โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 05 October 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๖๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (October, 05, 10, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

แพทย์หญิง ขิ่น มาจี ถูกจับกุมเพราะมีหนังสือ 'เสรีภาพที่ปราศจากความกลัว' (Freedom from Fear) และหนังสือ 'จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย' (From Dictatorship to Democracy) ไว้ในครอบครอง เธอถูกจองจำอยู่ที่คุกเมืองมันดาเลย์เป็นเวลา ๖ ปี ระหว่างปี ๒๕๓๙-๒๕๔๕. แพทย์หญิง ขิ่น มาจี เล่าว่าเวลาที่มีการอนุญาตให้ตัวแทนจากองค์กรต่างประเทศมาเยี่ยมชมสภาพคุกนั้น นักโทษก็จะได้กินข้าวสีขาวและแกงที่อยู่ในสภาพปกติที่สามารถรับประทานได้."แต่เมื่อพวกเขากลับไป ทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาพเดิม (บางส่วนจากบทความ)
05-10-2550

Victims of Torture
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่คนไทยต้องแบกรับ ส่วนนายทุนยังคงค้ากำไรต่อไป
ผู้ลี้ภัยพม่าละลอกเก่า กับ สถานการณ์รุนแรงพม่าละลอกใหม่
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
ข้อมูลส่งถึงกองบรรณาธิการฯ, กระดานข่าว ม.เที่ยงคืน, และประชาไทออนไลน์

บทความต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ
ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจากพม่า ที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องแบกรับ อย่างน้อยก็ด้วยเงินภาษี
ที่ต้องนำไปช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพเหล่านี้ ในขณะที่นายทุนไทย
ที่มีธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เคยเข้ามาแบกรับปัญหาภายในของพม่าเลย
เนื่องจากได้รับผลประโยชน์จากการอนุญาตของเผด็จการทหารพม่า
ปัญหาจึงยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดที่พม่ายังไม่เป็นประชาธิปไตย

สถานการณ์ล่าสุดที่พระสงฆ์และประชาชนพม่านับแสน ต่างเรียกร้องประชาธิปไตย
และได้รับการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยเผด็จการทหาร เป็นที่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบ
เชื่อมโยงมาเป็นภาระทางสังคมแก่รัฐบาลไทยในเวลาอันใกล้
ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่ได้จาก
ประชาชนโดยรวมมาแก้ปัญหาตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทั้งปัญหาความมั่นคง อาชญากรรม ยาเสพติด
แรงงานข้ามชาติ ตลอดจนปัญหาด้านสาธารณสุข ฯลฯ ล้วนเป็นราคาที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น
ที่สำคัญคือ เราในฐานะประชาชนโดยรวมเป็นผู้จ่ายผ่านเงินภาษีงบประมาณ
ในขณะที่นายทุนไทยเป็นผู้ได้รับผลกำไรสูงสุด ด้วยเหตุนี้ ปัญหาผู้ลี้ภัยจึงไม่ใช่เรื่อง
ที่ไกลตัวหรือสามารถละเลยความสนใจได้อีกต่อไป

ในส่วนของข้อมูลต่อไปนี้ ได้มีการนำเอาบทความ ๓ ชิ้นมาเสนอ โดยเรื่องแรก
เกี่ยวพันกับเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เป็นไปในแง่มนุษยธรรม
และสะท้อนถึงความโหดร้ายภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ซึ่งรัฐบาลไทย
ยังคงยืนยันว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซง เนื่องจากเป็นปัญหาภายในของพม่า
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นปัญหาเกี่ยวกับการคุมขังนักโทษการเมืองในพม่า โดยเฉพาะ
ปฏิบัติการทรมานและการคุกคามทางเพศกับนักโทษหญิง และเรื่องสุดท้ายเป็น
การเสนอภาพภูมิหลังและสถานการณ์ความรุนแรงล่าสุดในประเทศพม่า อันเนื่องมาจากพระสงฆ์และประชาชน
ร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตย และต้องถูกล้อมปราบอย่างรุนแรงทั้งกลางวันและกลางคืน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๖๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่คนไทยต้องแบกรับ ส่วนนายทุนยังคงค้ากำไร
ผู้ลี้ภัยพม่าละลอกเก่า กับ สถานการณ์รุนแรงพม่าละลอกใหม่
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
ข้อมูลส่งถึงกองบรรณาธิการฯ, กระดานข่าว ม.เที่ยงคืน, และประชาไทออนไลน์


เรื่องที่ 1. "เรา" กับ "ผู้ลี้ภัย" : ห่างไกลกันเพียงเส้นขอบแดน

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี

(๑)
"ฉันรู้เลยว่า ยิ่งอยู่ที่นี่ต่อไป น้ำตายิ่งรินไหลไม่หยุดหย่อน
ในความเป็นเพื่อน ฉันทำอะไรได้ดีกว่านี้บ้าง?..."

เช้าวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2550 ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศ วันต่อต้านการทารุณกรรมขององค์การสหประชาชาติ (The UN International Day in Support of Victims of Torture) ฉันอยู่ในเวทีนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าปี 2006 ซึ่งจัดขึ้นโดย Burma Issues ร่วมกับคณะรัฐบาลพลัดถิ่นของพม่า (the National Coalition Government of the Union of Burma - NCGUB)

ดร.ซาน อ่อง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพม่า และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีภาคตะวันออก ฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ในประเทศพม่ายังย่ำรอยทางเดิม การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ไม่ว่าจะเป็นการถูกบังคับใช้แรงงาน การถูกเกณฑ์ไปสร้างถนน ไปสร้างป้อมค่ายของทหาร การที่ผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกข่มขืน การเกิดขึ้นของทหารเด็กจำนวนมาก การทรมานชาวบ้านด้วยวิธีการต่างๆ การถูกบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน เรื่องราวเหล่านี้เป็นการตอกย้ำและนับวันจะทบทวีขึ้น

หลังจากนำเสนอสถานการณ์เสร็จสิ้น มีการฉายวีดีโอเรื่อง"Shoot on Sight" ซึ่งจัดทำโดย Burma Issues ต่อเนื่องจากการเสวนา เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเพื่อนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน ออกจากบ้านเกิดมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 ขณะนั้นด้วยความรู้อันน้อยนิดในการใช้ภาษาอังกฤษ ฉันจึงไม่สามารถแปลภาษาให้เข้าใจเรื่องราวได้กระจ่างแจ้งชัดเจน แต่ภาพที่ปรากฏตรงหน้าฉัน ทั้งภาพของเพื่อนที่หลบซ่อนตัวอยู่ในป่า ภาพเด็กๆ ไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีอาหาร ต้องเผชิญกับโรคภัยที่เกิดขึ้นในป่า ไม่มีหมอ ไม่มียา อากาศอันหนาวเหน็บ ต้องระแวดระวังกับการพบเจอทหารพม่า กับระเบิด บ้านถูกเผา พี่น้องถูกฆ่า ถูกยิง การหลบหนีอย่างกระเซอะกระเซิงไม่รู้วันรู้คืน มีชีวิตแต่ไร้วิญญาณ ร้อยเรื่องราวที่เกิดขึ้นสื่อสารกับหัวใจฉันแทน


Saw The Blay
เจ้าหน้าที่สนามจาก Burma Issues ให้ข้อมูลเพิ่มขึ้นว่าเพื่อนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายตัด 4 (Four Cuts) คือ การตัดเงินทุน, ตัดเสบียงอาหาร, ตัดอาวุธ, และตัดข้อมูลข่าวสาร. ซึ่งรัฐบาลเผด็จการทหารพม่านำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านแอบส่งเสบียงไปให้กองกำลังชาติพันธุ์เดียวกันที่เคลื่อนไหวอยู่ในป่า ทหารพม่าใช้กำลังขู่เข็ญบังคับชาวบ้านให้โยกย้ายหมู่บ้านออกไปอยู่ในแปลงอพยพ(Relocation site) ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารพม่าแทน

การบังคับโยกย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างอดอยากแร้นแค้น เนื่องจากไม่สามารถกลับไปทำมาหากินในไร่นาของตนเองได้ อีกทั้งยังถูกทหารพม่าบังคับใช้แรงงานในกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพ เช่น หาบเสบียงและอาวุธ สร้างค่ายทหาร ทำถนน ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากพยายามหลบหนีออกจากแปลงอพยพ และไปใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในป่าดังภาพเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวีดีโอเรื่อง"Shoot on Sight". พวกเขาต้องกลายเป็น"ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ"(Internally Displaced Persons - IDPs) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกรัฐบาลกดดันให้ต้องอพยพออกจากหมู่บ้าน และหลบซ่อนตามผืนป่าของประเทศตนเอง

หนังสือพิมพ์มติชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา นายพาโด้ มานาซา เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(เคเอ็นยู) กล่าวที่ชายแดนไทย-พม่า ที่ฐานที่มั่นแห่งหนึ่งด้านตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ว่า ขณะนี้มีผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงกว่า 5,000 คน ลี้ภัยจากการถูกกดขี่ข่มเหงจากทหารพม่าหนีเข้ามาในเขตอิทธิพลของกะเหรี่ยง KNU ในพื้นที่กองพลที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ตรงข้ามแนวต่อชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก โดยผู้อพยพเป็นชาวนาที่อพยพมาจากชานเมืองตองอู เมืองหย่องเลปิน และเมืองผาปูน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองเนปีย์ดอหรือปินมะนาเมืองหลวงใหม่ของพม่า โดยชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านี้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้หลังจากการปลูกข้าวไปแล้วถูกคุกคามโดยทหารพม่ามาตลอด

ชาวบ้านเริ่มทยอยออกมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ฝ่าย KNU และองค์กรพัฒนาภาคเอกชนของกะเหรี่ยงได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนยารักษาโรค แต่ยังไม่เพียงพอทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก มีชาวกะเหรี่ยงนับร้อยคนกำลังเจ็บป่วยเพราะทนกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ส่วนหนึ่งประมาณ 500 คน หนีเข้ามาเขตไทย และไปอาศัยในศูนย์พักพิงบ้านแม่ลาฮู อำเภอแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทุกวันนี้ตลอดแนวชายแดนประเทศพม่ากับประเทศไทย มีผู้พลัดถิ่นภายในอย่างน้อย 1 ล้านคน พวกเขาจะต้องเคลื่อนย้ายหลบหนีการคุกคามของทหารพม่าอย่างน้อยทุกหกเดือน บางครอบครัวปีหนึ่งต้องเคลื่อนย้ายสองถึงสามครั้ง เนื่องจากเกิดการสู้รบในพื้นที่บริเวณที่หลบซ่อนอยู่ หลายครอบครัวไม่สามารถกลับไปยังพื้นที่หลบซ่อนเดิมได้ เนื่องจากเต็มไปด้วยกับระเบิด และอีกหลายครอบครัวที่ไม่สามารถเผชิญกับภาวะการณ์อันเสี่ยงต่อชีวิตในเรื่องต่างๆ ได้ พวกเขาจะหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย เพื่อกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือแรงงานข้ามชาติแทน. รายงานของสภาผู้ลี้ภัยนอร์เวย์(NRC) ชี้ให้เห็นว่า ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศซูดาน คองโก และโคลัมเบีย

บรรยากาศในห้องขณะนั้น ฉันเชื่อว่าแม้เข็มหล่นลงพื้นเราก็ได้ยิน เสียงหัวเราะการพูดคุยทักทายสลับกับการดื่มกาแฟเมื่อชั่วครู่กลับเงียบงัน เพื่อนนักข่าวหลายคนที่นั่งใกล้ฉัน พวกเราต่างมีน้ำใสเอ่อล้นนัยน์ตา ภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ที่อยู่ใกล้กับเราเพียงเส้นขอบแดน… แต่เรากลับปราศจากการยลยิน

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน, 20 มิถุนายน 2550 "วันผู้ลี้ภัยโลก" (World Refugee Day)
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การสำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหรัฐอเมริกา(USCRI) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจัดงานวันผู้ลี้ภัยโลกขึ้นที่ศูนย์ประชุมจอห์น 23 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตบางนา กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดเรื่อง "ชีวิตที่ถูกลืม" เพื่อให้คนไทยได้รับรู้ถึงความยากลำบากของผู้ลี้ภัย อันจะนำไปสู่การที่พวกเขาได้รับการดูแลและคุ้มครองที่ดีขึ้น. ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในไทยกว่า 2 แสนคน ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ดังนั้นการจัดงานวันผู้ลี้ภัยโลกนี้จึงเป็นการเผยแพร่ข้อมูลให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย โดยหวังว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยได้รับการดูแลและคุ้มครอง รวมทั้งให้ผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสทำงาน ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้

เจ้าหน้าที่อาสาสมัครคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวอย่างน่าสนใจว่า "จริงๆ แล้ว ชีวิตของพวกเขาน่าสงสารนะที่ต้องอพยพออกนอกประเทศ เนื่องจากภาวะสงคราม ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศ เคยลองถามพวกเขาเหมือนกันว่า ถ้าจะให้เลือกที่อยู่ อยากจะลี้ภัยไปประเทศที่สามไหม? เพราะประเทศเหล่านั้นยินดีที่จะดูแลและให้ที่พักพิงแก่พวกเขาเป็นอย่างดีะ ปรากฏว่าคำตอบที่ได้รับแทบจะทุกคนเลยบอกว่า ไม่อยากไป ถ้าเลือกได้อยากกลับไปอยู่บ้าน…"

ฉันหวนคำนึงถึงนักเรียนบางคนที่คุ้นเคย พวกเขาและเธอเคยเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เคยเป็นผู้ลี้ภัยมาก่อนจะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติในทุกวันนี้

(๒)
"ครูครับ ครูคะ…" เสียงของซูมิ โอ๊ต สุวรรณ ซอทู และดาว ปลุกฉันจากพะวังหลังจากตกอยู่ในอาการหดหู่เมื่อรับรู้บางเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น พวกเขาเป็นนักเรียนระดับ 4 ในโครงการ DEAR BURMA ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า โครงการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้กับแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นักเรียนกลุ่มนี้สนิทสนมกับฉันและมักเล่าเรื่องราวในบ้านเกิดให้ฟังอยู่เสมอ

"พวกเราหนีมาครับ เราต้องบวชเรียนมา เราอยู่ที่พม่า เราก็ถูกฆ่า บ้านผมถูกทหารพม่าเผาไปหมดแล้ว และตัวผมก็ถูกตามฆ่า ผมจะกลับได้อย่างไร ผมเคยหนีไปอยู่ในป่าหลายเดือน ครูอย่าให้ผมเล่าเลยครับ ผมอยากจะลืมมัน วันนั้นทหารพม่ามันฆ่าแม่ผม ผมกับน้องสาวต้องแอบอยู่แถวนั้น รอพวกมันไป ผมพาน้องสาววิ่ง วิ่ง วิ่ง ไม่รู้ไปไหน มีคนในหมู่บ้านหลายคนที่หนีออกมาเหมือนกัน บางคนหนีไม่ทันก็ถูกฆ่า ผมเห็นกับตา ผมสงสารน้อง อยู่ในป่าไม่มีอะไรกิน อากาศก็หนาว น้องผมเป็นไข้ ตัวร้อน ไม่สบาย ไม่มีหมอรักษา ผมช่วยอะไรไม่ได้ ในป่าไม่มีหมอ ไม่มียา ไม่มีข้าว เราต้องเก็บหน่อไม้กิน ตอนหลังน้องผมก็ตาย ชาวบ้านหลายคนก็ตาย ผมไม่รู้ทำยังไง วันหนึ่งมีคนบอกว่าให้หนีมาที่ประเทศไทยมาอยู่ในแค้มป์ ผมก็มา ยิ่งอยู่ในป่า ยิ่งอันตราย เราต้องหนีทหารพม่าไม่ให้เห็นตลอดเวลา ผมรู้คนไทยไม่ชอบพวกเรา แต่จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อผมกลับบ้านไม่ได้จริงๆ จะให้ผมกลับไปโดนทหารพม่าฆ่าเหรอครับ"

"ดาวไม่ได้อยากมาประเทศไทยเลยค่ะ แต่อยู่ที่พม่าดาวก็ไม่มีอะไรจะทำ ทหารพม่ามาที่หมู่บ้านดาวทุกวัน พ่อดาวก็กลัว ไม่กล้าออกไปทำงาน ต้องแอบอยู่หลังบ้าน แม่ก็กลัวทหารพม่าจะทำร้ายน้อง ที่บ้านก็ไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีใครกล้าทำไร่ ทำนา กลัวทหารพม่า วันหนึ่งพ่อชวนดาว ชวนแม่หนีไปอยู่ที่อื่น ดาวไม่อยากไป แต่ดาวสงสารแม่ สงสารน้อง พ่อบอกว่าถ้าเราไม่ไป เราจะถูกฆ่า ดาวเห็นคนในหมู่บ้านหลายคนถูกฆ่า พ่อกลัวทหารพม่า พาดาวหนีเข้าไปอยู่ในป่า ในป่าลำบากมาก ไม่มีอะไรกิน ดาวสงสารแม่ สงสารน้อง สงสารพ่อที่ต้องดูแลดาว ดาวก็เลยขอตามคนที่หนีมาประเทศไทยด้วย จะได้มีเงินส่งให้พ่อแม่"

เรื่องราวเหล่านี้แม้ว่าฉันได้จะยินอยู่แทบทุกอาทิตย์ แต่ก็ไม่เคยคุ้นชิน กลับเศร้าใจและทุกข์ระทมทุกครั้งที่ได้ฟัง หลายต่อหลายครั้งของการเกี่ยวข้องกับคนที่เดินทางข้ามพรมแดนจากประเทศพม่ามายังประเทศไทย หลายคนไม่มีใครอยากจากบ้านเกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย มาเป็นแรงงานข้ามชาติ หลายคนไม่อยากถูกมองว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นตัวแพร่เชื้อโรคร้าย เป็นภัยความมั่นคง หลายคนอยากมีชีวิตที่สงบ สามารถดำรงชีวิตในบ้านเกิดได้อย่างเป็นสุข แต่จะมีสักกี่คนที่เลือกเส้นทางชีวิตได้…

(๓)
อดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่จาก International Rescue Committee(IRC) นักพัฒนาที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ามาไม่น้อยกว่า 10 ปี มักเชื่อมโยงให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่าง IDPs (internally displaced people), ผู้ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกันว่า

แรงงานข้ามชาติจากพม่าในเมืองไทยชีวิตไม่ได้ง่ายดายเหมือนน้าบุญเหลือ. น้าบุญเหลือ คือ หนุ่มอีสานที่ย้ายถิ่นมาเป็นลูกเรือประมงทะเลในแถบบ้านฉัน น้าต้องทำทุกอย่างในเรือ ตั้งแต่ยกของ วางอวน กู้อวน คัดแยกปลา หาบปลา ฯลฯ ต้องเผชิญกับทั้งมรสุมทะเล มรสุมลูกเรือ และมรสุมนายจ้าง ปัจจุบันน้าบุญเหลือกลายมาเป็นไต้ก๋งที่เพียงทำหน้าที่ควบคุมเรือเท่านั้น น้าย้ายถิ่นมาเพราะความไม่เท่าเทียมของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่เมืองศูนย์กลางกับเมืองชายขอบรอบนอกมีอัตราแตกต่างกันอย่างมาก

แต่กับแรงงานข้ามชาติจากพม่า ภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยรองๆ เสียด้วยซ้ำ เส้นทางของแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งๆ ตั้งต้นตั้งแต่การหลบหนีทหารพม่าที่บ้านเกิด ตั้งต้นจากการเป็น IDPs เป็นผู้ลี้ภัย ทั้งผู้ลี้ภัยในค่ายและนอกค่าย การบีบบังคับของรัฐบาลทหารพม่าภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ทั้งความแตกต่างในกลุ่มชาติพันธุ์ แนวนโยบายการปกครองแบบสังคมนิยมตามวิถีพม่า นโยบายการพัฒนาประเทศด้านพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องการขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาให้กับรัฐบาลไทย และการสร้างเขื่อนสาละวิน โครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS - The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการผลักไสให้ประชาชนจากประเทศพม่าต้องเผชิญชะตากรรมอย่างยากจะหลีกเลี่ยง กระบวนการจากกลไกรัฐที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้พวกเขาและเธอต้องเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ในอีกแผ่นดินหนึ่ง

กระบวนการที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าใช้ปฏิบัติกับกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับชาวบ้านเป็นแรงงานทาส, การยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน, การตัดอาหาร, การบังคับให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน, การปล้นและเผาหมู่บ้าน, การใช้นโยบายตัดสี่, การข่มขืนผู้หญิงที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนกองทัพชนกลุ่มน้อย. ผลลัพธ์โดยตรงจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ นำมาสู่การถูกละเมิดสิทธิต่ออาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบต่อความมั่นคงในชีวิตอย่างรุนแรง ล้วนเป็นตัวแปรให้เกิดการย้ายถิ่นแทบทั้งนั้น จากหมู่บ้านสู่แปลงอพยพ สู่การลี้ภัยในร่มป่า หนีออกมาใช้ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน และในที่สุดถึงกลายมาเป็นแรงงานข้ามชาติ

ฉะนั้นคนย้ายถิ่นจากประเทศพม่าทุกคน จึงไม่ใช่คนที่เป็นแรงงานข้ามชาติทั้งหมด บางคนคือ IDPs บางคนคือผู้ลี้ภัยในค่าย ผู้ลี้ภัยนอกค่าย อดีตนักศึกษาพม่า บางคนคือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในความห่วงใยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ POC (Person of Concern) แต่พวกเขาต่างเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันและไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง ในความเป็นจริงแล้ว คนข้ามชาติหลายกลุ่ม/หลายคนมิได้ตั้งใจเข้ามาหางานทำในประเทศไทย แต่ด้วยสภาพการณ์บังคับทั้งในประเทศพม่าและในประเทศไทย ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องหันมาเป็นผู้ใช้แรงงานไร้ฝีมือระดับล่าง(unskilled labor) ในที่สุด

พรสุข เกิดสว่าง เจ้าหน้าที่จากโครงการเพื่อนไร้พรมแดน ได้อธิบายให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงของกลุ่ม POC ผู้ลี้ภัยในค่าย ผู้ลี้ภัยนอกค่าย และแรงงานข้ามชาติ หลังจากที่พวกเขาได้รับสถานะใหม่และต้องมาใช้ชีวิตในประเทศไทย เพิ่มขึ้นว่า

POC จากพม่าในไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองโดยตรง ส่วนผู้ลี้ภัยในค่ายก็คือผู้ลี้ภัยสงครามรวมถึงผลกระทบจากสงคราม หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าผู้หนีภัยการสู้รบคือ ชาวบ้านที่ตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบ ระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย และได้หลบหนีเข้ามาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ในขณะที่ POC เป็นคนที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือทางการทหารต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าโดยตรง และได้หนีจากภัยการประหัตประหารเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้หลายคนมิได้มีความตั้งใจที่จะย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทย แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องเอาชีวิตรอดทั้งของตนและครอบครัว อันเนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นในค่าย ความหวาดกลัวต่อกองกำลังจากพม่าที่เข้ามาก่อกวน ความหวาดกลัวต่อการถูกส่งกลับ และความสิ้นหวังเมื่อต้องใช้ชีวิตอย่างผู้ลี้ภัยอยู่เป็นเวลานาน แม้ค่ายจะตั้งอยู่ห่างไกลและถูกควบคุมเข้มงวดเพียงใด ผู้อพยพวัยแรงงานบางคนจะเกิดความกดดันกับการเฝ้ารอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน ทำให้พวกเขาพยายามเล็ดรอดออกมาเป็นแรงงานให้ได้ในที่สุด

ส่วนกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่นอกค่ายฯ และไม่ได้ถือสถานะ POC นั้นเป็นกลุ่มที่ไม่มีพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ดังเช่นกลุ่มผู้ลี้ภัยในค่าย คนเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้เช่นเดียวกับ POC และผู้ลี้ภัยในค่าย หากแต่เป็นกลุ่มที่คน"มองไม่เห็น" ใช้ชีวิตหลบซ่อนตามหมู่บ้านชายแดน บางคนกลายเป็นแรงงานอพยพในเมือง หรือเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมือง งานพัฒนา สิทธิมนุษยชน สื่อ ฯลฯ อยู่เงียบๆ ดังเช่น กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่จากรัฐฉาน กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวปะโอ

ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รัฐบาลไทยพยายามที่จะไม่รับรู้ว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการประหัตประหารเหมือนกับกลุ่มผู้ลี้ภัยในค่าย พยายามสะกัดกั้น ผลักดันกลับ กดดันให้สภาพความเป็นอยู่มีความยากลำบาก ซึ่งล้วนแล้วแต่ยิ่งผลักดันให้ต้องกลายมาเป็นแรงงานข้ามชาติในที่สุด เพราะด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเขายังไม่สามารถจะกลับบ้านเกิดได้ แม้จะมีความอยากกลับไปเพียงใดก็ตาม"

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าคนทั้ง 5 กลุ่ม คือ (1) IDPs, (2) ผู้ลี้ภัยในค่าย, (3) ผู้ลี้ภัยนอกค่าย, (4) POC และ(5) แรงงานข้ามชาติ. พวกเขาไม่ได้แยกขาดจากกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการถูกกระทำการถูกประหัตประหารในรูปแบบที่แตกต่างกัน

(๔)
26 กุมภาพันธ์ 2550 เกือบเที่ยงคืน ที่อาคารผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ. "ผมได้ travel document แล้ว ผมสามารถเดินทางได้อย่างอิสระเสียที" ฮ่าน ยุ้น เพื่อนนักศึกษาจากพม่าที่สนิทกับฉันบอกด้วยสายตาเป็นประกาย และเต็มไปด้วยความหวังอีกครั้งหนึ่งของชีวิต อีกไม่กี่นาทีข้างหน้าเขาและเพื่อนผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่ากำลังจะเดินทางไปกรุงอัมสเตอร์ดัม นครหลวงของเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่เลือกรับเขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน และมอบปีกอิสระให้หัวใจเขาได้โบยบินอย่างเสรี

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ฮ่าน ยุ้น โทรศัพท์มาจากร้านค้าแห่งหนึ่งที่อยู่ข้างๆ ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านต้นยาง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นแกมกังวลว่า "ผมจะไปเนเธอร์แลนด์แล้ว" ในฐานะความเป็นเพื่อน ฉันไม่รู้ว่าควรดีใจ เสียใจ หรืออย่างไร? แง่หนึ่งถึงเวลาที่เขาจะได้มีเสรีภาพและได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่อีกแง่หนึ่งก็ไม่มั่นใจว่าเขาจะใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงอย่างไร. จากหนุ่มนักศึกษากะเหรี่ยงเมืองพญาตองซู สู่สถานะการเป็นแรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฏหมายในประเทศไทย 10 กว่าปี, อีก 3 ปีต่อมาเปลี่ยนสถานะไปเป็น POC ในแค้มป์ และวันนี้กำลังจะกลายเป็นพลเมืองคนใหม่ของประเทศเนเธอร์แลนด์

หนึ่งเดือนหลังจากนั้น ฮ่าน ยุ้น โทรศัพท์กลับมาหาและบอกว่า "ผมสบายดี ผมจะต้องอยู่ให้ได้"

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เรื่องที่ 2. เสียงจากนักโทษการเมืองหญิง...จากบ้านริมทะเลสาบ ถึงคุกอินเซน
รายงานโดย : สุภัตรา ภูมิประภาส (ชื่อบทความเดิม : วันสตรีแห่งสหภาพพม่า)

62 ปี ดอว์ซู
วันที่19 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันที่ผู้หญิงจากประเทศพม่าจะร่วมกันจัดงานฉลอง 'วันสตรีแห่งสหภาพพม่า' ไปพร้อมๆ กับการฉลองวาระครบรอบวันเกิดของนางออง ซาน ซู จี หรือ 'ดอว์ซู' ของชาวพม่า. 19 มิถุนายนปีนี้ (2550) เป็นวาระครบรอบวันเกิดปีที่ 62 ของออง ซาน ซู จี แต่เธอยังคงถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักของริมทะเลสาบอินยา เป็นปีที่ 5 ของการถูกจองจำครั้งล่าสุด

เสียงเรียกร้องที่ก้องมาจากทุกมุมโลกให้คณะเผด็จการทหารพม่าปล่อยเธอเป็นอิสระนั้น ไม่บังเกิดผลใด เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ออง ซาน ซู จี ต้องตกเป็นนักโทษการเมืองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่านับรวมได้ยาวนานกว่า 11 ปี. เธอถูกกักบริเวณครั้งแล้วครั้งเล่าโดยปราศจากข้อหา ครั้งหลังสุดนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2546 ภายหลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างฝูงชนที่มาฟังปราศรัยของนางออง ซาน ซูจี กับมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เหตุเกิดที่เมืองเดพายิน ทางตอนเหนือของพม่า

ตลอด 4 ปีของการถูกกักบริเวณครั้งหลังสุดนี้ นอกจากคนใกล้ชิดเพียง 2 คนที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมบ้านกับซูจีแล้ว รัฐบาลฯ อนุญาตแพทย์ไปตรวจสุขภาพเธอได้เดือนละ 2 ครั้ง นอกจากนี้แล้ว มีเพียงนายอิบราฮิม กัมบารี รองเลขาธิการฝ่ายการเมืองขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่าให้เข้าพบกับนางออง ซาน ซู จี ที่เกสต์เฮาส์หลังหนึ่งของกองทัพพม่าในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนปีที่แล้ว (2549) ภาพล่าสุดของดอว์ซูที่ปรากฏต่อสาธารณชน คือภาพที่เธอถ่ายคู่กับนายกัมบารีในวันนั้น

นักโทษการเมืองในพม่า
ออง ซาน ซู จี กลายเป็นนักโทษการเมืองที่ทำให้ประชาคมโลกได้รู้จักประเทศพม่า ในมุมของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง. ประเทศพม่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักโทษการเมืองมากที่สุดในโลก ปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่าคุมขังนักโทษการเมืองไว้ทั้งหมดจำนวน 1,114 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 6 เมษายน 2550 รวบรวมโดยสมาคมความช่วยเหลือเพื่อนักโทษการเมือง (พม่า) -AAPP) [Assistance Association for Political Prinsoners]

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่คณะเผด็จการทหารทำการรัฐประหาร และปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองร่างกุ้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 (เหตุการณ์ 8-8-88) เป็นต้นมา ได้มีการจับกุมคุมขังนักการเมืองและ สมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักกิจกรรมทางสังคม นักข่าว นักเขียน ตลอดจนประชาชนจำนวนหลายพันคน ที่เรียกร้องประชาธิปไตยหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลทหารฯ

จากรายงานของสมาคมความช่วยเหลือเพื่อนักโทษการเมือง ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา มีนักโทษการเมือง 127 คนเสียชีวิตในคุก เพราะสภาพการจองจำและการถูกทรมาน (ตัวเลขจากรายงานของ AAPP ณวันที่ 23 พฤษภาคม 2549) นักโทษการเมืองอีกจำนวนมาก เสียชีวิตภายหลังที่ได้รับการปล่อยตัวไม่นาน

นักโทษหญิง
นางออง ซาน ซูจี เป็นหนึ่งในจำนวนนักโทษการเมืองหญิงของพม่า แต่นอกจากเรื่องราวของเธอแล้ว แทบไม่มีใครรู้ว่า มีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับเพทภัยทางการเมืองอยู่ในคุกต่างๆ ในประเทศพม่า. ดอว์ ออง ซาน ซูจี เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ 'จดหมายจากพม่า' ว่า "ดิฉันมิได้เป็นนักโทษการเมืองสตรีเพียงคนเดียวในประเทศพม่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงมีสตรีจำนวนมากที่ถูกจับขัง เนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเธอ..."

บางคนถูกจับเพียงเพราะใส่เสื้อที่มีรูปนางออง ซาน ซูจี, บางคนถูกจับเพราะมีหนังสือของนางออง ซาน ซู จี อยู่ในครอบครอง, ผู้หญิงหลายคนถูกจับเพราะสามีเป็นสมาชิกพรรค NLD (the National League for Democracy) ของนางออง ซาน ซู จี.ในจำนวนนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขัง ทรมานจนเสียชีวิตในคุกนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง 4 คนรวมอยู่ด้วย คือ

- ดอว์ ติน ซอว์ อู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐมอญ
- ดอว์ ซาน ซาน วิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตเมืองร่างกุ้ง
- ดอว์ เส่ง ติน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐคะฉิ่น
- ดอว์ เม เพียว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐฉาน

สำหรับนางออง ซาน ซู จี นั้น แม้จะถูกกักขังอยู่ในบริเวณบ้านพักริมทะเลสาบอินยาของตัวเองก็ตาม แต่เธอก็อยู่ในสภาพขัดสนเช่นกัน ดอว์ซูเคยเล่าสภาพของตัวเองในระหว่างที่ถูกกักบริเวณไว้ว่า… "บางครั้งดิฉันแทบไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารรับประทาน ร่างกายของดิฉันอ่อนแอมาก ผมร่วง ดิฉันอ่อนแอจนไม่สามารถลุกจากเตียงได้ ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว หัวใจดิฉันเต้นแรง แทบหายใจไม่ออก น้ำหนักของดิฉันลดลงจาก 106 ปอนด์ เหลือเพียง 90 ปอนด์"

ปัจจุบันยังมีนักโทษการเมืองหญิงอีก 56 คนที่ถูกจองจำอยู่ตามคุกต่างๆ ในประเทศพม่า ต่อไปนี้คือบางส่วนของชีวิตในคุกหญิงของพม่าที่เล่าโดยอดีตนักโทษการเมืองหญิงคนอื่นๆ

ข้อมูลจากสมาคมความช่วยเหลือเพื่อนักโทษการเมือง (พม่า)
AAPP: Assistance Association for Political Prisoners (Burma)


การถูกคุกคามทางเพศ
- ดอว์ ซูซู มอ สมาชิกองค์การนักศึกษา เขียนเล่าประสบการณ์ในระหว่างที่ถูกจับและคุมขังเมื่อปี 2534 ไว้ว่า
"ระหว่างที่ถูกสอบสวน ฉันถูกบังคับให้นั่งยองๆ แล้วลุกขึ้นยืนสลับกันไปโดยชูมือทั้งสองไว้ด้วย เมื่อใดก็ตามที่ฉันหยุดเพราะความอ่อนล้า ฉันจะถูกไม้หวายฟาดที่สะโพกและหัวนม ฉันถูกทรมานแบบนี้ตลอดคืน เวลาที่ฉันพยายามที่จะกระชับผ้าโสร่งที่ใส่อยู่ให้แน่นขึ้น พวกเขาจะฟาดที่แขนฉัน แล้วขู่ว่าถ้าฉันไม่พูดความจริง เขาจะช่วยกันถอดผ้าโสร่งของฉัน"

- ดอว์ ติน ติน มอ นักศึกษามหาวิทยาลัย เล่าว่า ระหว่างถูกสอบสวน เจ้าหน้าที่เอาผ้าคลุมหน้าเธอไว้ พวกเขาตบตีเธอ และขู่เธอว่า "เธอคงไม่ลืมนะว่า เธอยังเป็นสาวบริสุทธิ์อยู่" ตินตินมอบอกว่า คำขู่นั้นทำให้เธอหวาดกลัวยิ่งกว่าการถูกตบตีเสียอีก

การทรมาน
- ดอว์ ทัน จ่วย สมาชิกพรรค NLD ถูกจับกุมและคุมขังระหว่างปี 2534-2539 เล่าประสบการณ์ในคุกว่า
"รัฐบาลทหารฯ ประกาศกับชาวโลกว่า ไม่มีการทรมานนักโทษการเมืองในพม่า แต่สิ่งที่ดิฉันเห็นในคุกที่ดิฉันอยู่คือ นักโทษการเมืองหญิง 2 คนถูกผู้คุมสั่งให้หันหน้าแนบกำแพงคุก แล้วก็เฆี่ยนพวกเธอด้วยหวาย การกระทำแบบนี้ไม่ได้เรียกว่าการทรมานหรือ?"

สภาพในคุก
- แพทย์หญิง ขิ่น มาจี ถูกจับกุมเพราะมีหนังสือ 'เสรีภาพที่ปราศจากความกลัว' (Freedom from Fear) และหนังสือ 'จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย' (From Dictatorship to Democracy) ไว้ในครอบครอง เธอถูกจองจำอยู่ที่คุกเมืองมันดาเลย์เป็นเวลา 6 ปี ระหว่างปี 2539-2545. แพทย์หญิง ขิ่น มาจี เล่าว่าเวลาที่มีการอนุญาตให้ตัวแทนจากองค์กรต่างประเทศมาเยี่ยมชมสภาพคุกนั้น นักโทษก็จะได้กินข้าวสีขาวและแกงที่อยู่ในสภาพปกติที่สามารถรับประทานได้."แต่เมื่อพวกเขากลับไป ทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาพเดิม บางครั้งข้าวที่เอามาให้นักโทษมีกลิ่นเหมือนขี้หมู ฉันต้องอุดจมูกตัวเองแล้วพยายามไม่มองมันตอนที่ตักเข้าปาก"

- ซาน ซาน น๋วย นักเขียนสตรีชาวพม่าถูกจับพร้อมกับบุตรสาวด้วยข้อหา 'ผลิตและส่งรายงานต่อต้านรัฐบาลให้สถานีวิทยุต่างประเทศและสำนักข่าวต่างประเทศ' ถูกพิพากษาจำคุก 10 ปี เธอได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจำขังอยู่ 7 ปี. ซาน ซาน น๋วยได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านักโทษการเมืองหญิงคนอื่นๆ เพราะเธอเป็นที่รู้จักในสังคมพม่า และให้องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศติดตามคดีของเธออย่างใกล้ชิด เธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนกรกฏาคม 2544

"ฉันกับลูกสาวถูกขังอยู่ในห้องขังเดียวกันเป็นเวลา 5 ปี 7 เดือน หลังจากที่ลูกสาวฉันได้รับการปล่อยตัวไป ฉันต้องถูกขังเดี่ยวในห้องแคบๆ อยู่กว่าปี ตามกฎของเรือนจำ ฉันต้องอยู่แต่ในห้องขังทั้งวัน นอกจากเวลาวันละ 35 นาทีช่วงเช้า และ 25 นาทีช่วงบ่ายที่ฉันได้รับอนุญาตให้ใช้เวลาช่วงนี้อาบน้ำ ซักผ้า หรือเดินออกกำลังได้"

- ดอว์ เอเอ วิน ถูกจับกุมด้วยข้อหาเผยแพร่ภาพและวีดีทัศน์การปราศรัยของนางออง ซาน ซู จี เธอถูกพิพากษาจำคุก 7 ปี. "ฉันถูกขังรวมกับนักโทษหญิงคดีอาชญากรรม คดียาเสพติด คดีลักทรัพย์ประมาณ 300 คน และผู้คุมหญิงก็ปฏิบัติกับฉันราวกับว่า ฉันเป็นอาชญากร ผู้คุมจะใช้หวายฟาดเวลาที่พวกนักโทษส่งเสียงดัง"

- ยี ยี ทุน ถูกจับกุมในข้อหาร่วมกิจกรรมทางการเมือง เธอถูกจองจำในคุกระหว่างปี 2540 - 2545. "หลังจากถูกขังอยู่ 11 เดือนที่คุกอินเซน ฉันถูกย้ายไปขังที่คุกเมืองทราวดี ที่คุกอินเซนตอนนั้นแออัดไปด้วยนักโทษการเมืองประมาณ 400 คน ในจำนวนนี้มีนักโทษการเมืองหญิงอยู่ 10 คนที่ถูกย้ายไปอยู่คุกนอกเมืองแห่งอื่นๆ ตอนที่ถูกขนย้ายนั้น ฉันคิดไปถึงภาพการขนย้ายนักโทษชาวยิวไปยังค่ายกักกันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่รู้ว่าจะถูกพาไปไหน"

ข้อมูลจากศูนย์กลางนานาชาติว่าด้วยเรือนจำศึกษา (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2548)
International for Prison Studies, King's College, London


ประเทศพม่ามีเรือนจำกลาง 2 แห่ง คือคุกอินเซน และคุกมันดาเลย์ และคุกอื่นๆ อีก 39 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้มีค่ายคุมขังนักโทษสำหรับการใช้แรงงานหนักอีก ดังนี้

- ค่ายแรงงานเหมืองหิน 17 แห่ง
- ค่ายแรงงานเกษตรกรรม 18 แห่ง
- ค่ายแรงงานปศุสัตว์ 2 แห่ง
- ค่ายแรงงานก่อสร้างถนน 8 แห่ง
- ค่ายแรงงานก่อสร้างทางรถไฟ 1 แห่ง
- ค่ายแรงงานไร่ยางพารา 1 แห่ง
- ศูนย์นักโทษหญิง 1 แห่ง
- ค่ายฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด 2 แห่ง

จำนวนนักโทษหญิงเป็น 17.8 % ของจำนวนนักโทษทั้งหมดประมาณ 60,000 คน (ตัวเลขปี 2548) ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าความสามารถในการรองรับของเรือนจำและเจ้าหน้าที่ คิดเป็น 144.3%

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เรื่องที่ 3. "พม่าลุกฮือ! ภูมิหลังและบริบทของสถานการณ์"
โดย เกษียร เตชะพีระ จากมติชน วันที่ 5 ตุลาคม 2550

(คอลัมน์นี้แปลเรียบเรียงจากบทความเรื่อง "Burma Today : Recent Developments" ของ Soe Myint แห่ง Mizzima News www.mizzima.com อันเป็นเว็บข่าวของกลุ่มนักหนังสือพิมพ์และนักศึกษาชาวพม่าลี้ภัยในอินเดีย ประกอบกับแหล่งข่าวอื่นๆ เพื่อให้ข้อมูลที่สั้นกระชับชัดเจนเกี่ยวกับภูมิหลังและบริบทของสถานการณ์พม่าปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยปูพื้นความเข้าใจการลุกฮือขึ้นสู้เผด็จการทหารของพระสงฆ์และประชาชนชาวพม่าตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ศกนี้เป็นต้นมา)


คลื่นประท้วงของพระสงฆ์และประชาชนระลอกล่าสุดในพม่า นับเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองของคณะทหารที่ใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ

1) สาเหตุเฉพาะหน้าของการประท้วง

- 15 สิงหาคม 2007 ทางการพม่าขึ้นราคาเชื้อเพลิงครั้งใหญ่โดยไม่แจ้งล่วงหน้า!
- ก๊าซธรรมชาติขึ้นราคาไป 500%, น้ำมันดีเซลขึ้นราคาเป็นสองเท่า (เมื่อ 2 ปีก่อนก็เคยขึ้นราคา
เชื้อเพลิงมาแล้วรอบหนึ่งจาก 180 เป็น 1,500 จ๊าด = 900%)
- ค่าโดยสารรถเมล์/แท็กซี่ขึ้นเป็น 2 เท่าหรือกว่านั้น
- ค่าตั๋วเครื่องบินในประเทศสำหรับชาวพม่าขึ้นไป 30%
- ข้าวปลาอาหารขึ้นราคาโดยเฉลี่ย 35%, กระเทียม/ไข่ไก่ ขึ้นราคา 50%

2) มูลเหตุรากฐานของการประท้วง

- ประชาชนโกรธแค้นที่รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด
- ประท้วงการกดขี่ปราบปรามทางการเมือง
- จงเกลียดจงชังการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ระบาดลุกลาม
- ไม่ไว้วางใจแผนที่ทางเดินสู่ประชาธิปไตยของ "คณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ"
(คสพร. หรือ State Peace and Development Council - SPDC อันเป็นชื่อเรียกคณะทหารผู้ปกครอง)
- เหลืออดเหลือทนการปกครองกดขี่ฉ้อฉล นานเกือบ 2 ทศวรรษของ คสพร.

3) เหตุผลน่าเป็นไปได้ที่ทางการพม่าขึ้นราคาเชื้อเพลิง

- พยายามเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน
- ต้องการแปรรูประบบจำหน่ายจ่ายแจกเชื้อเพลิงให้เป็นของเอกชน
- เกิดวิกฤตงบประมาณขาดดุล เนื่องจากทุ่มงบฯมหาศาลสร้างเมืองหลวงใหม่ เนย์ปีย์ดอว์
และเมืองศูนย์กลางเครือข่ายไซเบอร์ใหม่ ยาดานาบอน
- ทำตามข้อเสนอแนะของไอเอ็มเอฟ ที่ให้ลดเงินอุดหนุนค่าเชื้อเพลิงของภาครัฐลง
คณะเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลกเพิ่งมาเยือนพม่าประจำปีเมื่อต้นเดือนกันยายนศกนี้
- หลีกเลี่ยงการตัดทอนงบประมาณรัฐบาล และงบฯการทหารลง
- ฉวยโอกาสปราบปราม "กลุ่มนักศึกษารุ่น 88" (หมายถึงอดีตนักศึกษาที่ลุกฮือสู้เผด็จการทหารเมื่อปี ค.ศ.1988) และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ซึ่งยืนหยัดก่อหวอดประท้วง คสพร.ตามท้องถนนอย่างต่อเนื่องนับแต่ต้นปีนี้มา และเพื่อดำเนินแผนการร่าง "รัฐธรรมนูญฉบับทหาร" ได้อย่างราบรื่น

4) สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพม่า

- ประชากรราว 75% อยู่ในฐานะยากจน
- ค่าจ้างขั้นต่ำตกวันละ 1,000 จ๊าด/คน (ประมาณ 25-30 บาท)
- ผู้ใช้แรงงานหาเงินได้โดยเฉลี่ยวันละ 2,000 จ๊าด (ประมาณ 50-60 บาท)
- เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยตกราว 4,500-5,000 บาท
- ชาวบ้านต้องใช้เงินที่หาได้ต่อเดือนราว 60-80% ไปเป็นค่าอาหาร จึงแทบไม่มีเงินเหลือเป็นค่าหยูกยา,
ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายทางสังคมอื่นๆ เลย
- ตอนนี้ชาวเมืองต้องใช้เงินที่หาได้รายวันไปเป็นค่าเดินทางถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 3 ใน 4 โดยเฉพาะพวกที่อยู่ชานกรุงย่างกุ้ง
- พม่ามีหนี้ต่างประเทศสูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เงินเฟ้อปีที่แล้ว = 21.4%, ปีนี้ = 32.3% และมาบัดนี้ขึ้นสูงถึง 80%
- พม่ามีก๊าซธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่เอาไปขายต่างชาติหมด
- รายจ่ายการทหารคิดเป็น 40% ของงบประมาณแผ่นดิน, ส่วนรายจ่ายด้านสาธารณสุขและการศึกษา
รวมกันแค่ 3% ของงบประมาณฯ ทั้งหมด

5) ใครกลุ่มไหนบ้างที่ลุกฮือขึ้นประท้วงเรียกร้องให้ลดราคาเชื้อเพลิงลงเท่าเดิมและเอาประชาธิปไตย?

- นำโดยกลุ่มนักศึกษารุ่น 88-เปิดฉากขึ้นเมื่อ 19 สิงหาคมศกนี้ ด้วยการรวมกำลัง 500 คน
เดินประท้วงจากบ้านพัก อู จี หม่อง ไปกลางเมืองย่างกุ้ง
- คณะกรรมการการพัฒนาเมียนมาร์
- สมาชิกสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) ของนางออง ซาน ซูจี
- กลุ่มชาตินิยมของอู วิน แนง
- คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย
- พระสงฆ์หัวก้าวหน้า
- กลุ่มอื่นๆ
- การเคลื่อนไหวประท้วงได้แพร่กระจายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศถึง 17 แห่ง

6) ปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐบาลทหารระยะแรก

- 21 สิงหาคม รัฐบาลทหารบุกกวาดล้างจับกุมผู้นำนักศึกษารุ่น 88 และสมาชิกสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยกลางดึก
- เดิมทีใช้กำลังทหาร/ตำรวจแต่น้อย ทว่าใช้อันธพาลการเมืองและกลุ่มจัดตั้งฝ่ายทหารเป็นหลัก เช่น USDA
(กลุ่ม "เสื้อขาว" เข้าทำนอง "นวพล" ของไทย) และ สวาน อาร์ ชิน ("เจ้าพลัง" คล้าย "กระทิงแดง" ของไทยสมัย 6 ตุลาคม 2519)
มาลุยตีกลุ่มผู้ประท้วงจนแตกกระเจิง
- ตัดสายโทรศัพท์ติดต่อสื่อสาร
- พยายามประกาศให้สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเป็นองค์กรผิดกฎหมาย
- จับกุมคุมขังและทรมานผู้นำ/นักเคลื่อนไหวกว่า 150 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงเกือบ 20 คน

7) USDA หรือกลุ่ม "เสื้อขาว"

- ก่อตั้งปี ค.ศ.1993 โดยพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ในรูปองค์การสวัสดิการสังคม
- มีสมาชิกเกือบครึ่งของประชากรพม่าทั้งประเทศ หรือ 22.8 ล้านคน
- ข้าราชการและเด็กนักเรียน ถูกเหมาเป็นสมาชิกหมดโดยอัตโนมัติ
- บุกโจมตีขบวนรถของออง ซาน ซู จี ที่เดปายินิน เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2003
- มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนรวมทั้งจีน
- น่าจะแปรรูปกลายเป็นพรรคการเมืองที่ทหารหนุนหลังในอนาคต

8. ผลกระทบระยะกลางของการประท้วงและปราบปราม

- จะมีชาวพม่าลี้ภัยทางเศรษฐกิจไปประเทศข้างเคียงรวมทั้งไทยมากขึ้น
- ชุมชนต่างๆ ถูกกดดันหนักขึ้น ให้ต้องทำผิดกฎหมายเพื่อเลี้ยงชีพเอาตัวรอด
- สถานการณ์ในพม่าไร้เสถียรภาพ
- ความขัดแย้งต่อสู้ด้วยอาวุธกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ น่าจะปะทุขึ้นอีก
- พม่ายิ่งห่างไกลประชาธิปไตยออกไปทุกที

9) ท่าทีของอาเซียน

- ความสัมพันธ์กับพม่า : ที่ผ่านมาอาเซียนดูลังเลที่จะประณามประเทศภาคีสมาชิกด้วยกัน
ทว่าภาคีสมาชิกประเทศอื่นๆ พากันแสดงท่าทีอึดอัดกับพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ
อาเซียนในนิวยอร์ก ได้เรียกร้องให้ทางการพม่าหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง

- ผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับพม่า : อาเซียนต้องชั่งใจถ่วงดุลระหว่าง

ก) ความห่วงใยอยากรักษาไว้ซึ่งเอกภาพในองค์การอาเซียนเอง กับ
ข) ความต้องการให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพ และแรงกดดันจากบรรดาประเทศตะวันตก ซึ่งอยากให้อาเซียนสนับสนุนมาตรการเล่นงานระบอบทหารในย่างกุ้ง

10) ท่าทีของจีน

- ความสัมพันธ์กับพม่า : สนิทแน่นแฟ้นทางการค้าและการทูต ถือเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพสูงสุดในการส่งอิทธิพลต่อรัฐบาลทหารพม่า จีนคอยขัดขวางมาตรการลงโทษพม่าในสหประชาชาติ แต่ระยะหลังนี้จีนเรียกร้องให้ "ทุก" ฝ่ายในพม่า "ใช้ความยับยั้งชั่งใจ"

- ผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับพม่า : น้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองของพม่าสำคัญต่อจีน ที่กำลังเร่งรัดพัฒนาและหิวพลังงาน ทว่าในฐานะมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ ปักกิ่งก็ต้องการให้มั่นใจว่าเหตุการณ์ในพม่าไม่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคด้วย

- จีนเป็นประเทศหลักที่คอยจัดหาอาวุธ (มูลค่ากว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ), เงินสด และการสนับสนุนทางการเมืองและยุทธศาสตร์มาให้ คสพร.นับแต่ปี 1988 เป็นต้นมา

- จีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับพม่ารวมทั้งสิ้นกว่า 200 ฉบับ
- รัฐวิสาหกิจของพม่า 53 แห่งพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยการสนับสนุนของจีน
- จีนเป็นคู่ค้าหลักของพม่า ทำรายได้ให้พม่าถึง 1.274 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2007

- การค้าชายแดนจีน-พม่าเป็นเส้นชีวิตทางเศรษฐกิจของพม่า (มูลค่าถึง 562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2006)
- พม่าเป็นขุมทรัพยากรให้จีนตักตวง
- มิถุนายน 2007 จีนจัดแจงให้ตัวแทนของอเมริกาได้พบกับตัวแทนคณะทหารพม่าอย่างไม่มีใครคาดถึงในปักกิ่ง

11) ท่าทีของอินเดีย

- ความสัมพันธ์กับพม่า : อินเดียมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเศรษฐกิจและการทูตกับพม่า อินเดียได้แสดงความห่วงใยวิกฤตปัจจุบัน แต่โดยทั่วไปแล้วก็รักษาท่าทีสุขุมเงียบเฉยไว้ บอกว่ามันเป็นกิจการภายในของพม่า อดีตรัฐมนตรีกลาโหม จอร์จ เฟอร์นันเดซ ของอินเดียวิจารณ์ว่า ท่าทีปัจจุบันของรัฐบาลอินเดียในเรื่องนี้ "น่าทุเรศ"

- ผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับพม่า : อินเดียมุ่งปกป้องกิจการน้ำมันของตนในพม่าเหนืออื่นใด ถึงแก่ลงนามข้อตกลงสำรวจแหล่งน้ำมันในทะเลลึกฉบับใหม่กับทางการพม่า ในสัปดาห์เดียวกับที่การประท้วงเริ่มขึ้นนั่นเอง อินเดียยังขายอาวุธให้ระบอบทหารพม่าด้วย ทว่าในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก อินเดียก็ถูกกดดันจากตะวันตกและนักเคลื่อนไหวชาวอินเดียเอง ให้แสดงจุดยืนสนับสนุนพลังประชาธิปไตยในพม่าแข็งขันขึ้นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก : -

- รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ปรานาบ มูเคอร์จี ได้กล่าวต่อที่ประชุมในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ เมื่อ 14 กันยายนศกนี้ว่า : - "หลักการมูลฐานของนโยบายต่างประเทศของเราคือ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศใด... อีกทั้งเราก็ไม่ส่งออกอุดมการณ์ด้วย...มันเป็นเรื่องที่พวกเขา (ประชาชนพม่า) ต้องตัดสินใจเองว่าต้องการรัฐบาลแบบไหน"

- ในทางกลับกัน สมาชิกราชสภาและโลกสภาของอินเดีย 17 คนก็ได้แถลงในโอกาสครบรอบวันเกิด 62 ปีของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนศกนี้ ว่า : - "ถึงแม้คณะทหารพม่าจะกักกันตัวท่านไว้ ทว่าท่านนั่นแหละเป็นนายกรัฐมนตรีที่แท้จริงของพม่า"

 

ข่าวล่าสุด
Burma: Deadly disappearances under cover of darkness
By MARCUS OSCARSSON
Last updated at 15:04pm on 1st October 2007


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73