โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 09 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๐๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 09, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพิจารณาเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐในระบอบรัฐประหารยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงต้องการให้การศึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งความคิดเห็นของกรรมการหลายคนที่แสดงออกในสื่อต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่มีหน้าที่อันสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งเหล่านั้น ยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
09-07-2550

Statement - Interview
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

รวบรวมแถลงการณ์ รายงานข่าว และบทสัมภาษณ์
แถลงกาณ์และการบรรยายสาธารณะ:
กรณียักษ์ที่ถือกระบอง, สมบัติ บุญงามอนงค์ และ กกต.

กองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากจดหมาย แถลงการณ์ และกระดานข่าว

ข้อมูลที่รวบรวมจากแหล่งต่างๆ ต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มีวัตถุประสงค์ เพื่อเก็บเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สีดำอีกหน้าหนึ่งของสังคมไทย
ภายใต้บรรยากาศของการรัฐประหาร ของ คปค. ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คมช. ที่ได้ใช้กฎอัยการศึก
ทำการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนที่คัดค้านการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง

เราต้องไม่ลืมว่า กฎอัยการศึกนั้น ไม่มีการรับรองใดๆ
เป็นเพียงประกาศออกมาโดยผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น
โดยคณะบุคคลที่ได้ทำการประหารรัฐ ดังนั้นกฎดังกล่าวจึงไม่ได้รับความเห็นชอบใดๆ จากประชาชน
พูดให้ถึงที่สุด กฎอัยการศึกจึงไม่ต่างจากเศษกระดาษ

สำหรับข้อมูลที่รวบรวมบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. ความเป็นมาเกี่ยวกับการกักตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์
2. แถลงการณ์กรณีการกักตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์
3. การบรรยายสาธารณะและจดหมายเชิญ

4. รายงานข่าวจากสื่อมวลชน
5. บทสัมภาษณ์ : สมบัติ บุญงามอนงค์
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๐๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๐.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รวบรวมแถลงการณ์ รายงานข่าว และบทสัมภาษณ์
แถลงกาณ์และการบรรยายสาธารณะ:
กรณียักษ์ที่ถือกระบอง, สมบัติ บุญงามอนงค์ และ กกต.

กองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รวบรวมจากจดหมาย แถลงการณ์ และกระดานข่าว

1. ความเป็นมาเกี่ยวกับการกักตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์
1.1 ประชาไท - 6 ก.ค. 50 บริเวณสถานีขนส่งเชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 19.20 น. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ที่เข้าร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (ปราบกบฎ) (นปก.) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 4-5 นาย เข้าชาร์จ หลังจากกล่าวคำปราศรัยตามยุทธศาสตร์ 'ดาวกระจาย' เพื่อเรียกร้องให้ คมช. ลาออก ไปได้ประมาณ 20 นาที รายงานเบื้องต้นแจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อหา และอยู่ในระหว่างการควบคุมในค่ายเม็งรายมหาราช โดยผู้ติดตามถูกกันไว้ด้านนอก ทั้งนี้ จ.เชียงรายยังเป็นพื้นที่กฎอัยการศึก

ด้านผู้ประสานงานของ นปก. ในจ.เชียงราย เปิดเผยว่าได้ประสานกับ นปก. ส่วนกลางแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับความคืบหน้า 'ประชาไท' จะรายงานให้ทราบต่อไป

1.2 ทหารอ้างไม่ได้จับตัว สมบัติ บุญงามอนงค แค่เรียกมาคุย - เริ่มกฎของป่าบทที่ 1
ข้อมูลเพิ่มเติม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพิ่งสัมภาษณ์ พล.ท.จิระเดช คชรัตน์ ทางโทรศัพท์เมื่อสักครู่นายทหารคนดังกล่าวบอกว่าไม่ได้จับตัว แค่เรียกมาคุย เพราะอยากรู้ว่าใครจ้างมา ส่วนที่ไม่ให้ใครเข้าเยี่ยม เพราะนี่ไม่ใช่การจับกุม แต่เขาไม่ยืนยันว่าจะ "คุย"เสร็จในคืนนี้หรือไม่

2. แถลงการณ์กรณีการกักตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์
ประชาไท - 6 ก.ค. 50 เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร กรณีเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์และกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (ปราบกบฏ) หรือ นปก. รวมทั้งยืนยันสิทธิในการชุมนุมต้านรัฐประหารด้วย

2.1 แถลงการณ์ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
ยืนยันสิทธิในการชุมนุมต้านรัฐประหาร

ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารได้จับกุมตัว นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์และกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (ปราบกบฏ) หรือ นปก. ณ บริเวณสถานีขนส่งเชียงราย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 โดยอ้างว่าจังหวัดเชียงรายยังเป็นพื้นที่กฎอัยการศึก นั้น ทาง "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ในฐานะส่วนหนึ่งของผู้ที่รณรงค์ต้านรัฐประหาร มีความเห็นดังต่อไปนี้

1. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร สนับสนุนการเคลื่อนไหวของทุกๆ กลุ่มในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ทั้งนี้เพราะสิทธิในการต่อต้านรัฐประหารในฐานะอำนาจที่ไม่ชอบธรรมนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งไม่ขึ้นต่อกฎหมายใดๆ ไม่เว้นแม้แต่กฎอัยการศึก

2. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร และขอให้กรณีนี้เป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทยที่จะต้องพบอยู่ภายใต้กับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในอนาคต ว่าสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แสดงความคิดเห็นของประชาชนจะถูกลิดรอนเช่นไร

3. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ขอยืนยันสิทธิในการชุมนุมต้านรัฐประหารต่อไป และจะได้ประสานกับองค์กรเครือข่ายทั่วไปในประเทศเพื่อรณรงค์ต่อต้านรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารอย่างถึงที่สุด

เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร
6 กรกฎาคม 2550

2.2 แถลงการณ์ เครือข่ายนักวิชาการและองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน

ประณามเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน
กรณีทหารจับกุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

จากเหตุการณ์ที่ทหารจากกองทัพภาคที่สาม ได้จับกุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์และกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) และนายปฏิภาณ อายิ ประชาชนชนเผ่าอาข่า ระหว่างกล่าวปราศรัยต่อต้านรัฐประหารที่จังหวัดเชียงราย และได้นำตัวนายสมบัติ และนายปฎิภาณ ไปควบคุมไว้ภายในค่ายทหารเม็งรายมหาราช ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อในช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม 2550 นั้น

เครือข่ายนักวิชาการและองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอประณามพฤติกรรมการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมดังกล่าวของฝ่ายทหาร เพราะการกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของทุกนานาอารยประเทศ ทั้งยังเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่ ต้องให้การคุ้มครองตามพันธกรณีภายใต้กติกาสากลระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง แห่งสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ พ.ศ. 2540

พฤติกรรมการใช้อำนาจข่มขู่คุกคาม จับกุมตัว และคุมขังผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับความเห็นชอบของรัฐดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่เพียงแต่บกพร่องล้มเหลวในการประกันและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐเองยังได้กระทำการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง

พฤติกรรมการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เพียงกระทบต่อเฉพาะผู้ถูกละเมิด แต่ยังส่งผลร้ายต่อสังคมไทยโดยรวม เพราะเป็นการที่รัฐได้สร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันซึ่งต้องการการตัดสินใจของประชาชนในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปฏิเสธการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 กันยายน 2549 พฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการข่มขู่คุกคามต่อสังคมไทยโดยรวม และเป็นความพยายามของรัฐในการจำกัดอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน

เครือข่ายนักวิชาการและองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอประณามพฤติกรรมการข่มขู่ คุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนดังกล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในกองทัพ ยุติพฤติกรรมอันเป็นการข่มขู่ คุกคาม และละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยสิ้นเชิง กองทัพต้องยุติการอ้างกฎอัยการศึกเพื่อการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยในทันที
กองทัพและรัฐบาลต้อง แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ และต้องให้การชดเชยเยียวยาแก่ผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าว ตามหลักกติกาสากลระหว่างประเทศ

หน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการทำหน้าที่ประกันส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบและขจัดการใช้อำนาจเกินขอบเขตและไม่ชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่างๆ กองทัพและรัฐบาลต้องคืนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็วที่สุด

เครือข่ายนักวิชาการและองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน
8 กรกฎาคม 2550


2.3 แถลงการณ์ประณามเผด็จการทหาร กรณีล็อค บก.ลายจุด
กลุ่มนักศึกษาปชต.-ปรส.-กปปช.เหนือ

กลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ, กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ(ปรส.) และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตยประชาชน ภาคเหนือ(กปปช.) ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามอำนาจเผด็จการทหาร ที่ควบคุม บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ที่เข้าร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ

ประชาไท - 7ก.ค. 50 ตามที่ เมื่อเวลาประมาณ 19.20น. วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ที่เข้าร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (ปราบกบฎ) (นปก.) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 4-5 นาย เข้าชาร์จ บริเวณสถานีขนส่งเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย หลังจากกล่าวคำปราศรัยตามยุทธศาสตร์ 'ดาวกระจาย'เพื่อเรียกร้องให้ คมช. ลาออก ไปได้ประมาณ 20 นาที รายงานเบื้องต้นแจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อหา และอยู่ในระหว่างการควบคุมในค่ายเม็งรายมหาราช โดยผู้ติดตามถูกกันไว้ด้านนอก นั้น
ล่าสุด กลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ,กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ(ปรส.) และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตยประชาชน ภาคเหนือ(กปปช.) ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามอำนาจเผด็จการทหาร เพราะว่าเสรีภาพการชุมนุมคือสิทธิในระบอบประชาธิปไตย

แถลงการณ์ ขอประณามอำนาจเผด็จการทหาร
เสรีภาพการชุมนุมคือสิทธิในระบอบประชาธิปไตย

สืบเนื่องมาจากการที่ทหารได้จับกุมตัว นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้นำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ ณ บริเวณสถานีขนส่งเชียงราย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 เรามีความคิดเห็นดังนี้

1. การเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ อย่างสันติวิธี ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าการเคลื่อนไหวนั้นจะเห็นด้วยกับรัฐหรือต่อต้านรัฐก็ตาม ไม่ว่าเป็นการสนับสนุนรัฐประหารหรือต่อต้านรัฐประหาร หรือไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือคัดค้านรัฐธรรมนูญก็ตาม

2. เราขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะเป็นการกระทำการเยี่ยงสังคมไทยเป็นสังคมแบบเผด็จการดั่งประเทศพม่า และขอคัดค้าน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่จะเป็นกฎหมายรองรับความชอบธรรมของอำนาจเผด็จการทหารในอนาคตด้วย

3. เราขอให้ปล่อยตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้นำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ
กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ(ปรส.)
กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อประชาธิปไตยประชาชน ภาคเหนือ(กปปช.)

2.4 แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่องการคุกคามสิทธิเสรีภาพ
8 กรกฎาคม 2550 เวลา 11.00 น

การจับกุมนาย สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 6 กรกฎาคมศกนี้ ขณะร่วมชุมนุมโดยสงบและใช้สิทธิพลเมืองในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเรียกว่าเป็นการ "เชิญตัวไปคุย" และนายสมบัติจะได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วก็ตาม

เพราะการกักกันตัวเช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการข่มขู่คุกคาม ทั้งต่อนายสมบัติ บุญงามอนงค์และต่อประชาชนทั่วไป ให้มีความหวาดกลัวในการที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจ อันเป็นการปิดกั้นโอกาสที่สังคมไทยจะได้เรียนรู้ร่วมกันและผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ดี ที่จะเอื้อให้การปฏิรูปการเมืองสามารถจะดำเนินไปได้อย่างอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิผลในอนาคต

เนื้อหาสาระของคำปราศรัยที่นายสมบัติ งามบุญอนงค์แสดงต่อสาธารณะ อันนำไปสู่การถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ "เชิญตัวไปคุย" นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพราะนายสมบัติ งามบุญอนงค์ ได้พยายามชี้ให้เห็นว่ากฎอัยการศึกที่ยังคงมีผลบังคับใช้ในหลายพื้นที่นั้น เป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและกว้างขวางนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยให้สังคมได้เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ก่อนที่จะถึงขั้นตอนของการลงประชามติว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอประณามการกระทำแบบเผด็จการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการคุกคามต่อนายสมบัติ บุญงามอนงค์และคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไปพร้อมกัน และขอเรียกร้องต่อสังคมให้ช่วยกันกดดันให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองไทยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตลอดจนต่อนักการเมืองและต่อนโยบายของพรรคการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งที่ใกล้จะมีขึ้นนั้นได้ดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อนึ่ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพิจารณาเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐในระบอบรัฐประหารยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงต้องการให้การศึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งความคิดเห็นของกรรมการหลายคนที่แสดงออกในสื่อต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่มีหน้าที่อันสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งเหล่านั้น ยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอีกมาก ในวันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษ ณ บริเวณหน้าที่ทำการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนโดยเสรี

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

3. การบรรยายสาธารณะและจดหมายเชิญ

3.1 ประชาสัมพันธ์: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร
จัดบรรยายสาธารณะเรื่อง การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชนแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

วิทยากรประกอบด้วย
รศ.สมเกียติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ หาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดำเนินรายการโดย
นายอุเชนทร์ เชียงเสน
ผู้ประสานงาน เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร
นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3.2 จดหมายเชิญ กกต. จากเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร

121/40 ซอยเฉลิมหล้า ถ.พญาไท
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
10 กรกฎาคม 2550

เรื่อง : ขอเชิญรับฟังการบรรยายสาธารณะ "การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชน"
เรียน นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
สิ่งที่ส่งมาด้วย : กำหนดการการบรรยายสาธารณะ "การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชน"

เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐในระบอบรัฐประหารยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ดังจะเห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ออกมาข่มขู่ผู้ที่ออกมารณรงค์โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญว่า "หากร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้ การกระทำดังกล่าวอาจจะผิดกฎหมายได้ โดยในมาตรา 10 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ ในลักษณะทำให้การออกเสียงประชามติเกิดปัญหา ...หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ การโฆษณาต่างๆ จะต้องหยุดลงทันที โดยโทษสูงสุดของการกระทำผิดนั้นรุนแรงถึงขั้นเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยุบพรรคการเมืองได้" (มติชนรายวัน 3 ก.ค.50)

ทางเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงได้ร่วมกันจัดบรรยายสาธารณะ เรื่อง "การลงประชามติและสิทธิเสรีภาพของประชาชน" ในวันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณหน้าที่ทำการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) (ห้องโถงชั้นล่าง อาคารศรีจุลทรัพย์)

ทางเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร และ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงขอเรียนเชิญท่านและกรรมการการเลือกตั้งท่านอื่นรวมทั้งเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เข้าร่วมการบรรยายสาธารณะครั้งนี้โดยพร้อมเพรียงกัน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ
(นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง)
เลขานุการเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร


4. รายงานข่าวจากสื่อมวลชน
4.1 Chiang Mai academics slam junta over activist's arrest
Military's action was attack on people's right to expression, Midnight University group says

A group of university academics yesterday denounced the military for arresting a political activist who was campaigning against the draft constitution.

The Midnight University group also vowed to organise a special outdoor class in front of the Election Commission Office to lecture government officials about the public's right to free expression.

The Midnight University is a network of academics, mostly from Chiang Mai University, who provide Internet-based and mobile classes on general issues that affect people's lives.

The group yesterday held a press conference at Chiang Mai University to denounce the arrest of Sombat Boon-ngamanong, a leading member of the Dynamic Citizens Group. He was detained by military officials while speaking out against the draft constitution at the Chiang Rai Bus Terminal on Friday evening and held at the Chiang Rai Military Camp for questioning before being released on Saturday evening.

Speaking to The Nation after his release, Sombat said he was not allowed to make any phone calls during his detention and was only allowed to receive a phone call from former Chiang Rai senator Tuanjai Deethet. He also said the military did not allow him to drink anything during his detention.

Sombat said the director of Phitsanulok Military Intelligence threatened to detain him for seven days and to take him to Phitsanulok for questioning. He said the intelligence director told him he had committed a crime against the state by disseminating one-sided information to the public and was liable for the death penalty under Article 116 of the Criminal Code.

Assoc Professor Somkiat Tangnamo, rector of the Midnight University, said that Sombat's arrest was a severe violation of his basic human rights and intimidation of him and the people. "The Midnight University would like to denounce the dictatorial action of state officials who intimidated the rights of Sombat and the people," Somkiat said.

He said the group wanted the public to join the call for lifting of martial law in Chiang Rai and the rest of the country so that the people could express their opinions of the draft constitution freely.

He said the Midnight University would deliver a lecture on the people's right of expression in front of the EC Office at 1pm on Wednesday (July 11).

Lecturer Nidhi Eoseewongse said the group of academics wanted the public to vote against the draft and that Midnight University would launch green wristbands as a symbol of opposition to the draft charter.

Meanwhile, in Bangkok, a network of academics and organisations working to protect human rights held a press conference to denounce Sombat's arrest. The network denounced the arrest as intimidation of the people and violation of basic human rights.

The group called on the military to promise that there would be no more arrests of pro-democracy activists and that the people's right to hold peaceful rallies would be respected.

The Nation
Chiang Mai

http://www.nationmultimedia.com/2007/07/09/politics/politics_30039916.php

4.2 ม.เที่ยงคืน - 19 กันยา - สนนท. เตรียมอบรม 'ประชาธิปไตย' ให้ 'กกต.'
ประชาไท - 9 ก.ค. 50 วานนี้ (8 ก.ค.) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผยแพร่ 'แถลงการณ์เรื่องการคุกคามสิทธิเสรีภาพ' เนื้อหาประณามการกระทำของทหารที่ควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ขณะปราศรัยต่อต้าน คมช. ที่ จ.เชียงราย โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่านายสมบัติชุมนุมโดยสงบ และเป็นการใช้สิทธิพลเมืองในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การจับกุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรง และขอเรียกร้องต่อสังคมให้ช่วยกันกดดันให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองไทยได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในท้ายของแถลงการณ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังแจ้งว่าในวันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป จะได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษ ณ บริเวณหน้าที่ทำการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) (ห้องโถงชั้นล่าง อาคารศรีจุลทรัพย์)

"เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐในระบอบรัฐประหาร ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงต้องการให้การศึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง" แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนระบุ

ทั้งนี้กิจกรรมบรรยายพิเศษดังกล่าวจัดขึ้นโดย เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) โดย วิทยากรประกอบด้วย 1) รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2) รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 3) ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4) ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5) อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นายอุเชนทร์ เชียงเสน ผู้ประสานงาน เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร

โดย จดหมายเชิญชวนร่วมการเสวนาของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ได้ระบุถึงคำพูดของนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 3 ก.ค.50 ได้ออกมาข่มขู่ผู้ที่ออกมารณรงค์โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญว่า

"หากร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้ การกระทำดังกล่าวอาจจะผิดกฎหมายได้ โดยในมาตรา 10 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ ในลักษณะทำให้การออกเสียงประชามติเกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ การโฆษณาต่างๆ จะต้องหยุดลงทันที โดยโทษสูงสุดของการกระทำผิดนั้นรุนแรงถึงขั้นเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยุบพรรคการเมืองได้"

ซึ่งความเห็นของนางสดศรีข้างต้น แสดงให้เห็นว่าขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และกระบวนการประชามติ จดหมายของเครือข่าย 19 กันยาระบุ

5. บทสัมภาษณ์ : สมบัติ บุญงามอนงค์
สมบัติ บุญงามอนงค์ : ภายใต้กฎอัยการศึก เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้
ฐิตินบ โกมลนิมิ : สำนักข่าวชาวบ้าน (8 ก.ค. 2550)


"....ในภาวะของการประกาศกฎอัยการศึก จะมีประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าประชาชนไม่มีโอกาสได้คุยกันและทำความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ และปล่อยให้ สสร. ได้รณรงค์ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่แต่ฝ่ายเดียว... มิพักต้องกล่าวถึง ร่างพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ล้มไปได้เลย...."

24 ชั่วโมง ที่ "สมบัติ บุญงามอนงค์" แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ ถูกทหารจำนวนหนึ่ง "รวบตัว" และ "กักตัว" หลังจากขึ้นปราศรัยต่อต้านเผด็จการ ณ สถานีขนส่งจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกับนายปณิธาน อาหยิ ชาวอาข่า ที่มาร่วมชุมชนทางการเมืองและช่วยดูแลความปลอดภัยให้นายสมบัติในวันนั้น

สมบัติหรือ บก.ลายจุด เล่าลำดับเหตุการณ์หลังจากถูก "รวบและกักตัว" ให้ทีม "สำนักข่าวชาวบ้าน" ฟัง ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในไนท์บาซาร์ ณ สถานที่เกิดเหตุของค่ำคืนก่อนหน้านี้ โดยละเอียด… "เหตุการณ์ค่ำ วันที่ 6 หลังจากผมปราศรัยไปได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ขอเชิญตัวผมไปคุยกันที่โรงพัก ผมก็ถามว่าผมผิดข้อหาอะไร ช่วยแจ้งข้อหาด้วยครับ เขาบอกผมว่าพูดพาดพิงถึงคนอื่น ใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ถึงผมจะโต้เถียงกับตำรวจตรงนั้น เขาก็ยังให้ผมได้ปราศรัยต่ออีกหนึ่งชั่วโมง แต่ผมพูดไปได้อีกไม่ถึง 20 นาที ก็มีนายทหารกลุ่มหนึ่งตรงมาที่รถของผม ประกาศตัวว่าเป็นอัยการทหาร ขอควบคุมตัว ตามพ.ร.บ. 'กฎอัยการศึก 2457' "

"นาทีนั้น ผมตระหนักแก่ใจ มาแล้ว 'ทหาร' นี่แหละ คือผู้ที่พยายามใช้อำนาจที่แท้จริง ไม่ใช่ตำรวจ ผมจะไม่ยอมให้ตำรวจจับผม ต้องทหารเท่านั้น"
"ผมถึงยอมให้ควบคุมตัวโดยดี"

"ผมไม่ได้ถูกใครทำร้ายร่างกาย แม้ระหว่างการควบคุมตัว หลายคนอาจเห็นว่าดูรุนแรง สำหรับผมแล้ว ทหารก็ไม่ได้มีความพยายามใช้อำนาจทำร้ายร่างกาย"

"แต่เขาทำร้ายผมด้วยวาจา" นายสมบัติ ยอมรับไม่ทราบว่า นายทหารเหล่านั้นชื่ออะไร ชั้นยศอะไรกันบ้าง

"คืนแรก เขาสอบสวนผมไม่เป็นทางการ ก็บอกก่อนเลยว่า เขาจะกักตัวผมเพื่อสืบสวนสอบสวน 7 วัน ตามอำนาจของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ผมก็ตอบไม่มีปัญหา ทหารยังถามว่า รู้ไหมว่าที่นี่เขตกฎอัยการศึก ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตสำหรับผู้ที่ทำลายประเทศชาติ"

"ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรอีก แต่ที่ผมโกรธคือทหารพยายามใช้จิตวิทยาในการสอบสวน บอกว่าผมมีสิทธิอะไร ไม่มีสิทธิอะไรบ้าง"

"โอเค ผมมีสิทธิได้กินข้าวและน้ำ 3 มื้อ แต่ผมไม่มีสิทธิสื่อสารกับใคร ไม่มีสิทธิขอแต่งตั้งทนายความตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีสิทธิให้คนใกล้ชิดได้อยู่และฟังเวลาที่ผมให้การ ต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทหารอนุญาตและจำกัดบริเวณเท่านั้น ห้ามดื่มน้ำระหว่างการสืบสวนสอบสวน โดยเขามีสิทธิกักตัวผมในการสอบสวน 7 วัน เพื่อตั้งข้อหา ผมก็ถามเขานะ ว่าทำไมไม่มีสิทธิดื่มน้ำ เขาไม่ได้ให้เหตุผล บอกเพียงเป็นเรื่องของการสอบสวน"

"ที่ผมสงสัยคือ อาหยิ เขากระโดดขึ้นมาในรถทหารที่ควบคุมตัวผม เขาไม่ได้ถูกจับแบบผมนะ แบบว่ากระโดดขึ้นรถเพราะความเป็นห่วงผม แต่พอถึงค่ายทหาร เขาก็จับอาหยิไปกักตัวและสอบสวนด้วย โดยให้แยกพักคนละที่กับผม ไม่ให้อยู่ด้วยกัน ตัดการสื่อสารผมทุกชนิด ประเด็นของผมคือ อาหยิผิดอะไร กักตัวเขาด้วยเหตุผลใด"

ถ้าถามถึงความเป็นอยู่ 24 ชั่วโมงนั้น นายสมบัติ เล่าติดตลก "เขาเลี้ยงข้าวหน้าเป็ด มีกาแฟให้กินด้วยนะ ทหารบอกให้กินให้เต็มที่เลยมีงบ 165 บาท ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ผมได้นอนห้องแอร์อย่างดี ที่เป็นห้องพักรับรองของนายทหาร แต่ผมก็ไม่ได้เปิดแอร์หรอกนะ ห้องมันใหญ่ เที่ยงคืนกว่าผมก็หลับสนิทแล้ว เพลียมากเลย" จากนั้นท่าทีและน้ำเสียงจริงจังก็กลับมา

"ตั้งแต่ถูกกักตัว ผมทราบว่ามีความพยายามเคลื่อนไหวข้างนอกจากเพื่อน คนรู้จัก และเครือข่ายตลอดเวลา ผมไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง รู้แต่ว่าทหารที่รายล้อมผมต้องรับโทรศัพท์กันไม่ได้หยุด จนเขาเองคงรู้สึกหงุดหงิด เพราะถูกกดดันว่าอะไรกันนักกันหนา และเขาเองคงไม่คุ้นชินที่มีชาวบ้านมายืนหน้าค่าย แค่ 60 คนเองนะ และดูเหมือนกำลังทยอยกันมาชุมนุมเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เขารู้สึกกดดันมากขึ้น จนต้องออกมาขอให้ชาวบ้านกลับไป อย่ามาชุมนุม อย่ามากดดันกัน เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเรียนรู้ว่าทหารไม่ชอบการต่อรอง และเขาก็หงุดหงิดมากขึ้น ยิ่งดึกก็ยิ่งมีโทรศัพท์เข้ามามากมาย"

"ที่ผมรู้แน่ๆ คนที่พยายามติดต่อผมคือ ครูแดง (นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติ) หมอเหวง (นพ.เหวง โตจิราการ) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ซึ่งป่านนี้ผมยังไม่ทราบเลยครับว่าชื่ออะไร และเกี่ยวข้องกับผมช่วงไหน อย่างไร แต่มีคนเดียวที่ผู้การทหาร ผมไม่ทราบชื่อส่งโทรศัพท์ให้ผมคุยด้วยคือ ครูแดง"

"ที่เขาให้ผมพูด คิดว่าทหารคงเกรงใจครูแดง หรือคนที่อยู่ข้างหลังครูแดงนั่นเอง"
"ก็ได้รับสัญญาณถึงความเป็นห่วง การปลอบขวัญ ครูแดงพูดให้สบายใจว่าพี่ๆ ทุกคนเป็นห่วง ให้วางใจว่าจะไม่ได้รับการคุกคามหรือทำร้ายร่างกาย"

สมบัติ เล่าตัวอย่างการกดดันให้ฟัง "ผู้การทหารบอกว่าจะปล่อยตัวผม ตั้งแต่ตอนเช้า ถ้าผมยอมเซ็นชื่อว่าจะไม่เคลื่อนไหวแบบดาวกระจายในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกอีก ไม่ร่วมกิจกรรมกับนปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) แต่ผมไม่ยอมเซ็น ไม่ตกลงด้วย เขาก็บอกว่า ถ้างั้นเตรียมตัวย้ายไปพิษณุโลกได้เลย"

แล้วรู้ไหมว่าคืนนั้น เขาเตรียมให้ญาติเข้าเยี่ยม มีการติดต่อภรรยาและลูกสาวมารอที่หน้าค่ายตอนกลางคืนแล้ว ซึ่งทั้งสองคนและบรรดาพี่น้อง เพื่อนร่วมงานที่ทราบข่าวเป็นห่วงมาก

"ผมไม่ทราบ เขาไม่ให้ผมติดต่อสื่อสารใดๆ กับใครเลย ยกเว้นครูแดงอย่างที่เล่าให้ฟัง ผมเข้าใจเอาเองนะ เขาพยายามไม่ให้ข้อมูลจากข้างในค่าย ข้อมูลของทหารออกไปข้างนอก หรือก็ให้ออกน้อยที่สุด หรือเท่าที่ควบคุมได้"

เราจึงได้เล่าให้ฟังต่อว่า ภรรยาและลูกถูกเรียกมาตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้นอีกครั้ง แม้แต่ที่มูลนิธิกระจกเงา ศูนย์เชียงราย กลางดึกประมาณเที่ยงคืน ได้มีตำรวจและสายตรวจอาสามาตั้งด่านตรวจที่บ้านทุ่งหลวง ทำการตรวจค้นและสอบถามผู้ที่ผ่านเข้าออกยามกลางดึกจนวันรุ่งขึ้น

สมบัตินิ่งไปพักใหญ่ "อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ ยังไม่มีใครเล่ารายละเอียดแบบนี้ให้ผมฟัง"

"แล้วรู้สึกกลัวไหม? ที่ถูกรวบตัวและกักตัวลักษณะนี้"

"ไม่นะ โดยบรรยากาศของห้องรับรองที่ปรับเป็นห้องสอบปากคำ มีทหารและนายทหาร เพียง 4-5 คน ไม่ได้ทำให้เรากลัว อาจจะเครียดบ้างเพราะถูกกดดัน"
......................

"ผมถูกสอบสวนอย่างเป็นทางการก็ช่วงบ่ายของวันที่ 7 (กค.) จนถึงค่ำ โดยแม่ทัพภาคที่ 3 (พล.ท.จิรเดช คชรัตน์) ได้ส่งผู้อำนวยการข่าวกรองจากพิษณุโลกมาเป็นผู้สอบสวน เขาขับรถมาเองเลยจากพิษณุโลก ถือแฟ้มประวัติผมมา ดูรู้ว่าศึกษาประวัติผมจากเว็บไซต์และที่อื่นๆ มาอย่างดี ตั้งแต่ผมเป็นใคร เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไรบ้างในกรุงเทพฯ ตั้งแต่รัฐประหาร ยังบอกเลยว่า เออ...คุณก็เคยเขียนบทความด่าทักษิณด้วยนี่ ผมก็ยิ้ม"

"มาถึงก็แจ้งข้อหา ว่าผมทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นศัตรูของชาติ จะต้องถูกสอบสวน"

"ผมนะ โอ้โห แค่ปราศรัยในที่สาธารณะ แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผมเป็นศัตรูของชาติเลยเหรอ"

"แล้วเขาก็แสดงอำนาจ ว่าเขตจังหวัดเชียงราย หรือมณฑลทหารบก ภาค 1 อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพ ภาค 3 อำนาจทุกอย่างอยู่ที่เขาทั้งสิ้น เมื่อไม่กี่เดือนนี้เขาก็เพิ่งสั่งย้ายนายอำเภอแม่ฟ้าหลวงไป ผมนึกในใจว่า ทำไมกองทัพภาค 3 มีอำนาจล้นฟ้าอย่างนี้นะ"

"จากนั้นเขาเริ่มต้น ด้วยท่าทีเกรี้ยวกราด ด่าหมอเหวง ย้อนอดีตเลยว่าไปทำอะไรไว้บ้าง น่าจะจัดการตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์เสียก็ดี และก็ด่าพวกที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าเป็นพวกทำลายประเทศชาติ ทำลายสถาบัน เป็นภัยต่อความมั่นคง ด่าเยอะมาก เขาไม่ได้ด่าผมโดยตรง แต่หลายคำก็รู้ว่ากระแทกใส่ผมด้วย"

"แล้วเขาก็ถามว่า ระหว่างการควบคุมตัวมีบาดเจ็บ ฟกช้ำตรงไหนบ้าง ผมสำรวจตัวเองพักใหญ่ๆ ก็ยื่นแขนซ้ายให้ดูว่า มีฟกช้ำเล็กน้อย ทหารก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นต้องเรียกแพทย์มาดูอาการ ผมนะร้องโอยเลยว่าแค่นี้ไม่ต้องหรอก ให้แพทย์ทำสิ่งที่มีสาระมากกว่านี้ดีกว่า เขาก็ยืนยันว่าเป็นข้อบังคับและเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องบันทึกลงเอกสารคำให้การ ถ้าอย่างนั้นยินดีให้ถอนคำให้การไหม ผมก็โอเค เพราะไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร"

แล้วประเด็นที่ถูกสอบสวนสาระส่วนใหญ่คืออะไร?

"หนึ่ง เขาพยายามจะบอกว่ารู้หรือไม่ว่าผมทำผิดกฎหมาย จังหวัดเชียงรายยังเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกอยู่ ผมก็บอกว่ารู้ เขาก็ถามว่าแล้วมาทำไม ผมบอกเลยว่าตั้งใจมา เพราะวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 เป็นวันที่ สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 และจะมีการลงประชามติรับร่างนี้วันที่ 19 สิงหาคม ผมแค่อยากมาบอกพี่น้องประชาชน เรื่องรัฐธรรมนูญ มาให้ข้อมูลอีกด้านว่า ทำไมเราไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เกิดขึ้นโดยอำนาจเผด็จการ"

"ทหารเอ็ดใส่ผมว่า แล้วรู้ได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญปี 50 หน้าตาอย่างไร ผมไม่แฟร์ที่พูดข้างเดียวในพื้นที่สาธารณะ ไม่ยอมให้คนอื่นได้ตอบโต้ และชี้แจง ทำไมไม่พูดในเวทีสาธารณะที่มีคนอื่นได้ร่วมแลกเปลี่ยน ผมก็บอกว่า ก็ร่างแรกรัฐธรรมนูญ ที่เป็นพิมพ์เขียวก็ถูกแจกจ่ายให้ประชาชนนับล้านฉบับ ผมติดตามการเมือง และตามตลอดด้วยว่ามีการอภิปรายแก้กันอย่างไร จนลงมติในวาระที่ 3 ทำไมผมจะพูดไม่ได้"

"ทหารก็ยืนยันว่าผมไม่แฟร์ ท้าทายว่าจะไปพูดในเวทีสาธารณะไหมจะจัดให้ที่พิษณุโลกเลย ผมบอกว่ามาจัดที่เชียงรายดีกว่า ก็เถียงกันอยู่สักพัก สุดท้ายเขาก็ยกเลิกความคิดเรื่องเวทีสาธารณะไป เขาบอกจัดไปเดี๋ยวก็เกิดทะเลาะกัน เกิดความวุ่นวาย ผมคิดว่าเขาพูดเรื่องนี้ตอนแรก อาจเพราะเป็นคำท้าของผมด้วย เอาเข้าจริงผมคิดว่าทหารในระดับปฏิบัติการ พวกนักรบเหล่านี้ เขาไม่ได้เอาใส่ใจหรือให้ความสำคัญเรื่องรัฐธรรมนูญเท่าใด แม้จะสนับสนุนรัฐธรรมฉบับปี 2550 ก็ตาม"

"เขาเป็นนักรบ ไม่ใช่นักคิด"

"ความเห็นผมนะ เขาไม่ได้รวบตัวผมเพราะผมพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือด่าเผด็จการ เขาต้องจัดการกับผม เพราะผมด่า คมช. (คณะมนตรีความมนคงแห่งชาติ) เจ้านายของเขา ไปพาดพิงบุคคลที่ 3 ที่ผมปราศรัยให้ชาวบ้านรู้สึกตั้งคำถามและพูดในสิ่งที่เขาอาจจะไม่รู้ ไม่เคยได้คิดหรือลืมเลือนไปแล้วว่า ทุกครั้งหลังการรัฐประหาร นายทหารที่เกี่ยวข้องมักร่ำรวยผิดปกติ มีนายทหารระดับสูงเข้าไปรับตำแหน่งบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ คมช.ไม่ต้องแจ้งหรือเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน กรณีพฤษภาทมิฬ ก็มีทหารร่ำรวยผิดปกติ หรือพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และภรรยาที่บอกว่าเป็นทหารอาชีพทำไมถึงร่ำรวยมหาศาล สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีคำตอบแก่สังคมเลย นี่เป็นประเด็นที่สอง ที่เขาพยายามจะหาเหตุผลเพื่อนำไปสู่การทำความผิดกฎหมายของผม"

"ประเด็นที่ 3 ซึ่งผมรู้สึกขำ เขาบอกรู้หรือไม่ว่าผมจอดรถผิดวัตถุประสงค์ ที่สถานที่ขนส่ง จัดพื้นที่สำหรับการขนส่งนะ ผมก็บอกว่าครับ และตอนกลางคืนก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นไนท์บาซาร์ของเชียงราย ผมก็เห็นมีพ่อค้าแม่ค้ามาจอดรถขายของกันด้วย และผมก็ไม่ได้จอดรถกีดขวางการจราจรด้วย ประเด็นนี้ก็เลยตกไป"

"สรุปว่า เขาพยายามวนเวียนถามผมว่า เป็นพวกรับจ้างมาก่อความวุ่นวายหรือเปล่า ใครเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กล่าวคือ เขาพยายามตรวจสอบว่าผมมีโครงข่ายอะไรกับพรรคการเมือง ที่เป็นอำนาจเก่าหรือไม่ ก็ไม่มีหลักฐานอะไร"

"เมื่อหาเหตุเชื่อมโยงผมไม่ได้ ก็ถามอีกว่าเกี่ยวข้องกับการแจกใบปลิวโจมตีสถาบัน 8 ครั้งในเชียงรายหรือไม่ ผมก็ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยว ไม่เคยทำใบปลิวใดๆ ทั้งนั้น"

"ก็สอบสวนกันไปจน 4 โมงเย็น ผมไม่รู้ว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับมีระดับผู้ใหญ่โทรมา ทำให้ท่าทีของผู้อำนวยการกองข่าวเปลี่ยนไป ซึ่งตอนแรกเขาเตรียมที่จะย้ายผมไปพิษณุโลกแล้ว ส่วนผู้การทหารจากภาค 1 ก็อยากให้ทางภาค 3 รีบสืบสวนสอบสวนแล้วปล่อยตัว แต่ทางภาค 3 บอกว่าเป็นอำนาจเต็มที่ที่เขาจะทำการสอบสวน นายทหารภาค 1 ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นควรเร่งกระบวนการหน่อย ผมรู้ตัวว่าจะถูกปล่อยตัวตั้งแต่ 5 โมงเย็นแล้ว"

"ผมไม่รู้จริงๆ ว่านอกค่ายเกิดอะไรขึ้น แต่ทหารด่าหมอเหวงมาก ประมาณว่าไม่รู้หรืออย่างไรว่าการถูกกักตัวแบบนี้ ทำร้ายร่างกายผมไม่ได้ กับใช้เวลาแบบนี้เป็นเงื่อนไขในการกดดันที่กรุงเทพฯ"

เราจึงเล่าสรุปให้ฟังคร่าวๆ ว่ามีการออกแถลงการณ์กดดันให้ปล่อยตัว และมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้ากองทัพบก ซึ่งมีคนของกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการถูกแจ้งจับหนึ่งคน จึงถือโอกาสถามถึงจุดยืนของ นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเอาเข้าจริงแกนนำ นปก. ไม่ได้ขยับทำอะไรกรณีที่นายสมบัติ ถูกจับสักเท่าใด และ นพ.เหวงก็เคลื่อนไหวในนามของ นปตร. (แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร-คือเครือข่ายที่มาก่อน นปก. ซึ่งผนวกกลุ่มพีทีวี และกลุ่มคนรักทักษิณ ของพรรคไทยรักไทยเข้ามาทีหลัง-ผู้เขียน) กับเครือข่ายภาคประชาชนอีก 20 องค์กร

"ผมไม่รู้นะ ขอเช็คข้อมูลก่อน แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าการเคลื่อนไหวของหมอเหวง คือการเคลื่อนไหวด้วยจิตวิญญาณของเขา"
......................

"ผู้อำนวยการข่าวกรอง ของกองทัพภาคที่ 3 ก็พยายามสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นระบบของทหารมาก ตรวจสอบข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายอาญาของผมและทั้งตระกูล ก็เรียกว่าทั้งโคตรเลยแหละ ผมรู้สึกถูกขู่นะ เพราะเขาบอกว่าจะตั้งเรื่องผมไว้ 1 ปี จะเรียกมาสอบสวนเมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้ในประวัติผมถูกบันทึกไว้แล้วว่า เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นศัตรูของชาติไปจนตลอดชีวิต เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ"

"สุดท้ายก่อนจะปล่อยตัวผมออกมา ช่วงเกือบสองทุ่ม เขาให้ผมอ่านบันทึกการจับกุมและลงนามในเอกสารให้ปากคำของเรา แต่พอขอสำเนาออกมาด้วย เขาไม่ให้ครับ"

"ผมว่า 24 ชั่วโมงของผมคุ้มนะ เป็นการจุดประเด็นให้สังคมตั้งคำถามกับกฎอัยการศึก ว่าวันนี้ทหารกลุ่มนี้ประกาศเขตกฎอัยการศึกชอบด้วยกฎหมายใด". "ในภาวะของการประกาศกฎอัยการศึก จะมีประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าประชาชนไม่มีโอกาสได้คุยกันและทำความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ และปล่อยให้ สสร. ได้รณรงค์ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่แต่ฝ่ายเดียว"

"มิพักต้องกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ต้องล้มไปเลย เพราะเป็นการมอบให้กลุ่มบุคลใดบุคคลหนึ่งมีและใช้อำนาจที่จะทำอะไรก็ได้ ความจริง พ.ร.บ.กฎอัยการศึกนี้ ก็ต้องยกเลิก แก้ไขปรับปรุงได้แล้ว เพราะเรามี พ.ร.บ.การควบคุมความสงบในภาวะฉุกเฉินอยู่แล้ว"

"ในเมื่อเราไม่มีอยู่ในภาวะศึกสงคราม และกรณีที่ผมถูกรวบตัวนี้ก็ไม่ได้มีเหตุจลาจล ผมเพียงแต่ใช้สิทธิความเป็นพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเหตุที่เขาก่อเองขึ้นมา และกรณีของอาหยิ ผมอยากรู้มากเลย ทหารกักตัวเขาด้วยข้อหาอะไร ผมอยากได้รับคำอธิบายประเด็นนี้"

และที่น่าสนใจมาก "ผมพยายามเงี่ยหูฟัง มีใครสักคนพูดหรือตะโกนให้ได้ยินไหมว่าการควบคุมตัวในลักษณะนี้เป็นเรื่องชอบธรรม หรือการลอนสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิทางการเมืองเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ผมไม่ได้ยินนะ"

"แล้วจะฟ้องทหารกลับไหม?"

"คงไม่ฟ้อง ผมยังคิดไม่สุดนะ แต่คงจะต้องมีกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองต่อไป ว่าพลเมืองมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การที่ประชาชนคุยการเมืองไม่ใช่เรื่องของภัยความมั่นคง ขอผมคิดสักพัก"

"ถามจริงๆ คุณมีทัศนคติเกี่ยวกับคุณทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยอย่างไร?"
สมบัติ บอกตรงไปตรงมา "ก็เป็นนักการเมือง ที่มีกลโกงแบบพรรคการเมืองอื่นๆ มีความเลวร้ายไม่ต่างจากพรรคการเมืองที่ผ่านมา และวิสัยขององค์กรการเมือง สื่อ ก็จะต้องไล่ถล่ม วิพากษ์และตรวจสอบพรรคไทยรักไทยไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่นเช่นเดียวกัน แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ การไล่ทุบตีรัฐบาล สื่อถล่มใส่ โดยการสนับสนุนรัฐประหาร ผมรู้สึกว่ามันเกินเลยความถูกต้องไปมาก ทำให้รัฐประหารกลายเป็นอาชญากรรมใหญ่ที่สุดที่เคยมี เพราะทหารได้ประหาร 'รัฐ' และ 'ประชาธิปไตย' ซึ่งไม่แตกต่างจากปี 2535 ที่มีคนเขียนจดหมายไปหาพล.อ.สุจินดา คราประยูร และสุจินดา บอกว่ากำลังรอจดหมายฉบับที่ล้าน คือ เมื่อเราเอื้อมไปถึงอำนาจนิยม หรืออำนาจนอกระบบเหตุการณ์จึงเกินเลยมาแบบนี้ หรือเอาเข้าจริงนี้คือวัฒนธรรมคนไทย ไม่ถูกใจก็ชอบล้มโต๊ะกัน"

"ฟังดูเหมือนกับไม่ชอบพรรคการเมือง ดูเลวร้ายไปหมด ถ้าอย่างนั้นคุณเชื่อเรื่องระบบการเมืองอย่างไร"

"สำหรับผมนะ พรรคการเมืองและนักการเมืองเลวร้ายอย่างไร ผมยังเชื่อในระบบการเมืองแบบรัฐสภา เพราะอย่างน้อยพรรคการเมือง ยังได้สร้าง หาแล้วก็แบ่งกันกิน ดีกว่าทหาร ดีกว่าอำนาจนิยม ในอดีตพิสูจน์มาเยอะแล้วว่า ไม่เคยสร้างนวัตกรรมใดไว้ คือ ไม่หาและยังกินรวบคนเดียว ด่าไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ พรรคการเมืองยังด่าได้ ตรวจสอบได้ พอถึง 4 ปีถ้าเราเบื่อหน่ายเราก็ไม่เลือกเข้ามาใหม่ ขออย่างเดียวขอพื้นที่ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการพูดคุย แสดงความคิดเห็นทางการเมือง"
......................

"ผมนึกออกแล้ว ผมจะทำหนังสือถึงแม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 ขอจัดเวทีสาธารณะคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่กองทัพภาค 3 จังหวัดพิษณุโลกเลย ผมจะเดินเข้าไปคุยด้วย ไปคนเดียวนี่แหละ ขอให้ผู้อำนวยการข่าวกรองที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาถกเถียง มาคุยหรือจะเอาใครก็ได้ขอให้ส่งตัวแทนมาเลย คุณจะระดมมวลชนที่คุณควบคุมได้ จะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. พลทหาร หรือทหารเกณฑ์มาฟังกันเยอะๆ ประชาชน โดยเฉพาะทหารที่ภาค 3 จะได้เข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ"

"เพราะอะไรรู้ไหม?"
"ผมอยากให้ทหารฟังและรับฟังเสียงที่แตกต่างบ้าง"

"ทหารฟังเป็นไหม?"
'เสียงแตกต่างหลากหลาย' และการเคารพกันในความเป็นมนุษย์เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย.



คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com