โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 10 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๐๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 10, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งกำลังจะมีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น สังคมไทยควรพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน เพราะเท่าที่ผ่านมา การร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน (หรือเพียงได้แต่ดู [spectator] ผ่านจอโทรทัศน์), ในบางหมวดบางมาตราเป็นการพยายามสอดแทรกระบอบการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยเข้ามามีอำนาจหรือไม่, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จ้องจับผิดนักการเมืองมากไปไหม, (โดยมีฐานการพิจารณาถึงนักการเมืองในสมัยทักษิณ) รวมไปถึงการแอบอิงอำนาจของบุคคลบางฝ่าย
10-07-2550

Referendum - initiative
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

สาระเกี่ยวกับการลงประชามติ แถลงการณ์ รายงานข่าว และบทสัมภาษณ์
การลงประชามติคืออะไร, ทำไมเราจึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ?
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากเว็บประชาไท นสพ.มติชน แถลงการณ์ และกระดานข่าว

ข้อมูลที่รวบรวมจากแหล่งต่างๆ ต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มีวัตถุประสงค์ เพื่อเก็บเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สีดำอีกหน้าหนึ่งของสังคมไทย
เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ ที่อยู่ภายใต้บรรยากาศของการรัฐประหาร
โดย คปค. ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คมช. และจัดให้มี สสร. ขึ้นมาเพื่อการนี้

สำหรับข้อมูลที่รวบรวมบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. การลงประชามติคืออะไร?
2. เครือข่าย 19 กันยาฯ - ม.เที่ยงคืน สอน กกต. "ประชามติที่แท้เป็นอย่างไร?"
3.
แถลงการณ์บรรยายสาธารณะ "การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชน"
4. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบุก กกต. จี้"เป็นกลาง" อย่าชี้นำรับร่างรัฐธรรมนูญ ให้จัดเวที ๒ ฝ่าย
5. 'นิธิ' เคลียร์นักข่าว 'ทำไมไม่รับรัฐธรรมนูญที่วางตรงหน้า'
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๐๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สาระเกี่ยวกับการลงประชามติ แถลงการณ์ รายงานข่าว และบทสัมภาษณ์
การลงประชามติคืออะไร, ทำไมเราจึงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ?
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากเว็บประชาไท นสพ.มติชน แถลงการณ์ และกระดานข่าว

referendum and initiative,

1. การลงประชามติคืออะไร?
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

เกริ่นนำ
เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว การลงประชามติในการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นมาในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ในมลรัฐ Massachusetts ราวปี ค.ศ. 1778 (ข้อมูลจากสารานุกรมบริเตนนิกา). โดยนิยามความหมายของ"การลงประชามติ" คือเครื่องมืออย่างหนึ่งเกี่ยวกับการใช้สิทธิของการเลือกตั้ง ซึ่งบรรดาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหลายต่างแสดงความปรารถนาของตน โดยพิจารณาถึงนโยบายของรัฐบาล หรือกฎหมายที่ถูกนำเสนอขึ้นมาโดยกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจหรือสภานิติบัญญัติ

การลงประชามตินั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ กล่าวคือ การลงประชามติอาจเป็นเรื่องของข้อผูกมัด(obligatory) หรือเป็นเรื่องของการมีสิทธิ์เลือก(optional)ก็ได้ :

- ภายใต้รูปแบบการลงประชามติแบบข้อผูกมัด บทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญจะเรียกร้องปฏิบัติการทางกฎหมายบางอย่าง โดยการอ้างถึงเสียงของประชาชนในการให้การยอมรับหรือปฏิเสธบางสิ่งบางอย่างที่มีความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขหรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอโดยสภานิติบัญญัติในรัฐต่างๆ ส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องเคารพต่อเสียงของการลงประชามติ

- ภายใต้การลงประชามติแบบการมีสิทธิ์เลือกของประชาชน
ในเรื่องของกฎหมายที่ได้รับการผ่านโดยสภานิติบัญญัติ กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนหนึ่งตามที่กำหนด ได้มีการร้องเรียนขอให้มีการลงประชามติ โดยปฏิบัติการต่างๆ เหล่านี้บรรดากฎหมายที่ได้รับการผ่านโดยสภานิติบัญญัติอาจถูกล้มล้างด้วยมติมหาชนได้

การลงประชามติแบบข้อผูกมัดและแบบการมีสิทธิ์เลือกนี้ ได้รับการจำแนกให้แตกต่างจากการลงประชามติแบบสมัครใจ ซึ่งสภานิติบัญญัติยอมตามผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหลาย ในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญ หรือเป็นการทดสอบความเห็นของสาธารณชน. โดยผ่านการริเริ่มดังกล่าว ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนหนึ่ง อาจร้องเรียนเพื่อขอเสียงของประชาชนในกฎหมายที่มีการนำเสนอ หรือการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้อาจเป็นไปโดยทางตรง (ข้อเสนอที่ได้รับการสนับสนุนโดยจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ได้รับการยอมรับโดยทางตรงจากเสียงของประชาชนในการตัดสินใจ) หรือโดยทางอ้อม (ข้อเสนอที่ได้รับการยอมรับโดยสภานิติบัญญัติ) ก็ได้

การเริ่มต้นเกี่ยวกับการลงประชามติในรูปต่างๆ
สำหรับการลงประชามติเกี่ยวกับการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ ได้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในมลรัฐ Massachusetts ในปี ค.ศ. 1778 หรือสองร้อยกว่าปีมาแล้ว. ส่วนรูปแบบอื่นๆ เกี่ยวกับการลงประชามติได้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในรัฐบาลท้องถิ่นของสวิสส์ ที่เรียกว่า canton (มีลักษณะเป็นหน่วยการปกครองแยกย่อยลงไปในระดับท้องถิ่น)

การลงประชามติแบบการมีสิทธิ์เลือกได้ถูกนำมาใช้ในหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นของ Sankt Gallen (อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสวิสเซอร์แลนด์)ในปี ค.ศ. 1831, และเริ่มขึ้นใน Vaud (อยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์)ในปี ค.ศ.1845, ส่วนการลงประชามติแบบข้อผูกมัดในรูปแบบสมัยใหม่ได้ริเริ่มขึ้นในท้องถิ่นของ Basel (ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสวิสเซอร์แลนด์) ในปี ค.ศ.1863

ประสบการณ์ของชาวสวิสส์เกี่ยวกับเครื่องมือหรือสิ่งประดิษฐ์ทางกฎหมายโดยตรงอันนี้ ได้ส่งอิทธิพลในการรับเอามาใช้ และริเริ่มขึ้นด้วยการจัดให้มีการลงประชามติแบบการมีสิทธิ์เลือกในมลรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯอเมริกา และการปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ. ในส่วนของการลงประชามติแบบข้อผูกมัดในการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญต่างๆ ในระดับรัฐ ได้รับการนำเสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ซึ่งได้รับเอามาใช้ครั้งแรกโดยมลรัฐ Connecticut ในปี ค.ศ.1818 และได้กลายเป็นแบบแผนทั่วๆ ไปเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างๆ ระดับรัฐ. สำหรับบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ต้องการให้มีการลงประชามติในลักษณะข้อผูกมัด ยกตัวอย่างเช่น, ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องของภาษี, และสาระสำคัญบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทำนองนี้

โดยหลักการแล้ว ในสหรัฐอเมริกา เครื่องมือทางกฎหมายข้างต้นได้ถูกรับเอามาใช้ ในเชิงควบคุมกฎระเบียบและกลไกต่างๆ ของพรรคการเมือง เพื่อทำให้สภานิติบัติที่มีลักษณะแข็งขืนหรือไม่ยืดหยุ่นเพียงพอต้องอ่อนข้อลง โดยการยินยอมให้ประชาชนมีเครื่องมือหรือวิธีการอันหนึ่งที่จะคว่ำหรือล้มล้าง(overrule)กฎหมาย และเริ่มต้นในการตรากฎหมายด้วยเสียงของประชาชน

การลงประชามติในประเทศต่าง
แม้ว่าการลงประชามติและการเริ่มต้นนี้จะพบว่ามีการใช้กันอย่างกว้างขวางส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และในเขตปกครองท้องถิ่นต่างๆ ของสวิสเซอร์แลนด์ การลงประชามติเหล่านี้ก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ตระเตรียมไว้ในรัฐธรรมนูญต่างๆ ของยุโรปและประเทศเครือจักรภพทั้งหลายด้วย. ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสและอิตาลีได้สร้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการลงประชามติแบบผูกมัดขึ้น หากต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

ส่วนในไอร์แลนด์และออสเตรเลีย การลงประชามติเป็นเรื่องที่เป็นไปในเชิงบังคับสำหรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทั้งหมด. รัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเทศของแอฟริกาและเอเชียได้รวบรวมเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้โดยมีเจตจำนงที่ต้องการจะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล แต่โดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ได้รับการเรียกว่า"การลงประชามติ" กลับไม่ใช่การลงประชามติที่แท้จริง แต่กลายเป็นรูปแบบบางอย่างของ"เครื่องมือการรวบรวมคะแนนเสียง" เพื่อสนับสนุนระบอบ หรือนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเท่านั้น

การลงประชามติในประเทศไทย
ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งกำลังจะมีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น สังคมไทยควรพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน เพราะเท่าที่ผ่านมา การร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน (หรือเพียงได้แต่ดู [spectator] ผ่านจอโทรทัศน์), ในบางหมวดบางมาตราเป็นการพยายามสอดแทรกระบอบการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยเข้ามามีอำนาจหรือไม่, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จ้องจับผิดนักการเมืองมากไปไหม, (โดยมีฐานการพิจารณาถึงนักการเมืองในสมัยทักษิณ) รวมไปถึงการแอบอิงอำนาจของบุคคลบางฝ่ายภายใต้หน้าฉากของตุลาการ ในลักษณะก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหาร เหล่านี้คือคำถามที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์การเลือกควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

2. เครือข่าย 19 กันยาฯ - ม.เที่ยงคืน สอน กกต. "ประชามติที่แท้เป็นอย่างไร?"

ประชาไท - 11 ก.ค. 50 เวลา 13.00 น.เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ประมาณ 30 คน รวมตัวกันหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยยืนยันว่าไม่ได้มาประท้วง แต่มาเพื่อให้การศึกษาเกี่ยวกับการทำประชามติแก่ กกต. และสังคม โดยมี ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ให้การบรรยายสาธารณะเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการทำประชามติที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย โดยมี รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมาร่วมให้กำลังใจในการจัดกิจกรรมครั้งนี้

รศ.สมเกียรติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวนำการบรรยายครั้งนี้ว่า เป็นการมาพูดถึงเรื่องที่สำคัญคือความรู้เกี่ยวกับการลงประชามติ เพราะพื้นที่ในหน้าสื่อกำลังถูกบุคคลบางกลุ่มร่วมกันรณรงค์อย่างบิดเบือน การบรรยายครั้งนี้จึงจัดให้มีขึ้นเพื่อทำให้สังคมได้รับกระจ่างเกี่ยวกับการลงประชามติ และ กกต.จะได้รู้ว่าการลงประชามติในระบอบประชาธิปไตยคืออะไร ในทางกฎหมายและในทางรัฐศาสตร์หมายความว่าอย่างไร

อรรถจักร สัตยานุรักษ์
รศ.ดร.อรรถจักร ผู้บรรยายคนแรกกล่าวว่า ประชามติเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการไปหย่อนบัตร แต่ต้องทำให้สังคมได้เห็นทางเลือกที่ชัดเจนขึ้น ต้องคิดกันใหม่ว่าการลงประชามติไม่ใช่เรื่องของการทำเพื่อเอาชนะกัน แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาศักยภาพที่จะมองเห็นอนาคต

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล ต้องคิดเรื่องการทำประชามคติในหลายประเด็น ประเด็นแรกต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สังคมเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง คมช. กกต. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องไม่บิดเบือน หรือนำเพียงบางส่วนของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาบอกให้ประชาชนรู้ หรือบอกให้รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อนแล้วค่อยไปแก้กันทีหลัง แต่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของส.ส.ร.จะต้องชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งหมด และต้องชี้ให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยงทางอำนาจว่าใครจะได้อำนาจอะไร อย่างไรด้วย

นอกจากนี้ ส.ส.ร. คมช. และรัฐบาล จะต้องเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้เรียนรู้ในร่างรัฐธรรมนูญเพราะมันหมายถึงชีวิตของสังคมไทย การใช้อำนาจเพื่อปิดหรือชี้นำฝ่ายเดียวคือความบ่งพร่องและหยาบคาย บทบาทของ กกต.ไม่ใช่แค่ทำให้มีการหย่อนบัตรเท่านั้น แต่ต้องเป็นตัวเชื่อมความรู้ที่เท่าเทียมกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กกต.ต้องไม่แค่ดูหรือเชียร์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยไม่ได้ดูว่าสังคมมีการเรียนรู้อย่างไร

ประการต่อมา คมช. ต้องบอกประชาชนว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเลือกนำรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ การลงประชามติต้องทำให้เห็นตัวเลือกที่หนึ่ง ตัวเลือกที่สอง มิฉะนั้นก็คือการมัดมือชก และหากบอกว่าจะนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ ก็ต้องบอกด้วยว่าจะปรับแก้ตรงไหน อย่างไร ไม่อย่างนั้นประชาชนก็จะไม่ได้เลือกจริง ถ้าไม่ทำก็คือไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หัวใจที่สำคัญที่สุดของประชามติไม่ใช่การรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญแต่คือการเรียนรู้

สิ่งสำคัญอีกประการที่จะทำให้การลงประชามติมีความหมายทางการเมืองอย่างมั่นคง ต้องดูด้วยว่าอย่างไรคือเสียงประชามติส่วนใหญ่ เพราะหากชนะกันแค่คะแนนเดียวจะทำให้คนยอมรับได้หรือ ที่มาพูดนี้ก็เพราะหวังว่าจะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และมีทางเลือก

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
จากนั้น ผศ.สมชาย กล่าวบรรยายต่อว่า มีข้อเสนอหลักการ 3 ข้อต่อ กกต. และสังคมไทย

ข้อแรก คือต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพราะประชามติเกิดจากการที่คนมีความเห็นที่ต่างกัน และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีเสรีภาพและไม่ถูกปิดกั้นจากผู้มีอำนาจโดยเฉพาะภาครัฐ

ข้อที่สอง องค์กรของรัฐรวมทั้ง กกต. ต้องมีความเป็นกลาง ต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะถูกล้มหรือไม่นั้นไม่ใช่หน้าที่. หน้าที่ กกต. คือการจัดรณรงค์ให้คนไปลงประชามติ แต่ถ้าหน่วยงานรัฐไม่ว่าหน่วยงานใดเอนเอียง ชี้นำ หรือจัดตั้ง กกต.ต้องมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบไม่ให้เกิดขึ้น

ข้อสุดท้าย การลงประชามติต้องกำหนดคะแนนเสียงขั้นต่ำ คือต้องไม่ใช่แค่เรื่องการลงคะแนนเสียงข้างมาก คิดว่าคะแนนเสียงขั้นต่ำ สมควรเป็นกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงประชามติ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
ส่วนผู้บรรยายให้ความรู้สาธารณะเรื่องการลงประชามติคนสุดท้าย ได้แก่ อ.พิชญ์ โดยกล่าวว่า การลงประชามติเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีหลักการพื้นฐาน ซึ่งในที่นี้สามารถนำหลักการของการเลือกตั้งมาใช้ได้ ซึ่งสื่อมีความสำคัญในเรื่องที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าประชามติคืออะไร

การไปลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้เท่ากัน กกต. หรือองค์กรรัฐไม่ควรไปรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพียงแต่รณรงค์ให้ไปใช้สิทธิเท่านั้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันบรรยากาศการลงประชามติไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง เพราะมีพื้นที่อีกจำนวนมากอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ที่ผ่านมานี้เมื่อมีการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกจับกุมตัว แม้จะถูกปล่อยตัวแล้วก็ตาม บรรยากาศแบบนี้ไม่ควรเกิดในการลงประชามติ. กกต.ต้องดูแลทุกฝ่าย ส่วนรัฐบาลนี้มาจากการแต่งตั้งของ คมช. ก็ไม่ควรรณรงค์เช่นกัน เพราะเกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเรื่องนี้ขอฝากถึงสื่อมวลชนด้วย

เครือข่าย 19 กันยาฯ และ สนนท.
สำหรับทางเครือข่าย 19 กันยาฯ และสนนท. ก่อนหน้าจะมีการบรรยายให้ความรู้สาธารณะนั้น ได้ทำการรณรงค์ด้วยการถือป้ายสีแดง "เอารัฐธรรมนุญ 2540 ของประชาชนกลับคืนมา", "กา ไม่รับ รัฐธรรมนูญของ คมช.", "โหวตล้มรัฐธรรมนูญคือโหวตล้มรัฐประหาร" เป็นต้น โดยมีการชูป้ายข้อความดังกล่าวหันหน้าออกไปทางถนน เพื่อให้ผู้คนที่เดินทางผ่านไปผ่านมาได้เห็น อย่างไรก็ตาม ขณะทำการรณรงค์ มีฝนตกลงมาค่อนข้างหนัก ทางผู้รณรงค์จึงนำเสื้อกันฝนสีส้มรูปแบบเดียวกันมาสวมและรณรงค์กลางฝนต่อไป

ผู้รณรงค์ยังได้แจกแถลงการณ์กิจกรรม 'บรรยายสาธารณะ "การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชน" ' แก่ผู้สื่อข่าวโดยมีเนื้อความสรุปว่า ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่จะเกิดในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 เป็นกระบวนการประชามติที่บิดเบือนที่สุดในประวัติศาสตร์

ประการแรก คือเอาเปรียบผู้ใช้สิทธิออกเสียง เพราะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่า หากตัดสินใจไม่รับร่างแล้ว
จะได้รับรัฐธรรมนูญฉบับใดและมีเนื้อหาอย่างไร

ประการต่อมา ประชามติเกิดขึ้นในระบอบการเมืองเผด็จการ สิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงออกทางการเมืองและรับรู้ข้อมูลข่าวสารถูกปิดกั้น ตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกที่ยังประกาศใช้หลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้กระบวนการถกเถียงด้วยเหตุผลของทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของการลงประชามติไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า กกต. ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ลงประชามติจะต้องเป็นกลาง และมีหน้าที่ "จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ" อันเป็นหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการลงประชามติ ซึ่งเคยถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541 แต่ขณะนี้กลับมีแนวโน้มชัดเจนว่า ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ เนื่องจากกรรมการการเลือกตั้ง 2 คนเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับประเด็นที่ทำประชามติโดยตรง คือ นางสดศรี สัตยธรรม, นายประพันธ์ นัยโกวิท, เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สสร. ซึ่งการมีเข้าไปมีส่วนในการร่างหรือเป็น 'ผู้ผลิต' รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ที่ต้องการความเป็นกลางได้อีก

อีกประการหนึ่งคือ การแสดงความเห็นของ กกต. บางท่าน มีการบิดเบือนและปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและการแลกเปลี่ยนความเห็นของประชาชน แสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการประชามติ ซึ่งโดยหลักการฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สามารถที่จะแสดงความเห็นตนเองอย่างเปิดเผย

นอกจากนี้ ทางเครือข่าย 19 กันยาฯ, สนนท., พรรคแนวร่วมภาคประชาชน, กลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษา จะจัดเวทีเสวนา 'วิกฤติไฟใต้ แก้ไขด้วยการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.ได้หรือไม่' โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น และอุบลพรรณ กระจ่างโพธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยาฯ โดยจะจัดขึ้นที่ หอประชุม ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

3. แถลงการณ์บรรยายสาธารณะ "การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชน"

การออกเสียงประชามติ เป็นกระบวนการที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีส่วนในการตัดสินใจในปัญหาสำคัญของประเทศ หรือร่างกฎหมายต่างๆ โดยตรง แต่ประชามติครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หรือ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คมช." ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 กลับเป็นกระบวนการประชามติที่บิดเบือนที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน กล่าวคือ

1) เอาเปรียบผู้มีสิทธิในการออกเสียง เพราะไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้ว่า หากตัดสินใจไม่รับร่างแล้วจะได้รับรัฐธรรมนูญฉบับใดและมีเนื้อหาอย่างไร เนื่องจาก คมช. และรัฐบาล สามารถที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขและประกาศใช้ก็ได้

2) เกิดขึ้นในระบอบการเมืองที่เป็นเผด็จการ, สิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงออกทางการเมือง การแสดงความคิดเห็น หรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนถูกปิดกั้น, ตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกที่ยังประกาศใช้อยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ, พรรคการเมืองถูกห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งทำให้กระบวนการถกเถียงโต้แย้งกันด้วยเหตุผลของทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านอย่างรอบด้าน กว้างขวาง ซึ่งเป็นเป็นขั้นตอนสำคัญในการประชามติไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

ภายใต้กติกาที่ฉ้อฉลดังกล่าวนี้ นำไปสู่การข่มขู่ประชาชนด้วยข้ออ้างต่างๆ ที่บิดเบือน โกหกอย่างน่าละอายยิ่ง เช่น หากไม่รับจะได้ฉบับที่เลวร้ายกว่า, (หรือ) เอาการเลือกตั้งเป็นตัวประกัน (เช่น) โดยอ้างว่า ให้ "เห็นชอบ"เพื่อให้มีการเลือกตั้ง, การรณรงค์ให้ประชาชนชนออกเสียงในทางใดทางหนึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็น ต้น

ทั้งหมดนี้ คือ การนำประชามติมาบิดเบือน เพื่อให้ประชาชนต้องไปรับรองสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร รับรองความชอบธรรมของสิ่งที่คณะรัฐประหารได้กระทำลงไป รวมไปถึงการรับรองรัฐธรรมนูญที่จะเป็นกลไกสถาปนาอำนาจและผลประโยชน์ของคณะรัฐประหารต่อไปในอนาคตด้วย (ดูมาตรา 309 ในร่างรัฐธรรมนูญ)
[มาตรา 309 บรรดาการใดๆ ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้]

การกระทำเหล่านี้ของ คมช., รัฐบาล, สภาร่างรัฐธรรมนูญ, และส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงนั้น เรียกได้ว่า "ประชาธิปไตยย่อมไม่มีในหมู่โจรและสมุนรับใช้" ซึ่งผู้ยึดมั่นในระบอบและครรลองประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะยอมรับได้ แต่ความเลวร้ายของประชามติของหมู่โจร ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะปรากฏว่า กกต. ที่จะเข้ามาทำหน้าที่จัดการลงประชามติ ซึ่งจะต้องดำรงความเป็นกลาง และมีหน้าที่ "จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องรัฐธรรมนูญ" อันเป็นหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการประชามติ ซึ่งเคยถูกบัญญัติไว้ใน มาตรา 5 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2541 มีแนวโน้มอย่างชัดเจนที่จะไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ เนื่องจาก

1) กรรมการเลือกตั้งจำนวน 2 คน เข้าไปมีส่วนได้เสียกับประเด็นที่ทำประชามติโดยตรง คือ นางสดศรี สัตยธรรม เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ, นายประพันธ์ นัยโกวิท เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเข้าไปมีส่วนในการร่างหรือเป็น "ผู้ผลิต" รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดการลงประชามติ เพราะมีผลประโยชน์ขัดกันเอง จึงไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ที่ต้องการความเป็นกลางนี้ได้อีกต่อไป

2) การแสดงความคิดเห็นของกรรมการเลือกตั้งบางท่าน ที่บิดเบือนและมุ่งปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและการแลกเปลี่ยนซึ่งความคิดเห็นของประชาชน แสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการประชามติ ซึ่งโดยหลักการแล้ว ฝ่ายต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สามารถที่จะแสดงความเห็นของตนเองอย่างเปิดเผย

ดังนั้น พวกเรา "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ร่วมกับ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้มารวมกัน ณ ที่นี่ เพื่อจัดกิจกรรมบรรยายสาธารณะ "การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชน" โดยหวังว่าจะทำให้ กกต. และเจ้าหน้าที่คณะกรรมการเลือกตั้ง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น, ตระหนักในบทบาทหน้าที่ที่ถูกต้อง ของ กกต. และสามารถทำหน้าที่การจัดการลงประชามติอย่างเหมาะสม รวมทั้ง "จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ" ไม่ใช่เป็นกลไกในการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ

เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
11 กรกฎาคม 2550
ณ ที่ทำการ คณะกรรมการเลือกตั้ง อาคารศรีจุลทรัพย์ กรุงเทพฯ

4. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบุก กกต. จี้"เป็นกลาง" อย่าชี้นำรับร่างรัฐธรรมนูญ ให้จัดเวที 2 ฝ่าย
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0109120750&day=2007/07/12&sectionid=0101

จากมติชน: โนโหวต - นายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พร้อมเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ประมาณ 30 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 บริเวณหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม
..........................
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 กรกฎาคม เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นำโดยนายสมเกียรติ ตั้งนโม, นายสมชาย ปรีชาศิลป์กุล, นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายพิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะประมาณ 30 คน มาชุมนุมหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดกิจกรรมบรรยายสาธารณะเรื่อง "การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพประชาชน" และเรียกร้องให้ กกต.วางตัวเป็นกลางในการทำหน้าที่ เนื่องจาก กกต.อย่างน้อย 2 คนมีส่วนได้เสีย เพราะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และพยายามบิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายขอเข้าไปในอาคาร แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต จึงต้องยืนหลบฝนตามชายคา และตะโกนบรรยายเรื่องการลงประชามติฝ่าสายฝนให้ประชาชนทราบ

นายอรรถจักร์กล่าวว่า สังคมควรมีทางเลือกว่า หลังจากลงประชามติแล้วอนาคตสังคมจะพัฒนาไปอย่างไร ควรเปิดพื้นที่สาธารณะให้สังคมรู้ถึงข้อดีข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ กกต.ต้องเป็นผู้ประสานงานจัดการลงคะแนนเสียงอย่างบริสุทธิ์ ไม่ใช่ไปยืนอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

นายสมชายกล่าวว่า หลักการทำประชามติคือ ต้องเคารพเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ กกต.ต้องเป็นกลาง จัดรณรงค์โดยให้ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน เพราะถ้าร่างไม่ผ่านก็ไม่ใช่ความผิดของ กกต. และควรกำหนดคะแนนเสียงขั้นต่ำของการรับร่างต้องไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง

นายพิชญ์กล่าวว่า กกต.ควรตรวจสอบกรณีหน่วยงานรัฐไปรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ถูกต้อง ควรตรวจสอบว่ามีการใช้อิทธิพลชี้นำการตัดสินใจของประชาชนหรือไม่

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนางสดศรี สัตยธรรม กกต. และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) จะฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ "มติชน" ในข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีตีพิมพ์โฆษณาของเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ที่รณรงค์ไม่ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีการอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนางสดศรีว่า ถ้าหนังสือพิมพ์มติชนผิด ก็ฟ้องร้องสู้กันในชั้นศาลได้เลย แต่ถ้าตนเป็น กกต. จะไม่ใช้การฟ้องร้อง แต่จะอธิบายให้สังคมเข้าใจว่าความจริงคืออะไร ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็ทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแตะต้องไม่ได้ อย่าคิดว่าสื่อมีอภิสิทธิ์

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตรงกับแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายนิธิกล่าวว่า ไม่ได้รังเกียจ นปก. และไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ความต่างกันระหว่างสองฝ่าย คือ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีทางออกให้กับสังคมด้วย ไม่ใช่แค่ต่อต้านการรัฐประหารอย่างเดียว

"ไม่เข้าใจว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. กลัวอะไรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ตายทางการเมืองไปแล้วครึ่งตัว" นายนิธิกล่าว และว่า ไม่แปลกใจที่ พล.อ.สนธิกำลังตัดสินใจว่าลงเล่นการเมือง เนื่องจากการจะลงจากเวทีต้องมีความปลอดภัย และการทำปฏิวัติมีโทษที่หนักมาก เชื่อว่าสังคมจะไม่ยอมรับ และ พล.อ.สนธิไม่มีความเหมาะสมที่เป็นนายกรัฐมนตรี "ท่านไม่เหมาะจะเป็นนายกฯเลย ไม่มีความรู้, ไม่มีเชาวน์และปฏิภาณไหวพริบ, ไม่มีอะไรเลย เป็นผู้บริหารไม่ได้ ดูแค่ฝีมือการแก้ไขปัญหาภาคใต้ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น" นายนิธิกล่าว

5. 'นิธิ' เคลียร์นักข่าว 'ทำไมไม่รับรัฐธรรมนูญที่วางตรงหน้า'

ประชาไท - 11 ก.ค.50 ภายหลังจากการทำกิจกรรมให้การศึกษาเกี่ยวกับการประชามติแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของเครือข่าย 19 กันยาฯ, มหาาวิทยาลัยเที่ยงคืน, สนนท. ที่บริเวณอาคารศรีจุลทรัพย์ ผู้สื่อข่าวหลายสำนักได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เดินทางมาจากเชียงใหม่ เพื่อร่วมกิจกรรมนี้ด้วย

มีกระแสข่าวว่าโฆษณาคว่ำรัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับคุณทักษิณ
ตอบไม่ได้ตรงๆ แต่มีการสงสัยกันว่ามีคนที่อาจจะเชื่อมโยงกับคุณทักษิณจริงหรือไม่ สมมติว่าจริงแล้วทำไม คือถ้าทักษิณเอาเงินหรืออะไรก็แล้วแต่มาช่วยคนน้ำท่วม แล้วจะไม่ให้ช่วยหรืออย่างไร ไม่เข้าใจ สมมติว่าในสิ่งที่คุณทักษิณให้เงินมาแล้วไม่มีเงื่อนไขบังคับ คิดว่าคนที่เคลื่อนไหวมีสิทธิที่จะรับเงินนั้นมา ทำอย่างเปิดเผย

แนวทางของกลุ่มอาจารย์กลายเป็นเข้าทาง นปก. จุดยืนเป็นอย่างไร
ผมก็ไม่ได้รังเกียจเขานะ ถามว่าเราเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่ เราไม่เห็นด้วย แต่ความต่างระหว่างเรากับเขาคือการต่อต้านคณะรัฐประหารเพียงอย่างเดียว ไม่ผิด แต่ทำให้ประเทศมันล็อคตาย ไม่มีทางขยับได้ เพราะฉะนั้นกลุ่มเราต่อต้านการรัฐประหารด้วย แต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามหาทางออกให้สังคมด้วย

จุดยืนคือ ไม่รับ ไม่เอา รัฐธรรมนูญนี้
เราไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมันเป็นการถอยหลังเข้าคลองอย่างมโหฬาร มันไปไกล และอย่ามองแต่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว เวลานี้มีกฎหมายออกมาถึง 5 ฉบับภายใต้รัฐบาลคณะรัฐประหารนี้ เช่นกฎหมายความมั่นคงที่กำลังจะออกมา, กฎหมายข่าวสาร, ทำให้รัฐธรรมนูญแทบจะหมดความหมายไปเลย เป็นการสถาปนาอำนาจกองทัพขึ้นมาเหนือการเมือง เหนือสังคม รัฐธรรมนูญว่าแย่แล้ว แล้วยังมีกฎหมายแบบนี้เข้ามาอีก

ประเด็นอะไรที่รับไม่ได้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากที่สุด
ไม่ไล่ทีละมาตรา แต่โดยโครงสร้างมีการก้าวก่ายกันระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสามหลายมาตราด้วยกัน เช่น อำนาจตุลาการก้าวก่ายอำนาจบริหาร, อำนาจบริหารก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ, อันนี้ไม่มีใครทำในโลกนี้ เมื่อแยกอำนาจก็ต้องแยกให้มันขาดจากกันพอสมควร

ไม่คิดว่าบทบาทของศาลเป็นการถ่วงดุลหรือ
ประเด็นแรก การถ่วงดุลอำนาจไม่ใช่การก้าวก่าย เป็นคนละเรื่องกัน

ประเด็นที่สอง คือ คุณให้อำนาจแก่ระบบราชการโดยผ่านอำนาจของฝ่ายตุลาการในการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระมากเกินไป ซึ่งทำให้ระบบราชการทั้งระบบเข้ามาจำกัด ควบคุม หรือครอบงำการเมือง นักการเมืองที่เข้ามามีอำนาจค่อนข้างจำกัด ถ้ามากขนาดนี้มันตัดสินใจทำอะไรไม่ได้

ประเด็นที่สาม คือถามว่าประเทศไทยต้องการฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งหรือไม่ ผมว่าเราต้องการ แต่ปัญหาคือความเข้มแข้งของฝ่ายบริหารไม่ได้หมายความว่าไม่ถูกตรวจสอบ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรามาสร้างฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายอ่อนแอ ประธาน คมช.พูดชัดเจนเลยตั้งแต่ต้นว่ารัฐบาลต่อไป จะเป็นรัฐบาลผสมซึ่งหมายความว่าฝ่ายบริหารค่อนข้างอ่อนแอ ผมคิดว่าประเทศไทยต้องการฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ไม่ใช่เข้มแข็งแบบคุณทักษิณ ต้องเข้มแข็งชนิดที่คนอื่นๆ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ดังนั้นถ้าอยากจะแก้ไขต้องทำให้องค์กรตรวจสอบไม่ถูกแทรกแซง ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ที่เป็นฉบับร่างก็พยายามทำ แต่ในขณะเดียวกัน ทำตรงนี้แล้วก็ไปทำให้นักการเมืองอ่อนแอด้วย

จุดสมดุลมันจะอยู่ตรงไหน

ผมไม่เชื่อในเรื่องการที่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมามีคำตอบสำเร็จรูป รัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการทางสังคม ถ้าคุณเปิด แล้วหันกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ปี 40 โดยมีเงื่อนไขว่าต้องแก้ มันจะมีวิธีการเคลื่อนไหวในทางสังคมให้แก้โน่น แก้นี่ ร้อยแปด ผมว่าดีเลย แต่ผมไม่อยากเห็นการมาตั้งคณะกรรมการที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร แล้วเรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ และก็คิดว่าแก้ในสิ่งที่คิดว่ามันดี

ถ้าเราเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาแล้วเปิดให้มีกระบวนการทางสังคม ผลักดันเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมเห็นด้วย ผมไม่เชื่อว่าผมหรือใครก็แล้วแต่จะมีคำตอบสำเร็จรูปให้กับสังคมว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ปัญญาเราไม่ได้กระผีกลิ้นของปัญญาของสังคมหรอก

ที่ผ่านมาถือว่า กกต.ข่มขู่ประชาชนที่รณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญหรือไม่
ไม่ได้ข่มขู่โดยตรง แต่การเสนอกฎหมาย (ประชามติ) ซึ่งขณะนี้ยังเป็นฉบับร่างผ่านสภาก็ตาม การให้สัมภาษณ์ที่กำกวมว่าการเสนอความเห็นไม่สอดคล้องกับ สสร.ก็ตาม กกต.ก็ตามในเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมันผิดหรือไม่ผิดกันแน่. มีมาตราหนึ่งในพ.ร.บ.ที่ยังอยู่ใน สนช. บอกว่า ถ้าคุณพูดถึงรัฐธรรมนูญไม่ตรงกับข้อเท็จจริงต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย คำถามก็คือใครเป็นคนบอกว่าอะไรถูกอะไรผิด

กลับไปที่กรณีมติชนอีกครั้ง อาจารย์เห็นว่าสื่อควรทำหน้าที่อย่างไร
ก็ทำหน้าที่ตามที่ตัวคิด แต่ขณะเดียวกันไม่ได้หมายความว่าเมื่อสื่อคิดว่าทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ตนแล้วคนอื่นจะไม่มีสิทธิแตะเลย ถ้า กกต.เห็นว่ามีอะไรละเมิดต่อเขา ก็ควรใช้สิทธิตอบโต้ตามกระบวนการยุติธรรม ผมไม่คิดว่าสื่อจะมีอภิสิทธิ์อะไร ก็ต้องสู้ความในศาล แต่ถ้าผมเป็น กกต. อาจจจะไม่ทำแบบนั้น แต่ก็จะอธิบายว่ามติชนทำผิดตรงไหนมากกว่า ถ้าเขาเลือกจะฟ้องก็ไม่มีปัญหาอะไร

ถ้ารัฐธรรมนูญล้มหรือคว่ำ สังคมจะมีความเสียหายอย่างไร
ผมไม่เห็นว่าจะมีความเสียหายอย่างไร ลองคิดอย่างนี้ ถ้าสมมติว่าเราไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 ส.ค. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คมช. ร่วมกับรัฐบาลจะเลือกรัฐธรรมนูญที่เคยใช้แล้วเอากลับมาใช้ใหม่โดยมีการแก้ไข ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเลือกฉบับไหน อยากเรียกร้องว่าต้องระบุมาก่อนจะลงประชามติว่าจะเลือกฉบับไหนและจะแก้อย่างไรให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นเวลานี้ลงประชามติ คุณกำลังเลือกระหว่างอะไรกับอะไร ไม่รู้ เลือกสิ่งหนึ่ง คือรับร่างรัฐธรรมนูญ อีกสิ่งหนึ่งมันไม่รู้อะไร

นายกฯ บอกว่าบอกไม่ได้
ทำไมบอกไม่ได้ ไม่ผิด ไปเอามาจากไหนว่าผิด ไม่งั้นคุณจะให้เลือกระหว่างอะไร

นายกฯ บอกว่าให้เลือกสิ่งที่มองเห็นอยู่ตรงหน้าจะดีกว่า
คุณก็เอาออกมาไว้ข้างหน้าสิ มันผิดกฎหมายตรงไหน ไม่เข้าใจ และสมมติว่าเลือกฉบับไหนก็แล้วแต่มันต้องเกิดการเลือกตั้งขึ้นแน่นอน อาจจะภายใน 30 วัน หรือถ้าไม่แก้ก็ 60 วัน อย่างไรก็มีการเลือกตั้งเหมือนเดิม

มันอาจจะไม่ทันปีนี้หรือเปล่า บางคนอยากให้มีเลือกตั้งในปีนี้
คุณว่าวันที่ 15 ธ.ค.กับ 15 ม.ค. มันต่างกันตรงไหน ที่สำคัญต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง สมมติว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการรับรอง ถามว่าคาดคะเนเสียงที่ไม่เอาเท่าไร สมมติว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ไปใช้สิทธิในการลงประชามติ ถามว่าจำนวนนั้นมันกี่ล้าน คุณมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่คน 25 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าการเลือกตั้งไม่ชอบธรรมแล้วหวังว่าการเลือกตั้งจะนำความสงบกลับมาสู่ประเทศไทยหรือ เป็นไปได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นสุดท้ายการเสนอว่าให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาเพื่อทำให้เกิดที่มาแห่งความชอบธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ทั้งฝ่ายประชาชนต่อต้าน คมช.ที่รักทักษิณ หรืออะไรก็แล้วแต่ ยอมรับฉบับปี 2540 ตัว คมช.เองก็ไม่ต้องเดือดร้อนว่าจะถูกลงโทษอะไร เพราะว่าเราใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาปีกว่าแล้ว มีพระปรมาภิไธย อะไรก็ตามที่ทำภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 49 ย่อมถูกต้องตามกฎหมายหมด

ผมคิดว่าทุกฝ่ายยอมรับได้ ถ้าเริ่มต้นเป็นที่มาแห่งความชอบธรรม มันถึงจะเกิดความสงบทางการเมือง ถ้าอยู่ๆ มาเริ่มต้นที่ 25 เปอร์เซ็น หมายถึง 5-6 ล้านคนไม่มั่นใจในความถูกต้อง แล้วบอกมันจะสงบ มันคิดสั้น

อาจารย์จะขอ debate กับเขาไหมถ้าเขาเปิดเวที
ผมไม่ขอไป debate (อภิปราย-ถกเถียง) แต่ถ้าเชิญผมไป debate ผมไปแน่. อย่างไรก็ตาม การ debate ไม่ใช่การไปนั่งหน้ากล้องทีวีอย่างเดียว ไม่ใช่. ที่ผมให้สัมภาษณ์นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการ debate แต่การ debate เปิดเวทีผ่านทีวีก็ควรทำ

อาจารย์จะแน่ใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลจะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมา
ไม่แน่ใจไง แต่ในฐานะที่เราเป็นประชาชนเจ้าของประเทศ เราจะนั่งเฉยๆ หรือจะออกมาบอกเขาว่าให้เอาปี 40 ถ้าจะบอกให้นั่งเฉยๆ แล้วแต่เขาดีกว่า ก็ช่วยไม่ได้. รัฐบาลทุกรัฐบาลย่อมเหมาะสมกับประชาชน คือถ้าประชาชนมันเฮงซวย รัฐบาลก็เฮงซวย (หัวเราะ)



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com