โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 07 October 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๗๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (October, 07, 10, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ปัจเจกชนมีอำนาจ และพยายามฟื้นความสำคัญของประธาน (subject) ในฐานะผู้กระทำทางสังคม (social agent) เพื่อเสริมอำนาจ (empower) ให้กับกลุ่มคนชายขอบ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นไปได้ ปัจเจกบุคคลจึงไม่มีลักษณะที่มีบุคลิกภาพเดียว แต่ต้องมีลักษณะแยกแตก (decenter) องค์ประธานที่ฟื้นคืนชีพนี้จึงเป็นผู้ที่พยายามแสวงหาอิสรภาพแห่งตน พยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้ตนเอง เป็นนักเคลื่อนไหวที่มุ่งประกาศอิสรภาพจากกฎสากลและกฏของชุมชน เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิตนเองเป็นสำคัญ
07-10-2550

Postmodernism
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บทนำเบื้องต้นสำหรับนักหลังสมัยใหม่ศึกษา
Post-modern: มองหลังสมัยใหม่ สังคม คน ความคิด
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ : สถาบันรามจิตติ
พัฒนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

บทความวิชาการนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องหลังสมัยใหม่อย่างเป็นระบบ
โดยได้มีการนำเสนออย่างเป็นขั้นตอน ดังต่อไปนี้


บทนำเบื้องต้นสำหรับนักหลังสมัยใหม่ศึกษา
1) สังคมหลังยุคสมัยใหม่
2) มนุษย์/บุคคลในหลังยุคสมัยใหม่
3) ผู้นำความคิดหลังยุคสมัยใหม่
4) แนวคิดหลังสมัยใหม่ : หลากหลายวิถีทรรศน์ ที่ไม่มีคำตอบตายตัว
-ตารางความแตกต่างระหว่างกระบวนทัศน์สมัยใหม่และหลังสมัยใหม่
-
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๗๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทนำเบื้องต้นสำหรับนักหลังสมัยใหม่ศึกษา
Post-modern: มองหลังสมัยใหม่ สังคม คน ความคิด
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ : สถาบันรามจิตติ
พัฒนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

หลังทศวรรษที่ 1960 เรื่อยมา เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มก่อร่างกระแสความคิดแบบยุคหลังสมัยใหม่ (Post-modern) ที่ยังไม่ชัดเจนนัก หากแต่เป็นกระแสที่เน้นการวิพากษ์และตั้งคำถามต่อแนวคิดภาวะทันสมัยที่ยังคงเป็นกระแสหลักของการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นก็มีแนวคิดอื่นๆ เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ อาทิ แนวคิดทฤษฎีระบบโลก World System Theory ที่ให้ความสนใจกับระบบและความสัมพันธ์ในการพึ่งพาอาศัยกันและกัน(Interdependency) ในช่วงยุคนี้จะมีการเกิดองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมากมาย เกิด Good governance รวมไปถึงแนวคิดปรากฏการณ์นิยม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงยุคได้รับอิทธิพลจากแนวคิดวิทยาศาสตร์ของไอสไตน์ในเรื่องสัมพันธภาพนิยม (Relativitism)

อิทธิพลของแนวคิดดังกล่าวข้างต้นได้มีส่วนในการก่อเกิดแนวคิดใหม่ๆ หรือที่เรียกกว่า กระแสแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ที่วิพากษ์ถึงกระบวนทัศน์ "การพัฒนา" ว่าได้ก้าวสู่จุดจบของ "สังคมสมัยใหม่" (modern sociality) หรือมองว่า "สังคมอุดมคติ" (utopia) ของกลุ่มสังคมนิยมเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริง แต่ถึงกระนั้นแนวคิดหลังยุคสมัยใหม่ก็ได้กล่าวถึงเรื่องของการพัฒนาว่า ผลของความเป็นสมัยใหม่จาก "การพัฒนา" ได้สร้างสถาบันทั้งหลายที่เกี่ยวกับระเบียบวินัยขึ้นมา ปฏิบัติการต่างๆ และวาทกรรมหลายหลากที่ทำให้วิธีการต่างๆ ของมันในการครอบงำและบังคับควบคุมเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่สำหรับนักหลังสมัยใหม่มันคืออำนาจและมายา แต่กระนั้นกระแสแนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมิใช่เพียงวิพากษ์สังคมยุคทันสมัยนิยมเท่านั้น หากแต่ยังสนใจต่อสังคมยุคที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา รวมถึงสังคมในปัจจุบัน ที่อาจเรียกรวมว่า "สังคมหลังยุคทันสมัย" หรือ "สังคมหลังยุคสมัยใหม่"

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระแสความสนใจต่อการศึกษาแนวคิดหลังสมัยใหม่นั้นมีมาก และมักจะตีความหรือเข้าใจว่าแนวคิดดังกล่าวหลากหลายจนไร้จุดยืน งานเขียนชิ้นนี้จึงพยายามประมวลความคิดที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้ผู้สนใจได้มองหลังสมัยใหม่อย่างรอบด้านยิ่งขึ้น โดยงานเขียนนี้ได้เสนอว่า กระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่นั้น มองสังคม คน อย่างไร? ใครคือผู้นำทางความคิด และหลักการหรือแนวคิดสำคัญๆ ที่มีอิทธิพลต่อวงการแนวคิดหลังสมัยใหม่ตัวอย่างใดบ้าง เพื่อเป็นแนวทางการทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ต่อๆ ไป

1) สังคมหลังยุคสมัยใหม่
ยุคหลังสมัยใหม่กำลังก้าวเข้ามาแทนที่ยุคสมัยใหม่อย่างท้าทาย ด้วยนัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม อาทิ จันทนี เจริญศรี กล่าวว่า (2544 : 1)

- ลักษณะทางเศรษฐกิจที่ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมมวลชน (mass consumerism)
ความเป็นยุคทุนนิยมตอนปลาย (late capitalism) ( Bell, 1976)

- ลักษณะการผลิตเป็นแบบหลังอุตสาหกรรม (post-industrial) ความเป็นสังคมข่าวสาร สังคมที่ประกอบขึ้นจากการจำลอง
(simulation) (Bogard ,1992)

- ลักษณะล้ำความจริง (hyperreality) การยุบตัว (implosion) รวมถึงรูปแบบใหม่ทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรม เป็นยุคที่สื่ออีเลคโทนิคส์ซึ่งสามารถตัดข้ามผ่านพื้นที่ทางกายภาพจะเข้ามาแทนที่ "ชุมชน" อันจะทำให้แนวคิดเรื่องสังคมจะกลายเป็นเพียงภาพลวงตา (Bogard ,1992)

บรรดานักทฤษฎีเกี่ยวกับความเป็น postmodern เช่น Baudrillard, Lyotard, Harvey, ฯลฯ ให้เหตุผลว่า เทคโนโลยีต่างๆ อย่างเช่น คอมพิวเตอร์และสื่อ รูปแบบใหม่ของความรู้ และการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมเศรษฐกิจต่างๆ กำลังสร้างรูปแบบทางสังคมหลังสมัยใหม่อันหนึ่งขึ้นมา Baudrillard และ Lyotard ได้ตีความพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงในแบบฉบับที่แปลกใหม่ของข้อมูล ความรู้และเทคโนโลยี ขณะที่บรรดานักทฤษฎีนีโอ-มาร์กซิสท์ทั้งหลาย อย่าง Jameson และ Harvey ได้ตีความ postmodern ในเทอมต่างๆ ของพัฒนาการเกี่ยวกับขั้นตอนที่สูงกว่าของลัทธิทุนนิยม (higher stage of capitalism) ซึ่งมันได้รับการทำเครื่องหมายขึ้นมาโดยการแทรกซึมของทุนในระดับที่สูงขึ้น และการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันข้ามโลก (สมเกียรติ ตั้งนโม, 2544)

พร้อมกับอ้างความถูกต้องชอบธรรมในเรื่องการทำให้เกิดความก้าวหน้าในเรื่องเสรีภาพของปัจเจก เพราะสิ่งเหล่านี้ มัน "เป็นจริง" ขึ้นมาได้โดยผ่าน "ตลาด" นับแต่ที่มันได้รับการพิสูจน์ในทันทีโดยการมีส่วนร่วมในบรรทัดฐานแห่งความสำเร็จเพียงลำพังของมันกับเทคโนโลยี ซึ่งกลายเป็นวิถีเกี่ยวกับการผลิตความรู้ ข้อมูลข่าวสารและอำนาจ (http://www.geocities.com/midfrontpage/ newpage28.html)

กระบวนการต่างๆ เหล่านี้กำลังสร้างการแตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นด้วย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในประสบการณ์เกี่ยวกับพื้นที่ว่าง เวลา และลักษณะใหม่ๆ ของประสบการณ์ ความเป็นตัวตน และวัฒนธรรม ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ได้ให้พื้นฐานสังคมเศรษฐกิจและรากฐานทางวัฒนธรรมสำหรับทฤษฎีหลังสมัยใหม่ และการวิเคราะห์ของมันได้ให้มุมมองและทัศนียภาพต่างๆ จากสิ่งซึ่งทฤษฎีหลังสมัยใหม่สามารถอ้างได้ว่า อยู่บนแถวหน้าสุดของพัฒนาการร่วมสมัย (สมเกียรติ ตั้งนโม, 2544) ดังนั้นการเสนอแนวคิดเรื่องวาทกรรม (discourse) การวิเคราะห์วาทกรรม (analysis discourse) ของ Foucault แนวคิดเรื่องเกมส์ของ Lyotard หรือแนวคิด "อนุพรรณา" ของ Rorty ฯลฯ จึงมีอิทธิพลต่อมุมมองสังคม รัฐ และคนในยุคหลังสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม สังคมหลังสมัยใหม่ในทัศนะของ Foucault คือสังคมที่เต็มไปด้วยการช่วงชิงอำนาจ ซึ่งอำนาจมีอยู่ทุกหนทุกแห่งเปรียบเสมือนเครือข่ายที่โยงใยกัน หากแต่มีระดับอำนาจหรือคุณภาพที่ต่างกันตั้งแต่ระดับผู้นำจนถึงผู้ตาม เมื่อใครมีอำนาจก็จะต้องได้รับการท้าทายและเมื่อผู้ท้าทายได้อำนาจแล้วก็จะมีผู้ท้าทายขึ้นมาใหม่ ดังนั้นสังคมอุดมคติตามแนวคิดของ Foucault คือ "ส่วนขยายของสังคมปัจจุบัน" การใช้เทคนิคความรู้ในการจัดการสรรพสิ่งต่างๆ ในรัฐนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาบุคคลที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จึงทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องใช้บุคลากรที่มีประสบการณ์จากการบริหารรัฐเก่า การนำเอาบุคคลเหล่านี้มาใช้ในการบริหารรัฐนั้นเท่ากับเป็นการสืบทอดคุณสมบัติของสังคมเก่านั่นเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ Foucault มิได้นำเสนอสังคมอุดมคติแบบ Utopia หรือหาทางออกให้กับสังคม

ดังนั้นเทคนิคและยุทธวิธีของการจัดการ/ใช้อำนาจของสังคมแบบสมัยใหม่ ที่ผู้นำเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายหรือสร้างความอยู่ดีมีสุขให้ประชาชนนั้น จึงไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ดั้งเดิมแล้วตามท้องถิ่น มาเป็นส่วนที่จะช่วยทำให้เครือข่ายของอำนาจสมบูรณ์ขึ้น (จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร, 2546) เช่น อำนาจของชาวบ้าน อำนาจของโรงเรียน อำนาจของชาวนา เป็นต้น การมองว่าสังคมแต่ละสังคมนั้นๆ มีความหลากหลาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำให้ต้องเป็นเอกภาพหรือส่วนรวมเหมือนกันทั้งโลก (unity) Foucault จึงเน้นความสำคัญของอำนาจที่มีอยู่/เกิดขึ้นตาม "ชายขอบ" ด้วย ซึ่งเป็นคนละเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ชายขอบ ของแนวคิดแบบพหุนิยมของนักรัฐศาสตร์ที่ท้ายที่สุดจะกลับมาสู่การรวมศูนย์ (recentralized) อย่างไรก็ตาม Foucault ก็ยังเห็นว่า แม้อำนาจจะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่อำนาจก็จะถูกท้าทายจากกลุ่มต่างๆ ที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ กลุ่มผู้หญิง ฯลฯ ด้วย

นอกเหนือจาก Foucault แล้ว นักหลังสมัยใหม่นิยมหลายท่านยังได้เสนอภาพของสังคมหลังสมัยใหม่ไว้ต่างๆ นานา ซึ่งทัศนะของ Lyotard ลักษณะของสังคมที่พึงประสงค์อาจเป็นสังคมระดับเล็ก ที่มีเรื่องเล่าในระดับแคบ (litter narrative) ที่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้โดยอาศัยความรู้เฉพาะท้องถิ่น นอกจากนี้แล้วยังมองว่า ชุมชนไม่มีเอกภาพ มีแต่ความหลากหลาย (Roseanau,1992 อ้างถึงใน จันทนี เจริญศรี, 2544) แนวคิดหลังสมัยใหม่ยังเน้นเรื่องความแตกต่าง (difference) และการสร้าง "อัตลักษณ์" (identity) ตามแต่ถิ่นที่ด้วย

2) มนุษย์/บุคคลในหลังยุคสมัยใหม่
แนวคิดเกี่ยวกับ "คน" หรือมนุษย์ในสังคมหลังสมัยใหม่ นั้นมีมุมมองที่เปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากฐานคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังผ่านสมัยใหม่
นับตั้งแต่ประเด็นที่มองว่า

ประธาน น ปัจเจกชน : เมื่อประธาน (subject) เป็นเพียงภาพลวงตา นักคิดหลังสมัยใหม่จึงได้เสนอภาพของปัจเจกชนขึ้นมา ซึ่งนักคิด postmodern ต่างก็มีจุดยืนในเรื่องปัจเจกชนใน 2 รูปแบบ โดย

1) นักคิดแบบสุดขั้ว
เห็นว่า ปัจเจกชนหลังสมัยใหม่คือผู้ที่มีชีวิตอยู่โดยเป็นบุคคลนิรนาม ไม่มีผลต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ ไม่มีความเป็นองค์ประธานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะประธานคือผู้กระทำแต่ฝ่ายเดียวที่จำเป็นต้องมีกรรม (object) รองรับ ดังนั้นปัจเจกชนจึงเป็นเรื่องตรงข้าม (จันทนี เจริญศรี, 2544 : 50) ปัจเจกชนแบบหลังสมัยเป็นคนที่หยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกภายใน สร้างความเป็นจริงทางสังคมแบบของตัวเองขึ้น หาความหมายให้กับตัวเอง แต่ถือความเห็นส่วนตัว ไม่อ้างว่าความคิดตนคือสัจจะ อยู่กับปัจจุบัน ไม่วางแผนอนาคต ไม่ยึดติดไม่ผูกพันกับความคิดเก่าๆ

2) แนวคิดที่ประนีประนอม มองว่า ปัจเจกชนมีอำนาจ และพยายามฟื้นความสำคัญของประธาน (subject) ในฐานะผู้กระทำทางสังคม (social agent) เพื่อเสริมอำนาจ (empower) ให้กับกลุ่มคนชายขอบ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นไปได้ ปัจเจกบุคคลจึงไม่มีลักษณะที่เป็น logocentric หรือมีบุคลิกภาพเดียว แต่ต้องมีลักษณะแยกแตก (decenter) องค์ประธานที่ฟื้นคืนชีพนี้จึงเป็นผู้ที่พยายามแสวงหาอิสรภาพแห่งตน พยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้ตนเอง เป็นนักเคลื่อนไหวที่มุ่งประกาศอิสรภาพจากกฎสากลและกฏของชุมชน เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิตนเองเป็นสำคัญ (จันทนี เจริญศรี, 2544 : 52)

"ใครใหญ่?" : จากยุคสมัยใหม่ที่เน้นฝรั่งผิวขาวหรือคนตะวันตกเป็นผู้นำของโลก หรือเป็นผู้ประกาศวาทกรรมการพัฒนาที่ถือเป็นความจริงแท้เที่ยงธรรมที่สุดอันปฏิเสธไม่ได้เลยนั้น กลุ่มนักหลังสมัยใหม่กลับมองต่างขั้วในเรื่องนี้ และปฏิเสธความเชื่อดังกล่าวโดยพวกเขาบอกว่า ethnic group หรือชนกลุ่มน้อยที่เป็นรองในสังคม พวก minority หรือใครก็แล้วแต่ที่เคยด้อยกว่าในยุค modern นั้น สามารถที่จะประกาศวาทกรรมของตนได้เช่นเดียวกัน สามารถที่จะสร้าง "discourse" ของตนเองได้เช่นเดียวกันเหมือนกับคนผิวขาวหรือคนตะวันตก (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543) อันหมายความว่าคนตะวันตกที่ถือว่าตนทันสมัยนั้น หรือ "ใหญ่กว่า" "ดีกว่า" อาจไม่ได้เป็นหนึ่งหรือเจริญไปกว่าชาติใด การพยายามสร้างวาทกรรมเพื่อแย่งชิงอำนาจและครอบครองความเป็นใหญ่ในทุกด้าน การสร้างความมีตัวตนเรื่อง "the modern man" หรือ "the mature man" จึงถูกหักล้างด้วยวิธีคิดแบบหลังสมัยใหม่ที่มองต่างขั้วไปดังที่กล่าวไป

"ชาย = หญิง" : ในยุคสมัยใหม่ได้สืบทอดความคิดเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิงมาตามลำดับ แต่ในหลังสมัยใหม่กลับไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ บอกว่าผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงก็มีวาทกรรมของตนเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ผู้ชายเป็นฝ่ายกำหนด โดยเฉพาะโครงสร้างทางสังคม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมา ผู้หญิงเป็นเบี้ยล่างมาโดยตลอด เช่น การใช้นามสกุลของผู้ชายหลังแต่งงานก็ดี กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องชู้สาวก็ดี รวมไปถึงเรื่องของการจัดการด้านทรัพย์สิน และกระทั่งความไม่เท่าเทียมในเรื่องของการประกอบอาชีพและค่าแรง จะเห็นถึงความไม่เสมอภาคกันเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน (สมเกียรติ ตั้งนโม และคณะ, 2545)

"ปัญญาชน / ปุถุชน" :
หลังยุคสมัยใหม่ได้โต้แย้งทัศนะที่มองว่ากลุ่ม "ปัญญาชน" (technocrat) หรือผู้เชี่ยวชาญ (technician) ที่มีอำนาจอยู่เหนือปุถุชนธรรมดา (person) แท้จริงแล้วเป็นเพียงอะไรบางอย่างที่อยากจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมมนุษย์ ซึ่งทำให้ปัญญาชนสร้างภาพลวงตาและความหลงใหลในการ "ปลดปล่อย" มนุษย์ขึ้นมา (Richard Rorty,1998 : 230) ปัญญาชนพยายามสร้างภาพและจินตนการ บนเรื่องเล่าอภิพรรรณา(grand narrative) และอ้างสร้างความชอบธรรมบนตรรกะเหตุผลหรือวิธีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะสร้างขบวนการทางการเมืองที่ใหญ่โตขึ้น

Rorty (1998 : 235-239) เสนอว่า ปัญญาชนในยุคหลังสมัยใหม่ ควรยกเลิกความคิดว่าตนเองมีความสามารถพิเศษที่จะฉวยจับโลกได้เหนือกว่าคนธรรมดา โดยไม่จำเป็นต้องล้มล้างความหวังในการปลดปล่อยมนุษย์จากเงื่อนไขในการดำรงอยู่ที่เลวร้าย หยุดยั้งความพยายามที่จะมองหาจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์โลก รวมทั้งสัญลักษณ์และบุคคลของการเปลี่ยนแปลงนั้น หยุดความพยายามที่จะมีชัยชนะเหนือ "ระบบทุนนิยม" และหยุดมอง "อุดมการณ์ชนชั้นกระฎุมพี" หยุดค้นหา "ชนชั้นกรรมาชีพ" หยุดคิดถึงวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่อย่างเลนิน และหยุดพูดถึงจุดจบที่เป็นโศกนาฎกรรมอันยิ่งใหญ่อย่างโสกราตีส รวมทั้งยอมรับว่าตนเองไม่อยู่ในวิสัยที่จะเสนอพิมพ์เขียวใดๆ เพื่อเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงและสรรค์สร้างสังคมอุดมคติได้ แต่ต้องหันไปขบคิดให้มากขึ้นในเรื่องที่เป็นรูปธรรมต่างๆ เช่นการแก้กฎหมาย มติศาล ข้อตกลงระหว่างประเทศ ฯลฯ โดย Rorty เรียกร้องให้ปัญญาชนกลับไปหาประชาชนในระดับรากฐาน ยืนยันความจำเป็นของการสร้างขบวนการสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง รวมทั้งเสนอให้ปัญญาชนออกไปสู่การเมืองที่เป็นจริง มากกว่าจะหมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับการถกเถียงทฤษฎีใดๆ

เช่นเดียวกับ Foucalut (จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร, 2546 : น.192) ซึ่งก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ความสำคัญกับปัญญาชนมากนัก และมองว่า ปัญญาชนคือตัวแทนของระบบอำนาจ ดังนั้นมวลสมาชิกในสังคมจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปลดปล่อยตนเอง ด้วยการวิ่งไปพึ่งพาตัวแทนของอำนาจหรือปัญญาชนในการชี้นำอีกต่อไป แต่สมาชิกสามารถเข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง การต่อสู้ที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยปัญญาชนนี้ต่างหาก ที่จะทำให้มวลสมาชิกในสังคมบรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ ถ้ามวลสมาชิกในสังคมเหล่านี้ตรวจสอบเป้าหมายที่ต้องการได้ด้วยตนเอง

กล่าวโดยสรุปว่า แนวคิดหลังยุคสมัยใหม่หันมาให้ความสำคัญกับ "ปุถุชน" ที่อาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือปัญญาชนชั้นเลิศ และมองว่า "ปุถุชนธรรมดา" ก็สามารถสร้างวาทกรรมของตนเองได้เพราะมีอำนาจอยู่ในตน. การสร้างความรู้ ความจริง และอำนาจของปุถุชนนั้น ในแนวสุดขั้วอาจไม่ต้องพึ่งพาปัญญาชนเลย เพราะการพึ่งปัญญาชนคือการยอมให้อำนาจแบบเก่าครอบงำอยู่ แต่แนวคิดหลังสมัยใหม่ที่ประนีประนอมกลับเห็นว่า การผสานอำนาจระหว่างปัญญาชน (โดยเฉพาะปัญญาชนท้องถิ่น) กับปุถุชนจะนำไปสู่อำนาจอีกรูปแบบ ที่สามารถต่อสู้กับอำนาจครอบงำจากส่วนกลางได้ในอีกแบบหนึ่ง

3) ผู้นำความคิดหลังยุคสมัยใหม่
บรรดาผู้ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ postmodern ได้วิพากษ์วัฒนธรรม ทฤษฎี และการเมืองแนวขนบจารีตอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันพวกที่ให้การปกป้องเกี่ยวกับขนบประเพณีแบบ modern ก็ตอบโต้ด้วยการเมินเฉยหรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อพวกที่ท้าทายใหม่ๆ และมีการโจมตีพวกดังกล่าวด้วย นอกจากนี้บางคนก็มีปฏิกริยาตอบโต้ด้วยการพยายามที่จะเรียนรู้เรื่องราวของpostmodern ด้วยความยากลำบาก และแย่งชิงวาทกรรมใหม่ๆ และฐานะตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้เอาไว้. อย่างไรก็ตาม มีนักคิดจำนวนไม่น้อยได้ให้มุมมองต่อยุคหลังสมัยใหม่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดหลังสมัยใหม่อย่างมาก และได้เสนอแนวคิดทฤษฎีตลอดจนวิธีวิทยาของหลังยุคสมัยใหม่ที่น่าสนใจเอาไว้ อาทิ

C. Wright Mill เป็นนักคิดคนแรกที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สังคมกำลังก้าวสู่อีกขั้นตอนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง คือการก้าวสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (post-modernism) เป็นยุคที่สมมติธรรมเกี่ยวกับความสมานฉันท์ในค่านิยมที่ว่าด้วยความมีเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ และอิสรภาพทางการเมืองกำลังถูกท้าทาย เศรษฐกิจกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงปลายสมัยทุนนิยมสู่บริโภคนิยมมวลชน (mass consumerism) ด้วยลักษณะการผลิตแบบ post-industrial โลกกำลังเข้าสู่ยุคสังคมข่าวสาร ยุคคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกซึ่งมนุษย์ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ (ชนิตา รักษ์พลเมือง, 2545)

Michel Foucault นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ถือเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญของลัทธิหลังสมัยใหม่คนหนึ่ง ได้เปิดประเด็นวิจารณ์เกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่และลัทธิมนุษยนิยม ทั้งนี้คำประกาศของเขาเกี่ยวกับความตายของมนุษย์และการพัฒนามุมมองหรือทัศนียภาพใหม่ๆ ในทางสังคม ความรู้ (knowledge) วาทกรรม (discourse) และอำนาจ (power) (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, 2544) ทำให้เขากลายเป็นผู้นำความคิดหลักของ postmodern คนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อแนวความคิดเรื่องการศึกษากับการพัฒนา

Foucault แสดงการต่อต้านต่อขนบจารีตของยุคสว่าง (anti-Enlightenment) โดยปฏิเสธเรื่องของเหตุผล การปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ และความก้าวหน้า โดยถกถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างรูปแบบสมัยใหม่ต่างๆ ของอำนาจและความรู้ ที่ได้มารับใช้ ตกแต่ง และสรรค์สร้างรูปแบบใหม่ๆ ของการครอบงำขึ้นมา เขาได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม อาทิ The Order of Things ที่เสนอแนวคิดเรื่อง "วาทกรรม" (discourse) และการวิเคราะห์วาทกรรม (discourse analysis) ซึ่งเขามองว่า "การพัฒนา" ก็คือชุดของวาทกรรมที่ถูกกำหนดขึ้น ดังนั้นการพูดถึงการพัฒนา จึงเป็นการพูดถึงชุดของความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและสลับซับซ้อนระหว่างอำนาจ/ความรู้/ความจริง/เอกลักษณ์/ความเป็นอื่น ที่วาทกรรมการพัฒนาแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองผลิต/สร้างขึ้นมา พร้อมๆ กับต้องการฉีกออกไปจากสิ่งที่เรียกว่า "การพัฒนา" เพื่อรูปแบบการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องผูกติดยึดโยงอยู่กับเรื่องของการพัฒนาอีกต่อไป (Foucault,1990 อ้างถึงในไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545 : คำนำ;15)

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า Foucault ถือนักทฤษฎีคนหนึ่ง ผู้ซึ่งได้รวบรวมเอามุมมองและทัศนียภาพของ premodern, modern, และ postmodern มาไว้ด้วยกัน และความคิดของเขาได้ถูกฉีกทึ้งระหว่างความตรงข้ามกัน อย่างเช่น แรงกระตุ้นในลักษณะ totalizing / detotalizing และความตึงเครียดระหว่าง การทำให้เป็นทฤษฎีขึ้นมาของ discursive / extra-discursive, macro / microperspective, และ หลักวิภาษวิธีของ domination / resistance (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, 2544)

Richard Rorty ปรัชญาแนวปฏิบัตินิยมใหม่ที่เป็นผู้นำความคิดแบบ "หลังสมัยใหม่" (Richard Rorty,1998) ไม่เห็นด้วยกับทรรศนะความเชื่อที่ว่ามีสัจธรรม ปรัชญาและประวัติศาสตร์ ในความหมายของ Truth, Philosophy, History และเพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีเหตุผลพื้นฐานและหลักการสากลที่จะใช้ในการอธิบายและตัดสินคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่างได้ต่อไป โลกของ Rorty เป็นโลกที่แตกต่างจากโลกของเพลโต เฮเกล มาร์กซ์ และสเตร้าส์ ส่วน "อภิมหาพรรณนา" นั้น แม้จะมีความจำเป็นในทางการเมือง มากกว่าจะเป็นเรื่องที่มีความหมายโดยตัวเองจริงๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ อย่างน้อยก็ในขณะนี้ และในหนังสือของเขาเล่มที่เป็นเสมือนจดหมายเหตุว่าด้วยประวัติศาสตร์ปัญญาชนฝ่ายซ้ายในอเมริกาอย่างเช่น Achieving Our Country : Leftists Thought in Twentieth Century ก็คือการเรียกร้องให้ปัญญาชนฝ่ายซ้ายกลับไปมีบทบาทใกล้ชิดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใน "ระดับรากฐาน" เพื่อสร้างการเมืองแบบ "ก้าวหน้า" ให้คืนกลับมาใหม่

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของการศึกษา(education) Rorty จัดได้ว่าเป็นผู้ที่พูดถึงการศึกษามากที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ได้ต่อต้านการศึกษาแบบสุดขั้ว แม้จะมองว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนรับใช้ทุนนิยม แต่ในทางตรงกันข้าม Rorty กลับมองว่า การศึกษาจะช่วยสร้างความรู้และเครือข่ายออกไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

Jean Baudrillard ถือเป็นนักทฤษฎี postmodern ที่มีชื่อเสียงแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ผลงานต่างๆ ของเขาได้รับการแปลทั้งในภาษาสแปนิช อิตาเลี่ยน เยอรมัน และอื่นๆ ด้วย. Baudrillard ได้พัฒนาทฤษฎีที่ค่อนข้างสุดขั้วเกี่ยวกับความเป็นหลังสมัยใหม่ และมีอิทธิพลอย่างสูงในทฤษฎีทางวัฒนธรรม และการสนทนาเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนร่วมสมัย รวมไปถึงเรื่องของศิลปะ และสังคม ซึ่งเขาได้เสนอให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันเป็นเรื่องของ "สังคมล้ำความจริง" (Hypereal) อย่างที่เขาบอกว่า "เราอยู่ในโลกของภาพ แต่มันเป็นเพียงการจำลองขึ้น(โดยคอมพิวเตอร์)" (we live in a world of images but only simulations) (Shannon Weiss & Karla Wesley)

แนวคิดที่สำคัญของเขา คือการเสนอบทวิเคราะห์ขึ้นมาชุดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของวัตถุ เครื่องหมาย และสัญญะ ในสังคมบริโภคด้วยผลงานต่างๆ งานเขียนมากมายของเขาพยายามที่จะสังเคราะห์งานวิจารณ์แบบมาร์กเซียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองด้วย "สัญญวิทยา" หรือ "semiology" (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, 2546) อันหมายถึงวิธีการทางเทคนิคซึ่งผู้คนสื่อสารโดยผ่านสัญลักษณ์และภาพต่างๆ

นอกจากนั้นยังมีงานวิจารณ์ที่แหลมคมเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ในเรื่อง The Mirror of Production (1975; orig. 1973) และได้เสนอทางเลือก งานเกี่ยวกับ postmodern ที่ถกเถียงกันได้ มุมมอง ทัศนียภาพแบบกว้างๆ เกี่ยวกับสังคมร่วมสมัยในเรื่อง L'echange symbolique et la mort (1976) ในหนังสือต่างๆ ที่เป็นบทสนทนาอย่างกว้างขวางชุดหนึ่ง และบทความต่างๆ ในทศวรรษที่ 1970s และ 1980s, Baudrillard ได้ยึดติดกับสมมุติฐานล่วงหน้าบางอย่างเกี่ยวกับทฤษฎีและการเมืองสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ให้ทัศนียภาพและมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับ postmodern (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, 2544)

Jean-Francois Lyotard
ได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นนักทฤษฎีหลังสมัยใหม่ในระดับสุดยอด (par excellence) ในหนังสือของเขาเรื่อง The Postmodern Condition (1984; orig. 1979) ได้แนะนำถึงศัพท์คำนี้ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง และได้ถูกนำไปสนทนากันทั่วไปในการถกกันเกี่ยวกับหัวข้อ postmodern ในช่วงทศวรรษหลังมานี้ ระหว่างวันเวลาดังกล่าว Lyotard ได้ตีพิมพ์งานหนังสือขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งให้การส่งเสริมฐานะสภาพต่างๆ ของหลังสมัยใหม่ในทางทฤษฎี จริยศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ ซึ่งเขาเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ "อนุพรรณา" (litter narrative) ที่เน้นความสำคัญของการเล่าเรื่องในระดับแคบ

Lyotard ได้เสนอการหักล้างทฤษฎีและวิธีการของสมัยใหม่ รวมถึงทางเลือกหลังสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมชมชอบและแพร่หลายมากในหนังสือ Postmodern Theory. นอกจากนี้เขายังได้สนับสนุนเรื่องความแตกต่างและความเป็นพหุนิยมในอาณาจักรและวาทกรรมต่างๆ ทางทฤษฎี ขณะเดียวกันก็โจมตีทฤษฎีรวบยอดแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมด และทฤษฎีต่างๆ ของความเป็นสากลอย่างมีพลัง. ในหนังสือเรื่อง The Postmodern Condition, Just Gaming (1985; orig. 1979), The Difference (1988; orig. 1983) และหนังสือในชุดอื่นๆ และบทความต่างๆ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1980s เขาได้เรียกร้องความสนใจในความแตกต่าง ท่ามกลางพหุนิยมของกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดเกี่ยวกับถ้อยคำหรือวลีทั้งหลาย ซึ่งมีกฎระเบียบ บรรทัดฐาน และวิธีการต่างๆ ของตัวมันเอง

การเน้นเรื่องเกี่ยวกับความไม่เป็นเนื้อเดียวกัน(ความแตกต่าง)ของวาทกรรมทั้งหลาย โดยให้เหตุผลว่า อาณาจักรต่างๆ เหล่านั้นในฐานะที่เป็นการวินิจฉัยทางทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการตัดสินทางด้านสุนทรียภาพ มันมีความเป็นอิสระในตัวของพวกมันเอง มีกฎเกณฑ์ต่างๆ และบรรทัดฐานของมัน ในหนทางนี้ เขาปฏิเสธความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีสากลนิยม และรากฐานนิยม เช่นเดียวกับข้ออ้างต่างๆ ที่ว่า วิธีการอันหนึ่งหรือแนวความคิดชุดหนึ่งมีสถานภาพที่พิเศษในปริมณฑลต่างๆ ที่แตกต่างกันไป เช่น ปรัชญา ทฤษฎีสังคม หรือสุนทรียศาสตร์ ในการถกเถียงกับสิ่งที่เขาเรียกว่าทฤษฎีก่อการร้ายและทฤษฎีรวบอำนาจ ซึ่ง Lyotard สนับสนุนลักษณะพหุนิยมของวาทกรรมและฐานะสภาพต่างๆ ที่ค้านต่อทฤษฎีหนึ่งเดียวนั้นอย่างเด็ดเดี่ยว ส่วนเรื่องของ "การพัฒนา" เขาเปรียบว่าเป็น "การเล่นเกมส์" (gaming) ทางวาทกรรมอย่างหนึ่ง

Gilles Deleuze และ Felix Guattari ถือเป็นนักคิดหลังสมัยใหม่ที่จะสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ของความคิด งานเขียน ความเป็นอัตบุคคล และการเมืองขึ้นมา โดยพยายามอย่างเต็มที่ที่จะถอดถอนปลดเปลื้องความเชื่อต่างๆ ของแนวคิดสมัยใหม่ในเรื่องของเอกภาพ(unity) ลำดับชั้นสูง-ต่ำ เอกลักษณ์ รากฐานต่างๆ อัตบุคคล และการเป็นตัวแทน. ขณะเดียวกันก็ให้การสรรเสริญหลักการต่างๆ ในทางตรงข้ามเกี่ยวกับความแตกต่าง และความหลากหลายในทางทฤษฎี การเมือง และชีวิตประจำวัน ซึ่งหนังสือที่มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งยุคของพวกเขาคือ Anti-Oedipus (1983; orig. 1972) เป็นการวิจารณ์เกี่ยวกับวาทกรรมและสถาบันต่างๆ ของความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งได้มาระงับความปรารถนาและแพร่ขยายความเป็นอัตบุคคลแบบฟาสซิสท์ที่อยู่ในขบวนการต่างๆ ของการปฏิวัติ

Deleuze และ Guattari เน้นการค้นหาเพื่อที่จะสร้างทฤษฎีและแยกให้เห็นแง่มุมหรือด้านที่เป็นบวกและมีลักษณะปลดปล่อยของมัน การถอดระหัสเกี่ยวกับการไหลเลื่อนของแรงขับทางเพศ (libidinal) ที่นำไปสู่พลวัตรต่างๆ ของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (the decoding of libidinal flows initiated to the dynamics of the capitalist economy) นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความสำคัญของโครงสร้างขนาดใหญ่ด้วย และได้พัฒนางานวิจารณ์ที่ลงลึกไปในรายละเอียดเกี่ยวกับรัฐ และเพ่งความสนใจไปที่การทำให้เป็นอาณานิคมเกี่ยวกับความปรารถนาขึ้นมา (the colonization of desire) โดยวาทกรรมและสถาบันสมัยใหม่หลายหลาก พวกเขาสนับสนุนการให้เสรีภาพทางด้านร่างกายและความปรารถนา ยืนหยัดอยู่ในความขัดแย้งที่แหลมคมกับความเห็นพ้องหรือการเข้าข้างของ Foucault และได้เน้นการกระจายชนชั้นกลางออกจากการเป็นศูนย์กลาง และทำการชำระสะสางเรื่องอัตบุคคลของมนุษย์ (humanist subject) และการติดตามเรื่องของการทำลายล้างในลักษณะ schizophrenic (จิตเภท)ของ ego และ super-ego โดยเห็นด้วยกับจิตไร้สำนึกที่เป็นพลวัตร

พวกเขาปฏิเสธความคิดแบบสมัยใหม่นิยมเกี่ยวกับอัตบุคคลที่เป็นแบบเดียวกัน ความมีเหตุมีผล และการแสดงออก และพยายามที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการปรากฏตัวขึ้นมาของแบบฉบับใหม่อันหนึ่งของ "อัตบุคคลที่กระจายออกจากศูนย์กลาง" (decentered subjects) และได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวเกี่ยวกับเอกลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นแบบเดียวกันและการกำหนดตายตัว และมีอิสระที่จะกระจายไป พร้อมทั้งมีลักษณะหลากหลายที่ได้รับการก่อตัวขึ้นมาอีกครั้งในฐานะที่เป็นแบบฉบับใหม่อันหนึ่งของความเป็นอัตบุคคลและร่างกายต่างๆ (new types of subjectivities and bodies) ดังนั้น แนวคิดต่อการพัฒนาจึงไม่ต่างจากการมองเรื่อง "อัตบุคคลที่กระจายออกจากศูนย์กลาง"

4) แนวคิดหลังสมัยใหม่ : หลากหลายวิถีทรรศน์ ที่ไม่มีคำตอบตายตัว
นักหลังสมัยใหม่นิยมมองว่า วาทกรรมต่างๆ เกี่ยวกับหลังสมัยใหม่ ที่ปรากฏขึ้นในขอบเขตของทฤษฎีนั้น มุ่งการวิจารณ์เกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ และข้อถกเถียงกันต่างๆ. สำหรับความแตกร้าวของทฤษฎีหลังสมัยใหม่กับทฤษฎีสมัยใหม่ นับตั้งแต่โครงการปรัชญาของ Descartes ถึง the Enlightenment จนกระทั่งทฤษฎีทางสังคมของ Comte, Marx, Weber และคนอื่นๆ ซึ่งได้ถูกวิจารณ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาของมัน เพื่อวางรากฐานอันหนึ่งเกี่ยวกับความรู้ การทำให้เป็นสากล และข้ออ้างแบบรวมๆ ทั้งหมด ความหยิ่งผยองของมันต่อการค้นหาความจริงที่อยู่เหนือคำโต้แย้ง และลัทธิเหตุผลอันหลอกลวงและน่าสงสัยของมัน โดยในทางที่แย้งกันกับบรรดาผู้ปกป้องเกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ ที่ได้โจมตีลัทธิสัมพัทธ์นิยมหลังสมัยใหม่ (postmodern relativism) ลัทธิความไร้เหตุผล (irrationalism) และสุญนิยม (nihilism) (Lyotard 1984)

อย่างไรก็ตาม นักทฤษฎีหลังสมัยใหม่ไม่ได้ใส่ใจต่อการถูกโต้แย้งจากบรรดานักคิดสำนักอื่น ตรงกันข้ามกลับได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับทฤษฎีทั้งหลายที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ พร้อมกับเสนอแนวคิดทฤษฎีต่างๆ บนฐานแบบหลังสมัยนิยมด้วย ทั้งนี้จากการทบทวนวรรณกรรม พบว่า แนวคิดทฤษฎีที่นักหลังสมัยใหม่นิยมได้เสนอนั้น มีกระแสแนวคิดที่หลากหลาย อาทิ

สัจจะนิยม/ความจริง (Realism) : นักหลังสมัยใหม่นิยมมองเรื่องความจริงว่า เป็นตัวแทนความจริงและความเชื่อสมัยใหม่ที่ว่า ทฤษฎีเป็นเพียงกระจกเงาสะท้อนความจริง โดยแทนที่ฐานะสภาพทางทัศนียวิทยาและลักษณะสัมพัทธ์ ซึ่งอาจฉายภาพเพียงบางส่วนของวัตถุต่างๆ และการเป็นตัวแทนของการรับรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับโลกนั้นเป็นเพียงสื่อกลางทางประวัติศาสตร์และทางภาษาเท่านั้น (Lyotard 1984a) ความจริงจึงถูกผลิต/สร้างขึ้นเพื่ออำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่นำไปสู่การผลิตเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยมมวลชน (mass consumerism) หรือในโลกที่การสื่อสารได้รุกคืบเข้าครอบครองอาณาเขตในทุกพื้นที่ สร้างความเป็นสังคมข่าวสารที่ประกอบขึ้นจากการจำลอง (simulation) เป็นโลกล้ำความจริง (hyperreality) ก่อเกิดวัฒนธรรมทางสายตา (visual cultural) วัฒนธรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Cultural) ฯลฯ "ความจริง" ในสังคมจึงถูกนำออกแสดงต่อสาธารณชนโดยผ่านระบบภาษา หรือสิ่งที่มองเห็นได้ยินได้ ดังนั้นความจริงกับความไม่จริงจึงมีอยู่ปะปนกันด้วย

การสะท้อนตนเอง (Self-Reflexivity) :
จากการโต้แย้งในวิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ที่เน้นการมองโลกโดยผ่านผู้อื่นหรือจากภายนอก แนวคิดหลังสมัยใหม่ที่มองผ่านสายตายแบบมานุษยวิทยาและนักชาติพันธุ์วรรณา กลับให้ความสนใจที่จะศึกษาสิ่งต่างๆ โดยถือ "ตนเอง" (self) เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏการณ์นั้น และเน้นการ "มองหรือสะท้อนตนเอง" ว่าคิดเห็นต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร ซึ่งในแนวนี้จึงกลายเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาระเบียบวิธีการศึกษาของนักหลังสมัยใหม่ ที่จะศึกษาวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของกลุ่มชนด้วย (Shannon Weiss & Karla Wesley)

สัมพันธภาพนิยม (Relativism) :
ทฤษฎีหลังสมัยใหม่หรือ postmodern บางทฤษฎีปฏิเสธอย่างสอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับทัศนียภาพขนาดใหญ่ (macroperspective) ทั้งหมดในเรื่องของสังคมและประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่ แต่กลับเห็นด้วยที่จะให้การสนับสนุนเกี่ยวกับทฤษฎีเล็กๆ และการเมืองขนาดเล็ก (microtheory and micropolitics) นอกจากนี้ยังปฏิเสธข้อสันนิษฐานต่างๆ ของทฤษฎี modern เกี่ยวกับความสอดคล้องกันทางสังคม และความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเหตุเป็นผล แต่ทฤษฎีหลังสมัยใหม่กลับสนับสนุนความหลากหลาย ลักษณะพหุวิสัย การแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และลักษณะที่ไม่แน่นอนคลุมเครือ หรือสัมพันธ์ปะปนกัน (Lyotard,1984a)

การรื้อสร้าง (Deconstruction) : ปรัชญาเมธีร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส Jacques Derrida ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ "deconstruct" ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 60 ซึ่งสิ่งที่เขาเสนอคือ การเปิดเผยให้เห็นเงื่อนงำของตัวบท (text) เพื่อเผยการจัดลำดับความสำคัญภายในตัวบทที่ไม่มีมูล การเผยให้เห็นถึงข้อสันนิษฐานที่ตั้งไว้ล่วงหน้า (presupposition) รวมถึงโครงสร้างเชิงอภิปรัชญญาที่ซ่อนอยู่ และเพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวคิด logocentric (การยึดถือภาษาเป็นรากฐานการแสดงออกของความจริง) ซึ่งวิธีการ deconstruction มีขั้นตอนอยู่ 3 ขั้นคือ การลดทอน การสร้าง และการทำลาย (reduction, construction, and destruction) โดยกระบวนการ 3 ขั้นตอน มีความเกี่ยวข้องกันและกัน "การสร้าง" (construction) มีความจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวพันกับ "การทำลาย" (destruction) จากนั้นจึงวิเคราะห์ "การทำลาย" (destruction) ด้วย "การรื้อโครงสร้าง" (deconstruction= abbau) (จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร, 2546) สิ่งใดๆ ที่ใน text ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏ ที่ตัวบทนั้น (text) สร้างขึ้นเพื่อควบคุมสมาชิก

กล่าวโดยสรุปว่า หลักการข้างต้นนี้เป็นแนวคิดบางประการ ที่นักคิดหลังสมัยใหม่นิยมได้มองและให้ข้อเสนอในเชิงวิพากษ์วิธี ซึ่งท้ายที่สุดแล้วได้ก่อให้เกิดกระแสแนวคิดอื่นๆ ที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเด็นของการศึกษาในการพัฒนา โดยกล่าวได้ว่า "ระเบียบวิธีหลังยุคสมัยใหม่" อาจมองได้เป็น 2 นัยยะ ทั้งในแง่ "post-positivist" และ "anti-positivist" ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ในแต่ละวิธีการได้นำไปสู่การตั้งคำถามและตอบคำถามต่อสิ่งนั้นด้วยวิธีการอย่างไร เพื่ออะไร ใครเป็นผู้กำหนด ใครเป็นผู้ตอบ ใครได้ประโยชน์ และใครเป็นผู้เสียประโยชน์ ภายใต้การถูกผลิต/สร้างสิ่งนั้นโดยผ่านวาทกรรมและการปฏิบัติการ

วาทกรรม (Discourse) : Michel Foucault ได้ใช้ศัพท์คำนี้ในหนทางที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการอธิบาย วาทกรรมต่างๆ ได้รับการโฆษณาชวนเชื่อโดยสถาบันบางแห่ง และได้แบ่งแยกโลกในหนทางต่างๆ โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถที่จะพูดถึงวาทกรรมทางการแพทย์ ทางกฎหมาย และทางจิตวิทยาได้ การวิจารณ์ทางวรรณกรรมก็เป็นวาทกรรมหนึ่งด้วย เช่นเดียวกับที่มันเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยคำศัพท์ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับการแบ่งระดับชั้น (สมเกียรติ ตั้งนโม, 2544) วาทกรรมอาจดูเหมือนศัพท์เทคนิค (technical term) แต่แท้จริงแล้วมันคือเทคนิคของการใช้อำนาจผ่านภาษาและปฏิบัติการชวนเชื่อต่างๆ Foucault ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของวาทกรรม (discourse) และการวิเคราะห์วาทกรรม (discourse analysis) ทั้งนี้ในหนังสือเรื่อง The Order of Things (1970 อ้างถึงในไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2545 : 4) ของเขาว่า

"วาทกรรมโดยทั่วๆ ไป และวาทกรรมแบบวิทยาศาสตร์เป็นการเฉพาะนั้น เป็นความเป็นจริงที่มีความยุ่งยากและมีความสลับซับซ้อนสูงมาก จนทำให้เราไม่เพียงแต่สามารถ แต่ควรที่จะปะทะกับความยุ่งยากสลับซับซ้อนนี้ในต่างระดับและต่างมรรควิธีด้วย" เขามองว่า การมองการพัฒนาในฐานะที่เป็นวาทกรรม จะช่วยเราสามารถพูดถึงประเด็นปัญหาหนึ่งได้อย่างจริงจังกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ "ความเป็นอื่น" (Other) ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ "ทางเลือกในการพัฒนา" ซึ่ง "ความเป็นอื่น" ของการพัฒนานี้ เป็นการพูดถึงรายละเอียดและกระบวนการของการสร้างเอกลักษณ์/ตัวตนของสิ่งที่เรียกว่า "การพัฒนา" ว่ามีความเป็นอย่างไร

เขายกตัวอย่างว่า เมื่อวาทกรรมในยุคหลังสงครามโลกได้ปรากฏสิ่งซึ่งเรียกว่า "การพัฒนา" ขึ้น ก็ทำให้เกิดการสร้างตัวตนเอกลักษณ์อีกชนิดหนึ่ง ในฐานะที่เป็นความเป็นอื่นหรือเป็นคู่ตรงข้ามของการพัฒนา ซึ่งก็คือ "ความด้อยพัฒนา" และการพูดถึงความเป็นอื่นของการพัฒนานั้น เป็นการพูดถึงชุดของความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและสลับซับซ้อนระหว่างอำนาจ/ความรู้/ความจริง/เอกลักษณ์/ความเป็นอื่น ที่วาทกรรมการพัฒนาแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิต/สร้างขึ้นมา พร้อมๆ กับต้องการฉีกออกไปจากสิ่งที่เรียกว่า "การพัฒนา" เพื่อแสวงหารูปแบบการเปลี่ยนแปลงของสังคมแบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องผูกติดยึดโยงอยู่กับเรื่องของการพัฒนาอีกต่อไป หรือดังที่ Escobar เรียกว่า "Alternatives to Development" (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545 : 5-6) ดังนั้นวาทกรรรมการพัฒนาในรูปแบบใหม่จึงเป็นวาทกรรมของการเปิดพื้นที่/ต่อสู้/ช่วงชิงอำนาจในอีกรูปแบบ ที่เกิดหลังสมัยใหม่ซึ่งต้องการโฆษณา/สร้างภาพ/สร้างความจริงในอีกรูปแบบที่แตกต่าง

ความเป็นอื่น (The) Other : เป็นแนวคิดที่มาจากนักปรัชญาฝรั่งเศส Foucault และความเป็นอื่นนั้นมีนิยามที่หลากหลายที่ขึ้นอยู่กับบริบท บางครั้งความหมายก็ไปทับซ้อนกับการศึกษาทางด้านวัฒนธรรม รวมถึงมานุษยวิทยา และจิตวิเคราะห์ แต่ฐานคิดที่มีร่วมกันคือ "ความเป็นอื่น" (the other) หมายถึง คนอีกคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งซึ่งได้ถูกนิยามในฐานะที่เป็นคนที่แตกต่าง หรือหมายถึงคนที่มีสถานะต่ำกว่าหรือเป็นรองกว่า (sub-human) ที่รวมเข้ากับเอกลักษณ์ของกลุ่มๆ หนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การเกาะกันภายในของกลุ่มนาซี ขึ้นอยู่กับการที่พวกเขานิยามตัวของพวกเขาเองสวนกันกับ (พยายามที่จะธำรงรักษาความต่างจาก) ภาพลักษณ์ของชาวยิวของพวกเขา ในความหมายนี้ "ความเป็นอื่น" คือการลดคุณค่าลงมาครึ่งหนึ่ง เมื่อมันได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มคน" (สมเกียรติ ตั้งนโม, 2544) การ "ด้อยพัฒนา" ก็คือเป็น "ความเป็นอื่น" ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยวาทกรรมของการพัฒนา

อัตตะ (ประธาน) (Subject) : Foucault, Benveniste, Lacan และบรรดานักคิดคนอื่นๆ บุคคลเหล่านี้ได้เป็นที่ดึงดูดความสนใจของบรรดานักปรัชญาเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงบรรดานักวิจารณ์ทางวัฒนธรรม เพราะพวกเขาคิดเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่ภาษาได้ก่อรูปก่อร่างความเป็นอัตบุคคลขึ้นมา (สมเกียรติ ตั้งนโม ใน http://www.geocities.com/midnight2544/newpage11.html) อัตตะไม่ได้มีลักษณะข้ามผ่านแต่แยกแตก (fragmented) และไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่มีความสอดคล้อง (coherent) ในการตระหนักรู้ในตัวเอง (self-conscious individual) อันหมายความว่าประธานและกรรมเป็นเพียงภาพลวงตา เช่นเดียวกับอัตลักษณ์ของบุคคลซึ่งไม่อาจดำรงอยู่ได้ในบริบทของสังคมยุคหลังสมัยใหม่ มนุษย์ในฐานะองค์ประธานจึงไม่มี มีเพียงหน้ากาก บทบาท สิ่งที่สร้างอุดมการณ์ย่อยๆ ที่มาประกอบรวมกันเข้าอย่างไร้ระเบียบ ซึ่งเป็นเพียงอำนาจที่นำไปสู่การครอบงำกดขี่เป็นผลผลิตของยุคสมัยใหม่ (จันทนี เจริญศรี, 2544 : 1)

นอกจากหลักคิดเหล่านี้แล้ว หลังสมัยใหม่ยังให้ความสนใจกับความเป็น "พหุนิยม" (puralism) ที่เชื่อว่า โลกเต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ในทางเดียวกันท่ามกลางความหลากหลายสังคม ชุมชน และกลุ่มคนต่างมี "อัตลักษณ์" (indentity) เฉพาะของตนเอง ความคิดหลังสมัยใหม่ยังมีกระแสแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมาก อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างกระบวนทัศน์สมัยใหม่และหลังสมัยใหม่อาจจะแยกแยะได้ เช่น Hassan (1985) สรุปไว้ดังนี้


(Hassan "The Culture of Postmodernism" Theory, Culture, and Society, V 2 1985, 123-4.)


สรุปที่ไม่จบ
จากที่กล่าวสรุปได้ว่า ท่ามกลางยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยกระแสความคิดและสภาพสังคมที่หลากหลาย แยกย่อย กระจัดกระจายนั้น ดูเหมือนแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern) กำลังเป็นกระแสที่มีอิทธิพลมากพอต่อนักคิดนักปรัชญา นักการเมือง ศิลปิน นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา นักวัฒนธรรมศึกษา หรือแม้แต่นักการศึกษาที่ได้อาศัยแนวคิดเชิงวิพากษ์ในการตั้งคำถามต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับจุลภาคและระดับสังคม ซึ่งคาดว่าแนวโน้มจะยังคงมีอิทธิพลต่อเนื่องไป หากแต่กระบวนทัศน์ทางสังคมในอนาคตจะเป็นอะไร ก็ยังเป็นโจทย์ที่น่าคิดและหาคำตอบอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจต่อท่าทีและวิถีทรรศน์ในยุคหลังสมัยใหม่ น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยที่จะทำให้เรามองโลกมองสังคมอย่าง "เปลี่ยนมุม" มากขึ้น แน่นอนว่า แม้กระแสแนวคิดหลังสมัยใหม่จะเรียกร้องให้ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ หรือวิพากษ์เรื่องต่างๆ อย่างเข้มข้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า หลังสมัยใหม่เป็นอะไรที่สุดโต่งจนปฏิเสธโลกไปทุกเรื่อง ตรงกันข้ามหลังสมัยใหม่พยายามเสนอว่า แทนที่มนุษย์เราจะมองโลกมุมเดียวและเชื่อในคำตอบสุดท้าย เราน่าจะเปลี่ยนมุมเปลี่ยนท่าทีใหม่ที่ขยายวงกว้างขึ้น มนุษย์จะได้ไม่ "ติดกับดัก" ใดๆ จนหาทางออกไม่ได้ และมากกว่านั้น ท่ามกลางโลกเสรีภาพ แม้ในภาพรวมโลกาภิวัตน์จะนำมาซึ่งการ "แข่งขัน" เสรี หากแต่หลังสมัยใหม่เรียกร้องให้มนุษย์หันกลับมามองเสรีภาพที่พึงนำมาซึ่งการ "แบ่งปัน" มากกว่าสิ่งใด หลังสมัยใหม่ยังชี้ให้เห็นว่า กระแสความคิดที่หลากหลาย มิใช่หมายถึงการแยกขาดออกจากกัน แต่ความหลากหลายนั้นต่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน และภายใต้ความสัมพันธ์ที่โยงใยกันนี้ มนุษย์และสังคมจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน และ "รู้เท่าทัน" ทั้งวันที่ผ่านมาและวันที่จะผ่านไป ...

 

สำหรับผู้สนใจเรื่องเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่ สามารถคลิกไปดูหัวข้อเพิ่มเติมได้ที่
Postmodern, Postmodernity, Postmodernism



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชาย = หญิง

ในยุคสมัยใหม่ได้สืบทอดความคิดเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิงมาตามลำดับ แต่ในหลังสมัยใหม่กลับไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ กล่าวคือ ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงก็มีวาทกรรมของตนเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ผู้ชายเป็นฝ่ายกำหนด โดยเฉพาะโครงสร้างทางสังคม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมา ผู้หญิงเป็นเบี้ยล่างมาโดยตลอด เช่น การใช้นามสกุลของผู้ชายหลังแต่งงานก็ดี กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องชู้สาวก็ดี รวมไปถึงเรื่องของการจัดการด้านทรัพย์สิน และกระทั่งความไม่เท่าเทียมในเรื่องของการประกอบอาชีพและค่าแรง จะเห็นถึงความไม่เสมอภาคกันเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++