โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 16 September 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๕๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๐ (September, 16, 09,.2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

เสรีภาพของพันธุ์พืช เป็นพื้นฐานของเสรีภาพทางอาหาร การควบคุมเมล็ดพันธุ์เป็นพื้นฐานของเผด็จการอาหาร. เมล็ดพันธุ์ที่ถูกจดสิทธิบัตรกลายไปเป็นสมบัติของบรรษัทต่างๆ อย่าง มอนซานโต้ พืชหลากหลายสายพันธุ์มีวิวัฒนาการมาให้เหมาะกับสภาพดินและภูมิอากาศของระบบนิเวศน์ท้องถิ่น รสชาติและวัฒนธรรมอาหารของชุมชนท้องถิ่น ในอินเดีย เรามีข้าวถึง ๒๐๐,๐๐๐ พันธุ์ พันธุ์ที่มีความสูงหกเมตรสามารถอยู่รอดได้จากการท่วมขังของแม่น้ำคงคา และพันธุ์ที่ทนต่อความเค็มขึ้นได้ในแถบชายฝั่งทะเล เราแจกข้าวที่ทนต่อความเค็มหลังเหตุการณ์สึนามิ ๒๕๔๗
16-09-2550

Indian Thinkers
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ตามรอยความคิดอินเดีย: "วิโนพา ภาเว" และ "วันทนา ศิวะ"
ภูมิธรรมความคิด
: จากแนวคิดสรรโวทัยถึงเสรีภาพด้านอาหาร
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
กองบรรณาธิการปาจารยสารมอบให้เผยแพร่บนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน
(ปาจารยสาร, ฉบับเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ๒๕๕๐)

บทความวิชาการต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจาก
กองบรณาธิการปาจารยสาร เพื่อเผยแพร่ต่อบนเว็บไซต์แห่งนี้
ประกอบด้วยบทความ ๒ เรื่องของนักคิดอินเดีย คือ
๑. นักรบสันติภาพแห่งภารตะประเทศ : วิโนพา ภาเว
๒. เสรีภาพทางอาหาร : ในเผด็จการอาหาร อุตสาหกรรมและธุรกิจโลก
เรื่องแรกเป็นการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของท่านวิโนพา ภาเว
และวิถีทางการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนในสังคมชนบทของอินเดีย
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นปาฐกถาของวันทนา ศิวะ นักต่อสู้ทางด้านพันธุ์พืช
ของอินเดีย เกี่ยวกับเสรีภาพและประชาธิปไตยด้านอาหาร
ทั้งสองเรื่องมีจุดเชื่อมโยงกันในเชิงชาติพันธุ์ และแนวคิดที่ต่อสู้เพื่อเอาชนะ
โลกตะวันตกที่ครอบงำผ่านแนวคิดอาณานิคมและทุนนิยมผูกขาด
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๕๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ตามรอยความคิดอินเดีย: "วิโนพา ภาเว" และ "วันทนา ศิวะ"
ภูมิธรรมความคิด
: จากแนวคิดสรรโวทัยถึงเสรีภาพด้านอาหาร
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
กองบรรณาธิการปาจารยสารมอบให้เผยแพร่บนเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืน

(ปาจารยสาร, ฉบับเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ๒๕๕๐)

๑. นักรบสันติภาพแห่งภารตะประเทศ : วิโนพา ภาเว
TSB เขียน (ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ปาจารยสาร ฉบับเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม ๒๕๕๐)

วิโนพา ภาเว: บุรุษผู้นี้ไม่ใช่นักบวช ไม่ใช่นักพรตหรือโยคี ทั้งมิใช่นักเคลื่อนไหวในความหมายนักพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่นักปฏิรูปสังคม อีกทั้งมิใช่นักปฏิวัติ เราไม่อาจจะนิยามเขาว่าสังกัดอะไร เพราะเขาไม่สวมป้ายสลาก และไม่ยอมถูกครอบงําด้วยวิธีคิดใดๆ แต่โดยการทดลองปฏิบัติอย่างทุ่มเทด้วยความรักและปัญญา. เขาเป็นสามัญชนที่ถือพรหมจรรย์ตลอดชีวิต บําเพ็ญภาวนาด้วยการทํางานหนักเพื่อผู้อื่น ไม่รังเกียจที่จะขนอุจจาระเยี่ยงคนจัณฑาลเพื่อชะล้างสํานึกพราหมณ์ในตนเองให้หมดไป

"คนของพระเจ้า" เป็นคําเรียกที่พอจะใกล้เคียงความจริงมากที่สุดสําหรับเขา คนในแวดวงใกล้ชิดเรียกเขาว่า"บาบา" อันหมายถึงบิดาอันเป็นที่รัก เหมือนที่ใครๆ เรียกคานธีว่า"บาปู" เขาเป็นส่วนผสมของนักปรัชญาและนักรบแห่งสันติภาพ ผู้มุ่งปฏิบัติการทางสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่สิ่งที่ดีงาม. เขาคือ "วิโนพา ภาเว" คนทํางานอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวทางสังคมของคานธีในหลายโครงการ อาทิ โครงการขาดี้ (ปลดปล่อยหมู่บ้านด้วยผ้าทอมือ), ศานติเสนา ภูทาน และสรรโวทัย เป็นต้น

ในแวดวงนักเคลื่อนไหวทางสังคมผู้มีความคิดก้าวหน้า มักรู้จักวิโนพาในฐานะมือขวาของ มหาตมา คานธี ศาสดาสันติวิธีแห่งอินเดียและโลกสมัยใหม่ กล่าวได้ว่าชีวิตและการทํางานของวิโนพา ที่แท้ คือภาพต่อของขบวนการปลดปล่อยประชาชาติอินเดียออกจากโครงสร้างสังคมอันอยุติธรรม ที่รู้จักกันในนาม"สวราช" หรือการปกครองตนเองของอินเดียนั่นเอง (สวราช คือธงนําเพื่อรวมประชาชาติต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ)

๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ อังกฤษคืนเอกราชให้กับอินเดีย และหลังจากประชาชาติอินเดียทั้งประเทศร่วมเฉลิมฉลองชัยชนะอย่างภาคภูมิใจได้ไม่นาน ห้าเดือนครึ่งต่อมา, ๓๐ มกราคม ๒๔๙๑ มหาตมาคานธี ดวงวิญญาณอันยิ่งใหญ่แห่งอินเดียก็พลันวูบแสงลง โดยการถูกลอบสังหารด้วยชายชาวฮินดูหัวรุนแรง ซึ่งต่อมารับรู้กันว่าชายผู้นี้มีสติไม่สมประกอบ

อินเดียได้รับเอกราชเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่สําหรับใครหลายคน แต่สําหรับคานธีและศิษยานุศิษย์ เอกราชทางการเมืองถือเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ตราบใดที่ประชาชนอินเดียยังพึ่งตนเองไม่ได้ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตกเป็นทาสอาณานิคมในทางเศรษฐกิจและปัญญา นั่นยังไม่ถือเป็นสวราชที่แท้จริง แต่หากจะชูธง"สวราช"ต่อไปคนอินเดียก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรใหม่ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้มหาตมาคานธีชูธง"สรรโวทัย"ทันทีที่ได้รับเอกราช

หลังการมรณกรรมของคานธี สภาพบ้านเมืองที่เพิ่งได้เอกราชคืนมา เต็มไปด้วยความหวัง ความเป็นไปได้ ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความแตกแยกเกลียดชังและสับสน แม้ในหมู่ผู้ดําเนินรอยตามคานธีเองก็เริ่มไขว้เขวเหนื่อยหน่าย นายสรดาร์ ปาเฏลลูกศิษย์คนหนึ่ง (ซึ่งต่อมาเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเนห์รู) ถึงกับกล่าวปราศรัยท่ามกลางสาธารณชนว่า… พวกเรารณรงค์ผ้าขาดี้และโครงการการกอบกู้หมู่บ้านมาอย่างยาวนาน ถึงวันนี้ไม่มีใครหลงเหลือศรัทธาในผ้าขาดี้อยู่เลย หากคนส่วนใหญ่ไม่ยอมฟังแม้แต่มหาตมา พวกเขาจะมาเงี่ยหูฟังเราละหรือ? อินเดียวันนี้เป็นประเทศเสรี สิ่งที่เราต้องทําคือพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการทําสงครามแข่งขัน

ท่ามกลางความระส่ำระสายของเพื่อนผู้ร่วมขบวนการ วิโนพาทํางานเงียบๆ อยู่ในอาศรมบรมธาม ครุ่นคิดอยู่เงียบๆ ว่าจะหาทางออกให้กับสภาพการณ์นี้อย่างไร และคําตอบของเขาก็คือ เขาต้องเดินทางเพื่อสัมผัสประเทศอินเดียให้มากขึ้น และต้องเป็นการเดินเท้าเท่านั้น นี่นับว่าคล้ายกับคานธีเมื่อกลับจากอาฟริกาใต้มาเริ่มงานในอินเดียใหม่ๆ เขาก็เลือกที่จะรู้จักอินเดียด้วยการเดินทาง. วิโนพาเดินทางทํางานไปหลายที่ เข้าช่วยเหลือผู้อพยพปากีสถานบ้าง เยี่ยมเยือนคนทุกข์ยากบ้าง และที่สุดตัดสินใจเดินเท้าไปประชุมใหญ่สรรโวทัย ที่เมืองไฮเดอะราบาด. การเดินเท้าสําหรับเขาคือการภาวนา คือการสัมผัสวิญญาณของชาวอินเดีย

บาโรดา ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙
หนุ่มน้อยวิโนพาวัย ๒๑ ปีจับรถไฟจากบ้านเกิดมุ่งสู่พาราณสี ก่อนออกจากบ้านเขาได้เอาประกาศนียบัตรต่างๆ ของตัวเอง รวมทั้งประกาศนียบัตรรับรองการเข้าศึกษามหาวิทยาลัยมาเผาไฟจนหมดสิ้น ผู้เป็นแม่ถามเขาว่าเผาเสียทําไม เขาตอบว่า ผมไม่ต้องการมันอีกแล้ว. ลูกอาจไม่ต้องการในตอนนี้แต่ในอนาคต…แม่ท้วง, ไม่ ผมจะไม่ทํางานกินเงินเดือนเป็นอันขาด จุดมุ่งหมายของเขาคือการตัดพันธนาการทุกชนิดที่จะผูกมัดเขาไว้ในระบบ และที่เขาเลือกเอาพาราณสี เพราะที่นี่คือขุมทรัพย์ทางปรัชญา และเป็นทางผ่านไปสู่แคว้นเบงกอลและขุนเขาหิมาลัย. สําหรับวิโนพา เบงกอลคือแหล่งนักคิดเพื่ออุดมการณ์ปฏิวัติ และหิมาลัยคือดินแดนแห่งจิตวิญญาณที่เขามุ่งเดินไปสู่

พาราณสี ๗ มิถุนายน ๒๔๕๙ ปีเดียวกัน
วิโนพาลงจากรถไฟที่สถานีอาหเมดาบาด เขาเดินถามทางไปเรื่อยๆ แปดโมงเช้าเขาก็มาถึงอาศรมสัตยาเคราะห์ คานธีพำนักอยู่ที่นี่ อนุสนธิจากปาฐกถาอันลือลั่นของคานธีที่มหาวิทยาลัยฮินดู ยังคงเป็น Talk of the town หลงเหลือไว้ให้วิโนพาหนุ่มผู้ใฝ่รู้ร่อนไปรษณียบัตรไถ่ถามข้อสงสัยเรื่องสันติวิธี แต่ยังคงไม่จุใจ คานธีชวนเขามาเรียนรู้ต่อที่อาศรม เพราะหลายเรื่องไม่อาจเรียนผ่านถ้อยคําทฤษฎี และเขาก็มา

การพบกับคานธีที่ร่องผัก
คานธีหนุ่มใหญ่ในวัย ๔๘ ผู้ผ่านการต่อสู้สัตยาเคราะห์มาอย่างโชกโชนในอาฟริกาใต้ กับหนุ่มน้อยวิโนพาเจอกันที่ร่องผัก. คานธี กําลังง่วนอยู่กับการเก็บผัก บาปูส่งมีดมาให้ฉัน และคะยั้นคะยอให้ฉันเก็บผักกับท่าน นี่คือบทเรียนบทแรกของฉัน นี่คือพิธีฝากตัวเป็นศิษย์ของฉัน. วิโนพา ยกเลิกการเดินทางไปเบงกอลและหิมาลัยดังที่ตั้งใจไว้ นั่นเพราะเขามาถึงคานธี และคานธีเป็นทั้งสายธารแห่งการปฏิวัติและขุนเขาแห่งจิตวิญญาณในขณะเดียวกัน. เมื่อนักแสวงหาค้นพบครูทางวิญญาณของเขา เขาจะไปไหนได้อีก

๓๒ ปีเต็ม (ยกเว้นปี ๒๔๖๐ ปีเดียวเท่านั้น ที่วิโนพาปลีกตัวไปเรียนปรัชญาและสันสกฤตด้วยตัวเอง) วิโนพาอุทิศชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ เรียนรู้ฝึกฝนตนเอง ทํางานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับคานธีและพี่น้องในอาศรม ต่อมาเขาแยกตัวไปตั้งอาศรมบรมธามห่างจากอาศรมคานธีไป ๕ ก.ม. งานเหล่านี้เป็นงานเย็นเคลื่อนไหวอยู่ในหมู่บ้าน ภาวนา ทดลอง ค้นหาวิธีการพึ่งตนเองทุกรูปแบบ ฝึกคนทํางานและส่งออกไปในหมู่บ้านที่สุมไปด้วยปัญหา กระทั่งอินเดียบรรลุชัยชนะทางการเมืองในปี ๒๔๙๐ และคานธีถูกสังหารในปี ๒๔๙๑

ศีล ๑๑ ข้อในอาศรมคานธี
สมาชิกอาศรมของคานธีนั้น ทุกคนต้องถือศีล ๑๑ ข้อ อันถือเป็นสัจจาธิษฐานร่วมกัน ศีล ๑๑ ข้อนี้เป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในขณะเดียวกัน กล่าวคือ สัจจะ(ความจริงคือพระเจ้าสูงสุด), อหิงสา(สันติวิธีคือหนทางแก้ปัญหาทุกชนิด), ชีวิตพรหมจรรย์(โดยเฉพาะการควบคุมกามารมณ์), การควบคุมรสชาติอาหาร, อทินนาทาน(ไม่ละเมิดทรัพย์สินผู้ใด), การไม่ครอบครองทรัพย์สินส่วนเกิน, ความกล้าหาญทางจริยธรรมและวิญญาณ, การปลดปล่อยหริชน(จัณฑาล), ความเสมอภาคทางศาสนา, การใช้แรงกายเพื่อยังชีพ และสวาเทศี (เป็นอยู่ด้วยปัจจัยสี่ที่ผลิตด้วยตนเอง)

แม้จะชอบทํางานเบื้องหลัง แต่เมื่อยามวิกฤติที่ต้องทํางานร้อน เขาก็จะกลายเป็นหัวหอกได้ในทันที ดังเมื่อสถานการณ์การประท้วงเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษดําเนินมาถึงขั้นแตกหัก ศรีวิโนพา ก็ได้เสนอตัวเป็นตัวแทนประชาชนอินเดียทั้งประเทศ เพื่อประท้วงอดอาหารเพียงผู้เดียวจนกว่าจะตาย ซึ่งรู้จักกันในนามสัตยาเคราะห์เดี่ยว ๒๔๘๓ นั่นเอง โดยการนี้เขาได้รับความไว้วางใจคัดเลือกโดยมหาตมาคานธีอีกทีหนึ่ง ขณะนั้นศรีวิโนพามีอายุ ๔๕ ปี และเป็นครั้งแรกที่ประชาชนอินเดียรวมทั้งประชาโลกรู้จักเขาในเวทีการเมือง

ไม่มีสิ่งใดทรงพลังยิ่งไปกว่าความรักและปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสถาบัน รัฐ ลัทธิพิธี คัมภีร์ หรือแม้แต่อาวุธยุทธภัณฑ์ล้วนไม่อาจทรงพลังไปกว่า ข้าพเจ้าเห็นว่าความรักและปัญญาเป็นที่มาแห่งพลังอํานาจเพียงหนึ่งเดียว ด้วยเหตุนี้ใครๆ จึงไม่ควรคาดหวังให้ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นอันใดอันหนึ่งอย่างตายตัว เพราะข้าพเจ้าคือคนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่คือศรีวิโนพา ผู้ประกาศอิสรภาพทางความคิดในการเคลื่อนไหว ผู้แสวงหาทางออกจากปัญหา ด้วยญาณหยั่งรู้ที่มาจากเบื้องลึกของความรักและการปฏิบัติขัดเกลาตนเองอย่างเข้มข้น

บ้านสองหลังของคนทำงานกับคานธี และภควัทคีตา
คนทำงานของคานธีนั้น มักมีบ้านสองหลังกันเกือบทุกคน บ้านหลังแรกคืออาศรมแห่งใดแห่งหนึ่งที่ทํางาน ส่วนหลังที่สองก็คือคุก. วิโนพาก็มิได้นอกเหนือจากนั้น ชีวิตคนคุกของวิโนพาที่เล่าขานต่อกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า คือการติดคุกที่เรือนจําธูลียาปี ๒๔๗๕ นักโทษการเมืองกว่า ๓๐๐ คน ทําท่าจะถูกขังลืมกันที่นี่ ทุกคนพากันขวัญเสีย คุกเริ่มเกิดจลาจลไม่มีใครฟังใคร วิโนพาเองติดอยู่ในแดน B ซึ่งได้สิทธิพิเศษไม่ต้องทํางาน ส่วนนักโทษแดนอื่นต้องทํางานกันทุกคน เขาขอร้องผู้คุมให้หางานให้เขาทํา ไม่เช่นนั้นจะหยุดกินข้าว เขาได้งานและยังได้สนทนากับนักโทษอื่นๆ และเขาได้ขอรับเหมางานในคุกมาบริหารกันเอง โดยเปลี่ยนจากการเกณฑ์แรงงานมาเป็นแบบสมัครใจ ในที่สุดทุกคนทํางานกันอย่างสนุกสนาน กําลังใจก็กลับเข้มแข็ง สุดท้ายมีคนเสนอให้วิโนพาบรรยาย"ภควัทคีตา"ทุกวันอาทิตย์ เขารับคําด้วยความเต็มใจ และในคุกนั้นเองกลายเป็นแดนให้กําเนิด "ภควัทคีตา ๑๘ บรรพ" สํานวน "ศรีวิโนพา" อันถือเป็นบทบรรยายที่ลุ่มลึกแหลมคมที่สุดฉบับหนึ่งในโลกวรรณกรรมทางปัญญา

๓๐ มกราคม ปี ๒๔๙๑
คานธีจากไปกะทันหัน ทิ้งสรรโวทัยไว้เป็นโกอานให้ทุกคนขบคิด. วิโนพาในวัย ๕๓ ปี ผู้ผ่านการเคี่ยวกรําวิถีพึ่งตนเอง ปฏิบัติการสันติวิธี และประสบการณ์ทางวิญญาณมาอย่างเข้มข้น ดูไม่ต่างจากภาพที่คานธีกลับจากอาฟริกาใต้ในวัย ๔๘ เท่าใดนัก แสงสว่างแห่งความหวังจึงจับจ้องมายังเขาในทันที

สรรโวทัย: การตื่นขึ้นของมหาชน
วิสัยทัศน์ทางสังคมของมหาตมาคานธีหลังอินเดียได้รับเอกราชนั้น ถูกรวบยอดเอาไว้ในคําเดียวคือ "สรรโวทัย" ซึ่งแปลว่า "การตื่นขึ้นของคนทั้งมวล". สรรโวทัย คือระเบียบสังคมใหม่ อันเป็นสังคมที่ปราศจากความรุนแรง มีรากฐานอยู่ที่ความรักและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เป็นสังคมปกครองตนเอง เน้นการกระจายอํานาจ ปราศจากการเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ และเน้นความร่วมมือในรูปแบบสหกรณ์. ธงนั้นได้ปักเอาไว้แล้ว เหลือแต่วิธีการเท่านั้น จะขับเคลื่อนอย่างไร โดยไม่เป็นแค่เพียงทําสําเนาวิธีการที่คานธีปฏิบัติไว้ เพราะนั่นดูเหมือนจะอ่อนแรงไร้ผลเสียแล้วในยามนี้

กรุงไฮเดอะราบาด ๑๕ เมษายน ๒๔๙๔
หลังประชุมใหญ่สรรโวทัยสิ้นสุดลง ท่ามกลางปัญหาและทางเลือกอันรุมเร้า วิโนพาเลือกเดินทางไปในพื้นที่ๆ เสี่ยงที่สุด คือเมืองเตลังคะนะ และนี่ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของขบวนการคานธี ซึ่งมีวิโนพาเป็นผู้กุมบังเหียน. เตลังคะนะ ปี ๒๔๙๔ เป็นพื้นที่สีแดงมีความขัดแย้งสูงและเต็มไปด้วยความรุนแรง อยู่ในเขตงานคอมมิวนิสต์ วิโนพาเดินเท้าไปตามเสียงเรียกภายใน เขาเองไม่รู้เช่นกันว่าจะทําอะไรได้จริงจังแค่ไหน สิ่งแรกที่เขาทําคือไปพบปะแกนนําพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งที่อยู่ในคุกและนอกคุก จากนั้นก็พูดคุยกับพวกคนรวยฐานะดี และฝ่ายสุดท้ายคือชาวบ้านที่ยากจนในพื้นที่ รับรู้ รับฟัง และประสานความต้องการ 3 ฝ่าย

ปัญหาเรื่องที่ทำกิน
๑๘ เมษายน ๒๔๙๔ เช้าวันที่สามของการเดินเท้า หริชนจากหมู่บ้านโปจัมปัลลี ๔๐ ครัวเรือน มาร้องทุกข์เรื่องที่ทํากิน ถ้าได้ที่ดินเพียง ๒๐๐ ไร่ ทุกอย่างก็จะแก้ปัญหาได้ วิโนพาสําทับว่าถ้าได้ที่ดินแล้วพวกท่านต้องถือครองร่วมกันทั้งหมู่บ้าน ห้ามซื้อขายได้หรือไม่ ชาวบ้านตอบตกลง วิโนพาขอให้พวกเขาร่างข้อเรียกร้องและตนเองรับปากว่าจะไปยื่นให้ถึงมือรัฐบาล ในที่ชุมนุมนั้นมีนาย"ศรีรามจันทร์ เรดดี้" นั่งฟังอยู่ด้วย เขาเสนอขึ้นทันทีว่าเขายินดียกที่ดินให้แก วิโนพา จำนวน ๒๕๐ ไร่ โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ เพื่อไปแจกจ่ายให้หริชน และเมื่อหริชน ๔๐ ครัวเรือนย้ำว่าพวกเขาต้องการแค่ ๒๐๐ ไร่เท่านั้น ทุกอย่างจึงเป็นที่ตกลงโดยมีวิโนพาเป็นสักขีพยาน

ภูทาน : การให้ที่ดินเป็นทาน
ผลจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งวิโนพาเห็นว่าเป็นนิมิตพระเป็นเจ้า ได้นําไปสู่สิ่งที่เรียกกันต่อมาว่า "ขบวนการภูทาน". "ภูทาน"แปลว่า "การให้ที่ดินเป็นทาน" ท่ามกลางความขัดแย้งร้อนระอุ ยังมีหัวใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยความรักอยากช่วยเหลือเกื้อกูล วิโนพาค้นพบสิ่งนี้ และเขาก็ขับเคลื่อนทันทีโดยไม่รั้งรอ แสงสว่างแห่งความรักเปิดเผยขึ้นแล้ว วิโนพาเดินขอที่ดินจากคนร่ำรวยเพื่อมอบให้คนจน โดยมีหลักการว่า คนมอบที่ดินต้องมิใช่ทำเพื่อเอาหน้า แต่ต้องชัดเจนว่าเขาเห็นปัญหาและต้องการแก้ผิดให้เป็นถูก มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในผืนดินเท่าๆ กับมีสิทธิในอากาศ น้ำ และแสงแดด ตราบใดที่ยังมีคนไร้ที่ทํากิน ย่อมเป็นเรื่องผิดพลาดหากอีกคนจะครอบครองที่ดินเกินความจําเป็น

การบิณฑบาตแผ่นดินให้คนจน และครามสวราช
จากนี้ไปเป็นเวลาถึง ๑๓ ปีเต็ม วิโนพาจาริกเดินเท้าไปทั่วประเทศอินเดีย สยบปัญหาความขัดแย้งเพราะแย่งชิงที่ทํากิน ด้วยนโยบายปฏิรูปที่ดินจากภาคประชาชน ด้วยการบิณฑบาตแผ่นดินให้คนจน เขาเดินเท้าเป็นระยะทางนับหมื่นไมล์ ครอบคลุมพื้นที่ ๑๕ รัฐ รับบริจาคที่ดินมา ๑๐ ล้านไร่ และในกาลต่อมา ภูทานได้ขยายเป็นครามทาน(ให้หมู่บ้านเป็นทาน) ศานติเสนา(นักรบสันติภาพ) และผ้าขาดี้ สร้างหมู่บ้านที่ทุกคนครอบครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน สร้างอุตสาหกรรมในหมู่บ้านเพื่อปลดปล่อยตนเองจากทุนนิยม ทั้งหมดนี้คือ ครามสวราช อันหมายถึงอิสรภาพของหมู่บ้านที่แท้จริง

ในคราวหนึ่งระหว่างเดินเท้าทางไกลรับบริจาคที่ดิน ได้มีกองโจรติดอาวุธเข้ามาสวามิภักดิ์ปลดอาวุธเบื้องหน้าวิโนพา ร้องขอให้เขาเป็นตัวแทนไกล่เกลี่ยกับรัฐบาล ในที่สุดวิโนพาสามารถนําคนเหล่านี้กลับคืนเข้าสู่สังคมโดยมิเสียเลือดเนื้อและอาวุธ เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าอะไร หากมิใช่อานุภาพของความรัก ภายใต้บารมีนักรบสันติภาพ

ถึงตรงนี้เราจะขนามนามเขาว่ามนุษย์มหัศจรรย์ก็ว่าได้ แต่สําหรับศรีวิโนพา เขาเห็นว่านี่เป็นภารกิจแห่งพระเป็นเจ้าโดยแสดงออกผ่านตัวเขาเท่านั้นเอง และทั้งหมดนี้เป็นเพราะคําสอนของคานธีที่ปูพื้นฐานไว้ก่อนแล้ว ประกอบกับวิญญาณแห่งทานของคนอินเดียเป็นทุนดั้งเดิม ทุกอย่างจึงประจวบเหมาะราวเนรมิต

๗ มิถุนายน ๒๕๐๙ อาศรมมณเฑียร พรหมวิทยา
เป็นวันครบรอบ ๕๐ ปี ที่วิโนพาพบกับมหาตมาคานธี ถึงวันนี้ วิโนพาอยู่ในวัย ๗๑ ปี เขาได้ประกาศวางมือจากภารกิจขบวนการภูทาน และมาพํานักอยู่ที่อาศรมมณเฑียร พรหมวิทยา ทํางานดูแลอาศรมหลายแห่งที่ตัวเองได้ก่อตั้งไว้ และอีก 4 ปีต่อมา เขาสมาทานงดการเดินทาง เตรียมกายใจสู่การเพ่งภายใน และบําเพ็ญภาวนาอยู่ที่เดียวไม่ออกนอกเขตอาศรม ถึงวันนี้พื้นที่ปฏิบัติการสันติวิธีของวิโนพา อยู่ที่ชีวิตประจําวันแต่ละขณะๆ และอีก 4 ปีต่อมา ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๗ วิโนพาสมาทานเข้าเงียบภาวนา งดพูด งดเขียน เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

๑๑ กันยายน ๒๕๒๔ วันเกิดครบรอบปีที่ ๘๖ วิโนพาขอใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อการภาวนาระลึกเอาความตายเป็นอารมณ์
กล่าวกันว่าขณะที่กระสุนสังหารพุ่งทะลวงร่างกายมหาตมาคานธี ราม! คือวาจาสุดท้ายที่ท่านเปล่งออกมาให้ชาวโลกสดับยินก่อนหมดสติ รามคือนามของพระเป็นเจ้า บรรดาผู้รู้เล่าขานต่อมาว่านี่เป็นเพราะเบื้องลึกภายใน การเคลื่อนไหวทางสังคมของคานธีมิใช่อะไรอื่น แต่คือการภาวนา ศรีวิโนพาไม่ได้รับเกียรติโดนสังหารท่ามกลางสมรภูมิแห่งความไม่ไว้วางใจเช่นคานธี หากช่วงชีวิตสุดท้ายของเขา ถือเป็นการอําลาที่สวยสดงดงามแบบหนึ่งที่มนุษย์จะพึงทํา - หลังจากที่เขาได้ใช้ชีวิตมาอย่างดีที่สุดและถึงแก่กรรม

๙ - ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ วาระสุดท้ายของชีวิต
วิโนพานอนอยู่บนเตียง ปฏิเสธอาหาร น้ำและยาอย่างเด็ดขาด เขานอนบริกรรมราม-หริ อยู่ตลอดเวลา เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ไปจนกระทั่งเช้าวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน. บาบา(วิโนพา)นอนหลับตา ใบหน้าอิ่มเอิบสุข ร่างกายสะอาดสดใส มีเพียงการเคลื่อนไหวของการหายใจและจังหวะเคาะเท้าที่บ่งบอกถึงการบริกรรมราม-หริอยู่ในใจ ซึ่งในช่วงคับขันที่สุด การบริกรรมนี้ไม่เคยขาดห้วงลงเลย และเมื่อเวลา ๙.๓๐ น. ลมหายใจก็สิ้นสุดลง...สงบ...และง่ายดาย

แบบฉบับอันเป็นตํานานของวิโนพานั้นอยู่ที่พลังแห่งศรัทธา มีความแน่วแน่ในชีวิตพรหมจรรย์แต่เยาว์วัย ซึ่งอันนี้เขาได้รับมรดกมาจากแม่ โดยมารดาของเขาสมาทานศีลพรหมจรรย์เมื่ออายุ ๓๖ ปี นอกจากนี้เขายังเป็นนักคํานวณ นักทดลอง ซึ่งอันนี้ได้จากพ่อ เขาเป็นนักเลง(ผู้เชี่ยวชาญ)สันสกฤตและเรียนรู้ภาษาอินเดียหลักๆ เกือบทุกภาษา เขาอ่านภาษอังกฤษ ฝรั่งเศส และแม้แต่อาหรับจากอัลกุรอาน เขาสนใจในปรัชญาอุปนิทษัท ภควัทคีตา พุทธศาสนา เชน สิกข์ อิสลาม และคริสต์อย่างชนิดเข้มข้นรู้จริง ตลอดชีวิตของวิโนพาเขาคือการเป็นนักศึกษาและนักปฏิบัติ

แม้เขาจะปฏิเสธการเมือง แต่โดยข้อเท็จจริง ศรีวิโนพาทํางานการเมืองภาคประชาสังคมมาตลอดชีวิต ที่น่าทึ่งก็คือ เขานําศาสนธรรมมาเป็นอาวุธทางการเมืองต่อสู้กับอาธรรมได้อย่างสมสมัย ขณะเดียวกันก็นําโลกุตตรธรรมมาเป็นเครื่องมือยกระดับจิตวิญญาณของตนและเพื่อนพ้องน้องพี่. หากปราศจากความแน่วแน่แห่งจิตใจภายในเสียแล้ว การปฏิบัติภายนอกตามรูปแบบศาสนาย่อมขาดพลังทางจิตวิญญาณ การบําเพ็ญประโยชน์ใดที่ปราศจากมิติทางจิตใจเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทํานั้นรังแต่ก่อให้เกิดอหังการทะนงตน การกระทํานั้นจะเป็นการบําเพ็ญประโยชน์ที่แท้ ก็ต่อเมื่อหัวใจกับสองมือเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และจะทําเช่นนี้ได้ การชําระล้างจิตใจให้ผ่องใสเป็นเรื่องจําเป็น

เสียงวิโนพายังคงกังวานแว่ว...
ศีลธรรมกับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกันโดยแท้ หากใช้เป็นและตั้งอยู่บนฐานของสัจจะ ศีลธรรมจักเป็นศาสตราอันทรงมหิทธานุภาพเพื่อสังคมสันติภาพ แต่ตราบใดผู้ใช้ปราศจากสัจจะ ใช้ไม่เป็น ขาดความลุ่มลึก ศีลธรรมแค่รูปแบบภายนอกในเวทีการเมือง อาจกลายเป็นศาสตราฆ่าสังคมและตนเองก็เป็นได้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Vinoba Bhave was a great innovative experimenter in Gandhian techniques. He placed reliance on the Gandhian philosophy of change of heart and used the instrument of moral appeal of the Bhoodan (donation of lands) movement to secure land to the landless to satisfy peasants hunger for land. The Bhoodan movement initiated by Vinoba Bhave created a social climate to land reforms and their smooth implementation.

บรรณานุกรมไม่เป็นทางการ:

- ข้าพเจ้าทดลองความจริง กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย แปล โกมลคีมทอง
- ปฏิบัติการการุณย์รัก จิรธัมม์ แปล สุขภาพใจ
- Vinoba on Gandhi edited by Kanti shah , Sarva Seva Sangh Prakashan
- My Philosophy of Life M.K. Gahdhi, Pearl publications
- Talk on the Gita , Vinoba, Paramdham Prakashan & Sarva Seva Sangh Prakashan

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๒. เสรีภาพทางอาหาร : ในเผด็จการอาหาร อุตสาหกรรมและธุรกิจโลก
วันทนา ศิวะ ปาฐกถาที่การประชุมเทอรา มาเดร เมืองตูริน (1) ประเทศอิตาลี
ทาคินี แปลจากนิตยสาร Resurgence

(จากปาจารยสาร ฉบับเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม ๒๕๕๐)

แนวคิดที่จำกัดให้ใช้พืชที่ถูกตัดต่อพันธุกรรม โดยทำให้เมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติไม่อาจขยายพันธุ์ได้ เป็นวิธีการพื้นฐานของเผด็จการฟาสซิสม์ (2) ทางอาหาร. เรามาชุมนุมกันที่เทอรา มาเดรในฐานะประชากรโลก เพื่อปกป้อง และหยั่งรากให้เสรีภาพทางอาหาร อาหารซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดของชีวิตและวัฒนธรรมกำลังถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสู่วัฒนธรรมเชิงเดี่ยว (3) อันไร้ชีวิต

จากเมล็ดพันธุ์สู่โต๊ะอาหาร เกิดมีเผด็จการทางอาหารก่อตัวขึ้น คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม สัมมาชีพของผู้ผลิต และสุขภาพของผู้บริโภค รวมทั้งโอกาสในการมีชีวิตรอดของมนุษยชาติบนโลก. มนุษย์บริโภคพืชในลักษณะต่างๆ กว่า ๘๐,๐๐๐ ชนิด ๓,๐๐๐ กว่าชนิดที่ถูกใช้อยู่เสมอ แต่เดี๋ยวนี้มีพืชอยู่เพียงแปดชนิดที่เป็นอาหารถึงร้อยละ ๗๕ ของอาหารทั้งโลก พันธุวิศวกรรมทำให้การผลิตลดลงเหลือเพียงสามชนิดคือ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และ คาโนล่า (4)

การส่งเสริมเอกวัฒนธรรม(การปลูกพืชชนิดเดียว)ว่าเป็นปัจจัยหลักของอุตสาหกรรมการเกษตรและโลกาภิวัฒน์ ซึ่งน่าจะผลิตอาหารได้มากขึ้น กลับเพียงแต่เพิ่มการควบคุมและสร้างผลกำไรให้กับ บริษัทมอนซานโต้ คากิลล์ และ เอดีเอ็ม ซึ่งสร้างส่วนเกินลวงและการขาดแคลนที่แท้ โดยทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบอาหารและวัฒนธรรมอาหาร

ในปี ๒๕๔๑ น้ำมันที่ใช้บริโภคดั้งเดิมของอินเดียทำจากมัสตาร์ต มะพร้าว งา ปอ และถั่วลิสง ผ่านการผลิตในโรงโม่อัดเย็นของชาวบ้านถูกสั่งห้าม โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของอาหาร พร้อมกันนั้นก็ได้ยกเลิกการจำกัดการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลือง สัมมาชีพของชาวไร่นับสิบล้านคนถูกคุกคาม โรงโม่น้ำมันนับล้านแห่งตามหมู่บ้านถูกปิด ชาวไร่กว่ายี่สิบคนถูกสังหารขณะประท้วงต้านการนำเข้าถั่วเหลืองมากองในตลาดอินเดีย ซึ่งทำให้ราคาเมล็ดพืชท้องถิ่นที่ใช้ผลิตน้ำมันตกต่ำ และน้ำมันถั่วเหลืองตัดต่อพันธุกรรมราคาถูกหลายล้านตัน ทะลักเข้ามาในประเทศอินเดีย

สตรีจากชุมชนแออัดในกรุงเดลีออกมาเคลื่อนไหว เพื่อสกัดการใช้ถั่วเหลืองและนำน้ำมันมัสตาร์ดกลับมา. "เก็บมัสตาร์ดไว้ ไล่ถั่วเหลืองออกไป" เป็นเสียงร้องของสตรีตามถนนในกรุงเดลี ในที่สุดเราก็นำมัสตาร์ดกลับมาได้สำเร็จโดยการไม่ให้ความร่วมมือกับการห้ามใช้น้ำมันมัสตาร์ด

ข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาจากลุ่มแม่น้ำอเมซอน ซึ่งที่นั่นบริษัทเดียวกันกับที่โถมนำถั่วเหลืองเข้ามาในอินเดีย คือคากิลล์และเอดีเอ็ม กำลังทำลายลุ่มแม่น้ำอเมซอนโดยการปลูกถั่วเหลือง ป่าทึบ ไม้นับร้อยไร่ อันเป็นปอดและหัวใจของสภาพอากาศโลกกำลังถูกเผา เพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองส่งออก คากิลล์ได้สร้างท่าเรือผิดกฎหมายที่ซานตาเร็มในเมืองปาร่า และกำลังเร่งขยายไร่ถั่วเหลืองในป่าอเมซอน กลุ่มคนติดอาวุธเข้าครอบครองป่าและใช้แรงงานทาสเพาะปลูกถั่วเหลือง เมื่อผู้คนอย่างซิสเตอร์โดโรธี สตาง (5) ซึ่งต่อต้านการทำลายป่าและการใช้ความรุนแรงต่อผู้คน ถูกลอบสังหาร

ประชาชนในบราซิลและอินเดียถูกคุกคามเพื่อส่งเสริมเอกวัฒนธรรม ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจการเกษตร ประชาชนในสหรัฐฯและยุโรปถูกคุกคามทางอ้อม โดยร้อยละ ๘๐ ของถั่วเหลืองใช้เป็นอาหารสัตว์เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ราคาถูก โปรตีนราคาถูก ถูกป้อนให้โรงงานเลี้ยงสัตว์กำลังทำลายทั้งป่าอเมซอน และสุขภาพของประชากรในประเทศมั่งคั่ง ประชากร ๑,๐๐๐ ล้านคนไร้อาหาร เพราะอุตสาหกรรมเอกวัฒนธรรมปล้นสัมมาชีพทางการเกษตรและสิทธิในอาหารของพวกเขาไป ในขณะที่ ๑,๗๐๐ ล้านคนตกเป็นเหยื่อของความอ้วนและโรคเกี่ยวกับอาหาร เอกวัฒนธรรมนำไปสู่การขาดสารอาหารของทั้งผู้ที่ได้รับอาหารน้อยและมากจนเกินไป

บรรษัทต่างๆ บังคับให้เราต้องบริโภคอาหารที่ไม่ได้ผ่านการทดสอบ อย่างพวกที่ถูกตัดต่อพันธุกรรม แม้กระทั่งถั่วเหลืองที่เดี๋ยวนี้ร้อยละ ๖๐ ใช้ผลิตอาหาร. เมื่อ ๕๐ สิบปีก่อนไม่มีสังคมใดเคยใช้บริโภคเลย ถั่วเหลืองมีระดับไอโซเฟรวอน (6) และฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมนมนุษย์ไม่สมดุล การหมักอาหารแบบดั้งเดิมอย่างในวัฒนธรรมจีนและญี่ปุ่นทำให้ระดับไอโซเฟรวอนลดลง การใช้ถั่วเหลืองเป็นอาหารเป็นการทดลองขนานใหญ่ ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นจำนวน ๑๓,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ จากรัฐบาลสหรัฐในระหว่างปี ๒๕๔๑-๒๕๔๗ และ ๘๐ ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากอุตสาหกรรมถั่วเหลืองในอเมริกา

วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นนั้นเข้มข้นและมีหลากหลายทางเลือกกว่าถั่วเหลือง เรามีถั่วและผลไม้แห้งเล็กๆ หลายพันชนิดที่ให้โปรตีน น้ำมันที่ใช้บริโภคทำจากงา มัสตาร์ด ปอ เมล็ดทานตะวัน ถั่วลิสง มะพร้าว. การพึ่งพาเอกวัฒนธรรม ระบบอาหารต้องพึ่งพาน้ำมัน เพื่อสังเคราะห์ปุ๋ย เพื่อเดินเครื่องจักรขนาดใหญ่ เพื่อการขนส่งทางไกลซึ่งเพิ่มระยะทางให้อาหาร การขยายตัวของเอกวัฒนธรรมและการทำลาย ไร่นาท้องถิ่น ทำให้เราบริโภคน้ำมันมากขึ้น แต่ไม่ได้บริโภคอาหารเพิ่มขึ้น รวมทั้งคุกคามโลกและสุขภาพของเราด้วย

การก้าวให้พ้นจากเอกวัฒนธรรม ต้องซ่อมแซมระบบอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพของไร่ขนาดเล็กให้ผลผลิตสูงกว่าและทำให้ชาวไร่มีรายได้ดี อีกทั้งการบริโภคอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพยังให้สารอาหารมากกว่าและรสชาติดีกว่าด้วย การนำเอาความหลายหลายทางชีวภาพกลับมาให้ชาวไร่มาพร้อมกับคืนชาวไร่ตัวเล็กๆ กลับสู่ไร่นา เสรีภาพทางอาหารของประชาชนขึ้นกับความหลากหลายทางชีวภาพ เสรีภาพของมนุษยชาติและเสรีภาพของพืชและสัตว์อื่นๆ สนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

เสรีภาพของพันธุ์พืช เป็นพื้นฐานของเสรีภาพทางอาหาร การควบคุมเมล็ดพันธุ์เป็นพื้นฐานของเผด็จการอาหาร. เมล็ดพันธุ์ที่ถูกจดสิทธิบัตรกลายไปเป็นสมบัติของบรรษัทต่างๆ อย่าง มอนซานโต้ พืชหลากหลายสายพันธุ์มีวิวัฒนาการมาให้เหมาะกับสภาพดินและภูมิอากาศของระบบนิเวศน์ท้องถิ่น รสชาติและวัฒนธรรมอาหารของชุมชนท้องถิ่น ในอินเดีย เรามีข้าวถึง ๒๐๐,๐๐๐ พันธุ์ พันธุ์ที่มีความสูงหกเมตรสามารถอยู่รอดได้จากการท่วมขังของแม่น้ำคงคา และพันธุ์ที่ทนต่อความเค็มขึ้นได้ในแถบชายฝั่งทะเล เราแจกจ่ายข้าวที่ทนต่อความเค็มที่เก็บไว้หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในปี ๒๕๔๗ มีข้าวแดงและข้าวม่วง ข้าวมีกลิ่นหอมและข้าวที่ใช้ทำเป็นยา

ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวในอินเดีย เป็นเช่นเดียวกันกับความหลากหลายของข้าวโพดในแม็กซิโก มันฝรั่งที่หลากหลายในแถบเทือกเขาแอนดิส ความหลากหลายของหญ้าในแอฟริกา การปลูกพืชถูกปรับให้เข้ากับความหลากหลายรสนิยมและภูมิอากาศของเรา เป็นขั้นแรกของเสรีภาพและอธิปไตยทางอาหาร

เสรีภาพนี้กำลังถูกแย่งไปด้วยอำนาจนิยมแห่งสิทธิบัตรทางปัญญา และเผด็จการแห่งการบังคับตีทะเบียนและลิขสิทธิ์ของพืชท้องถิ่นและพืชทดแทน ความหลากหลายของชาวไร่ถูกเปลี่ยนโดยเมล็ดพันธุ์ของบรรษัท ซึ่งไม่อาจเก็บไว้หรือแบ่งปันกันได้ เมล็ดพันธุ์มากมายที่ได้จากการขยายพันธุ์ของชาวไร่กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จุดประสงค์แห่งการผูกขาดของบรรษัทคือ การทำให้ชาวไร่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบรรษัททุกฤดูกาลเพาะปลูก

นี่คือเหตุผลที่องค์กรนานาชาติเพื่ออนาคตของอาหารได้ร่างแถลงการณ์อนาคตของพืชพันธุ์ โดยเคารพซึ่งกฎแห่งการขยาย แพร่พันธุ์ วิวัฒนาการ และกระจายพันธุ์ การเคารพในกฎแห่งพันธุ์พืชคือเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของชาวไร่ ข้าพเจ้ายื่นแถลงการณ์นี้ต่อกรรมธิการโลกให้ลงนามและใช้โดยชาวไร่ นักวิทยาศาสตร์ พ่อครัวในที่นี่ ๖,๕๐๐ คน กระจายไปให้ทั่วชุมชนของท่านเช่นเดียวกับพืชพันธุ์แห่งเสรีภาพ ให้ชาวไร่ทุกคนในโลกนี้ประกาศว่าจะมีชีวิตอยู่ด้วยกฎแห่งพันธุ์พืช ไม่ใช่ด้วยกฎหมายที่บรรษัทบังคับใช้ผ่านองค์กรการค้าโลก และสนธิสัญญาสินทรัพย์ทางปัญญาเกี่ยวกับการค้า ให้ทุกคนที่ร่วมผลิตสนับสนุนเมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพ โดยเลือกอาหารที่ปราศจากการตัดต่อพันธุกรรมและปราศจากสิทธิบัตร

กฎขององค์กรการค้าโลกคือ"กฎแห่งเผด็จการอาหาร" ด้วยเหตุนี้ ประชาชนชาวยุโรปจะถูกขอร้องให้ทิ้งเสรีภาพเพื่อปฏิเสธต่อการตัดต่อพันธุกรรม ข้อโต้แย้งเรื่องการตัดต่อพันธุกรรมขององค์กรการค้าโลกคือ ความพยายามที่จะล้มล้างประชาธิปไตย และทำให้เสียหลักการกระจายอำนาจสู่ส่วนย่อย (7) การตัดสินใจควรอยู่ข้างประชาชนให้มากที่สุด

กฎหมายด้านความปลอดภัยของอาหาร และสนธิสัญญาสุขอนามัยและปลอดศัตรูพืช ขององค์กรการค้าโลกก็เป็นเครื่องมือของเผด็จการอาหาร ความปลอดภัยมาจากความไม่ปลอดภัย อาหารพิษถูกกำหนดให้เป็นอาหารที่ปลอดภัยด้วยนิยามความปลอดภัยของอาหารใหม่ โดยธุรกิจการเกษตรและองค์กรการค้าโลกและรัฐบาลก็นำมาใช้. กฎหมายอาหารฉบับใหม่ของอินเดียทำให้อาหารชั้นดีกลายเป็นอาชญากรรม และเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการตัดต่อพันธุกรรมและอาหารที่ผ่านกระบวนการทางเคมี การแพร่กระจายของไข้หวัดนกซึ่งแพร่จากโรงงานเคยสังหารไก่ปลอดโรคหลังบ้านและในไร่ทั่วเอเชียหลายล้านตัว กฎหมายเพื่อความปลอดภัยของอาหารทำให้อาหารที่เป็นภัยต่อสุขภาพและไม่ปลอดภัย แพร่หลาย. ในขณะเดียวกันก็จำกัดเสรีภาพของชุมชนในการรับประกันความปลอดภัยและคุณภาพของอาหาร

- ในเผด็จการอาหาร อุตสาหกรรมและธุรกิจโลก ตั้งมาตรฐานและวางกรอบให้กฎหมาย มาตรฐานและกฎหมายเหล่านั้นจำกัดเสรีภาพและทำลายวัฒนธรรมและระบบนิเวศน์ของเรา

- ในเสรีภาพทางอาหาร กฏหมายมาจากฏแห่งผืนดิน และถูกกำหนดด้วยประชาชนและชุมชนโดยเสรี เมล็ดพันธุ์ควรจะได้รับลิขสิทธิ์โดยเทอรา มาเดร และชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่สำนักงานสิทธิบัตรหรือรัฐบาลที่ถูกควบคุมโดยบรรษัทโลก

- ในเสรีภาพทางอาหาร กฎหมายไม่อาจร่างขึ้นอย่างลับๆ แต่ต้องร่างในที่แจ้งตามไร่นาของพวกเรา ต้องถูกร่างที่นี่ โดยกรรมธิการเทอรา มาเดรแห่งนี้ กฎหมายของอาหารและพันธุ์พืชต้องส่งเสริมเสรีภาพของทุกพันธุ์ เสรีภาพของชาวไร่และผู้ผลิต สำหรับเราแล้ว เทอรา มาเดรคือผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะร่างกฎหมายควบคุมการปลูกพืชและบริโภคอาหาร และทั้งตัวองค์กรเองและชุมชนสมาชิกทั้งหลาย จะเป็นรากฐานในการตกลงกันในระดับโลก

เราต้องร่วมมือกันทั้งจากทะเลทรายและภูเขา จากที่เย็นและที่ร้อน จากประเทศมั่งคั่งและประเทศยากจน เราทุกคนที่มีความแตกต่างและเอกลักษณ์ของตน กำลังร่างอนาคตของอาหารบนพื้นฐานของเสรีภาพทางอาหาร ไม่ใช่เผด็จการทางอาหาร

++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) เทอรา มาเดร (Terra Madre) การประชุมของชุมชนอาหารโลก

(2) ฟาสซิสม์ (Fascism) - ระบบการปกครองที่ควบคุมโดยศูนย์กลางอำนาจภาพใต้ผู้ปกครองเผด็จการ การควบคุมสังคมเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามด้วยความรุนแรงและการเซ็นเซอร์ และมีนโยบายชาตินิยมและชอบทำสงคราม

(3) วัฒนธรรมเชิงเดี่ยว (monocultures) ระบบการเกษตรชนิดเดียวที่ไม่มีความหลากหลาย

(4) คาโนล่า(canola) -ต้นไม้ชนิดหนึ่งปลูกไว้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ เมล็ดสามารถทำน้ำมันได้

(5) ซิสเตอร์โดโรธี สตาง (Dorothy Stang) ซิสเตอร์ชาวบราซิล

(6)ไอโซเฟรวอน (isoflavones) ประโยชน์ทางสุขภาพส่วนใหญ่ของถั่วเหลืองมาจาก
ไอโซเฟรวอน แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่า ไอโซเฟรวอนอาจเป็นผลทำให้เกิดโรคได้หลายชนิด

(7) The Principle of Subsidiarity:
"The principle of subsidiarity holds that government should undertake only those initiatives which exceed the capacity of individuals or private groups acting independently. The principle is based upon the autonomy and dignity of the human individual, and holds that all other forms of society, from the family to the state and the international order, should be in the service of the human person. Subsidiarity assumes that these human persons are by their nature social beings, and emphasizes the importance of small and intermediate-sized communities or institutions, like the family, the church, and voluntary associations, as mediating structures which empower individual action and link the individual to society as a whole. "Positive subsidiarity", which is the ethical imperative for communal, institutional or governmental action to create the social conditions necessary to the full development of the individual, such as the right to work, decent housing, health care, etc., is another important aspect of the subsidiarity principle." [ Taken from Wikipedia ]

 

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73