บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
แนวคิดทุนนิยมธรรมชาติ
vs ทุนนิยมอุตสาหกรรม
Paul
Hawken: หนึ่งในผู้บุกเบิกกระบวนทัศน์ทุนนิยมธรรมชาติ
สฤณี
อาชวานันทกุล : เขียน
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม
บทความชิ้นนี้
กองบรรณาธิการฯ มุ่งนำเสนอเพื่อเป็นการแนะนำ
วิทยากรรับเชิญ: สฤณี อาชวานันทกุล ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมาบรรยายในหัวข้อ
ทางรอดของทุนนิยม ทางเลือกสังคมแห่งการร่วมมือ
ซึ่งมีกำหนดการบรรยายในวันที่ ๗-๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๔.๐๐ น.
สำหรับในบทความที่นำเสนอ มีสาระสำคัญดังหัวข้อต่อไปนี้
- กระบวนทัศน์ทุนนิยมธรรมชาติ
- เปรียบเทียบทุนนิยมอุตสาหกรรม กับทุนนิยมธรรมชาติ
- การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (resource productivity)
- เศรษฐกิจบริการ (service economy)
- การเลียนแบบธรรมชาติ (biomimicry)
- การลงทุนในทุนธรรมชาติ และจบลงด้วย
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งต่อไป คือการพัฒนาในแนวทุนนิยมธรรมชาติ
(บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์คนชายขอบ และโอเพ่นออนไลน์)
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๒๙๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
แนวคิดทุนนิยมธรรมชาติ
vs ทุนนิยมอุตสาหกรรม
Paul
Hawken: หนึ่งในผู้บุกเบิกกระบวนทัศน์ทุนนิยมธรรมชาติ
สฤณี
อาชวานันทกุล : เขียน
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม
เกริ่นนำ
ในบรรดาปัญหาร้อยแปดของโลกปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย
เป็นปัญหาที่อันตรายที่สุด เพราะอาจนำไปสู่การล่มสลายของมนุษยชาติหากมนุษย์ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ตามคำทำนายของนักสิ่งแวดล้อมหลายคนที่มองโลกด้วยสายตาหดหู่ เป็นปัญหาที่มี "ความเป็นสากล"
สูงสมกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพราะแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นจุดเล็กๆ
เช่น เผาหญ้าในป่า เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจทับถมสะสมเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อผู้คนทั่วโลก
บ่อยครั้งในทางที่เราคิดไม่ถึง เป็นการตอกย้ำแนวคิดหลักของทฤษฎีความสับสน (Chaos
Theory) ที่บอกว่า การกระพือปีกของผีเสื้อตัวหนึ่ง สามารถเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของอากาศจนก่อเกิดเป็นพายุหมุนลูกยักษ์ได้
อันตรายที่ร้ายแรงที่สุดของปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ มันเป็นปัญหาที่ระบบทุนนิยมปัจจุบันยังไม่มีคำตอบ เพราะเป็นตัวแปรที่ไม่เคยอยู่ในกรอบการคำนวณต้นทุนกำไรของบริษัทใดๆ ยกเว้นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กฎหมายบังคับ เช่น การจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือโครงการเพื่อสังคมบางโครงการ ที่มุ่งเน้นการสร้างภาพพจน์ให้กับบริษัท มากกว่าประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
นักเรียนเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจทั่วโลกถูกสอนมาตลอดว่า "ทุน" ที่ใช้ในการผลิตทุกชนิดมีสามชนิดเท่านั้น คือ ทุนมนุษย์ (ในรูปแรงงาน ความรู้ และวัฒนธรรม) ทุนที่เป็นตัวเงิน และทุนที่มนุษย์ผลิต (เช่น โรงงาน เครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงาน ฯลฯ) ทั้งๆ ที่สิ่งแวดล้อมเป็น "ทุนธรรมชาติ" ที่น่าจะมีมูลค่าสูงกว่าทุนทั้งสามชนิดรวมกัน แม้การประเมินมูลค่าทุนธรรมชาติอาจเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนพยายามทำ เช่น เมื่อปี 2540 นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมนาม โรเบิร์ต คอนทานซา (Robert Contanza) เป็นผู้นำทีมวิจัยที่ประเมินมูลค่าของ "ทุนธรรมชาติ" ที่สังคมมนุษย์ใช้ไว้ที่ 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ของทุกประเทศรวมกัน และในปัจจุบันอยู่ที่ 39 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นถ้ามองตัวเลข 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ว่าเป็น "ดอกเบี้ย" รายปีที่เราใช้จากทุนธรรมชาติ ทุนธรรมชาติทั้งหมดอาจมีมูลค่าสูงถึง 400-500 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ!
การคำนวณมูลค่าทุนธรรมชาติอาจเป็นเรื่อง "ไร้สาระ" ในสายตาหลายๆ คน (เพราะจริงๆ แล้ว เราจะคำนวณ "ราคา" ของสิ่งที่เราขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิตได้อย่างไร?) แต่ผลการประเมินของคอนทานซา ซึ่งเขามองว่าเป็นตัวเลขขั้นต่ำเท่านั้น ก็เป็นตัวเลขที่สูงพอที่จะช่วยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันมาสนใจถามกันเองว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะคิดค้นระบบทุนนิยมแบบใหม่ ที่คำนึงถึง "ทุนธรรมชาติ" ในฐานะต้นทุนชนิดหนึ่ง ที่มองข้ามไม่ได้อีกต่อไป?
ที่ผ่านมา การละเลย "ทุนธรรมชาติ" ในสมการเศรษฐศาสตร์และธุรกิจไม่ใช่เรื่องแปลก หรือแม้แต่น่าประณามเท่าไรนัก เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า ระบบทุนนิยมเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษกว่าสองร้อยปีก่อน ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่ดูเหมือนจะไม่มีวันหมดสิ้น และความสมดุลของระบบนิเวศที่ดูยิ่งใหญ่เกินกว่าจะถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ได้
สมัยพ่อแม่เรายังเด็ก ใครเลยจะคาดเดาได้ว่าโลกในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าอาจเข้าสู่ยุค "peak oil" (จุดอิ่มตัวของน้ำมัน) เมื่อความต้องการน้ำมันของประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจใหม่อย่างจีนและอินเดีย ถีบตัวสูงเกินความสามารถในการผลิตน้ำมัน และการค้นพบบ่อน้ำมันใหม่ๆ (ซึ่งค้นพบน้อยลงอย่างน่าใจหายนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา) กลายเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายรายพยากรณ์ว่า น้ำมันจะหมดโลกภายในปี พ.ศ. 2568 และทำให้นักคิดหลายคนประกาศว่า ความขัดแย้งระดับประเทศที่กำลังคุกรุ่น ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนาหรอก แต่เป็นการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติโดยใช้ศาสนาบังหน้าต่างหาก
และใครเลยจะคาดคิดว่า การพัฒนาด้านวัตถุอันไม่หยุดหย่อนของมนุษยชาติ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่คนทั้งโลกสามารถรู้สึกได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เกิดฝนตกผิดฤดูและนานกว่าที่เคย อากาศร้อนขึ้นทุกปี และดินฟ้าอากาศแปรปรวน ล้วนเป็นผลทางตรงและทางอ้อมของปัญหา "โลกร้อน" ซึ่งมีข้อมูลและเหตุผลสนับสนุนมากมายเกินกว่าที่ใครจะกล้าแย้งอีกต่อไปว่า ส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นผลพวงของสิ่งที่เราเรียกว่า "อารยธรรมมนุษย์" ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงเพิ่งมาตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งใน "ต้นทุน" ของการพัฒนา ที่มองไม่เห็นแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะ "ใช้" เมื่อไม่นานมานี้เอง
แม้นักคิดอย่างบียอร์น ล็อมบอร์ก จะพยายามปลอบเราว่า สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกปัจจุบันไม่เลวร้ายอย่างที่นักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่โพนทะนา ก็อดคิดไม่ได้อยู่ดีว่า ในวันใดหนึ่งข้างหน้า "ทุนธรรมชาติ" ของโลกอาจหมดไป หากมนุษย์ยังไม่ยอมรับว่านี่คือต้นทุนชนิดหนึ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ หาวิธี "คำนวณ" เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และหาวิธี "คืนทุน" กลับสู่ธรรมชาติอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้น การถอนรื้อระบบความคิดทางเศรษฐศาสตร์ทั้งดุ้น จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการ "ข้ามพ้น" กระบวนทัศน์ของทุนนิยมแบบเดิมๆ ที่ไม่เคยเห็นทุนธรรมชาติอยู่ในสายตา
กระบวนทัศน์ "ทุนนิยมธรรมชาติ"
พอล ฮอว์เคน (Paul Hawken) เจ้าของร้านเครื่องมือทำสวนชื่อ Smith & Hawken
ที่ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในนักคิดจำนวนน้อยในโลก
ที่กำลังคิดเรื่องยากเรื่องนี้อย่างเป็นระเบียบและเป็นระบบ. ในหนังสือชื่อ "ทุนนิยมธรรมชาติ"
(Natural Capitalism) ที่ฮอว์เคนเขียนร่วมกับ เอมอรี่ เลอวิงส์ (Amory Lovins)
และ แอล. ฮันเตอร์ เลอวิงส์ (L. Hunter Lovins) คู่สามีภรรยาผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมชื่อ
Rocky Mountain Institute พวกเขาได้รวบรวมแนวคิดที่หลากหลายและกรณีศึกษามากมาย
เพื่อประมวลขึ้นเป็นกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า "ทุนนิยมธรรมชาติ" อย่างน่าสนใจและมีเหตุผล
หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างน่าเบื่อแต่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเนื้อหาอัดแน่นไปด้วยตัวอย่างของแนวคิด "ทุนนิยมธรรมชาติ" ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างประปราย แต่ปฏิเสธความสำเร็จไม่ได้ ทั่วทุกมุมโลก ในทุกสาขาวิชาและแวดวงธุรกิจ จนปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า เราสามารถสร้างโลกที่น่าอยู่กว่าเดิมได้ด้วยระดับเทคโนโลยีปัจจุบัน และความเชื่อโบราณที่ว่า นักธุรกิจผู้เห็นแก่ตัวจะไม่มีวันสนใจสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป เพราะ "เทคโนโลยีสีเขียว" สมัยใหม่ไม่เพียงแต่ "สะอาด" กว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังให้ผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงกว่าเทคโนโลยีเดิมอีกด้วย
เปรียบเทียบทุนนิยมอุตสาหกรรม
กับทุนนิยมธรรมชาติ
ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับ "ทุนนิยมธรรมชาติ" ในความหมายของฮอว์เคน
เราลองมาสรุปความเชื่อหลักๆ ในกระบวนทัศน์ของ "ทุนนิยมอุตสากรรม" ปัจจุบันกันก่อน
เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น:
กระบวนทัศน์แบบ "ทุนนิยมอุตสาหกรรม" สรุปได้ดังนี้:
1. ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ดีที่สุดในระบบตลาดเสรี ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงกระบวนการจำหน่ายสินค้า การนำผลกำไรไปลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจจะทำให้ทั้งแรงงานและทุนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
2. บริษัทต่างๆ สามารถเพิ่มขีดความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลิตสินค้าในปริมาณมากกว่าเดิม ส่งไปขายในตลาดที่กำลังขยายตัว3. การเติบโตของ GDP ทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้นถึงขีดสุด
4. ภาวะการขาดแคลนทรัพยากรใดๆ ก็ตาม จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรทดแทนเสมอ
5. ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องปรับให้สมดุลกันกับความต้องการของความเจริญทางเศรษฐกิจ หากเราต้องการรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิตในระดับสูง
6. ระบบตลาดเสรีและพลวัตของตลาด จะจัดสรรแรงงานและทรัพยากรให้เหมาะสมที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดตลอดเวลา
กระบวนทัศน์ข้างต้นอาจสรุปได้สั้นๆ ว่า "เงินซื้อได้ทุกอย่าง" และ "ตลาดเสรีดีที่สุดสำหรับมนุษย์" กระบวนทัศน์นี้เป็นผลจากการมองข้าม "ทุนธรรมชาติ" ในกระบวนความคิดทั้งหมด กระบวนทัศน์นี้นอกจากจะพิสูจน์ได้ว่า "ไม่เป็นจริง" ในโลกปัจจุบันแล้ว (เช่น ชนชั้นกลางหลายล้านคนในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ตอบแบบสำรวจว่ามีเงินแต่ไม่มีความสุข และมาตรการทั้งบนดินและใต้ดินที่กลุ่มธนกิจการเมืองและบริษัทใหญ่ๆ ใช้ในการกีดกันคู่แข่งและบิดเบือนกลไกตลาด จนทำให้ตลาดเป็นเพียง "ตลาดเสรีเทียม" ที่ไม่เสรีจริง) ยังนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจในระดับมโหฬาร
กระบวนทัศน์แบบ "ทุนธรรมชาติ"
จากมุมมองของทุนธรรมชาติ โดยเฉพาะพลังงานและวัตถุดิบ เช่น ทุกปีโลกเรามีวัตถุปริมาณรวม
500,000 ล้านตัน (ทั้งที่เป็นวัตถุดิบและสินค้า) ไหลเวียนไปทั่วโลก ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง
(ทั้งในขั้นตอนการผลิตของผู้ขาย และในการบริโภคอย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยผู้ซื้อ)
ในอเมริกา ประเทศที่คนทิ้งขยะมากที่สุดในโลก มีนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมคำนวณว่า
วัตถุเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ไหลเวียนในประเทศทั้งหมด กลายเป็นส่วนประกอบของสินค้าขั้นสุดท้าย
(final product) ในแต่ละปี
ฮอว์เคนเสนอว่า หากเราเปลี่ยนความคิดใหม่ เอา "ทุนธรรมชาติ" เป็นตัวตั้งในฐานะทุนที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต กระบวนทัศน์แบบ "ทุนนิยมธรรมชาติ" ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะสำคัญๆ ดังต่อไปนี้:
1. สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเพียงต้นทุนระดับรองในการผลิต หากเป็นระบบอันซับซ้อนที่หุ้มห่อหล่อเลี้ยง และรักษาเศรษฐกิจทั้งโลก ดังนั้น ข้อจำกัดที่แท้จริงในการพัฒนาเศรษฐกิจคือ ความอุดมสมบูรณ์ของ "ทุนธรรมชาติ" โดยเฉพาะระบบนิเวศต่างๆ ที่ไม่สามารถทดแทนได้และยังไม่มีมูลค่าตลาด
2. ระบบธุรกิจที่ถูกออกแบบมาไม่ดี อัตราการเติบโตของประชากร และพฤติกรรมการบริโภคแบบทิ้งขว้าง เป็นสาเหตุหลักของการบั่นทอนทุนธรรมชาติ ปัญหาทั้งสามข้อนี้ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน (sustainable economy)3. ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ดีที่สุดในระบบตลาดเสรีที่เป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงกระบวนการจำหน่ายสินค้า เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับทุนทุกชนิด ได้แก่ ทุนมนุษย์, ทุนที่เป็นตัวเงิน, ทุนที่มนุษย์ผลิต, และทุนธรรมชาติ
4. กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การใช้แรงงาน เงิน และสิ่งแวดล้อมให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างก้าวกระโดด
5. วิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ของมนุษย์ คือการปรับปรุงคุณภาพของบริการต่างๆ ที่มนุษย์ต้องการ (คือเน้น "คุณค่า") ไม่ใช่สักแต่เพิ่ม "มูลค่า" รวมของบริการเหล่านั้น
6. ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้และฐานะ ในระดับโลก
7. สิ่งที่จะสร้างบรรยากาศที่ดีที่สุดในระยะยาวสำหรับการค้าขาย คือระบบธรรมาภิบาลแบบประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ความต้องการของภาคธุรกิจ
แน่นอน กระบวนทัศน์ "ทุนนิยมธรรมชาติ" ฟังดูดีกว่ากระบวนทัศน์แบบเดิมหลายเท่า แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า ระบบแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ? ในหนังสือ ฮอว์เคนอธิบายกลยุทธ์หรือหลักการต่างๆ ที่ผู้สนับสนุนกระบวนทัศน์ใหม่หลายรายกำลังนำมาใช้อย่างได้ผลในโลกแห่งความจริง เขาแบ่งกลยุทธ์ทั้งหมดออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่:
- การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (resource productivity)
- เศรษฐกิจบริการ (service economy)
- การเลียนแบบธรรมชาติ (biomimicry) และ
- การลงทุนในทุนธรรมชาติ
1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร
(resource productivity)
กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์เก่าแก่นักธุรกิจทั่วโลกคุ้นเคยดี หลักการของกลยุทธ์นี้คือ
ทำอย่างไรให้กระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอน สามารถทำงานหรือให้ผลผลิตเท่าเดิมโดยใช้วัตถุดิบและพลังงานน้อยลง
แม้จะเป็นกลยุทธ์เก่าแก่ แต่ก็เพิ่งได้รับความสนใจระดับโลกเมื่อปี พ.ศ. 2537 เมื่อนักวิทยาศาสตร์, นักเศรษฐศาสตร์, เจ้าหน้าที่รัฐ, และนักธุรกิจจำนวน 16 คน จากทั่วโลก รวมตัวกันเป็น "กลุ่มยกกำลังสิบ" (The Factor Ten Club) และร่วมกันออก แถลงการณ์ ที่เรียกร้องให้ผู้นำประเทศทั่วโลกสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร เพื่อแก้ไขความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ กลุ่มยกกำลังสิบโด่งดังไปทั่วโลกเพราะเปิดแถลงการณ์ของพวกเขาด้วยประโยคว่า "ภายในหนึ่งชั่วอายุคน ประเทศต่างๆ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และวัตถุดิบอื่นๆ ได้ถึงสิบเท่า"
หลังจากออกแถลงการณ์ คำว่า "กำลังสิบ" (Factor Ten - แปลว่าการลดอัตราการใช้พลังงานและวัตถุดิบในการผลิตลง 90 เปอร์เซ็นต์) และ "กำลังสี่" (Factor Four - แปลว่าการลดอัตราการใช้พลังงานและวัตถุดิบในการผลิตลง 75 เปอร์เซ็นต์) ได้กลายเป็นคำศัพท์ยอดฮิตในวงสนทนาของเจ้าหน้าที่รัฐ นักพัฒนา นักวิชาการ และนักธุรกิจทั่วโลก
- รัฐบาลออสเตรีย ฮอลแลนด์ และนอร์เวย์ประกาศว่าจะยึดมั่นในนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพระดับกำลังสี่
- โครงการด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ตั้งการเพิ่มประสิทธิภาพระดับกำลังสิบ เป็นเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- หลักการนี้ไม่ได้แพร่หลายเฉพาะในระดับประเทศเท่านั้น แต่บริษัทข้ามชาติหลายราย เช่น ดาว ยุโรป (Dow Europe) หนึ่งผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในโลก และมิตซูบิชิของญี่ปุ่น ใช้หลักการนี้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจของบริษัท
ความสำเร็จของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากร กำลังล้มล้างความเชื่อเก่าแก่ที่ว่า นักธุรกิจไม่มีทางจับมือกับนักสิ่งแวดล้อมได้ เพราะเป้าหมายทางธุรกิจและความรับผิดชอบทางสิ่งแวดล้อมไม่มีทางที่จะเดินทางเดียวกันได้
ตัวอย่างต่างๆ ที่ฮอว์เคนนำเสนอล้วนชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจไม่เพียงแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เท่านั้น หากยัง "ควรเป็น" อีกด้วย เพราะเทคโนโลยีสีเขียวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ซึ่งส่งผลโดยตรงกับขีดความสามารถในการทำกำไร เป้าหมายในการดำรงอยู่ของบริษัททั้งมวล อยู่ที่ว่าใครจะยอมฟังเท่านั้น
2. เศรษฐกิจบริการ (service
economy)
เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร สามารถทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบใหม่
หนึ่งในองค์ประกอบของทุนนิยมธรรมชาติที่สำคัญที่สุดในความเห็นของฮอว์เคน คือระบบที่เขาขนานนามว่า
"เศรษฐกิจบริการ" (service economy) ที่เขาเชื่อว่าควรใช้ทดแทนระบบเดิมที่เรียกว่า
"เศรษฐกิจสินค้า" (product economy) ของทุกประเทศ
ในภาษาเศรษฐศาสตร์ ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เราใช้เงินซื้อได้ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ สินค้า หมายถึงวัตถุที่จับต้องได้ เช่น อาหาร ของเล่น รถยนต์ ฯลฯ และบริการ หมายถึงบริการที่เราใช้เงินซื้อได้ เช่น ค่าตัดผม ค่าโทรศัพท์ ค่าส่งไปรษณีย์ ค่าโรงแรมที่พัก ฯลฯ "เศรษฐกิจบริการ" ในความหมายของฮอว์เคน คือระบบเศรษฐกิจที่แปรรูปสิ่งที่ผู้บริโภคซื้อ จาก "สินค้า" ให้กลายเป็น "บริการ" ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการหันมาเน้นประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากสินค้าแต่ละชนิด
ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจเครื่องปรับอากาศ หรือที่ทุกคนเรียกกันติดปากว่า "แอร์" ใครที่เคยซื้อแอร์ คงทราบดีว่าแอร์ก็เหมือนเครื่องมือไฮเทคชนิดอื่นๆ ตรงที่ "ตกรุ่น" อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ ซื้อแอร์มาไม่ทันไร ไม่ถึงปียี่ห้อเดิมก็ออกรุ่นใหม่ที่ดีกว่ารุ่นในห้องเรา แถมราคาเกือบเท่าของเดิมหรือถูกกว่าเดิมเสียอีก ถ้าจะเปลี่ยนแอร์ให้ "ทันสมัย" ตลอดเวลา ก็จะต้องใช้เงินมาก แถมไม่รู้จะเอาเครื่องเก่าไปไว้ตรงไหน นอกจากนี้ เราก็อาจไม่รู้หรือไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้ห้องเย็นขึ้นโดยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้แอร์ เช่น ซุปเปอร์วินโดวส์ (superwindows) หน้าต่างแบบใหม่ที่กันความร้อนได้ดีกว่าผนังบ้าน
ฮอว์เคนบอกว่า จริงๆ แล้วเวลาเราซื้อแอร์ เราไม่ได้ต้องการแอร์เครื่องนั้นหรอก เราต้องการ "ความเย็น" ที่แอร์เครื่องนั้นผลิตให้ต่างหาก ดังนั้น บริษัทแอร์ที่เปลี่ยนโมเดลในการทำธุรกิจ จากการ "ขายแอร์" มาเป็น "ขายบริการทำความเย็น" น่าจะได้เปรียบกว่าบริษัทที่ขายแอร์ เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการให้บริการความเย็นกับลูกค้า ต้นทุนที่ถูกกว่าเดิมหรือประสิทธิภาพที่สูงกว่าเดิมจะทำให้บริษัทนั้นๆ มีอัตรากำไร (รายได้หักต้นทุน) สูงกว่าเดิม แถมไม่ต้องปวดหัวกับแอร์ที่ค้างสต๊อค ลูกค้าก็มีความสุขเพราะได้รับความเย็น โดยไม่ต้องสนใจว่าผู้ให้บริการทำอะไรบ้าง
ในด้านสิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น เพราะกองขยะในเมืองก็จะไม่มีแอร์รุ่นเก่าๆ มาทับถมกันอีกต่อไป ความสิ้นเปลืองในการผลิตแอร์ (ในแง่วัตถุดิบและแรงงาน) ก็จะหมดไป หรืออย่างน้อยก็น้อยลงกว่าเดิมมาก ปัจจุบันบริษัทแคริเออร์ (Carrier) ผู้ผลิตแอร์รายใหญ่ของโลก เริ่มให้ "บริการทำความเย็น" กับลูกค้าแล้ว ในสัญญาบริการ ลูกค้าจ่ายค่าบริการรายเดือนให้แคริเออร์ แลกกับข้อตกลงว่าอาคารของลูกค้าจะได้รับอุณหภูมิตามที่ระบุในสัญญา ดังนั้นยิ่งแคริเออร์หาวิธีที่จะช่วยลดต้นทุนได้เท่าไหร่ กำไรของแคริเออร์ก็จะดีขึ้นเท่านั้น เพราะรายได้ถูกกำหนดตายตัวไปแล้ว
แคริเออร์จึงมีแรงจูงใจอย่างยิ่งที่จะหาวิธีใหม่ๆ ในการให้บริการความเย็น บริษัทมีพันธมิตรทางธุรกิจมากมายที่ช่วยกันติดตั้งซุปเปอร์วินโดวส์ให้กับลูกค้า เปลี่ยนหลอดไฟทั้งบ้านให้เป็นแบบใหม่ที่ร้อนน้อยลง และปรับปรุงบ้านลูกค้าด้วยวิธีการอื่นๆ ที่จะช่วยให้ความเย็นโดยที่แคริเออร์ไม่ต้องลงทุนสูง (เช่น จ้างดีไซเนอร์ให้ออกแบบแอร์รุ่นใหม่ๆ) ไอเดียในการทำธุรกิจแบบใหม่ของแคริเออร์ไม่ได้มาจากฮอว์เคน แต่มาจากอาชีพเก่าแก่ในฝรั่งเศสที่เรียกว่า chauffagistes หรือ "ผู้ให้บริการทำความร้อน" ซึ่งตกลงกับลูกค้าว่าจะทำให้พื้นห้องมีอุณหภูมิในช่วงที่ตกลงกัน และระหว่างช่วงเวลาที่ตกลงกัน การแข่งขันระหว่าง chauffagistes ทั้งหลายทำให้พวกเขาต้องคิดค้นหาวิธีประหยัดต้นทุนใหม่ๆ ในการทำความร้อนอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อเพิ่มผลกำไรให้เหนือคู่แข่ง ส่งผลให้ลูกค้าได้รับความพอใจ ประสิทธิภาพของบริการดีขึ้น และท้ายที่สุดทุนธรรมชาติก็ถูกใช้อย่างสิ้นเปลืองน้อยลง
แนวโน้มล่าสุดในแวดวงธุรกิจหลายวงการ เช่น การจ้างคนทำงานบางชนิดนอกบริษัท (outsourcing) การที่บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่บางราย เช่น IBM ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ มาเป็นการให้บริการด้านไอที หรือแม้แต่การที่ Interface บริษัทผู้ผลิตพรมรายใหญ่ของอเมริกา เลิกขายพรมแล้วหันมาเปิด "บริการให้เช่าพรม" แทน ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ เพียงแต่ยังไม่มีใครเคยสรุปภาพรวมว่ามันเป็นกลยุทธ์หนึ่งของ "ทุนนิยมธรรมชาติ" แบบที่ฮอว์เคนทำ
"เศรษฐกิจบริการ" เป็นแนวคิดที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หรือ "win-win situation" เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองแบบเล็กน้อยแต่ลึกซึ้ง จาก "สินค้า" มาเป็น "บริการ" ที่สินค้านั้นเคยนำเสนอ เท่านี้ก็เป็นการ "ปลดล็อค" ข้อจำกัดที่เคยยึดติดอยู่กับตัวสินค้า เปิดความคิดสร้างสรรค์ของบริษัทต่างๆ ให้โลดแล่นได้อย่างเสรี หากสามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม. ใครจะรู้ หากแนวคิดนี้แพร่หลายออกไปในวงกว้างเมื่อใด เราอาจได้เห็นสังคมยุค "หลังบริโภคนิยม" ที่ผู้บริโภคไม่ "ยึดติด" ในวัตถุต่างๆ อีกต่อไป เพราะสามารถระลึกได้ (ผ่านการป่าวประกาศของบริษัทผู้ผลิตต่างๆ) ว่า การสะสมของต่างๆ ที่ให้ประโยชน์ใช้สอยแบบเดียวกัน เป็นเรื่องฟุ่มเฟือยโดยใช่เหตุ
3. การเลียนแบบธรรมชาติ
(biomimicry)
นอกจากจะเป็นบ่อเกิดและผู้อุปถัมภ์ชีวิตแล้ว ธรรมชาติยังเป็นครูที่ดีที่สุดของมนุษย์อีกด้วย
ตัวอย่างของประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรด้วยวิธีที่ประหยัดทุนธรรมชาติ มีให้เราเห็นมากมาย
แมงมุมสามารถผลิตใยที่แข็งแรงเท่ากับเคฟล่าร์ (Kevlar) แต่ทนทานกว่า ด้วยการย่อยสลายจักจั่นและแมลงวัน
โดยไม่ต้องต้มกรดซัลฟุริคให้ถึงจุดเดือดแบบที่มนุษย์ผลิตใยเคฟล่าร์, หอยเป๋าฮื้อสร้างเกราะชั้นในที่ทนทานเท่ากับเซรามิคแบบดีที่สุดของมนุษย์,
และต้นไม้สามารถแปรแสงอาทิตย์ น้ำ และอากาศให้เป็นเซลลูโลส (cellulose), สารน้ำตาลชนิดหนึ่งที่เหนียวกว่าและแข็งแรงกว่าไนล่อน
และสังเคราะห์มันออกมาเป็นไม้ สารผสมธรรมชาติที่ทนทานแต่โค้งงอง่ายกว่าคอนกรีตหรือเหล็กกล้า
มนุษย์อาจไม่มีวันเก่งเท่ากับแมงมุม หอยเป๋าฮื้อ หรือต้นไม้ ในแง่ของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แต่เราสามารถเรียนรู้กระบวนการผลิตอันอ่อนโยนจากธรรมชาติได้ วิธีการนี้กำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในแวดวงต่างๆ โดยเฉพาะเภสัชกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสถาปัตยกรรม
ในภาคเกษตร หลักการ biomimicry (การเลียนแบบธรรมชาติ) ถูกนำมาใช้ในการทำการเกษตรแบบธรรมชาติ (ที่เมืองไทยเรียกว่า "เกษตรอินทรีย์") โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วย เทคนิคนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดการเสื่อมสภาพของหน้าดิน ลดมลพิษอันตรายต่อสุขภาพ (เช่น แก๊สมีเธน) ที่เกิดจากการใช้สารเคมี โดยให้ผลผลิตไม่น้อยกว่าเดิม ตัวอย่างการลอกเลียนแบบธรรมชาติในภาคเกษตรที่มีชื่อเสียงที่สุดน่าจะหนีไม่พ้นระบบเกษตรอินทรีย์ของ "มาซาโนบุ ฟูกุโอกะ" ชาวญี่ปุ่นที่เรียกวิธีการปลูกข้าวของเขาว่า "ระบบเลี้ยงตัวเอง" ที่สามารถให้ผลผลิตเพียงพอสำหรับเลี้ยงคน 5 คน ในเนื้อที่เพียง 50 ตารางวาเท่านั้น ปัจจุบันระบบของฟูกุโอกะแพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น และใช้ในการทำนากว่า 400,000 ไร่ในประเทศจีน
เมืองไทยเรามีตัวอย่างการลอกเลียนแบบระบบนิเวศในภาคเกษตรมากมายในระดับชุมชน โดยเฉพาะที่สะท้อนแนวคิด "เกษตรพอเพียง" ตามแนวพระราชดำริ เช่น วิธีการเพาะปลูกแบบ "วนเกษตร" ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมการเกษตรหลายๆ อย่างผสมผสานในพื้นที่เดียวกัน พัฒนาขึ้นมาเลียนแบบป่าธรรมชาติ เพื่อสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของเกษตรกรคือ ปัจจัย 4 อันได้แก่ พืชอาหาร ไม้ผล ยาสมุนไพร พลังงาน ไม้สร้างบ้านเรือน ไม้ยืนต้นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และเลี้ยงสัตว์ โดยสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมเอาไว้ได้
ความรู้อย่างลึกซึ้งในหลักการ biomimicry ของ "ปราชญ์ชาวบ้าน" อย่างผู้ใหญ่วิบูลย์ ควรได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เป็นระบบที่ใช้ได้แพร่หลายทั่วประเทศ เพราะวิถีการเกษตรที่เลียนแบบธรรมชาติ หรือเกษตรผสมผสาน น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับเกษตรกรผู้ยากไร้หลายล้านคน ที่ยังจมปลักอยู่ในวังวนหนี้ซึ่งเป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ที่ชักนำให้พวกเขาใช้เงินลงทุนมากมายในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายในระบบตลาด ทั้งๆ ที่พวกเขายังไม่พร้อม และทั้งๆ ที่ระบบตลาดเป็นเศรษฐกิจแบบ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ที่ย่อมมี "ผู้ชนะ" เพียงน้อยราย และประสิทธิภาพในการผลิตต่อไร่ของไทยอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด ไม่เคยได้รับการปรับปรุงอย่างจริงจังเพราะรัฐบาลมัวเน้นแต่มาตรการแทรกแซงตลาดที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
ในภาคอุตสาหกรรม วิศวกรหลายรายกำลังออกแบบ "นิคมอุตสาหกรรมไร้มลพิษ" (zero-emission industrial estate) โดยผู้เช่าจะมาจากอุตสาหกรรมหลายประเภท ที่แต่ละรายจะสามารถใช้ประโยชน์จาก "ของเสีย" ของผู้เช่าอีกรายหนึ่ง เป็นวัตถุดิบในการผลิตของตน นิคมแบบนี้คือ "ระบบนิเวศอุตสาหกรรม" (industrial ecosystem) ที่ลอกเลียนแบบระบบนิเวศในธรรมชาติอย่างน่าทึ่ง ในขณะเดียวกัน สถาปนิกหลายรายก็กำลังออกแบบโครงสร้างใหม่ๆ ที่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ สามารถบำบัดน้ำเสียในตัวเอง กักตุนแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงาน และสะดวกสบายสำหรับผู้อยู่อาศัย
4. การลงทุนในทุนธรรมชาติ
เนื่องจากทุนธรรมชาติกำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ ระบบทุนนิยมธรรมชาติจึงไม่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
ไม่ว่าจะใช้กลยุทธ์ทั้งสามที่เอ่ยถึงข้างต้นอย่างฉลาดเฉลียวเพียงใด หากไม่ลงทุนในทุนธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง
เหมือนกับที่ลงทุนในด้านอื่นๆ ให้ทุนธรรมชาติมีเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของประชากรโลกชั่วนิจนิรันดร.
นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายพันรายการกำลังช่วย "คืนทุน" ให้กับธรรมชาติ
ด้วยต้นทุนที่ต่ำพอที่จะนำไปใช้ได้ในระดับชุมชน หรือแม้แต่ในครัวเรือน นวัตกรรมหลายอย่างตั้งอยู่บนหลักการ
"ปราศจากของเสีย" (zero waste) คือออกแบบกระบวนการผลิตให้ไม่มีของเสีย
หรือไม่ก็นำของเสียนั้นไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น กระดาษและหมึกพิมพ์แบบใหม่ที่ใช้แล้วลบเพื่อพิมพ์ใหม่ได้
ซึ่งถ้านำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ก็จะสามารถทำให้ความต้องการกระดาษของคนทั้งโลกสามารถรองรับได้ด้วยป่าผืนเล็กๆ
ที่ใช้เนื้อที่น้อยกว่าภาคอีสานของไทย
ในด้านพลังงาน ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถช่วยประหยัดพลังงาน และใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนหลายประเภท วิศวกรประสบความสำเร็จในการสร้างรถพลังไฮโดรเจน ที่สามารถใช้เป็นโรงผลิตไฟฟ้าขนาดย่อมสำหรับบ้านเรือน สถาปนิกออกแบบตึกสมัยใหม่ที่สามารถผลิตอ็อกซิเจน พลังแสงอาทิตย์ และน้ำดื่มในตัวตึก หรือแม้กระทั่งเมืองทั้งเมืองที่ออกแบบมาให้ไม่ต้องใช้รถใช้ถนน (car-free cities) หลังคาบ้าน หน้าต่าง และแม้แต่พื้นถนนสามารถดัดแปลงให้เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ ขนาดวัชพืชที่ขึ้นรกรุงรังตามสนามหญ้าก็ถูกค้นพบว่า สามารถนำมาสกัดเป็นยาได้ ฉะนั้นในอนาคต บ้านเรือนที่ผลิตพลังงานใช้เองน่าจะได้รับส่วนลดภาษี หรือลดเงินผ่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมพฤติกรรม "เชิงบวก" เหล่านี้
หนึ่งในมาตรการภาครัฐที่ฮอว์เคนเสนอว่า จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนและบริษัทต่างๆ หันมาสนใจใช้กระบวนทัศน์ "ทุนนิยมธรรมชาติ" อย่างแพร่หลายคือ การปรับโครงสร้างภาษี โดยเลิกการเก็บภาษีเงินได้ หันมาเก็บภาษีสิ้นเปลือง (waste tax) ในแง่การใช้ทุนธรรมชาติแทน เช่น ใครทิ้งขยะมากหรือขับรถบ่อยก็ต้องเสียภาษีมาก บริษัทไหนใช้ทรัพยากรสำคัญที่ทดแทนไม่ได้ เช่น น้ำมัน ก็ต้องเสียภาษี รัฐบาลบางประเทศใช้หลักการนี้แล้วในการบังคับให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น หลังจากรัฐบาลเดนมาร์กประกาศเก็บภาษีกองขยะ (landfill tax) อัตราการนำวัสดุก่อสร้างใช้แล้วมาใช้ใหม่ เพิ่มขึ้นจาก 12 เป็น 82 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปี (อัตราเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งต่อไป
หนังสือ "ทุนนิยมธรรมชาติ" เปิดฉากด้วยข้อความต่อไปนี้:
"...ลองหลับตานึกภาพโลกที่เมืองทุกเมืองมีความสงบสุขและสะอาด เพราะรถยนต์และรถเมล์วิ่งอย่างเงียบกริบ ท่อไอเสียพ่นเพียงไอน้ำระเหย สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวผุดขึ้นมาแทนทางด่วนที่ไม่จำเป็น กลุ่มประเทศผู้ผูกขาดน้ำมัน (โอเปค) ต้องเลิกรากันไปเพราะราคาน้ำมันลดต่ำลงเหลือเพียง 5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลล์ แต่ถึงกระนั้นก็มีคนซื้อน้ำมันน้อยมาก เพราะมีกรรมวิธีในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ สารพัดวิธีที่ถูกกว่า และดีกว่ากระบวนการในอดีตที่ใช้น้ำมันเป็นหลัก ระดับความเป็นอยู่ของประชากรทุกประเทศสูงขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ยากไร้และผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ไม่มีใครอยากทำงานแต่ไม่มีงานทำอีกต่อไป
รัฐเองก็ยกเลิกการเก็บภาษีเงินได้ส่วนใหญ่ ทุกคนสามารถจ่ายค่าผ่อนบ้านได้ด้วยพลังงานที่บ้านของเขาผลิตออกมา แทนที่จะจ่ายเป็นตัวเงิน รวมทั้งบ้านของผู้มีรายได้น้อยด้วย ไม่มีที่ไหนมีกองขยะสูงเป็นภูเขาเลากาอีกต่อไป พื้นที่ป่าในโลกเพิ่มขึ้นทุกปี เขื่อนต่างๆ ถูกรื้อถอน ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปี และน้ำที่ปล่อยออกมาจากโรงงาน สะอาดกว่าน้ำที่โรงงานนั้นสูบเข้าไปใช้ ประเทศในโลกพัฒนาแล้วสามารถลดการใช้ทรัพยากรลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีกว่าเดิมมากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญ ตาข่ายสังคมที่หลุดลุ่ยในประเทศโลกตะวันตกได้รับการซ่อมแซม ปริมาณงานระดับครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้คนต้องการสวัสดิการจากรัฐน้อยลง สหภาพแรงงานหัวก้าวหน้ากลุ่มต่างๆ เป็นผู้นำการประสานงานกับภาคธุรกิจ นักสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลในปฏิบัติการด้าน "การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม" (just transition) สำหรับแรงงาน
ระหว่างที่สังคมค่อยๆ เลิกใช้ถ่านหิน พลังงานนิวเคลียร์ และน้ำมัน ในชุมชนท้องถิ่นทั่วโลก สถาบันศาสนา บริษัท และกลุ่มแรงงานต่างๆ ร่วมกันสนับสนุนการใช้สัญญาแรงงานตามค่าใช้จ่ายจริง (living-wage social contract) ในฐานะที่มันเป็นวิธีที่ถูกที่สุดที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตและการรักษาทุนทางสังคม (social capital) อันล้ำค่า. นี่คือภาพของยุคพระศรีอาริย์หรือไม่? อันที่จริง การเปลี่ยนแปลงที่ผมอธิบายมาทั้งหมดนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษข้างหน้า เพราะมันเป็นผลพวงของแนวโน้มทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นจริงในโลกปัจจุบัน"
หากหนังสือเรื่อง "ความมั่งคั่งของนานาประเทศ" (The Wealth of Nations) ถือเป็นคัมภีร์สำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก หนังสือเรื่อง "ทุนนิยมธรรมชาติ" ของฮอว์เคนก็สมควรเป็นคัมภีร์สำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งต่อไปที่ยังมาไม่ถึง แต่เราเห็นเงารางๆ ของมันแล้วในความพยายามของนักคิดและนักธุรกิจผู้เปี่ยมจิตสำนึกสาธารณะอย่างฮอว์เคน ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก
ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า "ทุนนิยมธรรมชาติ" เป็น "ทางเลือก" เพียงหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ของสังคมสิ้นเปลืองในปัจจุบัน แต่ระบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อโลกเรามีการปฏิวัติทางความคิดในวงกว้าง และการปฏิวัตินี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนมองเห็นว่า โลกที่เราจะทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังนั้นมีสภาพเหลวแหลกเช่นไร มองเห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ ระบบที่นักคิดไทยหลายคนขนานนามว่า "พุทธเศรษฐศาสตร์" เป็นระบบเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนรุ่นหลังรอดพ้นจากหายนะได้
และท้ายที่สุด เราต้องเห็นพ้องต้องกันว่าทางเลือกนี้ไม่ใช่ฝันกลางวัน หากเป็นโลกที่เกิดขึ้นได้จริงด้วยการใช้องค์ความรู้ที่มนุษย์มีอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือความจริงที่พอล ฮอว์เคน พยายามรวบรวมและสังเคราะห์ตัวอย่างความสำเร็จทั่วโลกมาชี้ให้เห็น ในหนังสืออันยอดเยี่ยมของเขาที่นักพัฒนาและนักธุรกิจทุกคนควรมีไว้บนหิ้ง
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com