โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 04 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๙๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 04, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

อเมริกากำลังประสบปัญหาจากความมั่งคั่ง ไม่ใช่ปัญหาจากความยากจน หากเป็นเพราะคนมีแนวโน้มที่จะลดการบริโภคส่วนเพิ่มลงเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องใช้การโฆษณาชวนเชื่อ "สร้าง" ความต้องการใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ความคิดของกัลเบรธที่แหลมคมที่สุด คือไอเดียที่ว่า รัฐต้องลงทุนในบริการสาธารณะ ในสัดส่วนที่ทัดเทียมกับอัตราการเจริญเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน เพื่อสร้างสิ่งที่กัลเบรธเรียกว่า "สมดุลสังคม" (social balance) ก่อนที่บริโภคนิยมจะนำไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมในเมืองและชนบท
04-07-2550

John Kenneth Galbraith
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

นักเศรษฐศาสตร์ผู้มุ่งเป้าหมายสาธารณะ
John Kenneth Galbraith: นักเศรษฐศาสตร์ชายขอบ-ปัญญาชนสาธารณะ
สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน / แปล
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม

บทความชิ้นนี้ กองบรรณาธิการฯ มุ่งนำเสนอเพื่อเป็นการแนะนำ
วิทยากรรับเชิญ: สฤณี อาชวานันทกุล ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมาบรรยายในหัวข้อ
ทางรอดของทุนนิยม ทางเลือกสังคมแห่งการร่วมมือ
ซึ่งมีกำหนดการบรรยายในวันที่ ๗-๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๔.๐๐ น.
เดิมบทความชิ้นนี้ชื่อ: John Kenneth Galbraith : สุภาพบุรุษนักเศรษฐศาสตร์ชายขอบผู้ยิ่งใหญ่
ซึ่งมีสาระสำคัญแนะนำให้รู้จักนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันชายขอบคนหนึ่ง
ซึ่งปัญญาชนสาธารณะผู้เปี่ยมคุณธรรมและไหวพริบอันแหลมคม ที่บังเอิญเลือกเศรษฐศาสตร์เป็นอาชีพ
กัลเบรธเป็น"นักเศรษฐศาสตร์การเมือง" หรือ"นักเศรษฐศาสตร์สถาบัน"ยุคบุกเบิก
ที่ไม่สนใจจะปรับปรุงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม หากสนใจวิเคราะห์ว่า
โครงสร้างอำนาจต่างๆ ในสังคม มีผลต่อพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ของมนุษย์อย่างไรบ้าง
ความสนใจของกัลเบรธอาจทำให้เขาเหมาะกับนิยาม
"นักสังคมศาสตร์เศรษฐศาสตร์" มากกว่าอย่างอื่น
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๙๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++

นักเศรษฐศาสตร์ผู้มุ่งเป้าหมายสาธารณะ
John Kenneth Galbraith: นักเศรษฐศาสตร์ชายขอบ-ปัญญาชนสาธารณะ
สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน / แปล
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม

John Kenneth Galbraith : สุภาพบุรุษนักเศรษฐศาสตร์ชายขอบผู้ยิ่งใหญ่

"Economics is extremely useful as a form of employment for economists."
เศรษฐศาสตร์มีประโยชน์มากในฐานะที่ช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์มีงานทำ

ในแวดวงวิชาการด้านต่างๆ เราอาจแบ่งนักคิดทั้งหมดออกเป็นสองประเภทกว้างๆ

ประเภทแรก คือ "นักวิชาการอาชีพ" ผู้มุ่งวิจัยและผลิตทฤษฎีใหม่หรืองานวิชาการที่ซับซ้อน
ใช้ศัพท์แสงที่เข้าใจเฉพาะในหมู่นักวิชาการด้วยกัน
ประเภทที่สอง คือ "ปัญญาชนสาธารณะ" นักวิชาการที่มุ่งสื่อสารความคิดของตัวเองต่อสาธารณชนในวงกว้าง มากกว่าผลิตงานด้านวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะอาจไม่เคยคิดค้นทฤษฎีอะไรใหม่ๆ อาจไม่เคยได้รับรางวัลโนเบล แต่พวกเขามีความสำคัญอย่างยิ่งในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของสังคม จากจุดยืนที่ยึดมั่นในประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

นักวิชาการส่วนใหญ่ในโลกเป็นนักคิดประเภทแรก มีน้อยคนที่เป็นปัญญาชนสาธารณะ และเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่เป็นอัจฉริยะที่เข้าข่ายทั้งสองประเภท เช่น จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ ที่เชื่อว่ารัฐบาลต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนด้วยการแทรกแซงระบบตลาดอย่างแข็งขัน

หากจะมีการจัดลำดับ "ปัญญาชนสาธารณะ" ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ชื่อของ จอห์น เคนเน็ธ กัลเบรธ (John Kenneth Galbraith) ต้องติดอันดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย กัลเบรธเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คน ที่มีทั้งคุณธรรม ไหวพริบปฏิภาณ และเขียนหนังสือเก่งจนถึงขนาดที่สามารถสื่อถึง "หัวใจ" ของคนอ่านได้ลึกกว่า "สมอง". ในช่วงยี่สิบปีนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงประมาณปี 2510 กัลเบรธเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่โด่งดังที่สุดในโลก แต่เขาคงไม่มีวันได้รับการยอมรับนับถือจากนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เก่งฉกาจ ทั้งนี้เพราะกัลเบรธไม่เคยคิดค้นทฤษฎีใหม่

เขาเป็นเพียงปัญญาชนสาธารณะผู้เปี่ยมคุณธรรมและไหวพริบอันแหลมคม ที่บังเอิญเลือกเศรษฐศาสตร์เป็นอาชีพ กัลเบรธเป็น"นักเศรษฐศาสตร์การเมือง" หรือ"นักเศรษฐศาสตร์สถาบัน"ยุคบุกเบิก ที่ไม่สนใจจะปรับปรุงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม หากสนใจวิเคราะห์ว่า โครงสร้างอำนาจต่างๆ ในสังคม มีผลต่อพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ของมนุษย์อย่างไรบ้าง ความสนใจของกัลเบรธอาจทำให้เขาเหมาะกับนิยาม "นักสังคมศาสตร์เศรษฐศาสตร์" (economic sociologist) มากกว่าอย่างอื่น

กัลเบรธเชื่อว่า การแยกมิติด้านการเมืองออกจากการวิเคราะห์ ทำให้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ให้ภาพที่ไม่สะท้อนโลกแห่งความเป็นจริง ช่วยปิดบังไม่ให้ระบบอำนาจดั้งเดิมถูกสืบสวน และปิดกั้นผลประโยชน์จากการร่วมมือกันของผู้เล่นฝ่ายต่างๆ ในสังคม ยิ่งเศรษฐศาสตร์กลายเป็นคณิตศาสตร์มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งจะสนองผลประโยชน์ของผู้กุมอำนาจมากขึ้นเท่านั้น ความเชื่อมั่นข้อนี้ทำให้กัลเบรธต่อต้านการแปลงเศรษฐศาสตร์ให้เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนตัวเลข สมการ และโมเดลทดลอง

การที่กัลเบรธเน้นปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเลข เช่น การเมือง โครงสร้างอำนาจ และธรรมชาติของมนุษย์ ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นเดียวกันหลายคนมองว่า งานของเขาไม่มีประโยชน์เพราะขาดหลักฐานสนับสนุน ในขณะที่คนอื่นๆ โดยเฉพาะคนนอกที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ กลับยกย่องวิสัยทัศน์ มนุษยธรรม และความสามารถของกัลเบรธในการคิดแบบบูรณาการ ซึ่งล้ำเส้นพรมแดนของวิชาการหลายสาขา

ความมั่นคง ไม่หวั่นไหวของกัลเบรธ ผู้ยืนอยู่เคียงข้างผู้ยากไร้และบริการสาธารณะ (public goods) ตลอดชีวิตที่ยาวนานกว่า 97 ปีของเขา และความสามารถในการตีแผ่โครงสร้างอันบิดเบือนของเศรษฐกิจอเมริกา ที่ถูกครอบงำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่ราย ด้วยถ้อยคำบาดลึก ตรงไปตรงมา และคมคาย ผ่านหนังสือกว่า 30 เล่ม และบทความกว่า 1,000 ชิ้น ทำให้กัลเบรธเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ผู้โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่าเขาจะไม่เคยเห็นด้วยกับสำนักลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งกลายเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหลังปี 2510 เป็นต้นมา ที่เชื่อว่ารัฐควรปล่อยระบบตลาดให้ดูแลตัวของมันเอง และเชื่อว่าประโยชน์ของความเจริญทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ "ซึม" ลงมาถึงผู้ยากไร้เองโดยอัตโนมัติ กัลเบรธดูแคลนความเชื่อนี้ในคำคมของเขาประโยคหนึ่ง:

"If you feed enough oats to the horse, some will pass through to feed the sparrows."
(ถ้าคุณป้อนข้าวโอ๊ตให้ม้าในปริมาณที่มากพอ ในที่สุดมันก็จะถ่ายข้าวส่วนหนึ่งออกมาป้อนฝูงนกกระจอก)

ความสามารถในการใช้ภาษาชนิดหาตัวจับยากของกัลเบรธ ส่งผลให้หนังสือหลายเล่มของเขาติดอันดับขายดีติดต่อกันหลายปี และมีอิทธิพลมากมายต่อนักเศรษฐศาสตร์และประชาชนทั่วไปผู้รักความยุติธรรม อาทิเช่น

- "วิกฤติเศรษฐกิจ" (The Great Crash) บทวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2472 ในอเมริกา, "สังคมมั่งคั่ง"
( The Affluent Society) หนังสืออันยอดเยี่ยมที่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่นำโดยการบริโภคของอเมริกานั้น ให้ความสำคัญต่อความต้องการของปัจเจกชนมากเกินไป จนละเลยเงินลงทุนที่จะช่วยปรับปรุงบริการสาธารณะต่างๆ,

- "รัฐอุตสาหกรรมใหม่" (The New Industrial State)
บทวิเคราะห์อำนาจอันล้นเหลือของบริษัทต่างๆ
ที่เขียนดีแต่ล้าสมัยไปแล้ว, และ

- "เศรษฐศาสตร์และเป้าหมายสาธารณะ" (Economics and the Public Purpose)
หนังสือที่กัลเบรธนำเสนอเหตุผลว่า เหตุใดรัฐควรเพิ่มบทบาทของตนในการเป็นผู้ออกกฎและควบคุมระบบตลาด

นอกจากหนังสือเศรษฐศาสตร์สำหรับคนทั่วไป กัลเบรธยังประพันธ์นวนิยายขายดีสองเล่มชื่อ "ชัยชนะ" (The Triumph) และ "อาจารย์ประจำคนหนึ่ง" (A Tenured Professor) และเขียนบทความมากมายที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ แต่สะท้อนความสนใจอันกว้างขวางของเขา เช่น ศิลปะอินเดีย การออกแบบเมืองสมัยใหม่ สิทธิมนุษยชน และนโยบายต่างประเทศของอเมริกา

ในฐานะสมาชิกพรรคเดโมแครต กัลเบรธมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มข้นไม่น้อยไปกว่าบทบาทของเขาในฐานะปัญญาชน เขาทำงานให้กับประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) โดยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการในหน่วยงานหนึ่งของรัฐชื่อ สำนักบริหารราคา (Office of Price Administration) และในปี พ.ศ. 2488 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการแผนกสำรวจยุทธศาสตร์การทิ้งระเบิด (U.S. Strategic Bombing Survey) ซึ่งทำหน้าที่ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการทิ้งระเบิดถล่มประเทศเยอรมันของฝ่ายพันธมิตร ในปี 2489 กัลเบรธได้รับเหรียญตราแห่งเสรีภาพ (Medal of Freedom) เหรียญตราสูงสุดที่รัฐบาลอเมริกาให้กับพลเรือน จากประธานาธิบดีทรูแมน เป็นรางวัลตอบแทนบทบาทการช่วยชาติของเขาระหว่างสงคราม

หลังสงครามโลกสงบลง กัลเบรธกลับไปเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของศิษย์รักของเขาผู้หนึ่ง นั่นคือ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ช่วงที่เขาหาเสียง ต่อมาหลังจากเคนเนดี้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาแต่งตั้งให้กัลเบรธเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอินเดีย ระหว่างปี 2504 ถึง 2506 กัลเบรธได้รับเหรียญตราแห่งเสรีภาพเหรียญที่สองในปี 2543 จากประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton)
......

"It is a far, far better thing to have a firm anchor in nonsense than to put out on the troubled sea of thought." การทำความเข้าใจในเรื่องไร้สาระอย่างถ่องแท้นั้น ยังไงๆ ก็ดีกว่าการเดาสุ่มในทะเลแห่งความคิดอันเชี่ยวกราก

หนึ่งในผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากเคนส์ กัลเบรธเป็นหนึ่งใน "นักเศรษฐศาสตร์ชายขอบ" ผู้ต่อต้านลัทธิทุนนิยมเสรีสุดขั้ว (laissez-faire economics) จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต และต่อต้านวิธีคิดของเพื่อนร่วมสำนักของเขาหลายคน ก่อนที่เราจะเข้าใจว่ากัลเบรธแตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่อย่างไร จำเป็นที่เราจะลองสรุปความโดยย่อว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่นั้นคิดอย่างไร

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดอะไร
วงวิชาการเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เน้นการใช้โมเดลคณิตศาสตร์เพื่อหาข้อยืนยันบทสรุปสองข้อเท่านั้น

ข้อแรก ระบบตลาดเสรีกำลังทำงานดีแล้ว และ
ข้อสอง ถ้ามันทำงานไม่ดี นั่นแปลว่าความไม่สมบูรณ์อะไรบางอย่างกำลังทำให้เกิด "ความล้มเหลวของตลาด" (market failure) และการแก้ไขหรือถ่วงดุลความไม่สมบูรณ์นั้นๆ จะทำให้ระบบตลาดกลับมาทำงานได้ดีดังเดิม

กระบวนทัศน์แบบนี้ครอบงำนักเศรษฐศาสตร์แทบทุกสำนัก ตั้งแต่สำนักคลาสสิกใหม่ (new classical) ที่เชื่อว่าระบบตลาดเป็นระบบที่ดีที่สุด และภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (depression) เป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำนักการเงินนิยม (monetarist) ที่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยล้วนเกิดจากความล้มเหลวในระบบธนาคาร ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยนโยบายเพิ่มอุปทานของเงินอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ไปจนถึงสำนักเคนส์ใหม่ (new Keynesian) ที่มีจุดยืนไม่แตกต่างจากสำนักการเงินนิยม ผิดกันแต่ตรงที่พวกเขามองว่าความล้มเหลวของระบบตลาดนั้นเกิดในตลาดแรงงาน หรือในการตัดสินใจลงทุนของบริษัทต่างๆ

นักเศรษฐศาสตร์ทุกสำนักที่กล่าวมานี้ มีขั้นตอนการทำงานเหมือนกัน กล่าวคือ พวกเขาเริ่มต้นด้วยการพยายามอธิบายความล้มเหลวของตลาด และจบลงที่การพยายามหากุญแจที่จะแก้ความล้มเหลวนั้นๆ

- สำนักคลาสสิกใหม่ ผลิตผู้เชี่ยวชาญด้าน "โมเดลตัวแทนภายใต้ดุลยภาพทั่วไป"
(general-equilibrium representative-agent models)
- สำนักการเงินนิยม ในขณะที่สำนักการเงินนิยมศึกษาระบบการเงินอย่างถี่ถ้วนเพื่อคิดค้น "นโยบายการเงินแบบสมดุล"
(neutral monetary policy) และ
- สำนักเคนส์ใหม่ วิเคราะห์ผลกระทบของความล้มเหลวในตลาดแรงงานและตลาดทุน ในระดับรายละเอียดปลีกย่อย
ที่คนนอกวงการอาจไม่มีวันเข้าใจ

ความคิดของกัลเบรธอยู่นอกกรอบความคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ทั้งหมด หากมีใครถามว่า แล้วนักเศรษฐศาสตร์สำนักกัลเบรธล่ะ คิดอย่างไร? คำตอบข้อนี้ไม่ง่าย เพราะกัลเบรธปฏิเสธความเชื่อกระแสหลักที่ว่า ระบบตลาดมีความล้มเหลวเพียงประการเดียวที่เราสามารถอธิบายและหาทางแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ตรงกันข้าม กัลเบรธเลือกเดินทางสายลำบาก เพราะเขาเริ่มวิเคราะห์ตั้งแต่รากเหง้าของระบบด้วยการตั้งคำถามว่า ระบบเศรษฐกิจประกอบด้วยสถาบันและอำนาจอะไรบ้าง และปัจจัยเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

เนื่องจากคำถามข้อนี้สลับซับซ้อนและไม่มีคำตอบสำเร็จรูป จึงไม่มีใครสามารถสอนนักเรียนเศรษฐศาสตร์ให้เจริญรอยตามกัลเบรธได้ คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนผู้ศรัทธากัลเบรธอาจมีห้าข้อกว้างๆ คือ มีไหวพริบอย่างร้ายกาจ เขียนให้เก่ง อ่านให้กว้าง จดจำรายละเอียดของสถาบันต่างๆ อย่างแม่นยำ และเป็นคนดีอย่างกัลเบรธ ผู้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นอันดับแรกเสมอ ไม่ว่าจะคิดหรือจะทำเรื่องอะไรก็ตาม

แฮร์รี่ จอห์นสัน (Harry Johnson) นักเศรษฐศาสตร์ผู้วิพากษ์สำนักการเงินนิยมของมิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) อย่างถึงแก่นเคยพูดว่า ใครก็ตามที่อยากก่อการปฏิวัติทางความคิดในวิชาเศรษฐศาสตร์ จะต้องนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ที่มีคุณสมบัติสามข้อคือ

หนึ่ง ต้องสามารถสรุปได้ในหนึ่งประโยค
สอง ต้องมีข้ออ้างให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ละเลยงานวิจัยของคนรุ่นเก่า และ
สาม ต้องแนะแนวทางปฏิวัติขั้นต่อไปให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่เดินตามได้

ทั้งเคนส์และฟรีดแมนเสนอกระบวนทัศน์ที่เข้าข่ายนี้ โดยเคนส์พูดว่า "อุปสงค์รวมเป็นตัวกำหนดอุปทานรวม" และฟรีดแมนเสนอว่า "เงินเฟ้อคือปรากฏการณ์ทางการเงินทุกที่และทุกเวลา" พวกเขาทั้งสองมองนักเศรษฐศาสตร์รุ่นก่อนว่าล้าสมัย และเป็นแรงบันดาลใจให้นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มสาวนับร้อย ริเริ่มภารกิจประเมินขนาดของอุปสงค์ การลงทุน และคิดค้นสมการอุปทานการเงิน

ในทางกลับกัน กัลเบรธไม่เคยเสนอกระบวนทัศน์อะไรที่สรุปได้ง่ายดายอย่างนั้น ความคิดของกัลเบรธทั้งหมดอาจสรุปได้แต่เพียงว่า "โลกเรานั้นซับซ้อน ความคิดของทั้งฝ่ายขวาและปัญญาสาธารณ์ที่กลายเป็นกระจกเงาของมนุษย์เราในยุคนี้ล้วนผิดพลาดอย่างมหันต์" กัลเบรธวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีเดิมๆ โดยไม่ได้นำเสนอทฤษฎีอะไรใหม่ๆ ที่ช่วยทำให้เราลบล้างทฤษฎีเดิมลงไปได้เลย

แล้วกัลเบรธทำอะไรบ้าง ที่ทำให้เขาเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ผู้โด่งดังและน่ายกย่อง?
เพื่อพยายามตอบคำถามข้อนี้ ผู้เขียนจะขอแปล เรียบเรียง และต่อเติมบางตอนจากบทวิจารณ์หนังสือชีวประวัติเรื่อง "John Kenneth Galbraith: His Life, His Politics, His Economics" ที่นำเสนอคุณูปการของกัลเบรธแบบรวบรัดแต่ชัดเจนดังต่อไปนี้
.....

"The modern conservative is engaged in one of man's oldest exercises in moral philosophy; that is, the search for a superior moral justification for selfishness."
นักอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่กำลังใช้ความคิดกับหนึ่งในแบบทดสอบด้านปรัชญาศีลธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ นั่นคือการแสวงหาเหตุผลที่จะแสดงว่า ความเห็นแก่ตัวนั้นมีความชอบธรรม

บทวิจารณ์: John Kenneth Galbraith: His Life, His Politics, His Economics"
จุดยืนของกัลเบรธแตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์คนอื่นๆ ที่นำโดย "อัจฉริยะแห่งฮาร์วาร์ด" พอล แซมวลสัน (Paul Samuelson) เป้าหมายหลักของนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์หลังสงครามโลกครั้งที่สองคือ ยกระดับมาตรฐานวิชาการของเศรษฐศาสตร์ ให้มีความรัดกุมและซับซ้อนมากขึ้น โดยใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์เข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐมิติ (econometrics) โมเดลคอมพิวเตอร์ หรือทฤษฎีเกม. กัลเบรธต่อต้านความพยายามที่เขามองว่าจะทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์เหมือนฟิสิกส์ เขาบอกว่า ตัวเลขหลายจุดทศนิยมและความซับซ้อนของสำนักเคนส์แบบคณิตศาสตร์นั้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลงผิดคิดว่าพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกชนิด โดยลืมไปว่าเคนส์เองมองความไม่แน่นอนว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกของเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ จุดสนใจของกัลเบรธที่ทำให้เขาแตกต่างจากนักคิดสำนักเคนส์คนอื่นๆ คือการที่เขาชอบศึกษาปัญหาในการบริหารจัดการเศรษฐกิจจุลภาค (micro คือระดับบริษัทและประชาชน) ที่สืบเนื่องมาจากโครงสร้างตลาดผู้ขายน้อยราย (oligopoly) ของเศรษฐกิจอเมริกา. กัลเบรธเชื่อว่า โครงสร้าง oligopoly ของเศรษฐกิจนั้นแปลว่า นโยบายด้านการคลังของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้เกิดการจ้างงานเต็มอัตรา (full employment) โดยปราศจากเงินเฟ้อได้ ดังนั้นเขาจึงสนับสนุนให้รัฐใช้มาตรการควบคุมทั้งค่าจ้างและราคาสินค้าควบคู่กัน

เป้าหมายของกัลเบรธในหนังสือเล่มหนาเตอะของเขาชื่อ "ทุนนิยมอเมริกัน" (American Capitalism) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 คือการยืนยันประโยชน์ของระบบตลาดเสรีอย่างมีหลักการ และเหตุผลสนับสนุนแน่นหนากว่าเหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ใช้ในสมัยนั้น ซึ่งมองว่าระบบตลาดเสรีผูกพันกันอย่างแยกไม่ออกจากความเชื่อเรื่องเสรีภาพและประสิทธิภาพ กัลเบรธปรามาสเหตุผลทำนองนี้ว่าไม่จริงใจ เพราะตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า เศรษฐกิจประกอบด้วยผู้ประกอบการขนาดเล็กมากราย ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดและมีเสรีภาพ

กัลเบรธชี้ว่า สมมุติฐานข้อนี้ไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว เมื่อการเติบโตของตลาดผู้ขายน้อยราย (oligopoly) และอำนาจของผู้บริหารบริษัทเหล่านั้น มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจอเมริกาทั้งระบบ แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงข้อนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถอ้างประโยชน์ของการตัดสินใจแบบกระจายอำนาจในระบบตลาดเสรีได้อีกต่อไป ตรงกันข้าม กัลเบรธชี้ว่า บริษัทขนาดใหญ่มีข้อได้เปรียบที่ชัดเจนในแง่ที่พวกเขาสามารถคิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ ระบบสถาบันขนาดใหญ่ก็ก่อให้เกิดการควบคุมกันเองในรูปของ 'อำนาจคัดง้าง' (countervailing power)

กัลเบรธอธิบายว่า "ในตลาดสมัยใหม่ที่มีผู้ขายน้อยราย ผู้จำกัด[การใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของพวกเขา] ไม่ใช่คู่แข่งขัน หากเป็นผู้ซื้อที่เข้มแข็งจากอีกด้านหนึ่งของตลาด" อำนาจของบริษัททำให้เกิดอำนาจคัดง้างจากสหภาพแรงงาน เครือข่ายผู้ค้าปลีก และผู้ผลิตขนาดใหญ่รายอื่นๆ

กัลเบรธสรุปว่า อำนาจในตลาดนั้นถูกตรวจสอบด้วยอำนาจด้วยกัน (power was checked by power) แต่อย่างไรก็ตาม ในบั้นปลายชีวิตของเขา กัลเบรธก็ยอมรับว่าเขาอาจมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะบ่อยครั้งอำนาจคัดง้างเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นจริง ในขณะที่ผู้ผลิตก็รวมหัวกันขึ้นราคาสินค้าไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ของกัลเบรธก็ส่งอิทธิพลมหาศาลต่อนักสังคมนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ของยุโรปในสมัยนั้น ที่กำลังพยายามหว่านล้อมให้พรรคของพวกเขาเลิกศรัทธาในหลักการแปลงกิจการต่างๆ ให้เป็นของรัฐ (nationalization)

ความพยายามของกัลเบรธที่จะอธิบายระบบตลาดเสรีอย่างที่มันเป็นในโลกแห่งความจริง ไม่ใช่ตามคำอธิบายในหน้าหนังสือเรียน ทำให้เกิดกระแสต่อต้านความคิดของเขาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะจากนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เชื่อมั่นในลัทธิเสรีนิยมสุดขั้ว เพราะหลักการที่กัลเบรธเรียกว่า "ความไม่จริงใจ" ที่บอกว่าเสรีภาพและประสิทธิภาพไม่สามารถแยกออกจากระบบตลาดได้นั้น เป็นหัวใจสำคัญในความเชื่อของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

กัลเบรธเขียน "สังคมมั่งคั่ง" (The Affluent Society) หนังสือที่ดีที่สุดของเขา เมื่อปี พ.ศ. 2499 ระหว่างพักผ่อนที่สกีรีสอร์ทของเมือง จีสแตท (Gstaad) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สถานที่ซึ่งดูเหมาะสมกับการครุ่นคิดเรื่องความย้อนแย้งของความมั่งคั่ง และสังเคราะห์จุดยืนเพื่อประท้วงกระแสที่กำลังครอบงำความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ กัลเบรธเรียกกระแสนี้อย่างแดกดันว่า "ศิลปะแห่งความเจริญ" (growthmanship) นั่นคือ การยึดอัตราการเติบโตของผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือ GNP เป็นสรณะหนึ่งเดียวของการพัฒนา กัลเบรธคิดคำศัพท์ใหม่คือ "conventional wisdom" (ซึ่งผู้เขียนขอถือวิสาสะแปลว่า "ปัญญาสาธารณ์") ขึ้นมาเพื่อเสียดสีแนวคิดนี้โดยเฉพาะ

มนุษยธรรมของกัลเบรธแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ในถ้อยคำที่เขาเลือกเฟ้นเพื่อเปรียบเทียบระหว่าง 'ความมั่งคั่งของปัจเจกชน และความยากไร้ของสาธารณะ' ด้วยลีลาวรรณกรรมที่ให้ภาพชัดเจนอย่างยิ่ง:

"ครอบครัวชนชั้นกลางที่ขับรถที่มีเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ พวงมาลัยพาวเวอร์ และเบาะนั่งหนานุ่มสีม่วงอ่อนออกจากบ้านไปกินลมเล่น ต้องแล่นผ่านเมืองใหญ่หลายเมืองที่บาทวิถีแตกระแหง ท้องถนนเต็มไปด้วยขยะ ดูอัปลักษณ์ด้วยตึกระฟ้าใหญ่โต และป้ายโฆษณาดาษดื่น เต็มไปด้วยสายโทรเลขระโยงระยางที่ควรจะถูกฝังไว้ใต้ดินก่อนหน้านี้นานแล้ว

พวกเขาผ่านชนบทที่ถูกศิลปะพาณิชย์บดบังจนแทบจะมองไม่เห็น ...ปิคนิคกันด้วยอาหารสำเร็จรูปที่ใส่ห่ออย่างประณีตแช่เย็นมาในกล่องน้ำแข็ง ปูเสื่อนั่งข้างๆ ลำธารที่น้ำส่งกลิ่นเน่าเหม็น และเดินเล่นยามวิกาลในสวนสาธารณะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและศีลธรรมของมนุษย์ ก่อนที่จะผล็อยหลับไปบนเบาะนุ่มในเต๊นท์ไนล่อน ท่ามกลางกลิ่นเหม็นสาบของกองขยะในละแวกนั้น พวกเขาอาจรำพึงอย่างผิวเผินถึงความไม่เสมอภาคของความสุขสบายในชีวิตของพวกเขา"

ความคิดหลักของกัลเบรธใน "สังคมมั่งคั่ง" ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในบทความเก่าเรื่อง "ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจสำหรับรุ่นหลานของเรา" (Economic Possibilities for Our Grandchildren) ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 เคนส์เสนอว่า กำลังจะถึงเวลาที่สังคมต้องปรับเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดให้เข้ากับภาวะเหลือกินเหลือใช้ แทนที่จะเป็นภาวะขาดแคลนอย่างแต่ก่อน ความมั่งคั่งจากความเจริญทางเศรษฐกิจจะทำให้คนจำนวนมาก เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการแบบปัญญาชนมากกว่าเพิ่มปริมาณการบริโภค กัลเบรธเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์เช่นนี้ได้อุบัติขึ้นแล้ว อย่างน้อยก็ในอเมริกา

กัลเบรธบอกว่า อเมริกากำลังประสบปัญหาจากความมั่งคั่ง ไม่ใช่ปัญหาจากความยากจน หากเป็นเพราะคนมีแนวโน้มที่จะลดการบริโภคส่วนเพิ่มลงเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น (marginal propensity to consume ลดลง) ทำให้ผู้ผลิตต้องใช้การโฆษณาชวนเชื่อ "สร้าง" ความต้องการใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ ความคิดของกัลเบรธที่แหลมคมที่สุด (แม้เขาจะไม่ใช่คนแรกที่คิดเรื่องนี้) คือไอเดียที่ว่า รัฐต้องลงทุนในบริการสาธารณะในสัดส่วนที่ทัดเทียมกับอัตราการเจริญเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน เพื่อสร้างสิ่งที่กัลเบรธเรียกว่า "สมดุลสังคม" (social balance) ก่อนที่บริโภคนิยมจะนำไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมในเมืองและชนบท และทำให้คนไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมอีกต่อไป

เขาเสนอว่า ยิ่งรายได้ประชาชาติเติบโตขึ้นเท่าไหร่ รัฐยิ่งต้องเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และใช้เงินภาษีนั้นในการแก้ปัญหาสังคมขาดสมดุล ที่มหกรรมบริโภคนิยมเป็นตัวการ นอกจากนี้ สินค้าทุกประเภทควรผ่านการทดสอบด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

"สังคมมั่งคั่ง" ได้รับคำชื่นชมมากมายในแง่จุดยืนทางศีลธรรม แต่ไม่ใช่ในแง่หลักเศรษฐศาสตร์. แฮร์รี่ จอห์นสัน บอกว่ากัลเบรธ "ผิดพลาดทางทฤษฎีอย่างร้ายแรง" ในการตั้งสมมติฐานว่า "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม (marginal utility) หน่วยสุดท้าย หลังหักค่าโฆษณาและค่าใช้จ่ายในการขาย มีค่าเท่ากับศูนย์" แต่นี่เป็นข้อโต้แย้งที่ไร้สาระ เพราะกัลเบรธไม่เคยเสนอว่าความต้องการบริโภคสินค้าทุกชนิดถูกสร้างขึ้นโดยผู้ผลิต เขาเพียงแต่มองว่าเราต้องปรับจุดสมดุลระหว่างระดับการบริโภคของภาครัฐและภาคเอกชน ที่ผ่านมารัฐบาลของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน และ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เลือกเดินทางตรงกันข้าม คือลดภาษีเงินได้ อย่างไรก็ตาม หายนะที่อเมริกาประสบจากพายุ"คัทรีนา"ในปี 2548 ทำให้หลายๆ คนมองเห็นความโง่เขลาของการตัดทอนค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณะ และแปลว่าเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอาจหวนกลับมาเห็นด้วยกับแนวคิดของกัลเบรธในอนาคตอันใกล้นี้

หนังสือหลักเล่มที่สามของกัลเบรธคือ "รัฐอุตสาหกรรมใหม่" (The New Industrial State) ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2510 เป็นหนังสือที่กัลเบรธใช้ความพยายามมากที่สุด ในการอธิบายระบบทุนนิยมของอเมริกาอย่างที่มันเป็นอยู่ ไม่ใช่ตามโมเดลเศรษฐศาสตร์ในหนังสือเรียน โรเบิร์ต โซโลว์ (Robert Solow) สรุปข้อคิดหลักๆ ของหนังสือเล่มนี้ ไว้ในบทวิจารณ์หนังสือว่า

1. เศรษฐกิจอเมริกัน ถูกครอบงำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีความได้เปรียบจากขนาด (economies of scale) และเนื่องจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและโครงสร้างขนาดใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปมองไม่เห็นว่า บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ทำให้โมเดลการแข่งขันเสรีของพวกเขาไม่ตรงกับโลกแห่งความจริง

2. ผู้จัดการ (ที่กัลเบรธเรียกว่า "ขุนนางเทคนิค" หรือ technostructure) คือผู้หล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กร
และเป้าหมายของบริษัท ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น

3. ขุนนางเทคนิคเหล่านี้ใช้กลยุทธ์ "วางแผนเพื่อความมั่นคงของบริษัท" แทนที่จะเน้นทำธุรกิจเพื่อผลกำไรสูงสุด ด้วยการใช้อิทธิพลบิดเบือนความต้องการของผู้บริโภค ผู้ขายวัตถุดิบในการผลิต และระบบควบคุมของภาครัฐ

4. การวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงแบบนี้ ส่งผลให้เกิดการควบรวมกิจการในแนวดิ่ง (vertical integration) การบริหารเงินทุนภายใน (internal financing) และการหว่านล้อมสหภาพแรงงานให้คล้อยตาม (ทำให้สหภาพสูญเสียความเป็น 'อำนาจคัดง้าง' ชนิดหนึ่ง)

5. การกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความบิดเบือนระหว่างความต้องการใช้จ่ายของภาคเอกชน (คือผู้บริโภค) เทียบกับความต้องการใช้จ่ายของภาครัฐ

6. บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ตะล่อมให้ 'กิจการด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์' ซึ่งควรเป็นอิสระ ยอมทำตามเป้าหมายของตน

"รัฐอุตสาหกรรมใหม่" เป็นความล้มเหลวที่น่ายกย่อง หนังสือเล่มนี้ใช้คำพูดเยิ่นเย้อเกินไป กล่าวอ้างแบบตีขลุมเกินไป และเป็นผลผลิตของสถานการณ์เฉพาะหน้าในสมัยนั้นมากเกินไป โซโลว์แย้งว่า ความเชื่อของกัลเบรธที่มองว่าบริษัทดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศจากตลาดนั้น ไม่เป็นความจริง ข้อนี้โซโลว์เป็นฝ่ายถูก แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ทั้งคู่ล้วนมองไม่เห็นความเร็วของการเจริญเติบโตของตลาดเงิน หรือกระแสโลกาภิวัตน์ กองทุนหลายประเภทกลายเป็นสัญลักษณ์ของระบบตลาดแบบใหม่ ที่ในบางมุมดูเหมือนจะอนุรักษ์นิยมกว่าบริษัทที่กัลเบรธอธิบายใน "รัฐอุตสาหกรรมใหม่" เสียด้วยซ้ำ

กัลเบรธยอมรับความผิดพลาดของเขาอย่างน่าชื่นชมในหนังสือเรื่อง "สังคมที่ดี" (The Good Society) ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยยอมรับว่า คำอธิบายระบบทุนนิยมอเมริกันของเขาในหนังสือเล่มก่อนๆ นั้นล้าสมัยไปแล้ว เพราะ "อำนาจผูกขาด ...ได้พ่ายแพ้ต่อการแข่งขันข้ามชาติ และพลังอันมหาศาลของเทคโนโลยีสมัยใหม่" ผู้บริหารบริษัทยุคใหม่ "เน้นการทำผลกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น" และแม้กระทั่งบริษัทใหญ่ที่สุดก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะล้มละลาย ผู้จัดการเริ่มมีพฤติกรรมเหมือนเจ้าของบริษัทอีกครั้ง เพราะผลตอบแทนของพวกเขาส่วนใหญ่อยู่ในรูปหุ้นและอ็อปชั่นหุ้น

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดในการอธิบายลักษณะของทุนนิยมอเมริกัน ไม่ได้หมายความว่าปัญหาต่างๆ ของระบบที่กัลเบรธพยายามชี้ให้เห็นจะหมดไป ตรงกันข้าม ใน "สังคมที่ดี" กัลเบรธย้ำว่า ความกังวลของเขาที่มีต่อสังคมโดยรวมนั้นสูงขึ้นกว่ายี่สิบปีก่อน เพราะสังคมอเมริกากำลังกลายเป็น "ประชาธิปไตยสำหรับผู้โชคดี" ที่กีดกันผู้ด้อยโอกาสไม่ให้มีพื้นที่ยืนเป็นของตัวเอง

สิ่งที่น่าสนใจในการถกเถียงระหว่างกัลเบรธและโซโลว์ คือการที่กัลเบรธโยงมันกลับมาสู่คำถามที่ว่า นักเศรษฐศาสตร์ควรทำงานอย่างไร โซโลว์ต้องการให้เศรษฐศาสตร์เปรียบเสมือนโครงการวิทยาศาสตร์ ที่เต็มไปด้วยสมมุติฐานทางคณิตศาสตร์ที่ทดสอบได้ กัลเบรธชี้ว่าวิธีการแบบนี้ขึ้นอยู่กับสมมุติฐานว่า ความต้องการต่างๆ เกิดขึ้นในระดับปัจเจกชน และถูกตลาด "แปลสัญญาณ" อย่างมีประสิทธิภาพไปสู่บริษัทต่างๆ ซึ่งหมายความว่า ผู้บริโภคมีอำนาจ และเป็นตัวของตัวเอง

กัลเบรธแย้งว่า ถ้าผู้บริโภคไม่ได้เป็นตัวของตัวเองจริง หากเป็นเพียง "เครื่องมือหรือสื่อกลางของบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการมาป้อนพวกเขา" แล้วไซร้ นั่นหมายความว่า เศรษฐศาสตร์จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานเสียใหม่ "งานของนักเศรษฐศาสตร์ในกรณีนั้นจะมีความเที่ยงตรงและความสละสลวยน้อยลง และดูเป็นวิทยาศาสตร์น้อยลง เมื่อเทียบกับนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังป้อนชิ้นส่วนต่างๆ เข้าไปในโครงสร้างที่ทุกคนยอมรับแล้ว"

ความแหลมคมของกัลเบรธในการตีแผ่ข้อบกพร่องของแนวคิดเสรีนิยมสุดขั้ว ไม่เคยถดถอยลงเลยตลอดอายุขัยอันยาวนานของเขา. ในปี พ.ศ. 2547 ก่อนหน้าที่เขาจะตายไม่ถึงสองปี กัลเบรธ ซึ่งเวลานั้นอายุ 95 ปี ออกหนังสือชื่อ "เศรษฐศาสตร์แห่งการฉ้อฉลอันบริสุทธิ์ใจ" (The Economics of Innocent Fraud) หนังสือเล่มบางที่ตั้งคำถามต่อเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก โดยเฉพาะความสามารถของตลาดที่จะกำกับดูแลตนเอง ประโยชน์ของนโยบายการเงิน และประสิทธิผลของธรรมาภิบาลบริษัท (corporate governance)
.....

"Faced with the choice between changing one's mind and proving that there is no need to do so, almost everybody gets busy on the proof."
เมื่อต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างเปลี่ยนความคิด กับพิสูจน์ว่าไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น แทบทุกคนจะง่วนกับการหาบทพิสูจน์ทันที

ในฐานะที่ผู้เขียนได้เคยนั่งฟังเลคเชอร์ของกัลเบรธหนึ่งคาบสมัยเรียนปริญญาตรี ถึงแม้จะจำไม่ได้แล้วว่าอาจารย์สอนเรื่องอะไร และถึงแม้จะไม่ได้ใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เท่าที่ควรตั้งแต่เรียนจบ ก็ยืนยันได้ถึง "ความยิ่งใหญ่" และ "บารมี" อันล้นเหลือของกัลเบรธ ที่สัมผัสได้จากกลิ่นอายแห่งความทึ่งในห้องเรียน ที่เขม็งเกลียวขึ้นทันทีที่ร่างอันสูงโย่งของเขาปรากฎขึ้นบนเวที นักเรียนหลายร้อยคนในห้องที่กำลังคุยกันเหมือนนกกระจอกแตกรัง เงียบเสียงลงทันทีที่กัลเบรธเริ่มเลคเชอร์ ด้วยน้ำเสียงเนิบๆ ฟังยาก แต่ทุ้มนุ่มกว่าวัย 85 ปีของเขาจะบ่งบอก

นั่นคือปี พ.ศ. 2536 หลังจากกัลเบรธเกษียณอายุไปแล้วกว่า 18 ปี แต่เขายังรับคำเชิญของอาจารย์รุ่นน้อง ให้มาบรรยายเปิดสำหรับกระบวนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคเบื้องต้น หรือที่นักเรียนเรียกย่อๆ ว่า Ec10 เป็นประจำเกือบทุกเทอม. ตั้งแต่กัลเบรธขึ้นเวที ไม่มีนักเรียนคนไหนพูดอีกเลยจนกระทั่งจบการบรรยาย ทันทีที่กัลเบรธพูดจบลง นักเรียนทั้งห้องลุกขึ้นยืนแทบจะพร้อมกัน ปรบมือเสียงดังสนั่นหวั่นไหว

ผู้เขียนมั่นใจว่า แม้วันนั้นกัลเบรธคงบรรยายอย่างคมคายไม่ต่างจากหนังสือของเขา นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ปรบมือให้กับบทบรรยายของกัลเบรธ เท่ากับ "ตัวตน" อันยิ่งใหญ่ของเขา ที่เปรียบเสมือนเป็น "สถาบัน" หนึ่งของฮาร์วาร์ดไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะลูกศิษย์หลายคนเชื่อว่ากัลเบรธเป็น "ต้นแบบ" ที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัย เป็นแม่พิมพ์ซึ่งนักเรียนทุกคนควรเจริญรอยตาม ไม่ว่าจะเรียนสาขาวิชาใดก็ตาม

ไหวพริบและความคมคายของกัลเบรธ ทำให้เขาได้รับรางวัล "อาจารย์ที่ตลกที่สุดในรอบศตวรรษ" ในปี พ.ศ. 2518 ปีเดียวกับที่เขาเกษียณอายุ จากวารสารนักเรียน Harvard Lampoon แต่กัลเบรธเป็นหนึ่งในอาจารย์น้อยคนที่นักเรียนไม่ได้นับถือเพราะ "สอนสนุก" อย่างเดียว หากยังเคารพรักอย่างสุดซึ้ง เพราะกัลเบรธไม่เพียงแต่สอนนักเรียนให้เป็นคนดี หากใช้ชีวิตของเขาเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย

กัลเบรธเป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา (development economics) ของฮาร์วาร์ด และเป็นอาจารย์คนแรกที่สอนคอร์สแรกในสาขานั้น. ในช่วงปี 2510 กัลเบรธเขียนจดหมายถึงอธิการบดีฮาร์วาร์ดในสมัยนั้นคือ เดเร็ค บ็อก (Derek Bok) มีใจความว่า ขอให้มหาวิทยาลัยระงับการขึ้นเงินเดือนเขา เนื่องจากเขาคิดว่าฮาร์วาร์ดกำลังจะประสบปัญหาด้านการเงินในไม่ช้า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่เคยมีอาจารย์คนใดเขียนจดหมายลักษณะนี้อีก

ต่อมาในปี 2511 กัลเบรธตกลงยกรายได้ค่าลิขสิทธิ์ในอนาคตทั้งหมด จาก "สังคมมั่งคั่ง" หนังสือที่ขายดีที่สุดของเขา ให้กับกองทุนเพื่อนักเรียนฮาร์วาร์ดที่ "ต้องเผชิญกับวิกฤติที่ไม่คาดฝันในชีวิต" ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าใจว่า กัลเบรธหมายถึงการทำแท้ง ซึ่งเป็นเรื่องทีคนส่วนใหญ่สมัยนั้นยังไม่ยอมรับ

การที่กัลเบรธไม่เคยนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ๆ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เขาไม่ได้รับการยอมรับในฐานะนักวิชาการจากนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกัน และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แวดวงเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันเต็มไปด้วยลูกศิษย์ทางอุดมการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ช่างคิดเลขอย่างพอล แซมวลสัน, จอห์น เคนส์, มิลตัน ฟรีดแมน, โรเบิร์ต ลูคัส, โรเบิร์ต โซโลว์ และเจมส์ โทบิน ในขณะที่ลูกศิษย์ทางอุดมการณ์ของกัลเบรธมีน้อยมาก ซึ่งนี่เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะยิ่งโลกเราตกหล่มอยู่ในวงเวียนแห่งบริโภคนิยมลึกลงเท่าไหร่ และโครงสร้างอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้นเท่าไหร่ ความจำเป็นที่เราจะมีนักเศรษฐศาสตร์สถาบันผู้เปี่ยมมนุษยธรรมอย่างกัลเบรธ ก็ดูเหมือนจะมีเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า เศรษฐศาสตร์ในฐานะวิชาการแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ จะเข้มแข็งและอ่อนโยนขึ้นมาก หากนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่จะซึบซับทั้งข้อคิดและคุณธรรมของกัลเบรธมากกว่าที่เป็นอยู่ แทนที่จะมัวแต่ดูถูกเขาว่าไม่เคยผลิตทฤษฎีใหม่ๆ

แม้กัลเบรธจะล่วงลับไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2549 หนังสือเรื่อง "สังคมมั่งคั่ง" ของเขาจะไม่มีวันตาย เพราะประเด็นที่เขาพูดถึงเป็นประเด็นอมตะ ความคิดของกัลเบรธนั้นนับวันดูจะทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ เพราะสังคมสมัยใหม่มีลักษณะเป็นบริโภคนิยมเข้มข้นกว่าแต่ก่อน และข้อเท็จจริงที่ว่า บริการสาธารณะในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย อาทิเช่น การศึกษา การแพทย์ และสาธารณูปโภค กำลังถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์เชิงพาณิชย์อันเห็นแก่ตัว มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ความกังวลของกัลเบรธเกี่ยวกับปัญหาการเสีย "สมดุลสังคม" ในสังคมบริโภคนิยมนั้น เป็นปัญหาแท้จริงที่จำต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ด้วยการเพิ่มบทบาทของภาครัฐให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม

ตลอดชีวิตของเขา กัลเบรธเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความสามารถของรัฐ ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ยากไร้. ในประโยคอมตะประโยคหนึ่ง เขาวิงวอนว่า "ผมขอให้โลกเราผนึกกำลังเป็นแนวร่วมของผู้มีจิตสาธารณะ เพื่อให้ผู้มั่งคั่งจะยังมั่งคั่งอยู่เช่นเดิม ผู้มีความสุขสบายจะยังได้รับความสุขสบายต่อไป แต่ผู้ยากไร้จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมือง"

ถึงเวลาแล้ว ที่ทั่วโลกจะฟังคำวิงวอนของนักเศรษฐศาสตร์ชายขอบผู้ยิ่งใหญ่ และผลิตนักเศรษฐศาสตร์แบบกัลเบรธขึ้นมาทดแทนเขา

13.5 - บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วบนเว็บไซต์ โอเพ่นออนไลน์

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com