โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 06 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๒๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 06, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

จากบริบทดังกล่าว ทำเลที่ตั้งของนครย่างกุ้งจัดว่ามีความเสี่ยงต่อการรุกรานทางทะเลซึ่งสามารถถูกยึดครองโดยกองทัพเรือต่างชาติในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนา จึงเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าในการใช้ภูเขาเป็นปราการในการรับศึก ตลอดจนเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการตั้งรับเพื่อทำสงครามกองโจรระยะยาว โดยหากวิเคราะห์ตามหลักภูมิยุทธศาสตร์ จะพบว่าหากมีสงครามเกิดขี้นจริง สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องส่งกองกำลังนาวิกโยธินเข้าปฏิบัติการในเขตพื้นทวีป เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหารและแสดงชัยชนะที่เด็ดขาด
06-08-2550

Yangon to Pyinmana
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

เข้าใจยุทธศาสตร์เพื่อนบ้าน: กรณีการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง
ทำไมพม่าต้องย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา ? (ตอนที่ ๑)
ดุลยภาค ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความวิชาการรัฐศาสตร์ชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเป็นความพยายามวิเคราะห์การย้ายเมืองหลวงของพม่า จากย่างกุ้งไปเพียงมะนา
โดยผู้เขียนได้สืบย้อนกลับไปยังความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขนบจารีต
การย้ายเมืองหลวงของพม่า เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเดียวกันในปัจจุบันอันสลับซับซ้อน
สำหรับสาระสำคัญของบทความขนาดยาวชิ้นนี้ ประกอบด้วยหัวข้อสำคัญตามลำดับคือ
- การย้ายเมืองหลวงในประวัติศาสตร์พม่า
- การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา
- การย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องแปลกของพม่า
- ลักษณะทางกายภาพและโครงสร้างของนครหลวงแห่งใหม่
โดยในแต่ละหัวข้อได้แบ่งเป็นหัวข้อย่อย เพื่อให้ความกระจ่างอย่างสมบูรณ์

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
และเพิ่มเติมหัวข้อเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๒๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เข้าใจยุทธศาสตร์เพื่อนบ้าน: กรณีการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง
ทำไมพม่าต้องย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา ? (ตอนที่ ๑)
ดุลยภาค ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แผนที่แสดงเมืองหลวงเก่าย่างกุ้งและเมืองหลวงใหม่เพียงมะนาของพม่า (ปรับปรุงจากต้นฉบับ)
เมืองหลวงเพียงมะนา ห่างจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทยราว ๒๐๐ กิโลเมตร


ความนำ: ทำไมพม่าต้องย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา?
(Why Myanmar Moved the Capital from Yangon to Pyinmana?)

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้งไปยังเมืองเพียงมะนา (Pyinmana) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบน (Upper Sittang Valley) ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางทิศเหนือประมาณ 350 กิโลเมตร โดยให้เหตุผลว่า เมืองเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของสหภาพพม่า มีความเหมาะสมทั้งทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ (1)

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549 อันเป็นวันกองทัพพม่า นครหลวงแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่ตรงหมู่บ้านจั๊ตปเย (Kyatpyae) ทางด้านตะวันตกในเขตเมืองเพียงมะนา ได้ถูกสถาปนาอย่างเป็นทางการโดยมีชื่อว่า "กรุงเนพิดอร์" (Naypyidaw หรือ Nay Pyi Taw) ซึ่งแปลว่า ราชธานี หรือ บัลลังค์แห่งกษัตริย์. จากบริบทดังกล่าว เนพิดอร์ คือ ชื่อของเมืองหลวงแห่งใหม่ซึ่งถูกรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหารพม่า ในขณะที่เพียงมะนา คือ ชื่อของเมืองและเขตการปกครองอันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง (2)

สำหรับสาเหตุของการสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่นั้น จัดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและมีการตีความกันไปหลากหลายแนวทาง โดยต่อไปนี้ ผู้เขียนจะขอทำการรวบรวมและวิเคราะห์เหตุปัจจัยว่าด้วยการย้ายเมืองหลวงของรัฐพม่า ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้เชิงสหวิทยาการอย่างเป็นระบบ เพื่อฉายภาพการวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกและรอบด้านโดยมีขอบข่ายการนำเสนอ ดังต่อไปนี้

การย้ายเมืองหลวงในประวัติศาสตร์พม่า
(Capital Relocation in Burmese History)


การจะทำความเข้าใจการย้ายเมืองหลวงในปัจจุบัน จำเป็นต้องทำการศึกษาวิวัฒนาการของการย้ายเมืองหลวงในอดีต เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับลักษณะของรัฐพม่ายุคโบราณ ตลอดจนเหตุปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการโยกย้ายราชธานีของกษัตริย์พม่า โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

เครือข่ายของชุมชนโบราณและเมืองหลวงส่วนใหญ่ของพม่าในอดีตมักตั้งอยู่ในบริเวณเขตแล้งแถบลุ่มแม่น้ำ อิระวดีและสะโตง (Dry Zone) ซึ่งจัดเป็นดินแดนหัวใจของประวัติศาสตร์พม่ายุคราชวงศ์ โดยเฉพาะบริเวณเขต ปลูกข้าวแถบเจ้าเซ (Kyaukse) และมินบู (Minbu) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเกษตร และมีการค้นพบการกระจุกตัวของกลุ่มราชธานีเก่าเลาะเลียบไปตามชายฝั่งแม่น้ำอิระวดี อาทิเช่น กรุงพุกาม (Pagan) อังวะ (Ava) อมรปุระ(Amarapura) และมัณฑะเลย์ (Mandalay) สำหรับการย้ายเมืองหลวงนั้น จัดว่าเป็นเรื่องปกติในบริบททางประวัติศาสตร์โดยกษัตริย์พม่า มักทำการโยกย้ายศูนย์อำนาจทางการเมืองด้วยแรงผลักดันหลายประการ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นห้าปัจจัยหลักดังต่อไปนี้

1. การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการทหารในการรับศึก
2. การประกาศอำนาจทางการเมืองและความขัดแย้งในราชสำนัก
3. อิทธิพลจากพุทธทำนายและหลักโหราศาสตร์
4. การขยายพื้นที่ทางการเกษตรและพัฒนาดินแดนตอนใน
5. การค้าระหว่างประเทศและการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

1. การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการทหารในการรับศึก: รัฐพม่าในยุคโบราณจัดว่ามีลักษณะเป็นรัฐทหาร (Military State) เนื่องจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์และการทำสงครามขับเคี่ยว ยื้อแย่งดินแดนระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ (Shan) มอญ (Mon) และอาระกัน (Arakanese) ความขัดแย้งดังกล่าวได้ส่งผลให้ราชอาณาจักรพม่า มักดำเนินนโยบายขยายแสนยานุภาพทางการทหาร เพื่อป้องกันและปราบปรามชนกลุ่มน้อย ตลอดจนกรีฑาทัพเข้ารุกรานประเทศเพื่อนบ้าน โดยกษัตริย์พม่ามักทำการโยกย้ายเมืองหลวงเพื่อรวมกำลังในเขตภาคพื้นทวีป (Continental Zone) เมื่อเมืองหลวงเก่าถูกทำลายจากกองกำลังต่างชาติ

ยกตัวอย่างเช่น หลังการล่มสลายของอาณาจักรพุกามโดยการบดขยี้ของกองทัพมองโกลในปี พ.ศ. 1830 และการแผ่อิทธิพลของชนเผ่าไทยใหญ่ในเขตพม่าตอนบน (Upper Burma) เมืองตองอู (Taungoo) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตง ได้กลายเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มผู้อพยพชาวพม่าที่หนีภัยจากการครองอำนาจของพวกไทยใหญ่ และได้ถูกสถาปนาขึ้นป็นเมืองหลวงแห่งใหม่เพื่อการรวมชาติและสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพพม่าหลังการแตกดับของกรุงพุกาม

หรือหลังจากการล่มสลายของกรุงหงสาวดี (Pegu) ในปี พ.ศ. 2142 โดยการโจมตีของกองทัพอาระกัน และการคุกคามจากกองทัพสยามในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เจ้านยองยาน (Nyaungyan) ซึ่งเป็นน้องชายของพระเจ้านันทบุเรง ได้ทำการสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ในเขตพม่าตอนบน และสถาปนากรุงอังวะขึ้นเป็นเมืองหลวง (3) เนื่องจากต้องการรวมกำลังในเขตภาคพื้นทวีปตลอดจนถอยห่างจากความผันผวนทางการเมืองในเขตพม่าตอนล่าง (Lower Burma) และความวุ่นวายจากกลุ่มกบฎชาวมอญหลังการแตกดับของกรุงหงสาวดี

2. การประกาศอำนาจทางการเมืองและความขัดแย้งในราชสำนัก: ในสมัยโบราณ พม่าจัดเป็นรัฐการเมืองที่ถูกปกครองโดยระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ซึ่งให้ความสำคัญกับอำนาจ และสถานภาพขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะพระโพธิสัตย์ (Bodhisattva) เทวราช (Devaraja) และพระจักรพรรดิราช (Cakravartin or Universal Monarch - ราชาเหนือราชาในสากลทวีป) โดยตามโลกทัศน์พม่านั้น เมืองหลวงจัดว่าเป็นทั้งศูนย์กลางของอาณาจักรและศูนย์กลางของจักรวาล ตลอดจนเป็นที่ประทับขององค์มหาราชา ดังนั้น การย้ายเมืองหลวงจึงหมายถึงการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของราชบัลลังค์ให้อยู่ในทำเลที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นการประกาศอำนาจและบารมีทางการเมืองของผู้ปกครอง

ยกตัวอย่างเช่น การย้ายเมืองหลวงของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (Tabinshwethi) จากเมืองตองอูมายังเมืองหงสาวดีในปี พ.ศ. 2083 เพื่อเป็นการประกาศอำนาจทางการเมืองในฐานะกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งอุษาคเนย์ ตลอดจนเป็นการแสดงชัยชนะของกองทัพพม่าเหนือกองทัพมอญ และเป็นการแสดงว่าพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ทรงเต็มเปี่ยมไปด้วยบารมีทางการเมือง เนื่องจากได้ครอบครองแผ่นดินรามัญเทศะ (Ramandesa) ในเขตพม่าตอนล่าง แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจสิทธิขาดในทางปฏิบัติกลับถูกท้าทายจากความผันผวนในราชสำนัก โดยกษัตริย์พม่าในอดีตมักถูกขับออกจากราชบัลลังค์โดยการทำรัฐประหารของกลุ่มเจ้าชายที่มีอำนาจในราชวงศ์ ซึ่งส่งผลให้กษัตริย์องค์ใหม่ที่ครองบัลลังค์ผ่านการทำรัฐประหาร มักทำการย้ายเมืองหลวงเพื่อหลบหนีจากการแก้แค้นของศัตรูและถอยห่างจากเครือข่ายการเมืองในเขตเมืองหลวงเก่า ยกตัวอย่างเช่น การที่พระเจ้าปดุง (Bodawpaya) ทรงทำรัฐประหารโค่นล้มพระเจ้าปางสา และเข่นฆ่าญาติพี่น้องเป็นจำนวนมากในปี พ.ศ. 2325 ได้ส่งผลให้พระเจ้าปดุงทำการย้ายเมืองหลวงจากกรุงอังวะไปยังอมรปุระ เพื่อลดความกังวลใจเกี่ยวกับการแก้แค้น และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มกบฎในเขตเมืองอังวะ

3. อิทธิพลจากพุทธทำนายและหลักโหราศาสตร์: ระบบการบริหารราชการและวิถีชีวิตของชาวพม่าในอดีต ล้วนถูกขับเคลื่อนและผลักดันโดยแนวคิดทางพระพุทธศาสนา คำทำนายของกลุ่มพราหมณ์ในราชสำนัก ตลอดจนคติความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณและเทวดาอารักษ์ ซึ่งได้รับการส่งผ่านและสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน สำหรับการย้ายเมืองหลวงนั้นจัดว่าได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากพุทธทำนาย (Buddha's Prophesies) และหลักโหราศาสตร์โดยกษัตริย์พม่ามักทำการเคลื่อนย้ายเมืองหลวงเพื่อปัดเป่าสิ่งอวมงคลในเมืองหลวงเก่า และเบิกศักราชใหม่ตามหลักพระพุทธศาสนา อาทิเช่น

การย้ายเมืองหลวงจากนครอมรปุระกลับไปยังอังวะในสมัยพระเจ้าพะคยีดอร์ (Bagyidaw) ช่วงปี พ.ศ. 2366 เนื่องจากเกิดเหตุไฟไหม้ในพระบรมมหาราชวัง และการทอดพระเนตรเห็นนกแร้งตกลงมายังยอดมหาปราสาทของพระเจ้าพะคยีดอร์ (4) เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้กลุ่มพราหมณ์ปุโรหิตแนะนำให้พระเจ้าพะคยีดอร์ทำการย้ายเมืองหลวงกลับไปยังอังวะ เพื่อปัดเป่าลางร้ายและหนีห่างจากสิ่งอวมงคลในเขตราชธานีเก่า หรือการย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระไปยังมัณฑะเลย์ในสมัยของพระเจ้ามินดง (Mindon) ช่วงปี พ.ศ. 2400 เนื่องจากที่ตั้งของมัณฑะเลย์จัดว่าอยู่ในตำแหน่งอันเป็นมงคลตามหลักพุทธทำนาย โดยตามตำนานพื้นเมืองของพม่าได้กล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า เคยเสด็จมายังยอดเขามัณฑะเลย์และพยากรณ์ว่า ต่อแต่นี้สืบไปอีก 2,400 ปี มัณฑะเลย์จะกลายเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ และเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา ผลจากคำพยากรณ์ดังกล่าวส่งผลให้พระเจ้ามินดงทำการย้ายเมืองหลวงเพื่อเบิกศักราชใหม่ และสร้างนครหลวงแห่งใหม่เพื่อเป็นพุทธบูชา

4. การขยายพื้นที่ทางการเกษตรและพัฒนาดินแดนตอนใน: กษัตริย์พม่าในยุคจารีตมักทำการสถาปนาเมืองหลวงในดินแดนพม่าตอนบน แถบลุ่มน้ำอิระวดีและสาขา ซึ่งจัดว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศและประกอบด้วยเครือข่ายระบบชลประทานที่สลับซับซ้อนตั้งแต่สมัยพุกาม จากบริบทดังกล่าว การย้ายเมืองหลวงจัดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกษัตริย์พม่า เพื่อเปิดพรมแดนทางการเกษตรและเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมในเขตภาคพื้นทวีป โดยมีเมืองหลวงแห่งใหม่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาพื้นที่ตอนใน (Hinterland) อันส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มจำนวนของประชากร การขยายตัวของการตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนการสะสมเสบียงอาหารและกำลังพลในยามสงคราม ยกตัวอย่างเช่น

การสถาปนากรุงอังวะของพระเจ้าทะโดมินพยา (Thadominbya) ในปี พ.ศ. 1907 เนื่องจากทำเลที่ตั้งของกรุงอังวะมีลักษณะเป็นเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำอิระวดี และแม่น้ำมิตเหง่(Myitnge) ตลอดจนคุมปากทางเข้าสู่เขตเจ้าเซ อันเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของพม่า โดยหลังจากการสร้างเมืองอังวะ พระเจ้าทะโดมินพยาได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์เครือข่ายชลประทานรอบๆ เขตเมืองหลวงเพื่อให้กรุงอังวะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทางการเกษตร

หรือ หลังจากการล่มสลายของกรุงอังวะจากการรุกรานของกองทัพมอญในปี พ.ศ. 2295 พระเจ้าอลองพญา (Alaungpaya) ได้ทำการย้ายเมืองหลวงไปยังชเวโบ (Shwebo) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำมู (Mu Valley) อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำอิระวดี โดยพระเจ้าอลองพญาได้ทำการปรับปรุงเครือข่ายชลประทานตั้งแต่สมัยพุกาม ตลอดจนสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในเขตลุ่มแม่น้ำมู เพื่อให้นครชเวโบเป็นเมืองหลวงที่เลี้ยงตัวเองได้ในยามสงคราม และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาดินแดนตอนในแทนที่นครอังวะ



แผนที่แสดงกลุ่มราชธานีโบราณของพม่าในสมัยราชวงศ์คองบอง (พ.ศ. 2295-2428)
แหล่งที่มา: D.G.E. Hall, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ), ประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร,
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2549, หน้า 392.

5. การค้าระหว่างประเทศและการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม: อิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จัดว่ามีบทบาทต่อการย้ายเมืองหลวงของพม่าในยุคโบราณ ซึ่งมีลักษณะแปรผันไปตามโลกทัศน์และแนวนโยบายต่างประเทศของกษัตริย์พม่าแต่ละองค์ โดยทำเลที่ตั้งของเมืองหลวงมักมีการเคลื่อนย้ายสลับกันไปมาระหว่างเขตพม่าตอนล่างริมมหาสมุทรอินเดีย กับเขตพม่าตอนบนแถบลุ่มแม่น้ำอิระวดีและสาขา ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในสาเหตุหลักของการย้ายเมืองหลวงจากตองอูไปยังหงสาวดีในสมัยพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ คือการขยายตัวของการค้ารอบอ่าวเมาะตะมะ (Gulf of Martaban) อันส่งผลให้เมืองหงสาวดีกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขนถ่ายสินค้าในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta) และเป็นหน้าต่างสู่โลกภายนอกให้กับอาณาจักรตองอู

นอกจากนี้ การย้ายเมืองหลวงมายังหงสาวดียังทำให้พระเจ้าตะเบงชะเวตี้สามารถทำการค้าขายกับต่างประเทศได้สะดวก ตลอดจนซื้ออาวุธสงครามจากกลุ่มพ่อค้าตะวันตก หรือการย้ายเมืองหลวงจากหงสาวดีกลับไปยังอังวะของพระเจ้าธาลุน (Thalun) ในปี พ.ศ. 2178 ซึ่งสืบเนื่องมาจากความไม่ไว้ใจอิทธิพลของตะวันตก ที่มาพร้อมกับการขยายตัวทางการค้ารอบอ่าวเบงกอลและอ่าวเมาะตะมะ อันส่งผลให้เมืองท่าตามชายฝั่งทะเล เช่น พะสิม (Pathein) และสิเรียม (Syriam) เริ่มได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างชาติ ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงกลับไปยังดินแดนตอนในจึงเป็นการถอยกลับไปหารากเหง้าทางประวัติศาสตร์ (Historical Root) เพื่อเป็นการรักษาความบริสุทธิ์ของวัฒนธรรมพม่า

เมืองหลวงย่างกุ้ง
การย้ายเมืองหลวงของพม่าในยุคราชวงศ์ได้มาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อลัทธิอาณานิคมอังกฤษ (British Colonialism) แผ่อิทธิพลเข้าคุกคามพม่าตอนล่าง โดยหลังจากที่กองทัพอังกฤษเข้ายึดเมืองย่างกุ้งในปี พ.ศ. 2395 แผ่นดินพม่าตอนบนอันมีศูนย์กลางอยู่ที่มัณฑะเลย์เริ่มเกิดความระส่ำระสาย จนในที่สุดจักรวรรดิอังกฤษได้ส่งกองกำลังเรือรบจากฐานทัพเมืองย่างกุ้ง ทวนกระแสน้ำอิระวดีเข้ายึดเมืองมัณฑะเลย์ และทำการผนวกพม่าตอนบนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษ โดยในปี พ.ศ. 2429 นครย่างกุ้งได้ถูกสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่แทนที่อดีตราชธานีมัณฑะเลย์ ตลอดจนถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการค้ารอบอ่าวเมาะตะมะและศูนย์กลางการบริหารของรัฐบาลอังกฤษในยุคอาณานิคม

หลังจากนั้นนครย่างกุ้งได้ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นนครหลวงที่มีความทันสมัยในภาคพื้นอุษาคเนย์ โดยเห็นได้จากการจัดวางโครงสร้างผังเมืองในลักษณะตารางหมากรุก (Grid System) ตามแบบเมืองในยุโรป การจัดวางระบบการศึกษาและมหาวิทยาลัยตามแบบตะวันตก ตลอดจนการอพยพเข้ามาค้าขายของชาวจีน อินเดีย และยุโรป ซึ่งส่งผลให้ประชากรในนครย่างกุ้งสมัยอาณานิคมประกอบด้วยชาวต่างชาติมากกว่าชาวพม่าแท้

ต่อมาหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 ย่างกุ้งยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการและศูนย์บัญชาการทางการทหารในสมัยของรัฐบาลอุนุ (U Nu) และเนวิน (Ne Win) ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์กลางการจาริกแสวงบุญเนื่องจากเป็นที่ตั้งของมหาเจดีย์ชเวดากองอันศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ของย่างกุ้งในฐานะเมืองหลวงของพม่าได้มาถึงจุดสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2548 เมื่อพลเอกอาวุสโสตันฉ่วย (Than Shwe) ทำการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปยังเมืองเพียงมะนาง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภาคมัณฑะเลย์ (Mandalay Division) แถบลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบน

การย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา
(Capital Relocation from Yangon to Pyinmana)


การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจัดเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่า ที่ประกอบด้วยแรงผลักดันหลากหลายประการ ตลอดจนได้รับอิทธิพลจากหลักนิยมทางการทหารและสภาวะแวดล้อมของระบบโลกยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งส่งผลให้นครย่างกุ้งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงและฐานอำนาจของรัฐบาลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการทหาร โดยสามารถแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก 9 ปัจจัยย่อยดังต่อไปนี้

1. การรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร (Politico-Military Security)
2. การพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน (Hinterland Economic Development)
3. การสร้างเอกภาพทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ (Spiritual and Cultural Unity)

1. การรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร (Politico-Military Security): รัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สภาสันติภาพและพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council-SPDC) ได้ขึ้นครองอำนาจต่อจากระบอบเนวิน (Ne Win Regime) ผ่านการทำรัฐประหารและการเข่นฆ่าประชาชน ตลอดจนปฏิเสธการคืนอำนาจทางการปกครองให้กับนางอองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) หลังการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี พ.ศ. 2533

รัฐบาลทหารพม่าได้ให้น้ำหนักกับการสร้างเอกภาพทางการเมืองและการขยายแสนยานุภาพทางการทหารเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพและระบอบเผด็จการ นอกจากนี้ กลุ่มคณะทหาร (Military Junta) ยังได้หวาดระแวงต่อภัยคุกคามหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น

- การลุกฮือของประชาชนในเขตนครย่างกุ้ง ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988)
- การขยายกำลังพลของชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนเพื่อทำสงครามต่อต้านรัฐบาล, ตลอดจน
- การโจมตีจากมหาอำนาจตะวันตกเพื่อล้มระบอบทหารในปัจจุบัน

ผลจากความกังวลใจดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มรัฐบาลทหารดำเนินนโยบายรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ขยายระบบสายลับเพื่อขจัดศัตูทางการเมือง ตลอดจนนำหลักนิยมและระบบสายบังคับบัญชาทางการทหาร (Military Chain of Command) เข้ามาประยุกต์ใช้กับการดำเนินนโยบายสาธารณะ โดยหากยังมีบริเวณใดที่อำนาจการควบคุมของรัฐบาลยังเข้าไปไม่ถึง หรืออำนาจของรัฐบาลในนครย่างกุ้งเริ่มผันผวนระส่ำระสาย หรือทำเลที่ตั้งของเมืองหลวงเสี่ยงต่อการโจมตีจากศัตรูภายนอก การย้ายเมืองหลวงไปยังทำเลที่มีความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ จึงจัดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อสถาปนาศูนย์อำนาจทางการเมืองและการทหารที่เข้มแข็ง และเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ สำหรับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายเมืองหลวงนั้นสามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็นสามประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

1.1 ภัยคุกคามจากการความผันผวนทางการเมือง (The Threat from Political Turmoil): รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันมีความเชื่อว่าอำนาจมีอยู่อย่างจำกัด (Finite) และจำเป็นต้องมีเอกภาพโดยระบอบทหาร (Military Regime) จัดว่าเป็นระบบการเมืองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรัฐพม่า ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐอ่อนแอ (Weak State) สืบเนื่องจากความสลับซับซ้อนทางชาติพันธุ์และการขาดการบูรณาการทางการเมือง นอกจากนี้ การแบ่งสรรอำนาจให้กับองค์กรต่างๆ ของพลเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตย จัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและอาจนำมาซึ่งการล่มสลายของสหภาพพม่า ตลอดจนคุกคามการถือครองอำนาจของกลุ่มคณะทหาร

จากบริบทดังกล่าว นครย่างกุ้งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัฒน์ที่พัดพาเอาแนวคิดประชาธิปไตยและวัฒนธรรมการเมืองแบบตะวันตก (Westernization) ตลอดจนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม (Civil Society) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายเครือข่ายทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยทำให้อำนาจที่เข้มแข็งและมีเอกภาพของกลุ่มคณะทหารเริ่มมีลักษณะเปราะบาง และกระจัดกระจายมากขึ้น

ประกอบกับประวัติศาสตร์การเมืองของนครย่างกุ้งยังเต็มไปด้วยการลุกฮือของประชาชน เพื่อต่อต้านรัฐบาล อาทิเช่น เหตุการณ์ ประท้วงปี พ.ศ. 2517 โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลเนวิน เหตุการณ์ 8888 (8 สิงหาคม ค.ศ. 1988) โดยกลุ่มประชาชนเพื่อขับไล่และโค่นล้มระบอบเผด็จการ อันนำไปสู่โศกนาฎกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาตร์พม่า หรือเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย ปี พ.ศ. 2539 โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เพื่อขับไล่คณะทหารและเรียกร้องการคืนอำนาจทางการเมืองให้กับนางอองซาน ซูจี. ปรากฎการณ์ดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มคณะทหาร มีความกังวลใจเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองและหวาดระแวงต่อการลุกฮือของประชาชน ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยฉับพลันและสร้างความระส่ำระสายให้กับอำนาจของรัฐบาล

นอกจากนี้ นครย่างกุ้งในยุคหลังสงครามเย็นยังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security) (5) ซึ่งมาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์และเครือข่ายทางเทคโนโลยีที่สลับซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ก่อการร้ายและลอบวางระเบิดอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2532, 2539, 2547 และ 2548 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ลอบวางระเบิดในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น ทางรถไฟ วัดสำคัญทางศาสนา และห้างสรรพสินค้า

โดยรัฐบาลทหารได้สงสัยว่ากลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ชนกลุ่มน้อย ตลอดจนสมาชิกหน่วยข่าวกรองของพลโท ขิ่น ยุ้น ซึ่งถูกรัฐบาลโค่นล้มในปี พ.ศ. 2547 อาจอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วินาศกรรมดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้กลุ่มคณะทหารเริ่มไม่มั่นใจในระบบรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองหลวง ดังนั้นความผันผวนทางการเมืองในมหานครย่างกุ้ง จึงส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลเกิดความระส่ำระสาย และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พลเอกอาวุสโสตันฉ่วย ตัดสินใจย้ายศูนย์อำนาจทางการเมืองไปยังเพียงมะนา เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเมืองของระบอบทหาร

1.2 ภัยคุกคามจากการเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อย (The Threat from Ethnic Insurgencies): พม่าจัดเป็นประเทศที่มีความสลับซับซ้อนทางชาติพันธุ์เนื่องจากประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ เช่น ไทยใหญ่ ชิน (Chin) คะชิ่น (Kachin) กะเหรี่ยง (Karen) คะเรนนีย์ (Karenni) อาระกัน และมอญ. โดยประวัติศาสตร์พม่าจัดเป็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าพม่าแท้ กับชนกลุ่มน้อย โดยมีการทำสงครามขับเคี่ยวยื้อแย่งดินแดนตั้งแต่สมัยจารีตจนถึงปัจจุบัน อาทิเช่น การทำสงครามระหว่างพม่ากับอาณาจักรมอญและกลุ่มเจ้าฟ้าไทยใหญ่ (สอพวา) หรือการที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงถูกเกณฑ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษ เพื่อทำการกดขี่ชาวพม่าในสมัยอาณานิคม ตลอดจนการเคลื่อนกำลังพลของกองทัพพม่าเข้าปราบปรามกลุ่มกบฎชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนในปัจจุบัน

สำหรับในมุมมองของรัฐบาลทหารพม่านั้นชนกลุ่มน้อยจัดเป็นชนชายขอบ (Marginal People) และเป็นภัยคุกคามที่บั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลทหารจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อแผ่อำนาจจควบคุมดินแดนชนกลุ่มน้อย โดยถึงแม้จะมีการเจรจาหยุดยิง (Ceasefire Agreements) กับกองกำลังของชนเผ่าต่างๆ แต่ก็ยังคงหลงเหลือสามกองกำลังหลักที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลกลางซึ่งประกอบด้วย กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ (Shan State army-SSA), กองกำลังกะเหรี่ยงคริสต์ (Karen National Union-KNU), และกองกำลังแห่งชาติคะเรนนีย์ (Karenni National Progressive Party) (6) โดยกองกำลังทั้งสามฝ่ายล้วนมีฐานที่มั่นอยู่ตรงบริเวณชายแดนตะวันออกติดกับประเทศไทย

ในส่วนของการย้ายเมืองหลวงนั้น หากพิจารณาจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์จะพบว่า ถึงแม้มืองเพียงมะนาจะตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ แต่ก็มีอาณาเขตชนแดนกับชนกลุ่มน้อยทั้งสามกลุ่ม ซึ่งการย้ายเมืองหลวงไปยังบริเวณดังกล่าวย่อมส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลมีความเข้มข้น (Concentric Power) และสามารถควบคุมชนกลุ่มน้อยทั้งสามกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งว่า เมืองเพียงมะนาอาจถูกโจมตีจากกองกำลังชนกลุ่มน้อย แต่หากพิจารณาจากสมรรถนะทางการทหารในปัจจุบัน จะพบว่ากองทัพพม่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์และจำนวนกำลังพลมากกว่ากองกำลังทั้งสามฝ่าย ดังนั้น การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจึงเป็นผลดีต่อรัฐบาลมากกว่าชนกลุ่มน้อย ตลอดจนเป็นยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มคณะทหารเพื่อแผ่กระจายอำนาจให้เข้าถึงทั้งดินแดนตอนกลางและดินแดนชายขอบ. ในขณะเดียวกันนครย่างกุ้งก็มีจุดอ่อนตรงที่อยู่ห่างไกลจากฐานที่มั่นของชนกลุ่มน้อย และไม่ได้ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งทำให้อำนาจที่แผ่ออกจากเมืองหลวงมีความเบาบางแปรผันไปตามระยะทาง

ดังนั้น การสถาปนาเมืองเพียงมะนาซึ่งตั้งอยู่ในเขตทับซ้อน (Overlapping) ระหว่างดินแดนของกลุ่มชนชาติพม่าแท้แถบภาคมัณฑะเลย์ เมกเวย์ (Magway) และบาโก (Bago) กับดินแดนของชนกลุ่มน้อยแถบรัฐฉาน กะเหรี่ยง และคะยาห์ จะส่งผลให้ปริมณฑลของอำนาจที่แผ่กระจายออกจากเมืองหลวงมีความเข้มข้น และเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ ตลอดจนทำให้เกิดการการขยายตัวของวัฒนธรรมพม่า (Burmanization) ในเขตแดนชนกลุ่มน้อย เช่น การเรียนภาษาและประวัติศาสตร์พม่า โดยมีเมืองเพียงมะนาเป็นศูนย์กลางของการดำเนินนโยบายครอบงำและกลืนกลายทางชาติพันธุ์

นอกจากนี้การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนา ยังมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมชนกลุ่มน้อยในเขตที่ราบสูงฉาน แถบลุ่มน้ำสาละวิน (Salween valley) โดยเฉพาะกลุ่มว้า (Wa) และโกกัง (Kokang) ซึ่งเริ่มมีอิทธิพลจากการค้ายาเสพย์ติด และสิ่งผิดกฎหมายบริเวณชายแดน (7) โดยการสถาปนาเมืองเพียงมะนา จะทำให้รัฐบาลทหารสามารถควบคุมชนกลุ่มน้อยทั้งสองกลุ่มได้มากขึ้น ตลอดจนแผ่อิทธิพลจากลุ่มน้ำสะโตงเข้าครอบคลุมลุ่มน้ำสาละวินในเขตชายแดนตะวันออก

1.3 ภัยคุกคามจากการรุกรานทางทะเลของสหรัฐอเมริกา (The Threat from American Maritime Invasion): รัฐบาลทหารพม่ามีความเชื่อว่า สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจทางการเมืองโลกที่ต้องการโค่นล้มระบอบเผด็จการ และทำการเปลี่ยนแปลงพม่าไปสู่ประเทศประชาธิปไตยหากมีจังหวะที่เหมาะสม โดยความกังวลใจเกี่ยวกับการโจมตีจากสหรัฐอเมริกาเริ่มก่อตัวขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ประท้วงในปี พ.ศ. 2531 เมื่อมีการปรากฎตัวของเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯในเขตน่านน้ำพม่าบริเวณอ่าวเมาะตะมะ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นใกล้เคียงกับการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในไฮติและโคโซโว (8) หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กองทัพเรือพม่าได้เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจการณ์ป้องกันชายฝั่ง ตลอดจนเริ่มสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางการทหารกับจีน

ภัยคุกคามจากสหรัฐอเมริกาเริ่มส่อเค้าชัดเจนหลังจากการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีจอห์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งมีการประนามรัฐบาลทหารพม่าว่าเป็น "ด่านหน้าแห่งทรราชย์ หรือ Absurb of Tyranny" คล้ายคลึงกับเกาหลีเหนือ คิวบา และอิหร่าน ตลอดจนมีการออกรัฐบัญญัติว่าด้วยอิสรภาพและระบอบประชาธิปไตยพม่า (Burmese Freedom and Democratic Act of 2003) โดยมีเนื้อหาสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย และอนุมัติงบประมาณฟื้นฟูพม่าหลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการชุดปัจจุบัน ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มคณะทหารโดยสามารถสังเกตได้จาก การเริ่มฝึกกองกำลังอาสาสมัครป้องกันประเทศ และการย้ายศูนย์บัญชาการภาคตะวันตกจากเมืองซิตต่วย (Sittwe) ในรัฐอาระกันริมชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียเข้าไปยังเมือง Ann ซึ่งตั้งอยู่ในเขตภาคพื้นทวีป (9)

จากบริบทดังกล่าว ทำเลที่ตั้งของนครย่างกุ้งจัดว่ามีความเสี่ยงต่อการรุกรานทางทะเลซึ่งสามารถถูกยึดครองโดยกองทัพเรือต่างชาติในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงไปยังเพียงมะนา จึงเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่าในการใช้ภูเขาเป็นปราการในการรับศึก ตลอดจนเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการตั้งรับเพื่อทำสงครามกองโจรระยะยาว โดยหากวิเคราะห์ตามหลักภูมิยุทธศาสตร์ (Geo-Strategy) จะพบว่าหากมีสงครามเกิดขี้นจริง สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องส่งกองกำลังนาวิกโยธินเข้าปฏิบัติการในเขตภาคพื้นทวีป เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหารและแสดงชัยชนะที่เด็ดขาด คล้ายคลึงกับปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งมีการวางกำลังเรือรบในอ่าวเปอร์เซียแล้วส่งกองทหารราบเข้ายึดครองเมืองหลวง

จากกรอบแนวคิดดังกล่าวการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนะ จะทำให้กองทัพพม่ามีโอกาสต้านทานการรุกรานได้มีประสิทธิภาพกว่าการตั้งรับอยู่ในเขตย่างกุ้ง ตลอดจนสะดวกต่อการได้รับความช่วยเหลือจากจีนผ่านเครือข่ายคมนาคมจากเมืองมัณฑะเลย์มุ่งตรงสู่เพียงมะนา นอกจากนี้การสถาปนาศูนย์บัญชาการภาคแห่งใหม่ในเขตเมืองหลวง ยังเป็นการสะท้อนถึงการเลือกใช้กองทัพบกในการประจัญหน้ากับศัตรู เนื่องจากกองทัพเรือของพม่ามีความอ่อนแอและเข้มแข็งน้อยกว่ากองทัพบก

นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีข้อโต้แย้งว่าเมืองเพียงมะนาอาจถูกโจมตีทางอากาศ และมีความเป็นไปได้ยากที่สหรัฐฯ จะยกทัพถล่มพม่าเนื่องจากยังติดพันอยู่กับการขยายอำนาจในตะวันออกกลาง แต่อย่างไรก็ตาม การย้ายไปเพียงมะนาก็จัดว่าเอื้อประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจทางการทหารมากกว่าการตั้งรับอยู่ที่ย่างกุ้ง ตลอดจนมีการขุดอุโมงค์และติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานในเขตเมืองเพียงมะนา

นอกจากนี้ Andrew Selth นักวิชาการด้านความมั่นคงพม่า ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ถึงแม้การโจมตีจากสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากอิทธิพลทางการทหารของจีนในพม่า แต่ถ้าหากการโจมตีเกิดขึ้นจริง รัฐบาลทหารย่อมเลือกที่จะระดมพลในเขตพม่าภาคกลาง เพื่อทำสงครามป้องกันประเทศในเขตภาคพื้นทวีป (10) ดังนั้น การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจึงมีความสัมพันธ์กับปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยถึงแม้ว่าขีดความสามารถของกองทัพพม่าจะไม่สามารถเทียบได้กับสหรัฐอเมริกา แต่การย้ายไปเพียงมะนาก็ยังจัดว่ามีข้อได้เปรียบมากกว่าการมีเมืองหลวงอยู่ที่ย่างกุ้ง

2. การพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน (Hinterland Economic Development): ถึงแม้ว่าการรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร จะมีอิทธิพลสำคัญต่อการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเพียงมะนา แต่การดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตอนใน ก็จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการสถาปนานครหลวงแห่งใหม่ ในฐานะศูนย์กลางการพัฒนาที่เข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ โดยหลังจากความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ในสมัยนายพลเนวินจนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงในปี พ.ศ. 2531 กลุ่มคณะทหารชุดปัจจุบันได้เริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบการตลาด เพื่อพัฒนาพม่าในเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และทันสมัย (Modern and Developed Nation) ตลอดจนนำเงินรายได้จากการขายทรัพยากรจำนวนมหาศาลเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบเผด็จการ

โดยเห็นได้จากการขยายกิจการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเขตพม่าตอนล่าง และการขยายโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณเขตแล้งแถบลุ่มแม่น้ำอิระวดีและสะโตง เพื่อเปิดพรมแดนทางการเกษตรในเขตที่ราบภาคกลาง พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในเขตภูเขา ตลอดจนขยายเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อทั่วประเทศ โดยรัฐบาลทหารได้กำหนดให้บริเวณตอนใต้ของภาคมัณฑะเลย์ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบน เป็นดินแดนหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายการพัฒนาเกษตรกรรมในเขตลุ่มน้ำอิระวดี และเครือข่ายการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้และพลังงานน้ำจากเขื่อนในเขตลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดจนทำการผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจสามศูนย์โดยมีย่างกุ้งและสิเรียม เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศรอบอ่าวเมาะตะมะในเขตพม่าตอนล่าง มัณฑะเลย์เป็นศูนย์กลางการค้าภาคพื้นทวีปที่เชื่อมโยงกับจีนในเขตพม่าตอนบน และเพียงมะนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของพื้นที่ตอนใน ที่เชื่อมต่อระหว่างเขตพม่าภาคกลางกับเขตภูเขาบริเวณชายแดน สำหรับประเด็นการวิเคราะห์เพิ่มเติมนั้นจัดว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

2.1 การขยายตัวของการพัฒนาทางการเกษตร (The Enlargement of Agricultural Development): รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันได้ดำเนินนโยบายปรับเปลี่ยนเขตแล้งทางตอนกลางของประเทศ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว (Green Area) โดยการขยายเครือข่ายชลประทานครอบลุ่มน้ำสำคัญ เช่น ลุ่มน้ำอิระวดี ลุ่มน้ำสะโตง ลุ่มน้ำมู และลุ่มน้ำมิตแหง่ เพื่อพลิกฟื้นแผ่นดินอันแห้งแล้งและรกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นแปลงเพาะปลูกทางการเกษตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดพรมแดนทางการเกษตรในเขตภาคพื้นทวีปแล้ว ยังเป็นการจัดตั้งเครือข่ายผลิตเสบียงอาหารให้กับค่ายทหารของกองทัพบก ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเขตพม่าภาคกลาง

จากกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าได้เลือกพื้นที่ทางตะวันออกของเพียงมะนาแถบลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบน ให้เป็นดินแดนหัวใจของการพัฒนาเกษตรกรรม เนื่องจากประกอบด้วยสถานีวิจัยและสถาบันที่มีชื่อเสียงทางการเกษตร รวมถึงเป็นที่ตั้งของเขื่อนสำคัญหลายแห่ง เช่น เขื่อนปองลอง (Paungloung) เขื่อนเยซิน (Yezin) ตลอดจนมีเครือข่ายชลประทานที่เชื่อมต่อกับลุ่มน้ำอิระวดีและอยู่ไม่ไกลจากลุ่มน้ำสาละวินในเขตที่ราบสูงฉาน การย้ายเมืองหลวงมายังเพียงมะนานอกจากจะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ตอนในแล้ว ยังส่งผลให้รัฐบาลมีอำนาจในการควบคุมเครือข่ายชลประทานและเสบียงอาหารในเขตปกครองมัณฑะเลย์ ซึ่งจัดว่าเป็นดินแดนสำคัญหรือแกน (Core) ของการพัฒนาสหภาพพม่าในอนาคต

นอกจากนี้ การสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ยังทำให้เกิดการกระจายตัวของประชากร ในสภาวะสมดุลซึ่งเป็นนโยบายที่คล้ายคลึงกับการย้ายเมืองหลวงจากอิสตัลบูล (Istanbul) ไปอังการา (Ankara) ของประเทศตุรกี และจากลากอส (Lagos)ไปอาบูจา (Abuja) ของประเทศไนจีเรีย. ทั้งนี้เนื่องจากประชากรพม่ามักกระจุกตัวอยู่หนาแน่นในเขตพม่าตอนล่าง แถบเมืองย่างกุ้งและเมาะลำไย (Moulmein) และเขตพม่าตอนบนแถบเมือง Meiktila และมัณฑะเลย์ ซึ่งส่งผลให้บริเวณชายขอบด้านใต้ของเขตแล้งพม่า (Southern Edge of the Dry Zone) มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ค่อนข้างเบาบาง

ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงมายังบริเวณดังกล่าว ผสมผสานกับการจัดตั้งเครือข่ายทางการเกษตรจึงส่งผลให้ประชากรจากทั้งสองภูมิภาค อพยพเข้าสู่เขตปริมณฑลของเมืองหลวงแห่งใหม่มากขึ้น อันนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจที่แข็งแกร่งของรัฐบาลในการคุมพม่าภาคกลาง ตลอดจนยังเป็นการเพิ่มความเข้มข้นให้กับการตั้งถิ่นฐานของชาวพม่า เพื่อแผ่อิทธิพลเข้าดูดกลืนและครอบงำชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนตะวันออก

2.2 การขยายตัวของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน (The Enlargement of Natural Resources and Energy Development): แหล่งผลิตอุตสาหกรรมแร่ธาตุของพม่ามีลักษณะกระจายตัวอยู่ทั่วภาคกลางและเขตชายแดน อาทิเช่น แหล่งปิโตรเลียมใต้ดินทางฟากตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี แหล่งเหมืองแร่ดีบุกและทังสเตนบริเวณรัฐฉานและคะยาห์ แหล่งผลิตแร่ทองคำบริเวณยะแมตีง (Yamethin) ทางตอนเหนือของเพียงมะนา และแหล่งผลิตแร่อัญมณีในเหมืองโมกุก (Mogok) ทางตอนเหนือของรัฐฉาน โดยตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา รัฐบาลทหารพม่าได้ขยายโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ บริเวณเขตที่ราบและเขตภูเขาเพื่อรองรับการขยายตัวของยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ตอนใน ตลอดจนนำรายได้เข้าบำรุงกองทัพเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบทหาร

จากบริบทดังกล่าว การย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนาจะทำให้เกิดการไหลเวียนของอุปสงค์และอุปทาน (Demand-Supply) ในเขตพื้นที่ตอนในของพม่าเนื่องจากกระบวนการก่อสร้างในเขตเมืองหลวง เช่น เหล็ก ถ่านหิน ซีเมนต์ และทังสเตน ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสหกรรมเหมืองแร่ในเขตพม่าภาคกลางและบริเวณชายแดน ในขณะที่ส่วนเกินจากการผลิตหลังสิ้นสุดการก่อสร้างจะถูกกระจายไปยังเมืองยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั่วเขตภาคพื้นทวีป นอกจากนี้ การย้ายเมืองหลวงยังเป็นตัวสะท้อนถึงการแผ่อำนาจของรัฐบาล ในการควบคุมทรัพยากรทั้งในเขตที่ราบและเขตภูเขา ท่ามกลางการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด (11)

ในส่วนของการพัฒนาพลังงานนั้นจะเห็นว่า รัฐบาลทหารได้วางนโยบายลดการพึ่งพึงก๊าซธรรมชาติ และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน ซึ่งจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจพม่าในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) (12) โดยเห็นได้จากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ครอบคลุมลุ่มน้ำอิระวดี สะโตง และสาละวิน ซึ่งหากพิจารณาตามหลักภูมิเศรษฐศาสตร์จะพบว่า เมืองเพียงมะนาตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างลุ่มน้ำอิระวดี ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาทางการเกษตร และลุ่มน้ำสาละวินซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับประเทศไทยและจีน โดยในอนาคตเพียงมะนาจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารพม่า ในการขยายเครือข่ายพลังงานครอบคลุมทั้งสามลุ่มน้ำ ตลอดจนรองรับรายได้มหาศาลจากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งแล้ว ยังทำให้กองทหารพม่าซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวงแห่งใหม่ เข้ามาวางกำลังเรียงรายไปตามเครือข่ายพลังงานในเขตชายแดนตะวันออก เพื่อเปลี่ยนสนามรบให้เป็นอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนครอบครองพื้นที่ป่าไม้ของกองกำลังชนกลุ่มน้อย

2.3 การขยายตัวของเครือข่ายคมนาคมขนส่ง (The Enlargement of Transportation Systems): รัฐบาลทหารพม่าชุดปัจจุบันได้เริ่มดำเนินนโยบายขยายเครือข่ายคมนาคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนขยายอำนาจทางการเมืองและการทหารครอบคลุมทุกส่วนภาคของประเทศ โดยถึงแม้ว่าระบบถนนในพม่าส่วนใหญ่จะมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ก็มีการขยายตัวและเพิ่มเส้นทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กลุ่มรัฐบาลทหารมีความเชื่อว่า การมีระบบโครงข่ายถนนที่โยงใยไปทั่วภูมิภาค จะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งให้กับประเทศ

จากแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลทหารได้จัดสร้างเครือข่ายถนนวงแหวน (Ring Road System) เพื่อทำการเชื่อมโยงหัวเมืองต่างๆ ในเขตภาคพื้นทวีปอย่างเป็นระบบ โดยเห็นได้จากการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิระวดีจำนวนหลายแหล่ง ตลอดจนการสร้างทางด่วนสายมอเตอร์เวย์ (Motorway) เชื่อมต่อหัวเมืองต่างๆ ทั้งในแนวดิ่ง (Vertical Line) และแนวระนาบ (Horizontal Line) ยกตัวอย่างเช่น ทางด่วนจากย่างกุ้งไปมัณฑะเลย์ ตองอูไปยะแมตีง และเพียงมะนาไปพินลวง (Pinlaung)

จากสภาวะแวดล้อมดังกล่าวการย้ายเมืองหลวงไปเพียงมะนา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ตลอดจนเป็นชุมทางรถไฟและศูนย์รวมของถนนสายต่างๆ ที่เชื่อมโยงทั้งเขตที่ราบภาคกลาง และบางส่วนของเขตชายแดนตะวันออก ย่อมทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจในการเข้าถึงทุกภาคส่วนของประเทศ ตลอดจนเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็วหากมีศึกสงครามทั้งภายในและภายนอก ในขณะเดียวกัน ระบบเครือข่ายถนนในประเทศพม่ายังมีการเชื่อมโยงกับทางหลวงสายเอเซีย (Trans Asian Highway) ซึ่งส่งผลให้ประเทศพม่ากลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ที่เชื่อมต่อระหว่างอินเดีย จีน และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ผลจากการขยายตัวของทางหลวงสายเอเซียได้ส่งผลให้เมืองเพียงมะนาในอนาคตกลายเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในแนวดิ่ง ที่เชื่อมโยงหัวเมืองตอนใต้ของจีนและมัณฑะเลย์เข้ากับนครย่างกุ้งและท่าเรือสำคัญในอ่าวเมาะตะมะ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในแนวระนาบที่เชื่อมโยงหัวเมืองตะวันออกของอินเดียและรัฐอาระกัน เข้ากับหัวเมืองชายแดนในเขตที่ราบสูงฉานและตัดเข้าสู่ประเทศลาว ไทย และเวียดนาม. ดังนั้น การสถาปนานครหลวงแห่งใหม่ในเขตเมืองเพียงมะนา จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ลุ่มลึกของรัฐบาลทหารพม่า เพื่อรองรับการขยายตัวของระบบการขนส่งภาคพื้นทวีป ตลอดจนเสริมสร้างสมรรถนะของรัฐบาลในการเข้าถึงทุกส่วนภาคของประเทศ

ภาพนายพลตานฉ่วย
Senior General Than Shwe: (born February 2, 1933) is the ruler of Myanmar (Burma),
serving as Commander-in-Chief of the Tatmadaw and chairman of
the State Peace and Development Council since April 23, 1992.
SPDC is the new name of the State Law and Order Restoration Council (SLORC),
established in 1988. He is also the Head of Union Solidarity and Development Association.

จบตอนที่ ๑ คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒
หมายเหตุ: บรรณานุกรมและเชิงอรรถ ได้วางไว้ท้ายตอนที่ ๒

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com