โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 8 June 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๗๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 08, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

หลักการที่อนาคตศึกษาเน้นมากคือ การเน้นความสำคัญของการรับผิดชอบของสมาชิกในสังคมต่ออนาคตตั้งแต่วันนี้ ดังคำที่ว่า "The Future is Now" โดยถือว่าการกระทำใดๆ ในวันนี้ล้วนส่งผลต่ออนาคตในวันหน้าทั้งสิ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง อนาคตศึกษามิใช่เพียงแต่การคาดการณ์สิ่งที่เกิดหรือทางเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้ในอนาคตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการมีความรับผิดชอบของมนุษย์ต่อสังคมในวันนี้ด้วย อันหมายรวมว่าอนาคตมิใช่สิ่งที่เกิดต่อจากปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้จากการตัดสินใจและการกระทำในปัจจุบัน (บางส่วนจากบทความ)
08-06-2550

Future Study
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

พัฒนาการอนาคตศึกษา จากอดีตถึงปัจจุบัน
อนาคตศึกษา: จากยุคยูโธเปียถึงยุคหลังสมัยใหม่

จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ : เขียน
สถาบันรามจิตติ

บทความวิชาการนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ : บทนำเพื่อความเข้าใจเบื้องต้นต่อ อนาคตศึกษา:
จากยุคยูโธเปียริซซึมสู่อนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และกระบวนทัศน์อนาคตศึกษาหลังสมัยใหม่

ซึ่งได้พูดถึงความเป็นมาของอนาคตศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ ดังหัวข้อต่อไปนี้
- จากกระแสยูโทเปียริสซึมมาสู่อนาคตนิยมในยุคก่อนสมัยใหม่: จินตนาการ คิดคาด วาดฝัน
- อนาคตศึกษาในยุคสมัยแห่งการพัฒนา: คาดการณ์ วางแผน ชี้ทิศการพัฒนาอย่างสมัยใหม่
- กระบวนทัศน์ใหม่ของอนาคตศึกษาในสังคมยุคหลังสมัยใหม่: อนาคตไม่แน่นอน หลากหลาย มีทางเลือก เห็นทางออก
- อิทธิพลของกระแสการพัฒนากับแนวคิดอนาคตศึกษา
- บทสรุป : มองมุมใหม่ในการทำความเข้าใจอนาคตศึกษาเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า
ในงานวิชาการชิ้นนี้ ผู้เขียนได้แทรกตารางประกอบเอาไว้อย่างน่าสนใจ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๗๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑ หน้ากระดาษ A4)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



พัฒนาการอนาคตศึกษา จากอดีตถึงปัจจุบัน
อนาคตศึกษา: จากยุคยูโธเปียถึงยุคหลังสมัยใหม่
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ : เขียน
สถาบันรามจิตติ

บทนำเพื่อความเข้าใจเบื้องต้นต่อ "อนาคตศึกษา" :
จากยุคยูโธเปียริซซึมสู่อนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา และกระบวนทัศน์อนาคตศึกษาหลังสมัยใหม่
นับเป็นเวลามากกว่า 5 ทศวรรษที่ศาสตร์ด้านอนาคตศึกษา (future study) ได้มีส่วนช่วยในกระบวนการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาของนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรอบทศวรรษที่ผ่านมากระแสความเคลื่อนไหวด้านการศึกษาวิจัยอนาคต นอกจากจะมุ่งคาดการณ์แนวโน้มแล้ว ผลการศึกษาอนาคตในด้านต่างๆ ยังได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับทางเลือกการพัฒนาในอนาคต ซึ่งส่วนสำคัญต่อการปรับวิสัยทัศน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้สอดรับกับแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

อนาคตศึกษาเป็นคำที่แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Futures Studies ซึ่งหมายถึงสาขาวิชาที่ศึกษาถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาอนาคต ตลอดจนระเบียบวิธีที่ใช้ในการศึกษาแนวโน้ม และทางเลือกต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ในอนาคต (จุมพล พูลภัทรชีวิน, 2548) ทั้งนี้ที่มาของอนาคตศึกษาเริ่มมาจากมุมมองความเชื่อและความสนใจศึกษาถึงความเป็นไปได้ในอนาคตอย่างเป็นระบบ ซึ่ง Joseph (1974) อธิบายว่าการศึกษาอนาคตในความหมายของการคาดการณ์ (forecasting) เป็นวิธีดำเนินการที่เป็นระบบและระเบียบ สำหรับกำหนดความเป็นไปได้ของอนาคต เพื่อจะให้เรามุ่งไปยังอนาคตนั้นได้อย่างมิใช่เป็นเพียงการคาดเดา เช่นเดียวกับที่ Cornish และคณะ (1977) กล่าวว่า อนาคตศึกษาเป็นกระบวนการคิดและคาดการณ์ที่จะเกี่ยวข้องกับส่วนรวมและความเจริญรุ่งเรืองของอนาคต โดยนักอนาคตจะไม่ตอบคำถามลักษณะที่ว่า "สมศรีจะแต่งงานในปีนี้หรือไม่" แต่จะตอบคำถามในลักษณะที่ว่า "รูปแบบการแต่งงานในทศวรรษหน้าจะเป็นอย่างไร" เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและสลับซับซ้อน หรือที่กล่าวว่าเป็นสังคมยุคหลังสมัยใหม่ได้กลายเป็นบริบทสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนทัศน์อนาคตศึกษาที่สัมพันธ์กับกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนา ดังนั้นบทความนี้จะได้กล่าวถึงที่มาของกระแสความคิดอนาคตศึกษาจากยุคก่อนสมัยใหม่ (pre-modern) ยุคสมัยใหม่ (modern) จนมาถึงการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของอนาคตศึกษาในยุคหลังสมัยใหม่ (post-modern) เพื่อเปิดมุมมองต่อการทำความเข้าใจเรื่องอนาคตศึกษาในเบื้องต้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้สนใจในการมองหาเครื่องมือทางความคิด วิธีการมองสังคมอีกแง่มุมหนึ่ง รวมถึงแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต

จากกระแสยูโทเปียริสซึมมาสู่อนาคตนิยมในยุคก่อนสมัยใหม่ (pre-modern):
จินตนาการ คิดคาด วาดฝัน
แนวคิดอนาคตศึกษา (future study) ได้เริ่มต้นมาจากมุมมองอนาคตนิยม ซึ่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จนกระทั่งต่อมาได้มีความสนใจอนาคตศึกษาอย่างจริงจัง และพัฒนาวิธีการศึกษาอนาคตอย่างเป็นระบบจนที่สุดได้กลายเป็นศาสตร์ "อนาคตศึกษา" อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Edward Cornish (2005) ได้กล่าวถึงพัฒนาการทางความคิดเกี่ยวกับแนวคิดอนาคตนิยมไว้ว่า บุคคลสำคัญที่นับว่ามีอิทธิพลต่อการพัฒนาความคิดของอนาคตนิยมคือ Plato เพราะเขาได้เขียนเรื่อง Republic ซึ่งได้กล่าวถึงคนในอุดมคติ สังคมอุดมคติ และรัฐในอุดมคติ (utopia) โดยชี้ว่าสังคมที่พัฒนาหรือสังคมในอนาคตจะอยู่ร่วมกันได้อย่างดีต้องมีคนที่มีความรู้ และผู้ปกครองที่เป็นนักคิด อย่างไรก็ตามอิทธิพลทางความคิดเรื่อง "ยูโทเปีย" ของ Plato ยังได้ส่งผลต่องานในยุคต่อๆ มา เช่น งานของ Sir Thomas More ที่กล่าวถึงเรื่องยูโทเปียและสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งภายหลังได้พัฒนาไปสู่ความคิดหรือมุมมองเชิงอนาคต โดย Harvey Cox ซึ่ง Cox ได้เสนอมุมมองอนาคตไว้ 3 มุมมอง นั่นคือ

(1) apocalyptic เป็นมุมมองความเชื่อที่เชื่อมความคิดระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับสิ่งที่ปรากฏเห็นได้ในโลกนี้และโลกหน้า
(2) teleological เป็นการมองภาพอนาคตตามความเป็นไปตามธรรมชาติ
(3) prophetic เป็นการทำนายว่าจะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า โดยมองว่าวันพรุ่งนิ้มิใช่เพียงสิ่งที่งอกหรือแผ่ขยายจากอดีต
แต่เป็นอะไรที่รวมสิ่งที่อาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนหรือสิ่งแปลกใหม่ที่เกินการคาดเดา

ความคิดเรื่องอนาคตนิยมดูจะแพร่มากขึ้นในช่วงคริสตศตวรรษที่ 13-15 ซึ่งเป็นช่วงที่นักคิดในยุโรปให้ความสนใจเกี่ยวกับการเขียนถึงการค้นพบโลกใหม่ การล่าอาณานิคม การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในประเทศอังกฤษ Sir Thomas More (1478-1535) ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับเกาะยูโทเปียโดยพูดถึงดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีการศึกษา มีการทำงานทุกวัน มีนักปรัชญา และปัจเจกบุคคลล้วนแล้วแต่มีสามัญสำนึกที่ดี ซึ่งแนวคิดยูโทเปียของ More นี้ได้กลายเป็นภาพสังคมอุดมคติที่มีอิทธิพลต่อนักคิด นักปรัชญา นักสังคม และนักอนาคตนิยมในยุคต่อๆ มา (Cornish, 2005)

Sir Francis Bacon (1561-1626) เป็นอีกผู้หนึ่งที่รับอิทธิพลดังกล่าว เขาได้เขียนเรื่อง New Atlantis ซึ่งพูดถึงสังคมอุดมคติเช่นกัน แต่ต่างจากความเชื่อของ More ตรงที่ว่า เขาเชื่อในการพิสูจน์และมองว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นวิถีทาง "สร้างเพื่อให้เกิดประโยชน์" อย่างไรก็ตามงานเขียนดังกล่าวได้ส่งผลไปถึงการทำ encyclopedia ของฝรั่งเศส และส่งผลกระทบไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม วัฒนธรรม ซึ่งถือได้ว่า Bacon คือผู้บุกเบิกอุดมการณ์ความก้าวหน้า และทำให้เรื่องความสนใจต่ออนาคตเติบโตอย่างชัดเจนในช่วงยุคศตวรรษที่ 17 และศตวรรษที่ 18 งานเขียนของเขายังได้มีการมองและเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 19 และ 20 และได้เล่าไกลไปถึงการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ด้วย ซึ่งต่อมา J.B. Bury ได้ช่วยอธิบายขยายความคิดดังกล่าวจนกว้างขวางออกไป

Marquis de Condorcet (1743-1795) (in June Barraclough 1955) ได้เขียนหนังสือเรื่อง Fragment on Atlantis โดยอ้างถึงแนวคิดของ Bacon ด้วย เขายังเป็นบุคคลสำคัญที่ได้คาดการณ์เกี่ยวกับชัยชนะของอเมริกากับขบวนการเคลื่อนไหวของทาส รวมไปถึงเรื่องการปฏิวัติในยุโรป ซึ่งคำทำนายดังกล่าวถูกต้องในแง่ที่ว่าการล่าอาณานิคมในโลกใหม่จะกลายมาเป็นนโยบายเอกราชของยุโรป นอกจากนี้ในงานเขียนอีกเล่มที่มีชื่อว่า Sketch (1795) ก็ยังได้มีการคาดการณ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าในด้านอื่นๆ เช่น มองว่าวิทยาศาสตร์จะนำมาซึ่งความก้าวหน้าในการผลิต เป็นต้น ลักษณะการคาดการณ์ของเขามักจะมองจากปัจจัยเงื่อนไขว่า "จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น"

การศึกษาด้วยวิธีการทำนายอนาคตได้เริ่มทำกันอย่างจริงจังในปี ค.ศ.1907 โดย S. Colum Gilfillan ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกำหนดวิธีการทำนายที่เรียกชื่อกันในปัจจุบันนี้ว่า การทำนายเชิงปทัสถานและเชิงสำรวจ (normative & exploratory forecasting) ต่อมาในตอนปลายทศวรรษที่ 1930 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อพัฒนาเทคนิคการทำนายขึ้นใหม่อีกหลายวิธี จนกระทั่งในปี ค.ศ.1944 Assip K. Flechtheim เป็นผู้เริ่มใช้คำว่า "อนาคตวิทยา" (futurology) อย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการศึกษาอนาคตเป็นวิทยาศาสตร์ แต่กระนั้นอนาคตวิทยาในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไม่อาจถือเป็นการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากยังอาศัยการคาดเดาอยู่มาก (วิโรจน์ สารรัตนะ, 2547)

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ทำให้ความคิดเกี่ยวกับอนาคตนิยมหรือการศึกษาอนาคตถูกปลุกเร้าขึ้นอีกครั้ง โดยในฝั่งยุโรปมีกลุ่มนักอัตถิภาวนิยม (existentialists) และกลุ่มนักคิดชาวฝรั่งเศสเป็นแกนนำของการศึกษาอนาคตอย่างจริงจัง เริ่มจากวางแผนทางเศรษฐกิจระยะ 5 ปีของรัฐบาลฝรั่งเศส และพัฒนาไปสู่การวางแผนอนาคตของรัฐบาลและในแวดวงต่างๆ โดยเริ่มมีการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ ปีหน้า และปีถัดๆ ไป

นอกจากนี้นักวางแผนฝรั่งเศสเองก็ได้เริ่มหันมาสนใจหาความรู้เกี่ยวกับการคิดถึงอนาคต และวิธีการศึกษาอนาคตที่ผ่านทางงานเขียนและเอกสารต่างๆ เช่น แนวคิดการคาดคิดถึงอนาคต (prospective) ที่วารสารเล่มหนึ่งได้พูดถึงความแตกต่างของทิศทางของอนาคต และได้ถูกนำไปใช้ในการวางแผน โดยเรียกว่าเป็นวิธีการคาดคิดถึงอนาคต (prospective group) ซึ่งกลุ่มที่ศึกษาจะมีความเป็นสหวิทยาการคือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ต่างสาขาที่มาร่วมมองไปข้างหน้า ซึ่งที่สุดได้พัฒนาไปสู่แนวทางการจัดการแบบมุ่งอนาคต (future-oriented) ที่ขยายวิธีการศึกษาโดยรวมไปถึงการจัดเตรียมเบื้องหลังและข้อมูลต่างๆ ของการศึกษาเพื่อช่วยในการตัดสินใจ

Bertrand De Jouvenel นักอนาคตและนักเศรษฐศาสตร์ที่ถือเป็นแกนนำในฝรั่งเศส เขาได้ริเริ่มโครงการ Futuribles Project ในปี ค.ศ.1960 โดยรวบรวมกลุ่มนักคิดนักวิชาการในสาขาต่างๆ ของฝรั่งเศสมารวมกันมองสังคมในอนาคต ซึ่งผลของโครงการดังกล่าวได้ทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการเฉพาะเกี่ยวกับอนาคต โดยเฉพาะการให้มีผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการมาร่วมคิดเกี่ยวกับอนาคต ซึ่งกลายมาเป็นวิธีการที่นักวิชาการใช้ในการคาดการณ์ต่างๆ ไปด้วยในภายหลัง (http://www.futuribles.com)

ในขณะที่ทางฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกากลับมีแนวทางต่างจากฝรั่งเศส นั่นคือผลพวงจากชัยชนะสงครามโลกครั้งที่สองของอเมริกา ทำให้ประเทศนี้มุ่งพัฒนาเรื่องทางการทหารมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักอนาคตอเมริกันได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการร่วมคิดยุทธศาสตร์การสงคราม ทั้งในแง่การป้องกัน ตั้งรับ และการบุกรุกโจมตีคู่ต่อสู้ต่างๆ โดยแข่งกับประเทศมหาอำนาจด้วยกันอย่างรัสเซีย

ตัวอย่างโครงการ Air Force's Project Forecast ในปี ค.ศ.1963 ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีความก้าวหน้าสมัยใหม่ในการคาดการณ์แนวโน้ม เพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางการจัดการ และยุทธศาสตร์การทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ความคิดเรื่องอนาคตนิยมขยายวงกว้าง นอกจากนี้อิทธิพลของบริษัท The RAND Corporation's Influence ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1960 เพื่อเป็นสถาบัน Think-Tank ที่รวมนักคิดนักวิชาการเกี่ยวกับอนาคตมาร่วมทำงานพัฒนาวิชาการและงานวิทยาศาสตร์อนาคตนั้น ยังก่อให้เกิดคุณูปการต่อวงการอนาคตในอเมริกาอย่างมาก รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ด้วย

อนาคตศึกษาในยุคสมัยแห่งการพัฒนา:
คาดการณ์ วางแผน ชี้ทิศการพัฒนาอย่างสมัยใหม่

หลังจากที่ธนาคารโลกประกาศทศวรรษแห่งการพัฒนาปี ค.ศ.1950 เป็นต้นมา กระแสแนวคิดเรื่อง "การพัฒนาตามภาวะสมัยใหม่" (modernization) ที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ได้กลายเป็นแนวคิดหลักของการพัฒนาในนานาประเทศ โดยเชื่อว่าการพัฒนาตามแบบสมัยใหม่นิยมนี้ (modernism) คือวิถีทางที่จะนำประเทศไปสู่สังคมอุดมคติ ที่มีความเจริญมั่งคั่งและทันสมัยตามแบบประเทศตะวันตก (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545)

ท่ามกลางบริบทดังกล่าว แนวคิดอนาคตศึกษาได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบในฐานะเครื่องมือช่วยวางแผนการพัฒนา และในทางเดียวกันก็ได้ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางวิชาการด้านศาสตร์อนาคตศึกษาควบคู่ไปด้วย โดยจากที่ความสนใจในการศึกษาอนาคต เคยจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มบุคคลบางกลุ่มก็ได้ขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มคนที่หลากหลายสาขามากขึ้น. นอกจากนี้อิทธิพลจากแนวคิดวิวัฒนาการ แนวคิดปฏิฐานนิยม และทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (structural-functionalism) แนวคิดอุดมการณ์ความก้าวหน้า และวิทยาศาสตร์ ที่เป็นรากฐานความคิดแบบสมัยใหม่นิยมนี้ ก็ยังได้ส่งผลต่อการเติบโตทางแนวคิดของการศึกษาอนาคตด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนทัศน์แบบสมัยใหม่นิยม ที่มีต่อแนวคิดอนาคตศึกษาในยุคนี้ก็คือ กระบวนทัศน์แบบสมัยใหม่นิยมมองว่า สังคมมีความสลับซับซ้อน (complex) มีความเป็นทวิสังคม (dualism) คือมีประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) กับประเทศด้อยพัฒนา (underdeveloped country) และความด้อยพัฒนาก็เป็นเพราะโครงสร้างสังคมและปัจจัยภายใจของประเทศนั้นๆ ฉะนั้นแนวทางที่จะสร้างสังคมไปสู่ความศิวิไลท์ได้ก็ต้องสร้าง "ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ" (economic growth) ให้ได้ แนวทางของการพัฒนาตามทฤษฎีภาวะสมัยใหม่จึงเน้นการพัฒนาสังคมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม (industrialization) และเน้นระบบทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนา (capitalization) โดยจุดมุ่งหมายของการพัฒนาจึงเป็นการสร้างสังคมให้เจริญเหมือนกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก (westernization / US / Euro) ทิศทางการพัฒนาจึงมีลักษณะเส้นตรง (linear) ดังเช่นแนวคิดขั้นของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (stage of economic growth) ซึ่งเป้าหมายคือ หวังว่าจะนำพาประเทศด้อยพัฒนาไปสู่สังคมอุดคติที่คนในสังคมเป็น "คนทันสมัย" หรือ "คนสมัยใหม่" (modern man) และสังคมสมัยใหม่ที่พัฒนาแล้ว (modern society)

จากความเชื่อพื้นฐานบางประการในกระบวนทัศน์สมัยใหม่นิยมได้ส่งผลต่อมุมมองความคิดของอนาคตศึกษาในยุคนี้
อันมีลักษณะสำคัญร่วมกันบางประการ อาทิ

- การมองสังคมอุดมคติแบบยูโทเปียนิยม (utopianism) มุ่งสร้างความศิวิไลท์และความทันสมัยที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการพัฒนา
- เชื่อในหลักความเป็นสากลหนึ่งเดียว (universal optimism)
- เชื่อในความเป็นทวินิยม (dualism) ที่มองวิถีทางพัฒนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

- เน้นเทคนิควิธีวิทยาการศึกษาอนาคตที่เป็นวิทยาศาสตร์ (science) อย่างเป็นระบบ
- เน้นให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญ (scientist-technocrat) ที่จะเป็นผู้ชี้นำการพัฒนา

- เชื่อในความเป็นระบบ (system) เป็นระบบแบบเส้นตรงหรือระนาบเดียวที่มองเป็นปัจจัยป้อน กระบวนการ ผลลัพธ์และผลกระทบ
(input --> process--> output--> impact)

- มองเรื่องส่วนรวม (wholistic) [ต่างจากการมองแบบองค์รวม (holistic) ที่มีความหมายกว้างกว่า wholistic] นั่นคือมองว่าส่วนรวม (whole) หมายถึงการทำความเข้าใจในส่วนย่อยๆ และเชื่อว่าเมื่อเข้าใจส่วนย่อยจะนำไปสู่ความเข้าใจส่วนรวม
(parts compromise the whole)

- เชื่อในอิทธิพลของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่จะนำมาซึ่งความก้าวหน้า
- เชื่อในการออกแบบยุทธศาสตร์ซึ่งจะนำไปสู่ชัยชนะ สามารถแข่งขันได้เปรียบ (competitive)

นอกจากอิทธิพลของกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบสมัยใหม่นิยมที่มีต่อแนวคิดอนาคตศึกษาแล้ว ในทางตรงกันข้าม แนวคิดอนาคตศึกษาก็ยังส่งผลกระทบต่อกระบวนทัศน์และทิศทางการพัฒนาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการวางแผนหรือยุทธศาสตร์การพัฒนา

ทั้งนี้นักอนาคตเชื่อว่า มนุษย์มีระเบียบวิธีในการศึกษาแนวโน้มในอนาคตอย่างเป็นระบบ ซึ่งอยู่ในรูปของการวิจัยอนาคต ความเชื่อของมนุษย์เกี่ยวกับอนาคตย่อมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจ และเชื่อว่ากลุ่มผู้เชี่ยวชาญมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้จุดมุ่งหมายของการทำนายอนาคตไม่ใช่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ที่แม่นยำ แต่เพื่อนำแนวโน้มเหล่านั้นมาพิจารณาระหว่างแนวโน้มที่พึงประสงค์ และไม่พึงประสงค์ เพื่อเลือกวิถีทางสร้างแนวโน้มที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้น หรือสกัดกั้นไม่ให้เกิดแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น

กล่าวคือนักอนาคตเชื่อว่า มนุษย์สามารถจะควบคุม ทำลายและสร้างอนาคตได้ การวางแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ จึงมีผลต่อการกำหนดอนาคต ซึ่งสอดรับแนวคิดสมัยใหม่นิยมที่มองว่า การพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นได้เอง ต้องมีการวางแผน กำหนดทิศทาง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปรารถนาและต้องตามค่านิยมของสังคม กล่าวคือการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกระบวนการสร้างความสมัยใหม่ (modernization process) (ชนิตา รักษ์พลเมือง, 2546)

ด้วยเหตุนี้ นักอนาคตจึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายและทิศทางของการพัฒนาประเทศ นอกเหนือจากกลุ่มนักวิชาการทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มนักอนาคตศึกษาในประเทศตะวันตก ซึ่งมีบทบาทในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งในระดับประเทศและประชาคมโลก

กล่าวโดยสรุป คือ นับตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา กระแสความคิดการพัฒนาแบบสมัยใหม่นิยม (modernism) ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งในช่วงยุคสมัยดังกล่าวนี้เองที่แนวคิดเรื่องอนาคตศึกษา (future study) ได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากใช้เพื่อวางยุทธศาสตร์พัฒนาด้านการทหารของประเทศมหาอำนาจตะวันตก และได้ขยายไปสู่งานด้านวิทยาศาสตร์และสาขาอื่นๆ จนที่สุดในกลายเป็นแนวคิดสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการวางนโยบาย กำหนดทิศทาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ดังเห็นได้จากแผนพัฒนาประเทศของประเทศต่างๆ เป็นต้น

กระบวนทัศน์ใหม่ของอนาคตศึกษาในสังคมยุคหลังสมัยใหม่:
อนาคตไม่แน่นอน หลากหลาย มีทางเลือก เห็นทางออก
ผลพวงของการพัฒนาตั้งแต่ยุค 1950 มา แม้จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับนำมาซึ่งวิกฤตการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากร ปัญหาอาชญากรรมและปัญหาสังคม ปัญหาความล่มสลายของครอบครัวและชุมชน เป็นต้น ซึ่งที่สุดได้นำมาสู่กระแสความคิดที่เรียกว่า "หลังสมัยใหม่นิยม" (postmodernism) ที่เริ่มตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ต่อกระบวนทัศน์การพัฒนาและแนวคิดทฤษฏีต่างๆ แบบสมัยใหม่นิยมว่า ไม่ได้ให้คำตอบของการพัฒนาอย่างที่มุ่งหวัง

ดังนั้น หลังทศวรรษที่ 1960 เรื่อยมา จึงเป็นช่วงแห่งการเริ่มต้นกระแสความคิดยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern) ซึ่งแม้จะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ในช่วงเวลานี้เองได้เริ่มมีแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น แนวคิดทฤษฎีระบบโลก (world system theory) ที่ให้ความสนใจกับระบบและความสัมพันธ์ในการพึ่งพาอาศัยกันและกัน (interdependency) แนวคิดปรากฏการณ์นิยม (phenomenism) ที่เชื่อว่าสังคมเต็มไปด้วยปรากฏการณ์ที่มีความสลับซับซ้อน แนวคิดวิทยาศาสตร์ของไอสไตน์ในเรื่องสัมพัทธภาพนิยม (relativism) ฯลฯ

ปรากฏการณ์ที่สำคัญในช่วงนี้คือ เริ่มมีกระแสการวิพากษ์ถึงกระบวนทัศน์ "การพัฒนา" ว่าได้ก้าวสู่จุดจบของ "สังคมสมัยใหม่" (modern sociality) มากขึ้นๆ และมองว่า "สังคมอุดมคติ" (utopia) นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริง มีการเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ที่หันมาเน้นคนและสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนามนุษย์ที่ยึดปรัชญามนุษย์นิยม การพัฒนาแบบยั่งยืนที่เน้นสิ่งแวดล้อมเป็นฐาน เป็นต้น. แม้แต่แวดวงอนาคตศึกษาก็มีการตั้งคำถามต่อกระบวนทัศน์การศึกษาอนาคตอยู่ไม่น้อย เช่น การศึกษาอนาคตโดยเน้นความสำคัญเฉพาะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีหรือด้านใดด้านหนึ่งนั้น พอเพียงต่อการทำความเข้าใจกับพลวัตรโลกที่เปลี่ยนไปจริงหรือ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในแนวคิดและแนวทางของอนาคตศึกษาจากยุคสมัยใหม่ มาสู่ยุคหลังสมัยใหม่ สามารถเห็นได้ชัดเจนอยู่หลายประการ เช่น จากความเชื่อพื้นฐานที่มองสังคมตามแนวคิดสังคมอุดมคติแบบยูโทเปียนิยม (utopianism) ก็ได้แปรเปลี่ยนมามองสังคมที่พึงประสงค์ใหม่ (neo-utopian) ที่คำนึงถึงความเป็นพหุนิยม (pluralism) มากขึ้น และเชื่อว่าโลกมีความแตกต่างหลากหลาย (diversity) การพัฒนาไม่จำเป็นต้องเป็นเอกภาพหรือเหมือนกันทั้งโลก (unity) อีกทั้งมองว่าโลกเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน (complex) ซึ่งมีลักษณะ "chaos" ที่ว่า ไม่ได้เป็นแบบแผนง่ายๆ ที่คำนวณหรือคาดการณ์ได้ชัดเจน (ธีรยุทธ บุญมี, 2546) มีความไม่แน่นอน (uncertainty) หรือเป็น "อนิจจัง" อีกทั้งยังมีความแปลกประหลาดที่อาจคาดเดาไม่ได้ด้วย เป็นต้น

แต่ถึงกระนั้นโลกก็มีระบบในตัวมันเอง โดยเป็นระบบที่ความสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (systems-interrelatedness) ดังนั้นการจะเข้าใจโลกหรือสังคมได้ต้องมององค์รวม (holistic) เข้าใจในธรรมชาติของโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและเป็นพลวัตร (change/dynamic) ทั้งนี้มนุษย์ในสังคมยุคหลังสมัยใหม่จึงต้องมีความยืดหยุ่นสูง (high flexible) เพื่อที่จะสามารถปรับตัวกับความไม่แน่นอนและพลวัตรต่างๆ มากกว่านั้นยังเชื่อว่า มนุษย์ไม่สามารถหาคำตอบที่สุดท้ายตายตัว หากแต่มีคำถามที่นำไปสู่การค้นหาคำตอบที่ไม่สิ้นสุด (จุมพล พูลภัทรชีวิน, 2548)

ในแง่ของเทคนิควิธีวิทยาการศึกษาอนาคต ในยุคนี้ก็แปรเปลี่ยนไปจากวิธีการศึกษาในยุคสมัยใหม่นิยม นั่นคือ แต่เดิมแนวคิดการศึกษาอนาคตจะมุ่งเน้นตรรกะทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ เน้นกระบวนการศึกษาที่นำเอาบทเรียนจากอดีตมาคาดการณ์แนวโน้มหลัก มองอนาคตภาพที่พึงประสงค์เพียงภาพเดียว เน้นการวางยุทธศาสตร์สำคัญเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของธนาคารโลกหรือประเทศมหาอำนาจ ให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่เที่ยงตรงแน่นอน เช่น การสำรวจเดลฟาย (delphi surveys) แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ขณะที่วิธีวิทยาการศึกษาอนาคตในหลังยุคหลังสมัยใหม่นิยมนี้ได้แปรเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการศึกษาแนวโน้มหลายๆ แนวโน้ม โดยมองอนาคตและภาพอนาคตที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้หลายภาพ และทางเลือกที่หลากหลายซึ่งเป็นไปได้ วิธีการศึกษาก็มียืดหยุ่นมากขึ้น (flexible) สามารถผสมผสานเทคนิควิธีต่างๆ ไว้ด้วยกัน เช่น เทคนิค EDFR เทคนิคการมองอนาคต (foresight) และไม่ได้ยึดผู้เชี่ยวชาญเป็นสำคัญฝ่ายเดียวอย่างเคย แต่ยังเน้นกลุ่มผู้มีส่วนร่วมที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวล้วนมีผลต่อแนวทางการพัฒนาแบบมุ่งอนาคต (future-oriented development) ในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุปได้ว่า อิทธิพลทางความคิดแบบหลังสมัยใหม่นิยมได้ส่งผลต่อแนวคิดอนาคตศึกษาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อการมองอนาคตที่ว่า โลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและเป็นพลวัตรที่สลับซับซ้อน ซึ่งทำให้แนวคิดอนาคตศึกษาได้หันมาสนใจกับการมองทางเลือกต่างๆ หลายทางที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นหรือเป็นไปได้ในอนาคต มากกว่าเน้นทางเลือกหนึ่งเดียวเป็นสำคัญอย่างที่เคยมองกันในช่วงยุคสมัยใหม่นิยม หรือกล่าวอีกนัยได้ว่า กระบวนทัศน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาในยุคสมัยใหม่จะมีลักษณะเน้นการ "ชี้นำการพัฒนา" ขณะที่ในปัจจุบันกระบวนทัศน์ นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาจะเน้น "ชี้นำและให้ทางเลือกการพัฒนา" มากขึ้น (Jan Nederveen Pieterse, 2004)

อิทธิพลของกระแสการพัฒนากับแนวคิดอนาคตศึกษา

บทสรุป : มองมุมใหม่ในการทำความเข้าใจอนาคตศึกษาเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า
การศึกษาอนาคตที่เริ่มจากมุมมองความเชื่อเรื่องยูโทเปีย หรือสังคมอุดคติที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนสมัยใหม่ จนมาถึงยุคสมัยใหม่ที่ศาสตร์ด้านอนาคตเติบโตอย่างเป็นทางการ ในฐานะเครื่องมือการพัฒนาสร้างความเจริญให้ประเทศ กระทั่งมาสู่ยุคสังคมหลังสมัยใหม่ที่ซึ่งเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนไม่แน่นอน ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนทัศน์ของอนาคตศึกษาเอง ก็เคลื่อนตัวไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงแห่งกระบวนทัศน์และยุคสมัยทางสังคม และในทางกลับกันอิทธิพลของกระบวนทัศน์อนาคตศึกษา ก็ส่งผลต่อความคิดทางสังคมและมุมมองต่อการพัฒนาเช่นกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ และเคลื่อนตัวของกระแสอนาคตศึกษาในยุคใหม่นี้เอง ที่ได้เพิ่มสำคัญของศาสตร์ด้านนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นทั้งหลักคิด และเครื่องมือวางทิศทางการพัฒนาที่ก้าวไปสู่อนาคต

ดังนั้น หากจะกล่าวในภาพรวมแล้ว สาระสำคัญของอนาคตศึกษาไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ก็ยังคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องการขยายมุมมองที่กว้างไกลเป็นการมองไปในสังคมข้างหน้า แต่แนวคิดของการศึกษาอนาคตในยุคหลังสมัยใหม่จะมิได้จำกัดอยู่ด้วยขอบเขตของวิชาการแบบดั้งเดิม ที่ติดอยู่ภายใต้กรอบทฤษฎีและวิธีการอธิบายแบบใดแบบหนึ่ง แต่จะมุ่งการมองไปข้างหน้าอย่างเป็นสหวิทยาการและเป็นองค์รวม และเข้าใจต่อความเป็นพลวัตรที่สลับซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคหลังสมัยใหม่มีความไม่แน่นอนสูง (uncertainty) อนาคตศึกษาเองก็เน้นการมองและเข้าใจต่อความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย อีกทั้งยังเน้นการมีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์ไม่ยึดติดกับกรอบเกณฑ์ให้เกิดการจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่คาดคิด ที่อาจเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า รวมถึงมองเห็นทางเลือกที่หลากหลายและความสัมพันธ์สัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ เข้าใจต่อสถานการณ์ทางสังคมและแนวโน้มที่จะมาถึง มองเห็นทางออกภายใต้ความร่วมมือ พึ่งพาและรวมพลังกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สนใจต่อการนำแนวคิดอนาคตศึกษามาประยุกต์ในงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านนโยบาย และยุทธศาสตร์ หรืองานด้านการพัฒนา จะต้องเข้าใจด้วยว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาอนาคตนั้น มิใช่การศึกษาข้อเท็จจริงเพื่อความถูกต้องแม่นยำ หากแต่เป็นการคาดการณ์สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ และแม้นักอนาคตจะใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นฐาน แต่ก็มีความแตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์ตรงที่ นักวิทยาศาสตร์จะให้ความสนใจมากกับการพิสูจน์สมมติฐานหรือสิ่งที่เชื่อ แต่นักอนาคตจะใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์บวกกับจินตนาการความคิดเชิงอนาคตว่า "ถ้าเกิดสิ่ง...ต่อไป เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความคิด ฯลฯ จะเป็นอย่างไรอีก...ปีข้างหน้า" นั่นคือนักอนาคตจะดูแนวโน้ม (trend) หรือความเป็นไปได้ในสิ่งที่จะเกิดพร้อมกับจินตนาการต่อสิ่งที่คาดว่าเป็นไปได้เหล่านั้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์อย่างนักวิทยาศาสตร์

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีข้อเท็จจริง (facts) เกี่ยวกับอนาคต มีแต่เพียงการคาดการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มที่เป็นทางเลือกที่คาดว่าจะมีความเป็นไปได้ (possible alternative trends) เท่านั้น . . . หลักการสำคัญของอนาคตนิยม จึงอยู่ที่การสร้างอนาคตที่พึงประสงค์มากกว่าการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น (จุมพล พูลภัทรชีวิน, 2548)

นอกจากนี้หลักการที่อนาคตศึกษาเน้นมากอีกประการหนึ่งคือ การเน้นความสำคัญของการรับผิดชอบของสมาชิกในสังคมต่ออนาคตตั้งแต่วันนี้ ดังคำที่ว่า "The Future is Now" โดยถือว่าการกระทำใดๆ ในวันนี้ล้วนส่งผลต่ออนาคตในวันหน้าทั้งสิ้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อนาคตศึกษาและการศึกษาอนาคตมิใช่เพียงแต่การคาดการณ์สิ่งที่เกิดหรือทางเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้ในอนาคตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการมีความรับผิดชอบของมนุษย์ต่อสังคมในวันนี้ด้วย อันหมายรวมว่าอนาคตมิใช่สิ่งที่เกิดต่อจากปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้จากการตัดสินใจและการกระทำในปัจจุบัน

ดังนั้นด้วยหลักการเหล่านี้ แนวคิดอนาคตศึกษาและการศึกษาอนาคตจึงมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ระดับประเทศในการวางนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา รวมถึงระดับปัจเจกบุคคลในการดำเนินชีวิตอย่างมี "สติ" ที่เข้าใจและมองเห็นเหตุและผลที่จะตามมาทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com