โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 25 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๔๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 25, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ทักษิณได้พบหารือกับพลเอกสนธิฯ ผู้บัญชาการทหารบก 1 ครั้งที่ห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ทักษิณทราบดีว่า เบื้องหลังของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ ยังมีชนชั้นหนึ่งที่มีบารมีและไม่มีใครสามารถสั่นคลอนได้ ซึ่งนั่นก็คือกองทัพ ที่จะสามารถแสดงบทบาทพลิกสถานการณ์ในยามคับขัน บรรดานายทหารที่ถือกระบอกปืนเหล่านี้ ดูเผินๆ เหมือนจะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นอิสระเหนือรัฐบาล แต่ที่แท้จริงแล้วแค่เพียงกระดิกนิ้วหัวแม่มือเพียงนิ้วเดียว ก็สามารถที่จะขับเขาให้ตกจากที่นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
25-08-2550

Thaksin's 24 Hours
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการรัฐประหาร ๑๙ กันยา
Thaksin's 24 Hours After the Coup:
บทที่ ๙ กลับไปสู่จุดเดิม

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง
ต้นฉบับแปลจากภาษาจีนทั้งเล่ม ได้รับมาจากเพื่อนสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน


บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับนายกฯ ทักษิณ และการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นี้
แปลมาจากต้นฉบับภาษาจีน (โดยผู้แปลไม่เปิดเผยนาม) กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้นำมาเรียบเรียง
และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติม เพื่อสะดวกแก่การค้นคว้าในเรื่องประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
โดยในบทที่ ๙ นี้ มีชื่อบทว่า "กลับสู่จุดเดิม" ดังมีลำดับหัวข้อที่น่าสนใจต่อไปนี้
- ราคาที่ต้องจ่ายให้กับการรัฐประหาร
- บรรยากาศโดยทั่วไปหลังการรัฐประหาร
- พลเอกสนธิ บุณยะรัตกลิน: หัวหน้า คปค.
- การรัฐประหารในสายตาของตะวันตก
- ท่าทีต่อการรัฐประหารในกลุ่มอาเซียน
- ท่าทีของสื่อตะวันตกต่อการรัฐประหาร
- เสียงสะท้อนต่อการรัฐประหารบนอินเตอร์เน็ต
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๔๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทที่ ๙ กลับไปสู่จุดเดิม

ตอนที่ 1

ราคาที่ต้องจ่ายให้กับการรัฐประหาร
หลักทฤษฏีการวิวัฒนาการทางด้านชีววิทยาของ Darwin ได้ถูกอรรถาธิบายว่าเป็น "วิวัฒนาการสังคม" ทุกคนก็เชื่อว่า สังคมมนุษย์และอารยธรรมย่อมจะพัฒนาก้าวหน้าต่อไป แต่วิวัฒนาการและความก้าวหน้าในทุกๆ ก้าวของมนุษย์ ย่อมจะต้องจ่ายค่าตอบแทนด้วย นั่นก็คือ การเสื่อมทรามและการถดถอย ทุกคนยังคงนับถือกำลังอาวุธ นับถืออำนาจป่าเถื่อน แนวทางที่จะใช้แก้ไขปัญหาระหว่างคู่ต่อสู้ยังคงน้อยมาก ไม่ว่าจะใช้กระบอง ไม้พลอง รถถัง ปืนใหญ่หรือว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ล้วนเป็นวิธีการปกครองแต่ดั้งเดิมของมนุษยชาติ สงครามโลกครั้งที่สองเป็นเช่นนี้ การรัฐประหารครั้งที่ 18 ของประเทศไทยก็เป็นเช่นนี้ ประเทศนี้ซึ่งเป็นประเทศที่ถือตัวเองเป็นประเทศประชาธิปไตยกำลังทำลายภาพลักษณ์ตนเองที่ว่า มีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์มาตลอด 15 ปีโดยการใช้รถถังและปืน

ทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปสู่จุดเดิม
ดึกมากแล้ว กรุงเทพมหานครก็ค่อยๆ สงบเงียบลง ชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ได้เข้านอนแล้ว ยกเว้นรถถังที่ไร้ความรู้สึกและทหารถือปืนที่ยังตรึงกำลังตามถนนอยู่ พวกเขาส่วนใหญ่ก็ถือท่าทีเฉยเมยอยู่ ประชาชนแรกเริ่มก็ประหลาดใจ เพียงอ้าปากแล้วสูดลมหายใจเข้าไป และก็ปิดปากสนิท แล้วก็ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ บางทีประชาชนที่ "ต่อต้าน พทต. ทักษิณฯ" อาจจะแอบดีใจอยู่ลึกๆ พรุ่งนี้ไม่ต้องไปเดินขบวนอีกแล้ว และยังมีคนอีกประเภทหนึ่งในช่วงเวลานั้นกำลังหาที่หลบซ่อนตัวอยู่ รัฐมนตรีของกระทรวงต่างๆ ล้วนหายตัวไป ยกเว้นบุคคลผู้ที่กำลังอยู่ระหว่างการติดตาม พตท. ทักษิณฯ ไปเยือนต่างประเทศ

ตอนตีสามเศษๆ มีข่าวลือออกมาว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ควบคุมตัว น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, รวมทั้งนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากักตัวไว้ที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองบัญชาการทหารสูงสุด

สาวสวยแบบนางงามของสถานีวิทยุกองทัพบกช่อง 5 ยังคงตั้งอกตั้งใจอ่านแถลงการณ์ของ คปค. คำประกาศของ คปค. : ประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 เป็นต้นไป ขอประกาศห้ามการเคลื่อนย้ายกำลังทหารหากไม่ได้รับอนุญาตจาก คปค. และห้ามไม่ให้ออกจากเคหสถานของตนเองในช่วงการประกาศใช้กฎอัยการศึก

คำประกาศของ คปค. : ในช่วงที่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ขอประกาศมอบอำนาจบริหารราชการแผ่นดินให้แก่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ และขอประกาศให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รัฐมนตรีสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งและมอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ เข้าปฏิบัติหน้าที่แทนต่อไป

คำประกาศของ คปค. : ขอประกาศให้วันที่ 20 กันยายน 2549 เป็นวันหยุดราชการและธนาคาร วันหยุดการเรียนการสอน และขอให้ตลาดหุ้นปิดทำการเป็นเวลา 1 วัน สำหรับข้าราชการจะต้องกลับไปรายงานตัวยังต้นสังกัด และสมาชิกในคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วจะต้องไปรายงานตัว ณ กองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อรับทราบ "นโยบายใหม่" เพื่อที่จะให้สะดวกแก่การกลับสู่กระบวนการฟื้นฟูทางกฎหมายต่อไป

คำประกาศของ คปค. : แต่งตั้งให้แม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพภาคที่ 2 แม่ทัพภาคที่ 3 และแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่แต่ละกองทัพภาค รับผิดชอบในการดูแลจัดการหน่วยราชการในกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ผู้ใดที่ฝ่าฝืนคำสั่งของของแม่ทัพภาคในพื้นที่จะถูกลงโทษ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้รับผิดชอบในการบริหารส่วนราชการท้องถิ่น รวมทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องรายงานการทำงานให้แก่แม่ทัพภาคในพื้นที่

คำประกาศของ คปค. : ให้ข้าราชการระดับสูง อธิการบดี ตลอดจนหัวหน้าฝ่ายรัฐวิสาหกิจระดับกรม ที่ตั้งในกทม. และจังหวัดใกล้เคียง มารายงานตัวที่กองบัญชาการกองทัพบกในวันที่ 20 กันยายน เวลา 09.00 น สำหรับในพื้นที่อื่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับเดียวกันให้ไปรายงานตัวยังกองทัพภาคในพื้นที่

ชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่งจอดรถอยู่ที่ถนนสายหลักเนื่องจากน้ำมันหมด และปั๊มน้ำมันก็ปิดการให้บริการตลอดคืน เขานั่งอยู่ในรถและสังเกตการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนท้องถนน และได้แอบบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างโดยใช้กล้องถ่ายรูป เขาสังเกตว่า ถนนใหญ่ๆ บริเวณทำเนียบรัฐบาลเต็มไปด้วยรถส่งสัญญาณโทรทัศน์ นักข่าวต่างประเทศที่ประจำกรุงเทพฯ มากันครบแล้ว (แต่เสียดาย ขณะนี้พลเมืองของประเทศนี้ไม่สามารถดูข่าวจากโทรทัศน์ได้ว่า สื่อมวลชนต่างประเทศกำลังรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศนี้อย่างไรบ้าง) ทำเนียบรัฐบาลไทยไม่เคยได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากนักข่าวต่างประเทศเช่นนี้เป็นประวัติการณ์มาก่อน และยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ขณะนั้นเป็นเวลาตี 3 แล้ว

- เขาสังเกตเห็นว่า ผู้สื่อข่าวที่ใส่เสื้อยืดสีแดงของสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย กำลังต่อสายไปเชื่อมต่อหน้ากล้อง นาย Dan Rivers ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว CNN ถือกระดาษแผ่นหนึ่งในมือ และปากก็อ่านตามรายงานข่าวบนนั้น และเขาก็กำลังเตรียมเชื่อมสายอยู่

- เขาสังเกตเห็นว่า รถผู้บัญชาการเหล่าทัพวิ่งผ่านไป ทหารที่ประจำการบริเวณดังกล่าวก็ทำความเคารพ รถเหล่านี้กำลังมุ่งหน้าไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อนำหัวหน้าผู้ก่อการปฏิวัติไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

- เขาสังเกตว่า ท้องถนนสงบเงียบลง รถถังที่จอดอยู่ท่ามกลางถนน นิ่งเป็นตาย ผู้สื่อข่าวหลายๆ คนต่างรอคอยอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลบริเวณนอกเขตหวงห้ามอย่างใจจดใจจ่อ แต่หาได้มีใครทราบว่า พวกเขากำลังรอคอยอะไรอยู่ และก็ไม่มีใครยอมออกไปจากที่นั่นเลย

- เขาสังเกตเห็นว่า เมืองนี้ยิ่งเงียบเชียบลงไปท่ามกลางราตรีอันยาวนาน ทหารที่อยู่เวรก็อดไม่ได้ที่จะหาวนอนออกมา เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเริ่มออกมาทำงานแล้ว ผู้หญิงไว้ผมยาวรูปร่างผอมอยู่ในวัยกลางคนคนหนึ่ง กำลังมองดูรถถังอยู่ ดูเหมือนอยากจะศึกษาว่ารถถังคันนี้ "ทำมาจาก" วัสดุอะไร

- เขาสังเกตเห็นว่า สาวน้อยที่สวมเสื้อสีแดงได้วิ่งเข้าไปหน้าทหารถือปืนคนหนึ่ง และมอบดอกกุหลาบดอกหนึ่งให้กับทหาร สาวน้อยคนนี้น่าจะเป็นชาวกรุงเทพฯ คนแรกที่มอบดอกกุหลาบให้ทหารฝ่ายปฏิรูป ท้องฟ้าเริ่มแจ่มใสขึ้น แสงอรุโณทัยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว

ตอนที่ 2
บรรยากาศโดยทั่วไปหลังการรัฐประหาร
ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเดิมในกรุงเทพฯ พระอาทิตย์ขึ้นเหมือนเดิม ทุกอย่างสงบเหมือนเดิม ฝนที่ตกหนักได้ล้างสิ่งสกปรกบนพื้นออกไป การรัฐประหารครั้งนี้เหมือนฟ้าฝนที่โหมกระหน่ำมา แต่ในที่สุดก็ยุติลงอย่างสงบเงียบ ทหารที่อยู่เวรบนท้องถนน กำลังอ่านหนังสือพิมพ์อย่างสนุกสนาน พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในกรุงเทพฯ ล้วนเกี่ยวกับข่าวรัฐประหาร หนึ่งในสามของเนื้อที่ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เป็นพื้นที่ที่มอบให้กับคำว่า "รัฐประหาร และก็มีรูปถ่ายรถถังด้วย"

สื่อประเทศไทยยังคง "รักษาความเป็นกลางตามจรรยาบรรณวิชาชีพ" อยู่ พวกเขาอยากจะดูว่าฝ่ายทหารจะทำให้คำมั่นสัญญาที่จะ "คืนอำนาจให้กับประชาชน" ว่าจะกลายเป็นความจริงอย่างไร บทความวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์มติชนได้วิพากวิจารณ์ว่า ถึงแม้ว่า พตท. ทักษิณฯ จะเป็น "นักการเมืองที่มีความโลภ" ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่กลับเสียผลประโยชน์ของมวลชนก็ตาม แต่เราก็ต่อต้านรัฐประหาร "ถึงแม้การยึดนำนาจครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อก็จริง แต่ก็นับว่าเป็นรูปแบบที่อาศัยอำนาจป่าเถื่อน ซึ่งผิดกับประชาธิปไตยที่อยู่ในใจของชาวไทยทุกคน ประชาธิปไตยต้องได้กลับคืนมาให้เร็วที่สุด"

พระภิกษุที่กำลังบิณฑบาตอยู่รูปหนึ่ง เดินอยู่บนถนนที่เปียกน้ำฝนด้วยเท้าเปล่า ท่านไม่ได้มองดูอาวุธที่สามารถฆ่าคนได้ที่มีอยู่เต็มไปทั่วท้องถนนแม้แต่สักครั้งเดียว ท่านเปรียบเสมือนเป็นแขกที่มาจากอีกโลกหนึ่ง แต่ด้านหน้าของรถทหารที่จอดอยู่ข้างหน้าทำเนียบรัฐบาล มีพระภิกษุอีก 8 รูปยืนอยู่ ทุกรูปต่างอุ้มบาตรอยู่ กำลังรอคำสั่งจากทหาร เพื่อที่จะเข้าไปรับบิณฑบาตรจากทหารที่อยู่แถววัดหน้าทำเนียบรัฐบาล

ทหารที่อยู่เวรบนรถถังคนหนึ่งกำลังก้มตัวลงไปรับดอกกุหลาบจากชาวบ้าน ทหารคนนี้ได้ดอกไม้มาสัมผัสบริเวณริมฝีปาก แล้วก็นำดอกไม้ไปปักไว้ในเครื่องเล็งของปากกระบอกปืน มีริบบิ้นสีเหลืองผูกกระบอกปืนอยู่ ริบบิ้นสีเหลืองกับดอกกุหลาบสีแดงปลิวขึ้นตามลม

ทหารหลายคนเดินลงมาจากรถเกราะ และเดินเข้าไปพักผ่อนในศาลาข้างๆ อย่างสบาย ทหารบางคนก็รวมกันไปทานอาหารเช้าภายใต้ร่มไม้ริมคลองสายหนึ่ง ซึ่งอยู่ข้างๆ ทำเนียบรัฐบาล ทหารบางคนที่แบกปืนกำลังตระเวณสังเกตการณ์ท่ามกลางชาวบ้านที่แห่กันมามุงดู ชาวบ้านมองทหาร ทหารก็มองชาวบ้าน ทหารกับชาวบ้านกำลังยิ้มให้กันและทักทายกันอยู่

อีกด้านหนึ่งของกรุงเทพฯ ประชาชนที่มารวมกันอยู่ที่บริเวณท้องสนามหลวงมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด ที่นี่ก็ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์รถถัง พวกเขาต่างยกครัวเรือนมาถ่ายรูปกับรถถังและทหาร ก่อนหน้านี้ ฝ่ายทหารก็ได้มีคำสั่งออกมาว่า ทหารจะต้อง "ยิ้ม" กับประชาชน ดังนั้น ภาพที่ปรากฏออกมาต่อหน้าผู้สื่อข่าวและประชาชนก็คือ ภาพของทหารบางนายที่ไม่ถนัดในการยิ้ม มือข้างหนึ่งถือปืน และพยายามจะยิ้ม และมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยมอบน้ำ อาหาร และผลไม้ให้กับทหาร ทหารคนหนึ่งก็หยิบเอาส้มลูกหนึ่งที่ได้รับมาจากชาวบ้านยื่นให้กับนักข่าวต่างชาติ ทำให้นักข่าวคนนั้นตกใจตาโต เพราะว่าฉากที่เกิดขึ้นที่เขาเห็นกับตามาเป็นฉากที่อบอุ่น ซึ่งไม่สามารถเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่กำลังเกิดรัฐประหารอยู่ จากการทำโพล์สำรวจความเห็นของชาวกรุงเทพฯ ปรากฏว่าร้อยละ 80 ขึ้นไปสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้

- นักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ในขณะนั้นก็ไม่ได้สัมผัสบรรยากาศที่น่าหวาดกลัว ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางอากาศที่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชียยังคงเปิดให้บริการอย่างปกติ ไม่มีเที่ยวบินใดๆ ที่ได้ยกเลิกไป ร้านอาหารและร้านขายของบางร้านได้ปิดบริการในช่วงเหตุการณ์รัฐประหารได้สักพักหนึ่งนั้น ก็ได้เปิดให้บริการและทำค้าขายอย่างปกติ

- มีชาวอิสราเอลคนหนึ่งกล่าวว่า "เราไม่ได้รู้สึกเป็นกังวลแม้แต่น้อย โปรดอย่าลืมว่า เรามาจากอิสลาเอล สงครามเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเรา". ชาวแคนาดาคนหนึ่งกล่าวว่า "นี่เป็นครั้งแรกของเขาที่เจอเรื่องแบบนี้ จริงๆ แล้ว ก็รู้สึกหวาดกลัวนิดๆ แต่เท่าที่ได้สังเกต ตอนนี้กรุงเทพฯ ก็ยังคงสงบปลอดภัย แม้ว่าจะมีบางพื้นที่ที่ยังมีทหารประจำการ หรือมีตำรวจจราจรเฝ้าคุมอยู่ก็ตาม แต่รถก็ยังติดอยู่เหมือนเดิม". นักธุรกิจคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Reuter ว่า "ในที่สุด ทหารก็ได้ลุกขึ้นมาปฏิวัติจนได้ เราไม่รู้สึกแปลกใจเลย ทั้งนี้มันมีส่วนช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม พูดในอีกทางหนึ่ง บางทีก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจได้"

- ชาวบ้านคนหนึ่งได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวอย่างดีอกดีใจว่า ตั้งแต่เกิดมา วันนี้เป็นวันที่รู้สึกดีใจที่สุด เราคิดว่า หลังจากที่ได้ผ่านเหตุการณ์การรัฐประหารในครั้งนี้ ประเทศไทยจะยิ่งดีขึ้นต่อๆ ไป". พ่อค้าวัย 42 ผู้หนึ่งได้แสดงความวิตกกังวลต่อการรัฐประหารครั้งนี้ว่า อาจจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น "แต่ถ้ามองการณ์ไกลแล้ว ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศ พตท. ทักษิณฯ ควรพ้นจากตำแหน่งให้เร็วกว่านี้ รัฐบาล พตท. ทักษิณฯเน่าเปื่อยถึงรากเหง้าแล้ว ถ้ายังไม่มีการยึดอำนาจ ประเทศไทยก็ถูกเขาเอาไปขายทั้งประเทศแน่"

- คนกรุงเทพฯ คนหนึ่งกล่าวว่า "เรารักในหลวงของเรา เราสนับสนุนกองทัพของเรา". อีกคนหนึ่งกล่าวว่า " 3 ปีก่อน เราก็เคยเป็นทหาร กองทัพไทยของเราเป็นกองทัพที่มีระเบียบวินัยค่อนข้างเข้มงวด ผมสนับสนุนการกระทำของพวกเขาอย่างเต็มที่". คนหนึ่งที่ไม่ใช่สมาชิกสังกัดพรรคการเมืองใด ได้กล่าวว่า " หวังว่าประเทศของเราจะดีขึ้นโดยการรัฐประหารในครั้งนี้ ในขณะเดียวกัน เราก็หวังว่ากองทัพจะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด"

- นายแพทย์ที่ต่อต้าน พตท. ทักษิณฯ คนหนึ่งกล่าวว่า "เราก็หวังอย่างแน่นอนว่า เราสามารถโค่นรัฐบาลทักษิณได้โดยวิธีประชาธิปไตย แต่เราเหนื่อยเกินไปที่ไปเดินขบวนประท้วงทุกวัน เรารู้สึกดีใจมากที่กองทัพได้ช่วยเราได้มากในแก้ไขปัญหานี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พตท. ทักษิณฯ ก็ถูกขับไล่ออกไปแล้วจริงๆ". ผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่ทำงานด้านสังคมได้ใช้คำว่า "ฉับพลัน" มาพรรณนาการเกิดการปฎิวัติในครั้งนี้ "สิ่งนี้สามารถช่วยทำให้ประเทศไทยกลับมาสู่สภาพปกติ สิ่งเดียวที่เรารู้สึกเสียดายก็คือ หลายๆ เรื่องต้องเริ่มต้นกลับไปทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน"

- ชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่เคยอยู่ข้าง พตท. ทักษิณฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่าไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ "แต่สิ่งที่น่าปลื้มใจสิ่งเดียวก็คือ ในที่สุดสถานการณ์การเมืองไทยก็ได้สงบเรียบร้อย แต่เดิมที่จะมีการเดินขบวนเพื่อต่อต้านทักษิณในวันที่ 20 กันยายน ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว... บางทีอีกไม่นานนัก เราก็อาจใช้ชีวิตอย่างเรียบๆ ง่ายๆ เหมือนเดิม"

- นาย Li Min Wen นักธุรกิจเชื้อสายจีนกล่าวว่า "ขอให้ธนาคารออกเงินให้เราทำการค้าขาย รัฐบาลจะเป็นใครบริหารก็ไม่เป็นปัญหา". ผู้อ่านชื่อ Paya ได้เขียนข้อความไว้ทาง website ของหนังสือพิมพ์มติชนว่า "ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ผ่านเหตุการณ์รัฐประหารหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่มีความรุนแรงน้อยที่สุด พรุ่งนี้ทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ และอีก 2 วัน คนส่วนใหญ่ก็อาจจะลืมว่า เมื่อไม่นานมานี้ ที่กรุงเทพฯ เคยเกิดรัฐประหารขึ้นมาจริงหรือ"

- นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวจาก Associated Press ว่า ก็คือ พตท. ทักษิณฯ เองแหละที่บีบบังคับให้กองทัพต้องทำแบบนี้ "เราเป็นนักการเมือง เราก็ไม่เห็นชอบ/ไม่สนับสนุนกับการรัฐประหารไม่ว่าในรูปแบบใดๆ แต่ 5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาที่รัฐบาล พตท. ทักษิณฯ ได้สร้างขึ้นได้บีบบังคับให้กองทัพต้องก่อรัฐประหารขึ้นมา. พตท. ทักษิณฯ ได้สร้างวิกฤตการณ์ให้กับประเทศชาติ"

- นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากในวงการสื่อมวลชน และได้แสดงบทบาทอันสำคัญในกิจกรรมต่างๆ ที่ต่อต้าน พตท. ทักษิณฯ นายสนธิฯ ได้กล่าวว่า ในหลักการเราก็ไม่เห็นชอบกับรัฐประหาร แต่เราก็รู้สึกพอใจกับผลจากการปฏิวัติในครั้งนี้"

ตอนที่ 3
พลเอกสนธิ บุณยะรัตกลิน: หัวหน้า คปค.
วันที่ 20 กันยายน 2549 เวลา 9.16 น. ของประเทศไทย พลเอกสนธิ บุณยะรัตกลิน ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นผู้ก่อรัฐประหารขึ้นเป็นครั้งที่ 18 ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย. โดย 12 ชั่วโมงภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พลเอกสนธิฯ ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนในไทยและทั่วโลกเป็นครั้งแรก. พลเอกสนธิฯ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการก่อรัฐประหารทางโทรทัศน์โดยมีพลเอกเรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส., พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร., พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.,และพลตำรวจเอกโกวิท วัฒนะ ผบ.ตช. เข้าร่วม โดยบุคคลทั้ง 5 ดังกล่าวข้างต้น ได้แต่งกายในเครื่องแบบ ยืนตัวตรงอยู่เบื้องหลังโพเดียม โดยมีพลเอกสนธิฯ ยืนอยู่ตรงกลางและมีไมค์โครโฟนอยู่ข้างหน้า ด้านหลังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตฯ พระบรมราชินีนาถ มีธงชาติไทยคั่นระหว่างพระบรมฉายาลักษณ์ของสองพระองค์ นอกจากนี้ พระบรมฉายาลักษณ์ของสองพระองค์ยังมีสัญลักษณ์พระนารายณ์ทรงสุบรรณ

บุคคลทั้ง 5 ดังกล่าวได้พนมมือก้มลงไหว้ผู้ที่รับชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยพลเอกสนธิฯ ได้เริ่มต้นกล่าว โดยใช้ภาษาและน้ำเสียงที่อ่อนโยนแต่คล่องแคล่ว โดยแถลงการณ์มีใจความว่า "ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และสนับสนุนการปฏิบัติการของพวกเรา... เนื่องด้วยพวกเราอันประกอบด้วย ผบ.สส. และผู้บัญชาการทหาร 3 เหล่าทัพ รวมทั้ง ผบ.ตร. ได้รวมตัวจัดตั้งเป็นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว... สมาชิก คปค.

ทุกคนต่างตระหนักว่า พตท. ทักษิณ ชินวัตร ทำการปกครองแบบเผด็จการ ความผิดพลาดของ พตท. ทักษิณฯ ได้ทำให้ประเทศเกิดความแตกแยกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย... การปกครองของรัฐบาลเกิดปรากฏการณ์การคอรัปชั่นและการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกของตนเอง... โดยสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นจะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ... ซึ่งก่อให้เกิดบาดแผลและจำต้องรีบทำให้เกิดความสงบอย่างรวดเร็ว คปค. จึงมีความเห็นว่า จำเป็นต้องยึดอำนาจ การปกครองของประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหา... การก่อรัฐประหารก็เพื่อให้สมานแผลให้กับสังคมที่แตกแยกของไทย และเป็นการหยุดกระบวนการขององค์กรประชาธิปไตยของไทยซึ่งถูกกัดกร่อน... เพื่อจะได้เริ่มต้นกระบวนการแก้ไขใหม่ต่อไป พวกเราไม่ได้มีความพยายามที่จะเข้ามาปกครองประเทศ คปค. ยืนยันว่าจะทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยและคืนอำนาจการปกครองให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุด..."

โดยแถลงการณ์มีความยาวประมาณ 3 นาทีกว่าๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ พลเอกสนธิฯ ได้ก้มหน้าอ่านต้นฉบับ และก็ได้เงยหน้าขึ้นมองข้างหน้าด้วยสีหน้าที่สงบ ไม่แสดงอารมณ์ใดๆ และไม่มีการแสดงออกถึงความเป็นผู้ได้รับชัยชนะและทนงตัวแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการแถลงให้สาธารณชนได้รับทราบ ทั้งนี้ คณะ คปค. ทั้ง 4 คนที่เหลือยืนอยู่ด้วยกันนั้น ต่างก็มิได้แสดงสีหน้าหรืออารมณ์ใดๆ และต่างก็จ้องมองตรงไปเบื้องหน้า

หลังจากนั้นไม่กี่วัน พลเอกสนธิฯ ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าสัมภาษณ์ โดยได้อธิบายสาเหตุการก่อรัฐประหารว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อ "หลีกเลี่ยงการนองเลือด" โดยพลเอกสนธิฯ ได้กล่าวว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้วางแผนที่จะรวมตัวชุมนุมกันเดินขบวนต่อต้าน พตท. ทักษิณฯ ในวันที่ 20 ก.ย. 2549 โดย พตท. ทักษิณฯ ได้วางแผนที่จะให้ผู้ช่วยของตน 2 คน (ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ระดมคนฝ่ายสนับสนุนจำนวน 800 คน ทีมปกป้องป่าไม้ที่มีอาวุธปืน (อาวุธปืนพร้อมมือ) จากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมายังกรุงเทพฯ เพื่อเดินขบวนให้การสนับสนุน พตท. ทักษิณฯ ซึ่งอาจจะนำไปสู่เหตุการณ์การปะทะและนองเลือดขึ้นระหว่างกลุ่มเดินขบวนสองกลุ่มนี้

หลังจากนั้น เดิมทีพลเอกเรืองโรจน์ฯ ผบ.สส. จะนำกำลังเข้าปราบปราม และจะใช้โอกาสนี้ในการเข้าครอบครองกองกำลังทหารที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (รวมไปถึงพลเอกสนธิฯ) รวมทั้งสนับสนุนกำลังทหารที่ตนได้อบรมบ่มเพาะมาอย่างดี เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพกองกำลังทหารทั้งหมด โดยที่ พตท. ทักษิณฯ จะบินจากนครนิวยอร์กกลับถึงประเทศไทยในช่วงเช้าวันที่ 21 ก.ย. 2549 และได้มีประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินโดยด่วน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว โชคดีที่พลเอกสนธิฯ ดำเนินการอย่างฉับไวและเฉียบแหลม โดยให้เหล่าทหารขับรถถัง วิ่งไปตามถนนสายสำคัญในกรุงเทพมหานคร แผนการของพตท. ทักษิณฯ จึงถูกทำลายลง ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดการปะทะนองเลือดได้ พตท. ทักษิณฯ รู้สึกขบขันกับข่าวลือดังกล่าว

คำให้สัมภาษณ์ของพลเอกสนธิ บุณยะรัตกลิน
หลายเดือนต่อมา ผู้สื่อข่าวจากนิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ ได้เข้าสัมภาษณ์พลเอกสนธิฯ เพราะเหตุใดผู้นำทางทหารจึงได้ให้คำมั่นสัญญาหลายต่อหลายครั้งว่า จะไม่เข้ามาเล่นการเมือง และภายหลังจากนั้นแค่เพียงคืนเดียว ก็จะต้องกลืนคำพูดของตนเอง ทำให้นานาชาติรู้สึกหวั่นใจ ซึ่งพลเอกสนธิฯ ได้กล่าวว่า วันเวลาจะช่วยพิสูจน์การกระทำทั้งหมดของตน

ผู้สื่อข่าว - เพราะเหตุใดที่ทำให้นักการทหารอาชีพคนหนึ่งก้าวเข้ามาสู่การเมือง

พลเอกสนธิฯ - ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข แต่ทว่าระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวถูกทำลาย ที่ผ่านมา พรรคการเมืองขนาดกลางหลายพรรคที่ได้ควบคุมการทำงานของรัฐบาล แต่สมัยรัฐบาล พตท. ทักษิณฯ นั้นเป็นรัฐบาลที่เผด็จการ และระหว่างกระบวนการการเลือกตั้งนั้น ก็ปรากฏเหตุการณ์การทุจริต ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนชาวไทยไม่อาจยอมรับได้ แม้ว่าพวกเราจะก่อการรัฐประหารขึ้น แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อการพิทักษ์ไว้ซึ่งประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าว - รัฐบาล พตท. ทักษิณฯ ที่จริงแล้วได้กระทำการใดๆ ที่ส่งผลเสียหายต่อประชาธิปไตยของไทย

พลเอกสนธิฯ - ปัญหาดังกล่าวค่อนข้างจะมีความละเอียดอ่อนมาก จากร่องรอยหลายประการได้แสดงให้เห็นว่า พตท. ทักษิณฯ มิได้มีมารยาทต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประชาชนชาวไทยไม่อาจทนได้ หากมีผู้ใดไม่ให้ความเคารพต่อพระราชวงศ์

ผู้สื่อข่าว
- ท่านมีความเห็นอย่างไรกับการที่ประเทศทางตะวันตกกล่าวว่า รัฐประหารเป็นการก้าวถอยหลังของประชาธิปไตยในไทย

พลเอกสนธิฯ
- หากทางเดินข้างหน้าไม่มีอุปสรรคใดๆ ทุกๆ คนก็จะย่อมก้าวไปข้างหน้าต่อไป แต่หากมีอุปสรรคอยู่ข้างหน้า ทางที่ดีที่สุดก็คือหยุดอยู่กับที่ และเดินไปทางอ้อมก่อน พวกเราประชาชนชาวไทยต่างรู้สึกรักชอบคนคนหนึ่งอย่างง่ายดาย และจะรู้สึกเบื่อหน่ายคนคนหนึ่งอย่างรวดเร็วเช่นกัน การจะตัดสินคนคนหนึ่งนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา และเวลาก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์การกระทำของพวกเรา

การปิดกั้นสื่อฝ่ายตรงข้าม และผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
ช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย. 2549 หลังจากที่พลเอกสนธิฯ ได้กล่าวแถลงการณ์เสร็จสิ้น รายการทางโทรทัศน์ทุกช่องได้กลับเข้าสู่ภาวะปรกติ มีเพียงสัญญาณข่าวจาก CNN , BBC ที่ยังถูกควบคุมการออกอากาศอยู่ พตท. ทักษิณฯ นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งจะถูกยึดอำนาจได้มีปฏิกิริยาตอบโต้ที่นครนิวยอร์ก ซึ่งประชาชนชาวไทยไม่ทราบเลยแม้แต่น้อย

ช่วงสาย สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ได้ออกอากาศการแถลงการณ์อีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันว่า "คปค. ขอให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิรูป การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการรับประกันว่า การเลือกตั้งในครั้งต่อไปจะบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ทว่า ในช่วงเวลาเฉพาะกาลดังกล่าว "เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งการปกครองและกฎหมาย จึงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมของพรรคการเมือง รวมถึงการประกอบกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ขึ้น" นอกจากนี้ "การชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป" ก็ไม่ได้รับการอนุญาตด้วย ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกคุมขังเป็นเวลา 6 เดือนและถูกปรับ 1 หมื่นบาท (ประมาณ 265 ดอลลาร์สหรัฐ) "เมื่อถึงเวลาที่กลับคืนสู่สภาวะปรกติ กิจกรรมทางการเมืองก็จะได้รับการกลับคืนสู่สภาพปกติ"

ขณะเดียวกัน ผู้นำการรัฐประหารได้มอบอำนาจให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ควบคุมข่าวสารที่ "ไม่ตรงตามความจริง" เกี่ยวกับ คปค. ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในขณะนั้น "เพื่อให้ประเทศไทยของพวกเราสามารถกลับคืนสู่สภาวะปรกติ ขอให้มีการรายงานข่าวที่ให้ข้อมูลตรงกับความเป็นจริงและสร้างสรรค์" นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารได้เชิญสื่อมวลชนด้านโทรทัศน์ สถานี และบริษัทด้านสารสนเทศต่างๆ รวมทั้งเว็บไซด์ เข้าร่วมการประชุม โดยขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงหยุดรายการการส่ง SMS และ call-in ที่เป็นการแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมือง "เพราะว่าการกระทำต่างๆ ดังกล่าว จะนำไปสู่การแตกแยกของประเทศ"

กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ยังได้ขอให้สื่อมวลชนทางด้านออนไลน์ควบคุมเว็บไซด์ที่จะต้องมีการอภิปราย แสดงความเห็น หรือการฝากข้อความไว้ที่กระดานข่าวหรือการออนไลน์ด้วยกิจกรรมใดๆ โดย "ห้ามมิให้ชุมชนทางอินเตอร์เน็ตใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่รุนแรงยั่วยุ หรือการแสดงถ้อยคำที่รุนแรงในเว็บไซด์ หากชุมชนทางอินเตอร์เน็ตมีการแสดงถ้อยคำหรือใช้ภาษาที่รุนแรง ทุกคนจะต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน" (5 วันต่อมา มีสถานีที่ให้การสนับสนุน พตท. ทักษิณฯ ในชนบทถูกปิดทำการไป 300 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ จ. เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ พตท. ทักษิณฯ)

เวลา 14.50 น. รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้ถูกปลดลงจากเว็บไซด์ของรัฐบาลไทย. ผู้สื่อข่าวทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศได้รุมล้อม ณ กองบัญชาการ ผบ.ทบ. แต่ว่าทางฝ่ายทหารปฏิเสธที่จะให้เข้าสัมภาษณ์ และปฏิเสธที่จะให้นักข่าวเข้าไปในกองบัญชาการ ผบ.ทบ. ช่วงบ่าย ประชาชนประมาณ 500 คน ได้รวมตัวกันหน้าประตูกองบัญชาการ ผบ.ทบ. เพื่อแสดงการสนับสนุนฝ่ายทหาร ประชาชนต่างตะโกนร้องว่า "ในที่สุด ทักษิณฯ ออกไปแล้ว"

วันที่ 20 ก.ย. 2549 เวลา 15.00 น. พลเอกสนธิฯ ซึ่งใส่เครื่องแบบทหาร ได้เป็นประธานในการกล่าวแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกภายหลังรัฐประหาร โดยได้กล่าวว่า "รัฐธรรมนูญฉบับเฉพาะกาลจะร่างเสร็จภายใน 2 สัปดาห์และในช่วงเวลานี้ จะต้องแต่งตั้งสมาชิกสภาเฉพาะกาลและนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล". "อำนาจการปกครองจะอยู่ในมือของพวกเราเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และภายหลังจาก 2 สัปดาห์แล้ว พวกเราจะเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลและจะคืนอำนาจการปกครองทั้งหมด". พลเอกสนธิฯ ยังกล่าวอีกว่า ทางการทหารยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาผู้ที่เหมาะสมที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "พวกเราจะต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรักในระบอบประชาธิปไตย" และภายหลังจากนั้น 1 ปี คือ ช่วงตุลาคม 2550 โดยประมาณ จะเป็นการกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย

พลเอกสนธิฯ ยังกล่าวด้วยว่า "คปค. ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการก่อรัฐประหารมีจุดประสงค์เพียงเพื่อหยุดยั้งการปะทะกันอย่างรุนแรงที่ต่อเนื่องกันมานาน และแก้ปัญหาการทุจริตของรัฐบาล รวมทั้งแผนการในการทำลายระบอบประชาธิปไตยของ พทต.ทักษิณฯ" และเมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของ พทต. ทักษิณฯ ว่า จะดำเนินการยึดทรัพย์หรือไม่นั้น พลเอกสนธิฯ ได้ตอบว่า "บุคคลกลุ่มผู้กระทำผิดทั้งหลายก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย" หลังจากนั้น มีรายงานจากสถานีที่ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจว่า คปค. ได้ปลดฝ่ายตรวจสอบในรัฐบาล พทต. ทักษิณฯ ออกจากตำแหน่ง นอกจากนั้น ยังได้ส่งข้าราชการไปตรวจสอบกรณีการทุจริตของรัฐบาลชุดที่แล้ว และในวันเดียวกันนายทหารระดับนายพล 2 รายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พตท. ทักษิณฯ ได้ถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการ ผบ.ทบ.เพื่อกักขัง

หลังจากนั้น ผู้นำ คปค. ทั้ง 5 คนได้พบกับคณะทูตานุทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย. พลเอกสนธิฯ ได้แจ้งว่า "ไทยยังคงยืนยันจะดำเนินนโยบายการต่างประเทศ รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีตามที่ไทยได้เคยลงนามไปแล้ว ในสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ" แต่ทั้งนี้ ในวันรุ่งขึ้น รายงานข่าวใน นสพ. The Nation ได้ระบุว่า คณะทหารได้พบกับคณะทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย "แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ใช้ภาษาในการโต้ตอบไม่ฉับไว"

ตอนที่ 4
มุมมองต่างๆ เกี่ยวกับการรัฐประหาร
การเชื่อฟัง ความอดทน และความไม่สนใจของชาวไทยต่อรัฐประหารครั้งนี้ทำให้คนทั่วไปรู้สึกประหลาดใจ นักวิชาการได้วิจารณ์ว่า "มองจากมุมมองของงานด้านการบริหาร การทหาร ตำรวจ รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรรัฐบาลอื่นๆ พวกเขากลับสนับสนุนและยอมรับให้กำลังทหารเข้ามาดำเนินการแทนที่รัฐบาล โดยผ่านวิธีการก่อการรัฐประหารซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยไม่มีผู้ใดออกมาประณามหรือไม่เห็นด้วย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการออกมาต่อสู้เพื่อต่อต้านพฤติกรรมดังกล่าว เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ระบอบการเมืองและวัฒนธรรมของไทยนั้น ประชาธิปไตยยังไม่ได้หยั่งรากลึกเข้าไปในระบบความเชื่อทางการเมือง

ชาวไทยยังไม่มองว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นบรรทัดฐาน/หลักการสูงสุด ประชาธิปไตยยังอยู่ในฐานะ "เป็นเพียงทางเลือกที่สามารถเลือกได้ทางหนึ่ง" ชาวไทยไม่ได้มองว่าประชาธิปไตยเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญและเป็นพื้นฐานที่สุดในการเมือง พวกเขามองว่า กองกำลังทหารและรัฐประหารเป็น "เรื่องธรรมดา" มาก ในเส้นทางการเมืองการปกครอง และเป็นทางเลือกที่ยอมรับได้

นักวิชาการอีกคนหนึ่งได้วิจารณ์ว่า การก่อรัฐประหารครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์ของระบอบประชาธิปไตยของไทย ก่อนหน้านี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ ได้มองระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพในการเข้าร่วมพรรคการเมืองต่างๆ ของไทยเป็นแบบอย่าง ถ้าเรามองสถานการณ์ในประเทศไทยภายหลังการเกิดการรัฐประหารขึ้น เราควรจะหันมาถามตัวเราเองว่า เมื่อก่อนเราเองหรือเปล่าที่มีความคาดหวังและจินตนาการต่อประเทศไทยไทยมากเกินไป. การก่อรัฐประหารในครั้งนี้คือปฏิกิริยา ไม่ใช่ความก้าวหน้า ทำไมประชาธิปไตยของไทยได้ก้าวมายังจุดนี้ได้ คือ ต้องแสวงหาประชาธิปไตยโดยอาศัยพระมหากษัตริย์และกองกำลังทหาร ทำไมต้องแสวงหาประชาธิปไตยโดยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ทำไมเพื่อให้สามารถเป็นประชาธิปไตยได้จึงต้องมีเหตุการณ์นี้ขึ้น

การรัฐประหารในสายตาของตะวันตก
ประเทศตะวันตกมีท่าทีที่ร่วมกันในการประณามเหตุการณ์รัฐประหารของไทย ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน

- Kofi Annan เลขาธิการของสหประชาชาติ : สหประชาชาติสนับสนุนระบบการปกครองตามขั้นตอนแบบประชาธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้งที่เป็นธรรม การก่อรัฐประหารเช่นนี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ

- Cathy ผู้แทนโฆษกรัฐบาลสหรัฐฯ : เรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์รัฐประหารของไทย ประชาธิปไตยของไทยกำลังอยู่ภาวะการถอยหลัง

- Margaret Beckett รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ : ประเทศอังกฤษแต่ไหนแต่ไรมาไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารก่อรัฐประหารล้มโค่นล้มรัฐบาล......

- Matti Vanhanen นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ : เรารู้สึกเสียดายต่อเหตุการณ์การล้มอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยกองกำลังทหารของไทย ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว.....

- Helen Clark นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ : พฤติกรรมทุกประการที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและไม่เป็นประชาธิปไตยที่นำมาควํ่าระบบการปกครองที่มีอยู่ ย่อมต้องถูกประณามทั้งสิ้น.....

- Alexander Downer รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย : พฤติกรรมที่กองกำลังทหารไทยควํ่ารัฐบาลเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เรารู้สึกกังวล.....

ท่าทีต่อการรัฐประหารในกลุ่มอาเซียน และเอเชีย
ท่าทีของประเทศสำคัญๆ ในกลุ่มอาเซียนและในทวีปเอเชียต่อการเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในไทยยังไม่ค่อยชัดเจน นอกจากความรู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว กรณีการเกิดรัฐประหารในไทยก็ยังคงแสดงท่าทียืนยันและยึดมั่น "ในหลักการไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศอื่นใด" บางที ในสายตาของประเทศเหล่านี้ หลักการประชาธิปไตยนั้นไม่สำคัญเท่ากับหลักการอธิปไตยซึ่งมีความสำคัญยิ่ง

- Arroyo ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งมีการก่อรัฐประหารอย่างสม่ำเสมอเหมือนไทยกล่าวว่า "เราได้ติดตามเหตุการณ์ด้วยความสนใจ และเรามีความเชื่อมั่นว่า กองกำลังทหารในฟิลิปปินส์จะไม่ปฏิบัติตาม"

- Abdullah Ahmad Badawi นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า "รู้สึกตกใจเป็นอย่างยิ่ง โดยที่คาดไม่ถึงว่ารัฐประหารจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของประเทศไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยจะได้รับความฟื้นฟูเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้"

- Manmohan Singh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า "รัฐบาล อินโดนีเซียติดตามพัฒนาการของเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มอาเซียน รัฐบาลอินโดนีเซียหวังว่า หลักการประชาธิปไตยจะยังคงอยู่ประเทศไทยต่อไปอย่างเข้มแข็ง"

- Taro Aso รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า "เราแสดงความเสียดายต่อเหตุการณ์รัฐประหารของไทย และเชื่อด้วยความจริงใจว่า ประเทศไทยจะต้องรีบฟื้นฟูประชาธิปไตยกลับคืนมาโดยเร็ว"

- โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่า "พวกเราหวังว่าประเทศไทยจะฟื้นฟูสันติภาพและความสงบอย่างรวดเร็วโดยตามกระบวนการทางกฎหมาย"

- Qin Gang โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า "ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของไทยเป็นกิจการภายในของประเทศไทย รัฐบาลจีนยึดมั่นในหลักการแห่งการไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการของประเทศอื่น ซึ่งเป็นหลักการที่ได้ดำเนินมาโดยสมํ่าเสมอ"

ในบรรดาประเทศเหล่านี้ ท่าทีของประเทศสิงคโปร์สลับซับซ้อนที่สุด เนื่องจากครอบครัวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ขายหุ้นของบริษัทในเครือชินวัตรให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2549 ซึ่งส่งผลให้เกิดการชุมนุมเพื่อประท้วงของประชาชนจำนวนมาก ในช่วงนั้น ก็ส่งผลกระทบต่อสถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ภายหลังข่าวการก่อรัฐประหารเล็ดลอดออกมา ปฏิกิริยาของสิงคโปร์มีความละเอียดอ่อนและไวมากที่สุด รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศไม่ให้ประชาชนของตนเองเดินทางไปประเทศไทย และหากจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศไทย จะต้องลงทะเบียนในเว็บของกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ก่อน เพื่อจะได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ทันที

ตอนที่ 5
ท่าทีของสื่อตะวันตกต่อการรัฐประหาร
สื่อมวลชนของประเทศตะวันตกมีปฏิกิริยาที่รุนแรงกว่าคณะผู้แทนทางการทูตจากกระทรวงการต่างประเทศในประเทศตะวันตกเสียอีก

<<The Times>> ประเทศอังกฤษ : "ทางทหารควรแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาอยากจะฟื้นฟูรัฐบาลแห่งประชาธิปไตยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้......ไม่ว่ารัฐประหารจะไม่มีการนองเลือด ไม่ว่านายกรัฐมนตรียังไม่เข้าดำรงตำแหน่ง รัฐประหารครั้งนี้ยังเป็นวิธีการที่ผิด ที่ขับไล่ผู้นำที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา"

<<The Independent>> ประเทศอังกฤษ : "ถึงแม้ว่ารัฐประหารครั้งนี้ทำได้อย่างรวดเร็วและเรียบร้อยดี แต่ในการปฏิวัติโดยรวมนั้นไม่ได้รับยอมรับในความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐประหารครั้งนี้......ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามักจะหลอกตัวเองมาโดยตลอดให้เชื่อว่า ถึงแม้ว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นจะอ่อนแอก็ตาม แต่ยังสามารถคงอยู่ต่อไป"

<<The Daily Telegraph>> ประเทศอังกฤษ : "เศรษฐีคนนี้ได้กลายเป็นคนที่โอหังอวดดีอย่างอันตราย ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อกลุ่มชาวนาหลังเข้าดำรงตำแหน่งการเมือง แต่ก็มีนักการเมืองหลายคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งจากประชาชนเช่นกัน ถ้าอยากไล่เขาออกจากตำแหน่ง ต้องโดยวิธีการลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่ใช่คำสั่งของทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์"

<<The Grauniad>> ประเทศอังกฤษ : "ถึงแม้ว่าการปกครองของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ ไม่ค่อยตอบสนองความต้องการของประเทศ แต่การที่เขาถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งได้ทำลายสมญานามของไทยที่เคยได้รับกล่าวขานว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย.....องค์กรประชาธิปไตย รวมทั้งรัฐสภา ศาล และรัฐธรรมนูญ โดยพื้นฐานล้วนอ่อนแอทั้งสิ้น และถูกมองข้าม โดยถูกทำลายโดยรถถังและกองกำลังทหารซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ.....ไทยมีความจำเป็นต้องสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง เพื่อให้การรับรองว่าการก่อรัฐประหารในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 18 จะเป็นการก่อรัฐประหารเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา"

<<Financial Times>> : "รัฐประหารไม่มีทางทำอะไรที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นมาได้ เรื่องนี้ถามปากีสถานหรือพม่าดู ไทยควรถอยกลับไปก้าวหนึ่งและตรวจสอบด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่มีกษัตริย์ซึ่งสามารถปกป้องดูแลประเทศได้ แต่ก็เช่นเดียวกับสังคมอื่นที่เปี่ยมไปด้วยความสลับซับซ้อนและมีชีวิตชีวา จำเป็นต้องมีความสร้างสรรค์และดูแลระบบแบบใหม่ให้มีความมั่นคง"

<< BBC >> : รายงานของสำนักข่าว BBC ต่อการเกิดรัฐประหาร "ถึงแม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณฯ ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในชนบท รูปแบบการเป็นผู้นำและการที่เป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมหาศาลก็ได้นำพาศัตรูมาได้เช่นกัน จนกระทั่งส่งผลให้ประเทศแตกแยก การเคลื่อนไหวต่อต้านในช่วงต้นปีมิได้ส่งกระทบต่อตำแหน่งของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ แต่อย่างใด และในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2549 เขาได้รับชัยชนะอย่างสบายๆ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ภายหลังได้ประกาศว่าเป็นโมฆะ มีประชาชนจำนวนมากได้กระตุ้นให้กองกำลังทหารไทยเข้าแทรก เนื่องจากทรัพย์สินและความสามารถทางการเมืองของ พ.ต.ท. ทักษิณฯ มีกำลังอย่างมากในการสนับสนุนพรรคไทยรักไทยให้ได้รับคะแนนเสียงอย่างเด็ดขาด จึงไม่มีใครสามารถเอาชนะเขาในการเลือกตั้งได้ ดังนั้น รัฐประหารจึงกลายเป็นวิธีเดียวที่จะขับให้เขาพ้นจากตำแหน่ง ปัญหาต่อมาก็คือ การเลือกโอกาสที่เหมาะสม กองกำลังทหารตกลงจะปฏิบัติอย่างรวดเร็วในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ใกล้จะมาถึงนี้ ซึ่งช่วงนั้น พตท. ทักษิณฯ ได้เดินทางไปประชุมสหประชาชาติ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปฏิบัติการ

สำหรับไทย รัฐประหารเป็นการทำให้สังคมไทยก้าวถอยหลังอย่างสำคัญ รัฐประหารไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเวลา 15 ปีแล้ว พวกเขากำลังวางแผนจะสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมั่นคง ตอนนี้ ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยรถถัง แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบอบการปกครองของประเทศนี้"

เสียงจากเกษตรกรต่อการรัฐประหาร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว BBC ได้สัมภาษณ์เกษตรกรบางคนในพื้นที่ชนบทของไทย พวกเขาแตกต่างจากคนในตัวเมือง กล่าวคือเป็นผู้สนับสนุนที่ซื่อตรงที่สุดของ พตท. ทักษิณฯ เป็นอย่างมาก แต่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว "พวกเขาได้เพียงแต่ยอมรับความจริงอย่างสงบ" มีผู้ถูกสัมภาษณ์คนหนึ่งกล่าวว่า เราเป็นชาวนา เราปลูกข้าวในนา เรายังเลี้ยงวัวและไก่สิบกว่าตัวอีกด้วย เราคิดว่าการก่อรัฐประหารโดยกลุ่มทหารในกรุงเทพฯ นี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ แม้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราจากเหตุการณ์รัฐประหารมีเพียงประการเดียว นั่นก็คือ ไม่สามารถชุมนุมกันทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปได้อีกแล้ว เราไม่ทราบว่าทหารจะอยู่บนเวทีการเมืองนานเพียงใด แต่เราเชื่อว่า ถ้ายังมีการเลือกตั้งครั้งหน้า เราจะยังคงเลือก พตท. ทักษิณฯ อีก พวกเราหวังว่าเขาจะกลับมา

ผู้ถูกสัมภาษณ์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า เรารู้สึกเสียใจกับโชคชะตาของนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ ผมคิดว่า คดีการขายหุ้นครั้งนั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชนบางกลุ่ม แต่คนจนอย่างพวกเรานี้ยังคงสนับสนุน พตท. ทักษิณฯ ชีวิตของพวกเราเหน็ดเหนื่อยมาก เราต้องตื่นนอนตีห้าทุกวัน เมื่อรีดนมวัวแล้ว ก็ต้องนำไปขายที่ตลาดยามเช้า ต่อจากนั้นตั้งแต่เวลาเช้าจนถึงบ่ายสามโมง พวกเราก็กลับไปทำนาต่อ เสร็จแล้วจึงกลับไปรีดนมวัวเพื่อนำไปขายอีกครั้ง กว่าจะทำงานเสร็จ ก็ถึงเวลากลางคืนแล้ว นายกรัฐมนตรีเคยบอกว่า เดือนหน้าเป็นต้นไป ราคานมวัวจะสูงขึ้น แต่ไม่รู้ว่าเมื่อเขาพ้นจากตำแหน่ง สัญญาที่ให้ไว้จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่

ยังมีเกษตรกรอีกคนหนึ่งกล่าวว่า เรารู้สึกขอบคุณนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเขาช่วยเหลือเรามาก เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของ พตท. ทักษิณฯ ทำให้เรามีเงินจ่ายค่ารักษาโรคได้ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดเลยที่จะให้หลักประกันการรักษาพยาบาลแก่พวกเรา มีเพียงคนในเมืองที่ทำงานมีเงินเดือน คนที่มีการงานภาคธุรกิจและงานเอกสารเท่านั้นที่ได้รับหลักประกันสุขภาพ. พตท. ทักษิณฯ ยังมีโครงการกู้ยืมเงินให้แก่พวกเราด้วย พ่อของเราได้กู้ยืมเงินมาเป็นจำนวน 3 หมื่นบาท โดยได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวพัฒนากิจการนมวัว โครงการตามนโยบายของ พตท. ทักษิณฯ ได้ช่วยเหลือพวกเราเป็นอย่างมาก ตอนนี้พวกเราไม่เพียงแต่ยังชีพด้วยการปลูกข้าวเท่านั้น หากยังชีพด้วยกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เช่น การปลูกพืชผักผลไม้ การทำฟาร์มปศุสัตว์

ตามท้องถนนในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของทักษิณ มีกองทหารประจำการอยู่ทั่วไป แต่จังหวัดเชียงใหม่ก็ยังสงบเช่นเคย การก่อเหตุจลาจลของประชาชนที่รัฐบาลทหารวิตกกังวลไม่ได้เกิดขึ้น ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว BBC กล่าวว่า นอกจากจะมองเห็นเพียงประชาชนมีสีหน้าที่สงบและนิ่งเงียบแล้ว ก็ไม่มีสัญญาณใดๆ อีกเลยที่แสดงให้เห็นว่า จะมีใครออกมาร้องทุกข์ให้กับ พตท. ทักษิณฯ ประชาชนโดยทั่วไปยอมรับความจริงของรัฐประหารครั้งนี้แล้ว

สถาปนิกวัย49 ปี ในเชียงใหม่ผู้หนึ่งกล่าวว่า เราเพียงต้องยอมรับความจริง แต่ผมไม่อาจยอมรับได้ว่า พตท.ทักษิณฯ ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เรารู้สึกเสียใจมาก เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับ พทต. ทักษิณฯ. โครงการที่จะมีประโยชน์ต่อประชาชนของ พตท. ทักษิณฯ เพิ่งเริ่มต้นขึ้น คนที่ขับไล่ พตท. ทักษิณฯ ออกไปนี้ เกรงว่าอาจจะต้องสานต่อนโยบายของ พตท. ทักษิณฯ ต่อไป เราไม่เห็นด้วยว่า พทต. ทักษิณฯ สมควรได้รับการลงโทษเช่นนี้ และเราก็ไม่เชื่อว่า พตท. ทักษิณฯ ได้ทำผิดกฎหมายจริง. เราจะติดตามดูว่า รัฐบาลทหารในที่สุดแล้วจะทำอะไรต่อไป การกระทำทั้งหมดของกลุ่มทหารนี้ เพียงแค่อยากระงับยับยั้งเสียงเรียกร้องของประชาชน

ตอนที่ 6
ภาพตามมา เกี่ยวกับการต่อต้านรัฐประหาร
ผิดไปจากครั้งแรกที่ได้ปฎิบัติโดยการนิ่งเฉย เสียงประท้วงต่อต้านการก่อรัฐประหารของชาวไทยได้เกิดขึ้นอีกไม่กี่วันต่อมา หลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารได้ 3 วัน กลุ่มนักศึกษาเป็นกลุ่มแรกสุดที่ได้ชุมนุมประท้วง มีนักศึกษาประมาณ 20 คนนั่งชุมนุมกันอย่างสงบที่ศูนย์การค้าของกรุงเทพฯ โดยเขียนที่ป้ายประท้วงมีข้อความว่า "นี่ไม่ใช่การปฎิรูป นี่คือรัฐประหาร"

มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งตีพิมพ์จดหมายจากผู้อ่านที่ประท้วงการก่อรัฐประหารว่า การใช้วิธีการมองข้ามผลการเลือกตั้งที่เป็นไปตามกฎหมายนั้น ทำให้คะแนนเลือกตั้งของคนส่วนใหญ่ไม่มีค่าเลย นี่เป็นประชาธิปไตยหรือ นี่มีความเป็นธรรมหรือ ทักษิณไม่รับการยอมรับจากพรรคฝ่ายค้านก็จริงอยู่ แต่เขาได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก บางคนอาจจะโต้แย้งว่า ที่เรียกว่าคะแนนเสียงส่วนมากนั้นก็เป็นเพียงตัวเลขจำนวนหนึ่ง แต่ประชาธิปไตยมิใช่เป็นการพิจารณาจากตัวเลขส่วนใหญ่หรือ นอกจากนี้ การที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งส่วนมากก็คือประชาชนในชนบท ต้องมาเชื่อฟังผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนน้อยที่เป็นชั้นกลางและชนชั้นสูงนั้น เป็นธรรมแล้วหรือ. วิธีการผิดหลักการอย่างนี้จะกลายเป็นตัวอย่างของการเมืองในวันหลังหรือไม่ และหากยังมีกรณีนี้เกิดขึ้นแล้ว การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีความหมายอะไร

เสียงสะท้อนต่อการรัฐประหารบนอินเตอร์เน็ต
ในขณะเดียวกัน ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันเกิดขึ้นในชุมชนอินเตอร์เนต

- Gemidise: คนที่วิพากษ์วิจารณ์ฯ พตท. ทักษิณฯ ว่า เป็นคนที่ทุจริต เป็นคนไม่ดี และสมควรไปลงนรกดีกว่า เราขอถามหน่อยว่า ใครเล่าเป็นคนดี ใครเล่าจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีกว่า พตท. ทักษิณฯ ใครเล่าจะช่วยเหลือคนจนเหมือนที่ พตท. ทักษิณฯ ช่วยเหลือ ใครเล่าจะดึงดูดการลงทุนให้กับประเทศมากมายอย่างนี้ ใครเล่าจะช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน. อย่าเก่งแต่พูด ถ้าคุณทำได้ดีอย่าง พตท. ทักษิณฯ ทำไมคุณไม่ไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีล่ะ

- Ckate: เราไม่รักเขาหรอก แต่ก็ไม่ได้เกลียดเขา แต่เราคิดว่า พตท. ทักษิณฯ ได้มีคุณูปการต่อการพัฒนาประเทศนี้ คนที่คัดค้านหรือประท้วง พตท. ทักษิณฯ เหล่านั้น เขาได้ทำคุณูปการใด ๆให้แก่ประเทศนี้บ้าง

- Blackmcdonald: เราเคยร้องเชียร์ให้ พตท. ทักษิณฯ มาก่อน แต่เมื่อปีที่แล้ว ทัศนคติของเราก็เปลี่ยนไป จริงๆ แล้ว พตท. ทักษิณฯ ได้ทำงานเพื่อพัฒนาประเทศอย่างมาก แต่รัฐบาลของ พตท. ทักษิณฯ ที่สุดแล้วก็ตกอยู่ในภาวะที่ปราศจากการควบคุมและการบริหารจัดการ พตท. ทักษิณฯ ทำให้ประเทศไม่สามารถสมัครสมานสามัคคีต่อไปได้อีก และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งและการถกเถียงอย่างไม่สมควรจะเกิดขึ้น ในที่สุด ก็นำไปสู่การก่อรัฐประหาร

- BORNfree: เราเป็นคนไทยเชื้อสายอเมริกัน เราจะกลับไปเมืองไทยทุกปี เราได้เห็นว่า พตท.ทักษิณฯ ได้ทำงานเพื่อคนยากจนเป็นอย่างมาก เช่น การซ่อมแซมถนนของชนบท เพิ่มราคาข้าวสารให้สูงขึ้น ปล่อยกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร และดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพ คำกล่าวประณามของพลเอกสนธิฯ เพียงแต่เป็นกลอุบาย ยิ่งไปกว่านั้น บางเรื่องถึงกลับน่าขบขันมาก เช่น พตท. ทักษิณฯ กำลังเป็นภัยคุกคามต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช

- Joaoofkongton: นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน พตท. ทักษิณฯ ชนะในการเลือกตั้ง แล้วทำไมมีคนบางคนกล่าวว่า มีคนเพียงจำนวนน้อยที่ชื่นชอบเขา เราคิดว่า ทุกคนย่อมต้องรู้ความหมายของการเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงประชาชนส่วนมากในประเทศไทยได้เลือก พตท. ทักษิณฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นแหละ

- Inner88: พตท. ทักษิณฯ เป็นคนทุจริตหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไร ที่สำคัญคือ กลุ่มคนที่ถืออาวุธในมือและไปบังคับให้ผู้คนเชื่อว่า พวกเขาเป็นวีรบุรุษจริง แต่ให้มองว่า พตท. ทักษิณฯ เป็นคนร้าย และที่ยิ่งแย่กว่านั้นก็คือ คนเหล่านั้นไม่เคยให้ความสนใจแก่ความสุขของประชาชน พวกเขาเห็นแก่ตัว นึกเพียงแต่จะแก้แค้น

- Korat: ถ้ามีกำลังอาวุธมาบังคับแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีระบอบประชาธิปไตย หากมองเรื่องที่ทหารได้ทำไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกขบขันเหลือเกิน

- Rbuncha: ทหารอาจจะถือว่าคนไทยนั้นโง่เหมือนวัวเหมือนควาย รู้จักแต่ไถนาเท่านั้น ถ้าฝ่ายทหารจะแก้ไขความผิดพลาดได้จริงๆ ทำไมเขายังทำตรวจสอบข่าวสารนะ ประชาชนส่วนมากในประเทศไทยจะไม่สนับสนุนการกระทำของทหารเหล่านี้

- Tutunutnut: หลังจากที่ พตท. ทักษิณฯ พ้นจากตำแหน่งแล้ว ประเทศไทยจะมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นหรือเปล่า

- Britinbkk: เราไม่ชอบ พตท. ทักษิณฯ แต่เราก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทางทหาร คนโง่เหล่านี้ยังรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมไม่มีคนเข้ามาลงทุนที่เมืองไทย หากจะมีก็มีแต่เพียงคนบ้าที่จะมาลงทุนที่ประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยได้ตายจากไปแล้ว

- Wasuvat: มีคนมากมายเชื่ออย่างโง่ๆ ว่า รัฐประหารโดยทหารจะนำมาซึ่งความชอบธรรม. พตท. ทักษิณฯ เป็นผู้ที่ประชาชนลงคะแนนเลือกตั้งด้วยตนเอง แต่เดี๋ยวนี้ พตท. ทักษิณฯ ถูกขับออกจากตำแหน่งโดยการรัฐประหาร นี่น่ะหรือคือประชาธิปไตย

- Kah064: มีรัฐประหารเกิดขึ้นที่ศตวรรษที่ 21 ทำไมผู้คนจึงไม่เข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เมื่อ 30 ปีก่อนอีกแล้ว ถ้าไม่มีอาวุธ พวกคุณก็ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น

- Artportal: เราจะร้องไห้ให้กับประเทศนี้ พวกเขาแย่งชิงอำนาจการปกครองจากประชาชนด้วยอาวุธและรถถัง

- Jeadsss: จากประสบการณ์ชีวิตของเราเป็นเวลา 45 ปี พตท. ทักษิณฯ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดของประเทศไทย

คำบอกเล่าของทักษิณ
ทุกครั้งที่มีการก่อรัฐประหาร ในช่วงเดือนแรก ผู้คนต่างก็รู้สึกประหลาดใจทั้งนั้น หนึ่งเดือนต่อมา พวกเขาจึงเพิ่งรู้เรื่อง สามเดือนต่อมา ผู้คนเริ่มสังเกตว่า คนที่ก่อรัฐประหารในที่สุดแล้วต้องการจะทำอะไรบ้าง ถ้าหากพวกเขาไม่สามารถทำอะไรๆ ดีๆ ขึ้นมาได้ ประชาชนจะเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ฝ่ายรัฐประหารก็จะเร่งรัฐสภาให้ผ่านญัตติการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นทันที มิเช่นนั้น จะรักษาสภาวการณ์ปกติให้คงอยู่ต่อไปไม่ได้ นี่ก็คือคนไทย

สนใจคลิกไปอ่านต่อบทที่ ๑๐


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73