บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Labor and Solidarity
Midnight University
รายงานปรับปรุง: เสวนาที่ลำพูน
แรงงานกับโลกาภิวัตน์:
สหภาพแรงงานฯ ทางออกเดียวของการต่อสู้
กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง
เรียบเรียงเพิ่มเติมจากประชาไทออนไลน์ เพื่อเสริมความชัดเจนบางส่วน
บทความเรียบเรียงจากงานเสวนาเรื่องแรงงาน
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนำมาจากเว็บไซต์ประชาไท
โดยได้มีการปรับปรุงในส่วนของ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม (วิทยากร)
ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ได้มีการคงไว้ตามรูปแบบเดิมทุกประการ
เนื้อหาสำคัญในงานเสวนาเรื่อง"แรงงานในยุคโลกกาภิวัตน์"ประกอบด้วย
- รู้จักโลกในยุคโลกาภิวัตน์ และศาสนาใหม่ (อย่างย่อ)
- การจัดการแรงงานในโลกยุคโลกาภิวัตน์
- แรงงาน ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดสิทธิตัวเอง
- รัฐสวัสดิการ เป้าหมายระดับใหญ่ที่ต้องไปให้ถึง
- ไปสู่การยกระดับการต่อสู้ของแรงงานไทย
- เสียงจากแรงงาน จังหวัดลำพูน
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๔๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๐๔ กันยายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รายงานปรับปรุง: เสวนาที่ลำพูน
แรงงานกับโลกาภิวัตน์:
สหภาพแรงงานฯ ทางออกเดียวของการต่อสู้
กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง
เรียบเรียงเพิ่มเติมจากประชาไทออนไลน์ เพื่อเสริมความชัดเจนบางส่วน
ความนำ
ปรากฏการณ์การปิดตัวของบริษัทไทยศิลป์อาคเนย์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จำกัด และอีกหลายโรงงานหลังจากนั้น
คงไม่อาจอธิบายได้เพียงด้วยเรื่องของการขาดทุนเท่านั้น แต่ยังสามารถอธิบายให้ลึกลงไปได้ถึงความผูกพันระหว่างทุนภายในประเทศกับทุนต่างๆ
ของโลกอย่างแนบแน่น แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องราวใหม่ แต่คงต้องยอมรับว่ามีผลสะเทือนไม่น้อยนับจากนี้ต่อไปถึงอนาคต
เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ทราบได้ในระดับหนึ่งแล้วว่าการปรับตัวให้เท่าทันกับโลกแบบที่เรียกว่า
'โลกาภิวัตน์' นั้น ยังไม่สามารถทำได้ถึงระดับต่อรอง แข่งขันหรือมีส่วนกำหนดบทบาทในตลาดของโลก
ผลสุดท้ายเมื่อเกิดการผันผวนบางประการดังในช่วงเวลานี้ เช่น กรณีค่าเงิน หรือการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนรายใหญ่
การปิดตัวของโรงงานจึงกำลังปรากฏขึ้นในลักษณะของทฤษฎีโดมิโน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโรงงานจะปิดตัวหรือไม่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ชะตากรรมของผู้รับเคราะห์กลับถูกกำหนดไว้แล้วอย่างถาวร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด 'แรงงาน' คือปัจจัยหลักของการลดต้นทุน ปกติแล้ว ค่าแรงของบรรดาผู้ใช้แรงงานทั้งหลายก็นับว่าถูกแสนถูก จนแทบเลี้ยงตัวเองไม่รอดอยู่แล้ว โดยไม่ต้องนับไปถึงครอบครัวว่าจะเป็นอยู่กันอย่างไร สุดท้ายเมื่อโรงงานต้องปิดตัวลงด้วยความรู้ไม่เท่าทันสถานการณ์โลก ชะตากรรมของ 'แรงงาน' จึงไม่ได้เพียงหมายถึงการไม่มีงานทำของบรรดาแรงงานหรือการขาดรายได้เท่านั้น แต่ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การถูกเบี้ยวค่าแรงเพราะนายจ้างไม่มีจะจ่าย ชะตากรรมนี้เป็นอีกมาตรวัดหนึ่งที่บ่งว่า แท้จริงแล้วในโลกยุคโลกาภิวัตน์ แรงงานเป็นเพียงอะไหล่ชิ้นหนึ่ง(ที่ถอดเปลี่ยนเมื่อใดก็ได้)ของ 'ปัจจัยการผลิต' เท่านั้น
ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ คงไม่เพียงนักลงทุนจะต้องเรียนรู้อย่างเท่าทันเท่านั้น แม้แต่ผู้ใช้แรงงานเองเวลานี้ ก็จะต้องเรียนรู้อย่างเท่าทันด้วย เพราะการศึกษาเรียนรู้นอกจากจะเป็นเสมือนเกราะป้องกันตัวในสถานการณ์ที่การแข่งขันของโลกใหม่เป็นไปอย่างเชี่ยวกรากแล้ว ยังหมายถึงการดำรงไว้ซึ่งสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะมนุษย์ที่ต้องการอาหารดีๆ ที่นอนอันอบอุ่นสบาย สุขภาพที่แข็งแรง ไม่ต่างอะไรกับนายจ้าง หรือผู้คนทั้งหลายในสังคม
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2550 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์, ชมรมเพื่อน เพื่อ เพื่อน, กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ, และมูลนิธิเพื่อนหญิง ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง 'สถานการณ์แรงงาน สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานยุคโลกาภิวัตน์' เพื่อให้ความรู้แก่แรงงานประมาณ 40 คน ณ ร้านอาหารโขงสาละวิน อ.เมือง จังหวัดลำพูน. 'ประชาไท' ขอเก็บ 'ความรู้' ในงานเสวนาวิชาการนี้มาขยาย เพื่อเป็นอีกภุมิคุ้มกันหนึ่งสำหรับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ที่จะทานต้านกระแสสถานการณ์อันผันผวนของโลกในยุค"โลกาภิวัตน์"นี้
1. รู้จักโลกในยุคโลกาภิวัตน์
และศาสนาใหม่ (อย่างย่อ)
รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วิทยากรคนแรกเริ่มต้นอธิบายเกี่ยวกับคำว่า 'โลกาภิวัตน์' ว่า แรงงานไทยในยุคโลกาภิวัตน์ไม่ใช่แรงงานท้องถิ่นที่ไม่มีความสัมพันธ์กับโลกรอบตัวอีกต่อไป
ทั้งนี้ คำว่า'โลกาภิวัตน์'นั้น ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ
การเมือง และสังคม
โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการจัดการการลงทุนใน 2 ด้าน ด้านแรกคือในการลงทุนทางการเงินหรือตลาดหุ้น ซึ่งเปิดให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถนำเงินเข้ามาลงทุนได้อย่างเสรี ซึ่งโดยหลักการแล้วมันเป็นการระดมทุนชนิดหนึ่งที่ใส่เข้าไปในการลงทุนด้านที่ 2 ที่เรียกว่า real sector หรือการลงทุนจริง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ภาคบริการต่างๆ รวมถึงเรื่องการสื่อสาร เป็นต้น
โลกาภิวัตน์ทางการเมือง มีระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นขั้วหลัก ผู้นำในระบบนี้เราหันไปมองที่สหรัฐอเมริกาได้ เป็นระบบที่ครอบครองพื้นที่การเมืองโลก 80-90 เปอร์เซ็นต์ และสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมหรือโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ระบบนี้เป็นโลกาภิวัตน์ทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างชัดเจนหลังกำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย โซเวียดล่มสลาย ทำให้โลกกลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยว เป็นโลกขั้วเดียว ส่วนประเทศสังคมนิยมต่างๆหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม หรือรัสเซีย ก็ปรับตัวสู่ระบบนี้
โลกาภิวัตน์ทางสังคม หมายถึงการติดต่อกันผ่านสิ่งที่ขอเรียกโดยอนุโลมในที่นี้ว่า 'สัญญาประชาคม' เป็นความสัมพันธ์ในการติดต่อกันแบบพันธะสัญญา ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เจ้าขอบริษัทกับคนทำงาน โดยรวมหมายถึงนายทุน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานล้วนมีความสัมพันธ์กันแบบพันธสัญญา หมายความว่าไม่ได้ติดต่อกันด้วยความเป็นพี่น้องหรือศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น แรงงานหรือลูกจ้างสามารถถูกไล่เมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงว่าคนเหล่านั้นจะอยู่กันอย่างไรต่อไป ครอบครัวของพวกเขาหรือเธอจะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่คำว่า 'เอ็มโอยู' ที่กล่าวถึงในเรื่องการเลือกตั้งที่สหภาพยุโรป (EU) จะขอมาสังเกตการการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้ ก็เป็นเรื่องปกติระหว่างรัฐต่อรัฐของโลกยุคปัจจุบันที่จะทำบันทึกความเข้าใจ หรือข้อตกลงกันแบบพันธะสัญญา ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ต่อรองกันและกัน ไม่ใช่เรื่องของอาณานิคมหรือความมีอธิปไตยที่พูดกันไปจนเลยเถิด
ส่วนลักษณะของสังคมร่วมสมัย ระดับที่มาถึงตัวเราเรียกว่า เป็น Pop Culture หรือ McDonald Culture หรือสังคมบริโภค เป็นเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาให้รับรู้อะไรง่ายๆ แบบเดียวกัน เป็นการประดิษฐ์สังคมแบบหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้นิยมสิ่งเดียวกัน สนุกแบบเดียวกัน รับรู้คุณค่าเหมือนๆ กันอย่างผิวเผิน ซึ่งจะไม่นำความเป็นท้องถิ่นมาพูด
รศ. สมเกียรติ ได้ฟันธงในรูปแบบที่อธิบายมาว่า ทั้งหมดนี้คือหลักการหนึ่งที่เรียกว่าเป็น 'ศาสนาใหม่' สำหรับ 'ยุคโลกาภิวัตน์' โดยมีป้ายชื่อที่เรียกว่าศาสนา 'เสรีนิยมใหม่' (Neo-Liberalism)
ศาสนาใหม่ของโลกปัจจุบัน
'ศาสนาเสรีนิยมใหม่'
'ศาสนาเสรีนิยมใหม่' ในมุมมองของ รศ. สมเกียรติ มีหลักการสูงสุด 3 ประการ
ประการแรก คือ Deregulation - เป็นการทำลายกฎระเบียบ ข้อบังคับ ขนบจารีต หรืออะไรที่เคยเป็นกรอบและเกราะของสังคม (deregulation) เช่น การมีกฎหมายคุ้มครอง การมีกำแพงภาษี เพื่อปกป้องการลงทุนในประเทศ หรือการมีสวัสดิการคนงาน สิ่งเหล่านี้จะถูกรื้อถอนเพื่อทำลายอุปสรรคของการลงทุนและการทำกำไรอย่างเสรี สิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการกำจัดให้หมดไป
ประการที่สอง คือ Free Capital flows หรือเงินทุนไหลเวียนได้อย่างเสรีทั่วโลก ลักษณะนี้จะได้รับการสนับสนุนจากหลักการข้อแรกที่กล่าวไว้ โดยการทำลายกฎระเบียบทางการลงทุน การพังทลายกำแพงอุปสรรคเพื่อให้ทุนขนาดใหญ่สามารถไหลไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรประเทศไหนๆ ก็ได้ ทุนขนาดใหญ่เหล่านี้จะอยู่ในยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรืออเมริกา และจะไหลไปลงทุนในประเทศที่ทำกำไรได้สูงสุดไม่ว่าจะที่ท้องถิ่น หรือชายขอบได้ก็ตามที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนได้มากที่สุด รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ประการสุดท้าย คือ Privatization หรือการแปรรูป ศาสนาใหม่มองว่ารัฐควรมีบทบาทเพียงแค่วางนโยบาย และเอื้อประโยชน์ให้กับการประกอบการเท่านั้น รัฐไม่ควรประกอบธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นรัฐวิสาหกิจจึงควรแปรรูปไปเป็นของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้า พลังน้ำ พลังงาน การสื่อสาร เหล่านี้ให้เป็นเรื่องของเอกชนที่จะเข้ามาจัดการและทำกำไร กระบวนการแปรรูปจึงเกิดขึ้น การจัดการตรงนี้จะทำผ่านนักการเมืองขายตัว นักการเมืองคอรัปชั่นทั้งหลายที่ไม่เคยเป็นตัวแทนของเรา แต่เป็นตัวแทนของทุนต่างชาติขนาดใหญ่
"เคยเห็นหรือไม่ ว่านักการเมืองคนใดเป็นตัวแทนของภาคแรงงาน, ใครเป็นตัวแทนผู้หญิงในประเทศ, ใครเป็นตัวแทนคนพิการ...ไม่มี เอ่ยชื่ออกมาไม่ได้สักคน และไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน พรรคการเมืองใด ล้วนพยามยามทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆที่ทำกำไร ส่วน ขสมก. การรถไฟ หรือรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน ไม่เคยเห็นใครหน้าไหนอยากจะแปรรูปเลย. การแปรรูปมีแต่จะทำให้ข้าวของแพงขึ้น ค่าบริการแพงขึ้น รศ.สมเกียรติกล่าว พร้อมยกตัวอย่าง ค่าโทรศัพท์ที่เดิมเคยโทรกันได้ครั้งละ 1 บาท ไม่เกิน 3 บาท แต่เวลานี้เริ่มต้นที่ 5 บาท เป็นต้น
ปัจจัยของ 'ศาสนาเสรีนิยมใหม่'
แรงงานคือตัวทำกำไรสูงสุด
รศ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า การลงทุนของศาสนาของเสรีนิยมใหม่ในภาค Real Sactor
มีองค์ประกอบในการประกอบการทั่วๆ ไปดังนี้คือ ทุน, ที่ดิน, เครื่องจักร, วัตถุดิบ,
แรงงาน, การทำตลาด, การขนส่งหรือการกระจายผลผลิต. ในองค์ประกอบเหล่านี้ต้นทุนที่แปรผันได้
ซึ่งเห็นกันได้ชัดๆ คือ วัตถุดิบ แรงงาน และการขนส่ง (ในส่วนของการขนส่ง ต้นทุนแปรผันขึ้นอยู่กับราคาพลังงานเป็นปัจจัยหลัก)
ซึ่งแรงงานกับวัตถุดิบคือสิ่งที่แปรผันได้มาก จึงทำให้มีการลดมาตรฐานวัตถุดิบในการผลิตลงเพื่อให้มีกำไรสูง
ในอีกด้านหนึ่ง แรงงานจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดกำไรสูงสุดได้ด้วยการลดค่าแรง การคงอัตราค่าแรงให้ยาวนานที่สุด จนไปถึงการตัดสวัสดิการต่างๆ ลง ทั้งนี้ การลงทุนในประเทศไทยส่วนมากแล้วนักลงทุนไทย มักทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประกอบการ โดยนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบกันขึ้นเป็นสินค้าเท่านั้น วัตุดิบอาจจะส่งมาจากนายทุนใหญ่ต่างประเทศ หากทำกำไรได้แสนล้านก็ไปอยู่ที่นายทุนใหญ่ต่างประเทศเสียส่วนใหญ่ ส่วนกำไรค่าแรงอันน้อยนิดที่เบียดบังจากผู้ใช้แรงงานจึงถือเป็นกำไรส่วนเกินที่นายทุนท้องถิ่นจะได้รับ
ดังนั้น ศาสนาใหม่จึงมีผลกระทบกับผู้ใช้แรงงาน มีความพยายามที่จะคงค่าแรงในอัตราเดิมๆ อย่างยาวนาน มีความพยายามที่จะลดค่าแรง จำกัดโอที ลดสวัสดิการและบริการต่างๆ ของคนงานลง ศาสนาใหม่จึงมีส่วนทำลายคนจนไม่ว่าจะในด้านด้านสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการ เพราะสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นต้นทุน แม้แต่ในระบบข้าราชการเอง เดิมจะเห็นว่าสามารถได้ค่ารักษาพยาบาลฟรี รวมไปถึงบิดา มารดา ภรรยา และบุตร แต่ปัจจุบันข้าราชการพันธุ์ใหม่ พนักงานของรัฐจะได้ค่ารักษาพยาบาลเฉพาะสามีภรรยากับลูกเท่านั้น หรือบางครั้งได้มาจากค่าประกันสุขภาพ สิ่งเหล่านี้ลดลงเพราะเป็นรายจ่ายที่ไม่ทำกำไรให้รัฐหรือโรงงานอุตสาหกรรม. คำถามต่อศาสนาใหม่ที่กำลังเผชิญคือ ทำไมเงินเดือนจึงน้อยไม่พอกินและอยู่กับที่ และชีวิตตกต่ำลง อีกทั้งกำลังมีการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ของรัฐเพื่อเอื้อต่อนายทุนเพื่อให้สินค้ามีกำไรสูงขึ้น รูปแบบเหล่านี้ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นและกำลังขยายตัวแพร่กระจายไปทั่วโลก
ทางออก คือ L A S P
ในการเสวนา รศ.สมเกียรติ ได้ทดลองเสนอแบบจำลองที่เป็นทางออกสำหรับแรงงานในโลกยุค
'โลกาภิวัตน์' ที่เรียกว่า L A S P ไว้ดังนี้
L (Learning) หมายถึง แรงงานต้องเรียนรู้เป็นอันดันแรก คือเรียนรู้จากสถานการณ์แรงงานไทย และบทเรียนจากการถูกกดขี่ของแรงงานทั่วโลกว่าได้รับผลกระทบจากศาสนาใหม่นี้อย่างไร
A (analysis) หรือการคิดวิเคราะห์ว่าการแก้ปัญหาในประเทศต่างๆ มีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร เปรียบเทียบกับประเทศไทย
S (Synthesis) หรือการสังเคราะห์ เพื่อประยุกต์ปัญหาและการแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทย
P (Practice) หลังจากเรียนรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์แล้ว ให้วางแผนซึ่งเหมาะกับสถานการณ์และนำไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งประเมินผลและปรับปรุงแผนอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ รศ.สมเกียรติ กล่าวเสริมถึงวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้คือ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าประสงค์ที่เรียกว่า EQ ซึ่ง E คือ Economic Quality หรือคุณภาพทางเศรษฐกิจของแรงงาน อีกส่วนหนึ่งคือ Emotional Quality หรือคุณภาพทางอารมณ์ของแรงงาน อีกทั้ง การเรียนรู้สุดท้ายจะนำไปสู่เป้าหมายที่แรงงานพึงได้รับในฐานะของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี คือ F E S A H O
เป้าหมายคุณภาพชีวิตแบบ F E S A H O
F คือ Food / Family หรือ เป้าหมายเพื่อมีอาหารที่ดีและครอบครัวที่ดีมีคุณภาพ
E คือ Education คือ การศึกษาที่มีคุณภาพและก้าวหน้า
S คือ Shop หรือสถานที่ทำงานดี service มีบริการและสวัสดิการที่ดี และ sustainable มีความมั่นคงยั่งยืน
A คือ Association หรือสมาคมหรือสหภาพ เพื่อทำหน้าที่ในการเจรจาต่อรองอย่างมีศักดิ์ศรี
H คือ House / Healthy หรือที่อยู่อาศัยดีและมีสุขภาพที่ดี
O คือ Opportunity หรือมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เมื่อผ่านเวลาและมีประสบการณ์
2.
การจัดการ'แรงงาน'ในโลกยุค'โลกาภิวัตน์'
ผศ. เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
กล่าวถึงกระบวนการผลิตและการจัดการแรงงานในยุคปัจจุบันว่า เวลานี้การผลิตได้เชื่อมโยงกันหลายที่
หรือมีการแบ่งงานกันทำในระดับโลก สินค้าหนึ่งชิ้น เช่น จักรยาน 1 คัน หรือรองเท้า
1 คู่ จะไม่ได้ผลิตในที่ๆ เดียว แต่จะกระจายกันไป ล้ออาจผลิตในประเทศหนึ่ง โครงรถจักรยานอาจผลิตอีกประเทศหนึ่ง
ภายใต้กระแสเหล่านี้ ประเทศไทยถูกมองว่ามีแรงงานราคาไม่แพง เพื่อป้อนการผลิต
แต่สิ่งที่สำคัญและกระทบต่อแรงงานคือ การจ้างงานหรือการจัดองค์กรเป็นไปในรูปแบบการผลิตยืดหยุ่นมาก
ในระดับประเทศจึงเกิดแบ่งซอยการผลิตไปจากโรงงานใหญ่ ไปสู่การผลิตย่อย เช่น การจ้างเหมาช่วง
ดังนั้นในอนาคตอุตสาหกรรมหลายอย่างจะเคลื่อนย้ายไปผลิตในที่ต่างๆ และเกิดโรงงานย่อยมากขึ้น
เช่น ในเชียงใหม่จะเห็นว่ามีโรงงานสิ่งทอย่อยเยอะขึ้น จะทำให้มีความซับซ้อนทางของความสัมพันธ์หรือการจ้างองค์กรเป็นไปในเฉพาะทางมากขึ้น
ในขณะที่ขอบข่ายนิยามของแรงงานเดิมยังถูกมองเฉพาะในโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น ทั้งที่ในความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนตอนนี้คงต้องมองไปในองค์กรย่อยหรือในหมู่บ้านด้วย สหภาพแรงงานจึงจะต้องรวมไปถึงแรงงานเหล่านั้น เพื่อให้แรงงานพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผศ.เสาวลักษณ์ กล่าวถึงปัญหาของความยืดหยุ่นในการจ้างงานย่อยๆ และเป็นผลกระทบในภาคการผลิตคือความคลุมเครือในการให้นิยามของตัวเอง มีความก้ำกึ่งในการนิยามแรงงานในโรงงานขนาดใหญ่ กับหน่วยการผลิตย่อย ในกระแสนี้ถ้าไม่มีการปรับตัวจะมีผลกระทบ จากนั้นจึงยกตัวอย่างการแกะรอยการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เห็นความความซับซ้อนว่า เพียงตำบลเดียวในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีการผลิตสิ่งทอที่นำกลับไปทำที่บ้านจากกลุ่มทุน 20 กว่ากลุ่ม ประเด็นดังกล่าวแม้จะมีมากว่า10 ปีแล้วก็ตาม แต่ในด้านการศึกษากลับยังขาดเรื่องนี้อยู่
3. 'แรงงาน' ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดสิทธิตัวเอง
สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวในประเด็นคุณภาพชีวิตของแรงงานว่า
สิ่งตอบแทนของแรงงานจะถูกกำหนดด้วย 2 ส่วน
- ส่วนแรก คือกฎหมายที่ไม่รู้ใครเขียนแต่จะเขียนกำหนดเสมอด้วยคำว่า 'ขั้นต่ำ' เป็นอย่างนี้เพราะการลงทุนในโลกาภิวัตน์นี้ไม่ได้พูดเรื่อง 'คุณธรรม' แต่พูดกันด้วย 'ผลกำไร' ดังนั้นแม้แต่ เรื่อง 'ค่าตกใจ' หรือค่าชดเชยการเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้าก็เป็นขั้นต่ำทั้งหมด
- ในอีกส่วนหนึ่ง แม้จะเขียนถึงสิ่งตอบแทนแรงงาน แต่กฎหมายได้เขียนกำหนดแยกเอาไว้อีกที่หนึ่ง โดยแรงงานไม่รู้ว่าเป็นเรื่องสวัสดิการของตัวเองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 และถ้าอยากได้ ต้องไปเรียกร้องเอาเองผ่านการรวมกลุ่ม โดยผู้จ้างเวลาจ้างงานก็จะบอกแต่เรื่องค่าจ้าง แต่ไม่เคยบอกเรื่องสิทธิในการรวมกลุ่ม ดังนั้นสิ่งที่สมควรต้องรู้เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ได้รู้
'สหภาพ' อำนาจต่อรองเดียวของแรงงาน
นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องสภาพการจ้าง กฎหมายเขียนไว้ว่าถ้าบริษัทไหนไม่มี
ก็ให้เอากฎระเบียบบริษัทมาเป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย ในทางหลักการ กฎระเบียบจะเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
แต่ในความจริงการตกลงนี้ในเกือบทุกบริษัทกลับมาจากนายจ้างทั้งหมด เพียงแต่ส่วนที่ได้มาในกฎระเบียบนอกเหนือจากนั้น
กลับมาจากการรวมกลุ่มเรียกร้องกันเองทั้งนั้น การรวมกลุ่มจึงเป็นทางออกเดียวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
การสู้ของแรงงานต้องมี 'สหภาพแรงงาน' สำหรับแรงงาน ถ้าไม่มีตรงนี้ก็คือต้องเสียเปรียบ
มาตรา 75 เครื่องมือนายจ้าง
นายสุชาติ ยังได้กล่าวถึง เครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญของนายจ้างในการควบคุมแรงงานอีกอย่างหนึ่ง
คือ มาตรา 75 ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา
75 บัญญัติว่า เมื่อนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนชั่วคราว
โดยเหตุใดเหตุหนึ่งที่ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ
ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน)
กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นตัวบั่นทอนการต่อสู้ของแรงงาน และใช้เพื่อสลายการรวมกลุ่ม เมื่อบริษัทไม่มีออร์เดอร์ก็จะใช้มาตรา 75 ในการหยุดงานบางส่วน โดยจ่ายค่าจ้างเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถ้าแรงงานไม่พอใจก็ให้ลาออกไปเอง ส่วนนายจ้างกลับได้ประโยชน์เพราะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าตกใจหรือค่าเลิกจ้างเพราะเป็นการสมัครใจลาออก กฎหมายแบบนี้ไม่รู้ว่าออกมาได้อย่างไร เพราะแรงงานได้รับเงินเดือนแค่ 50 เปอร์เซ็นต์จึงเป็นไปไม่ได้ (เนื่องมาจากค่าแรงปกติก็น้อยอยู่แล้ว) ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐก็จะมองว่านายจ้างทำถูกต้องตามกฎหมาย
นายสุชาติ ยังได้กล่าวถึงกรณีการปิดตัวของบริษัทไทยศิลป์ฯว่า เป็นปรากฏการที่ชัด สุดท้ายกระทรวงแรงงานกลับมาล็อบบี้แรงงานให้รับค่าชดเชย 50 เปอร์เซ็นต์ โดยขอให้แรงงานเห็นใจนายจ้างที่ไม่มีเงิน แต่ในขณะเดียวกันนั้นนายจ้าง อันที่จริง ยังมีอุปกรณ์การผลิตและที่ดินอีกหลายแปลงมาจ่ายให้กับลูกจ้างได้ แต่การปิดโรงงานกลับกลายเป็นลูกจ้างต้องแบกรับภาระเอง ส่วนรัฐกลับไม่ได้มองเห็นสิ่งที่ต้องจัดการ ซึ่งรัฐต้องเก็บเงินจากบริษัทไว้เผื่อการขาดทุนหรือย้ายฐานการผลิต แต่กลับมองว่าถ้าตั้งเงื่อนไขแบบนี้แล้วจะไม่มีใครมาลงทุนกลายเป็นสุดท้ายเมื่อเกิดปัญหา แรงงานจึงต้องรับภาระปัญหาที่เกิดขึ้นกันเอาเอง และหลังจากนี้คงมีอีกหลายบริษัทที่จะทยอยปิดตัวและไม่รู้จะเป็นลักษณะเดียวกับบริษัทไทยศิลป์ฯ หรือไม่
'คณะกรรมการสวัสดิการ'
โกหกคำโตของกระทรวงแรงงาน
นายสุชาติ อธิบายต่อไปว่า ทำไมต้องมีสหภาพหรือการรวมกลุ่ม เพราะหลายสิ่งที่นายจ้างเคยให้ก็คือสิ่งที่พร้อมจะไม่ให้ได้ตลอดเวลา
เพราะเมื่อไหร่ที่นายจ้างจะไม่ให้สวัสดิการที่เคยได้ แรงงานก็ต้องลาออกไปเองถ้าไม่พอใจ
ในขณะที่กระทรวงแรงงานกลับมองว่าการมีสหภาพคือการนำไปสู่การปะทะระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
จึงบอกให้มีองค์กรกลางระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างโดยไม่ต้องมีสหภาพ นั่นคือให้มีคณะกรรมการสวัสดิการแทน
อย่างไรก็ตาม ในทุกโรงงาน คณะกรรมการสวัสดิการกลับไม่มีกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง หรือไม่เคยมีโรงงานไหนที่แรงงานสามารถเรียกร้องผ่านคณะกรรมการนี้แล้วเคยได้ผล ซึ่งเป็นเพราะคณะกรรมการดังกล่าวไม่มีฐานะทางกฎหมาย แต่มาจากการแต่งตั้งหัวหน้างานไปเป็นคณะกรรมการ ซึ่งจะไม่มีอำนาจในการต่อรองใดๆ กับนายจ้างหรือบริษัท คณะกรรมการนี้จึงเป็นสิ่งที่ทางกระทรวงแรงงานเท่านั้นที่บอกว่าดีมาก แต่จะไม่ทำให้เกิดการรวมตัวของแรงงาน
ในขณะที่การตั้งสหภาพตามกฎหมายสามารถทำได้ตั้งแต่ 10 คน แต่กฎหมายกลับไม่คุ้มครองผู้ริเริ่มก่อการเลย และถ้ามีคนเพียงเท่านี้มาตั้งสหภาพ ทั้ง 10 คนคงถูกไล่ออกหมด เปรียบเทียบแล้วเรื่องนี้ล้าหลังกว่าในเขมรเสียอีก เพราะเขมรเพียง 3 คนก็ตั้งสหภาพได้ เคยมีการยื่นแก้ไขไปไม่รู้กี่ปีแล้วก็ไม่มีการตอบรับในการคุ้มครองผู้ริเริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงาน
4. 'รัฐสวัสดิการ' เป้าหมายระดับใหญ่ที่ต้องไปให้ถึง
นายเจษฎา โชติกิตภิวาท ตัวแทนจากกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.) และผู้ดำเนินการเสวนา
กล่าวว่าได้ตั้งกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการขึ้น ก็เพราะต้องการให้รัฐมีนโยบายพื้นฐานที่ดูแลสวัสดิการที่ดีสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม
ซึ่งนโยบายนี้ต่างจากนโยบายประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือประชานิยมที่มีลักษณะสังคมสงเคราะห์
และต่างจากวาระประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ แต่การที่จะทำเรื่องรัฐสวัสดิการได้จะต้องเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า
(คนจนเก็บน้อย คนรวยเก็บมาก) ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่จนเพียงแต่ต้องกระจายรายได้และทรัพยากร
จะทำได้ต้องพึ่งพลังประชาชนเป็นพลังที่ 3 ซึ่งเห็นได้ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ไม่ปล่อยให้นักการเมืองพูดฝ่ายเดียว
หรือเป็นผู้วางนโยบายแต่เพียงพวกเดียว. รัฐจะต้องเก็บภาษีจากบริษัทต่างๆ มาดูแลแรงงานและคนจน
รศ. สมเกียรติ กล่าวเสริมประเด็นประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการว่า เห็นด้วยเพราะเรื่องนี้สามารถเป็นข้อต่อรองกับศาสนาใหม่หรือเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ได้ ในเมื่อรัฐพยายามแก้กฎระเบียบ ปล่อยให้ทุนเป็นอิสระไหลไปได้ทุกที่อย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการแปรรูป รัฐจับมือกับนายทุนร่วมกันกดขี่แรงงานวันแล้ววันเล่าโดยไม่เคยเป็นกลาง ดังนั้น แรงงานจะต้องต่อสู้ในระดับภาพใหญ่ให้เกิดสังคมประชาธิปไตยแบบรัฐสวัสดิการขึ้น รัฐจะต้องแบกรับภาระด้วย เมื่อแรงกดดันของโลกาภิวัตน์ตกมาถึงคนจนและผู้ใช้แรงงาน รัฐต้องจัดสวัสดิการรองรับปัญหา รัฐต้องแบกรับปัญหาที่ตนเอื้อให้เกิดขึ้นด้วย เพราะรัฐที่ไม่ต้องแบกรับภาระสำหรับคนตกงานจะเป็นรัฐที่ลอยตัว ดังนั้นรัฐสวัสดิการจะเป็นตัวต่อรองและเราต้องเรียกร้องในระดับภาพกว้าง
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐจะต้องแบกรับต้นทุนสวัสดิการในส่วนนี้ สุดท้ายรัฐจะปฏิเสธและผลักกลับไปยังนายทุนเป็นผู้จัดหาสวัสดิการให้กับคนงาน โดยการเขียนเป็นกฎหมายให้นายทุนปฏิบัติและคุ้มครองแรงงาน โดยเหตุนี้ ไม่ว่าแรงงานจะตกงาน(จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม) แรงงานจะต้องยังอยู่ได้, เมื่อล้มป่วยแรงงานก็ต้องสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล อีกทั้งในวัยชราแรงงานจะต้องได้รับการดูแลไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต รัฐสวัสดิการจะทำให้รัฐรับผิดชอบกับพลเมืองในยุคที่เราถูกโถมทับจากโลกาภิวัตน์และแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ต้องมีกฎหมายรองรับโดยไปเขียนกฎหมายต่างๆ เพื่อสร้างสมต้นทุนในการรองรับความเป็นรัฐสวัสดิการ ในระดับใหญ่เราต้องต่อสู้โดยโครงสร้างนี้
รศ.สมเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องสหภาพแรงงาน เห็นด้วยว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการต่อรองกับนายจ้าง อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานจำเป็นต้องมีกระบอกสียง เพราะการรู้ปัญหากันเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีสื่อกลาง เพื่อเป็นลำโพงว่าเราได้เข้าใจปัญหาร่วมกัน เราระดมการต่อสู้ร่วมกัน เราปันส่วนความรู้ให้กันและกัน และยังเป็นการส่งสัญญานว่าเรารู้ทันคุณ(พวกนายทุน) ทุกสหภาพฯ ควรมีสื่อและจะต้องมีสื่อรวมศูนย์อีกหนึ่งสื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางข่าวสารบอกให้สังคมรู้โดยภาพรวม
"อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่มีต้นทุนต่ำสุด และในอนาคตทุกคนจะสามารถเข้ามาดูได้ สนับสนุนให้บรรดาแรงงานทั้งหลายกลับไปทำเว็บไซต์และมีสื่อศูนย์กลาง อย่างในลำพูนก็ต้องมีสื่อศูนย์กลางของบรรดาสหภาพแรงงานของจังหวัด เพื่อมาเขียนเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ถ้าสู้โดยไม่มีสื่อ การชนโดยสหภาพก็ได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าฟ้องสังคม ทำให้เป็นประเด็นปัญหาสังคม ประเด็นสาธารณะ สังคมจะร่วมรับรู้และช่วยกันแก้ไขความไม่เป็นธรรม
รศ.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประโยชน์ของการมีสื่อของสหภาพแรงงาน จะทำหน้าที่ของมัน 4 ประการคือ
1. สร้างความรู้ความเข้าใจ มีการรับรู้ถึงปัญหาต่างๆ จากเพื่อนและเพื่อนแรงงานต่างถิ่น
2. มีการแบ่งปันความรู้ให้กันและกัน ความรู้ที่เคยเก็บอยู่กับใครบางคนได้มีการเผยแพร่และแลกเปลี่ยน
3. สื่อควรทำหน้าที่รวบรวมความรู้ ความเข้าใจ การแก้ปัญหาต่างๆ และประสบการณ์ที่มีประโยชน์ไว้
4. สื่อทำหน้าที่กระจายความรู้ข้างต้นทั้งหมดไปสู่ผู้คนในวงกว้าง มิเพียงแต่เฉพาะในหมู่ผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่จะแพร่กระจายไปถึงคนทุกภาคส่วนของสังคม
5. ไปสู่การยกระดับการต่อสู้ของแรงงานไทย
นายสืบสกุล กิจนุกร นักศึกษาปริญญาโทพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า
มักได้ยินมาบ่อยๆ ว่าแรงงานไม่ค่อยต่อสู้ แต่ความจริงแล้วแรงงานมีการต่อสู้ในระดับปัจเจกในชีวิตประจำวัน
เช่น ผ่านการทำงานให้ช้าลง ผ่านการบ่น ผ่านการพัก เข้างานสาย นี่คือการแสดงออกถึงการไม่ได้ยอมจำนนตลอดเวลา
ในขณะเดียวกันก็ยังสู้ผ่านการบริโภคเพื่อแสดงว่าเป็นคน สร้างงานและสร้างครอบครัวได้
เช่น ซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ สร้างบ้าน ส่งเงินให้น้อง หรือแม้แต่การออกไปตกปลาก็เป็นการสู้อีกแบบเพื่อบอกว่าชีวิตเราก็ต้องการแบบนี้
ส่วนทางสุดท้ายที่สู้คือการลาออกไปเลย การคิดถึงการต่อสู้ของแรงงานในมุมเหล่านี้จะทำให้มองเห็นตัวเราว่ามีศักดิ์ศรีหรือไม่ยอมจำนน
และไม่มองการลาออกของแรงงานคนอื่นๆว่าไม่สู้
ทั้งนี้ มีกระบวนการที่ทำให้แรงงานรู้สึกว่าดูถูกตัวเองและสยบยอมต่อโรงงาน นั่นคือการทำให้เชื่องผ่านกฎระเบียบ วิธีนี้นายทุนกับรัฐหรือข้าราชการนิยมนำมาใช้มาก ส่วนอีกทางหนึ่งที่จะทำให้แรงงานสยบยอมก็คือทำผ่านสังคมวัฒนธรรม เช่น การบอกว่างานอิเล็กทรอนิกส์เหมาะกับแรงงานหญิงเอเชีย เพราะมีนิ้วมือเรียวงามและคล่องแคล่ว อีกทั้งแรงงานหญิงอดทนกว่าแรงงานชาย รวมไปถึงนิยมแรงงานโสดเพราะไม่ต้องดูแลเรื่องสวัสดิการมาก ไม่ต้องลาคลอดเป็นต้น
สิ่งเหล่านี้สร้างความรู้สึกที่ทำให้บอกตัวเองว่าไม่ต้องเรียนสูง แต่ให้ไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรม เพราะไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็รับอยู่แล้ว ยังมีประเด็นที่บอกว่าผู้หญิงมีหน้าที่ต้องดูแลพ่อแม่ ดูแลครอบครัว จึงต้องไปทำงานเป็นแรงงานเพื่อเลี้ยงครอบครัว และรับผิดชอบในการส่งเงินกลับมาที่บ้าน ส่วนลูกชายจะไม่ค่อยถูกว่ากล่าวตักเตือนหากไม่ดูแลหรือรับผิดชอบในส่วนนี้
ดังนั้นการต่อสู้ของแรงงานในส่วนนี้ จึงเป็นการยืนยันว่าเราเป็นคน ไม่ใช่สินค้าหรือเป็นปัจจัยการผลิตแบบที่สังคมมอง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งกฎระเบียบและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมมันลดทอนความเป็นคนลง. ในการต่อสู้ของแรงงานนั้น สหภาพแรงงานก็คือการพยายามรวมการต่อสู้ของแต่ละคนที่กระจัดการะจายมาสู้รวมกัน บรรดาข้อเรียกร้องต่างๆ จะตั้งอยู่บนฐานว่าเราเป็นคนและมีศักดิ์ศรี แรงงานทั้งหลายทำหน้าที่ส่งเสริมเศรษฐกิจให้รัฐโดยภาพรวม ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงจำเป็นต้องหันกลับมาดูแลพวกเราด้วย เพราะรัฐต้องมีบทบาทในการดูแลคนที่สร้างสรรค์เศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็น การจ้างงานแบบเหมาช่วง ที่ไม่จ้างแรงงานไปทำงานในโรงงาน ซึ่งตอนนี้มีตัวเลขมากถึง 67 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานนอกระบบที่ต้องเชื่อมแรงงานเหล่านี้เข้ากับในระบบให้ได้ เพราะถ้าบวกแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงานต่างด้าว รวมกับชาวนา ชาวไร่ที่มีปัญหาด้านสวัสดิการเหมือนกัน จะทำให้มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงขึ้น มีพลังมากขึ้น แต่ปัญหาใหญ่คือจะข้ามพรมแดนตรงนี้ได้อย่างไร
อาวุธอีกอย่างหนึ่งของแรงงานคือ การเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถ้าแรงงานรวมกันได้ จะสามารถต่อรองกับพรรคการเมืองได้ ดังกรณีตัวอย่างในประเทศอินเดีย ที่แรงงานสามารถต่อรองกับพรรคการเมือง ถ้าตกลงกันได้ก็จะเทคะแนนเสียงให้ กรณีดังกล่าวมีพรรคหนึ่งในไทยที่เคยทำมาแล้วคือไทยรักไทย ที่เคยขายนโยบายให้กับเกษตรกร ไม่ว่าโครงการ 30 บาทรักษาคนจน หรือกองทุนหมู่บ้าน ดังนั้นทำไมคนงานจะทำตรงนี้บ้างไม่ได้
อีกช่องทางหนึ่งคือการยกระดับการต่อสู้ไปสู่สากล นั่นคือการเชื่อมกันระหว่างสหภาพแรงงานในท้องถิ่นกับสหภาพแรงงานบริษัทเจ้าของสังกัด เช่น เมื่อมีบริษัทแม่จากญี่ปุ่นมาเปิดโรงงาน ในญี่ปุ่นจะมีสหภาพแรงงานคุ้มครอง ในเมื่อแรงงานไทยผลิตสินค้าให้ญี่ปุ่น ก็ต้องเชื่อมกับองค์กรแรงงานในระดับนานาชาติด้วยเพื่อให้คุ้มครองแรงงานไทยด้วย
6. เสียงจากแรงงาน
6.1 ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์
จากมุมมองในส่วนสหภาพแรงงาน ข่าวด้านแรงงานช่วงที่ผ่านมาจะมีเฉพาะกรณีของบริษัทไทยศิลป์ฯ
แต่ในภาพรวมจริงๆ แล้ว มีบริษัทต่างๆ ซึ่งแรงงานถูกเลิกจ้างมีเป็นจำนวนมาก เมื่อรวมกับสถานการณ์การเมือง(หลังการรัฐประหาร)แล้ว
มีผลกระทบที่ทำให้ต้องปิดตัวไปหลายบริษัท การให้แรงงานเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญมากต่อสถานการณ์
เพราะแรงงานต้องรู้เรื่องการลงทุนและผลกำไรที่มาริดรอนต่อสวัสดิการและค่าแรง
กรณีค่าแรงขั้นต่ำ เพียงห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 10 กิโลเมตร ลำพูนได้เพียง 149 บาท แต่ที่เชียงใหม่ได้ 159 บาท ทั้งที่ลำพูนเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอย่างน้อยต้องได้ค่าแรงเท่ากัน อีกทั้งค่าแรงแค่นี้ก็แทบเลี้ยงตัวเองในปัจจจุบันที่ค่าครองชีพสูงขึ้นไม่ได้อยู่แล้ว และยังมีความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น สารตะกั่ว เราเอาร่างกายไปแลก ดังนั้นถ้าไม่มีสวัสดิการหรือโอที บรรดาแรงงานทั้งหลายแทบจะอยู่กันไม่ได้เลย
ปัญหาของเรา เราต้องเรียนรู้และมีสหภาพของเราเอง แต่ประเทศไทยองค์กรไม่เข้มแข็งและไม่พัฒนา เพราะขาดการสนับสนุนแม้แต่ทางรัฐบาลเองตาม การจัดตั้งก็ทำได้ยาก ที่ลำพูนกว่าจะมีสหภาพแรงงานขึ้นมาได้ลำบากมาก แต่การสู้คนเดียวก็ลำบาก การลดต้นทุนของนายทุนจะเลือกใช้วิธีการลดค่าแรง การต่อรองแม้เวลานี้มีสหภาพก็ยังทำได้ยาก จึงต้องเรียนรู้และทันสถานการณ์. ล่าสุด ที่บริษัทมีการตัดสวัสดิการ ทางสหภาพจึงได้มีการเรียกร้องขอปรับสวัสดิการให้เหมือนเดิม ก็เรียกร้องได้เพียงแค่ได้เงินมาเป็นก้อนเท่านั้น(ไม่จ่ายประจำ) ก็ยังดี แต่ถ้าไม่มีสหภาพคงไม่ได้อะไรเลย จะไปพึ่งรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ จากประสบการณ์ที่เรียนรู้และทำงานมา 12 ปี เจ้าหน้าที่รัฐจะให้ความรู้สักข้อเดียวยังไม่มีเลย ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ส่วนเรื่องรัฐสวัสดิการคงเกิดได้ยาก แต่ทำได้จะดีมาก
6.2 แรงงานบริษัทนามิกิ
เวลานี้ปัญหาที่เกิดกับพนักงานคือไม่มีโอที และถูกตัดสวัสดิการหลายอย่าง เพราะไม่มีออร์เดอร์เข้า
มีการประกาศปิดงานบางช่วงของเดือน ช่วงเริ่มประกาศไม่บอกอะไรแต่ให้พนักงานเซ็นรับทราบการปิดงานบางช่วงของเดือน
เดือนหนึ่งบางทีก็สิบวันบ้าง บางครั้งก็โดนยุบกะ งดโอที งานลดลง พนักงานขาดรายได้
แม้มีพนักงานบางคนไปร้องเรียนด้วยตนเอง ก็ไม่ได้รับอะไรตอบกลับมา
บริษัทส่วนมากมีแรงงานเป็นผู้หญิง ในเวลานี้ลาออกกันไปมาก ค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่ได้ขึ้นเลย ล่าสุด เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีประกาศด่วนว่ามีออร์เดอร์เข้ามาและโยกย้ายพนักงานด่วน แต่พนักงานบางคนอายุมาก รวมทั้งอายุการทำงานก็มากด้วยกลับยังถูกให้ไปทำงานที่เข้ากะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยตรง บางคนยังต้องทำงานเกี่ยวกับสารตะกั่ว เรื่องนี้เกิดมานานแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งจะพยายามเรียกร้องสิทธิที่เราควรจะได้
6.3 แรงงานบริษัท LTEC
ในสถานการณ์ปัจจุบัน การเข้ามาของพนักงานใหม่เริ่มถูกเอาเปรียบในการเข้ามาทำงานในโรงงาน
โดยแรกให้เข้ามาเป็นแรงงานชั่วคราวก่อน 1 เดือน จากนั้นจึงประเมินผล ทำไปอีกจนครบ
4 เดือน ถ้าผ่านจึงจะให้ตรวจสุขภาพ ทดลองงานอีก 4 เดือนจึงผ่านโปร. ในกรณีดังกล่าวยังมีความเสี่ยงที่จะถูกให้ออกเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย
เพราะไม่ตรวจสุขภาพตั้งแต่แรกเข้าทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก เนื่องจากว่ากว่าจะตรวจก็ทำงานไปหลายเดือนแล้ว
ปัญหาต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงทำงาน จากทำ 6 วัน หยุดวันอาทิตย์ 1 วัน เป็นการให้หยุดไม่ตรงกัน โดยให้จับฉลากแบ่งเป็น 7กลุ่ม ให้หยุดวันละกลุ่ม ทำให้มีปัญหาทางการเดินทางกับครอบครัวเพราะหยุดไม่ตรงกัน นอกจากนี้ เดิมทีการหยุดวันอาทิตย์แต่มาทำงานจะมีโอทีคูณสอง ตอนนี้จึงหยุดการให้ค่าโอทีไปเลย ทำให้รายได้ลดลง. การหยุดไม่แน่นอนทำให้ปฏิทินการหยุดจะเป็นของใครของมัน เมื่อสื่อสารกับผู้จัดการไม่เข้าใจก็ทำให้เกิดปัญหาเงินหาย ตลอด 2 -3 เดือนที่ผ่านมา จึงเกิดปัญหาวุ่นวายขึ้นมาก
การเอาเปรียบแรงงานก็คือ การต้องการเดินเครื่องตลอด 24 ชม. และต้องการออร์เดอร์ตลอด การไม่ให้ความร่วมมือกับวันหยุดที่ไม่ใช่วันอาทิตย์ จะถูกให้ไปอยู่ไลน์งานอื่นที่หนัก การลาพักร้อนทั้งที่เป็นสิทธิของพนักงาน ก็ให้ลาได้เพียงวันละคน ซึ่งคาดไม่ได้ว่าใครจะทำธุระวันไหนซึ่งบางครั้งตรงกันก็มีปัญหาอีก ส่วนด้านสวัสดิการตอนนี้หลอดไฟที่โรงงานมีปัญหา ทุกคนตาเสีย แม้มีค่าสวัสดิการแต่ยังไม่พอกลับค่าแว่นชุดหนึ่ง
+++++++++++++++++++++++++++++++
ที่มาของข้อมูล:
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=9452&
SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73