โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 5 June 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๖๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 05, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

สังคมเรากำลังอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์ที่สืบทอดมานานกว่า 2,000 ปี ตั้งแต่สมัยโรมันที่ว่า "if you wish for peace, prepare for war - หากท่านต้องการสันติภาพ จงตระเตรียมการทำสงคราม" และเราได้เห็นสาวกคนสำคัญของลัทธินี้คือ George W. Bush ที่ประกาศนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือ war on terror ทำให้เกิดการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์มากมาย ทั้งในอิรัก และอัฟกานิสถาน ซึ่งวิธีการนี้ไม่ต่างไปจากพวกผู้ก่อการร้ายทั้งหลาย
กัมลา บาซิน (Kamla Bhasin) เรียกว่า เป็นวิธีคิดแบบบุช (Bush thinking)
05-06-2550

Prepare for Peace
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ถ้าต้องการสันติภาพ ต้องเตรียมตัวเพื่อสันติภาพ
นักศึกษาเพื่อสันติภาพภาคใต้ กับคุรุชาวฮินดูผู้มีอูฐ ๑๗ ตัว

ผศ. สุชาติ เศรษฐมาลินี : เขียน

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่

บทความทางวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
นักศึกษากับแนวทางการสร้างสันติภาพ
ผู้เขียนปรับปรุงจากการบรรยายให้แกนนำนักศึกษาในภาคใต้ เรื่อง
"การสร้างแรงจูงใจในการทำงานเพื่อสันติภาพ"
วันที่ ๒๖ พฤษ๓าคม ๒๕๕๐ ณ โรงแรมราชมังคลา พาวิเลี่ยน บีช รีสอร์ท จ.สงขลา
โดยมีหัวข้อสำคัญในการบรรยายดังต่อไปนี้ :
- นิยามความหมายของ สันติภาพ
- เรากำลังอยู่ในโลกหรือสังคมชนิดไหนกัน
- ก้าวสู่กระบวนทัศน์แบบใหม่
- นักศึกษากับแนวทางการสร้างสันติภาพ
- ในฐานะนักศึกษาทำอะไรได้บ้างในการสร้างสรรค์สันติภาพ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๖๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++



ภาพประกอบ : การเตรียมตัวเพื่อสันติภาพด้วยสมอง

ถ้าต้องการสันติภาพ ต้องเตรียมตัวเพื่อสันติภาพ
นักศึกษาเพื่อสันติภาพภาคใต้ กับคุรุชาวฮินดูผู้มีอูฐ ๑๗ ตัว
ผศ.ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี : เขียน


นักศึกษากับแนวทางการสร้างสันติภาพ
นิยามความหมายของ สันติภาพ
สำหรับนักศึกษาโดยทั่วไป คำว่า "สันติภาพ" ดูประหนึ่งว่าจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะเป็นเรื่องทางการเมืองของการ "ปลอดจากสงครามและการรบราฆ่าฟันกัน" ซึ่งนั่นเป็นเพียงความหมายที่ง่ายและแคบที่สุดของสันติภาพ แท้ที่จริงแล้ว "สันติภาพ" ยังมีความหมายถึง "การปลอดจากความรุนแรง และความชั่วร้ายทั้งมวล" ดังนั้น จำเป็นต้องสถาปนาความยุติธรรมขึ้นด้วย และความหมายที่กว้างขึ้น คือ สันติภาพหมายถึง ต้องมีความสมดุลย์กลมกลืนระหว่างมนุษย์ทุกหมู่เหล่า รวมทั้งกับธรรมชาติและจักรวาล และความหมายหนึ่งของสันติภาพ คือ ความอยู่ในภาวะเงียบสงบ ความมีสันติภาพภายในใจตน กายกับจิตสามารถควบคุมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทุกรูปแบบ แม้ว่าจะอยู่ในภาวะสับสนยุ่งยากของชีวิต

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความหมายดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า คำว่า "สันติภาพ" จึงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและสำคัญเป็นอย่างมากกับชีวิตของนักศึกษา ที่อยู่ในวัยที่ถูกรุมเร้าด้วยสิ่งมอมเมาต่างๆ มากมายที่จะทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างไร้สันติและความสุขสงบในชีวิต ดังที่เราได้เห็นข่าวในทุกวี่วัน

เรากำลังอยู่ในโลกหรือสังคมชนิดไหนกัน
ก่อนที่จะพิจารณาถึงว่านักศึกษาควรมีแนวทางในการสร้างสันติภาพได้อย่างไรนั้น เราอาจเริ่มต้นด้วยการพิจารณาถึงสถานการณ์ความรุนแรงโดยทั่วไปของสังคมโลกและสังคมไทยปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยความโกรธ เกลียด ทำร้าย กดขี่ และฆ่าฟันกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพื่อให้เห็นเป็นเบื้องต้นว่าเรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหนกันในทุกวันนี้

สถานการณ์ความรุนแรงในสังคมโลก

- มีคนถึง 1,500 ล้านคนในโลกขณะนี้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่น้อยกว่า $1 ต่อวัน ในขณะที่ ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณทางทหารเพื่อการทำสงครามถึง $400 พันล้าน ต่อปี หรือ มากกว่า $1,000 ล้าน ต่อวัน ในขณะที่ คนร่ำรวยที่สุด 3 คนแรกของโลก มีความมั่งคั่งมากกว่าผลิตภัณฑ์รวมของประเทศด้อยพัฒนาถึง 48 ประเทศ และคนที่รวยที่สุดในโลกเพียงคนเดียว คือ นายบิลล์ เกต มีความมั่งคั่งมากกว่าอัฟริกาทั้งภูมิภาค

- มีเด็กๆ ถูกฆ่า จำนวน 2 ล้านคน เนื่องจากผลพวงของความขัดแย้งในที่ต่างๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่อีกประมาณ 6 ล้านคน ได้รับบาดเจ็บ และเด็ก 1 ล้านคน กลายเป็นเด็กกำพร้า และเยาวชนกว่า 3 แสนคน กำลังปฏิบัติหน้าที่ทางการทหารทั่วโลก

- เด็ก ๆ จาก 87 ประเทศ กำลังอาศัยอยู่กับลูกระเบิดกว่า 60 ล้านลูก และเด็กกว่า หนึ่งหมื่นคนของทุกๆ ปี ตกเป็นเหยื่อของลูกระเบิดเหล่านั้น

- สถิติอื่นๆ ซึ่งอาจไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับสงคราม แต่ก็เต็มไปด้วยความรุนแรง เช่น เด็กๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กว่า 10 ล้านคน ต้องตายในแต่ละปีด้วยสาเหตุการติดเชื้อโรคที่สามารถป้องกันได้ และขาดสารอาหาร

- ในสหรัฐอมริกา จะมีรายงานเด็กถูกทำร้ายประมาณ 1 ล้านคนในทุกๆ ปี (ในขณะที่ไม่ถูกรายงานอีกเป็นจำนวนมาก) มีรายงานกรณีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศกว่า 2 แสน 5 หมื่นราย ในแต่ละปี (และเช่นกันมีที่ไม่ถูกรายงานอีกจำนวนมาก) 40-50% ของผู้หญิงถูกทำร้ายโดยคนใกล้ชิด ฯลฯ

- ในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มีการใช้และกดขี่แรงงานเด็กในภาคนอกระบบในขณะที่พวกเขายังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ

สถานการณ์ความรุนแรงในสังคมประเทศไทย ?

- มีข่าวเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วว่า เด็กชั้นมัธยมปีที่ 6 ทำร้ายเพื่อนร่วมวงจนเสียชีวิต ด้วยเหตุผลที่ว่าเพราะเขาผู้นั้นร้องเพลงไม่ไพเราะ

- ผลของการสำรวจจากเอแบคโพลล์ เรื่อง "โครงการวิจัยเพื่อเฝ้าระวังรักษาคุณภาพเยาวชนไทย กับปัจจัยเสี่ยงต่ออบายมุขและสิ่งเสพย์ติดรอบสถาบันการศึกษา" พบว่า เกือบร้อยละ 80 ของนักศึกษาตอบว่า เคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับอบายมุขต่าง ๆ (เหล้า, บุหรี่, การพนัน, ผับ-เทค, สื่อลามกต่างๆ)

- วันที่ 24 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมาตำรวจกองปราบเข้าจับนายกฤษฎา อายุ 26 ปี อาชีพติดตั้งโปรแกรมและขายเครื่องคอมพิวเตอร์ในข้อหา "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา" เพราะเอารูปอดีตแฟนสาวนักศึกษาที่เคยถ่ายภาพโป๊ด้วยกัน ไปแพร่ภาพในอินเตอร์เน็ตหลังจากคบกันได้ 4 ปี แล้วก็เลิกกันไป

- สื่อละครน้ำเน่าทุกวันนี้ ล้วนสอนการแก้ปัญหาชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ซ้ำร้ายผู้ที่อ่านข่าวทั้งหลายจำนวนไม่น้อย จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ล้วนมีทัศนคตินิยมความรุนแรง ดังตัวอย่าง กรณีนายโช (นักศึกษาเกาหลีที่ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค สหรัฐอเมริกา) ที่กราดยิงนักศึกษาร่วมสถาบันเสียชีวิตไปถึง 32 คน เมื่อเร็วๆ นี้ และได้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสายสื่อมวลชนคนหนึ่ง ได้แสดงความคิดความเห็นในรายการทำนองว่า ทำไมเหตุการณ์นี้ไม่มาเกิดขึ้นในเมืองไทย คือท่านเห็นว่า นายโชผู้นี้น่าจะมายิงคนชั่ว ๆ ที่เมืองไทยตายให้หมด โดยเฉพาะพวกนักการเมืองที่โกงบ้านกินเมือง? ทั้งๆ ที่ท่านเคยอ้างตัวว่ายึดแนวทางการต่อสู้กับระบอบทักษิณ ด้วยวิธีการแบบสันติวิธี และเคยโจมตีนโยบายปราบยาเสพย์ติดแบบอุ้มฆ่าในสมัยรัฐบาลทักษิณ

- ตำราเรียนต่างๆ ทั่วโลกต่างเชิดชูวีระบุรุษสงคราม - มีบทความจากครูอเมริกันท่านหนึ่งเขียนชื่อเรื่องว่า "จะให้เราสอนเรื่องสันติภาพได้อย่างไร ในเมื่อตำราเต็มไปด้วยความรุนแรง" ถ้าให้นักเรียนนักศึกษาบอกชื่อผู้นำเผด็จการที่โหดร้าย หรือ ฮีโร่สงคราม 10 คน จะตอบได้ทันที แต่ถ้าให้บอก ผู้นำด้านสันติวิธี 10 คน นักศึกษากลับยากที่จะตอบ

ดังนั้น เรากำลังอยู่ในสังคมที่คนทั่วไปเชื่อว่า ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นวิถีชีวิต ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ วิธีการเดียวที่จัดการกับความรุนแรงก็คือต้องใช้ความรุนแรงเท่านั้น (มีพระผู้มีชื่อเสียงในสังคมไทยหลายรูปได้ออกมาเร่งเร้ารัฐบาลในทำนองว่า "อย่าสมานฉันท์กับโจร" ในกรณีเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยท่านเหล่านั้นคงลืมไปว่า ในสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนนั้น บางทีภาพลวงที่เราเห็น มันอาจถูกทำให้เป็นจริงยิ่งกว่าความเป็นจริงเสียอีก ดังนั้น การแยกแยะว่าผู้ใดเป็นคนดี/คนไม่ดี เป็นโจร/ไม่ใช่โจร ในโลกสมัยใหม่นั้นมันมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก และต้องการการแก้ไขปัญหาที่หลุดพ้นไปจากสมการแบบง่ายๆ เดิมๆ ดังเช่นที่เคยเป็นมา)

สังคมเรากำลังอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์ที่สืบทอดมานานกว่า 2,000 ปี ตั้งแต่สมัยโรมันที่ว่า "if you wish for peace, prepare for war - หากท่านต้องการสันติภาพ จงตระเตรียมการทำสงคราม" และเราได้เห็นสาวกคนสำคัญของลัทธินี้คือ George W. Bush ที่ประกาศนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือ war on terror ทำให้เกิดการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์มากมาย ทั้งในอิรัก และอัฟกานิสถาน ซึ่งวิธีการนี้ไม่ต่างไปจากพวกผู้ก่อการร้ายทั้งหลาย

กัมลา บาซิน (Kamla Bhasin-นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน) เรียกว่า เป็นวิธีคิดแบบบุช (Bush thinking) และไม่ทราบว่าขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้ขณะนี้ ก็ยึดมั่นในกระบวนทัศน์นี้ด้วยใช่หรือไม่ ซึ่งในฐานะมุสลิม ขอฟันธงเท่าที่มีความรู้อยู่บ้างว่าไม่มีในคำสอนใดๆ ในอิสลามที่สนับสนุนส่งเสริมการกระทำที่ใช้ความรุนแรงอย่างไร้ขอบเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อคนผู้บริสุทธิ์ เด็ก สตรี คนชรา พระหรือนักบวชในทุกศาสนา ฯลฯ ดังมีตัวอย่างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากมายในสมัยศาสดา ที่ยืนยันถึงการส่งเสริมให้ใช้วิธีการโดยสันติ และจำกัดขอบเขตของการใช้ความรุนแรงเท่าที่จำเป็นอย่างถึงที่สุด

ก้าวสู่กระบวนทัศน์แบบใหม่
ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและโลกส่วนใหญ่ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบบุช ดังกล่าวข้องต้น เราต้องการการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่โดยสิ้นเชิง (paradigm shift)

- ท่านทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวพุทธธิเบต ได้กล่าวแก่ชาวธิเบตที่เมืองลาซาภายใต้การรายล้อมของกองกำลังทหารจีนจำนวนมากว่า "หากเราใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะลดความขัดแย้ง หรือขจัดความไม่ลงรอยกันนั้น เราจะต้องเผชิญกับความรุนแรงในทุกๆ วี่วัน โปรดจดจำไว้ว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจัดการความไม่ลงรอยกันด้วยความรุนแรง เพราะความรุนแรงนั้น จะยิ่งเร่งเร้าสู่ความขุ่นข้องบาดหมางยิ่งๆ ขึ้นไป"

- ท่านคานธี ผู้นำชาวฮินดูอินเดีย ที่เรียกร้องต่อสู้ด้วยวิธีการอหิงสา อโหสิ จนเอาชนะประเทศมหาอำนาจอาณานิคมอย่างอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่า "การแก้ปัญหาแบบตาต่อตาฟันต่อฟันนั้น จะทำให้โลกอยู่ในความมืดบอดสนิท"

และอยากจะเล่าเรื่องของเณรน้อยชาวพุทธรูปหนึ่ง อายุแค่ 12 ปี วันหนึ่ง ขณะเดินเล่นในสวนได้เห็นนกน้อยตัวหนึ่งตกลงมา และพบว่านกน้อยตัวนั้นถูกยิงได้รับบาดเจ็บ เณรน้อยจึงอุ้มขึ้นมารักษาแผลที่ได้รับบาดเจ็บ ต่อมา คนยิงนกตัวนั้นผู้ซึ่งเป็นญาติของเณรน้อยตามมาพบ และอ้างตัวเป็นเจ้าของโดยให้เหตุผลว่า เพราะเขาเป็นผู้ที่ยิงนกร่วงลงมาเขาจึงสมควรเป็นเจ้าของ เณรน้อยมึนงงมากและไม่เข้าใจกับตรรกะดังกล่าว จึงกล่าวขึ้นว่า "ท่านต้องการฆ่านกแสดงว่าท่านไม่ได้รักมันและเป็นศัตรูกับมัน แต่ฉันต่างหากที่เป็นผู้รักษานกตัวนี้ ฉันรักมันและต้องการให้มันมีชีวิต ดังนั้น มันควรเป็นของฉัน ไม่ใช่ของท่าน"

จึงน่าคิดว่า โลกเรานั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวแบบญาติของเณรน้อยใช่หรือไม่ ที่มีแต่ผู้คนต้องการควบคุมและแสดงความเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ด้วยกำลัง และความรุนแรง ดังนั้น เราจะต้องปฏิเสธกระบวนทัศน์แบบนี้ และเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ว่า "if we wish for peace, we must prepare for peace!- หากเราต้องการสันติภาพ เราต้องตระเตรียมด้วยสันติภาพ"

นักศึกษากับแนวทางการสร้างสันติภาพ
ในหัวข้อที่ว่า แนวทางการสร้างสันติภาพควรเป็นเช่นไรนั้น คงไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องการการริเริ่มจากทุกคน ต้องการความกล้าหาญ เป็นงานที่หนักและท้าทาย ต้องมีทักษะ ความรู้ การทุ่มเท เสียสละ และต้องทำตลอดชีวิต จึงตรงกับคำสอนของอิสลามที่ว่า "การที่ท่านรับใช้ผู้อื่น ก็คือท่านกำลังรับใช้พระผู้เป็นเจ้า" หรือในทางกลับกัน หากท่านไม่รับใช้ผู้อื่น นั่นคือ ท่านไม่ได้รับใช้พระผู้เป็นเจ้า ในขณะเดียวกัน การสร้างสันติภาพเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพราะทุกๆ ความขัดแย้งย่อมมีความแตกต่างกันและมีพัฒนาการไปตลอดเวลา จึงไม่มีสูตรสำเร็จในการสร้างสันติภาพ ดังตัวอย่าง คนอย่างบรรดาครูอาจารย์และนักกิจกรรมทั้งหลายที่ทุ่มเทเรื่องสันติภาพ ท่านจะกัดไม่ปล่อยและชีวิตเต็มไปด้วยความหวังเสมอ ไม่ว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะเลวร้ายสักปานใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เราอาจเรียนรู้ได้จากบทเรียนในที่ต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสันติภาพให้กับสังคมของเรา จึงได้มีผู้ถอดบทเรียนจากที่ต่างๆ ในการสร้างสันติภาพเพื่อเป็นข้อสังเกตให้เราได้ตระหนักและจะทำงานให้ง่ายขึ้น ดังนี้

1. บุคคลแต่ละคนสามารถสร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงขึ้นได้
คนทุกคนล้วนมีคุณค่า โดยเฉพาะมุสลิมถูกสอนว่า คุณคือตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า (khalifatullah) มนุษย์ถูกสร้างด้วยลักษณะที่ยิ่งใหญ่มาก ด้วยการเป่าวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน ดังนั้น มุสลิมทุกคนจะต้องสรรค์สร้างความดี ความจริงและความงามให้ปรากฏในสังคมที่เขาอาศัยและเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เป็นผู้สร้างปัญหาหรือเป็นตัวทำลาย เพราะเราจะต้องถูกทวงถามตรวจสอบถึงการกระทำของเราอย่างแน่นอนในโลกหน้า ดังที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอ่านว่า "และหากเจ้าทำความดีแม้เพียงปรมาณูเดียว เจ้าก็จะได้เห็นมัน และหากเจ้าทำความชั่วแม้เพียงปรมาณูเดียว เจ้าก็จะได้เป็นมันเช่นกัน"

ดังนั้น เมื่อตระหนักในคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของตัวเราแล้ว คนทุกคนจึงมีความสามารถที่จะสรรค์สร้างสันติภาพและความดีงามให้กับสังคมได้ ดังมีตัวอย่างมากมาย เช่น ที่เกาะมินดาเนา มีนักธุรกิจหนุ่มผู้หนึ่ง ได้แบ่งพื้นที่ดินส่วนตัวของเขาให้คนมุสลิม คนคริสเตียน และชนเผ่าของท้องถิ่นจำนวนนับพัน ได้มาทำอาชีพปลูกกล้วยและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ

โดยปกติแล้วการทำงานของรัฐบาลหรือองค์กรทางการใหญ่ๆ มักมุ่งเน้นการแสวงหาความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย และเป็นทางการ แต่ในขณะดียวกันการทำงานโดยบุคคล หรือ องค์กรที่ไม่เป็นทางการ โดยผ่านช่องทางต่างๆ แบบไม่เป็นทางการนั้นได้สร้างความสำเร็จให้กับการสร้างสันติภาพจำนวนมาก

2. คนนอกสามารถเป็นผู้มีส่วนช่วยเป็นอย่างดี ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ
โดยปกติแล้ว คนนอกสามารถช่วยในกิจกรรมการป้องกันความขัดแย้งในท้องถิ่น ด้วยการสร้างพื้นที่สำหรับการริเริ่มโดยท้องถิ่น ตลอดจนให้การสนับในด้านต่างๆ การเข้ามาของคนนอกในหลายๆ กรณีช่วยสร้างพื้นที่เพิ่มปลอดภัยให้กับคนในชุมชน แต่ขณะเดียวกัน คนนอกก็ต้องให้ความเคารพในการตัดสินใจของคนในท้องถิ่น ที่อาจเข้าใจสภาพบริบทและความซับซ้อนของปํญหาได้ดีกว่า มีกรณีตัวอย่างใน"โคลัมเบีย" ที่อาศัยทีมอาสาสมัครจากคนภายนอก ในการช่วยเป็นการ์ดปกป้องคนที่ทำงานในชุมชน

3. เป็นตัวเชื่อมการแบ่งแยก
ความขัดแย้งมักจะเป็นตัวทำลายการสื่อสารระหว่างกัน และหากคู่ตรงข้ามไม่สามารถติดต่อพูดคุยกันได้ ก็ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาร่วมกันได้ และหากไม่มีการสื่อสารระหว่างกัน "คนอื่น" ความเป็นมนุษย์ของ "คนอื่น" หรืออีกฝ่ายหนึ่งย่อมถูกทำให้ลดทอนลงไป และตามมาด้วยความไม่ไว้วางใจ และความหวาดกลัว ดังนั้น การสร้างสันติภาพจำเป็นต้องหาทางฟื้นฟูการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และให้ทั้งสองฝ่ายเกิดการเสวนากัน

ตัวอย่าง กรณีความรุนแรงที่แคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย มีโครงการหนึ่งเรียกว่า "อัซวัส- Athwaas" ซึ่งแปลว่า "จับมือกันอย่างอบอุ่น" ได้ทำลายอุปสรรคในการสื่อสารที่ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจกันระหว่างหญิงมุสลิม - ฮินดู - ซิกส์ และได้มีสถานที่ในการประชุม เสวนา และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน และทำลายกำแพงการแบ่งแยกระหว่างกัน

การจัดอบรมหรือสัมมนา นับเป็นกิจกรรมที่จะสร้างโอกาสในการเรียนรู้ทฤษฎี และทักษะในการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติ ทักษะในการสื่อสาร การสร้างภาวะผู้นำ ตลอดจนทักษะในการการสร้างเครือข่าย (ดังเช่น เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้เพื่อสันติภาพ) การทำงานเครือข่ายมีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นการระดมผู้คน และองค์กรที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกันมาร่วมกันทำงาน เพราะแต่คนแต่ละองค์กรอาจมีทรัพยากรที่จะกัด ดังนั้น การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ย่อมทำให้บุคคลหรือองค์กรก้าวพ้นขีดจำกัดของตนเองไปได้

4. การประกาศจุดยืนโดยผู้นำที่เป็นที่เคารพ ในหลายๆ กรณีเป็นเครื่องมือที่มีพลัง
โดยทั่วไปแล้ว หากผู้นำทั้งหลายต่างรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนบางอย่าง ผู้คนมักทำตาม เช่น การรวมตัวกันประณามการใช้ความรุนแรง ถ้อยคำเหล่านั้นจะส่งผลต่อพลวัตรของความขัดแย้ง เช่น กรณีใน"ไนจีเรีย" เกิดความรุนแรงระหว่าง"คริสเตียน"กับ"มุสลิม" ที่ผู้คนหลายพันคนได้ถูกเข่นฆ่า จนในที่สุด 25 ผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้พยายามสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพ และได้ประกาศจุดยืนเรียกว่า "Kaduna Peace Declaration" เรียกร้องการเคารพซึ่งกันและกัน และต่อต้านการใช้ความรุนแรง และต่างปราวณาตัวเองเพื่อทำงานในด้านการสร้างสรรค์สันติภาพ

5. สร้างระบบเตือนภัยเพื่อการป้องกันความรุนแรง
ความขัดแย้งที่รุนแรงหลายๆ ครั้ง เป็นผลพวงมาจากการพัฒนา ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการทำระบบเตือนภัย มีการให้ข้อมูลที่รอบด้าน และเตรียมรับกับความขัดแย้งอย่างสันติไม่ใช่ปล่อยให้ควบคุมไม่ได้

6. การมีวิสัยทัศน์เชิงบวก เป็นสิ่งสำคัญ
สาธุคุณเจสซี่ แจ็คสัน (Jesse Jackson) ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "with a positive attitude, it is far easier to keep hope alive" - ด้วยทัศนคติในเชิงบวกเท่านั้นที่เป็นการง่ายที่สุดในการรักษาความหวังให้คงอยู่ - ดังนั้น นักศึกษาควรมีทัศนะคติในเชิงบวก มีความหวังต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ที่สื่อมักสร้างแต่ทัศนคติในเชิงลบจนดูเหมือนว่าสังคมสิ้นหวังหดหู่ ในขณะที่มีกิจกรรมต่างๆ มากมายในเชิงบวกที่กำลังดำเนินไป เช่น การเยียวยาเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย กิจกรรมสร้างสันติภาพในหมู่เด็กๆ ความร่วมไม้ร่วมมือระหว่างชุมชน ระหว่างศาสนิกต่างๆ เป็นต้น

เอ็มมา กัมลา (Emma Kamara) ได้ทำโครงการศูนย์บริการการเรียนรู้สำหรับเด็ก (Children Learning Service) โดยดูแลเหยื่อของความรุนแรงทั้งกายและใจ โดยมีปรัชญาว่า "เราจะไม่ย้อนไปดูอดีตอันขมขื่นและดำมืด แต่มองไปข้างหน้าด้วยความหวังโดยจะทำสิ่งดีๆ ในเชิงบวกเพื่อพลิกฟื้นเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จากเด็กรุ่นใหม่" ทำให้นึกถึงคำกล่าวของท่านคานธีที่ว่า "หากต้องการสร้างสันติภาพ ต้องมองไปที่เด็ก ให้ความสำคัญกับเด็ก"

ในปี 1999 ประเทศ"โครเอเชีย" มีโครงการ "ฟังอย่างตั้งใจ - Active Listening" เพื่อที่จะเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนมาเสวนาพูดคุยกัน เพื่อช่วยกันหาแนวทางที่จะแสวงหาความร่วมไม้ร่วมมือระหว่างกันในทางสันติ และในหลายๆ กรณี เหยื่อของความรุนแรง ได้กลายเป็นสารที่มีพลังด้านการสร้างสันติภาพ หากพวกเขาถูกทำให้ก้าวข้ามการเป็นเหยื่อ ด้วยการให้อภัย การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การมองผู้อื่นเป็นเพื่อนที่มีความเป็นมนุษย์เฉกเช่นตัวเรา ดังตัวอย่างเช่น ซินดี้ ชีฮาน (Cindy Sheehan) แม่ของทหารอมเริกันที่เสียชีวิตในประเทศอิรัก ได้กลายเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อต่อต้านนโยบายสงครามของประธานาธิบดีบุช จนเป็นขบวนการที่ขยายตัวเป็นอย่างมากในอเมริกาขณะนี้ เป็นต้น

หรือโครงการ "สวัสดี สันติภาพ - Hello Peace" ที่อนุญาตให้คนอิสราเอล และปาเลสไตน์ได้พูดคุยกัน โดยโครงการนี้เริ่มจาก หญิงอิสราเอล โทรศัพท์ผิดเบอร์มายังชายปาเลสไตน์คนหนึ่ง ต่อมาวันรุ่งขึ้นชายปาเลสไตน์โทรกลับเบอร์ของเธอ จนในที่สุด มีการโทรติดต่อระหว่างกันในโครงการนี้ถึง 5 แสนครั้ง ซึ่งเป็นการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างปลอดภัย

7. การสร้างความสมานฉันท์
การสร้างสมานฉันท์นั้น ไม่ใช่เพียงวิธีที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาหลังความขัดแย้ง แต่ยังเป็นการป้องกันที่มีพลัง งานสมานฉันท์ที่มีประสบผลสำเร็จต้องอาศัยทั้งความยุติธรรมและการให้อภัย ดังนั้น การสร้างความสมานฉันท์จำต้องพูดถึงอดีตเพื่อที่ผู้ตกเป็นเหยื่อจะได้ก้าวพ้นความกลัวและความขมขื่นทั้งหลาย และจะได้มองไปที่อนาคต และจะได้ให้คู่ตรงข้ามได้มองได้สำรวจความสัมพันธ์ที่เกื้อประโยชน์กันและกัน

มีกรณีตัวอย่างในประเทศออสเตรเลีย มีเด็กชาวพื้นเมือง (Aborigines) ซึ่งเคยถูกบังคับจับแยกจากพ่อแม่เป็นจำนวนหลายพันคน ต่อมามีรายงานเสนอต่อรัฐบาลว่าควรจัด "วันแสดงความเสียใจแห่งชาติขึ้น" (National Sorry Day) เพื่อเป็นการขอโทษในการทำผิดของรัฐบาล แต่ได้รับการปฏิเสธ จนกระทั่งต่อมา มีผู้พิพากษาเกษียณอายุท่านหนึ่ง ได้เป็นผู้นำสำคัญในการระดมองค์กรและเครือข่ายต่างๆ และได้จัดงานนี้ขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม 1998 และเป็นครั้งแรกที่ทำให้ชนพื้นเมืองรู้สึกสบายใจขึ้น และรู้สึกดีต่อชาวออสเตรเลียมากขึ้น

ในฐานะนักศึกษาทำอะไรได้บ้างในการสร้างสรรค์สันติภาพ
อยากจะสรุปคำกล่าวปาฐกถาโดย เดวิด คริกเกอร์ (David Krieger)-ประธานมูลนิธิสันติภาพในยุคนิวเคลียร์ ซึ่งได้กล่าวกับเด็กเยาวชนนักศึกษาญี่ปุ่นที่เมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2003 และขอนำมาปรับเสริมเติมแต่งโดยสรุปดังนี้ :

สิ่งสำคัญสิ่งแรกคือ นักศึกษาต้องถามตัวเองและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง จงดื่มด่ำกับความมหัศจรรย์ของชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ เราเคยหยุดคิดบ้างไหมว่า ตัวเรานั้นมีความมหัศจรรย์ เช่นเดียวกับความหัศจรรย์ของธรรมชาติที่รายล้อม ต้นไม้ ภูเขา และสายน้ำ ตลอดจนสิงห์สาราสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งมนุษย์ต่างเผ่า ต่างพันธุ์ ต่างภาษาที่บางครั้งพูดสื่อสารกันไม่ได้ หรือไม่เคยรู้จักกัน แต่ก็มีความรักให้กันได้อย่างไม่มีเงื่อนไข - อยากแนะนำให้นักศึกษาอ่านหนังสือของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เรื่อง "เดินสู่อิสรภาพ" แล้วเราจะเห็นความงดงามของชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อาจารย์ประมวล เดินด้วยเท้าเปล่าจากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุยบ้านเกิด โดยไม่เอาเงินติดตัวไปแม้แต่บาทเดียว ระหว่างทางพบปะชีวิตผู้คนมากมายที่ล้วนแต่มีธรรมชาติอันเดียวกันคือ ความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทรต่อกันอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ ดังนั้น การเกลียดชัง การทำร้าย เข่นฆ่าจึงไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์

นักศึกษามีทางเลือกที่จะกำหนดชีวิตตัวเอง เลือกที่จะวางเป้าหมายความสำเร็จในชีวิต เลือกที่จะร่ำรวย 7 หมื่น 6 พันล้าน หรือเลือกที่จะเป็นคนธรรมดาๆ แต่ใส่ใจที่จะแบ่งปันความรัก ความเมตตา และสร้างสันติภาพให้แก่บุคคลรอบข้างตลอดจนสังคมที่กว้างออกไป นักศึกษากำลังยืนอยู่ในจุดทางประวัติศาสตร์ของสังคมโลก ที่จะต้องเลือกกำหนดอนาคตของตัวเอง ทางเลือกเป็นของนักศึกษาแต่ละคน ทุกคน ในการที่จะช่วยกันสร้างสรรค์แนวร่วมเพื่อพิทักษ์โลก พิทักษ์ชีวิตกันและกัน หรือว่าเป็นทางเลือกที่จะนำสู่การทำลายล้างพวกเรากันเอง

อัลเบิร์ต ไอสไตน์ และเบอทรัน รัสเซล (Albert Einstien & Bertrand Russel) ได้กล่าวไว้อย่างสำคัญว่า "สิ่งที่วางตรงหน้าเราตอนนี้ (หากเราต้องเลือก) เพื่อนำสู่ ความสุข ความรู้และภูมิปัญญา หรือว่าเราจะเลือก 'ความตาย' เพียงเพราะเราไม่สามารถลืมการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกัน เราขอเรียกร้องต่อเพื่อนมนุษย์ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันว่า 'โปรดจงจดจำความเป็นมนุษย์ และลืมสิ่งอื่นที่เหลือทั้งหมด หากเราสามารถทำได้ หนทางนั้นจะนำเราไปสู่สันติภาพที่ดุจดั่งสรวงสวรรค์ แต่หากเราไม่สามารถทำได้ จุดจบของจักรวาลย่อมวางอยู่เบื้องหน้าของเรา" ดังนั้น ทุกคนต่างมีอำนาจในการเลือกหรือกำหนดทางเลือกสำหรับทางเดินในอนาคตข้างหน้า

ในท่ามกลางสถานการณ์ของสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงในปัจจุบัน เราจึงจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง รับผิดชอบ และช่วยกันผลักดันการทำงานเพื่อสร้างการสร้างสรรค์สันติในอนาคตข้างหน้า และสิ่งหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่เราอาจทำได้โดยการพูด หรือแสดงออกในความห่วงใยต่อสันติภาพของสังคม นั่นคือ

- การต่อต้านนโยบาย หรือการกระทำที่รุนแรง

- การยืนขึ้นเพื่อความมีเกียรติศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของทุกๆ คน และทุกๆ ที่

- เราจะต้องช่วยกันสร้างสรรค์สังคมที่เป็นไปเพื่อคนทุกๆ คน และทุกๆ หมู่เหล่า โดยเราจะเริ่มจากสถานที่ที่เรายืนอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มีวิสัยทัศน์มองไปในสังคมที่กว้างใหญ่ขึ้น

- เราจะต้องตั้งคำถามมากขึ้นกับผู้นำของเราในทุกระดับ และต้องเรียกร้องการมีภาวะผู้นำที่ดียิ่งๆ ขึ้น ควบคู่กับการทำตัวเราเองให้เป็นผู้นำที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม

มากาเร็ต มี้ด (Margaret Mead) นักมานุษยวิทยาคนสำคัญท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า "โปรดอย่าได้สงสัยเลยว่า บุคคลกลุ่มเล็กๆ ที่มีความคิด ความทุ่มเทนั้น จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะแท้ที่จริงแล้ว นั่นคือสิ่งเดียวที่ได้เคยเกิดขึ้น" (Never doubt that a small group of thoughtful, committed citizens can change the world. Indeed, it is the only thing that ever has)

ดังนั้น จงจำไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก หรือสังคมใดก็ตามล้วนมาจากข้างล่าง และอยู่นอกโครงสร้างอำนาจที่เป็นทางการเสมอ! เราจะต้องเป็นพลเมืองโลกที่เฝ้ามอง ติดตามความรุนแรง และความอยุติธรรมทั้งหลายที่ต่อต้านขัดขวางเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์การต่อสู้เพื่อสันติภาพ เป็นการต่อสู้เพื่อชีวิต และการต่อสู้เพื่ออนาคตของมนุษยชาติบนผืนพิภพแห่งนี้ ดังนั้น การมีส่วนร่วม การริเริ่ม และการอุทิศตัวของเราจึงเป็นแก่น หรือหัวใจของความอยู่รอดของตัวเราเองและเพื่อนมนุษย์

จึงหวังว่าน้องๆ นักศึกษาทั้งหลายเลือกที่จะทำงานสันติภาพในทุกๆ มิติ และจุดของการเริ่มต้นนั้น คือ การเลือก "ความหวัง" และเลือกมีความเชื่อมั่นในตนเองที่จะสร้าง "ความแตกต่าง" และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม และนี้คือจุดเริ่มต้นของแนวทางการสร้างสันติภาพ

นักบุญออกัสติน (St. Augustine) ได้กล่าวว่า "ความหวังนั้นมีลูกสาวแสนสวยสองคน คือ ความโกรธ และความกล้าหาญ" ความโกรธ ก็คือ สิ่งที่เป็นอยู่อย่างเป็นปกติ และความกล้าหาญคือ สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงมัน ดังนั้น ไม่มีความผิดอันใดที่เราจะมีความโกรธต่อความอยุติธรรม และแน่นอน เราต้องการความกล้าหาญที่จะเป็น "นักรบสันติวิธี" เพื่อการสร้างสันติภาพ

ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านคาวมรุนแรงในทุกๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดเพื่อจะบอกว่า "มนุษย์และการฆ่าฟันกันด้วยอาวุธนั้น ไม่สามารถที่จะอยู่ด้วยกันได้" ในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ในศาสนาอิสลามได้มีวัจนะจากพระผู้เป็นเจ้าว่า "หากผู้ใดฆ่าผู้บริสุทธิ์แม้เพียงคนเดียวเท่ากับเขาผู้นั้นฆ่าคนทั้งจักรวาล และหากผู้ใดรักษาชีวิตของคน แม้เพียงคนเดียว เท่ากับเขารักษาชีวิตมนุษย์ทั้งจักรวาล" นี่คือความงดงามและยิ่งใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้เราเพื่อทำงานด้านสันติภาพ

หวังว่านักศึกษาทุกคนในที่นี้จะสวดอ้อนวอนเพื่อสันติภาพ และต่อสู้เพื่อชัยชนะของมวลมนุษย์ต่อความรุนแรง ความโหดร้ายทั้งหลาย ขอให้ท่านมีความกล้าหาญ มีความคิดสร้างสรรค์และมีความมั่นคง และท่านจะเป็นผู้ทำมันได้ ดังตัวอย่างเช่น นักศึกษาสถาบันแห่งหนึ่งในอเมริกาชื่อว่า"กลุ่มนักศึกษาเพื่อสันติภาพ" (Students for Peace) ได้รวมตัวกันและเขียนรัฐธรรมนูญของกลุ่มว่า

- เราเชื่อว่าแนวทางแห่งสันติภาพ และปฏิบัติการไร้ความรุนแรงซึ่งเป็นหนทางที่พึงปราถนา ที่
จะนำสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความยุติธรรมในสังคม

- เราเชื่อในนโยบายต่างประเทศที่ถูกสร้างอยู่บนพื้นฐานของความมีสันติ และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ โดยเสมอภาคและเคารพในสิทธิของการมีส่วนกำหนดอนาคตของตัวเอง

- เราเชื่อมั่นว่า ความมั่นคงที่แท้จริงนั้นจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม ที่ประเทศหนึ่งๆ จะต้องไม่สร้างความมั่นคงของตัวเองโดยการรุกรานประเทศอื่นๆ

- เราเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่เสมอภาคระหว่างประชาชนและประเทศชาตินั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

- เราจะขอทุ่มเทให้กับการปกป้องและขยายประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน

- เราตระหนักว่าเราอาศัยอยู่บนผืนโลกนี้ด้วยการเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งอื่นๆ ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ควรที่จะให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างยั่งยืน

โดยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า การดำเนินชีวิตของนักศึกษาเพื่อการสร้างสรรค์สันติภาพในสังคมนั้น มันมีขอบข่ายกว้างขวาง ตั้งแต่การรณรงค์ต่อต้านสงคราม และการใช้ความรุนแรงที่ไม่เป็นธรรมทุกรูปแบบ ไปจนถึงเรื่องการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์สภาพสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการเหยียดสีผิวและเพศ รวมทั้งต่อต้านการกดขี่เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานจากกลุ่มบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย โดยมีการจัดตั้งกลุ่มชื่อ Sweatshop watch และ Corporate watch เพราะเบื้องหลังการประทับยี่ห้อเสื้อผ้ามีชื่อ หรือแบรนด์เนมที่เราใส่ทั้งหลาย รวมถึงกาแฟที่เราดื่มทุกวี่วันล้วนมาจากการกดขี่ขูดรีดแรงงานของคนผู้ยากไร้ในที่ต่างๆ ของโลกแทบทั้งสิ้น เป็นต้น

ขอจบด้วยเรื่องเล่า "ครูชาวฮินดูกับอูฐ ๑๗ ตัว"
มีอาจารย์สำนักหนึ่งมีชื่อเสียงมากในอินเดียจนมีลูกศิษย์มากมาย ต่อมาท่านได้สั่งเสียลูกศิษย์คนโปรด 3 คน ว่าท่านมีอูฐอยู่จำนวน 17 ตัว และหากท่านได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ให้ลูกศิษย์ทั้ง 3 คนแบ่งอูฐจำนวนดังกล่าวให้ได้ตามเงื่อนไขดังนี้คือ คนที่หนึ่งให้ครึ่งหนึ่ง (1/2), คนที่สองให้หนึ่งในสาม (1/3) และคนที่สามให้หนึ่งในเก้า (1/9) และหากผู้ใดสามารถแก้ไขปัญหาข้อนี้ได้คือ แบ่งอูฐให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวได้สำเร็จให้ผู้นั้นเป็นผู้สืบทอดเป็นเจ้าสำนักต่อไป

ครั้นต่อมาอาจารย์เจ้าสำนักได้สิ้นชีวิต ลูกศิษย์ทั้งสามจึงได้พยายามทำตามคำสั่งเสียของอาจารย์ แต่ไม่ว่าพวกเขาพยายามที่จะแบ่งอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถหารได้ลงตัวและไม่สามารถแบ่งได้ตามเงื่อนไขของอาจารย์ พวกเขาจึงเดินทางไปในหมู่บ้านเพื่อหาผู้ที่มีความสามารถ แต่ก็ไม่มีชาวบ้านคนใดแบ่งได้เลย จนในที่สุด ลูกศิษย์ทั้งสามได้เดินทางไปพบชาวนาคนหนึ่ง ซึ่งดูท่าทางเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนและมีชีวิตอย่างสมถะ เมื่อชาวนาได้ฟังคำบอกเล่าของศิษย์สามเขาจึงยิ้ม และบอกว่าขอกลับบ้านก่อนแล้วจะมาช่วยแก้ไขปัญหาข้อนี้

หลังจากนั้นสักครู่ ชาวนาได้กลับมาพร้อมกับอูฐของเขาหนึ่งตัว และจึงกล่าวขึ้นว่า "ให้ท่านนำอูฐของฉันตัวนี้ไปรวมกับอูฐ 17 ตัวของอาจารย์ท่าน ก็จะรวมเป็น 18 ตัว ทีนี้ท่านก็จะสามารถแบ่งได้ตามเงื่อนไขที่อาจารย์ท่านสั่งเสีย คือ

- คนแรกได้ครึ่งหนึ่ง ก็จะได้ 9 ตัว
- คนที่สองได้ 1/3 ก็จะได้ 6 ตัว
- และคนที่สามได้ 1/9 ก็จะได้ 2 ตัว

ซึ่งหากท่าน รวมทั้งหมดที่ท่านทั้งสามได้ คือ 9+6+2 ก็จะเท่ากับอูฐจำนวน 17 ตัวของอาจารย์ท่านดังเดิม และอีกตัวที่เหลือซึ่งเป็นของฉันก็ขอกลับนำบ้านตามเดิม ดังนั้น การแบ่งอูฐครั้งนี้ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่อาจารย์ท่านสั่งเสียทุกประการ" ลูกศิษย์ทั้งสามรู้สึกทึ่งมากกับความสามารถและการคิดนอกกรอบของชาวนาผู้นี้ จึงได้ตกลงกันขอให้เขามาเป็นเจ้าสำนักต่อไป

หวังว่าบทเรียนในการแบ่งอูฐดังกล่าวจะมีคุณค่าเป็นอย่างมากกับหัวข้อที่เราพูดคุยในครั้งนี้คือ "นักศึกษาการสร้างแรงจูงใจทำงานด้านสันติภาพ" เรื่องเล่านี้ให้บทเรียนที่มีคุณค่าเป็นอย่างมากในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สันติภาพ อยากให้นักศึกษาลองจินตนาการและสรุปด้วยตัวเองว่าคุณค่าดังกล่าวคืออะไรบ้าง

สุดท้าย แต่คงไม่ท้ายสุด อยากจะฝากคำคมของนักคิด นักต่อสู้และนักวิพากษ์คนสำคัญทางด้านทางการศึกษา คือ เปาโล แฟร์ (Paulo Freire) ที่ได้กล่าวว่า "ทฤษฎีที่ปราศจากการปฏิบัติก็เป็นเพียงลมปาก แต่การปฏิบัติที่ปราศจากความคิดที่รอบคอบก็เป็นเพียงกิจกรรมธรรมดาๆ เท่านั้น" ดังนั้น การปฏิบัติและความคิดที่รอบคอบ รวมทั้งทฤษฎีและการกระทำ จึงหลอมรวมเป็น "การปฏิบัติการ" (praxis) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักศึกษาช่วยกันสร้างสรรค์ "ปฏิบัติการ" ในการที่จะช่วยจรรโลงสันติภาพให้กับชุมชนและสังคมสืบไป

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com