บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
History of Diary
Midnight University
การเปลี่ยนแปลงการแสดงตัวตนจากพื้นที่ส่วนตัวสู่พื้นที่สาธารณะ
ประวัติศาสตร์:
ความเป็นมาเกี่ยวกับการเขียนบันทึกของไทย
เอมอร ลิ้มวัฒนา : เขียน
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการต่อไปนี้
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเป็นบางส่วนของงานค้นคว้าอิสระ(independent studies) เรื่อง
การวิเคราะห์ตัวตนบนพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะในไดอารีออนไลน์
(บทที่ ๒) ของคุณเอมอร ลิ้มวัฒนา โดยมีสาระสำคัญดังหัวข้อต่อไปนี้
- การเปลี่ยนแปลงการแสดงตัวตนจากพื้นที่ส่วนตัวสู่พื้นที่สาธารณะ
- พระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน (พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕)
- พ่อสอนลูก (ทวี บุณยเกตุ)
- สารจากนครพิงค์ถึงบางกอก และ สารจากกรุงเทพฯ ถึงธนบุรี
- จดหมายโต้ตอบระหว่างเสถียรโกเศศ กับ ส.ศิวรักษ์
- จดหมายรักในชีวิตจริงของยาขอบ
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๕๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๕ กันยายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๘ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
การเปลี่ยนแปลงการแสดงตัวตนจากพื้นที่ส่วนตัวสู่พื้นที่สาธารณะ
ประวัติศาสตร์:
ความเป็นมาเกี่ยวกับการเขียนบันทึกของไทย
เอมอร ลิ้มวัฒนา : เขียน
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความนำ
การเขียนเป็นรูปแบบหนึ่งของการบันทึกและการถ่ายทอดเรื่องราว ประสบการณ์ และความรู้สึกผ่านทางตัวอักษร
โดยอาศัยการร้อยเรียงถ้อยคำให้เชื่อมโยง สอดประสานกันจนเกิดเป็นประโยค เป็นเรื่องราว
ตามที่ต้องการจะบอกเล่า. เดิมทีนั้น การเล่าเรื่องราวให้กับบุคคลอื่นได้รับรู้อาศัยการถ่ายทอดด้วยการพูด
ผ่านน้ำเสียงและท่าทางแบบเผชิญหน้ากัน จากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นช่องทางหนึ่งของการสื่อสาร
จนต่อมามีข้อค้นพบเกี่ยวกับ ภาพวาด ภาพเขียนในถ้ำ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนสำหรับถ่ายทอดเรื่องราว
การเขียนบนฝาผนังถ้ำในยุคอดีตมนุษย์อาจใช้นิ้วจุ่มดินหรือหินสี ที่บดเป็นผงผสมกับยางไม้ หรือกาวจากหนังสัตว์ ขีดเขียนบนผนังถ้ำหรือเพิงผา ภาพวาดที่ปรากฏเหล่านี้เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจประเพณีและความสามารถของสังคมสมัยนั้น หลักฐานต่างๆ เช่นรอยเท้า รอยเตาไฟ หรือสีที่ใช้ในการระบาย ก็มีส่วนช่วยให้เราเรียนรู้ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของคนยุคนั้นด้วย เพราะถ้ำเป็นสถานที่รวมของสังคม รอยเท้าที่ปรากฏบนพื้นถ้ำจึงบอกให้เราได้รู้ว่าเป็นผู้ใหญ่ เด็ก บุรุษหรือสตรีที่ได้มาเยือนถ้ำ และถ้ำได้รับการเยี่ยมเยือนจากชาวบ้านบ่อยหรือนาน ๆ ครั้ง ต่อมาอาจมีการใช้ ดิน หิน ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยการนำมาฝนหรือทำให้เป็นแท่งเพื่อความสะดวกในการขีดเขียน เช่น นำหินชนวนมาทำเป็นดินสอหิน สำหรับเขียนบนกระดานชนวน นำมาสู่การเขียนบนแผ่นไม้หรือแผ่นโลหะ ตลอดถึงการเขียนบนใบไม้ (เขียนหรือจารคัมภีร์โบราณลงบนใบลาน) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เข้าใจและซาบซึ้งในวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของสังคมในสมัยต่างๆ ได้ดี
หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของไทยที่ทำให้สามารถเข้าใจถึงอดีตได้นั้นจากข้อเขียนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ และ อาคม พัฒิยะ(2525, 38-83) ที่ปรากฏในหนังสือ หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ได้แบ่งลักษณะเด่นของข้อสนเทศที่ปรากฏในหลักฐานซึ่งกล่าวได้ว่ามีอยู่ด้วยกัน 12 ประเภท ได้แก่ จดหมายเหตุชาวต่างชาติ, จดหมายเหตุชาวพื้นเมือง, ตำนาน, พงศาวดารแบบพุทธศาสนา, พระราชพงศาวดาร, เอกสารราชการหรือเอกสารการปกครอง, หนังสือเทศน์, วรรณคดี, บันทึก, จดหมายส่วนตัว, หนังสือพิมพ์ และงานนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์
นอกจากหลักฐานที่ปรากฏแล้ว จารึกก็นับได้ว่าเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่มีเนื้อหาตรงกับลักษณะของข้อสนเทศดังที่ได้กล่าวไป ซึ่งหากไม่นับการอ้างอิงถึงดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์ในวรรณคดีอินเดียและเอกสารจีนแล้ว หลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรที่นับได้ว่าเก่าแก่ที่สุดคือ หลักฐานประเภทจารึก ทั้งนี้เพราะจารึกมีความคงทนถาวร เช่น ศิลา จารึกลานทองคำ ลานเงิน หรือทองแดง ที่ไม่สามารถถูกทำลายไปด้วยกาลเวลาเหมือนหลักฐานประเภทอื่น อีกทั้งข้อความที่ถูกบันทึกไว้ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ถูกดัดแปลงแก้ไขโดยคนรุ่นหลัง
สำหรับข้อเขียนที่เป็นบันทึกประจำวันหรือที่เรียกว่าไดอารี่(บันทึกประจำวัน) นั้นยังไม่มีเอกสารใดที่แจ้งว่าคนไทยเริ่มมีการเขียนตั้งแต่เมื่อใดแน่ชัด ซึ่งในงานเขียนของเอนก นาวิกมูล ได้นำเสนอเอาไว้ว่า
"...ไดอารีไทยสมัยโบราณหรือสมัยก่อนที่จะเขียนกันทั้ง 365 วันอย่างปัจจุบันนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามีสองแบบ แบบแรก เป็นไดอารีของนักจดหมายเหตุ หรือของพวกโหร ซึ่งมักบันทึกเฉพาะวันที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ เป็นหลัก ถ้าวันนั้นไม่มีอะไร น่าสนใจก็เว้นไป กับอีกแบบหนึ่งเป็นของผู้ที่กำลังเดินทาง ซึ่งได้แก่ทูต หรือผู้มีการศึกษา นับเป็นไดอารีเฉพาะกิจหรือไดอารีชั่วคราว เพราะพอพ้นช่วงการเดินทางแล้วก็หยุด ไม่ได้จดต่อให้ตลอดทั้งปี การจดไดอารีอย่างต่อเนื่องทั้งปีน่าจะเกิดในยุคร้อยกว่าปีมานี้ จะเรียกว่าแบบที่สามก็ได้..."
จากข้อเขียนเกี่ยวกับการบันทึกข้างต้นนั้น จึงพอสรุปได้ว่าบันทึกมี 3 แบบด้วยกัน ดังนี้
1. แบบที่เป็นของ "นักจดหมายเหตุ" หรือ "โหร" ซึ่งมักจะมีการบันทึกเฉพาะวันที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เป็นหลัก โดยมีการทำปฏิทินบอกวันและฤกษ์ยามเอาไว้ล่วงหน้าตลอดปี และเว้นที่ว่างสำหรับจดเหตุการณ์ลงไปในปฏิทินนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นและผู้เป็นเจ้าของเห็นสมควรก็จะจดลงไปในช่องนั้น วันที่ไม่มีเหตุการณ์ก็จะปล่อยว่างเอาไว้ มีลักษณะในทำนองเดียวกันกับไดอารี่ จดหมายเหตุที่จดกันนี้เป็นไปในลักษณะที่ต่างคนต่างจดจึงทำให้ข้อมูลตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้างเมื่อมีมากจึงมีการนำมาจดวันฤกษ์ ยาม เหตุการณ์อีกชั้นหนึ่งเรียกว่า "ปูม" หรือ "หนังสือปูม"
2. แบบที่เป็นของ "นักเดินทาง" เช่นทูตหรือผู้มีการศึกษา มักมีการจดแบบต่อเนื่องทุกวันในช่วงใดช่วงหนึ่ง ตัวอย่างของบันทึกแบบนักเดินทางที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดคือ บันทึกของออกพระวิสุทธสุนทรหรือโกษาปานที่เดินทางไปฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2228 หรือเมื่อ 300 กว่าปีมาแล้ว อีกบันทึกหนึ่งคือ จดหมายเหตุระยะทางเสด็จหัวเมืองเหนือ ซึ่งเป็นบันทึกสั้น ๆ ระหว่างเสด็จประพาสเมืองเหนือเมื่อ พ.ศ. 2376 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษามคธ เมื่อครั้งทรงผนวชในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยจดวันละประโยคสองประโยคเพื่อพอให้รู้ว่ากำลังอยู่ที่ไหนและจะไปไหน นอกจากนั้นก็ได้แก่จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย (กระต่าย อิสรางกูร) ซึ่งเขียนเป็นร้อยแก้วหรือความเรียงธรรมคู่กับนิราศลอนดอนเมื่อคราวไปอังกฤษ พ.ศ. 2400, จดหมายเหตุของพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค), พระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยค , ไดอารีตามเสด็จไทรโยค, ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน และเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 ในรัชกาลที่ 53. แบบที่มีการ "จดต่อเนื่องทั้งปี" ซึ่งฝรั่งในไทยเป็นผู้ริเริ่มก่อน เช่นไดอารี่ของหมอบรัดเลย์ที่บันทึกต่อเนื่องยาวนานถึง 38 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2378-2416 ซึ่งได้รับการจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ "Abstract of the Journal of Rev. Dan Beach Bradley, M.D. Medical Missionary in Siam 1835-1873" ซึ่งมีเนื้อหาในบันทึกเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว ทะเบียนคนไข้ ความสนใจต่อสถานที่ใหม่ ๆ ที่เดินทางไปพบเห็น เรื่องสนุก ๆ ความคิดเห็นเกี่ยวกับศาสนา แต่เมื่อนำมาตีพิมพ์นั้นบรรณาธิการได้คัดเลือกมาเฉพาะตอนที่เห็นว่ามีความสำคัญ เพื่อทำให้สามารถเข้าใจต่อเหตุการณ์อื่น ๆ ได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น สำหรับของคนไทย ไดอารี่ที่เก่าที่สุดเช่นของหมอบรัดเลย์นั้น ได้แก่ ไดอารี่ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งจดบันทึกโดยเน้นเรื่องฟ้าฝนเป็นหลัก จึงเรียกว่า "จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน" โดยทรงจดตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. 2389 ถึง ปีขาล พ.ศ. 2433 รวม 45 ปี บันทึกที่จดต่อเนื่องกันทั้งปีนี้ยังปรากฏในรูปของจดหมายเหตุ เช่นจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทำให้ทราบว่า รัชกาลที่ 5 ทรงทำอะไรในแต่ละวันและมีเหตุการณ์หรือเทคโนโลยีใดเกิดขึ้นบ้าง
การแบ่งลักษณะของการบันทึกนอกจากข้อเขียนของอเนก นาวิกมูล ยังอาจใช้หลักการทางวรรณคดีในการจำแนกได้ ทั้งนี้เนื่องจากการเขียนบันทึกหรือการเขียนไดอารี่ มีความใกล้เคียงกันมากกับงานเขียนประเภทวรรณคดี คือเป็นการใช้ถ้อยคำในภาษาพูดถ่ายทอดออกมาผ่านทางการเขียน การเขียนบันทึกหรือไดอารี่ที่จำแนกตามหลักการทางวรรณคดี สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 อย่างคือ อย่างที่หนึ่งจำแนกตามเนื้อหาของเรื่อง และสองคือการจำแนกตามวิธีการเขียน หรือวิธีการนำเสนอเรื่อง
การจำแนกบันทึกหรือไดอารี่ออกตามเนื้อหาของเรื่องด้วยหลักเกณฑ์ทางวรรณคดีนั้น จำเป็นต้องเป็นบันทึกที่ถูกเขียนขึ้นมาจากชีวิตจริง ซึ่ง ดร.วิทย์ ศิวศริยานนท์ ได้แบ่งลักษณะของเนื้อหาหรือพฤตกรรมที่ปรากฏในเรื่องออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. เรื่องที่กล่าวถึงพฤติกรรมของบุคคลในฐานะเป็นบุคคล คือกล่าวถึงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ที่มากระทบกับชีวิตบุคคล
2. เรื่องที่กล่าวถึงประสบการณ์ในชีวิตมนุษย์ในฐานะมนุษย์ เช่น ความตาย บาปบุญ โชคชะตา อำนาจสูงสุดในโลก ชีวิตในปรโลกฯ
3. เรื่องที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
4. เรื่องที่กล่าวถึงธรรมชาติภายนอก อันเป็นส่วนประกอบการแสดงบทบาทต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่นสัตว์ พืช และสิ่งไม่มีชีวิต
5. เรื่องที่กล่าวถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ศิลปะ อุตสาหกรรม ตลอดจนระบบการเมือง
สำหรับบันทึกหรือไดอารี่ที่จะใช้หลักในการจำแนกด้วยลักษณะของการเขียนตามรูปแบบวรรณคดี แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. เรื่องที่แสดงบุคลิกลักษณะหรือความในใจของผู้แต่ง (Subjective หรือ Lyric Poetry) ในประเภทนี้ผู้แต่งมักถือตัวเองเป็นใหญ่ เนื้อหาของเรื่องมักจะแสดงบุคลิกลักษณะของผู้แต่ง หรือแสดงลักษณะทั่วไปของมนุษย์ หรือแสดงชีวิตจิตใจของชนเฉพาะกลุ่ม อันได้แก่ เรื่องที่เขียนเน้นความคิดมากกว่าความรู้สึก เรื่องที่เขียนเน้นความสง่าภาคภูมิ และเรื่องที่เขียนสั้นๆ แต่เน้นแสดงความโศกเศร้าอันเนื่องมาจากการสูญเสียคนรักหรือสิ่งของที่รัก
2. เรื่องที่เขียนเล่าถึงพฤติกรรมและแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น (Objective Poetry) เป็นเรื่องเล่าพฤติกรรมหรือแสดงความรู้สึกของผู้อื่น โดยผู้เขียนหรือผู้แต่งจะต้องว่างตัวให้เป็นกลางที่สุด
การเขียนถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการบันทึกที่ดีที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งนอกจากการรับรู้เรื่องราวที่ปรากฏผ่านทางเนื้อหาของบันทึกแล้ว ลักษณะของภาษา ตัวอักษร ยังทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางด้านภาษาว่าเป็นอย่างไร ตลอดจนบริบทที่แวดล้อมตัวอักษรเหล่านั้นยังช่วยสะท้อนถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ จารีตประเพณี ค่านิยม หรือสภาวการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ผ่านทางหลักฐานที่ปรากฏ ซึ่งสามารถแบ่งแยกประเภทของการเขียนออกได้หลากหลายประเภท แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีได้มีรูปแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่ามีความต้องการเขียนในรูปแบบใด และไม่ว่าจะเป็นการเขียนลักษณะใดก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่ผู้เขียนนึกคิดและบรรยายออกมาผ่านทางตัวอักษร อันเป็นสิ่งสะท้อนความต้องการภายในใจของผู้เขียนนั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงการแสดงตัวตนจากพื้นที่ส่วนตัวสู่พื้นที่สาธารณะ
การเขียนบันทึกประจำวันหรือการเขียนไดอารี่นั้น เป็นการเขียนที่มุ่งหมายบันทึกเหตุการณ์ส่วนตัวของบุคคล
ไม่เกี่ยวกับเรื่องราชการ หรือหน่วยงานที่ทำงาน ซึ่งเดิมทีในสังคมไทย นักเขียนไม่ได้รับการสนับสนุนให้เขียนแสดงตัวในแบบเปิดเผยลงไปในงานเขียนของตน
เพิ่งมาในระยะหลังที่นักเขียนจะนิยมแสดงตัวตนในข้อเขียน ทำให้ธรรมเนียมการเขียนบันทึกส่วนตัวไม่เกิดขึ้นจนถึงสมัยหลัง
ที่ความสำนึกในความเป็นปัจเจกชนมองเห็นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของอุบัติการณ์ต่างๆ
และเชื่อในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ซึ่งได้ส่งผลให้เนื้อหาเกิดการพัฒนาสอดคล้องและรับใช้ต่อชีวิตของตนเองมากขึ้น
ลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่างไปจากวรรณกรรมในสมัยเก่าที่การเขียนถึงเรื่องราวส่วนตัวไม่ค่อยแพร่หลายนัก แม้แต่กลุ่มของนักการเมืองหรือบุคคลสำคัญก็ไม่นิยมเขียนหรือพิมพ์เผยแพร่บันทึกของตน ที่ได้พิมพ์ส่วนใหญ่มักเป็นประเภทบันทึกความทรงจำมากกว่าบันทึกรายวัน ที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีเช่น "ความทรงจำ" อันเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นอกจากนั้นก็ยังปรากฏบันทึกของบุคลสำคัญอื่นๆ แต่ยังคงไม่ได้รับการตีพิมพ์ เว้นแต่ทายาทของบุคคลนั้นๆ จะทำการตีพิมพ์ขึ้นในภายหลัง
งานพิมพ์ที่ปรากฏ มักพบว่าเป็นของชนชั้นสูงที่มีทรัพย์เท่านั้น ที่จะสามารถเผยแพร่งานเขียนของตนเองด้วยการพิมพ์ได้ ในขณะที่ตลาดของสิ่งพิมพ์ยังคับแคบ หนึ่งในรูปแบบของบันทึกที่พบเห็นได้ในสังคมไทยตั้งแต่อดีตและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคือ งานเขียนประเภทจดหมายส่วนตัวของบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้จักบุคคลนั้นๆ ดีขึ้นแล้ว จดหมายส่วนตัวนี้ยังมีข้อสนเทศที่สำคัญอื่นๆ เกี่ยวกับนโยบายหรือเบื้องหลังของเหตุการณ์ซึ่งมักไม่ค่อยได้พบในเอกสารที่เป็นของสาธารณะ ในประเทศไทยมักไม่ค่อยมีการเก็บจดหมายส่วนตัวกันอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่สูญหายไป นอกจากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา (นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาคม พัฒิยะ, 2525, 77-78)
การบันทึกในรูปแบบของจดหมายนั้น มักเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางใกล้หรือไกล โดยการเขียนเล่าเรื่องราวที่ผู้เขียนได้ประสบพบเจอขณะต้องเดินทางห่างไกลจากบุคคลหนึ่งบุคคลใด จนก่อให้เกิดความคิดถึงจึงเขียนจดหมายขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและบอกเล่าเรื่องราวให้แก่กันได้รับรู้ ในฐานะของคนที่มีความใกล้ชิดกัน จึงทำให้จดหมายที่ถูกเขียนขึ้นมีลักษณะของความเป็นส่วนตัวที่สามารถบอกเล่าความในใจ ตัวตน หรือแม้กระทั่งความลับระหว่างผู้เขียนจดหมายและผู้รับจดหมายได้ เนื้อความที่ปรากฏจึงมีความเป็นอิสระในการคิดและการเขียนแสดงทัศนะต่อเรื่องราวต่างๆ จนกระทั่งเมื่อมีผู้มาพบเห็นหรือได้ล่วงรู้ถึงเนื้อความในจดหมายซึ่งอาจเห็นถึงคุณค่า คุณประโยชน์ที่ผู้ได้เขียนได้แสดงทัศนะเอาไว้ จึงได้นำเอาจดหมายเหล่านั้นไปรวบรวมและตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะชน เรื่องราว และพื้นที่ส่วนตัวที่ปรากฏอยู่ในจดหมายจึงได้แปรเปลี่ยนไปกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่บุคคลอื่นๆ สามารถเข้าถึงได้แทน โดยบันทึกที่ปรากฏในรูปของจดหมายและต่อมาได้รับการตีพิมพ์อันมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของสังคม ที่แสดงให้เห็นลักษณะของตัวตนบนพื้นที่ของการเปลี่ยนแปลงนั้น จะขอคัดเลือกมานำเสนอดังนี้
1. พระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้าน (พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕)
2. พ่อสอนลูก (ทวี บุณยเกตุ)
3. สารจากนครพิงค์ถึงบางกอก และ สารจากกรุงเทพฯ ถึงธนบุรี
4. จดหมายโต้ตอบระหว่างเสถียรโกเศศ กับ ส.ศิวรักษ์
5. จดหมายรักในชีวิตจริงของยาขอบ
1. พระราชนิพนธ์เรื่อง
ไกลบ้าน
พระราชนิพนธ์ฉบับนี้เป็นบันทึกที่ปรากฏในรูปของจดหมายที่มีชื่อเสียง และผู้คนนิยมอ่าน
ปรากฏการตีพิมพ์หลายครั้ง เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(รัชกาลที่ 5) ครั้งทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่สอง ทั้งนี้เนื่องจากทรงมีพระอาการประชวร
ไม่ทรงสบายมาเป็นเวลานาน เมื่อทรงปฏิบัติพระราชกิจตรากตรำหรือกระทบคราวฤดูการแปรปรวน
ก็มีพระอาการกำเริบขึ้น เพราะพระโรคไม่เหมาะแก่อากาศร้อนจัด และความชื้นในฤดูฝน
แพทย์ประจำพระองค์จึงทูลแนะนำให้เสด็จออกจากพระนครเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2449
และเสด็จกลับถึงพระนครเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450
ซึ่งการเสด็จต่างประเทศครั้งนั้นปรากฏผลดีต่อการรักษาพระองค์ และได้ทรงเยี่ยมเยียนต่างประเทศอันเป็นผลดีอย่างยิ่งในทางเจริญสัมพันธไมตรี และเป็นผลดีที่ทำให้เกิดพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านนี้ขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์เป็นลายหัตถเลขาพระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล และพระราชทานพระบรมราชานุญาตมาให้ผู้อื่นได้อ่านด้วย เมื่อพระราชหัตถเลขามาถึงหลายฉบับเข้าด้วยกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอัธยาศัยใฝ่พระทัยในการประพันธ์ อันจะเห็นได้จากพระนิพนธ์ที่มีอยู่มากมายและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วไป เมื่อเสด็จประพาสที่ใดไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือนอกประเทศ ก็ทรงบันทึกไว้ เป็นระยะทางในเวลาเสด็จประเทศสถานที่นั้น และในบางคราวทรงบันทึกในรูปจดหมาย เช่นเมื่อเสด็จประเทศยุโรปครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2440 ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชชินีนาถ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยทรงเป็นพระราชหัตถเลขาส่วนพิเศษต่างหากจากที่ทรงมีในทางราชการและกระแสพระราชดำริ ซึ่งพระองค์ทรงเล่าความตามที่ได้สังเกตเห็นในบ้านเมืองและบุคคลต่างๆ อย่างคนที่ได้ไปท่องเที่ยวทั่วๆ ไป จึงเป็นพระราชหัตถเลขา ที่มีความเป็นส่วนตัวโดยปรากฏสรรพนามแทนพระองค์เองว่า "ฉัน" และแทน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ว่า "แม่เล็ก" ในฐานะของภรรยามิใช่ผู้สำเร็จราชการแทน สรรพนามที่พระองค์ทรงใช้มิได้ทรงถือชั้นวรรณะ แต่ทรงใช้สรรพนามเช่นคนสามัญที่ใช้ส่วนตัวทั่วไป
โดยลักษณะของการเขียนจดหมายนั้นปรากฏ วัน เดือน ปี ที่เขียนจดหมาย และชื่อของผู้เขียนจดหมายเหมือนจดหมายทั่วไป เนื้อหาใจความในจดหมายเป็นการบรรยายเล่าถึงสถานการณ์ เหตุการณ์ และสิ่งที่ได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นประจำในแต่ละวัน แต่ละสถานที่ ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินผ่านมีการกล่าวถึงข้อราชการบ้านเมืองบ้าง ซึ่งต่อมาได้จัดให้มีการคัดเลือกและรวบรวมเพื่อพิมพ์เป็นสมุดหนังสือที่ระลึกในงานพระศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี โดยคัดข้อความในพระราชหัตถเลขาในเรื่องที่สามารถจะพิมพ์ได้ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับการบ้านการเมืองที่เป็นความลับของแผ่นดิน หรือจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ใคร ให้ตัดออกเสีย และทรงให้ทำคำอธิบายหมายเลขสำหรับเป็นที่สังเกตนามบุคคล หรือที่เรียกว่าสังเขป(ปัจจุบันเรียกเชิงอรรถ) ให้ได้เห็นได้ทราบอย่างชัดเจน ตลอดจนคำศัพท์ที่ทรงให้มีคำแปลประกอบให้ชัดเจน โดยคำอธิบายเหล่านี้จะเป็นปรากฏอธิบายตอนท้ายเล่ม
อาทิเช่น ในจดหมายฉบับแรกที่มีการกล่าวถึงกัปตันคำมิง ผู้เป็นนายเรือพระที่นั่งเฉพาะคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งนั้น ก็โปรดให้มีการอธิบายว่ากัปตันผู้นี้เป็นใครโดยมิได้ละเลย ทรงโปรดให้มีการอธิบายถึงบุคคลเกือบทุกคนที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาอย่างละเอียด โดยมิได้ทรงมองข้ามแต่อย่างใด รวมเป็นพระราชหัตถเลขาที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในครั้งนี้ 62 ฉบับ พร้อมกับการพิมพ์สำเนาต่างๆ ที่กล่าวอ้างอิงในพระราชหัตถเลขานี้อีก 5 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 67 ฉบับ
ครั้งเสด็จประพาสยุโรปในคราวที่สองนี้ ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล ซึ่งทรงมีพระดำรัสเรียกว่า "ลูกหญิงน้อย" ในพระราชหัตถเลขาชุดนี้ทรงดำรัสเล่าถึงเรื่องเสด็จประพาส และทรงพรรณนาถึงสิ่งที่ได้ทอดพระเนตรเห็นและกิจการที่ได้ทรงทราบ รวมทั้งกระแสพระราชดำริวินิจฉัยในเรื่องนั้น บรรดาผู้ที่ได้รับพระบรมราชานุญาติให้อ่านก็พากันพอใจ จึงกราบบังคมทูลไปว่า เรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขานั้น ถ้ารวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือเรื่องขึ้นได้สักเรื่องหนึ่ง เห็นจะเป็นประโยชน์มาก
พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระราชหัตถเลขาตอบมาว่า จะพิมพ์ก็ได้ แต่จะต้องตัดความซึ่งไม่ควรโฆษณาออกเสียบ้าง จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจัดการตรวจต้นฉบับ. เมื่อเสด็จกลับจะทรงตรวจตัดต้นฉบับให้พิมพ์ เรียกว่าเรื่อง"ไกลบ้าน" โดยพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรกในงานไว้พระประจำปี ณ วัดเบญจมบพิตร วันที่ 17 ธันวาคม พิมพ์ออกจำหน่ายเป็นตอนๆ กำหนดเอาพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งเป็นหนึ่งตอน แต่ทันได้ออกเพียงบางตอน ต่อมาจึงพิมพ์เพิ่มจนครบ 48 ฉบับ เป็น 1850 หน้ากระดาษ และเย็บรวมเล่มใหญ่ได้ 4 เล่ม (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2508, คำนำ)
พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดลนั้น เป็นบันทึกในลักษณะของจดหมายส่วนตัวที่พ่อส่งถึงลูก เล่าเรื่องราวทั่วๆ ไปที่พระองค์ได้ทรงพบเห็นในขณะที่เสด็จประพาสฯ ยุโรปเป็นครั้งที่ 2 โดยมีหลักฐานที่กล่าวถึงลักษณะของพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึง พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล ปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่พระองค์ส่งพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยมีรายละเอียดของลักษณะคือ
" ...ฉันทำจดหมายถึงลูกหญิงน้อยเป็นเล่าเบ็ดเตล็ด ไม่พยายามที่จะให้ถ้วนถี่ มีดีๆ อยู่บ้าง ไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้เป็นหนังสือพิมพ์ เป็นหนังสือถึงกันส่วนตัว...เป็นอย่างลีฟฟีอมดิไดอรีของควีนวิคตอเรีย... "
(จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2508)
จากลักษณะของพระราชหัตถเลขาดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยให้พระราชหัตถเลขาที่มีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล เป็นแต่เพียงจดหมายธรรมดาที่พ่อส่งถึงลูก โดยสรรพนามที่ใช้เรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดลว่า "ลูกหญิงน้อย" นั้น ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดยิ่งขึ้นว่า เป็นจดหมายที่เน้นความเป็นส่วนตัวสำหรับสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะผู้เป็นพ่อ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดลในฐานะลูก ซึ่งปรากฏสรรพนามแทนตัวพระองค์ว่า "พ่อ"และสรรพนามแทนตัวสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดลว่า "หญิงน้อย" ตลอดในเนื้อหาของพระราชนิพนธ์
ลักษณะการใช้สรรพนามดังกล่าวว่า
"พ่อ" และ "ลูกหญิงน้อย" เป็นสรรพนามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงใช้ในฐานะพ่อที่เป็นปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง ที่จะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่ของตนให้กับลูกได้รับรู้
มิได้ทรงตระหนักถึงยศถาบรรดาศักดิ์ คำพูด การกระทำ อย่างที่สังคมคาดหวังให้กษัตริย์แสดงออกต่อสาธารณชน
เนื่องด้วยทรงตั้งพระทัยแต่แรกจะให้พระราชหัตถเลขานี้มีความเป็นส่วนตัว ที่ใช้สื่อสารกันแค่เพียงสองพระองค์
สำหรับเนื้อหาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าในพระราชหัตถเลขา
ซึ่งต่อมาได้รับการรวบรวมเป็นหนังสือ"ไกลบ้าน"นั้น มีประโยคหนึ่งที่ทรงกล่าวว่า
"เล่าเบ็ดเตล็ด ไม่พยายามที่จะให้ถ้วนถี่" แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเล่าเรื่องราวจากสิ่งที่ได้พบเห็นทั่วๆ
ไป โดยดำเนินเนื้อเรื่องไปอย่างง่ายๆ ตามฐานะพ่อจะพึงเล่าเรื่องราวให้ลูกฟัง
แต่ก็ทรงแทรกกระแสพระราชดำริวิจารณ์แทรกอยู่เสมอ เนื้อหาที่กล่าวถึงก็ล้วนเป็นเรื่องที่ทรงทอดพระเนตรเห็นในขณะเดินทาง
เรื่องราววิธีการในการเดินทาง วันเวลาและสถานที่ที่ทรงประทับในขณะที่ทรงเขียนจดหมายหรือเล่าถึงกิจการงานต่างๆ
ที่ทรงทำ ในแต่ละวัน
ลักษณะของวิธีการเขียนของพระองค์นั้นเป็นไปในรูปแบบของการเขียนจดหมายอย่างแท้จริง คือ ระบุสถานที่ วันเดือนปีที่ทรงเขียนตลอดจนชื่อและคำทักทายถึงผู้รับจดหมาย โดยในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดลในครั้งที่เสด็จครั้งนี้นั้น พระองค์ทรงใช้คำว่า "หญิงน้อย" แทน แล้วจึงพรรณนาถึงเรื่องที่ทรงต้องการบอกเล่าด้วยภาษาเรียบง่าย ไม่ใช้คำราชาศัพท์ แต่ลงรายละเอียดของเรื่องราวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นชื่อสถานที่ ชื่อคน เวลา พร้อมสอดแทรกความคิดเห็นส่วนพระองค์และการวิเคราะห์ จนทำให้เห็นภาพสถานที่หรือเรื่องราวนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน อาทิเช่น พระราชหัตถเลขาฉบับที่ 8 ที่มีใจความว่า
" ...เมื่อคืนนี้ให้กรมสมมตเขียนหนังสือเติมจนจบ แต่พ่อเมาบุหรี่เต็มที กรมสมมติแก สูบอย่างพระสูบ คือดูดเข้าไปเหมือนเขาดูดกัญชา แล้วปล่อยควันพลุ่งออกมายาว ตั้งวา ไม่ใช่อย่างพรุ่นๆ ออกมาเหมือนปล่องไฟที่ติดถ่านหินใหม่ๆ ห้องมันเล็ก แกสูบคนเดียวควันเต็มห้อง ครั้นจะไม่ให้แกสูบก็สงสาร เห็นกำลังอร่อยเต็มที บุหรี่ทั้งตัวขีดไฟจุด 3 ครั้งหมด เหลือสักองคุลีเดียว อดหัวเราะก็ไม่ได้ จะทักกลัว จะกระดาก พ่อเลยไม่ได้สูบตั้งแต่กลับลงมาจนนอน แต่ก็มีคุณอยู่บ้าง จะเปน ด้วยฤทธิเมาบุหรี่ฤาอย่างไรไม่รู้ เลยหลับสนิท ท้องไส้ก็พลอยเป็นปรกติเรียบร้อย หลับพักใหญ่จนตื่นไม่ทันกินข้าวกลางวัน..."
(จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2497, 101)
จากเนื้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงมีลักษณะของการเล่าที่เป็นกันเอง ระหว่างผู้เขียนในฐานะของผู้เป็นพ่อ เล่าได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีความสนิทสนมกับผู้อ่านในฐานะลูกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทรงมีอารมณ์ขันสอดแทรกให้การเล่าเรื่องลื่นไหลไปอย่างต่อเนื่อง มีการเทียบเคียงหรือยกตัวอย่างประกอบ ทำให้เห็นภาพจนทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวที่เกิดขึ้นภายในจดหมาย
อีกประการหนึ่งที่ย้ำชัดว่ามิได้ทรงตั้งพระทัยจะให้พระราชหัตถเลขา
ที่มีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดลเผยแพร่สู่สาธารณะคือทรงกล่าวว่า
"..ไม่ได้ตั้งใจ จะให้เป็นหนังสือพิมพ์ เป็นหนังสือถึงกันส่วนตัว..."
เนื่องด้วยหนังสือพิมพ์ มีลักษณะที่เป็นหนังสือสาธารณะ ที่บุคคลทั่วไปสามารถอ่านและเข้าถึงเนื้อหาที่กว้างขวางและหลากหลายได้
และด้วยถ้อยคำว่า "หนังสือถึงกันส่วนตัว" นี้จึงทำให้เห็นเจตนาที่ชัดเจนของพระราชหัตถเลขาที่พระองค์เขียนถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
และเมื่อได้รับคำขออนุญาตนำ
พระราชหัตถเลขาไปตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่แก่สาธารณชนพระองค์ก็ทรงดำรัสให้มีการกวดขันอย่างถี่ถ้วนในเรื่องของรายละเอียดอันเกี่ยวกับการนำไปพิมพ์
อาทิเช่น การใส่ชื่อตำบลที่เสด็จประพาสแต่ละแห่งไว้ที่ริมหน้ากระดาษด้านบน ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกแก่การค้นหาเรื่องราวที่ต้องการอันเป็นวิธีการจัดหน้าหนังสืออย่างใหม่สำหรับเมืองไทย และเนื่องด้วยพระราชนิพนธ์ไกลบ้านมีความยาวมากจึงทรงให้พิมพ์เป็นรูปเล่มที่พอเหมาะโดยจัดให้พิมพ์เป็นตอนๆ ให้ได้รูปเล่มกะทัดรัดถืออ่านได้สบายๆ ตามแบบของหนังสือประเภทเล่าเรื่องการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป และทรงคัดเลือกเฉพาะตอนที่ควรจะเผยแพร่แก่สาธารณชน
ในเรื่องของสำนวนโวหารการใช้ภาษา ก็ทรงกวดขันเป็นพิเศษ เมื่อตกลงว่าจะพิมพ์เรื่องไกลบ้านแล้วก็ทรงให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่งต้นฉบับพิมพ์ดีดที่ได้ทรงคัดเลือกในการพิมพ์เผยแพร่แก่สาธารณะขึ้นถวาย ปรากฏว่ามีคนพิมพ์ผิดพลาด ซ้ำยังแก้ภาษาให้ผิดๆ ไปหลายแห่ง พระองค์ก็ทรงตักเตือนให้ระมัดระวังเป็นอย่างมาก คำที่เขียนด้วยสำนวนฝรั่ง หากจำเป็นก็ให้ใช้อย่างฝรั่งไปเลยเพื่อจะได้เป็นแบบอย่างแก่คนอื่นๆ ในภายหลัง (วิพุธ โสภวงศ์, 2516, 24-25)
2. พ่อสอนลูก ของ ทวี
บุณยเกตุ
หนังสือเรื่อง พ่อสอนลูก ของ ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในปี พ.ศ. 2487 ผู้ซึ่งเป็นอดีตผู้นำและผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ผู้ก่อตั้งคุรุสภาและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นจากลักษณะของจดหมายที่พ่อเขียนถึงลูกเช่นกัน แม้เนื้อหาที่เกิดขึ้นภายในจะไม่ได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพ่อซึ่งเป็นผู้เขียนก็ตาม
แต่เป็นไปในลักษณะของการเขียนเพื่ออบรมสั่งสอนลูก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนังสือเรื่อง
"พ่อสอนลูก" ที่ได้รับการรวบรวมและตีพิมพ์จากจดหมายส่วนตัวที่ ฯพณฯ
ทวี บุณยเกตุ ได้ส่งถึงลูกชายและลูกสาว ขณะที่ท่านต้องเดินทางไปอยู่ที่เมืองปีนัง
นอกจากนั้นแล้วหนังสือเรื่องพ่อสอนลูกนี้ยังได้รับการพิจารณาจากกรมวิชาการให้เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่าน
สำหรับประโยคประถมศึกษาตอนปลายและประโยคมัธยมศึกษา ให้ใช้ในโรงเรียนเมื่อวันที่
21 สิงหาคม 2515
โดยจดหมายที่ ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ ส่งถึงบุตรชายคือ คุณวีระวัฒน์ และคุณภัทรฤดี บุณยเกตุ บุตรสาวนั้น ได้รับแรงดลใจอันเนื่องมาจากความห่วงหาอาทรในเรื่องของความประพฤติ มารยาท อุปนิสัย และคุณธรรมที่ท่านเห็นว่ามีคุณค่าเหนือกว่าสมบัติชิ้นใดๆ จึงได้ส่งจดหมายมาเพื่อเป็นการอบรมสั่งสอนแก่บุตรทั้งสอง โดยแบ่งจดหมายออกเป็นของลูกชายและลูกสาวแยกจากกัน มีเนื้อหาที่เป็นการกล่าวอบรมสั่งสอนเรื่องกิริยามารยาท การวางตัว ประพฤติตัวให้เป็นคนดี โดยมีรูปแบบเป็นไปอย่างเช่นการเขียนจดหมายส่วนตัวทั่วๆ ไป มีสัญลักษณ์เป็นชื่อของผู้เขียนจดหมาย คือ ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ ตรงกลางหน้ากระดาษ มุมขวาบนเป็นสถานที่ที่เขียนจดหมายซึ่งคือเมืองปีนัง บรรทัดถัดมาด้านมุมขวาล่างเป็นวันเดือนปีที่เขียน และถัดลงมาด้านซ้ายเป็นชื่อและคำทักทายถึงผู้รับจดหมาย หากเขียนถึงลูกชายจะเขียนว่า "บู๊ ลูกรัก" และเมื่อเขียนถึงลูกสาวเขียนว่า "แหยว ลูกรัก" ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงความสนิทสนม รักใคร่ และเป็นส่วนตัวด้วยชื่อเล่นที่ใช้ในการทักทาย
ถัดมาจึงเป็นเนื้อหาของจดหมายที่ในแต่ละครั้งจะเป็นการอบรมสั่งสอนในเรื่องต่างๆ จัดแบ่งเป็นย่อหน้าให้อ่านได้ง่ายและชัดเจนด้วยการใช้ภาษาธรรมดาที่เข้าใจได้ง่าย ใช้สรรพนามว่าพ่อแทนตัว ฯพณฯ ทวี และลูกแทนการเรียกชื่อของบุตรธิดาทั้งสอง จึงทำให้เห็นถึงความเป็นส่วนตัวที่เกิดขึ้นภายในจดหมายซึ่งต้องการสื่อสารถึงกันเพียงสองคนระหว่างผู้เขียนในฐานะพ่อ และผู้อ่านในฐานะลูกเท่านั้น ส่วนคำลงท้ายของจดหมายนั้นเขียนไว้ว่า "รักและคิดถึงมากจากพ่อ" พร้อมลงลายมือชื่อของ ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ กำกับเอาไว้
เนื้อหาและสรรพนามที่ปรากฏเน้นให้เห็นความเป็นส่วนตัวของพ่อและลูกผ่านทางจดหมายที่เขียนเพื่อการอบรมสั่งสอน แต่เนื่องด้วยคุณประโยชน์ของเนื้อหาด้านการอบรมสั่งสอนบุตรธิดานั่นเอง จึงทำให้จดหมายนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นบันทึกอีกฉบับหนึ่ง
3.
สารจากนครพิงค์ถึงบางกอก และ สารจากกรุงเทพฯ ถึงธนบุรี
สารจากนครพิงค์ถึงบางกอก เป็นหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นจากจดหมายในรูปแบบที่มีการเขียนโต้ตอบกันระหว่าง
พลูหลวง และ ส.ตุลยานนท์ ที่มีจุดมุ่งหมายในการเขียนครั้งแรกเพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เป็นประโยชน์
โดยการเอาอย่างจากสาส์นสมเด็จ ประกอบกับการที่ทั้งสองท่านอยู่กันคนละที่ คนละภาค
มีโอกาสในการพบปะกันน้อย การเขียนจดหมายถึงกันจะทำให้รู้สึกถึงความใกล้ชิดไม่ห่างเหิน
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนจดหมาย
โดยหนังสือเล่มแรกที่ได้รับการรวบรวมขึ้นจากจดหมายส่วนตัวที่มีถึงกันคือ "สารจากนครพิงค์ถึงบางกอก" เป็นการรวบรวมจดหมายที่มีถึงกันในขณะที่ ส.ตุลยานนท์ รับราชการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และพลูหลวงซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ในเล่มที่ 2 คือ สารจากกรุงเทพฯ ถึงธนบุรี เป็นหนังสือรวบรวมจดหมายที่ ส. ตุลยานนท์ ย้ายมาประจำที่กรุงเทพฯ และพลูหลวงอยู่ที่ธนบุรี เนื้อหาในจดหมายจะพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความรู้และสาระน่ารู้ต่างๆ ที่ได้จากการค้นคว้า และนำมาเขียนลงในจดหมายเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้แก่กัน และเมื่อเห็นว่าเรื่องราวที่เขียนในจดหมาย เป็นเรื่องราวที่มีสารประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย จึงได้รวบรวมและตีพิมพ์ออกเผยแพร่
ลักษณะของจดหมายที่มีโต้ตอบกันระหว่าง ส.ตุลยานนท์และพลูหลวงนั้น เป็นไปในลักษณะของจดหมายส่วนตัวที่เน้นเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสาระ และเกร็ดความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่ทั้งสองท่านกำลังสนใจหรือมีโอกาสได้พบเจอในขณะนั้นๆ พร้อมทั้งแทรกไว้ด้วยเนื้อหาที่บอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวของแต่ละคนตลอดจนแสดงความคิดเห็นทัศนคติ ประกอบเรื่องราวต่างๆ ด้วยเสมอ โดยมีรูปแบบลักษณะการเขียนเป็นไปในแบบของจดหมายทั่วๆ ไป ที่ระบุชื่อสถานที่ วันเดือนปีที่เขียนจดหมายไว้ด้านมุมบนขวา ถัดมามุมซ้ายเป็นชื่อและคำทักทายถึงผู้รับจดหมาย ซึ่งจดหมายที่พลูหลวงเขียนถึง ส.ตุลยานนท์จะเขียนว่า "เรียนคุณ ส.ตุลยานนท์ ที่นับถือ" และลงท้ายจดหมายว่า "ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง พลูหลวง"
ส่วนจดหมายที่ ส.ตุลยานนท์มีถึงพลูหลวงนั้นใช้คำว่า "เรียน อาจารย์ที่เคารพอย่างสูง" และลงท้ายว่า "ด้วยความเคารพอย่างสูง ส.ตุลยานนท์" สรรพนามที่ใช้ภายในจดหมายทั้งสองใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า "ผม" และมีลักษณะการเขียนแบบการพรรณนาเล่าเรื่องราวที่ต้องการกล่าวถึงไปเป็นย่อหน้าๆ ใช้คำที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และมีการอ้างอิงหากส่งข้อมูลในบางเรื่องราวที่ได้ศึกษามาอย่างคร่าวๆ แต่ต่อมาเมื่อมีการรวบรวมเพื่อการตีพิมพ์ จึงได้ทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง
เนื้อหาและเรื่องราวที่ปรากฏในจดหมายที่ต่อมากลายเป็นบันทึกที่ได้รับการตีพิมพ์นี้เป็นสาระความรู้ที่หลากหลาย มีหลายครั้งที่เป็นไปในลักษณะของการไหว้วานให้อีกฝ่ายช่วยค้นคว้าในเรื่องราวที่ตนสนใจ เมื่อทำการค้นคว้าได้แล้ว ก็จะเขียนเล่ากลับไปผ่านทางจดหมายประกอบการแสดงทัศนะความคิดเห็นของตนลงได้ไปด้วย
4.
จดหมายโต้ตอบระหว่างเสถียรโกเศศ กับ ส.ศิวรักษ์
บันทึกที่มาจากจดหมายโต้ตอบนอกจากจดหมายระหว่างพลูหลวง และส.ตุลยานนท์แล้ว ยังปรากฏบันทึกในรูปแบบจดหมายโต้ตอบที่ได้รับการรวบรวมและตีพิมพ์เป็นหนังสืออีกหลายเล่มด้วยกัน
หนึ่งในหนังสือบันทึกรูปแบบนี้คือ จดหมายโต้ตอบระหว่าง เสถียรโกเศศ และ ส.ศิวรักษ์
ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ได้รวบรวมและตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ เนื่องในวันเกิดเมื่อวันที่
14 ธันวาคม 2514 ของเสถียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน ผู้ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว
จดหมายโต้ตอบระหว่างเสถียรโกเศศหรือพระยาอนุมานราชธน และส.ศิวรักษ์นี้ เป็นจดหมายโต้ตอบที่ ส.ศิวรักษ์ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนจากความชื่นชมที่มีต่อนักเขียน คือ เสถียรโกเศศนาคะประทีป และสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จากสาส์นสมเด็จ จึงทำให้เกิดความปรารถนาที่จะเขียนหนังสือโต้ตอบกับคนอื่น และเริ่มระมัดระวังถ้อยคำและภาษาที่ใช้ในการเขียนจดหมายมากขึ้น พร้อมทั้งทำการเก็บต้นร่างหรือสำเนาจดหมายของตัวเองไว้ และเมื่อครั้งมีโอกาสได้กราบลาพระยาอนุมานราชธนไปประเทศอังกฤษ จึงได้ขออนุญาตเขียนจดหมายถึงพระยาอนุมานราชธนในการซักถามขอความรู้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจดหมายโต้ตอบระหว่างเสถียรโกเศศ และ ส.ศิวรักษ์ ในฐานะผู้ใหญ่ คือพระยาอนุมานราชธนและผู้น้อย คือ ส.ศิวรักษ์ โดยที่ ส.ศิวรักษ์ เองนั้นได้ถือเอาพระยาอนุมานราชธนเป็นอาจารย์และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ เมื่อมีโอกาสพบพระยาอนุมานราชธนในครั้งแรกเพื่อขอให้ตั้งชื่อนิตยสารของโรงเรียนอัสสัมชัญที่ ส.ศิวรักษ์กำลังศึกษาอยู่ในขณะนั้น
ในด้านของลักษณะเนื้อหาที่ปรากฏในจดหมายที่มีโต้ตอบกันนั้นโดยมากจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้ด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณีไทย ตลอดจนความรู้ทางด้านวิชาการที่ ส.ศิวรักษ์ได้เขียนไปเพื่อขอความรู้จากพระยาอนุมานราชธน ซึ่งท่านเองทรงเมตตาค้นคว้าและตอบคำถามกลับไปร่วมกับการแสดงทัศนะและความคิดเห็นของท่านควบคู่ไปด้วย นอกจากเรื่องราวด้านความรู้แล้ว ในจดหมายที่มีโต้ตอบกันนี้ยังปรากฏการพูดคุยเรื่องราวส่วนตัวทั่วๆ ไป ของทั้งสองท่านที่ได้ประสบพบเจอขณะเวลานั้น ๆ อีกด้วย
ในด้านของรูปแบบการเขียนก็ปรากฏลักษณะที่เป็นการเขียนจดหมายส่วนตัวทั่วไป ไม่ใช่จดหมายราชการ แม้ว่าพระยาอนุมานราชธนจะดำรงตำแหน่งเป็นพระยา และมีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการก็ตาม โดยจดหมายที่มีถึงกันนี้ปรากฏชื่อสถานที่ วันเดือนปีที่เขียนจดหมายในมุมบนด้านขวา หากเป็นจดหมายที่ ส.ศิวรักษ์ มีถึงพระยาอนุราชธน จะเขียนชื่อและคำทักทายถึงผู้รับจดหมายไว้ว่า "กราบเรียนเจ้าคุณอาจารย์ที่เคารพ" และลงท้ายจดหมายว่า "กราบเรียนมาด้วยความเคารพแลนับถือ" พร้อมลงชื่อ ส.ศิวรักษ์ ส่วนสรรพนามที่ปรากฏในเนื้อหาของจดหมาย ส.ศิวรักษ์ใช้แทนตัวเองว่า "เกล้ากระผม" และแทนพระยาอนุมานราชธนว่า "อาจารย์"
ในด้านของจดหมายพระยาอนุมานราชธนที่ตอบกลับไปยัง ส.ศิวรักษ์ จะเขียนชื่อและคำทักทายถึงผู้รับจดหมายว่า "คุณ ส.ศิวรักษ์" และลงท้ายจดหมายว่า "ด้วยความรักและนับถือ" และลงลายมือชื่อของท่านว่า "อนุมานราชธน" ส่วนสรรพนามภายในเนื้อหาจดหมายพระยาอนุมานราชธนใช้เรียกตัวท่านเองว่า "ผม" และใช้คำว่า "คุณ" แทนตัว ส.ศิวรักษ์ ซึ่งปรากฏน้อยครั้งในจดหมาย ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนเล่าแบบบรรยายเรื่องราว หรือตอบข้อคำถามที่ได้เขียนมาขอความรู้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้เอ่ยอ้างถึง ส.ศิวรักษ์ ผู้ที่จะเขียนจดหมายไปถึงแต่อย่างใด จดหมายทุกฉบับที่ทั้งสองท่านมีถึงกัน จะปรากฏข้อความในบรรทัดแรกอ้างอิงถึงจดหมายฉบับก่อนหน้าที่ได้รับมาว่า ได้รับเมื่อใด และด้วยเหตุใดจึงทำให้ตอบกลับไปด้วยเวลาอันช้าหรือรวดเร็วเช่นนั้น
จดหมายโต้ตอบของพระยาอนุมานราชธน กับ ส.ศิวรักษ์ นี้ แม้ในเบื้องต้นจะเกิดจากที่ทั้งสองท่านยังไม่สนิทสนมกันมากนักก็ตาม แต่ลักษณะของจดหมายก็เป็นไปในทางจดหมายส่วนตัวเสียมาก อันสังเกตได้จากสรรพนามที่ใช้แบบเป็นกันเองที่ไม่ทรงถือตัวของพระยาอนุมานราชธน มีการเขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไทยที่ ส.ศิวรักษ์ กำลังสนใจ และพระยาอนุมานราชธน มีความรู้ความสามารถประกอบกับการพูดคุยเรื่องอื่นๆ ทั่วๆ ไป รวมถึงเรื่องราวในชีวิตประจำวันของแต่ละคน จึงทำให้เกิดความสนิทสนมมากขึ้นอีกระดับหนึ่งตามสมควร
5. จดหมายรักในชีวิตจริงของยาขอบ
บันทึกอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากการรวบรวมจดหมายส่วนตัว ที่เขียนโต้ตอบกันในเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก
ก็ปรากฏให้เห็นเป็นหนังสือด้วยเช่นกัน ดังหนังสือ "จดหมายรักในชีวิตจริงของยาขอบ"
ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมจดหมายโต้ตอบระหว่าง "ยาขอบ" นักเขียนผู้มีชื่อเสียงและ
"พนิดา ภูมิศิริพัต" หญิงผู้มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน และได้กลายมาเป็นคู่รักกันในภายหลัง
จดหมายรักที่โต้ตอบกันนี้ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นหลังจากที่ผู้เขียนจดหมายทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้วโดยเทียน
เหลียวรักวงศ์ เจ้าของโรงพิมพ์ผู้ซึ่งแนะนำให้ทั้งสองคนได้มีโอกาสพบกัน โดยพนิดาผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนจดหมายรักนี้
ได้มอบจดหมายทั้งหมดที่ยาขอบและเธอได้เขียนโต้ตอบกันให้แก่เทียน
ภายหลังจากที่ยาขอบได้เสียชีวิตลงและมีความต้องการให้นำจดหมายเหล่านี้ออกตีพิมพ์ ซึ่งเทียนไม่ได้ทำเช่นนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ได้ทำการตีพิมพ์ขึ้นหลังจากที่พนิดาได้เสียชีวิตไปแล้ว และยังคงเกิดคำครหานินทาระหว่างผู้เขียนจดหมายทั้งสองนี้เรื่อยมา ตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิตอยู่ เนื่องด้วยยาขอบเป็นชายเจ้าชู้มีภรรยามาก อีกทั้งยังอายุถึง 32 ปี ในขณะที่พนิดาเป็นเด็กสาวอายุเพียง 20 ปี ผู้คนจึงกล่าวถึงความสนิทสนมที่เกิดขึ้นระหว่างคนทั้งสองในทางเสื่อมเสีย ทั้งที่ทั้งสองคนมิได้มีอะไรเกินเลยกันเลย และด้วยความรักที่มีต่อกันนี่เอง จึงทำให้ยาขอบอยากจะสะสางตัวเองจากผู้หญิงที่เขาข้องเกี่ยวด้วย โดยการอุปสมบทเพื่อเป็นการแสดงความจริงใจว่า เขารักพนิดาด้วยความจริงใจ ซึ่งแตกต่างจากการคบหากับผู้หญิงคนอื่นๆ ของเขา และระหว่างการเตรียมตัวจนถึงขณะบวชอยู่นี่เอง จึงทำให้เกิดจดหมายรักนี้ขึ้นมา
จดหมายรักที่มีโต้ตอบกันของยาขอบและพนิดานี้ แม้จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งแต่ก็เป็นจดหมายที่บรรยายถึงความรักที่ทั้งสองมีต่อกันได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากความเป็นนักเขียนของยาขอบ และความใฝ่ฝันในการเป็นนักเขียนของพนิดาก็เป็นได้ โดยเนื้อหาที่ปรากฏเป็นการพรรณนาถึง เรื่องราว เหตุการณ์ สิ่งที่ได้กระทำในแต่ละวัน ตลอดจนการบรรยายถึงความรู้สึกที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่งด้วยความรักและความคิดถึง พร้อมกันนั้นยาขอบก็มักสอดแทรกและแนะนำวิธีการของการเขียนหนังสือให้แก่พนิดา ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของเธออยู่เสมอๆ
ลักษณะของภาษาที่ปรากฏในจดหมายนั้นประกอบด้วยชื่อและคำทักทายถึงผู้รับจดหมาย ซึ่งมักเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง แต่ก็ล้วนเป็นคำหวานที่คนรักใช้เรียกกัน โดยจดหมายที่ยาขอบเขียนถึงพนิดานั้น อาทิเช่น ความหวังของฉัน, คนสวยที่สวมเสื้อสีปูน, ดวงใจ, ยอดรัก, คนดี, ทูนหัว, สุดที่รักของฉัน เป็นต้น. และเมื่อพนิดาเขียนถึงยาขอบก็มักใช้ว่า คนดีของฉัน, ยอดชาย, คนดีของดา, สุดชายของดา, คนใจร้าย, หลักชัยของดา เป็นต้น. คำเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคู่รักที่มีการใช้คำหยอกล้อกัน ส่วนสรรพนามที่ใช้เรียกกันภายในจดหมายก็ปรากฏว่าเรียกแทนตัวเองว่า "ฉัน" และเรียกแทนอีกฝ่ายหนึ่งว่า "คุณ" อย่างสม่ำเสมอ
จะเห็นได้ว่า บันทึกที่อยู่ในรูปของจดหมายมักเกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนและผู้รับจดหมายมีเหตุต้องห่างไกลกัน แต่ยังคงต้องการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของตนให้อีกฝ่ายรับรู้ จึงเกิดการเขียนจดหมายเพื่อเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ พร้อมทั้งทำการซักถามถึงเรื่องราวของฝ่ายตรงข้ามในกรณีที่มีการเขียนโต้ตอบถึงกัน และนอกจากเพื่อประโยชน์ในการบอกเล่าสารทุกข์สุกดิบแก่กันแล้ว ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ของกันและกัน รวมถึงการแสดงทัศนคติความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ จากแง่มุมความคิดของตนร่วมไปกับเนื้อหาที่ต้องการบอกเล่าด้วยเสมอ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากลักษณะของจดหมายที่เขียนขึ้นมีความตั้งใจที่จะให้เป็นจดหมายส่วนตัวที่เขียนถึงกันระหว่างบุคคลสองคนเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะเผยแพร่ให้แก่บุคคลอื่นๆ ได้รับรู้ ซึ่งจะเห็นได้จากชื่อและคำทักทายถึงผู้รับจดหมาย ที่มักใช้เป็นชื่อเล่นแสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมเป็นกันเอง รวมถึงสรรพนามที่ใช้ในการเขียนจดหมายทั้งของผู้เขียนและผู้รับที่ล้วนแต่เป็นไปในลักษณะที่มีความสนิทสนมกัน
ด้านลักษณะของเนื้อหา ภาษา คำ หรือประโยคที่ปรากฏก็ใช้คำที่เรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจได้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ประดิษฐ์ประดอยคำให้ดูเป็นคำทางราชการ บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนและความเป็นส่วนตัวของผู้เขียนที่ปรากฏอยู่ในจดหมายที่ต้องการจะมีถึงกัน แต่ต่อมาภายหลังเมื่อมีบุคคลมาพบและได้มีโอกาสอ่านจดหมายเหล่านี้ และเห็นถึงประโยชน์ที่ปรากฏในจดหมายจึงขออนุญาตเจ้าของจดหมายรวบรวมและจัดตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ หรือบางรายผู้เขียนจดหมายเองเล็งเห็นถึงสาระประโยชน์ในเนื้อหาเรื่องราวของจดหมายที่ตนเขียนขึ้น จึงรวบรวมตีพิมพ์ แต่ทั้งนี้ก่อนการเผยแพร่ก็มีการคัดกรองตัดแก้ไขคำ รูปประโยค และเนื้อหาที่ผิดเพี้ยน อาทิเช่น ชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ ให้เป็นที่ถูกต้องก่อนเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน ตลอดจนการตัดข้อมูลบางส่วน ทัศนคติความเห็นอันจะมีผลเสียต่อบุคคลอื่นๆ รวมถึงชาติบ้านเมือง จึงทำให้เรื่องราวภายในจดหมายจากพื้นที่เดิมที่มีความเป็นส่วนตัว สามารถที่จะแสดงความเป็นตัวตนในการคิดและเขียนได้อย่างอิสระนั้น ต้องถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสาธารณะมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน วุ่นวายขึ้นในภายหลัง เนื่องมาจากความเข้าใจและการตีความที่แตกต่างกันของคนในสังคมที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า เรื่องราวเดียวกันเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีขอบเขตในการเปิดเผยเรื่องราวที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้ความหมายในเนื้อหานั้น ๆ แปรเปลี่ยนไปได้
ตัวตนที่ปรากฏในพื้นที่ความเป็นส่วนตัวที่เกิดขึ้นในจดหมายของผู้เขียนจดหมายและผู้รับ แม้จะถูกลดความเป็นส่วนตัวลงเมื่อนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบหนังสือ แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้ตัวตนและความเป็นส่วนตัวในความรู้สึกของผู้เขียนจดหมายและผู้รับจดหมายลดลง อันเนื่องมาจากจดหมายที่ได้รับการตีพิมพ์นั้น ล้วนเป็นจดหมายที่ได้ผ่านการอ่าน ผ่านการรับรู้ ผ่านการโต้ตอบของผู้เขียนและผู้รับจดหมายมาแล้ว อาทิเช่น พระราชนิพนธ์ไกลบ้านในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 5 ที่ทรงพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล ซึ่งก่อนการรวบรวมตีพิมพ์เป็นพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านนั้น เป็นไปในลักษณะของจดหมายส่วนตัวที่พ่อเขียนเล่าเรื่องราวที่ได้พบเจอถึงลูก แต่เมื่อมีการนำมาตีพิมพ์ ความเป็นตัวตนในฐานะของพ่อที่เขียนถึงลูกได้หดหายไป และกลายมาเป็นพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะของกษัตริย์ไทยที่กำลังเสด็จพระราชดำเนินยุโรป เขียนเล่าเรื่องราวเหตุการณ์บ้านเมืองของต่างประเทศ มาถึงยังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดลในฐานะพระราชธิดา(ลูกสาวของกษัตริย์)ของปวงชนชาวไทยแทน
ความซาบซึ้งความเข้าใจในเนื้อหาถ้อยความประโยคที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาอันเกิดจากผู้อ่านทั่วๆ ไป ย่อมไม่เท่าที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดลจะเข้าใจและรับรู้ได้ เนื่องจากบางประโยคย่อมเป็นเรื่องราวที่เข้าใจกันเพียงสองพระองค์ เช่นเดียวกันกับจดหมายส่วนตัวของบุคคลอื่นๆ ที่ผู้เขียนและผู้ที่รับจดหมายเท่านั้นที่จะเข้าใจในเนื้อหาใจความในจดหมายนั้นได้ดีที่สุด เพราะเป็นการเขียนในลักษณะของการสื่อสารส่วนตัวระหว่างบุคคลสองคน เช่น คำบางคำ ประโยคบางประโยค อาจมีความหมายแฝง(connotation) ที่ซ่อนอยู่นอกเหนือจากความหมายแท้จริงที่ปรากฏ จึงทำให้เป็นที่เข้าใจเฉพาะบุคคลเท่านั้น
บันทึกที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ
ซึ่งได้รับการรวบรวมมาจากจดหมายส่วนตัวของบุคคลต่างๆ นั้น จากการสำรวจพบว่า โดยมากเป็นจดหมายของกลุ่มบุคคล
ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง และชนชั้นเจ้าของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นบันทึกอันเกิดจากจดหมายของนักเขียน
ของผู้มีชื่อเสียง บุคคลอันมีฐานะทางสังคม รวมไปถึงชนชั้นกษัตริย์ อาทิเช่น พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน
ซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล
ที่เป็นรู้จักอย่างแพร่หลาย, หรือเรื่องพ่อสอนลูก ซึ่งเป็นจดหมายของ ของ ฯพณฯ
ทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2487 ที่เขียนถึงลูกชายและลูกสาว, บันทึกจากจดหมายของนักเขียน
เช่น เรื่อง จดหมายโต้ตอบระหว่างเสถียรโกเศศ และ ส.ศิวรักษ์, จดหมายรักในชีวิตจริงของยาขอบ
เป็นต้น
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บรรณานุกรม
- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์ เรื่อง ไกลบ้าน :
ฉบับมีรูปภาพพร้อม ด้วยจดหมายเหตุประกอบ. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2508.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาคม พัฒิยะ. หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2525.
- พิชิต อัคนิจ. วรรณกรรมไทยสมัยกรุงสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2536.
- วิพุธ โสภวงศ์. สายอักษร. กรุงเทพฯ : มิตรนราการพิมพ์, 2516.
- เอนก นาวิกมูล. "เขียนไดอารี", ความรู้คือประทีป, 1 (มกราคม - มีนาคม 2544) : 5-10.
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73