โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 17 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๐๙ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 17, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ทำไมผมถึงทำวิกิพีเดีย ทำไมชาววิกิพีเดียถึงสละเวลามาทำงานนี้? ผมคิดว่าพวกเราทุกคนรู้คำตอบอยู่แก่ใจดีนะครับ. ผมพูดแทนทุกคนไม่ได้ แต่ผมพูดแทนตัวเองได้ ผมทำงานนี้เพื่อเด็กชาวแอฟริกันที่จะใช้ตำราเรียน และหนังสืออ้างอิงฟรีที่ชุมชนเราช่วยกันเขียน ในการค้นคว้าหาวิธีแก้ปัญหาความยากจนข้นแค้นที่แวดล้อมตัวเขา สำหรับเด็กคนนี้ เว็บไซด์บนอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวไม่พอ เราต้องหาวิธีเผยแพร่งานของเราในรูปแบบที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ได้จริง และผมก็ทำงานนี้เพื่อลูกสาวของผม ที่ผมหวังว่าจะเติบโตขึ้นในโลกที่วัฒนธรรมเป็นอิสระเสรี ....
17-07-2550

Wikimedia & Wikipedia
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

คำบรรยายของจิมมี่ เวลส์ ผู้ก่อตั้งสารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย
นักค้าอนุพันธ์ทางการเงิน ผู้ผันตัวมาสร้างสารานุกรมวิกิพีเดีย
สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน-แปล
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม

บทความเขียนและแปลชิ้นนี้ เคยเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์โอเพ่น ออนไลน์ จากชื่อเดิม:
Jimmy Wales ผู้สร้างโลกแห่งความรู้อันเสรีไร้พรมแดน
โดยคุณสฤณี ได้ให้ภาพกว้างและความเข้าใจเกี่ยวกับสารานุกรมเสรี วิกีพีเดีย ดังนี้
- แนะนำสารานุกรมวิกิพีเดีย
- เรื่องของความถูกต้องและคุณภาพ
- ความร่วมไม้ร่วมมือในชุมชนวิกิพีเดีย
- คำบรรยายของจิมมี่ เวลส์ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
- จุดเด่นและด้อยของสารานุกรมวิกิพีเดีย
- โครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย
- โครงสร้างของเว็บไซต์วิกิพีเดีย
- ความน่าเชื่อถือของวิกิพีเดีย และการควบคุมเนื้อหา
- วิวัฒนาการตามธรรมชาติ ของวิกิพีเดีย
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการคัดลอกข้อความบางส่วนมาจากต้นฉบับสมบูรณ์
ที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ เพื่อความเหมาะสมสำหรับเว็บไซต์นี้เท่านั้น
ผู้สนใจอ่านต้นฉบับที่สมบูรณ์ สามารถคลิกไปอ่านได้ที่

http://www.onopen.com/2006/02/232
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๐๙
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

คำบรรยายของจิมมี่ เวลส์ ผู้ก่อตั้งสารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย
นักค้าอนุพันธ์ทางการเงิน ผู้ผันตัวมาสร้างสารานุกรมวิกิพีเดีย
สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน-แปล
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม

Jimmy Wales ผู้สร้างโลกแห่งความรู้อันเสรีไร้พรมแดน
ในยุคโลกไร้พรมแดนที่โลกทั้งใบถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คำว่า "ชุมชนโลกไซเบอร์" ที่ประกอบด้วยสมาชิกหลายแสนหลายล้านคน ผู้ทำความรู้จักกันในโลกไร้สาย ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันในชีวิตจริง มิได้เป็นเพียงศัพท์สวยหรูที่อยู่แต่ในหน้านิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป หากเป็นชุมชนระดับโลกที่มีพลวัตและความตื่นตัวสูง สามารถรวมตัวกันได้อย่างรวดเร็วเพื่อเรียกร้อง และผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวต่างๆ ในโลกแห่งความจริง. นักกฎหมายเจมส์ มัวร์ (James Moore) ถึงกับเรียกชุมชนโลกไซเบอร์ว่า เป็น "มหาอำนาจอันดับสอง" (second superpower) ในโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

หนึ่งในชุมชนโลกไซเบอร์ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกเราอย่างช้าๆ แต่มั่นคง คือชุมชนชาววิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (Wikipedia) สารานุกรมฟรีบนเว็บที่ทุกคนสามารถเขียน แก้ไข และเพิ่มเติมเนื้อหาตามใจชอบ ภายใต้แนวคิด "ซอฟต์แวร์เสรี" (Free Software) ซึ่งหมายถึงซอฟต์แวร์ที่สามารถนำไปใช้ แก้ไข ดัดแปลง พัฒนา และจำหน่ายแจกจ่ายได้โดยเสรี โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ ไม่ว่าคุณจะอยากรู้เรื่องอะไร ตั้งแต่เหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์โลก ชีวประวัตินักคิด ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมบันเทิง ที่มาของสำนวนต่างๆ ตำนาน ฯลฯ วิกิพีเดียมีคำตอบ และคำตอบนั้นไม่คิดเงิน

วิกิพีเดียก่อตั้งโดยจิมมี่ เวลส์ (Jimmy Wales) อดีตนักค้าอนุพันธ์ทางการเงินในชิคาโก ผู้ให้สัมภาษณ์ว่า รายได้จากอาชีพนั้นทำให้เขาสามารถ เลี้ยงดูลูกเมียได้อย่างสบายตลอดชีวิต และทำให้เวลส์สามารถผันตัวมาทำในสิ่งที่จิตสำนึกภายในเรียกร้อง: สร้างสารานุกรมเสรี โดยใช้อาสาสมัครล้วนๆ และโลกไซเบอร์เป็นพื้นที่ทำงาน. เป้าหมายสูงสุดของเวลส์คือ วันหนึ่งเขาตั้งใจจะแจกจ่ายวิกิพีเดียในรูปหนังสือ ให้กับทุกคนบนโลกในภาษาของพวกเขา

แนะนำสารานุกรมวิกิพีเดีย
วิกิพีเดียเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 ในฐานะเว็บเสริมของนูพีเดีย (Nupedia) สารานุกรมปิดที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งปิดตัวไปเมื่อปี 2546 ปัจจุบันวิกิพีเดียบริหารโดยองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรชื่อ มูลนิธิวิกิมีเดีย (Wikimedia Foundation) ณ สิ้นเดือนมกราคม 2549 วิกิพีเดียมีบทความกว่า 3.2 ล้านเรื่อง ครอบคลุมกว่า 200 ภาษา ในจำนวนนี้กว่า 941,000 เรื่องเป็นบทความภาษาอังกฤษ มีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกว่า 846,000 คนทั่วโลก เป็นหนึ่งใน 35 เว็บไซด์ที่มีผู้ใช้สูงที่สุดในโลก ชื่อเสียงของวิกิพีเดียก่อให้เกิด "โครงการพี่น้อง" หลายโครงการ และได้รับการกล่าวถึงในสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

เรื่องของความถูกต้องและคุณภาพ
ข้อกังขาว่าเนื้อหาของวิกิพีเดียมี "ความถูกต้อง" และ "คุณภาพ" ดีเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าโครงการนี้เรียกตัวเองว่าเป็น "สารานุกรม" แต่เปิดให้ทุกคนแก้ไขต่อเติมเนื้อหาเมื่อใดก็ได้นั้น เป็นประเด็นใหญ่ที่ถกเถียงกันมาช้านาน มีผู้เชี่ยวชาญมากมายที่วิจารณ์ว่า เนื้อหาในวิกิพีเดียมีคุณภาพต่ำกว่าสารานุกรมพาณิชย์ เช่น Britannica และมีข้อผิดพลาดมากมาย วิกิพีเดียยังมีปัญหาจากเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ คือคัดลอกเนื้อหาที่อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์มาลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของก่อน นอกจากนั้น นักคิดบางคนที่เป็นหัวข้อของบทความในวิกิพีเดียที่ลงประวัติของเขาไม่ถูกต้อง แสดงความไม่พอใจว่า วิกิพีเดียทำให้คนไม่มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเขียน เพราะสามารถเขียนได้โดยไม่เปิดเผยตัวหรือสร้าง account ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถเอาผิดคนเขียนได้ในแง่กฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างน่ามหัศจรรย์ของวิกิพีเดียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้ใช้วิกิพีเดียที่เห็นประโยชน์ของสารานุกรมเสรี และอยากช่วยให้เนื้อหาของวิกิพีเดียสมบูรณ์ขึ้น และมีความเป็นกลางมากขึ้นนั้น มีจำนวนมากกว่าคนที่ตั้งใจก่อกวน ใส่เนื้อหาผิดพลาดเพื่อแกล้งคนอื่นหลายเท่าตัว ปัจจุบันวิกิพีเดียมีกฎกติกาและนโยบาย ที่ผู้ใช้ต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจถูกระงับ หรือเพิกถอนสิทธิในการเขียนบทความได้

ข้อพิสูจน์หนึ่งว่าคุณภาพของวิกิพีเดียดีขึ้นมากคือ ผลการทดสอบความถูกต้องของบทความวิทยาศาสตร์ในวิกิพีเดีย เมื่อเปรียบเทียบกับ Britannica ที่นิตยสาร Nature จัดทำเมื่อปลายปี 2548 ผลปรากฏว่ามีข้อผิดพลาดใกล้เคียงกัน เกิดเป็นข่าวลงในหนังสือพิมพ์หลายแห่ง รวมถึง BBC, Business Week และ CNN (อ่านสรุปผลการเปรียบเทียบเหล่านี้ได้ในหน้า external peer review)

ความร่วมไม้ร่วมมือในชุมชนวิกิพีเดีย
ชุมชนวิกิพีเดียเป็นชุมชนเปิดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วยสมาชิกที่มีเจตนาดีหลายแสนคน คุณสมบัติ "เนื้อหาเสรี" ของวิกิพีเดียที่ใครๆ ก็ช่วยแก้ไขต่อเติมได้ ช่วยสร้างจิตสำนึกของ "ความมีส่วนร่วม" ให้เกิดขึ้น ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านที่ช่วยกันดูแลสวนสาธารณะในละแวกบ้าน ใครที่พบเห็นการก่อกวนสามารถ โพสต์ข้อความแจ้ง ชุมชนได้ ผู้ใช้วิกิพีเดียรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ตามความสนใจและความถนัด บางคนเขียนเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ บางคนที่ถนัดคอมพิวเตอร์ช่วยดูแลระบบเว็บ บางคนที่เขียนไม่เก่งช่วยเก็บกวาด แก้คำผิด จัดบทความให้ตรงหมวดหมู่ มีแม้กระทั่งกลุ่มผู้ใช้ที่รวมตัวกันเพื่อยกระดับคุณภาพของบทความในวิกิพีเดียที่มีอยู่แล้ว ให้ใช้ภาษาที่สละสลวยขึ้นและอ่านง่ายกว่าเดิม

.....................................................

คำบรรยายของจิมมี่ เวลส์ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
(ข้อความต่อไปนี้เป็น)บางตอนจาก บทบรรยายเรื่องวิกิพีเดีย ที่เวลส์ไปพูดที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 แสดงให้เห็นจุดยืน ความเชื่อมั่นในพลังชุมชน และวิสัยทัศน์ของเวลส์ได้อย่างชัดเจน:

จุดเด่นและด้อยของสารานุกรมวิกิพีเดีย
สวัสดีครับ ผมชื่อจิมมี่ เวลส์ ประธานมูลนิธิวิกิมีเดีย และผู้ริ่เริ่มก่อตั้งวิกิพีเดีย วันนี้ผมจะเล่าเรื่องราวของวิกิพีเดีย และประเด็นว่า ทำอย่างไรให้คนมาร่วมมือร่วมใจกัน. แน่นอนครับ ความร่วมมือกันเป็นเรื่องใหญ่ และผมคิดว่าน่าสนใจสำหรับพวกคุณ ดังนั้นก่อนอื่น ผมจะอธิบายว่าวิกิพีเดียคืออะไร และปูพื้นที่มาที่ไปให้สำหรับคนที่อาจไม่เคยเห็นมันมาก่อน

วิกิพีเดียเป็นสารานุกรมเสรี (free-licensed encyclopedia) ที่เขียนโดยอาสาสมัครล้วนๆ ในหลายภาษา หนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของวิกิพีเดียคือ เราอนุญาตให้คนคัดลอก เผยแพร่ และแก้ไขเนื้อหาในนั้น เอาไปจำหน่ายหรือแจกฟรีก็ได้ เราใช้สัญญาอนุญาตของกนูประเภทเอกสารเสรี (GNU Free Documentation License เรียกย่อว่า GNU GFDL - มีลักษณะเปิดกว้าง โดยให้ผู้อื่นสามารถนำข้อมูลไปใช้ คัดลอก ดัดแปลง และปรับปรุงได้ฟรี ภายใต้เงื่อนไขว่าผลงานที่สร้างใหม่ต้องใช้สัญญาอนุญาตแบบ GFDL เหมือนกัน) และเราก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม ปี 2544

ส่วนมูลนิธิวิกิมีเดียนั้นเป็นองค์กรการกุศลที่ผมก่อตั้งขึ้นมาแล้วกว่าปีครึ่ง [มูลนิธินี้ก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม ปี 2544] โอนสินทรัพย์ทุกอย่างให้ ทำให้ตอนนี้มูลนิธิเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์วิกิพีเดียและกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง. พันธกิจของมูลนิธิคือ เผยแพร่สารานุกรมเสรีให้กับทุกคนในโลก ในภาษาของเขา และเราก็หมายความอย่างนั้นจริงๆ - อันนี้แปลว่าเราต้องการมากกว่ามีเว็บไซต์เท่ๆ อันหนึ่ง เราวางแผนที่จะแจกจ่ายวิกิพีเดียให้กับทุกคนทั่วทุกมุมโลก ในอนาคตข้างหน้า มูลนิธิวิกิมีเดียดูแลวิกิพีเดียและโครงการพี่น้องอื่นๆ เราได้ทุนจากเงินบริจาค และเรากำลังขอทุนจากองค์กรต่างๆ เราไม่มีพนักงานประจำ มีแต่ที่ปรึกษา part-time หนึ่งคนที่ช่วยผมเรื่องฮาร์ดแวร์ นอกนั้นทุกคนที่ทำงานให้เราล้วนแต่เป็นอาสาสมัคร รวมทั้งตัวผมเองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดมากทีเดียว

ทีนี้มาถึงประเด็นลิขสิทธิ์เสรี (free license) ที่เราใช้อยู่ อะไรคือข้อได้เปรียบของเนื้อหาแบบเสรี?

ข้อแรก คุณสมบัตินี้บังคับให้ทุกคนอ้างอิงข้อมูลว่ามาจากเรา ดังนั้นเมื่อใครเอาเนื้อหาไปใช้ เขาต้องบอกว่ามาจากไหน เท่ากับช่วยเราโปรโมทวิกิพีเดีย ตอนนี้มีเว็บไซต์ประมาณสองร้อยแห่ง ที่ไม่มีอะไรมากกว่าเป็นก็อปปี้ หรือใช้เนื้อหาส่วนหนึ่งของวิกิพีเดีย พวกเขาทั้งหมดลิงก์กลับมาหาเรา ทำให้เราได้คนเข้ามาดูจำนวนมหาศาล ซึ่งทำให้เรามีชื่อเสียงขึ้น

ข้อสอง วิกิพีเดียเป็นโค้ดเสรีที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ (non-proprietary) คุณสมบัติข้อนี้สำคัญมากเพราะมันทำให้อาสาสมัครรู้สึกดีที่จะช่วยเหลือวิกิพีเดีย พวกเขารู้ว่าทุกอย่างที่เขาสร้างอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์เสรี ที่ไม่มีวันหายไปได้ แม้ผมอาจกลายเป็นพ่อค้าหน้าเลือด หรือมูลนิธิเราอาจพังพินาศไปในอนาคต ทุกคนสามารถหยิบเนื้อหาไปใช้ทำอะไรก็ได้ เขาอาจเลิกสนใจโครงการนี้ถ้าผมดูแลมันไม่ดี และภายในชุมชนชาววิกิของเราเอง ลิขสิทธิ์เสรีแปลว่าคนอื่นสามารถแก้ไขงานของคุณได้ ทำให้ช่วยลดความรู้สึก "ความเป็นเจ้าของ" แบบปัจเจกชน

โครงการที่เป็นงานเขียนบนอินเทอร์เน็ตมากมายต้องชะลอหรือพบปัญหา เพราะทุกคนต้องการเป็น "เจ้าของ" ข้อมูลที่เขาเป็นคนเขียน การที่เราปล่อยให้ทุกคนแก้ข้อเขียนของกันและกันได้ ทำให้พวกเขาเขียนแล้วต้องทำใจ "ปล่อย" ให้สิ่งที่เขียนนั้นเป็นของสาธารณะ พูดว่า "มันไม่ใช่ของฉัน มันแค่อยู่ในเว็บ มันไม่ใช่บทความของฉัน" แต่ในขณะเดียวกัน ความเสรีนี้ก็ช่วยเพิ่มความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม (share ownership) ในแง่ที่ว่า พวกเราเป็นกลุ่มคนที่ดูแลเนื้อหาอันนี้ แล้วเรามีคนมากมายที่มีความกระตือรือร้นมากๆ ที่จะดูแลเว็บและเนื้อหาในนั้น เพราะมันเป็นของเราทุกคนร่วมกัน เราสร้างมันขึ้นมาด้วยกัน

[ผู้ชม] จะไม่พูดถึงข้อด้อยเลยหรือครับ?

[เวลส์] ไม่มีข้อด้อยนะครับ [ผู้ชมหัวเราะ] ผมว่าโครงการเรา... ผมว่าข้อด้อยอันหนึ่งคือ ผมไม่สามารถเอาเนื้อหาอันยอดเยี่ยมทั้งหมดนี้ไปขายต่อในราคาหนึ่งพันล้านเหรียญได้ น่าเจ็บใจไหมครับ แต่ในขณะเดียวกัน เราไม่มีทางสร้างเนื้อหาเหล่านี้ขึ้นมาได้เลย ถ้าไม่ใช้ลิขสิทธิ์เสรี โค้ดเสรีทำให้วิกิพีเดียเป็นตัวตน - มันทำให้เราสูญเสียรายได้จากโค้ดปิด แต่ก็ทำให้วิกิพีเดียเกิดขึ้นมาได้ โปรแกรมทุกอย่างที่เราใช้เป็นซอฟต์แวร์เสรีทั้งหมด ซอฟต์แวร์ที่เราสร้างเองชื่อมีเดียวิกิ (MediaWiki) ก็เป็นโค้ดเสรีภายใต้สัญญาอนุญาต GNU GFDL [ดังนั้นทุกคนสามารถเอาโปรแกรมนี้ไปสร้างวิกิของตัวเองได้] ทุกอย่างที่เราใช้เป็นเครื่องมือที่ใครก็ได้สามารถดาวน์โหลดมาใช้ฟรี เราใช้ Linux, Apache, MySQL, PHP …เหล่านี้เป็นซอฟท์แวร์ที่สแตนดาร์ดมากๆ

เอาล่ะ คุณคงอยากรู้ว่าเราประสบความสำเร็จขนาดไหน? วิกิพีเดียใหญ่ขนาดไหน? ตอนนี้เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของวิกิพีเดียใหญ่ที่สุด ...ใหญ่กว่าสารานุกรม Britannica และ Encarta รวมกัน ฝ่ายคอมพิวเตอร์ บอกผมว่าในอีกไม่ถึงสิบห้าเดือน ฐานข้อมูลของเราจะมีขนาดถึงหนึ่งเทราไบต์ (1 terabyte เท่ากับ 1,000 gigabyte) นี่รวมวิกิพีเดียทุกภาษา รูปภาพและสื่อต่างๆ ทั้งหมด ...

บทความในวิกิพีเดียครอบคลุม 200 ภาษา แต่ตัวเลขนี้อาจทำให้เข้าใจผิดนะครับ ในจำนวนนี้มีหลายภาษาที่เราเพิ่งเปิดเว็บไม่นาน รอให้คนมาเขียน ...กว่า 50 ภาษามีบทความเกิน 1,000 เรื่อง เมื่อไหร่ที่เราเห็นบทความแตะจำนวนนี้ นั่นหมายความว่าชุมชนเล็กๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว ชุมชนที่มีคน 10-20 คนช่วยกันเขียน นั่นเป็นจุดที่สารานุกรมจะเริ่มโตอย่างก้าวกระโดด

[คำถามจากผู้ชม] บทความบางเรื่องเป็นบทแปลหรือเปล่า? หรือทั้งหมดนี้เขียนขึ้นใหม่ครับ?

[เวลส์] ส่วนใหญ่บทความ[ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ]ไม่ได้แปลมา[จากเวอร์ชั่นอังกฤษ]นะครับ นี่เป็นเรื่องสำคัญมากในชุมชนของเรา แน่นอน วิกิฉบับอังกฤษใหญ่ที่สุดและมีจำนวนผู้เขียนมากที่สุด แต่เราไม่ได้คิดถึงคนที่ใช้ภาษาอื่นว่าเป็นแค่กระจกเงาของสารานุกรม "ฉบับจริง" ที่เป็นภาษาอังกฤษ บทความเกือบทั้งหมดเขียนขึ้นใหม่ แต่ตรงนี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น สมมุติว่าคุณกำลังเขียนบทความให้วิกิพีเดียฉบับเยอรมัน คุณมีทางเลือกหลายอย่าง คุณอาจแปลบทความจากวิกิพีเดียภาษาอื่นมาแบบลวกๆ คือใช้มันเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูล ไม่ต่างจากวิธีที่คุณอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ บนอินเทอร์เน็ต หรือคุณอาจใช้วิธี "ขโมยคัดลอก" (plagiarize) บทความเดิม หมายความว่าไม่ใช่แปลคำต่อคำ แต่คัดลอกมาแล้วเปลี่ยนให้เป็นคำพูดของตัวเอง เรายอมรับพฤติกรรมทั้งสองแบบนี้ เพราะยังไงๆ มันก็อยู่ในชุมชน และอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์เสรี ดังนั้นผมว่าคนที่ทำแบบนี้มีเยอะ แต่เป็นเรื่องยากที่เราจะบอกว่ามีเท่าไหร่ ถ้าผมอยากจะเขียนบทความในภาษาเยอรมัน เกี่ยวกับเรื่องที่ผมพอรู้ ผมจะอ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเรื่องนี้ในวิกิพีเดียก่อน ใช้โครงสร้างของเขาในการเขียนของผม และผมก็อาจจะแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อมูล ดังนั้นท้ายที่สุดเวอร์ชั่นเยอรมันกับอังกฤษอาจออกมาไม่เหมือนกัน แต่สองบทความนี้ก็โยงกัน พึ่งพากันอยู่

โครงการพี่น้องของวิกิพีเดีย
Wikitionary
ตอนนี้เรามีโครงการมากมายนอกเหนือจากวิกิพีเดีย โครงการหนึ่งคือวิกิพจนานุกรม (Wiktionary) เป็นโครงการสร้างพจนานุกรมบนเว็บ เหตุผลที่เรามีโครงการมากมายคือ หลายครั้งเราเจอแรงกดดันทางสังคมจากสมาชิกชุมชนให้ทำอะไรสักอย่าง ที่อาจไม่สอดคล้องกับสารานุกรมอังกฤษ ตัวอย่างหนึ่งที่อธิบายง่ายคือวิกิพจนานุกรม ต้นกำเนิดของมันคือ เราเห็นหลายๆ คนเริ่มใส่เนื้อหาที่มีลักษณะเป็นคำจำกัดความแบบพจนานุกรม เข้าไปในวิกิพีเดีย ผู้ใช้คนอื่นๆ ก็บอกว่ามันคนละเรื่องกัน คุณจะเอาคำพ้องที่มีความหมายเหมือนกันไปใส่ตรงไหน? จะใส่ในสารานุกรมก็คงไม่เหมาะ เราเลยทำวิกิพจนานุกรมขึ้นมา ให้คนที่อยากทำเรื่องเกี่ยวกับพจนานุกรมได้มีพื้นที่ กลายเป็นทางออกที่ดีทีเดียว เพราะคุณสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างในพจนานุกรม เช่นจัดโครงสร้างข้อมูลที่ไม่เหมาะสมสำหรับสารานุกรม โครงการของเราหลายอย่างเกิดขึ้นจากแรงกดดันทางสังคมแบบนี้

Wikibook
อีกโครงการใหม่ของเราคือวิกิตำรา (Wikibooks) เป็นหนึ่งในโครงการที่ทำให้ผมตื่นเต้นที่สุด โครงการนี้สำหรับสร้างหนังสือเรียนฟรี และเราพยายามจะสร้างหลักสูตรสมบูรณ์ที่ให้ทุกคนใช้ฟรี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับปริญญา ในหลายๆ ภาษา ตอนนี้มีประมาณ 100 เล่ม [ณ สิ้นเดือนมกราคม 2549 หรือประมาณหนึ่งปีหลังจากวันที่เวลส์บรรยายครั้งนี้ วิกิตำรามีหนังสือแล้วกว่า 13,500 เล่ม แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีอัตราการเติบโตที่น่าทึ่งเพียงใด - ผู้แปล]

Wikisource
อีกโครงการคือวิกิซอร์ส (Wikisource - เป็นที่รวบรวมแหล่งข้อมูล ในทุกๆ ภาษา ที่เป็นสมบัติสาธารณะ หรืออยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตแบบ GFDL เช่นเดียวกับวิกิพีเดีย) ซึ่งเกิดขึ้นจาก เช่น เมื่อมีคนเริ่มแปะเนื้อหาจาก Hamlet [บทละครอมตะของเชคเสปียร์] มาทั้งเล่ม เราควรจะเก็บเรื่องพวกนี้ไว้ที่ไหนสักแห่ง แต่ Hamlet นี่ไม่ใช่บทความสารานุกรม ก็เลยไม่ควรใส่ไว้ในสารานุกรม นั่นก็เป็นที่มาของวิกิซอร์สครับ

Wikiquote - Wikispecies
วิกิคำคม (Wikiquote) เป็นแหล่งรวบรวมคำคมต่างๆ ส่วน วิกิสปีซีส์ นี่เป็นหนึ่งในโครงการใหม่ของเรา อันนี้เป็นสารบบอนุกรมวิธาน เขียนโดยนักชีววิทยาอาชีพ เพื่อเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน มันเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทุกสปีซีส์ที่โลกรู้จัก บันทึกข้อมูลโดยใช้โครงสร้างเฉพาะกิจเพื่อให้นักชีววิทยาสามารถอ้างอิงได้ง่าย ตอนนี้โครงการยังเล็กอยู่ คนที่ทำงานส่วนใหญ่ตรงนั้นเป็นนักชีววิทยา และโปรแกรมเมอร์ที่ช่วยกันออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูล เป็นปัญหาที่ใหญ่เหมือนกัน ต้องใช้ความพยายามมากทีเดียว

Wikicommons
วิกิมีเดียคอมมอนส์ ["เป็นโครงการเพื่อให้บริการคลังข้อมูลกลางสำหรับภาพ ดนตรี เสียง และวีดิทัศน์ลิขสิทธิ์เสรี และอาจรวมถึงข้อความและคำพูด เพื่อใช้ในหน้าเอกสารในโครงการต่าง ๆ ของวิกิมีเดีย ภาพทุกภาพที่เก็บในคอมมอนส์จะสามารถเรียกใช้ได้ จากหน้าเอกสารของโครงการวิกิมีเดียทุกโครงการ" - จากหน้าหลักภาษาไทยของวิกิมีเดียคอมมอนส์] เกิดขึ้นจากปัญหาที่เราเจอ คือยกตัวอย่างเช่น เรามีรูปถ่ายหอไอเฟลที่อยู่ในเวอร์ชั่นภาษาฝรั่งเศสของวิกิพีเดีย แต่ไม่อยู่ในเวอร์ชั่นอังกฤษ ดังนั้นถ้าคุณอยากจะได้รูปนี้จากเวอร์ชั่นอังกฤษ คุณต้องไปตามหารูปนี้มาจากเวอร์ชั่นฝรั่งเศส

อีกตัวอย่างคือ เรามีผู้ใช้ที่เขียนบทความเยอะมากๆ จากประเทศไทย แต่เขาเขียนลงเฉพาะวิกิพีเดียภาษาดัทช์ ปรากฎว่าเขาเป็นชาวดัทช์ที่อาศัยอยู่เมืองไทย ก็เลยใส่รูปเกี่ยวกับเมืองไทยทั้งหมดที่เขามี ลงไปในวิกิพีเดียเวอร์ชั่นดัทช์ ผมคงไม่คิดที่จะไปหารูปเกี่ยวกับเมืองไทยในเวอร์ชั่นดัทช์ ใช่ไหมครับ ดังนั้นสิ่งที่เราทำก็คือ รวบรวมไฟล์ภาพ เสียง และสื่ออื่นๆ ที่เรามี เอาไปไว้ในคลังข้อมูลศูนย์กลาง แล้วแปะป้ายคำอธิบายด้วยชื่อในภาษาต่างๆ เพื่อให้คนเอาไปใช้ในเวอร์ชั่นต่างๆ ได้

Wikinews
โครงการใหม่ล่าสุดของเราคือ วิกิข่าว เป็นความพยายามที่จะทำข่าวที่มีเนื้อหาเสรี ผมพูดเรื่องนี้ได้ยาวเลยนะครับ แต่วันนี้ผมจะข้ามไปก่อน นี่เป็นโครงการที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมากๆ ต้องรอดูว่ามันจะไปถึงไหน

Wikicities
วิกิเมือง (Wikicities) เป็นบริษัทแสวงหากำไรที่ตั้งขึ้นต่างหาก ที่ผมเป็นเจ้าของ ผมไม่ค่อยพูดถึงโครงการนี้เวลาผมไปบรรยายเรื่องวิกิพีเดีย แต่ไอเดียหลักๆ ของมันคือ เรามีคนที่ยอดเยี่ยมมากมายในชุมชน[ไซเบอร์ของเรา] ที่รู้วิธีบริหารจัดการชุมชน แล้วก็มีชุมชนมากมายหลายแบบ ที่เกิดเป็นชุมชนขึ้นมาได้ แต่ไม่เข้ากับพันธกิจของมูลนิธิ ที่เป็นงานด้านการศึกษาและไม่แสวงหากำไร ตัวอย่างเช่น ชุมชนแรกๆ ที่เกิดขึ้นในวิกิพีเดียเป็นชุมชนเกี่ยวกับเกมคอมพิวเตอร์ชื่อ "ดูม" (DOOM) คือเรามีบทความสารานุกรมเกี่ยวกับดูม แต่มีอะไรหลายๆ อย่างที่แฟนเกมนี้สามารถช่วยกันสร้างสรรค์ [เช่น โค้ดส่วนต่อขยายหรือดัดแปลงเกมไฟล์] ที่ไม่เกี่ยวกับสารานุกรม วิกิเมืองคือพื้นที่ที่พวกเขาสามารถร่วมมือกันแบบนั้นได้

โครงสร้างของเว็บไซต์วิกิพีเดีย
[ผู้ชม] มีคนช่วยดูแลระบบกี่คน เป็นอาสาสมัครหมดเลยหรือเปล่า?

[เวลส์] ทุกคนเป็นอาสาสมัครครับ ตอนนี้เรามีผู้ดูแล (admin) 11 คน ที่มี root access [คือควบคุมแก้ไขได้ทุกอย่าง] ในจำนวนนี้ผมเคยเจอตัวจริงประมาณ 3-4 คน คือทุกคนออนไลน์เข้ามาช่วย แล้วเราก็มีคนอีกประมาณ 20 คนที่มีและใช้ shell access [คือมีอำนาจควบคุมน้อยกว่า root access] คนเหล่านี้เข้าไม่ถึง root แต่พวกเขาก็สามารถสั่งเปิดหรือปิดเซิร์ฟเวอร์ได้ คนเหล่านี้ทั้งหมดไม่ได้นั่งอยู่ที่นี่ เป็นอาสาสมัคร มาจากทั่วทุกมุมโลก กว่าครึ่งมาจากยุโรป และในบรรดาโปรแกรมเมอร์ กว่าครึ่งเป็นคนเยอรมัน วิกิพีเดียภาษาเยอรมันเป็นเวอร์ชั่นที่ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากอังกฤษ

[ผู้ชม] ชุมชนผู้พัฒนาระบบเจอกันออนไลน์ยังไงครับ?

[เวลส์] ส่วนใหญ่เขาเจอกันใน IRC [ย่อมาจาก Internet Relay Chat เป็นแช็ทรูมรูปแบบหนึ่งที่ให้คนหลายๆ คนมาร่วมคุยกันได้ แล้วก็ผ่านอีเมล์ลิสต์ที่เราเรียกว่า วิกิเทค (wikitech mailing list)

ทีนี้เรื่องเครื่องมือที่เราใช้สร้างเว็บนะครับ ...เราเรียกซอฟต์แวร์ที่ใช้ว่า มีเดียวิกิ ซึ่งโค้ดโดยอาสาสมัครทั้งหมด ล่าสุดมีวิศวกรซอฟต์แวร์มาดู อยากเพิ่มเติมฟีเจอร์บางอย่าง แล้วเขาก็รู้สึกทำนอง "ให้ตาย โครงสร้างของโปรแกรมนี้ห่วยมาก" คือรู้สึกรำคาญ ก็เลยเขียนมันขึ้นมาใหม่หมด นับว่าสุดยอดจริงๆ ซอฟต์แวร์นี้ scalable ง่าย และมีหลายภาษา ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้มีคนแปลซอฟต์แวร์นี้เป็นกี่ภาษาแล้วนะครับ แต่เราจดลิขสิทธิ์โดเมน (domain name) เตรียมไว้สำหรับเกิน 200 ภาษา เพียงแต่ส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาอังกฤษอยู่ ฉะนั้นถ้าคุณรู้ภาษาอื่น ขอความกรุณาช่วยแปลโปรแกรมของเรา แล้วส่งคำแปลมาให้หน่อยนะครับ เรามีคำแปลเกิน 100 ภาษาแล้ว ซอฟต์แวร์ตัวนี้ติดตั้งง่ายมาก ถ้าคุณมีเซิร์ฟเวอร์สแตนดาร์ด หมายความว่าติดตั้ง Apache, PHP, MySQL พร้อมแล้ว

ทีนี้เรื่องระดับผู้ใช้ (access level) ซอฟต์แวร์ของเราสามารถตั้งสิทธิของผู้ใช้ในระดับต่างๆ ได้ อนุญาตให้ทำบางอย่างเช่น ลบหน้าใดหน้าหนึ่งทิ้ง เราต้องมีฟังก์ชั่นนี้ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ถ้าเราพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ เราต้องลบเนื้อหานั้นทิ้งไปจากเซิร์ฟเวอร์เลย เราไม่อยากให้สิทธิทุกคนทำแบบนี้ได้ เพราะเราไม่สามารถเรียกสิ่งที่ลบไปกลับคืนมาได้

ความน่าเชื่อถือของวิกิพีเดีย
[ผู้ชม] ทุกคนสามารถแก้ไขสิ่งที่คนอื่นเขียนได้ตามอำเภอใจ ต่อเติมต่างๆ นานา คนที่แก้ไขเนื้อหาเหล่านี้บอกหรือเปล่าว่า เขาทำอย่างนั้นทำไม?

[เวลส์] ครับ เรามีช่องให้เขียนข้อคิดเห็น เป็นประโยคสั้นๆ หนึ่งบรรทัด และชุมชนเราถือว่า การบันทึกเหตุผล และสรุปสิ่งที่คุณแก้ไขลงในช่องนี้ทุกครั้ง เป็นมารยาทอย่างหนึ่ง บางครั้งข้อคิดเห็นเหล่านี้สั้นมาก ดังนั้นถ้าคุณแก้ไขเยอะในสาระสำคัญ คุณก็ไปที่หน้า "อภิปราย" ของหัวข้อนั้นเพื่อเขียนอธิบายว่าคุณทำอะไรลงไป และทำทำไม

ทีนี้คำถามคือ วิกิพีเดียน่าเชื่อถือแค่ไหน? แล้วทำไมคนถึงใช้? ทำไมคุณภาพของมันจึงดีได้เท่าที่เห็น? มีการทดสอบเรื่องนี้นะครับ มีการทดสอบโดยนิตยสาร PC ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมัน เขาไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ให้เปรียบเทียบระหว่างวิกิพีเดีย เวอร์ชั่นเยอรมันของโปรแกรม Encarta ของไมโครซอฟท์ และโปรแกรม Brockhouse Multimedia DVD ซึ่งเปรียบเสมือนสารานุกรม Britannica ฉบับเยอรมัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเวอร์ชั่นที่เป็น DVD นี้เล็กกว่าเวอร์ชั่นฉบับหนังสือมาก ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นเทียบคุณภาพของบทความต่างๆ ในแง่ความสมบูรณ์และเกณฑ์ต่างๆ ปรากฎว่าวิกิพีเดียชนะขาดลอย ในบางกรณี คุณภาพของบทความเราดีกว่าของ Britannica ค่อนข้างมาก แต่บางหัวข้อของเราก็ค่อนข้างแย่ ไม่ดีเท่ากับของ Britannica

การควบคุมเนื้อหาของวิกิพีเดีย
ปัญหาหนึ่งของเราคือ ใครจะเข้ามาแก้เนื้อหาเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นแม้ว่าคุณภาพโดยเฉลี่ยของเนื้อหาเราจะค่อนข้างสูง มันอาจมีคนเข้ามาแกล้งป่วนเมื่อนาทีที่แล้ว และข้อมูลอาจจะผิด ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังพยายามทำคือ ผลักดันให้วิกิพีเดียเข้าสู่ "เวอร์ชั่นเสถียร" (stable version) ถ้าคุณคุ้นเคยกับชุมชนซอฟต์แวร์เสรี ไอเดียนี้ก็เหมือนกันครับ ในโลกของซอฟต์แวร์เสรี คุณมีเวอร์ชั่นที่กำลังพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง (live development version) ที่อาจใช้งานไม่ได้มาก หรือคุณอาจดาวน์โหลดเวอร์ชั่นเสถียร ที่ทุกอย่างหยุดหมดแล้ว ในทำนองเดียวกัน เรากำลังคิดค้นกระบวนการต่างๆ ที่จะนำเราไปสู่เวอร์ชั่นเสถียรของวิกิพีเดีย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องคำนึงถึงกระบวนการแก้ไขของชุมชนชาววิกิด้วย ผมอาจพูดเรื่องนี้ไม่เก่งนะครับ

วันก่อนผมให้สัมภาษณ์นักข่าวคนหนึ่ง แล้วเขาไปเขียนลงหนังสือพิมพ์ว่า "ไม่นานวิกิพีเดียจะหยุดแก้ไขต่อเติมบทความทั้งหมด แล้วเริ่มต้นใหม่ในเวอร์ชั่นใหม่" ผมเลยต้องอธิบายให้ชัดกว่านี้ เราจะไม่หยุดแล้วเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่เราจะทำคือ หาวิธี "แบ่งแยก" บทความแต่ละเรื่องออกเป็นหลายเวอร์ชั่น นี่เป็นประเด็นที่เรากำลังอภิปรายกันมากในชุมชน ว่าเราจะทำแบบนี้ยังไง แต่แม้กระทั่งตอนนี้ เราก็มีกระบวนการทบทวน (review process) ใครที่คิดว่าเราไม่มีกระบวนการทบทวนเลย เข้าใจผิดนะครับ

กระบวนการทบทวนที่เราใช้อยู่ตอนนี้ มีลักษณะผสมระหว่างการควบคุมแบบปิด และแบบเปิด [วิธีควบคุมที่เว็บส่วนใหญ่ใช้แบ่งเป็นสามประเภทหลัก คือ]

1) premoderation หมายความว่า มีคนเขียนบทความเข้ามา แล้วมีคนอื่นทบทวนหน้านั้นก่อนที่มันจะปรากฏบนเว็บ

2) postmoderation หมายความว่า สิ่งที่คนเขียนนั้นปรากฏบนเว็บเลย แต่หลังจากนั้นการแก้ไขทุกอย่าง
จะผ่านการทบทวนโดยผู้ทำหน้าที่นี้ก่อน นอกจากนั้นก็มี

3) reactive moderation การควบคุมแบบปฏิกิริยาตอบโต้ คือแบบที่ไม่มีใครทำอะไร จนกว่าจะมีเสียงบ่นหรือคนร้องเรียน

ในกรณีของวิกิพีเดีย กระบวนการที่เราใช้ส่วนหนึ่งอยู่ในรูป postmoderation ในแง่ที่ว่า ข้อแก้ไขบทความทั้งหมดจะมีคนมาทบทวน ไม่ช้าก็เร็ว แต่มันก็เป็นการควบคุมแบบปฏิกิริยาตอบโต้เหมือนกัน ในแง่ที่บางครั้งเนื้อหาที่ผิดพลาดหลุดรอดสายตาทุกคนไป กรณีนั้นเราก็จะเข้าไปดูแล้วพยายามแก้มันให้ถูก

[ผู้ชม] มีการต่อสู้โดยคนเขียนหลายคนที่แก้กันไปแก้กันมาบ้างไหม?

[เวลส์] ครับ เรามี "สงครามแก้" (edit war) เหมือนกัน ประเภทของสงครามนี้ที่แย่ที่สุดคือ "สงครามคืนสภาพ" (revert war) นั่นคือเมื่อคนสองคนแก้เนื้อหากลับไปกลับมาไม่สิ้นสุด เราสั่งแบนผู้ใช้เหล่านั้นได้. จริงๆ แล้วเรามีกฎที่เรียกว่า กฎแก้กลับสามครั้ง (three revert rule) ซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นแนวทางปฏิบัติที่นับคนละเมิดว่าไร้มารยาท กฎนี้บอกว่า ถ้าคุณแก้กลับไปเหมือนเดิมสามครั้งภายใน 24 ชั่วโมง นั่นคือจุดที่สงครามนั้นควรยุติได้แล้ว ชุมชนเราเป็นชุมชนมนุษย์นะครับ ดังนั้นคนส่วนใหญ่เลยมองว่า "โอเค ผมยอมทำตามกฎนี้ถ้าอีกฝ่ายยอมเหมือนกัน"

[ผู้ชม] คุณแบนผู้ละเมิดกฎนี้จากทั้งเว็บไซต์เลยหรือเปล่า หรือเฉพาะหน้านั้นๆ ?

[เวลส์] ผู้ละเมิดกฎจะถูกแบนจากทั้งเว็บของเราเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคนที่ทำหน้าที่แบนด้วย ดังนั้นถ้าคุณมาขอโทษ ปกติคุณก็จะได้ปลดแบนออกเร็วขึ้น บางทีกฎนี้ก็ทำให้คนที่มีเจตนาดีบางคนถูกแบนเหมือนกัน การใช้กฎแบบเข้มงวดอย่างนี้ก็มีทั้งข้อดีข้อเสียนะครับ แต่ข้อดีเกี่ยวกับกฎคือ มันเป็นสิ่งที่ยุติธรรมไม่ลำเอียง ตัดสินว่าคุณผิดหรือไม่ผิด มีสองกรณีเท่านั้น ดังนั้นกฎแก้กลับนี้ก็คล้ายๆ กับตบหน้าคน เหมือนกับโยนถุงมือขาวท้าดวลในหนัง การแก้กลับไม่ใช่เหมือนท้าชกกัน แต่มันเหมือนสบประมาทกันมากกว่า ซึ่งบางครั้งนั่นก็เป็นเรื่องโอเค เพราะบางครั้งเราก็จำเป็นต้องตบหน้าคนเขียนเหมือนกัน การแก้กลับเท่ากับเป็นการบอกว่า ดูสิ ที่คุณแก้มาทั้งหมดนั้น ผมไม่เห็นมีข้อแก้อะไรที่ควรเก็บไว้เลย มันไม่มีประโยชน์ คุณอาจเขียนเพิ่มมา 17 ประโยค แต่ผมว่าทุกคำในนั้นไม่ได้เรื่อง นั่นเป็นความเห็นที่โหดพอสมควร ดังนั้นคุณจึงควรทำแบบนี้เฉพาะในกรณีจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

วิวัฒนาการตามธรรมชาติ ของวิกิพีเดีย
แผนของเวลส์ที่จะนำเนื้อหาของวิกิพีเดียไปสู่ "เวอร์ชั่นเสถียร" ในอนาคตที่มีคุณภาพทัดเทียมกับสารานุกรมพาณิชย์ อาจฟังดูห่างไกลและเป็นไปได้ยาก แต่ผู้เขียนเชื่อว่าความหวังนี้อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะคุณภาพของบทความต่างๆ ในวิกิพีเดียโดยเฉลี่ย น่าจะสูงขึ้นตามกาลเวลาเมื่อมีผู้ใช้มาช่วยเขียนและแก้ไขเพิ่มขึ้น แม้ว่าวิกิพีเดียจะยังไม่บังคับให้ผู้ใช้สร้าง account ในการสร้างหรือแก้ไขบทความก็ตาม วิกิพีเดียจะ "ล็อค" บางบทความที่มีผู้ร้องเรียนว่ามีเนื้อหาไม่เป็นกลาง หรือผิดพลาดเยอะ และหน้าที่เป็นเนื้อหาสำคัญ เช่น หน้าแรกของวิกิพีเดีย และคำอธิบายนโยบายและข้อเสนอแนะในการเขียน

นอกจากนี้ ผู้ใช้ที่มี account ในระบบสามารถสร้าง "watchlist" เพื่อใช้เฝ้าดูบทความที่สนใจ ซึ่งทุกครั้งที่ผู้ใช้ล็อกอินเข้ามา จะเห็นว่ามีบทความใดบ้างในรายการนี้ที่เปลี่ยนไปจากล็อกอินครั้งก่อน ฟังก์ชั่นนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบการแก้ไขรายวัน เพื่อป้องกันข้อมูลผิดพลาดหรือข้อมูลขยะ

หลักการ "เนื้อหาเปิด" ของวิกิพีเดียยังแปลว่า ข้อมูลการแก้ไขบทความทุกครั้งถูกเก็บอยู่ในหน้า "ประวัติการแก้ไข" ซึ่งทุกคนเข้ามาดูได้ ดังนั้นวิกิพีเดียจึงเป็นสารานุกรมแรกของโลก ที่แสดง "วิวัฒนาการ" ของบทความต่างๆ ให้ทุกคนเห็น เป็นหลักฐานชั้นยอดที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อไหร่และเหตุใดที่เนื้อหาของบทความนั้นมีข้อผิดพลาด ถูกผู้ไม่ประสงค์ดีก่อกวน หรือตกเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันมาก [เช่น บทความเกี่ยวกับประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ ของอเมริกา]

นอกจากนั้น ระดับ "ความถูกต้อง" และ "คุณภาพ" ของบทความในวิกิพีเดียทุกเรื่องน่าจะจบที่จุด "สูงสุด" แปลว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานพอ ผู้ใช้จะมีเวลาแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลในบทความนั้นจนครบถ้วน การแก้ไขหลังจากนั้นน่าจะเป็นเรื่องสไตล์การเขียน หรือมุมมองของผู้แก้อย่างเดียว ดังนั้น ข้อกังขาสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพในระยะยาวของวิกิพีเดียน่าจะเหลือเพียงสองข้อเท่านั้น:

1) ความพยายามของชุมชนวิกิพีเดียจะถึงจุด "สูงสุด" ของคุณภาพได้หรือไม่? และ
2) จุด "สูงสุด" ที่ว่านี้อยู่ตรงไหน?

ในเมื่อวิกิพีเดียให้เราเห็นวิวัฒนาการของบทความทุกเรื่อง คำตอบของคำถามทั้งสองข้อนี้น่าจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ด้วยการตรวจสอบคุณภาพของบทความอย่างเป็นระบบ ตามกาลเวลา

บทสรุป
ความสำเร็จและการเติบโตอย่างรวดเร็วของวิกิพีเดีย แสดงให้เราเห็นว่า ชุมชนโลกไซเบอร์นั้นมีพลังยิ่งใหญ่เพียงใดในการสรรค์สร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวม และแสดงให้เห็นว่า การปลุกจิตสำนึกสาธารณะในระดับปัจเจกนั้น มิใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้ในกระแสทุนนิยมสุดขั้วเช่นในปัจจุบัน. บางที คนเราอาจต้องการเพียง"เครื่องมือ"ที่มอบโอกาส และอำนวยความสะดวกให้จิตสำนึกเรามีช่องทางแสดงออกเท่านั้น

จิมมี่ เวลส์ และพลพรรคชาววิกิพีเดียกำลังพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า เราทุกคนสามารถช่วยกันสร้างโลกแห่งความรู้อันเสรีไร้พรมแดนได้ แม้เราอาจไม่ใช่ "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่เก่งกาจทุกคน แค่เราสละเวลาคนละเล็กน้อยมาช่วย เราก็สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้

บางที ขนาดของสมองอาจไม่สำคัญเท่ากับขนาดของหัวใจ

เหล่า "ผู้เชี่ยวชาญ" ทั้งหลายที่อ้างว่า คุณสมบัติเสรีของวิกิพีเดียให้โทษมากกว่าประโยชน์นั้น อาจยังไม่เข้าใจข้อนี้ ถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่า ขนาดของหัวใจชาววิกิพีเดียใหญ่แค่ไหน และยังไม่แน่ใจว่าอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่กำลังสร้างโลกใหม่หรือไม่ คำวิงวอน ของจิมมี่ เวลส์ ในโอกาสขึ้นปีที่ 6 ของวิกิพีเดีย อาจช่วยให้คุณเปลี่ยนใจ:

"นักข่าวชอบถามว่า ทำไมผมถึงทำวิกิพีเดีย ทำไมชาววิกิพีเดียถึงสละเวลามาทำงานนี้? ผมคิดว่าพวกเรา[ชาววิกิพีเดีย]ทุกคนรู้คำตอบอยู่แก่ใจดีนะครับ. ผมพูดแทนทุกคนไม่ได้ แต่ผมพูดแทนตัวเองได้ ผมทำงานนี้เพื่อเด็กชาวแอฟริกันที่จะใช้ตำราเรียน และหนังสืออ้างอิงฟรีที่ชุมชนเราช่วยกันเขียน ในการค้นคว้าหาวิธีแก้ปัญหาความยากจนข้นแค้นที่แวดล้อมตัวเขา สำหรับเด็กคนนี้ เว็บไซด์บนอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวไม่พอ เราต้องหาวิธีเผยแพร่งานของเราในรูปแบบที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ได้จริง

และผมก็ทำงานนี้เพื่อลูกสาวของผม ที่ผมหวังว่าจะเติบโตขึ้นในโลกที่วัฒนธรรมเป็นอิสระเสรี ไม่มีใครครอบครอง โลกที่อำนาจในการใช้ความรู้ทั้งมวลอยู่ในมือของมนุษย์ทุกคน ที่สามารถปรับใช้ แก้ไข และแบ่งปันซึ่งกันและกันโดยเสรี ไม่ต้องขออนุญาตใคร

ตอนนี้เรากำลังยึดพื้นที่ในอินเทอร์เน็ตคืนมาแล้ว คุณสามารถช่วยเราให้ยึดโลกทั้งใบคืนมาได้ครับ."

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com