บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
รวมบทปาฐกถาของสุลักษณ์
ศิวรักษ์ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๐
ส.ศิวรักษ์:
สุนทรกถาบ่อนอก ธรรมศาสตร์ และลานพระบรมรูปทรงม้า
สุลักษณ์
ศิวรักษ์
: ปาฐก
นักวิชาการอาวุโส ผู้ได้รับฉายาปัญญาชนสยาม
บทปาฐกถาเหล่านี้
กองบรรณาธิการได้รับมาจากฝ่ายเลขาฯ ปาฐก
ซึ่งได้แสดงในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๕๐ ประกอบด้วย
- สุนทรกถา บ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์
(เนื่องในงานรำลึกใหญ่ ๓ ปี สิ้นเจริญ วัดอักษร
ณ ศูนย์การเรียนรู้ภาคประชาชน บ้านบ่อนอก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๐)
- ร่างคำปราศรัยของ ส. ศิวรักษ์ สำหรับวันที่ ๒๔ มิถุนายน
๒๕๕๐ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า
- ธรรมศาสตรพจน์ (แสดง ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐)
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๒๙๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รวมบทปาฐกถาของสุลักษณ์
ศิวรักษ์ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๐
ส.ศิวรักษ์:
สุนทรกถาบ่อนอก ธรรมศาสตร์ และลานพระบรมรูปทรงม้า
สุลักษณ์
ศิวรักษ์
: ปาฐก
นักวิชาการอาวุโส ผู้ได้รับฉายาปัญญาชนสยาม
1. สุนทรกถา บ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์
๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๐
(๑)
งานวันนี้สำคัญ ไม่เพียงเป็นวันสิ้นเจริญ วัดอักษร ซึ่งตายแต่ตัว แต่ชื่อยังลือนาม
ปรากฏอยู่อย่างเป็นอมตะ และต่อแต่นี้ไปอีกสามวัน จะเป็นโอกาสครบค่อนศตวรรษประชาธิปไตย
ซึ่งถูกปู้ยี้ปู้ยำมาเกือบจะโดยตลอด จากชนชั้นปกครอง เฉกเช่นที่เจริญและราษฎรตาดำๆ
ถูกกระทำมาเป็นระลอกๆ นั้นแล และแล้ววันที่ ๓๐ มิถุนายน (จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ก็จะเป็นงานปาฐกถาเจริญ วัดอักษร ที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาคม ในพระนคร เหตุการณ์ทั้ง
๓ วาระนี้ เป็นการแสดงจุดยืนของคนธรรมดาสามัญ ซึ่งจักไม่ยอมให้ชนชั้นบนใช้เล่ห์เพทุบายเอาเปรียบได้อีกต่อไปเท่าไรนักแล้ว
ชัยชนะต้องเป็นของประชาชน
อนุสาวรีย์เจริญ วัดอักษร:
ทรนง ณ ธรณี
รูปนี้ แม้จะมีใบหน้าคล้ายเจริญ วัดอักษร แต่ประติมากรรมชิ้นนี้ เป็นตัวแทนของคนชั้นล่าง
ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด จากราชาที่ดิน จากนักการเมือง นักธุรกิจการค้า
และคนอื่นๆ ที่หากินกับบรรษัทข้ามชาติ อย่างเห็นแก่ตัว อย่างไม่เห็นหัวคนส่วนใหญ่
ทั้งยังเอาเปรียบธรรมชาติอย่างสุดๆ อีกด้วย
ความทรนงของประติมากรรมชิ้นนี้ ไม่ใช่เป็นการอวดดี แต่เป็นการตื่นตัวขึ้นของผู้คนที่ถูกสะกดให้สยบยอมมานาน โดยมีคนอย่างเจริญและมิตรสหายทั้งที่จังหวัดนี้และจังหวัดอื่นๆ ที่กาญจนบุรี สงขลา อุดร ฯลฯ ที่พากันรวมตัวต่อต้านการทำลายล้างทรัพยากรทางธรรมชาติ การเอารัดเอาเปรียบของนายทุนและบรรษัทข้ามชาติ ความทรนงของคนเหล่านี้ แนบสนิทอยู่กับแม่พระธรณี ย่อมจักต้องมีชัยชนะ ดังเมื่อพระมหาสัตว์ จะตรัสรู้ จนชนะมาร ก็โดยที่แม่พระธรณีออกมาบิดมวยผมสนับสนุนพระบารมีของพระบรมโพธิสัตว์ นั้นแล
การต่อสู้ของมวลชน ที่เป็นไปอย่างสันติวิธี ด้วยทรนง คือไม่ก้มหัวให้กับมาร หากทรนงอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างรวมพลังของทวยราษฎร์ ด้วยสามัคคีธรรม นั้นแลคือชัยชนะที่แท้ แม้จะไม่ใช่บัดนี้ เดี๋ยวนี้ แต่ถ้าเราทำใจไว้ให้เป็นกุศล ใช้ขันติธรรม และพรหมวิหารธรรมเป็นแกนกลาง มารย่อมพ่ายแพ้ไปในที่สุด
จิตรกรรมฝาผนังเปรียบเทียบ
ใช่แต่เท่านั้น เจ้าอาวาสวัดสี่แยก บ่อนอก ยังมอบให้ศิลปินเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในโรงอุโบสถ
เพื่อให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาของประชาชนชาวบ่อนอก ที่ต่อสู้กับอธรรมอย่างน่าสนใจนัก
ถ้าศาสนาหันมาอยู่ฝ่ายคนยากไร้ วัดใช้ความงาม แสดงออกซึ่งความจริง นั่นย่อมเป็นความดี
ที่จักเป็นพลังในทางที่ถูกที่ควร สำหรับการเอาชนะมาร ในระดับท้องถิ่น ซึ่งต่อไปอาจขยายเป็นระดับชาติและระดับนานาชาติก็ได้
โดยที่ก่อนหน้านี้ วัดรับใช้ศักดินาขัตติยาธิปไตยมาอย่างจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ดังภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดสุวรรณดาราราม ที่อยุธยา ซึ่งถือว่าเป็นวัดดั้งเดิมของต้นราชวงศ์จักรีนั้น เขียนเรื่องพระนเรศวรและการทำยุทธหัตถี ทั้งๆ ที่นั่นคือวิหิงสธรรม ซึ่งขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาในทางอหิงสวิธี ทั้งนี้ก็เพื่ออ้างว่าพระนเรศวร เป็นต้นราชตระกูลของจักรีวงศ์
ภาพที่ว่านี้เขียนตอนปลายสมัยราชาธิปไตย ส่วนภาพที่เขียนตอนปลายสมัยของรัชกาลปัจจุบันนั้น คือจิตรกรรมฝาผนังรอบพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม ซึ่งกำหนดไว้ว่า พ่อฉิม ลูกหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) กับแม่นาค เกิดที่นั่น ก่อนปราบดาภิเษกเป็นเจ้าขึ้น แล้วในรัชกาลปัจจุบัน จึงโปรดให้เขียนจิตรกรรมฝาผนังเฉลิมพระเกียรติพ่อฉิม ซึ่งกลายมาเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทั้งๆ ที่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไร้สมรรถภาพเกือบที่สุดพระองค์หนึ่ง ทั้งยังโหดเหี้ยมในการสั่งฆ่าญาติพี่น้องเสียมากมายก่ายกอง ในข้อกล่าวหาว่า อีกาคาบเท็จมาทูลฟ้อง จนเกิดกรณีกบฏเจ้าฟ้าเหม็นขึ้น ทั้งที่เจ้าฟ้าเหม็นก็ลูกของพี่สาวแท้ๆ เลยทีเดียว โดยที่คนอื่นๆ ก็พลอยตายไปด้วยอีกมิใช่น้อย แต่ความข้อนี้ไม่ปรากฏในภาพจิตรกรรมรอบพระอุโบสถดังกล่าวเอาเลย
การบิดเบือนประวัติศาสตร์โดยชนชั้นบน เพื่อมอมเมาชนชั้นล่างนั้น เป็นมาเกือบจะโดยตลอด แต่การเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถเพื่อจะยกย่องผู้คน ซึ่งเป็นชนชั้นบนนั้น เพิ่งเริ่มในรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๙ นี่เอง ฉะนั้น การที่วัดสี่แยก บ่อนอก แหวกแนวออกมา ให้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในโรงอุโบสถ เพื่อเชิดชูวีรกรรมของคนธรรมดาสามัญที่ต่อสู้กับอธรรมนั้น จึงนับว่าน่าอนุโมทนา ในขณะที่พระสังฆาธิการส่วนใหญ่สยบยอมกับศักดินาขัตติยาธิปไตยอย่างสุดๆ หรืออย่างเซื่องๆ พร้อมกับที่พระคุณเจ้านั้นๆ ก็พากันหันไปในทางไสยเวทวิทยา ทั้งอย่างเก่าอันได้แก่วัตถุมงคลต่างๆ และอย่างใหม่อันได้แก่เทคโนโลยีและความทันสมัยทั้งหลาย ที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ ทั้งหมดนี้รวมสรุปลงได้ในลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมนั่นเอง กล่าวคือ พระคุณเจ้าส่วนใหญ่นิยมความโลภ คือทุนนิยม บริโภคนิยม ความโกรธ คืออำนาจนิยม และความหลง คือความงมงายต่างๆ โดยทีทั้งสามอย่างนี้ รวมเรียกว่าอกุศลมูล คือต้นตอที่มาแห่งความชั่วร้ายนั้นแล
จิตรกรรมฝาผนังในโรงอุโบสถของวัดสี่แยก บ่อนอก ปลุกมโนธรรมสำนึกของผู้คนในทางจิตรกรรมฉันใด รูปปั้นทรนง ณ ธรณี ก็ปลุกมโนธรรมสำนึกของผู้คนในทางประติมากรรมฉันนั้น ทั้งคู่นี้ชี้ให้เห็นว่าคนธรรมดาสามัญอย่างเราๆ นั้นแล คือความหมายอันควรแก่การทรนง หากให้สยบยอมกับแม่พระธรณี ในขณะที่อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นไว้ในจังหวัดต่างๆ ล้วนแสดงออกถึงการที่เผด็จการและสมบูรณาญาสิทธิราชย์กดขี่ ข่มเหงราษฎรแทบทั้งนั้น
อนุสาวรีย์เปรียบเทียบ
อนุสาวรีย์ ป. พิบูลสงคราม ที่ลพบุรี ส. ธนะรัชต์ ที่ขอนแก่น และ ผ. ศรียานนท์
ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน นครปฐม เป็นตัวแทนของเผด็จการที่เลวร้าย โกงกิน
ทั้งยังเป็นฆาตกรที่สังหารคนดีมาเสียนักต่อนัก รวมถึงการทำลายประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ
และห้ำหั่นขบวนการของราษฎรทั้งหลายอีกด้วย แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังแลไม่เห็นถึงสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายดังกล่าว
อนุสาวรีย์ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ที่อุดรธานี กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ที่อุบลราชธานี คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการขยายอิทธิพลของราชธานี ออกไปปู้ยี้ปู้ยำวัฒนธรรมท้องถิ่นและการปกครองตนเองของชนชาติไทลาวทางภาคอีสาน แต่ผู้คนก็ถูกมอมเมาให้กราบไหว้รูปเจ้าต่างๆ เหล่านี้ แม้เจ้าบางคนจะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม อย่างเช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ที่อ้างว่าเป็นบิดาของกฎหมายไทยนั้น ก็มีความเลวร้ายในทางเผด็จการมิใช่น้อยเอาเลย แต่ก็ไม่มีการเอ่ยถึงกัน ดังนั้นผู้คนในวงการศาล จึงมีความเป็นเผด็จการ ตามแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่มิใช่น้อย แม้จนบัดนี้แล้วก็ตาม
อนุสาวรีย์ของเจ้าองค์อื่นๆ นอกไปจากนี้นั้น กลายเป็นเทพเจ้าไปแล้วก็มี เช่นเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ หรือเสด็จพ่อ ร. ๕ ทั้งนี้คือการโยงเอาไสยเวทวิทยามารับใช้ศักดินาขัตติยาธิปไตย หรือมิใช่? สามัญชน ที่ได้รับยศถาบันดาศักดิ์ขึ้นมาแล้ว ก็เนรมิตให้ศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ในแนวทางนี้ได้ เช่น ท้าวสุรนารี ที่นครราชสีมา แม้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ซึ่งเป็นเสียงแห่งมโนธรรมสำนึก ที่คอยเตือนสติอาณาจักร ไม่ให้เลวร้ายมากเกินไป หากให้อยู่ในกรอบของธรรมจักร ที่มีความพอดีเป็นกรอบ ซึ่งควรเป็นไปในทางเสมอภาคยิ่งๆ ขึ้น โดยมีภราดรภาพเป็นแกน เพื่อจักเข้าได้ถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง และแล้วรูปเคารพที่อ้างว่าสร้างถวายพระคุณเจ้า ก็กลายไปเป็นไสยเวทวิทยาที่มอมเมาผู้คนอย่างน่ารังเกียจ และอย่างน่าสงสารยิ่งนัก
อนุสาวรีย์อย่างที่เราทำพิธีเปิดกันในวันนี้ ต่อไปจะมีที่จังหวัดอื่นๆ ด้วย โดยเอาอนุสาวรีย์ทรราชออกไป ให้มีรูปอาสภมหาเถระขึ้นมาแทนที่ ส. ธนะรัชต์ ที่ขอนแก่น มีอนุสาวรีย์เตียง ศิริขัณฑ์ ที่สกลนคร อนุสาวรีย์จำลอง ดาวเรือง ที่มหาสารคาม ถวิล อุดล ที่ร้อยเอ็ด ฯลฯ และไม่แต่เพียงรูปปั้น ต่อไปเราจะมีมหาวิทยาลัยเตียง ศิริขัณฑ์ ที่สกลนคร แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดังที่มหาวิทยาลัยในอนาคตจะไม่ผูกขาดอยู่กับชื่อของคนในสกุลเดียวอีกต่อไป
(๒)
อนึ่ง พึงตราเอาไว้ว่า เมืองไทยในบัดนี้มีความเป็นไปในสองกระแสหรือสองหนทาง ซึ่งสวนกัน
กระแสหลัก
กระแสหนึ่งหรือหนทางหนึ่ง รวมเรียกได้ว่าแนวทางหลัก หรือกระแสหลัก ผู้ซึ่งสมาทานแนวทางนี้คือคนที่ตั้งตนเป็นชนชั้นบน
ที่เป็นฝ่ายอำนาจนิยม ทุนนิยม และอัตตนิยม ในแนวทางของโลกาภิวัตน์ ซึ่งถือว่าคำตอบต้องมาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างฝรั่ง
วิชาการต่างๆ ก็ล้วนได้รับมาจากฝรั่ง ไม่ว่าจะสังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ แม้จนแพทยศาสตร์
ยิ่งพวกที่เรียนจบมาจากทิศาปาโมกข์ฝรั่งด้วยแล้ว ยิ่งอ้าขาผวาปีก เห็นว่าสยามจำต้องเดินตามก้นฝรั่งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
เทคโนโลยีล่าสุดคือคำตอบ ทุนนิยมคือคำตอบ แม้บรรษัทข้ามชาติจะน่ากลัว แต่เราก็น่าจะฉลาดพอที่จะปรับตัวเข้ากับมันได้
หาไม่เราก็เป็นพวกมันไปเลย อย่างบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทชินวัตร เป็นตัวอย่าง
รวมถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตรย์ด้วย
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเป็นไปในทางที่จะพยุงชนชั้นบนไว้ให้เหนือชนชั้นล่าง เมื่อชนชั้นบนดี (แปลว่าอะไร) และมีความสามารถ ย่อมอาจตัดสินชะตากรรมให้บ้านเมืองได้ ถ้าจำเป็น ชนชั้นล่างก็ต้องยอมเสียสละ เพื่อมหาชนคนส่วนใหญ่ และเพื่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญก็ต้องรับใช้ไตรสรณาคมอย่างใหม่ที่ว่านี้ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ชาติก็คือตัวแทนของคนที่มีอำนาจ อันได้แก่ทหารชั้นสูง ที่ถือดีว่ามีความรู้ความสามารถทุกทาง โดยเฉพาะหลังจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา พวกนี้อ้าขาผวาปีกยิ่งๆ ขึ้น โดยไม่สำนึกเลยว่าพวกตนเป็นดังกบที่อยู่ในกลาครอบ พวกนี้อ้างความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ที่อยากถามก็คือจริงแท้แน่ละหรือ พวกตนเข้าใจในเรื่องสถาบันกษัตริย์เพียงใด ที่ไม่ใช่ความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ พร้อมๆ กันนี้ คนพวกนี้ต้องการเอาศาสนามารับใช้ตนและพวกตน อันได้แก่ศาสนาประจำชาติ ศาสนาของคนอื่นด้อยกว่าเรา เราต้องเอาชนะมัน ถ้ามันไม่สยบยอมกับเรา ชาวบ้านที่ยากไร้ โง่เขลาเบาปัญญาและบัดซบ
ไม่แต่ทหารตัวเขื่องๆ เท่านั้นที่เป็นตัวแทนกระแสหลัก นักการเมืองกระแสหลัก นักการค้ากระแสหลัก และนักวิชาการกระแสหลัก รวมถึงผู้ที่กุมสื่อมวลชนกระแสหลักด้วย ก็เป็นเช่นนี้แทบทั้งนั้น พวกนี้ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตน ดูถูกคนจน และรับฟังไม่ได้ถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ ที่ท้าทายเขาและพวกเขา โดยเขาอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของศักดินาและพระมหากษัตริย์อย่างไม่เปิดโอกาสให้ตรวจสอบ ไม่ให้โปร่งใส
พวกนี้เป็นทาสปัญญาของฝรั่งกระแสหลัก อย่างไม่เคยตักนำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาตัวเองเลย ว่าตนเห็นแก่ตัวและมัวเมาไปในทิศทางใดบ้าง สิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์นั้น จริงละหรือ การยึดมั่นถือมั่นต่างๆ นั้น เป็นทุกขสัจหรือเปล่า และอะไรๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปในทางอนิจลักษณะ จนเข้าถึงอนัตตลักษณะ หรือมิใช่ แม้นี่จะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา แต่พวกนี้ ถือเอาพุทธศาสนาเป็นลัทธิความเชื่ออย่างงมงาย เฉกเช่นความงมงายในเรื่องชาติ และเรื่องสถาบันกษัตริย์นั่นเอง
กระแสรอง
สำหรับผู้ที่อยู่ในกระแสรองนั้น ได้แก่คนยากไร้ ปลายอ้อปลายแขม ซึ่งเผชิญความทุกข์มาจากโครงสร้างอันอยุติธรรม
และถูกชนชั้นบนเอารัดเอาเปรียบมานานาประการ ยิ่งในรอบสองสามทศวรรษนี้ ยิ่งเลวร้ายลงไปมากยิ่งขึ้น
แต่คนพวกนี้ก็ยังใกล้ชิดกับธรรมชาติ ยังใกล้ชิดกันและกันในทางชุมชน มีภูมิปัญญาชาวบ้าน
มีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ได้รับมาจากธรรมจักรของพุทธศาสนา หรือศาสนธรรมจากศาสนาอื่น
เช่น คริสต์ อิสลาม และการนับถือผีของชนเผ่าต่างๆ อย่างกล้าท้าทายกระแสหลัก ซึ่งจะถลำไปให้บรรษัทข้ามชาติ
และจักรวรรดิอเมริกันอย่างใหม่ยิ่งขึ้นทุกที
แต่แล้วชนชั้นบนในกระแสหลักกลับแลไม่เห็นคุณธรรมของคนพวกนี้เอาเลย แม้เขาจะตั้งเป็นสมัชชาคนจน และมีพลังมวลชนไปในทางสันติวิธีอย่างควรเรียนรู้จากเขา แต่คณะ คมช. ก็ดูถูกเขา เอารัดเอาเปรียบเขา ดูจะยิ่งกว่าสมัยทักษิณ ชินวัตรเสียอีกด้วย ทั้งๆ รัฐบาลทักษิณก็ฉ้อฉลและเอาเปรียบคนจนมามาก หากเขามีอุบายวิธีที่ล่อหลอกคนยากไร้ได้อย่างชาญฉลาดมิใช่น้อย
ชนชั้นกลางที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายเทคโนโลยีอย่างใหม่ ที่ให้ประโยชน์กับบรรษัทข้ามชาติและคนรวยกับชนชั้นปกครองจำนวนน้อย ก็ตื่นตัวออกมาจากกระแสหลักยิ่งๆ ขึ้น เพราะเห็นว่าความทันสมัยเป็นตัวทำลายธรรมชาติและปู้ยี้ปู้ยำทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างเห็นแก่ตัว ไม่ว่าจะชาวบ่อนอก บ้านกรูด กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ กลุ่มต่อต้านท่อแก๊ซไทย-มาเลเซีย สงขลา หรือกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่โปตาส ที่อุดรธานี
คนพวกนี้เรียนรู้ชีวิตจริง จากทุกขสัจทางสังคม และชนชั้นกลางเหล่านี้เรียนรู้จากผู้ยากไร้ โดยรวมตัวกันอย่างอหิงสา ยิ่งได้กวีและศิลปินมาร่วมด้วย การต่อสู้ย่อมเป็นไปทั้งทางความงามและความดี ยิ่งมีเวลาภาวนาในทางสันติวิธี ความงามและความดีย่อมเป็นไปทางความจริง ที่ไปพ้นความกึ่งจริงกึ่งเท็จ และกึ่งดิบกึ่งดี ที่ชนชั้นบนมอมเมามา
นิมิตดีก็ตรงที่คนรุ่นใหม่ แม้ในแวดวงของชนชั้นบน ก็ได้แลเห็นคุณค่าของแนวทางนอกกระแสหลักยิ่งๆ ขึ้นทุกที แม้นี่จะยังเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ก็เป็นเสียงแห่งความจริง ซึ่งเดินทางไปสู่ความดีกับความงาม จึงเชื่อแน่ว่าชัยชนะของกระแสทางเลือกจะเป็นไปได้ภายในเวลาอันไม่ช้านัก ดังชุมชนทางเลือกเช่นนี้มีมากขึ้นด้วยแล้วแม้ในเมืองฝรั่ง ดูเหมือนคนอเมริกันจะมีเวลาภาวนากันมากกว่าคนไทยเสียอีก
ภาวนามัย ทานมัย ศีลมัย
ภาวนามัยปัญญา คือ การประสานหัวใจให้เข้ากับหัวสมอง ให้มองเห็นธรรมอย่างเป็นองค์รวม
ไม่เป็นเสี่ยงๆ ย่อมลดความเห็นแก่ตัวลง เพื่อเลิกหรือละการอ้าขาผวาปีก หากเห็นว่าทุกๆ
คนสำคัญเท่ากับตัวเรา ยิ่งผู้ยากไร้ด้วยแล้ว เขาสำคัญยิ่งกว่าเราเสียอีก และเราควรอุทิศตนไม่เพียงเพื่อมนุษยชาติ
หากรวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหมดทั้งสิ้น
ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน เมื่อ ๗๕ ปีมาแล้ว เป็นวันเริ่มต้นของประชาธิปไตยไทย เพื่อให้ราษฎรได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นครั้งแรก นับว่ากระแสทางเลือกเอาชนะกระแสหลักได้ในเวลานั้น แต่แล้วกระแสหลักซึ่งใช้วิธีกดขี่ข่มเหงด้วยจริงปนเท็จก็กลับมาเป็นใหญ่ได้อีกแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ และ ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ที่พึงตราไว้ก็คือ เล่ห์เพทุบายดังกล่าวจะคงทนต่อการพิสูจน์ในทางสัจจะได้ไปอีกนานเท่าไร
งานวันนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นประการหนึ่ง
ซึ่งพวกเราต้องทรนง อย่างสยบยอมอยู่กับแม่พระธรณี โดยถือว่าทุกๆ คนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์
ในอันที่จะเอาชนะทุกขสัจทางสังคม เพื่อสัจธรรมจะได้กลับมาควบคู่ไปกับสังคมไทย
โดยมีความงามเป็นน้ำกระสาย และมีความดีรองรับให้ทุกๆ คนอยู่กินด้วยกันอย่างมีศักดิ์ศรีเสมอๆ
กัน
ตราบใดที่มนุษย์เน้นที่การอยู่ยิ่งกว่าการมี มนุษย์ก็จะเป็นผู้ให้ ยิ่งกว่าผู้รับ
ทานมัยจะเป็นปัจจัยหลักของชีวิต ตามมาด้วยศีลมัย คือการอยู่ร่วมกันอย่างลดการเอารัดเอาเปรียบ
เพื่อเจริญเติบโตอย่างพึ่งพิงกันและกัน และอยู่กินกันอย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ
โดยที่ทั้งหมดนี้ต้องมีภาวนามัยเป็นแก่น คือรู้จักมีเวลาให้กับตัวเอง อย่างติดยึดกับตัวตนน้อยลง
หากมีเวลาให้กับคนอื่นและสัตว์อื่น อย่างเต็มใจในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ยิ่งๆ
ขึ้น
ความสำคัญของวันที่ ๒๔
มิถุนายน
ขอย้ำว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันสำคัญของผู้คนในระดับล่าง และเป็นจุดเปลี่ยนหรือทางออกจากชนชั้นบนในกระแสหลัก
ที่กดขี่ข่มเหงชนชั้นล่างมาโดยตลอด จนตราบเท่าทุกวันนี้ จนคนส่วนใหญ่มองไม่เห็นความสำคัญของวันอภิวัฒน์ของไทยอีกต่อไปแล้ว
โดยที่ชนชั้นบนจะไปเน้นถึงความสำคัญของวันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งกลายมาเป็นวันชาติแทนที่วันที่
๒๔ มิถุนายน จนคนที่เกิดวันนั้นกลายเป็นบิดาของคนทั้งชาติไป ยิ่งปีนี้เป็นปีที่คนๆ
นั้น เฉพาะก็คนที่ถูกประหารชีวิตไปอย่างเจริญ วัดอักษร และนักการเมืองในอดีตอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
รวมถึงคนที่ชื่อเสียงถูกทำลายไปอย่างนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น แม้คนอย่างท่านผู้หญิงพูนศุข
พนมยงค์ ก็เคยถูกจองจำมาแล้ว และเมื่อท่านตายจากไป ชนชั้นบนก็ไม่ใยไพด้วยประการใดๆ
เราต้องทำให้พวกนั้นหันมาหาความจริงให้ได้ ให้เขามาเคารพ พวกที่ดัดจริตดีดดิ้นทั้งหลายเสียที
และเลิกการเป็นทาสปัญญาฝรั่งกระแสหลักได้แล้ว พูดให้เป็นรูปธรรมก็คือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ต้องเลิกไล่ผู้คนดังกับหมูกับหมา โดยเอาที่ไปสร้างอาคารอันมโหฬารให้บริษัทใหญ่ๆ
ทั้งไทยและเทศเช่า บนความยากไร้ของราษฎรตาดำๆ
พระอารามหลวงต่างๆ ก็ทำเช่นนี้ เช่นวัดยานนาวา วัดกัลยาณมิตร แม้จนวัดบวรนิเวศ แล้วยังจะเอาพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำชาติอีหรือ ทั้งๆ ที่พระส่วนใหญ่เป็นลูกคนจน แต่พอได้สมณศักดิ์สูงขึ้นกลายเป็นวัวลืมตีนไป แน่ละชนชั้นบนย่อมเปลี่ยนแปลงสำนึกของพวกเขาไม่ได้ เราทั้งหลายที่เป็นคนนอกกระแสหลัก ต้องเปลี่ยนจุดยืนของเรา เราต้องกล้าท้าทายความคิดกระแสหลัก เลิกสยบยอม เลิกนับถือในเรื่องชนชั้น หันมาเคารพตัวเราเอง และบรรพชนของเรา หันมาเคารพคนดีที่เป็นสามัญชน โดยมีอายุครบ ๘๐ ปีด้วยแล้ว คนข้างบนคงทุ่มเทเงินภาษีอากรที่ขูดรีดจากราษฎรทั้งทางตรงและทางอ้อมไปแสดงกฤษฎาภินิหารของคนๆ นั้นอย่างสุดๆ แม้คุณพิเศษนั้นๆ จะจริงหรือไม่ก็ตามที ดุดดังงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อปีกลายนี้นั้นแล
ถ้าพระราชาจะเป็นสัญลักษณ์ของประชาชาติที่แท้ งานเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ ปี ควรเสริมในทางที่จะทำนุบำรุง คือให้ไพร่ฟ้าหน้าใส ให้สมัชชาคนจนได้มีศักดิ์ศรี ให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลให้ชาวประมงได้มีอาชีพอันสุจริต ให้ชาวบ่อนอกปลอดไปจากการข่มเหงคะเนงร้าย สมดังที่อ้างๆ กันให้มีการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ให้ชนชั้นบนหันหน้ามาฟังคนข้างล่าง เลิกการหยิ่งยะโสคนดีในระดับรากหญ้าให้ได้ หาไม่เมืองไทยจะยังไปไม่พ้นจากมือมาร เราต้องทำกงจักรให้เป็นดอกบัวให้ได้
ส.
ศิวรักษ์ แสดงสุนทรกถา เนื่องในงานรำลึกใหญ่ ๓ ปี สิ้นเจริญ วัดอักษร
ณ ศูนย์การเรียนรู้ภาคประชาชน บ้านบ่อนอก
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๐
2. ร่างคำปราศรัยของ ส.
ศิวรักษ์
สำหรับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๐ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า
เวลาย่ำรุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าแห่งนี้
นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้อ่านคำประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎร
ซึ่งร่างขึ้นโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) นับเป็นการแสดงจุดยืนของคณะบุคคลที่เปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ
จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย โดยใช้อำนาจในทางศักดินาขัตติยาธิปไตย
สะกดให้คนธรรมดาสามัญเป็นเพียงไพร่บ้านพลเมือง หรือผู้อาศัยแผ่นดินอยู่ มาเป็นระบอบการปกครองอย่างใหม่
เพื่อให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรชาวสยาม ดังความข้อนี้ได้รับการยืนยันในธรรมนูญการปกครองฉบับแรก
ซึ่งประกาศใช้ในอีกสามวันต่อแต่นั้นมา
แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายนศกนั้น จะเป็นไปอย่างสันติ แต่การใช้กำลังทหารยึดอำนาจ หาได้ชื่อว่าเป็นอหิงสธรรมไม่ ดังจะเห็นได้ว่าผู้นำทางทหารเหล่านี้ ต่อมาก็แตกกันเอง และบางคนตั้งตนเป็นเจ้านายอย่างใหม่ โดยไม่เห็นคุณค่าของราษฎรส่วนใหญ่เอาเลย ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องกล่าวถึงการขัดแย้งกันระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ แม้จะมีการรอมชอมกัน จนรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ แสดงทีท่าว่าอำนาจเก่ายินยอมพร้อมใจกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่ และแล้วอำนาจเก่าก็รับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่ไม่ได้ โดยเฉพาะก็จากเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่ไม่ต้องการเพียงความเสมอภาคทางกฎหมายของราษฎรทุกหมู่เหล่า หากต้องการนำสยามไปสู่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจยิ่งๆ ขึ้น นอกเหนือไปจากเสรีภาพ และภราดรภาพ
กบฏบวรเดชในปีถัดไปนั้น ไม่ได้แสดงความพ่ายแพ้ของอำนาจเก่า ซึ่งนำไปสู่การสละราชสมบัติของในหลวงรัชกาลที่ ๗ เท่านั้น หากชัยชนะในการปราบกบฏครั้งนี้ เท่ากับเป็นการวางรากฐานให้ผู้กุมอำนาจทางทหารอย่างใหม่ หันเหไปในทางเผด็จการยิ่งๆ ขึ้น จนแทบเข้าไม่ถึงสาระแห่งความเป็นประชาธิปไตย พร้อมกันนี้ ก็ต้องตราไว้ด้วยว่า โลกสันนิวาสในเวลานั้น มีแนวโน้มไปในทางเผด็จการยิ่งๆ ขึ้นทุกที โดยเฉพาะก็เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น
คณะราษฎรสามารถอภิวัฒน์การเมืองการปกครองในระบอบใหม่ได้ จนได้รับเอกราชสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยที่เราได้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปแต่ พ.ศ. ๒๓๙๘ ในรัชกาลที่ ๔ นั้นแล้ว แม้เราจะไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง แต่ก็กินน้ำใต้ศอกฝรั่ง (ต่อมารวมถึงญี่ปุ่นด้วย) ทั้งทางเศรษฐกิจ การศาล และอื่นๆ จนมหาอำนาจนั้น ๆ ยอมรับความเท่าเทียมของสยามกับนานาประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๘๒
ที่น่าเศร้าก็คือปีที่เราได้รับเอกราชสมบูรณ์นั้น เราได้ทำลายสารัตถะแห่งความเป็นสยาม ซึ่งไม่ได้เน้นที่ความเป็นชนชาติหนึ่งเดียว หากเคารพนับถือชนชาติที่ต่างกัน ภาษาที่ต่างกัน วัฒนธรรมที่ต่างกัน และศาสนาที่ต่างกัน หากอยู่ร่วมกันอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ในรัฐสีมาอาณาจักร พร้อมกับความภูมิใจในวัตนธรรมดั้งเดิมของบรรพชน ดังการประกาศใช้ชื่อประเทศไทยแทนสยามในปีนั้น คือการทำลายสารัตถะที่สำคัญยิ่งนี้ จนชนชั้นนำอย่างใหม่กลายเป็นงัวลืมตืน ที่กำหนดให้ประชาชนในชาติเป็นหนึ่งเดียว และเน้นการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางยิ่งๆ ขึ้น โดยละทิ้งภูมิธรรมดั้งเดิม หากหันไปตามฝรั่ง อย่างถือว่านั่นคือความเป็นสากล
และชนชั้นนำในเวลานั้น ตลอดจนเวลานี้ ก็หาได้เข้าใจเนื้อหาสาระของอารยธรรมฝรั่งไม่ อย่างน้อยก็เข้าไม่ถึงความลุ่มลึกของตะวันตก ทั้งในทางบวกและทางลบ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เอกราชอันสมบูรณ์ของเรานั้น เป็นไปในทางการเมืองในระยะสั้น แต่เราได้ศูนย์เสียอิสรภาพทางความคิด และจิตวิญญาณแห่งความเป็นสยามแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้จนบัดนี้แล้ว เราก็ยังหาได้ประกาศความเป็นไทจากความเป็นทาสปัญญาของอารยธรรมตะวันตกกระแสหลักไม่ ถึงกับมีคนที่ตั้งตนเป็นคนชั้นบน อ้างว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองแบบฝรั่งที่เราเอาอย่างเขามา และเข้าไม่ได้กับความเป็นไทย แต่ชนชั้นนำของเราก็ยังคงต้องสมาทานประชาธิปไตยที่ว่านี้ โดยแทบไม่มีใครแสวงหาสาระแห่งความเป็นประชาธิปไตย ที่มีต้นตอมาแต่คณะสงฆ์ และธรรมจักรเคยกำกับอาณาจักรมาอย่างมีศักดิ์ศรี จนตราบถึงรัชกาลที่ ๕ และธรรมจักรเกื้อหนุนความเป็นประชาธิปไตยในละแวกบ้านต่างๆ แทบทุกหนทุกแห่งมาเป็นร้อยๆ ปี นอกเหนือไปจากสาระทางวัฒนธรรมของฝ่ายพุทธ ที่ท้าทายอำนาจอันไม่ชอบธรรมของอาณาจักรมาเกือบจะโดยตลอด
ความข้อนี้ เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ นั้น ท่านต้องการให้ธรรมะมาเป็นศาสตราอันแหลมคม เพื่อปลุกมโนธรรมสำนึกของนักศึกษาให้ตื่นขึ้นจากการครอบงำทางศักดินาขัตติยาธิปไตยและเผด็จการทหารอย่างใหม่ รวมถึงการสมาทานในทางทุนนิยมอีกด้วย ดังการสนทนาของท่านกับพุทธทาสภิกขุ สมัยเมื่อท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ นั้น มีแนวโน้มที่จะอภิวัฒน์ประชาธิปไตยของไทยไปในทางธรรมิกสังคมนิยมอย่างน่าตราไว้เป็นอย่างยิ่ง
แต่แล้วการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ก่อให้เกิดรัฐประหารขึ้นได้ ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายประชาธิปไตย ซึ่งไม่อาจอภิวัฒน์ไปได้อีกเลย และเหตุการณ์ต่อแต่วันนั้น ได้ทำให้นายปรีดี พนมยงค์และคณะอภิวัฒน์กลายเป็นตัวเลวร้ายไปในทุกๆ ทาง บางคนถูกประหารชีวิตหรือจองจำ ทั้งโดยทางกฎหมายและนอกกฎหมาย หาไม่ก็ถูกสังหารชื่อเสียงเกียรติคุณ จนสัจจะกลายเป็นอาสัตย์ กงจักรกลายเป็นดอกบัว
ยิ่งจำเดิมแต่รัฐไทยเดินตามก้นจักรวรรดิอเมริกันและบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ด้วยแล้ว เป็นอันไม่มีคำถามอีกต่อไปในเรื่องทุนนิยม บริโภคนิยม อำนาจนิยม ตลอดจนความนิยมยกย่องในทางไสยเวทวิทยา ทั้งอย่างเก่า อันได้แก่การมอมเมาในเรื่องสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ อย่างปราศจากเหตุผล และอย่างใหม่ อันได้แก่เทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ รวมถึงการศึกษากระแสหลักของตะวันตก ซึ่งเป็นไปอย่างเป็นเสี่ยงๆ อย่างปราศจากองค์รวม
เป็นอันว่าความกล้าหาญทางจริยธรรมหมดไป ความงาม ความดี และความจริง กลายไปเป็นความกึ่งดิบกึ่งดี กึ่งจริงกึ่งเท็จ และความน่าเกลียดต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นเนื้อหาสาระของชีวิตและสังคมหมดไป สื่อมวลชนกระแสหลักรับใช้ทุนนิยมและบริโภคนิยมอย่างเซื่องๆ การแสวงหาสาระแห่งประชาธิปไตยหมดไป แม้การพูดถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ที่แก่น ให้เข้าถึงกึ๋น ก็แทบไม่มีเอาเลย แม้เราจะมีการร่างรัฐธรรมนูญกันมากี่ฉบับแล้วก็ตาม
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ออกจะเป็นนัยลบ ซึ่งก็คือทุกขสัจทางสังคม พุทธาบัณฑิตพึงตราไว้ซึ่งทุกขสัจ แล้วโยงไปถึงสมุทัย อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ คือโลภ อันได้แก่ทุนนิยม โกรธอันได้แก่อำนาจนิยม และหลงคือวัตถุนิยม หรือการอ้าขาผวาปีก เพื่อตัวกู ของกู และพวกกู ซึ่งมีทั่วไปแทบทุกหนทุกแห่ง ไม่แต่กับนักการเมือง นักการทหาร นักธุรกิจพาณิชการ ตลอดจนชนชั้นนำในสถาบันการศึกษากระแสหลัก และพวกที่กุมสื่อมวลชนกระแสหลักไว้ด้วย
เมื่อพุทธทาสภิกขุกับนายปรีดี พนมยงค์ สนทนากันที่ทำเนียบท่าช้างติดต่อกันเกือบทุกวันแต่วันที่ ๑๘ - ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๕ นั้น ท่านต้องการให้ประชาธิปไตยเป็นไปในทางธรรมยิ่งๆ ขึ้น ถ้าเราจับประเด็นนี้ได้ แล้วทำให้เป็นรูปธรรม เราก็จะเดินไปได้ตามทางของพระอริยมรรค หรือไตรสิกขา เพื่อนำความเป็นปกติมาสู่ตัวเราและสังคม (ศีล) โดยมีเวลาพิจารณาลมหายใจอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม ให้รู้จักปล่อยวาง อย่างสามารถโยงหัวสมองมาให้แนบสนิทได้กับหัวใจ (สมาธิ) และเมื่อรู้จักลดความเห็นแก่ตัวลงอย่างแยบคาย เราย่อมเห็นคุณค่าของมนุษยชาติ อย่างไปพ้นความเป็นชาตินิยม เราย่อมพร้อมที่จะรับใช้เพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะก็ผู้ที่ยากไร้กว่าเรา หรือถูกเราเอาเปรียบเขา โดยเราเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อน โดยที่เราฝึกตนจนเข้าได้ถึงพรหมวิหารธรรม เราย่อมเข้าถึงความเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างสมภาคภูมิ และเราย่อมเอาชนะอคติต่างๆ ได้ เราย่อมเห็นอะไรๆ ตามสภาพของความเป็นจริง (ปัญญา) จนอาจสามารถสร้างกัลยาณมิตรขึ้นได้จากกลุ่มต่างๆ แม้จะต่างศาสนา ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม
นิมิตดีก็ตรงที่กลุ่มบุคคลเช่นนี้มีมากขึ้นแล้วในเมืองไทย โดยเฉพาะก็ในบรรดาผู้ยากไร้ ปลายอ้อปลายแขม และชนชั้นกลางที่เริ่มตื่นตัวขึ้น จนเกิดขบวนการในทางองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างน่าสนใจนัก จักถือว่านี่คือสันติประชาธรรมก็ได้ ขบวนการดังกล่าวนี้มีมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านด้วย แม้ในจักรวรรดิอเมริกันก็มีคนนอกกระแสหลัก ที่ท้าทายทุนนิยม อำนาจนิยม และวัตถุนิยม ยิ่งๆ ขึ้นทุกที รวมถึงประเทศอื่นๆ การศึกษาทางเลือกก็ดี การเมืองทางเลือกก็ดี การเศรษฐกิจทางเลือกก็ดี แม้จนการแพทย์ทางเลือก ก็แพร่ขยายไปยิ่งๆ ขึ้น เพื่อท้าทายการผูกขาดของพวกกระแสหลัก และมีการหาทางทำลายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม
เมื่อเกิดประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ชนชั้นนำของเราเดินตามก้นอำนาจนิยมและความเป็นเผด็จการของเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งก็แพ้ภัยไปตามๆ กัน แต่การแพ้ในทางสงครามนั้น เป็นการแพ้ชั่วคราว ดังอเมริกันที่แพ้เวียดนาม ก็เช่นกัน โดยที่อเมริกันก็จะแพ้อิรักอีกนั้นแล. ชัยชนะที่แท้อยู่ที่ขจัดความโลภโกรธหลงภายในตัวเรา สร้างจิตสำนึกอย่างใหม่ขึ้น โดยเรียนรู้จากอดีต เพื่อเดินไปข้างหน้าอย่างมีสติและอย่างมีปัญญา
องค์ทะไลลามะรับสั่งว่า สันติภาพในโลกจะมีไม่ได้ เว้นไว้แต่ว่าเราแต่ละคนจะสร้างสันติภาวะภายใน แม้นี่จะยากเย็นเพียงใด แต่นี่ก็เป็นหนทางเดียว. พระดำรัสขององค์ทะไลลามะเป็นที่รับฟังของชนชั้นนำในโลกยิ่งๆ ขึ้นทุกทีแล้ว แม้จะยังเป็นกระแสทางเลือกอยู่ก็ตาม สยามเองก็ควรหันไปหากระแสทางเลือก ที่นำสติปัญญามาเป็นหัวใจ สอนหัวสมองให้เชื่อง ในทางลดความเห็นแก่ตัว และรวมพลังกันสร้างสันติภาพขึ้นในสังคมและในโลก ด้วยการก่อให้เกิดธรรมิกสังคมนิยม ให้ผู้คนและสรรพสัตว์อยู่ร่วมกันอย่างเป็นภราดรภาพ อย่างมีสันติภาพเป็นแกนกลาง และอย่างมีความเสมอภาคยิ่งๆ ขึ้น เพื่อเสรีภาพจากโลภโกรธหลง อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดสำหรับทุกๆ คน
ที่ว่ามานี้อาจเป็นความฝัน ซึ่งทำให้เป็นจริงได้ และถ้าเราร่วมใจกัน ร่วมกันพูด ร่วมกันทำตามแนวทางดังที่กล่าวมานี้ อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งๆ ขึ้น เริ่มแต่บัดนี้อย่างสันติวิธี เมื่ออายุของประชาธิปไตยครบศตวรรษ ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๗๕ การอภิวัฒน์ของสยามอาจสัมฤทธิ์ผลให้เราเป็นตัวอย่างสำหรับประชาชาวโลกก็ได้ ดังที่รัฐบาลธิเบตนอกประเทศ ก็กำลังพัฒนาประชาธิปไตยแบบพุทธอยู่อย่างน่าสำเหนียกยิ่งนัก
หรือดังราชอาณาจักรภูฐานก็ต้องการสร้างจิตสำนึกในทาง Gross National Happiness เพื่อท้าทาย Gross National Products อย่างน่าทึ่ง โดยที่ในระดับนานาชาติ ก็มีขบวนการ Future World Council ซึ่งห่วงใยโลกพิภพและประชาชาวโลกทั้งหมด ตลอดจนสรรพสัตว์ ให้โลกนี้อยู่ด้วยกันอย่างสันติในอีก ๗ ชั่วคนเป็นอย่างน้อย ดังที่เราควรมองไปที่อนาคตอันเก่าแก่อย่างลาดั๊ก แทนที่จะมองไปหาทางออกจากโลกตะวันตก ซึ่งเป็นมายาที่ควรเข้าใจให้ชัด
ในที่สุดนี้ ขอให้พวกเราร่วมจิตกันอธิษฐาน ส่งส่วนกุศลไปยังทุกๆท่านที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงผู้ที่พยายามทำลายประชาธิปไตยมาเป็นระลอกๆ อีกด้วย ขอให้เราทั้งหมด ผู้เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ จงปราศจากทุกข์ เข้าถึงซึ่งความสงบสุขด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ
3. ธรรมศาสตรพจน์
รำลึกถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
การกล่าวคำรำลึกถึงท่านผู้หญิงพูนศูข พนมยงค์นั้น พูดได้มาก เพราะท่านมีคุณความดีมาก
หากเป็นการปิดทองหลังพระแทบทั้งนั้น จึงจำต้องนำข้อเท็จจริงนั้นๆ มาเผยแผ่ให้เป็นตัวอย่างกับมหาชน
แต่คงทำไม่ได้ในเวลาอันจำกัดเช่นนี้ หรือจะกล่าวกลับกันก็ได้ว่า ไม่จำต้องสรรเสริญเยินยอท่านด้วยประการใดๆ
เพราะท่านมีความดีพร้อม อย่างที่จะเรียกว่าบริบูรณ์ก็ได้ ท่านไม่อาฆาตมาดร้ายใคร
ทั้งๆ ที่ท่านและสามีตลอดจนลูกชายคนโต และมิตรอีกมากหลายถูกเบียดเบียนบีฑามาอย่างเลวร้าย
พร้อมๆ กันนั้นท่านก็รำลึกถึงคุณความดีของทุกๆ คน แม้จะไม่ได้ทำคุณกับท่านโดยตรงก็ตาม
สำหรับคำพูดของข้าพเจ้าในวันนี้ ณ ที่นี้ ในโอกาสเช่นนี้ ขอเสนอให้พิจารณาเพียง ๓ ประเด็น คือ
๑) การที่ท่านผู้หญิงไม่ได้รับเกียรติยศใดๆ จากชนชั้นบนของไทย ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตจนกาลอวสาน นั่นคือกิตติคุณที่สำคัญยิ่งสำหรับท่าน เพราะชนชั้นบนยกย่องแต่คนกึ่งดิบกึ่งดี ที่หน้าไหว้หลังหลอก หรือผู้ที่ปราศจากความเป็นเลิศแทบทั้งนั้น ท่านผู้หญิงพูนศุขมีความเป็นเลิศ และไม่ใยดีกับโลกธรรม ทั้งในทางบวกและในทางลบ แสดงว่าท่านเป็นพุทธสาวิกาที่แท้ สมดังคาถาท่อนก่อนจะสุดท้ายในมงคลสูตรที่ว่า จิตของผู้ใด อันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว.......ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด นั่นเทียว
๒) กล่าวย่อๆ ได้ว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข มีคุณวิเศษ เป็น ๓ ม. คือ ท่านเป็นเมียที่ดี เป็นแม่ที่ดี และเป็นมิตรที่ดี พูดกันจริงๆ แล้ว ยากจะหาแม่ที่ดีได้ และเมียดีก็หายากเช่นกัน ยิ่งมิตรดี ที่พระศาสดายกย่องว่าเป็นกัลยาณมิตรด้วยแล้ว นับว่าประเสริฐสุด แต่ละข้อในความทั้งสามนี้ อธิบายได้มาก หากใครก็ตามที่มีมนสิการ แล้วติดตามศึกษาจากชีวิตท่าน แล้วนำมาเป็นเยี่ยงอย่าง จักเป็นอุดมมงคลแท้ทีเดียว
๓) สำหรับสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ท่านผู้หญิงไม่เป็นเพียงคู่ชีวิตของท่านผู้ประสาสน์การ ที่อุดหนุนจุนเจือกิจการงานของสามีอย่างจริงจังและจริงใจเท่านั้น หากเวลาท่านได้รับเชิญให้มาพูดกับเยาวชนที่มหาวิทยาลัยนี้ ท่านจะเตือนเขานั้นๆ เสมอ ให้เข้าใจอดีต ให้หาสัจจะจากอดีตให้ได้ เพราะอดีตของเราถูกบิดเบือน คนดีถูกใส่ร้ายป้ายสี มีแต่ความกึ่งจริงกึ่งเท็จเต็มไปหมด แม้ในตำราเรียนและในสื่อมวลชนกระแสหลัก ยกตัวอย่างเช่นพรรคประชาธิปัตย์นั้น เกิดขึ้นจากการที่หัวหน้าพรรควางแผนกับทหารบางกลุ่ม เพื่อทำรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ เพื่อทำลายประชาธิปไตยและคณะเสรีไทย ที่กอบกู้เอกราชให้ชาติไทยมา และแล้วหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมใจภายหลังรัฐประหาร โดยที่คณะรัฐประหารเอาเขาเป็นหุ่นเชิดชั่วคราวเท่านั้นเอง ในขณะที่เลขาธิการพรรคจ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า ปรีดีฆ่าในหลวง และแล้วคนๆ นั้นก็จะได้รับการเสนอชื่อจากรัฐบาลไทยในบัดนี้ ให้ยูเนสโกยกย่องเขาในระดับนานาชาติ ในโอกาสที่เขาจะมีอายุครบศตวรรษ ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนกลิ้งกะล่อน และเห็นแก่ตัวอย่างสุดๆ ดังนี้ เป็นต้น
ความข้อที่ว่ามานี้ย่อมยากที่จะได้รับรู้กัน ถ้าคนรุ่นใหม่เข้าใจอดีต ตีความเท็จให้แตกไปจากความจริง เขาแต่ละคนจะมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ธรรมะจะเป็นศาสตราที่แหลมคม ซึ่งจะช่วยให้แต่ละคนอุทิศชีวิตเพื่อคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะก็ผู้ยากไร้ และแล้วแต่ละคนก็จะไม่เห็นการเมืองเป็นเรื่องของการฉวยโอกาส ของการเอารัดเอาเปรียบ ของการปลิ้นปล้อน หากจักเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของส่วนรวม ที่ต้องใช้จริยธรรมเป็นแกนกลางในการแบ่งปันผลประโยชน์ต่างๆ อย่างยุติธรรม โดยเฉพาะก็ผู้ยากไร้ ควรได้มากกว่าผู้ที่ร่ำรวย คนไร้อำนาจ ควรได้รับการดูแลยิ่งกว่าคนที่มีอำนาจ ต้องมีมาตรการการทางธรรมจักร มาคานอำนาจของอาณาจักร ให้เกิดความปกติและความชอบธรรม และให้แต่ละคนอยู่กินด้วยกันอย่างลดการเอารัดเอาเปรียบลงเรื่อยๆ โดยให้รู้จักอยู่กินกันอย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จากพวกเราไปก่อนที่ประชาธิปไตยของไทยจะมีอายุครบค่อนศตวรรษ โดยที่ท่านได้ประจักษ์มากับตนเองเลยว่า การอภิวัฒน์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ได้ถูกถีบ ถูกกระทืบ และถูกรังควานมาด้วยประการต่างๆ แต่สามีของท่านและกัลยาณมิตรในคณะราษฎรก็ได้ทนุถนอมสาระของประชาธิปไตยไว้ได้เป็นเวลาถึง ๑๕ ปี แม้เผด็จการจะคุกคามสยามยิ่งๆ ขึ้นทุกที โดยอาศัยขบวนการเสรีไทยของชนชาติสยามแทบทั้งหมด เราก็อนุรักษ์สาระแห่งประชาธิปไตยไว้ได้ โดยคงความเป็นเอกราชไว้อย่างสมภาคภูมิ และมีทีท่าว่าจะหยั่งรากลงลึกในทางวัฒนธรรมแห่งความเป็นประชาธิปไตย ที่มีคณะสงฆ์เป็นต้นกำเนิดเสียอีกด้วยซ้ำ ดังคำสนทนาของพุทธทาสภิกขุกับท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นพยานแห่งการเปิดทวารของประชาธิปไตยแบบไทย ให้ไปพ้นการครอบงำของตะวันตกอย่างน่าสำเหนียกยิ่งนัก
แต่แล้วรัฐประหาร ๒๔๙๐ ก็ทำลายการงอกงาม และสกัดกั้นการเติบโตของประชาธิปไตยไทย ซึ่งตายอย่างสนิทพร้อมๆ กับการเถลิงอำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี ๒๕๐๐-๒๕๐๑ โดยมีศักดินาขัตติยาธิปไตยมาแทนที่ พร้อมๆ กับการสมาทานลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยม ในกำกับของจักรวรรดินิยมอย่างใหม่
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองตั้งขึ้น ณ วันที่ตรงกับวันประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองของสยามเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งแสดงเจตนารมณ์อย่างเปิดเผยและแท้จริง ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรชาวสยาม
โดยที่อำนาจดังกล่าวได้ถูกยื้อแย่งไปจากราษฎรเรื่อยมา จนเกือบจะหมดสิ้นเสียแล้วในปัจจุบัน
ถ้าอำนาจที่แท้ดังกล่าวกลับมาสู่ราษฎรชาวสยาม อย่างน้อยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ต้องอยู่ในอาณัติของราษฎร ต้องเปิดเผย และโปร่งใส ไม่ใช่มีไว้เพื่อไล่ราษฎรตาดำๆ
ดังกับสัตว์เดรัจฉาน เพื่อเอาที่ไปปลูกอาคารอย่างใหญ่ ให้กับคนรวยและบรรษัทข้ามชาติ
เพียงเพื่อผลกำไรสำหรับใคร แต่ไม่ใช่เพื่อราษฎรนั้นแน่แท้ทีเดียว
มหาวิทยาลัยที่ว่านี้ เมื่อถูกตัดคำว่าการเมืองออกไป ก็กลายเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่ปราศจากความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่ขาดการสอนสั่งให้เห็นอกคนยากไร้และเข้าใจพวกเขา ว่าสำคัญเท่ากับเรา หรือยิ่งกว่าเรา โดยวิถีชีวิตของเรา ที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเท่าไร ก็คือการเอารัดเอาเปรียบผู้ยากไร้และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเท่านั้น
ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นมหาวิทยาลัยวิชาการธรรมศาสตร์และการเมือง เฉกเช่น ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อ Thailand ไปเป็น Siam การเปลี่ยนชื่อจะได้ผล ก็ต่อเมื่อผู้คนพร้อมแล้วกับสาระแห่งชื่อนั้นๆ โดยพร้อมที่จะดำเนินชีวิตไปในทิศทางของความถูกต้องดีงาม แต่เป็นไปได้ไหม ที่ครูอาจารย์จำนวนหนึ่ง จะปลดปลอกคอออกจากตน ไม่ให้สยบยอมกับศักดินาขัตติยาธิปไตยหรือลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม เลิกตามก้นวิทยาการเป็นเสี่ยงๆ อย่างฝรั่งกระแสหลัก ที่มอมเมาเรามายาวนาน จนเราแลไม่เห็นองค์รวมแห่งชีวิต เป็นไปได้ไหมที่เราจะแสวงหาทางเลือกจากเศรษฐกิจทุนนิยม รัฐศาสตร์อำนาจนิยม และปรัชญาอัตตานิยม หรืออวิชชานิยม คงไม่ง่ายที่จะหันสถาบันการศึกษา ให้ออกจากมิจฉาทิฎฐิ แม้พวกนักวิชาการที่สมาทานลัทธิเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ดัดจริตดีดดิ้นขนาดไหน หรือมีความจริงใจกันอย่างแท้จริง
เราต้องการเห็นสถาบันการศึกษาแห่งนี้ เดินไปในทางบวก แทนในทางลบ นั่นก็คือการกลับมาฟังถ้อยคำของท่านผู้หญิงพูนศุข ด้วยการเข้าใจอดีตให้ถูกต้อง เพื่อสลัดออกจากความกึ่งจริงกึ่งเท็จที่ครอบงำเราอยู่ รวมถึงความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์อันจอมปลอมต่างๆ นั้นด้วย
แนวทางธรรม สลัดออกเสียซึ่งอวิชชา
เราจะเดินไปในแนวทางของธรรม คือความถูกต้องดีงาม จนธรรมะกลายมาเป็นศาสตราที่แหลมคม
ไว้คอยทิ่มแทงอธรรมหรือมารร้ายในแนวทางที่เป็นของปลอมต่างๆ ได้ อย่างสันติวิธี
ก็ต่อเมื่อเรามีเวลาให้ผู้ยากไร้ ฟังเขา คบกับเขา และร่วมมือกับเขา ยิ่งกว่าการคบกับพวกคนรวยและคนมีอำนาจ
ซึ่งติดอยู่กับของปลอมแทบทั้งนั้น โดยที่วิทยาการกระแสหลักจากตะวันตกที่เราสมาทานกันมา
ก็มาถึงจุดอุดตันแทบทั้งหมดแล้วด้วย
ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะสลัดออกเสียซึ่งอวิชชา โดยหันมาหาความตื่น คือพุทธะ ตื่นจากความเห็นแก่ตัว ตื่นจากความมัวเมาในลาภยศอันจอมปลอม เลิกเน้นความวิเศษมหัศจรรย์ที่หัวสมอง หากหันมาหาหัวใจ ให้รู้จักใช้ภาวนามัยปัญญา ให้หัวใจสอนหัวสมอง ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เลิกอ้าขาผวาปีก เลิกแก่งแย่งแข่งดีกัน หากหันมาอุทิศชีวิตเพื่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ตามแนวทางของท่านผู้ประสาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งก็คือท่านที่ก่อกำเนิดให้กับการอภิวัฒน์ของสยามเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
ถ้ามีคนตั้งจิตอธิษฐานที่จะเดินตามหนทางเช่นที่ว่านี้ นี่จะเป็นการบูชาคุณท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และสามีของท่าน ตลอดจนกัลยาณมิตรทั้งหลายของท่าน ที่อุทิศตนให้กับการอภิวัฒน์ของสยาม อย่างเป็นการบูชาบุคคลที่ควรบูชา อันเป็นอุดมมงคลแท้ทีเดียว
ส. ศิวรักษ์ แสดง ณ หอประชุมศรีบูรพา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com