โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 20 Jun 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๘๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 20, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ในขณะที่การมาถึงของ "กึ่งพุทธกาล" กระตุ้นเร้าความตื่นตัวในพุทธศาสนาและการสร้างพระเครื่องอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นล่างของสังคมไทยที่ยังมีความศรัทธาแน่นแฟ้นมั่นคงในพุทธพยากรณ์ และการเกิดขึ้นมาของ "ตลาดพระเครื่อง" และ "การยกระดับการอธิบาย" พลานุภาพของพระเครื่องในกรอบของความรู้ทางประวัติศาสตร์ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้สายตาของคนชั้นกลางรับรู้ "ความจริง" ของพระเครื่องโดยผ่าน "การอ่านหนังสือ" พระเครื่อง จึงไม่ใช่เรื่องงมงายไร้สาระอีกต่อไป หากเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
20-06-2550

Thai Amulet & Charm
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ข้อมูลรองรับอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการทำตลาดพระเครื่องไทย
เมื่อพระเครื่องก้าวขึ้นเป็นสุดยอดของเครื่องรางไทย
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ : เขียน
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความเชิงงานวิจัยชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ถึงความเป็นมาของพระเครื่อง
ที่ได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นที่นิยมเหนือเครื่องรางโบราณต่างๆ ของไทย
ด้วยเหตุผลหลากหลาย นับจากการมาถึงช่วงเวลากึ่งพุทธกาล
การเกิดขึ้นของตลาดพระเครื่อง และการตื่นตัวในการศึกษาพระเครื่อง
โดยการทำให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นตามลำดับ
บทความชิ้นนี้ได้รับการเตรียมขึ้นเพื่อประกอบการอภิปรายในหัวข้อ
"อุดมการณ์ ความคิด และความเชื่อของคนชั้นกลาง" โดยผู้เขียน

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๘๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๘.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



ข้อมูลรองรับอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการทำตลาดพระเครื่องไทย
เมื่อพระเครื่องก้าวขึ้นเป็นสุดยอดของเครื่องรางไทย
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ : เขียน
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความสั้นฉบับลำลอง (จึงไม่เหมาะสมต่อการนำไปอ้างอิงใดๆ ทั้งสิ้น)
ประกอบการอภิปรายในหัวข้อ "อุดมการณ์ ความคิด และความเชื่อของคนชั้นกลาง" ในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี เรื่อง "ศึกษา รู้จัก วิพากษ์ คนชั้นกลาง" คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พุธที่ 28 กันยายน 2548 เวลา 8.00-12.00 น. ห้องประชุมชั้น 4 อาคารเอนกประสงค์ (1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ความนำ
พระเครื่องหรือวัตถุมงคลเนื่องในคติพุทธศาสนา ในที่นี้ หมายถึงเครื่องรางที่ทำขึ้นตามคติพุทธศาสนา เป็นพระพุทธรูป หรือภาพของพุทธสาวกผู้เป็นพระอรหันต์ และของพระภิกษุทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นเกจิอาจารย์ที่ทรงคุณวิเศษ. พระเครื่องโดยทั่วไปมีขนาดเล็กพกพาติดตัวได้ อาจสร้างเป็นพระพิมพ์ (หรือพระผง) พระพิมพ์ดินเผา หรือทำด้วยโลหะและโลหะผสม เช่น ตะกั่ว ทองแดง ชิน และสำริด ที่หล่อขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ นอกจากนี้ยังรวมถึงเหรียญพระเครื่องโลหะที่ทำขึ้นตามกรรมวิธีสมัยใหม่ ที่เรียกกันว่า 'เหรียญปั๊ม'

เป็นที่เชื่อกันว่าพระเครื่องเหล่านี้มีฤทธิ์อำนาจศักดิ์สิทธิ์ ที่อาจช่วยคุ้มครองป้องกันเจ้าของหรือผู้ที่บูชาอัญเชิญติดตัวในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลพ้นจากอันตราย ทั้งที่เป็นภัยจากอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ ภัยธรรมชาติ ภัยจากสัตว์และจากมนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้ผู้ที่บูชาติดตัวเป็นที่รักใคร่เสน่หาของคนทั่วไป และเสริมส่งบารมีให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า มีความมั่นคงในหน้าที่การงานอาชีพ พลานุภาพของพระเครื่องในด้านต่างๆ เหล่านี้ อาจรวมเรียกได้ว่า "เมตตามหานิยม"

พระเครื่องที่มีสถานะเป็นเครื่องรางอย่างหนึ่งในสังคมไทยนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่ใหม่มากในทางประวัติศาสตร์ เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 (ประมาณปลายรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 5) โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงในทางโลกทัศน์ คติความเชื่อทางศาสนา เศรษฐกิจ และสังคมในขณะนั้น รวมทั้งความอ่อนแอของอำนาจรัฐในการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพ และค้ำประกันโอกาสทางเศรษฐกิจและอุดมคติทางโลกของไพร่ราษฎรส่วนหนึ่งที่เริ่มมีลักษณะปัจเจกนิยมมากขึ้น

'พระเครื่อง' แรกสุดน่าจะได้แก่ พระกำแพงซุ้มกอ ทุ่งเศรษฐี (กำแพงเพชร) ซึ่งเป็นพระกรุโบราณที่ "กรุแตก" โดยบังเอิญและถูก "ค้นพบ" โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ นำมาแจกจ่ายกลายเป็น "พระเครื่อง" หลังจากนั้นไม่นานต่อมา สมเด็จโตก็ได้ "สร้าง" พระสมเด็จวัดระฆัง แจกจ่ายสานุศิษย์ เช่นเดียวกันกับ พระกริ่งปวเรศฯ ที่ "สร้าง" ขึ้นโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศ ก็นับเป็นพระเครื่องไทยรุ่นแรกๆ

พัฒนาการของพระเครื่อง
พัฒนาการของพระเครื่องในยุคแรกได้รับแรงกระตุ้นที่สำคัญ 3 ประการ กล่าวคือ

1. เทคโนโลยีใหม่ๆ อันได้แก่ การทำเหรียญกษาปณ์ ซึ่งทำให้เกิด "เหรียญพระเครื่อง" ที่ทั้งมีความคงทนถาวรกว่าและยังมีพื้นที่สำหรับสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ (เช่น ภาพจำลองพระบรมศาสดา ยันตร์ คาถา หรือสัญลักษณ์อื่นๆ) ที่มากกว่าพระเครื่องแบบเดิมๆ ถึง 1 เท่าตัว เทคโนโลยีอีกอย่างที่เข้ามาในช่วงนี้และมีความสำคัญต่อการสร้างพระเครื่องก็คือ การถ่ายภาพ ที่นำไปสู่ "การปฏิวัติ" พระเครื่องไทยครั้งสำคัญ โดยให้กำเนิด "เหรียญพระเกจิ" ซึ่งทำให้พื้นที่ของพระเครื่องที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ผูกขาดของภาพจำลองพระบรมศาสดาที่จินตนาการขึ้นมา ต้องมาถูกจับจองแย่งชิงโดยภาพจำลองของพระเกจิอาจารย์ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และที่มรณภาพไปแล้ว ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่าน "ภาพถ่ายสมจริง" ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พระบรมศาสดาได้ถูกเหล่าสาวกลูกศิษย์ของพระองค์เองทำการ "รัฐประหาร/ยึดอำนาจ" ในพื้นที่พระเครื่อง การ "ผูกขาดอำนาจ" ของพระองค์ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง*(*)

2. ความรู้สึกนึกคิดและรสนิยมแบบ "สมัยใหม่" ในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมือง อันได้แก่ พ่อค้า คหบดี และข้าราชการ ก่อให้เกิดความตระหนักสำนึกแบบประวัติศาสตร์และความกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้รวมไปถึงความตื่นตัวในการศึกษาโบราณสถาปัตยกรรมทางศาสนา (เจดีย์ โบสถ์ วิหาร) พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องถ้วย ฯลฯ และการสะสมโบราณวัตถุประเภทต่างๆ อย่างเป็นระบบ มีหลักเกณฑ์มาตรฐานทางวิชาการที่พึงสามารถยึดถืออ้างอิง (และเพิ่มมูลค่า) ได้ ความตื่นตัวในรสนิยมแบบ "สมัยใหม่" นี้นำไปสู่การขุดค้นโบราณสถาน และ "การค้นพบ" พระพิมพ์โบราณตามที่ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ประการสำคัญ พระพิมพ์โบราณเหล่านี้ เมื่อถูกค้นพบ ก็ได้กลายสถานะมาเป็น "พระเครื่อง" ที่เชื่อกันว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ สามารถให้ความคุ้มครองแก่ปัจเจกบุคคลไปโดยปริยาย

3. ความรุนแรงทางการเมือง ทั้งที่เป็น "ภัยคุกคาม" จากภายนอก เป็นต้นว่า กรณีวิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 และที่เกิดจาก "ปัญหาความมั่นคงภายใน" เป็นต้นว่า กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ ทำให้กระแสความหวาดวิตกไม่มั่นใจในสวัสดิภาพที่เกิดจากภยันตรายที่เหนือการควบคุมของปัจเจกบุคคลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก กระตุ้นให้มีการแสวงหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาไว้คุ้มครองป้องกันภัย เป็นต้นว่า การเข้าขุดกรุวัดบางขุนพรหมเพื่อหาพระสมเด็จฯ (ที่สมเด็จโตสร้างและบรรจุกรุไว้ ประมาณ 20 ปีก่อนหน้านั้น) ในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือการขุดกรุพระวัดท่ามะปราง (พิษณุโลก) ของกองทัพจากกรุงเทพฯ ภายใต้การบังคับบัญชาของจมื่นไวยวรนาถ ระหว่างการยกขึ้นไปปราบกบฎเงี้ยว (พระกรุวัดท่ามะปรางนี้ มีสมญาเรียกขานกันต่อมาในวงการพระเครื่องว่า "พระเงี้ยวทิ้งปืน")

ในขณะที่ความรุนแรงจากภัยคุกคามและปัญหาความมั่นคงภายใน เป็นแรงหนุนส่งทำให้ "ความต้องการ" เครื่องรางคุ้มกันภัยเพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยีการทำพระเครื่องแบบใหม่ๆ (เช่น เหรียญพระเครื่อง) และการค้นพบพระพิมพ์โบราณจากกรุตามโบราณสถานทางศาสนา ไม่เพียงเพิ่มปริมาณของพระเครื่อง สนองตอบกระแสความต้องการนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบพระเครื่องที่เป็นทั้งทางเลือกและสีสัน มีทั้งพระกรุโบราณ พระพิมพ์ที่ทำขึ้นใหม่ พระหล่อโลหะแบบโบราณ เหรียญพระเครื่องและเหรียญพระเกจิที่ทำตามกรรมวิธีการทำเหรียญแบบตะวันตก ทำให้ความนิยมในพระเครื่องแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ตราบจนกระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าความนิยมในพระเครื่องจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่พระเครื่องก็ยังเป็นเพียงหนึ่งในบรรดาเครื่องรางที่มีอยู่อย่างหลากหลายในสังคมไทย เครื่องรางอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมอยู่ในสังคมไทยมากไม่น้อยไปกว่าพระเครื่อง ล้วนมีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่กว่าพระเครื่องทั้งสิ้น เป็นต้นว่า ว่าน สายสิญจน์ ตะกรุด มีดหมอ ปลัดขิก เบี้ยแก้ ลูกอม น้ำมนตร์ ผ้ายันตร์ เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมูป่า งาช้างแกะเป็นรูปเสือหรือหนุมาน หรือแม้แต่รอยสักยันตร์บนเรือนร่าง เครื่องรางที่ไม่ใช่พระเครื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการเสริมสร้างพลานุภาพศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการเสกเป่าบริกรรมเวทย์มนตร์อาคม และ/หรือการจารคาถาและยันตร์ ตามคติไสยเวทของพุทธศาสนาและฮินดู-พราหมณ์ แต่ทั้งนี้โดยปราศจากภาพจำลองของพระบรมศาสดาหรือเกจิอาจารย์ผู้สร้างเครื่องรางนั้น

ความรุนแรงของภัยสงคราม (ไม่ว่าจะในความเป็นจริงหรือในจินตนาการ) ทั้งในช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 และอาชญากรรมที่ขยายตัวระบาดไปทั่วทั้งในเขตเมืองและชนบทในระหว่างสงครามและภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้คุกคามสวัสดิภาพของปัจเจกบุคคลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และช่วยกระตุ้นให้ผู้คนเสาะแสวงหาเครื่องรางมาเพื่อปกปักรักษาคุ้มครองตนมากขึ้น

การขุดหาพระกรุเพื่อนำมาเป็นพระเครื่องและการสร้างพระเครื่องใหม่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นตลอดช่วงของสงครามและภายหลัง กระแสข่าวของอานุภาพความขลังศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องบางกรุบางวัดหรือของพระเกจิบางรูป แพร่สะพัดจากปากต่อปากไปอย่างรวดเร็วยิ่งในช่วงของสงครามและช่วงที่อาชญากรรมเบ่งบานอยู่ในสังคมไทย ในท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ไร้ระเบียบ ไร้สวัสดิภาพ ปราศจากความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินระหว่างและภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง ที่พระเครื่องเริ่มได้รับความนิยมจากสาธารณชนมากขึ้นเหนือเครื่องรางประเภทอื่นๆ จนกระทั่งก้าวขึ้นสู่สถานะของการเป็น "สุดยอด" ของเครื่องรางไทย เบียดขับเครื่องรางประเภทอื่นๆ ออกไปจาก "วัฒนธรรมเครื่องรางไทย" เกือบโดยสิ้นเชิง

ปัจจัยที่พระเครื่องก้าวขึ้นสู่สถานะสุดยอด
มีปัจจัยอย่างน้อยที่สุด 3 ประการที่ทำให้พระเครื่องสามารถก้าวขึ้นดำรงสถานะของการเป็น "สุดยอด" เครื่องรางไทย ตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา กล่าวคือ

ประการแรก การมาถึงของกึ่งพุทธกาล ใน พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นวาระโอกาสสำคัญของชาวพุทธในการเฉลิมฉลอง 25 ศตวรรษที่พระพุทธศาสนาได้สถาปนาขึ้นมาในโลก และในขณะเดียวกันก็เป็นวาระของการรำลึกถึงภารกิจของชาวพุทธที่จะต้องช่วยกันยังพระศาสนาให้สืบต่อไปถึงศาสนายุกาล โดยที่ศีลธรรมของผู้คนและพระธรรมคำสอนไม่เสื่อมลงไปก่อน 5,000 ปีตามพุทธพยากรณ์ แรงกระตุ้นของ "กึ่งพุทธกาล" จึงนำไปสู่กิจกรรมทางศาสนา การทำบุญให้ทาน และการสร้างพระเครื่อง ที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นมากกว่าสมัยใดๆ ก่อนหน้านั้น ทั้งเพื่อสืบต่อพระศาสนาและเพื่ออานิสงส์ผลบุญที่จะยังให้ปัจเจกบุคคลไปเกิดใหม่ในโลกของพระศรีอาริย์ พระเครื่องจำนวนมากจากหลากหลายวัดทั่วประเทศถูกสร้างขึ้นในช่วงก่อนและหลังกึ่งพุทธกาล เพื่อตอบสนองความต้องการ "ทำบุญแก่พระศาสนา"

ประการที่สอง ความนิยมในพระเครื่องที่เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างสงคราม นำไปสู่การเกิด "ตลาดพระเครื่อง" ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในช่วงภายหลังสงคราม กล่าวกันว่า ตลาดพระเครื่องแห่งแรกคือแผงขายพระเครื่องแบบ "แบกะดิน" ใต้ต้นมะขามริมท้องสนามหลวง เมื่อการแลกเปลี่ยนซื้อขายพระเครื่องได้รับความนิยมมากขึ้น "ตลาด" ก็ย้ายไปอยู่ที่ "ร้านกาแฟ" ใกล้เคียงข้างที่ทำการศาล และเมื่อตลาดขยายตัว ก็ย้ายไปที่บริเวณวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ตราบจนกระทั่งต้นทศวรรษ 2500 ตลาดพระเครื่องที่วัดมหาธาตุ เป็นเสมือน "ตลาดกลาง" ของวงการพระเครื่องไทย

การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของ "ตลาดพระเครื่อง" ช่วยหนุนเสริมสถานะของพระเครื่องเหนือเครื่องรางอื่นๆ มากยิ่งขึ้น ในด้านหนึ่ง "ตลาดพระเครื่อง" เป็นประหนึ่ง "ห้องเรียน" ที่ให้การศึกษาเรื่องพระเครื่องแก่ผู้เริ่มเข้าวงการ ไม่ว่าจะเป็นการดู "ของแท้-ของปลอม" หรือความรู้ว่าพระเครื่องกรุไหนหรือที่สร้างโดยพระเกจิรูปใดมี "คุณวิเศษ" อย่างไร เหมาะสมกับ "การใช้สอย" ทางใด "ตลาดพระเครื่อง" ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาจึงช่วยทำให้พระเครื่องเป็นเรื่องที่มีหลักวิชาสามารถคาดการณ์ได้ มีความน่าเชื่อถือ และเมื่อเป็น "เครื่องราง" ที่สามารถคาดการณ์ได้ ก็สามารถ "จัดระเบียบกำกับควบคุม" ไม่ถูกหลอกหรือนำไปใช้อย่างไม่มีหลักเกณฑ์ได้ คุณสมบัติใหม่ของพระเครื่องในด้านนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นกับเครื่องรางประเภทอื่นๆ

นอกจากนั้น ตลาดพระเครื่องยังทำหน้าที่เป็น "ตลาด" ในทางเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้พระเครื่องสามารถแลกเปลี่ยนซื้อหาได้อย่างสะดวก เป็นที่ๆ "ผู้ซื้อ" สามารถหาซื้อพระเครื่องที่ตนแสวงหาได้ตรงตามความต้องการในการใช้สอย เป็นแหล่งกลางที่ "ผู้ผลิต-ผู้ขาย" กับ "ผู้ซื้อ-ผู้บริโภค" พบปะต่อรองเจรจากันอย่างตรงไปตรงมา และทำให้พระเครื่องมีสถานะเป็น "สินค้า" ที่ไม่เพียงมี "มูลค่าทางตลาด" แต่ยังมี "สภาพคล่องทางตลาด" อีกด้วย

หน้าที่ของตลาดพระเครื่องดังกล่าวข้างต้นยิ่งช่วยตอกย้ำความนิยมพระเครื่องในหมู่สาธารณชนเหนือเครื่องรางอื่นๆ ซึ่งไม่มีตลาดกลางของการแลกเปลี่ยนซื้อขายและให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นเหมือนตลาดพระเครื่อง ในด้านหนึ่ง การก้าวขึ้นเป็น "สุดยอด" เครื่องรางของพระเครื่องในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นผลของ "พลังตลาด" อย่างแท้จริง

ประการที่สาม คือความตื่นตัวของการศึกษาพระเครื่องอย่างเป็นระบบในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่มีทั้งวิธีการและเนื้อหาที่เป็นวิทยาศาสตร์. จริงอยู่ที่ว่า ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 25 (ประมาณปลายรัชกาลที่ 5) เป็นต้นมา จะมีการศึกษาพระพิมพ์โบราณอย่างเป็นระบบทางวิชาการมาแล้ว แต่นั่นก็เพียงมุ่งศึกษาพระพิมพ์โบราณในฐานะที่เป็นโบราณวัตถุประเภทหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของมรดกวัฒนธรรมทางศาสนา และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของชาติ แต่มาในช่วงปลายพุทธศตวรรษเดียวกันนี้ เริ่มเกิดกระแสการศึกษาพระเครื่องในฐานะที่เป็นเครื่องรางขึ้นมาอย่างแท้จริง

ใน พ.ศ. 2494 ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เริ่มต้นงานเขียนขนาดยาวหลายตอนจบ เรื่อง "ประวัติและเกียรติคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)" ซึ่งเป็นการศึกษาประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง และพระเครื่องที่สมเด็จโตสร้างขึ้นอย่างละเอียดพิสดาร ทยอยตีพิมพ์ในนิตยสารตำรวจ ระหว่าง พ.ศ. 2494-2502 ต่อมาใน พ.ศ. 2495 ร.อ. หลวงบรรณยุทธชำนาญ ก็ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ พระพิมพ์เครื่องรางกับพระพุทธบูชา

แต่งานเขียนที่สำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อการที่พระเครื่องก้าวขึ้นสู่ "สุดยอด" ของเครื่องรางไทยก็คือ งานชุด "ไตรภาค" ในชื่อ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ รวม 3 เล่มของ พล. ต. ประจญ กิตติประวัติ ภายใต้นามปากกา "ตรียัมปวาย" โดย

เล่มที่ 1 ว่าด้วยพระสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2495 หนาประมาณ 300 หน้าพร้อมภาพประกอบนับร้อยภาพ มีการตีพิมพ์ซ้ำอีก 3 ครั้งใน พ.ศ. 2497 2505 และ 2511

เล่มที่ 2 ว่าด้วยพระนางพญาพิษณุโลก ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2497 และตีพิมพ์ซ้ำใน พ.ศ. 2508

เล่มที่ 3 ว่าด้วยพระรอด เมืองลำพูน ซึ่งหนากว่า 600 หน้า ภาพประกอบกว่าร้อยภาพ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2503 การตีพิมพ์แต่ละครั้งของหนังสือชุดนี้ ประมาณ 2,000-5,000 เล่ม สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและอิทธิพลของงานเขียนชุด "ไตรภาค" นี้ได้เป็นอย่างดี

งานเขียนอีกเล่มที่น่าสนใจและสะท้อนความจริงจังของการศึกษาพระเครื่องอย่างเป็นวิชาการ รวมทั้งการตอบสนองของสาธารณชนที่มีต่องานเขียนเชิงวิชาการเกี่ยวกับพระเครื่องในช่วงนี้คือ นามานุกรมพระเครื่อง ของ พินัย ศักดิ์เสนี ใน พ.ศ. 2502 ซึ่งหนากว่า 800 หน้า พร้อมภาพประกอบ มีลักษณะเป็น "สารานุกรม" ของพระเครื่องที่เป็นที่นิยมกันจากทั่วประเทศ เรียงลำดับตามตัวอักษร

งานเขียนสำคัญเกี่ยวกับพระเครื่องทั้งหมดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้มุ่งเน้นการเล่าเรื่องราว "อภินิหาร" ของพระเครื่องอย่างดาดๆ ทื่อๆ หวือหวา ก่อกระแสเร้าอารมณ์ให้ผู้คนหลงงมงาย ตรงกันข้าม งานเขียนเหล่านี้เป็นผลงานการศึกษาอย่างค่อนข้างจริงจังหนักแน่น เต็มไปด้วยการอ้างอิง อาศัยการวิเคราะห์ ด้วยหลักวิชาการต่างๆ และมุ่งยกระดับการศึกษาพระเครื่องเป็นการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์

ไม่เพียงแต่ที่งานเขียนเหล่านี้เจาะทะลุทะลวงลงไปในหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ศิลปะ เอกสารประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี และมุขปาฐะ อย่างกว้างขวาง เพื่อบรรยายประวัติของการสร้างพระเครื่อง กรรมวิธีการสร้าง มวลสารที่ใช้ ประวัติการค้นพบ รวมถึงประวัติของวัดที่เกี่ยวข้องหรือชีวประวัติ ปฏิปทา และคุณวิเศษของพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างอย่างพิสดารละเอียดละออ ซึ่งทำให้ "พระเครื่อง" มี "ประวัติศาสตร์" และ "ความจริงของการดำรงอยู่" มากกว่าการเป็นเพียงวัตถุและอำนาจลี้ลับที่จับต้องไม่ได้เท่านั้น แต่ยังมีความพยายามอย่างจริงจังหนักแน่นที่จะอภิปรายถกเถียงถึงคุณค่าของพระเครื่องอย่างเป็นเหตุเป็นผล ดังที่ ตรียัมปวายได้สรุปสารประโยชน์ในการนิยมพระเครื่อง ไว้ถึง 13 ข้อ ปรากฏอยู่ใน "อารัมภกถา" ของ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 1 โดยไม่เพียงเน้นอำนาจแห่งพุทธานุภาพ แต่ยังรวมถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณ ศาสนธรรม และสุนทรียภาพ อันมีอยู่ในพระเครื่องทั้งหลาย

ประการสำคัญ ในความเห็นของตรียัมปวาย พลานุภาพของพระเครื่องเป็นสิ่งที่อธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์ และด้วยเหตุดังนั้น ในการอภิปรายเพื่อปกป้องความเป็นวิทยาศาสตร์ของพลานุภาพของพระเครื่อง ตรียัมปวายจึงใช้ทั้งภาษาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ

"คำสอนของ [พระตถาคตเจ้า] เป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง (Buddha's pure science) คือบุคคลมีกรรมเป็นของตน กรรมอาจแยกเป็นสองกรณีย์ คือ กรรม (Actions) และผลกรรม (Reactions)…แท้ที่จริงมายาศาสตร์ [Magics] ก็คือวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งนั่นเอง เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต (Science of Mind) ร่วมกับวิทยาศาสตร์ทางรูป (Science of Shapes) ...การบรรจุเวทย์มนต์ลงยังของขลังนี้...ก็มิใช่อะไรอื่นนอกจากการเรียกหรือดึงดูดพลังงานที่สิงอยู่ตามธรรมชาติต่างๆ ที่เรียกกันว่า "พลังงานสถิต" เพื่อให้พุ่งมาสู่พิธีกรรมนั้น เทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์...เป็นพลังงานซึ่งมีสภาพเป็นคลื่นหรือพลังงานสถิต...เครื่องรางที่ผู้วิเศษประดิษฐ์ขึ้นนั้น... ถ้าจะวิจารณ์ในแง่วิทยาศาสตร์ก็เปรียบได้เสมือนหนึ่งการบรรจุหรือเก็บพลังงานจากแหล่งหนึ่งลงไว้ยังวัตถุสิ่งหนึ่ง เช่น การเก็บคลื่นเสียงลงในแผ่นเสียงหรือเครื่องบันทึกเส้นลวด การประดิษฐ์ภาพยนตร์เสียง การบรรจุกระแสไฟฟ้าลงในแบตเตอรี่ การผลิตแร่เรเดียม ตลอดจนการผลิตระเบิดปรมาณู เป็นต้น

ซึ่งเป็นการถ่ายทอดพลังงานจากสิ่งหนึ่งไปเก็บไว้ในอีกสิ่งหนึ่ง หรือการแปลงพลังงานจากรูปหนึ่งให้เป็นอีกรูปหนึ่ง และเอาไปเก็บไว้ในวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง...ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง อาการแสดงออกซึ่งคุณวิเศษของเครื่องรางนั้น อาจเป็นรูปของวัตถุที่มีรังษีกัมมันตภาพ (Radioactive of substance) ก็ได้ ทั้งนี้ เพราะเครื่องรางนั้นๆ มีพลังงานหรือปราณอันเร้นลับสิงอยู่ ซึ่งผู้เขียนอยากเรียกว่า "รังษีกัมมันตภาพแห่งจิต" (Radioactivity of minds) หรือ "รังษีกัมมันตภาพแห่งไสย์" (Radioactivity of magics) และพลังงานรูปนี้จะแผ่ออกไปรอบๆ ปริมณฑล (Radiation) ในรูปลักษณะคลื่นหรือรังษีที่มีความถี่สูงยิ่งกว่าสิ่งใดๆ และพลังงานส่วนนี้เองที่บันดาลให้เกิดความมหัศจรรย์ต่างๆ ขึ้นได้แล้วแต่จะเป็นคลื่นชนิดใด

ถ้าเป็นชนิดเมตตามหานิยมก็ให้แสดงผลทางเมตตามหานิยม หมายความว่าคลื่นชนิดนี้ไปต้องผู้ใดเข้า ผู้นั้นก็บังเกิดความเมตตากรุณาต่อผู้ใช้ ถ้าเป็นลักษณะคลื่นชนิดมหาอุด ก็จะบังเกิดผลในลักษณาการของคลื่นหรือรังษีแผ่ตัวไปยังปืน และทำลายคุณสมบัติของดินชะนวนกระสุนเสียชั่วขณะ ทำให้ปืนยิงไม่ออกได้จริงๆ ถ้าเป็นชนิดแคล้วคลาด ก็หมายความว่ารังษีอันไม่สามารถมองเห็นได้ของเครื่องรางนั้น แผ่ออกไปโดยรอบปริมณฑลของผู้ใช้ ย่อมมีพลังงานผลักดันวิถีกระสุนอาวุธทั้งมวลและสรรพอันตรายใดๆ ให้เบนออกไปจากบริเวณรัศมีของผู้ใช้ได้ และถ้าเป็นชนิดคงกะพัน ก็หมายความว่าพลังงานหรือรังษีเหล่านี้แผ่ซึมซาบไปทั่วทุกขุมขนของผู้ใช้ ย่อมสามารถฉาบหรือยาผิวหนังให้ทานทนต่อคมศาสตราวุธใดๆ ได้ดุจเกราะอันวิเศษ..."

การยืนยันคุณค่าด้านต่างๆ ของพระเครื่องด้วยเหตุด้วยผล การทำให้พระเครื่องเป็นสิ่งที่มี "ประวัติศาสตร์" และการอธิบายพลานุภาพของพระเครื่องด้วยภาษาวิทยาศาสตร์และอิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างที่เห็นข้างต้น ดูจะสอดคล้องสนองตอบรสนิยมของคนชั้นกลางผู้มีการศึกษาในเมืองที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การขยายตัวของตลาดพระเครื่องและ "มูลค่า" ของพระเครื่องที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงนี้ น่าจะยืนยันบทบาทความสำเร็จของ "อำนาจ" และ "เสน่ห์" ของการอธิบายพระเครื่องอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

สรุป
กล่าวโดยสรุป ในขณะที่การมาถึงของ "กึ่งพุทธกาล" กระตุ้นเร้าความตื่นตัวในพุทธศาสนาและการสร้างพระเครื่องอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นล่างของสังคมไทยที่ยังมีความศรัทธาแน่นแฟ้นมั่นคงในพุทธพยากรณ์ และอานิสงส์ของการทำบุญเพื่อสืบพระศาสนานั้น การเกิดขึ้นมาของ "ตลาดพระเครื่อง" และ "การยกระดับการอธิบาย" พลานุภาพของพระเครื่องในกรอบของความรู้ทางประวัติศาสตร์ (ซึ่งในด้านหนึ่ง ก็เป็น "วิทยาศาสตร์" ด้วย) และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ด้วยภาษา (และจินตนาการ ?) ของวิทยาศาสตร์ ได้ทำให้ในสายตาของคนชั้นกลางผู้มีการศึกษาในเมือง ที่รับรู้ "ความจริง" ของพระเครื่องโดยผ่าน "การอ่านหนังสือ" นั้น พลานุภาพหรือ "ความขลัง" ของพระเครื่อง จึงไม่ใช่เรื่องงมงายไร้สาระอีกต่อไป หากเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง สามารถจับต้องได้ และสนองตอบต่อรสนิยมและความต้องการตามอุดมคติแบบทางโลกได้จริง ความนิยมในพระเครื่องในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงแผ่ขยายออกไปอย่างเข้มข้น ไต่ระดับความนิยมขึ้นไปดำรงสถานะของ "สุดยอด" เครื่องราง เหนือเครื่องรางอื่นๆ มาจนถึงปัจจุบัน

+++++++++++++++++++++++++++++++++

(บทความสั้นฉบับลำลองประกอบการอภิปรายชิ้นนี้ สรุป ย่อ และขยายความ จากส่วนหนึ่งของบทความของผู้เขียนชื่อ "The Regionalization of Local Buddhist Saints: Amulets and Crime and Violence in Post WW II Thai Society" ซึ่งยังเป็นเพียงฉบับร่าง และรอการแก้ไขเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไปในเวลาอันสมควร)

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com