โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 07 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๒๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 07, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

จากบริบทดังกล่าว ทำเลที่ตั้งของนครย่างกุ้งจัดว่ามีความเสี่ยงต่อการรุกรานทางทะเลซึ่งสามารถถูกยึดครองโดยกองทัพเรือต่างชาติในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนา จึงเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าในการใช้ภูเขาเป็นปราการในการรับศึก ตลอดจนเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการตั้งรับเพื่อทำสงครามกองโจรระยะยาว โดยหากวิเคราะห์ตามหลักภูมิยุทธศาสตร์ จะพบว่าหากมีสงครามเกิดขี้นจริง สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องส่งกองกำลังนาวิกโยธินเข้าปฏิบัติการในเขตพื้นทวีป เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหารและแสดงชัยชนะที่เด็ดขาด
07-08-2550

Yangon to Pyinmana
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

เข้าใจยุทธศาสตร์เพื่อนบ้าน: กรณีการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง
ทำไมพม่าต้องย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา ? (ตอนที่ ๒)
ดุลยภาค ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความวิชาการรัฐศาสตร์ชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเป็นความพยายามวิเคราะห์การย้ายเมืองหลวงของพม่า จากย่างกุ้งไปเพียงมะนา
โดยผู้เขียนได้สืบย้อนกลับไปยังความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขนบจารีต
การย้ายเมืองหลวงของพม่า เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเดียวกันในปัจจุบันอันสลับซับซ้อน
สำหรับสาระสำคัญของบทความขนาดยาวชิ้นนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญตามลำดับคือ
- การย้ายเมืองหลวงในประวัติศาสตร์พม่า
- การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา
- การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องแปลกของพม่า
- ลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างของนครหลวงแห่งใหม่
โดยในแต่ละหัวข้อได้แบ่งเป็นหัวข้อย่อย เพื่อให้ความกระจ่างอย่างสมบูรณ์

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
และเพิ่มเติมหัวข้อเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๒๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++

คลิกกลับไปตรวจสอบและทบทวนตอนที่ ๑

เข้าใจยุทธศาสตร์เพื่อนบ้าน: กรณีการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง
ทำไมพม่าต้องย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา ? (ตอนที่ ๒)
ดุลยภาค ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. การสร้างเอกภาพทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ (Spiritual and Cultural Unity): นอกจากปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหารแล้ว การย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุดยังมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม สืบเนื่องจากรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันมีแนวนโยบายที่จะสถาปนาเอกภาพทางจิตวิญญาณให้กับสหภาพพม่า (Union Spirit) โดยเห็นได้จากการปลุกระดมลัทธิราชาชาตินิยม (Monarchical Nationalism) เพื่อหวนกลับไปหาความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิพม่ายุคโบราณ การปลุกระดมลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก (Anti-Colonialism) เพื่อผลักดันการแทรกแซงจากต่างชาติและสร้างความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์ การดำเนินโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์กลุ่มโบราณสถานและราชธานีเก่าเพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนการใช้หลักโหราศาสตร์ในการประกอบพิธีสำคัญระดับชาติเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ และโน้มน้าวให้ประชาชนมีความศรัทธาในตัวผู้นำ

สำหรับการย้ายเมืองหลวงนั้นจัดเป็นส่วนหนึ่งของจารีตโบราณ และเป็นสัญญลักษณ์แห่งการเบิกยุคใหม่เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศ ตลอดจนเป็นการประกาศอำนาจของพลเอกอาวุสโส ตันฉ่วย ในฐานะผู้ปกครองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบารมีทางการเมือง

จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าได้ประยุกต์ใช้ธรรมเนียมราชสำนักโบราณ หลักโหราศาสตร์ และลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก เพื่อปรุงแต่งและเติมเต็มให้กระบวนการเคลื่อนย้ายเมืองหลวงมีความศักดิ์สิทธ์มากขึ้น ตามโลกทัศน์พม่าโดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

3.1 การปรับใช้และดัดแปลงธรรมเนียมราชสำนักโบราณ (The Adoption and Adaptation of Ancient Royal Traditions): หลังจากเหตุการณ์ประท้วงปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลทหารพม่าได้รื้อฟื้นประเพณีราชสำนักโบราณ ตลอดจนลอกเลียนแบบพฤติกรรมของกษัตริย์พม่าในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมือง และเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันกองทัพให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสถาบันกษัตริย์ในยุคจารีต ยกตัวอย่างเช่น การยกยอดฉัตรเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์สำคัญต่างๆ การบูรณะกลุ่มราชธานีเก่า เช่น พุกาม ตองอู อังวะ และหงสาวดี การหล่อพระพุทธรูป Min Dhama ที่ทำมาจากหินอ่อน ตลอดจนการครอบครองช้างเผือกซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราช และเป็นเครื่องประดับบารมีของกษัตริย์พม่าในอดีต เช่น พระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าอลองพญา และพระเจ้ามังระ

จากสภาวะดังกล่าว การย้ายเมืองหลวงไปยังนคร"เนพิดอร์" ซึ่งแปลว่า"ราชธานี" นั้นจัดว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความพยายามของพลเอกอาวุสโสตันฉ่วย ในการประกาศตัวเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นกับกษัตริย์พม่าโบราณ ตลอดจนเป็นการสร้างชื่อในประวัติศาสตร์เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศพม่า ประกาศย้ายเมืองหลวงหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ

นอกจากนี้การย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุด ยังมีความคล้ายคลึงกับประเพณีการย้ายราชธานีจากอังวะไปยังอมรปุระในสมัยพระเจ้าปดุงเมื่อปี พ.ศ. 2326 โดยหลังการสถาปนานครหลวงแห่งใหม่ พระเจ้าปดุงได้เสด็จกลับไปยังกรุงอังวะ โดยออกคำสั่งเกณฑ์ขุนนางและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เดินทางไปยังนครอมรปุระ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างจนทำให้ราษฎรต้องประสบความยากลำบากในการตั้งถิ่นฐาน

ขณะเดียวกัน พลเอกอาวุสโสตันฉ่วยได้สถาปนาราชธานีเนพิดอร์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และอีก 5 วันต่อมา ได้เดินทางกลับมายังกรุงย่างกุ้งโดยออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการทหารและพลเรือน ตลอดจนประชาชนบางส่วนอพยพไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยใครที่ฝ่าฝืนจะถูกจำคุกตั้งแต่ 3-5 ปี (13) นอกจากนี้ แหล่งข่าวในพม่ายังกล่าวว่าประชาชนบางกลุ่มถูกบังคับให้เดินโดยเท้าเปล่าจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา ซึ่งคล้ายคลึงกับไพร่ราบของกษัตริย์พม่าในอดีต ดังนั้น การย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุดจึงสะท้อนถึงการปรับใช้และดัดแปลงธรรมเนียมราชสำนักโบราณ ตลอดจนแสดงถึงมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในระบบความคิดและโลกทัศน์ของผู้นำพม่าคนปัจจุบัน

3.2 การปรับใช้และดัดแปลงหลักโหราศาสตร์ (The Adoption and Adaptation of Astrology): ผู้นำพม่าทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ อุนุ เนวิน และคณะทหารชุดปัจจุบัน ล้วนมีความเชื่อและศรัทธาในคำพยากรณ์ของนักโหราศาสตร์ เช่น การออกใช้ธนบัตรฉบับ 45 และ 90 จั๊ตในสมัยสังคมนิยม เนื่องจากตัวเลขทั้งสองหารด้วยเลข 9 ลงตัว ซึ่งเป็นเลขนำโชคของนายพลเนวิน หรือการที่กลุ่มคณะทหารชุดปัจจุบันเลือกวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1988 ตามคำแนะนำของนักพยากรณ์เพื่อทำการรัฐประหารโค่นล้มระบอบเนวิน

สำหรับการย้ายเมืองหลวงในปัจจุบันนั้น แหล่งข่าวลือในพม่ามีความเชื่อว่า โหราจารย์ประจำตัวตันฉ่วยได้ทำนายว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน ปี พ.ศ. 2548 ดาวประจำตัวของผู้นำพม่าเริ่มอับแสง อันส่งผลให้บัลลังค์แห่งอำนาจเริ่มสั่นคลอน โดยหนทางเดียวที่จะรักษาระบอบทหารคือการย้ายเมืองหลวงออกจากนครย่างกุ้ง (14)

นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2547 เขตปกครองย่างกุ้ง (Yangon Division) และเมืองต่างๆ ในเขตพม่าตอนล่างยังได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว อันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียซึ่งทำให้ยอดฉัตรของมหาเจดีย์ Mawdinsoon ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเขตย่างกุ้งหักพังทลายลงมา ซึ่งส่งผลให้คนพม่าทั่วไปมองว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวคือสัญญลักษณ์แห่งลางร้ายที่เข้าคุกคามนครย่างกุ้ง ตลอดจนตามประวัติศาสตร์การเมืองของพม่านั้น การเกิดแผ่นไหวมักจะตามมาด้วยการลุกฮือของประชาชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น

การเกิดแผ่นดินไหวในเมืองพุกาม ปี พ.ศ. 2518 ซึ่งตามมาด้วยการเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานเพื่อต่อต้านรัฐบาล หรือการเกิดแผ่นดินไหว 6.8 ริคเตอร์แถบชายแดนพม่า-อินเดียซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงโค่นล้มระบอบเนวิน ในปี พ.ศ. 2531 ดังนั้น ปัจจัยทางโหราศาสตร์จึงมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์สำคัญระดับชาติซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้พลเอกอาวุสโสตันฉ่วย ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงออกจากย่างกุ้ง

สำหรับการปรับใช้และดัดแปลงหลักโหราศาสตร์นั้น สามารถเห็นได้จากการประกาศโยกย้ายข้าราชการออกจากนครย่างกุ้งเวลา 6 นาฬิกา 37 นาที เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน (เดือน 11) ปี พ.ศ. 2548 โดยรถบรรทุกจากหน่วยงานทหารจำนวน 1,100 คัน ได้ทำการเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนกลุ่มข้าราชการพลเรือนจำนวน 11 กอง และข้าราชการทหารอีก 11 กองมุ่งตรงสู่เมืองเพียงมะนา ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเลข 6 คือเลขนำโชคของตันฉ่วยและเลข 11 คือเลขมงคลที่สัมพันธ์กับดวงเมืองของนครหลวงแห่งใหม่ ดังนั้นปัจจัยทางโหราศาสตร์จึงมีบทบาทสำคัญในการปรุงแต่งและเติมเต็มให้กระบวนการเคลื่อนย้ายเมืองหลวงมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

3.3 การปรับใช้และดัดแปลงลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก (The Adoption and Adaptation of Anti-Colonialism): ความขมขื่นจากประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมและการพังทลายของจักรวรรดิพม่า นับตั้งแต่กองทัพอังกฤษ-อินเดียยาตราทัพเข้าเหยียบย่ำราชธานีมันฑะเลย์ ยังคงอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวพม่าและกลุ่มผู้นำทหาร ซึ่งยังคงยึดติดอยู่กับลัทธิชาตินิยมและการเสริมภาพลักษณ์ของกองทัพในฐานะผู้ปกป้องมาตุภูมิจากกองกำลังต่างชาติ

นโยบายต่อต้านลัทธิอาณานิคมตะวันตก จัดเป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารมักนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความหึกเหิมให้กับกองทัพ ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาความบริสุทธิ์ของวัฒนธรรมพม่า ที่เริ่มถูกคุกคามจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการแพร่กระจายของอารยธรรมตะวันตก ยุทธศาสตร์การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนา จัดเป็นหนึ่งในกระบวนการต่อต้านและปลดแอกออกจากลัทธิอาณานิคม (Decolonization) โดยหากพิจารณาตามกรอบประวัติศาสตร์และความผันผวนของระบบโลกจะพบว่า นครย่างกุ้งไม่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงของพม่า ตามมุมมองของกลุ่มคณะทหาร เนื่องจากถูกสถาปนาโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษผู้ปล้นเอกราช ตลอดจนเคยเป็นฐานทัพที่กองทัพอังกฤษใช้เป็นหัวหาดในการขยายอิทธิพลเข้ายึดราชธานีมัณฑะเลย์ ดังนั้นกรุงย่างกุ้งจึงเป็นสัญญลักษณ์แห่งความอัปยศอดสูในประวัติศาสตร์พม่า

นอกจากนี้ย่างกุ้งยังไม่ได้ตั้งอยู่ในดินแดนหัวใจของวัฒนธรรมพม่า แถบลุ่มน้ำอิระวดีและสะโตง แต่ในทางตรงข้ามกลับตั้งอยู่บริเวณชายขอบในเขตพม่าตอนล่าง ซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลของมอญและเป็นศูนย์กลางทางการค้าเพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้กับกองทัพอังกฤษ ในขณะเดียวกันการถาโถมของวัฒนธรรมตะวันตก ที่มาพร้อมกับการขยายตัวทางการค้ารอบอ่าวเมาะตะมะ ได้ส่งผลให้ลัทธิอาณานิคมสมัยใหม่ (Neo-Colonialism) เริ่มก่อตัวคุกคามอำนาจของรัฐบาลทหาร ตลอดจนวิถีชีวิตโดยรวมของชาวพม่าในเขตย่างกุ้ง โดยเห็นได้จากการที่ประชนชนพม่าบางกลุ่มเริ่มหันมานุ่งกางเกงยีนส์แทนการนุ่งโสร่ง (Longyis) ประกอบการเริ่มมีตึกระฟ้าสมัยใหม่ผุดขึ้นกลางเมือง เคียงคู่กับกลุ่มอาคารสมัยอาณานิคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งลักษณะทางภูมิทัศน์ดังกล่าวได้ส่งผลให้นครย่างกุ้งคือจุดหลอมรวมของมรดกจากยุคอาณานิคม และการแพร่กระจายของลัทธิจักรวรรดิสมัยใหม่ ดังนั้น การย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนา จึงเป็นการถอยห่างจากอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก และเป็นการสถาปนาศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ท่ามกลางความผันผวนของระบบโลกยุคหลังสงครามเย็น

การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องแปลกของพม่า
จากการรวบรวมและวิเคราะห์เหตุปัจจัยเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงในรัฐพม่า ทำให้ทราบว่าการย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องแปลกในบริบททางประวัติศาสตร์ โดยกษัตริย์พม่ามักทำการโยกย้ายศูนย์อำนาจทางการเมืองด้วยแรงผลักดันหลายประการ เช่น การประกาศอำนาจและบารมีทางการเมือง การปัดเป่าสิ่งอวมงคลในเมืองหลวงเก่า และการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการทหารในการรับศึก

แต่อย่างไรก็ตาม การย้ายเมืองหลวงในยุคปัจจุบันต่างมีประเด็นเชิงโครงสร้างที่แตกต่างจากการย้ายเมืองหลวงยุคจารีต ตลอดจนได้รับอิทธิพลจากสภาวะแวดล้อมแบบใหม่ในยุคหลังสงครามเย็น การสถาปนานครเพียงมะนา เนพิดอร์นั้น จัดเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่าซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญสามประการ ได้แก่

- การรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร
- การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนใน และ
- การสร้างเอกภาพทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ

โดยรัฐบาลทหารได้ให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพและระบอบเผด็จการ จากบริบทดังกล่าว รัฐบาลทหารได้เผชิญหน้ากับภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบ เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในนครย่างกุ้ง, การทำสงครามกลางเมืองกับชนกลุ่มน้อย, และความกังวลใจเกี่ยวกับการโจมตีทางทะเลของสหรัฐอเมริกา. ดังนั้น การย้ายเมืองหลวงจึงเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงโดยรวม เพื่อการรักษาอำนาจของระบอบทหารยุคปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน การย้ายเมืองหลวงยังมีความสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตอนใน เช่น การขยายพื้นที่ทางการเกษตรในเขตที่ราบภาคกลาง การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในเขตภูเขา และการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง โดยเมืองหลวงแห่งใหม่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ตอนใน ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลทหารมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

นอกจากนี้ การย้ายเมืองหลวงยังถูกผลักดันด้วยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อปรุงแต่งและเติมเต็มให้กระบวนการเคลื่อนย้ายเมืองหลวงมีความศักสิทธิ์และชอบธรรมมากขึ้นตามโลกทัศน์พม่า โดยกลุ่มผู้นำทหารได้ประยุกต์ใช้ธรรมเนียมราชสำนักโบราณ หลักโหราศาสตร์ และลัทธิต่อต้านอาณานิคมตะวันตก เพื่อสร้างความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์และเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาล ในการเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นกับกษัตริย์พม่ายุคจารีต

ดังนั้น การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา จึงประกอบด้วยปัจจัยหลากหลายมิติตลอดจนเป็นยุทธศาสตร์ที่ลุ่มลึกและรอบด้าน อันส่งผลให้รัฐบาลทหารสามารถผ่องถ่ายอำนาจในการปกครองประเทศพม่าต่อไปในอนาคต สำหรับหัวข้อถัดไปจะเป็นการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์แผนผังของเมืองหลวงแห่งใหม่โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างของนครหลวงแห่งใหม่
(Physical Landscape and Urban Planning of the New Capital)

เมืองเพียงมะนาตั้งอยู่ตรงชายขอบด้านใต้บริเวณเขตแล้งของพม่า (Southern Edge of the Dry Zone) แถบลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเขตยะแมตีง (Yamethin) ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบลูกฟูกล้อมรอบด้วยเทือกเขาพะโค โยมา (Pegu Yoma) ทางด้านตะวันตกและที่ราบสูงฉานทางด้านตะวันออก (Shan Plateau) ตลอดจนมีลำคลองงะไล่ก์ (Ngalaik Creek) ไหลผ่ากลางเมืองในแนวระนาบและมีหนองชานกั่ง (Shan Kang Pond) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มีความงดงาม และเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาที่สำคัญของเมือง

นอกจากนี้ทางด้านตะวันออกของเพียงมะนา ยังเป็นจุดที่คลองงะไล่ก์ไหลไปบรรจบกับคลองสินธิ (Sinthe Creek) กลายเป็นลำน้ำที่ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้แล้วไปบรรจบกับแควปองลอง (Paungloung) ซึ่งไหลมาจากที่ราบสูงฉาน กลายเป็นแม่น้ำสะโตงสายหลักซึ่งไหลลงใต้ไปยังเมืองตองอูและอ่าวเมาะตะมะ ดังนั้นเมืองเพียงมะนาจึงมีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำและมีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร ตลอดจนมีความเหมาะสมสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนผ่านระบบเครือข่ายของลำน้ำสะโตงและสาขา

นอกจากนี้การเป็นเมืองที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาและอยู่ไม่ไกลจากรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง และรัฐคะยาห์ในเขตชายแดนตะวันออก ยังส่งผลให้เมืองเพียงมะนามีความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์ทางการทหารโดยการใช้โครงสร้างภูเขาเป็นปราการในการรับศึก และเพิ่มความคล่องตัวในการเคลื่อนกำลังพลเข้าประชิดเขตแดนของชนกลุ่มน้อย ตลอดจนกลายเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมป่าไม้ที่สำคัญของพม่าโดยเฉพาะไม้สักและไม้แดง

สำหรับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์นั้น เมืองเพียงมะนาเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยที่พม่าปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ โดยหลังจากการล่มสลายของกรุงพุกาม ชาวพม่าได้อพยพลี้ภัยจากการคุกคามของพวกไทยใหญ่เข้ามายังดินแดนอันเป็นที่ตั้งของเมืองเพียงมะนาในปัจจุบัน แล้วตัดเข้าสู่เมืองตองอูในเขตลุ่มน้ำสะโตง นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังประกอบด้วยชุมชนยุทธศาสตร์ขนาดเล็ก (Small Strategic Communities) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของชาวพม่าในการต่อต้านการล่าทาส (Slave Raid) จากพวกกะเหรี่ยงและคะเรนนีย์ ตลอดจนยังเคยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิพม่าครั้งที่สองในสมัยราชวงศ์ตองอู

ในอดีตเมืองเพียงมะนาถูกเรียกขานในชื่อต่างๆ เช่น แหน่จาง หรือ แหน่ฉาง (Ne Kyang) ซึ่งหมายถึง "ดินแดนละเว้น" (15) สืบเนื่องจากบริเวณรอบๆ เมืองเต็มไปด้วยป่าทึบ หนองน้ำและที่ชื้นแฉะ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคม และทำให้เมืองเพียงมะนามักถูกละเว้นจากการเก็บส่วยและภาษีท้องที่ นอกจากนี้เพียงมะนายังเคยถูกเรียกว่า นีงจาง (Nin Kyang) ซึ่งหมายถึง "สะพานข้าม" เนื่องจากท่าน้ำของเมืองเพียงมะนา จะมีสะพานทอดข้ามคลองงะไล่ก์เพื่อติดต่อค้าขายกับเมืองหยั่วเก้าก์ยะ (Ywa Kauk Yat) ซึ่งเป็นตลาดการค้าบริเวณฝั่งตรงข้ามทางด้านเหนือของคลอง (16)

ต่อมาในสมัยอาณานิคม กลุ่มข้าหลวงชาวอังกฤษได้ทำการสำรวจบริเวณเมืองเพียงมะนา จนนำไปสู่การค้นพบร่องรอยของเครือข่ายชลประทานโบราณ เช่น เขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ เลาะเลียบไปตามลำน้ำสะโตงและแควปองลอง ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตรและสถานีวิจัยพันธุ์ข้าวและป่าไม้รอบๆ เมืองเพียงมะนาและยะแมตีง. ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองเพียงมะนาจัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่นายพลอองซาน (Aung San) ใช้เป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศโดยรวมประกอบด้วยป่าทึบ และเทือกเขาสูง ซึ่งสะดวกต่อการซุ่มโจมตีและทำสงครามกองโจรกับกองทัพญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการเคลื่อนกำลังพลไปยังเขตแดนของชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนตะวันออก

จากการศึกษาลักษณะทางกายภาพและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่าเมืองเพียงมะนาเริ่มก่อตัวขึ้นจากชุมชนเล็กๆ ในเขตลุ่มน้ำสะโตง ตอนบน โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์จัดเป็นปัจจัยผลักดันที่ส่งเสริมให้เพียงมะนากลายเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์และการเกษตร ในเขตพม่าภาคกลาง ซึ่งส่งผลให้มีศักยภาพพอสมควรในการเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า

สำหรับกระบวนการก่อสร้างนั้น ถึงแม้ว่าการสถาปนานครหลวงแห่งใหม่จะเริ่มเมื่อปลายปี พ.ศ. 2548 แต่โครงการก่อสร้างเครือข่ายคมนาคม ระบบชลประทาน การจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ตอนใน และการก่อสร้างค่ายทหารทั่วเขตพม่าภาคกลาง ได้เริ่มก่อตัวขึ้นรอบเมืองเพียงมะนาและเมืองสำคัญต่างๆ เช่น Meiktila Mandalay และ Pyin Oo Lwin เป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการปกครอง และแผ่อำนาจทางการทหารให้เข้าถึงทุกภาคส่วนของประเทศ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน โดยมีภาคมัณฑะเลย์ (Mandalay Division) ซึ่งเป็นเขตการปกครองที่เมืองเพียงมะนาตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและการพัฒนา

สำหรับโครงสร้างผังเมืองนั้น นครหลวงแห่งใหม่จัดว่ามีเนื้อที่ประมาณ 400 ตารางไมล์ กินอาณาบริเวณในแนวระนาบ (Horizontal Line) ตั้งแต่ชายขอบเทือกเขาพะโค โยมาทางทิศตะวันตกจนถึงที่ราบสูงฉานทางทิศตะวันออก และในแนวดิ่ง (Vertical Line) ตั้งแต่ชายขอบบ้านตะกอน (Tatkon) ทางทิศเหนือจนถึงบ้านเอลา (Ela) ทางด้านใต้

ผลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมและแผนที่เมืองใหม่ซึ่งจัดทำโดยรัฐบาลพม่า ทำให้ทราบว่า นครหลวงแห่งใหม่ประกอบด้วยสามเมืองหลัก ได้แก่ เพียงมะนาซึ่งเป็นเขตเมืองเก่าและที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยชาวพม่าที่นับถือศาสนาพุทธ ชาวมุสลิมและชาวจีนตามลำดับ เนพิดอร์ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียงมะนาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 11 กิโลเมตร โดยมีสถานภาพเป็นเมืองหลวงและที่อยู่อาศัยของข้าราชการพลเรือน และศูนย์บัญชาการภาคเนพิดอร์ (Naypyidaw Command Center) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเพียงมะนาโดยมีสถานภาพเป็นเมืองทหาร (Garrison City) และที่ทำการของกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้กลุ่มรัฐบาลทหารพม่ายังได้ทำการพัฒนาเมืองบริวารทั้งสี่ (Satellite Cities) ซึ่งประกอบด้วยบ้านตากอนทางทิศเหนือ, บ้านยวาดอร์ (Ywadaw) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ, บ้านเหล่เว (Lewe) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้, และบ้านเอลา (ที่ตั้งของสนามบิน Ela) ทางทิศใต้, เพื่อสถาปนาให้เป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่ทำหน้าที่ป้องกันและคุมปากทางเข้าสู่เมืองหลวงทั้งสี่ทิศ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของเมืองเพียงมะนา เนพิดอร์ และศูนย์บัญชาการภาคนั้น ประกอบด้วยระบบโครงสร้างผังเมืองที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. เมืองเพียงมะนา
2. เมืองเนพิดอร์
3. ศูนย์บัญชาการภาคเนพิดอร์

1. เมืองเพียงมะนา : จัดเป็นเมืองที่มีลักษณะกระชับ (Compact) ได้สัดส่วนโดยมีคลองงะไล่ก์ตัดขวางในแนวระนาบ และทางรถไฟกับทางด่วนสายย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ตัดผ่านในแนวดิ่ง จากลักษณะดังกล่าวทำให้ตัวเมืองเพียงมะนา ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยมีเส้นทางรถไฟเป็นแนวแบ่งเขต โดยซีกตะวันตกของทางรถไฟจะมีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่หนาแน่นมากนัก และเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วัดเจดีย์ Lawkayanhnein และ วัดเจดีย์ Lawkamayazein ในขณะที่ซีกตะวันออกจะมีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่น โดยเฉพาะตรงเขตตลาดเทศบาล

สำหรับความโดดเด่นของบริเวณดังกล่าวคือลักษณะผังเมืองแบบตารางหมากรุก ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบการตั้งถิ่นฐานที่ค่อนข้างเป็นระเบียบ ตลอดจนมีการกระจายตัวของสถานที่ราชการบางแห่ง เช่น กรมจัดการทรัพยากรน้ำ กรมบริหารกิจการขนส่ง และโรงเรียนวิทยาการเกษตร นอกจากนี้ ทางด้านตะวันออกของเมืองยังจัดว่าเป็นดินแดนหัวใจของการพัฒนาเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นที่ตั้งของเขื่อนเยซิน(Yezin) วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยป่าไม้ วิทยาลัยสัตวบาล ตลาดประมงน้ำจืด กรมวิจัยทางการเกษตร โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนปองลอง ตลอดจนโรงงานน้ำตาล และแปลงเพาะปลูกทางการเกษตร เช่น ข้าว งา ถั่ว และข้าวโพดเรียงรายไปตามสองฝั่งของแม่น้ำสะโตงและแควปองลอง

2. เมืองเนพิดอร์ : จัดเป็นนครหลวงที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษทั้งในเชิงของโครงสร้างผังเมืองและรูปแบบสถาปัตยกรรม โดยกลุ่มรัฐบาลทหารพม่าได้ทำการออกแบบเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง และโครงข่ายการตั้งถิ่นฐานของข้าราชการพลเรือนอย่างเป็นระบบได้สัดส่วน เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการบริหารและการพัฒนา ตลอดจนเพิ่มความคล่องตัวในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อมีการเคลื่อนขบวนต่อต้านรัฐบาล นครเนพิดอร์สามารถแบ่งออกได้เป็นสามส่วนหลัก

- โดยส่วนแรกตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเมืองติดกับเขื่อน Chaungmagyi ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาสำคัญในเขตเมืองหลวง บริเวณดังกล่าวประกอบด้วยสถานที่สำคัญเช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสหกรณ์ กระทรวงปศุสัตว์ ตลอดจนสนามกอล์ฟของกลุ่มนายพล ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยสายน้ำงะไล่ก์และทะเลสาบเขื่อน Chaungmagyi

- สำหรับส่วนที่สองนั้นตั้งอยู่ทางตอนกลางของเมือง ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลพลเรือนขนาด 1,000 เตียง ตลาดกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนโรงละครและหอสมุดแห่งชาติ

- สำหรับส่วนที่สามนั้นตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเมืองติดกับเขื่อน Yanaungmyin โดยบริเวณดังกล่าวถูกออบแบบให้มีลักษณะเป็นตารางหมากรุก และมีการประมูลที่ดินเพื่อให้บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบกิจการ เช่น โรงแรม ร้านขายของ ตลอดจนเป็นที่ตั้งของกลุ่มสถานทูตและสวนสาธารณะซึ่งถูกตกแต่งอย่างสวยงาม

ความโดดเด่นของนครเนพิดอร์คือลักษณะผังเมืองที่เป็นระเบียบ และสิ่งก่อสร้างที่มีความใหญ่โตและสง่างาม ตลอดจนการจัดวางสถานที่ราชการใกล้กับวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างชุมชนพลเรือนกับกิจกรรมทางศาสนา นอกจากนี้ ลักษณะของกลุ่มอาคารของกระทรวงต่างๆ ยังมีรูปร่างคล้ายแมลงป่องซึ่งตามหลักโหราศาสตร์พม่า จัดเป็นสัญญลักษณ์แห่งอำนาจและเป็นแก้เคล็ดเพื่ออำนวยความเป็นสิริมงคลให้กับผู้ปกครอง

3. ศูนย์บัญชาการภาคเนพิดอร์: จัดเป็นชุมชนยุทธศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเพียงมะนา โดยถูกขนาบด้วยทะเลสาบเขื่อนเยซินทางด้านตะวันตก และที่ราบสูงฉานทางด้านตะวันออก โดยรัฐบาลทหารพม่าได้ทำการสร้างกระทรวงกลาโหมและค่ายทหารเป็นจำนวนมาก ตลอดจนทำการขุดอุโมงค์และติดตั้งเครื่องต่อสู้อากาศยาน เรียงรายกันไปตามหุบเขาในเขตที่ราบสูงฉาน ตลอดจนขยายเครือข่ายการคมนาคมออกเป็นสองทิศทาง โดยสายที่หนึ่งจัดเป็นเครือข่ายในแนวดิ่งเริ่มจากศูนย์บัญชาการภาค ตัดตรงขึ้นไปยังเมือง Meiktila อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศ Shante ซึ่งประกอบด้วยฝูงเครื่องบินรบจากจีนและรัสเซีย จากนั้นจึงเชื่อมโยงไปยังเมือง Pyin Oo Lwin อันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (Defense Services Academy-DSA) และหมู่บ้านยุทธศาสตร์ทางการทหาร (Yadanabon Silicon Village) (17) ซึ่งถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางเครือข่ายโทรคมนาคมป้องกันภาคพื้นทวีป

สำหรับสายที่สองจัดเป็นเครือข่ายในแนวระนาบ โดยกลุ่มรัฐบาลทหารได้ทำการดัดแปลงที่ราบสูงฉานให้กลายเป็นชุมชนค่ายทหาร เพื่อสร้างระบบป้องกันทางอากาศตลอดจนขยายเส้นทางคมนาคมเพื่อแผ่อำนาจเข้าควบคุมชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนตะวันออก สำหรับความโดดเด่นของศูนย์บัญชาการภาคเนพิดอร์คือ การสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของพระเจ้าอโนรธา บุเรงนอง และอลองพญาในเขตกระทรวงกลาโหม เพื่อสร้างความหึกเหิมและปลุกระดมลัทธิราชาชาตินิยมให้กับกองทัพพม่า ตลอดจนการใช้ที่ราบสูงและทะเลสาบเป็นปราการในการรับศึก

จากการวิเคราะห์ลักษณะโครงสร้างของศูนย์บัญชาการภาคทำให้ทราบว่า รัฐบาลทหารได้สร้างเครือข่ายทางยุทธศาสตร์ครอบคลุมทั่วเขตลุ่มน้ำสะโตงตอนบน และภาคมัณฑะเลย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนกำลังพลทั่วพม่าภาคกลาง และเขตชายแดนซึ่งทำให้รัฐบาลทหารมีความเข้มแข็งในการรวมกำลังหากมีการรุกรานจากข้าศึก ตลอดจนมีสมรรถนะในการขยายอำนาจทางการทหารเข้าปกคลุมหัวเมืองต่างๆในเขตภาคพื้นทวีป


แผนที่แสดงลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างของนครหลวงแห่งใหม่
สัญญลักษณ์ 1 = เพียงมะนา 2 = เนพิดอร์ 3 = ศูนย์บัญชาการภาคเนพิดอร์ 4 = บ้านเอลา 5 = บ้านเหล่เว
6 = บ้านยวาดอร์ 7 = บ้านตะกอน 8 = เขื่อน Chaungmagyi 9 = เขื่อนเยซิน
10 = แม่น้ำสะโตง 11 = เทือกเขาพะโค โยมา 12 = ที่ราบสูงฉาน
ดัดแปลงจาก Google Earth Program Version 4.0.2736



ภาพบนลักษณะบ้านเรือนริมคลองงะไล่ก์กลางเมืองเพียงมะนา
ภาพล่าง หอพักข้าราชการพลเรือนในเมืองเนพิดอร์

แหล่งที่มา: www.mingalaronline.net/story/new_myanmar_capi...

บทสรุป

จากการศึกษาเหตุปัจจัยเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา ทำให้ได้ข้อสรุปว่านครย่างกุ้งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงในสหัสวรรษใหม่ สืบเนื่องจากปัญหาหลากหลายประการ โดยทำเลที่ตั้งบริเวณชายขอบ ส่งผลให้นครย่างกุ้งขาดคุณสมบัติในการเป็นเมืองหลวงทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเสี่ยงต่อการรุกรานทางทะเลและอำนาจของรัฐบาลในการควบคุมดินแดนตอนในขาดความเข้มข้น เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศและห่างไกลจากเขตชายแดนของชนกลุ่มน้อย ตลอดจนยังเป็นแหล่งเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่ต้องการโค่นล้มอำนาจของรัฐบาล สภาวะแวดล้อมดังกล่าวได้ส่งผลให้นครย่างกุ้งไม่สามารถเป็นฐานที่มั่นทางการเมืองและการทหารให้กับคณะทหารชุดปัจจุบัน นอกจากนี้ย่างกุ้งยังไม่สามารถเป็นตัวแทนของความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากถูกสถาปนาโดยกองทัพอังกฤษ ผู้ปล้นเอกราชและเริ่มถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมตะวันตกที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์ และลัทธิอาณานิคมสมัยใหม่

สำหรับกระบวนการคัดเลือกเมืองหลวงนั้น รัฐบาลทหารมองว่าบริเวณตอนใต้ของภาคมัณฑะเลย์แถบลุ่มน้ำสะโตงตอนบน จัดว่าเป็นดินแดนหัวใจทางยุทธศาสตร์เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากแหล่งเกษตรกรรมในเขตที่ราบภาคกลาง และแหล่งเครือข่ายพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในเขตภูเขา ตลอดจนเป็นชุมทางของเครือข่ายคมนาคมที่เชื่อมต่อกับทุกส่วนภาคของประเทศ นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยขุนเขา ซึ่งเหมาะสมกับการสถาปนาให้เป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางการทหาร ตลอดจนยังเป็นดินแดนที่เคยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิตองอู และเป็นบริเวณที่กองทัพพม่ารบชนะกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลดีต่อการสร้างความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์

ดังนั้นเมืองเพียงมะนาจึงมีความเหมาะสมในการเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า ทั้งทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สำหรับในเชิงโครงสร้างผังเมืองนั้น จะพบว่า นครหลวงแห่งใหม่ถูกออกแบบให้ประกอบด้วยสามเมืองหลักและสี่เมืองบริวาร ซึ่งเป็นการแบ่งแยกประชาชน ข้าราชการพลเรือน และข้าราชการทหารออกจากกัน อันส่งผลให้ง่ายต่อการควบคุมและสั่งการ (Command and Control) ตลอดจนมีการวางเครือข่ายป้องกันเมืองหลวงควบคู่กับเครือข่ายการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วเขตภาคพื้นทวีป

นอกจากนี้ การสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และการสร้างตัวอาคารเป็นรูปแมลงป่องยังสะท้อนถึงอิทธิพลของลัทธิราชาชาตินิยม และหลักโหราศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการก่อสร้างเมืองหลวงของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ดังนั้นจึงกล่าวสรุปได้ว่าเมืองเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของสหภาพพม่า มีความเหมาะสมทั้งทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงของการรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร การพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน และการสถาปนาเอกภาพทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลทหารพม่ามีอำนาจที่เข้มแข็งในการบริหารและปกครองสหภาพพม่าต่อไปในอนาคต

ท้ายที่สุด ผู้เขียนอยากแสดงทรรศนะเพิ่มเติมว่ายุทธศาสตร์การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนา จัดว่าเป็นตัวสะท้อนถึงการเบิกยุคใหม่ของพม่า และเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างจักรวรรดิพม่าครั้งที่สี่ (Fourth Burmese Empire) เพื่อผลักดันให้พม่าเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยควรจับตามองพัฒนาการของเมืองหลวงแห่งใหม่เป็นพิเศษ เนื่องจากอยู่ห่างจากชายแดนไทยทางด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพียงแค่ประมาณ 200 กิโลเมตร ตลอดจนส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสัมพันธ์ไทย-พม่าในอนาคตทั้งในเชิงการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และสังคม

+++++++++++++++++++++++++++++++

จบตอนที่ ๒ คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑

เชิงอรรถ

(1) Nanda Kyaw Thu, "Tyranny of the Absurd Assessing the Implications of the Pyinmana Move," Burma Issues on the Web, January 2006, <http://www.burmaissues.org/En/Newsletter/BINews2006-01-01.html> (18 March 2006).

(2) ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอใช้ชื่อเพียงมะนาแทนชื่อเมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่าเพื่อความสะดวกในการนำเสนอเนื้อหา

(3) Dulyapak Preecharushh, "Myanmar's Capital Relocation from Yangon to Pyinmana Naypyidaw" (M.A. Thesis, Chulalongkorn University, Southeast Asian Studies Centre, 2007), 22.

(4) Arthur Purves Phayre, History of Burma (Bangkok: White Orchid, 1998), 233.

(5) Dulyapak Preecharushh, "Myanmar's Capital Relocation from Yangon to Pyinmana Naypyidaw", 43.

(6) Myanmar Backgrounder: Ethnic Minority Politics, International Crisis Group (ICG), 7 May 2003.

(7) สัมภาษณ์อาจารย์พรพิมล ตรีโชติ นักวิชาการด้านชนกลุ่มน้อยในพม่า ณ สถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เดือนเมษายน พ.ศ. 2550.

(8) David I. Steinberg, Burma: The State of Myanmar (Washington D.C.: Georgetown University Press, 2001), 293.

(9) Maung Aung Myoe, "The Road to Naypyitaw: Making Sense of the Myanmar Government's Decision to Move its Capital," ARI working paper, no. 79, November 2006, <www.ari.nus.edu.sg/pub/wps.htm.> (20 June 2007).

(10) Clive Parker, "Inside Myanmar's Secret Capital," Asia Times on the Web, 30 October 2006, <http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/HJ28Ae01.html> (11 January 2007).

(11) Dulyapak Preecharushh, "Myanmar's Capital Relocation from Yangon to Pyinmana Naypyidaw", 59.

(12) Nanda Kyaw Thu, "Govt Goodbyes Gas for Hydropower," The Myanmar Times on the Web, 15 July 2006, <http://www.myanmar.com/myanmartimes/MyanmarTimes17-324/b001.htm> ( 22 July 2006).

(13) Myint Shwe, "The Move to Pyinmana," Bangkok Post on the Web, 4 December 2005, <http://www.bangkokpost.com/Perspective/04Dec2005_pers01.php> (1 January 2006).

(14) Richard C. Paddock, "Abrupt Relocation of Burma Capital linked to Astrology,"The Boston Globes on the Web, 1 January 2006, <http://www.boston.com/news/world/asia/articles/2006/01/01.shtml> (5 June 2006).

(15) อรนุช นิยมธรรม, "ย้อนอดีต "เปียงมะนา" ราชธานีแห่งใหม่ของสหภาพพม่า," รู้จักพม่า, มหาวิทยาลัยนเรศวร,
23 เมษายน พ.ศ. 2549, หน้า 2.

(16) เพิ่งอ้าง

(17) Clive Parker, "Inside Myanmar's Secret Capital," Asia Times on the Web, 30 October 2006, <http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/HJ28Ae01.html> (11 January 2007).

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


เอกสารอ้างอิงภาษาอังกฤษ

Aung-Thwin, Michael. Irrigation in the Heartland of Burma: Foundations of the Pre-
Colonial Burmese State. Northern Illinois University, 1990.

Ball, Desmond. Burma's Military Secrets: Signals Intelligence (SIGINT) from 1941 to
Cyber Warfare. Bangkok: White Lotus, 1998.

Cady, John F. A History of Modern Burma. Ithaca: Cornell University Press, 1969.

Callahan, Mary P. Making Enemies: War & State Building in Burma. Ithaca: Cornell
University Press, 2003.

Dulyapak Preecharushh, "Myanmar's Capital Relocation from Yangon to Pyinmana
Naypyidaw." M.A. Thesis, Chulalongkorn University, Southeast Asian
Studies Centre, 2007.

Fink, Christina. Living Silence: Burma under Military Rule. London: Zed Books,
2001.

Hall, D.G.E. Burma. London: Hutchinson's University Library, 1988.

International Crisis Group (ICG). Myanmar Backgrounder: Ethnic Minority Politics.
7 May 2003.

Lieberman, Victor B. Burmese Administrative Cycle: Anarchy and Conquest,
C. 1580-1760. New York: Princeton University Press, 1984.

Maung Aung Myoe. Building the Tatmadaw: the Organizational Development of the
Armed Forces in Myanmar, 1948-98. Australian National University:
Strategic& Defence Studies Centre, 1998.

Phayre, Sir Arthur. History of Burma. Bangkok: White Orchid, 1998.

Seekins, Donald M. The Disorder into Order: The Army State in Burma since 1962.
Bangkok: White Lotus, 2002.

Selth, Andrew. Burma: A Strategic Perspective. San Francisco: The Asia Foundation,
2001.

Selth, Andrew. Transforming the Tatmadaw: The Burmese Armed Forces since 1988.
Australian National University: Strategic and Defence Studies Centre, 1996.

Silverstein, Josef. Burma: Military Rule and the Politics of Stagnation. Ithaca:
Cornnell University Press, 1977.

Steinberg, David. The State of Myanmar. Washington D.C.: Georgetown University
Press, 2001.

Taylor, Robert. The State in Burma. London: Hurst & Company, 1987.


สื่อออนไลท์ภาษาอังกฤษ

Aung-Thwin, Michael. "From Rangoon to Pyinmana." Burmanet News on the Web,
26 November 2005.
<http://www.burmanet.org/news/2005/11/28/bangkok-post-from-
rangoon-to-pyinmana.> (15 December 2005)

Aung Zaw. "Behold a New Empire." The Irrawaddy on the Web, 14 October 2006.
<http://www.irrawaddymedia.com/article.php?art_id=6426>
(17 November 2007).

Maung Aung Myoe. "The Road to Naypyitaw: Making Sense of the Myanmar
Government's Decision to Move its Capital." ARI Working Paper on the Web,
no.79, November 2006.
<www.ari.nus.edu.sg/pub/wps.htm.> (20 June 2007).

Maung Chan. "Burma Capital Moves to Pyinmana, WHY?" Boxun News on the Web,
11 November 2005.
< http://www.peacehall.com/news/gb/english/2005/11/200511110401.shtml>
(12 December 2005).

Myint Shwe. "The Move to Pyinmana." Bangkok Post on the Web, 4 December 2005.
<http://www.bangkokpost.com/Perspective/04Dec2005_pers01.php>
(1 January 2006).

Nanda Kyaw Thu. "Govt Goodbyes Gas for Hydropower." The Myanmar Times on
the Web, 15 July 2006. <http://www.myanmar.com/myanmartimes/MyanmarTimes17-324/b001.htm>
(22 July 2006).

Nanda .Kyaw Thu. "Tyranny of the Absurd Assessing the Implications of the
Pyinmana Move." Burma Issues on the Web, January 2006.
<http://www.burmaissues.org/En/Newsletter/BINews2006-01-01.html>
(18 March 2006).

Paddock, Richard C. "Abrupt Relocation of Burma Capital linked to Astrology."
The Boston Globes on the Web, 1 January 2006.
<http://www.boston.com/news/world/asia/articles/2006/01/01/abrupt_relocation
_of_burma_capital_linked_to_astrology/> (5 June 2006).

Parker, Clive. "Inside Myanmar's Secret Capital." Asia Times on the Web,
28 October 2006.
<http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/HJ28Ae01.html>
(11 January 2007).

จบตอนที่ ๒ คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com