากสารานุกรมของอังกฤษระบุว่า ในปี ค.ศ. 1064-1072 ภาวะความอดอยาก แร้นแค้นเกิดขึ้นยุโรปเป็นเวลา 7 ปี ที่อิยิปต์ระหว่าง ค.ศ. 1148-1159 เป็นเวลา 11 ปี ในอินเดียระหว่าง ค.ศ. 1396-1407 (Farr, 1846, p.158; Walford, 1878, p.433 Cited by. Hazlitt, 1973, pp.14-15)
ภาวะที่เกิดขึ้นนี้ผู้ที่ประสบกับความยากจนมักเป็นบุคคลทั่วไป ที่ไม่ใช่ชนชั้นปกครอง คนเหล่านี้แม้ไม่ได้รับภัยพิบัติ ก็ถือว่าเป็นคนจน จากสถานะทางสังคมที่ในอดีตมีเพียงชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง คนยากจนจึงเป็นคนที่ต้องได้รับการฟื้นฟูช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ต่อไป. ปี 1597 รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูคนจน (poor law) และต่อมามีการลงทะเบียนคนจนในปี 1601 การศึกษากฎหมายฟื้นฟูคนจนของอังกฤษระหว่างปี 1780-1834 พบว่า มีการให้เงินช่วยเหลือแก่แรงงานที่มีสมาชิกจำนวนมากในครอบครัว ให้เงินช่วยเหลือในฤดูว่างงาน มีการประกันรายได้ต่ำสุดต่อสัปดาห์ที่พึงได้ (Boyer, 1990 pp.1,10) การให้ความช่วยเหลือคนจนโดยรัฐนี้ เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ความยากจนก่อนสังคมอุตสาหกรรม
ก่อนสังคมอุตสาหกรรมการมองความยากจนนั้น เป็นการช่วยเหลือคนจนด้วยความเมตตา เป็นการทำบุญ
ให้ทาน ซึ่งคนจนพึงได้รับจากสังคม ระบบค่านิยมของสังคมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อรับเอาการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาใช้
คนจนกลายเป็นคนที่สมควรได้รับการตำหนิ เป็นคนที่ไม่รู้จักพอ ไร้ศีลธรรม เป็นคนบาป
และเป็นผู้ถูกลงโทษจากพระเจ้า ซึ่งเป็นมุมมองในตอนต้นของสังคมทุนนิยม แนวคิดนี้ทำให้คนจนเป็นที่น่ารังเกียจ
ไม่สมควรคบหาสมาคมด้วย โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดกลุ่มทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่
ที่มองว่าคนยากจนคือคนที่บกพร่องในการทำหน้าที่ต่อสังคม เป็นบุคคลที่ไม่ทำงาน
ขี้เกียจ และสมควรจะถูกลงโทษหรือขจัดให้หมดสิ้นไปจากการเลือกสรรโดยสังคม
อันมีพื้นฐานจากแนวคิดการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในสังคม (social Darwinism) ผู้ที่แข็งแรงกว่า ขยัน ฉลาด คือผู้สมควรสืบทอดเผ่าพันธุ์ และผู้ที่จน โง่ ขี้เกียจก็ไม่สมควรอยู่ (Feagin and Feagin 1997, pp. 97) การสร้างความหมายให้กับคนยากจนจึงไม่ใช่เป็นบุคคลที่สมควรได้รับความช่วยเหลือด้วยความเมตตา หรือความมีมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์อีกต่อไป หากแต่มีนัยของการฟื้นฟูให้คนที่บกพร่องเหล่านี้ กลับมาทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการจำเป็นของสังคมได้เฉกเช่นคนปกติ หรือมิเช่นนั้นก็กีดกันให้พ้นไปจากสังคม
ความเลวร้ายของความยากจน "คนยากจน" ได้ถูกตอกย้ำให้หนักแน่นขึ้น โดยมีลักษณะที่สามารถถ่ายทอดส่งต่อถึงลูกหลานและคนใกล้ชิดได้ ประดุจดังเชื้อโรคร้ายที่คนยากจนเป็นพาหะเผยแพร่จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากผลงานของ เลวิส (Oscar Lewis,1950) ได้เสนอแนวคิด วัฒนธรรมของความยากจน (culture of poverty) คนจนมีคุณลักษณะสำคัญที่ฝังแน่นในความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนชายขอบ (marginality) มีตำแหน่ง ที่ต่ำกว่าบุคคลกลุ่มอื่นในสังคมต้องพึ่งพา และรับความช่วยเหลือ มีลักษณะที่ยอมจำนน (resignation) และเชื่อในโชคชะตา ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในคนจน และได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา (socialization) ทำให้คนจนไม่เข้าร่วมกับองค์กรหรือกิจกรรมใดๆ ทางสังคม ไม่มีส่วนร่วมในองค์กรที่จะช่วยเหลือเขาได้ในเรื่องสวัสดิการทางสังคม เลวิสเห็นว่า วัฒนธรรมความยากจนนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนจน วนเวียนอยู่กับความยากจน แบบทำร้ายตัวเอง ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ฝังแน่นอยู่ในประเทศอาณานิคม และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย (2) (Lewis, 1950, Cited by Haralambos and Hoiborn, 1990, p.208)
(2) แนวคิดนี้ได้ถูกหักล้างในการศึกษาระยะต่อมา จากงานวิจัยที่พบว่า คนจนนั้นมีเป้าหมายของชีวิตเช่นเดียวกับคนทั่วไป เขาต้องการประสบผลสำเร็จ แต่ไม่สามารถหาหนทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้ นอกจากนั้นยังพบว่าคนจนในเมืองนั้นมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน และเป็นผู้มีส่วนร่วมในทางการเมืองเป็นอย่างดีด้วย (Haralambos and Hoiborn, 1990,pp.209-211)
ความยากจนหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม
และช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 20
ภายหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม และทุนนิยมเจริญก้าวหน้าขึ้น ในตอนกลางของศตวรรษที่
20 ความยากจนถูกทำให้เป็นระบบ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจโดยวัดความยากจนในมิติเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ซึ่งได้แก่การวัดจากตัวเลขรายได้อันเป็นแนวคิดที่เร่งเร้าให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและจัดการขจัดปัญหาความยากจน
โดยการเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั่นเอง
การวัดความยากจนจากตัวเลขรายได้ที่เรียกว่าเส้นความยากจน (poverty line) ได้รับการส่งเสริมอย่างแข็งขันจากธนาคารโลก โดยระบุว่ามาตรฐานของการดำรงชีวิตอยู่สามารถวัดได้จากการมีรายได้ในระดับครัวเรือน และนำรายได้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่เพียงพอ การครอบครองเป็นเจ้าของสินค้ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนยากจน (the world bank,1990, p.13) การวัดความยากจนจากรายได้ขั้นต่ำที่พึงได้รับนี้ นำไปสู่ข้อเสนอการขจัดความยากจนให้หมดไปจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ กล่าวคือยิ่ง GDP สูงความยากจนก็ยิ่งมีแนวโน้มลดลง ดังเช่น World Bank ได้พยายามพิสูจน์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นผลดีต่อความยากจน
จากงานวิจัยหลายเรื่อง แต่ที่ถูกหยิบยกนำมากล่าวอ้างในตำราเศรษฐศาสตร์การพัฒนาได้แก่เรื่อง "การขยายตัวเป็นผลดีต่อคนยากจน" (Growth is Good for the Poor) โดย ดอลลาร์และเครย (Dollar and Kraay ,2001) ทั้งสองคนเป็นนักวิจัยของธนาคารโลก งานวิจัยนี้พยายามจะชี้ให้เห็นด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า รายได้หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้นได้กระจายไปสู่คนจน ที่ยิ่งรายได้ของประเทศมีสูงคนจนก็ยิ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงตามไป
นอกจากนั้นในโครงการวิจัยชุดเดียวกันอีกเรื่องที่ชื่อว่า "การค้า, การขยายตัว, และความยากจน" (Trade, Growth, and Poverty, 2001) มีเนื้อหายืนยันถึงผลดีของการเข้าสู่กระบวนการ Globalization ว่า ภายหลังปี 1980 เป็นต้นมาประเทศต่างๆ ได้เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ ทำให้มีการลดกำแพงภาษีลง ซึ่งก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา แต่หลังจากปี 1980 กลับพบว่า ประเทศที่เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ ซึ่งได้แก่ประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก(WTO) และดำเนินนโยบายการเสรีการค้า เริ่มมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ขณะที่การขยายตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วชะลอตัวลง เช่นเดียวกับประเทศที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์
โดยพบแบบแผนเดียวกันนี้เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการค้า ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้วย. ในปี 1990 ประเทศกลุ่มที่เปิดรับโลกาภิวัตน์ (Globalizing development) เศรษฐกิจขยายตัว 5% ประเทศพัฒนาแล้ว 2.2% ประเทศที่ไม่เปิดรับโลกาภิวัตน์ (Non Globalizing development) เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.4%. วาทกรรมการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศต้อนรับโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นผลดีต่อการลดความยากจนนี้ เป็น 2 วาทกรรมหลักของธนาคารโลกที่เผยแพร่มาจนกระทั่งปัจจุบัน
แต่การนิยามความยากจนที่รายได้และมุ่งสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความยากจนเพียงอย่างเดียว ทำให้สถานการณ์แก้ปัญหาความยากจนดูจะเลวร้ายลงในหลายประเทศ นับแต่ปี 1990 ที่แต่ละประเทศมีข้อตกลงกันว่าจะลดจำนวนคนยากจนให้เหลือครึ่งหนึ่งในปี 2015 ตามฉันทามติที่เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหศวรรษ (Millennium Development Goals). แต่ 10 ปีนับจากวันนั้นสามารถลดจำนวนคนยากจนลงได้ 137 ล้านคน ในปี 2000 หรือลดลงได้ร้อยละ 6.7 ขณะที่บางภูมิภาคมีอัตราคนยากจนลดลง แต่ในบางภูมิภาคกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เช่นในยุโรปและเอเชียกลาง (Europe and Central Asia) จาก 6 ล้านคนในปี 1990 เพิ่มเป็น 20 ล้านคนในปี 2000 และกลุ่มอาฟริกา (Sub-saharan Africa) จาก 241 ล้านคนในปี 1990 เพิ่มเป็น 323 ล้านคนในปี 2000 และถึงแม้ว่าธนาคารโลกยังคงยืนยันว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีผลดีต่อเป้าหมายการลดความยากจน แต่ก็ยอมรับว่า ด้วยระยะเวลาที่เหลือ 15 ปี ตามที่กำหนดไว้นั้น ในบางภูมิภาคอาจไม่เพียงพอที่จะลดความยากจนได้ตามเป้าหมาย แม้จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาคต่างๆ ก็ตาม (The World Bank, 2005, p. 21)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สร้างให้เกิดช่องว่างของการกระจายรายได้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอัตราคนยากจนที่ไม่ได้ลดลงในหลายประเทศ นำไปสู่การมองว่า ที่คนจนไม่ได้รับผลประโยชน์เป็นเพราะข้อจำกัดทางโครงสร้างที่ไม่สามารถกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนคนยากจนได้ เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการกระจายทรัพยากรใหม่ (redistribution) เพราะโครงสร้างที่มีอยู่เดิมไม่เป็นธรรม เหนี่ยวรั้งคนจนไว้ ทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีทักษะที่ดีพอในด้านอาชีพ รวมไปถึงค่านิยมและการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง จุดสนใจจึงหันกลับมาที่รัฐในการทำหน้าที่กระจายทรัพยากร และผลประโยชน์ลงไปถึงคนยากจน แทนที่จะสนใจเพียงการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
ด้วยมุมมองที่ว่า ภาวะความยากจนเกี่ยวพันธ์โดยตรงกับการพัฒนามนุษย์
ที่ไม่เพียงแต่จะพิจารณาเฉพาะรายได้ที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่การพัฒนาหมายรวมถึงความสามารถที่บุคคลจะเข้าถึงการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข
โดยมีอิสระที่จะเลือกวิถีทางการดำรงชีวิตด้วยตัวเอง. อมาตยา เซ็น (Amartya Sen)
เสนอว่าการพัฒนาจะต้องนำไปสู่ความสามารถที่จะเข้าถึงการได้รับสินค้า และการบริการ
(capability to function) โดยบุคคลต้องมีอิสระ(freedom) และความสุขที่จะเลือกในสิ่งที่เขาต้องการจะได้รับ
(Sen, Ed. by Goodin and Pettit, 1997 pp.476-486)
ดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) หรือ HDI
ปี 1990 องค์กรการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดทำตัวชี้วัดที่เรียกว่าดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์
(Human Development Index) หรือ HDI ขึ้น โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนคือความมั่งคั่งของชาติ
พื้นฐานของการพัฒนาก็เพื่อให้คนมีอิสระ (freedom) ทำให้คนมีความสามารถ (capabilities)
โดยเปิดช่องทางให้เกิดทางเลือกที่จะมีความสุขในชีวิต ซึ่งประชาชนนั้นเป็นทั้งผู้ก่อให้เกิดการพัฒนาและผู้รับผลของการพัฒนา
ดังนั้น HDI จะเป็นตัวชี้ถึงความเท่าเทียมกันของปัจเจกบุคคลในการได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนา
ซึ่งดัชนีที่ใช้วัดระดับการพัฒนามนุษย์ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด
1) ความยืนยาวของชีวิต (life expectancy at birth)
2) ความรู้ (knowledge) ซึ่งได้แก่ จำนวนของผู้ที่อ่านออกเขียนได้ ค่า Ratio ของจำนวนผู้ได้รับ
การศึกษาในระดับ ประถม มัธยม และอุดมศึกษา
3) ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเบื้องต้นต่อหัว ที่ปรับค่าตามค่าครองชีพของประเทศนั้นๆ {GDP per capita (ppp US$)} (United Nation Development Program, 2005 : 127)
การจัดทำตัวชี้วัด HDI นี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างความแตกต่างของปัจเจกบุคคลในการรับผลการพัฒนา จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยประเทศต่างๆ พยายามสร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการได้รับบริการ พร้อมไปกับการสร้างรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัฐจัดสรรการบริการด้านสาธารณสุข และการศึกษาแก่ประชาชน นอกจากนั้นยังเป็นการลดความยากจนลงในทางอ้อม เมื่อรัฐเข้าไปแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านความจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้แทนประชาชนที่ยากจน กล่าวได้ว่า HDI เกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะกำกับให้ประเทศต่างๆ ส่งผ่านผลประโยชน์ในรูปสวัสดิการทางสังคมไปสู่ประชาชนที่ยากจนเพิ่มมากขึ้น และกระจายผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายของรัฐเพื่อส่งผ่านไปยังคนยากจน
พร้อมไปกับมาตรวัดความยากจนแบบที่ให้ความสำคัญกับคน ในการได้รับผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ. UNDP ได้เสนอแนวทางที่หลากหลายซึ่งจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างใหม่ของการกระจายทรัพยากร โดยเสนอให้มีนโยบายเติบโตอย่างเท่าเทียม (growth with equity) ด้วยการสร้างงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนยากจนโดยการลงทุนจากภาครัฐ การควบคุมราคาอาหารที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และให้การบริการด้านการศึกษา และการสาธารณะสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งให้มีสถาบันการเงินขนาดเล็กในท้องถิ่นที่คนจนจะสามารถกู้ยืมเงินได้ (United Nation Development Program, 1990, p.61-83)
ธนาคารโลกกับนโยบาย Post
Washington Consensus
ในช่วงเวลาเดียวกันธนาคารโลก ก็ปรับนโยบายใหม่ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ
โดยส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนกำหนดทิศทางการพัฒนา รู้จักกันในชื่อ"หลังฉันทานุมัตรวอชิงตัน"
หรือ PWC (Post Washington Consensus) อันเป็นผลมาจากองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลก
ได้เคลื่อนไหวคัดค้านความผิดพลาดในวิธีคิดของการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งล้มเหลวในเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถปรับให้เกิดประโยชน์ต่อความยากจนได้
แต่เหตุผลที่ลึกกว่านั้นจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารโลกโดย กิบบอน (Gibbon 1995) พบว่า สหรัฐอเมริกาที่เดิมใช้ธนาคารโลกเป็นเครื่องมือด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เริ่มเห็นถึงการสูญเสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ประสบผลสำเร็จด้านการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกสินค้าเกษตร รัฐบาลของประเทศเหล่านี้เริ่มมีความเข้มแข็งในการปกป้องสินค้านำเข้าจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และบทบาทของธนาคารโลกในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเริ่มลดลง ดังนั้นภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในสหรัฐฯ ที่เคยได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานของธนาคารโลก มีความประสงค์ต้องการให้ธนาคารโลกคงบทบาทสำคัญในการชี้นำนโยบายอยู่ต่อไป และต้องการให้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเม็ดเงินที่ลงไปในรูปของเงินกู้จากประเทศกำลังพัฒนากลับคืน
ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้เป็นตลาดส่งออกในสินค้าระดับกลาง เพราะเริ่มมีข้อจำกัดด้านความต้องการซื้อสินค้าระดับนี้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงได้ผลักดันให้ธนาคารโลกปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ (Storey, 2000, pp.361-370) ไปสู่การเสนอแนวคิดการเปิดประเทศรับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ก็ยังคงยืนยันว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีผลดีต่อคนยากจน เพียงแต่การขยายตัวเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีการส่งผ่านทรัพยากรโดยประเทศที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการจัดการของสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่สามารถลดความยากจนลงได้ (The World Bank, 2004 ,pp. 2-3b.)
ธนาคารโลกยังเสนอด้วยว่า กระบวนการโลกาภิวัตน์ (globalization) ซึ่งได้แก่ การลดลงของต้นทุนการคมนาคมขนส่ง การกีดกันทางการค้า ความสามารถในการติดต่อสื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี รวมถึงการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานเป็นผลดี โดยทำให้เกิดวัฒนธรรมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน (uniformity of culture) เมื่อประเทศต่างๆ ลดกำแพงภาษีลงก็จะเกิดการเคลื่อนย้ายทุนจากประเทศพัฒนาแล้วมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา ที่ดินที่มีอยู่มากมายถูกนำมาใช้ประโยชน์สร้างผลผลิต ซึ่งกระบวนการนี้เป็นพลังสำคัญในการลดความยากจน จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยืนยันว่าระหว่างปี 1993-1998 ประเทศที่เปิดระบบเศรษฐกิจเข้ากระบวนการโลกาภิวัตน์ มีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวถึงร้อยละ 5, ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น นอกจากนั้นยังสามารถลดคนยากจนที่เป็นประชากรของประเทศในกลุ่มเปิดรับโลกาภิวัตน์นี้ได้อีกถึง 120 ล้านคน (The World Bank, 2002, pp. 1-4)
จากบทบาทขององค์กรการพัฒนาแห่งสหประชาชาติที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมในการมองความยากจน ประกอบกับการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารโลก การมองความยากจนอันเป็นผลมาจากโครงสร้างจึงได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบชัดเจน และมีคำตอบสำหรับการนำไปใช้งานแบบสินค้าสำเร็จรูป ทำให้มาตรวัดความยากจนหันมาให้ความสนใจกับดัชนีชี้วัดคุณภาพของคนมากขึ้น เป็นการวัดแบบหลากหลายมิติ (multidimensional approach) ให้ความสำคัญกับความจำเป็นพื้นฐาน(basic needs) ของคน และไม่จำกัดอยู่ที่มิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงมิติด้านสังคมด้วย ซึ่งมาตรวัดดังกล่าวได้แก่มาตรวัดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง (Boltvinik, 2000, pp. 1-6) พร้อมไปกับมาตรวัดแบบหลายมิติ
โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม
หรือ Social Safety Net
การแก้ปัญหาความยากจนได้ถูกทำให้กลายเป็นตัวแบบสำเร็จรูปมากขึ้น มีคู่มือแนวทาง
และผลงานวิจัยของประเทศต่างๆ ที่ใช้วิธีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้กระจายผลการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปสู่คนยากจน
ซึ่งเรียกรวมวิธีการปรับโครงสร้างดังที่กล่าวอ้างว่า "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม"
หรือ "Social Safety Net" ซึ่งหมายถึงการให้ความช่วยเหลือหรือสวัสดิการสังคมที่ส่งผ่านไปสู่คนยากจน
เพื่อฟื้นฟูเยียวยา ในด้านการเข้าถึงทรัพยากรและรายได้ โดยฟื้นฟูคนยากจนให้กลับมามีศักยภาพด้านการผลิตอีกครั้ง
นโยบายนี้ประกอบไปด้วย การส่งผ่านเงินไปยังคนยากจน (cash transfers) โดยอาจส่งผ่านเพื่อให้การสนับสนุนในด้านการเรียนในโรงเรียน หรือการได้รับการบริการสุขภาพ หรือแม้แต่การส่งเงินไปให้โดยตรงในรูปของเงินกู้หมุนเวียน นอกจากการส่งผ่านเงินลงไปแล้ว ก็ยังมีเรื่องอาหารในรูปของคูปองแลกอาหาร สนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียน การควบคุมราคาหรือการที่รัฐให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อให้คนยากจนสามารถซื้ออาหารได้ในราคาถูกลง นอกจากนั้นก็มีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือในด้านการจ้างงาน ในลักษณะงานสาธารณะ (public works) ที่รัฐจ้างประชาชนทำงานในฤดูว่างงาน รวมถึงการให้การรักษาพยาบาล การคุมกำเนิด ฉีดวัคซีน ที่รัฐให้บริการประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (The world bank, online, 2007)
ในกรณีของประเทศไทย ได้นำทุกวิธีการมาใช้ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในรูปของการส่งผ่านเงินไปโดยตรง จากนโยบายกองทุนหมู่บ้าน และ SML, 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการธงฟ้าราคาประหยัด หรือกรณีการจ้างงานสาธารณะก็เคยถูกใช้มาแล้วในรูปของโครงการเงินผัน ในสมัยรัฐบาล มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และปรับเปลี่ยนเป็นโครงการ กสช. (การสร้างงานในชนบท) สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รวมถึงโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียนในหลายรัฐบาล
แม้ว่าเหตุแห่งความยากจนจะขยับออกห่างจาก "คนยากจน" แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงได้รับอิทธิพลจากลักษณะความบกพร่องของคนยากจนเอง จนเกิดเป็นวัฒนธรรมความยากจน เพราะสิ่งเหล่านี้แม้จะถูกกำหนดขึ้นโดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองก่อให้เกิดลักษณะความยากจน แต่ขณะเดียวกันความยากจนก็สร้างบุคลิก วัฒนธรรมแห่งความยากจนขึ้น และสะท้อนกลับมาส่งเสริมให้เกิดความยากจนต่อคนจนมากยิ่งขึ้นไปอีก (Kerbo, 2000, pp. 245-263)
จะเห็นได้ว่ามุมมองที่มีต่อปัจเจกบุคคล และวัฒนธรรมของความยากจนนั้นไม่ได้หมดไป เพราะแม้ว่าจะมองว่าโครงสร้างได้สร้างความยากจนขึ้น แต่ลักษณะความบกพร่องของคนยากจนก็ยังดำรงอยู่ และพร้อมจะสืบเชื้อสายของวัฒนธรรมความยากจน ดังจะเห็นได้จากการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนที่สะท้อนภาพความบกพร่อง ไร้ระเบียบของคนยากจน เช่น "จน เครียด กินเหล้า" ในโฆษณาให้ประชาชน ("คนยากจน") เลิกเหล้า หรือคำพูดก่อนเริ่มรายการประกาศหาผู้สมัครงานที่ว่า "ไม่เลือกงานไม่ยากจน" เหล่านี้ล้วนสะท้อนภาพวัฒนธรรมความยากจน และความบกพร่องของการประพฤติปฏิบัติของคนยากจน
ขณะที่การมองความยากจนอันเป็นผลมาจากโครงสร้าง ก็ได้นำไปสู่การสร้างคนยากจน ให้กลายเป็นเป้าหมายของการพัฒนาฟื้นฟู คนยากจนกลายเป็นศูนย์กลางที่ทุกฝ่ายมุ่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ดังที่การพัฒนาในปัจจุบันมักพูดว่า คน(จน)เป็นศูนย์กลาง วิธีการที่ทำให้คนเป็นศูนย์กลางนี้ก็คือ การทำให้เป้าหมายของการพัฒนาอยู่ที่ปัจเจกบุคคล และใช้ตัวชี้วัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคน เป็นสิ่งบ่งบอกความสำเร็จของการพัฒนา
ความหมายของความยากจน ในปัจจุบันจึงเป็นความขาดแคลน ทั้งในเรื่องรายได้ การศึกษา การบริการสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นสวัสดิการที่รัฐพึงจัดให้อย่างครอบคลุมทั่วถึงและเป็นธรรม เป็นเรื่องของโอกาสที่รัฐมีหน้าที่ต้องหยิบยื่นโอกาสเหล่านี้ให้เพื่อสามารถเลื่อนฐานะขึ้น นอกจากนั้นยังพิจารณาไปถึงอำนาจ สิทธิเสรีภาพ มิติของความยากจนจึงมีหลากหลายมิติ (Mooney, 2002, p. 284) แต่ทั้งหมดถูกทำให้มาตรฐานสากล ในรูปของดัชนีชี้วัดที่ง่าย สะดวก และเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการพัฒนาซึ่งได้แก่ เส้นความยากจน (poverty line) และดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ (HDI) และดัชนีชี้วัดอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ วัดปริมาณตัวเลขที่สะท้อนถึงการได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน การได้รับบริการสาธารณสุขและพฤติกรรมด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนา และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนถูกกำหนดขึ้นจากสังคมตะวันตก และประเทศที่พัฒนาแล้ว
จากความผันแปรไปของความหมายความยากจน ในปัจจุบันจึงมีลักษณะที่เหลื่อมซ้อน เชื่อมโยง ทั้งจาก สถานะทางสังคมที่ด้อยกว่าต่ำกว่าของคนยากจน การมีรายได้ที่ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต การไม่ได้โอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากร เป็นบุคคลที่การศึกษาต่ำ สุขภาพอนามัยมีปัญหา ขาดทักษะการทำงาน และยังคงแฝงไว้ด้วยคุณลักษณะอันไม่พึงประสงค์ ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยา อันเป็นความบกพร่อง ผิดปกติของคนยากจนที่สามารถสืบทอดส่งต่อไปยังลูกหลานได้
สำหรับผู้สนใจเรื่องเกี่ยวกับปัญหาคนจน
สามารถคลิกไปดูหัวข้อเพิ่มเติมได้ที่
Poor, Poverty (ดูคำว่า
people และ Grass roots ประกอบ)
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
ความยากจนก่อนสังคมอุตสาหกรรม
ก่อนสังคมอุตสาหกรรมการมองความยากจนนั้น
เป็นการช่วยเหลือคนจนด้วยความเมตตา เป็นการทำบุญ ให้ทาน ซึ่งคนจนพึงได้รับจากสังคม
ระบบค่านิยมของสังคมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อรับเอาการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาใช้
คนจนกลายเป็นคนที่สมควรได้รับการตำหนิ เป็นคนที่ไม่รู้จักพอ ไร้ศีลธรรม เป็นคนบาป
และเป็นผู้ถูกลงโทษจากพระเจ้า ซึ่งเป็นมุมมองในตอนต้นของสังคมทุนนิยม แนวคิดนี้ทำให้คนจนเป็นที่น่ารังเกียจ
ไม่สมควรคบหาสมาคมด้วย โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดกลุ่มทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่
ที่มองว่าคนยากจนคือคนที่บกพร่องในการทำหน้าที่ต่อสังคม เป็นบุคคลที่ไม่ทำงาน
ขี้เกียจ และสมควรจะถูกลงโทษหรือขจัดให้หมดสิ้นไปจากการเลือกสรรโดยสังคม
อันมีพื้นฐานจากแนวคิดการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในสังคม (social Darwinism) ผู้ที่แข็งแรงกว่า ขยัน ฉลาด คือผู้สมควรสืบทอดเผ่าพันธุ์ และผู้ที่จน โง่ ขี้เกียจก็ไม่สมควรอยู่ (Feagin and Feagin 1997, pp. 97) การสร้างความหมายให้กับคนยากจนจึงไม่ใช่เป็นบุคคลที่สมควรได้รับความช่วยเหลือด้วยความเมตตา หรือความมีมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์อีกต่อไป
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++