โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 10 Jun 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๗๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 10, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ข้อเสนอประการหลังนี้เข้าใจง่ายกว่าอยู่บ้าง กล่าวคือ คนเราจะทำดีได้ ก็ต้องมีเสรีภาพเสียก่อน หรือนัยหนึ่งมีเสรีภาพที่จะเลือกทำดีก็ได้, ไม่ทำก็ได้, หรือทำชั่วแทนก็ได้ แถมเพราะได้เลือกที่จะทำดีเองโดยเสรี ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำ การกระทำนั้นๆ จึงมีคุณค่าความดีทางศีลธรรม. แต่หากเราถูกบังคับกะเกณฑ์ให้ต้องทำดีมิฉะนั้นจะถูกลงโทษ จับขังคุกหรือฆ่าทิ้งเสียแล้ว ต่อให้ทำ "ดี" ตามนั้น มันก็แค่คอหยักๆ สักแต่ว่าทำไปเพราะกลัวโทษ การกระทำโดยถูกบังคับนั้นเอาเข้าจริงก็หาได้มีคุณค่าความดีทางศีลธรรมใดๆ อยู่ไม่ (คัดลอกมาบางส่วนจากบทความ)
10-06-2550

Politics - Constitution
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

เกี่ยวเนื่องกับหลักเสรีภาพ ศีลธรรม รัฐธรรมนูญ และคำชี้แจง
รอบเดือนของเกษียร: จากเสรีภาพกับศีลธรรมถึงระบอบทักษิณ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
รวมผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วของ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
(เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๕๐)

บทความวิชาการนี้ กองบรรณาธิการฯ รวบรวมมาจากผลงานที่เคยเผยแพร่แล้ว
บนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประกอบด้วย:
๑. เสรีภาพกับศีลธรรม ๒. คิดถึงภราดร
๓. ฤๅเปิดศาลศาสนาล่าแม่มด?
๔. ระบอบทักษิณ บันทึกเรื่องราวของคำสร้างคำหนึ่ง
เรื่องแรกมีสาระสำคัญเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองเรื่องเสรีภาพกับศีลธรรม
ส่วนเรื่องที่สองเกี่ยวกับความระลึกถึงเพื่อนผู้จากไปและข้อเตือนใจเรื่องอุดมการณ์
เรื่องที่สามเกี่ยวกับข้อกล่าวหาและกรอบการอ้างอิงส่วนตัวที่ใช้ในการกำจัดคนอื่น
ในเรื่องสุดท้ายเป็นคำบอกเล่าและคำชี้แจงเกี่ยวกับคำว่า ระบอบทักษิณ
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๗๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



เกี่ยวเนื่องกับหลักเสรีภาพ ศีลธรรม รัฐธรรมนูญ และคำชี้แจง
รอบเดือนของเกษียร: จากเสรีภาพกับศีลธรรมถึงระบอบทักษิณ
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: รวบรวม
รวมผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วของ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
(เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ๒๕๕๐)

1. "เสรีภาพกับศีลธรรม"
วิวาทะทุ่มเถียงในเวทีสาธารณะเกี่ยวกับสถานะที่ควรจะเป็นของพุทธศาสนาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ผมนึกถึงงานเขียนชิ้นหนึ่งขึ้นมา... ที่ตรงใจกลางของนิพนธ์ปรัชญาการเมืองคลาสสิคสมัยใหม่ว่าด้วยประชาธิปไตยเรื่อง Du Cantrat Social ou Principes Du Droit Politique (ว่าด้วยสัญญาประชาคมหรือหลักการแห่งสิทธิทางการเมือง ตีพิมพ์ปี ค.ศ.1762 / พ.ศ.2305 ห้าปีก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง) ของ จังจ๊ากส์รุสโซ (ค.ศ.1772-1778) นักปราชญ์แห่งยุครู้แจ้งชาวฝรั่งเศส มีเงื่อนปมหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันเป็นปฏิทรรศน์ (paradox) ระหว่างเสรีภาพกับศีลธรรม

หากให้สรุปก็คือ ด้านหนึ่งคล้ายกับรุสโซเสนอว่า:-

1) One has to be maral to be free. เราต้องทำดีจึงจะเสรีได้ (แต่ในทางกลับกัน เขาก็เสนอด้วยว่า:-)
2) One has to be free to be moral. เราต้องเสรีถึงจะทำดีได้

ข้อเสนอประการแรกของรุสโซเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพกับศีลธรรม ในลักษณะที่ศีลธรรมเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นแก่เสรีภาพ ปรากฏอยู่ตอนท้ายของสัญญาประชาคมฯ เล่มที่ 1 บทที่ 9 ว่าด้วยองค์อธิปัตย์ ความว่า (คำแปลที่ใช้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง):-

"ในทางเป็นจริง ปัจเจกบุคคลในฐานะมนุษย์ปุถุชนก็อาจมีเจตจำนงเฉพาะที่ตรงข้ามหรือแตกต่างจากเจตจำนงทั่วไปที่ตัวเขาเองมีในฐานะพลเมืองได้ ผลประโยชน์เฉพาะของเขา อาจบอกเขาในสิ่งที่แตกต่างเป็นคนละเรื่องกับที่ผลประโยชน์ส่วนรวมบอก การดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์แบบและเป็นอิสระโดยธรรมชาติของเขาอาจทำให้เขาเห็นไปได้ว่า สิ่งที่เขาติดค้างควรชดใช้แก่ภารกิจส่วนรวมเป็นการยกให้เปล่าๆ ปลี้ๆ ฉะนั้นถึงมันจะหายหกตกหล่นบ้าง ก็คงทำให้คนอื่นเดือดร้อนน้อยกว่าภาระ ที่จะตกหนักแก่เขาหากต้องจ่ายมันไป และโดยที่เขาเห็นว่าสัตบุรุษที่ประกอบส่วนสร้างรัฐขึ้นมานั้นเป็นองค์ภาวะแห่งเหตุผลเนื่องจากผิดวิสัยมนุษย์ปุถุชน เขาก็เลยจะหันไปใช้ประโยชน์จากสิทธิของพลเมืองโดยไม่ยอมบรรลุหน้าที่ของคนในบังคับ อันนับเป็นความอยุติธรรมที่หากปล่อยให้ลุกลามแผ่ขยายออกไปแล้วก็อาจทำให้บ้านเมืองล่มจมได้"

"ฉะนั้นเพื่อไม่ให้สัญญาประชาคมนี้กลายเป็นสูตรที่เป็นหมันไปเสีย มันจึงบรรลุข้อผูกมัดนี้ไว้โดยนัย ซึ่งลำพังตัวข้อผูกมัดนี้เท่านั้นที่ให้อำนาจดังต่อไปนี้แก่คนอื่นได้ กล่าวคือใครก็ตามที่ไม่ยอมเชื่อฟังเจตจำนงทั่วไปก็จะถูกคนทั้งหมดบังคับให้ทำตาม อันมิได้หมายความอย่างอื่นนอกจากว่าเราบังคับให้เขาเสรีนั่นเอง..."

วลี "ปฏิทรรศน์" ที่ยกมาท้ายสุดนั้นชวนฉงนสนเท่ห์ยิ่ง...ก็แล้วคนเราจะถูกบังคับให้เสรี ("on le forcera a" etre libre") ไปได้อย่างไร?!?

ในทางกลับกัน ข้อเสนอประการที่สองของรุสโซเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพกับศีลธรรมกลับออกมาในเชิงว่า เสรีภาพเป็นเงื่อนไขอันขาดเสียมิได้แก่ศีลธรรม มันปรากฏอยู่ตอนกลางของสัญญาประชาคมฯ เล่มที่ 1 บทที่ 4 ว่าด้วยความเป็นทาส ความว่า:-

"การสละเสรีภาพของตนก็คือการสละคุณสมบัติของมนุษย์ สละสิทธิและกระทั่งหน้าที่แห่งมนุษยภาพของตัว ย่อมไม่มีสิ่งใดจะพอชดเชยแก่ใครก็ตามที่สละทุกสิ่งทุกอย่างได้ การสละเยี่ยงนั้นขัดแย้งไปกันไม่ได้กับธรรมชาติของมนุษย์ และการลิดรอนเสรีภาพไปจากเจตจำนงของตนจนหมดสิ้น ก็เท่ากับพรากเอาศีลธรรมทั้งหมดไปจากการกระทำของตัวนั่นเอง..."

ข้อเสนอประการหลังนี้เข้าใจง่ายกว่าอยู่บ้าง กล่าวคือ คนเราจะทำดีได้ ก็ต้องมีเสรีภาพเสียก่อน หรือนัยหนึ่งมีเสรีภาพที่จะเลือกทำดีก็ได้, ไม่ทำก็ได้, หรือทำชั่วแทนก็ได้ แถมเพราะได้เลือกที่จะทำดีเองโดยเสรี ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำ การกระทำนั้นๆ จึงมีคุณค่าความดีทางศีลธรรม. แต่หากเราถูกบังคับกะเกณฑ์ให้ต้องทำดีมิฉะนั้นจะถูกลงโทษ จับขังคุกหรือฆ่าทิ้งเสียแล้ว ต่อให้ทำ "ดี" ตามนั้น มันก็แค่คอหยักๆ สักแต่ว่าทำไปเพราะกลัวโทษ การกระทำโดยถูกบังคับนั้นเอาเข้าจริงก็หาได้มีคุณค่าความดีทางศีลธรรมใดๆ อยู่ไม่

ยกตัวอย่างเช่นเอาไม้เรียวไล่ขู่ไล่เฆี่ยนลูกให้ตื่นเช้าไปตักบาตรทำบุญซะ ม่ายงั้นตีตายนะ ถึงแม้ลูกกลัวลานขนลุกไปตักบาตรจริง จะได้บุญหรือ?

สำหรับปฏิทรรศน์เรื่อง "การถูกบังคับให้เสรี" ข้างต้น เราอาจพอเข้าใจมันได้หากตระหนักว่าเสรีภาพที่สำคัญเป็นหลักสำหรับรุสโซใน สัญญาประชาคมฯ คือ "เสรีภาพที่จะทำดี" (la liberte morale) ดังข้อความท้าย เล่มที่ 1 บทที่ 8 ว่าด้วยภาวะพลเมือง ว่า:-

"นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น เราอาจระบุสิ่งที่ได้รับมาในภาวะพลเมืองเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือเสรีภาพที่จะทำดี ซึ่งลำพังเสรีภาพที่จะทำดีประการเดียวนี้เท่านั้นที่ทำให้มนุษย์เป็นนายของตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ก็เพราะการถูกขับเคลื่อนด้วยความอยากแต่เพียงอย่างเดียวนั้นคือการตกเป็นทาส และการทำตามกฎหมายที่เรากำหนดให้ตนเองต่างหากคือเสรีภาพ"

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง สำหรับรุสโซ เมื่อมนุษย์มารวมตัวกันเป็นสังคมแล้ว เสรีภาพที่แท้จริงคือ เสรีภาพที่จะทำดีหรือทำตามกฎหมายที่เราเป็นผู้ตราออกมาบังคับใช้กับตัวเราเอง. ในความหมายนี้ "การถูกบังคับให้เสรี" ก็คือการถูกบังคับให้ทำตามกฎหมายที่เราออกมาบังคับใช้กับตัวเอง - นั่นเอง

โดยที่คำว่า "เรา" ในที่นี้มิได้หมายถึงปัจเจกบุคคลแต่ละคน หรือกลุ่มคนบางกลุ่ม หากหมายถึงสังคมโดยรวมซึ่งมีพวกเราทั้งหลายสังกัดเป็นสมาชิกอย่างไม่อาจแบ่งแยกได้

มาถึงตรงนี้ คำถามที่พึงถามก็คงพอจะเห็นได้เลาๆ กล่าวคือ:-

-ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใช่กฎหมายที่สังคมไทยเลือกตราออกมาบังคับใช้กับตัวเองอย่างเสรีจริงหรือไม่? หรือเป็นเพียงการบังคับกำกับของบางคนบางกลุ่ม?

-ในการร่างรัฐธรรมนูญ เราควรถืออัตลักษณ์ตัวตนใดเป็นที่ตั้ง? อัตลักษณ์แห่งความเป็นศาสนิกชนสังกัดศาสนาหนึ่งๆ ในท่ามกลางสังคมหลากหลายศาสนา หรืออัตลักษณ์แห่งความเป็นพลเมืองสังกัดรัฐเดียวกัน โดยไม่คำนึงว่านับถือศาสนาใด?

-เจตจำนงทั่วไป และผลประโยชน์ร่วมกันของสังคมในการร่างรัฐธรรมนูญคืออะไร? ใช่สิ่งเดียวกับเจตจำนงและผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะฝ่าย หรือแม้แต่คนส่วนใหญ่หรือไม่?

-การตราบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อมุ่งหมายจะใช้อำนาจรัฐมาบังคับกำกับคนในสังคมได้ทำดีตามหลักศรัทธาของคนบางกลุ่มบางฝ่าย หรือแม้แต่คนส่วนใหญ่โดยปราศจากเสรีภาพที่จะเลือกนั้น มันจะได้บุญกุศลจริงหรือไม่? อย่างไร?

2. "คิดถึงภราดร"
บรรยากาศการเมืองปลายพฤษภาฯ ที่ผันผวนวิปริตเหมือนดินฟ้าอากาศ ทำให้ผมนึกถึงคนคนหนึ่งและเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเป็นพิเศษ. คนๆ นั้นคือสหายภราดร หรือชื่อจริงว่า นพพร ยศฐา นักศึกษามหิดลและนักแต่งเพลงเพื่อนสนิทของจิ้นแห่งวงกรรมาชน

ตอนผมรู้จักภราดรในป่าหลัง 6 ตุลาฯ 2519 ผมไม่รู้หรอกครับว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ชื่อจริงว่าอะไร รู้แต่ว่าท่าทางเขาออกจะทึ่มๆ เท่อๆ เปิ่นๆ หน่อย เคลื่อนไหวไม่ค่อยคล่องแคล่วทะมัดทะแมง พูดจาเสียงเนือยๆ ไม่ค่อยฉาดฉาน แต่ได้รับความไว้วางใจจากจัดตั้งฝ่ายนำให้เป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายการเมือง ดูแลวงศิลปินที่มั่นแดงของภาคอีสานใต้ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น และอีกอย่างคือ หมอนี่แต่งกลอนแต่งเพลงเก่งชะมัด แม้ว่าจะชอบร้องเพลงเพี้ยน ปรบมือผิดจังหวะบ่อย และเล่นดนตรีไม่เป็นเอาเลย ได้แต่ตีฉิ่งฉับๆ เหมือนผมก็ตาม

ผมเองความจริงสังกัดกองบรรณาธิการนิตยสารธงชัย ของภาคอีสานใต้ แต่เนื่องจากการตีพิมพ์ค่อนข้างติดขัด ออกได้ไม่ค่อยสม่ำเสมอ เพราะกระดาษขาดแคลนและบางทีก็หมดสต๊อคเอาดื้อๆ บ่อยครั้งหน่วยงานมวลชนฝ่ายจัดหาและหน่วยทหารลำเลียง โดนทางราชการปิดล้อมตรวจค้นเข้มข้น ขนกระดาษเล็ดลอดเข้ามาไม่ได้. ในจังหวะว่างงาน ผมจึงมักถูกจัดตั้งส่งไปติดสอยห้อยตามเป็นหางเครื่องอยู่กับวงที่มั่นแดง รับหน้าที่เล่าข่าวคราวสถานการณ์ให้สหายและมวลชนตามทับที่ตั้งต่างๆ ฟัง สลับรายการบันเทิง พร้อมทั้งช่วยตีฉิ่งปรบมือร้องเพลงเชียร์รำวงประกอบเวลาพวกเขาจรยุทธ์ไปเปิดแสดงกลางป่า กลางทุ่ง ตามแนวหน้าแนวหลังเป็นพักๆ

อาจเพราะเดินป่าไม่คล่องแคล่วทะมัดทะแมงคล้ายกันและชอบแต่งกลอนแต่งเพลงเหมือนกัน ผมจึงมีโอกาสค่อยๆ ทำความรู้จักสนิทสนมกับสหายภราดรมากขึ้น รู้ว่าแกมีจุดยืนปฏิวัติแน่วแน่มั่นคงมุ่งมั่นต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมที่แกปักใจเชื่อ ทนยากลำบากกลางป่าเขาได้อึดน่าดู ฟันหน้าหักซี่หนึ่งโดยบังเอิญจนเห็นฟันหรอเด่นเวลายิ้มแหยๆ แกก็ไม่บ่น ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบเป็นแบบอย่างต่อไป. ว่างๆ แกก็มาช่วยดูกาพย์กลอนที่ผมแต่ง แนะนำติชมวิพากษ์วิจารณ์และดูเหมือนแกจะชอบโคลงสี่สุภาพที่ตอนหลังผมหันไปลองแต่งเป็นพิเศษ ถึงแก่ออกปากชื่นชมกว่าอันอื่น

นั่นเป็นราวปลายปี พ.ศ.2521 ต่อต้นปี 2522 ไม่นานก่อนเวียดนามยกทัพบุกยึดกัมพูชาจากรัฐบาลเขมรแดง เหตุครั้งนั้นทำให้ขบวนปฏิวัติคอมมิวนิสต์ไทยภาคอีสานใต้เสียที่มั่นหลบภัยบริเวณชายแดน และต้องหอบลูกจูงหลานแบกปืนขนระเบิดกระสุนอพยพโยกย้ายข้ามเขา ตัดป่ากลับเข้าแดนไทยขนานใหญ่เป็นพันๆ คน

เช้าวันหนึ่ง เราเตรียมเคลื่อนขบวนใหญ่เรือนร้อยเดินทางต่อจากชายแดนลึกเข้าป่าแดนไทย เพื่อลอบข้ามเส้นทางยุทธศาสตร์ละหานทราย-ตาพระยา ผม สหายพร (รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์) และสหายชาวนาอีกคนได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยหน้าเดินนำออกมาก่อนราวครึ่งชั่วโมง. เราจัดหน่วยเดินกันมาอย่างปกติธรรมดา ไม่เห็นอะไรผิดสังเกตตามทาง สองสามชั่วโมงต่อมาเมื่อไปถึงที่ตั้งหน่วยลำเลียงแล้ว เราจึงได้ยินเสียงปืนแตกบอกเหตุว่าเกิดการปะทะกันด้านหลังตามทางที่เราผ่านมา

เรารู้ภายหลังว่าขบวนใหญ่ที่เดินตามหลังเรามาถูกซุ่มตี โดยกำลังทหารเก่าลอนนอลร่วมกับทหารรัฐบาลไทย ซึ่งตั้งกำลังอยู่แถวชายแดนและฉวยโอกาสขึ้นเขามาลอบจู่โจม ระหว่างฝ่ายเรากำลังเคลื่อนขบวนถอยหนีหลบภัยอย่างสับสนวุ่นวายจากกัมพูชา

ตามที่สหายเล่าให้ฟัง สายวันนั้น วงซุ่มเปิดฉากด้วยทุ่นระเบิดสังหายเคลย์โม ขณะส่วนหัวของขบวนใหญ่เพิ่งข้ามคลองแห้งขอดไปโผล่ขึ้นฝั่งชันอีกฟากหนึ่งได้ไม่นาน จากนั้นกำลังฝ่ายตรงข้ามก็บุกกระหน่ำยิงซ้ำบดขยี้ทำลายส่วนหัว กำลังส่วนใหญ่ที่เหลือยังไม่ทันข้ามคลองมา ไม่อาจขึ้นไปหนุนช่วยได้ทันท่วงที สหายในส่วนหัวที่เหลือรอดต่างหลบหลีก ยิงป้องกันตัวตอบโต้แล้วถอยลงคลองไป. หลังการปะทะสั้นๆ จบลง ศัตรูถอย เราตรวจสนามรบพบสหายเสียชีวิตสิบกว่าคน นับเป็นการสูญเสียชีวิตสหายครั้งใหญ่ที่สุดในการปะทะครั้งเดียว เท่าที่เคยมีมาของภาคอีสานใต้

หนึ่งในสหายที่เสียคือภราดร ซึ่งศพอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ปรากฏบาดแผลใหญ่จากสะเก็ดระเบิดหรือกระสุนปืน ส่อว่าเขาเสียชีวิตจากแรงระเบิดอัดกระแทกมากกว่าอย่างอื่น

การเสียสละของสหายร่วมอุดมการณ์ในภารกิจต่อสู้ปฏิวัติ ย่อมยังความเสียใจแก่พวกเราผู้อยู่หลังถ้วนหน้า สำหรับผมเอง ภราดรนับเป็นสหายค่อนข้างใกล้ตัวที่สุดคนแรกในป่าที่เสียไป และอดรู้สึกไม่ได้ว่าตัวเองมีส่วนรับผิดชอบ ค่อนข้างแน่ว่าหน่วยหน้าของผมเดินผ่านวงซุ่มของศัตรูมาก่อนโดยไม่รู้ตัว แต่อาจเพราะศัตรูตั้งวงซุ่มไม่ทันเสร็จ หรือหวังโจมตีหน่วยที่ใหญ่กว่า หน่วยของผมจึงรอดมาได้ ซึ่งถ้าเราโดนไปก่อน ภราดรกับสหายขบวนใหญ่ก็คงไม่ต้องประสบกับชะตากรรมเยี่ยงนั้น แต่ในทางกลับกัน ผมกับสหายร่วมหน่วยก็อาจตายแทน...

เรื่องนี้ค้างคาใจผมอยู่เงียบๆ และกลายเป็นสิ่งหลอนใจผมหนักหน่วงรุนแรงขึ้นหลังป่าแตกวันหนึ่ง ระหว่างเดินเตร่อยู่ในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในฐานะนักศึกษาคืนสภาพและผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยราวปี พ.ศ.2524-2525 จู่ๆ ผมก็นึกถึงภราดรขึ้นมา และถามตัวเองว่า... ถ้าพบวิญญาณภราดรตอนนี้ ผมจะอธิบายการตายของเขากับตัวเขาว่าอย่างไร? เขาเสียสละไปเพื่อสิ่งใด?

ในเมื่อผมไม่สามารถเชื่อถือศรัทธาอุดมการณ์การปฏิวัติแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์เหมือนเดิมอีกต่อไป...
และทำไมจึงเป็นเขา? แทนที่จะเป็นผม? อะไรจะสามารถอธิบาย?

สำหรับเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ผมเอ่ยถึงตอนต้นนั้น มันเกิดขึ้นก่อน 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ไม่นาน มีการประชุมนักศึกษาในห้องเอทีข้างตึกศูนย์ภาษาฯ ซึ่งปัจจุบันห้องดังกล่าวถูกรื้อไปไม่เหลือร่องรอยแล้ว ผมจำได้ว่าตัวเองในฐานะสมาชิกสภานักศึกษาปีสองตอนนั้น ได้ขึ้นไปพูดปลุกเร้าเรียกร้องให้เพื่อนๆ ซึ่งนั่งฟังอยู่เต็มห้องร่วมกันต่อสู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยเบื้องหน้าภัยคุกคามของเผด็จการที่เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างถึงที่สุด

ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ที่ผมพูดไปจะมีเพื่อนคนใดสนใจฟังหรือจดจำมากน้อยแค่ไหนอย่างไรหรือไม่ แต่หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ 6 ตุลาฯแล้ว ผมรู้สึกถึงความรับผิดชอบหนักหน่วงมหาศาล ที่ถ่วงทับอยู่ในมโนสำนึกว่า ผมมีส่วนชวนให้เพื่อนๆ ไปสู้ไปเสียสละด้วยกัน แล้วเขาตาย แต่ผมรอด...

ผมไถ่สำนึกรับผิดชอบตัวเองครั้งนั้นด้วยการเข้าป่าไปสู้ต่อแทนเพื่อนผู้เสียชีวิตให้ถึงที่สุด การต่อสู้ครั้งนั้นในที่สุดก็ประสบความพ่ายแพ้ล้มเหลวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ผมคงไม่อาจปัดลบสำนึกรับผิดชอบที่คาใจอยู่ให้หมดไปได้ แต่อย่างน้อยผมก็พอจะบอกกับวิญญาณเพื่อนๆ อย่างซื่อสัตย์ว่าผมพยายามสุดความสามารถแล้วได้

นับจากนั้นมา ผมลังเลมากที่จะปลุกเร้าเรียกร้องให้ใครต่อใครไปสู้ ไปเสี่ยงชีวิตเพื่ออุดมการณ์อันใดก็แล้วแต่อีก เพราะถึงแม้ผมยังพอมีความเชื่อในอุดมการณ์และอุดมคติบางอย่างอยู่บ้าง ทว่าทุกครั้งที่ผมคิดจะพูดจะเขียนอะไรทำนองนั้นอีก ผมก็อดนึกถึงสหายภราดร นึกถึงเพื่อนนักศึกษาเป็นร้อยในห้องเอทีก่อน 6 ตุลาฯ นึกถึงคำถามที่หลอนใจผม และยังไม่มีปัญญาตอบเหล่านั้นได้ แล้วคอผมมันก็พาลแห้งผากขึ้นมา...

ปลายเดือนพฤษภาฯแล้ว ดินฟ้าอากาศแปรปรวนวิปริตเหมือนบรรยากาศการเมือง ผมหวังว่าสหายเก่าผู้เหลือรอดชีวิตมาจากการต่อสู้ครั้งก่อนๆ เหมือนผม จะลองหวนทบทวนถึงเพื่อนและเหตุการณ์ในอดีตบ้าง เผื่อว่าจะมีคำถามใดบ้างไหมที่ยังตอบไม่ได้ค้างคาหลงเหลืออยู่?

3. "ฤๅเปิดศาลศาสนาล่าแม่มด?"
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คุณคำนูณ สิทธิสมาน ได้กล่าวหาผ่านการอภิปรายในสภา, รายการโทรทัศน์และคอลัมน์ประจำทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ติดต่อกันหลายครั้งในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 คนมีแนวคิดเชิงอุดมการณ์และการกระทำที่ "ขัดแย้ง" "เป็นปฏิปักษ์" และ "ปฏิเสธ" "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อาทิ :-

- บทความ "ยุทธการปลดป๋าเปรม เปลือยความคิดแฝดคนละฝา "คอมมิวนิสต์อารมณ์ค้าง" "ทุนเหิมเกริมไร้บัลลังก์""
(2 ตอนต่อกัน วันที่ 9 และ 10 เม.ย. 2550)

- บทความ "ไม่ใช่แค่ปลดป๋าเปรม แต่ไม่เอาองคมนตรี, ทรัพย์สินฯ และ ฯลฯ" (9 เม.ย. 2550)

คำอภิปรายในสภา ญัตติการดำเนินการกับการชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย และมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (25 เม.ย. 2550)

- บทความ "ประชาธิปไตยมหาชน" ที่ปวงชนใช้อำนาจอธิปไตยด้วยตัวเอง!!" (14 พ.ค. 2550)

- บทความ "จดหมายเปิดผนึกจาก "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" (21 พ.ค.2550)

- คำอภิปรายในสภา ในวาระรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แถลงผลงานรอบ 6 เดือน (24 พ.ค.2550) เป็นต้น

อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 คนที่ถูกกล่าวหาได้แก่ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์

ความข้อนี้เป็นที่น่าวิตกเพราะทั้งสองเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่ในอดีตเคยสูญเสียผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การคนเดียว คือ รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์, และอธิการบดีอีกหนึ่งคน คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไป เพราะข้อกล่าวหาอันร้ายแรงเกี่ยวเนื่องด้วยสถาบันกษัตริย์และลัทธิอุดมการณ์ทำนองเดียวกัน. มันเป็นข้อกล่าวหาที่มีส่วนนำไปสู่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ในกรณีแรก และการฆ่าหมู่ที่ธรรมศาสตร์และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ในกรณีหลัง. ซึ่งท้ายที่สุดก็มาปรากฏประจักษ์ชัดในชั้นหลังว่าข้อกล่าวหาทั้งสองกรณีนั้นล้วนเป็นเท็จ!

ผมไม่ทราบแน่ดอกครับว่า ข้อกล่าวหาอาจารย์ทั้งสองในกรณีนี้จะจริงหรือเท็จอย่างไร? แต่บนพื้นฐานประสบการณ์และบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาเกี่ยวกับกรณีคล้ายๆ กันที่เคยเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งกับผู้อื่นและสถาบันอื่น ผมอยากตั้งข้อสังเกต ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนน่าจะนำไปพินิจพิเคราะห์ใคร่ครวญอย่างรอบคอบเยือกเย็นบางประการไว้ ณ ที่นี้

ข้อกล่าวหาทางการเมืองข้างต้นจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด คงขึ้นอยู่กับประเด็นที่ว่านิยามความเข้าใจ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ของผู้กล่าวหาเป็นอย่างไร? มันเป็นนิยามที่ถูกต้องถ่องแท้และเห็นพ้องต้องกันไม่ว่าจะในทางกฎหมาย, ในทางวิชาการ, และในฉันทามติของสังคมวงกว้างโดยทั่วไปหรือไม่? หรือเป็นนิยามที่ยอมรับนับถือกันเฉพาะกลุ่มเฉพาะวง และยังเป็นที่โต้แย้งเห็นต่างจากกลุ่มและแวดวงอื่นๆ ได้ ไม่เป็นที่ยุติ?

ส่วนตัวผมสงสัยว่า นิยามความเข้าใจเกี่ยวกับ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ของผู้กล่าวหา น่าจะเป็นนิยามเดียวกับที่อรรถาธิบายไว้ในหนังสือบันทึกการต่อสู้โค่นล้มระบอบทักษิณของท่านเองเรื่อง ปรากฏการณ์สนธิ : จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, ตุลาคม 2549) ซึ่งได้ประมวลภาพรวม ความเป็นมาและเบื้องหลังกระบวนการตัดสินใจวงในที่ลึกที่สุด ของการเคลื่อนไหวชุมนุมโดยเฉพาะในช่วง "ปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล" ไว้ (ตามคำนิยมจากสนธิ ลิ้มทองกุล และคำนำผู้เขียน) โดยเฉพาะคำอรรถาธิบายเรื่องนี้ที่หน้า 13, 54-55 และตลอดบทที่ 5 ยืนหยัดโต้ยุทธการทรราช ในหนังสือเล่มนั้น เป็นต้น

มันเป็นนิยามที่สะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับแบบแผน โครงสร้าง และหลักการแห่งความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง [สถาบันกษัตริย์-รัฐบาล-ประชาชน] ใน "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล, คุณคำนูณเอง และอาจรวมทั้งพนักงานบางส่วนในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่อาสาสมัครเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจพิเศษทางการเมืองในการต่อสู้โค่นล้มระบอบทักษิณช่วงนั้น (กันยายน 2548 - กันยายน 2549 อนึ่ง ผมใช้คำว่า "อาจรวมทั้งพนักงานบางส่วน" เพราะมีข้อมูลบ่งชี้ความไม่เป็นเอกฉันท์อยู่บ้าง ดู น.21 ของหนังสือเล่มเดียวกัน)

มันเป็นนิยามที่นำไปสู่....

---->คำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณ "ถวายพระราชอำนาจคืน" ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 8 ในห้องประชุมอาคารพลเมืองอาวุโส สวนลุมพินี (11 พ.ย.2548) และฎีกา 4 กุมภาพันธ์ 2549 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ของคุณสนธิ, คุณคำนูณและคณะ (น.66,315 - 22) รวมทั้ง

---->ข้อเรียกร้อง ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 (ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540) ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (แถลงการณ์ฉบับที่ 6/2549 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2549) ในกาลต่อมา

ข้อเรียกร้องเดียวกันนี้นี่แหละ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอ่ยถึงในพระราชดำรัสพระราชทานแก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ.2549 ว่า:-

"นี่พูดเรื่องนี้ ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้ แล้วก็ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องทำมาตรา 7 มาตรา 7 ของของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยัน ยืนยันว่ามาตรา 7 นั้นไม่ได้หมายถึง ให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจ ที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง

"ถ้าทำเขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย...

"...แต่ครั้งนี้ ก็เขาจะให้ทำอะไรผิด ผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบนะ แต่ว่าข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าผิด ฉะนั้น ก็ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นสิ่งเป็นอุปสรรค และมีความเจริญรุ่งเรืองได้ ขอขอบใจท่าน"
(อ้างจากเว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก ฉบับไม่เป็นทางการ โดยสำนักราชเลขาธิการ
kanchanapisek.or.th/speeches/2006/0425-01.th.html)

และต่อมาวันเดียวกัน ยังทรงเอ่ยถึงอีกในพระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรมที่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลวังวล ที่เดียวกัน ความว่า:-

"ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่าอะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี หรือตามที่เคยทำมา ไม่มีเขาอยากจะได้นายกฯพระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯพระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษ พูดแบบมั่ว แบบไม่ ไม่ ไม่มีเหตุมีผล...

"ก็รู้สึกว่ามั่วอย่างที่ว่า ต้องขอโทษอีกทีนะ ใช้คำว่ามั่ว ไม่ถูก ไม่ทราบใครจะทำมั่ว แต่ว่าปกครองประเทศมั่วไม่ได้ ที่จะคิดอะไรแบบ แบบว่าทำปัดๆ ไปให้เสร็จๆ ไป ถ้าไม่ได้ เขาก็โยนให้พระมหากษัตริย์ทำ ซึ่งยิ่งร้ายกว่าทำมั่วอย่างอื่น เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ ไม่มีหน้าที่ ที่จะไปมั่ว...

"...จะมาขอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน เขาอาจจะว่ารัฐธรรมนูญนี้ พระมหากษัตริย์เป็นคนลงพระปรมาภิไธย จริง แต่ลงพระปรมาภิไธย ก็เดือดร้อน แต่ว่าในมาตรา 7 นั้นไม่ได้บอกว่า พระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่า ไม่มีการบทบัญญัติแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ที่จะมาสั่งการได้

"แล้วก็ขอยืนยันว่า ไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายพระราชบัญญัติต่างๆ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง อย่างที่เขาขอ บอกว่า ขอให้มี ให้พระราชทานนายกฯพระราชทาน ไม่เคย ไม่เคยมีข้อนี้ มีนายกฯ แบบมีการรับสนองพระบรมราชโองการอย่างที่ถูกต้องทุกครั้ง มีคนเขาก็อาจจะมา มาบอกว่า พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เนี่ยทำตามใจชอบ ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ

"ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำไปตามใจชอบ ก็เข้าใจว่า บ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว แต่ตอนนี้เขาขอให้ทำตามใจชอบ แล้วเวลาถ้าเขา ถ้าทำตามที่เขาขอ เขาก็ต้อง ต้องด่าว่านินทาพระมหากษัตริย์ ว่าทำตามใจชอบ ซึ่งไม่ใช่กลัว ถ้าต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่ามันไม่ต้องทำ"
(อ้างจากเว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก ฉบับไม่เป็นทางการ โดยสำนักราชเลขาธิการ
kanchanapisek.or.th/speeches/2006/0425-02.th.html)

กล่าวโดยสรุปคือ พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า คำขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจพระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน โดยอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 นั้นผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบมั่ว ไม่มีเหตุมีผล เป็นการให้พระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ทำตามใจชอบ

ด้วยความเคารพท่านผู้กล่าวหาและคณะ พูดอย่างเบาที่สุด นิยามความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อันเป็นฐานคติที่มาของข้อเรียกร้องข้างต้น คงไม่ใช่นิยามความเข้าใจอันเดียวที่มีอยู่ ไม่ใช่นิยามความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อันเป็นที่สิ้นสุดยุติ ไม่เป็นที่โต้แย้งอีกต่อไป
ไม่ใช่นิยามความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อันเป็นที่ยอมรับเห็นพ้องต้องกันอย่างกว้างขวางทั่วไปในสังคม

และฉะนั้นจึงไม่ใช่นิยามความเข้าใจอันพึงใช้เป็นบรรทัดฐานมากล่าวหาขีดวัดตัดสินผู้เห็นต่างออกไปว่า ขัดแย้ง, เป็นปฏิปักษ์ และปฏิเสธ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อย่างง่ายๆ ราวกับจะเปิดศาลศาสนาล่าแม่มดและพวกนอกรีต แบบที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกในยุคกลางของยุโรปทำ (the Inquisition) หรือเปิดไต่สวนผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์แบบที่คณะอนุกรรมการสภาซีเนต ที่มีวุฒิสมาชิกโจเซฟ อาร์. แมคคาธีร์ เป็นประธานในอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (McCarthyism)

กรณีอ่อนไหวและล่อแหลมทางการเมืองวัฒนธรรมเยี่ยงนี้ สังคมไทยควรยึดมั่นหลักนิติธรรมและบทบัญญัติของกฎหมายเป็นที่ตั้งเหนืออื่นใด โดยเฉพาะหลักที่ว่า พึงถือบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าเขาจะถูกพิสูจน์เป็นอื่นอย่างสิ้นข้อสงสัยที่มีเหตุผล

4. ระบอบทักษิณ บันทึกเรื่องราวของคำสร้างคำหนึ่ง

"ระบอบทักษิณ" ... เป็นคำนิยามทางการเมืองที่นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ เช่น นายธีรยุทธ บุญมี, ดร.เกษียร เตชะพีระ และ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ได้กล่าวไว้ในงานศึกษาวิจัยของตน... โดย ดร.เกษียร เตชะพีระ ได้กล่าวถึง "ระบอบทักษิณ" มาตั้งแต่ปี 2546 ในการปาฐกถาเรื่อง "2 ปีระบอบทักษิณกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ"
(คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ, คำวินิจฉัยที่ 1 - 2/2550,
เรื่องอัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าและพรรคประชาธิปัตย์, 30 พฤษภาคม พ.ศ.2550)

คือเรื่องของเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ...
ตอนหัวค่ำคืนหนึ่งต้นเดือนกุมภาพันธ์สี่ปีก่อน หลังจากนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 29, 30 และ 31/2546 ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 เปิดฉากทำสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดทั่วประเทศนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไปได้ไม่นาน ในสภาพที่ยอดตัวเลขผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดซึ่งถูก "วิสามัญ-ฆ่าตัดตอน" รายวันพุ่งพรวดขึ้นอย่างรวดเร็วนับพันคน และถูกขึ้นบัญชีดำอีก 44,700 คน เสียงทักท้วงทัดทานวิตกวิจารณ์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม และการที่ผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อก็เริ่มดังเซ็งแซ่ขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยรัฐบาลไม่แยแส...

คุณสมชาย หอมลออ เพื่อนเก่ารุ่น 6 ตุลาฯ 2519 ผู้รอดชีวิตอย่างอาบเลือดจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่ในธรรมศาสตร์ และหันมายึดวิชาชีพทนายความสิทธิมนุษยชน ได้โทร.มาหาผมที่บ้านเพื่อชักชวนในนามของ "คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน" ให้ช่วยไปปาฐกถานำทางวิชาการในเวทีสาธารณะเรื่อง "2 ปีระบอบทักษิณกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ศกเดียวกัน ในหัวข้อเกี่ยวกับ "ระบอบทักษิณ" นั่นนับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้ยินคำคำนี้และออกจะลังเลว่ามันหมายถึงอะไร?

หลังจากหารือคุณสมชายอยู่ครู่หนึ่ง ผมจึงตอบรับแต่เลี่ยงไปว่าแทนที่จะพูดถึง "ระบอบทักษิณ" โดยตรงซึ่งผมยังไม่แน่ใจนัก เอาเป็นว่าผมขอพูดเรื่อง "วัฒนธรรมการเมืองในสมัยรัฐบาลทักษิณ" ได้หรือไม่? คุณสมชายไม่ขัดข้อง ตราบเท่าที่มีคำว่า "ระบอบทักษิณ" อยู่ในหัวข้อ

ถึงวันนัด ผมจึงร่างเค้าโครงปาฐกถาไปอ่านในที่ประชุม เกี่ยวกับแนวโน้มของปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการเมืองไทยแต่เดิมและที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยเน้นกรณีฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดที่กำลังลุกลามรุนแรงขณะนั้น ในหัวข้อ "ระบอบทักษิณกับวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตยไทย" ซึ่งต่อมาได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นบทความภายใต้ชื่อใหม่ว่า "วัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยมปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ" และตีพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสและรูปแบบต่างๆ ราว 4 ครั้งคือ:

- คอลัมน์ประจำวันศุกร์ของผมในมติชนรายวันตลอดเดือนมีนาคม พ.ศ.2546
- สมชาย หอมลออ, บก. อุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร: บทสะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย (มิ.ย. 2547)
-เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, บก. รู้ทันทักษิณ 2 (ส.ค. 2547)
-อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, บก. ปิดหู ปิดตา ปิดปาก: สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ (มี.ค. 2548)

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนสำคัญในแวดวงวัฒนธรรมสื่อสาธารณะ ที่ทำให้คำสร้างคำนี้ติดตลาดขึ้นมาคือการสัมมนานักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะ สื่อมวลชนและเอ็นจีโอครั้งใหญ่กว่า 30 คนที่เชียงใหม่ จัดโดยกองบรรณาธิการนิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ในหัวข้อเรื่อง "ระบอบทักษิณ: ความเป็นมาและความเป็นไปในอนาคต" เมื่อ 10-11 ม.ค. 2547

ในที่สัมมนานี้เอง ที่ผมมีโอกาสนำเสนอเค้าโครงความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่มา, บุคลิกลักษณะเฉพาะและแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปในอนาคตของ "ระบอบทักษิณ" ซึ่งผมได้ค่อยๆ สั่งสมรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์วิจารณ์และประมวลสังเคราะห์ขึ้นอย่างเป็นระบบในรอบปีที่ผ่านมา และทยอยเขียนลงเป็นตอนๆ ในคอลัมน์ประจำวันศุกร์ที่มติชนรายวันนับแต่เดือนตุลาคม 2546-กุมภาพันธ์ 2547 ส่วนหนึ่งของข้อเขียนเหล่านี้และบันทึกคำอภิปรายในที่สัมมนาได้รวมตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับระบอบทักษิณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2547) ต่อมาผมได้รวบรวมงานเขียนชุดนี้มาตัดต่อจัดลำดับเรียบเรียงปรับปรุงเข้าด้วยกันใหม่ เป็นภาคสองของหนังสือเรื่อง บุชกับทักษิณ: ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (ก.ย. 2547) พิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟในที่สุด

ผมคิดว่านี่คงไม่ใช่สถานที่และโอกาสอันควรที่จะมากล่าวซ้ำเรื่องความเข้าใจ "ระบอบทักษิณ" ของผม มันไม่ใช่ความลึกลับอะไรสำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ของผมเป็นประจำ และท่านอื่นที่สนใจย่อมสามารถสอบค้นจากรายชื่อหนังสือเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ผมแจ้งไว้ข้างต้นได้

ผมเพียงใคร่เรียนว่า โดยปกติวิสัยของสิ่งสร้างทางถ้อยคำความคิด เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์วิเคราะห์ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองเช่นนี้ "ระบอบทักษิณ" อย่างน้อยในตำรับของผม ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่างโต้แย้งในทางวิชาการแต่ต้น เช่น: ในที่สัมมนาปี 2547 ซึ่งกล่าวถึงข้างต้น อาจารย์อัมมาร สยามวาลา คุรุเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นต่างออกไปว่าทักษิณเป็นแค่ deal-maker มีแต่ทำลายสถาบันที่มีอยู่เดิมลงไป ไม่ได้สร้างระบอบอะไรใหม่ขึ้นมา

ผู้ร่วมสัมมนาอีกท่านคืออาจารย์อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ นักวิจัยและรองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียน The Thaksinzation of Thailand (2548) ร่วมกับอาจารย์ Duncan McCargo แห่งมหาวิทยาลัย Leeds ประเทศอังกฤษ ก็คล้อยตามทรรศนะของอาจารย์อัมมารและเห็นว่า ทักษิณไม่มีหลักปรัชญาอะไร เพียงแค่พลิกแพลงฉวยโอกาสหาประโยชน์ไปตามสถานการณ์

เมื่อบทวิเคราะห์ "ระบอบทักษิณ" ของผมตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร้องทักว่าวิสัยทัศน์ของผมต่อ "ระบอบทักษิณ" คล้ายกันอย่างน่าทึ่งในบางประเด็นกับวิสัยทัศน์ของเขา ต่อประวัติความเปลี่ยนแปลงคลี่คลายของรัฐไทย หากแต่เขาเสนอกรอบการวิเคราะห์ที่แตกต่างออกไปซึ่งเขาเห็นว่า "เหนือกว่า" (ว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" : อนุสนธิจาก "ฟ้าเดียวกัน" ฉบับล่าสุด โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, 23 มีนาคม พ.ศ.2547, X)

อาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ แห่งมหาวิทยาลัย cornell ผู้เขียน การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (ฉบับแปลเป็นไทย พ.ศ.2526) อันเป็นงานศึกษาการเมืองการปกครอง "ระบอบสฤษดิ์" ที่ดีที่สุด ก็โต้แย้งการที่ผมพยายามวิเคราะห์เปรียบเทียบ "ระบอบทักษิณ" กับ "ระบอบสฤษดิ์" ในบทสัมภาษณ์ "ทักษิณเปรียบเทียบกับสฤษดิ์ไม่ได้", ฟ้าเดียวกัน, 3: 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2548), 48-58

และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย ก็เห็นว่าเวลาในอำนาจเพียง 3 ปี สั้นเกินกว่ารัฐบาลทักษิณจะกลายเป็นระบอบอะไรขึ้นมาได้ (สัมภาษณ์พิเศษศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ตอนที่ 1 : 30 ปี 6 ตุลาประชาธิปไตยแพ้แล้ว? โดย พิณผกา งามสม, 10 กรกฎาคม พ.ศ.2549, www.prachatai.com)

ในทางกลับกัน อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เพื่อนร่วมงานที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็ได้กล่าวปาฐกถานำในการประชุมทางวิชาการรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 เมื่อ 2 ธันวาคม พ.ศ.2547 แสดงความเห็นพ้องกับข้อวิเคราะห์ "ระบอบทักษิณ" ของผม โดยมองมันในกรอบแนวคิดที่ท่านเรียกว่า "ระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยม" ("ประชาธิปไตยอำนาจนิยม อำนาจอันน่าสะพรึงกลัวแล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร? (สองตอนจบ), มติชนสุดสัปดาห์, 25: 1270 (17 ธ.ค. 2547) และ 25: 1271 (24 ธ.ค. 2547) เป็นต้น

แน่นอน ขณะเดียวกันคําสร้างคํานี้ก็ย่อมเผชิญการบิดเบือนฉวยใช้และประณามโจมตีทางการเมืองเป็นธรรมดา ชั่วแต่ว่าน่าเสียดายที่จํานวนมากเป็นการโจมตีอย่างสาดเสียเทเสีย ต่ำช้าหยาบคาย กระหายเลือดและเหมารวมไม่เลือกหน้าโดยไม่ฟังเหตุฟังผล ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เห็นต่างตามหลักตรรกะบ้องตื้นสามานย์ทางการเมืองว่า : -

๑) กําหนดศัตรูคู่อาฆาตหลักให้แน่ชัดตายตัว !
๒) เอ็งต้องอยู่ข้างข้าหรือไม่เอ็งก็อยู่ข้างศัตรู ! ( ตามวาทะอื้อฉาว "Either you are with us, or you are with the terrorists." ในคําปราศรัยของประธานาธิบดีจอร์จบุชผู้ลูก ต่อที่ประชุมสภาคองเกรสสหรัฐอเมริกา เมื่อ ๒๐ กันยายนพ.ศ. ๒๕๔๔)
๓) ศัตรูของศัตรูก็คือมิตร ! และ
๔) สิ่งใดศัตรูสนับสนุน เราต้องคัดค้าน สิ่งใดศัตรูคัดค้านเราต้องสนับสนุน !

โดยในบรรดาผู้โจมตีนั้น บางรายก็เคยแสดงจุดยืน "สิทธิเสรีภาพ" และ "ประชาธิปไตย" อันกล้าหาญด้วยการเป่าไม้ตีพริกเงียบสนิทระหว่างที่สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด และนโยบายผิดพลาดรุนแรงทางชายแดนภาคใต้ดําเนินไปอย่างนองเลือด ภายใต้รัฐบาลทักษิณ

จะว่าไปแล้วมันก็เหมือนสิ่งสร้างทางวิชาการทั้งหลาย คําและความคิดว่าด้วย "ระบอบทักษิณ" ในการตีความค้นคว้าของผมอาจผิดหมดก็ได้ หรือที่มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าคือ มีทั้งผิดทั้งถูกคละเคล้าปะปนกันไป โดยที่ผมก็ได้แต่หวังว่ามันจะถูกมากกว่าผิดสักเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้อง วิเคราะห์วิจารณ์วิวาทวาทากันต่อไปในทางวิชาการ. แต่สําหรับในแง่อื่นที่ไม่ใช่วิชาการ ผมพิจารณาทบทวนตัวเองดูแล้วบอกได้ว่า My conscience is clear. I have nothing to apologize for.

บทสรุปตอนท้ายปาฐกถาแรกเริ่มของผมเกี่ยวกับ " ระบอบทักษิณ " เมื่อสี่ปีก่อนมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับประสบการณ์การสร้างเสรีประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเมื่อดูการคลี่คลายของเหตุการณ์ที่ผ่านมา จนเกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ขึ้น ผมคิดว่ามันยังมีค่าควรแก่การนํามากล่าวในที่นี้ :

" ภัยคุกคามที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยไทยกําลังเผชิญอยู่ ต่างจากอดีตที่ผ่านมา มันไม่ใช่ (ถึงทุกวันนี้คงต้องเติมคําว่า " แค่" ) ภัยเผด็จการจากภายนอก แต่เป็นปัญหาความเสียดุลโน้มเอียงเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมการเมืองที่อันตราย ภายในระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยนั้นเอง ระหว่างการรวมศูนย์ผูกขาดอํานาจ กับการจํากัดและกระจายอํานาจ, ระหว่างเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย, ระหว่าง ผู้ปกครองกับพลเมือง, ระหว่างรัฐกับบุคคล, และระหว่างอํานาจกับสิทธิซึ่งซับซ้อนกว่าและจัดการแก้ไขยากกว่า,

ในแง่หนึ่งเป็นเผด็จการเต็มรูปเสียอีกจะมองออกเข้าใจและจัดการง่ายขึ้น แต่การจํากัด ลิดรอนสิทธิเสรีภาพและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในนามของรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ได้รับเลือกตั้งมาแบบประชาธิปไตยนั้น ทําให้มาตรการอํานาจนิยม / อ-เสรีนิยม กลับดูชอบธรรม เกิดภาพสับสน คลุมเครือสร้างความเข้าใจไขว้เขว ซึ่งรับมือยากยิ่งจนเกิดคําถามว่าหลักสิทธิเสรีภาพและระบอบ รัฐธรรมนูญจะเอาตัวรอดจากระบอบประชาธิปไตยไทยดังที่เป็นอยู่ (actually existing Thai democracy) ได้หรือไม่? "

เพื่อธํารงรักษาระบอบรัฐธรรมนูญไว้ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมการเมืองอํานาจนิยม- ปฏิปักษ์ปฏิรูป, ฟื้นฟูสมดุลและผลักดันการปฏิรูปการเมืองในทิศทางเสรีนิยมและประชาธิปไตยต่อไป สังคมไทยคงต้องทําความเข้าใจหลักมูลฐานต่างๆ ของการใช้ชีวิตการเมืองอยู่ร่วมกันในระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์และดุลยภาพของหลักการเหล่านั้นให้มากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ในประวัติการต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตยในสังคมไทยที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดที่สถานการณ์เรียกร้องใหต้องใช้สติปัญญา ความอดทนอดกลั้น ความเข้าอกเข้าใจเห็นอกเห็นใจ และอหิงสธรรมสูงขนาดนี้... "

พรรคไทยรักไทยย่อมจะไม่เป็นพรรครัฐบาลไปตลอดกาล, ท่านนายกฯทักษิณก็คงจะไม่แบก รับภาระรับใช้ชาติอันหนักหน่วงในตําแหน่งนายกรัฐมนตรีไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และผมก็คงจะไม่ตั้งหน้าตั้งตาค้านยันทุกลมหายใจของท่าน จนลมหายใจเฮือกสุดท้ายของผมเช่นกัน ยังมีอย่างอื่นอีกในชีวิต และสักวันหนึ่งพรรคไทยรักไทย ท่านนายกฯ ผม พวกเราทุกคนก็จะจากโลกใบนี้และบ้านเมืองนี้ไป, อนาคตจะเป็นของคนรุ่นหลังที่จะรับช่วงดูแลและอยู่กับมันต่อ ผมหมายถึงคนอย่างคุณพานทองแท้ และ น้องๆ กับหนูกลอยของผม "

มันจึงสําคัญว่า ท่านนายกฯและพวกเราจะทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมการเมืองอะไรไว้ให้กับพวกเขา เพราะสิ่งที่เราทําในวันนี้จะเป็นของพวกเขาในวันหน้า, จําเป็นที่ท่านนายกฯ และพวกเราจะถามตัวเองตั้งแต่วันนี้ว่า วิสัยทัศน์ทางการเมืองของเราในอนาคต post-us หรือภายหลังพวกเราจากไปแล้ว คืออะไร? เราปรารถนาให้ลูกหลานของเรา - คุณพานทองแท้และน้องๆ รวมทั้งหนูกลอย - ดํารงความสัมพันธ์ทางอํานาจต่อกันอย่างไร ใช้อํานาจต่อกันอย่างไรในอนาคต? เพราะเราไม่รู้แน่ - มันเป็นธรรมชาติของอนาคตว่า มันเป็นสิ่งที่ทํานายไม่ได้แน่ - ว่าใครจะลงเอยเป็นผู้ปกครองหรือผู้ถูกปกครอง, เสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย, เจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจหรือพลเมืองผู้มีสิทธิ, ตํารวจ ทหาร หรือผู้ต้องหาผู้ ต้องสงสัย?

ทําอย่างไรจึงจะวางหลักประกันได้ตั้งแต่วันนี้ว่า ลูกหลานของพวกเราในวันข้างหน้า ไม่ว่าเขาจะตกอยู่ในฐานะการเมืองใด มีอํานาจหน้าที่เหลื่อมล้ำมากน้อยต่างกันอย่างไร ทุกคนจะมีหลักประกันอย่างเท่าเทียมในสิทธิเสรีภาพของร่างกายชีวิตและทรัพย์สิน, และมีความเอื้ออาทรต่อกันในฐานะเพื่อนมิตร, เพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมชาติ? " กรรมย่อมสนองผู้ประพฤติกรรม, ปลูกอะไรวันนี้ลูกหลานของเราย่อมจะได้รับผลของมันในวันหน้า "

คําทักท้วงเตือนข้างต้นไม่ใคร่มีใครใส่ใจฟังเมื่อสี่ปีก่อน มาครั้งนี้จะมีคนสนใจฟังมันมากขึ้นบ้างไหมหนอ?

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com