บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
วิจารณ์งานวิจัย ศ.ดร.อานันท์
กาญจนพันธุ์
วิจารณ์วิจัยอานันท์
กาญจนพันธุ์: สังคมไทยในงานของฉัตรทิพย์ นาถสุภา
ฉลอง
สุนทราวาณิชย์ : วิจารณ์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความชิ้นนี้
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้วิจารณ์ เดิมชื่อ:
บทวิจารณ์
อานันท์ กาญจนพันธุ์ "สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของ อาจารย์ฉัตรทิพย์
นาถสุภา"
ซึ่งเป็นโครงการศึกษา "เมืองไทยในความใฝ่ฝันของนักคิดอาวุโส" สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
เมษายน ๒๕๓๙
และได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน ๖๐ ปี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔. หน้า
๒๒๙-๒๔๖
โดยสาระสำคัญของบทวิจารณ์นี้ ประกอบด้วยเนื้อหาสังเขปต่อไปนี้
- ความนำเกี่ยวกับบทวิจารณ์งานวิจัย และ
- การทำความรู้จักอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภากับการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ไทย
- สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
- แนวทางการศึกษา ๒ แนวทางเกี่ยวกับสังคมไทยของ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
- ปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลหลักฐาน
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๒๙๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๔ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++
วิจารณ์งานวิจัย ศ.ดร.อานันท์
กาญจนพันธุ์
วิจารณ์วิจัยอานันท์
กาญจนพันธุ์: สังคมไทยในงานของฉัตรทิพย์ นาถสุภา
ฉลอง
สุนทราวาณิชย์ : วิจารณ์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความนำ
ในขณะที่ปัญญาชนนักคิดบางคน เลือกที่จะผลักดันความคิดความใฝ่ฝันเกี่ยวกับสังคมในอุดมคติด้วยการสื่อสารกับสาธารณชน
ผ่านงานเขียนเชิงความคิดและวิพากษ์วิจารณ์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่ผู้คนในวงกว้างสามารถเข้าถึงได้
บ้างผลักดันความคิดผ่าน "รายการสนทนา" ทางวิทยุและโทรทัศน์ บ้างด้วยการเคลื่อนไหวผ่านการ
"ปฏิบัติการภาคสนาม" ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับองค์กรภาครัฐ
เอกชน หรือชุมชนในระดับต่างๆ
แต่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ในงานวิจัยเรื่อง "สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา" ดูเหมือนกำลังจะบอกว่า ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เลือกผลักดันความคิดความใฝ่ฝันของตนผ่าน "งานเขียนทางวิชาการ" ที่ดูจริงจังและหนักแน่นเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะในรูปของงานวิจัย บทความวิชาการ และหรือตำรา โดยมุ่งสื่อสารกับกลุ่มคนที่แคบกว่ามาก กล่าวคือ กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา นักวิชาการและนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา และผู้ปฏิบัติงานในองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นับเป็นนักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ของไทยคนหนึ่ง
ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลงานทางวิชาการของ
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ปรากฏออกมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตำรา
งานแปล งานวิจัย และงานบรรณาธิการวารสารและหนังสือ รวมทั้งกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งการสอน การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา การบรรยายในที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการ
ฯลฯ ได้นำไปสู่กระแสการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสถานะของไทยศึกษาในประเทศไทยโดยรวม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิธีวิทยาและการใช้หลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของกลุ่มชนชาติไทเท่านั้น แต่ในช่วงทศวรรษเศษๆ
ที่ผ่านมา ผลงานทางวิชาการของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ยังส่งผลต่อการถกเถียงในการเสนอแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยอีกด้วย
ความสำคัญของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในวงวิชาการ จะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ในด้านหนึ่ง ภายในเวลาเพียง 1 ทศวรรษ หลังจากที่เริ่มต้นทำงานค้นคว้าทางวิชาการและการสอนอย่างจริงจัง ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ก็สามารถสร้างกระแสการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทอยู่ในวงวิชาการไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2510 และในทศวรรษ 2520 ที่เป็นที่รู้จักกันในหลากหลายนาม เป็นต้นว่า สำนักศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย, สำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง, และแม้แต่ในนามของ สำนักฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในขณะที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ก็เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ริเริ่มการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ที่มุ่งแสวงหารากเหง้าบริสุทธิ์ดั้งเดิมของวัฒนธรรมชนชาติไท อันสอดคล้องเกื้อหนุนต่อกระแสการพัฒนาแบบวัฒนธรรมชุมชน
ประการสำคัญ ข้อเสนอทางวิชาการหลักๆ ที่ผ่านมาของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ล้วนแล้วแต่ได้รับความสนใจติดตาม ตอบสนอง ตรวจสอบ โต้แย้ง และวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการหลากหลายสาขาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จนกล่าวได้ว่าฉัตรทิพย์ นาถสุภา เป็นหนึ่งในนักสังคมศาสตร์ไทยร่วมสมัยเพียงไม่กี่คนที่สามารถสร้างกระแสถกเถียง ทั้งในเชิงยอมรับและคัดค้าน โดยตรงและโดยอ้อมอย่างกระตือรือร้นและจริงจังจากเพื่อนร่วมวงวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้นว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ธงชัย วินิจจะกุล, เกษียร เตชะพีระ, Craig Reynolds, Lysa Hong, Katherine Bowie, Jeremy Kemp, Peter Vandergeest, Atsushi Kitahara และ อานันท์ กาญจนพันธุ์เอง
ในขณะที่ผลงานของนักวิชาการบางคนที่มีความสม่ำเสมอไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หรืออาจจะมากกว่า ทั้งมีข้อเสนอที่แหลมคมและท้าทาย และได้รับความสนใจติดตามจากเพื่อนในวงวิชาการและสาธารณชนอย่างกระตือรือร้นและกว้างขวาง แต่กลับดูเหมือนว่า ไม่ได้รับการตอบสนอง ที่นำไปสู่การถกเถียง อภิปรายเชิงโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจัง มากเท่ากับที่ผลงานของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้รับ
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น พัฒนาการและสาระของความคิด รวมทั้งข้อเด่นและข้อด้อย ในงานทางวิชาการ ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษาอย่างจริงจัง
สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของ
อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
งานวิจัยของ อานันท์ กาญจนพันธุ์ เรื่อง "สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของ
อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา" ให้รายละเอียดของสาระและพัฒนาการทางความคิด รวมทั้งภาพของสังคมในอุดมคติของ
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้อย่างชัดเจนสมบูรณ์ แต่ในขณะที่อานันท์ กาญจนพันธุ์ รู้สึกชื่นชมยกย่องการอุทิศตนมุ่งมั่นในการทำงานทางวิชาการเพื่อสร้าง
"ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่เหมาะสม" สำหรับอธิบายสังคมไทย ด้วยการประสานปรับเปลี่ยนพลิกแพลงแนวคิดและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ของโลกตะวันตก
ให้เข้ากับข้อเท็จจริงทางสังคมและวัฒนธรรมไทย รวมทั้งชื่นชมความมั่นคงในอุดมการณ์สังคมนิยมเสรี
/ อนาธิปัตย์นิยมของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น อานันท์ กาญจนพันธุ์
ก็ได้ทำการตรวจสอบ วิเคราะห์ และวิพากษ์แนวความคิด วิธีการศึกษา องค์ความรู้ที่ค้นพบ
ตลอดจน"ความใฝ่ฝัน"ของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้อย่างแหลมคม
"สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา" อาศัยแนวทางการศึกษา 2 แนวทาง กล่าวคือ
1. "...เริ่มที่พัฒนาการทางความคิด และสำนึกเกี่ยวกับสังคม ที่เห็นได้จากโลกทัศน์และมโนภาพของสังคมไทย ในบริบทของกระแสสังคมร่วมสมัยแต่ละช่วง ตามแนวการศึกษาของประวัติศาสตร์ความคิด (Intellectual History) เพื่อทำความเข้าใจกับความซับซ้อน ความเคลื่อนไหว และการขัดกันในความคิด โดยพิจารณาจากพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ ความรู้สึก สำนึก ความคิด และความใฝ่ฝัน...ที่ค่อยๆ พัฒนาการมาตั้งแต่ปฐมวัย และเทียบเคียงกับความคิดร่วมสมัยอื่นๆ" และ
2. "ต่อจากนั้น จึงจะประเมินและวิเคราะห์ในแนวสังคมวิทยาของความรู้ (Sociology of Knowledge) ที่พยายามอธิบายพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม อันเป็นที่มาของปัญญาญาณ บริบททางสังคม และการเมืองในการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นพลังสร้างสรรค์ และรากฐานของวิธีความคิด ซึ่งเชื่อมโยงกับความคิดอื่นๆ ในสังคม การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ผลกระทบต่อสังคม และข้อจำกัดต่างๆ ตลอดจนปัญหาที่ประสบ" (ดู สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (ซึ่งจะอ้างต่อไปเพียงว่า สังคมไทยฯ) หน้า 3)
พัฒนาการและสาระของความคิดของฉัตรทิพย์ นาถสุภา นั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 2 (ภูมิหลังของชีวิตและปัญญาญาณ) และบทที่ 3 (พัฒนาการของแนวความคิดและวิธีการศึกษาสังคมไทย) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาตามความสนใจหลักของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ
- ช่วงการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
- ช่วงการศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้าน และ
- ช่วงการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย
ในขณะที่การวิเคราะห์และวิพากษ์งานทางวิชาการและความคิดของฉัตรทิพย์ นาถสุภา นั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 4 (ทฤษฎีสังคมศาสตร์ไทย: สถานะภาพและมรดกทางปัญญา) ซึ่งแยกวิเคราะห์ออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้าน
- ปรัชญา แนวความคิด และทฤษฎี
- ด้านวิธีการศึกษา และ
- ด้านองค์ความรู้ที่ค้นพบจากการศึกษา และในบทที่ 5 (สังคมไทยในความใฝ่ฝันและทางเลือกในการพัฒนา)
ส่วนวิธีการศึกษาที่อานันท์ กาญจนพันธุ์ ใช้ใน "สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา" นั้น คือ "... งานเขียนของอาจารย์ฉัตรทิพย์ในแต่ละช่วงเวลา การวิจารณ์ของนักวิชาการอื่นๆ และการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับอาจารย์ฉัตรทิพย์ เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าใจความคิดที่อยู่เบื้องหลังผลงานต่างๆ ตลอดจนความใฝ่ฝันที่เกี่ยวกับภาพของเมืองไทยในอนาคต โดยศึกษาเปรียบเทียบกับกระแสความคิดร่วมสมัยอื่นๆ ในสังคมไทย" (หน้าเดียวกัน)
กล่าวได้ว่า งานวิจัยของอานันท์ กาญจนพันธุ์ ชิ้นนี้ ไม่เพียงแต่พิจารณางานเขียนอันหลากหลายของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ทั้งหมดที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ปรากฏตามที่ต่างๆ ตั้งแต่งานเขียนบทความวิชาการชิ้นแรกใน พ.ศ. 2505 กล่าวคือ"ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง" ซึ่งพิมพ์อยู่ใน วารสารสังคมศาสตร์ (ปีที่ 2 ฉบับที่ 2) ของ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้นมา จนถึงงานเขียนที่ปรากฏออกมาใน พ.ศ. 2539 ได้อย่างครบถ้วนและละเอียดละออเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการพิจารณางานเขียนทางวิชาการที่นักวิชาการคนอื่นๆ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ได้ร่วมวิวาทะกับความคิด ข้อเสนอ และข้อสรุปต่างๆ ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้อย่างครอบคลุมกว้างขวางอีกด้วย
อานันท์ กาญจนพันธุ์ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการใช้แนวทางการศึกษา 2 แนวทางและงานเขียนต่างๆ ข้างต้น ตีแผ่สาระอันหลากหลายซับซ้อนและพัฒนาการทางความคิดของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ทำให้แนวความคิดและวิธีการศึกษาเศรษฐกิจและสังคมไทยของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นภาพที่ชัดเจน เป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพ ตรงไปตรงมา เป็นเหตุเป็นผลเข้าใจได้ง่าย จนดูเหมือนว่าจะปราศจากความซับซ้อนให้ต้องตั้งคำถามกันอีกต่อไป
ในทัศนะของ อานันท์ กาญจนพันธุ์ แนวความคิดและวิธีการศึกษาของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ในด้านหนึ่ง มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ต่อเนื่องทางความคิด ซึ่งดูไม่ต่างไปจากพัฒนาการหรือการเติบโตทางสรีระของสิ่งมีชีวิต มากกว่าที่จะเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงขัดแย้งระหว่างความคิดที่มีจุดเน้นหรือสาระที่แตกต่างกันออกไป
เป็นต้นว่า ความเปลี่ยนแปลงจากการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ไปสู่การศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้าน และในท้ายที่สุดคือ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย และในความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น ได้มีความเปลี่ยนแปลงของวิธีการใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่ด้วย นั่นคือ ผละออกจากการใช้เอกสารทางราชการในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเป็นเอกสารประวัติศาสตร์หลักที่ใช้ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ไปสู่การใช้ประวัติศาสตร์บอกเล่าที่ได้จากการสัมภาษณ์ ในการศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้าน และการใช้คัมภีร์โบราณที่เป็นเอกสารตัวเขียนของกลุ่มชนชาวไท สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และการค้นหารากเหง้าบริสุทธิ์ดั้งเดิมของวัฒนธรรมกลุ่มชนชาติไท แต่ในอีกด้านหนึ่งฉัตรทิพย์ นาถสุภา ก็มีความแน่วแน่ยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์อนาธิปัตย์นิยม/สังคมนิยมเสรี ที่เป็นเสมือนไฟส่องทาง โดยที่ทั้งสองด้านนี้ดำเนินไปอย่างเป็นเอกภาพ สอดคล้องประสานกันด้วยดี
ความเปลี่ยนแปลงในแนวความคิดของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่สะท้อนให้เห็นถึง "ความขัดแย้งภายใน" ระหว่างความคิดเดิมกับความคิดใหม่ พอมีอยู่บ้าง แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงในด้านรอง และไม่กระทบกับอุดมการณ์อนาธิปัตย์นิยม/สังคมนิยมเสรี เป็นต้นว่า การมองเห็นพลังของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอยู่ที่ชุมชนหมู่บ้าน ที่ยังคงดำรงรักษาวัฒนธรรมไทยที่บริสุทธิ์อยู่ได้ แทนที่จะเป็นกลุ่มคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่กลายตัวค่อนไปทางจีน (ดู สังคมไทยฯ หน้า 29 และหน้า 50 เป็นต้น) หรือ การมองเห็นแรงเกาะแน่นของชุมชนหมู่บ้าน เป็นพลังของการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทยไปสู่สภาวะอันน่าพึงปรารถนา มากกว่าที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวาง (หน้าเดียวกัน)
จะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ตาม ภาพความคิดหลักของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่ดูจะเป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพภายใน ไม่ค่อยมีความขัดแย้งภายในตัวความคิดนั้น สอดคล้องกับข้อสังเกตในประเด็นที่แตกต่างกันออกไปอีก 2 ประการของ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ที่ว่า
ประการแรก แม้ว่าฉัตรทิพย์ นาถสุภา จะมองเห็น"ความขัดแย้ง"ด้านต่างๆ กล่าวคือ ความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมืองของชนชาติ และความขัดแย้งด้านศาสนา ที่ดำรงอยู่ในระบบศักดินา ผ่านการศึกษา"ขบถผู้มีบุญ" (ดู สังคมไทยฯ หน้า 26) แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว วิธีการศึกษาของฉัตรทิพย์ นาถสุภา นั้น ไม่ได้ให้ความสนใจประเด็น"ความขัดแย้ง" ในสังคมไทย ในระดับต่างๆ มากเท่าที่ควร (ดู สังคมไทยฯ หน้า 17, 37, 38 และ 54 เป็นต้น)
ประการที่สอง ฉัตรทิพย์ นาถสุภา มองไม่เห็นความขัดแย้งแตกต่างระหว่างแนวความคิดและการอธิบายของตนกับของนักวิชาการอื่นๆ (ดู สังคมไทยฯ หน้า 47 เป็นต้น) และหรือมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงจากการเข้าปะทะหักล้างตอบโต้โดยตรง กับแนวความคิดที่ขัดแย้งของนักวิชาการคนอื่นๆ (ดู สังคมไทยฯ หน้า 49 เป็นต้น)
คงจะเป็นเรื่องอาจหาญเกินไปที่จะตอบคำถามที่ว่า มนุษย์โดยทั่วไปสามารถมีความคิดที่เป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพ และปราศจากความขัดแย้งภายในตัวความคิดและวิธีคิดได้หรือไม่ แต่ในกรณีความคิดและวิธีคิดของฉัตรทิพย์ นาถสุภา นั้น ภาพของความเป็นเอกภาพและเป็นระบบ และหลีกเลี่ยงหรือมองไม่เห็นความขัดแย้งดังที่อานันท์ กาญจนพันธุ์ ชี้ให้เห็นข้างต้นนั้น อาจมีปัญหาอยู่บ้าง
ในประการแรก
ภาพของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่หลีกเลี่ยงหรือมองไม่เห็นความขัดแย้งระหว่างความคิดของตนกับความคิดของนักวิชาการอื่นๆ
อาจจะเป็นจริงนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา และดูจะสอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่เคยติดตามผลงาน
หรือมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการกับฉัตรทิพย์ นาถสุภา มาบ้าง แต่ก่อนหน้านั้น
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ไม่เคยลังเลที่จะแสดงจุดยืนทางวิชาการของตนเองโดยการเข้าร่วมวิวาทะ
วิพากษ์วิจารณ์งานทางวิชาการของคนอื่นๆ โดยตรง
งานเขียนอย่างน้อยที่สุด 3 ชิ้นของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในช่วงครื่งหลังของทศวรรษ
2510 ที่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ เองก็ได้เอ่ยถึงไว้ นั่นคือ "วิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย"
(พ.ศ. 2517) และ "วิชาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยอะไรและใช้ทำอะไรได้บ้าง"
(พ.ศ. 2519) (ดู สังคมไทยฯ หน้า 11) และ "บทวจารณ์หนังสือศักดินากับพัฒนาการของสังคมไทย"
(พ.ศ. 2519) (ดู สังคมไทยฯ หน้า 15) เป็นการแสดงทัศนะเชิงวิพากษ์ที่ขัดแย้งทางความคิดกับนักวิชาการไทยคนอื่นๆ
โดยตรง ได้อย่างแหลมคม และสร้างผลกระทบในระดับหนึ่งต่อวงวิชาการไทย และแนวทางการศึกษาสังคมไทยในทศวรรษต่อมา
ปัญหาที่พึงถามในที่นี้ก็คือว่า เกิดอะไรขึ้นจึงทำให้ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในทศวรรษ 2520 และหลังจากนั้น เปลี่ยนแปลงท่าทีจากเดิมโดยมองไม่เห็น "ความขัดแย้ง" ทางความคิด หรือหลีกเลี่ยงการปะทะทางความคิดกับนักวิชาการอื่นๆ โดยตรง เหมือนอย่างที่เคยเป็นในทศวรรษก่อนหน้านั้น
คำตอบอันหนึ่งที่อาจจะดูง่ายดายและตื้นเขินไป อยู่ที่บริบททางสังคมและวิชาการของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่สร้างบรรยากาศอันคึกคักของการปรับเปลี่ยนบทบาทของนักวิชาการในเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการวิพากษ์ ถกเถียง และหักล้างทางความคิดอย่างจริงจังและเปิดเผย แต่บรรยากาศดังกล่าวก็ดำรงอยู่ไม่นานนัก สิ่งที่น่าสังเกตก็คือว่า งานเขียนเชิงปะทะหักล้างทางความคิดโดยตรงซึ่งหน้า กับความคิดของนักวิชาการคนอื่นๆ ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา เองก็พลอยยุติไปด้วยภายหลังเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2519
อย่างไรก็ดี เป็นไปได้หรือไม่ว่า"ความจริง"เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชุมชนหมู่บ้านไทย ที่ฉัตรทิพย์ นาถสุภา "ค้นพบ" ภายหลังปี 2519 ในช่วงของการศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้าน และ"ความจริง"เกี่ยวกับรากเหง้าบริสุทธิ์ดั้งเดิมทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาติไทที่"ค้นพบ"ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เน้น "ความมีน้ำใจ ความรักกันฉันพี่น้อง แบ่งปันช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน ... การไม่ใช้กำลัง ..." (ดู สังคมไทยฯ หน้า 51) มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงท่าทีดังกล่าวของฉัตรทิพย์ นาถสุภา
ในประเด็นดังกล่าว Atsushi Kitahara นักวิชาการชาวญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญไทยศึกษา ก็ดูเหมือนสังเกตเห็นว่า แนวความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนทำให้ฉัตรทิพย์ นาถสุภา "... ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินในหมู่บ้าน ... [ดังนั้น จึง] ... เสนอให้ปฏิรูปที่ดินเฉพาะนอกหมู่บ้าน ..." (ดู สังคมไทยฯ หน้า 54)
ในประการที่สอง
หากพิจารณาจากงานเขียนทางวิชาการต่างๆ ที่ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เขียนขึ้นในช่วง
2 ทศวรรษเศษๆ ที่ผ่านมา ความมีเอกภาพในความคิดของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ดังที่ปรากฏในภาพที่อานันท์
กาญจนพันธุ์ "สร้าง" ขึ้น ดูจะค่อนข้างใกล้เคียงความเป็นจริงมาก อย่างไรก็ดี
ปัญหาเชิงวิธีการศึกษาที่ดำรงอยู่ก็คือว่า การศึกษาความคิดของคนๆ หนึ่ง โดยอาศัย"งานเขียนทางวิชาการ"
เป็นหลักฐานเพียงเท่านั้น จะเพียงพอต่อการวิเคราะห์เพื่ออธิบายภาพความคิดของคนๆ
นั้น ได้จริงหรือ ? หลักฐานสำหรับใช้เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดหรือภูมิปัญญา
น่าจะไม่แตกต่างไปจากหลักฐานสำหรับใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
ประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์สังคม ฯลฯ หรือไม่แตกต่างไปจากการศึกษาโบราณคดี
กล่าวคือ น่าจะมีความซับซ้อนหลากหลายรอบด้าน ครอบคลุมหลักฐานทุกประเภทที่อาจจะมีรหัสหรือรอยประทับความคิดของคนๆ
นั้น หลงเหลือตกค้างอยู่บ้าง
ความเปลี่ยนแปลงเชิงก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในวงการการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยในช่วง
2 ทศวรรษเศษๆ ที่ผ่านมา ประการหนึ่ง ที่แม้ว่าจะดูเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้าไปกว่าที่อื่นๆ
และยังไม่เป็นที่แพร่หลายกว้างขวางอย่างน่าพึงพอใจเท่าที่ควรก็ตามคือ ความพลิกแพลง
ซับซ้อนและแหลมคมมากขึ้นของการให้ความหมายของ "หลักฐาน" และการใช้หลักฐาน
"ความหมาย" ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ ศิลาจารึก, กฎหมายโบราณ, พระราชพงศาวดาร, พระราชสาส์น, พระราชดำรัส, เอกสารทางราชการของกระทรวงทบวงกรม, หรือแม้แต่ ตำนาน, และประวัติศาสตร์บอกเล่าเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึง วรรณกรรม, สถาปัตยกรรม, (ในรูปแบบต่างๆ) บัญชีทางธุรกิจ, จดหมายและบันทึกส่วนตัวของพ่อค้าและคนธรมดาสามัญ, ภาพจิตรกรรม, ภาพยนตร์, ดนตรี, ภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน, เครื่องมือเครื่องใช้ ฯลฯ อีกด้วย
ด้วยเหตุดังนั้น ซากเศษขยะที่เกิดจากการกระทำ หรือที่ผ่านน้ำมือมนุษย์ จึงกลายมาเป็นหลักฐานสำหรับการศึกษาทางโบราณคดี ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างานศิลปะที่มีคุณค่าและสิ่งก่อสร้างอันมหัศจรรย์ใหญ่โตพันลึกอย่างปิรามิดหรือปราสาทหิน เช่นเดียวกับ งานวรรณกรรม ตั้งแต่คัมภีร์ทางศาสนาที่ศักดิ์สิทธิ์ บทเสภา นิราศ บทละครร้อง เพลงลูกทุ่ง การละเล่นพื้นบ้าน ประวัติชีวิตของคนธรรมดาสามัญ หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฯลฯ กลายมาเป็นหลักฐานที่ทรงค่าสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม และภูมิปัญญา ของสังคมไทย ตลอดรวมถึง สถาปัตยกรรมสมัยใหม่อย่างอนุสาวรีย์ ที่ถูกนำมาใช้อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของไทย ได้อย่างหนักแน่น มีพลัง และน่าคล้อยตาม
ในกรณีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับใช้ในการวิเคราะห์แนวความคิด และวิธีการศึกษาของฉัตรทิพย์ นาถสุภา นั้น ก็น่าจะมีความหลากหลายมากไปกว่า "งานเขียนทางวิชาการ" เพียงอย่างเดียวเท่านั้น อย่างน้อยที่สุด "ผลงาน" ที่น่าจะเป็นหลักฐานทำความเข้าใจกับความคิดของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ดีอีกชิ้นหนึ่งที่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ก็ดูจะรู้จัก (ดู สังคมไทยฯ หน้า 30) แต่ไม่ได้เข้าไปศึกษาอย่างจริงจังก็คือ "ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา" ที่ฉัตรทิพย์ นาถสุภา มีบทบาทสำคัญในช่วงของการวางแผนดำเนินการก่อสร้าง และในการนำเสนอเนื้อหาทางวิชาการของนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงภายในศูนย์ฯ แห่งนี้
สิ่งที่น่าสนใจในเนื้อหาทางวิชาการที่นำไปสู่การจัดนิทรรศการถาวรของศูนย์ฯ ในความเข้าใจของผู้วิจารณ์ก็คือ การเน้น"ความยิ่งใหญ่"ของ"กรุงศรีอยุธยา"ที่ทำให้มหานครแห่งนี้กลายเป็น "ศูนย์กลาง"ของโลกคนไทยในสมัยหนึ่ง ความยิ่งใหญ่ของอยุธยายังแยกออกมาได้เป็น 3 ด้าน ตามแนวคิดหลักของเนื้อหาในนิทรรศการ กล่าวคือ
- อำนาจอันสูงส่ง มั่นคง และศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันฯ
- ความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการค้าทั้งภายนอกและภายใน และ
- ความเป็นระเบียบและสันติภายในสังคม ที่ปราศจากความขัดแย้งทั้งภายนอกภายใน
"ความยิ่งใหญ่"ของอยุธยา คงเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ แต่แนวคิดหลักของการนำเสนอ "ความยิ่งใหญ่" 3 ด้านข้างต้น คงเป็นประเด็นที่เปิดให้มีการถกเถียงได้ในทางวิชาการ แต่น่าเสียดายที่อาจจะโดยเหตุที่นิทรรศการถาวรที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ไม่ได้มีลักษณะตามคำนิยามอย่างเคร่งครัดของ"ผลงานทางวิชาการ" อย่างที่นักวิชาการโดยทั่วไปเข้าใจ หากแต่เป็นเพียง"มหรสพการแสดง"เบาๆ ที่มีเนื้อหา"ความเป็นวิชาการ"น้อย ไม่มีผลกระทบต่อ"ความรู้" ไม่ควรค่าแก่การถกเถียง ไม่ต่างไปจากการแสดงแสงเสียง ละครเวที ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือวรรณกรรมนวนิยาย ฯลฯ ประเด็นเนื้อหาของ"ความยิ่งใหญ่"ดังกล่าว จึงแทบจะไม่ได้รับความสนใจในการถกเถียงอภิปรายจากนักวิชาการ"นอกศูนย์ฯ"อย่างจริงจัง แม้ว่าผลงานนิทรรศการที่นำเสนอออกมานั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นผลงานจาก"ความคิด"ของนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งก็ตาม
ทั้งด้วยข้อจำกัดในความรู้ของผู้วิจารณ์และเงื่อนไขของบทวิจารณ์นี้ ทำให้ไม่อาจถกเถียงเนื้อหาสาระของ"ความยิ่งใหญ่"ของอยุธยาตามที่ปรากฏอยู่ที่ศูนย์ประวัติศาสตร์อยุธยาได้ในที่นี้ อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับ"แนวความคิด"ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่อาจจะ "อ่าน" ได้จากนิทรรศการที่สมควรกล่าวถึง กล่าวคือ
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ไม่ได้เพียงผลักดันความคิดความใฝ่ฝันของตนผ่านผลงานทางวิชาการไปสู่ผู้อ่านกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นนักวิชาการเป็นการเฉพาะเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็ได้พยายามผลักดันความคิดของตนไปสู่สาธารณชนวงกว้างให้ได้"รับรู้" โดยอาศัยการสื่อสารผ่านงานนิทรรศการถาวรของ"ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา"อีกด้วย ทั้งยังอาจเป็นไปได้ด้วยว่า "ความคิด"ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่ผ่านงานนิทรรศการถาวรนี้ มีผลกระทบทางความคิดต่อ"ผู้รับสาร"ที่ทรงพลัง ถ้าไม่มากกว่า ก็คงไม่น้อยกว่า "ผลงานทางวิชาการ"ที่มุ่งสู่ผู้อ่านกลุ่มที่เล็กกว่า
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือว่า สาระที่เกี่ยวกับ"ความคิดความใฝ่ฝัน"ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในสื่อที่แตกต่างกันระหว่าง "ผลงานทางวิชาการ" และ "นิทรรศการ" และซึ่งมุ่งไปยัง "กลุ่มผู้รับสาร" ที่แตกต่างกันนั้น ดูจะมี ความแตกต่างขัดแย้ง กันโดยนัยสำคัญอีกด้วย
จริงอยู่ที่ว่า เนื้อหานิทรรศการบางส่วนจะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านไว้บ้าง แต่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวบ้าน อันเป็นเป้าหมายหลักของอุดมการณ์อนาธิปัตย์นิยม / สังคมนิยมเสรี ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา นี้ ก็ถูกความอลังการของส่วนที่แสดง"ความยิ่งใหญ่"บดบังไปอย่างสิ้นเชิง "ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา" จึงดูเหมือนว่าจะเป็นร่องรอยหลักฐานชิ้นหนึ่ง ที่บ่งบอกถึง"ความขัดแย้งภายใน" หรือ"การขาดความเป็นเอกภาพเชิงความคิด"ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา เกี่ยวกับแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เพราะแทบจะหาความเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือประวัติศาสตร์หมู่บ้านหรือประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาสามัญ ในเนื้อหาทางวิชาการของนิทรรศการไม่ได้เลย
ปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลหลักฐาน
อันที่จริง ปัญหาที่เกี่ยวกับข้อมูลหลักฐาน หรือการได้มาซึ่ง"ข้อเท็จจริง"
ดูจะเป็นปัญหาในวิธีการศึกษาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ด้วยเช่นกัน
อย่างที่นักวิชาการหลายๆ คนได้ชี้ให้เห็นไว้ เป็นต้นว่าอานันท์ กาญจนพันธุ์ เอง
ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องหลักฐานข้อเท็จจริงในวิธีการศึกษาของฉัตรทิพย์
นาถสุภา ที่เกี่ยวกับ "ข้อเท็จจริงจากความทรงจำ" ของชาวบ้าน (ดู สังคมไทยฯ
หน้า 42) และปัญหาเกี่ยวกับบริบทหรือเงื่อนไขของ"ความทรงจำ" (ดู สังคมไทยฯ
หน้า 25 และ 42) หรืออย่างที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้เกี่ยวกับ
สถานะของ "ความจริง" ของ "คำบอกเล่า" ของชาวบ้าน (ดู สังคมไทยฯ
หน้า 25) และข้อสังเกตเกี่ยวกับ "ความหมาย" ที่เปลี่ยนไปของภาษาในสังคม
(ดู สังคมไทยฯ หน้า 46)
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า ในความเห็นของนักวิชาการหลายคนฉัตรทิพย์ นาถสุภา ถือเอา"ข้อมูล"ที่ผ่านมือเสมือนหนึ่งเป็น"ข้อเท็จจริง"โดยทันที โดยมองไม่เห็นความซับซ้อนละเอียดอ่อน และเงื่อนไขข้อจำกัดของข้อมูลจากหลักฐานประเภทต่างๆ ทำให้การใช้ข้อมูลหลักฐานนั้น เป็นไปโดยที่ไม่มีการประเมิน ไตร่ตรอง และวิพากษ์ก่อนอย่างรอบคอบ
การกล่าวเช่นนั้น หาใช่เป็นการลดคุณค่าของผลงานทางวิชาการของฉัตรทิพย์ นาถสุภา แต่อย่างไรไม่ คงไม่มีนักศึกษาประวัติศาสตร์ไทยคนใดปฏิเสธคุณูปการทางวิชาการของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่มีต่อความก้าวหน้าของการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ทั้งในฐานะของผู้บุกเบิกการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์หมู่บ้าน และประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ในฐานะของผู้ริเริ่มชี้แนะให้นักศึกษาประวัติศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ ความสำคัญของหลักฐานที่เป็นเอกสารทางราชการในหอจดหมายเหตุแห่งชาติและข้อจำกัดของมัน ความสำคัญของข้อมูลจากประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวบ้านสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการรื้อฟื้นความสำคัญของการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์หรือ "ตัวบท" โบราณสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของกลุ่มชนชาติไท
อย่างไรก็ดี ความเข้าใจที่คับแคบเกี่ยวกับ"ความหมาย"ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อย่างที่เกิดขึ้นกับอานันท์ กาญจนพันธุ์ ใน "สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา" ก็เป็นสิ่งเดียวกันที่เกิดขึ้นในงานทางวิชาการของฉัตรทิพย์ นาถสุภา
จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ดูเหมือนฉัตรทิพย์ นาถสุภา จะคิดว่า ประเด็นปัญหาทางประวัติศาสตร์แต่ละประเด็น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของมันเองชุดหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น เป็นต้นว่า เอกสารทางราชการในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุดเดียวสำหรับการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทย เช่นเดียวกับที่ประวัติศาสตร์บอกเล่าสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้าน และคัมภีร์โบราณสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม
การจำกัด"ความหมาย"ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ลงไปเช่นนี้ เท่ากับเป็นการปิดกั้นข้อมูลหลักฐานอันหลากหลายจากแหล่งอื่นๆ ที่สามารถนำมาเสริมกับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ออกไปอย่างน่าเสียดาย ประการสำคัญ ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์นั้น ข้อมูลจากหลากหลายแหล่งยังจะช่วยให้การประเมินคุณค่า ตรวจสอบ และการวิพากษ์หลักฐานเป็นไปได้อย่างรอบด้านมากขึ้น. เป็นต้นว่า บันทึกอันเป็นลายลักษณ์อักษรในสังคมไทยสมัยใหม่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทั้งที่เป็นเอกสารราชการ เอกสารสาธารณะ (หนังสือพิมพ์ วารสารของหน่วยงานทางราชการ ฯลฯ) เอกสารขององค์กรธุรกิจการค้า และเอกสารส่วนบุคคล (บันทึกความทรงจำ บันทึกการเดินทาง จดหมายส่วนตัว ฯลฯ) จำนวนมาก น่าจะช่วยเสริม และตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลจากประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวบ้านในการศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้านได้เป็นอย่างดี
การจำกัด "ความหมาย" ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ลงอย่างคับแคบเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นในงานการศึกษาประวัติศาสตร์หมู่บ้าน ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ตั้งแต่แรก ลงมาจนถึงงานการศึกษาแนวประวัติศาสตร์หมู่บ้านชิ้นหลังสุด นั่นคือ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพูนศักดิ์ ชานิกรประดิษฐ์ "เศรษฐกิจหมู่บ้านภาคใต้ฝั่งตะวันออกในอดีต" (สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ 2540)
การด่วนสรุป "คุณค่า" ของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทุกประเภท ล้วนเป็นสิ่งที่"ถูกสร้าง"ขึ้นมาด้วยเงื่อนไขและบริบททางประวัติศาสตร์ ที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองและวิพากษ์อย่างรอบคอบถี่ถ้วน ทำให้"การค้นพบ"หรือข้อสรุปจากการศึกษาของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ไม่เพียงแต่เปิดต่อการถูกโต้แย้งได้ง่ายเท่านั้น แต่ยังทำให้นักวิชาการหลายคน เป็นต้นว่า Atsushi Kitahara (ดู สังคมไทยฯ หน้า 54) และ อานันท์ กาญจนพันธุ์ เอง (ดู สังคมไทยฯ หน้า 58) ตระหนกกับ "ผลกระทบทางสังคมและการเมือง" อันไม่พึงปรารถนาที่อาจจะเกิดจากการ"ด่วนสรุป"เช่นนั้นด้วย
งานชิ้นล่าสุดชิ้นหนึ่งที่วิพากษ์ "ผลกระทบ" ดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจและชวนคิดยิ่ง ซึ่งเผยแพร่ภายหลังจากที่อานันท์ กาญจนพันธุ์ เสนอผลงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว คือ บทความของ S. Yasmin Saikia เรื่อง "Twentieth Century Biographies of a Community: Brokering the Tai-Ahoms" ที่นำเสนอต่อที่ประชุมนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 6 ที่เชียงใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2539 (ดู Proceedings of the 6th International Conference of Thai Studies. Theme II: Cultural Crisis and the Thai Capitalist Transformation. Chiang Mai, Thailand, 14-17 October 1997. Pp. 297-317)
จริงอยู่ที่ บทความดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้มุ่งกล่าวถึงผลงานทางวิชาการประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไท ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา โดยตรง แต่การท้าทาย"ความเก่าแก่"และ"ความจริง"ของพงศาวดารอาหมและพิธีกรรมต่างๆ ของ"ชาวไทอาหม" ดังที่ปรากฏในบทความนี้ ซึ่งเป็นหลักฐานหลักที่ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ใช้อยู่ด้วย ก็มีนัยที่เป็นการท้าทายโดยปริยาย และรวมทั้งชี้ให้เห็นถึง"ผลกระทบ" ของวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และข้อสรุปที่มีอยู่ในขณะนี้ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา เกี่ยวกับคุณลักษณะทางวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าบริสุทธิ์ของกลุ่มชนชาติไท ที่ควรต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบจริงจัง
อย่างไรก็ดี แม้จะมีปัญหาในการวิเคราะห์แนวความคิดและวิธีการศึกษาของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อยู่บ้าง อย่างที่ชี้ให้เห็นข้างต้น แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ผลงานวิจัยของ อานันท์ กาญจนพันธุ์ เรื่อง "สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันในงานของ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา" เป็นผลงานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ความคิด ที่เกี่ยวกับปัญญาชนไทยร่วมสมัยคนหนึ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้
----------------------------------------------
เกี่ยวกับ ศาสตราจารย์
ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
ตำแหน่ง : ปรีดี
พนมยงค์ ศาสตราภิชาน
การศึกษา :
ปริญญาตรีรัฐศาสตร์ (เกียรตินิยม อันดับ 2) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโทรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท (M.A) Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University, U.S.A.
ปริญญาโท สาขากฎหมายและการทูต (M.A.L.D.) Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University, U.S.A.
ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ (M.A. Econ.) Northeastern University, U.S.A.
ปริญญาเอก (Ph.D.) Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University, U.S.A.
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก : Foreign Trade, Foreign Finance and the Economic Development of Thailand, 1956-1965
ประวัติการทำงานที่ปรึกษาคณะกรรมการหลักสูตรมหาบัณฑิตเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Visiting Professor, Faculty of Economics, Tohoku Gakuin University, Japan
Visiting Research Fellow, Economic Research Center, School of Economics,
Nagoya University, Japan
Visiting Professor, Faculty of Economics, Tohoku Gakuin University, Japan
หัวหน้าโครงการวิจัยชุดเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านไทย
ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
ประธานคณะกรรมการหลักสูตรปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หัวหน้าโครงการวิจัยชุดประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไท
ศาสตราจารย์ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Visiting Professor, National Museum of Ethnology, Osaka, Japan
ประธานคณะกรรมการ ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา กระทรวงมหาดไทย
Professor, Faculty of Economics, University of Tokyo, Japan
Scholar in Residence, Southeast Asian Summer Institute, The Center for South and Southeast Asian Studies, University of Michigan, Ann Arbor, U.S.A.
Visiting Fellow, Institute of Social Studies. The Hague, The Netherlands
กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์
คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรรมการ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย 2525-2527 อุปนายกฯ 2530-2532 นายกฯ
Visiting Guest Scholar, The Center for Southeast Asian Studies,
Kyoto University, Kyoto, Japan
อุปนายก สมาคมประวัติศาสตร์
รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Visiting SEATO Professor of Economics Graduate School, University of the East, Manila, The Phillippines
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com